Thursday, 23 January 2025
ECONBIZ

‘แพทองธาร’ นำคณะ!! บินดาวอส ประชุม ‘World Economic Forum’ โชว์!! วิสัยทัศน์รัฐบาล ย้ำ!! ศักยภาพประเทศไทย ขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล

(19 ม.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 (WEF Annual Meeting 2025: WEF AM25) ระหว่างวันที่ 20-25 ม.ค. 2568 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส

โดยมีผู้แทนรัฐบาลไทยที่ได้รับเชิญและร่วมคณะ ได้แก่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย และนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ

การประชุม WEF AM25 จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 55 ภายใต้หัวข้อหลัก “Collaboration for the Intelligent Age” เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุดในการสนับสนุนการค้าการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ในบริบทของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบันที่สลับซับซ้อนและท้าทาย

โดยนายกฯ จะใช้เวที WEF แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ย้ำศักยภาพและความพร้อมของไทยที่จะขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และขยายโอกาสของภาคเอกชนไทยในตลาดโลก

เนื่องจากการประชุม WEF นับเป็นเวทีที่มีอิทธิพลสูงมากต่อความตระหนักรู้ของสาธารณชนและสื่อมวลชนชั้นนำระดับโลก ทั้งยังจะมีการพบหารือทวิภาคีกับระหว่างผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของโลก โดยเฉพาะจากภูมิภาคยุโรป

ทั้งนี้นายกฯ จะเดินทางจากไทย ในวันที่20 ม.ค.นี้ ถึงท่าอากาศยานนครซูริก สมาพันธรัฐสวิส ในจันทร์ที่ 20 ม.ค. เวลา 14.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ซึ่งเวลาที่นครซูริกช้ากว่ากรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง) และจะปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 20-25 ม.ค. 2568 และจะเดินทางกลับถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันเสาร์ที่ 25 ม.ค.

‘สุชาติ’ เผย!! 'อาเซียน - แคนาดา’ เร่งขับเคลื่อนเจรจา FTA ตั้งเป้า!! ปิดดีล ขยายโอกาสทางการค้า ภายในปี 2568

(18 ม.ค. 68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แคนาดาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-แคนาดา (ACAFTA TNC) รอบที่ 11 ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาในประเด็นต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2568 สำหรับการประชุม ACAFTA TNC ในรอบนี้ยังได้มีการจัดการประชุมของคณะทำงานเจรจาอีก 7 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า แนวปฏิบัติที่ดีด้านการออกกฎ การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายและสถาบันควบคู่ไปด้วย  

"ไทยพร้อมสนับสนุน FTA อาเซียน-แคนาดา ให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2568 ซึ่งจะเป็น FTA แรกของไทยกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ รวมถึงขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน แคนาดาก็ให้ความสำคัญกับการสรุปผลการเจรจา ACAFTA โดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองฝ่าย โดยเฉพาะการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มพูนโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน" นายสุชาติ กล่าว 

ด้านนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการประชุมครั้งนี้ว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการติดตามความคืบหน้าการเจรจาของคณะทำงานภายใต้ ACAFTA ทั้ง 19 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงเรื่องการค้าสินค้าที่จะต้องเร่งเจรจารูปแบบการลดภาษี (modality) ระหว่างประเทศสมาชิก การค้าบริการและการลงทุนที่จะต้องเร่งสรุปเรื่องโครงสร้างของข้อบทและรูปแบบการเปิดตลาด และเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งอาเซียนจะต้องพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเฉพาะ (Product Specific Rule: PSR) ที่แคนาดาเสนอมาทั้งหมด 5,612 รายการ รวมทั้งเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนที่อาเซียนจะต้องเร่งสรุปร่างข้อเสนอของอาเซียนให้แคนาดาพิจารณาเพื่อจัดทำร่างข้อบทร่วมในการเจรจาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้แนวทางขับเคลื่อนการเจรจากับคณะทำงานกลุ่มต่างๆ อาทิ เร่งหาข้อสรุปในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่คล้ายคลึงกัน สำหรับประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก ให้เน้นการหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและแสดงความยืดหยุ่นเพื่อหาแนวทางที่ยอมรับร่วมกันได้ และหยิบยกประเด็นที่ติดขัดให้คณะกรรมการ TNC ให้แนวทางแก้ไข พร้อมทั้งผลักดันให้มีการประชุมทั้งในรูปแบบออนไลน์ และ in-person เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ทันตามเป้าที่กำหนดไว้ 

สำหรับในปี 2566 การค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,933.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.41 โดยไทยส่งออกไปยังแคนาดา มูลค่า 1,903.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.07 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 1,030.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 11.03 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ

ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือน (ม.ค. –พ.ย.) ของปี 2567 การค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,955.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 1,946.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 1,008.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 937.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

‘รสนา’ ชื่นชม!! ‘กกพ.’ ชงลดค่าไฟฟ้า แนะ!! เจรจาลด ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ด้วย

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค. 68) นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า …

มาช้าดีกว่าไม่มา กกพ.จ่อชงนายกฯทบทวนค่าแอดเดอร์พลังงานหมุนเวียน หั่นค่าไฟลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาท

ข่าวสื่อมวลชนวันนี้ระบุว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนนโยบายรัฐที่ให้เงินส่วนเพิ่มไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เรียกว่า แอดเดอร์ (Adder) ทำให้ราคารับซื้อเพิ่มสูง และมีการต่อสัญญาแบบอัตโนมัติทำให้ค่าไฟมีราคาสูงกว่าราคาที่เป็นจริงในปัจจุบันมาก หากมีการทบทวนราคารับซื้อตามต้นทุนจริง จะลดค่าไฟลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาท คาดประหยัดค่าไฟได้ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในการรับฟังความเห็นประชาชนเรื่องการปรับค่าFt ของกกพ.งวด มกราคม -เมษายน 2568 ระหว่างวันที่ 8-22 พฤศจิกายน 2567 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค)ได้เสนอแนวทางการปรับลดราคาค่าไฟไปทั้งหมด 6 ข้อ

หนึ่งใน6 ข้อเสนอของสภาผู้บริโภค ก็คือเสนอให้ยกเลิกนโยบายมาตรการสนับสนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่สูงเกินสมควรจนมีผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งกกพ. ควรเสนอให้ทบทวนนานแล้ว เอกชนได้ค่าไฟฟ้าส่วนเกินที่ไม่ควรได้รับปีละ 3.3 หมื่นล้านบาท เป็นค่ารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่หมดอายุ 8-10 ปีไปแล้ว แต่กกพ.ก็ยังปล่อยให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติในราคาสูง โดยประชาชนตาดำๆ ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายนี้ให้เอกชนผ่านค่าไฟฟ้า เป็นภาระค่าไฟแพงของประชาชน แต่ไม่ปรากฎว่ากกพ.จะได้นำข้อเสนอนี้ของสภาผู้บริโภคไปพิจารณาเพื่อลดค่าไฟในงวด มกราคม- เมษายน 2568 แต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม มาช้าดีกว่าไม่มา ก็ต้องชื่นชมที่ กกพ.ตัดสินใจทำข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนการให้เงินส่วนเพิ่ม(Adder)ว่าควรยกเลิกได้แล้วเพราะปัจจุบันราคาพลังงานหมุนเวียนมีราคาลดลงมากแล้ว ซึ่งบริษัทเหล่านั้นได้คืนทุนและมีกำไรคุ้มไปนานแล้ว การต่อสัญญาอัตโนมัติจึงควรยกเลิก ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าไฟลงได้ 17 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟลดลงเหลือ 3.98 บาท/หน่วย จากที่กำหนดไว้เดิมที่ 4.15บาท/หน่วย และทำให้ประชาชนได้ปลดแอกบนบ่าถึงปีละ 3.3 หมื่นล้านบาทได้สักที

สิ่งที่กกพ.ควรเสนอนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ข้อ คือให้เจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายสำหรับโรงไฟฟ้าที่ได้คืนทุนและมีกำไรพอสมควรแล้ว จากเอกสารของกกพ. ในงวด มกราคม-เมษายน 2568 ค่าความพร้อมจ่ายสูงถึง 19,875 ล้านบาท หากคำนวณทั้งปี จะเป็นเงิน 59,625 ล้านบาท/ปี หากนำมาเฉลี่ยกับหน่วยไฟที่ใช้ทั้งประเทศประมาณ 200,000 ล้านหน่วย/ปี เท่ากับจะลดลงได้ 29-30 สต./หน่วย หากตัดค่าความพร้อมจ่ายส่วนนี้ไปได้ น่าจะลดได้ค่าไฟลงไปได้อีกเกือบ30 สตางค์/หน่วย (ตัวเลขที่นำมาคำนวณจากเอกสารที่เผยแพร่โดย กกพ.ในการรับฟังความเห็นค่า Ft)

แม้ตามสัญญาค่าความพร้อมจ่ายอาจจะตัดไม่ได้ แต่รัฐบาลสามารถใช้ประเด็น ‘เหตุสุดวิสัย’ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐเพื่อลดค่าไฟ เปิดให้มีการเจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายในโรงไฟฟ้าที่คืนทุนแล้ว หรือไม่มีการผลิตแต่ยังได้ค่าความพร้อมจ่าย โดยแลกกับการขยายสัญญารับซื้อไฟต่อให้อีกสัก1-2ปีหลังหมดสัญญา และโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ควรมีค่าความพร้อมจ่ายอีกแล้ว

กกพ.จึงควรถือเป็นหน้าที่ในการรีดไขมันที่ทำให้ค่าไฟแพงอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ซึ่งยังมีอีกหลายรายการที่สมควรพิจารณาต่อไปอย่างจริงจัง จะเป็นการช่วยลดภาระที่ประชาชนแบกจนหลังแอ่นมายาวนานมาก และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่มีราคาค่าไฟเหมาะสมจูงใจให้ธุรกิจต่างชาติสนใจจะมาลงทุน

รัฐบาลหัดคิดนโยบายประชานิยมเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมบ้าง ประชาชนจะได้เงยหน้าอ้าปากอย่างยั่งยืน เลิกใช้วิธีกู้เงินมาหว่านแจกซื้อเสียงแบบฉาบฉวยได้แล้ว!!

