Thursday, 3 April 2025
ECONBIZ

'นิค วูจิซิค' แรงบันดาลใจจากชายไร้แขน - ขา ผู้นำพา 'กำลังใจ' มาสู่คนทั่วโลก

เวลารู้สึกเหนื่อย ๆ ท้อ ๆ ไม่อยากทำอะไร รู้สึกชีวิตมันไม่เป็นดั่งหวัง แล้วชอบตั้งคำถามกับตัวเองบ่อย ๆ ว่า...ทำไมเราไม่เป็นแบบเขาคนนั้น ทำไมเราไม่รวยแบบเขาคนนี้?

และเชื่อเถอะว่าในยุคที่เรากำลังเจอกับสถานการณ์แย่ ๆ ทั้งโรคระบาด เศรษฐกิจ การเมือง และ Climate Change หลากรูปแบบ มันก็ยิ่งทำให้อดไม่ได้ที่ปล่อยให้ความรู้สึกแบบนี้หลั่งใหลเข้ามาในความคิดแบบทับถม

ใช่เลย 'ความสิ้นหวัง' กำลังเข้ามาเยือนชีวิตเราใกล้มากขึ้น ๆ

แต่ขอโทษที!! ถ้ามองมุมกลับ ทำไมเราไม่เคยคิดลุกขึ้นมาหรือสู้กับความคิดเหล่านี้และผ่านมันไปให้ได้บ้างล่ะ มีเรื่องของชายคนหนึ่งที่อยากจะนำมาแชร์ เขาเป็นคนที่น่าจะสิ้นหวังกับชีวิตยิ่งกว่าเรา ๆ ท่าน ๆ หรือใครในโลก

ชายนั้นชื่อว่า 'นิค วูจิซิค' (Nick Vujicic) นิค เป็นชายที่ไม่มีแขนขามาตั้งแต่เกิด!! เขาเป็นชาวออสเตรเลีย เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2525 (อายุ 38 ปี) โดยพ่อและแม่เป็นชาวเซอร์เบียที่อพยพเข้ามายังออสเตรเลีย

แม่ของนิคมีอาชีพเป็นพยาบาลและเธอก็ดูแลตัวเองมาตลอดช่วงที่ตั้งท้อง แถมตอนตรวจอัลตร้าซาวด์ประมาณ 3 ครั้ง ก็ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ในตัวนิคเลยแม้แต่น้อย

จนกระทั่งวันที่นิคเกิด เขาลืมตามองดูโลก มาพร้อมกับร่างกายที่ไม่มีแขนทั้ง 2 ข้าง ขณะเดียวกันเขามีขาสั้นๆ ลีบเล็กเพียงหนึ่งข้างกับนิ้วเท้า 2 นิ้วเท่านั้น อาการนี้เรียกว่า Tetra-amelia disorder เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้ผู้ป่วยไม่มีแขนและขา

แล้วรู้ไหมว่า คนที่มีอาการแบบนี้บนโลก มีเพียง 7 คน พูดง่าย ๆ คือ โอกาสที่จะเกิดอาการดัวกล่าวมีเพียง 0.000000092% เท่านั้น แต่นิคก็คือหนึ่งในนั้น

ที่น่าเศร้าในช่วงแรก ๆ หน่อย คือ ตอนที่พยาบาลอุ้มนิคออกมาจากห้องคลอด เพื่อมาให้ผู้เป็นแม่ได้พบนั้น เธอรับไม่ได้และก็ปฏิเสธที่จะอุ้มเขา พ่อและแม่ของนิคเรียกว่าเสียใจอย่างมาก และต่างก็คิดว่านิคคงอยู่ได้ไม่นาน แต่พอหมอได้ตรวจสุขภาพนิค ก็พบว่าเขามีร่างกายที่แข็งแรงดี พวกเขาจึงทำใจยอมรับ และตั้งใจให้นิคได้ใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป

ทว่าต่อให้สุขภาพนิคจะดีแค่ไหน แต่ด้วยร่างกายที่ผิดปกติ ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของนิคลำบากอย่างมาก ไหนจะเกือบอดเข้าเรียน เพราะกฎหมายในออสเตรเลียขณะนั้น ไม่ให้คนพิการเข้าเรียนกับคนปกติ (แต่กฎหมายแก้ตอนหลังให้เรียนด้วยกันได้)

