Wednesday, 2 April 2025
ECONBIZ

‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด’ ชี้ ซาอุดีอาระเบีย สุดเนื้อหอม ที่แม้แต่พญาอินทรี - พญาหมี ยังมิอาจมองข้าม

(19 ก.พ. 68) นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ในวันที่ขายของในไทยยาก

ไปจีนหรืออื่นๆ ก็โดนกดราคาจากการแข่งขันที่สูง ไปยุโรปก็โดนกีดกันการค้า ถามหาเอกสารเต็มไปหมด ถนนทุกสายจึงมุ่งไปยังตะวันออกกลาง

ผมนั่งเขียนเรื่องนี้ระหว่างการรอเครื่องในยามเช้าตรู่ ในช่วงเวลาที่ทีมงานผมอยู่ระหว่างการทำตลาดในงาน Gulf foods ที่ Dubai ทำไมต้องดูไบ ดูดอกได้มั้ย ก็เพราะดูไบที่อยู่ใน UAE คือนครรัฐที่เปิดอิสระให้ต่างชาติในการค้าขายในตะวันออกกลางและเป็นเสมือน gateway ในการทำตลาดใน Gulf 6 ประเทศ ผมเคยเขียนไว้ว่า Filipino หรือปินอยด์คือชาติที่อยู่ในดูไบมากสุดกว่าล้านคน ตลาดสินค้าสำหรับปินอยด์จึงซ่อนอยู่ที่นั่น

ดูไบใหญ่เกินไป เกินหน้าเกินตาพี่ใหญ่ซาอุดี วันนี้จึงเกิด Vision 2030 ขึ้น 14 โครงการใหญ่ที่กำลังเดินหน้าซ้ายจรดขวา ตะวันตกยันตะวันออก จึงมีมูลค่ามหาศาล นครริยาดห์จึงเนื้อหอมให้ใครต่อใครเข้าไป ไทยเราเทรดเป็นเบอร์ 1 มูลค่า 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เงินไปตกอยู่รายใหญ่หมด ไม่ใช่ปลาใหญ่เก่ง แต่ปลาใหญ่จมูกไว และทำในสิ่งที่ปลาเล็กทำไม่ได้นะครับ..ตลาดที่นู่นเปิดทุก sector หากไม่สนใจ ไทยเราเสียตำแหน่งในสามปีนี้แน่นอน วันนี้แขกซาอุติด Series เกาหลี กินหมี่ Budok กันสนุก จีนขนคนไปลงอีก 80000 คน ไม่ใช่สแกมเมอร์นะ.. ท่านทราบมั้ยว่าวันนี้คนไทยไปที่นั่นกว่า 1 แสนคนแล้ว...

มีอะไรอีกเยอะสำหรับซาอุดี ไม่ใชแค่ริยาดห์ เจดดาห์ มะกะห์ แต่ที่นั่นคืออนาคตจริงๆ โดยเฉพาะเกษตรไทย
ข้าวเหนียวมะม่วงจานละ 700 ฮะ ท่านผู้ชม ปี 2030 ซาอุจะโตแบบเท่าตัว โครงการ SEVEN หรือ Saudi Entertainment Venture กำลังขึ้น คิดดูเรามีอะไรไปแข่ง ...

เพิ่งได้ยินเสียงสายค้าปลีกไทยว่าเพิ่งลงนามขยายสองสาขาที่นั่นเมื่อสองสัปดาห์ก่อน 
คิดดู ซาอุเนื้อหอมแค่ไหน 
ทำไมพญาอินทรี ไปพบพญาหมีที่นั่นก็ลองคิดดู โลกเปลี่ยนอย่างไว..

อโกด้าเผยกระแส 'The White Lotus' ดันเกาะสมุยขึ้นแท่นปลายทางสุดฮอต กระตุ้นยอดค้นหาที่พักพุ่งแรง นักท่องเที่ยวอเมริกันสนใจเพิ่ม 65%

(19 ก.พ. 68) แพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ อโกด้า (Agoda) เปิดเผยว่าเกาะสมุยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากซีรีส์ดังระดับโลก The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งมีการถ่ายทำในประเทศไทย เริ่มออกอากาศทาง HBO โดยพบว่ายอดค้นหาที่พักในเกาะสมุยเพิ่มขึ้น 12% ขณะที่ความสนใจจากนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ พุ่งขึ้นถึง 65%

ปิแอร์ ฮอนน์ ผู้อำนวยการอโกด้าประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าซีรีส์ The White Lotus เคยส่งผลให้การท่องเที่ยวในฮาวายและซิซิลีเติบโตอย่างมหาศาลจากสองซีซั่นที่ผ่านมา และในซีซั่น 3 ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ถ่ายทำหลัก โดยมีโลเคชันสำคัญอย่างกรุงเทพฯ เกาะสมุย เกาะพะงัน และภูเก็ต ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมทั่วโลก

หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นกระแสคือการร่วมแสดงของศิลปินชื่อดัง ลลิษา มโนบาล หรือ 'ลิซ่า BLACKPINK' รวมถึงนักแสดงฮอลลีวูดอย่าง แพทริก ชวาร์เซเน็กเกอร์ ซึ่งช่วยเพิ่มความสนใจจากทั้งแฟนซีรีส์และแฟนคลับของศิลปินระดับโลก

ข้อมูลจากอโกด้าระบุว่า นักเดินทางจากสหรัฐฯ ขึ้นแท่นหนึ่งใน 5 อันดับแรกของประเทศที่มีการค้นหาที่พักในเกาะสมุยมากที่สุดบนแพลตฟอร์ม แซงหน้านักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่เคยติดอันดับก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน การค้นหาที่พักจากนักท่องเที่ยวในยุโรปก็เพิ่มขึ้น โดยประเทศที่มีอัตราการค้นหาสูงสุด ได้แก่ อิสราเอล เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ

ด้วยกระแสตอบรับที่ร้อนแรงจากซีรีส์ดัง คาดว่าการท่องเที่ยวไทยจะได้รับแรงกระตุ้นครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเกาะสมุย ซึ่งกำลังกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางระดับโลกที่นักเดินทางให้ความสนใจมากขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังโควิด-19 แต่ยังช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์ระดับนานาชาติอีกด้วย

‘นายกฯ’ สั่งคมนาคมศึกษาท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ พร้อมหนุน ททท.ปั้นสงขลาสู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

‘นายกฯ แพทองธาร’ สั่งคมนาคมศึกษาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติมา มาเที่ยวสงขลา เพิ่มการท่องเที่ยวทางน้ำที่มีกลุ่มเดินเรือสำราญมาท่องเที่ยวมากขึ้น ด้านททท.ปั้นสงขลาสู่เมืองท่องเที่ยวศักยภาพระดับโลก

