‘ศุภชัย’ ชู!! WTO เวทีกลาง เจรจา ประเทศมหาอำนาจ ‘สหรัฐฯ - จีน’ แนะ!! ไทย รักษาพื้นที่การคลัง เร่งเจรจาตลาดใหม่ รับมือความไม่แน่นอน
(3 พ.ค. 68) ในงาน MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNTCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'New World Order รับมือระเบียบโลกใหม่' ว่าปัจจุบันโลกมีความไม่แน่นอนมีสูงมากในขณะนี้เรากำลังมี 'new world order' ใหม่ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งบางคนมองว่าอาจจะเป็นภาวะที่เรียก new word disorder ที่มีความสับสนเพราะว่าโลกแบ่งออกเป็นหลายขั้วจึงต้องมีการเจรจาต่อรองโดยในโลกสมัยนี้เป็นโลกที่มีหลายขั้ว (multi polar world) สหรัฐ จีนรัสเซีย และยังมีขั้วของโลกเกิดใหม่อย่างเช่นอินเดีย อาเซียน อินโดนีเซีย เป็นอำนาจที่ไม่ได้มีใครเหนือใครแต่ต้องมาแบ่งปันและแชร์กัน
การที่มีความระส่ำระสายในระดับโลกนั้นเกิดขึ้นจากการที่ระเบียบและการค้าโลกแบบเดิมถูกสั่นคลอน สหรัฐฯเคยเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนที่ดูแลระบบโลกทั้งหมดได้แต่ในขณะนี้ไม่ใช่แล้ว ในเรื่องทางเศรษฐกิจนั้นก็ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯนั้นถดถอยลงไปมาก จุดเริ่มต้นนี้มาจากการที่ประเทศอย่างจีนเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) สัดส่วนการค้าของสหรัฐฯโลกลดลงอย่างมาก ปัจจุบันสหรัฐฯมีสัดส่วนการค้าโลกประมาณ 8% ขณะที่จีนขึ้นมาเป็น 15-16% จีนกลายเป็นประเทศที่ส่งออกใหญ่ที่สุดของโลกสหรัฐกลายมาเป็นเบอร์ 2
สหรัฐยังมีปัญหาในเรื่องของระบบการเงิน โดยเห็นได้จากวิกฤตซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่จะสะท้อนว่ามีปัญหาระดับวิกฤตในระบบการเงินของสหรัฐฯ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายวิกฤตที่ทำให้เกิดคำถามถึงความเป็นผู้นำของสหรัฐฯในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การยึดไครเมียจากยูเครนในปี 2014 การเปิดเส้นทางสายไหมใหม่ (BRI)ของจีน ในปี 2016 ที่จีนสามารถค้าขายไปยุโรปและทั่วโลก การระบาดของโควิด 19 ในช่วงปี 2019 -2022 ซึ่งประเทศที่มีการลงทุนในสาธารณสุขมากมายมหาศาลอย่างสหรัฐฯมีความเสียหายเกิดขึ้นมาก
และในปี 2025 ในปัจจุบัน ที่เริ่มสงคราม AI เมื่อจีนมีการเปิดตัว deep seeks ที่เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญของจีน ลงมา ลงทุนน้อยกว่าสหรัฐฯมากแต่ว่ามีประสิทธิภาพกว่า
ดร.ศุภชัย กล่าวว่าในสถานการณ์ปัจจุบันเวทีพหุภาคีทั้งหลายยังคงต้องเป็นความหวังให้การพูดคุยกันระหว่างประเทศต่างๆ เกิดขึ้นได้ เพื่อประคับประคองระบบต่างๆของโลกให้กลับไปสู่ภาวะปกติมากที่สุด ต้องเข้ามาดูแลปัญหาเรื่องพวกนี้พยายามลดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนแรงไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ได้มีการหารือกันในเวที WTO ว่าบทบาทของ WTO ในการเข้ามาเป็นเวทีในการพูดจาเรื่องนี้ ซึ่ง WTO ควรจะมีบทบาทในการเป็นเวทีกลางในการเจรจา โดยก่อนหน้านี้เราเคยมีวาระที่คุยกันเป็นรอบๆ ในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประชุมรอบเคนเนดี (Kennedy round) หรือว่าการประชุมรอบอุรุกวัย (Uruguay round) ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะเป็นเวทีที่เป็นรอบที่เป็นการพูดคุยกันเรื่องนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ (Trump round) ซึ่งว่าด้วยเรื่องของภาษีอากร ที่สำคัญเมื่อเราคุยกับอเมริกาแล้วเราก็ต้องคุยกับจีนได้ด้วยจะต้องคุยกับทั้งสองฝ่าย
