Wednesday, 2 April 2025
ECONBIZ

ปตท. ติด TOP 5 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด สะท้อนความเชื่อมั่นการบริหารบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ

(11 ก.พ. 68) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ติดอันดับท๊อป 5 จากการจัดอันดับ 50 บริษัทชั้นนำที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด (Top50 Companies in Thailand 2025) มาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของบริษัท WorkVenture สะท้อนความเชื่อมั่นและความทุ่มเทในการบริหารบุคลากรภายใต้แนวคิด TripleEX ได้แก่ การสนับสนุนให้พนักงานค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเอง (EXplore your potential) การมอบโอกาสและประสบการณ์ที่หลากหลาย (EXperience diverse opportunities) และการส่งต่อคุณค่าและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (EXpand positive impact) ผ่านการพัฒนารูปแบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับความต้องการของพนักงาน อาทิ Flexi Benefit ที่พนักงานสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ตามไลฟ์สไตล์ของตนเอง การทำงานในรูปแบบ Work from Anywhere และเวลาทำงานแบบ Flexi-Time 

นอกจากนี้  ปตท. ยังสนับสนุนเรื่องการสมรสเท่าเทียมตามนโยบายภาครัฐ  เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและสิทธิของพนักงานทุกคน เป็นต้น

‘ฟีโบ้’ เดินหน้าผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยกระดับสู่สถาบันชั้นนำด้านวิทยาการหุ่นยนต์ในอาเซียน

(11 ก.พ. 68) เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี แห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ 30 ปี แห่งการก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้)  ในการนี้ ฟีโบ้จึงได้จัดกิจกรรมพิเศษภายใต้หัวข้อ “30 ปี ฟีโบ้: Robotics for Sustainable Future” เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จและแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านวิทยาการหุ่นยนต์และนวัตกรรมที่น่าสนใจ และกำลังเป็นกระแส รวมถึงการจัดแสดงผลงานตัวอย่างหุ่นยนต์ล้ำสมัย และนิทรรศการในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ จัดขึ้น ณ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2568

ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2538 ฟีโบ้ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม โดย ดร.ชิต เหล่าวัฒนา มีพันธกิจด้านการพัฒนางานวิจัย และบริการวิชาการ ต่อมาในปี พ.ศ.2546 ได้ยกวิทยฐานะเป็น “สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม” โดยเริ่มแรกเป็นการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นที่แรกของไทย หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2552 จึงได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ให้บริการวิชาการแก่สังคม รวมถึงงานวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตลอดจนเทคโนโลยีอื่น ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันครบรอบ 30 ปี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฟีโบ้สามารถสร้างกำลังคนหรือบุคลากรด้านวิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติออกสู่สังคมตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก รวมทั้งสิ้นกว่า 700 คน มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่า 1,000 แห่ง  ทั้งการจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากรภาคอุตสาหกรรม เช่น โครงการ EEC ที่มีการอบรมไปแล้วกว่า 3,000 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท โครงการหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ Entertainment และอื่นๆ ที่เป็นงานด้านวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) มากกว่า 300 โครงการ ปัจจุบันฟีโบ้ มุ่งมั่นเพื่อยกระดับเข้าสู่สถาบันชั้นนำระดับอาเซียนทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรด้านหุ่นยนต์ ครูและนักเรียนของโรงเรียนทั่วประเทศภายใต้โครงการ School Consortium มากกว่า 100 โรงเรียน

“เนื่องจากทิศทางของโลกและเป็นนโยบายของ มจธ. ที่มุ่งไปในเรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability เราจึงต้องการให้งาน 30 ปี ฟีโบ้: Robotics for Sustainable Future ทำให้เห็นว่าหุ่นยนต์ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างไร หรือทำให้เกิด Robotic Future ได้อย่างไร ดังนั้น ภายในงานที่จัดขึ้นก็จะมีส่วนที่เป็นการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักวิจัย ภาคอุตสาหกรรม และผลงานของนักศึกษา รวมถึงงานเสวนาที่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์อัตโนมัติ และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทรนด์ของโลกจากนี้เข้าด้วยกัน” ผศ. ดร.สุภชัย กล่าว 

ภายในงาน ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ โซนที่หนึ่ง โซนจัดนิทรรศการประวัติฟีโบ้และพันธมิตรที่เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของฟีโบ้ โซนที่สอง โซนการจัดแสดงหุ่นยนต์มาทำกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ธีม Robotics ไทยแทร่ เป็นการผสานเทคโนโลยีแห่งโลกเสมือนกับหุ่นยนต์และ AI ที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมในรูปแบบความเชื่อไทยๆ เช่น หุ่นยนต์เขียนผ้ายันต์ ร่างทรง คนเล่นของ ซุ้มมือปืน เป็นต้น และยังมีห้องแสดงศิลปะดิจิทัลแบบ 360 องศา (Immersive Room) ให้ผู้ร่วมงานได้เข้าไปร่วมสนุก นอกจากนี้ยังมีการแสดงเทคโนโลยีสุดล้ำจากบริษัทชั้นนำ อาทิ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่มีระบบการจำลองการเคลื่อนไหวที่ล้ำสมัย และ Robo Dog จากพันธมิตร มาร่วมโชว์ในงานนี้ด้วย 

โซนที่สาม จะเป็นการแสดงนิทรรศการผลงานไอเดียและอินโนเวชันของนักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ชั้นปี 1 ถึงปี 4 ที่จะเป็นงานด้านอุตสาหกรรมและงานทางการแพทย์ รวมถึงงานหุ่นยนต์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน  ส่วนในโซนที่สี่ จะเป็นโซน Professional ที่เกิดจากความร่วมมือกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการประชุมวิชาการ การจัดสัมมนาเชิงอภิปรายจากผู้เชี่ยวชาญในวงการและจากภาคอุตสาหกรรม พันธมิตรและผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์อัตโนมัติในประเทศไทย อาทิ สมาคมซีไอโอไทย (Thai Chief Information Officer Association: TCIOA) สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) และกิจกรรมสำหรับเยาวชนและผู้สนใจเกี่ยวกับ VR โดย NVIDIA บริษัทชิปกราฟิกชั้นนำ มาร่วมจัดเวิร์กช็อป การจำลองโลกของหุ่นยนต์ไซเบอร์และจำลองโลกของ AI เข้าด้วยกัน