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.สงขลาเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า จากการลงพื้นที่ จ.สงขลาพบว่ามีศักยภาพที่รองรับเรือสำราญที่มาจากต่างประเทศได้จึงสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาการพัฒนาท่าเรือที่มีมาตรฐานรองรับเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มากขึ้น  

ด้านนายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเรือสำราญจากสิงคโปร์มีการเทียบท่านำนักท่องเที่ยวไปลงที่เกาะสมุย และททท.ได้ชักชวนให้มาที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาด้วยซึ่งในส่วนนี้ขณะนี้ต้องดูเรื่องการอำนวยความสะดวกขนส่งนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญขึ้นมาท่องเที่ยวที่สงขลา 

จัดการท่องเที่ยว one day trip จ.สงขลา โดยสามารถจัดเส้นทางท่องเที่ยวแบบวันเดียว หรือone day trip ได้ ทั้งนี้ จังหวัดสงขลา ถือเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภาคใต้ตอนล่าง - เมืองพหุวัฒนธรรม – เมืองสองทะเล มีจุดขายคือต้นทุนทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย โดยปัจจุบันมีเที่ยวบินจำนวนมากมาลงที่อ.หาดใหญ่และนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางท่องเที่ยวทางรถ หากมีเรือสำราญมา จะเป็นการเพิ่มเติมการท่องเที่ยวทางน้ำ เมืองเก่าสงขลาแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก

ขณะเดียวกันเมืองเก่าสงขลา ซึ่งนายกรัฐมนตรีไปเยี่ยมชม ได้รับการประกาศรายชื่อเป็น 'แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก' และกำลังอยู่ระหว่างการผลักดันสงขลาสู่เมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO จะยิ่งทำให้เมืองมีโอกาสพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในหลากหลายมิติ เพื่อยกระดับสู่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลกได้ต่อไป

หนุนการท่องเที่ยวข้ามภาค นอกจากนี้ ททท. ตั้งใจขยายกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ อาทิ กลุ่มเรือยอร์ช กลุ่ม Self-Drive กลุ่มคาราวาน กลุ่ม Incentive และ MICE เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกลุ่มใช้จ่ายสูง และมีแผนขยายเส้นทางการบินเชื่อมโยงภูมิภาคจากท่าอากาศยานต่าง ๆ ในประเทศไทย อาทิ ท่าอากาศยานอุดรธานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าถึงสงขลาของนักท่องเที่ยวไทยและประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว 

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ปี 2567 มีผู้เยี่ยมเยือนรวม 6,998,664 คน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 24.53% จากปี 2566 แบ่งเป็นคนไทย 3,135,386 คน-ครั้ง และชาวต่างชาติ 3,863,278 คน-ครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียน 50,286.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.81 %จากปี 2566

ซึ่งมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 21,838.32 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28,448.08 ล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลาว และจีน ตามลำดับ ทั้งนี้ ททท. ตั้งเป้าหมายผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดสงขลา ปี 2568 เพิ่มขึ้น 8-10% จากปี 2567

‘เอกนัฏ’ ลุยตรวจเข้ม! จับสายไฟ-เหล็กเส้นไม่ได้มาตราฐาน ลั่น สินค้าควบคุมต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน

‘เอกนัฏ’ ลุยตรวจเข้ม! จับสายไฟ-เหล็กเส้นไม่ได้มาตราฐาน ยึดของกลางมูลค่ากว่า 49 ล้านบาท
ลั่นบังคับใช้กฎหมายให้สินค้าควบคุมต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าดีมีมาตรฐานให้กับประชาชน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นายสุตตะนนท์ โสวนิตย์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 2 สมอ. เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอจ.ชลบุรี) เข้าตรวจร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่และโรงงานเหล็กร่วมทุนจีน โดยได้ยึดอายัดหลอดไฟ สายไฟและเหล็กเส้นตกเกรด มูลค่ารวมกว่า 49.2 ล้านบาท ใน 2 พื้นที่ 

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวว่า ทีมชุดตรวจการสุดซอยได้เข้าตรวจร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัท นิว สตาร์ไลท์ เทค (ไทยแลนด์) จำกัด แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ โดยระบุชื่อนายต้า ชิ่ง วู๋ เป็นกรรมการ ซึ่งบริษัทฯ เคยถูกดำเนินคดีและจับกุมเมื่อปี 2564 ได้ถูกยึดอายัดของกลางกว่า 11 ล้านบาท และทางคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีคำสั่งให้ทำลายของกลาง และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สมอ. ได้เข้าดำเนินการตามคำสั่ง กมอ. ปรากฏว่าของกลางทั้งหมดหายไป เจ้าหน้าที่จึงได้ลงบันทึกประจำวันและดำเนินคดี พร้อมขยายผลต่อโดยตรวจพบสินค้าไม่มี มอก. ล็อตใหม่มูลค่ากว่า 26.3 ล้านบาท เช่น หลอดไฟแอลอีดี โคมไฟ หลอดไฟขั้วเกลียว แหล่งจ่ายไฟสำหรับคอมพิวเตอร์ อะแดปเตอร์ สายไฟ และป้ายไฟ เป็นต้น จึงได้ยึดอายัดและดำเนินคดีข้อหาจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและนำของกลางมาเก็บรักษาไว้เพื่อไม่ให้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายอีก

และได้ลงพื้นที่ต่อเนื่องไปยังบริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป จำกัด ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-จีน โดยมีบริษัท เถิง เฟิง สตีล จำกัด เป็นผู้ร่วมลงทุน ซึ่งทางบริษัท ชลบุรีฯ ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. 3 ฉบับ ได้แก่ เหล็กเส้นกลม มอก. เหล็กข้ออ้อย มอก. และเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งผลทดสอบเหล็กเส้นกลม ขนาด RB 9 ชั้นคุณภาพ SR24 จากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในรายการเครื่องหมายและฉลาก ระยะห่างระหว่างตัวนูน แม้ไม่ส่งผลต่อความปลอดภัย แต่ก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภคในการตรวจสอบ โดยได้ยึดอายัดเหล็กเส้นกลม ขนาด RB 9 ชั้นคุณภาพ SR24 รุ่นการผลิตเดือนมกราคม 2568 จำนวน 229,600 เส้น น้ำหนัก 1,148 ตัน มูลค่ากว่า 22.9 ล้านบาท และดำเนินคดีกับบริษัทฯ โทษฐานทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งแจ้งให้แก้ไขกระบวนการผลิตภายในระยะเวลา 30 วัน มิฉะนั้นจะสั่งพักใช้ใบอนุญาต และสั่งให้บริษัทฯ เรียกคืนเหล็กที่จำหน่ายออกไปแล้วกลับคืนมา

