รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (4) : ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย…มาจากไหน? ‘กระทรวงพลังงาน’ บริหารอย่างไร? ไม่ให้ค่าไฟแพงเกินไป
(30 ม.ค. 68) เมื่อเล่าถึง ‘ค่าไฟฟ้า’ แล้ว เรื่องหนึ่งที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ไฟฟ้าและจ่าย ‘ค่าไฟฟ้า’ ควรรู้ก็คือ “รายละเอียดของการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย” อันเป็นที่มาที่ไปของบริบทโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับ ‘ค่าไฟฟ้า’ จากที่ได้เล่าไว้ใน “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (1) : ความเป็นมาของกิจการพลังงานไฟฟ้า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ค่าไฟฟ้า’” แล้วนั้น ด้วยแรกเริ่มเดิมทีการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นภารกิจของ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT” ซึ่งทำหน้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าเองทั้ง 100% เพื่อส่งต่อให้กับ กฟน. กฟภ.
แต่ต่อมา รัฐบาลในขณะนั้นต้องการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชนจึงเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่นั้นมา
ทั้งนี้ กฟผ. ทำหน้าที่เป็นทั้ง ผู้ผลิต และผู้รับซื้อไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟน. และ กฟภ. โดยปัจจุบัน กฟผ. ผลิตไฟฟ้าได้เอง ราว 34% ส่วนที่เหลือก็จะรับมาจาก (1)ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer : IPP) เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 เมกะวัตต์ (MW) 34% (2)ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer : SPP)’ เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 เมกะวัตต์ (MW) 19% และ (3)นำเข้าจากต่างประเทศอีก 13% โดย กฟผ. ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งตั้งอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศรวมจำนวนทั้งสิ้น 53 แห่ง มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 16,237.02 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 3 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ) 30 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ) 9 แห่ง โรงไฟฟ้าดีเซล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ (โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ) อีก 1 แห่ง
ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข้อมูลกำลังผลิตโรงไฟฟ้าเอกชน ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 โดย ‘ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 13 โรง โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 19,598.50 เมกะวัตต์ และ ‘ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ซึ่งแบ่งเป็น (1)ประเภทสัญญา Firm [1.1]ระบบ Cogeneration (การผลิตพลังงาน 2 รูปแบบได้แก่พลังงานไฟฟ้า (กระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อน (ไอน้ำ, อากาศร้อน) จากแหล่งเชื้อเพลิงชนิดเดียวในระบบ Cogeneration ประกอบด้วย Gas Turbine, Generator และ Heat Recovery) จำนวน 73 โรง มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 5,772 เมกะวัตต์ และ [1.2]พลังงานหมุนเวียน (Renewable) อีก 26 โรง มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 493.53 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญา Firm รวมทั้งสิ้น 6,265.53 เมกะวัตต์ และ (2)ประเภทสัญญา Non-Firm [2.1]ระบบ Cogeneration จำนวน 6 โรง กำลังการผลิตตามสัญญารวม 278 เมกะวัตต์ และ [2.2]พลังงานหมุนเวียน (Renewable) อีก 56 โรง มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 2,522.35 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญา Non-Firm รวมทั้งสิ้น 2,800.35 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กฟผ. ยังนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) จำนวน 9 โรง และ (สหพันธรัฐมาเลเซีย) อีก 1 โครงการ (โครงการสายส่งเชื่อมโยง ไทย-มาเลเซีย (HVDC) 300 เมกะวัตต์) โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 6,234.90 เมกะวัตต์ ดังนั้น จากกำลังการผลิตไฟฟ้า เพียง 34% หรือเพียง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ทำให้บทบาทของ กฟผ. กลายเป็นผู้รับซื้อ-ขายไฟฟ้า และให้บริการการจัดส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นผ่านระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ให้กับ กฟน. และ กฟภ.
ข้อมูลเกี่ยวกับไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยมาจากไหนนั้นมีผลอย่างสำคัญต่อ ‘ราคาค่าไฟฟ้า’ ด้วยเพราะระบบและเทคโนโลยี ตลอดจนพลังงานที่นำมาใช้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของ ‘ราคาไฟฟ้า’ โดยเฉพาะ ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ และ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)’ จากการที่ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าใช้ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ณ เดือนตุลาคม 2567 ลำดับ 1 คือ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ 53.441% ลำดับ 2 เป็น ‘ไฟฟ้านำเข้า’ 20.602% ลำดับ 3 มาจาก ‘ถ่านหินนำเข้าและลิกไนต์’ 16.025% ลำดับ 4 คือ ‘พลังงานหมุนเวียน’ 8.379% ลำดับ 5 ได้แก่ ‘พลังงานน้ำ’ 1.529% และลำดับ 6 เป็น ‘น้ำมันดีเซล/น้ำมันเตา’ 0.022%
โดยที่ ‘ค่า Ft’ เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ กฟผ. ไม่สามารถควบคุมได้ และ ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ จะเป็นผู้พิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการคำนวณเพื่อปรับค่า Ft ทุก ๆ 4 เดือน ซึ่งในส่วนนี้ ‘กระทรวงพลังงาน’ ทำได้เพียงใช้มาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ทำให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่า Ft เพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายแก่พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าได้ ในตอนต่อไปจะได้บอกเล่าถึงเรื่องของ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ อันเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทย ทำให้มีผลอย่างสำคัญต่อ ‘ค่า Ft’
เรื่อง : บทบรรณาธิการ THE STATES TIMES