สำหรับข้อเสนอของประเทศไทยในการรับมือกับสถานการณ์ที่โลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงมี 5 เรื่อง ได้แก่
1.เจรจากับตลาดอาเซียน และหาโอกาสการค้าในตลาดเกิดใหม่ โดยในปัจจุบันสหรัฐฯนั้นมีสัดส่วนการค้าโลกประมาณ 8% ขณะที่อาเซียนเราอยู่ในตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพและมีตลาดที่รวมกันทั่วโลกมีขนาด 30 -40 % ของการค้าโลก ซึ่งตอนนี้ไทยและอาเซียนควรต้องคุยกัน หาจุดร่วมกัน ไม่ควรใช้การกีดกันการค้า หรือดัมพ์ตลาดสินค้าใส่กัน เพราะจะเป็นการแก้ปัญหากำแพงภาษีกับสหรัฐฯแต่ก็จะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา
2.ในระยะยาวต้องมีการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิต เรื่องนี้ต้องไม่ละทิ้ง เพราะในยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี ได้มีการบอกว่าเราต้องทำอะไร ที่สำคัญมีเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือเราเดินทางสายกลางและมีภูมิคุ้มกันในขณะนี้เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันมากในทางของเศรษฐกิจ เมื่อมีความไม่แน่นอน เราต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ได้ในการรักษาเนื้อรักษาตัวของเรา เราต้องลงทุนในภาคของเศรษฐกิจ สังคม เรื่องสุขอนามัย การศึกษา พลังงานทดแทน เศรษฐกิจสีเขียวซึ่งเป็นการลงทุนใหม่ๆ ที่จะสร้างความต้องการในประเทศ ดูแลเศรษฐกิจภายในและให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตโดยไม่ต้องไปทำโครงการขนาดใหญ่ทั้งนี้หากจะสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ควรจะเป็นคอมเพล็กซ์เพื่อสุขภาพ กระจายไปในภาคต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการมากขึ้น
3.ประเทศไทยต้องมีการรักษาพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่อยู่ในมือของกระทรวงการคลังเป็นสิ่งที่เราต้องมี เราต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ได้พยายามอย่าให้มีการใช้จ่ายหรือกู้เงินในส่วนที่ไม่จำเป็น เพราะอีกไม่นานนี้อาจจะต้องมีโครงการที่เป็นการใช้เงินขนาดใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า ดังนั้นทางการคลังก็ต้องมีการดูแลตรงนี้ให้มาก
4.แก้ปัญหาและอุปสรรคที่มาใช่ภาษี โดยในรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เขียนถึงประเทศไทยยาวมาก แต่เขียนเรื่องภาษีไว้นิดเดียว เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องของกฎระเบียบศุลกากร กฎระเบียบทางกฎหมาย กฎระเบียบตรวจสินค้า ที่ซับซ้อน เราต้องดูว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคกับคู่ค้า
5.แก้ปัญหาการลงทุนที่มีการสวมสิทธิ์ส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สหรัฐฯเพ่งเล็ง เพราะว่านโยบายของทรัมป์ในขณะนี้ต้องการให้เกิดแรงกระแทกมายังยุทธศาสตร์ China Plus1 ของจีนที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามการค้ารอบแรก เห็นได้จากการที่บริษัทผลิตโซลาร์เซลล์จากไทยที่ส่งไปขายสหรัฐฯเจอภาษีไป 300% เพราะเขารู้ว่าโรงงานนี้ย้ายจากจีนมาลงทุนเพื่อหลบภาษีที่เขาขึ้นกับจีนแล้วส่งสินค้าไปขยายยังสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้ต้องฝากกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะมีการออกมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อป้องกันการผลิตที่สวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดจากไทยแล้วส่งออก
ที่มา : Bangkokbiznews