นอกจากนี้ สอจ.ชลบุรี ได้รายงานว่า เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2567 ได้มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 37 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้บริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป จำกัด ปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้แล้วเสร็จภายใน 14 กุมภาพันธ์ 2568 โดยทีมตรวจการสุดซอย พร้อมด้วย สอจ.ชลบุรี กรอ. จึงได้เข้าตรวจสอบโรงงานอีกครั้ง พบว่าโรงงานยังไม่ได้ปรับปรุงอีกทั้งมีการผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานอยู่ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงใช้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 สั่งให้ บริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป จำกัด ให้โรงงานหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขเสร็จ ภายใน 90 วัน นอกจากนี้จะมีการดำเนินคดีกับบริษัท เถิง เฟิง สตีล จำกัด โทษฐานมีการตั้งและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกด้วย

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ และมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้สินค้าควบคุมต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าดีมีมาตรฐานให้กับประชาชน โดยเฉพาะ “เครื่องใช้ไฟฟ้าและเหล็กเส้น” ถือเป็นสินค้าที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชน หากไม่มีมาตรฐานอาจก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือ โครงสร้างบ้านเรือน ที่พักอาศัย สะพานถล่ม ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงต้องมีการกำกับดูแลควบคุมคุณภาพของสายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็กเส้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. ต้องแสดงเครื่องหมาย มอก.รวมถึงคิวอาร์โค้ดบนสินค้า เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการลักลอบนำเข้า-ผลิต และจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน ดังนั้น “หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน "แจ้งอุต" https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี “traffyfondue” เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘บอสณวัฒน์’ ควงคู่ ‘แอนจักรพงษ์ ’ แถลงคว้าสิทธิ์ MUT ลั่นที่ผ่านมา “เรารักกัน บางส่วนมันคือการแสดง”

(19 ก.พ. 68) ทำเอาสะเทือนจักรวาลไปเมื่อวานนี้สำหรับ  ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ที่ได้ออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการผ่านเพจเฟซบุ๊ก ณวัฒน์ อิสรไกรศีล -Mr.Nawat Itsaragrisil โดยโพสต์ภาพตัวเองกับป้าย MISS UNIVERSE พร้อมข้อความ “MGI ผู้ถือลิขสิทธิ์ อย่างเป็นทางการ Miss Universe X MGI Org.” พร้อมส่งหมายเชิญสื่อมวลชนร่วมงานแถลงข่าวด่วนในวันนี้ (18 ก.พ. 68) โดย ณวัฒน์ อิสรไกรศีล และ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ จะร่วมแถลงข่าว ‘The New Era of MUT’ เปิดตัวผู้ถือสิทธิ์จัดการประกวด Miss Universe Thailand ณ MGI HALL ชั้น 6 ศูนย์การค้า Bravo BKK ภายในงานแถลงข่าว ‘The New Era of MUT’ เปิดตัวผู้ถือสิทธิ์จัดการประกวด Miss Universe Thailand 2025 จัดเต็มแสงสีเสียงประเดิมเปิดตัวด้วยการร่ายรำประยุกต์แสดงถึงความเป็นไทย

โดย บอส ณวัฒน์ ได้เผยว่า “ผมใช้เวลา 14 ปี เพื่อจะมายืนตรงนี้ ผมคิดว่านี่คือการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศกำลังพัฒนา วันนี้ผมพูดถึง MU ได้อย่างเต็มปาก พูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ อีกแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบางส่วน มันคือการแสดง ผมกับคุณแอนเราคุยกันมาโดยตลอด เวลาแอบเจอกันต้องให้พนักงาน คนงาน กลับบ้านให้หมดก่อน MUT ปีนี้ มุ่งมั่นที่จะหาผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น แต่ต้องไม่สวยอย่างเดียว ต้อง Real ภายในและภายนอก และต้องสร้างมูลค่า ความมั่งคั่งให้ตนเองและองค์กรได้ บริบทโดยรวมยังต้องเน้นเรื่องธุรกิจ เพราะทุกองค์กรขับเคลื่อนได้ด้วยเงิน

ทางด้าน แอน จักรพงษ์ ก็ขึ้นเผยในงานแถลงว่า “ขอบคุณวิสัยทัศน์ ความเป็นกันเอง ความเป็นผู้นำในตัวบอส แอนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ที่บอสมี ทำให้แอนเชื่อใจได้ว่าบอสจะสามารถดูแลได้ทั้ง MGT และ MUT ประเทศไทยจะกลายเป็นอุตสาหกรรมความงามของโลก จากการร่วมมือกันในครั้งนี้ รู้สึกตื่นเต้นที่ MUT ปีนี้จะได้เป็นเจ้าบ้าน เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการต้อนรับสาวงามทั่วโลก และสาวงามคนนั้นจะถูกเจียระไนโดยบอสณวัฒน์ ขอให้ปีนี้เราได้เจอซูเปอร์สตาร์จาก MUT ในปีนี้นะคะ”

นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดตัวผู้เข้าสมัครจำนวน 22 คน พร้อมเปิดตัวPD แต่ละจังหวัดของ Miss Universe Thailand 2025 สำหรับรายละเอียดการจัดการประกวด Miss Universe Thailand 2025 มีการเปิดเผยสปอนเซอร์ทั้งรายใหญ่ และรายย่อยในส่วนของการประกวด จะเป็นระบบ 77 จังหวัด ซึ่งย้ำว่า ต้องประกวดเท่านั้น ห้ามจิ้ม ห้ามแต่งตั้งทั้งนี้ ยังมีการเปิดเผยตารางการแข่งขัน ระบุว่าวันปฐมนิเทศ 5 กรกฎาคม 2568

3 สิงหาคม 2568 เข้ากองวันแรก มีกิจกรรมลุ้น 10 สาวงามร่วมงาน Welcome Ceremony ที่เกาหลี

6 – 8 สิงหาคม 2568 เก็บตัวที่ กรุงเทพมหานคร

9 – 16 สิงหาคม 2568 เก็บตัวที่จังหวัดเจ้าภาพ คือ จ.ภูเก็ต

18 สิงหาคม 2568 รอบชุดประจำชาติ

20 สิงหาคม 2568 รอบ Preliminary

23 สิงหาคม 2568 รอบ Final...