ผู้อำนวยการ ฟีโบ้ ยังได้กล่าวถึงทิศทางว่า “ฟีโบ้ ตั้งเป้าหมายไปสู่ “One of the Most Attractive Robotics Institutes in ASEAN” ภายในปี 2027 ดังนั้น การดำเนินงานนับจากนี้ คือ การสร้างคน โดยจะเน้นการเรียนการสอนที่พัฒนา Soft Skill ให้นักศึกษามากขึ้น เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และปรับตัวได้ตลอดเวลา ควบคู่กับการพัฒนาความรู้และความสามารถพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ (Hard Skill) อย่างเข้มข้น ซึ่งนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ (Learning Experience) ที่เขาจะหาไม่ได้จากที่อื่น เพื่อพัฒนาทักษะ High Skill และ R&D ให้นักศึกษาที่จบจากฟีโบ้ สามารถยืนอยู่ในเวทีทั้งในระดับประเทศและบนเวทีโลกได้ และการสร้างเทคโนโลยี เราจะมุ่งสร้างเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบสูง เน้นแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโลก (Real World Problem) พัฒนานวัตกรรม R&D ให้เป็น World Class Attractive นี่คือทิศทางที่ฟีโบ้กำลังจะมุ่งไป”

TCL ปลุกกระแสเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศ เปิดตัว TCL FreshIN 3.0 Series พร้อมโชว์ศักยภาพนวัตกรรมระดับโลก ในงาน The Future of AC : 2025 Partner Convention 

บริษัท ทีซีแอล อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ TCL ผู้นําด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของไทย จัดงาน The Future of AC : 2025 Partner Convention นำโดย คุณแกรี่ จ้าว กรรมการผู้จัดการ, คุณจีรชัย ศักดิ์สง่าวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายเครื่องปรับอากาศ, คุณเฉลิมชัย รัตนเอม ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ และ คุณดอน ถาง ผู้อำนวยการสายการตลาด พร้อมคณะผู้บริหารบริษัท ทีซีแอล อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมฉายวิสัยทัศน์การดำเนินงาน สู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2025 พร้อมรักษาความเป็นผู้นำส่วนแบ่งการตลาดเครื่องปรับอากาศอันดับ 1 ของไทย โดยได้รับเกียรติจาก คุณบิล เฉิง Director of TCL APBG Air Conditioner Product Operation Department กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ และตัวแทนจำหน่ายกว่า 500 ราย ผู้ให้การสนับสนุนในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้กับ TCL โดยในงานมีเหล่าเซเลบริตี้ อินฟลูเอ็นเซอร์ชื่อดังเข้าร่วมแสดงความยินดี อาทิ ‘แมทธิว’-‘ลิเดีย-ศรัณย์รัชต์’ พร้อมด้วยครอบครัวดีน, 'ก้อย-อรัชพร', 'นัตตี้-นันทนัท' และ 'ดรีม-อภิชญา'

ทั้งนี้ ภายในงาน The Future of AC : 2025 Partner Convention ได้เปิดตัวเครื่องปรับอากาศนวัตกรรม 'TCL FreshIN 3.0 Series' ที่มาพร้อมนิยามใหม่ กับการทำความเย็นที่ผสานทั้งเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อความสะดวกสบายสูงสุด โดดเด่นด้วยระบบการสั่งงานด้วยเสียงที่รองรับภาษาไทย โดยไม่ต้องต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต มาพร้อมกับดีไซด์แบบ Slim เรียบง่ายที่สามารถเข้าได้กับการตกแต่งทุกพื้นที่ และการแสดงผลแบบ "Lunar Display" ซึ่งสามารถแสดงคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ 

'TCL FreshIN 3.0 Series' ยังมาพร้อมฟังก์ชัน ระบบประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงจากเทคโนโลยี AI ปรับอุณหภูมิแบบอัตโนมัติให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย รวมถึงนวัตกรรมคอยล์ร้อนที่มีระบบทำความสะอาดตัวเอง กำจัดฝุ่นและสิ่งสกปรกจากภายในตัวเครื่องด้วยแรงลมกลับทิศทาง ลดการสะสมของสิ่งสกปรก เพื่อสุขอนามัยที่ดี ประหยัดไฟ และ ยืดระยะเวลาการบำรุงรักษา

พร้อมทั้งฟังก์ชันอากาศบริสุทธิ์ ช่วยนำเข้าอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้าสู่ภายในบ้าน ผ่านระบบกรองอากาศ 4 ขั้นตอน พร้อมระบบการผลักดันอากาศที่อยู่ในห้องออกไป หรือที่เรียกว่า Positive Air Pressure เพื่อเพิ่มระดับออกซิเจนและอากาศบริสุทธิ์ ช่วยดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมภายในห้อง และ ดักฝุ่นขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้อากาศภายในห้องสดชื่นตลอดทั้งวัน โดยมี ‘หมอริท-นพ.เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช’ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและผิวพรรณ ร่วมให้ข้อมูลถึงนวัตกรรมดังกล่าวที่จะช่วยให้สุขภาพของผู้ใช้งานดีขึ้นจากการรับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ เพื่อบำรุงการทำงานของร่างกาย รักษาความชุ่มชื่นของผิวหนัง รักษาสมดุลผ่านการนอนหลับที่ได้คุณภาพ รวมถึงช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันปัญหาด้านระบบทางเดินลมหายใจ ท่ามกลางฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน 

ภายในงาน TCL ยังได้จัดแสดงนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศรุ่นต่างๆ ที่ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพระดับสากล เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยแต่ละรุ่นโดดเด่นทั้งด้านดีไซน์ ฟังก์ชันอัจฉริยะ และประสิทธิภาพการทำงานที่เหนือชั้น อาทิ รางวัล 'Smart Fresh Air Technology Innovation Award' กับรุ่น FreshIN ในงาน Global Top Brands Awards Ceremony (GTB) ประจำปี 2024-2025 โดย International Data Group (IDG) ซึ่งจัดโดย Asia Digital Group และ Europe Digital Group ร่วมกับ TWICE โดยได้รับการสนับสนุนจาก IDC ถือเป็นรางวัลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์  และ ล่าสุดเครื่องปรับอากาศรุ่น 'TCL FreshIN 3.0 Series' ที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมเทคโนโลยี Smart Fresh Air ประจำปี 2025 ในฐานะ 'รางวัลออสการ์' ของชุมชนเทคโนโลยี ในงาน Consumer Electronics Show (CES 2025) จัดขึ้นที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม 2568 โดยการจัดทัพนำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงในครั้งนี้ ไม่เพียงสะท้อนถึงความก้าวหน้าของ TCL ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ แต่ยังเป็นการแสดงความพร้อมสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในตลาดประเทศไทยและระดับนานาชาติ 

นอกจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยแล้ว TCL ยังได้จัดงานเลี้ยงขอบคุณตัวแทนจำหน่ายผู้เป็นพันธมิตรสำคัญของบริษัท โดยบรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความสนุกสนานและความอบอุ่น พร้อมด้วยมินิคอนเสิร์ตจาก ‘ไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช’ และ เซอร์ไพรส์สุดพิเศษจาก ‘ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์’ พรีเซ็นเตอร์ของ TCL ที่ร่วมงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยได้ขึ้นเวทีแสดงความยินดีกับความสำเร็จของบริษัท พร้อมถ่ายภาพและพบปะกับแขกผู้มีเกียรติอย่างเป็นกันเอง งานเลี้ยงในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จร่วมกันแล้ว ยังเป็นโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง TCL และเครือข่ายพันธมิตร เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตที่แข็งแกร่งไปด้วยกัน

สามารถชมข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.tcl.com/th/th/air-conditioners/freshin-3-0-series และ Facebook : TCL Electronics (TH)

‘เอกนัฏ’ สั่งทลาย รง. ลักลอบหลอมชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบของกลางทั้งสายทองแดง – ปลั๊กพ่วง มูลค่าเกือบ 5 ล้านบาท

(11 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการทีมตรวจสุดซอยนำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าตรวจสอบตามข้อร้องเรียนของประชาชน ตรวจค้นโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่หมู่ 2 ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งต้องสงสัยการกระทำผิดกฎหมายและพบการลักลอบปล่อยควันดำในช่วงเวลากลางคืน พบโกดังขนาดใหญ่เป็นที่ตั้งของบริษัท หงเยวี่ย รีนิวเอเบิล รีซอร์สเซส เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการหลอมโลหะและคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เศษเหล็ก เศษโลหะฯ ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ มีกรรมการ 1 รายเป็นชาวจีน คือ นายสื่อ ซวิ่นโป 

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก “แจ้งอุต” ขอให้เข้าตรวจค้นโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่หมู่ 2 ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ต้องสงสัยมีการกระทำผิดกฎหมายและพบการลักลอบปล่อยควันดำในช่วงเวลากลางคืน จึงได้แจ้งทีมตรวจสุดซอยเข้าตรวจสอบพบการกระทำที่ฝ่าฝืนและละเมิดคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างร้ายแรง จึงออกคำสั่งหยุดประกอบการทั้งหมด พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาครอบครองวัตถุอันตราย ทำลายสิ่งผูกมัดประทับตราที่เครื่องจักร เคลื่อนย้ายทำลายของกลางที่เจ้าหน้าที่ยึดอายัดไว้ และละเมิดและฝ่าฝืนเจ้าพนักงาน นอกจากนี้ยังได้เข้าตรวจสอบบริษัท ยูไนเต็ท ไป่เจีย อิเล็คทรอนิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิตสวิทซ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้า เต้าเสียบและอุปกรณ์ไฟฟ้า มีนายเย จวินฟา และ นายเย เจ่อเซิน เป็นกรรมการ พบปลั๊กพ่วง จำนวน 83,200 ชุด สายไฟฟ้าทองแดง จำนวน 42 ม้วน เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับที่อยู่อาศัย จำนวน 50 หน่วย มูลค่ารวมกว่า 4,787,000 บาท จึงได้สั่งยึดอายัดทั้งหมดและแจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทำผลิตภัณฑ์ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

“หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน "แจ้งอุต" https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี “traffyfondue” เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” เลขาฯ พงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย

GULF โกยกำไรปี 67 กว่า 1.81 หมื่นล้าน พุ่ง 22% หลังรับส่วนแบ่งจากธุรกิจโรงไฟฟ้า - INTOUCH

GULF โชว์กำไรสุทธิ ปี67 ที่ 18,170 ล้านบาท พุ่ง 22% จากธุรกิจพลังงานและส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH หนุน EBITDA เพิ่ม 13% ที่ 39,934 ล้านบาท

(11 ก.พ.68) นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF หรือบริษัท) เปิดเผยว่า GULF รายงานผลการดำเนินงานปี 2567 ที่แข็งแกร่ง

โดยมีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 124,585 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จาก 116,951 ล้านบาท ในปี 2566 และมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Orofit) เท่ากับ 18,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จาก 15,644 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัท มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,650 เมกะวัตต์ ซึ่งหน่วยผลิตที่ 3 และ 4 (รวม 1,325 เมกะวัตต์) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม และตุลาคม 2567 ตามลำดับ

ส่งผลให้โรงไฟฟ้า GPD ทั้ง 4 หน่วยเปิดดำเนินการครบตามกำหนดเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (HKP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,540 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 1 (770 เมกะวัตต์) ในเดือนมีนาคม 2567

ในขณะเดียวกัน GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากกลุ่ม GJP จำนวน 1,940 ล้านบาท ในปี 2567 เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 7 โครงการ โดยมี Load Factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 72% ในปี 2566 เป็น 79% ในปีนี้ เนื่องจากในระหว่างปี 2566 กลุ่มโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้มีการทยอยหยุดซ่อมบำรุง (B-inspection) ตามแผนงาน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 โครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา (Maintenance Expense) ของทั้ง 4 หน่วย ที่เริ่มทยอยซ่อมบำรุงระหว่างไตรมาส 3/2566-ไตรมาส 3/2567 แม้ว่าจะมีปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ที่เพิ่มขึ้น โดยมี Load Factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 73% ในปี 2566 เป็น 75% ในปี 2567 นอกจากนี้ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีกำไรที่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน

จากอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงตามราคาค่า Ft เฉลี่ยที่ลดลงในอัตราที่มากกว่าการลดลงของราคาค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย โดยค่า Ft เฉลี่ยลดลงจาก 0.89 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2566 เป็น 0.40 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2567 ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลงจาก 385.4 บาท/ล้านบีทียู ในปี 2566 เป็น 326.1 บาท/ล้านบีทียู ในปีนี้ ประกอบกับขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง เนื่องมาจากความต้องการที่ลดลงในกลุ่มลูกค้ายานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมมีเพียง 6% ของปริมาณการขายไฟฟ้าทั้งหมด บริษัทจึงได้รับผลกระทบอย่างจำกัด

ในส่วนของธุรกิจก๊าซนั้น GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการ PTT NGD จำนวน 1,077 ล้านบาท ในปี 2567 เพิ่มขึ้น 172% จาก 396 ล้านบาท ในปี 2566 โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 428.8 บาท/ล้านบีทียู ในปี 2566 เป็น 342.9 บาท/ล้านบีทียู ในปีนี้

