Wednesday, 4 December 2024
ECONBIZ

'เอกนัฏ' สั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี 35,108 โรงงาน พร้อมเร่งเยียวยา-ฟื้นฟูความเสียหายหลังสถานการณ์ดีขึ้น

(3 ต.ค.67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่น้ำท่วม เร่งเยียวยาความเสียหายหลังสถานการณ์น้ำดีขึ้น โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 และจากข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมใน 57 จังหวัด คาดการณ์ว่าโรงงานจำพวกที่ 2 และ จำพวกที่ 3 ที่จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี จำนวน 35,108 โรงงาน มูลค่ากว่า 176 ล้านบาท

กรอ. ได้จัดทำประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโรงงาน กรณีโรงงานได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567 ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 สามารถแจ้งข้อมูล ตามแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567 โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1.โรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 สามารถแจ้งข้อมูลตั้งแต่บัดนี้ - 31 ตุลาคม 2567
2.ดาวน์โหลดแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมพ.ศ.2567ได้ที่ https://www.diw.go.th/webdiw/25092567-01/
3.กรอกแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567
4.กำลังแรงม้าเครื่องจักร / จำนวนคนงาน ต้องกรอกให้ตรงกับ ร.ง.2 หรือ ร.ง.4
5.แนบสำเนา ร.ง.2 หรือ ร.ง.4 พร้อมแนบภาพถ่าย/ข้อมูลความเสียหาย (ถ้ามี)
6.ยื่นเอกสารด้วยตนเอง ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่

“การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่เจ้าของกิจการโรงงาน เป็นหนึ่งในมาตรการให้ความช่วยเหลือ ในการฟื้นฟูกิจการภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย เพื่อให้สามารถพลิกฟื้นจนก้าวเดินต่อได้อย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กรอ.จะรวบรวมข้อมูลความเสียหายและตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบการที่มีรายชื่อได้รับการยกเว้น สำหรับผู้ประกอบการที่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีในปี 2567 แล้ว จะได้รับการยกเว้นในปี 2568” นายพงศ์พล กล่าวปิดท้าย

สกนช. ปรับลดเงินชดเชยราคา LPG ลงเหลือ 3.6842 บาท/กก. ขณะที่ภาพรวมบัญชี LPG ยังติดลบ 47,444 ล้านบาท

(3 ต.ค. 67) สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ประกาศปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG สำหรับโรงแยกก๊าซฯ เหลือ 6.9943 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมปรับลดเงินชดเชยราคา LPG เหลือ 3.6842 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคา LPG โลกอยู่ที่ระดับ 622.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่บัญชี LPG มีเงินไหลเข้า 43.39 ล้านบาทต่อวัน แต่ภาพรวมบัญชี LPG ยังติดลบรวม 47,444 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ว่า นางไพลิน ฟุ้งเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักการเงินและบัญชี และในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ลงนามในประกาศ “การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนจากกองทุน และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนสำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)” เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567 โดยกำหนดเปลี่ยนแปลงอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในบัญชี LPG ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป

สำหรับประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับ LPG ที่ผลิตในประเทศเพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิง ในอัตรา 6.9943 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 7.1798 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ไม่รวมถึง LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯของ บริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร และ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) อ.กงไกรลาศ จ. สุโขทัย

อย่างไรก็ตามให้ บริษัท ยูเอซี โกลบอลฯ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 3.1490 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากเดิมที่กำหนดให้ส่งเข้า 3.3345 บาทต่อกิโลกรัม

พร้อมกันนี้ได้ปรับลดเงินชดเชยราคา LPG ลงเหลือ 3.6842 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชยอยู่ 3.8697 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ไม่รวม LPG จากการแยกก๊าซฯ ที่ซื้อหรือได้จากรัฐ ผู้รับสัมปทาน หรือผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) โดยโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท. สผ.สยาม จำกัด

รวมทั้งกำหนดเงินส่งเข้ากองทุนฯ สำหรับ LPG ที่ซื้อหรือได้มาจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด ในอัตรา 1.8518 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนกรณี LPG ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 และได้รับเงินชดเชยจากกองทุนฯ แล้ว ให้ส่งเงินชดเชยคืนกองทุนฯ 3.6842 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG โดยภาพรวมติดลบอยู่ -47,444 ล้านบาท โดย กบน. กำหนดกรอบวงเงินสำหรับอุดหนุนราคา LPG ได้ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินไหลเข้าจาก LPG 43.39 ล้านบาทต่อวัน และใช้ชดเชยราคา LPG อยู่ 37.50 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่ราคา LPG โลกเดือน ต.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 622.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน  

สำหรับประกาศดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดนโยบายให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) บริหารกองทุนฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงดังนี้

1.มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้นทุนการจัดหาจากโรงแยกก๊าซฯ ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ของบริษัท ยูเอซี โกลบอลฯ มีราคาสูงกว่านำเข้า 2.มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคา LPG ของตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน 3. มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคา LPG  ในประเทศเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม  และ 4. มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาขายปลีก LPG ในประเทศสูงขึ้นในระดับเกินกว่า 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนหรือชะลอการขาดแคลนภายในประเทศ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ

ดีเดย์!! กฎหมายใหม่เริ่มบังคับใช้วันนี้ ซื้อสินค้าออนไลน์ เปิดดูได้ก่อนจ่ายเงิน

รายงานข่าวจาก สภาองค์กรผู้บริโภค ระบุ กฎหมายใหม่บังคับใช้ วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ผู้บริโภคที่สั่งซื้อของออนไลน์ สามารถเปิดพัสดุเพื่อตรวจสอบสินค้าได้ก่อนจ่ายเงิน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปก รวมถึงการได้รับสินค้าทั้งที่ไม่ได้สั่งได้ สินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ ชำรุดบกพร่อง ไม่ต้องรับ ไม่ต้องจ่าย เว้นแต่กรณีไม่พอใจสินค้า ไม่สามารถคืนได้ 

การปฏิบัติของผู้ประกอบการขนส่ง และสิทธิของผู้บริโภค ดังนี้

ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งที่เรียกเก็บเงินปลายทาง
1.จัดทำและส่งมอบ จัดทำหลักฐานการรับเงินและส่งมอบให้กับผู้บริโภคทันทีที่ผู้บริโภคชำระเงิน

2.ลงชื่อ พนักงานของผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่เป็นผู้รับเงินและผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงินต้องลงชื่อในหลักฐานการรับเงิน

3.ให้สิทธิผู้บริโภคเปิดสินค้าก่อนชำระเงิน หากผู้บริโภคประสงค์เปิดดูสินค้าก่อนชำระเงิน ต้องให้กระทำได้โดยบันทึกหลักฐานเป็นภาพถ่ายวิดีโอ หรืออื่นๆ และให้ผู้บริโภคตรวจสอบสินค้าทางกายภาพ หากพบสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้า สามารถปฏิเสธไม่รับสินค้าและไม่ชำระเงินได้

4.ระยะเวลาถือเงิน ถือเงินค่าสินค้าที่รับมาจากผู้บริโภคเป็นเวลา 5 วัน ก่อนนำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า

5.รับสินค้าคืน เมื่อได้รับแจ้งขอคืนสินค้าและขอรับเงินคืนจากผู้บริโภคภายใน 5 วัน เนื่องจากสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้า ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งต้องไปรับสินค้าคืนจากผู้บริโภค ณ สถานที่ส่งมอบสินค้าโดยผู้บริโภคไม่มีค่าใช้จ่าย

6.ตรวจสอบเหตุการแจ้งคืนสินค้า ตรวจสอบสินค้าที่ถูกแจ้งคืน หากพบว่า เป็นไปตามเหตุผลที่ผู้บริโภคแจ้งมาจริง ต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และส่งมอบสินค้านั้นคืนให้กับผู้ส่งสินค้า

ด้านผู้บริโภค
1.เปิดสินค้า ต่อหน้าพนักงานขนส่ง พร้อมบันทึกหลักฐานเป็นภาพถ่าย วิดีโอ หรืออื่น ๆ โดยการตรวจสอบทางกายภาพ เช่น ประเภท สี ขนาด จำนวน หากสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อหรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้า สามารถปฏิเสธรับสินค้าและไม่ชำระเงินได้

2.คืนสินค้าและขอเงินคืน จากผู้ประกอบธุรกิจในกำหนดเวลา 5 วัน นับแต่วันที่ได้ชำระเงินและรับสินค้า หากสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้า พร้อมบันทึกหลักฐานเป็นภาพถ่าย วิดีโอ หรืออื่นๆ หากเป็นไปตามเหตุจริง จะได้รับเงินค่าสินค้าเต็มจำนวน ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

3.การปฏิเสธสินค้าทั้งหมด กรณีสินค้าที่สั่งซื้อมีจำนวนมากกว่า 1 ชิ้นต่อหนึ่งกล่องพัสดุ หากปรากฏว่า สินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อหรือสินค้าชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคต้องปฏิเสธการรับ หรือแจ้งคืนสินค้าทั้งหมด รวมถึงของแถมและส่งคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

4.ไม่พอใจสินค้า คืนไม่ได้ ไม่สามารถปฏิเสธไม่รับสินค้าหรือขอเงินคืนจากเหตุไม่พึงพอใจในสินค้า

ทั้งนี้ หากพบปัญหาการใช้สิทธิขอเปิดก่อนจ่าย สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ 1166 และสามารถร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502

BOI เผยยอดรวมแผนการลงทุน Data Center-Cloud Service ในไทยทะลุ 1.6 แสนล้านบาท รวมกว่า 46 โครงการ เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล

(2 ต.ค. 67) บีโอไอ ย้ำศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล หลังจากที่ Google และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ทยอยประกาศแผนการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ยอดส่งเสริมลงทุนล่าสุด รวม 46 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 1.6 แสนล้านบาท เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ช่วยพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่ Google ได้ประกาศแผนลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค จากข้อได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ 

1) โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร มีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด และกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล 

2) มีความมั่นคงปลอดภัยและเป็นกลางในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน 

3) บุคลากรที่มีคุณภาพและมีทักษะด้านดิจิทัล 

4) ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูง และประชาชนมีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล 

5) สิทธิประโยชน์ที่จูงใจ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงเข้าสู่ประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service ของบริษัทระดับโลก เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค

ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง ซึ่งนอกจาก Google ที่ได้ประกาศแผนลงทุนและยื่นคำขอกับบีโอไอแล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย อาทิ 

Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท 

โครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท CtrlS จากอินเดีย ลงทุน 5,000 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท และ One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท   

สำหรับธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS   

นอกจากธุรกิจ Data Center และ Cloud Service แล้ว บีโอไอยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ และกิจการสนับสนุนระบบนิเวศด้านดิจิทัล เช่น กิจการ Innovation Park, Maker Space หรือ Fabrication Lab และกิจการพัฒนาพื้นที่และระบบ Smart City เป็นต้น 

“Data Center และ Cloud Service ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และจะทำให้เกิดการทำงานประสานกันระหว่างคนและเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับมีมากมาย โดยเฉพาะการสร้างงานทักษะสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิต การเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ธุรกิจด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการ Cloud ที่มีคุณภาพสูง และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยเร่งกระบวนการ Digital Transformation และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นต้องมีทั้งความเร็วและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งยกระดับไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว

น้ำมันดิบราคาพุ่ง 5% จากอิทธิพลอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอล หวั่นเกิดสงครามระดับภูมิภาค

(2 ต.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเมื่อคืนวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา อิหร่านได้เปิดฉากยิงขีปนาวุธเข้าโจมตีอิสราเอลแล้ว ซึ่งทางกองทัพอิสราเอลประเมินว่ามีไม่ต่ำกว่า 180 ลูก แต่ส่วนใหญ่ถูกสกัดเอาไว้ได้ทั้งหมด 

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) ออกแถลงการณ์ระบุว่า อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธจำนวนมากเข้าโจมตีอิสราเอลเพื่อตอบโต้ต่อการสังหารประชาชนในฉนวนกาซา รวมทั้งผู้นำของกลุ่มฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ ที่อิสราเอลออกปฏิบัติการไล่ปลิดชีพไปก่อนหน้านี้ และเตือนว่าอิสราเอลจะถูกโจมตีแบบบดขยี้ หากทำการตอบโต้อิหร่าน

อิหร่านเตือนว่าจะมุ่งเป้าโจมตี "ฐานที่มั่นและผลประโยชน์" ที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลในภูมิภาค หากอิสราเอลเข้าทำสงครามกับอิหร่าน "โดยตรง" และย้ำว่าการลงมือใดๆ ของอิสราเอลเพื่อตอบโต้การโจมตีด้วยขีปนาวุธในครั้งนี้ จะหมายถึงความพินาศย่อยยับครั้งใหญ่ของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล 

การโจมตีดังกล่าวมีขึ้น หลังจากสหรัฐแจ้งเตือนว่า อิหร่านกำลังเตรียมการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลแบบทิ้งตัว (ballistic missile) โจมตีโดยตรงต่ออิสราเอลในไม่ช้า

ด้านนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล กล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า อิหร่าน "ได้ทำผิดพลาดครั้งใหญ่เมื่อคืนนี้ และจะต้องชดใช้" และย้ำว่าอิหร่านไม่ได้เข้าใจเลยถึงความมุ่งมั่นของอิสราเอลในการล้างแค้นตอบโต้ศัตรู

"พวกเขาจะเข้าใจ" "เราจะยืนหยัดตามกฎที่เราวางเอาไว้ว่า ใครก็ตามที่โจมตีเรา เราจะเอาคืน"

ด้านพลเรือตรีดาเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอล กล่าวว่า อิสราเอลเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดเพื่อรับมือการโจมตีในครั้งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐที่ประจำการในภูมิภาค

"การที่อิหร่านยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลจะมีผลที่ตามมาแน่ ซึ่งผมขอไม่เปิดเผยรายละเอียด"

ด้านราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งกว่า 5% ทะลุระดับ 71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อคืนที่ผ่านมา หลังมีรายงานว่าอิหร่านได้ยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล

ณ เวลา 00.13 น.ตามเวลาไทย ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนพ.ย. บวก 3.44 ดอลลาร์ หรือ 5.05% สู่ระดับ 71.61 ดอลลาร์/บาร์เรล

‘ดร.ธนชาติ’ มอง ยักษ์ไอทีลงทุน Data Center แค่ธุรกิจปกติ ชี้!! คนไทยได้ประโยชน์น้อย - ไม่ช่วยให้เกิดการจ้างงานดังคาด

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thanachart Numnonda’ ถึงกรณีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ว่า  Data Center ไม่ได้สร้างงานได้มากมาย แต่ทักษะด้านไอทีต่างหากคือสิ่งที่จะสร้างงานได้นับหมื่นตำแหน่ง

เห็นข่าว Google จะมาลงทุน Data Center ในเมืองไทยที่แถลงข่าวเมื่อวานนี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นมากมาย เพราะเป็นการลงทุนตามกระแสธุรกิจ การที่บริษัท Big Tech แต่ละแห่งจะมาลงทุน Data Center ก็เป็นไปตามวัฏจักรธุรกิจ การลงทุนในแต่ละ Region ก็ไปตามการใช้งานของผู้ใช้ Google หรือ Big Tech ก็ค่อย ๆ สร้าง Region Data Center ในแต่ละประเทศ เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ทั่วโลก แถวอาเซียนตอนตนเองเล่น Google Cloud Platform ใหม่ๆเมื่อ 14 ปีก่อนก็มีเฉพาะที่สิงคโปร์ พอมีลูกค้าในอินโดนีเซียมากขึ้นก็ไปเปิด Data Center เพิ่มขึ้นที่นั่น รอบนี้ความต้องการใช้ในไทยมากขึ้นก็ต้องเปิดที่ประเทศไทย ต่อไปก็คงไปเปิดประเทศอื่น ๆ อีก 