กฟผ. ผนึกกำลัง ททท. ชวนสัมผัสที่พัก 8 เขื่อนทั่วไทย ตอบโจทย์เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ - กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

กฟผ. จับมือ ททท. สานต่อโครงการ Workation Paradise Throughout Thailand Season 2 สนับสนุนเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ที่ผสานการทำงานและการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน ชวนสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติที่เขื่อน 8 แห่งของ กฟผ. ทั่วประเทศ พร้อมมอบส่วนลดที่พัก 30% ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนอย่างยั่งยืน

(17 ม.ค.68) นายชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เทรนด์ Workation หรือการทำงานพร้อมการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจาก Work from Home สู่ Work from Anywhere ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 กฟผ. จึงร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้าสานต่อโครงการ Workation Paradise Throughout Thailand Season 2 เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานในบรรยากาศอันเงียบสงบและงดงามที่เขื่อน 8 แห่งทั่วประเทศ ของ กฟผ. ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม - 30 มีนาคม 2568

นายชวลิต กันคำ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟผ. ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ Workation ของ ททท. มาตั้งแต่ปี 2563 โดยเริ่มจากการมอบส่วนลดค่าที่พัก และยกระดับคุณภาพบ้านพักรับรองด้วยมาตรฐาน SHA Plus ในพื้นที่เขื่อนและโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย โครงการ Workation Paradise Throughout Thailand Season 2 สะท้อนถึงความตั้งใจของ กฟผ. ในการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของ ททท. เพื่อผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยมีหัวใจสำคัญคือชุมชนและธรรมชาติ ทุกการเดินทางไม่เพียงแต่สร้างความสุข แต่ยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“เขื่อนของ กฟผ. ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของประเทศ แต่ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่งดงาม ลองมาสัมผัสทิวทัศน์อันตระการตาของเขื่อนทั้ง 8 แห่ง ซึ่งมีเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัว พร้อมเติมเต็มพลังชีวิต และดื่มด่ำกับความสวยงามของธรรมชาติที่เงียบสงบ การท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. จะไม่เพียงเปลี่ยนบรรยากาศการทํางาน แต่ยังช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตไปด้วยกัน กฟผ. ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่าน” นายชวลิต กล่าวเชิญชวน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและจองสิทธิ์ได้ที่ www.tourismthailand.org/workationthailand โดยใส่คำค้นหา 'บ้านพักรับรองเขื่อน'

OPPO ขอโทษ ออกอัปเดตลบแอปเงินกู้บนมือถือแล้ว 4 รุ่น ยืนยันลบข้อมูลส่วนตัวลูกค้าทั้งหมด

(17 ม.ค.68) OPPO ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนครั้งแรก หลังเกิดเหตุการณ์การติดตั้งแอปพลิเคชัน Fineasy และ สินเชื่อความสุข ในสมาร์ทโฟน OPPO และ realme โดยไม่ได้รับการยินยอม  

โดยนายชานนท์ จิรายุกุล ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหาร OPPO ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขโดยทันทีผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้เริ่มการอัปเดตระบบ (OTA) เพื่อลบแอปพลิเคชันดังกล่าวแล้ว ซึ่งครอบคลุมถึงรุ่น Find X8 Series, Reno13 Series, Reno12 Series และ OPPO A3 ทั้งตั้งเป้าให้มีการอัปเดตเพื่อการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวภายใน 27 มกราคม 2025 

นายชานนท์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานเก็บบนคลาวด์ได้ถูกลบอย่างสมบูรณ์แล้ว ส่วนข้อมูลที่อยู่ในอุปกรณ์ ผู้ใช้งานสามารถลบได้ด้วยตัวเองทันที  

ด้านนายธงชัย ม่วงใหม่ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของโพสเซฟี่ กรุ๊ป ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของ OPPO ประเทศไทยในการปฏิบัติตามกฎหมายความเป็นส่วนตัว โดยไม่เข้าถึงข้อมูลอ่อนไหวของผู้ใช้งานหากไม่ได้รับอนุญาต พร้อมเสริมว่าบริษัทได้ดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล  

นอกจากนี้ OPPO ประเทศไทยได้ชี้แจงว่า การติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวมาจากบุคคลภายนอก และยืนยันว่าไม่มีการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน โดยบริษัทได้เริ่มปรับปรุงมาตรการความปลอดภัย พร้อมประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต  

"เหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเรา เราขอโทษผู้ใช้งานอย่างสุดซึ้ง และขอให้คำมั่นว่าจะไม่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก" นายชานนท์กล่าว  

OPPO ประเทศไทยยังแสดงความตั้งใจที่จะร่วมมือเฉพาะกับพันธมิตรที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และจะไม่ติดตั้งแอปพลิเคชันสินเชื่อที่ไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานธนาคารแห่งประเทศไทยอีก  

สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ OPPO ประเทศไทยได้จัดตั้งสายด่วนที่หมายเลข 1800-019-097 เพื่อให้บริการช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

‘สุชาติ ชมกลิ่น’ เดินหน้าผลักดันโครงการ ITD ส่ง SMEs เกษตรไทยสู่โลกยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาสศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ (16 ม.ค.68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าในการผลักดันโครงการ 'Smart AgriTech to the Sustainability Business' เพื่อยกระดับ SMEs เกษตรไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ITD ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรรวมถึงเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

โดยในโครงการได้คัดเลือกผู้ประกอบการภาคเกษตรที่มีศักยภาพสูงจาก 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และ ภาคกลาง รวมทั้งหมด 8 ราย ที่จะได้รับโอกาสพิเศษในการศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 14-17 มกราคม 2568 เพื่อเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ที่ทันสมัยจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรและการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้เติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปสู่ประเทศคู่ค้าที่สำคัญทั่วโลก 