ในขณะที่ราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นจาก 73.2 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในปี 2566 เป็น 75.7 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในปีนี้ ซึ่งราคาขายส่วนใหญ่ของโครงการ PTT NGD จะอิงกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ ในปี 2567 GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากการลงทุนในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (INTUCH) จำนวน 6,345 ล้านบาท

เพิ่มขึ้น 4% จาก 6,101 ล้านบาท ในปี 2566 โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของ ADVANC ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก ARPU ที่เพิ่มขึ้น จากการมุ่งเน้นจำหน่ายแพ็กเกจที่มีมูลค่าสูงขึ้น ประกอบกับการขยายฐานผู้ใช้บริการและการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ GULF มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 2567 จำนวน 39,934 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับ 35,370 ล้านบาท ในปี 2566

ในขณะที่กำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ในปี 2567 เท่ากับ 18,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จาก 14,858 ล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิที่ลดลง

โดยในปี 2567 บริษัทรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 176 ล้านบาท เทียบกับ 576 ล้านบาท ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 GULF มีสินทรัพย์รวม 496,202 ล้านบาท หนี้สินรวม 342,363 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 153,840 ล้านบาท

โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.80 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.69 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จากหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากการออกและจำหน่ายหุ้นกู้จำนวน 45,000 ล้านบาท ในปี 2567

ปตท. คว้า 6 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2567 สะท้อนศักยภาพการบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนทุกมิติ

(10 ก.พ. 68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Awards) ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด "รัฐวิสาหกิจไทย มากกว่าความภูมิใจ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" หรือ Beyond Pride, Towards Sustainability ให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ พร้อมด้วย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหารร่วมรับรางวัล รวม 6 รางวัล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ดร.คงกระพัน กล่าวว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของ ปตท. ที่ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศในวันนี้ สะท้อนศักยภาพการบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ ตามวิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” โดยมีภารกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

ในครั้งนี้ ปตท. ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น จำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย
1. รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น (เกียรติยศ) มอบให้คณะกรรมการ ปตท. ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร ภายใต้การกำกับดูแลที่ดี มีธรรมาภิบาลและโปร่งใส พร้อมบูรณาการความยั่งยืนเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ 

2. รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (เกียรติยศ)  โดย ปตท. ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เป็นเลิศ (Operational Excellence) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ และสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน (Strengthen Core Business) พร้อมพัฒนาบุคลากรและปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัวและสอดคล้องกับกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

3. รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน จากการที่ ปตท. ดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดยั่งยืนอย่างสมดุลในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลที่ดี พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย 

4. รางวัลการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น “โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม” กลุ่ม ปตท. ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการบริหารจัดการชุมชนใน 45 พื้นที่ 29 จังหวัด ผ่านการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ Smart Farming ส่งเสริมการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม เช่น โรงเรือนอัจฉริยะและระบบ IoT โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ Smart Marketing ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยสามารถพัฒนาสินค้าได้ 45 รายการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ Community-Based Tourism ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งมีชุมชนที่สามารถพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว มีทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจ และช่องทางการตลาดได้ด้วยตนเองถึง 6 พื้นที่

5. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ “โครงการนวัตกรรมท่อนาโนคาร์บอนจากก๊าซธรรมชาติ ของเสียไฮโดรคาร์บอน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ท่อคาร์บอนระดับนาโนเมตร (Carbon nanotubes; CNTs) มีคุณสมบัติเด่นที่นำไฟฟ้าและนำความร้อนได้ดี มีความแข็งแรงแต่น้ำหนักเบา และสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ซึ่งการผลิตวัสดุ CNTs เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของ Conductive materials, Polymer composite materials, EV value chain และ Smart electronic ที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้านนวัตกรรมให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และส่งออกไปทั่วโลกได้ในอนาคต 

6. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม “โครงการยีสต์ทนร้อนที่มีความสามารถ ในการผลิตเอนไซม์ย่อยแป้งที่ผิวเซลล์ (InnoTherm-380 GA)” เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นภายในประเทศทั้งหมด ซึ่งได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถพัฒนาให้ยีสต์มีความสามารถผลิตเอนไซม์ย่อยแป้งได้เองที่ผิวเซลล์ ด้วยการใช้โปรตีนฐานยึดเกาะเอนไซม์ชนิดใหม่ของโลก สามารถแข่งขันได้กับยีสต์แห้งทางการค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ลดการนำเข้าและการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางชีวภาพของประเทศไทย

“ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ยังคงมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพทางพลังงานให้กับประเทศ ดำเนินธุรกิจบนหลักยั่งยืนอย่างสมดุล รวมทั้งดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย” ดร.คงกระพัน กล่าวในตอนท้าย

ศึก ONE 168 สร้างเม็ดเงินสู่เดนเวอร์กว่า 18 ล้านเหรียญ สะท้อนการยอมรับในตลาดศิลปะการต่อสู้ระดับโลก

(10 ก.พ.68) วัน แชมเปียนชิพ (ONE) องค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับโลก เปิดเผยว่า ศึก ONE 168 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.ย.67 ณ เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับเมืองเดนเวอร์กว่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 6 ร้อยล้านบาท) โดยข้อมูลนี้อ้างอิงจากผลการศึกษาวิจัยของบริษัทพัฒนาเศรษฐกิจเมโทรเดนเวอร์ (EDC)

สำหรับศึก ONE 168 ถือเป็นการกลับมาจัดการแข่งขันในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 ของ ONE หลังจากประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการประเดิมจัดครั้งแรกในศึก ONE Fight Night 10 ณ เฟิร์สแบงก์ เซ็นเตอร์ รัฐโคโลราโด เมื่อเดือน พ.ค.66 ซึ่งบัตรเข้าชมถูกขายหมดเกลี้ยงล่วงหน้าหลายสัปดาห์ 

ขณะที่ครั้งนี้ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามไม่แพ้กัน โดยสามารถดึงดูดผู้ชมเกือบเต็มความจุ 10,000 ที่นั่ง ของสังเวียน บอล อารีนา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สะท้อนถึงการเติบโตของ ONE ในตลาดศิลปะการต่อสู้ขนาดใหญ่ระดับโลกอย่างสหรัฐอเมริกา

โดยรายงานตามผลการศึกษาวิจัยของ EDC เปิดเผยว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ชมในสนามเดินทางมาจากต่างรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 83 เปอร์เซ็นต์ ของผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้น ขณะที่กิจกรรมการใช้จ่ายโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับศึก ONE 168 อาทิ ค่าเดินทาง, ที่พัก, อาหารและเครื่องดื่ม มีมูลค่าสูงกว่า 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายด้านนันทนาการ คิดเป็นมูลค่า 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

