Saturday, 4 May 2024
ECONBIZ

'รมว.ปุ้ย' เตือน!! อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ต้องเร่งเครื่อง ปรับจุดเปลี่ยนให้เป็นโอกาส

(18 มี.ค. 67) อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยนั้น ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สามารถสร้างรายได้ทั้งในประเทศและการส่งออกได้อย่างมากในทุก ๆ ปี อ้างอิงจากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ในปี 2566 มียอดการผลิตรถยนต์ในเดือน ม.ค.-ธ.ค. รวมทั้งสิ้น 1,841,663 คัน และมีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วงดังกล่าวรวม 1,117,539 คัน มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท แต่หากว่ามีการรวมกลุ่ม เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ จะส่งผลให้มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 1,046,201.01 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงอย่างมาก

ขณะที่ในปี 2567 นี้เอง กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ก็ยังได้ประมาณการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทว่าจะอยู่ที่ 1,900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่ 3.17% แยกเป็นผลิตเพื่อการส่งออกที่ 1,150,000 คัน การผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศนั้นยังเป็นกลุ่มที่สามารถจะสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้นก็มีเรื่องที่ต้องจับตาและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น และสามารถตอบสนองความต้องการของคนในสังคม รวมทั้งเทรนด์ของโลกได้

เนื่องด้วยปัจจุบันที่โลกกำลังเร่งเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อที่จะมุ่งไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์นั้น ทำให้กระบวนการทำงานต่าง ๆ ถูกปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับบริบทนั้น ๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญและพัฒนาความนิยมไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี โดยประเทศไทยตื่นตัวกับเรื่องนี้มาสักระยะหนึ่ง

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยกล่าวไว้ในการปาฐกถาในหัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก’ ว่า “เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะสามารถกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของฐานการผลิตยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้าของโลก พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาโลกส่งต่อให้คนรุ่นหลัง”

โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก แต่ก็คงต้องยอมรับว่ามีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบมากมายเช่นกัน อาทิ ภาพสัดส่วนของยานยนต์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เครื่องยนต์สันดาป (ไออีซี) จะหายไปเลยหรือไม่ สุดท้ายแล้วยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะครองโลกหรือไม่ โดยไทยต้องมียุทธศาสตร์ทั้งรุกและรับ ต้องลุยไปข้างหน้าในขณะที่ยังต้องมีความยืดหยุ่นปราดเปรียวพร้อมปรับตัว ก้าวย่างต้องมีจังหวะที่พอเหมาะพอดี ไม่ช้าจนตกเวที ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน แต่ก็ไม่เร็วจนหลุดโค้ง

“การที่ประเทศไทยจะรักษาความเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ผสมผสานในหลาย ๆ ด้านทั้งยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ใช้จุดแข็งที่ไทยมีในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค เพื่อเร่งปรับตัวก้าวให้ทันกับกระแสของอีวี ยานยนต์ไฟฟ้า และยุทธศาสตร์ในเชิงรับ ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้สามารถยืนหยัด พัฒนายานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น และส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ประเภทเชิงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่มีผู้เล่นในตลาดโลกมากนัก ถือเป็นโอกาสของผู้ผลิตของไทยที่ยกระดับการเป็นผู้ผลิตและการทำตลาดในประเทศและการส่งออก” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ไทยต้องสนับสนุนคือเรื่องพลังงานหมุนเวียน พลังงานสีเขียวมากขึ้น เพราะบริษัทต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องนี้ในการเข้ามาตั้งโรงงาน นอกจากนี้รัฐบาลต้องส่งเสริมเรื่องคนในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เนื่องจากการมีโรงงานเข้ามาตั้ง เพราะหากประเทศมีความพร้อมทางภาคแรงงานจะสามารถสร้างการยอมรับจากประเทศอื่น ๆ ได้ และมีโอกาสกระจายสินค้าจากไทยไปต่างประเทศได้มาก โดยด้านคนหรือแรงงานนั้นเรื่องที่ต้องโฟกัสคือด้านหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาในปัจจุบัน เพื่อรองรับตลาดแรงงานในอนาคต รัฐต้องจับมือกับเอกชนพัฒนาให้แรงงาน นักศึกษา มีสถานที่ฝึกงาน และต้องผลักดันให้เกิดการร่วมทุนการค้าไทย

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็มจี เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอเชียเป็นตลาดใหญ่สุดในยอดขายรถยนต์ และเป็นอีวี 9.9 ล้านคันทั่วโลก เท่ากับ 14% โดยตลาดที่มีอัตราเติบโตคือ ตลาดที่ไม่มีพลังงานของตัวเอง สำหรับประเทศไทยรถยนต์สันดาปหรือรถน้ำมันจะยังไม่หายไปจากตลาด แต่เป็นโจทย์ที่ต้องกลับมาถามว่าทำอย่างไรให้รถยนต์สันดาปและอีวีโตไปด้วยกัน โดยรถอีวีเป็นตัวเสริม

ประเทศไทยยังขาดเรื่องแบตเตอรี่อยู่ เนื่องจากรัฐยังมองเป็นเรื่องวัตถุต้องห้าม ต้องทดสอบ จึงเป็นอุปสรรคมากกว่าโอกาส จึงอยากให้ภาครัฐส่งเสริมความต้องการในประเทศก่อน ซึ่งไทยพร้อมในทุกเรื่องของรถอีวีแล้ว โดยภาคเอกชนไทยเองก็มีศักยภาพ แต่ยังไม่โดดลงมาเล่น อยากให้รัฐบาลส่งเสริมให้เอกชนเข้ามา ซึ่งเอกชนไทยสามารถทำได้แน่ทั้งเรื่องการผลิตและรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์อีวี

“การทำให้ไทยติดท็อป 10 ผู้ผลิตรถไฟ้าทำได้ไม่ยาก แต่การทำให้ยั่งยืนถือเป็นเรื่องยาก เมื่ออุตสาหกรรมถูกดิสรัปชันแล้วก็จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะโลกเปลี่ยนตลอดเวลา เราต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีถึงจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นจะถูกคู่แข่งแซง เพราะตลาดไทยไม่ใหญ่” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า กติกาการค้าใหม่จะใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมมากีดกันทางการค้า มองว่าไทยมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร จึงเห็นว่าจีน ยุโรป มาลงทุนในไทย การผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวเสริมมาช่วยลดการกีดกันทางการค้า อยู่ที่ไทยจะฉวยโอกาสได้อย่างไร

ด้วยคำว่ากติกาใหม่นี่เอง จึงเป็นอีกด้านที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะต้องจับตา เพราะในปัจจุบันมีหลายประเทศเดินหน้าทำมาตรฐานใหม่ๆ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของไทย โดยล่าสุดอย่างที่ประเทศออสเตรเลียได้ออกกฎหมายการกำหนดมาตรฐานมลพิษใหม่ของรถยนต์ที่จัดจำหน่ายในประเทศออสเตรเลีย หรือที่เรียกว่า New Vehicle Efficiency Standard-NVES ที่มีแผนการบังคับใช้ในปี 2568 และหากมีการบังคับใช้มาตรฐานนี้จะส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ของผู้ประกอบการในประเทศไทย และอาจทำให้การส่งออกจากประเทศไทยลดลง

ซึ่งปัจจุบันไทยมีการส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียประมาณ 260,000 คันต่อปี และออสเตรเลียนำเข้ารถกระบะจากประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็น 48.25% ของปริมาณการนำเข้ารถกระบะทั้งหมด และหากมีการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวแล้วรถยนต์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดจะมีค่าปรับสูงมากถึง 100 เหรียญฯ/กรัม/กิโลเมตร และล่าสุดผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยต้องการเวลาที่เหมาะสมเพื่อการปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่าน ที่รวมถึงการที่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหลายส่วน จึงต้องการขอให้ทางการออสเตรเลียพิจารณาระยะเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 2-3 ปี ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (WTO TBT Agreement)

