Monday, 20 January 2025
ECONBIZ

'พิชัย' โชว์วิชั่นบนเวทีอาเซียน-ญี่ปุ่น ดึงดูดการค้า-ลงทุน ให้ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนเบอร์ 1 ต่อเนื่อง ย้ำไทยพร้อมเป็นฮับการผลิต PCB - Data Center - AI - ยานยนต์ยุคใหม่ ของอาเซียน

(20 ธ.ค.67) เวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกล่าวเปิดงาน 'ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024' ตามคำเชิญของ Mr. MUTO Yoji (นายมูโตะ โยจิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองและแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยมี Mr. Nguyen Hong Dien (นายเหงียน ห่ง เตี้ยน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เลขาธิการอาเซียน ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(JCCI) ผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนคณะผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งอาเซียนและญี่ปุ่นร่วมงานกว่า 300 ราย

นายพิชัยกล่าวว่า ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาอย่างต่อเนื่อง เรามีรัฐประหารในปี 2014 การลงทุนจากต่างชาติลดลงต่อเนื่อง แต่เมื่อเรากลับมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งการลงทุนก็กลับมา วันนี้เราอยากเห็นญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในไทยเป็นเบอร์หนึ่งของไทยต่อไป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ PCB เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล AI ยานยนต์ยุคใหม่ และพลังงานสะอาด 

ไทยมีความพร้อมในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีการส่งเสริมการลงทุนและการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ ยานยนต์ยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยยังพร้อมเป็นฮับ PCB ของภูมิภาคด้วย ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับ UAE ในการทำ Intelligence center และร่วมกับบริษัท  Microsoft และ Google สร้างการลงทุนขนาดใหญ่  พร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตและที่ตั้งของ Data Center ของอาเซียน 

“วันนี้ขอต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลกที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยไทยมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติที่ครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาและการรับมือต่อความท้าทายด้าน AI ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการพัฒนาพลังงานสะอาดซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย ระบุเพิ่มเติมว่า อาเซียนและญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนร่วมกัน จึงได้จัดทำข้อริเริ่ม “การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” เมื่อปี 2566 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและรับมือกับความท้าทายทางสังคมระหว่างกัน โดยเตรียมจัดทำแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคต่อไประหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น และแผนการดำเนินการร่วมสร้างสรรค์ต่อนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ความเห็นชอบทั้งสองแผนดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 31 ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2568 อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกยานยนต์ยุคใหม่ รวมถึงการนำดิจิทัลและ AI มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นในทศวรรษต่อไป

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2566 การค้าระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 241,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงในอาเซียน เป็นมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งถือว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในอาเซียนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 55,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 24,594ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 31,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

ทีมThink Tank 'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' เผยแนวทางขับเคลื่อนโครงการโลว์คาร์บอน ไทยแลนด์เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าพัฒนาป่าชุมชนสู่ป่าคาร์บอนเพิ่มรายได้ชุมชนทุกภาค 1.1 หมื่นแห่ง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน)และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยวันนี้หลังจากเป็นประธานการประชุมที่ปรึกษาของรมว.ทส. ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งที่ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆจากทุกภาคส่วนทำหน้าที่เสมือนคลังสมอง(Think Tank)เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และแนวทางนโยบายรวมทั้งโครงการต่างๆภายใต้ภารกิจของกระทรวง ทส.โดยได้มีการประชุมหารือภารกิจหลัก 6 ด้าน
1.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2.ด้านทรัพยากรน้ำทั้งระบบ
3.ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขยะ และมลพิษ 
4. ด้านยุทธศาสตร์ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเมกะโปรเจค
5.ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
6.ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอใหม่ๆที่น่าสนใจหลายประเด็นเช่น
การขยายความร่วมมือกับองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ(FAO)ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก องค์การยูเนสโกธนาคารโลกและ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)ทางด้านการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)เช่นปัญหาความมั่นคงอาหาร ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหากรุงเทพจม ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งประเด็นBlue BondและGreen Bond นอกจากนี้ยังมีการหารือแนวทางการพัฒนาป่าชุมชน(Community Forest) สู่ป่าคาร์บอน(Carbon Forest)เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนกว่า1.1หมื่นแห่งทุกภาคทั่วประเทศให้เป็นแหล่งอาหารชุมชน (Community Food Bank) แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Bank)แหล่งคาร์บอน (Carbon Bank) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecological Tourism)โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการใหม่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในพื้นที่ด้วยโมเดล3หุ้นส่วน ( 3‘P : Public-Private-People Partnership model) ซึ่งถอดบทเรียนจากโครงการสระบุรี แซนด์บ็อก รวมทั้งข้อเสนอโครงการ โลว์คาร์บอน ไทยแลนด์ (Low Carbon  Thailand)ประกอบด้วยโครงการย่อยเชิงโครงสร้างเช่น โลว์คาร์บอน ซิตี้ โลว์คาร์บอน แคมปัส โลว์คาร์บอน อินดัสตรีฯลฯ

“ที่ประชุมยังหารือแนวทางนโยบายการแก้ปัญหากรุงเทพจม ปัญหาPM2.5 ปัญหาขยะ การพัฒนาระบบน้ำในระดับประเทศระดับภาคและEEC การพัฒนาระบบน้ำใต้ดินการลดคาร์บอนด้วยพลังงานทดแทนเช่นโซล่าเซลล์และพลังงานลม  การแก้ปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร การสร้างระบบเตือนภัยความร้อน (Heat Sensor) และการพัฒนาระบบความเย็นในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ การสร้างเมืองน่าอยู่ (Liveable City) และแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนสถานภาพและการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครในสังกัดกระทรวง ทส.ที่มีอยู่เกือบ3แสนคนเป็นต้น โดยจะนำเสนอต่อรัฐมนตรี ทส.เพื่อพิจารณาต่อไป“ นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีที่ปรึกษาที่เข้าร่วมประชุมแบบอินไซท์และออนไลน์ได้แก่ ศจ.ดร.ดุสิต เครืองาม ,รศ.ดร. ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา ,ดร.ประกอบ รัตนพันธ์ ,พล.ร.อ.ดร.สมัย ใจอินทร์ ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา,นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท,นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์,พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์,ร.ต.ปรพล อดีเรกสาร,พล.อ.รักเกียรติ พันธุ์ชาติ,ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร,นายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร,นายภานุ สุขวัลลิ ฯลฯ

ส่องแนวคิดขึ้น VAT ‘คิดถูก’ หรือ ‘คิดผิด’ เก็บภาษีได้เพิ่ม แต่ต้องแลกกับผลกระทบคนรายได้น้อย