งานวิจัยยังเผยข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า ผู้เข้าชมจากต่างรัฐเดินทางมาเฉลี่ยกลุ่มละ 2 คน และพักอยู่ในเมืองเดนเวอร์ประมาณ 3 คืน ซึ่งส่งผลให้มีการจองห้องพักสูงถึง 6,590 ห้อง ช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่พักในท้องถิ่นกว่า 1.4 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ศึก ONE 168 ยังช่วยกระจายรายได้สู่ประชาชนในรัฐโคโลราโด อีกกว่า 6.3 ล้านดอลลาร์ ผ่านการจ้างงานชั่วคราวอีก 146 ตำแหน่ง

ในโอกาสนี้ นายชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้ก่อตั้ง ประธานและซีอีโอของ ONE ได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจต่อความสำเร็จของศึก ONE 168 ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองเดนเวอร์

“พวกเรารู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ศึก ONE 168 เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับเดนเวอร์ และสร้างมูลค่าสื่อกว่า 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการถ่ายทอดสดและสตรีมมิงทั่วโลกผ่านเครือข่ายพันธมิตรของเรา”

“วัน แชมเปียนชิพ เป็นที่รักของแฟนกีฬาการต่อสู้มากที่สุดในโลก และเราขอบคุณพวกเขาที่เดินทางมาร่วมชมการแข่งขัน รวมถึงแฟน ๆ ทุกคนของเราในโคโลราโด ที่เข้าร่วมและทำให้อีเวนต์นี้เป็นค่ำคืนที่น่าจดจำ”

“นอกจากนี้ เราต้องขอขอบคุณพันธมิตรของเราอย่าง โครเอนเก สปอร์ต & เอนเตอร์เทนเมนต์ และหอการค้าเดนเวอร์เมโทร ที่ให้การสนับสนุนจนทำให้อีเวนต์นี้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถสร้างความทรงจำที่น่าประทับใจและสร้างผลกระทบแบบเดียวกันต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นของอเมริกา จากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องของเรา” 

ทั้งนี้ ONE จะหวนกลับมาจัดการแข่งขันขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ โดยจะประกาศรายละเอียดของอีเวนต์ดังกล่าวให้ทราบต่อไป

‘เอกนัฏ’ ลุยสิงคโปร์ ศึกษาจัดการ PM 2.5 – ฝุ่นควันข้ามแดน หวังใช้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน - ดึงดูดลงทุนเพิ่ม

‘เอกนัฏ’ นำทีมเยือนสิงคโปร์ ศึกษาต้นแบบความสำเร็จด้านการจัดการ PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดน เล็งนำแนวทางมาปรับใช้ในไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลไทย ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและส่งเสริมการลงทุนในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2568 ตนเองพร้อมด้วย นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ กนอ. ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ เพื่อศึกษาและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดการฝุ่นควันข้ามแดน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์ และเข้าร่วมประชุมหารือกับนายโคห์ โพห์ คูน (Koh Poh Koon) รัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐของกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ ด้วย

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภูมิภาคอาเซียนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ  สิงคโปร์ ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยฝุ่นควันข้ามแดนเพื่อป้องกันและลดมลพิษจากไฟป่าและไฟบนพื้นดิน โดยมีความร่วมมือในการติดตามตรวจสอบ แลกเปลี่ยนข้อมูล และเทคโนโลยีระหว่างกัน ซึ่งการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา PM 2.5 การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เพื่อให้ชุมชนและภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหา PM 2.5 และปัญหาฝุ่นควัน ไม่เพียงช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากประเทศไทยสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น

“เราต้องการให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหา PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ จึงเป็นวาระสำคัญที่เราต้องเร่งดำเนินการแก้ไข” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า กนอ.สามารถนำแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในนิคมอุตสาหกรรมได้ โดยการกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดสำหรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับโรงงานที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ส่งเสริมให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างจริงจัง

“กนอ.ชื่นชมและเห็นด้วยกับหลักการของสิงคโปร์ ในการจัดการปัญหาฝุ่นควัน และพร้อมนำแนวทางดังกล่าว มาปรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่ง กนอ.มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรฐานและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยเราต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน” นายสุเมธ กล่าว

สำหรับการเดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2568 คณะได้มีการประชุมหารือกับกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์ (Ministry of Sustainability and the Environment) ณ สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (The National Environment Agency : NEA, Singapore ) โดยมีนางอุรีรัชต์ เจริญโต เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์ เข้าร่วมในการประชุมหารือในครั้งนี้ด้วย โดยการเยือนสิงคโปร์ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดนอย่างยั่งยืนในอนาคต

‘เคทีซี’ ครองตลาด!! ‘บัตรเครดิตค่ายเจซีบี’ ในไทย เผย!! ‘ยอดใช้จ่าย-ปริมาณสมาชิกใหม่’ สูงสุด!!

(8 ก.พ. 68) เคทีซีเผยยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบี ในปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15% จำนวนสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น 20% ขึ้นแท่นบัตรเครดิตเจซีบีอันดับหนึ่งที่มีจำนวนทั้งสมาชิกใหม่และยอดรวมการใช้จ่ายมากที่สุดในประเทศไทย โดยสมาชิกนิยมใช้จ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นยอดใช้จ่ายก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 18% สอดรับกับเทรนด์นักท่องเที่ยวไทยที่ยังนิยมเดินทางไปญี่ปุ่นเป็นอันดับต้น ๆ เคทีซีจึงได้ร่วมกับเจซีบี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ออกแคมเปญ ‘JCB ลุ้นเปย์ไป JAPAN’ หวังกระตุ้นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซี เจซีบี ตลอดแคมเปญปรับตัวสูงขึ้น 15% นอกจากนี้ ยังขยายฐานสมาชิกใหม่ ด้วยแคมเปญแจกโค้ดส่วนลดค่าอาหาร GrabFood คาดผลตอบรับดี มียอดสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น 35 %