ไหนจะถูกเพื่อนล้อเลียนเป็นประจำ ซึ่งเรื่องนี้แหละที่คนปกติบางทียังทนไม่ไหว แต่นี่เกิดกับเด็กที่พิการอย่างหนัก มันก็อาจจะทำให้หัวใจเปราะบางเอาง่าย ๆ

ครั้งหนึ่งนิคเคยเจอการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้เขาอย่างมาก เพราะเขาโดนเพื่อนถึง 12 คนรุมแกล้ง และมองเขาเป็นตัวตลก เขาเสียใจและกลับมานั่งคิดว่า การที่เขามีสภาพอยู่แบบนี้ต่อไป มันช่างไร้ความสุข ซ้ำยังเป็นภาระของพ่อและแม่อีก เขาเลยคิดอยากฆ่าตัวตายหลายครั้ง

***แต่โชคดีที่ 'ความรัก' และ 'กำลังใจ' จากพ่อแม่ ได้ทำให้เขาผ่านเรื่องร้าย ๆ พวกนั้นมาได้***

นิคเริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่ เขามองว่าแม้ภายนอกจะแตกต่าง แต่ 'ภายใน' (ความคิดและจิตใจ) ของเขานั้นก็เหมือนกับคนทั่วไปทุกอย่าง

หลังจากเรียนจบ (ปริญญา 2 ใบทางด้านบัญชี และด้านการวางแผนการเงินในวัย 21 ปี) เขาจึงตั้งใจอยากจะนำเรื่องราวในชีวิตของเขามาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่น ๆ ผ่านอาชีพ 'นักพูด' 

เขาตัดสินใจติดต่อไปยังโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อไปพูดให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็ก ๆ แต่ช่วงแรกนิคก็โดนปฏิเสธจากทุกโรงเรียน แต่จนมาวันหนึ่งเขาก็ได้รับการตอบรับ…

แม้ครั้งแรกที่เขาไปพูดจะมีคนฟังเพียง 10 คน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาท้อ เขายังคงเดินหน้าทำสิ่งที่เขารักมาตลอด จนเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และสุดท้ายคนจำนวนมากก็ยอมรับในตัวเขา ถึงขนาดยกย่องว่า นิค เป็นหนึ่งในนักพูดที่สร้างแรงบันดาลใจที่ดีที่สุดคนหนึ่งในโลกกันเลยทีเดียว

นิคเริ่มโด่งดังและมีชื่อเสียงถึงขนาดในปี ค.ศ.2009 ได้มีโอกาสไปเล่นหนังเรื่อง 'The Butterfly Circus' ซึ่งหนังเรื่องดังกล่าวได้รับรางวัลหลายรางวัล และในปี ค.ศ.2011 ยังได้ถูกเชิญไปพูดเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจที่ 'World Economic Forum' ซึ่งเป็นการประชุมเศรษฐกิจประจำปี ที่มีผู้นำจากหลายประเทศเข้าร่วมอีกด้วย

แต่ที่น่ายินดีเหนือกว่านั้น คือ เขาเติมเต็มชีวิตได้ด้วยชีวิตคู่…ใช่แล้ว!! ปัจจุบัน นิค แต่งงานและมีลูกกับภรรยาด้วยกัน 4 คน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา นิค ได้พยายามแสดงให้หลายคนเห็นว่า ความพิการมันไม่ได้ทำให้ชีวิตคนย่ำแย่ แต่ความท้อแท้ต่างหากที่จะนำปัญหาต่าง ๆ เข้ามาในชีวิต

