Monday, 28 April 2025
ECONBIZ

‘จิตรเทพ เนื่องจำนงค์’ มองกรณี ทรัมป์ระงับขึ้นภาษีคู่ค้าเว้น ‘จีน’ ชี้ เกมนี้ไม่ใช่แค่การค้า แต่วางหมากหวังกุมอำนาจการเจรจาทั่วโลก

(10 เม.ย.68) นายจิตรเทพ เนื่องจำนงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และอดีตที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์เฟซบุ๊กว่า...

ทรัมป์ระงับการขึ้นภาษีศุลกากรเกือบทุกประเทศ แต่เพิ่มภาษีกับจีนเป็น 125%  โดยประกาศระงับการขึ้นภาษีตอบโต้ที่สูงขึ้นกับคู่ค้าหลายสิบรายเป็นเวลา 90 วัน 

เกมนี้ คือ แยกมิตรและศัตรู ให้ทุกคนกางหน้าไผ่ในมืออย่างชัดเจน 

โดยการหยุดภาษีประเทศพันธมิตร 90 วันเพื่อเปิดโต๊ะเจรจา แต่เล่นอัดพี่จีนเต็มสตีมทันที

ตลาดหุ้นสหรัฐตอบรับแรงมาก S&P500 +8% Nasdaq ปู่ SET บ้านเราก็น่าจะบวกแรงด้วยเช่นกัน

นี่ไม่ใช่แค่การค้า แต่นี่คือ เกมส์การวางหมากเพื่อควบคุมอำนาจการเจรจาทั่วโลก และตอนนี้ Deal ใหญ่ ๆ กับหลายประเทศเริ่มเข้ารูปแล้ว

ทรัมป์เป็น Deal Maker วิธีการทำนโยบายของทรัมป์ คือ จะประกาศไปก่อนเพื่อเจรจา จะทุบโต๊ะเพื่อขอราคาหรือข้อเสนอที่ดีมากที่สุด 

มุมมองนักลงทุน : หุ้นจีน ตอนนี้ยังเสี่ยง  หุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่ลงมาเยอะ มีโอกาส 

หุ้นไทย พื้นฐานดีหลายๆ ตัวน่าสนใจ แต่อาจจะต้องประเมินสถานการณ์ ค่อยๆ แบ่งทยอยซื้อ
This isn’t chaos — it’s strategy.

ไม่ต้องรีบมากครับ  ฝุ่นยังไม่หายตลบ ค่อย ๆ ประเมินตามความเสี่ยงที่รับได้  เพราะไม่รู้พรุ่งนี้พี่ทรัมป์จะงัดกลยุทธ์ไหนมาเล่นอีก  ค่อยประเมินกันไปครับ พี่แกคาดเดายากจริง ๆ 

แต่เชื่อว่า อีกสักพัก คงค่อยๆ ผ่อนคลายสถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีขึ้นครับ
#สวัสดีSET 1000 จุด 

มข. ดันธุรกิจ ‘จิ้งหรีด’ เลี้ยงเป็น เปลี่ยนชีวิต โอกาสทางการตลาดที่มีมูลค่าถึง 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างที่หลายคนทราบดีว่า 'จิ้งหรีด' เป็นแมลงที่ได้รับความสนใจในหลายมิติ เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง จนเกิดกระแสนิยมการบริโภคโปรตีนจากแมลงในทวีปยุโรปและอเมริกา ยกให้เป็นอาหารใหม่ หรือ Novel Food อาหารแห่งอนาคต ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมโปรตีนจากแมลงจะขยายตัว 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดนี้คือ บริษัทอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตนมทางเลือก และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น  

ในด้านเศรษฐกิจไทย จิ้งหรีดสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะในชนบทที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในไทยมีมากกว่า 20,000 ราย และมากกว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่เกษตรกรกลุ่มแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและส่งออกต่างประเทศได้ กลับเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ภาคกลาง และอื่น ๆ

ดร.อนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการผ่านกระบวนการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับทุนสนับสนุนของหน่วยบริการและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยผลจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าตลาดจิ้งหรีดมีมูลค่ารวมถึง 23 ล้านบาท แต่เม็ดเงินเหล่านั้นกลับไปถึงมือกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่เพียง 7 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรต้องซื้ออาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปจากนอกพื้นที่  ดังนั้นในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain) ของการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ สิ่งที่ดำเนินการในส่วนต้นน้ำคือ “การพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด” เพื่อทำให้เกิด “ผู้ผลิตอาหารจิ้งหรีดในพื้นที่” ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบจากอาหารสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่ เพื่อปิดช่องว่าง ลดการพึ่งพิงห่วงโซ่ (Chain) จากนอกพื้นที่ และออกแบบการจัดการธุรกิจที่จะทำให้รายได้กระจายสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างทั่วถึงและเหมาะสม 

ที่ผ่านมาทีมวิจัย ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร 11 กลุ่ม จำนวน 124 คน ได้ทำงานร่วมกันโดยยึดหลักการ “พาทำ และทำกัน” เพราะการเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ใช่เพียงการทำโรงเรือนที่ได้มาตรฐานฟาร์ม GAP (Good Agricultural Practices) แต่ต้องช่วยให้เกษตรกรมีศักยภาพในการ “ผลิตอาหารจิ้งหรีดต้นทุนต่ำโดยใช้ทรัพยากรพื้นถิ่น” โดยการใช้สูตรอาหารสำเร็จรูปสูตรใหม่นี้สามารถลดต้นทุนการผลิตจิ้งหรีดจาก 71.99 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด เหลือเพียง 61.06 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด

แต่ที่สำคัญกว่าการลดต้นทุนก็คือ การทำให้เกษตรกรสามารถ “เลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาดได้” โดยในส่วนนี้เป็นการถอดความรู้ประสบการณ์ เทคนิค และภูมิปัญญาในการเลี้ยงจิ้งหรีดของพี่น้องเกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม เพื่อนำจุดเด่นของแต่ละกลุ่มมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เพื่อสร้างเป็น “องค์ความรู้ร่วม” ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้  พร้อมกันนั้นทีมวิจัยยังเข้าให้ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจ และเป็นทั้งพี่เลี้ยงและโค้ชให้กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มีทักษะในบริหารจัดการเชิงธุรกิจในแบบ Local Enterprise หรือรูปแบบธุรกิจปันกัน วิถีแห่งการเกื้อกูล รวมถึงความพยายามในการสร้างหรือพัฒนา “ผู้รวบรวมในพื้นที่” ที่จะทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญของห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่จะสามารถทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม

