Saturday, 4 May 2024
ECONBIZ

‘สว.วีระศักดิ์’ เตือนแรง!! ระบบนิเวศโลกหนีไม่พ้นการดิ่งเหว หากยังหลงคิดว่าวัฒนาการอันน้อยนิด จัดการกับธรรมชาติได้

(8 มี.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ออกบทความในหัวข้อ ‘ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ (ตอนที่ 1) มีเนื้อหา ระบุว่า...

มนุษย์เรียนรู้เพิ่มทุกวันว่ากระบวนการธรรมชาติซับซ้อนมาก แต่มนุษย์มักถูกกิเลสพาให้หลงคิดไปว่ามีวิวัฒนาการที่ไม่เพียงไล่ทัน แต่ยังสามารถจัดการกับระบบของธรรมชาติได้

บัดนี้ แม้แต่ผู้นำประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดรวมตัวกัน ก็ยอมรับว่าวิวัฒนาการที่มนุษยชาติได้สั่งสมมาทั้งหมด ไม่พอที่จะรักษาให้พวกเขามั่นใจได้เลยว่า หลาน ๆ ของเขาจะมีเผ่าพันธุ์สืบต่อไปได้อีกกี่รุ่น

ผู้นำชาติต่าง ๆ ไม่อาจการันตีกับประชากรได้ ว่าหลาน ๆ ของประชากรของเขาจะได้มีชีวิตอย่างไม่แร้นแค้น

ที่จริง ผู้นำโลกเดินทางไปพบกันเรื่อง โลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะเรือนกระจก และสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ มาหลายสิบหนแล้ว

ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจนเข้าขั้นวิกฤตินี้ ยากจะมีคำปลอบขวัญที่ยืนยันได้ว่าจะควบคุมได้

ข้อเขียนนี้ ถูกผูกขึ้นด้วยเป้าประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ทำไม การแก้ปัญหาระดับวิกฤติการณ์ต่อมวลมนุษยชาติหนนี้ ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่งใหญ่ของคนยุคเราขนาดไหน

เราทุกคนของยุคนี้ ไม่ว่าท่านจะเจนเนอเรชันอะไร โอกาสรอดจากการถูกประวัติศาสตร์จารึกว่า เราพากันขับรถพุ่งลงเหว ทั้งที่ยังเลี้ยวหลบหรือเบรกกันได้ทันยากเต็มที

จริงอยู่ ว่าเราไม่ใช่ชนรุ่นแรกที่พารถโดยสารวิ่งมาในเส้นทางนี้ แต่ในโศกนาฏกรรมทุกครั้ง ไม่ค่อยมีใครถามหรอกว่า มันเริ่มตอนใครควบคุมอยู่  แต่จะสนใจว่ามันจบตอนไหน และใครคือผู้ถือพวงมาลัยสุดท้ายก่อนตกเหวดับทั้งคัน

หรือจมลงทั้งลำ!!

แม้มีข่าวสารให้เราอ่านได้มากมายในอินเตอร์เน็ตว่า ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มายังไง แต่ผมก็อยากพยายามสื่อสารกับผู้อ่านสักหน ว่ามันคืออะไร มายังไง และ เราต้องทำอะไร เพื่อชะลอหรือให้ดีกว่านั้น หยุดมันให้ได้

ขอเริ่มจากสภาพของโลกใบนี้ ก่อนที่จะเกิดปัญหาขนาดนี้นะครับ

ภาวะเรือนกระจกของโลก

เราเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า โลกมีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่หลายชั้น มองด้วยตาเปล่าก็ไม่เห็น แต่มันทำหน้าที่ของมันตามระบบที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้อย่างซับซ้อนในการปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก

ดวงอาทิตย์ส่งคลื่นความร้อนทะลุทุกชั้นบรรยากาศได้ และพื้นผิวโลกก็สะท้อนความร้อนออกไปบางส่วน กักเก็บความร้อนไว้บางส่วน ซึ่งเกิดจากการดูดซับความร้อนนั้นไว้โดยก๊าซเรือนกระจก ที่มีอยู่หลายชนิด อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ก๊าซเรือนกระจกจึงทำหน้าที่ควบคุมความอบอุ่นของโลกอยู่ให้ในสภาวะที่สมดุล เกิดสภาพอากาศและฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสัดส่วนของก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในชั้นบรรยากาศที่ผ่านมาในอดีต มีค่อนข้างสม่ำเสมอ 

ดังนั้น ภาวะเรือนกระจกจึงมีข้อดีของมันมานับล้านปี

แต่บัดนี้ ประชากรมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ต้องการผลิตไฟฟ้า ต้องการขนส่ง ผลิตขยะและน้ำเสียออกมาในปริมาณมาก อย่างต่อเนื่อง ใช่ครับ เราจึงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากจนเกินสมดุล ความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศจึงมากเกินกว่าที่ควร ผลก็จะเหมือนเรานั่งรถปิดกระจกดับแอร์ ต่อแม้จะเป็นกลางคืน เราก็จะรู้สึกอบอ้าว อึดอัด

และความอึดอัดนี้จะมีทั่วห้องโดยสารไม่ว่าจะนั่งอยู่เบาะหน้าหรือหลัง จะเอนตัวลงนอน หรือลุกขึ้นยงโย่ยงหยก ก็จะ อึดอัด อบอ้าว อยู่ดี

วันนี้ โลกมีประชากรถึง 8พันล้านคน ยังไม่นับปศุสัตว์ที่เราขุนเลี้ยงกันไว้บริโภคอีก จนเยอะกว่าสัตว์ป่าทุกชนิดรวมกัน แม้จะนับนกในธรรมชาติหมดทุกตัวด้วยก็ตาม

ภาวะของเรือนกระจกจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันรักษาสมดุล ไม่ให้มีก๊าซใดลอยขึ้นไปอยู่มากหรือน้อยจนเกินไป นี่จึงเป็นที่มาของชื่อองค์การมหาชนของไทย ที่เรียกชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

ภาวะโลกร้อน ช่วงแรกเราสังเกตได้จากการละลายของน้ำแข็งที่ยอดเขาและขั้วโลก ว่ามันละลายหนักกว่าเดิม และละลายนานกว่าฤดูที่มันเคยเป็น

แปลว่าโลกอุ่นขึ้น ศัพท์คำว่า Global warming จึงถูกใช้มาเรื่อย

แต่พอสังเกตนานเข้าก็พบพื้นที่ ๆ ไม่ได้อุ่นขึ้น แต่กลับเย็นหนาวจนหิมะตก ทั้งที่ ๆ นั่นไม่เคยเจอหิมะมาก่อน

ทีนี้ ผู้คนก็เริ่มเห็นภาพของ สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change