...ยังมีคนอีกมาก ที่แย่กว่าเรา 

...ยังมีคนอีกมาก ที่อาจจะไม่เคยได้รับโอกาสใด ๆ เลย

และยังมีคนอีกมากที่ยอม 'ล้มลง' ไปดื้อ ๆ เพียงแค่ไม่ได้บางสิ่งบางอย่างตามใจหวัง

เรื่องราวของนิคน่าจะทำให้หลายคนที่กำลังนำความทุกข์เข้ามาในชีวิต เพราะความ 'อยากได้อยากมี' และการ 'ไขว่คว้า' บางสิ่งบางอย่างที่มากเกินความเป็นจริงของชีวิต อาจจะไม่ใช่คำตอบ 

กลับกันขอแค่ได้ลองสัมผัสกับความสุขที่ 'พอเพียง' ในแบบที่คุณและคนข้าง ๆ ยิ้มและหัวเราะไปด้วยกันได้โดยไม่ต้องแสวงหาสิ่งที่เกินตัว

.

แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วมั้ง…

 

ถอดสมการ MV = PY กลยุทธ์ ‘ตก’ กำลังซื้อ เวอร์ชั่นรัฐ ใต้ไอเดีย ‘ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด’

ถูกด่าก่อนสอบสวน!! น่าจะเป็นตัวอธิบายความได้ดีที่สุดของโครงการคนละครึ่ง

.

แต่จนแล้วจนรอดโครงการดังกล่าวก็กลายเป็นการแก้ปัญหาที่ดูจะถูกจุดเกินคาดของภาครัฐ ที่งวดนี้ปล่อยหมัดฮุกเข้าตรงจุดไปยังกลุ่มคนฐานราก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการหมุนวงล้อเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

.

แล้วตอนนี้ก็เข้าใจว่า ‘โครงการคนละครึ่ง’ น่าจะกำลังถูกเคาะต่อไปยาวๆ หลังจากกระทรวงการคลังพยายามจะเปิดโอกาสให้ ‘ทุกคน’ ที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมดในระลอกใหม่ต้นปีหน้า

.

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า!!

.

อันที่จริงรัฐบาลไทยดูจะพยายามหากลยุทธ์ที่เหมาะกับเศรษฐกิจประเทศ โดยการใช้เงินให้ตรงจุด ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะเข้าเป้าบ้างไม่เข้าเป้าบ้าง

.

แต่ทราบหรือไม่ว่าทุกๆ เม็ดเงินที่ถูกใส่ลงไปในระบบโยบายเชิงประชานิยม ที่มักถูกวิจารณ์ว่าไร้สติ (แต่คนด่านี่แหละคนกดลงทะเบียนก่อนเพื่อน) เป็นการแก้ปัญหาแบบ ‘ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด’ (ขอยืมคำบาบีก้อนมาใช้หน่อย)

.

ไม่ว่าจะชิม ช้อป ใช้เอย / เราไม่ทิ้งกันเอย / การเพิ่มวงเงินเฉพาะให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเอย หรือแม้แต่ล่าสุดกับโครงการ ‘คนละครึ่ง’

.

แน่นอนว่าเวลาพูดถึงนโยบายเชิงเศรษฐกิจ ภาพมันก็ต้องกระทบวงกว้าง ต้องใหญ่ ต้องเปลี่ยนประเทศ แต่มันก็ไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด

.

ยิ่งคิดจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ถึงขั้น ส่งให้ ‘ไทยรวย’ แบบฉับพลันต ยิ่งไม่ง่าย เพราะไหนจะปัญหาภายในประเทศ การเมือง สังคม รวมถึงโรคระบาดอย่างโควิด-19 มันไม่ได้ง่าย

.

ฉะนั้นแนวคิดแบบ ‘ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุดก่อน’ จึงไม่ใช่แค่เหมาะ แต่ต้องทำ เพราะผลลัพธ์ถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศจริงๆ

.

สังเกตุจากโครงการคนละครึ่ง ที่พอมีการเปิดให้ลงทะเบียนรอบ 2 ก็ลงกันสิทธิ์อย่างรวดเร็ว มียอดการใช้จ่ายผ่านแอพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ไปแล้วถึง 13,764 ล้านบาท กระจายสู่ร้ายหาบเร่แผงลอยได้กว่า 650,000 แสนร้าน และรอบ 3 ก็ปิดดีลได้อย่างว่อง

.