ทางด้าน นายภูดิส หาญสวัสดิ์ ตัวแทนผู้ประกอบการจากภูดิศ บั๊กฟาร์ม และวิสาหกิจชุมชนจิ้งหรีดอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หากผู้ผลิตสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตด้านความสะอาด อาหาร และอุณหภูมิได้  ด้วยเทคนิคและวิธีการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ก็จะลดเวลาการผลิตจิ้งหรีดจาก 45 วัน เหลือเพียง 34-36 วันเท่านั้น

ดร.อนุวรรตน์ กล่าวเสริมว่า เดิมทีชาวบ้านไม่ได้มองว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นการทำธุรกิจ แต่มองว่าเป็นวิถีชีวิตที่คล้าย ๆ กับการทำนา เราจึงต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ เสริมมุมมองเรื่องการทำธุรกิจให้เขารู้ว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดก็คือการลงทุนทำธุรกิจ เมื่อได้เงินมาก็ต้องจัดการแบ่งส่วนไว้สำหรับการเลี้ยงรอบต่อไป เพื่อไม่ให้ต้องเป็นหนี้เพิ่ม ดังนั้นเป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้นอกจากต้องการให้เกษตรกรมีศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้คุณภาพแล้ว เขายังต้องสามารถจัดการธุรกิจของตนเองได้ด้วย สามารถวิเคราะห์ทิศทางหรือเป้าหมายต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องของตลาด และศึกษามาตรฐานของผลผลิตจิ้งหรีดที่เข้าเกณฑ์การส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงความสนใจหรือ “คุณค่า” ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในปัจจุบันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ยิ่งขึ้น 

ล่าสุด เกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายความร่วมมือหน่วยธุรกิจในพื้นที่” ที่นอกจากจะสร้างอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางแล้ว ยังรวมถึงช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งเรื่องอาหาร รวมถึงการจัดหาจิ้งหรีดให้ได้ตามออร์เดอร์ที่รับมา ส่วนในระยะต่อไปทีมวิจัยได้ตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับเป็นเครือข่ายธุรกิจกันร่วมกับภาคีเครือข่ายอีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เกิดผลลัพธ์ใน 3 ระดับ โดยมีทั้งกลุ่มที่ “ตั้งไข่ได้” “เติบโตได้” และ “ปล่อยมือได้  ซึ่งในกลุ่มที่ปล่อยมือได้คือเขาสามารถหล่อเลี้ยงตนเอง วางแผนธุรกิจ วางแผนตลาด และยังเป็นผู้รวบรวมสินค้าจากชุมชนไปจำหน่ายได้ด้วย  

นางอรวรรณ วอทอง หนึ่งในนักวิจัยชุมชน และหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับรางวัล “เลิศรัฐ” ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ ในด้านจิ้งหรีดปลดหนี้แก้จน ในประเภทรางวัลดีเด่น เมื่อปี 2567 กล่าวว่า เดิมกลุ่มของเราเลี้ยงจิ้งหรีดขายตามฤดูกาล และขายพ่อค้าคนกลาง แต่ก็โดนกดราคา เพราะการเลี้ยงยังไม่ได้มาตรฐาน จึงตัดสินใจกู้เงินจาก ธกส. โดยได้รับการหนุนเสริมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดทำแผนธุรกิจ มาทำโรงเรือนจิ้งหรีด และเป็นพี่เลี้ยงพาเราเรียนรู้และลงมือทำไปด้วยกัน พัฒนาจนได้มาตรฐานฟาร์ม GAP ปรับกระบวนการเลี้ยง ทำให้เราสามารถผลิตจิ้งหรีดคุณภาพและมีเงินมาชำระหนี้จากการสร้างโรงเรือน จนกระทั่งปลดหนี้ได้ในปีนี้ และสามารถจัดการเงินหมุนเวียนเพื่อการลงทุนต่อไปได้ 

อย่างไรก็ตาม นางอรวรรณ ย้ำว่า แม้โครงการนี้จะหนุนเสริมให้กลุ่มสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดและนวัตกรรมการผลิตที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นได้แล้ว ทั้งยังสามารถวางแผนธุรกิจ บันทึกรายรับ-รายจ่าย และวางแผนการผลิตได้แล้ว แต่ยังมีปัญหาที่กลุ่มของตนและเครือข่ายเผชิญคือ “ราคา” และ “ตลาด” ที่ไม่คงที่  สิ่งที่กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอยากเห็น คือตลาดกลางหรือจุดรวมจิ้งหรีดในตลาดระดับภูมิภาค ที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดได้เดินตามเส้นทางของธุรกิจที่เป็นธรรม โดยไม่ถูกตัดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป 

“การเลี้ยงจิ้งหรีด ไม่มีการแข่งขัน หากเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันได้ หากแบ่งปันกันได้ ทั้งความรู้ นวัตกรรม และตลาด ก็จะเกิดความยั่งยืนในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและผู้ประกอบการที่เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ทั้งตัวเกษตรกร คนตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง ก็สามารถกลับมาเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นทั้งอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมอยู่ในชุมชนได้อย่างมั่นคง ซึ่งสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี ที่ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เป็นจี้งหรีดตัว แต่เราก็มองถึงการก้าวไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการส่งออกอย่างมีมาตรฐานด้วยเช่นกัน

กลุ่มอาจารย์ - นักวิชาการ เศรษฐศาสตร์ มธ. ออกโรงค้าน พรบ.สถานบันเทิงครบวงจร

(8 เม.ย. 68) กลุ่มอาจารย์ นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 30 คนร่วมลงนามออกแถลงการณ์ คัดค้านการออก พรบ.ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ชี้เป้าหมายหลักคือ การเปิดบ่อนกาสิโน

“.... นี่คือความเลวร้าย แค่คิดก็เลวร้าย สร้างอุบายทั้งอกุศลเกิดขึ้น เพื่อชักนำไปสู่สิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าถูกต้อง คนพวกนี้ไม่ควร  ปกครองแผ่นดิน” พระราชวัชรสุทธิวงศ์ (พระอาจารย์อารยวังโส) 29 มีนาคม 2568 

การดำเนินนโยบายจัดตั้งบ่อนกาสิโน โดยรัฐบาลอ้างว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น พิจารณาโดยรอบด้านแล้วเห็นว่า ผลได้ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยไม่อาจหักล้างผลเสียที่จะเกิดกับสังคมในวงกว้างและยาวนานอย่างแน่นอน และจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน ไม่ปลอดภัย

กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จึงจำเป็นต้องคัดค้าน พรบ. ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร  อันมีเป้าหมายหลักคือการเปิดบ่อนกาสิโน และคัดค้าน พรบ.เกี่ยวกับการพนันออนไลน์ที่จ่อคิวตามมา