ขณะที่ ทางออสเตรเลียเองอยู่ระหว่างเวียนแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกมีโอกาสแสดงความคิดเห็น ภายในวันที่ 30 เม.ย.2567 และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ดำเนินการแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวของออสเตรเลียไปยังผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทยทุกส่วน เช่น สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป็นต้น เพื่อรวบรวมและรับฟังความเห็นอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันนางสาวพิมพ์ภัทราได้มีการหารือกับผู้บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และผู้บริหาร สมอ. เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว

อีกหนึ่งกติกาที่ต้องจับตามอง แม้จะไม่ใช่ด้านยานยนต์โดยตรงแต่ก็อาจจะมีการพัฒนามาจนถึงรูปแบบการเก็บภาษีกับรถยนต์ได้ ก็คือกติกาเกี่ยวกับการดูแลปัญหาขยะพลาสติกที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเริ่มมีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บ ‘ภาษีพลาสติก’ เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกแล้ว เพราะในยุคที่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเริ่มมีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีพลาสติก เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก

โดยจะเห็นได้จากการประกาศใช้ระเบียบเพื่อควบคุมการใช้ด้วยถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบางของสหภาพยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2558 (Directive (EU) 2015/720 amending Directive 94/62/EC as regards reducing the consumption of lightweight plastic carrier bags) ที่ห้ามประเทศสมาชิกแจกถุงพลาสติกหูหิ้วกับผู้บริโภค เพื่อควบคุมปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากถุงพลาสติก แต่ขยะพลาสติกไม่ได้มีเพียงแค่ถุงพลาสติก เมื่อผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าหันมาใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastics) เพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของผู้บริโภค ทำให้ขยะพลาสติกกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมหาศาลและตกค้างรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านนโยบายและมาตรการ European Green Deal ในปี 2562 สหภาพยุโรปได้จัดทำแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป (The EU’s Circular Economy Action Plan) ซึ่งมีการระบุที่จะใช้มาตรการภาษีกับพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ ประจวบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สหภาพยุโรปมองว่าการเก็บภาษีพลาสติกจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก พร้อมไปกับการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

มีการคาดการณ์ว่า ภาษีพลาสติกของสหภาพยุโรปนี้จะช่วยให้สหภาพยุโรปมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7 พันล้านยูโรต่อปี และเป็นแหล่งรายได้ใหม่สำหรับงบประมาณของสหภาพยุโรปในช่วงปี พ.ศ. 2564-2570 แม้จะเป็นการนำร่องดำเนินการในช่วงแรกที่อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบมายังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างเช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หรือยานยนต์ที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ แต่เชื่อว่าโมเดลการดูแลเรื่องขยะพลาสติกนั้นจะถูกพัฒนาไปอีกหลายขั้นตอน จนสุดท้ายแล้วในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งสำหรับภาคการผลิตต่าง ๆ ถึงกระบวนการการกำจัดที่เข้าที่เข้าทางเพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

'รมว.ปุ้ย' เยือนถิ่นล้านนา 'เชียงราย-พะเยา-แพร่-น่าน' ลุยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างรายได้เพิ่ม

'รมว.พิมพ์ภัทรา' แอ่วเมืองเหนือ เยือนถิ่นล้านนา 'เชียงราย-พะเยา-แพร่-น่าน' ลุยพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมสนับสนุนเงินทุน เทคโนโลยี ความรู้ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และสร้างแบรนด์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ กระจายรายได้สู่ชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเตรียมนำข้อเสนอของภาคเอกชนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 

(18 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2567 ซึ่งก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมกิจกรรมของผู้ประกอบการชุมชนภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดแพร่ 

โดยในจุดแรกได้ไปเยี่ยมชมการดำเนินกิจการของชุมชนหมู่บ้านตีเหล็กบ้านร่องฟอง ตั้งอยู่ที่ศูนย์การแสดงสินค้า และผลิตภัณฑ์ชุมชน หมู่ 5 ตำบลร่องฟอง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ดำเนินกิจการอุตสาหกรรมตีเหล็ก และอุตสาหกรรมผ้ามัดย้อม มีจำนวนสมาชิก/พนักงาน ตีเหล็กประมาณ 800 ครัวเรือน ทำผ้าประมาณ 700 ครัวเรือน โดยมียอดขายปีล่าสุด ตีเหล็กประมาณ 20-30 ล้านบาท และผ้าประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการเกษตร ได้แก่ มีด เคียว จอบ เสียมพร้า ฯลฯ และผลิตภัณฑ์ชุดเสื้อผ้ามัดย้อม กางเกงขาก๊วยเสื้อผ้าแฟชั่น และเสื้อกันหนาว 

ทั้งนี้ หมู่บ้านตีเหล็กบ้านร่องฟอง ได้ขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ผลักดันการแก้ปัญหาผังเมืองจังหวัดเพื่อให้สามารถขยายกิจการโรงงานได้ โดยในปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม จะเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน ได้แก่ 

1) การสนับสนุนเงินทุน โดย ธพว. และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ เช่น โครงการสินเชื่อ BCG Loan, สินเชื่อ SME 3D, สินเชื่อ SME Refinance, สินเชื่อ SME Speed Up, สินเชื่อ Micro SME และสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) 

2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพื่อเพิ่มมูลค่า โดย กสอ. ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เดิมสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ของใช้บนโต๊ะอาหาร ชุดมีดทำครัว มีดเดินป่า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น 

3) การผลักดันการแก้ไขปัญหาผังเมือง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และกลุ่มผู้ประกอบการ ได้ยื่นข้อเสนอการแก้ไขผังเมืองจังหวัด แก่คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างกระบวนการของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และกระทรวงอุตสาหกรรมในการแก้ไขปัญหาผังเมืองเชิงนโยบายในภาพรวมต่อไป 

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จังหวัดแพร่ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน หรือ โครงการ 'แพร่-กระจาย' ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีกิจกรรมฝึกอบรมการทำตลาดออนไลน์ เช่น การสร้าง Story telling และเทคนิคการถ่ายภาพอย่างมืออาชีพ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกจากชิ้นส่วนไม้สักที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลาย 

หลังจากนั้น ได้เดินทางไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่สักทองเฟอร์นิเจอร์ (ไทยแลนด์) ตั้งอยู่ที่ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งประกอบกิจการเครื่องเรือนตกแต่งภายในอาคาร
จากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักและผลิตภัณฑ์จากไม้สัก โดยผู้ประกอบการได้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมในด้านเงินทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการลงทุนเครื่องจักร เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต การติดตั้งระบบ Solar Rooftop เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และ การสนับสนุนการปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิต 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ไปเยี่ยมชมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ 'การยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จังหวัดแพร่ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน' ณ ที่ทำการชมรมสตรีอำเภอร้องกวาง ตำบลทุ่งศรี จังหวัดแพร่ ในหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกตามแนวทาง BCG ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก ขี้เลื่อยไม้สัก, เศษเหลือใช้วัสดุทางการเกษตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวคิด BCG มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 200 คน 

และในจุดสุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปตรวจราชการวิสาหกิจชุมชนสุรา สักทองแพร่ ซึ่งประกอบกิจการสุรากลั่นชุมชน มีผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ ณ ห้องประชุมใหญ่ สุราสักทองแพร่ โดยได้ขอรับการสนับสนุนด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีศักยภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกจากน้ำเสีย และของเสียจากกระบวนการผลิต เช่น กากส่าเหล้า มูลของสุกร ตามความเหมาะสมกับวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ พร้อมขอรับการสนับสนุนการสร้างแบรนด์และโฆษณาในพื้นที่ 

“ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการ จะเป็นเรื่องของเงินทุน การขอรับการสนับสนุนการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสนับสนุนปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิต ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มีสินเชื่อสนับสนุนเงินทุน เช่น สินเชื่อ BCG โปรแกรมสินเชื่อสำหรับ SME และสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) 

“ขณะเดียวกันกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. ได้เสนอแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดชนิด หรือ ประเภทของโรงงาน เพื่อแก้ไขชนิดหรือประเภทของโรงงานให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา ไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 พร้อมทั้งเตรียมผลักดันให้มีการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนจาก Solar Roof top ได้อีกด้วย 