แต่น้อยคนจะตระหนักว่า เพดานฟ้าของขั้วโลกนั้น ต่ำกว่าเพดานฟ้าที่เขตอบอุ่น หรือพื้นที่สี่ฤดู

ส่วนเพดานฟ้าที่เขตศูนย์สูตรจะสูงกว่าที่อื่น ๆ ของโลก 

ดังนั้นในวันที่ขั้วโลกเหนือใต้อุ่นขึ้นแล้ว ถึง 5 องศาเซลเซียส คนในพื้นที่อื่นกลับไม่ค่อยรู้สึกตามไปด้วย

เพราะเพดานฟ้าของเขตตัวยังสูงมาก อะไร ๆ ยังเปลี่ยนแปลงไปน้อยเกินจะเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต

จากนั้น ก็มีภัยจากพายุรุนแรง แห้งแล้งยาวนาน น้ำท่วมหนัก และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น กัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น การเกษตรเสียหาย กระทบต่อรายได้ประชาชน เกิดโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ

แต่เราเรียกมันว่าภัยธรรมชาติเหมือนเดิม ไม่ทำให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อสิ่งนี้บ่อยขึ้นแต่อย่างไร

เราแก้ไขด้วยการพยายามพยากรณ์เตือนภัยล่วงหน้าให้ได้แม่นขึ้น จัดทีมกู้ภัยให้เร็วขึ้น

“เราถนัดจะแก้ที่ผล ไม่ใช่ที่เหตุ…”

ภายหลังมีคนลองขยับคำเรียกไปเป็น Climate Crisis หรือ วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ที่จ๊าบหน่อยก็มีคำเรียกเพิ่มขึ้นว่า ภาวะโลกรวน ด้วยซ้ำ แล้วคำนั้นก็จางหายไป

จนกระทั่งกลางปี2023 เลขาธิการสหประชาชาติประกาศว่า ภาวะโลกร้อนได้ผ่านไปแล้ว บัดนี้เราได้มาพึงยุคภาวะโลกเดือด (Global Boiling) แล้ว

มีข่าวออกสื่อ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อคำนี้ที่ต่างไปจากคำเรียกสภาพการณ์ก่อนหน้านี้แต่อย่างไร

สปีดการแก้ไข ก็ดูจะเดิม ๆ

ส่วนมากเป็นการเอ่ยถึงปัญหา แล้วก็ทำแผนจุ๋ม ๆ จิ๋ม ๆ ซึ่งก็ไม่ได้จริงจังตั้งใจเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่

ในทางวิทยาศาสตร์ ก๊าซเรือนกระจกมีหลายอย่างมาก แต่ผู้ร้ายที่สำคัญ ๆ ที่เราท่านพอจะมีส่วนร่วมในการลดมันลงได้ ได้แก่...

อันดับ 1 ไม่ใช่เพราะมันร้ายกาจพิเศษ แต่เพราะสะสมในชั้นบรรยากาศโลกเยอะมากที่สุด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (จากการเผาไหม้ทุกชนิด) อันนี้เป็นก๊าซที่เราท่านรู้จักค่อนข้างดี

อันดับ 2 คือ ก๊าซมีเทน มีเทนเป็นส่วนประกอบหลักของก๊าซชีวภาพ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ของซากพืช ซากสัตว์ที่ทับถมมาเป็นเวลานาน การปศุสัตว์ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับของก๊าซีเทนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่น วัว ควาย ที่เป็นสัตว์กินหญ้า เกิดก๊าซมีเทน และปล่อยออกมาด้วยการเรอ ก๊าซมีเทนนี้ มีพลังในการเป็นผู้กักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศที่ร้ายกาจสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่าตัว มันมีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ราว 12 ปี

และบัดนี้ น้ำแข็งที่ทับบนแผ่นดินแคนาดาและไซบีเรีย รัสเซีย ซึ่งทับซากพืชซากสัตว์มาตั้งแต่หลายแสนหลายล้านปีเริ่มละลายออกมาอย่างน่าตกใจ ได้ปลดปล่อยทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนจากใต้ดินชั้นน้ำแข็งที่เราเคยรู้จักในนามชั้นดิน Permafrost ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทุกฤดูร้อน

ก๊าซเรือนกระจก 2 รายการข้างต้น จึงเติมขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกทาง

และเป็นที่ทราบว่า Permafrost นี้กักเก็บก๊าซทั้งสองนี้ไว้มากเสียยิ่งกว่าที่มี ๆ อยู่จนเป็นปัญหาในชั้นบรรยากาศอยู่แล้ว

แปลว่า ยิ่งเร่งและยิ่งเพิ่มก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปทำให้โลกร้อนมากขึ้นอีก

ส่วนอันดับ 3 ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งมนุษย์มักใช้ในเวลาผ่าตัด เวลาทำฟัน เพื่อให้มีอาการชา จะได้ไม่รู้สึกเจ็บปวดชั่วคราว ไนตรัสออกไซด์นี้เกิดจากภาคเกษตรกรรมถึง 65% เพราะใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนภาคอุตสาหกรรม ก็เป็นผู้ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ราว 20% จากการผลิตพลาสติกบางกลุ่ม การผลิตเส้นไนลอน การผลิตกรดกำมะถัน การชุบโลหะ การทำวัตถุระเบิด และการผลิตไบโอดีเซล !!

ไนตรัสออกไซด์มีอายุในชั้นบรรยากาศได้ราวร้อยปี ดีที่ว่า ไนตรัสออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศยังไม่มาก แต่ที่เราพึงต้องระวังเพราะมันสามารถส่งผลต่อภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีปริมาณเดียวกันได้ถึง 265 เท่านี่แหละ

ไนตรัสออกไซด์จึงนับเป็นผู้ร้ายลำดับ 3 ที่เราต้องรู้ไว้ เพราะถ้ามันลอยไปสะสมในชั้นบรรยากาศมาก มันจะพาเราพังได้เร็วกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มาก

ทีนี้เหลืออีกตัวการภาวะโลกร้อนจากภาคอุตสาหกรรมแท้ ๆ ได้แก่ พวกสาร CFC ซึ่งอยู่ในสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมายาวนานจนเพิ่งถูกเลิกใช้ไปเมื่อไม่นานมานี้ ตามพิธีสารมอนทรีออล แต่สารประกอบหมวดนี้ของ CFC มีอายุยืนได้นับร้อยปีจนถึงสามพันปี !!