ปัญหาสังคมต่างๆ ในสังคมไทยที่รุนแรงเรื้อรังขยายตัวสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนมากเกี่ยวโยงบ่มเพาะจากการพนันและการเสี่ยงโชคทุกชนิด เป็นอบายมุขที่คนไทยที่ตั้งใจทำงานต้องรับภาระจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

ปัญหาความยากจน กลุ่มที่หาเช้ากินค่ำ กู้เงินดอกเบี้ยรายวันเพื่อเสี่ยงโชคซื้อหวยใต้ดิน คนกลุ่มนี้จึงมีหนี้อมตะ คนที่รายได้มากขึ้นก็เสี่ยงโชคกับล็อตเตอรี่รัฐบาล ซึ่งปัจจุบันพิมพ์เพิ่มนับล้านใบ  ต่อไปความยากจนจะมากขึ้น เพราะมีแหล่งอบายมุขเพิ่มมาก

ปัญหาทักษะอาชีพตกต่ำไร้คุณภาพ มีเงินเท่าไรจึงหมดไปกับการเสี่ยงโชค ไม่คิดที่จะใช้ เงินเพื่อเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ  เพิ่มพูนรายได้เป็นเงินออมไว้ใช้ในยามชรา

ปัญหาครอบครัวแตกแยก หากผู้ใหญ่ในครอบครัวหมกมุ่นอยู่กับการเสี่ยงโชคการพนันละเลยการดูแลเอาใจใส่  อบรมสั่งสอนลูกหลาน จึงเป็นการทำร้ายเยาวชนของชาติ ทั้งยังเป็นตัวอย่างเลวร้ายแก่บุตรหลานอีกด้วย

ปัญหาอาชญากรรม จะเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันนักโทษล้นคุกก็แก้ปัญหาโดยระบายนักโทษจำนวนหนึ่งออกจากคุกเป็นระยะๆ อาจก่ออาชญกรรมซ้ำซาก จะเกิดนักโทษมือใหม่จี้ปล้นหาเงินไปเสพอบายมุข ซึ่งรวมการพนันต่างๆ ทุกชนิดที่มีพร้อมในเวลานี้ 

ปัญหาความฉ้อฉลของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมการรับสินบนส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับการพนันและการเสี่ยงโชคที่ฝังอยู่ในกมลสันดานของคนไทยจำนวนมาก ความไม่พร้อมในการควบคุมให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ กฎหมายจะทำให้บ่อนกาสิโน และพนันออนไลน์ขยายตัว 

ปัญหาการฟอกเงิน บ่อนกาสิโนเป็นแหล่งฟอกเงินของคนโกง สามารถอ้างว่าทรัพย์สินที่ถือครองอย่างผิดปกติ ได้จากการเสี่ยงโชคในสถานกาสิโน 

ทำลายล้างอนาคตประเทศไทย เมื่อเยาวชนถูกมอมเมาด้วยการพนันและการเสี่ยงโชค นอกเหนือจากยาเสพติดที่ฝังรากอยู่แล้ว สมรรถภาพทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจจึงถูกทำลาย ทำการงานไม่ได้ แถมยังกลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคม 

หากรัฐบาลแพทองธาร ยังดื้อดึงผลักดันให้มีบ่อนกาสิโนพนันออนไลน์ จะถือว่ารัฐบาลนี้มุ่งมั่นทำลายประเทศและสังคมไทย ซึ่งไม่ควรให้เป็นผู้ปกครองประเทศอีกต่อไป

6 เมษายน 2568 

รายนามอาจารย์และนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์

1.    รองศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา นิธังกร
2.    รองศาสตราจารย์ วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน
3.    รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
4.    ศาสตราจารย์ ดร. ปราณี ทินกร
5.    ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน
6.    รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวดี ทองอุไทย
7.    ดร. สาธิต อุทัยศรี
8.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จินตนา เชิญศิริ
9.    อาจารย์ สุพรรณ นพสุวรรณชัย
10.    รองศาสตราจารย์ พรพิมล สันติมณีรัตน์
11.    รองศาสตราจารย์ ชูศรี มณีพฤกษ์
12.    รองศาสตราจารย์ สุขุม อัตวาวุฒิชัย
13.    รองศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
14.    รองศาสตราจารย์ ดร. เพลินพิศ สัตย์สงวน
15.    รองศาสตราจารย์ ดร. ดาว มงคลสมัย
16.    รองศาสตราจารย์ ดร.เยาวเรศ ทับพันธุ์ 
17.    รองศาสตราจารย์ ดร. สมนึก ทับพันธุ์
18.    รองศาสตราจารย์ ดร.ลิลี่ โกศัยยานนท์
19.    รองศาสตราจารย์ ดร. สิริลักษณา คอมันตร์
20.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรียา โตสงวน
21.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จรินทร์ พิพัฒนกุล
22.    รองศาสตราจารย์ ชยันต์ ตันติวัสดาการ
23.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร
24.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประชา คุณธรรมดี
25.    อาจารย์ พงศ์พลิน  ยิ่งชนม์เจริญ
26.    รองศาสตราจารย์ รัชนีวรรณ อุทัยศรี
27.    ศาสตราจารย์ ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์
28.    รองศาสตราจารย์ดร.วรากรณ์่ สามโกเศศ
29.    รองศาสตราจารย์ มณีรัตน์ ภิญโญภูษาฤกษ์
30.    รองศาสตราจารย์ วณี จีระแพทย์

‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ แนะ!! ‘ไทย’ ควรสงวนท่าทีเจรจากับ ‘สหรัฐฯ’ หาทางตั้งรับดีกว่า แล้วค่อยพาดบันได รอโอกาส ตอน ‘ทรัมป์’ ถอย

(7 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ แนะไทยสงวนท่าทีเจรจากับสหรัฐฯ หาทางตั้งรับดีกว่า แล้วค่อยพาดบันได รอโอกาส ตอนทรัมป์ถอย ยันมีกองทุน 3 พันล้านดูแลผู้ส่งออก

การรีบเร่งเจรจาเหมือนประเทศอื่นๆ ไม่ได้ผล เนื่องจากทรัมป์มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกและลดการขาดดุลของสหรัฐฯ โดยไม่สนใจแนวทางเดิมๆ 

ทีมงานไทยจึงประเมินสถานการณ์และเสนอแนวทางเชิงรุก คือ แทนที่จะรีบลดภาษีหรือให้สิ่งตอบแทนทันที ควรมุ่งสร้างพันธมิตรกับภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ โดยเสนอซื้อ วัตถุดิบทางการเกษตรจากสหรัฐฯ มาแปรรูปเป็นอาหารส่งออกทั่วโลก ควบคู่ไปกับการเตรียม "บันได" หรือข้อเสนอผ่อนปรนอื่นๆ ไว้ แต่จะยื่นข้อเสนอเมื่อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณพร้อมเจรจา หรือเมื่อนโยบายของทรัมป์เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง 