จากการที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีแนวคิดในการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 15% โดยอ้างว่า “แค่บอกว่าแนวโน้มโลกเขาทำกันอย่างไร แค่ขอไปศึกษาเท่านั้นเอง พร้อมย้ำอีกว่า เป็นแค่การศึกษา” พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่า อันที่จริงแล้วกฎหมายกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงของไทยนั้นอยู่ที่ 10% แต่มีการผ่อนผันโดยเรียกเก็บจริงที่ 7% โดยนับแต่ประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในปี พ.ศ. 2535 ในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในระยะเวลาสั้น ๆ เป็น 10% ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2540 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือ 7% อีกครั้งมีอายุการใช้งาน 2 ปี และคณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี โดยที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ที่เก็บได้ จะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เหลืออีก 8 ส่วนจะถูกโอนให้แก่รัฐบาลกลาง การต่ออายุการผ่อนผันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ได้ดำเนินการมาต่อเนื่องยาวนานจนปัจจุบัน 27 ปี จึงทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ต่างพากันเข้าใจว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% เรื่อยมา

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งแรก จากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่มีการกล่าวถึงความไม่เหมาะสมของโครงสร้างภาษีการค้าต่อเศรษฐกิจของประเทศ อันได้แก่ความซ้ำซ้อนของระบบภาษีการค้าที่เป็นอยู่ และความหลากหลายของโครงสร้างอัตราภาษีนอกจากความบกพร่องของระบบภาษีการค้า ความต้องการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีของทางการยังสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านภาษีอากรอีกด้วย กล่าวคือ ความสามารถในการหารายได้ของรัฐผ่านเครื่องมือทางภาษีการค้าและภาษีศุลกากรได้ลดน้อยลงเป็นลำดับ ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงการคลัง จึงได้เสนอพิจารณายกเลิกภาษีการค้า และนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะมีอัตราเดียวที่ใช้กับสินค้าและบริการทุกชนิด สำหรับสินค้าใดที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจที่จะเก็บสูงกว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจากภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ในโลกส่วนมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเกือบทั้งสิ้น โดยเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดและเรียกเก็บจริงที่ 25% สำหรับประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปแม้จะมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่าง 15-25% แต่มีการผ่อนผันโดยเรียกเก็บจริงแล้วไม่มีประเทศไหนเก็บถึง 15% เลย เช่นเดียวกับประเทศในทวีปอื่น ๆ ซึ่งมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่าง 5-24.5% แต่มีการผ่อนผันโดยเรียกเก็บจริงแล้วไม่มีประเทศไหนเก็บถึง 15% เช่นเดียวกับการปฏิบัติในทวีปยุโรป โดยประเทศที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่ที่ 15% คือ  นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ มอลตา (ภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% สำหรับบางบริการ เช่น การท่องเที่ยว) และ เซเชลส์ สำหรับประเทศในทวีปอเมริกาเหนือเฉพาะแคนาดาที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแตกต่างกันไปตามมณฑลต่าง ๆ ที่ 5%(Alberta, British Columbia, Manitoba, Northwest Territories, Nunavut, Quebec, Saskatchewan และ Yukon) 13%(Ontario) และ 15%(New Brunswick, Newfoundland and Labrador, Nova Scotia และ Prince Edward Island) ในสหรัฐอเมริกาทั้ง 50 มลรัฐก็มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกว่าภาษีขาย (Sales Tax) โดยประกอบด้วยภาษีในส่วนของรัฐบาลมลรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เมืองหรือเทศมณฑล (City หรือ County)) แตกต่างกันไป ตั้งแต่ 0%(Alaska, Delaware, Montana, New Hampshire และ Oregon) จนกระทั่ง 10.350%(Seattle, Washington) และเม็กซิโกมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 16%

ในส่วนของประเทศไทยที่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ในปี พ.ศ. 2566 สามารถเก็บได้ 913,550.89ล้านบาท เป็นภาษีที่จัดเก็บได้สูงสุด หากเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 15% เมื่อคิดคำนวณแบบง่าย ๆ แล้วรัฐจะสามารถเก็บภาษีส่วนนี้ได้ร่วม 2ล้านล้านบาทเลยทีเดียว แต่อันที่จริงแล้วการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน และน่าจะเป็นผลกระทบในทางลบต่อพี่น้องประชาชนคนไทยมากกว่าที่จะเป็นผลกระทบในทางบวก ทั้งนี้ ด้วยเพราะ ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีถดถอย การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้มีรายได้น้อยในสัดส่วนที่มากกว่าผู้มีรายได้สูง ซึ่งจะทำให้บรรดามนุษย์เงินเดือนและผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนคนไทยที่เป็นรากหญ้ามีเงินเดือนน้อยจะเข้าถึงสินค้าต่าง ๆ ได้ยากขึ้น และได้รับผลกระทบมากสุด เพราะอาจจะไม่สามารถเข้าถึงสินค้าที่มีความจำเป็นบางอย่างที่เดิมสามารถเข้าถึงได้ เมื่อรายได้คงเดิมโดยไม่ได้ปรับตามฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น เงิน 100 บาทในกระเป๋าหักภาษี 7% จะเหลือเงิน 93 บาท แต่ถ้าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% แล้วจะเหลือเงินเพียง 85 บาทเท่านั้น ซึ่งหมายถึงว่าเงินที่มีอยู่ลดลงแต่รายจ่ายกลับเพิ่มมากขึ้น และย่อมต้องส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทำให้การบริโภคภายในประเทศลดลง จะส่งผลกระทบทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง จนธุรกิจบางส่วนอาจจะต้องปิดตัวลงหรือลดขนาดกิจการ และเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มมากขึ้น และเรื่องสำคัญที่สุดในการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มคือ “เหตุผลที่ต้องปรับขึ้นต่อพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งรัฐบาลต้องสามารถอธิบายอย่างเป็นเหตุและเป็นผลจนเป็นที่เข้าใจของสังคมไทยโดยรวม” สำหรับแนวทางที่น่าจะมีความเหมาะสมที่สุดคือ การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้กลับไปสู่อัตราปกติที่ 10% อย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ การปรับขึ้น 1% ในเวลา 3-5 ปี โดยการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 3% ในระยะเวลา 9-15 ปี จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมพอดี และจะเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

กนอ. โชว์ศักยภาพ! ดึงดูดลงทุนเกาหลี 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปักหมุดนิคมฯ Smart Park เน้นพลังงาน และธุรกิจการแพทย์

(19 ธ.ค. 67) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดบ้านต้อนรับนักลงทุนเกาหลี พร้อมชูแคมเปญ“Now Thailand - The Golden Era” ตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park

