Tuesday, 18 March 2025
ECONBIZ

‘สุริยะ’ เป็นประธานเปิดใช้ ‘สะพานทศมราชัน’ เชื่อมทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง ช่วยลดแออัด

เปิดใช้แล้ว ‘สะพานทศมราชัน’ ช่วงสะพานทศมราชัน (บางโคล่) - ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสุขสวัสดิ์ เชื่อมทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง ช่วยแก้ปัญหาจราจรเชื่อมเส้นทางสะดวกมากขึ้น

(29 ม.ค. 68) เวลา 09.09 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการเปิดใช้งาน สะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. และคณะผู้บริหารเข้าร่วมงาน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า การเปิดใช้ทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงสะพานทศมราชัน (บางโคล่) - ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสุขสวัสดิ์ เป็นการช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของสะพานพระราม 9 เชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพฯ และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ สะพานทศมราชันจะเชื่อมต่อการเดินทางในทิศทางขาเข้าและขาออกกรุงเทพฯ โดยเปิดใช้งานสะพานฯ ครบทั้ง 8 ช่องจราจร เพื่อรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรายละเอียดเส้นทางการใช้งานมี ดังนี้

- ทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ ประชาชนสามารถใช้ทางขึ้นที่ด่านฯ สุขสวัสดิ์ (ช่องที่ 1-3) วิ่งข้ามสะพานทศมราชัน แล้วเชื่อมต่อเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานครมุ่งหน้าบางนา - ดินแดง หรือทางพิเศษศรีรัชมุ่งหน้าแจ้งวัฒนะและถนนพระราม 9

- ทิศทางขาออกกรุงเทพฯ ใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครหรือทางพิเศษศรีรัชผ่านจุดเชื่อมต่อสะพานทศมราชัน บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลงด่านฯ สุขสวัสดิ์ เชื่อมต่อถนนประชาอุทิศและถนนสุขสวัสดิ์เพื่อไปยังถนนพระราม 2

อัตราค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ: 50 บาท   รถ 6-10 ล้อ: 75 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ: 110 บาท

“ทั้งนี้ สะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการก่อสร้างทั้งโครงการฯ อยู่ที่ 86.28% คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ พร้อมเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2568 นับเป็นก้าวสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร โดยเฉพาะ “สะพานทศมราชัน” ที่จะช่วยลดความแออัดบริเวณสะพานพระราม 9 และเพิ่มความสะดวกในการเดินทางระหว่างฝั่งกรุงเทพฯ กับฝั่งธนบุรีและจังหวัดรอบนอก ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดเวลาและลดปัญหารถติดในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะคาดว่าสะพานฯ นี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่บนสะพานพระราม 9 จนถึงบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ และบริเวณถนนพระรามที่ 2 จากปริมาณความแออัดทางจราจร 100,470 คันต่อวัน  ลดลงเหลือ 75.325 คันต่อวัน โดยประชาชนสามารถเริ่มใช้บริการสะพานทศมราชันได้ตั้งแต่วันนี้” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

บริษัทมอง ‘เด็กจบใหม่’ ไม่พร้อมทำงาน -ขาดทักษะที่จำเป็น ชี้ เก่งทฤษฎีอย่างเดียวไม่พอ แถมใช้ AI ทำงานยังคุ้มทุนกว่า

เมื่อไม่กี่วันก่อน มีรายงานการศึกษาวิจัยใหม่สดๆ ร้อนๆ ของ Hult International Business School และบริษัทวิจัยอิสระ Workplace Intelligence ค้นพบว่า บริษัทหลายแห่งทั่วโลกแม้กำลังเผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรทักษะสูงอย่างมาก แต่ก็ยังคงต้องการซื้อหรือลงทุนนำ AI มาทำงาน มากกว่าจะจ้างงานเด็กจบใหม่ 

การศึกษาครั้งนี้ได้สำรวจข้อมูลจากผู้นำหรือผู้จัดการฝ่าย HR ของบริษัทต่างๆ  800 คน ขณะเดียวกันก็สำรวจเด็กจบใหม่ที่เพิ่งจะสำเร็จการศึกษาเมื่อไม่นานนี้ 800 คนเช่นกัน (อายุ 22-27 ปี) ในตำแหน่งทางธุรกิจ รวมถึงการเงินการบัญชี, การตลาด, การขาย, การจัดการ, การดำเนินงาน-โลจิสติกส์, การวิเคราะห์-ข่าวกรองทางธุรกิจ ฯลฯ 

บริษัทไม่อยากจ้างงานเด็กจบใหม่ เพราะขาดประสบการณ์-ขาดทักษะที่จำเป็น ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างฝั่งผู้นำด้าน HR มากถึง 98% บอกว่า แม้องค์กรของตนกำลังประสบปัญหาในการหาบุคลากรทักษะสูง แต่ถึงอย่างนั้น 89% ของพวกเขาก็ระบุว่า บริษัทไม่อยากการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ โดยพวกเขามีเหตุผลคือ

- เด็กจบใหม่ขาดประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง (60%)
- ขาดแนวคิดแบบ Global mindset (57%)
- ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม (55%)
- ขาดชุดทักษะที่เหมาะสมกับงาน (51%)
- ขาดมารยาททางธุรกิจที่เหมาะสม (50%) 

โดยผู้นำด้าน HR 37% อยากนำหุ่นยนต์หรือ AI เข้ามาทำงานแทนบัณฑิตจบใหม่ ขณะที่ 45% บอกว่าอยากจ้างคนทำงานอิสระมากกว่า อีกทั้งตามรายงานดังกล่าวยังพบด้วยว่า บริษัทที่เคยรับเด็กจบใหม่เข้าทำงานในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ (78%) เคยไล่พนักงานเหล่านั้นบางคนออกไปแล้ว

ลูกจ้างเด็กจบใหม่ ชี้ มหาวิทยาลัยไม่ได้ช่วยให้พวกเขาพร้อมสู่โลกการทำงาน ไม่ใช่แค่ฝั่งนายจ้างที่รู้สึกว่าบัณฑิตจบใหม่ยังไม่พร้อมที่จะทำงานในโลกความจริง แต่ฝั่งของเด็กจบใหม่เอง ส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมสู่โลกการทำงานเช่นกัน จากการศึกษาชิ้นเดียวกันนี้ กลุ่มตัวอย่างของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ ที่เข้าร่วมบริษัทต่างๆ ได้สำเร็จ พบว่า ประสบการณ์การทำงานนั้นมีค่าอย่างยิ่ง 

ลูกจ้างที่เป็นเด็กจบใหม่ 77% บอกว่าเวลาครึ่งปีในที่ทำงานพวกเขาเรียนรู้ได้มากกว่าการเรียนปริญญาตรีสี่ปี และ 87% ยอมรับว่านายจ้างของพวกเขาจัดให้มีการฝึกอบรมงานที่ดีกว่ามหาวิทยาลัย อีกทั้งกลุ่มตัวอย่าง 55% บอกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับงานที่พวกเขาทำอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด

แดน ชอว์เบล (Dan Schawbel) หุ้นส่วนผู้จัดการของ Workplace Intelligence อธิบายเพิ่มเติมว่า การสำรวจนี้เผยให้เห็นว่าหลักสูตรวิทยาลัยแบบดั้งเดิมไม่ได้มอบสิ่งที่นักศึกษาต้องการ เพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในโลกการทำงานยุคใหม่ ที่เทคโนโลยีก้าวหน้ารวดเร็วในปัจจุบัน ผู้นำฝ่าย HR ของบริษัทต่าง ๆ มีความต้องการบัณฑิตจบใหม่ ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี การใช้ AI การวิเคราะห์ข้อมูล และด้านไอทีสูงถึง 97% แต่มีบัณฑิตจบใหม่มีเพียง 20% เท่านั้นที่มีทักษะเหล่านี้