อันที่จริง หากมองข้ามเรื่องการเมือง แล้วมาคุยเรื่องเบาๆ (เบาชิบหาย) ในเชิงเศรษฐศาสตร์

.

สิ่งที่พอสะเดาะให้เข้ากับกลยุทธ์ของโครงการคนละครึ่งนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกับทฤษฎีปริมาณทางการเงินอย่างน่าสนใจ

.

โดยทฤษฎีดังกล่าว ถูกย่อยลงมาบนสมการหนึ่งที่เรียกว่า ‘MV = PY’

.

‘MV = PY’ คืออะไร? ไม่ต้องถาม เดี๋ยวจะบอกง่ายๆ เลย เพราะตอนแรกคนเขียนก็งง!! บนความรู้น้อยทางเศรษฐศาสตร์

.

อธิบายตามหลักการ ก็คือ สมการของการแลกเปลี่ยน

M = Money supply ปริมาณเงิน

V = Transaction velocity of money เงินมีการเปลี่ยนมือเร็วแค่ไหน

P = Price level ดัชนีราคาของสินค้าที่ซื้อขาย

Y = Real GDP ระดับผลผลิตที่แท้จริง

.

เป้าหมายของนโยบาย คือ V (Velocity) หรือต้องการให้ ‘เงินมีการเปลี่ยนมือเร็ว’ เพราะถ้า V เยอะจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวสูง จากเงินที่หมุนเป็นเฟืองต่อเฟือง

.

นั่นคือหลักเศรษฐศาสตร์!! ทีนี้มาลองนึกภาพตามแบบภาษาคนกันดูบ้าง

.

มีนักเศรษฐศาสตร์เปรียบเทียบให้เห็นนโยบายแบบ ‘คนละครึ่ง’ ว่าเหมือนกับเรามีถาดหมุนลูกบอลล็อตเตอรี่สักอัน

.

จากนั้นก็หยอดเหรียญเข้าไป 10 เหรียญ

.

ถ้าหมุน 10 รอบแบบเร็วๆ เราจะเห็นเหรียญที่หมุน ดูเยอะขึ้นๆ กว่า 10 เหรียญ

.

ทั้งๆ ที่เหรียญมีเพียง 10 เหรียญ แต่ทำไมแค่หมุนรอบ ทำให้เรามองเห็นว่าเงินมันดูเยอะขึ้น นั่นก็เพราะ ‘การหมุน’ ในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือ การที่เงินจากกระเป๋าหนึ่ง โยกไปหาอีกกระเป๋าหนึ่ง

.

มีตัวอย่างหนึ่งที่พอจะขยายภาพของการทำ V ที่รัฐบาลต้องการให้เกิดเป็นผลลัพธ์ต่อนโยบายที่โยนออกไป นั่นก็คือ

.

...สมมุติแบงค์ชาติมีการพิมพ์ธนบัตร 100 บาทออกมา 1 ใบ

.

แล้วธนบัตรใบนั้น ได้เริ่มต้นไปอยู่ในมือของนาย A

.

Part 1

นาย A ยังไม่คิดจะใช้เงิน จึงเก็บเงินไว้ในกระเป๋าตัวเอง 10 บาท และเอาไปฝากธนาคารจำนวน 90 บาท

.

นาย B ไม่มีเงินแต่ต้องการใช้เงิน จึงไปยืมจากธนาคารที่นาย A ไปฝากมาจำนวน 90 บาท

.

จากนั้นนาย B เอาเงินไปซื้อของกับ นาย C ทำให้เงินจำนวน 90 บาทไปอยู่ที่นาย C

...เท่ากับขั้นตอนนี้มีการซื้อขายเกิดขึ้น คิดเป็น GDP = 90 บาท

.

Part 2

คราวนี้ลูปจะวันกลับมาใหม่!!

โดยเริ่มที่นาย C มีเงินอยู่ 90 บาท แต่เขายังไม่คิดจะใช้เงิน จึงเก็บเงินไว้ในกระเป๋าตัวเอง 10 บาท และเอาไปฝากธนาคาร 80 บาท (เหมือนกับนาย A)

.