วันที่ 19 ธ.ค. 2567 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ กนอ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.67 กนอ.ได้ให้การต้อนรับนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล พร้อมด้วยคณะนักลงทุนเกาหลีใต้กว่า 20 ราย ในการเข้าร่วมประชุมหารือและรับฟังข้อมูลภาพรวมการลงทุนในประเทศไทย สิทธิประโยชน์ และการให้บริการของ กนอ. โดยได้เน้นย้ำถึงแคมเปญ “Now Thailand - The Golden Era”เพื่อสื่อสารให้นักลงทุนเกาหลีใต้รับรู้ว่า “นี่คือยุคทอง โอกาสทองของการลงทุนในประเทศไทย ไม่มีเวลาใดที่ดีไปกว่านี้แล้ว” สร้างความเชื่อมั่นและพร้อมให้การสนับสนุนนักลงทุนเกาหลีใต้ในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมของไทย

การเยือนประเทศไทยของคณะนักลงทุนเกาหลีใต้ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนจริงในประเทศไทย โดนในการประชุมหารือ นักลงทุนเกาหลีใต้ได้แสดงความสนใจในหลากหลายธุรกิจ อาทิ  ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ : แสดงความชื่นชมต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของ กนอ. และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย โดยต้องการให้ กนอ. ช่วยประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อทราบกระบวนการและ แนวทางการดำเนินธุรกิจ ธุรกิจผลิตรถบรรทุก EV : มีความสนใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกในอาเซียน และปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลการลงทุนในประเทศไทย ธุรกิจเหล็ก พลังงาน และอื่นๆ: บริษัทที่มีฐานการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีแผนการขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการถ่ายโอนธุรกิจด้านพลังงานและอื่นๆ ในปี 2567 และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่มีการคาดการณ์มูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีนักลงทุนสัญชาติเกาหลีร่วมดำเนินการในธุรกิจต่างๆ เช่น พลังงาน และธุรกิจการแพทย์ เป็นต้น

“ถึงเวลาแห่งการลงทุนในประเทศไทยแล้ว Now Thailand”กนอ.พร้อมประสานงานในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการถือครองอาคารชุดและที่ดินในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนเกาหลีใต้” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า การเยือนของคณะนักลงทุนเกาหลีใต้ครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณบวกที่สำคัญต่อการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับภูมิภาค รวมทั้งตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค โดย กนอ.พร้อมให้บริการที่เหนือระดับและมีส่วนร่วมสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับนักลงทุนด้วยบริการที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการให้ข้อมูลเชิงลึก การให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและภาษี การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และการอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ เพื่อให้นักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ รวมถึงการให้คำปรึกษา สนับสนุนด้านต่างๆ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับการประชุมหารือกับคณะนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ ณ สำนักงานใหญ่ กนอ. การประชุม ครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีผู้บริหาร กนอ. และนักลงทุนเกาหลีใต้เข้าร่วมประมาณ 20 คน

เผย ‘ดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่’ โฉมใหม่ พร้อมเปิดบริการ ‘ดุสิตดีทู ฟากู’ ในอินเดีย

(19 ธ.ค. 67) กลุ่มดุสิตธานี เดินหน้าเปิดรับฤดูกาลท่องเที่ยว ด้วยการเปิดให้บริการ “โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่” อย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม หลังจากปรับปรุงครั้งใหญ่ เผยกลับมาพร้อมลุคใหม่ที่ผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมภาคเหนือของไทยกับความสะดวกสบายสมัยใหม่ ด้วยห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว พร้อมยกระดับประสบการณ์การเข้าพักใจกลางเมือง พร้อมกันนี้ กลุ่มดุสิตธานียังเปิดให้บริการโรงแรม “ดุสิตดีทู ฟากู” ในอินเดีย ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2567 เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกที่หลงใหลการผจญภัย และแสวงหาความเงียบสงบท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัยอันเลื่องชื่อ 

บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า กลุ่มดุสิตธานีพร้อมต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นไฮซีซั่น ด้วยการเปิดให้บริการโรงแรมในทำเลที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและในต่างประเทศ โดยในประเทศไทย ล่าสุด โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่ ได้กลับมาเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2567 หลังได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ ด้วยห้องพักที่ได้รับการออกแบบใหม่ผสมผสานศิลปะชาวเหนือและความสะดวกสบายทันสมัย รวมถึงล็อบบี้ที่ตกแต่งด้วยงานศิลปะท้องถิ่นและโคมไฟเซมา ธรรมจักร ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น พื้นที่ประชุมที่ทันสมัย, สระว่ายน้ำ และยิมที่มีอุปกรณ์ครบครัน

ทั้งนี้ โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่ตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน ย่านใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทำเลที่สะดวกต่อการเดินทางและการสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ โดยการกลับมาครั้งนี้ โรงแรมได้เข้าร่วมโครงการ “แคมเปญแอ่วเหนือ...คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เหนือพร้อม...เที่ยว” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2567 ด้วยการมอบส่วนลด 50% สำหรับการใช้จ่ายสินค้าและบริการในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10,000 สิทธิ์ โดยมีวงเงินสูงสุด 400 บาทต่อท่าน ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้หมุนเวียนไม่น้อยกว่า 44.34 ล้านบาท

และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาให้บริการ โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่มอบโปรโมชั่นพิเศษเริ่มต้นที่ 1,600 บาท++ ต่อห้อง/คืน พร้อมอาหารเช้าฟรีและส่วนลด 20% สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม โดยสามารถจองได้ถึงวันที่ 6 มกราคม 2568 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือการจองห้องพักได้ที่ dusit.com/dusitprincess-chiangmai 

สำหรับการให้บริการในต่างประเทศ ล่าสุด กลุ่มดุสิตธานี พร้อมเปิดให้บริการ “โรงแรมดุสิตดีทู ฟากู” ในประเทศอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2567 โดยโรงแรมดุสิตดีทู ฟากู ตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัยอันงดงามตระการตา เหมาะต่อการพักผ่อนสำหรับนักเดินทางที่แสวงหาความเงียบสงบพร้อมความหรูหรา รวมถึงยังตอบโจทย์นักเดินทางกลุ่มรักสุขภาพและกลุ่มที่รักการผจญภัย ภายในโรงแรม ประกอบด้วย ห้องพักจำนวน 80 ห้อง  มีขนาดตั้งแต่ 38 ตร. ม. ถึง 86 ตร. ม. แต่ละห้องยังได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อผสมผสานความสะดวกสบายแบบทันสมัยให้เข้ากับกลิ่นอายท้องถิ่น โดยห้องพักทุกห้องมาพร้อมทิวทัศน์อันสวยงามของหุบเขาและภูเขาที่โอบล้อม ช่วยให้ผู้เข้าพักผ่อนคลายไปกับความงามของธรรมชาติได้ตลอดเวลา