นายสุชาติ กล่าวว่า “ความสำคัญของการศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า จะเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการทั้ง 8 ราย ในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่ทันสมัยจากญี่ปุ่น พร้อมทั้งนำความรู้ที่ได้กลับมาปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญทั่วโลก

โดยโครงการนี้ไม่เพียงแค่ยกระดับ SMEs เกษตรไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเกษตรและขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว”

“โดยโครงการ 'Smart AgriTech to the Sustainability Business' นอกจากจะช่วยยกระดับ SMEs เกษตรไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจเกษตรและการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปสู่ประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจเกษตรไทยเพื่อให้สามารถยืนหยัดได้ในตลาดโลกและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระดับชาติอย่างยั่งยืน” นายสุชาติ กล่าว

‘เอกนัฏ’ เยือน ซาอุดีอาระเบีย ร่วมเสวนาโต๊ะกลม รับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมแร่สู่พลังงานสะอาด

เมื่อวันที่ (14 ม.ค.68) กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย - นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในงาน Future Minerals Forum 2025 (FMF 2025) เพื่อร่วมกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมแร่พลังงานสะอาด พร้อมด้วยรัฐมนตรีและผู้แทนรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ กว่า 86 ประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในงาน Future Minerals Forum 2025 (FMF 2025) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2568 ว่า การจัดประชุมโต๊ะกลม FMF 2025 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่และโลหะเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยการขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำและการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดมีความจำเป็นต้องใช้แร่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าความต้องการใช้แร่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก (Critical minerals) มีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างน้อย 2 เท่าในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ในขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค (Regional Hub) และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเช่นกัน ไทยจึงมีบทบาทในฐานะผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากแร่ ในการจัดหาแร่ที่ผลิตอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการสร้างกลไกรองรับการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสิ่งที่ประเทศไทยสนับสนุนและยืนยันมาตลอดคือการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชนในพื้นที่และการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้าน ดร.อดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีเรื่องแร่แห่งอนาคต หรือ Future Minerals Forum 2025 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยมีซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพ โดยมีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากกว่า 86 ประเทศทั่วโลก อาทิ บราซิล แอฟริกาใต้ คองโก อินเดีย อียิปต์ อิตาลี ไนจีเรีย กาตาร์ ปากีสถาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน มาเลเซีย ไทย โมร็อกโก อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เข้าร่วม ทั้งนี้ การประชุมมีการหารือในประเด็นหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาแนวทางการทำเหมืองแร่อย่างยั่งยืนของภูมิภาค 2) การสร้างเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) เพื่อรองรับการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ด้านแร่ และ 3) การสร้างกรอบการพัฒนาด้านแร่กลุ่ม Critical minerals และพัฒนาโซ่มูลค่าในพหุภูมิภาค เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางดำเนินความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวมีความราบรื่น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กกพ. เสนอรื้อสัญญาทาสคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน ชี้ ลดค่าไฟได้ทันที 17 สตางค์/หน่วย ช่วยประหยัด 3.3 หมื่นลบ.

เมื่อวันที่ (16 ม.ค.68) นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมตินำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ (Feed in Tariff:FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ FiT สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท เหลือหน่วยละ 3.98 บาท โดยคาดหวังว่าจะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท

นายพูลพัฒน์ กล่าวต่อว่า หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่า Adder หน่วยละ 8 บาท ตลอดอายุโครงการ 10 ปี รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565-2573

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP ผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และ FIT ได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 533 รายจำนวน 3,400 เมกะวัตต์

การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงาน แสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วย เช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพง กว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็น กำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบ กิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด

‘เอกนัฏ‘ สั่งปิดโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าไทยอุดรฯ หลังพบฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัยหลายข้อ

(15 ม.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ 'ทีมตรวจการสุดซอย' นำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี บูรณาการร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และโรงไฟฟ้าของบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด มีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุดจากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน คิดเป็น 43.11% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด หรือกว่า 4.1 แสนตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 4.1 หมื่นไร่ โดยจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงสุดของประเทศ อีกทั้งยังพบว่า บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำส่งให้กับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี โดยบริษัทฯ ฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย มีการประกอบกิจการในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานและประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงาน 

นอกจากนี้ บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด ยังมีการประกอบกิจการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่พนักงานหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงานในหลายประเด็น เช่น มีการจัดเก็บหรือการดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมที่ใช้และเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ตู้ควบคุมไฟฟ้าอยู่ในสภาพชำรุดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้ง มีการติดตั้งระบบดับเพลิงที่ไม่พร้อมใช้งานในหลายจุด อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีจึงมีคำสั่งด่วนที่สุดให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งหมด จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

“ผมขอย้ำว่า การประกอบการโรงงานต้องมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างกำไรจากการทำธุรกิจอุตสาหกรรมต้องไม่เบียดเบียนสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการทำธุรกิจของภาคส่วนอื่นด้วย” นายเอกนัฏฯ กล่าวทิ้งท้าย

ททท. เร่งกู้สร้างภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์ สร้างความมั่นใจ นทท.จีน หลังเกิดกรณี ‘ซิงซิง’