นาย D ไม่มีเงิน แต่ต้องการใช้เงิน จึงไปยืมเงินจากธนาคารที่นาย C ไปฝากมาจำนวน 80 บาท

.

จากนั้นนาย D ก็ไปซื้อของกับ นาย E ทำให้เงินจำนวน 80 บาทไปอยู่ที่นาย E

...เท่ากับขั้นตอนนี้มีการซื้อขายเกิดขึ้น คิดเป็น GDP = 80 บาท

.

เมื่อนับไทม์ไลน์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากแบงก์ชาติที่ให้เงินนาย A มา จนถึง GDP ของ Part1 ที่ 90 บาท + GDP ของ Part2 ที่ 80 บาท ได้ทำให้เกิด GDP รวมจาก ‘การหมุน’ ของเงิน 100 บาท เป็น 170 บาท

.

ทีนี้พอมาเทียบกับโครงการคนละครึ่งแล้ว เลยกลายเป็นว่าการใส่เงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจของรัฐ มีส่วนช่วยอย่างมากให้เหรียญแค่ 10 เหรียญถูกแกว่งจนกลายเป็นภาพเหรียญที่มากกว่า 10 จากการซื้อ ยืม และเก็บวนไปเรื่อยๆ

.

โดยการหมุนตรงนี้ มีดีที่โฟกัสไปยังการหมุนวนเม็ดเงินกันระหว่างกลุ่มประชาชนฐานรากและฐานกลาง ที่ไม่เอื้อต่อฐานใหญ่ ซึ่งทำให้เม็ดเงินอุดเป็นคอขวด

.

นี่จึงเป็นอีกสูตรการกระตุ้น GDP ที่ควรทำในจังหวะที่ ‘กำลังซื้อ’ ของประชาชน ‘ชะลอตัว’ คนไม่มีเงิน ก็กล้าใช้เงิน เพราะมีรัฐช่วยค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง

.

ขณะเดียวกันคนที่มีเงินอยู่แล้ว ก็อยากดึงเงินออกมาใช้ให้มากกว่าเดิม เช่น เคยซื้อสินค้า 1 ชิ้น ในราคา 300 บาท แต่โครงการคนละครึ่ง ทำให้เสียแค่ 150 บาท จึงรู้สึกว่าการนำเงินส่วนต่างอีก 150 บาทไปใช้ต่อ ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เป็นจิตวิทยาเพิ่มความกล้าในการใช้จ่ายเงินโดยไม่รู้ตัว

.

แต่กว่าจะมาถึงสูตรนี้ได้ อยากรู้นักว่าก่อนหน้านี้ ปล่อยให้ใครชี้เป้าเศรษฐศาสตร์ จนเศรษฐกิจแป้กไม่เลิก…

.

อ้างอิง: https://www.asquareschool.com/2015/08/02/mv-py/

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางเท่าไร?

เมื่อรายได้หลักหด...รายได้เสริมต้องมาให้ไว!!

.

ในปี 2562 บริษัท วัชรพล จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีรายได้รวม 1,706.03 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,722.93 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 36.04 ล้านบาท นับเป็นการขาดทุนเป็นปีแรก ภายหลังจากปี 2560 มีกำไรสุทธิ 603.79 ล้านบาท และปี 2561 มีกำไรสุทธิลดลงมา 313 ล้านบาท

.

ฉะนั้นจะเรียกว่ามาถูกทางหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ตอนนี้ไทยรัฐเองก็กำลังเตรียมโกทูธุรกิจใหม่ อย่างธุรกิจขนส่ง (Logistics) ที่กล้าพูดได้เลยว่า ธุรกิจจนส่งรุ่นพี่ๆ มีเสียวกันถ้วนหน้าแน่นวล...

.

เพราะ 'สปีดคาร์' คันเขียว ผู้เชี่ยวชาญการย่อระยะทางแบบว่า กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ขอแค่ 4 ชั่วโมงพอ น่าจะเป็นอีกทีเด็ดของธุรกิจสายขนส่งของกลุ่มสื่อหัวเขียว ก็เป็นได้ๆๆ

บทบาทใหม่ของ 'อริยะ พนมยงค์'

กลายเป็นอีกคนที่น่าจับตามามองในช่วงนี้!! สำหรับ 'อริยะ พนมยงค์' อดีต Head ของ Google ประเทศไทย, อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท LINE ประเทศไทย

.