ส่วนข้อเรียกร้องของผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชน ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้คำแนะนำในการขอการรับรอง มผช. และกำหนดมาตรฐานรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมทั้งให้ กรอ.สนับสนุนการปรับปรุงกระบวนการผลิตผ่านโครงการ 'เร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม' เพื่อเชิญชวนให้จดทะเบียนเครื่องจักรและให้คำแนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรให้กับสถานประกอบการ และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก โดย กสอ. มีแผนการดำเนินโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และส่งเสริมการสร้างแบรนด์ (Branding) และอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) เพื่อสร้างตัวตนของแบรนด์ตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว 

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.67) ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดแพร่ ที่ขอรับการผลักดันจากกระทรวงฯ ในโครงการก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้และออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแห่งประเทศไทย ในวงเงินงบประมาณ 270 ล้านบาท ในพื้นที่ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการในปี 2568 - 2571

จับตา!! 'พีระพันธุ์' เอาจริง!! 'ระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์' สร้างความมั่นคงด้านพลังงานชาติ พาไทยหลุดขี้ข้าตลาดโลก

เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘พลังงาน’ ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมไปถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังนั้น ทุกประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทยเอง จึงต้องมีการจัดหาพลังงาน ให้มีปริมาณที่เพียงพอ และมีราคาที่เหมาะสม 

โดยเฉพาะในด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต แต่ทว่าประเทศไทยไม่มีแหล่งน้ำมันมากพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้งาน จึงต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในปริมาณกว่า 90% ของจำนวนที่บริโภคอยู่ในปัจจุบัน

แน่นอนว่า การที่เราไม่สามารถผลิตน้ำมันได้เอง จึงถูกกำหนดราคาจากกลไกที่เรียกว่า ‘ตลาดโลก’ ซึ่งส่งผลให้ราคาผันผวน บางครั้งจะเห็นถึงการขึ้น - ลง แบบรายวัน 

และหากเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ หรือเกิดความตึงเครียดในภูมิภาคที่มีประเทศผู้ผลิตน้ำในรายใหญ่อย่างตะวันออกกลาง ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันผันผวนหนักขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น จึงจะเห็นว่า ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ต่างก็มีระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) กันแทบทั้งนั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อทำการสำรองน้ำมันเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดภาวะวิกฤติ อย่าง ประเทศสหรัฐ อเมริกา ทางภาครัฐ จะเป็นผู้ดำเนินการสำรองน้ำมันให้มีเพียงสำหรับใช้งานอย่างน้อย 90 วันของการนำเข้าน้ำมันสุทธิ เพื่อนำมาใช้เมื่อยามฉุกเฉิน 

หากจำกันได้ เมื่อครั้งรัสเซียบุกยูเครน อย่างเต็มรูปแบบเมื่อต้นปี 2565 ส่งผลให้ในห้วงเวลานั้น ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางประธานาธิบดีสหรัฐฯ 'โจ ไบเดน' ได้ประกาศจะระบายน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือน จากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมัน 

นอกจากนั้น ประเทศใหญ่ ๆ ที่มีการใช้บริโภคน้ำมันปริมาณมาก ต่างก็มีระบบสำรองน้ำมันของตัวเองเช่นกัน อย่างอินเดีย ที่เป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในปัจจุบันจะมีหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ เป็นผู้บริหารจัดการระบบสำรองน้ำมัน โดยในเฟสแรก สามารถสำรองน้ำมันได้ 75 วัน และในเฟสที่ 2 มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 90 วัน

ส่วนในกลุ่มประเทศในอาเซียนนั้น การสำรองน้ำมันส่วนใหญ่ จะเป็นการสำรองโดยภาคเอกชนหรือโรงกลั่นเป็นหลัก

เช่นเดียวกับ ประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบัน การสำรองน้ำมันจะอยู่กับฝั่งเอกชน โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบ 6% ของปริมาณการจำหน่าย และให้สำรองน้ำมันสำเร็จรูป 1% ของปริมาณการจำหน่าย โดยรวมแล้วไทยจะมีการสำรองน้ำมัน 7% ของปริมาณการจำหน่าย หรือ มีการสำรองน้ำมัน 25 วัน แม้ว่าปริมาณดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม 

แต่หากมองถึงความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวของประเทศ ก็อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะหากเกิดวิกฤติหรือเกิดสงครามขึ้น ปริมาณน้ำมันที่เอกชนสำรองไว้อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ

แต่อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของ ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้ จึงได้ตั้งคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองและก๊าซฯ เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา ต่อไปประชาชนคนไทยจะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าราคาน้ำมันจะขึ้น-ลงแบบรายวัน เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

และทราบมาว่า ทางคณะกรรมการฯ ที่ได้รับมอบหมายจาก ท่านพีระพันธุ์ กำลังทำงานอย่างหนักในการศึกษารูปแบบการสำรองน้ำมันและการรักษาระดับราคาที่เหมาะสมกับประเทศไทย คาดว่าภายในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าก็จะแล้วเสร็จ และจะนำมาเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาได้ 

แน่นอนว่า ระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งความหวัง ที่จะมาสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างความเป็นธรรมให้กับคนไทย ในอีกไม่นานเกินรอ.....เพราะทราบมาว่าท่านพีระพันธุ์ นั่งเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าทุกสัปดาห์เลยทีเดียว

‘กาสิโนในไทย’ แรงเสริมภาคการท่องเที่ยว ในวันที่จุดขายทางธรรมชาติ เริ่มสึกกร่อน

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'กาสิโนในไทย ถึงเวลารึยัง?' เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

อบายมุขกับการท่องเที่ยวอาจเป็นของคู่กัน มีการศึกษาของหลายสำนักระบุว่าธุรกิจการพนันมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่รายได้ทางตรงจากการเล่นการพนันเท่านั้น แต่ผลประโยชน์ยังได้กระจายไปยังธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ ได้แก่ โรงแรม, ร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, การจัดประชุมและนิทรรศการ ทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และระดับรากหญ้า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเล่นการพนันและพักผ่อนหย่อนใจในสถานบันเทิงต่างๆ เป็นนักท่องเที่ยวรายได้สูงและใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 

หลายประเทศ/เมืองประสบความสําเร็จจากการใช้ธุรกิจการพนันเป็นเครื่องดึงดูดนักท่องเที่ยว ลาสเวกัส น่าจะเป็นเมืองแห่งการพนันและบันเทิงเมืองแรกๆ ของโลกที่ประสบความสําเร็จมาอย่างยาวนาน แม้จะตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางทะเลทรายในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันลาสเวกัสได้กลายเป็นเมืองร่ำรวยที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาปีละกว่า 40 ล้านคน ลาสเวกัสยังเป็นโมเดลที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยึดถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนาธุรกิจการพนันและบันเทิงแบบครบวงจร

มาเก๊าเป็นเมืองการพนันอีกเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และในบางช่วงเวลาได้สร้างรายได้การท่องเที่ยวได้มากกว่าลาสเวกัสเสียอีก เนื่องจากมาเก๊าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและเป็นที่เดียวที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย จึงมีคนจีนเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจที่มาเก๊าเป็นจำนวนมาก

สิงคโปร์และญี่ปุ่นเป็นอีก 2 ประเทศที่เล็งเห็นประโยชน์จากการเปิดให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย หลังจากเปิดได้เพียงไม่กี่ปี Marina Bay ได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดและสร้างรายได้มหาศาลของสิงคโปร์ ขณะที่ญี่ปุ่นก็เพิ่งจะอนุญาตให้จัดตั้งกาสิโนเป็นครั้งแรกที่เมืองโอซากา กำหนดเปิดดำเนินการได้ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่มีความอนุรักษ์นิยมไม่ยิ่งหย่อนกว่าไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่เติบโตด้วยภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก วันนี้แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาหลังจากวิกฤตโควิด แต่ก็ยังไม่สามารถกลับสู่ระดับเดิมก่อนโควิดได้ การท่องเที่ยวของไทยพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ชายหาด, เกาะแก่ง, อุทยาน เป็นต้น นับวันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเหล่านี้ก็จะสึกหรอไปจากความแออัดของนักท่องเที่ยว การลงทุนเพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวแบบ Man-made Attractions แม้ว่าจะมีอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มทีและต้องถือว่ายังไม่เป็นระดับโลก

จึงเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้มีการผลักดันเรื่องการจัดตั้งกาสิโนถูกกฎหมายและสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งจากการศึกษาของหลายสำนัก รวมทั้งรัฐสภาและกระทรวงการคลัง พบว่ามีความเป็นไปได้และน่าจะมีประโยชน์มากกว่าผลเสีย แต่มีประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ฝ่ายนโยบายต้องคำนึงถึง อาทิเช่น การกำกับดูแล การจัดเก็บภาษี การเลือกที่ตั้งที่เหมาะสม การสร้างความเชื่อมโยงกับ Soft Power ของไทย ผลกระทบทางสังคม เป็นต้น ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นข้อห่วงใยที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต้องเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ

เรื่องสำคัญที่อาจจะยังไม่มีการพูดถึง คือ เรื่องของตลาดและเทคโนโลยี หากกาสิโนที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมุ่งเน้นลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งก็คงจะเป็นตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแข่งขันกับกาสิโนอื่นในภูมิภาค รวมทั้งมาเก๊าของจีน คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะขอให้รัฐบาลจีนส่งเสริมให้คนจีนขนเงินมาเล่นการพนันในประเทศไทยในภาวะที่จีนกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจและเงินทุนไหลออก ดังนั้นอาจจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันแบบ G to G กับทางจีนเป็นประการแรก  ส่วนเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีออนไลน์และ AI ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจบันเทิงทุกประเภท ก็อาจทำให้กาสิโนที่จะมีขึ้นมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

'รัฐบาล' ยังไงดี? เค้าลางวิกฤตส่อชัดกับ 'รายใหญ่-คนตัวเล็ก' ถ้าบางนโยบายคล้ายรัฐบาลก่อน 'ดี-ไปไหว' น่าเร่งผลักให้ไว

ข่าวคราวสำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 2-3 ประเด็น ที่น่าจะเริ่มเห็นภาพแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 ของประเทศไทย ที่มีความน่ากังวลพอสมควร 

เรื่องที่ 1 บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ยักษ์ใหญ่ ของไทย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เริ่มจากประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขยายอายุวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ จำนวน 5 รุ่น ขยายออกไปอีก 2 ปี พร้อมข้อเสนอเพิ่มดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ ตามมาด้วยหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณี การจ่ายเงินเดือนพนักงานที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งบริษัทฯ ยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน 

เรื่องที่ 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน สื่อสารไปยังธนาคารต่างๆ ให้กำหนดแนวทางการแก้ไขหนี้ ทั้งก่อนเป็นหนี้เสีย และหลังเป็นหนี้เสีย พร้อมทั้งสื่อสารช่องทาง Social ต่างๆ ให้ลูกหนี้ ได้รับทราบข้อมูล มีทางเลือกในการ ปิดจบหนี้เรื้อรัง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ผ่านทั้งมาตรการเดิมและเพิ่มเติมมาตรการใหม่ ให้ครอบคลุมไปถึงการแก้หนี้เรื้อรัง และการคิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น ธปท.คงเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่าง จึงต้องรีบออกมาตรการมาป้องกันการเกิดหนี้เสีย 

2 เรื่องนี้ น่าจะทำให้คาดการณ์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 น่าจะหนักหนาพอสมควร จากเรื่องที่ 1 ตั้งแต่ปี 2566 เริ่มมีข่าวคราวบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีสัญญาณประชุมผู้ถือหุ้น ขอขยายวันครบกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้มาเรื่อยๆ แน่นอนว่า บริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเสมือนกลุ่มเศรษฐกิจส่วนยอดพีระมิด ที่น่าจะเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งทางการเงิน ส่งผลกระทบไปยังกลุ่มแรงงานที่ขาดรายได้ จากการถูกเลื่อนจ่ายเงินเดือน

สำหรับเรื่องที่ 2 ก็คงจะเป็นกลุ่มใหญ่ ในส่วนฐานของพีระมิด มีแผลเกิดขึ้น และเรื้อรังเป็นจำนวนมาก สัดส่วนหนี้สินต่อครัวเรือน ขยับสูงขึ้น อัตราแนวโน้มการขาดส่งชำระหนี้รายย่อย ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง สอดคล้องกับสินเชื่อกลุ่มบ้านสำหรับรายย่อย สินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อรถยนต์ ที่มีสัญญาณปฏิเสธการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจ เริ่มมีบาดแผลขึ้นหลายจุด ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเองกลับไม่มีข่าวคราวในการออกนโยบาย หรือมาตรการมารักษาบาดแผล หรืออย่างน้อย ก็กันไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้ 

ทว่า ข่าวคราวส่วนใหญ่ตอนนี้ ยังคงเป็นการเดินทางไปพบปะผู้นำยังต่างประเทศ ของนายกรัฐมนตรี จนมีสื่อนำเสนอว่าดำรงตำแหน่ง 6 เดือน เดินทาง 16 ประเทศ ซึ่งมีการชี้แจงว่า เพื่อเป็นการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ ให้มาลงทุน หรือเข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ทั้งที่ รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงิน เดือนมกราคม 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า การส่งออกปรับดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น... 

ถ้าจะมีข่าวดีที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจบ้าง คงเป็นเรื่องที่ 3 ราคาทองคำ พุ่ง ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของทองคำในประเทศ ทำออลไทม์ไฮต่อเนื่องไม่หยุด ส่งผลให้สถานะการคลังของประเทศไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ เพราะมีทองตุนไว้ มากกว่า 244 ตัน เพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการตุนทองคำสำรองไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการซื้อทองคำเพิ่มจำนวนมาก จนติดอันดับ 9 ของเอเชีย

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คงถึงเวลาที่ต้องเริ่มสำแดงฝีมือ..? จะอาศัยสถานะทุนสำรองของประเทศที่มีมาก่อนเพียงอย่างเดียว คงไม่น่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ งบประมาณการเบิกจ่ายของภาครัฐ มาตรการต่างๆ ที่จะต้องงัดออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเร่งคลอดออกมา

คงไม่เป็นไร ถ้าบางมาตรการ จะคล้ายๆ กับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ถ้าสุดท้าย สามารถผลักดันเศรษฐกิจไทย ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง

ตามติด 6 เดือน 'รมว.ปุ้ย' ใต้ภารกิจพาอุตสาหกรรมไทยโตรอบทิศ 'ปูพรม EEC-ระบบนิเวศสีเขียว-EV-เงินทุนคนตัวเล็ก-ฮาลาล-ปุ๋ยโปแตซ'

(15 มี.ค.67) รัฐบาลได้ทำงานมาครบ 6 เดือน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อการค้าโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากการปรับเปลี่ยนของกติกาโลก โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกระทรวงพลังงาน มีนโยบาย Green Energy และกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบาย Green Industries สอดรับกัน

ทั้งนี้ นโยบายอุตสาหกรรมจะต้องสนับสนุน Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาการค้าโลก ซึ่งรวมถึงใช้พลังงานสะอาด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างบรรยากาศการลงทุน และเน้นย้ำการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน อาทิ

1.การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอ รองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม โดยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และภายใต้โครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ UGT (Utility Green Tariff) จะยกระดับอุตสาหกรรมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มขึ้น

ปลดล็อคอุปสรรคผลิตไฟดซลาร์เซลล์

2.ประสานภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด เพราะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นทำให้มีผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กฎหมายโรงงานกำหนดให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกำลังผลิตเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ซึ่งเร่งแก้กฎกระทรวงเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมาก หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงถึง 2.7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2557 และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น 

3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มสนับสนุนมาตรการ EV3.0 และเพิ่มเป็นมาตรการ EV3.5 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุน EV ประมาณ 40,000 ล้านบาท และปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มการผลิตในไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของผู้ผลิตยานยนต์และ EV ของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องทิศทางตลาดโลก

"นายกฯ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30@30 ซึ่งเดิมไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกรถพวงมาลัยขวาต้องอยู่ได้ พร้อมปรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ยุทโธปกรณ์”

เติมทุนคู่พัฒนายกระดับ ‘เอสเอ็มอี’