(15 ม.ค. 68) น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวจีน หลังมีรายงานว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงรวมถึงมีการยกเลิกคอนเสิร์ตสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ดาราจีน “ซิง ซิง” จะสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์กลับมาอย่างไร ว่า หลังเกิดสถานการณ์ ททท.รับมือเรื่องของวิกฤติบนโลกออนไลน์ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มีหลากหลายมากบางคนไม่เคยมาเมืองไทย   แต่คิดไปโน่นไปนี่ ดังนั้น ททท.จึงต้องมีการบริหารภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์  เพราะขณะนี้มีความตื่นตระหนกของนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่เคยเดินทางมาเมืองไทย ในกลุ่มนี้เราพยายามทำในเรื่องชาร์เตอร์ไฟลท์ หรือ เครื่องบินแบบเช่าเหมาลำเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งยอมรับว่ามีการยกเลิกไฟลท์บินบ้าง แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาเมืองไทยรับรู้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่สงบสุขและเป็นประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนก็ยังมาอยู่ 

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า ในส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยตนเองสายการบินแบบปกติยังไม่กระทบ เพราะ 90 ถึง 95% ยังเดินทางมาอยู่ อย่างไรก็ตามเราต้องบริหารจัดการเรื่องภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์และสื่อสารให้เห็นถึงมุมที่แท้จริงของประเทศไทยเพื่อไปยังกลุ่มชุมชนออนไลน์ของจีนให้มากกว่านี้ 

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวอีกว่า ทาง ททท. 5 สำนักงานในประเทศจีนได้พูดคุยกับเอเจ้นต์ (Agent) บริษัททัวร์ และสายการบินในประเทศจีน เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีน โดยมีการเตรียม 3 เรื่องหลักคือความปลอดภัย สินค้า และบริการ รวมถึงการได้ประสบการณ์ที่ดีในการมาเมืองไทย ซึ่งนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับตำรวจท่องเที่ยวเป็นอย่างมากเพื่อความปลอดภัยของการท่องเที่ยว รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆฝ่ายความมั่นคงก็มาเข้ามาช่วยดูแล

GC เดินเครื่องผลิต ‘เชื้อเพลิง SAF’ เป็นรายแรกของไทย เฟสแรก 6 ล้านลิตร/ปี หนุนไทยสู่ศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำ

GC ผลิต SAF เชิงพาณิชย์สำเร็จเป็นรายแรกของไทย วางแผนเฟสแรกผลิต 6 ล้านลิตรต่อปี ใช้น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบหลัก พร้อมกางแผนจ่อขยายการผลิต 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคตรับความต้องการพลังงานทดแทนอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์

(15 ม.ค. 68) นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ GC กล่าวว่า “การผลิต SAF เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในวันนี้ พร้อมรองรับความต้องการพลังงานทดแทนของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ไทยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และให้ความสำคัญกับการนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง SAF ของ GC ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC CORSIA (International Sustainability and Carbon Certification – Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการบินสำหรับการรับรองความยั่งยืน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80%* เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป (*อ้างอิงตามมาตรฐานการรับรอง ISCC CORSIA) นอกจากนี้ GC ยังได้รับรองมาตรฐาน ISCC Plus (International Sustainability and Carbon Certification Plus) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนใน การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดย GC ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงอีกกว่า 10 ชนิด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ถือเป็นการยืนยันถึง ความมุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้กรอบความยั่งยืนสูงสุด”

ความท้าทายของตลาด
ความต้องการของตลาด SAF กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากความตระหนัก ด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์และการกำหนดกรอบกฎหมายที่สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

GC ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสนี้ ด้วยจุดแข็งสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการกลั่นน้ำมัน และการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการนำน้ำมันพืชใช้แล้วภายในประเทศมาผลิตเป็น SAF เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ GC ยังได้สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรสำคัญในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยให้ GC สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาด SAF ได้อย่างมั่นคง และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์และพลังงานในอนาคต
 
จุดเด่นที่สำคัญโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) 
• นวัตกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง : ในเฟสแรก GC วางแผนผลิต SAF 6 ล้านลิตรต่อปี โดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบหลัก และมีแผนขยายการผลิตเป็น 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคต ด้วยการใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงโรงกลั่นที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถประหยัดการลงทุนเมื่อเทียบกับการสร้างโรงงานใหม่ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการขยายขีดความสามารถการผลิตพลังงานชีวภาพเพื่อรองรับการเติบโตที่ยั่งยืน (ให้เพิ่มเรื่องการลงทุนต่ำไปด้วย)

• พันธมิตรเชิงกลยุทธ์: ความร่วมมือระหว่าง GC กับพันธมิตรสำคัญอย่าง OR และการบินไทยในการนำ SAF ไปใช้กับเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นก้าวสำคัญของ การพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาค พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

• ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง: GC ได้พัฒนาเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมสำคัญหลากหลายประเภท ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ รวมถึงยาและเวชสำอาง โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม  

• ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม: การลงทุนในโครงการนี้ไม่เพียงช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการบิน แต่ยังเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ พร้อมสนับสนุนเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตอกย้ำบทบาทของ GC ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของประเทศ  