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท Transformational พ่วงบทบาทใหม่ในการเข้ามาเป็นผู้นำทัพ Digital Transformation ให้กับสยามพิวรรธน์ โดยจะเข้ามาปรับคอนเซ็ปต์ Digital Experience ให้แตกต่างและไม่เหมือนใคร ผ่านช่องทาง ‘ออมนิชาแนล’

มีทอง...ก่อนมีผัวไหม?

แต่ก่อนเคยมีคนพูดกันว่า ‘มีทองเท่าหัว ไม่เท่าเสียผัวให้ใคร’ แต่มาวันนี้คงต้องเปลี่ยนเป็น ‘มีทองเท่าหัว ไม่มีผัวก็ได้’

นั้นก็เพราะหากย้อนไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน เงิน 30,000 บาท สามารถกวาดทองมากองเก็บไว้กับตัวได้ร่วม ๆ 70 บาท (ทอง) ซึ่งใครที่ซื้อไว้ตอนนั้น และยังไม่ปล่อยขาย ตอนนี้คงรวย ๆๆ

แต่ตอนนี้ต้องบอกว่าเงิน 30,000 บาท ดูเหมือนจะแตะทองคำไม่ได้เลยสักบาท!!

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะปัจจัยด้าน ‘อัตราเงินเฟ้อ’ หรือ ภาวะที่ราคาของสินค้าหรือการบริการในช่วงระยะเวลาหนึ่งในระบบเศรษฐกิจมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ ‘ค่าของเงิน’ ที่เราถืออยู่ลดลงไปด้วย และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อราคาทองคำในแต่ละยุคไปโดยปริยายเช่นกัน

'ข้าวกล่องแห่งความรัก' ธุรกิจจาก 'หลานชาย' ที่อยากเจอหน้า 'อาม่า' ทุกวัน

คุณค่าของใครบางคน อาจจะดูไร้ค่า จนเหมือนกับต้นไม้แก่ที่แห้งเหือดไปตามกาลเวลา แต่ต้นไม้แก่ที่โรยราย สามารถกลับมามี ‘คุณค่า’ ได้ใหม่ หากมีใครสักคนให้ความสำคัญ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย และสักวันหนึ่งต้นไม้ต้นนั้น ก็อาจจะพร้อมกลับมามอบ ‘ร่มเงา’ แก่คนที่ยังเห็นคุณค่าและดูแลมันได้กลับคืน

‘ข้าวกล่องอาม่า’ (ARMABOX) ธุรกิจของคนต่างวัย ที่เริ่มต้นจาก ‘ไบรท์-พิชญุตม์ กุศลสิทธิรัตน์’ หลานชายวัย 26 ปี กับ ‘อาม่า-รัตนา อภิเดชากุล’ ในวัย 75 ปี เป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายคุณค่าของไม้ใหญ่ที่กำลังโรยราให้กลับมามีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี

จุดเริ่มต้นธุรกิจข้าวกล่องอาม่า เกิดขึ้นจากผู้เป็นหลาน ซึ่งมองเห็นคุณค่าของอาม่าจากภาพจำตอนเด็ก เขาจำภาพคนเก่งที่ลุกขึ้นขายข้าวแกงในแต่ละวัน จนสามารถหาเลี้ยงดูครอบครัวมาได้จนถึงปัจจุบัน แต่หลังจากนั้นเมื่อถึงวัยชรา อาม่าก็กลายเป็นคนแก่ที่โดดเดี่ยว เมื่อเลิกขายข้าวแกง ไบรท์ เข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตีให้ครอบครัว ลุกขึ้นมาทำธุรกิจข้าวกล่องขาย โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเขา คือ อยากให้ครอบครัวได้อยู่ใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะกับ ‘อาม่า-รัตนา’ ที่แม้จะอยู่ในกรุงเทพฯ แต่โอกาสเจอกันก็น้อยมาก

