‘กรมขนส่งทางราง’ เร่งพัฒนา!! เส้นทางรถไฟสาย ‘สิงคโปร์ - คุนหมิง’ เชื่อมยุโรป เน้นให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ขนส่งสินค้าผลไม้ ไปยัง ‘จีน – ยุโรป’ ผ่านการขนส่งทางราง
(26 เม.ย. 68) กรมขนส่งทางราง เร่งพัฒนาเส้นทางรถไฟสาย 'สิงคโปร์– คุนหมิง' พร้อมชูจุดแข็งไทยศูนย์กลางภูมิภาค ขนส่งสินค้าผลไม้ ไปยุโรปผ่านรางรถไฟ เร่งผลักดันความร่วมมือ Single Window เป็นศุลกากรเดียว หวังให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องส่งออกสินค้า ผลไม้ไทยได้รวดเร็ว ลดต้นทุนขนส่งแบบไร้รอยต่อ
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงการเดินทางไปศึกษาดูงานเส้นทางการขนส่งทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะสื่อมวลชนว่า การมาศึกษาดูงานที่นครฉงชิ่ง เนื่องจากนครฉงชิ่ง ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางเชื่อมโยงทางการค้าและการขนส่งของจีนในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟจากนครฉงชิ่งยังเป็นเส้นทางการขนส่งทางรางที่สามารถเชื่อมต่อจากจีนไปยังยุโรปได้ ซึ่งถือเป็นเส้นทางขนส่งทางรางที่มีศักยภาพสูง เปิดเส้นทางรถไฟ 'สิงคโปร์–คุนหมิง' เชื่อมโลก
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางราง และการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศของจีน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการเชื่อมต่อระบบรางของประเทศไทยผ่านรถไฟทางคู่ไทยมายังจีน ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันไทยได้มีการขนส่งสินค้าประเภทต่างๆ มายังฉงชิ่ง ซึ่งการขนส่งทางรางดังกล่าวอยู่ในแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟสาย 'สิงคโปร์-คุนหมิง' ที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง ขณะเดียวกันไทยยังหวังที่จะส่งผลไม้ที่สำคัญมายังจีนผ่านทางรางเชื่อมต่อออกไปยังยุโรป
เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ถือเป็นเส้นทางที่จะสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อไปยังตลาดการค้าสำคัญอย่างจีน และยุโรป เนื่องจากเส้นทางรถไฟสายนี้มีแนวเส้นทางผ่านไทยเป็นศูนย์กลาง เริ่มต้นจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ท่าเรือแหลมฉบัง/มาบตาพุด ผ่านหนองคาย เวียงจันทน์ บ่อเต็น โม่ฮาน คุนหมิง ฉงชิ่ง ซินเจียง อี้หนิง คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ และเข้าสู่ทวีปยุโรป
โดยในปัจจุบันไทยได้มีการทดลองขนส่งสินค้ามายังยุโรปผ่านเส้นทางแล้ว โดยได้ทดลองขนสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์จากมาบตาพุด ประเทศไทยไปยังฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี พบว่าใช้เวลาประมาณ 30 วันในครั้งแรก และลดลงเหลือ 22 วันในครั้งที่สอง ปลดล็อกศุลกากรเดียว 'ไทยถึงยุโรป'
นายพิเชฐ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันยอมรับว่าการขนส่งในเส้นทางรถไฟสายนี้ยังใช้เวลามาก เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องศุลกากรระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบสินค้า รวมไปถึงสับเปลี่ยนขบวนรถเมื่อข้ามพรมแดนประเทศ เนื่องจากปัจจุบันรถไฟของแต่ละประเทศยังมีการใช้ระบบรางที่แตกต่างกัน แต่ทุกประเทศอยู่ระหว่างร่วมกันแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ ซึ่งข้อจำกัดที่พบว่าสามารถร่วมกันแก้ไขได้ คือ การตรวจสอบเอกสารศุลกากร ให้เป็นการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการจัดทำเอกสารภายใต้รูปแบบเดียวกัน หรือ Single Win dow หากทำได้จะส่งผลให้กระบวนการศุลกากรสามารถกรอกข้อมูล และตรวจสอบผ่านระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ได้ทีเดียว