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า การดูแลเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวน 95% ของวิสาหกิจทั้งหมด ส่วนใหญ่ต้องการเงินทุนแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่รอด จึงต้องเติมทุนคู่พัฒนาเอสเอ็มอีทุกระดับ ทั้งรายที่อ่อนแอและมีความเข้มแข็ง

“ปัจจุบันมีหน่วยงานจำนวนมากมีบทบาทช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ จะช่วยดูข้อมูลอุตสาหกรรมโลกว่าเทรนด์โลกไปถึงไหน และแจ้งผู้ประกอบการทุก 3 เดือน เพื่อตรวจสอบว่ากิจการที่ทำอยู่ไปต่อได้หรือไม่ และจะเข้าไปสนับสนุนอย่างไร”

นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีโครงการติดปีกให้เอสเอ็มอี ในขณะที่บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันเงินกู้ รวมถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) ช่วยเหลือสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพ และเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง

"ปีงบประมาณ 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการ 18,400 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ยอมรับว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอน่าเป็นห่วงเพราะเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ส่วนดาวรุ่ง คือ อุตสาหกรรมชิปที่เป็นเทรนด์อนาคต”

นายกฯ อยากเห็นปุ๋ยถุงแรกผลิตที่ไทย

สำหรับการลงทุนเหมืองแร่โปแตชในปัจจุบันออกประทานบัตร 3 เหมือง ได้แก่ บริษัท 1.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)  จ.ชัยภูมิ 2.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา 3.บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.อุดรธานี 

ทั้งนี้มีปริมาณการผลิตรวมกัน 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากดึงโปแตชมาทำปุ๋ยได้สำเร็จจะสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาแพงมาก ซึ่งปริมาณโปแตชทั้ง 3 เหมือง เพียงพอต่อการใช้ในประเทศและส่งออก และช่วยความมั่นคงว่าจะมีปุ๋ยใช้ในราคาไม่แพง

นอกจากนี้ ผู้รับประทานบัตรมีปัญหาสภาพคล่องหรือบางบริษัทมีปัญหาเงินทุน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมต้องหาทางให้เดินหน้าต่อ ซึ่งได้เชิญทั้ง 3 บริษัทมาร่วมความคืบหน้า และนายกรัฐมนตรีต้องการเห็นปุ๋ยกระสอบแรกที่ผลิตจากไทย ซึ่งมีนักลงทุนต่างชาติสนใจแต่ต้องศึกษากฎหมายอย่างรอบคอบ โดยแนวโน้มโครงการเป็นไปได้ดีจากการที่นายกฯ เดินทางไปดูเหมือง และเดินทางไปต่างประเทศได้หานักลงทุนที่ไหนสนใจ

ลุยแก้ปัญหา ‘ผังเมือง’ หนุนการลงทุน

สำหรับกฎหมายผังเมืองถือเป็นอุปสรรคในบางพื้นที่ โดยพื้นที่ไหนอยากให้นักลงทุนเข้ามา เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยพื้นที่เดิมที่จะมีประเด็นที่ต้องปรับแก้ แต่รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับ EEC จึงต้องหาทางสนับสนุนทุกด้าน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทระดับโลกหลายแห่งที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย แต่ติดขัดปัญหาผังเมืองจึงได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมมาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ปัญหา

ดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฮาลาล

รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนยกระดับอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เห็นโอกาสจากการเติบโตในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ประเทศไทยส่งออกได้เพียงปีละเพียงแค่ 2.7% ของตลาดโลกเท่านั้น ขณะที่ศักยภาพของทรัพยากรของไทยยังมีโอกาสสูง

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ ครม.โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญอาหารฮาลาลเพราะส่งออกไปตลาดที่มีชาวมุสลิมอาศัยหนาแน่น เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลางดังนั้น จึงควรยกระดับความสำคัญอุตสาหกรรมฮาลาลซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาข้อมูลพบว่ามีไม่น้อยกว่า 8 หน่วยงานที่ทำงานแยกกันอยู่จึงควรรวมที่เดียวกัน

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ส่งเสริมการผลิตอาหารฮาลาล โดยเบื้องต้นกำหนดใช้พื้นที่สถาบันอาหารในระยะเริ่มต้นดำเนินการ และเสนอของบประมาณดำเนินการ 630 ล้านบาท

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศมุสลิมในฐานะผู้บริโภค สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เตรียมจัดงาน Thailand International Halal Expo 2024 เพื่อเชื่อมโยงตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศจำนวน 57 ประเทศ ซึ่งจะมีเวทีสำหรับการจับคู่ธุรกิจกระตุ้นการลงทุนจากประเทศมุสลิมในอนาคต

“อุตสาหกรรมฮาลาลเรามีต้นทุน เมื่อก่อนไทยเป็นครัวของโลก คำว่าครัวของโลกต้องเป็นครัวของโลกจริงๆ เพื่อเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการล่าสุดมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นสนใจมาตั้งโรงงานเพื่อจะประทับตราฮาลาลที่ไทยเพื่อส่งออกอาหารญี่ปุ่น เพราะเขามั่นใจว่าเรามีต้นทุนที่ดี รวมถึงคุณภาพของวัตถุดิบด้วย”

‘อุตฯ ฟอกหนังไทย’ ปรับตัวเดินตาม ‘BCG โมเดล’ ตามเทรนด์อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 มี.ค.67 ได้พูดคุยกับ ‘คุณสุวัชชัย วงษ์เจริญสิน’ นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ที่ปรึกษาและกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมฟอกหนังของประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของภาคการส่งออกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด 

โดยคุณสุวัชชัย กล่าวว่า “ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และยุโรป สงครามที่เกิดขึ้นนั้น มีผลกระทบต่อประเทศไทยพอสมควรในมุมมองของเศรษฐกิจ อย่างกรณียุโรปเองก็ประสบปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ปศุสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้น วัตถุดิบมีอัตราแพงขึ้น ซึ่งเครื่องหนังเปรียบเสมือนสินค้าฟุ่มเฟือย อัตราการใช้งานก็ลดลงทำให้มูลค่าตลาดลดลง ส่วนทางสหรัฐอเมริกาและจีนเองก็มีผลกระทบอยู่เหมือนกัน ทำให้ส่งผลกระทบทั้ง Supply Chain ในระดับโลก ต้องบอกว่าเมืองไทยเรามีการส่งออกโดยได้รับคำสั่งซื้อส่วนใหญ่จากทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเองก็ส่งออกในห่วงโซ่นี้ทำให้ได้รับผลกระทบจาก Supply Chain อยู่พอสมควร”

คุณสุวัชชัย กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยในตลาดโลกว่า “ประเทศไทยมีการส่งออก ขนมิงค์ (Mink Hair) หนังวัว ไปยังทวีปยุโรป เบาะรถยนต์ ส่งออกไปยังตะวันออกกลาง ส่วนกระเป๋าเดินทางก็ส่งออกอันดับต้น ๆ และรองเท้านำเข้ามาผลิตและประกอบเพื่อส่งออกกลับไปจำนวนมาก ส่วนจุดเด่นของเครื่องหนังไทยที่ต่างชาติยอมรับ คือ ความประณีตในการตัดเย็บ รูปแบบดีไซน์ และคุณภาพดีสม่ำเสมอ ทำให้มีคุณค่ามากขึ้น รวมถึงมีสินค้าหลากหลายรูปแบบมากกว่า เช่น หนังปลา หนังงู เป็นต้น  ซึ่งในอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยมีการนำเข้าและส่งออก อยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ถ้ารวมกับกระเป๋าและเครื่องใช้ในการเดินทาง รองเท้า น่าจะอยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท”

คุณสุวัชชัย ระบุเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันทางสมาคมฟอกหนังไทยได้สร้างความร่วมมือกับทางสมาคมรองเท้า กระเป๋า เพื่อพัฒนาให้เกิด Young Designer รุ่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อทำอย่างไรให้แบรนด์ไทยได้ครองใจทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ส่วนความต้องการของผู้ประกอบการต่อภาครัฐในปัจจุบัน คือ 

1.ต้นทุนการดำเนินงานลดน้อยลง 
2.ข้อกำหนดทางการค้าเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมฟอกหนัง เช่น การขยาย FTA ให้มากขึ้น, ข้อกำหนดด้านปศุสัตว์ เป็นต้น”