การลงทุน ก็อาจมีการลงทุนสิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน ระบบไฟฟ้า และก็มีการสั่งซื้อระบบเซิร์ฟเวอร์จากต่างประเทศเข้ามาติดตั้งใน Data Center ที่ก่อตั้งขึ้นในไทย คนไทยก็อาจมีข้อดีที่เราใช้บริการ Cloud ที่เร็วขึ้นเพราะ Data Center อยู่ในประเทศ ลดความช้าที่ต้องส่งข้อมูลไปต่างประเทศ แต่เงินตราก็เข้าบริษัทต่างชาติอยู่ดี ยิ่งพอเราใช้ Cloud ของบริษัท Big Tech เงินเราก็ยิ่งไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้น เราก็จะยิ่งขาดดุลการค้ามากขึ้น เจ้าหน้าที่ใน Data center ก็ไม่ได้มีมากมาย ไม่ได้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากมาย แถมอาจเน้นเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยมากกว่า ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่จะดูแลระบบไอทีจริง ๆ คงรีโมทมาจากต่างประเทศ เผลอ ๆ การจ้างงานตำแหน่งเหล่านี้ในไทยคงน้อยมาก

แล้วโอกาสงานหมื่น ๆ ตำแหน่งอยู่ไหน ก็คงเป็นเรื่องของการสร้างทักษะคนให้มีความสามารถขั้นสูงในการพัฒนาไอที พัฒนาเอไอ ถ้าคนมีความสามารถที่ดีขึ้นก็มีโอกาสมากขึ้น ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้าง ซึ่งคงไม่ใช่บริษัท Google จะมาจ้างงาน 15,000 ตำแหน่ง และต่อให้ไม่มี Data Center ของ Big Tech อยู่ในเมืองไทย คนก็สามารถพัฒนาความสามารถตัวเองได้ 

“ที่ผ่านมาผม Upskill ตัวเองจากการใช้ Cloud ต่าง ๆ มานานนับสิบปีจากทั้ง AWS, Google และ Azure ทั้ง ๆ ที่ Cloud เหล่านี้ไม่เคยมี Data Center ในเมืองไทย ดังนั้นแทนที่จะถามว่ามาลงทุนใน Data Center ที่บ้านเราเท่าไร ซึ่งเราก็คงไม่ได้อะไรมากมายไม่ได้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ควรถามมากกว่าจะมาลงทุนด้านการศึกษา พัฒนาทักษะคนเป็นเงินเท่าไหร่ เปิด course ต่างๆให้เราเรียนฟรีได้แค่ไหน ให้ทดลองใช้ Cloud ฟรีเพื่อการเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะได้ไหม” ดร.ธนชาติ กล่าว พร้อมทั้งย้ำว่า

อย่าตื่นเต้นอะไรมากมายเลยครับกับการลงทุนสร้าง Data Center ควรตื่นเต้นกับการลงทุนด้าน Upskill/Reskill ดีกว่า

‘บางจาก’ ผนึกกำลัง ‘สปสช.’ ยกนวัตกรรมสุขภาพเข้าปั๊มน้ำมัน อำนวยความสะดวกให้คนสุขภาพดี

(1 ต.ค. 67) บางจากฯ จับมือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเสนอนวัตกรรมเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน ผ่านระบบ "One Stop Service ด้านสุขภาพและสาธารณสุข" ในสถานีบริการน้ำมัน บางจาก โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสุขภาพในสถานที่ที่คุ้นเคยและสะดวก ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง

นายปริญญา กิติการุณจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจค้าปลีก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและสะดวกสบาย โดยบางจากฯ และ สปสช. ได้สนับสนุนให้คู่ค้าของ บางจากฯ ที่เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขเข้าร่วมโครงการ "30 บาทรักษาทุกที่" 

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนบริการสาธารณสุขโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ประชาชนและลูกค้าของบางจากสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

บางจากฯ นำเสนอนวัตกรรมที่สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ เครื่องตรวจสุขภาพ (Personal Health-Screening Kiosk) และการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันต่ำ (Hyperbaric Oxygen Therapy) 

เครื่องตรวจสุขภาพนี้สามารถให้บริการในการวัดค่าพื้นฐานทางสุขภาพ เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก อุณหภูมิ ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับออกซิเจนในเลือด รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจเบื้องต้น การคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เพื่อประเมินภาวะสุขภาพ การคัดกรองอาการเบื้องต้น การเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน และการให้คำแนะนำด้านสุขภาพเกี่ยวกับการออกกำลังกายและการดูแลตนเอง 

ในขณะที่เครื่องบำบัดด้วยออกซิเจนความดันต่ำ (Hyperbaric Oxygen Therapy) ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ให้ดีขึ้น โดยมีคุณสมบัติเด่นคือ ผู้รับบริการสามารถนั่งพักผ่อนและทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ในขณะบำบัด ช่วยฟื้นฟูอาการอ่อนล้าและบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ปรับปรุงระบบการนอนหลับและระบบไหลเวียนโลหิต อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด และเพิ่มการเผาผลาญและภูมิต้านทาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บางจากฯ ได้เข้าร่วมงาน "คิกออฟ 30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร" และได้นำเครื่องมือและเทคโนโลยี Telehealth Screening และ Hyperbaric Oxygen Therapy ให้บริการแก่ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองใช้ โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าเยี่ยมชมบูธ และมีนายปริญญา ร่วมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ พร้อมทีมงานร่วมต้อนรับ ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ

‘มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล’ CEO ปตท.สผ. ผงาดคว้ารางวัล Best CEO กลุ่มพลังงาน ด้าน ปตท.สผ. แฮตทริกคว้ารางวัล BEST IR มา 3 ปีซ้อน

(1 ต.ค. 67) นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. รับรางวัล Best CEO ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค จากเวที IAA Awards for Listed Companies 2024 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายไพบูลย์ นลินทรางกูร  นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนให้เกียรติมอบรางวัล 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้รับรางวัล Best IR ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งการมอบรางวัลดังกล่าว จัดขึ้นโดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

IAA Awards for Listed Companies เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารและบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพโดดเด่น มีความเป็นเลิศด้านการบริหารธุรกิจตามบรรษัทภิบาล มีความเชี่ยวชาญ รวมถึง การดำเนินงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยืน รวมทั้ง ยังเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของตลาดทุนไทย และเศรษฐกิจไทยโดยรวมอีกด้วย

'ชัชชาติ' เผยหลังหารือร่วม 'คีรี' อยู่ระหว่างทำเรื่องเข้าสภา กทม. ขออนุมัติจ่ายหนี้ BTS 1.1 หมื่นล้าน

(1 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังหารือกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ว่า ภาระหนี้มี 4 เรื่อง ที่จะต้องจ่าย โดยเรื่องแรก คือ ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้กทม.จ่ายเงินจำนวนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งกทม.ได้ทำเรื่องเข้าสภากรุงเทพมหานครเพื่อขออนุมัติใช้เงินในการจ่ายหนี้ให้กับ BTS แล้ว

ส่วนหนี้ภาระก้อนที่ 2 และ 3 คือ ส่วนที่ยังฟ้องร้องอยู่ในคดีของศาลปกครองปี 2565 และจากปี 2565 ถึงปัจจุบัน ตามหลักแล้วก็น่าจะปฏิบัติตามหลักแนวทางเดียวกับหนี้ส่วนที่ 1 แต่เพื่อให้เดินอย่างรอบคอบและรวดเร็วขึ้น การหารือวันนี้จึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาส่วนนี้ว่าปัจจุบันและเรื่องที่ค้างในศาลปกครองที่ยังไม่มีการตัดสินจะทำอย่างไร

ในขณะที่ ส่วนที่ 4 คือเป็นเรื่องของอนาคต ว่าส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ที่มีการเก็บเงินค่าโดยสารมาแล้ว จะมีหนี้ที่กทม.จะต้องจ่ายตาม สัญญามีหนี้การเดินรถอยู่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่จ่ายต่อให้กับทาง BTS จึงมองว่าควรจ่ายเพื่อบรรเทาภาระให้กับ BTS หรือจะพิจารณาอย่างไร เพราะเป็นเงินที่เก็บมาแล้วซึ่งแม้ว่าไม่เยอะมาก แต่ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของ BTS ได้ จึงจะรีบพิจารณาโดยเฉพาะเรื่องอนาคตซึ่งมีสัญญาระยะยาว จึงยิ่งต้องทำให้ถูกต้อง และทำงานร่วมกันได้ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

“ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน พิจารณาในส่วนภาระที่ยังค้างในส่วนที่ 2 และ 3 ส่วนที่ยังไม่ชำระ และเรื่องอนาคตว่าจะพิจารณาร่วมกันอย่างไร ซึ่งหนี้ก้อนที่ 1 จะเข้าสู่สภากทม. และได้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาอยู่ ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ยืนยันว่าจะอยู่ในกรอบเวลาแน่นอน ส่วนตัวเชื่อว่าจะต้องพิจารณาให้เร็วกว่า 180 วันด้วยซ้ำ ส่วนนี้ไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะที่ผ่านมามีการประชุมกันหลายรอบแล้ว”

ทั้งนี้ ยิ่งภาระส่วนที่ 1 ก็จะมีผลต่อส่วนที่ 2 และ 3 ต่อไปด้วย ยอมรับว่าเห็นใจ BTS ส่วนตัวก็ขึ้น BTS มาทำงานทุกวัน เห็นพนักงานก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในขณะที่ กทม. เองก็ต้องทำตามกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย พยายามหาทางออกและเดินไปด้วยกัน

นายคีรี กล่าวว่า วันนี้มีโอกาสมาที่กทม. ก็ขอบคุณผู้ว่าฯ ที่ได้ยินจากปากผู้ว่าฯ ตนเข้าใจแล้วว่า ท่านผู้ว่าฯ เข้าใจหมดแล้ว และพยายามจะทำให้ไม่มีความเดือดร้อนเกิดขึ้นทั้งกทม.และเอกชน ก็เชื่อว่าท่านผู้ว่าฯ เข้าใจในความลำบากของบริษัทที่เดินรถทุกวันนี้ แม้ว่าจะไม่ได้รับค่าจ้าง วันนี้ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ตัดสินไปแล้ว ในขณะที่ท่านผู้ว่าฯ ก็ได้เรียนทุกคนแล้วว่าท่านเข้าใจและพยายามทุกกระบวนการที่จะช่วยเหลือ และหวังว่าจะได้รับการชำระให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เปิดให้บริการในสถานีอื่นต่อไป

“วันนี้มีการหารือทั้ง 2 ทาง ทางกทม.เองก็อยากหารือ ทั้ง BTS เองก็ให้บริการกับกทม.มานาน ก็ต้องคุย เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันแบกรับ 2.7 ล้านบาทต่อวัน รวมราว 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเร่งรัดก้อนที่ 2 และ 3 อีก ก็กว่า 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ก้อนที่ 4 กทม. ต้องจ่ายเงินทุกวันที่ 20 ของเดือนถัดไป”