นายธศพงษ์ รังควร ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกที่ถือบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบี แพลทินัม และบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบี อัลติเมท รวมกันทั้งสิ้นกว่า 300,000 ใบ สมาชิกนิยมใช้จ่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมียอดใช้จ่ายอยู่ 15,000 ล้านบาท สำหรับในประเทศบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบี มีความโดดเด่นเรื่องโปรโมชันในหมวดร้านอาหารสไตล์โอมากาเซะ (Omakase) และห้างสรรพสินค้า ส่วนการใช้จ่ายที่ต่างประเทศ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด โดยมียอดใช้จ่ายอยู่ที่กว่า 1,180 ล้านบาท ในปี 2568 นี้ เคทีซีจึงได้ร่วมมือกับเจซีบี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ออกแคมเปญ 'JCB ลุ้นเปย์ไป JAPAN' ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2568 - วันที่ 30 เมษายน 2568  สมาชิกลงทะเบียนและใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบี ทุกประเภทตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป / เซลส์สลิป รับ 1 สิทธิ์ลุ้นรับรางวัลดังนี้ 1) แพ็กเกจทัวร์ญี่ปุ่น 6 วัน 4 คืน จำนวน 2 รางวัล (รางวัลละ 2 ที่นั่ง) มูลค่ารางวัลละ 265,000 บาท รวมมูลค่า 530,000 บาท หรือ 2) จี้ทองคำรูปดอกซากุระน้ำหนัก 2 สลึง จำนวน 5 รางวัล มูลค่ารางวัลละ 22,800 บาท รวมมูลค่า 114,000 ระหว่าง ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ktc.co.th/promotion/overseas-privilege/asia/jcb-lucky-draw-x-japan

มิสเตอร์โคเฮ ฟุคามิ รองผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายออกบัตรเครดิต “เจซีบี” หรือ บริษัท เจซีบี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เคทีซีเป็นพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง ด้วยจำนวนสมาชิกผู้ถือบัตรใหม่และยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง สำหรับในปี 2568 เจซีบียังคงเดินหน้ามอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบีอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมสิทธิพิเศษด้านการเดินทางที่ประเทศญี่ปุ่น และยังคงเน้นความพิเศษให้กับสมาชิกเมื่อใช้จ่ายในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะหมวดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารญี่ปุ่น และโรงภาพยนตร์ชั้นนำ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกที่มีความหลากหลาย นอกเหนือจากการร่วมกันออกแคมเปญ ‘JCB ลุ้นเปย์ไป JAPAN’

นายธศพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 นี้ เคทีซียังมุ่งขยายฐานสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบี โดยมีเป้าหมายสมาชิกเพิ่มขึ้น 35% ด้วยการมอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้สนใจสมัครบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบี (บัตรหลักใหม่) ซึ่งได้รับอนุมัติภายในระยะเวลาที่กำหนด และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรตั้งแต่ 3 รายการขึ้นไป ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับอนุมัติบัตร จะได้รับโค้ดส่วนลด GrabFood มูลค่ารวม 500 บาท (โค้ดส่วนลดใบละ 100 บาท จำนวน 5 ใบ) ตั้งแต่วันที่  1 มกราคม 2568 - วันที่ 31 มีนาคม 2568 และระยะเวลาอนุมัติบัตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 - วันที่ 30 เมษายน 2568 ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ktc.co.th/promotion/online/dining/grabfood-x-ktcjcb

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ KTC PHONE 02 123 5000 หรือติดตามโปรโมชันของเคทีซีได้ที่ https://www.ktc.co.th สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี สามารถคลิกดูรายละเอียดได้ที่ลิงก์ https://ktc.cards/apply-pop-jcb หรือติดต่อศูนย์บริการสมาชิก ‘เคทีซี ทัช’ ทุกสาขาทั่วประเทศ

‘EBC Financial Group’ วิเคราะห์!! แนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อในประเทศ เริ่มผ่อนคลาย แต่ยังมีความเสี่ยง ที่ยังคงต้องติดตาม

(8 ก.พ. 68) เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2568 เศรษฐกิจในไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และความผันผวนของตลาดทั่วโลก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่อ่อนแอ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาทางโครงสร้าง ซึ่งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว EBC Financial Group (EBC) ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศ โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเสนอแนวโน้มและโอกาสการลงทุนในปี 2568

อัตราเงินเฟ้อและนโยบายการเงินที่มีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงปลายปี

ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ตั้งไว้ระหว่าง 1% ถึง 3% โดยในเดือนธันวาคม ปี 2567 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยับขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก เดือนพฤศจิกายน 0.95% ซึ่งถือเป็นการกลับเข้าสู่ช่วงเป้าหมายครั้งแรกในรอบ 7 เดือน แม้จะมีการปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี แต่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2567 ยังคงอยู่ที่ 0.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี
.
เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อระดับต่ำและความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.25% ในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 หลังจากนั้น ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในเดือนธันวาคม โดยอ้างถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นในการรักษาความยืดหยุ่นทางนโยบายเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธปท. คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ที่ 2.9% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงเป้าหมายที่ 1%-3% โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.1%

นักวิเคราะห์จาก EBC เตือนว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีข้อจำกัดจากความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะภาคการส่งออกของประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหาจากการชะลอตัวของการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันการลงทุนจากภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงไม่แน่นอน และเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือระหว่างมาตรการการเงินและการคลังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในเอเชีย แต่ตลาดการเงินของไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอก อาทิ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ EBC มองว่า ปัจจัยภายในประเทศไทยและแรงกดดันจากภายนอก สร้างทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับนักลงทุน เราเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในตลาด

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฟื้นฟูและภาคการท่องเที่ยว

การฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ในปี 2567 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 35.5 ล้านคน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานยังต่ำกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเกิดจากความไม่สงบทางการเมืองและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ ความไม่สอดคล้องระหว่างการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและผลประกอบการของตลาดหุ้น สะท้อนถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสสำหรับการลงทุน

รัฐบาลไทยรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ โดยดำเนินมาตรการทางการคลังหลายด้าน เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 490,000 ล้านบาท ที่มุ่งเป้าไปยังประชากรประมาณ 45 ล้านคน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2.9% ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 และมาตรการภาษีที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดถึง 50,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคต่าง ๆ EBC ระบุว่า มาตรการเหล่านี้อาจช่วยสนับสนุนธุรกิจในภาคสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ อาจเป็นโอกาสการเติบโตสำหรับนักลงทุนระยะยาว ผลสำเร็จของมาตรการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถของไทยในการดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อจีนและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2568 คือ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนและอาจทำให้จีนต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในจีนยังคงอ่อนแอ การท่องเที่ยวออกนอกประเทศอาจชะลอตัวลง

แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในภาคการท่องเที่ยว แต่ประชาชนจีนยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดในปี 2567 ความไม่แน่นอนนี้อาจสนับสนุนให้ทองคำมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมทองคำยังคงได้รับความนิยมและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