นั่นก็เพราะอาม่าอาศัยอยู่ย่านเจริญกรุง ส่วนตัวเขาอยู่คลองเตย ซึ่งเขาเคยชวนอาม่ามาอยู่ด้วย แต่ท่านก็ไม่ยอม (อาม่ากลัวเป็นภาระ) ตอนที่ไบรท์คิดที่จะทำธุรกิจข้าวกล่อง เขานำเรื่องนี้ไปคุยกับคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงตัวอาม่าด้วยนั้น แน่นอนว่าเด็กวัยรุ่นกำลังโตในมุมผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ย่อมไม่อยากให้ลูกหลานของตนมาลำบากกับอาชีพที่พวกเขาเคยผ่านมาก่อน และมองว่าไปตั้งหลักปักฐานกับบริษัทหรือองค์กรดี ๆ เพื่อกินเงินเดือนจะดีกว่า

ไบรท์รู้อยู่แล้วว่าคำตอบที่จะได้มา คือ No!! แต่เขามองว่าการทำงานในบริษัทยุคนี้ ก็อาจจะไม่ได้มั่นคงเหมือนสมัยก่อน ขณะที่การเริ่มต้นเป็นเถ้าแก่มือใหม่ บนปัจจัยบางอย่างของโลกธุรกิจยุคดิจิทัล อาจจะเหนื่อยแต่น่าท้าทาย ยิ่งไปกว่านั้น เขาเป็นคนที่ผูกพันกับอาม่ามาก และไม่อยากให้อาม่าโดดเดี่ยว เพราะท่านแก่มากแล้ว เขาอยากเจอและอยู่กับอาม่าทุกวัน ฉะนั้นต่อให้ธุรกิจเล็กๆ นี้จะได้เงินไม่เยอะเท่าทำงานในบริษัท แต่ก็อยากลอง และถ้ามันไปไม่รอดค่อยว่ากันอีกที

เมื่ออธิบายถึงความตั้งใจให้รับรู้…ทั้งอาม่า คุณพ่อ และคุณแม่จึงยอม!!

ไบรท์ใช้ทุนเริ่มต้นประมาณ 30,000 บาท จากเงินเก็บที่เคยทำงานประจำก่อนหน้า มาเริ่มต้นทำธุรกิจข้าวกล่องแบบเดลิเวอรี่ในชื่อ ‘ข้าวกล่องอาม่า’ โดยความตั้งใจของเขา คือ อยากให้ทุกเมนู ทุกสูตรในการปรุง และไอเดียด้านอาหารทั้งหมดออกมาจาก ‘อาม่า’ เพราะเขาเชื่อในฝีมือรสชาติอาหารของอาม่าที่เขาเคยทานมาตั้งแต่เด็ก ๆ

ข้าวกล่องอาม่า เริ่มต้นโดยเน้นที่อาหารไทยเป็นหลัก มีการสร้างเมนูขึ้นมามากกว่า 120 เมนู มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 49 บาท และรวมถึงยังมีขนมหวานขายอีกด้วย แน่นอนว่า ช่วงแรก ๆ ของการเริ่มต้นธุรกิจ ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักข้าวกล่องอาม่ามากนัก แต่เมื่อไบรท์ตั้งใจทำธุรกิจนี้มาก เขาจึงใช้ทุกหนทาง เพื่อให้คนได้รับรู้ ตั้งแต่พิมพ์แผ่นพับแล้วไปเดินแจกตามสำนักงาน และห้างสรรพสินค้าเพื่อหาลูกค้า

แรก ๆ ก็มีออเดอร์เข้ามาประมาณ 100 กล่อง ต่อวัน เฉลี่ยยอดขายอยู่ที่ 5,000-7,000 บาท ต่อวัน ซึ่งยังน้อยอยู่ แถมมีปัญหาเยอะ คนไม่พอ ส่งไม่ทัน จึงเริ่มชักชวนเพื่อนและรุ่นน้องที่เคยทำธุรกิจจำลองสมัยเรียนด้วยกันมาเป็นหุ้นส่วน อย่างไรก็ตาม ด้วยรสชาติจากฝีมืออาม่าที่ไม่เป็นสองรองใคร ทำให้ร้านข้าวกล่องอาม่าเริ่มเป็นที่รู้จัก คนที่สั่งไปก็โทรกลับมาสั่งซ้ำมากขึ้น…