เรียนแต่ทฤษฎีในมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพอต่อการทำงานในโลกความจริง ขณะที่ มาร์ติน โบห์ม (Martin Boehm) รองประธานบริหารและคณบดีฝ่ายโครงการระดับปริญญาตรีของ Hult International Business School สะท้อนมุมมองว่า การเรียนแต่ทฤษฎีอย่างเดียวในมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ยุคนี้สถาบันต่างๆ ต้องเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาด้วยวิธีใหม่ๆ เน้นที่การสร้างทั้งทักษะและทัศนคติที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ต่อเนื่อง ถือเป็นอนาคตของการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมสู่โลกการทำงาน

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคลอย่าง 'ไบรอัน ดริสโคลล์' (Bryan Driscoll) ให้ความเห็นที่แตกต่างออกไปว่า แน่นอนว่านายจ้างยุคนี้ต้องการใช้ AI มากกว่ามนุษย์ เพราะการลงทุน AI ราคาถูกกว่าลงทุนกับมนุษย์ เพราะไม่จำเป็นต้องมีการดูแลสุขภาพหรือสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ไม่ต้องลาพักร้อน

นี่ไม่ได้เกี่ยวกับเด็กจบใหม่ที่ขาดทักษะ แต่เกี่ยวกับนายจ้างที่พยายามหลบเลี่ยงความรับผิดชอบ พวกเขาใช้เวลาหลายสิบปีในการตัดงบประมาณโครงการฝึกอบรม และโยนภาระนั้นให้พนักงาน(เรียนเองจ่ายเอง) 

เควิน ทอมป์สัน (Kevin Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ 9i Capital Group ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์และประสิทธิภาพ การฝึก AI ให้ทำงานนั้นง่ายและคุ้มต้นทุนมากกว่าการฝึกมนุษย์ โดย AI จะทำงานตามที่โปรแกรมกำหนดไว้ได้อย่างแม่นยำด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า นายจ้างจำนวนมากมองเห็นคุณค่าในการใช้ประโยชน์จาก AI ในการจัดการงานพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทสนับสนุนและตำแหน่งงานระดับเริ่มต้น

ทางแก้ของสถานการณ์นี้ เด็กจบใหม่ที่เริ่มหางานอาจจะต้องพึ่งพาตนเองให้มากขึ้นในแง่ของการเพิ่มสกิล พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้แก่ตนเอง เช่น ลงเรียนคอร์สเสริมทักษะต่างๆ มากขึ้น (มีใบรับรองการจบหลักสูตรต่าง ๆ แนบไปกับเรซูเม่สมัครงาน) เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยความพร้อมอย่างเต็มที่ เมื่อนายจ้างและบริษัทต่างก็คาดหวังคุณค่าและทักษะในตัวพนักงานใหม่ทันทีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน

ก.อุตฯ จับมือ สวทช. เปิดตัว “แจ้งอุต” ผ่าน Traffy Fondue ช่องทางร้องเรียนปัญหานำพาสู่การแก้ไขแบบทันใจประชาชน

กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ สวทช. เตรียมเปิดตัว “แจ้งอุต” ให้ประชาชนแจ้งเผาอ้อย – โรงงานเถื่อน – สินค้าไร้ มอก. ง่าย ๆ ผ่านแพลตฟอร์มร้องเรียนปัญหาอุตสาหกรรมออนไลน์ หวังเป็นช่องทางนำสู่การแก้ไขปัญหารวดเร็ว

(28 ม.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเปิดตัว “แจ้งอุต” โดยใช้เทคโนโลยี Traffy Fondue ผ่านความร่วมมือระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยจะเปิดให้ประชาชน แจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหากากพิษ, โรงงานเถื่อน, สินค้าไร้มาตรฐาน, เผาอ้อย รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจะเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ เชื่อว่า ช่องทางดังกล่าว จะช่วยให้สามารถรับเรื่อง, แก้ไขปัญหา และติดตามสถานะให้ประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิม 300%

โดยได้ทำการประชุมซักซ้อมการเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 68 เพื่ออบรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ 300คน ปรากฏว่า ได้มีเคสร้องเรียนจริงจากจังหวัดนครราชสีมาเข้ามา ซึ่งได้เร่งจัดการแก้ไขได้อย่างรวดเร็วทันใจพี่น้องประชาชนในพื้น นับเป็นมิติใหม่ดี ๆ ที่ช่วยให้การแก้ปัญหากากพิษ, โรงงานเถื่อน, สินค้าไร้มาตรฐาน, เผาอ้อย รวดเร็วทันใจและโปร่งใสได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับ “แจ้งอุต” เตรียมเปิดตัวในงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการวันที่ 30 มกราคม 68 ที่ ตึกกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

‘เอกนัฏ’ ส่งทีมสุดซอยตรวจ บ.วินโพรเสส หลังเกิดเพลิงไหม้ ย้ำความปลอดภัยประชาชนต้องมาก่อน

(28 ม.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากรายงานข่าววานนี้ เวลา 21.30 น. วันที่ 27 มกราคม เกิดไฟไหม้ใน บริษัท วินโพรเสส จำกัด ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกิดความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ จึงสั่งการเร่งด่วนให้ทีมตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม  นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวีระ นันทเศรษฐ์ อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ บริษัท วินโพรเสส จำกัดจ.ระยอง 

จากการรายงานในเบื้องต้นแจ้งว่า ขณะรถของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนในพื้นที่ได้ขับผ่าน บริษัท วินโพรเสส จำกัด จ.ระยอง พบเห็นว่าภายในโกดังเกิดไฟได้ลุกไหม้ บริเวณโกดัง 5 จึงประสานรถดับเพลิงจาก อบต.บางบุตร เข้ามาเร่งฉีดน้ำเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งใช้เวลา 30 นาทีจึงสามารถควบคุมเพลิงได้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำการเข้าตรวจสอบและพบว่าพื้นที่ส่วนที่ไฟกำลังไหม้เป็นกองขยะพลาสติก ถุงมือยาง และยังพบ แกลอนพลาสติกขนาด 20 ลิตร จำนวน 2 แกลอนอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบ ทั้งนี้ในส่วนของสาเหตุการเกิดเพลงไหม้นั้น ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ทำการเก็บพิสูจน์หลักฐานก่อน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าอาจจะเป็นการเผาเพื่อสร้างสถานการณ์ หรืออาจจะเป็นการลักลอบเข้าพื้นที่เพื่อโจรกรรมชิ้นส่วนเหล็กนำไปขาย เนื่องจากพบชิ้นส่วนเศษเหล็กในบริเวณดังกล่าวด้วย โดยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบกับร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่ต่อไปและในเบื้องต้นอุตสาหกรรมจังหวัดระยองได้ทำการแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวกำลังทำการเร่งขนย้ายตะกรันอลูมิเนียมหรืออลูมิเนียมดรอส ทั้ง 7,000 ตัน ออกจากพื้นที่เพื่อนำไปบำบัดกำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

ซึ่งจากการที่ทีมตรวจสุดซอยลงพื้นที่ในวันนี้ ได้มีการนำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมลงไปในพื้นที่ด้วย โดยเบื้องต้นคุณภาพอากาศบริเวณดังกล่าวยังอยู่ในค่าปกติ ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมี ซึ่งทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะนำรถดังกล่าวจอดไว้ในพื้นที่เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศจนกว่าประชาชนจะวางใจว่าสามารถใช้ชีวิตได้ปกติไม่มีเคมีอันตรายปนเปื้อนในอากาศ ทั้งนี้พื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้นั้นอยู่ห่างจากจุดที่ทำการขนย้าย ตะกรันอลูมิเนียมหรืออลูมิเนียมดรอสเพียงเล็กน้อย แต่พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ผลกระทบอะไร ซึ่งยอดขนย้ายตะกรันอลูมิเนียม ร่วมกับทีพีไอ โพรลีน ตั้งแต่เริ่มขน 8 ม.ค. 68 จนถึงปัจจุบัน ขนย้ายไปแล้ว 1,592.61 ตัน