นักวิเคราะห์ แนะนำว่า นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสินทรัพย์ทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ อาจมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน เพื่อตอบสนองต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น

เศรษฐกิจไทย 68 โตมากสุด 3.3% อานิสงส์เงิน 1 หมื่น แนะมุ่งสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม รับศึกการค้าทรัมป์ 2.0

(7 ก.พ.68) ธนาคาร HSBC ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียและไทยในหัวข้อ 'Asia and Thailand Economic Outlook 2025' โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ และการปรับตัวของเศรษฐกิจจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากภาคการผลิตสู่ภาคการบริโภค

เฟรดเดอริค นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียของ HSBC ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีโอกาสเติบโตที่ 2.7-3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก 3 ประการ ได้แก่

1. การขยายตัวของภาคการส่งออก ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะเมื่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่า
2. ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ยังคงเป็นจุดแข็งของไทย โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ที่แจกจ่ายให้ประชาชนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เฟรดเดอริคเตือนว่า ในปี 2026 การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุดลง

HSBC มองว่า ไทยยังมีศักยภาพในการเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 50% เทียบกับ 10% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ EV อุปกรณ์ชิปประมวลผล (Processor) และอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียน เช่น มาเลเซียในด้านเซมิคอนดักเตอร์ หรือเวียดนามในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

แม้ไทยจะมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ของภูมิภาค แต่ HSBC ชี้ว่ายังมีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องแก้ไข เช่น การลดกฎเกณฑ์การกำกับดูแล การพัฒนาทักษะของบุคลากร การปรับปรุงระบบ Back Office และการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงจากต่างประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์

เฟรดเดอริคยังเตือนถึงความท้าทายสำคัญในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นั่นคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวและกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

HSBC มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีโอกาสเติบโตได้ถึง 3.3% จากปัจจัยสนับสนุนทั้งภาคส่งออก การท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ต้องแก้ไข ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพทางการเงินระดับภูมิภาคและการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

สกพอ. MOU กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผนึกกำลังส่งเสริมการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สู่พื้นที่อีอีซี

เมื่อวันที่ (6 ก.พ.68) ณ North Hall มหาศาลาประชาชน สาธารณรัฐประชาชนจีน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายหลี่ เฉียง (H.E. Mr. Li Qiang) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมด้านการลงทุนสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับ กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และนายหวัง เหวินเทา (Mr. Wang Wentao) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐทั้งจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมงาน

ในการลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัล ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองฝ่าย และเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ คลังสินค้าอัจฉริยะ การแสดงสินค้าทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนอย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2561 – เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจจีน ให้ความสนใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการลงทุนสูงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มูลค่ารวม 289,951 ล้านบาท ทำให้ความร่วมมือดังกล่าวเน้นย้ำการสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (9) : จริงหรือ? ที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว สาเหตุสำคัญทำให้ ‘ค่าไฟฟ้า’ แพง

‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ปัญหาที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งยากแก่การแก้ไขของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมายาวนานจนกระทั่งทุกวันนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยมักจะรับเอาแต่ข้อมูลต่าง ๆ จากนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก เพียงด้านเดียว ซึ่งกล่าวถึงสาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ไว้อย่างมากมาย (แต่เป็นสาเหตุที่บอกเล่าข้อมูลโดยไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ และทุกมิติ) อาทิ “โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว (Enhanced Single Buyer Model (ESB))’ ซึ่งรัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียว” จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ หรือ “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” หรือ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ “อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ ก็ตาม สูงมาก” หรือ “การผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ ยังน้อยไป” ฯลฯ ซึ่ง TST จะได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ที่ได้มีการหยิบยกมากล่าวอ้างพอเป็นสังเขป

จริงหรือ? ที่ โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว’ จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ แน่นอนที่สุดว่า การซื้อ-ขายไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นผูกขาดโดยรัฐ ‘กฟผ.’ ซื้อ-ขายไฟฟ้า โดยรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ได้แก่ IPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 MW) และ SPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 MW) รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ แล้วขายให้ “กฟน. และ กฟภ.” ส่วน “กฟน. และ กฟภ.” เองก็รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 10MW) เพื่อขายให้ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่ง นักวิชาการ สื่อ และ NGO ต่างก็บอกว่า การตัดสินใจและวางแผนแบบรวมศูนย์โดยมีผู้ซื้อเพียงรายเดียว นั้นทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มการใช้กลไกตลาดเข้าไปในระบบไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรีขึ้นในประเทศไทย 

อันที่จริงแล้วการเปิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรีก็ไม่ต่างไปจากเรื่องของความพยายามในการแปรรูป ‘กฟผ.’ ให้เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์เลย เพราะ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ จะทำให้วัตถุประสงค์หลักในการดำเนิน ‘กิจการไฟฟ้า’ อันเป็นกิจการเพื่อบริการสาธารณะหายไป เพราะ ผู้ประกอบการใน ‘ตลาดไฟฟ้า’ ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เพื่อจ่ายเงินปันผลจากกำไรให้กับผู้ถือหุ้น อีกทั้งความเสรีจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความได้เปรียบ ซึ่งที่สุดอาจจะนำไปสู่การเป็น ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้าผูกขาด’ แทน ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี’ ตามที่คาดหวังเอาไว้ อีกทั้งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานได้ ตัวอย่างเช่นที่เคยเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง 2 ครั้งในทวีปอเมริกาเหนือฝั่งตะวันตก เมื่อปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) โดยเกิดขึ้นทั่ว แคนาดาฝั่งตะวันตก สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก และเม็กซิโกฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม และ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นห่างกัน 6 สัปดาห์ และเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากความต้องการไฟฟ้าเกินในช่วงฤดูร้อน และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 7.5 ล้านรายไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลาหลายนาทีจนถึง 6 ชั่วโมง ไฟฟ้าดับตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงนิวเม็กซิโก และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้า 4 ล้านรายไม่มีไฟฟ้าใช้ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่สูงถึงสามหลัก และในปี พ.ศ. 2543-2544 ได้เกิดวิกฤตการณ์ไฟฟ้าในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (วิกฤตการณ์พลังงานทางตะวันตกของสหรัฐฯในปี 2000 และ 2001) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอันเนื่องมาจากการจัดการตลาดและราคาขายปลีกไฟฟ้าที่ถูกจำกัด ทั้ง ๆ ที่มี  ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี จนทำให้มลรัฐนี้ต้องประสบกับปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่หลายครั้ง และบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของมลรัฐแคลิฟอร์เนียล้มละลาย เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและส่งผลกระทบต่อสถานะของ  Gray Davis ผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนียในขณะนั้นเป็นอย่างมาก จน Arnold Schwarzenegger พระเอกคนเหล็กได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการมลรัฐนี้แทนและได้รับเลือกถึง 2 สมัย