CFC ก่อให้เกิดรูโหว่ในชั้นโอโซนทำให้รังสียูวีของดวงอาทิตย์ทะลุลงมาก่อมะเร็งผิวหนัง

ดังนั้น เท่าที่ปล่อย ๆ ไปก็นับว่าเพียงพอจะไปทำลายความสมดุลมากพอควรแล้ว และมันจะยังคงทำลายต่อไปตราบที่มันยังไม่เสื่อมสลายไปเองตามอายุของมัน

มีคนเคยถามเหมือนกันว่า แล้วทำไมคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่ติดท็อป 5 ของผู้ร้ายในเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ยานยนต์ทุกคัน ในเกือบร้อยปีที่ผ่านมาทั่วโลก ต่างก็ปลดปล่อยมาโดยตลอดมิใช่หรือ?

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า แม้คาร์บอนมอนอกไซด์จะอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์มาก ๆ ตอนที่มันออกมาจากท่อไอเสีย แต่พอมันเจอชั้นบรรยากาศในธรรมชาติ ออกซิเจนจะค่อย ๆ เข้าไปผสมเอง และผลคือมันจะสลายเองในเวลาไม่กี่เดือน

มันจึงไม่ทันได้แสดงฤทธิ์มากนักต่อภาวะเรือนกระจกอย่างก๊าซอื่นที่มีช่วงชีวิตยาวนานมาก ๆ ที่ติดท็อป 4 ข้างต้นของข้อเขียนนี้

‘พีระพันธุ์’ เข้ม!! กฟผ. ร้อนนี้ไฟฟ้าห้ามดับ พร้อมรณรงค์ชวนคนไทยร่วมยึดหลัก 5 ป.

8 มี.ค. 67 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ ได้มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2567 เมื่อเวลา 19.47 น. ที่ 32,704 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากฤดูร้อนที่เริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และคาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยอาจจะสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้มีการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เกิด Peak เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,826 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตรวจสอบและดูแลระบบการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อมิให้กระทบต่อประชาชนและการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมออกนโยบาย 5 ป. ได้แก่ ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน ปลูก ซึ่งประกอบด้วย…

1. ปิด : การปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน
2. ปรับ : ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศา
3. ปลด : ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังการใช้งาน
4. เปลี่ยน : หากมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5
5. ปลูก : ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน

“ผมได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมในการดูแลเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในทุกภาคส่วน และจะต้องไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดขึ้น

ในปีนี้ คาดว่าอุณหภูมิจะร้อนมากกว่าปีที่แล้ว จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าผ่านนโยบาย 5 ป. เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าลง ซึ่งนอกจากจะสามารถลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมได้แล้ว ยังสามารถลดค่าไฟฟ้าของประชาชนได้อีกด้วย

และในช่วงหน้าร้อนนี้ ขอเชิญชวนให้ทุกบ้านล้างแอร์ เพื่อให้แอร์สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ก็จะสามารถลดค่าไฟไปได้อีกทาง” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘กกพ.’ เปิด 3 แนวทางค่าไฟงวดใหม่ สูงสุด 5.44 ต่ำสุดตรึงไว้ที่ 4.18 เท่าเดิม

(8 มี.ค. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 ประกอบด้วย

กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น >> 5.4357 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวดๆ ละ จำนวน 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น >> 4.3405 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวดๆ ละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น >> 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวข้างต้น ยังไม่รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซที่เกิดจากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจที่นำเข้าก๊าซเรียกเก็บราคาค่าก๊าซเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 คงที่ตามมติ กพช. จึงมีส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) โดยภาระดังกล่าวยังคงค้างที่ ปตท. (เฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ) เป็นจำนวนเงิน 12,076 ล้านบาท และยังคงค้างที่ กฟผ. เป็นจำนวนเงิน 3,800 ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท. และ กฟผ. นำค่าประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้ในการประมาณการค่าเอฟทีรอบคำนวณเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค. - ส.ค.2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค - ส.ค.2567 ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนราคา LNG ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลทำให้ราคาประมาณการ Pool Gas ลดลงจาก 333 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็น 300 ล้านบาทต่อล้านบีทียู

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแหล่งเอราวัณจะมีแผนทยอยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 400 เป็น 800 ล้านลูกบากฟุตต่อวันในเดือน เม.ย.2567 แต่ประมาณการปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย

อีกทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมายังมีแนวโน้มที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเสริมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายและเสริมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันและในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง

“กกพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป” นายคมกฤช กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ยัน!! ‘ก.อุตฯ’ เร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ กรณีไฟไหม้โกดังลักลอบเก็บสารเคมี อยุธยา พร้อมสั่งลงโทษผู้กระทำผิด

เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายวันมูหะหมัด นอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยนางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร จ.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีเพลิงไหม้ของเสียอันตรายที่ลักลอบเก็บในโกดัง อ.ภาชี จ.อยุธยา ทั้งในส่วนของการนำของเสียไปกำจัดบำบัด บทลงโทษ การเยียวยา และการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงว่า...

นับตั้งแต่กระทรวงฯ ตรวจพบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในโกดังและบริเวณโดยรอบพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการยึดอายัดของเสียอันตรายในโกดังดังกล่าว จำนวนกว่า 4,000 ตัน รวมทั้งยึดอายัดรถบรรทุกและรถแบคโฮที่ใช้ในการลักลอบขนถ่ายของเสียอันตรายไว้เป็นของกลาง พร้อมทั้งดำเนินคดี และสั่งการเจ้าของที่ดิน ผู้เช่าที่ดิน ผู้ขนส่ง และผู้ลักลอบนำของเสียอันตรายมาเก็บไว้ที่โกดังดังกล่าว อีกทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด สั่งปิดโรงงานและเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานของบริษัทเอกชนสองรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเมื่อปี 2566

ภายหลังจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในบริเวณโกดังหลังที่ 1 และ 2 จากทั้งหมด 5 โกดัง มีของเสียอันตรายถูกเพลิงไหม้จำนวน 13 กระบะ และรถบรรทุกของกลางถูกเพลิงไหม้จำนวน 1 คัน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยภายหลังจากการควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังจุดความร้อนและตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยรอบสถานที่เกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน พบว่า คุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป มีค่าไม่เกินมาตรฐาน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศอย่าต่อเนื่อง รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังไม่ให้เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นอีก จึงขอให้พี่น้องประชาชนโดยรอบในพื้นที่ดังกล่าว มีความมั่นใจได้ว่าสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

ส่วนสาเหตุของการเกิดเหตุเพลิงไหม้พบหลักฐาน เช่น ขวดและถังใส่น้ำมัน พร้อมธูปและระเบิดปิงปองในพื้นที่เกิดเหตุหลายจุด เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่ามีผู้ไม่หวังดีกระทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้โดยสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการสืบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนโดยรอบพื้นที่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของของเสียอันตรายไม่ให้มีการกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมในทันที จากนั้นจะทำการจำแนกของเสียทั้งหมด เพื่อนำของเสียอันตรายในส่วนที่ถูกเพลิงไหม้และของเสียที่มีการรั่วไหลหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนไปกำจัดบำบัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการก่อนโดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 