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงที่กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระแบ่งเป็น 4 ส่วน รวมหนี้ถึงวันที่ 25 ก.ค.2567 มีวงเงินถึง 39,402 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ถึง พ.ค.2564 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 ถึง พ.ค.2564 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ชำระ 11,755 ล้านบาท ภายใน 180 วันพร้อมดอกเบี้ยสําหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) บวก 1% ต่อปี รวมแล้วประมาณ 14,000 ล้านบาท

2.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ถึง ต.ค.2565 วงเงิน 11,811 ล้านบาท โดยBTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางวันที่ 22 พ.ย.2565 และอยู่ขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองกลาง ถ้ามีคำพิพากษาในทิศทางเดียวกับคดีแรกจะทำให้กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน

3.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 ถึง มิ.ย.2567 วงเงิน13,513 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้ายังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

4.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2567 ถึงปัจจุบัน โดยสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายจะสิ้นสุดปี 2585

กองทุนน้ำมันฯ ติดลบต่ำกว่า 1 แสนลบ. ล่าสุด เหลือ - 99,087 ลบ. หลังเลิกชดเชยราคาดีเซล

(1 ต.ค. 67) สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดติดลบต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) หยุดชดเชยราคาดีเซลตั้งแต่ ส.ค. 2567 และเร่งรีดเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดส่งเข้ากองทุนฯ โดยเฉพาะดีเซลถูกเรียกเก็บ 3.47 บาทต่อลิตร ขณะค่าการตลาดน้ำมันล่าสุดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ทรงตัวระดับสูงประมาณ 4 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลอยู่ที่  2.08 บาทต่อลิตร

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567 พบว่า เงินกองทุนฯ ติดลบลดลง ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน  โดยเงินกองทุนฯ ติดลบทั้งสิ้นรวม -99,087 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -51,643 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,444 ล้านบาท

ทั้งนี้กองทุนน้ำมันฯ เคยติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.3 แสนล้านบาท ในปี 2565 และในปี 2567 นี้ กองทุนน้ำมันฯ เริ่มติดลบลดลงเหลือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในเดือน ม.ค. 2567 และเริ่มกลับมาติดลบระดับ 1 แสนล้านบาทอีกครั้งตั้งแต่เดือน เม.ย.- ก.ย. 2567

สำหรับยอดเงินกองทุนฯ ที่ลดต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เร่งเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดเพื่อส่งเข้ากองทุนฯ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันฯ ได้หยุดชดเชยราคาดีเซล และหันกลับมาเรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ แทน ขณะเดียวกัน กบน. ก็เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราสูงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2-3 ปีแล้ว

โดยล่าสุด กบน. เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้  ดีเซลและดีเซล B20 ส่งเข้ากองทุนฯ 3.47 บาทต่อลิตร, ดีเซล เกรดพรีเมี่ยม ส่งเข้า 4.97 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 68.06 ล้านลิตรต่อวัน)

ส่วนกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์95 และ 91 ส่งเข้า 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร และเบนซินออกเทน 95 ส่งเข้า 10.68 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.55 ล้านลิตรต่อวัน)

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 73.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น  0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 67.72 เหรียญหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 71.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ส่วนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาดถึง 5.39 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 4.06 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์91 อยู่ที่ 4.11 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.96 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 2.93 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 2.08 บาทต่อลิตร และ ดีเซล B20 อยู่ที่ 0.57 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดอยู่ที่ 2.71 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสม 1.5-2 บาทต่อลิตร)

‘วปอ. 66’ ชวนหาคำตอบทางออกประเทศ กับสุดยอดกูรู ที่จะร่วมไข “เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย” 3 ต.ค.นี้

(1 ต.ค.67) ไทยกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง !!! สัญญาณต่าง ๆ ชี้ว่า บุญเก่าที่เคยช่วยให้ไทยขยายตัวได้ดี เคยเป็นผู้นำของภูมิภาค ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กำลังหมดไป โรงงานสำคัญทยอยปิดกิจการ ส่งออกได้น้อยกว่าเวียดนาม สินค้าเกษตรที่เคยเป็นเบอร์หนึ่ง ก็เริ่มเป็นเบอร์สอง เบอร์สาม

ขณะเดียวกัน โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค The Great Disruption ที่เทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดด กลายเป็น Industry 4.0 และ 5.0 ปัญญาประดิษฐ์กำลังพลิกโลก ศูนย์กลางเศรษฐกิจกำลังย้ายฐานมาที่เอเชีย สร้างผู้เล่นใหม่ๆ จากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาแข่งขันกับธุรกิจไทย Climate Change รุนแรงขึ้น สร้างภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อน ท้ายสุด ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ สร้างสงครามและการเผชิญหน้าในจุดต่าง ๆ 

ในโลกเช่นนี้ ไทยจะอยู่อย่างไร?
เราจะประสบความสำเร็จท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

ถึงเวลาแล้ว ที่ไทยจะต้องเร่งเปลี่ยนแปลงตนเองครั้งใหญ่ เร่งตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ เพื่อปรับตัว ปรับโครงสร้างให้ทันกับโลก ให้ทันกับคู่แข่ง สร้างอนาคตที่สดใสให้ลูกหลานคนไทยต่อไป

สำหรับผู้สนใจหาคำตอบในเรื่องนี้ให้ประเทศ ขอเชิญร่วมเสวนา “เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย : Thailand Next” ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้อง Plenary Hall ชั้น 1 เวลา 13:00-15:00 น.