แต่มีข้อแม้ซีอีโอนิสสันต้องลาออก ดีลควบรวม 5.8 หมื่นล้านยังมีลุ้น

(18 ก.พ. 68) ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า ฮอนด้า อาจกลับมาเจรจาควบรวมกิจการกับ นิสสัน อีกครั้ง หาก มาโกโตะ อูชิดะ ซีอีโอของนิสสัน ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้ การเจรจาควบรวมระหว่าง ฮอนด้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น และ นิสสัน ผู้ผลิตอันดับสาม ต้องยุติลง ทำให้แผนสร้างบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีศักยภาพขึ้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสี่ต้องล้มไป

อุปสรรคในการควบรวมครั้งนี้ส่งผลให้ นิสสัน ตกอยู่ในภาวะไม่แน่นอน และสะท้อนถึงความกดดันที่อุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมกำลังเผชิญจากคู่แข่งจีนที่กำลังมาแรง

ตามรายงานของ FT ฮอนด้า พร้อมพิจารณากลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา หาก นิสสัน มีผู้นำคนใหม่ที่สามารถจัดการปัญหาภายในได้ดีกว่าเดิม

แม้ว่าตัว อูชิดะ เองจะเคยประกาศว่าจะดำรงตำแหน่งซีอีโอไปจนถึงปี 2026 แต่แรงกดดันให้เขาก้าวลงจากตำแหน่งกลับทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากคณะกรรมการบริษัทและ เรโนลต์ พันธมิตรสำคัญของนิสสัน หลังจากเขาล้มเหลวในการเจรจาควบรวมมูลค่า 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ รายงานยังระบุว่า คณะกรรมการนิสสันได้เริ่มหารือกันอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนตัวผู้นำ

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (14) : ก่อนจะมาเป็นค่า Ft อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’

หลังจาก TST ได้อธิบายถึงข้อกล่าวอ้างของนักวิชาการและ NGO บางคน กับสื่อบางสำนักไปหลายตอนแล้ว ซึ่งคนเหล่านั้นได้บอกถึงสาเหตุต่าง ๆ ของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ไปมากมายแล้ว (แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และครอบคลุมในทุกมิติ) อาทิ “โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียวโดยรัฐ’ จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ หรือ “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” หรือ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ สูงมาก” หรือ “การผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ ยังน้อยไป” ฯลฯ และได้เคยอธิบายไปแล้วว่า สาเหตุเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่แท้จริงของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เลย

แล้ว อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของการเรียกเก็บและวิธีการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน คือ (1) ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ ที่คิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า (2) ‘ค่าบริการ’ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ กฟน. และ กฟภ. เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อเป็นต้นทุนสำหรับค่าบริการผู้ใช้ไฟฟ้า (3) ‘ค่า Ft’ (Float time) หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า และ (4) ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ที่คำนวณจาก (ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ค่าบริการ) x 7% แล้ว จะพบว่าส่วนที่ส่งผลทำให้ “ค่าไฟฟ้าแพง” มากที่สุด คือ (3) ‘ค่า Ft’ เพราะอัตราจะแปรเปลี่ยนไปตามต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันเชื้อเพลิงที่ถูกนำมาเป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดคือ ‘LNG’    

ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงถึง 61.33% โดยก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามา จาก 3 แหล่ง คือ (1) ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas) ราว 63.5% (2) ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมาจากการนำเข้า (เริ่มนำเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554) ราว 20.5% (3) ก๊าซธรรมชาตินำเข้าจากเมียนมา ราว 16% สัญญาซื้อขาย 30 ปี ซึ่งจะครบสัญญาในปี พ.ศ. 2571 และ 2574 ตามลำดับ ประเทศไทยใช้ราคาก๊าซธรรมชาติจากระบบ Pool Gas ที่ประกอบด้วยก๊าซทั้ง 3 แหล่ง ซึ่งจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก และผู้ใช้ก๊าซอื่น ๆ ประกอบด้วยก๊าซจากอ่าวไทยที่เหลือจากการจ่ายให้โรงแยกก๊าซ ก๊าซจากสหภาพพม่า (แหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน) ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และก๊าซจากแหล่งอื่นๆ ในอนาคต  ในระยะแรก สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเป็นก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมากที่สุด ราว 70-80%  อีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าจากเมียนมา รวม 20% โดยที่ช่วงเวลานั้น ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอยู่ที่เพียง 5-6 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จนกระทั่งปี พ.ศ. 2565 มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงเหลือ 62% 

ปริมาณการนำก๊าซเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 38% ในจำนวนนี้เป็น LNG ถึง 22% เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งเดิมผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น หลังจากที่แหล่งปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย "เอราวัณ-บงกช" หมดอายุสัมปทานลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2565 รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการซื้อขายก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซฯ นี้ อย่างใกล้ชิด และแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน โดยรัฐบาลได้ไปเปิดประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย "เอราวัณ-บงกช" ซึ่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ปตท.สผ.’ เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในระบบ PSC ต่อจากเชฟรอนในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565 แต่มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ ‘ปตท.สผ.’ สามารถปรับปรุงกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกลับมาสู่จุดเดิมที่ผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้แล้วหรือยัง?

ทั้งนี้ ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย นอกจากจะใช้ในการผลิตไฟฟ้าแล้วยังถูกส่งไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยราคา Gulf Gas ซึ่งถูกกว่าราคา Pool Gas ขณะที่ไทยต้องนำเข้า LNG มากขึ้น แต่ราคาของ LNG ก็ขยับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา กอปรกับค่าเงินบาทอ่อนตัว ดังนั้น ยิ่งก๊าซ LNG ที่นำเข้ามีราคาสูงก็จะทำให้ค่าไฟฟ้ายิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้แล้ว ‘ค่า Ft’ ยังต้องผูกพันและรับผิดชอบภาระการจ่ายเพิ่มเติมจากปัจจัยด้านค่าเงินบาทและราคาต้นทุนเชื้อเพลิงพลังงานที่อยู่ใน ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ อีกด้วย (เฉพาะในส่วนที่มีการผลิตโดยที่รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวและราคาต้นทุนเชื้อเพลิงพลังงานที่สูงเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทำไว้กับ กฟผ. เท่านั้น) 

ล่าสุด (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มองเห็นทางออกในอีกมุมว่า “การปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทย เมียนมา และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา” รองฯ พีระพันธุ์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ก็น่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยตนจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป” ซึ่งเป็นการตอบและเริ่มต้นในการจัดการแก้ไขคำถามที่ว่า “เหตุใดคนไทยจึงไม่สามารถใช้ราคาก๊าซจากอ่าวไทย (Gulf Gas) มาคำนวณต้นทุนผลิตไฟฟ้า ทั้งที่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีราคาถูกกว่า ทั้งยังเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน ถ้านำราคา Gulf Gas และ Pool Gas มาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นส่วนต่างจะพบว่า หากสามารถใช้ราคา Gulf Gas ในการผลิตไฟฟ้าในแต่ละปี จะสามารถประหยัดค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ทำไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอย่างแน่นอน” การนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาเป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า จะเป็นหลักการเช่นเดียวกับการขุดแร่ลิไนต์ของ กฟผ. ที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเพื่อใช้การผลิตกระแสไฟฟ้านั่นเอง 

‘เอกนัฏ’ ล่องใต้ ดันวิสาหกิจชุมชนสู่ Soft Power หนุนผู้ประกอบการร่วมสร้างอุตสาหกรรมยั่งยืน