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เผย ‘บอร์ด สสว.’ เห็นชอบงบกองทุน 2,300 ล้านบาท เฟสแรกยกระดับเอสเอ็มอี พัฒนากิจการ เพิ่มขีดความสามารถ หมุนเวียนธุรกิจ 

(19 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดส่งเสริมฯ สสว.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณ 2,300 ล้านบาท ในการดำเนินงานภายใต้โครงการสนับสนุน SME ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ สสว.เคยขอจัดสรรเพิ่มเติม วงเงิน 5,000 ล้านบาท 

นายประเสริฐ กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าว เริ่มในปีงบประมาณ 2567 ที่ สสว. ได้ขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 เพิ่มเติมจำนวน 5,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เอสเอ็มอีกู้ยืมสำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นเงินช่วยเหลืออุดหนุนหรือลงทุนใดที่เกี่ยวกับการขยายกิจการ การวิจัย พัฒนาและการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน สสว. จึงได้ทบทวนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน โดยได้ขออนุมัติวงเงินงบประมาณเบื้องต้นคือ จำนวน 2,300 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการสนับสนุน SME ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งแนวการดำเนินงานได้แก่ 1.การสนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ วงเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของเอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ 2. สนับสนุนงบประมาณโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2569-2570 เพิ่มเติม วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท

สำหรับ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS คือ สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เป็นสัดส่วนตามขนาดของธุรกิจตามนิยามเอสเอ็มอีของ สสว. คือ นิติบุคคล/บุคคลที่จดทะเบียน ภาครัฐ/วิสาหกิจชุมชน 

“ธุรกิจขนาดไมโคร วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 50,000 บาท หรือ สสว. สนับสนุน ร้อยละ 80 MSME จ่ายร้อยละ 20 และสำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือ SMALL วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 1 แสนบาท โดย สสว. สนับสนุน ร้อยละ 80 เช่นกัน ส่วนนิติบุคคล ขนาดธุรกิจ คือขนาดกลาง สสว. สนับสนุน ร้อยละ 50 วงเงินสนับสนุน ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแต่ละรายจะได้รับการอุดหนุนทั้งหมดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

แกร็บเปิดสถิติปี 67 เรียกรถไปดู ‘หมูเด้ง’ ฟีเวอร์พุ่ง 267% อาหารไทย-อเมริกาโน่เย็น ครองเมนูอันดับ 1

(19 ธ.ค.67) แกร็บ ผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยข้อมูลสถิติ 'ที่สุดแห่งปี 2024' ครอบคลุมทั้งธุรกิจการเดินทางและเดลิเวอรีในประเทศไทย โดยปีที่ผ่านมา บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ยังคงได้รับความนิยมทั้งจากคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะบริการใหม่อย่าง GrabCar SAVER ที่เติบโตขึ้นกว่า 400% พบกระแส 'หมูเด้งฟีเวอร์' ดันยอดเรียกรถไปสวนสัตว์เขาเขียวเพิ่มขึ้น 267% ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนและประเทศในอาเซียนติดท็อป 5 ใช้บริการมากที่สุด โดยเน้นเรียกรถไปห้างสรรพสินค้าและแหล่งช้อปปิ้ง ฟากบริการฟู้ดเดลิเวอรี เมนู 'อาหารไทย' และ 'อเมริกาโน่เย็น' ยังครองใจผู้ใช้บริการเป็นอันดับหนึ่ง กระแสไวรัลของหมีเนยดันยอด Butterbear พุ่งเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ 'ดูไบช็อคโกแลต' 'ชาผลไม้พรีเมียม' และ 'สมูตตี้เพื่อสุขภาพ' เป็นเมนูมาแรงแห่งปี

ปี 2567 เรียกรถผ่านแอปฯ ยังคงเติบโต รับอานิสงส์ 'ท่องเที่ยวคึกคัก-หมูเด้งฟีเวอร์-ไลน์อัพอีเวนท์' บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ยังคงได้รับความนิยมจากคนไทยและต่างชาติ โดยมียอดใช้บริการสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริการใหม่อย่าง GrabCar SAVER ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเรียกรถในราคาที่ประหยัดลง โดยมีอัตราการเติบโตสูงถึงกว่า 400% ในหัวเมืองหลัก

กระแส 'หมูเด้ง' ที่กลายเป็นขวัญใจของคนทั่วโลก ไม่เพียงช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวในประเทศ แต่ยังดันยอดใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ที่เดินทางไปสวนสัตว์เปิดเขาเขียวให้เติบโตขึ้นกว่า 267% 

นโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น 'World Class Event Hub' ทำให้ปีนี้เราได้เห็นความคึกคักของวงการอีเวนต์ ไม่ว่าจะเป็น งานประชุมและนิทรรศการ งานแฟร์ รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินไทยและเทศ ซึ่งส่งผลให้ยอดใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ไปงานเหล่านี้เติบโตขึ้นถึง 25% โดยเฉพาะการเดินทางไปราชมังคลากีฬาสถาน ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อิมแพ็คอารีนา และไบเทค บางนา 

ต่างชาติมั่นใจใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ไป “สนามบิน แหล่งช้อปปิ้ง และเที่ยวเมืองรอง”  ด้วยบริการที่สะดวกสบายและราคาที่โปร่งใสทำให้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว สะท้อนผ่านยอดใช้บริการที่สนามบินต่าง ๆ ซึ่งเติบโตขึ้นกว่า 67% โดย 5 ชาติที่ใช้บริการมากที่สุด คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ห้างสรรพสินค้าและแหล่งช้อปปิ้งยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางไป โดย 5 สถานที่ยอดฮิต คือ ไอคอนสยาม (ICONSIAM) เซ็นทรัลเวิลด์ (CentralWorld) สยามพารากอน (Siam Paragon) ถนนข้าวสาร และตลาดนัดจตุจักร นอกจากนี้ อีกหนึ่งห้างที่มาแรงที่สุด คือ เอ็มสเฟียร์ (EMSPHERE) ไลฟ์สไตล์มอลล์ใจกลางสุขุมวิท ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในปีที่ผ่านมา

จังหวัดเมืองรองยังได้รับความนิยมต่อเนื่องจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล สะท้อนผ่านยอดใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ที่เติบโตขึ้นกว่า 90% โดยเฉพาะใน 5 เมืองน่าเที่ยวอย่างเชียงราย ตาก อุดรธานี อุบลราชธานี และพิษณุโลก

ฟีเจอร์มาแรง 'จองรถล่วงหน้า ใช้รถอีวี' ฟีเจอร์จองรถล่วงหน้า (Advance Booking) กลับมาได้รับความนิยมหลังแกร็บประกาศปรับโฉมใหม่ โดยสามารถจองรถล่วงหน้าได้ถึง 7 วันและมีประกันคุ้มครองสูงสุดถึง 800,000 บาท โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่นิยมใช้บริการเพื่อเดินทางไปสนามบิน ไม่ว่าจะเป็น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และกระบี่

คนไทยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สะท้อนผ่านจำนวนผู้ใช้บริการที่ใช้ฟีเจอร์เลือกใช้รถอีวี (Grab EV Rides) เพิ่มขึ้นกว่า 200% โดยฟีเจอร์ดังกล่าวพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสค้นหารถ EV ในพื้นที่และช่วงเวลานั้นๆ เพื่อให้บริการเป็นตัวเลือกแรก

'อาหารไทย' และ 'อเมริกาโนเย็น' ครองใจคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง อาหารไทยยังคงครองใจผู้ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี โดยเฉพาะเมนูสั่งง่ายในราคาสบายกระเป๋า โดย 5 เมนูขายดีแห่งปี คือ ส้มตำ ไก่ทอด ข้าวมันไก่ หมูปิ้ง รวมถึงเมนูที่ทำจากหมูอย่าง 'ไข่พะโล้' และ 'ข้าวขาหมู' ซึ่งมียอดสั่งในเดือนกันยายนเติบโตขึ้นกว่า 38% จากอิทธิพลของ 'หมูเด้ง' ฟีเจอร์ ขณะที่กาแฟและชายังคงเป็นเมนูเครื่องดื่มขายดีตลอดปี นำโดย 'อเมริกาโน่เย็น' กาแฟดำไม่ใส่น้ำตาลที่ตอบโจทย์คอกาแฟสายสุขภาพ โดยมียอดสั่งรวมทั้งปีถึง 5 ล้านแก้ว รองลงมา คือ 'ชาไทย' โดยเฉพาะเมนู 'เสลอปี้ชาไทย' สุดฮิตที่แทบทุกแบรนด์ส่งมาชิงตลาด ตามมาด้วยเอสเพรสโซ่เย็น ชาเขียวเย็น และชานมไข่มุก

กระแส 'บัตเตอร์แบร์' แรงไม่หยุด 'ดูไบช็อคโกแลต ชาผลไม้ สมูตตี้' เมนูมาแรงแห่งปี กระแสไวรัลของหมีเนยขวัญใจโซเชียลมาแรงไม่แผ่วตลอดทั้งปี ทำให้ยอดสั่งเมนูต่าง ๆ ของบัตเตอร์แบร์ (Butterbear) พุ่งเป็นประวัติการณ์โดยเติบโตกว่า 1,200% ชาผลไม้พรีเมียมแบรนด์ดังจากประเทศจีนที่ตบเท้าเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น เจี้ยนชา (JIAN CHA) ชาจี (CHAGEE) และ ไนซือ (NaiXue) ได้รับกระแสความนิยมจากคนไทยไม่ขาดสาย โดยมียอดขายเฉลี่ยเติบโตขึ้นถึง 10 เท่า โดยเฉพาะ 'ชาองุ่นปั่นครีมชีส' ที่กลายเป็นไอเทมที่มาแรงที่สุดในปีนี้

เมนูเพื่อสุขภาพยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มฟู้ดดี้สายเฮลท์ตี้ ไม่ว่าจะเป็น อาซาอิโบลว์ที่ดังต่อเนื่องข้ามปี สลัดแร็ปผักล้น ไปจนถึงสมูตตี้เพื่อสุขภาพที่เป็นกระแสจาก 'น้ำปั่น Erawon' จนกลายเป็นอีกหนึ่งเมนูฮิตติดลมบน โดยเฉพาะ Oh! Juice แบรนด์น้องใหม่จากโอ้กะจู๋ ที่ปั่นทั้งกระแสและยอดขายไปอย่างถล่มทลายจนเติบโตขึ้นกว่า 400% ภายในระยะเวลา 3 เดือน 

ฟากของหวานอย่าง 'ดูไบช็อกโกแลต' รวมถึงเมนูขนมหวานที่มีส่วนผสมของถั่วพิตาชิโอ กลายเป็นไอเทมสุดฮอตแห่งปี โดยเฉพาะแบรนด์ The Rolling Pinn ที่มียอดขายถล่มทลายในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นกว่า 20 เท่า 

ฟีเจอร์มาแรง 'สั่งเป็นกลุ่ม กินที่ร้าน' ฟีเจอร์คำสั่งซื้อกลุ่ม (Group Order) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยมียอดสั่งอาหารเติบโตขึ้นสองเท่าหลังแกร็บฟู้ดอัปเกรดฟีเจอร์ให้สามารถสั่งอาหารร่วมกันได้สูงสุดถึง 10 คนและเพิ่มทางเลือกในการแบ่งจ่ายได้ถึง 3 ออปชัน เทรนด์การกินข้าวนอกบ้านดันให้ฟีเจอร์กินที่ร้าน (Dine Out) เติบโตขึ้น โดยมียอดใช้บริการเติบโตขึ้นกว่า 11 เท่าในไตรมาสสุดท้าย โดยเฉพาะในร้านบุฟเฟต์ ซึ่ง 3 ร้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ โม โม่พาราไดซ์ (Mo-Mo-Paradise) โคเอ็น (Kouen) และซูกิชิ (Sukishi)  

‘เอกนัฏ’ ยัน 'โตโยต้า' พร้อมรักษาฐานผลิตในไทย อัดเงินลงทุนกว่า 5.5 หมื่นล้าน อัปเกรดผลิตรถไฮบริด

‘เอกนัฏ’ เผย โตโยต้า ยืนยันรักษาฐานการผลิตในไทย พร้อมอัดเงินลงทุนกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท อัปเกรดฐานผลิตสู่ไฮบริด พร้อมเดินหน้าถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญให้ไทย

(18 ธ.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผย การจัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2567 วันนี้ได้มีการเชิญน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มามอบรางวัลให้กับอุตสาหกรรมดีเด่น จำนวน 42 รางวัล ซึ่งมีทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม และรางวัลสูงสุดในฐานะอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมมีการมอบรางวัลให้กับบริษัท โตโยต้า ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มารับรางวัลด้วยตนเอง

ทั้งนี้ นายเอกนัฏ เปิดเผยว่า ก่อนเข้ารับรางวัล นายอากิโอะ ได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี และได้รับคำยืนยันว่า ทางโตโยต้าจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และจะนำเม็ดเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุน เพื่ออัปเกรดสายการผลิตไปสู่รถไฮบริด 

ซึ่งจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ก็จะมีการเพิ่มเติมในชิ้นส่วนไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ เกียร์ ก็จะมีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะมีการจ้างงาน และส่งต่อถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการวิจัยและพัฒนาบุคลากรให้มีการเดินหน้าต่อ 