“ท่านรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้เน้นย้ำกับทีมงานว่าให้ช่วยกันตรวจสอบและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
อย่างเต็มที่โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนต้องคำนึงถึงเป็นเรื่องแรก และให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยด้านต่างๆ การตรวจสอบคุณภาพอากาศหลังเกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ชีวิตได้อย่างไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษ ส่วนการขนย้ายตะกรันอลูมิเนียมนั้น ยังสามารถดำเนินการต่อได้ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ” เลขาฯพงศ์พล กล่าว

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (2) : ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ รายละเอียดการเรียกเก็บและวิธีการคิดคำนวณ ‘ค่าไฟฟ้า’

(28 ม.ค. 68) บทความที่แล้ว (รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (1)) ได้เล่าถึงความเป็นมาของกิจการพลังงานไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานหลายหน่วยที่มีภารกิจและความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน บทความนี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของ ‘ค่าไฟฟ้า’ ทั้งประเภทต่าง ๆ รายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของการเรียกเก็บ และวิธีการคิดคำนวณ โดยประเทศไทยมีการคิดค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนประกอบด้วย 4 ส่วน คือ

1. ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ ค่าการใช้ไฟฟ้าจะคิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า โดยวิธีการคำนวณก็จะแบ่งตามประเภทผู้ใช้งานได้แก่ [1] บ้านอยู่อาศัย [2] กิจการขนาดเล็ก [3] กิจการขนาดกลาง [4] กิจการขนาดใหญ่ [5] กิจการเฉพาะอย่าง [6] องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร [7] กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และ [8] ไฟฟ้าชั่วคราว (โดยอัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วยของแต่ละประเภทจะไม่เท่ากัน) วิธีการคำนวณค่าไฟฟ้าฐาน คือ ค่าไฟฟ้าฐาน = จำนวนยูนิต x อัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วย 

2. ‘ค่าบริการ’ เป็นต้นทุนค่าบริการอ่านและจดหน่วยไฟฟ้า จัดทำและส่งบิลค่าไฟฟ้า ระบบรับชำระเงินและบริการลูกค้าของการไฟฟ้าฯ โดยมีความผันแปรไปตามหน่วยไฟฟ้าที่ใช้

3. ‘ค่า Ft’ (Float time) คือ คำที่เรียกสั้น ๆ ของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า สูตร Ft มีการปรับปรุงสูตรหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาวะการณ์ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ณ ขณะนั้น ๆ ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ได้มีการปรับปรุงสูตร Ft โดยให้คงเหลือเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าเท่านั้น การปรับค่าไฟฟ้า Ft เดิมดำเนินการโดย กกพ. ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ ซึ่งต่อมา กพช. ได้ยกเลิกคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบค่าไฟฟ้า Ft ทั้งนี้ กกพ. ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ โดยค่า Ft มีการปรับปรุงทุก ๆ 4 เดือน

4. ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ นอกจากค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft แล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) รวมกับค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ด้วย วิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ค่าบริการ) x 7%

จะเห็นได้ว่า ‘ค่า Ft’ มีผลต่อราคาค่าไฟฟ้ามากที่สุด โดยค่า Ft มีองค์ประกอบ ดังนี้ (1) ค่าเชื้อเพลิงฐาน (Base Fuel Cost : BFC) คำนวณจากค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (2) ประมาณการค่าเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. (3) ประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนของ กฟผ. (4) ประมาณการค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense : PE) (5) Fuel Adjustment Cost : FAC คำนวณจาก ส่วนต่างระหว่าง “ประมาณการค่าใช้จ่ายในด้านเชื้อเพลิงฯ” (Estimated Fuel Cost : EFC) (6) ยอดสะสมยกมาจากงวดที่ผ่านมา (Accumulate Factor : AF) คือ ส่วนต่างระหว่าง “ค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริง”กับ“ค่า Ft เรียกเก็บ”สะสมของงวดที่ผ่านมา (7) Ft ขายปลีก สำหรับงวดปัจจุบันคำนวณจากผลรวมของ “FAC งวดปัจจุบัน” และ (8) Ft ขายส่งประกอบด้วย Ft ขายส่ง กฟน. และ Ft ขายส่ง กฟภ. 

ค่า Ft จะถูกคำนวณด้วยโครงสร้างสูตรคำนวณค่า Ft โดย {1} จำแนกเป็น Ft ขายปลีก และ Ft ขายส่ง {2} Ft ขายปลีก เป็น Ft ที่ กฟน. และ กฟภ. เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท และกฟผ. เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นลูกค้าตรงของ กฟผ. และอื่น ๆ {3} Ft ขายส่ง เป็น Ft ที่ กฟผ. เรียกเก็บจาก กฟน. และ กฟภ. {4} Ft จะคำนวณเป็นค่าเฉลี่ย 4 เดือนและปรับเปลี่ยนทุก ๆ 4 เดือน โดยเรียกเก็บในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า และแสดงในใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าเป็นประจำทุกเดือนเป็นรายการพิเศษ และ {5} Ft เป็นอัตราต่อหน่วยการใช้พลังงานไฟฟ้า และเป็นค่าที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และใช้ข้อมูลในการคำนวณจากองค์ประกอบตามข้อ (1) ถึง (8) 

สำหรับหลักการคำนวณค่า Ft จะใช้ <1> ค่า Ft ขายปลีก คำนวณจากค่าใช้จ่ายในด้านค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐในงวด 4 เดือนข้างหน้า (งวดปัจจุบัน) เทียบกับ ค่าใช้จ่ายที่ใช้คำนวณในค่าไฟฟ้าฐานรวมกับ ค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริงต่างจากที่เรียกเก็บ สะสมในงวด 4 เดือนที่ผ่านมา (AF) หารด้วยประมาณการหน่วยขายปลีกในงวดปัจจุบัน และ <2> ค่า Ft ขายส่งให้ กฟน. และ กฟภ. Ft ขายส่งให้ กฟน. คำนวณจากค่า Ft ขายปลีกคูณประมาณการหน่วยขายปลีกที่ กฟน. ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดปัจจุบัน หักด้วยส่วนต่างของประมาณการกับค่าฐานของค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐของ กฟน. หารด้วยประมาณการหน่วยขายส่งที่ กฟผ. ขายให้ กฟน. สำหรับ Ft ขายส่งให้ โดย กฟภ. ก็ใช้วิธีการคำนวณค่า Ft เช่นเดียวกันกับ กฟน. ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อวันที 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ได้กำหนดค่า Ft ที่หน่วยละ 0.3672 บาท (36.72 สตางค์) ทั้งนี้ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับวิธีการคำนวณค่าไฟฟ้า จะมีวิธีการคำนวณค่าไฟฟ้าอัตโนมัติในเว็บไซต์ทั้งของ กฟน. และ กฟภ.