การเจรจาควรดำเนินการตามลำดับขั้น เริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ (USTR) ก่อน ถึงระดับรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ ไทยมีมาตรการบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบด้วย

ศุภวุฒิ อธิบายว่าหลายประเทศที่รีบเจรจากับสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทรัมป์ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการค้าโลกและลดการขาดดุลการค้าอย่างจริงจัง แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดอย่างอังกฤษ ก็ยังถูกขึ้นภาษี 

การตัดสินใจของทรัมป์มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้การเจรจาในช่วงแรกเป็นไปได้ยาก 

ทีมยุทธศาสตร์ของไทย นำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์และมี ศุภวุฒิ และ พันศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา ประเมินว่าทรัมป์มีเหตุผล 3 ประการในการขึ้นภาษี คือ 1) มองว่าการขาดดุลคือการถูกเอาเปรียบ 2) ต้องการหารายได้ชดเชยการลดภาษีคนรวย 3) ต้องการดึงการผลิตกลับสหรัฐฯ

ดังนั้น แทนที่จะรีบเจรจาและให้สิ่งตอบแทนโดยเปล่าประโยชน์ ไทยควรใช้ยุทธศาสตร์ "รอจังหวะ" และ "สร้างพันธมิตร" โดยเสนอตัวเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรรายใหญ่จากสหรัฐฯ (เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด) ซึ่งไทยผลิตไม่พออยู่แล้ว นำมาแปรรูปเป็นอาหารส่งออก แนวทางนี้จะช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน

พร้อมกันนี้ ไทยเตรียมมาตรการผ่อนปรนอื่นๆ เช่น การลดภาษีสินค้าบางรายการ หรือการร่วมลงทุน/นำเข้า LNG ไว้เป็น "บันได" ให้สหรัฐฯ ลง 

หากนโยบายภาษีเริ่มส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง (เช่น เงินเฟ้อ หุ้นตก) และสหรัฐฯ พร้อมจะเจรจามากขึ้น การเจรจาควรเริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ (USTR ผ่านกรอบ TIFA) ก่อนเพื่อกรุยทางในรายละเอียด แล้วค่อยให้ระดับรัฐมนตรีตัดสินใจในประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ 

การเดินทางไปสหรัฐฯของคณะทำงานจึงเป็นการไป "พบปะหารือ" สร้างแนวร่วม ไม่ใช่การ "เจรจา" ในทันที

‘เอกนัฏ’ ลงนามขอยื่นถอดถอนสิทธิ BOI 'ซินเคอหยวน' หลังตรวจพบเหล็กของบริษัทฯ ตกมาตรฐานหลายรอบ

(4 เม.ย.68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งหนังสือด่วนยื่นถอดถอนสิทธิประโยชน์การลงทุน BOI ของ 'ซินเคอหยวน' บริษัทสัญชาติจีน จังหวัดระยอง เหตุผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นตกมาตรฐาน หวั่นกระทบความปลอดภัยประชาชนคนไทย หลังมีเหตุตึก สตง. ถล่ม เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงงาน จนต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านมาตรการความปลอดภัยในโรงงานได้เสร็จสิ้น รวมถึงเรื่องมาตรฐานเหล็กเส้นข้ออ้อยของบริษัทที่ตกมาตรฐานการทดสอบโดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยถึง 2 ครั้ง ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และมีหนังสือแจ้งเตือนให้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ตามหนังสือเลขที่ อก0706/12709 ลงวันที่ 27 ธ.ค. 2567 ซึ่งยังไม่สามารถปรับปรุงได้และหนังสือแจ้งเตือนยังมีผลอยู่

ส่วนประเด็นหนังสือแจ้งเตือนเรื่องระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์บกพร่อง ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ที่ปรากฏในข่าวนั้น ทางรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้มีคำสั่งให้ทีมตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้จะไม่กระทบต่อการระงับการประกอบการ การจำหน่าย หรือการยื่นเพิกถอนและประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน 

ส่วนกรณีประเด็นเอกสารของกระทรวงอุตสาหกรรมไม่สมบูรณ์ จนทำให้มีการยกเลิกการประชุมถอนสิทธิการส่งเสริมการลงทุนได้นั้น ข้อเท็จจริงคือในวันนี้ (4 เมษายน2568) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการลงนามการถอดสิทธิประโยชน์การลงทุนของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด เพื่อเสนอเข้าบอร์ด BOI ต่อไป

“กระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันจะปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานวัสดุก่อสร้าง เพราะการรักษาความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” นายพงศ์พลกล่าว

‘สรส.-สสรท.’ 2 สมาพันธ์แรงงาน เข้าพบ ‘รองนายกฯ พีระพันธุ์’ ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด ปตท. หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน

สรส.-สสรท. ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด ปตท. หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน ‘พีระพันธุ์’ ชี้ภาครัฐมีข้อจำกัดในการควบคุมแทรกแซงแม้เห็นความเคลื่อนไหวผิดปกติ แนะผลักดันกฎหมายเพิ่มอำนาจ สคร.ปกป้องประโยชน์ชาติและประชาชน

เมื่อวันที่ (3 เม.ย.68) ที่ผ่านมา นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เปิดเผยว่า สรส.ร่วมกับสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าบุคคลบางรายที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ อาจมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบางรายมีประวัติเกี่ยวข้องกับบริษัทด้านพลังงาน ซึ่งอาจขัดกันแห่งผลประโยชน์

นายมานพระบุว่า ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแต่งตั้งกรรมการเหล่านี้มีความโปร่งใสหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า สรส.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยตั้งคำถามถึงเหตุผลที่รัฐบาลไม่สามารถลดราคาไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซได้ ทั้งที่มีความพยายามจากกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

นายสาวิทย์เปิดเผยว่า จากการหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยอมรับถึงข้อจำกัดตามกฎหมายในปัจจุบัน ที่ทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมหรือแทรกแซงการบริหารจัดการของบริษัทในเครือ ปตท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเห็นความเคลื่อนไหวด้านการโอนทรัพย์สินจากบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูก แต่รัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ นายพีระพันธุ์จึงแนะให้ทั้ง สรส. และ สสรท. ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนได้อย่างแท้จริง

‘ทริสเรทติ้ง’ คงอันดับเครดิต ‘OR’ ระดับ AA+ แนวโน้มคงที่ 3 ปีติด สะท้อนความแข็งแกร่งบริษัทในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีกน้ำมัน