สำหรับการกำจัดบำบัดของเสียอันตรายที่เหลือทั้งหมดในโกดังและพื้นที่โดยรอบ และการทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ จากการประเมินคาดว่าต้องใช้งบประมาณอีกกว่า 50 ล้านบาท เพื่อนำของเสียอันตรายทั้งหมดที่เหลือไปกำจัดบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยภายหลังจากการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดคืนจากบริษัทและผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดต่อไป

“ดิฉันขอให้พี่น้องประชาชนโดยรอบในพื้นที่ดังกล่าวมีความมั่นใจได้ว่า สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ กระทรวงฯ มีนโยบายให้ความสำคัญและมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการลักลอบกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงานทั้งระบบ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ยกระดับปรับแก้กฎหมายโดยการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานจนกว่ากากอุตสาหกรรมจะได้รับการกำจัดบำบัดจนแล้วเสร็จ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังเร่งปรับแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรงงานในหลายประเด็น  ได้แก่...

(1) การเพิ่มบทกำหนดโทษให้มีการจำคุกและการปรับในอัตราสูง แก่ผู้ที่กระทำความผิดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้อายุความในการดำเนินคดีเพิ่มขึ้น จากเดิมมีอายุความเพียง 1 ปีเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าที่กระทำผิด 

(2) การเพิ่มฐานอำนาจให้สามารถสั่งการให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบันหากสั่งปิดโรงงานแม้จะมีผลให้โรงงานถูกเพิกถอนใบอนุญาตแต่การสิ้นสภาพการเป็นโรงงานจะทำให้ไม่สามารถถูกสั่งการตามกฎหมายโรงงานได้อีกต่อไป 

และ (3) การจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันการแพร่กระจายของมลพิษโดยเร่งด่วนได้ ตลอดจนป้องกันหรือยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายในทันที จนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว  

“ในนามของกระทรวงอุตสาหกรรม ดิฉันมีความห่วงใยพี่น้อง และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดชุดเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำอีก พร้อมจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย

'คลัง' ชี้!! หลักการ 'ธนาคารไร้สาขา' สแกนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ช่วย 'คนรากหญ้า-ไร้รายได้ประจำ' กู้ได้จริง ตัดวงจรกู้หนี้นอกระบบ

ไม่นานมานี้ ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์ฯ การขอและการออกใบอนุญาต Virtual Bank ให้เป็นธนาคารไร้สาขา ผสานความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ 'ธนาคาร-เทคโนโลยีดิจิทัล-ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรม' เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน เร่งเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและก้าวสู่ฮับการเงินอาเซียน

โดย 'ธนาคารไร้สาขา' จะมุ่งเน้นบริการทางการเงินแก่ 1. ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และ SMEs 2. กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved) 3. กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) และ 4. กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ 

นอกจากนี้ยังไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต (เดิมจำกัด 3 ราย) เนื่องจากคลังต้องการเปิดกว้างแก่ผู้มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ โดยให้ ธปท. พิจารณาใบอนุญาตในจำนวนที่จะกระตุ้นการแข่งขัน และไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ทั้งนี้ 'ธนาคารไร้สาขา' จะกำกับโดย ธปท. เสมือนธนาคารพาณิชย์อื่น โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารไร้สาขาจะไม่ใช้ระบบเงินฝาก ระบบสินเชื่อ Internet Banking ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศ โดยกระทรวงการคลังและ ธปท. ร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดการยื่นคำขอ ต้องจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดและเปิดบริการใน 1 ปี

โดยกระทรวงคลังกำหนดให้ตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติ สามารถเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มเติมได้

'รมว.ปุ้ย' ยกย่อง!! หลากองค์กรไทยในเวทีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ 66 ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชูศักยภาพทางการแข่งขันให้โลกได้ประจักษ์

(7 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานใน 'พิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2566' ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 เพื่อมอบรางวัลและร่วมแสดงความยินดีให้แก่ 10 องค์กรไทยที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ นำโดย กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ผู้คว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand  Quality Award) ตามด้วยองค์กรจากหลายภาคส่วน ที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น (Thailand Quality Class Plus) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class)

พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และนายสุวรรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี

ทั้งนี้ รมว.พิมพ์ภัทรา ได้กล่าวชื่นชมองค์กรไทยและเผยถึงความสำคัญของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมชูศักยภาพทางการแข่งขันขององค์กรไทยในระดับโลก 

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือได้ว่าเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยมาตรฐานของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติที่เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก จึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันและยกระดับผลิตภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งยังส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไทย ภารกิจสำคัญนี้ต้องอาศัยการผนึกกำลังกันทุกภาคส่วน เพื่อช่วยยกระดับสังคมไทยให้พร้อมเดินหน้าสู่ความยั่งยืน สามารถต่อสู้กับทุกความท้าทาย กล้าเผชิญความเปลี่ยนแปลง พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน” 

ตามด้วยการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  

“กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สนับสนุนให้มีการจัดพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประกาศเกียรติคุณให้แก่องค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ โดยองค์กรเหล่านี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่องค์กรไทยในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานจัดการองค์กรที่ทั่วโลกยอมรับ  

ปีนี้ นับเป็นปีแรกที่มีการมอบรางวัล TQA Leadership Excellence Award แก่ผู้บริหารสูงสุด ขององค์กรที่เคยได้รับรางวัล TQA หรือ TQC Plus จำนวน 21 องค์กร เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ผู้บริหารองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันและกระตุ้นให้องค์กรทุกภาคส่วนในประเทศไทย ด้วยการเผยแพร่ความรู้ในฐานะองค์กรต้นแบบที่เป็นเลิศ ส่งผลให้เกิดการขยายองค์ความรู้ไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ  

ทั้งยังเป็นที่น่าภูมิใจ ที่องค์กรไทยได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัล Global Performance Excellence Award (GPEA) ในระดับ World Class ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้นำทางธุรกิจและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 2 องค์กร ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน (TQA winner 2022) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด (TQA winner 2021)” 

นายสุวรรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานในครั้งนี้ ร่วมกล่าวถึงเป้าหมายของพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรติและผลักดันองค์กรไทย ให้มุ่งสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีการประกาศรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัลโดย นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้มีองค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) 1 องค์กร รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น (TQC Plus) 3 องค์กร และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC) 6 องค์กร รวมทั้งสิ้น 10 องค์กร 

'รัดเกล้า' เผย!! 'ธนาคารออมสิน' ถูกเพจปลอมแอบอ้าง ยัน!! ไม่มีนโยบายให้เงินกู้ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์