ในตอนต่อไปจะได้บอกเล่าถึงเรื่องของ ‘ต้นทุน’ ใน ‘ค่าไฟฟ้า’ ว่าประกอบด้วยอะไร และ ‘ผู้ใช้ไฟฟ้า’ ต้องจ่ายเป็นค่าอะไรบ้างใน ‘ค่าไฟฟ้า’ แต่ละหน่วย

‘ไทยออยล์’ ตอกย้ำความเป็นองค์กรที่น่าร่วมงานด้วย คว้าอันดับ 35 จาก 50 บริษัทน่าร่วมงานที่สุดในไทย

(28 ม.ค. 68) นายณัฐพล มีฤทธิ์ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านบริหารศักยภาพองค์กร และ นางสุชาดา ดีชัยยะ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความเป็นเลิศด้านทรัพยากรบุคคลและองค์กร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นรับรางวัล TOP 50 บริษัทน่าร่วมงานมากที่สุดประจำปี 2024 ที่จัดโดย WorkVenture ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและผู้นำด้านการสร้างแบรนด์นายจ้างให้กับองค์กรชั้นนำในประเทศไทย

ไทยออยล์ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด ด้วยการคว้าอันดับที่ 35 จากการจัดอันดับดังกล่าว การจัดอันดับครั้งนี้มาจากผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนกว่า 12,559 คน ที่มีอายุระหว่าง 21-35 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษาจบใหม่ พนักงานในช่วงเริ่มต้นอาชีพ และกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ทำงาน 

การเป็นหนึ่งใน 50 บริษัทที่น่าร่วมงานด้วยในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยออยล์ในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ด้วยแนวทางการบริหารที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยคำนึงถึงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) 

นายณัฐพล  กล่าวว่า “รางวัลนี้ถือว่าเป็นกำลังใจ และความภาคภูมิใจของพนักงานไทยออยล์ทุกคน เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์ของไทยออยล์ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในทุกวันนี้   ไทยออยล์เป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานที่ให้ความสำคัญมากกับพลังคน  เราพยายามสร้างพลังให้กับคนของเรา เพื่อให้พนักงานของเรามีพลังส่งต่อคุณค่าในตัวให้กับองค์กร  ซึ่งตรงกับปณิธาณของไทยออยล์ที่ว่า “Your Value, Our Priority … เพราะคุณค่าของพนักงานคือคุณค่าของไทยออยล์”

พร้อมย้ำว่า ไทยออยล์เชื่อมั่นในแนวทาง "Happy Employees, Happy Company" โดยมุ่งสร้างความสุขและแรงบันดาลใจให้กับพนักงานทุกระดับ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ไทยออยล์ยังคงเป็นหนึ่งในองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุดในประเทศไทย

‘พลังงาน’ เดินหน้าตั้งทีมดูแลค่าไฟฟ้า ชี้ 2-3 เดือนได้แนวทางลดราคาค่าไฟที่เหมาะสม

ปลัดกระทรวงพลังงาน จับมือผู้บริหารระดับสูง โชว์ผลงานสำคัญ ปี 2567 พร้อมแผนงานด้านพลังงานปี 2568 เน้นมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และเร่งเดินหน้าผลิตพลังงานสะอาด พร้อมระบุกระทรวงพลังงานตั้งทีมพิจารณาแนวทางลดค่าไฟฟ้า คาด 2-3 เดือน จะได้เห็นหลากหลายแนวทาง เพื่อนำมาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาลดค่าไฟฟ้าต่อไป  

เมื่อวานนี้ (27 ม.ค. 68) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารแถลงผลงานกระทรวงพลังงานปี 2567 และแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 ภายใต้หัวข้อ 'New Chapter เปิดศักราชใหม่พลังงานไทย จาก ภาพฉาย สู่ ภาพชัด'

นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยของรัฐบาลว่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาค่าไฟฟ้า ซึ่งจะมีการพิจารณากรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอแนวทางลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ต่อหน่วย ด้วยการทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทางผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ได้รับการสนับสนุนเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง  (FiT)  

โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยพิจารณาและหารือกับผู้ประกอบการมาก่อน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ตรงกัน หลังจากนี้คาดว่าคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจะมีหลากหลายแนวทางออกมาภายใน 2-3 เดือนนี้ จากนี้จะนำไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงเท่าที่จะเป็นไปได้ต่อไป  

สำหรับการดำเนินงานในช่วงปี 2567 เป็นอีกหนึ่งปีที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านราคาพลังงานซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากสถานการณ์สงครามในต่างประเทศที่ยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกผันผวน แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ตอนนี้ผ่อนคลายมากกว่าเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานยังคงออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ผ่านมาตรการการตรึงราคาค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และ NGV รวมทั้งการปรับใช้ราคา Pool Gas การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้ราคาพลังงานภายในประเทศอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อลดภาระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลาย ๆ มาตรการก็เกิดจากการบริหารจัดการและระดมสมองจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัด ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ส่วนในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย ผ่าน 3 เป้าหมายการขับเคลื่อนด้านพลังงาน ประกอบด้วย 1. ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน 2. พลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ และ 3. พลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ที่หลายบริษัทชั้นนำระดับโลกพยายามมุ่งหาพลังงานสะอาด

โดยกุญแจสำคัญในการทำให้แผนการขับเคลื่อนด้านพลังงานมีความชัดเจน จากภาพฉายกลายเป็นภาพชัดให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานได้วางกรอบ 5 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยจะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล 2) บริหารจัดการระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นเพื่อรองรับพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งการพัฒนาระบบสำรองเชื้อเพลิงและการตรวจสอบปริมาณสำรอง การพัฒนาระบบ Smart Grid การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบ SPR และการยกระดับระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตแบบกระจายศูนย์

3) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อเปิดรับการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Data Center ผ่านมาตรการเช่น Direct PPA, UGT และการปรับแผน PDP ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น 4) เตรียมเสนอมาตรการด้านพลังงานสีเขียว ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Roof ผลักดันมาตรการทางภาษี การลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการลดฝุ่น PM2.5 และ 5) สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน การปรับเปลี่ยนเอทานอลมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องบินหรือ SAF การพัฒนาการกักเก็บ CO2

“จากผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2567 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินทุกมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ที่ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้พลังงาน ส่วนในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานจะเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ 'ภาพฉาย กลายเป็น ภาพชัด' ให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงการบริหารจัดการภาคพลังงานของกระทรวงพลังงาน ทั้งการปรับโครงสร้างราคาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ การพัฒนาและปรับแก้กฎหมายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต การทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นนโยบายที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานได้เตรียมดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตด้านพลังงานในหลายๆ ปีที่ผ่านมา และจะปฏิบัติตามแผนในปี 2568 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมุ่งสู่เป้าหมายพลังงานสะอาดต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สนพ. ได้ปฏิบัติภารกิจงานด้านการวางแผนนโยบายพลังงานภายใต้หลักคิด (1) ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) สนพ. ได้จัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า พัฒนา EV Data Platform และส่งเสริมการใช้ EV ในภาคราชการ โดยในเดือน มิ.ย. 2567 สนพ. ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan2024) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำความเห็นที่ได้จากการ Public hearing ไปปรับปรุงเพื่อเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ สนพ. ยังได้เสนอข้อสรุปผลการดำเนินโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลด หรือ Demand response (DR) ปี 2566 และแนวทางพัฒนาแหล่งทรัพยากร DR ในระยะแรกปี 2567 – 2569 เพื่อตอบสนองการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (2) ด้านการดูแลราคาพลังงาน (Economics) สนพ. ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ กำหนดราคา Pool Gas ราคาเดียว (Single Pool) และทบทวนค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ (ค่าผ่านท่อก๊าซ) ซึ่งช่วยให้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ลดลง

ทั้งนี้ สนพ. ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของไทย และนำเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงาน ได้แก่ การรักษาระดับค่าไฟฟ้าปี 2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง การคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่อเนื่องมามากกว่า 2 ปี และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร สำหรับ (3) ด้านความยั่งยืน (Sustainability) สนพ. มีนโยบายที่คำนึงถึงพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อเสนอแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ไม่เกิน 2,000 MW สำหรับธุรกิจ Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งช่วยส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น