แผนการเติบโตในอนาคต:
• ขยายกำลังการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ใช้พลังงานทดแทน และการลงทุนในเทคโนโลยีที่ยั่งยืน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพในอนาคต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว

• เสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและขยายฐานการตลาด รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและพลังงานทดแทน เพื่อผลักดันการพัฒนาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

• พัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่ยั่งยืนไปจนถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อให้กระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

• ส่งมอบโซลูชันอย่างครบวงจรสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน 

• สร้างภาพลักษณ์องค์กรในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน ด้วยการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล พร้อมสร้าง ความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นในระยะยาว

ITEL รีแบรนด์ Interlink Health Technology ยกระดับต่อยอดเทคโนโลยีทางการแพทย์

(15 ม.ค.68) ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ขยายอาณาจักรยิ่งใหญ่ในตลาด Health Tech รีแบรนด์ บริษัท โกลบอล ลิโธทริปซี่ย์ เซอร์วิสเซส จำกัด (Global Lithotripsy Services Company Limited) หรือ GLS เป็น บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เฮลธ์ เทคโนโลยี จำกัด (Interlink Health Technology Company Limited) หรือ IHT เพื่อขยายธุรกิจ พัฒนาเทคโนโลยีทางสาธารณสุขในประเทศไทย ยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บริษัทฯ มุ่งมั่นให้บริการลูกค้าอย่างเต็มที่ พร้อมต่อยอดความสำเร็จในการขยายบริการทางด้านสุขภาพอย่างครบวงจรด้วยเทคโนโลยีที่นำสมัยตามแผนกลยุทธ์ New S-Curve ทำให้เพิ่มศักยภาพการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด สร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้า สร้างรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ 200 ล้านบาท

Levi’s®  และ Undercover ฉลองครบรอบ 35 ปีของแบรนด์ญี่ปุ่น ด้วยคอลเลกชันพิเศษสุดเอ็กซ์คลูซีฟ

เดือนมกราคมนี้ Levi’s®  และ UNDERCOVER กลับมาร่วมมือกันอีกครั้ง ผสานความโดดเด่นของดีไซน์ Undercover เข้ากับเอกลักษณ์เหนือกาลเวลาของ Levi’s® เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีของแบรนด์ระดับตำนานที่ก่อตั้งโดย จุน ทาคาฮาชิ แบรนด์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงด้านการผสมผสานระหว่างสตรีทแวร์ แฟชั่นระดับสูง และดีไซน์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ด้วยการอ้างอิงถึงงานออกแบบในอดีตและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Levi’s® โดย คอลเลกชัน Levi’s® x Undercover ครั้งที่ 2 นี้จึงเกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์อย่างพิถีพิถัน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในด้านนวัตกรรมและสไตล์ที่แสดงออกถึงตัวตน

คอลเลกชัน Levi’s® x Undercover ประกอบด้วยสินค้าทั้งหมด 9 ชนิดที่เน้นงานฝีมือและรายละเอียดการออกแบบที่ประณีต แจ็คเก็ต Pinnacle Type II Trucker มีดีเทลซิปถอดได้บริเวณแขน คอเสื้อ และตะเข็บข้าง ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถปรับแต่งในสไตล์ของตนเอง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากโปรแกรม “Exchange” ของ Undercover ในคอลเลกชันฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 1998 แจ็คเก็ตนี้ผลิตจากผ้าเดนิมริมแดงอินดิโกและผ้าลูกฟูกสีดำ พร้อมตกแต่งด้วยป้าย Jacron จากการออกแบบร่วมกันของทั้ง 2 แบรนด์ และป้ายคอ ‘Small Parts’ ที่สะท้อนถึงคอนเซ็ปต์ดั้งเดิมของ Undercover

แจ็คเก็ต Type I Trucker ใช้ผ้าเดนิมสีดำ-ขาวน้ำหนัก 12 ออนซ์ พร้อมลวดลายปัก ‘Giza’ ที่แขนเสื้อและชายเสื้อ ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงกราฟิกของ Undercover ในปี 2003 ส่วนแจ็คเก็ต Type III Trucker มีลวดลายกราฟิกใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดหยินหยาง ประดับด้วยการปักคำว่า ‘แสงสว่าง’ และ ‘ความมืด’ บริเวณอกด้านหน้า และตกแต่งด้วยเทคนิคการพิมพ์และปักผสมผสานบริเวณด้านหลัง

ในคอลเลกชันยังมีกางเกงยีนส์อีก 2 รุ่น ได้แก่ 501® Jean และ Baggy Jean ที่สอดคล้องกับรายละเอียดของแจ็คเก็ต 501® Jean มีทรงคลาสสิก พร้อมลวดลายปัก ‘Giza’ ที่ตะเข็บข้าง และป้ายหลังจากการออกแบบร่วมกันของทั้ง 2 แบรนด์ ส่วน Baggy Jean เป็นทรงหลวมสบาย ตกแต่งด้วยเทคนิคการพิมพ์ และปักแบบผสมผสาน เพื่อให้เข้ากับแจ็คเก็ต Type III Trucker

ปิดท้ายด้วยเสื้อยืด 3 แบบที่นำเสนอภาษาภาพลักษณ์เดียวกัน ผลิตจากผ้าฝ้ายเจอร์ซีย์คุณภาพสูง เสื้อยืดแขนยาวสีขาวตกแต่งลายพิมพ์ ‘Giza’ บริเวณคอและแขนเสื้อ ส่วนเสื้อยืดแขนสั้นมีให้เลือกในสีดำและขาว พร้อมกราฟิกที่ใช้เทคนิคการพิมพ์และปักผสมผสาน