(3 เม.ย. 68) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้รับการคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จากทริสเรทติ้ง (TRIS Rating) สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีกน้ำมันของประเทศ

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR เปิดเผยว่า OR ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรจาก TRIS ที่ระดับ AA+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ต่อเนื่องเป็นปีที 3 ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจ และตอกย้ำความเป็นผู้นำของ OR ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศไทย และเป็นหลักสำคัญในการกระจายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. ควบคู่ไปกับนโยบายบริหารการเงินที่มีความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ

TRIS ให้ความเชื่อมั่นสูงใน OR โดยพิจารณาจากจุดแข็งหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นองค์กรที่เป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งเครือข่ายสถานีบริการและช่องทางกระจายสินค้า รวมไปถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ PTT Station ที่มีสถานีบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งให้ PTT Station เป็นศูนย์กลางในการเติมเต็มทุกความสุขและเติบโตไปพร้อมกับชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและการขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ทำให้ OR สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดค้าปลีกน้ำมันและตลาดปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่เอาไว้ได้

ในช่วงที่ผ่านมา OR ได้เพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการ ขยายพื้นที่ และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่บริษัท การจัดอันดับของ TRIS ครั้งนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจ กระแสเงินสด และสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของ OR แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และสภาวะการแข่งขันระหว่างผู้ค้าปลีกน้ำมันที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ OR ยังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบริหารสถานะทางการเงินให้มีความเข้มแข็งและพร้อมรับมือกับความท้าทาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน

'สุวรรณโอสถ’ รีแบรนด์สู่ 'เครื่องบินลูกโลก' พร้อมส่งไม้ต่อทายาทรุ่นที่ 3 นั่งแท่นบริหารเต็มตัว

‘สุวรรณโอสถ โค้ว เตีย หมง’  เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เครื่องบินลูกโลก’ พร้อมส่งไม้ต่อทายาทรุ่น 3 บริหารธุรกิจเต็มตัว

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 68 บริษัท สุวรรณโอสถ (โค้วเตียหมง) ผู้ผลิตยาหอมเครื่องบินลูกโลก ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เครื่องบินลูกโลก จำกัด ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อผลิตภัณฑ์ของบริษัท 

พร้อมทั้งได้มีการส่งต่อการบริหารงานทั้งหมดให้กับ นายประวิทย์ สุวรรณสัญญา รองประธานบริษัท ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ขึ้นมาเป็นผู้บริหารต่อจากรุ่นพ่อ ซึ่งก็คือนายอนันต์ สุวรรณสัญญา ที่แม้จะดำรงตำแหน่งประธานบริษัท แต่ก็จะวางมือจากการบริหารมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบุตรชายแทน

นายประวิทย์ กล่าวว่า ตนจะมุ่งมั่นสานธุรกิจครอบครัว และมั่นใจว่าจะนำพาผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปอยู่ในใจคนทุกรุ่นทุกวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่  โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ 

โดยแนวทางการบริหารธุรกิจในยุคของนายประวิทย์นั้น ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในวัยทำงานให้มากขึ้น จากเดิมเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้สูงวัย ขณะเดียวกัน ยังจะปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดเข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การตลาดมีการแข่งขันกันสูง พร้อมทั้งเตรียมปล่อยตัวสินค้าใหม่ในยุค 3 มาวางจำหน่ายเร็ว ๆ นี้

‘พีระพันธุ์’ ระบุ คนไทยมีภาระมาก รัฐควรแบกรับส่วนต่างค่าไฟแทน ชี้ กรอบเป้าหมายไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย

คนไทยมีภาระมาก รัฐควรแบกรับส่วนต่างค่าไฟแทน ชี้ กรอบเป้าหมายไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย

‘ดร.วีระศักดิ์’ ชี้ ไทยต้องเร่งเจรจา - ซื้อสินค้าสหรัฐฯมากขึ้น พร้อมปรับทิศทางการค้า มุ่งตลาดจีน – อินเดีย - อาเซียน

(3 เม.ย. 68) ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยแพร่บทวิเคราะห์นโยบาย “Reciprocal Tariffs” และ “สงครามภาษี” ของทรัมป์ ในบริบทเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ว่านโยบาย “Reciprocal Tariffs” เสนอให้สหรัฐอเมริกาเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ “เทียบเท่า” หรือ “ลดหย่อนจากอัตราที่ประเทศต่างๆ เก็บจากสินค้าอเมริกัน” 
ตัวอย่าง :
•ประเทศไทย
•เรียกเก็บภาษีจากสินค้าอเมริกัน: 72%
•ทรัมป์เสนอเก็บภาษีจากสินค้าไทย: 36%

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
1. การกลับมาของแนวคิดกีดกันทางการค้า (Protectionism)
•เป็นการลดบทบาทของ WTO และแนวทางการค้าเสรี
•จุดชนวนให้เกิด “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน, สหภาพยุโรป และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

2. ห่วงโซ่อุปทานโลกได้รับผลกระทบ
•อุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดอเมริกา เช่น เวียดนาม ไทย เกาหลีใต้ จะได้รับผลกระทบจากยอดส่งออกที่ลดลง
•ทำให้บริษัทข้ามชาติต้องทบทวนการตั้งฐานการผลิต

3. เงินเฟ้อและราคาสินค้าสูงขึ้น
•ผู้บริโภคในสหรัฐฯ และทั่วโลกจะต้องแบกรับต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น
•อาจนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

4. การปรับทิศทางภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ
•ประเทศต่างๆ อาจลดการพึ่งพาการค้าอเมริกา และหันไปหาตลาดจีน อินเดีย หรือในภูมิภาคอาเซียนผ่าน RCEP

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

1. ภาคการส่งออกเสี่ยงอย่างมาก
•หากถูกเก็บภาษี 36% จากสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจกระทบสินค้าไทยหลายหมวด เช่น:
•ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
•ชิ้นส่วนยานยนต์
•ผลไม้ อาหารแปรรูป
•กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าไทยอาจเสียรายได้จากการส่งออก 7–8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. จีดีพีลดลง
•การส่งออกไทยคิดเป็นเกือบ 60% ของจีดีพี
•หากรายได้ส่งออกหายไป อาจทำให้จีดีพีลดลงถึง 1.2 จุดเปอร์เซ็นต์ จากที่คาดการณ์เดิมที่ 2.5%

3. มาตรการรับมือของไทย
•พยายาม นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำมันดิบ
•พิจารณา ลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ บางรายการ
•อาจต่อรองให้ ซื้อหรือเช่าเครื่องบินจากบริษัทอเมริกัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์

4. ผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติ
•นักลงทุนต่างชาติอาจหลีกเลี่ยงไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ
•ประเทศที่ถูกเก็บภาษีน้อยกว่า เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือชิลี อาจได้เปรียบมากขึ้น

ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์
1.ใช้การทูตเชิงรุก เจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
2.เร่งกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก ไปยังประเทศในอาเซียน จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง
3.ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ให้มีนวัตกรรม เทคโนโลยีสูง เพื่อหลุดจากการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์
4.ส่งเสริมการค้าในภูมิภาค ผ่านข้อตกลง RCEP และกรอบความร่วมมืออื่นๆ

“ภาษี 36% ต่อสินค้านำเข้าจากไทย” จะรุนแรงและมีผลลุกลามในหลายระดับ โดยเฉพาะในกลุ่ม ร้านอาหารไทย และ ซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชียในสหรัฐฯ ซึ่งเป็น “แนวหน้า” ของวัฒนธรรมการบริโภคเอเชียในอเมริกา

ต่อไปนี้คือ การวิเคราะห์เจาะลึกในประเด็นที่ยกขึ้นมา:

1. ภาษี 36% ของสินค้าไทย “แรงกว่า” จีน
•จีน 34% แต่ไทย 36% สะท้อนว่าทรัมป์มองไทยเป็นประเทศที่ได้เปรียบการค้ากับสหรัฐมากกว่าจีนในสัดส่วนบางหมวด ซึ่ง น่าตกใจ และอาจมีผลกระทบ “แรงเฉียบพลัน” เพราะจีนมีอำนาจต่อรองและโครงข่ายส่งออกหลากหลายกว่า
•ไทยอาจไม่มีระบบ “โซ่อุปทานภายในประเทศ” ที่ใหญ่พอจะดูดซับผลกระทบได้ทัน เช่น จีนหรืออินเดีย

2. ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ กำลังเผชิญวิกฤติ 3 ชั้น
•ต้นทุนสินค้าเพิ่มทันที 30–40%: น้ำปลา ซอส น้ำพริก มะพร้าว เครื่องแกง เครื่องปรุงสำเร็จ—สินค้าหลักที่ร้านอาหารไทยพึ่งพาเกือบ 100%
•ไม่สามารถปรับราคาขายได้ทัน: เพราะลูกค้าเป็นชาวอเมริกันหรือคนเอเชียหลากหลายเชื้อชาติที่มีความไวต่อราคามาก
•ความเสี่ยงสูญเสียลูกค้า + ปิดกิจการ: ร้านอาหารไทยขนาดเล็กและกลางจะมี “margin” ต่ำอยู่แล้ว ภาษีนี้อาจทำให้หลายร้านถึงขั้นต้องลดพนักงานหรือปิดตัว

3. วิกฤติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย (Asian Markets)
•ซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย เช่น 99 Ranch, H Mart, Mitsuwa, หรือร้าน Local อาจเจอปรากฏการณ์ “ตุนของ” ทันทีในคืนนี้หรือสัปดาห์นี้
•สินค้าไทย เช่น น้ำปลา ตราเด็กสมบูรณ์ / น้ำพริกเผา / ข้าวหอมมะลิ / น้ำกะทิ / มะม่วงดอง ฯลฯ จะมีราคาสูงขึ้นทันที 30–40% เมื่อสต๊อกเก่าหมด
•จะกระทบ ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ หลายสิบล้านคน โดยเฉพาะ คนไทย เวียดนาม ลาว เขมร และชาวจีนบางกลุ่มที่ใช้ของไทยเป็นประจำ

4. ผลกระทบทางวัฒนธรรมและ Soft Power ของไทย
•ร้านอาหารไทยคือ Soft Power ที่สำคัญที่สุดของไทยในต่างประเทศ มีบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ เชื่อมโยงวัฒนธรรม และกระตุ้นการท่องเที่ยว
•ภาษีนี้ ทำลายเส้นเลือดฝอยของ Soft Power ไทย อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระดับนี้

ข้อเสนอเชิงนโยบายเร่งด่วน
1.รัฐบาลไทยควรเจรจาระดับทวิภาคีเร่งด่วน โดยเน้นความเสียหายทางวัฒนธรรมและผลกระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐ
2.ใช้ TTM (Thai Trade Missions) ในสหรัฐฯ ร่วมกับสถานทูต ผลักดันให้ แยกสินค้าประเภทอาหาร Soft Power ออกจากบัญชีภาษี
3.สนับสนุนระบบ e-Export + ลดต้นทุนส่งออก เช่น ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ B2B, B2C เพื่อให้ร้านค้าขนาดเล็กสามารถเข้าถึงตลาดตรงได้
4.ให้ BOI หรือกรมส่งเสริมการค้าออกมาตรการสนับสนุนต้นทุน SMEs ไทยในต่างประเทศ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

นี่อาจเป็นจังหวะเหมาะที่ไทยควรพิจารณาเปลี่ยนแหล่งนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากรอบๆบ้านที่ยังเผา
ไปสู่การนำเข้าจากอเมริกาเหนือ 

ได้ใช้เป็นเเรงต่อรองด้านนโยบายการค้า ได้ลดปัญหาฝุ่นและการเผา ลดการเสียพื้นที่ป่าต้นน้ำ และได้ความมั่นคงอีกบางอย่างกลับมา มีเวลาไปลงแรงลงเวลาและลงทุนในการเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวในภาคเกษตรมากขึ้น

‘วินท์ สุธีรชัย’ โยนคำถามถึงสังคมไทย – อุตสาหกรรมก่อสร้าง ถึงเวลาหรือยังที่ต้องแบนเหล็กเส้น T ที่ผลิตจากเตาหลอมแบบเก่า

(2 เม.ย. 68) นายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “เหล็กแข็งนอกอ่อนใน” Ep. 2: เหล็กจีนตีเหล็กไทยตาย

ช่วงปี 2560 ประเทศจีนประกาศไม่ให้ใช้เหล็กเส้น T หรือ Temp Core จากโรงเหล็กที่ใช้เตาหลอมเศษเหล็ก Induction Furnace (IF) โดยให้เหตุผลว่าเตาหลอมเหล็กประเภทนี้มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและน้ำเหล็กที่ผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานของประเทศจีน

ช่วงปี 2560-2561 จึงเป็นช่วงที่โรงงานเหล็กในจีนย้ายเครื่องจักรที่ใช้อยู่แล้วในประเทศจีนมาติดตั้งในประเทศในแถบอาเซียนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ ประเทศไทย ในช่วงเวลานั้นโรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้เตาหลอมเศษเหล็ก Electric Arc Furnace (EAF) ที่ว่ากันว่ารักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าและเนื้อเหล็กสะอาดกว่า