“เอกนัฏ” ล่องใต้ สุราษฎร์-สงขลา ดันวิสาหกิจชุมชนสู่ Soft Power หนุนผู้ประกอบการ สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมไทย

(18 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่1/2568 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อติดตามการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะฯ ได้ลงตรวจเยี่ยมสถานประกอบการในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ประกอบการผลิตสินค้าหัตถกรรมจักสานจากต้นกระจูดด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับคัดสรรเป็นสินค้าหัตถกรรมคุณภาพ และได้รับมาตรฐานสินค้า OTOP ระดับประเทศ มีผลิตภัณฑ์ เช่น เสื่อ ตะกร้า กระเป๋าจากกระจูด ซึ่งปัจจุบันกลุ่มฯ ได้พัฒนารูปแบบของสินค้าหัตถกรรมให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามสมัยนิยม เช่น กระเป๋าเดินทางแบบมีล้อ กระเป๋าแฟชั่นแบบตัดเย็บ กระเป๋าเอกสาร หมอน แฟ้มเอกสาร ปกเมนูร้านอาหาร กล่องบรรจุภัณฑ์ 

แผ่นรองจาน เป็นต้น กระทรวงอุตสาหกรรมโดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 (ศภ.10) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาให้การสนับสนุน ด้านการจัดหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการนำเครื่องรีดเส้นกระจูดไปประยุกต์ใช้กับกิจการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่แหล่งวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากคุณภาพน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชกระจูด เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบ รวมถึงสร้างเครือข่ายแหล่งวัตถุดิบในการรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น 

แห่งที่ 2 ลงพื้นที่บริษัท ซีพีแรม จำกัด (สุราษฎร์ธานี) ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหัวควาย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน และเบเกอรี่อบสด ที่มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเป็นของตนเอง โดยผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน แช่เยือกแข็งและแช่เย็น ผ่านกรรมวิธีเพื่อคงคุณภาพความสดใหม่และคุณค่าทางอาหาร โดยส่งออกและจำหน่ายในประเทศ 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ที่ผ่านการควบคุม ตั้งแต่การวิจัยพัฒนาคัดสรรสูตร และคัดเลือกส่วนผสม มีกรรมวิธีการผลิตที่ควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการยกระดับสถานประกอบการจนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการเพิ่มผลผลิต ประจำปี พ.ศ. 2567 และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอาหาร (สอห.) ในการพัฒนามาตรฐานโรงคัดบรรจุผักที่ได้มาตรฐาน อย. ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สนับสนุนเรื่องการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรม และเข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคนิคการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ด้วย 

“พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยนับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งการลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการตั้งแต่วิสาหกิจชุมชนที่มีการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสมัยนิยมเป็นที่สนใจของคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถผลักดันให้เป็น Soft Power ได้ จนถึงผู้ประกอบการโรงงานก็เป็นส่วนสำคัญที่ใช้วัตถุดิบการผลิตจากในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังเกิดการจ้างงาน และการหมุนเวียนการใช้จ่ายในชุมชนรอบโรงงาน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมผู้ประกอบการและดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย 

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจะร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่1/2568 ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ ศูนย์การประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 

EA ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัท Top 10% ของโลก ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ESG กลุ่มพลังงานไฟฟ้า

(17 ก.พ. 68) - บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในธุรกิจพลังงานทดแทนชั้นนำของประเทศ ประกาศในวันนี้ว่า บริษัทถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มบริษัท 10% ที่ดีที่สุดของโลกจากการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ในกลุ่มสาธารณูปโภคไฟฟ้าในปี 2568  จาก S&P Global Corporate Sustainability Assessment องค์กรชั้นนำด้านการประเมิน ESG ผู้จัดทำดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดยมีผู้เข้ารับการประเมิน 7,690 บริษัทจาก 62 อุตสาหกรรมทั่วโลก 

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การได้รับความยอมรับในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของ EA ในเรื่องความเป็นเลิศทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาล (ESG) ตอกย้ำจุดยืนของ EA ในฐานะผู้นำในธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดนี้ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของบริษัทที่มุ่งสร้างสรรค์พลังงานสะอาดและการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม”

นายฉัตรพลกว่าเพิ่มเติมว่า "เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในบริษัทระดับท๊อปของโลกในเรื่องของความยั่งยืน และเป็นเพียงหนึ่งใน 2 บริษัทจากประเทศไทยที่คว้ารางวัลในกลุ่มสาธารณูปโภคไฟฟ้า รางวัลนี้ไม่ได้เป็นเพียงความภาคภูมิใจของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นความภูมิใจของประเทศที่แสดงถึงศักยภาพของคนไทยที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับโลก เราจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยจะมุ่งมั่นและยึดถือเป็นค่านิยมหลักของบริษัทต่อไป"

ในฐานะผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด EA เดินหน้าผลักดันการใช้พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยี Battery Energy Storage System เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลกไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (low-carbon) โดยบริษัทมีการดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และลมขนาดใหญ่ การติดตั้งระบบจัดเก็บพลังงานแบตเตอรี่ และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกที่ยั่งยืนและมีใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยความมุ่งมั่นภายใต้แนวคิด “Energy Absolute, Energy for the Future” EA จะยังคงเป็นผู้นำนวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยและการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกต่อไป

การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดหาผลิตภัณฑ์ และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และรวมถึงธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า

‘คงกระพัน’ ติดท็อป 100 ซีอีโอชั้นนำของโลก ด้าน ปตท.ครองอันดับแบรนด์มูลค่าสูงสุดไทย

‘คงกระพัน’ ติดอันดับ 1 ใน 100 ซีอีโอชั้นนำของโลก และ ปตท. เป็นบริษัทเดียวในไทยที่ติดอันดับมูลค่าแบรนด์สูงสุดใน Brand Finance Global 500 ปี 2568

(17 ก.พ. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)  ได้รับการจัดอันดับที่ 66 จาก 100 CEO ชั้นนำของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของผู้นำในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ที่ส่งเสริมการสร้างมูลค่าแบรนด์องค์กรจาก Brand Guardianship Index 2025 โดย Brand Finance ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก โดยได้รับคะแนน 76.4 จาก 100 คะแนน ในดัชนี Brand Guardianship Index  ผลการจัดอันดับสะท้อนถึงคุณลักษณะที่สำคัญของ CEO ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ใส่ใจพนักงานอย่างแท้จริง 2) เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก 3) มีความน่าเชื่อถือ 4) เข้าใจความต้องการของลูกค้า 5) เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน 6) มุ่งเน้นคุณค่าในระยะยาว 7) มีกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน 8) เข้าใจความสำคัญของแบรนด์และชื่อเสียงองค์กร และ 9) มีไหวพริบทางธุรกิจ