ในปี 2568 สนพ. ยังคงเดินหน้าสานต่อภารกิจที่ทำในปี 2567 ทั้งในส่วนของความมั่นคงด้านพลังงาน และ การดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสมกับประชาชน โดยมีงานสำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ การปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสมทั้งในส่วนของโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และ โครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2569 – 2573 เป็นต้น

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ พพ. ในปี 2567 ได้สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ติดตั้งโซลาร์ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ทุรกันดาร รวม 595 แห่ง 1,588 ระบบ,ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังน้ำกว่า 235 ครัวเรือน, กำกับและส่งเสริมให้มีการลดใช้พลังงานในโรงงานอาคารได้กว่า 7,583 ล้านบาท, ถ่ายทอดความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระดับครัวเรือน ชุมชน กว่า 24,606 คน และพัฒนาหลักสูตรด้านพลังงานเพื่อสร้างบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน

และในปี 2568 นั้น พพ. ยังคงเดินหน้าพลังงานสะอาดให้มากขึ้นและลดใช้พลังงานอย่างเข้มข้น ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงาน อาทิ ด้านความมั่นคง : พัฒนากฎหมายเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาดให้คล่องตัวขึ้น ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ ด้านเศรษฐกิจ : เร่งผลักดันมาตรการทางภาษีส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, ด้านความยั่งยืน : ยกระดับมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน พร้อมเร่งรัดจัดการเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนเพื่อลดปัญหา PM2.5 เป็นต้น

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 2567 โดยภาพรวมได้ดำเนินการปรับปรุงอัตราการสำรองน้ำมันดิบ จาก 5% เป็น 6% ควบคู่กับการศึกษารูปแบบการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ขับเคลื่อนการออกกฎหมายรับแจ้งข้อมูลนำเข้า-ส่งออกน้ำมัน ประสานความร่วมมือกับ กกพ. กฟน. และ กฟภ. ในการกำหนดกรอบระยะเวลาการอนุมัติอนุญาตและมาตรฐานการติดตั้ง Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เหลือ 2 ชนิด คือ ดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน (B7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20

อีกทั้งได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นโลจิสติกส์หลักของประเทศ และได้แก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ให้เอื้อต่อการเก็บสำรองน้ำมันเพื่อใช้สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการแก่ผู้ประกอบการเป็นดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงบัตรประจำตัวสำหรับผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงได้ขับเคลื่อนการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ผ่านการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อาทิ ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รวมถึงน้ำมันเตาชีวภาพกำมะถันต่ำมาก

สำหรับแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 จะมีการนำร่องการเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำมันสำรองผ่าน API Gateway เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และจะขยายการให้บริการระบบอนุมัติอนุญาตแบบออนไลน์ไปยังส่วนภูมิภาค อีกทั้งจะออกมาตรฐานความปลอดภัยของเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของ SAF เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้เชื้อเพลิง

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่าในส่วนของผลการดำเนินงานปี 2567 ที่สำคัญของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคือการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามในประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ เรียบร้อยแล้ว และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้เร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งสามารถกำกับ ดูแล สนับสนุนให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแปลง G1/61 และ G2/61 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามลำดับ

นอกจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังมีการดำเนินงานให้ได้มีการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของแปลง B8/38 ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 4,000 บาร์เรลต่อวัน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการต่อระยะเวลาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ด้วยแล้ว นอกจากการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน CCS เพื่อสนับสนุนนโยบายในการให้ประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยการจัดทำโครงการศึกษากฎระเบียบและโครงการนำร่อง CCS ในแหล่งอาทิตย์ ทะเลอ่าวไทย เพื่อรองรับการดำเนินงานด้าน CCS ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับในปี 2568 กรมฯ มีแผนงานสำคัญคือการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอันดามัน (รอบที่ 26) การเร่งรัดการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในแปลงที่ใกล้สิ้นสุดอายุทั้งในประเทศและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ประกอบกับส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งผลักดันการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี CCS สำหรับโครงการนำร่องพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

EA มั่นใจเพิ่มทุน 7,426 ล้านบาท ฉลุย! หลังผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นการปรับโครงสร้างธุรกิจ

(28 ม.ค. 68) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) หนึ่งในธุรกิจพลังงานทดแทนชั้นนำของประเทศ ประกาศในวันนี้ว่า แผนการพลิกฟื้นธุรกิจได้รับการสนับสนุนอีกครั้งอย่างท่วมท้น จากความสำเร็จของการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงวันที่ 17-23 มกราคม 2568 โดยมีการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย สามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 7,426 ล้านบาท

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า "เงินทุนที่ได้มาใหม่นี้จากผู้ถือหุ้น แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นที่เชื่อว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจที่เราได้ดำเนินการตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ช่วยให้ธุรกิจมีเสถียรภาพ และวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในอนาคต เงินทุนเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อลดหนี้ เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงิน และลงทุนในโครงการต่าง ๆ ต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วสู่ก้าวต่อไปของแผนในการฟื้นตัว"

"เรายินดีและขอบคุณที่ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ถือหุ้น ส่งผลให้การเสนอขายหุ้นสามัญ เพิ่มทุนครั้งนี้ได้รับการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย เงินทุนเหล่านี้จะช่วยลดหนี้ เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงิน และช่วยให้ธุรกิจเราเดินหน้าสู่ก้าวต่อไปในการฟื้นตัว"

EA เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจในภาพรวม คือ EA กำลังมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่สร้างผลกำไรสูง ได้แก่ การผลิตไบโอเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ และการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีกระแสเงินสดเป็นบวก ธุรกิจเหล่านี้รวมกันสร้างรายได้ประมาณ 60% ของรายได้รวมของ EA ในขณะเดียวกัน EA ได้หยุดหรือลดขนาด 2 ธุรกิจที่ขาดทุน ในระหว่างเตรียมการปรับโครงสร้าง ได้แก่ ธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ โดยจะมีการหาพันธมิตรสำหรับแต่ละธุรกิจที่เป็นรายใหญ่ระดับนานาชาติที่จะช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก และช่วยขยายตลาดไปต่างประเทศได้

นายฉัตรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า "เรากำลังเดินหน้าที่จะเริ่มการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษที่โรงงานฉะเชิงเทราในเดือนเมษายน 2568 โดยร่วมมือกับผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศจีนที่ชื่อ Chengli Special Automobile Co., Ltd. (บริษัท เฉิงหลี่ สเปเชียล ออโตโมบิล) เราจะเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ประกอบยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษในจำนวนมาก เช่น รถพยาบาล รถเก็บขยะ และยานพาหนะประเภทพิเศษอื่น ๆ นอกจากนี้ เรากำลังเดินหน้าการเจรจาร่วมทุนกับบริษัทจากประเทศจีนเพื่อเป็นโรงงานแรกขนาดใหญ่ในประเทศไทยในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีกำลังการผลิต 4 กิกะวัตต์"

จากการเปิดเผยล่าสุดของ EA กระแสเงินสดจากการดำเนินงานในเก้าเดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 5,610 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากติดลบ 1,726 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าปีก่อนหน้านี้เกือบสามเท่า

‘เอกนัฏ’ ขอบคุณไร่อ้อย-โรงน้ำตาล รับอ้อยสดเข้าหีบ ทุบสถิติ! อ้อยเผาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ลดเผาป่ากว่า 1.7 ล้านไร่

ทุบสถิติ! อ้อยเผาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ดันอ้อยสดแตะ 90% ‘เอกนัฏ’ ขอบคุณชาวไร่อ้อย-โรงน้ำตาล คืน ‘อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM2.5’ ให้คนไทย