ทั้งนี้ โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว’ มีจุดแข็งคือ “ทำให้รัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการในกิจการไฟฟ้าได้อย่างเด็ดขาด 100% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา และความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า นอกจากนั้น รัฐบาลยังสามารถสั่งการให้หน่วยงานด้านกิจการไฟฟ้าทั้ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ การยกเว้น ‘ค่าไฟฟ้า’ ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยที่มีความรุนแรง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ในต้นทุนคิดเป็นสัดส่วนราว 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย หากแต่เป็นการซื้อ-ขายใน ‘ตลาดไฟฟ้า’ แล้ว รัฐจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าในสภาวะวิกฤต ฯลฯ ได้ยากมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐไม่สามารถจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงได้เลย อาทิ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤต ฯลฯ จะต้องมีการใช้กฎหมายพิเศษเช่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก เสียก่อน แล้วรัฐจึงจะเข้าไปดำเนินการได้

นอกจากนี้แล้ว ‘กิจการไฟฟ้า’ ไม่ใช้เฉพาะเพียงแต่การเป็นการซื้อ-ขายกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ยังมีเรื่องของ ‘ต้นทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (ขายปลีก)’ ซึ่งเป็นระบบที่นำไฟฟ้าไปสู่ผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1)สายจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งเป็นตามระดับแรงดัน (2)หม้อแปลงไฟฟ้า ทำหน้าที่เพิ่มหรือลดระดับแรงดันไฟฟ้าเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับระบบไฟฟ้าภายในบ้าน, สำนักงาน, โรงงานอุตสาหกรรม และ ‘ต้นทุนระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)’ อันเป็นระบบที่ส่งไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าจนถึงสถานีไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งจะปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย (1)สายส่งไฟฟ้าแรงสูง (Transmission Line) (2) สถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) (3)ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (National Control Center : NCC) หาก ‘กิจการไฟฟ้า’ เข้าสู่ระบบ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ แล้ว จะทำให้มีการตั้งบริษัทหรือกิจการที่ดูแลรับผิดชอบขึ้นมาอีกต่างหาก และแน่นอนภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่และประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่เพิ่มมากกว่าที่ต้องจ่ายแต่เดิมอย่างแน่นอน

'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' ประสบผลสำเร็จเจรจาญี่ปุ่นขยายความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรน้ำบาดาลและเทคโนโลยีแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)  พร้อมด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของ รมว. ทส. นายนริศ ขำนุรักษ์ นายธนา ชีรวินิจ คณะทำงาน รมว.ทส. นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว 

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและคณะผู้แทนไทย เข้าพบหารือกับนายคัตสุโนริ ทาคาฮาชิ ( Mr. Katsunori Takahashi )รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT)เพื่อขยายความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดินและน้ำบาดาล ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

ดร.เฉลิมชัย ได้หารือในหลากหลายประเด็นสำคัญ ตั้งแต่เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ (Integrated Water Resources Management: IWRM) การพัฒนาเทคโนโลยีแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน และการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพด้านทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะน้ำใต้ดินและน้ำบาดาล ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดิน และน้ำบาดาลของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยต่อยอดการศึกษาและวิจัยเพื่อรองรับความท้าทายด้านทรัพยากรน้ำในอนาคต

ทั้งนี้ นายคัตสุโนริ ทาคาฮาชิ ( Mr. Katsunori Takahashi )รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT) ได้นำเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดิน น้ำพุร้อนและน้ำบาดาลของญี่ปุ่นพร้อมกับตอบรับข้อเสนอในการขยายความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทยอย่างกระตือรือร้นและมอบหมายหน่วยงานในสังกัดประสานงานกับกรมน้ำบาดาลโดยทันทีเพื่อดำเนินการตามข้อหารือของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)

นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของการเยือนญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ในการขยายความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในด้านการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดินและน้ำบาดาลในภาวะที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม

‘พีระพันธุ์’ เดินหน้าตั้งกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน พร้อมเร่งรัดการทำงานเตรียมรับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล ปี 69

(6 ก.พ. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า วานนี้(5 กุมภาพันธ์ 2568) ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นครั้งแรก ตามที่ตนได้เคยกล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้น แต่เนื่องจากมีการเสนอกฎหมายในทำนองเดียวกันจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีการมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องทำการศึกษากฎหมายฉบับดังกล่าวเสียก่อนว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายที่จะยกร่างหรือไม่ จึงทำให้เวลาล่วงเลยไประยะหนึ่ง 

บทสรุปในวันนี้คือทางเราจะเร่งเดินหน้ายกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นโดยมีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการในการยกร่างกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการ และเพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้นในการทำงาน จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างกฎหมายอีก 1 คณะ เพื่อให้การยกร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว 

ตนเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยทําให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มมีหลักประกันในการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งสร้างความเป็นธรรมในด้านรายได้ และจะทําให้วงจรของการนําน้ำมันปาล์มไปผลิตเป็นสินค้า หรือว่าเพิ่มมูลค่าเป็นระบบและครบวงจร 

สำหรับรูปแบบของร่างกฎหมายฉบับนี้จะนำรูปแบบของพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาปรับใช้ โดยกฎหมายอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มก็จะออกมาในทำนองเดียวกัน

นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2569 ที่จะถึงนี้ เงินจากกองทุนน้ำมันที่ต้องไปสนับสนุน ตรึงราคาน้ำมันปาล์มจากการที่เอาน้ำมันปาล์มผสมกับน้ำมันดีเซลจะถูกหยุดลง เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ต้องรีบเตรียมการเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มมีตลาดเพิ่มมากขึ้น หลังจากการลดการสนับสนุนให้ผสมกับน้ำมันดีเซลของกองทุนน้ำมัน ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการจะเกิดปัญหาต่อไป

ดังนั้นตนพร้อมทั้งกระทรวงพลังงาน รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งนำโดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ก็ได้ช่วยกันเตรียมความพร้อมเพื่อแก้ไขปัญหาและรองรับกับสถานการณ์ใน พ.ศ. 2569 ตนเชื่อว่าการเตรียมการนี้จะแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นให้ลุล่วงไปด้วยดี 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top