(7 มี.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีธนาคารออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อผ่านเพจชื่อ 'ออมสิน สินเชื่อเพื่อประชาชนทุกคน' นั้น จากการตรวจสอบโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นข่าวปลอม โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบกับธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง ซึ่งยืนยันว่า กรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลเรื่องธนาคารออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อผ่านเพจบนเฟซบุ๊ก (Facebook) ชื่อ 'ออมสิน สินเชื่อเพื่อประชาชนทุกคน' นั้น ประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ โดยเพจดังกล่าว ไม่ใช่เพจของธนาคารและไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับธนาคารออมสิน

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ธนาคารออมสินไม่มีนโยบายให้เงินกู้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook แอปพลิเคชัน LINE และ Messenger แต่อย่างใด โดยเพจดังกล่าวได้แอบอ้างนำชื่อและตราสัญลักษณ์ธนาคารออมสินไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังเผยแพร่ข้อมูลปลอม อันแสดงเจตนาจงใจหลอกลวงประชาชน

"ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อเพจแอบอ้างดังกล่าวที่ โดยสามารถติดตามข่าวสารจากสื่อช่องทางหลักของธนาคารได้ที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th, แอปพลิเคชัน MyMo, Social Media ช่องทาง GSB Society และ GSB Now เท่านั้น" รองโฆษกรัฐบาล กล่าว

‘พีระพันธุ์’ มั่นใจ!! ค่าไฟรอบใหม่ (พ.ค. - ส.ค.) จะไม่สูงกว่ารอบปัจจุบัน

(7 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga’ ถึงกรณีตรวจเยี่ยมแท่นขุดเจาะก๊าซกลางอ่าวไทย และราคาค่าไฟฟ้าในรอบใหม่ (พฤษภาคม - สิงหาคม) ระบุว่า…

หลังจากที่ไปตรวจการผลิตก๊าซกลางอ่าวไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีก๊าซมากพอเพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งของการยันราคาค่าไฟฟ้าในรอบใหม่นี้ 

ต่อมาผมได้หารือกับท่านเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และท่านปลัดกระทรวงพลังงาน ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ และล่าสุดได้หารือกับผู้บริหาร กฟผ. เพื่อขอให้ช่วยกันดูแลประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้เต็มที่เพื่อไม่ให้มีภาระค่าไฟฟ้ามากไปกว่าปัจจุบัน ซึ่งทุกท่านทุกฝ่ายพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะทาง กฟผ. พร้อมที่จะแบกรับภาระหลายอย่างเพื่อประชาชน 

ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าราคาค่าไฟฟ้าสำหรับงวดต่อไป (พฤษภาคม - สิงหาคม) จะไม่สูงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

ขอให้มั่นใจครับว่าผมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมา ณ ที่นี้อีกครั้งครับ

KIA เจรจา 'ไทย' ลุยตั้งโรงงานผลิตรถอีวี คาด!! สเกลกำลังผลิต 2.5 แสนคันต่อปี

(6 มี.ค. 67) สำนักข่าว Reuters รายงานว่า บริษัท KIA Corp กำลังเจรจากับประเทศไทยเพื่อที่จะตั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศไทย โดยมีการเจรจากันอย่างจริงจังและมีการยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลไทย หลังจากมีรายงานว่า KIA ไม่เห็นด้วยกับการลงทุนตั้งโรงงานในไทย 

อย่างไรก็ตาม ทาง BOI ได้ออกมาแสดงความเห็นในเดือน ม.ค. 2024 ว่า KIA กำลังพิจารณาการลงทุนในประเทศไทย 

ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมาตรการจูงใจ อย่าง EV 3.5 การลดหย่อนภาษี และมาตรการอื่น ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคตามแผนของรัฐบาล โดยตั้งเป้าที่จะมี EV ในประเทศประมาณ 30% ของการผลิตต่อปีจำนวน 2.5 ล้านคัน ภายในปี 2030

ตลาดรถยนต์ไทย ซึ่งผูกขาดมายาวนานโดยผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Honda ได้ดึงข้อผูกพันด้านการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ จากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเพื่อสร้างโรงงานผลิต

ด้านบางกอกโพสต์ รายงานว่า KIA มีแผนจะเปิดโรงงานที่มีกำลังผลิต 2.5 แสนคันต่อปี โดยขณะนี้ KIA มีศูนย์บริการในประเทศแล้วกว่า 19 แห่ง และจะเปิดเพิ่มในปี 2024 อีก 26-30 แห่ง พร้อมทั้งในปี 2024–2026 ก็เปิดรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกมา โดยล่าสุดเปิดตัว KIA EV9 รถ SUV ไฟฟ้า 100% และจะเปิดตัว EV5 อีกรุ่นในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 ปีนี้

'กระทรวงอุตฯ' ขานรับ!! กระแสธุรกิจ Wellness & Medical บูม เร่งยกระดับ 'ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ' ภาคใต้ฝั่งอันดามันเต็มสูบ

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเสริมศักยภาพผู้ประกอบการภาคใต้ฝั่งอันดามันผ่านหลักสูตร Digital Literacy เร่งยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ พร้อมคัดเลือกต้นแบบความสำเร็จ 10 กิจการ สร้างความพร้อมด้านการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ คาดภายใน 1 ปี จะสามารถสร้างยอดขายและรายได้โดยรวมให้กับพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านบาท

(6 มี.ค.67) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังที่ได้รับมอบหมายจาก นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นประธาน เปิดงานกิจกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพ ด้วย Digital Marketing ภายใต้กิจกรรมสร้างการรับรู้ SME ให้ดีพร้อมด้วยดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ (Wellness & Medical) ว่า...

ปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) อย่างจริงจัง และรัฐบาลมีแนวทางนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาด้านดิจิทัล และการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นจากทักษะความรู้พื้นฐานในการประกอบอาชีพไปจนถึงทักษะทางเทคนิคและทักษะการบูรณาการ อันจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital literacy ด้วยการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาประยุกต์ปรับใช้และนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ (Wellness & Medical) ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพ หรือ Medical Hub ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนเป็นอันดับ 8 ของโลก สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 2.3 ล้านล้านบาท และคาดว่าใน 4 ปีข้างหน้านี้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจ Medical Tourism และ Wellness Tourism ของประเทศไทยที่จะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการด้วย Digital Marketing จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผลักดันและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ (Wellness & Medical) ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ผ่านการจัดงานการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพด้วย Digital Marketing ภายใต้กิจกรรมสร้างการรับรู้ SMEs ให้ดีพร้อมด้วยดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำองค์ความรู้และทักษะด้านการตลาดออนไลน์ไปปรับใช้กับธุรกิจและทำให้มีช่องทางขายที่หลากหลายเพิ่มขึ้น โดยการจัดทำสื่อดิจิทัลสำหรับการสื่อสารประชาสัมพันธ์การทำตลาดผ่านช่องทาง Online & Offline Platforms เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้ร่วมกับ บริษัท ไทยคิงดอม แอดไวเซอร์ จำกัด และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จัดทำ Website : www.andamandigitalwellness.com เพื่อเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ทำการตลาด นำเสนอสินค้าและบริการแก่ลูกค้าเป้าหมายในรูปแบบ Sale Page ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นต้นแบบความสำเร็จ จำนวน 10 กิจการ ให้มีความพร้อมในการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เปิดกว้างสู่สากล

ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 1 ปีจะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมนำความรู้ไปใช้ต่อยอดธุรกิจ และสามารถสร้างยอดขาย มีรายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านบาท

'สภาพัฒน์ฯ' เผย!! ค่าจ้างแรงงานโดยภาพรวมถูกลง 0.2% ผลจากการขาดทักษะ แต่ยังดีที่อัตราว่างงานลดลงตาม

(6 มี.ค. 67) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ตัวเลขการว่างงานของตลาดแรงงานไทยโดยภาพรวมกำลัง ‘ปรับตัวดีขึ้น’

โดยอัตราการว่างงานของแรงงานไทยมีการปรับตัวลดลงเหลือเพียง 0.81% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ส่งผลให้ปัจจุบันตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98% ซึ่งเทียบเท่าได้กับระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

หากใครยังไม่ทราบก่อนหน้านี้ตัวเลขการว่างงานของไทยอยู่มากกว่า 1% มาโดยตลอด และเพิ่งกลับร่วงลงต่ำกว่า 1% ในเร็ว ๆ นี้

จำนวนผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อนหน้า และจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา (OT) หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ที่ 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1%YoY

อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมไตรมาส 4 ปี 2566 กลับ ‘ลดลง’ 0.2%YoY อยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน โดยค่าจ้างเฉลี่ยที่ลดลงอาจเป็นผลมาจากปัญหาแรงงานไทยขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ

ILINK พบนักลงทุน Opp Day Q4/66 ฉายผลงานความสำเร็จ ทำรายได้ 6,965.19 ลบ. มีกำไรสุทธิเด่น พร้อมตั้งเป้าทั้งปี 67 แตะ 7,002 ลบ. เน้นโกยกำไร New High ต่อเนื่อง บอร์ดอนุมัติจ่ายปันผลแรง 0.39 บาทต่อหุ้น เตรียมประกาศ 8 พ.ค. นี้

ILINK ปิดงบปีไตรมาส 4/66 ทำตัวเลขสวย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมอัปเดตนำเสนอข้อมูลบริษัทฯ พบนักลงทุนในงาน 'Opportunity Day' จัดโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ชี้ชัดถึงผลการดำเนินงานธุรกิจในปี 2566 ที่ผ่านมา โดดเด่น กอบโกยรายได้ พร้อมทำกำไรเติบโตตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้า “จะเติบโตแบบมีคุณภาพ ทั้งรายได้ และกำไรสุทธิ” พร้อมเคาะตัวเลข เผยปันผลให้ 0.39 บาทต่อหุ้น (พาร์ 1 บาท) เพื่อยืนยันการเป็นหุ้นปันผล โชว์ศักยภาพธุรกิจดันรายได้ปีนี้แตะ 7,002 ล้านบาท มั่นใจฟื้นตัวเน้นทำกำไร New High ต่อเนื่อง 

คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ หรือ ILINK เผยถึงภาพรวมและผลการดำเนินงานทั้ง 3 ธุรกิจ จากผลงานตลอดทั้งปี 2566 ว่า “กลุ่มธุรกิจในเครือของอินเตอร์ลิ้งค์ มีธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ และธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ พลิกบวกทำรายได้ 4 ไตรมาสรวม 6,965.19 ล้านบาท ขานรับทำกำไรสำหรับงวดโดดเด่น รวมแล้วอยู่ที่ 712.20 ล้าทบาท เพิ่มขึ้น 170.24 ล้านบาท พุ่งแรง 31.41% โดยเป็นการตอกย้ำว่า ทุกธุรกิจในเครือประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ พร้อมทำกำไรเซอร์ไพรส์ สูงเป็นประวัติการณ์ ชี้ชัดถึงการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนแบบมีคุณภาพ

ซึ่งรายได้ของกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Distribution Business) สร้างผลงานจากทั้งปีที่ผ่านมา มีรายได้รวม 2,881.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 366.27 ล้านบาท หรือ 14.56% โดยทำกำไรสุทธิรวม 309.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105.76 ล้านบาท หรือ 51.82% เป็นผลสำเร็จเติบโตหลัก ๆ มาจากรายได้ที่ดีขึ้นของสินค้าในหมวดสาย LAN และในหมวดของสาย Solar ที่ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนให้ครัวเรือนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาด ทั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และเทรนด์ของโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar) ก็เป็นตัวผลักดันให้ตลาดแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เติบโตอย่างก้าวกระโดด”

ด้านรายได้ในกลุ่มธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) เป็นรายได้จากบริษัทย่อย IPOWER ซึ่งรับเหมาดำเนินงานโครงการที่เกิดขึ้นตามสัญญาจ้าง โดยมุ่งเน้นไปที่งานวางระบบไฟฟ้าสายเคเบิลใต้น้ำ, งานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง, งานก่อสร้างและปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อย และงานวางระบบไฟฟ้าสายเคเบิลใต้ดิน ซึ่งนับว่าเป็นงานที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญสูง ทำให้มีรายได้ที่ก้าวกระโดดรวมทั้งปี 2566 จากธุรกิจอยู่ที่ 1,329.18 ล้านบาท เติบโต 178.96 ล้านบาท หรือ 15.56% และทำกำไรสุทธิรวม 106.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.96 ล้านบาท หรือ 70.45% พร้อมกันนี้ ปัจจุบันมี Backlog ในมือราว 1.14 พันล้านบาท กว่า 80% ที่รอรับรู้รายได้ภายในปี 2567 นี้ ที่จะส่งผลทำกำไร พร้อมรายได้สะสมไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้แน่นอน

โดยรายได้จากธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom & Data Center Business) เป็นรายได้จากบริษัทย่อย ITEL ทำรายได้รวม 4 ไตรมาส 2,754.94 ล้านบาท มีกำไรสุทธิรวม 295.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.75 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% โดยในอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 10.74% ของรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32% ถึงแม้จะทำรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 นั้น แต่ในทางกลับกัน บริษัทย่อย ITEL กลับสามารถเพิ่มอัตราทำกำไรสุทธิเทียบกับยอดขายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตแบบมีคุณภาพได้เป็นอย่างดี