(28 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาเข้าหีบ ตามแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) ของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 โดยจากสถิติการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูการผลิต 2567/2568 ของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 26 มกราคม 2568 พบว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้ความร่วมมือตัดและรับอ้อยเผาเข้าหีบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ลดลงใกล้แตะ 10% ดันอ้อยสดพุ่ง 90% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด โดยปริมาณการตัดและรับอ้อยสดเข้าหีบสะสมของโรงงานน้ำตาลตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดหีบอ้อยเพิ่มสูงขึ้นถึง 83% จากฤดูกาลผลิตที่แล้วที่ 67% ลดการเผาอ้อยลงได้กว่า 17 ล้านตัน

นายเอกนัฏกล่าวว่า เทียบเท่าลดการเผาป่าลงได้กว่า 1.7 ล้านไร่ หรือลดการปลดปล่อย PM2.5 ลงได้กว่า 4,250 ตัน เมื่อเทียบกับฤดูการผลิต 2566/2567 ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไล่เรียงลงมาถึงภาคกลางมีค่าคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลง ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น

นายเอกนัฏกล่าวเพิ่มเติมว่า หากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศทั้ง 58 โรงงานให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการรักษามาตรฐานลดการตัดและรับอ้อยเผาลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะเป็นเป็นส่วนหนึ่งในการไม่ซ้ำเติมให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงขึ้น และมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ

“กระทรวงอุตสาหกรรมขอขอบคุณไปยังผู้บริหารโรงงานน้ำตาลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 90% ที่ให้ความร่วมมือไม่รับซื้ออ้อยเผาและไม่เผาอ้อย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ ขอบคุณ และขอความร่วมมือในการรักษามาตรฐานลดการรับอ้อยเผาลงอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูหีบอ้อยนี้ เพื่อช่วยกันคืน ‘อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM2.5’ ให้กับสังคมไทย และเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดรับกับกติกาสากล สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล” นายเอกนัฏฯ กล่าวทิ้งท้าย

นายกฯ คิกออฟ กดปุ่มโอนเงินหมื่น เฟส 2 กลุ่ม 60 + เติมเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นายกฯ คิกออฟ กดปุ่มโอนเงินหมื่น เฟส 2กลุ่ม 60 + กว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ เติมเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ย้ำกรณีโอนไม่ผ่านหรือติดขัดในวันนี้รัฐบาลจะโอนซ้ำอีก3รอบ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 28 มีนาคม และ28เมษายน จากนั้นจะนำข้อมูลมาพิจารณา

(27 ม.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน (Kick Off) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผู้สูงอายุ พร้อมกล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้เน้นย้ำและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในเฟสแรกมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ จำนวน 14 ล้านคน โดยได้มอบเงิน จำนวน 10,000 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากมาย มีการจับจ่ายซื้อของทำให้เศรษฐกิจกระตุ้นขึ้น และบางครอบครัวได้นำเงินมารวมกันเพื่อต่อยอดทำธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และวันนี้เป็นเฟสที่สองของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะจ่ายเงิน 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนให้ผู้สูงอายุจำนวนกว่า 3,000,000 คน ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นจำนวนประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท  โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีกับประชาชน และหวังให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเงินจำนวนนี้ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ แบ่งเบาภาระได้หลาย ๆ อย่าง และนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อไป 

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กดยืนยันการโอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดตัวโครงการฯ อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง และสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภา

ภายหลังกดปุ่มโอนเงิน นายกรัฐมนตรีรับฟังความรู้สึกจากตัวแทนกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุต่างขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญ ไม่ทอดทิ้งกลุ่มผู้สูงอายุ มอบโอกาสให้ผู้สูงอายุมีเงิน 10,000 บาท เพื่อนำเงินที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และครอบครัว

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยผ่านระบบ Video Conference กับป้าจันทร์ อายุ 79 ปี อาชีพแม่ค้าขายไข่สด โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวทักทายป้าจันทร์ว่า วันนี้หน้าตาสดใส ทางด้านป้าจันทร์กล่าวว่า หน้าตาสดใสเพราะดีใจที่ได้รับเงิน 10,000 จากรัฐบาล พร้อมกับกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ดำเนินโครงการที่ดีเป็นประโยชน์ โดยจะนำเงินที่ได้รับไปซื้อไข่มาขายต่อ และเงินอีกส่วนหนึ่งจะนำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน พร้อมกับกล่าวให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ขอให้มีกำลังใจที่ดีในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวให้กำลังใจป้าจันทร์ ขอให้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพ และมีสุขภาพที่แข็งแรง

สำหรับเงินสนับสนุน เฟส 2 นี้ หากดำเนินการโอนแล้วติดขัดเรื่องใด ๆ จากจำนวนผู้ลงทะเบียน รัฐบาลจะ โอนซ้ำอีก 3 ครั้งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 28 มีนาคม และ 28 เมษายน ปีนี้และหากพ้นกำหนด 3 ครั้ง ก็จะ ตรวจสอบว่าเหลืออยู่จำนวนเท่าไร เพื่อนำมากำหนดวิธีสำหรับผู้ไม่มี สมาร์ตโฟนต่อไป

กระทรวงอุตฯ ดันกองทุนประชารัฐยกระดับเอสเอ็มอี ยก บ.ไรซ์แฟคทอรี่ ต้นแบบธุรกิจที่ปรับตัว ส่งข้าวฮางงอกอินทรีย์ทั่วโลก

(27 ม.ค. 68) กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 2,500 ล้านบาท ยกระดับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมาช่วยผู้ประกอบการไปแล้ว 13,661 ราย ด้วยวงเงินกว่า 25,649.25 ล้านบาท พร้อมเผย ต้นแบบความสำเร็จ บ.ไรซ์แฟคทอรี่ นำเงินกองทุนฯ ปรับปรุงคุณภาพการผลิต เจาะตลาดข้าวฮางงอกอินทรีย์ไปทั่วโลก  

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากแนวนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรม เชิงพื้นที่ และสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านเงินลงทุนเพื่อการปรับปรุงกิจการอย่างเพียงพอ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงให้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ มีเป้าหมายเพื่อให้เอสเอ็มอีปรับตัว ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในปัจจุบัน และอนาคต  รวมทั้งยกระดับการบริหารธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ตลอดจนการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการใช้กองทุนฯ ไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 

1. สร้างโอกาส ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีผ่านกลไกกองทุนฯ โดยการพัฒนาโครงการสินเชื่อที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย และให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ 2. พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับลูกค้ากองทุนเอสเอ็มอีฯ โดยการยกระดับจากเอสเอ็มอีขนาดเล็กสู่ขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาเพื่อป้องกัน ตลอดจนฟื้นฟูลูกหนี้กองทุนฯ ที่มีความเสี่ยง 3. พัฒนาเครือข่ายกองทุนในพื้นที่ โดยบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4. เสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรในการบริหารงานกองทุนเอสเอ็มอี 

สำหรับการดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ผ่านมานั้น ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก มีผู้ที่ขอสินเชื่อแล้วประมาณ 13,661 ราย วงเงิน 25,649.25 ล้านบาท ซึ่งภายใน ปี 2568 ได้วางแผนที่จะเร่งปล่อยสินเชื่อให้ได้อีก 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนมีการดำเนินการโครงการส่งเสริมเพื่อยกระดับผู้ประกอบการและขีดความสามารถ ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับผู้ประกอบการได้ไม่น้อยกว่า 200 ราย เพิ่มมูลค่าธุรกิจได้กว่า 383 ล้านบาท  โดยหนึ่งในกิจการที่กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้เข้าไปมีส่วนในการยกระดับจนประสบความสำเร็จ คือ บริษัท ไรซ์แฟคทอรี่ จำกัด จังหวัดนครพนม โดย นางสาวชบา ศรีสุโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไรซ์แฟคทอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯทำธุรกิจแปรรูปข้าวตั้งแต่ปี 2559 โดยเน้นในด้านการผลิตข้าวฮางงอกอินทรีย์ ซึ่งมีสารกาบา (GABA) มากกว่าข้าวกล้อง 30 เท่า มีประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยรักษาระบบประสาทส่วนกลาง รักษาสมดุลในสมอง ป้องกันความจำเสื่อม กระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ช่วยการเจริญเติบโต ชะลอความชรา ป้องกันการสะสมของไขมัน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด กระตุ้นการขับถ่าย และป้องกันมะเร็งลำไส้ จึงเหมาะสำหรับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ 