คุณสุวัชชัย ยังได้กล่าวถึงเทรนด์การทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่า “ปัจจุบันสมาคมฟอกหนังไทย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการฟอกหนังเน้นเป้าหมายผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้าต้องย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ใช้ การผลิต ออกแบบจะต้องอยู่ในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายเริ่มพัฒนาสินค้าไปในทิศทางนี้แล้ว เช่น เมื่อผลิตสินค้าสารเคมีจะต้องไม่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”

“ปัจจุบันเราไม่ได้ใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษแล้ว ในส่วนของภาครัฐเองก็ส่งเสริม BCG โมเดลและเริ่มผลักดันผู้ประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” คุณสุวัชชัย เน้นย้ำ

ส่วนเป้าหมายของอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ปัจจุบันเราพยายามปรับตัวเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น เรามุ่งเน้นไปที่ทำหนังอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากที่สุด การบำบัดน้ำเสียตอนนี้มีอยู่ในเขตประกอบการของเรา ซึ่งมีบ่อหนึ่งเราปิดบ่อเลย แต่เราได้แก๊สมีเทน (Methane) และเน้นไปด้านไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อได้พลังงานกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นที่แรกในเมืองไทย ที่สามารถเอาสิ่งปฏิกูลเหล่านี้มาเป็นพลังงานได้ 

อุตสาหกรรมฟอกหนังไทยถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายมาตลอด อยากฝากถึงประชาชนว่า ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ธุรกิจ เราเป็นหนึ่งใน 45 อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย เราไม่ได้มานั่งแก้ตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งของมลพิษ แต่เราพยายามที่จะปรับตัวเข้าไปในชุมชนดูแลสิ่งแวดล้อม หรือติดตามเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่เข้มข้นขึ้น สำหรับการจัดการกลิ่น น้ำเสีย ปัจจุบันสามารถเช็กได้ว่ามีมากหรือน้อยอย่างไร 

“การฟอกหนังใช้กระบวนการผลิตสมัยใหม่ การใช้สารเคมีที่แตกต่างจากเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าสู่ BCG โมเดล เพื่อทำให้มลพิษลดลงและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด” คุณสุวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย

‘สส.อัครเดช’ ชม ‘พีระพันธุ์’ กล้าหาญบี้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งต้นทุน ชี้!! ช่วยป้องกันค้ากำไรเกินควร-สร้างราคาเป็นธรรมให้ ปชช.

เมื่อวานนี้ (15 ม.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์กรณี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมัน หรือโรงกลั่นน้ำมัน ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร ว่า ถือเป็นความกล้าหาญของนายพีระพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐมนตรีคนใดกล้าทำเช่นนี้มาก่อน

ทั้งนี้ การออกประกาศกระทรวงพลังงานให้ผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 ต้องแจ้งต้นทุนนำเข้าของราคาน้ำมันที่แท้จริง เพราะว่าโรงกลั่นที่นำเข้าน้ำมัน เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ทั้งน้ำมันดิบ หรือน้ำมันที่กลั่นแล้ว จะต้องแจ้งต้นทุนการนำเข้า ส่วนค่าดำเนินการในการกลั่นก็ต้องไปแจ้งต้นทุนการกลั่นกับกรมสรรพากร ทำให้ภาครัฐรู้ต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่น ทำให้ภาครัฐรู้ว่าโรงกลั่นมีกำไรหรือค่าการกลั่นที่แท้จริงเท่าไรกันแน่

นอกจากนั้น ประโยชน์ที่จะได้ตามมาคือ ทำให้การจ่ายเงินชดเชยของกองทุนน้ำมันสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริง ทำให้กองทุนน้ำมัน สามารถจ่ายเงินชดเชยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการขาดทุนของกองทุนน้ำมันได้ ตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนอย่างมากที่นายพีระพันธุ์กล้าหาญทำเช่นนี้

"ที่ผ่านมาไม่มีรัฐมนตรีพลังงานคนไหนกล้าออกประกาศแบบนี้ อาจเป็นเพราะเกรงใจนายทุน แต่ รมว.พลังงานคนปัจจุบัน กล้าหาญที่จะทำ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากในการรักษาผลประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ตรงนี้เป็นการตอกย้ำสิ่งที่นายพีระพันธุ์กำลังทำคือ ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ตามนโยบายที่ประกาศไว้ เพื่อนำสิ่งที่ดีกว่ามาให้กับพี่น้องประชาชน และถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้จริง หลังจากนี้ก็จะมีการช่วยเหลือประชาชนทยอยออกมาเรื่อย ๆ ถือเป็นการปฏิวัติโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศ" โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว

‘นายกฯ’ ตอก!! ‘แบงก์ชาติ’ ชี้ หน่วยงานอื่นยังมีจิตสำนึก ลดดอกเบี้ยช่วยประชาชน

(15 มี.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการรับฟังแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้แก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐว่า ขอขอบคุณเกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้อง และชื่นชมในการตั้งใจทำงาน ส่วนตัวเชื่อว่า หลายคนอาจจะไม่ได้ประสบปัญหาเยอะแบบเดียวกับข้าราชการอีกหลายแสนคน ซึ่งข้าราชการเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ แต่ยังมีหนี้สิน ชักหน้าไม่ถึงหลัง 

“ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ดอกเบี้ย ถือเป็นสารตั้งต้นหายนะของประเทศ ต้องขอใช้คำนี้ เพราะไม่ใช่แค่เพียงมีเงินไม่พอ แต่หันไปพึ่งสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด เพื่อทำให้จิตใจดีขึ้น สบายใจขึ้น ถือเป็นความเข้าใจผิด หรือไปทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นสารตั้งต้นที่ไม่ถูกต้อง”

เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายว่าไม่ต้องออกจากราชการ มีเงินใช้ 30% รวมถึงสินเชื่อพิเศษ ลดดอกเบี้ย ซึ่งตนเข้าใจว่าหลายหน่วยงานต้อง หวังเรื่องการปันผลหรือผลกำไร แม้ว่าแบงก์ชาติจะไม่ลด แต่หน่วยงานช่วยกันลด ก็ขอขอบคุณจากใจจริง และเชื่อว่าข้าราชการในหน่วยงานนั้นๆ ก็ขอบคุณเช่นเดียวกัน

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า เข้าใจว่าแต่ละหน่วยงานก็มีเป้าหมายของตัวเอง การที่ต้องเฉือนเนื้อเพื่อลดกำไร ถือเป็นเรื่องที่ดี และขอฝากข้อคิดว่า ต้องการให้หน่วยงานสหกรณ์เข้ามาร่วมโครงการนี้ให้มากขึ้น และขอให้ทำงานหนักขึ้น เชื้อเชิญให้เข้ามาอยู่ในระบบให้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้หนี้สินเหล่านี้ไม่ได้ลดลงไป แต่เชื่อว่าทุกคนที่อยู่ตรงนี้มีขีดจำกัดในการทำงานพอสมควร เพราะเป็นผู้บริหารระดับสูง จึงจะต้องหาวิธีการการแก้ปัญหา จึงขอให้ทะเยอทะยานมากขึ้น พยายามช่วยเหลือประชาชนให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็เชื่อว่าผู้นำเหล่าทัพมีความใกล้ชิด และเข้าใจความลำบากของ ประชาชนอยู่แล้ว

จากนั้น นายเศรษฐา ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ที่ทุกหน่วยงานอยากให้มีการลดเบี้ยหมด ถือเป็นการลดรายจ่ายส่วนหนึ่ง อย่างน้อยหากธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันจะไม่ลดดอกเบี้ย แต่ก็มีหน่วยงานอื่นที่มีจิตใจสำนึกในการลดอัตราดอกเบี้ย ขอขอบคุณหน่วยงานเหล่านั้น เพราะการทำงานทำด้วยใจจริงๆ เชื่อว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บริหารระดับสูง เห็นความลำบากของประชาชนจริงๆ โดยเฉพาะภาระหนี้สิน อย่างที่เคยกล่าวไว้ ภาระหนี้สินของประชาชน คือสารตั้งต้นของความหายนะของประเทศ ตอนนี้เราต้องช่วยกันก่อน