พบกับตัวแทนนักศึกษา วปอ. 66

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี
ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร. ณัฏฐิญา วายุภาพ นิติพน
พลอากาศตรี จักรกฤษ์ ธรรมวิชัย

โดยมี คุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนา 

ทั้งนี้ จะได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ ที่จะนำพาประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ไปสู่ Thailand Next ต่อไป

งานนี้ พลาดไม่ได้ !!!!

สรุป 12 จุดเปลี่ยนใน 4 มิติ 
https://thaipublica.org/2024/09/thailand-next-a-12-points-proposal/

ลงทะเบียนได้ที่ 
https://tinyurl.com/ThailandNext https://tinyurl.com/ThailandNext

TNDT ผสาน 2 พันธมิตร เดินหน้าลุยธุรกิจการค้าครบวงจร พร้อมวางเป้าสร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในปี 2568

(1 ต.ค.67) TNDT ประกาศพลิกโฉมตลาดด้วยการเปิดตัวกลยุทธ์การค้าครบวงจรที่ทรงพลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้น โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง High Kick ที่จะเป็น 1 ในสินค้าระดับเรือธงของบริษัทและเครือข่าย 

ยุทธศาสตร์ของบริษัทในครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาและขยายธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่อย่างครบวงจร ผ่านการใช้ยุทธศาสตร์การค้า และใช้การตลาดที่ทันสมัยควบคู่กับผนึกพลังกับพันธมิตรสินค้า ขยายการเข้าถึงผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดย TNDT  คาดหวังว่าในปี 2568 จะมีการเติบโตของยอดขายที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายธนรรจ์ ศตวุฒิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เอ็น ดี ที จำกัด (มหาชน) ( TNDT ) กล่าวว่า “การเปิดตัวยุทธศาสตร์การค้า ในครั้งนี้เป็นการพลิกโฉมธุรกิจ ที่ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของบริษัทที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวหน้า ผ่านการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ด้วยการใช้เทคนิคการตลาดที่ทันสมัยควบคู่กับการให้การบริการลูกค้าที่ครอบคลุมทุกความต้องการจากการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความโดดเด่น TNDT มีความมั่นใจว่าในการร่วมมือกับพันธมิตรในครั้งนี้จะสามารถสร้างการเติบโตของยอดขายของ TNDT ได้อย่างแน่นอน

การร่วมมือกับ Exousia 1 ในพันธมิตรในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ มีการทำการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ สร้างเนื้อหาที่ดึงดูดและโดดเด่น ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ TNDT โดยเฉพาะ สินค้าภายใต้แบรนด์ High Kick และ ผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ผ่านการ sterilization ขั้นสูง พร้อมขายและส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผ่านระบบการตลาดและการค้าครบวงจรของ Exousia ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อและรับสินค้าด้วยความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น 

ด้าน นางสาวอรนิตย์ คุตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความสำเร็จไม่จำกัดวิธี (Chief Whatever-it-takes officer ) ของ Exousia กล่าวว่า “การตัดสินใจในการร่วมเป็นพันธมิตรกับทาง TNDT ครั้งนี้มาจากความมั่นใจทั้งในคุณภาพของสินค้าของ  TNDT รวมถึงทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และคัดกรองคุณภาพ เพื่อความยั่งยืน ซึ่งทีม Exousia เราพร้อมนำกลยุทธ์การตลาดที่เรามีความเชี่ยวชาญจากความสามารถที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด และตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคได้ทันในยุคดิจิทัล ซึ่งจะส่งเสริมให้ TNDT ที่มีพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ที่ดีให้เติบโตในทุกช่องทาง โดยไม่เสียเวลาเรียนรู้ตลาด เราพร้อมเป็นทางลัดให้ TNDT ประสบความสำเร็จ ตามยุทธศาสตร์การค้า ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เราหวังว่าจะสามารถช่วย TNDT สร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในปี 2568

สำหรับผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ผ่านการ sterilization ขั้นสูงเป็นของอีก 1 พันธมิตรคือ Rise Plus ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TNDT ที่ร่วมทุนกับ MMK โดยก่อนหน้านี้ Rise Plus ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ผ่านการ sterilization ขั้นสูงที่ผ่านการฆ่าเชื้อโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) ของ TNDT ที่มุ่งเน้นการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

นายธีรพัฒน์ แก้วเขียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท มิ่งมงคล อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า "การร่วมมือกับ TNDT และ Exousia เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีคุณภาพสูงและตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างตรงจุด และครอบคลุมในทุก ๆ ส่วน บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขับเคลื่อนการเติบโตของพันธมิตรที่ได้มีการจับมือกันในครั้งนี้"

‘GC-OR’ ลงนามความร่วมมือด้านเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ผสานองค์ความรู้ระหว่างกัน มุ่งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

(30 ก.ย. 67) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ลงนามบันทึกข้อตกลงในความร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อศึกษาโอกาสทางการตลาดและกลยุทธ์การขายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืนของประเทศไทย

GC มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ด้วยการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 พร้อมผสานแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจ จึงเกิดการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ผสานเทคโนโลยีการกลั่น ขั้นสูงสู่การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ซึ่งถือเป็นพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable & Sustainable Energy ที่มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