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มบุกเบิกตลาดส่งออกมีผู้ซื้อชาวสิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งมีความเข้มงวดในด้านคุณภาพ และในด้านสิ่งเจือปนสูงมาก ทำให้บริษัทฯ ต้องเร่งปรับปรุงระบบการผลิต โดยได้ยื่นขอสินเชื่อของโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับการอนุมัติสินเชื่อ มาซื้อเครื่องจักรคัดแยกสิ่งเจือปน และปรับปรุงโรงงาน ทำให้สินค้าของบริษัทฯ มีคุณภาพสูงขึ้นจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานของต่างประเทศ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ในปัจจุบันข้าวฮางงอกอินทรีย์มีสัดส่วนส่งออกสูงถึงร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 เป็นตลาดภายในประเทศ  

“กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้ช่วยชุบชีวิตและเป็นที่พึ่งให้กับบริษัทฯได้มาก เพราะให้ข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีกว่าสถาบันการเงินทั่วไป โดยมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 % เป็นส่วนช่วยให้เอสเอ็มอีมีกำลังในการต่อสู้มากขึ้น และผ่อนจ่ายหนี้หมดได้ไว สามารถต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว” นางสาวชบา กล่าว 

และในปัจจุบันกระแสความต้องการสินค้าที่เสริมสร้างสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ข้าวฮางงอกได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจากลูกค้าชาวจีน ในช่วงต้นปี บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มกว่า 4.5 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการเพิ่มกำลังการผลิต เพราะความต้องการของตลาดมีสูงมาก ดังนั้น จึงมีแผนที่จะขอกู้ในโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน 12 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเครื่องจักร และขยายโรงงาน รวมทั้งการจัดทำศูนย์การเรียนรู้ด้านการทำข้าวฮางด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกลุ่มเกษตรกร และสถาบันการศึกษาเข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ เพราะติดขัดในเรื่องสถานที่ ห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งเงินทุนที่เข้ามาใหม่นี้ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิต แต่ยังช่วยบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรและเยาวชนอีกด้วย 

“ปัจจุบันบริษัทฯ ผลิตข้าวฮางงอกอินทรีย์ 5 หมื่นแพคต่อเดือน ขณะที่ลูกค้าจีนเพียง 1 ราย ต้องการสินค้า 1 – 3 แสนแพคต่อเดือน นอกจากนี้ยังต้องการข้าวฮางงอกเหนียวดำ 200 ตันต่อปี และยังมีลูกค้าต่างชาติทยอยติดต่อเข้ามาเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขยายเครื่องจักรและโรงงาน เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด” นางสาวชบา กล่าว

ส่วนในอนาคต บริษัทฯ มีแผนในการต่อยอดไปสู่การผลิตข้าวฮางงอกพร้อมรับประทาน ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อผลิตข้าวฮางงอกพร้อมทานดังกล่าว สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวาน จากการประเมินเบื้องต้นจะต้องใช้งบลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 7 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ เพื่อพิจารณาขยายการลงทุนต่อไปในอนาคต

รถไฟฟ้าฟรี ลดฝุ่น PM 2.5 ดัน!! ผู้ใช้ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เพิ่ม 34% หลัง ‘คมนาคม’ ออกมาตรการ ส่งเสริมการเดินทาง ด้วยระบบราง

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค. 68) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เผยถึงปริมาณผู้โดยสารที่หันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสีแดง ซึ่งในวันนี้ถือเป็นวันแรกภายหลังจากกระทรวงคมนาคมได้ออกมาตรการงดจัดเก็บค่าโดยสารการเดินทางในโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางราง ระหว่างวันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภายใต้มาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ พบว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มมากขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงในช่วงวันและเวลาเดียวกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงรวม จำนวน 11,949 คน แบ่งออกเป็นสายเหนือ 11,300 คน สายตะวันตก 959 คน  (ข้อมูลในช่วงเวลา 05.00-13.00 น. )

สำหรับรถไฟฟ้าในสายต่างๆ ทั้งสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเหลือง สายสีชมพูและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงนั้นได้ร่วมให้บริการประชาชนฟรี ตามมาตรการของกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบรางนี้  ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณะของรัฐได้ง่ายถึง และสามารถเดินทางถึงปลายทางด้วยระบบรถไฟฟ้าที่มีความปลอดภัย สะอาด ตรงเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ ประหยัดเวลาในการเดินทาง ลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ และเพิ่มมูลค่าความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นส่วนสนับสนุนการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการใช้พลังงานน้ำมัน ส่งเสริมให้คุณภาพอากาศในพื้นที่ตามแนวสายทางและข้างเคียงให้ดีขึ้น โดยจะช่วยลดภาวะมลพิษ และบรรเทาปัญหาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ในอนาคต

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (1) : ความเป็นมาของกิจการพลังงานไฟฟ้า รู้จัก!! หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘ค่าไฟฟ้า’

(26 ม.ค. 68) การดำรงชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน นอกจากปัจจัย 4 อันได้แก่  อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคแล้ว ยังมีปัจจัยที่กลายเป็นจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นมาอีกหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ในสภาวะที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 เครื่องฟอกอากาศก็กลายเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็น เครื่องซักผ้า เตารีด หม้อหุงข้าว ปั้มน้ำ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า

ดังนั้น วิถีชีวิตของชาวโลกรวมถึงคนไทยในทุกวันนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว ต้องพึ่งพาอาศัยใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น เมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าจึงมี ‘ค่าไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่งต้องจ่ายตามมาเป็นประจำทุกเดือน แม้ว่า ‘ค่าไฟฟ้า’ จะเป็นรายจ่ายประจำทุกเดือน จะมากหรือน้อยก็เป็นไปตามปริมาณไฟฟ้าที่มีการใช้ แต่พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจถึงความเป็นมาและความเป็นไปของกิจการพลังงานไฟฟ้า อันประกอบด้วยหลายหน่วยงานมากองค์กร ซึ่งมีบทบาทหน้าที่และภารกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงเรื่องราวรายละเอียดต่าง ๆ ของ ‘ค่าไฟฟ้า’ จึงขอนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่าน The States Times ได้เข้าใจพอสังเขป 

ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2427 โดยไฟฟ้าดวงแรกส่องสว่างภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ต่อมา พ.ศ. 2441 มีก่อตั้งบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด โรงไฟฟ้าเอกชนแห่งแรกของไทย โดยโอนกิจการมาจากบริษัทบางกอก อิเลกตริกไลท์ ชิกดีแคท เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนกลายเป็น 3 หน่วยงานหลักที่บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยคือ (1)การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ (2)การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีหน้าที่ในการจัดหาและจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่ กฟน. จะรับผิดชอบในพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ และ กฟภ. จะดูแลในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจาก 3 จังหวัดนี้ โดย (3)การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมีหน้าที่ผลิตและจัดซื้อพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งต่อให้กับ กฟน. กฟภ. รวมถึงจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมี ‘โครงสร้างกิจการไฟฟ้า’ ในรูปแบบ ‘Enhanced Single Buyer Model (ESB)’ คือ “การที่รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ จุดแข็งของระบบโครงสร้างนี้คือ ทำให้รัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการได้อย่างเด็ดขาด 100% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา” ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปัจจุบัน กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ส่งไฟฟ้า และเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ได้แก่ IPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 MW) และ SPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 MW) รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ

ในขณะที่ กฟน. และ กฟภ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 10MW) โดย กฟผ.จะจำหน่ายไฟฟ้าผ่านระบบส่งไฟฟ้า (Transmission) ให้แก่ กฟน. และ กฟภ. เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภายในพื้นที่รับผิดชอบของ กฟน. หรือ กฟภ. นอกจากนี้ กฟผ. ยังจำหน่ายไฟฟ้าบางส่วนโดยตรงให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่บางรายที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator : SO) ทำหน้าที่ในการควบคุม บริหารและกำกับดูแลการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ทั้งของ กฟผ. IPP SPP และโรงไฟฟ้าที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ทำให้ระบบพลังงานมีความสมดุล มั่นคง มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ ตามความในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดย กฟผ. เป็นผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลในขณะนั้นให้การส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เพื่อจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังจะเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ SPP ซึ่งใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น สนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศและช่วยพัฒนาตลาดทุน

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลมีนโยบายลดภาระการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า โดยมีมติ ครม.เห็นชอบเรื่องแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. กำหนดขั้นตอนและแนวทางให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าประเทศไทย ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบของ IPP และจะต้องขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. และให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งใช้พลังงานนอกรูปแบบ เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย โดย กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้มติเห็นชอบของ ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)’ มาจนถึงปัจจุบัน

โดย ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ’ มีอำนาจหน้าที่ในการ (1) เสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี (2) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ (3) ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ และ (4) ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ

โดยมี ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน โดยมีมีอำนาจหน้าที่ใน “การอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ การกำหนดมาตรฐานการ ให้บริการพลังงาน และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกอบการให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือ เพื่อหาสถานที่ตั้ง ระบบโครงข่ายพลังงานการใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือเพื่อหาสถานที่ตั้ง ระบบโครงข่ายพลังงาน และการพิจารณาข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการพลังงาน” และทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนด “อัตราค่าไฟฟ้า”

‘อ.ไชยันต์’ เผยเหตุผล ทำไมหลายประเทศในโลก ถึงไม่ยอมให้การพนันถูกกฎหมาย ชี้!! เล่นแล้วติด ควบคุมไม่ได้ ต้องขายข้าวของ เพื่อหาเงิน มาเล่นการพนัน

เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 68) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า …

“ทำไมหลายประเทศในโลกถึงไม่ยอมให้การพนันถูกกฎหมาย ?” การพนันเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้น เมื่อเล่นแล้ว มักจะติด

ขณะเดียวกัน การพนันก็ยังเป็นวิธีการหลีกหนีจากความเป็นจริงและความเครียดของชีวิต คนจำนวนไม่น้อยจึงชอบ

ในขณะเดียวกัน บางประเทศก็มีการพนันเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี อย่างไรก็ตาม การพนันอาจควบคุมไม่ได้

สิ่งที่เคยเป็นกิจกรรมทางสังคมได้กลายเป็นสิ่งเสพติด นำมาซึ่งนิสัยใหม่ที่เป็นอันตราย
ในประเทศที่รัฐบาลและประชาชนเข้าใจถึงด้านลบของการพนัน และตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของผู้คนในประเทศ จึงไม่สามารถทนดูสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และนี่จึงเป็นเหตุผลที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามกิจกรรมการพนัน

เพราะถ้าการพนันถูกกฎหมายแล้ว ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นตามมา ได้แก่

ปัญหาทางสังคม: การพนันจะถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อคนๆ หนึ่งติดการพนัน พวกเขาจะเสี่ยงต่ออันตรายต่างๆ เช่น:
-ก่อหนี้
-ลดการใช้จ่ายสำหรับสิ่งจำเป็น เช่น อาหาร ฯลฯ
-ลดการทำงานหรือเรียนหนังสือ
-ขายข้าวของเพื่อหาเงินมาเล่นการพนัน
-ผู้ติดการพนันยังมีความเสี่ยงที่จะติดสุราและสารเสพติด ซึ่งส่งผลให้มีอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น และอาจส่งผลให้ชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยง

ดังนั้น เพื่อปกป้องประชาชนจากความเสียหายเหล่านี้ รัฐบาลและประชาชนที่เล็งเห็นผลเสียทางสังคมนี้ จึงได้ทำให้การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ยังมีปัญหาในมิติอื่นๆ อีก ซึ่งผมจะนำมาเสนอในตอนต่อไปนะครับ

รวมทั้ง จะโต้แย้งเหตุผลข้ออ้างที่ว่า เมื่อรัฐนำเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นบนดินแล้ว จะได้เก็บภาษีไปใช้ในสวัสดิการต่างๆเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่

กองทุนดีอี BDE ลงพื้นที่อุบล สร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์ โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชน แบบมีส่วนร่วม

เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 68) นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) พร้อมด้วยนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม BDE ตลอดจนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สดช. ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ สำนักงานเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ร่วมให้การต้อนรับ

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา สำนักงานคณะกรรมการ ดีอี กล่าวว่า การลงพื้นที่มาเยี่ยมชม โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 ของเทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สืบเนื่องจาก โครงการต่าง ๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนดีอี ล้วนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนจำนวนมาก แต่ยังขาดการสร้างการรับรู้และการเข้าถึงของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่อยู่ไม่น้อย โดยการลงพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนดีอี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลพิบูลมังสาหาร อันเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

“ผมขอชื่นชมในความมุ่งมั่นและความสำเร็จของ โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 ของเทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ความเชี่ยวชาญ ความคิด สร้างสรรค์ของหน่วยงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ครั้งนี้จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับรู้ และสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ได้มากยิ่งขึ้น”

สำหรับโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อบูรณาการ
การบริหารจัดการท้องถิ่นผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบ 'Application Phibun' โดยมีฟังก์ชันการทำงาน 5 ระบบ ประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ระบบฝึกอบรมพัฒนามืออาชีพ ระบบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ระบบบริการสาธารณสุขชุมชน และระบบพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal Life) ของประชาชนในยุคสังคมดิจิทัล

ทั้งนี้ เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ได้รับทุนงบประมาณ 36 ล้านบาท จากกองทุนดีอี ดำเนินโครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่น ชุมชนแบบมีส่วนร่วม สร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 เพื่อการยกระดับระบบบริหารจัดการท้องถิ่นและสร้างความยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งบูรณาการการบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยระบบนี้จะขับเคลื่อนผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบของแอปพลิเคชัน(ApplicationPhibun) ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงานหลัก 5 ระบบ ได้แก่ 1.  ระบบบริหารจัดการเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร (E - management) 2. ระบบฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ (E - Service)  3. ระบบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ (E - market) 4.ระบบบริการสาธารณสุขชุมชน (E - Sata) และ 5. ระบบพัฒนาชุมชน (E - Community)

โดยผลชี้วัดของโครงการดังกล่าว ส่งผลให้เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารบริหารจัดการระบบงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเทศบาลแหล่งข้อมูลของท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชน และผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลนำไปใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทันสมัย ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารและพัฒนาของผู้นำท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการช่วยประเมินระยะเวลา และประเมินผลการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้เกิดความคุ้มค่าในการทำโครงการใหม่ ๆ

ของหน่วยงานได้มากขึ้น ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และอำนวยความสะดวกต่อการให้บริการประชาชน เป็นองค์กรต้นแบบให้กับหลาย ๆ หน่วยงานในการสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถนำไปใช้ในชุมชนอย่างยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการเสริมสร้าง การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และวิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal Life) มากขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top