ส่วนหนี้ กยศ. ที่อยากให้ลดเหลือ 0.5 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตรงนี้ตนเองก็จะไปช่วยดู และตระหนักดีว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ยืนยันว่าเรายังช่วยดูแลกันอย่างเต็มที่ ที่เรายังช่วยดูแลกันได้ ซึ่งได้บอกไปในที่ประชุมว่า หากช่วยกัน ช่วยกันได้อีก รวมถึงการขยายวงเงิน และบอกอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ไปด้วยว่า ควรที่จะเร่งเอาสหกรณ์เข้ามาอยู่ในโครงการด้วยโดยเร็ว และมีอีกหลายอย่างที่ทำกันได้อยู่ ซึ่งเราเพิ่งเริ่มทำกันมาได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น เราได้ผลส่วนหนึ่งแล้ว ขณะที่ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายกิติรัตน์ ณ ระนอง ก็มีแรงใจในการทำเรื่องนี้มาก ลงไปพูดคุยในหลายหน่วยงาน พยายามทำให้ทุกคนมีความทะเยอทะยานในการช่วยเหลือ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ดูจากแววตาของผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลายในวันนี้ ซาบซึ้งถึงความลำบากของประชาชน

มีผลแล้ว!! ‘พีระพันธุ์’ เร่งเครื่องนโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งได้เร่งทำงานทุกด้านเพื่อสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ตามแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน

นอกจากนั้น ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับ ต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

รมว.พลังงาน กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆแล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผมและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 

แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม

“วันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ ออกประกาศ ‘ผู้ค้าน้ำมัน’ ต้องเปิดเผยข้อมูลต้นทุน  ป้องกันค้ากำไรเกินควร มุ่งสร้างความเป็นธรรม-มั่นคงด้านพลังงาน

(14 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นต้นมาได้เร่งทำงานทุกด้านเพื่อสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ตามแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน พร้อมทั้งแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆ แล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้”

“นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผมและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งวันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘เนต้า’ เริ่มผลิตรถยนต์ EV ในไทยแล้ว ประเดิมรุ่นแรก NETA V-II ส่งมอบ เม.ย. นี้

(14 มี.ค. 67) นาย ชู กังจื้อ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มเปิดสายพานการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ 13 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มผลิตรถยนต์ในรุ่น NETA V-II ซึ่งมีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์โชว์นี้ เป็นรุ่นแรก

ทั้งนี้ NETA V-II ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยล็อตแรกจะทยอยส่งมอบถึงมือลูกค้าคนไทยได้ตั้งแต่ เมษายนนี้เป็นต้นไป 

“NETA พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐของไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งการได้รับเอกสารอนุมัติและรับรองการประกอบกิจการในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ NETA และมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของเราในระดับสากล โดย NETA พร้อมนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ พร้อมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ล้ำสมัย และมีระบบความปลอดภัยครบครัน ในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งผลิตจากฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อคนไทยทุกคน”

สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ NETA ในประเทศไทยเป็นความร่วมมือระหว่าง NETA กับ บริษัท บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า100% แห่งแรกของ NETA ที่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน อีกทั้งยังเป็นโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งแรกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร ‘พระนครฟรีโซน’ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน พื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร

ขณะที่ โรงงานในประเทศไทยนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของแผนงานระดับสากลของ NETA ที่ไม่ได้เป็นเพียงการลงทุนสร้างฐานการประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานการผลิตในระดับสากลของ NETA เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้ระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยโรงงานในประเทศไทยแห่งนี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ NETA ทำให้สามารถส่งมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มาพร้อมนวัตกรรมที่ทันสมัยรุ่นต่างๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

นอกจากนั้น NETA มีแผนเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ด้วยการแนะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ล้ำสมัยอย่างน้อยปีละ 1 รุ่น ยิ่งไปกว่านั้นจะมีการขยายโชว์รูมและศูนย์บริการมาตรฐานของ NETA ให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าและรองรับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์และเน้นการมีส่วนร่วมของลูกค้าผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ 

‘รมว.ปุ้ย’ มุ่งยกระดับ ‘โกโก้ไทย’ สู่สินค้าพรีเมียมระดับโลก หารือ ‘แบรนด์ภราดัย’ ถ่ายทอดทักษะ-ความรู้สู่ผู้ประกอบการ

(14 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โลกเดือดได้ส่งผลให้ราคาโกโก้ในตลาดโลกปัจจุบันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยราคาซื้อขายโกโก้ล่วงหน้าที่ตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือประมาณกว่า 240,000 บาท (ข้อมูล ณ 1 มีนาคม 2567) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเวลาเดียว ซึ่งมีการซื้อขายอยู่ที่กว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ประกอบกับความต้องการโกโก้มีอย่างต่อเนื่องทั้งจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมียม รวมถึงเทรนด์การรักสุขภาพ 

เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จึงนับว่าเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมโกโก้ไทยที่จะมีโอกาสเติบโตไปยังตลาดโลก และยกระดับสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียนในอนาคต อย่างไรก็ตาม โกโก้ไทยยังติดข้อจำกัดในหลายจุดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้น รัฐบาลจึงหาแนวทางผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโกโก้ไทยตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน 

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้จากเจ้าของแบรนด์ ‘ภราดัย’ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้และคราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยแท้ การันตีคุณภาพด้วยรางวัลเหรียญทองระดับโลกจากเวที Academy of Chocolate Award 2021 

โดยทาง ภราดัย มีข้อเสนอแนะและความต้องการที่จะให้ภาครัฐมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ GMP GHPs Halal การเพิ่มมูลค่าโกโก้สู่ผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม การส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเชื่อมโยงแบรนด์โกโก้ของไทยที่มีคุณภาพสู่ตลาดสากลมากขึ้น เช่น Cocoa Valley, กานเวลา, Bean to Bar, ONE MORE, SP COCO เป็นต้น

ตลอดจนการสนับสนุนและโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ทางภราดัยมีความยินดีที่จะร่วมมือกับทางภาครัฐ โดยนำจุดแข็งที่ทางภราดัยมีอยู่แล้วมาร่วมถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหมักและการคั่วให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดี การคัปปิ้งโกโก้ (Cupping Cocoa) เพื่อทดสอบคุณภาพของโกโก้และค้นหาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโกโก้แต่ละพื้นที่ปลูก อันจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์โกโก้ไทยเติบโต สามารถแข่งขันกับตลาดโลก และขึ้นแท่นเป็นสินค้าพรีเมี่ยมได้ในอนาคต

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายหลังจากการรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการภราดัย รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เร่งเดินหน้าให้การส่งเสริมและสนับสนุนภราดัย โดยทางทีมดีพร้อมจะเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในการเตรียมความพร้อมและตรวจประเมินสำหรับยื่นขอการรับรองผลิตภัณฑ์มาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสามารถขยายโอกาสทางการตลาดสู่ตลาดฮาลาลในอนาคต 

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปปรับปรุงเครื่องจักรในกระบวนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นผ่านโครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ภายใต้นโยบาย DIPROM Connection ซึ่งจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์ 

ขณะเดียวกัน ดีพร้อม ยังได้วางแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในทุก ๆ มิติ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของต้นน้ำ ดีพร้อม มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพเกษตรกรสู่ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการบ่มหมักเมล็ดโกโก้เพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรคลัสเตอร์โกโก้ การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และการจัดการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ อาทิ เครื่องผ่าผลสดโกโก้ เครื่องคัดแยกเมล็ดโกโก้ และในส่วนของกลางน้ำ/ปลายน้ำ ดีพร้อม จะเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิต/การแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสารอาหารในโกโก้ ไม่ว่าจะเป็นการนำโกโก้บัตเตอร์มาผ่านกระบวนการทดสอบและตรวจหาสารสำคัญ อาทิ กรดไขมันอิสระ (free fatty acid) การพัฒนาต้นแบบเครื่องบีบสกัดโกโก้เพื่อให้ได้โกโก้บัตเตอร์ การส่งเสริมการสร้างระบบมาตรฐานต่าง ๆ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์พื้นที่ของแหล่งปลูกโกโก้และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวภายในจังหวัด 

รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจโกโก้และเกษตรกรในรูปแบบจัดตั้งสมาคมโกโก้ การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตสู่ผู้ซื้อ ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมา ทางทูตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้นำเมล็ดโกโก้จากจังหวัดพะเยาและนครศรีธรรมราชไปเป็นเป็นตัวอย่างในการทดสอบคุณภาพ ทำให้เกิดการเจรจาซื้อขายกับผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 ตัน และการร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อจัดทำแผนการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ประกอบการที่ผลิตและแปรรูปโกโก้ 

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงโอกาส (Reshape The Accessibility) ด้านการตลาดด้วยการผลักดันและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้แบรนด์ชั้นนำของไทยสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปโกโก้สู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต (future food) ด้วยการนำทุกส่วนของโกโก้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสู่การเป็นสินค้าพรีเมี่ยม อาทิ กลุ่มอาหารที่ให้ประโยชน์สูงต่อร่างกาย (Super Food) โกโก้ผง เนยโกโก้ ช็อกโกแลต เพื่อขยายโอกาสรองรับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มซูเปอร์ฟู้ด (Super foods) และเทรนด์คนรักสุขภาพในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสามารถยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันในระดับเวทีโลกได้มากขึ้น และกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ล้านบาท" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ แง้ม!! เล็งหา ‘พันธมิตรใหม่’ ลุยลงทุนเหมืองโปแตซ หลังผู้รับประทานบัตร 3 ราย ขาดสภาพคล่อง ฉุดโครงการล่าช้า

เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดใจกับเครือเนชั่น ถึงแนวทางแก้ปัญหาโครงการลงทุนเหมืองโปแตช หลังผู้ได้รับ ประทานบัตร 3 ราย ขาดสภาพคล่อง จนทำให้โครงการล่าช้า โดยระบุว่า…

ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช 3 เจ้า แต่ยังไม่มีเจ้าไหนสามารถขุดแร่ขึ้นมาได้ จากเหมืองใน 3 จังหวัดได้แก่ ชัยภูมิ, อุดรธานี และนครราชสีมา เนื่องจากผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานขาดเงินทุนขาดสภาพคล่องในการลงทุนที่จะขุดแร่โปแตซขึ้นมาใช้ประโยชน์

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ทั้งนี้ โดยหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นผู้ให้ประธานบัตรกับผู้ลงทุน ซึ่งถ้าจะถามว่าความรับผิดชอบสิ้นสุดแล้วหรือไม่? ก็ไม่ถึงกับสิ้นสุด เพราะยังต้องติดตามว่าผู้ที่ได้รับบัตรสามารถประกอบกิจการได้หรือไม่? อย่างไร? แต่แน่นอนว่า ทุกฝ่ายคาดหวังกับการขุดแร่โปแตช เพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยให้ได้โดยเร็ว เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นคงต่อประเทศในระยะยาว ไม่ต้องไปพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เช่น เมื่อสงคราม ราคาปุ๋ยก็จะพุ่งกระฉูด ดังนั้นทั้ง 3 ผู้ประกอบการที่ได้ประทานบัตรไป หากสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ก็ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงอุตสาหกรรมเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อทั้ง 3 เกิดปัญหาไม่มีเงินทุนขาดสภาพคล่อง ก็ต้องเริ่มมองไปถึงการเปิดโอกาสดึงกลุ่มทุนที่มีศักยภาพรายใหม่ ๆ เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันต้องบอกว่ามีเสียงตอบรับที่ดีมาก ๆ อยู่แล้ว เนื่องจากมีหลายบริษัทที่สนใจทั้งจากไทยและเทศที่อยากจะเข้ามาร่วม เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ประทานบัตรนั้นมีอายุและถือเป็นสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับไป แต่เมื่อไรก็ตามถ้าประธานบัตรหมดอายุขึ้นมา ตัดสิทธิ์ก็จะวนกลับมาที่กระทรวงอุตสาหกรรมใหม่อีกรอบหนึ่ง นั่นจึงทำให้ทางกระทรวงฯ จึงยังต้องเฝ้าดูและคอยกระตุ้นผู้ที่ถือบัตรฯ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ผู้ประกอบการก็มีความพยายามในการขับเคลื่อนภารกิจของตน เพราะเกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านนายกฯ ก็ลงมากำชับด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันทุกครั้งที่ท่านไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ ก็จะพยายามมองหาผู้ที่สนใจที่มีศักยภาพมาร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน

เมื่อถามถึงผลลัพธ์ของเหมืองโปแตซที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดราคาปุ๋ยของไทยได้มากน้อยแค่ไหน? รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า “3เหมืองนี้เพียงพอที่จะทำให้ไทยมีปุ๋ยใช้ในประเทศได้เพียงพอและมากพอที่จะส่งออกได้ด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นในโลก เมื่อเรามีต้นทุนปุ๋ยเป็นของตนเอง อย่างน้อยก็ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ”

'รมว.ปุ้ย' เร่งออก มอก. ภาคบังคับเพิ่ม 2 เท่า สกัด 'สินค้าราคาถูก-ด้อยคุณภาพ' พังตลาดไทย

(13 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องกำลังผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยลดลง ว่า ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากการที่ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับใช้ หรือ มอก. ให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา 2 เท่า เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยเป็นหลักประกัน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยว่าจะเลือกใช้ของถูกแต่ไม่มีมาตรฐาน หรือของถูกที่ได้มาตรฐาน

"ยอมรับว่าการที่ภาคการผลิตชะลอตัวอาจจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีหน้าที่ในการดูแล และสนับสนุน เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการเองนำหน้ารัฐบาลไปมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดอุปสรรค ควบคู่ไปกับการสนับสนุน"

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงฯเองก็มีมาตรการที่ดูแลผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภค เพียงแต่การดูแลจะต้องทำให้ได้อย่างทั่วถึง โดยในส่วนของผู้บริโภคเองย่อมต้องการสินค้าที่ราคาไม่แพง แต่ประเด็นที่สำคัญคือ จะต้องมีคุณภาพด้วย ซึ่งกระทรวงฯมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สมอ. คอยช่วยดูแลอยู่ ในการสร้างมาตรฐาน มอก.

โดยสินค้าที่จะเข้ามาจำหน่ายในไทยจะต้องได้รับการยอมรับ หรือผ่านมาตรฐาน มอก. จากการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ปัจจุบันมีปัญหาจากการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือถูกมาพักไว้ตามแนวตะเข็บชายแดนก่อนนำเข้า

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่ากระทรวงฯคงดูแลรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวไม่ไหว จะต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมมือกันด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลสินค้านำเข้าให้มีคุณภาพ เพราะหากสินค้าไม่มีคุณภาพเข้ามาเป็นจำนวนมากย่อมกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนถูกกว่า ซึ่งการดูแลจึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปอีกว่า ในระยะต่อไปสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบมาตรฐาน ตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็ก เช่นปลั๊กไฟ หากไม่ได้มาตรฐานอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และครอบครัว หรือเหล็ก ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของประเทศ โดยปัจจุบันมีทั้งผู้ผลิตในประเทศไทย และเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศที่ผ่าน มอก. อย่างถูกต้อง และไม่ถูกต้อง

"ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกัน โดยมองว่าไม่ใช่ช่วยกันเฉพาะการนำเข้า เพราะไม่ใช่ข้อห้าม แต่สิ่งสำคัญสินค้าจะต้องได้มาตรฐาน"

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ามาตรฐานมี 2 แบบ คือ มาตรฐานบังคับใช้ และมาตรฐานทั่วไป โดยที่ผ่านมากระทรวงฯพบข้อมูลแล้วว่าเรื่องมาตรฐานเริ่มมีปัญหากับผู้ประกอบการในประเทศ จึงมีการยกระดับให้เป็นมาตรการบังคับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการออกมาตรฐานไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย เพราะจะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ตั้งแต่วิธีการผลิต และการตรวจคุณภาพ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับจำนวนสินค้าที่หลั่งไหลเข้ามา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top