OR กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Energy Solution Provider ด้วยแนวทางการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขยายสู่อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่สามารถผสมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF เข้ากับน้ำมัน JET โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของเครื่องบิน เป็นหลักการเดียวกับการผสมเอทานอลกับน้ำมันเบนซิน หรือ การผสมไบโอดีเซลกับน้ำมันดีเซล ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาคการบินทั้งสายการบินในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง SAF เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2608 

นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า GC ในฐานะผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเชี่ยวชาญด้านโรงกลั่นน้ำมัน โดยเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพโรงกลั่นสู่การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืนหรือ SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้ว การบุกเบิกผลิตภัณฑ์ SAF ในเชิงพาณิชย์ สู่อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย มีทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งความร่วมมือระหว่าง GC และ OR ในฐานะผู้นำด้านการตลาดและการจำหน่ายน้ำมันอากาศยานของไทย จะเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้สำเร็จ 

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่า "ความร่วมมือระหว่าง OR และ GC ในครั้งนี้ OR ในฐานะผู้นำการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานของไทย มุ่งมั่นที่จะแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกับ GC ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนระดับสากล เพื่อศึกษาและนำน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) จากกระบวนการ Co-Processing ของ GC มาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้สายการบินทั้งในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศได้ใช้ SAF เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2608 และยังเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานของ ICAO และ IATA ในอนาคต นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายการเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solution Provider) ของ OR เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไป   

GC และ OR ผนึกกำลังผสานจุดแข็งร่วมกันเพื่อยกระดับศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่การเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ในกลุ่ม ปตท. และร่วมผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ส่งผลให้ตอบสนองความต้องการของตลาดในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

'ท่องเที่ยว' เล็งโมเดล ‘VAT Refund ญี่ปุ่น’ ดันไทย ‘ฮับชอปปิง’ ยื่นขอคืนภาษี ณ ร้านค้าหรือจุดขายได้ทันที

(30 ก.ย. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงแผนการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น 'ชอปปิง เดสติเนชัน' (Shopping Destination) ขณะนี้มองถึงแนวทางการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเรื่องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat Refund) เบื้องต้นอาจใช้โมเดลญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวสามารถยื่นขอคืนภาษี ณ ร้านค้าหรือจุดขายได้ทันที ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งกระทรวงการคลังและภาคเอกชน หลังได้รับรายงานว่าขั้นตอนขอคืนภาษีที่เคาน์เตอร์เป็นไปอย่างล่าช้า ต่อแถวยาว ไม่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“วาระเร่งด่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ นอกเหนือจากการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยให้ได้มากที่สุดแล้ว จะต้องรุกเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อผลักดันรายได้ไปให้ถึงเป้าหมาย ด้วยการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม”

นายสรวงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรื้อแผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวปี 2568 โดยเฉพาะในช่วงโลว์ซีซัน ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกันอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เนื่องจากแพลตฟอร์มของโครงการฯ ยังมีอยู่ ขณะเดียวกันปริมาณที่นั่งสายการบินเส้นทางบินในประเทศก็มีจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย สะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-22 ก.ย. มีจำนวน 25,413,226 คน โดยตลาดนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

-จีน 5,107,697 คน 
-มาเลเซีย 3,643,753 คน 
-อินเดีย 1,485,017 คน 
-เกาหลีใต้ 1,347,069 คน 
-และรัสเซีย 1,137,867 คน 

สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 1,188,099 ล้านบาท ทำให้ช่วง 3 เดือน

สุดท้ายนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะพยายามผลักดันให้ได้ทั้งจำนวนและรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นเป้าที่เหนื่อย เพราะยังขาดอีกกว่า 8 แสนล้านบาทที่ต้องทำเพิ่มในช่วงที่เหลือ โดยต้องเร่งอัดอีเวนต์และโปรโมชันต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ

“แผนกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ จะมีการทยอยประกาศออกมา ระหว่างนี้ต้องรอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะประกาศออกมาในเร็ว ๆ นี้ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พร้อมดำเนินการตามนโยบายของนายกฯ ซึ่งเราจะคุยกันที่ตัวเลขจริง ๆ ไม่มโน”

‘IRPC’ ตั้ง ‘เทอดเกียรติ พร้อมมูล’ นั่ง CEO คนใหม่ สานภารกิจขับเคลื่อนองค์กรเติบโตยั่งยืน

(30 ก.ย. 67) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) แต่งตั้ง นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป 

สำหรับ นายเทอดเกียรติ มีประสบการณ์ในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมีความเชี่ยวชาญทั้งงานแผนกลยุทธ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านภารกิจในการกำกับดูแล และกำหนดทิศทางให้กับกลุ่มธุรกิจที่สำคัญของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมทั้งดำรงตำแหน่งสำคัญในหลายองค์กร ได้แก่ กรรมการบริหาร สถาบันวิทยสิริเมธี ประธานคณะกรรมการจัดการสถาบันวิทยาการพลังงาน อุปนายก สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กรรมการ สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย

นายเทอดเกียรติ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท Master of Engineering (Industrial & Manufacturing Systems Engineering) จาก University of Missouri, Columbia, USA และปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายเทอดเกียรติ CEO ลำดับที่ 8 ของ IRPC จะมาขับเคลื่อนองค์กร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล ที่คำนึงถึงสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืนต่อไป 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top