แคมเปญนี้ได้ Flea มือเบสวง Red Hot Chili Peppers มาร่วมถ่ายทอดจิตวิญญาณของคอลเลกชัน ผ่านภาพถ่ายที่บ้านในมาลิบูโดย Clara Balzary ลูกสาวของเขา Flea มีชื่อเสียงด้านดนตรีที่สะท้อนทั้งความสว่างและความมืด สไตล์ส่วนตัวที่เป็นเอกลักษณ์ และความคิดสร้างสรรค์แบบไม่มีขีดจำกัด

คอลเลกชัน Levi’s® x Undercover จะวางจำหน่ายทั่วโลกในวันที่ 18 มกราคม ผ่านทาง Levi.co.th, ร้านค้า Levi’s® สาขา ไอคอน สยาม, เซ็นทรัลเวิล์ด, เอ็มสเฟียร์, สยามพารากอน และ เซ็นทรัลชิดลม 

‘ทักษิณ’ วางวิสัยทัศน์ฟื้นเศรษฐกิจไทย เล็งเปิดรับคริปโท - ดึงเงินใต้ดินเข้าระบบ

(14 ม.ค. 68) ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ เผยแผนฟื้นฟูตลาดทุนไทยในงานปาฐกถาพิเศษ "Chat with Tony" เสนอเปิดรับคริปโท-ลดค่าไฟ-พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมแก้ปัญหาเงินใต้ดินและ PM 2.5

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้วิสัยทัศน์การฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยในงานปาฐกถาพิเศษ "Chat with Tony: Bull Rally of Thai Capital Market" โดยชี้ว่าปัญหาหลักของตลาดหุ้นไทยคือขาดความเชื่อมั่น (Trust), ความไว้วางใจ (Confidence) และบรรยากาศการลงทุน (Sentiment) ที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งต้องเร่งแก้ไขและนำกลับคืนมาให้ได้

อดีตนายกฯ เสนอให้ปฏิรูประบบกำกับดูแลตลาดทุนที่ทำงานช้าเกินไป โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. ให้สามารถจัดการปัญหาได้ทันที ไม่ต้องรอ DSI หรืออัยการ แม้ต้องออกเป็น พ.ร.ก. ก็ควรทำ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้มงวดในการตรวจสอบธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน และติดตามพฤติกรรมฝ่ายบริหารอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการใช้เงินผิดประเภทที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาด

ประเด็นสำคัญที่ทักษิณหยิบยกคือเรื่อง High Frequency Trade ที่เขามองว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร เป็นเพียงการทำกำไรเล็กๆ แต่ถี่ ๆ แม้ตลาดหุ้นจะชอบเพราะสร้างวอลุ่ม แต่จำเป็นต้องเข้มงวดเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบ โดยเสนอให้ทุกคนต้องมีความเร็วในการส่งคำสั่งซื้อขายที่ใกล้เคียงกัน

ด้านการพัฒนาตลาดทุน อดีตนายกฯ ชี้ว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเก่า ขาดบริษัทใหม่ๆ ขนาดใหญ่ จึงเสนอให้ BOI ชักชวนบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงให้เข้าตลาดหุ้นไทย รวมถึง Entertainment Complex เพื่อเพิ่มซัพพลาย พร้อมสนับสนุนโครงการซื้อหุ้นคืนสำหรับหุ้นที่มี P/B และ P/E ต่ำ และนำระบบของตลาดหุ้นญี่ปุ่นมาใช้ ให้บริษัทจดทะเบียนต้องทำแผนปรับปรุงราคาหุ้นให้ใกล้เคียงกับมูลค่าทางบัญชี

ทักษิณยังผลักดันให้ ก.ล.ต. เปิดรับนวัตกรรมการเงินดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีและ Stable Coin เนื่องจากเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังเคลื่อนไหวในทิศทางนี้ โดยว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศจะชำระหนี้ด้วยบิตคอยน์ รัฐบาลไทยเองก็เตรียมทำ sandbox ที่ภูเก็ต เริ่มจากการรับบิตคอยน์ในการซื้อสินค้าและบริการ โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและตัวกลางชัดเจน เพราะมองว่าผู้ถือบิตคอยน์มีกำลังซื้อสูงและมีแนวโน้มใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ ก.ล.ต. กำลังดำเนินการ โดยปัจจุบันไทยซื้อขายที่ 7 ดอลลาร์/ตัน เทียบกับสิงคโปร์ 14 ดอลลาร์ และยุโรป 35 ดอลลาร์ การมีศูนย์กลางในไทยจะช่วยให้ได้ราคาดีขึ้นและได้ประโยชน์จากการส่งออก

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อดีตนายกฯ เน้นการลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์และเอไอ โดยเปรียบเทียบตามแนวคิดของ UAE ที่มองดาต้าเซ็นเตอร์เป็นเหมือนน้ำมันดิบ และเอไอเป็นน้ำมันสำเร็จรูป เผยว่าการสร้างเอไอฮับขนาด 1 กิ๊กกะวัตต์ ต้องใช้เงินลงทุนถึง 1.6 ล้านล้านบาท 