สำหรับภาพรวมของทิศทางตลอดทั้งปี 2567 ด้านการขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจทั้ง 3 ในเครือ มีการวางแผนตั้งเป้าหมายแน่วแน่ให้กอบโกยรายได้แตะ 7,002 ล้านบาท ไปพร้อมกับเน้นทำกำไร New High ต่อเนื่อง ดันยอดขายในกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ผลิตภัณฑ์ LINK AMERICAN จากสินค้านวัตกรรมใหม่ ที่ได้เปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่ในกลุ่มของ Super S Series : UTP CAT 6A และ FTTR (Fiber Optic To The Room Solution) ซึ่งนับเป็นสินค้าชิ้นโบว์แดงแห่งปีที่ ILINK เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในอาเซียน ได้คิดค้นพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์แก่เทคโนโลยีแห่งยุคนี้โดยเฉพาะ จึงมั่นใจว่าทิศทางของผลประกอบการเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพกับราคาแล้ว ผลิตภัณฑ์ LINK AMERICAN และ GERMAN RACK จะสามารถผลักดันยอดขายให้สอดรับกับการเติบโตของตลาดธุรกิจโลกที่เปิดกว้างมากขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด ขณะที่การประมูลงานของกลุ่มธุรกิจวิศวกรรมโครงการในปีนี้ เน้นไปที่งาน Submarine เกาะสมุยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ที่เป็นลูกค้าหลักรายใหญ่ในมือมาอย่างยาวนาน และเป็นความเชี่ยวชาญที่กลุ่มธุรกิจมีความชำนาญโดดเด่น 

ซึ่งคาดการณ์ยังมีงานที่อยู่ระหว่างจ่อรอเซ็นสัญญาอีกเพียบตลอดทั้งปีนี้ พร้อมเร่งลุยเข้าประมูลงานโครงการของภาครัฐ และภาคเอกชนเพิ่มเติม Backlog ให้แน่นไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และสำหรับแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทย่อย ITEL กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งปีนี้มีแผนดันขยายกิจการเพิ่มเติมสู้ Health Tech หลังเข้าลงทุนใน 'Global Lithotripsy Services Company Limited' เสริมพื้นฐานแข็งแกร่งตรงตามกลยุทธ์ New S-Curve ต่อยอดธุรกิจ คาดว่าปีนี้จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากการเสนองานใหม่ เร่งรุกธุรกิจ Data Center ควบคู่การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง พร้อมนำ บมจ.บลู โซลูชั่น 'BLUE' เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในปีนี้แน่นอนอีกด้วย และคาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมทั้งปี 2567 นี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.39 บาท จากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งสิ้น 543,632,325 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หุ้นละ 1 บาท เป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้น 212.02 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 และกำหนดวันจ่ายปันผลในวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นี้

“นับเป็นการชี้ชัดถึงการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งบริษัทแม่ และบริษัทลูก ตอกย้ำถึงความสำเร็จตามแบบแผนของการวางยุทธศาสตร์ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งในแง่รายได้ และกำไรสุทธิ โดยอาศัยจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญของแต่ละกลุ่มธุรกิจเป็นสำคัญ โดยสามารถสร้างผลงานได้เป็นที่ประจักษ์ พร้อมนำพากลุ่มธุรกิจไปสู่ผลลัพธ์ที่ก้าวหน้า เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนได้อย่างมีคุณภาพ”  

'รมว.ปุ้ย' รับลูก!! 'เศรษฐา' เร่งออกมาตรฐาน 'บันไดเลื่อน-ทางเลื่อน'  จ่อบังคับใช้โดยเร็ว เพิ่มความปลอดภัย ปิดทางอุบัติเหตุซ้ำรอย

(5 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เร่งรัดให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานบันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและป้องกันอุบัติเหตุซ้ำรอยนั้น คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (บอร์ด สมอ.) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานดังกล่าวแล้ว โดยอ้างอิงข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล พร้อมกันนี้ได้กำชับให้ สมอ. เร่งดำเนินการประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็วที่สุด 

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณาร่างมาตรฐานบันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติที่ สมอ. เสนอ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแล้ว รวมทั้งยังได้เห็นชอบร่างมาตรฐานอื่นๆ อีก จำนวน 111 เรื่อง เช่น กลอนสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ, ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม, ฟิล์มติดกระจกรถยนต์, เต้ารับเต้าเสียบที่ใช้ในรถยนต์, หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง, ระบบอากาศยานไร้คนขับ และกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า รวมทั้งมาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ทำหน้าที่ให้ความร้อนแก่ของเหลวที่นำมาทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน เพื่อให้มีความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น เช่น กาต้มน้ำไฟฟ้า, กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า และหม้อหุงข้าว เป็นต้น 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐาน 'บันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ' เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยและระบบไฟฟ้า ที่อ้างอิงตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) ซึ่งมีความปลอดภัยสูง เป็นที่ยอมรับของสากล และทั่วโลกได้นำไปใช้ โดยมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่สำคัญ ได้แก่ การป้องกันความผิดพลาดที่เกิดจากวงจรควบคุม การป้องกันอันตรายที่เกิดจากการแตกหักระหว่างทำงาน การป้องกันการรับน้ำหนักและบรรทุกเกิน และจะมีเซนเซอร์ตรวจจับความผิดปกติต่างๆ ในขณะทำงาน เช่น เมื่อบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อนมีความเร็วผิดปกติ ระบบเบรกไม่ทำงาน มีขั้นบันไดหรือแผ่นพื้นเลื่อนที่แอ่น มีชิ้นส่วนอุปกรณ์ใดๆ หลุดหายไป หรือหากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดในซี่หวีบันไดเลื่อนหรือทางลาดเลื่อน เซนเซอร์จะตรวจจับความผิดปกติดังกล่าว และจะหยุดการทำงานทันที เพื่อป้องกันอันตรายขณะมีผู้ใช้งานได้ ทั้งนี้ สมอ. จะเร่งดำเนินการประกาศรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำ และนำเข้าเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามฏหมาย โดยหลังจากนี้ สมอ. จะแจ้งให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำเข้าบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติทุกราย ให้เตรียมยื่นขออนุญาตให้ถูกต้อง ทันตามกำหนดเวลาที่มาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อไป

'รมว.ปุ้ย' ชู!! 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' ขจัดอุปสรรคผู้ประกอบการ-หนุนฮาลาล กรุยทางเข้าถึง 'เงินทุน-สร้างบริการใหม่' คิกออฟแล้วกับกลุ่มโคเนื้อชุมพร