นอกจากนี้ CEO ปตท.  ยังได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ของโลกด้านการรับรู้เรื่องความยั่งยืน ตามผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 5,000 คน ในกว่า 30 ประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำที่บริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนในระดับโลก  

โดยในปีนี้ ปตท. ยังคงได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ติดหนึ่งใน 500 แบรนด์แรกของโลกที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด โดยอยู่ในอันดับที่ 249 สูงขึ้นจากอันดับ 267  ในปี 2567 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้รับการประเมินมูลค่าแบรนด์สูงกว่าเก้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตกว่าร้อยละ 11 ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณา อาทิ ผลการดำเนินงาน ความแข็งแกร่งของแบรนด์ และความยึดมั่นในแบรนด์ที่ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ 

Mr. Alex Haigh, Managing Director – Asia Pacific of Brand Finance กล่าวว่า ดร.คงกระพัน แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ และการขับเคลื่อนแบรนด์ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน โดยความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าระยะยาว การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความเป็นเลิศทางธุรกิจ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ ปตท. เป็นแบรนด์ไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับ Brand Finance Global 500 และมีชื่อเสียงระดับสากลในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพลังงาน

ดร.คงกระพัน กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้รับการจัดอันดับบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดของโลกเป็นผลเนื่องมาจากพันธกิจขององค์กรที่ชัดเจนในการมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องบนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ตลอดจนการสนับสนุนจากคนไทยทุกภาคส่วนที่ให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ ปตท.

นอกเหนือไปจากการดูแลรักษาเสถียรภาพทางด้านพลังงานแล้ว ปตท. ยังคงดูแลสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และพร้อมช่วยเหลือประเทศชาติในยามที่เกิดภาวะวิกฤติ และดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ทั้งนี้ เพื่อเติบโตและมุ่งสู่การเป็นขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าแบรนด์ที่แข็งแกร่งยกระดับขีดความสามารถขององค์กรสู่ระดับสากล

สภาพัฒน์คาดปี 2568 โตในช่วง 2.3 - 3.3% เร่งเครื่องเศรษฐกิจผ่านลงทุนและการส่งออก

(17 ก.พ. 68) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% เมื่อปรับผลฤดูกาลออกแล้ว โดยมีการขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ที่ 0.4%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัว 2%. การขยายตัวนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโต 4.4%, การอุปโภคภาครัฐที่ขยายตัว 2.5%, การลงทุนภาครัฐที่เติบโต 4.8%, และการส่งออกที่ขยายตัว 5.8% (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP

สภาพัฒน์ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% โดยค่ากลางอยู่ที่ 2.8%. การคาดการณ์นี้สะท้อนถึงการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ รวมถึงการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของ GDP

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2568 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุน, การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน, การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, การปรับตัวของการลงทุนภาคเอกชน, และการขยายตัวของการส่งออกสินค้า

สภาพัฒน์ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า และการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยที่มีศักยภาพ รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน และการเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ (PM 2.5) ควบคู่กับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ดุสิตธานี เกียวโต คว้า 4 ดาว Forbes Travel Guide ตอกย้ำความหรูหราในปีแรกหลังเปิดให้บริการ

(18 ก.พ. 68) โรงแรมดุสิตธานี เกียวโต หนึ่งในไอคอนแห่งการพักผ่อนระดับหรูในเมืองเกียวโต ภายใต้การบริหารของกลุ่มดุสิตธานี ผู้นำด้านธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ของไทย ประกาศความสำเร็จอีกขั้นด้วยการคว้ารางวัล Four-Star Award จาก Forbes Travel Guide ประจำปี 2568 เพียงหนึ่งปีหลังเปิดให้บริการ

ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากโรงแรมเพิ่งได้รับรางวัล "One Michelin Key" จาก Michelin Guide 2024 ยกระดับสถานะเป็นโรงแรมระดับพรีเมียมที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเกียวโต การคว้ารางวัลจากทั้งสองสถาบันระดับโลกสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์การพักผ่อนที่เหนือระดับ ผสมผสานการบริการที่อบอุ่นแบบไทยเข้ากับเสน่ห์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น

มร. มาโกโตะ ยามาชิตะ ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมดุสิตธานี เกียวโต กล่าวว่า “การได้รับรางวัล Four-Star Award จาก Forbes Travel Guide ในเวลาอันสั้น เป็นข้อพิสูจน์ถึงความทุ่มเทของทีมงานที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์บริการที่น่าประทับใจ เราจะเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จเพื่อยกระดับมาตรฐานสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง”

Forbes Travel Guide ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2501 และเป็นมาตรฐานการประเมินโรงแรมระดับโลกที่ได้รับความเชื่อถือ โดยใช้เกณฑ์การประเมินกว่า 900 ข้อในการตรวจสอบโรงแรมอย่างเข้มงวดผ่านผู้ตรวจสอบที่ไม่เปิดเผยตัวตน โรงแรมดุสิตธานี เกียวโต ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับสูง ด้วยบริการที่พิถีพิถันและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์

โรงแรมดุสิตธานี เกียวโต เปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายน 2566 ตั้งอยู่ในย่านฮันกันจิ มอนเซนมาจิ ห่างจากสถานีรถไฟเกียวโตเพียง 900 เมตร โรงแรมออกแบบให้สะท้อนถึงความงดงามของสองวัฒนธรรมผ่านห้องพัก 147 ห้อง พร้อมประสบการณ์การรับประทานอาหารสุดพิเศษ เช่น ห้องอาหารโคโย (Kōyō) ที่นำเสนอเมนูโอมากาเสะตามฤดูกาล และห้องอาหารอายตนะ (Ayatana) ที่นำเสนออาหารไทยไฟน์ไดนิ่ง ด้วยวัตถุดิบสดใหม่จาก Dusit Farm และไร่ชาออร์แกนิกในเกียวโต

นอกจากนี้ โรงแรมยังมีพื้นที่จัดงานหรูหรารองรับแขกได้ถึง 240 คน และศูนย์เวลเนส “เทวารัณย์” ที่ผสมผสานศาสตร์การนวดไทยโบราณกับพิธีกรรมญี่ปุ่น เพื่อมอบประสบการณ์ผ่อนคลายที่ไม่เหมือนใคร

การคว้ารางวัล Four-Star Award จาก Forbes Travel Guide ในปีนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของโรงแรมดุสิตธานี เกียวโต ในการสร้างชื่อเสียงให้กับโรงแรมไทยบนเวทีโลก พร้อมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวที่แสวงหาประสบการณ์การพักผ่อนที่สมบูรณ์แบบในหัวใจเมืองประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