เหล็กเส้น T จากเตา IF ที่ทุนจีนมาประกอบการในไทยเริ่มตีตลาดในประเทศไทยได้อย่างมากมายมหาศาล เพราะราคาถูกกว่าเหล็กเส้น Non-T ที่รีดด้วยเตา EAF จนปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่ในไทยใช้เหล็กเส้น T เป็นหลัก

แต่หากจะบอกว่าเหล็กเส้น T ไม่สามารถใช้ในประเทศไทยได้เลยก็ดูจะเป็นการกล่าวร้ายกันเกินไป เนื่องจากประเทศไทยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพมีดินที่ค่อนข้างนิ่มและไม่ค่อยเกิดแผ่นดินไหวเหมือนในต่างประเทศ ดังนั้นเวลาเกิดเหตุแผ่นดินไหวอาคารที่มีความสูงไม่มาก เช่น อาคาร 1-3 ชั้น ใช้เหล็กเส้น T ก็ไม่มีผลกระทบอะไร

แต่เราต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้:
ประเทศไทยควรจะแบนเหล็กเส้น T จากเตา IF เหมือนประเทศจีนหรือไม่? 
ถ้าเราแบนเหล็กเส้น T อาคารขนาดเล็กแพงขึ้นค่าครองชีพคนไทยแพงขึ้น คุ้มหรือไม่?
หากไม่แบน เราจะคุมไม่ให้ใช้เหล็กชนิดนี้ไม่ให้ใช้ผิดประเภทอีกได้อย่างไร?

ผมว่า คนๆเดียวคงไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่ควรจะมีการตั้งผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ว่าประเทศไทยเราควรจะเดินไปในทิศทางไหน เพราะความเสี่ยงแผ่นดินไหวที่ในอดีตที่ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้… ได้เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต… ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาหาคำตอบเรื่องนี้ร่วมกัน

‘วินท์ สุธีรชัย’ ชี้ “เหล็กแข็งนอกอ่อนใน” ไม่เหมาะใช้สร้างตึกสูง เหตุเพราะไม่อาจรับมือแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

(1 เม.ย. 68) นายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “เหล็กแข็งนอกอ่อนใน” -> ทำความรู้จักกับ เหล็กเส้นข้ออ้อย “T” หรือ Temp Core ที่อยู่ในตึก สตง. ที่ถล่มในเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา

เหล็กเส้นข้ออ้อยที่ใช้ในไทย ปัจจุบันที่มีให้ประชาชนเลือกใช้ มีแบบ T และ Non-T

เหล็กเส้น Non-T เป็นวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม คือ การหลอมเศษเหล็กให้เป็น Billet และรีดด้วยความร้อน 1,200+ องศาเซลเซียสให้เป็นรูปทรงเหล็กเส้นข้ออ้อย สุดท้ายจึงปล่อยเย็นตามธรรมชาติ ราคาแพงกว่าโดยรวม

เหล็กเส้น T หรือ Temp Core เข้ามาในประเทศไทย ปี 2561 โดยผู้ประกอบการจีนนำเครื่องจักรมาลงทุนในไทย ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการฉีดน้ำหล่อเย็นเพื่อลดอุณหภูมิเหล็กเส้นจากที่ร้อนๆให้เย็นด้วยความรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันนี้ทำให้ “เปลือก” ของเหล็กเส้นแข็งขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถ “ลดต้นทุนวัตถุดิบ” ได้โดยการลดคุณภาพเศษเหล็กที่นำมาหลอม และไปเพิ่มความแข็งตอนปลายทางได้ เหล็กเส้น T จึงมีราคาถูกกว่าโดยรวม

ด้วยราคาที่ถูกกว่าของเหล็กเส้น T ทำให้เหล็กเส้น T เป็นที่นิยมของตลาดโดยรวมในประเทศไทยมากกว่าเหล็กเส้น Non-T ถึง 4-5 เท่า

สิ่งที่น่าสนใจคือ กรมทางหลวง ไม่ยอมรับเหล็กเส้น T โดยให้เหตุผลว่าถนนและสะพานที่มีรถขับผ่านเยอะจะเกิด “ความล้า” (Fatigue) ซึ่งทำให้โครงสร้างขยับตัวจากการสั่นอย่างต่อเนื่องคล้ายๆเหตุการณ์แผ่นดินไหว และจะทำให้เหล็กเส้น T ซึ่งไม่มีความแข็งเท่ากันทั้งเส้นแตกหักได้ง่าย

ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไทยอีกในอนาคตซึ่งทำให้เกิด “ความล้า” ในเหล็กคล้ายๆถนนและสะพานที่มีรถขับผ่าน อาคารสูงๆที่ใช้เหล็กเส้น T จะมีความเสี่ยงอีกหรือไม่???

ผมมองว่าการใช้เหล็กเส้น T ที่ “แข็งนอกอ่อนใน” ไม่เหมาะกับการสร้างตึกสูงในไทย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวแล้ว

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ควรจะเป็นบทเรียนให้ผู้ออกกฎหมายและวิศวกรในไทยคำนึงถึงการสร้างอาคารโดยการใช้เหล็กที่สามารถรับมือกับแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต

‘พีระพันธุ์’ สั่งตรวจปั๊มใกล้ตึก สตง. ถล่ม เตรียมความพร้อมบริการประชาชนโดยไม่สะดุด

จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับผลกระทบแรงสั่นไหวในหลายพื้นที่ของประเทศรวมถึงกรุงเทพมหานคร จนทำให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างเกิดเหตุถล่ม บริเวณถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

(31 มี.ค. 68) เวลา 10.00 น. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และเจ้าหน้าที่กรมธุรกิจพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จากกรณีเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น จำนวน 2 แห่ง ที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ในเขตจตุจักร ประกอบด้วย 

1. สถานีบริการน้ำมันบางจาก และสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) ถนนกำแพงเพชร 2 
2. สถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ถนนกำแพงเพชร 2 (ด้านหลังนิคมการรถไฟ กม.11)

ทั้งนี้ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ระบุว่าจากผลการตรวจสอบความปลอดภัยของระบบ ถัง ท่อ และอุปกรณ์ภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว ไม่ได้รับความเสียหายจากกรณีเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นและสามารถเปิดให้บริการเป็นปกติ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้กรมธุรกิจพลังงานประสานกับพลังงานจังหวัดทั่วประเทศให้มีการกำหนดมาตรการสุ่มตรวจสอบสถานีบริการตามมาตรฐานสากลของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ เพื่อสร้างความปลอดภัยและความพร้อมในการให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงแก่ประชาชนผู้เข้ามารับบริการ