ทั้งนี้ตนเองได้ขอให้ทางบริษัทโตโยต้า เป็นทูตทางอุตสาหกรรมของกระทรวง ซึ่งจะเป็นตัวแทนของเราในการสื่อสาร เชื่อมโยงกับภาคเอกชน พร้อมกับย้ำว่า จะพยายามขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ฟื้นกลับมา และดึงภาคเกษตรขึ้นมาด้วย

ดันให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 1% นี้ถือเป็นความตั้งใจของตนที่ไม่ใช้เงินของประเทศแม้แต่บาทเดียว และไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมด้วย

ขณะที่ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้าฯ ยินดีที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการส่งเสริมภาคการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

ภายหลังการหารือ นายโตโยดะและคณะ ได้เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 (The Prime Minister’s Industry Award 2024) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบรางวัล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับรางวัลใน 3 สาขา 1) Prime Minister's BEST industry Award 2) MIND Ambassador Award และ 3) โรงงานสาขาเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลประเภท อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตอีกด้วย

JLL เผยบริษัทไทยแห่ปรับโฉมสำนักงาน สร้างที่ทำงานในอุดมคติ ดันดีมานด์เช่าออฟฟิศโตถึงปี 2573

(18 ธ.ค.67) เจแอลแอล (JLL) บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก เปิดเผยผลการวิเคราะห์จากการสำรวจ Future of Work 2024 ซึ่งเน้นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโลกการทำงาน ตั้งแต่เทคโนโลยี การออกแบบ ไปจนถึงแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG: Environmental, Social, and Governance)

จากการวิเคราะห์พบว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้เช่าพื้นที่สำนักงานในประเทศไทยหันมาย้ายไปเช่าอาคารสมัยใหม่มากขึ้น โดยคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 2571 เนื่องจากมีอาคารสำนักงานระดับพรีเมียมเปิดตัวเพิ่มขึ้นในย่านธุรกิจสำคัญ ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับองค์กรต่าง ๆ ในการทบทวนกลยุทธ์การทำงานแห่งอนาคต (Future of Work) เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานและปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ESG ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

นายไมเคิล แกลนซี่ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล ประเทศไทยและอินโดนีเซีย กล่าวว่า "พื้นที่สำนักงานสมัยใหม่ที่เข้าสู่ตลาดสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิทัศน์การทำงาน ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับองค์กรในการปรับกลยุทธ์การออกแบบพื้นที่ให้สอดรับกับความยืดหยุ่นและความยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมประสิทธิภาพและนวัตกรรมในการทำงาน"

ผลสำรวจ Future of Work 2024 ยังชี้ให้เห็นว่า องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญกับการออกแบบสถานที่ทำงานในฐานะปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร แนวโน้มนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นในประเทศไทย จากความต้องการ 'สถานที่ทำงานในอุดมคติ' (Destination Workplaces) ที่ผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย การใช้งานที่หลากหลาย และแนวคิดด้านความยั่งยืน โดย 65% ขององค์กรทั่วโลกมีแผนเพิ่มการลงทุนในด้านความยั่งยืนของสถานที่ทำงาน และเกือบ 80% คาดว่าสำนักงานของตนจะใช้งาน AI ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2573

นายอนาวิล เจียมประเสริฐ หัวหน้าแผนกบริการงานวิจัยและให้คำปรึกษา เจแอลแอล ประเทศไทย กล่าวว่า "การออกแบบสถานที่ทำงานกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้บริษัทในประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย ทั้งในแง่การดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถและการส่งเสริมเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่สำนักงานที่รองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในการให้ลำดับความสำคัญ ซึ่งสถานที่ทำงานปัจจุบันต้องสะท้อนคุณค่าองค์กรและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงาน"

การออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการสร้างอาคารที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กลายเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศไทย ผลการสำรวจยังระบุว่า พื้นที่ทำงานที่ออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืนได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดย 71% ของเจเนอเรชั่น Z และมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการเลือกที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงาน

นายสตีเฟน เทเลอร์ กรรมการผู้จัดการ บริการบริหารโครงการก่อสร้าง ออกแบบ และตกแต่ง เจแอลแอล ประเทศไทย กล่าวว่า "พื้นที่สำนักงานในปัจจุบันต้องทำมากกว่าแค่รองรับการทำงาน แต่ยังต้องสร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรม และแสดงถึงความรับผิดชอบขององค์กร การออกแบบที่ใช้วิทยาศาสตร์เป็นหลักช่วยเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมสุขภาวะ และตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน"

ผลการสำรวจยังพบว่า 64% ขององค์กรคาดว่าจำนวนพนักงานจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2573 และมากกว่าครึ่งหนึ่งคาดว่าจะขยายพื้นที่สำนักงาน ซึ่งการมีสำนักงานที่ทันสมัยและปรับตัวได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเป้าหมายนี้

รายงาน Future of Work 2024 ของเจแอลแอลเน้นย้ำถึงความสำคัญของการออกแบบสถานที่ทำงานที่ส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายขององค์กร ตั้งแต่การเพิ่มความพึงพอใจของพนักงานจนถึงการปฏิบัติตามข้อผูกพันด้าน ESG ในขณะที่ตลาดสำนักงานในประเทศไทยยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจต่าง ๆ จึงมีโอกาสเป็นผู้นำด้านการสร้างสถานที่ทำงานแห่งอนาคต

'เอเชียทีค' เนรมิต 'จูราสสิค เวิลด์' เล็งเปิดตัวไตรมาส 2 ปีหน้า หวังดึงนทท.เพิ่ม 20%

(18 ธ.ค.67) นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในวงการการท่องเที่ยวและความบันเทิง ด้วยการประกาศความร่วมมือกับ NEON ผู้นำด้านประสบการณ์อิมเมอร์ซีฟและเครื่องเล่นระดับโลก รวมถึง Universal Live Events & Location Based Entertainment เพื่อยกระดับมาตรฐานจุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์และสนับสนุนกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและความบันเทิงระดับโลก

ในความร่วมมือนี้จะมีการนำประสบการณ์ ‘Jurassic World: The Experience’ มาจัดแสดงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการผจญภัยที่นำพาผู้เข้าชมย้อนเวลากลับไปสัมผัสประสบการณ์แห่งยุคไดโนเสาร์ในรูปแบบใหม่ เหมาะสำหรับทุกคนในครอบครัว โดยมีกำหนดเปิดตัวที่โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 บนพื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร โดยได้รับแรงบันดาลใจจากแฟรนไชส์ภาพยนตร์ชื่อดัง ‘Jurassic World’ ของ Universal Pictures และ Amblin Entertainment ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลก

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก และศูนย์กลางการจัดงานอีเว้นต์ ด้วยการมอบประสบการณ์ระดับโลกที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการบริการ รวมถึงสร้างงานและส่งเสริมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

“เรานำพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตรที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น มาพัฒนาเป็น Jurassic World: The Experience ซึ่งเป็นการจัดแสดงนอกสวนสนุกครั้งแรกและใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกครอบคลุมพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร ด้วยงบลงทุน 1,400 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มทราฟฟิกนักท่องเที่ยวขึ้นอีก 10-20% จากปัจจุบันที่กลับมาแล้ว 80% มีนักท่องเที่ยวประมาณ 35,000 คนต่อวัน โดยจีนยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักแม้จะยังไม่กลับมาเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาโรงแรมธีมพาร์คในพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าทั้ง 3 เฟสจะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 5 ปี” นางวัลลภากล่าว

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี! กบง. ตรึงราคา LPG อีก 3 เดือน ที่ราคา 423 บาทต่อถัง มีผล 1 ม.ค. ถึง 31 มี.ค. 68

(17 ธ.ค. 67) ข่าวดี!! ‘พีระพันธุ์’ เผยที่ประชุม กบง. มีมติ คงราคาขายส่งก๊าซ LPG นาน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2568

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้คงราคาขายส่งก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่นที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 68

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป

ข่าวดีรับปีใหม่!! ครม. อนุมัติ ปลดล็อก ‘โซลารูฟท็อป’ ไม่ต้องขออนุญาตใบโรงงาน 4 ตามที่ ‘กระทรวงพลังงาน’ และ ‘กระทรวงอุตสาหกรรม’ เสนอ

(17 ธ.ค. 67) ระเบียบเก่า : หากติดตั้งโซลาร์บนหลังคาเพื่อใช้เอง เกิน 1000 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานจำพวก 3 ต้องยื่นขออนุญาตใบ รง.4 ยุ่งยาก และไม่ส่งเสริมรายย่อยให้ใช้พลังงานสะอาด ระเบียบใหม่ : ติดตั้งใช้ได้เลย ไม่ต้องขออนุญาตกับกรมโรงงาน

พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
โพสต์เฟซบุ๊ก 17 ธ.ค. 67

‘พลังงาน’ จับมือ ‘อุตสาหกรรม’ เพิ่มศักยภาพประเทศ เร่งปลดล็อกอนุมัติด้านไฟฟ้าเร็วขึ้น - หนุนใช้พลังงานสะอาด

(17 ธ.ค. 67) ‘พลังงาน’ เดินเกมรุกจับมือ ‘อุตสาหกรรม’ เร่งปลดล็อกการอนุมัติด้านไฟฟ้าให้เร็วขึ้น หนุนใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรม S-Curve พร้อมผลักดันการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน มุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และเพิ่มศักยภาพธุรกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรม

เปิดมิติใหม่ของการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปลดล็อกลดขั้นตอนขออนุญาตด้านไฟฟ้ายกระดับสู่ One Stop Service ชูแนวทางผลักดันเชื้อเพลิงชีวภาพไปสู่อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่ารองรับการยกเลิกอุดหนุน และร่วมผลักดันกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน คิดไกลดูแลเทคโนโลยีพลังงานตั้งแต่ผลิตถึงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ที่หมดอายุ นำระบบ Big Data ยกระดับการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมประสานพลังพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมรองรับพลังงานไฮโดรเจนและการลงทุนจากต่างประเทศ

เมื่อวันที่ (16 ธันวาคม 2567) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสำคัญระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ได้แก่

ประเด็นการดำเนินการ One Stop Service การอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้า เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการและระยะเวลาการอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการยกเลิกขั้นตอนขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4 ลำดับที่ 88) จาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 แล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายว่าด้วยการยกเลิกใบอนุญาต รง.4 ดังกล่าว รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับภาคประชาชนที่กระทรวงพลังงานเตรียมส่งเสริมในปีหน้า เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

ที่ประชุมยังมีการหารือประเด็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อเพิ่มมูลค่า เนื่องจากมาตรการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2569 ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นต้นทางของเอทานอลจะได้รับผลกระทบ กระทรวงพลังงานจึงเตรียมมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ทดแทนเอทานอลในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง การสกัดสมุนไพร สุราสามทับ พลาสติกชีวภาพ หรือการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง คาดว่าจะสามารถผลักดันให้สามารถจำหน่ายเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นเพื่อชดเชยบางส่วนได้ในทันที ส่วนปริมาณที่เหลือจะหารือเพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกรและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เอทานอลมากขึ้นต่อไป

ในส่วนของไบโอดีเซล จะร่วมกันผลักดันกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างกรอบในการกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ของปาล์มน้ำมัน พร้อมไปกับการเพิ่มโอกาสนำเชื้อเพลิงชีวภาพให้สามารถผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนของสากลเพื่อนำไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือแนวทางการรับซื้อใบอ้อย/ยอดอ้อยเพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องในฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย โดยข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถรองรับการใช้ใบอ้อย/ยอดอ้อยในสัดส่วน 10 - 30% พร้อมร่วมพิจารณาการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยไม่กระทบค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานประเมินอัตรารับซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลจากใบอ้อย/ยอดอ้อยอยู่ในระดับ 2.67 บาท/หน่วย ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับข้อเสนอและคาดว่าในปีหน้าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ใบอ้อยในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นหลังจากดำเนินนโยบายการรับซื้อในราคาที่จูงใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ลดการเผาแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดฝุ่น PM2.5 ได้อีกด้วย

รวมทั้งประเด็นหารือความร่วมมือแนวทางการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ที่หมดอายุใช้งาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งทั้งสองกระทรวงเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำกับคุณภาพและความปลอดภัยของแผงโซลาร์เซลล์ และให้ทบทวนมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ โดยเพิ่มเติมแนวทางการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์ให้ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดการแผงที่หมดอายุใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการร่างกฎหมายและจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารจัดการสำหรับแก้ไขปัญหาและชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากแผงโซลาร์เซลล์ ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงาน กกพ. มีฐานข้อมูล ปริมาณการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าทั้งในระบบและนอกระบบที่สามารถนำไปประเมินปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุในอนาคตได้ รวมทั้งจะร่วมมือพัฒนาส่งเสริมการนำแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) มาใช้งานเป็น 2nd Life Battery คือนำไปใช้งานร่วมกับแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือเป็นระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) สำหรับบ้าน อาคาร โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

ในด้านประเด็นการส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมนั้น ตามแผนการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับร่างแผน PDP2024 มีการกำหนดสัดส่วนผสมไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 5 ภายในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคพลังงาน โดยขอความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันเตรียมการให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงพิจารณาแนวทางการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักร รองรับการใช้เชื้อเพลิงผสมดังกล่าว โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติ โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้นี้ เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐศาสตร์สำหรับการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อยู่ระหว่างผลักดันการใช้ Factory Energy Code ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการดำเนินนโยบาย BCG พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลโรงงาน เครื่องจักรของอุตสาหกรรม และข้อมูลการใช้พลังงานในโรงงานควบคุมและนอกข่ายควบคุม

“ผมถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้กำกับดูแลทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งโดยเนื้อหาของงานทั้งในภาคนโยบายและภาคปฏิบัติมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างมาก การได้หารือร่วมกับหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมท่าน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นมิติใหม่ที่จะสร้างความร่วมมือให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รวมทั้งสร้างความชัดเจนในการพลิกโฉมการบริหารจัดการพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมด้วยมาตรการที่เป็นรูปธรรม ช่วยนำประเทศเข้าใกล้เป้าหมายที่ประกาศจะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กล่าวว่า “รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมดัน GDP ของไทยให้เพิ่มขึ้น 1% โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ เน้นการเพิ่มมูลค่าในด้านการผลิต ด้านการเกษตร และผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อในการเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่สำคัญจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมแบบมีความรับผิดชอบ และพร้อมที่จะส่งเสริมธุรกิจใหม่อย่างการนำขยะมาสร้างมูลค่า ซึ่งก็ต้องใช้กฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้เสร็จให้เร็วที่สุด”

'คอมเปค' ผู้ผลิต PCB เปิดโรงงานผลิตแผงวงจร ตั้งเป้าไทยเป็นฐานผลิตสำคัญ รองรับตลาดโลกโต

(16 ธ.ค. 67) บีโอไอร่วมเปิดโรงงาน "คอมเปค" (compeq) ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน ลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าผลิตเพื่อรองรับตลาด PCB โลก ขยายตัวสูง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ของบริษัท คอมเปค (ประเทศไทย) จำกัด ณ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ว่าอุตสาหกรรม PCB ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ได้รับการลงทุนจากผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น

บริษัท คอมเปค (Compeq) ซึ่งเป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 5 ของโลกจากไต้หวัน ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเมื่อเดือนธันวาคม 2566 และได้ก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่บนพื้นที่ 112 ไร่ ด้วยเงินลงทุนในเฟสแรก 10,417 ล้านบาท โรงงานได้ติดตั้งเครื่องจักรและพร้อมเดินเครื่องผลิตตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เป็นต้นไป

ผลิตภัณฑ์หลักของโรงงานคอมเปคในประเทศไทย คือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิด Multilayer PCB ซึ่งสามารถสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์สูงสุดถึง 34 ชั้นในแผงวงจรเดียว รองรับการผลิตสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการประสิทธิภาพสูง เช่น ระบบสื่อสาร ดาวเทียม รถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ สมาร์ทโฟน และเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศคิดเป็นกว่า 90% หรือประมาณ 6,600 ล้านบาทต่อปี โรงงานนี้จะจ้างงานบุคลากรไทยจำนวนประมาณ 600 คนในเฟสแรก และคาดว่าจะขยายการจ้างงานเพิ่มเป็น 1,500 คนในปีหน้า

นายนฤตม์กล่าวว่า การลงทุนของคอมเปคในประเทศไทยซึ่งเป็นครั้งแรกนอกไต้หวันและจีน ถือเป็นการยืนยันความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยในการเป็นฐานผลิต PCB ที่สำคัญในอาเซียน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซัพพลายเชนที่รองรับ และบุคลากรที่มีคุณภาพ นอกจากนี้การลงทุนนี้ยังเสริมความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถเป็นฐานผลิตสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงอื่นๆ เช่น EV, Data Center, Digital และ AI ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2566 - พฤศจิกายน 2567) มีการลงทุนจากผู้ผลิต PCB ชั้นนำจำนวน 107 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น รวมถึงการขยายการลงทุนจากกลุ่มผู้ผลิตเดิม เช่น Delta Electronics, Mektec, และ KCE Electronics ซึ่งทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการผลิต PCB ในอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

‘สุริยะ’ มั่นใจ!! โครงการแลนด์บริดจ์ ยังไปต่อ เผย!! มีนักลงทุนจากทุกมุมโลก สนใจมาลงทุน

(15 ธ.ค. 67) การพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (แลนด์บริดจ์) มูลค่าลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2568 หลังจากตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมเดินสายโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มสายการเดินเรือขนาดใหญ่ Dubai Port World (DP World) ประสานลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพของโครงการแลนด์บริดจ์

‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการแลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า ตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงฯ เดินทางไปโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก และตอนนี้ก็มีต่างชาติแสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในโครงการ ขั้นตอนระหว่างนี้จึงอยู่ในช่วงของการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะมาใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC คล้ายกับ EEC

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จัดการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำร่าง พ.ร.บ.SEC และรายละเอียดของข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ พร้อมทั้งเตรียมจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC ต่อไป

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะจะมีการจัดทำ พ.ร.บ.SEC ข้อกำหนดกฎหมายที่ชัดเจน และกระทรวงฯ จะทำควบคู่ไปกับการร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) เพื่อให้มีความพร้อมในการเปิดประมูลทันทีหลังจากที่กฎหมายต่างๆ ผ่านการพิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนทั่วโลก และเข้าร่วมการประมูลโครงการนี้ เพราะสัญญาณบวกในช่วงโรดโชว์ที่ผ่านมา มีนักลงทุนสนใจติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และประสานลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพของโครงการ อาทิ กลุ่มดูไบ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนก็เห็นพร้อมกันว่าโครงการนี้มีศักยภาพ เห็นด้วยกับแผนพัฒนาและรายละเอียดโครงการที่ศึกษาไว้

สำหรับแผนดำเนินงานของโครงการแลนด์บริดจ์ เดิมประเมินว่า พ.ร.บ. SEC และการจัดตั้งสำนักงาน SEC จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2568 ส่วนออกแบบทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา EIA แล้วเสร็จปี 2568

โดยการดำเนินงานส่วนนี้จะสอดคล้องกับการออกแบบท่าเรือ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 และส่งให้ สผ. พิจารณาแล้วเสร็จในปี 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชน โดยตั้งเป้าจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ลงทุนในไตรมาส 3/2568 จากนั้นจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการในปี 2568

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคาได้ในต้นปี 2569 ขณะที่การก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เริ่มก่อสร้างปี 2569 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2573 ระยะที่ 2 เริ่มก่อสร้างปี 2574 แล้วเสร็จปลายปี 2577 และระยะที่ 3 เริ่มก่อสร้างปี 2578 แล้วเสร็จปลายปี 2579

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ 358,517 ล้านบาท ส่วนอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24

อีกถึงรายงานของ สนข. ยังพบว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี พร้อมทั้ง จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็น จ.ระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง และ จ.ชุมพร 150,000 ตำแหน่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top