อย่างไรก็ดี หากแก้ไขข้อจำกัดเรื่องนี้ได้ คาดว่าจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางรางไปได้ครึ่งนึง โดยจะทำให้การขนส่งสินค้าทางรางจากไทยไปยังหลายประเทศในยุโรปที่ปัจจุบันใช้เวลาเฉลี่ยราว 22 วัน จะลดลงเหลือเพียง 11 วันเท่านั้น และนับเป็นโครงข่ายการขนส่งระหว่างประเทศที่รวดเร็ว คุ้มค่ามากที่สุด หากเทียบกับการขนส่งสินค้าทางเรือที่มีต้นทุนไม่สูงแต่ก็พบว่าปัจจุบันต้องใช้เวลามากกว่า 1 เดือนในการขนส่งสินค้าไปยังยุโรป
นายพิเชฐ กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ ขร.ยังได้ประเมินโอกาสและความได้เปรียบทางการขนส่งของไทย นอกจากภูมิประเทศจะอยู่ตรงศูนย์กลางของเส้นทางรถไฟสายนี้ก็ตาม ก็จะต้องสร้างโอกาสในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อให้เชื่อมต่อกันสมบูรณ์ ในส่วนของผู้ประกอบการไทยก็มีโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศต่างๆ ผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ โดยเฉพาะสินค้าที่เน่าเสียง่าย ผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ มะม่วง ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าผลไม้ที่ปลูกในจีนหรือเวียดนาม ก็ส่งออกสินค้า ผ่านรถไฟ ใช้เวลาไม่นาน ควบคุมคุณภาพได้ และมีต้นทุนขนส่งที่ต่ำ หวังรถไฟไทย–จีนเปิดเต็มสูบช่วยขนสินค้า
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า จากที่ ลาว และจีนได้มีการเปิดให้บริการ รถไฟลาว-จีน อย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 วันนั้นก็ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน เพราะผู้ประกอบการขนส่งได้หันมาขนส่งสินค้าทางรถไฟมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากสถิติปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย-สปป.ลาว ในปี 2564 มีปริมาณการขนส่งเพียง 2,288 ตัน แต่พอมาในปี 2566 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 46,287 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 63,676 ตันในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 37.56% เมื่อเทียบกับปี 2566 และเมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่ามีการเติบโตอย่างมาก
ดังนั้นหากประเทศไทยมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน เส้นทาง กทม.-หนองคาย แล้วเสร็จ และเปิดบริการในปี 2572 ตามกำหนด เส้นทางนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางขนส่งทางรางที่สำคัญของไทย ที่นอกจากขนส่งคนในการเดินทางแล้ว ยังเป็นระบบการขนส่งที่สำคัญที่จะขนสินค้าประเภทต่างๆ หรือสินค้าที่เน่าเสียง่าย โดยเฉพาะผลไม้ตามฤดูกาลของไทย เช่น ทุเรียน ไปยังตลาดโลกได้ ในระยะเวลาที่สั้นลง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ที่สดมากๆ
นายพิเชฐ ยังได้กล่าวย้ำว่า ในปัจจุบันไทยมีการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านทางรถไฟทางคู่ไทยเชื่อมต่อไปยังนครฉงชิ่ง ใช้เวลาเดินทางรวมประมาณ 4 วัน และหากไทยมีรถไฟความเร็วสูง ไทย จีน ก็จะยิ่งส่งผลให้ประเทศไทยไปยังจีน และยุโรปได้เร็วขึ้นจากเดิม ซึ่งนั่นก็จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันการขนส่งสินค้า และ การค้าเพิ่มขึ้นในตลาดโลกได้