'รมว.พิมพ์ภัทรา' เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก เร่งเครื่อง 'อาเซียน ฮาลาล ฮับ' (ASEAN Halal Hub) ชูกลไกบูรณาการใช้ศักยภาพหน่วยงานภายใต้สังกัด เชื่อมต่อจุดเด่นวัตถุดิบและการผลิตในพื้นที่ ปลื้ม!! โมเดลความสำเร็จ ดีพร้อม จับมือ SME D Bank ผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM Connection) พร้อมชู 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' หนุนโรงแปรรูปเนื้อโคมาตรฐานฮาลาล จ.ชุมพร เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมสร้างโอกาสให้กับธุรกิจฮาลาลและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ภาคใต้และทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้กว่า 10,000 ล้านบาท และกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 24,000 ล้านบาท

(5 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีมอบสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ให้แก่ บริษัท ดี แอนด์ แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อโค มาตรฐานฮาลาล จ.ชุมพร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคใต้ ว่า จากนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การผลักดันของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ 'อาเซียน ฮาลาล ฮับ' (ASEAN Halal Hub) นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยใช้กลไกในการนำศักยภาพของหน่วยงานภายใต้สังกัดมาบูรณาการการทำงานควบคู่กับใช้จุดเด่นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยมาต่อยอด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดชุมพร ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบและศักยภาพการผลิตอาหาร จึงเหมาะแก่การผลักดันเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก สามารถตอบโจทย์ความต้องการตลาดผู้บริโภคอาหารฮาลาลทั่วโลกที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และนับเป็นจุดเริ่มต้นในการเร่งผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่อาเซียนฮาลาลฮับของรัฐบาล

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม และ SME D Bank เร่งบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ด้วยการสนับสนุนบริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด และกลุ่มอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชุมพร และใกล้เคียงให้เข้าถึงแหล่งทุน เพื่อนำไปยกระดับศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจ โดยได้นำแนวทาง 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' ขจัดขั้นตอนการทำงานที่เป็นอุปสรรคควบคู่กับการสร้างบริการใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งทุนพัฒนาธุรกิจได้ ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยบริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด ที่ติดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน แต่ด้วยศักยภาพและโอกาสเติบโตของธุรกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้การสนับสนุนเพื่อเข้าถึงเงินทุนสำเร็จผ่านโครงการสินเชื่อแฟคตอริ่ง วงเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการรายนี้ มีเงินไปลงทุนขยายกิจการ และหาก บริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด ผลิตได้เต็มกำลังการผลิตแล้ว คาดว่าจะสร้างยอดขายได้กว่า 14,000 ล้านบาทต่อปี และสามารถรับซื้อโคจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้และทั่วประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 24,000 ล้านบาท รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ ครม.สัญจร จ.ชุมพร และระนอง เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้รับมอบหมายให้รับฟังแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว พบว่า บริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด จ.ชุมพร มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและสามารถเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยได้ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความต้องการขอรับการสนับสนุนเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาครัฐ ดังนั้น ดีพร้อม จึงได้นำเรียน รมว.พิมพ์ภัทรา เพื่อทราบถึงความต้องการดังกล่าวของบริษัท โดย รมว.อุตสาหกรรม สั่งการให้ ดีพร้อม บูรณาการความร่วมมือกับ SME D Bank และสถาบันการเงินต่าง ๆ ผ่านกลไกการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM Connection) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Financial Inclusion) ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ด้วยการเร่งพัฒนากลไกการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในวงเงิน 10 ล้านบาท และช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ภาคใต้และทั่วประเทศให้สามารถสร้างยอดขายและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ พร้อมทั้งต่อยอดและพัฒนาธุรกิจโคแปรรูปฮาลาลให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการส่งเสริมและผลักดันศักยภาพกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ที่ได้มาตรฐานฮาลาล รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือในมาตรฐานฮาลาลและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผ่านการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพของผู้ประกอบการโคในพื้นที่และการสร้างแบรนด์เนื้อโคคุณภาพของภาคใต้ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวเพิ่มเติมว่า SME D Bank พร้อมขานรับนโยบายรัฐบาล สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตยั่งยืนด้วยกระบวนการ 'เติมทุนคู่พัฒนา' โดยด้าน 'การเงิน' จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่ด้าน 'การพัฒนา' ยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอี ผ่านโครงการ SME D Coach เชื่อมโยงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไว้ในจุดเดียว รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการเอสเอ็มอีได้ครอบคลุมและกว้างขวางยิ่งขึ้น ผ่านแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. ช่วยเติมศักยภาพให้เอสเอ็มอีสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

'รมว.ปุ้ย' ย้ำ!! รัฐหนุนเต็มที่ ลงทุนผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในไทย ต่อเนื่องภารกิจ ดันไทยฮับผลิตแบตฯ อีวีแห่งอาเซียน

(4 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้คณะผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบ เพื่อรับทราบแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย รวมทั้งการสร้างซัพพลายเชนเพื่อให้ไทยเป็นฮับการผลิตแบตเตอรี่ของภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า...

รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ 17 ชิ้น โดยเฉพาะแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ที่จะได้รับสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนไทย, ญี่ปุ่น, จีน และยุโรป เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ขณะเดียวกันยังมีมาตรการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการเข้าร่วมมาตรการ EV3 อีกด้วย 

ส่วนการสร้าง Supply Chain ของแบตเตอรี่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นพี่เลี้ยงส่งเสริมด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องตลอดซัพพลายเชน มีการพิจารณามาตรการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมาตรการที่เกิดขึ้นเป็นการเอื้อต่อการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายส่งเสริมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการหารือทราบว่าบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กำลังวางแผนหาพาร์ตเนอร์และแหล่งผลิตในประเทศไทย โดยเป้าหมายคือพัฒนาบริษัทในพื้นที่และสนับสนุนรัฐบาลไทยในการรักษามาตรฐาน ขณะเดียวกันได้เปิดตัวสายการผลิตและในอนาคตก็พร้อมที่จะเปิดการอบรมนักศึกษาไทยให้เรียนรู้จากเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงอยากให้มั่นใจว่านโยบายรัฐบาลให้การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของมาตรการสนับสนุนผู้นำเข้า ผู้ทดสอบ และการรีไซเคิล

“วันนี้ ประเทศไทยเรามีความน่าสนใจในหลายเรื่อง ทั้งบริษัทต่าง ๆ ที่มาตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทยมากขึ้น และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังได้ออกมาตรการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อให้เกิดการดูแลทั้งระบบของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

สำหรับการหารือร่วมกันระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มีคณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย อาทิ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top