Friday, 25 April 2025
WTO

'จีน' สั่งแบน!! ปลาเก๋านำเข้าจากไต้หวัน ฟากรัฐบาลไทเปสู้กลับ ขู่ฟ้อง WTO

ความตึงเครียดระหว่างจีน และไต้หวัน ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง และเมื่อวันศุกร์ (10 มิ.ย. 65) ที่ผ่านมา กรมศุลกากรจีนแถลงว่า ตรวจพบสาร Oxytetracycline ในปลาเก๋าที่นำเข้าจากไต้หวัน ซึ่งเป็นสารเคมีต้องห้าม ทำให้ทางการจีนออกคำสั่งแบนการนำเข้าปลาเก๋าจากไต้หวันทันที มีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป 

แน่นอนว่าเรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในไต้หวัน เนื่องจากพอทางการไต้หวันได้นำปลาเก๋ามาตรวจเอง ก็ไม่พบสารเคมีอันตราย หรือต้องห้ามแต่อย่างใด และเชื่อว่าคำสั่งห้ามนำเข้าปลาเก๋าจากไต้หวันของจีน จึงน่าจะเป็นการกดดันทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนก็เคยแบนผลผลิตทางการเกษตรของไต้หวันมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่สับปะรด และแอปเปิ้ล ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อจากไต้หวัน ที่จีนสั่งห้ามนำเข้าและตีกลับทั้งล็อต จนรัฐบาลไทเปต้องเร่งออกแคมเปญขนานใหญ่ ทำการตลาดหาผู้ซื้อรายใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และมาคราวนี้เป็นปลาเก๋า ที่เพาะเลี้ยงจากบ่อในไต้หวันอีก

แม้ว่าปลาเก๋าไต้หวันกว่า 90% จะบริโภคกันเองในประเทศเป็นหลัก และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ส่งออก ทำให้ผลกระทบกับตลาดปลาเก๋าไต้หวันค่อนข้างน้อย แต่ทว่าจำนวนปลาเก๋าที่ส่งออกทั้งหมดนั้น ถูกส่งเข้าตลาดจีนถึง 90% หรือคิดเป็นปริมาณถึง 6 พันตันต่อปี

นั่นจึงสร้างปัญหาให้แก่ผู้ส่งออกชาวไต้หวันไม่น้อย ที่ต้องเร่งหาตลาดแหล่งใหม่ระบายปลาเก๋าในส่วนของตลาดจีนโดยทันที 

'บิ๊กตู่-ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค' สนับสนุน WTO ผลักดันการค้าพหุภาคีรูปแบบใหม่ 'เปิดกว้าง-สมดุล-ยั่งยืน'

(19 พ.ย.65) ที่ห้อง Plenary Hall 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 2 หัวข้อ 'การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน' ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้...

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การค้าและการลงทุนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคและโลก การค้าและการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค โดยองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เอเปคสนับสนุน และสนับสนุนมาโดยตลอด คือ ระบบการค้าพหุภาคี มี WTO เป็นแกนหลัก ทั้งนี้ เอเปคสามารถมีบทบาทในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยร่วมกันหาทางออกใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อาทิ ความครอบคลุม ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล

การสนับสนุนสำคัญอย่างหนึ่งของเอเปคในระบบการค้าพหุภาคี คือ การขับเคลื่อนวาระเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific: FTAAP) ที่ในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยจัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปี เพื่อขับเคลื่อนวาระเรื่อง FTAAP ต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับยุคหน้า รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ เช่น ความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การค้า และสาธารณสุข

ซึ่งนายกรัฐมนตรี เห็นว่า นอกจากจะต้องดำเนินการตามแผนงานต่อเนื่องแล้ว ยังต้องคำนึงถึงขั้นตอนต่อไปด้วย โดยปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยรับมือและให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 รวมทั้งยังสนับสนุน MSMEs ที่ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโต ให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังขยายการเข้าถึงและสร้างโอกาสให้กับสตรี เยาวชน ตลอดจนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ยังคงมีช่องว่างอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องลดช่องว่างด้านดิจิทัลและเสริมพลัง เพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนทุกกลุ่ม

จีนแต่งตั้ง ‘หลี่ เฉิงกัง’ อดีตทูตฯ WTO ตัวแทนเจรจาการค้าคนใหม่ แทนที่ ‘หวัง โซ่วเหวิน’ รับมือศึกภาษีเดือดกับสหรัฐฯ

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลจีนประกาศแต่งตั้ง นายหลี่ เฉิงกัง (Li Chenggang) วัย 58 ปี ขึ้นดำรงตำแหน่ง รองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และ ตัวแทนเจรจาการค้าระหว่างประเทศคนใหม่แทนที่ นายหวัง โซ่วเหวิน (Wang Shouwen) ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

การเปลี่ยนตัวผู้เจรจาเกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งสองชาติมหาอำนาจกำลังเผชิญภาวะ “สงครามภาษี” ครั้งใหม่ โดยรัฐบาลวอชิงตันภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทยอยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจนรวมสูงถึง 145% ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สูงสุดถึง 125%

หลี่ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านการค้าระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน และเคยดำรงตำแหน่งทูตประจำ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้รับการมองว่าเป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการคลี่คลายความตึงเครียด และอาจนำพาการเจรจาให้เดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถูกมองว่ามาอย่างกะทันหัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ารายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้กะทันหันมาก และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทิศทางการเจรจา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบัน” 

ผู้เชี่ยวชาญรายดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า นายหวัง โซ่วเหวิน มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ยุคทรัมป์ชุดแรก และการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของจีน

อัลเฟรโด มอนตูฟาร์-เฮลู ที่ปรึกษาอาวุโสจากศูนย์จีนของ Conference Board วิเคราะห์ว่า “อาจเป็นไปได้ว่าในมุมมองของผู้นำระดับสูงของจีน เนื่องจากความตึงเครียดที่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาต้องการคนอื่นมาคลี่คลายความขัดแย้ง... และเริ่มการเจรจาในที่สุด”

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่ได้มีนัยทางการเมืองมากนัก โดยมองว่า “อาจเป็นเพียงการเลื่อนตำแหน่งแบบปกติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตึงเครียดเป็นพิเศษ”

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีเหอ หลี่เฟิง ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจรจาการค้าระดับสูงของจีน และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ด้าน ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าสหรัฐฯ “พร้อมเจรจาข้อตกลงการค้า” กับจีน แต่ต้องการให้ 'ปักกิ่งเป็นฝ่ายเริ่มก่อน' ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top