นอกจากนี้ นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ยังได้เน้นย้ำว่ากรมธุรกิจพลังงาน ได้ให้ความสำคัญกับการติดตามตรวจสอบด้านความปลอดภัยของกิจการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีต่อกิจการพลังงานและประชาชน โดยปลัดกระทรวงพลังงานก็ได้สั่งการให้กำกับดูแลกิจการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นระบบท่อ คลัง สถานีบริการ โดยปัจจุบันยังไม่พบรายงานผลกระทบใดๆ ที่มีนัยสำคัญอันจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อประชาชน โดยได้ประสานติดตามสำนักงานพลังงานจังหวัดในการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีบริการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทั่วประเทศในด้านความปลอดภัยของกิจการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป 

‘ปตท.’ ยืนยัน!! แผ่นดินไหวเมียนมา ไม่กระทบพลังงานไทย ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งระบบแล้ว ยังเดินเครื่องได้ตามปกติ

(29 มี.ค. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ยืนยันเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กลุ่ม ปตท. มั่นใจสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ

กลุ่ม ปตท. ได้ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด ตั้งแต่แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ ระบบรับส่งก๊าซธรรมชาติในทุกพื้นที่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า คลังน้ำมันและคลังปิโตรเลียมทั่วประเทศ ตลอดจนสถานีบริการน้ำมันและสถานีบริการ NGV โดยได้รับยืนยันว่าสามารถเดินเครื่องดำเนินงานและให้บริการได้ตามปกติ และไม่ได้รับความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและส่งจ่ายพลังงาน

ทั้งนี้ ปตท. ให้ความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยง มีแผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความเสถียรของระบบพลังงานของประเทศ ปตท. จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป

บีโอไอ บุกแดนภารตะ ดึงลงทุนการแพทย์ – อีวี – เซมิคอนดักเตอร์ หลายบริษัทสนใจปักฐานในไทยรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

บีโอไอเผยผลการเยือนอินเดีย รุกดึงการลงทุน 3 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เปิดโต๊ะเจรจากลุ่มอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์ชั้นนำแดนภารตะ เสริมแกร่ง 'เมดิคัล ฮับ' ของภูมิภาค พร้อมเจรจา TATA Motor ดึงลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขณะที่ผู้ให้บริการออกแบบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงสนใจตั้งฐานในไทยรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการนำคณะบีโอไอเยือนเมืองไฮเดอราบัด และเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 24 – 27 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อพบหารือและเจรจาแผนการลงทุนเป็นรายบริษัทกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่อินเดียในอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์ รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวม 15 บริษัท โดยบีโอไอได้นำเสนอศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในฐานะแหล่งลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 3 กลุ่มหลัก ซึ่งบริษัทอินเดียมีความเชี่ยวชาญ และเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก โดยบริษัทเหล่านี้มีความสนใจขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทย

- กลุ่มอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์  บีโอไอได้จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการอินเดียที่อยู่ในเขต Medical Device Park เพื่อนำเสนอข้อมูลการลงทุนและมาตรการสนับสนุนด้าน Medical Hub นอกจากนี้ ยังได้หารือรายบริษัท เช่น บริษัท Sahajanand Medical Technologies (SMT) ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์สำหรับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอันดับ 1 ของอินเดีย มีแผนลงทุนในไทยเพื่อผลิตลิ้นหัวใจเทียมและอุปกรณ์ขดลวดถ่าง (Stent) สำหรับการรักษาหลอดเลือดหัวใจและการทำบอลลูน และมีแผนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทย  บริษัท MSN Laboratories ผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลก ปัจจุบันมีฐานการผลิตและวิจัยในหลายภูมิภาค ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรปและเอเชีย โดยมีแผนลงทุนทำวิจัยในไทย และขยายตลาดเข้าสู่อาเซียน  บริษัท ACG Capsules ผู้ผลิตแคปซูล ยาเม็ด และเครื่องจักรบรรจุยารายใหญ่ของโลก ได้ลงทุนสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท เพื่อผลิตแคปซูลจากเจลาตินและพืชด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีแผนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทยด้วย และบริษัท Natural Remedies ผู้ผลิตอาหารเสริมจากสมุนไพรสำหรับปศุสัตว์อันดับ 1 ของอินเดีย และอันดับ 3 ของโลก มีแผนลงทุนทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทย และศูนย์วิจัยของบริษัทผลิตเนื้อสัตว์ชั้นนำ เช่น ซีพี, เบทาโกร และสหฟาร์ม เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารสัตว์  

- กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ คณะบีโอไอได้หารือกับบริษัท TATA Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอินเดีย มีแผนรุกขยายธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (รถบรรทุก และรถบัส) ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา โดยเพิ่งมีการดึงผู้บริหารชาวอินเดียจากค่ายรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ให้ไปคุมทัพด้านการขยายธุรกิจรถยนต์นั่งของกลุ่ม TATA Motor ในต่างประเทศด้วย

- กลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คณะบีโอไอได้หารือกับนายกสมาคมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดีย (India Electronics and Semiconductor Association: IESA) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 400 บริษัท โดยได้นำเสนอนโยบายรัฐบาลไทยและการจัดตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ แผนพัฒนาบุคลากร และความพร้อมของระบบนิเวศ โดยบีโอไอจะจับมือสมาคมฯ จัดกิจกรรมดึงดูดการลงทุนร่วมกันที่เมืองบังกาลอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้หารือแผนลงทุนของ บริษัท Tessolve Semiconductor ซึ่งทำตั้งแต่การออกแบบชิป (IC Design) การทดสอบชิป การออกแบบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และการให้บริการอบรมด้านวิศวกรรมแก่บริษัทผลิตชิปชั้นนำของโลก โดยภายในปีนี้ บริษัทมีแผนลงทุนจัดตั้งศูนย์ทดสอบชิปและให้บริการทางวิศวกรรมแก่บริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ในไทยด้วย

“อินเดียเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดของโลก และเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหลายสาขา เช่น ยาและอุปกรณ์การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และเคมีภัณฑ์ ขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่นักลงทุนอินเดียกำลังขยายการลงทุนในต่างประเทศ ภายใต้นโยบาย Act East Policy ของรัฐบาลอินเดีย ที่มุ่งขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียน การเยือนอินเดียครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อทำให้นักลงทุนอินเดียมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทยในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และพิจารณาเลือกไทยเป็นฐานการลงทุนหลักในอาเซียน ทั้งด้านการผลิต การวิจัยและพัฒนา ศูนย์โลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมถึงสร้างความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนอินเดียจำนวน 161 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 13,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยา อุปกรณ์การแพทย์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องประดับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top