ด้วยความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศและการใส่ใจในรายละเอียด โรงแรมดุสิตธานี เกียวโต ยังคงยกระดับมาตรฐานการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมกับการเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่หรูหราและน่าจดจำที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (13) : การใช้ ‘NET METERING’ ไม่ได้สร้างความเป็นธรรม - เท่าเทียมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม

(17 ก.พ. 68) หนึ่งในเรื่องกล่าวอ้างของ  นักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งบอกว่า “หากรัฐยอมให้มีการใช้ระบบ ‘NET METERING’” จะทำให้ประชาชนชาวไทยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์จ่าย ‘ค่าไฟฟ้า’ ถูกลง แต่กลับไม่ได้สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ขอเล่าอธิบายในบทความนี้ 

ก่อนที่จะอธิบายขยายความเรื่องนี้ ขอบอกข้อมูลเรื่องราวของ ‘NET METERING’ ก่อน ระบบนี้เป็นการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ โดยระบบจะคำนวณค่าไฟฟ้าแบบหักลบหน่วยไฟฟ้าระหว่างหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าฯ กับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์ โดยนำจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ ลบออกจากจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง เครดิตหรือหน่วยเก็บสะสมไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินจึงอยู่ในรูปแบบของ “หน่วยไฟฟ้า” โดยสามารถหักกลบลบหน่วยได้ทันที ซึ่งทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งาน ณ เวลานั้น มูลค่าของไฟฟ้าก็ยังจะมีค่าเทียบเท่ากับราคาไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าฯ จึงเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม สามารถส่งไฟฟ้าที่ผลิตเกินความต้องการของตนเองเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสาธารณะ และแลกเป็นเครดิตหรือส่วนลดค่าไฟฟ้าในรอบบิลถัดไป ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริงจากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟที่ใช้จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟจะจ่ายค่าไฟตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว

หลักการทำงานของ ‘NET METERING’
1.ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์
2.เมื่อระบบผลิตไฟฟ้ามากกว่าที่ใช้ ไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกส่งเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสาธารณะ
3.มิเตอร์ไฟฟ้าแบบสุทธิจะวัดปริมาณไฟฟ้าที่ส่งเข้าและออกจากระบบ
4.ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับเครดิตหรือส่วนลดค่าไฟฟ้าตามปริมาณไฟฟ้าที่ส่งเข้าระบบ

ข้อดีของ ‘NET METERING’
1.ประหยัดค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่าที่ใช้
2.ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน Net Metering ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ข้อจำกัดของ Net Metering
1.อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจต้องจ่ายค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบสุทธิ และค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่อระบบ
2.มีข้อจำกัดด้านปริมาณไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจไม่สามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้เกินกว่าปริมาณที่ใช้   
3.นโยบาย ‘NET METERING’ ยังไม่มีความชัดเจนและแน่นอน อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

การที่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ แล้วขายส่วนเกินให้กับการไฟฟ้าฯ นั้น สร้างประโยชน์แต่เฉพาะ ‘กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ เท่านั้น ทั้งนี้เพราะในเวลากลางวันของประเทศไทยความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ใช่ช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละวันแต่อย่างใด โดยช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak time) ของแต่ละวันนั้นจะอยู่ที่ช่วงเวลา 18.30 - 21.30 น. แต่เฉพาะฤดูร้อนช่วงดือนมีนาคม - พฤษภาคม ของทุกปี เนื่องมาจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด ทำให้กลางวันช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak time) จะอยู่ที่ช่วงเวลา 13.00 – 15.00 น. 

ดังที่ได้เล่าใน “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (12) : จริงหรือ? ที่ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เพราะผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ น้อยไป” แล้วว่า “ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น หากจะเก็บกักไว้ใช้ในเวลากลางคืนต้องลงทุนระบบแบตเตอรี่ ในปัจจุบันเทคโนโลยีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่นั้นยังไม่สามารถตอบสนองต่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้ และเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เพราะไฟฟ้าจากแหล่งหมุนเวียนเมื่อผลิตแล้วต้องนำมาใช้เลย ดังนั้น “การใช้ ‘NET METERING’” จึงไม่ได้แก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เลย แทนที่ ‘กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘โซลาร์เซลล์’ จะใช้ระบบนี้ ควรจะลงทุนในระบบแบตเตอรี่เพื่อเก็บกัก ‘ไฟฟ้า’ ในเวลาที่ ‘โซลาร์เซลล์’ ไม่ทำงาน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้มีนักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับสังคมว่า “การใช้ ‘NET METERING’” นั้น การไฟฟ้าฯ สามารถเก็บพลังไฟฟ้าจาก ‘ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘โซลาร์เซลล์’ ในระบบสายส่งไฟฟ้าได้ ซึ่งไม่ได้เป็นความจริงเลย เพราะการเก็บกัก ‘พลังงานไฟฟ้า’ สามารถทำได้ด้วยการเก็บพลังไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่เท่านั้น 

สำหรับ ระบบส่ง/ระบบจำหน่าย/ระบบค้าปลีก (Transmission/Distribution/Retail) สามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาให้บริการเสริมความมั่นคงในโครงข่ายไฟฟ้า (Ancillary Services) และการบริการด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้า (T&D Services) ในรูปแบบดังต่อไปนี้เท่านั้น
-Fast Frequency Response : การรักษาความถี่ของระบบไฟฟ้า
-Primary & Secondary Reserve : การใช้งานเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองปฐมภูมิ และทุติยภูมิ
-Operation Reserve : การใช้งานเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองด้านปฏิบัติการ
-Transmission & Distribution Investment Deferral : การเลื่อน/ลด ความจำเป็นในการลงทุนขยายระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า
-Transmission Congestion Relief : การลดข้อจำกัดในระบบส่งไฟฟ้า
-Voltage Support : การควบคุมแรงดันไฟฟ้า
*ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ซึ่งเทคโนโลยีของไทยในปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่า ‘ระบบส่ง/ระบบจำหน่าย/ระบบค้าปลีก’ สามารถเก็บกัก ‘พลังงานไฟฟ้า’ ได้เช่นเดียวกับแบตเตอรี่แต่อย่างใด นอกจากนั้นการซื้อ-ขายไฟฟ้าไม่สามารถทำได้ด้วยระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริงจากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟจะจ่ายค่าไฟฟ้าในยอดตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะการซื้อและการขายไฟฟ้าจะต้องมีการชำระภาษีซื้อและภาษีขายตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง

สกัด!! ‘คอลเซ็นเตอร์’ มาช้า ยังดีกว่า ไม่มา แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องรีบมา เดี๋ยวนี้

(16 ก.พ.68) ตัดไฟ 5 จุด ชายแดนเมียนมา สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์-อาชญากรรมข้ามชาติ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำนักงานใหญ่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กดปุ่มตัดไฟฟ้า 5 จุด ที่พบข้อมูลว่ามีการนำไฟฟ้าไปใช้ไม่เป็นไปตามสัญญา ส่งผลกระทบต่อความเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ 

ปัญหาเรื้อรัง ที่กลุ่มมิจฉาชีพ ที่เราเรียกว่า ‘กลุ่มจีนเทา’ ไปตั้งสำนักงาน หลอกคนไทยไปทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ และโทรกลับมาหลอกลวงคนในบ้านตนเอง 

ใน ปี 2566 คาดการณ์ว่าสร้างความเสียหายมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท ในปี 2567 คาดการณ์ว่า คนไทยสูญเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มากกว่า 80 ล้านบาท ต่อวัน !! 