เรื่องค่าไฟฟ้า ทักษิณยืนยันว่าสามารถลดลงเหลือ 3.70 บาท/หน่วยได้ ผ่านการ "รีดไขมัน" หลายส่วน เช่น การจำหน่าย loss ของการไฟฟ้า 3 แห่ง การยกเลิกไฟฟ้าฟรีสำหรับองค์กรท้องถิ่น การลดค่าผ่านท่อของ ปตท. และการปรับลดเงินนำส่งรัฐ โดยชี้ว่าปัจจุบันค่าไฟจากโซลาร์ลงมาถึง 1.80-2 บาท การลดค่าไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

อดีตนายกฯ ยังแสดงความกังวลต่อผลกระทบของรถ EV จีนที่เข้ามาตีตลาดไทย ซึ่งอาจกระทบระบบนิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิม รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม มองว่ามีโอกาสดึงการลงทุนจากทั้งจีนและสหรัฐที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น โดยต้องกำหนดเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบในประเทศให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือการแก้ปัญหา "เงินใต้ดิน" ที่สะสมมา 10 ปี ทักษิณเสนอให้อนุญาตนำเงินเข้าระบบธนาคารโดยไม่ต้องผ่าน KYC แต่ต้องเสียภาษี โดยหากพบภายหลังว่าเป็นเงินผิดกฎหมายก็จะถูกดำเนินคดี เชื่อว่าจะช่วยนำเงินกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น

ท้ายที่สุด อดีตนายกฯ เรียกร้องความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาพัฒน์ และ ธปท. ที่ปัจจุบัน "ไม่ยอมคุยกัน" พร้อมตั้งเป้าผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต 4% ในปีนี้ และ 5% ในปีหน้า เทียบกับมาเลเซียที่โต 5.6% ขณะที่ไทยโตเพียง 2-3% ปิดท้ายด้วยมุกว่า "ถ้าพรุ่งนี้หุ้นไม่ขึ้นผมจะไปอยู่ไหนดี"

คำถามสำคัญที่ต้องติดตามคือ: นโยบายและมาตรการที่นำเสนอเหล่านี้จะสามารถฟื้นความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุนในตลาดทุนไทยได้จริงหรือไม่? และการผสานนวัตกรรมการเงินยุคใหม่เข้ากับระบบเดิมจะทำได้ราบรื่นเพียงใด?

‘อินฟินีออน’ ยกระดับไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ลุยตั้งโรงงานในสมุทรปราการ คาดเปิดเดินเครื่องได้ต้นปี 69

(14 ม.ค. 68) "บีโอไอ" ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงาน "อินฟินีออน" ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เบอร์ 1 เยอรมนี สำหรับอีวี ดาต้าเซ็นเตอร์ แบตเตอรี่ อุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เป็นแห่งที่ 3 ในโลก คาดเปิดต้นปี 2569 พร้อมตั้งศูนย์วิจัยผนึกบุคลากร ยกระดับไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Advanced Packaging) ประเภท Power Module ซึ่งเป็นเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้า ที่จังหวัดสมุทรปราการ ของบริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) ในเครือ Infineon Technologies AG

ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี โดยมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของโลก สำหรับผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ให้กำลังไฟในงานอุตสาหกรรม (Power Electronics) อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิต Power Module รายแรกของโลกด้วย

โรงงานผลิต Power Module ของอินฟินีออนในประเทศไทยแห่งนี้ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและพร้อมเปิดดำเนินงานในช่วงต้นปี 2569 โดยเน้นป้อนให้กับกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบกักเก็บพลังงาน และกลุ่มอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเป็นหลัก

นอกจากนี้ บริษัทจะลงทุนสร้าง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์” เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานในโครงการ รวมถึงบริษัทในเครือที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังมีแผนถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยและช่วยยกระดับประเทศไทยสู่ฐานการผลิตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลก

การตัดสินใจลงทุนของบริษัท อินฟินีออนในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเข้าสู่ Supply chain ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลก โดยเฉพาะเป็นการผลิต Advanced Packaging สำหรับผลิตภัณฑ์ Power Module เพื่อรองรับธุรกิจบริหารจัดการพลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไทย เพื่อพัฒนาบุคลากรสาขาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถผลิตชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานโลก

การลงทุนครั้งนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นของบริษัทต่อสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและศักยภาพในการเติบโตของประเทศไทย โดยการที่รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

นายรุ๊ทเกอร์ วิจบูร์ก กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ จากบริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า การก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ของอินฟินีออนในประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายฐานผลิตครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและกระจายความหลากหลายของฐานผลิตรองรับความต้องการของตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในด้านพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการเข้าสู่ยุคดิจิทัล เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในเชิงโครงสร้างที่สำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เราจึงจัดตั้งโรงงาน Back End ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคต สร้างความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของเรา การลงทุนในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มความหลากหลายให้กับฐานผลิตและการบริหารต้นทุน เพื่อสร้างความมั่นใจและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าว่าเราจะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายรุ๊ทเกอร์ กล่าว

ทั้งนี้ นายรุ๊ทเกอร์ วิจบูร์ก และคณะผู้บริหารจาก Infineon Technologies AG ยังได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ 13 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการลงทุนเป็นอย่างดี และได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือในอนาคต ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top