วันที่ 7 ม.ค. 68 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2567 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2567 จำนวน 1,361 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท สถิติการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย อันดับ 1 คือ ภัยทางการเงินและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (เสียหายกว่า 70 ล้านบาท) 

ผู้เสียหายอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ได้ร้องเรียนไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีการแจ้งความ ลงบันทึกประจำวัน และคงมีอีกหลาย ๆ คน ที่ไม่ไปแจ้งความ ด้วยอาจเพราะอับอาย ถ้ามีคนอื่นรับรู้ว่าตนถูกหลอกลวง

เศรษฐกิจไทย เสียหายไปเท่าไหร่ กับภัยจากมิจฉาชีพ ทั้งความเสียหายโดยตรงของผู้ถูกหลอกลวง และความเสียหายทางอ้อม ต่อธุรกิจต่างๆ ที่ติดต่อประสานงาน สมัครงานผ่านทาง Social 

ราคาทองคำพุ่งทะยานขึ้น 5.3% หลัง 'โดนัลด์ ทรัมป์' รับตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ สมัยที่ 2 และธนาคารกลางทั่วโลกเร่งสะสมทองคำ จีนซื้อเพิ่ม 10.26 ตัน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากดอลลาร์ 

นโยบายรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การบริหารของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก และทุกอุตสาหกรรม ล่าสุด อุตสาหกรรมเหล็ก กำลังจะโดนกำแพงภาษี รอบ 2 จะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมทั้งหมด 25% ซึ่ง นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเหล็กจีนได้รับผลกระทบตั้งแต่นโยบายทรัมป์ 1.0 ซึ่งทำให้สินค้าจีนที่ผลิตปริมาณมากและราคาถูกเข้ามาแย่งตลาดในไทยและอาเซียนมากขึ้น โดยจีนผลิตเหล็กสัดส่วนสูงกว่า 50% ของการผลิตเหล็กของทั้งโลกรวมกัน

หากจีนส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐไม่ได้ ย่อมต้องเบนเป้าหมายการขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นๆ อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย อาจโดนดัพท์ราคาอีกรอบ จะมีโรงงานเหล็ก ต้องปิดตัวลงอีกกี่แห่ง!! บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น Nissan หลังดีลควบรวมกับ Honda ยุติไปแล้ว ปรับแผนควบรวมไลน์การผลิต เพื่อลดต้นทุน โรงงานในไทย จะควบรวมการผลิตโรงงาน 2 แห่ง โรงงานแห่งที่ 1 จะมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นโรงงานขึ้นรูปและประกอบตัวถังและโลจิสติกส์ และนำเอาไลน์ผลิตรถยนต์ไปรวมกับโรงงานแห่งที่ 2 

ธุรกิจของอดีตยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมหลักของโลก ดิ้นปรับตัว ลดการจ้างแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต หนีตายกันอย่างเร่งด่วน แล้วธุรกิจน้องเล็กในไทย เหล่าผู้ประกอบการ SME ที่มีกำลังน้อย จะล้มหายไปอีกกี่แห่ง รัฐบาลไทย รีบคลอดนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมสักทีเถอะ ก่อนปัญหาจะลุกลามมากไปกว่านี้

‘กองทุนน้ำมัน’ จ่ายหนี้เงินกู้ขั้นบันได เม.ย. จ่ายเฉียด!! 2,000 ล้านบาท

(15 ก.พ. 68) จากข้อมูลฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดยังคงติดลบกว่า 70,438 ล้านบาท โดยราคาน้ำมันโลกทรงตัวระดับไม่สูงมากนักประมาณ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนฯ สามารถเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดได้มากขึ้นถึงเดือนละกว่า 6,700 ล้านบาท

โดยเฉพาะผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ถูกเรียกเก็บเงินถึง 4.60 บาทต่อลิตร และถูกเรียกเก็บค่าการตลาดจากผู้ค้าน้ำมันประมาณ 3 บาทต่อลิตร ส่งผลราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ระดับ 35.35 บาทต่อลิตร และ แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ระดับ 34.98 บาทต่อลิตร   

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ประกาศสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 9 ม.ค. 2568 ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีรายรับเข้ามาและทำให้วงเงินกองทุนฯ ติดลบน้อยลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 70,438 ล้านบาท โดยยังคงเป็นยอดการติดลบที่น้อยที่สุดในรอบ 2 ปี ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม 23,966 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม 46,472 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายรับที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกประเภทส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้าถึง 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร, น้ำมันดีเซลและดีเซล B20 ส่งเข้า 1.05 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียม เรียกเก็บ 2.55 บาทต่อลิตร

ส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้า 224.55 ล้านบาท หรือประมาณ 6,700 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาจากผู้ใช้น้ำมันรวม 213.39 ล้านบาท และมาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้และผู้ผลิต LPG รวม 11.16 ล้านบาท ส่วนภาระหนี้เงินกู้โดยรวมยังเหลืออยู่อีก 104,083 ล้านบาท

"ช่วงนี้กองทุนน้ำมันต้องจ่ายหนี้เงินกู้เฉลี่ยเดือนละกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินต้นประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยอยู่ระดับ 230 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินต้นจะทยอยปรับขึ้นตามการกู้เงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเดือนเม.ย. 2568 จะต้องจ่ายเงินต้นเกือบ 2,000 ล้านบาท" 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าผู้ใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ยังคงถูกเรียกเก็บเงินสูงสุดกว่าผู้ใช้น้ำมันชนิดอื่นถึง 4.60 บาทต่อลิตร นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าน้ำมันเก็บจากผู้ใช้ จะพบว่ากลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกเรียกเก็บกว่า 3 บาทต่อลิตร

โดยค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 11 ก.พ. 2568 เปลี่ยนแปลงดังนี้ ค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.09 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.04 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.12 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.75 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 6.88 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.88 บาทต่อลิตร  โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-11 ก.พ. 2568 อยู่ที่ 2.54 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ส่งผลให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.35 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 34.98 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 33.14 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์  E85 อยู่ที่ 32.09 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาดีเซลอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top