ไม่นาน!! ก็มียอดสั่งซื้อราว 1,000 กล่อง ต่อวัน ทำให้ ไบรท์ เริ่มปรับแนวทางในการทำธุรกิจ โดยการนำระบบซอฟท์แวร์มาช่วยการขายผ่านออนไลน์ (โปรแกรม ERP สำหรับใช้งานในองค์กร) เช่น…

ระบบรับออเดอร์ผ่านเว็บไซต์ ระบบคำนวนออเดอร์ ว่าแต่ละวันต้องผลิตเมนูอะไรบ้าง จำนวนเท่าไรบ้าง มีการใช้เทคโนโลยีในการช่วยจัดการข้อมูลลูกค้า เก็บสถิติเมนูขายดี เพื่อมาเป็นฐานข้อมูลในการออกเมนูหรือโปรโมชั่นใหม่ๆ มี Line Official Account ที่เป็นช่องสื่อสารกับลูกค้า สามารถรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆ และข้อมูลการสนทนาก็ไม่หายไปไหนด้วย สามารถกลับมาดูได้ตลอด และยังใช้การตลาดออนไลน์ เช่น การยิงโฆษณาในโซเชี่ยลมีเดียช่วยสร้างการรับรู้ตลอด จึงทำให้กิจการเติบโตได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันร้านข้าวกล่องอาม่าเปิดมาได้ 2 ปีกว่า ๆ จากช่วงแรกที่ยอดขายมีแค่วันละไม่กี่กล่อง แต่ตอนนี้มีออเดอร์เฉลี่ยต่อวันไม่น้อยกว่า 1,500 กล่อง พิสูจน์ให้คุณพ่อคุณแม่ และอาม่าเห็นแล้วว่าเขาทำมันได้

ใครจะคิดว่าจากวันที่เริ่มต้นธุรกิจ เพียงเพราะอยากอยู่ใกล้ชิดกันกับคนในครอบครัว และเริ่มต้นจากคนไม่กี่คน จะกลายเป็นธุรกิจที่มีอนาคตได้อย่างจริงจัง ที่สำคัญ คือ ทุกวันนี้ ไบรท์ บอกว่าสุขภาพของ ‘อาม่า’ แข็งแรงมาก เพราะการกลับมาทำในสิ่งที่ท่านรักอีกครั้ง แถมยังสร้าง ‘คุณค่า’ ให้กับคนรอบข้าง บวกกับได้มีโอกาสพบปะลูกหลานในทุกๆ วัน ได้เพิ่มพลังงานชีวิตที่เต็มเปี่ยมแก่ท่านอย่างมากทีเดียว

เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า อย่ามองข้าม ‘ต้นไม้ใหญ่ที่โรยรา’ เพียงเพราะเราคิดว่า ‘กำลังจะตาย’ เพราะสุดท้ายไม้ใหญ่นั้น อาจจะกลับมาเป็นร่มเงาที่มั่นคง ให้เราได้พักพิง ในวันที่ท้อและเหนื่อยล้า ก็เป็นได้…

เศรษฐกิจไทย...กำลังฟื้นตัว

แม้ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีแรงกระทบต่อกลุ่มประชาชนคนไทยที่มีปัญหาความยากจน

แต่มีการคาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมาเร็ว จากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาส 3 และคาดการณ์ปีพ.ศ.2564 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

.

ที่มา: สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

‘ฝูงบิน’ ขี้อิจฉากับความริษยาของ ‘ยนตรกรรม’

การที่ธุรกิจใดๆ จะเข้าถึงลูกค้าได้สัก 50 ล้านราย ก็ว่าไม่ง่ายแล้ว แต่ถ้าทำได้ในเวลา 19 วัน ดูยากจนน่าเหลือเชื่อ!! เพราะทราบไหมว่าในโลกของอุตสาหกรรมธุรกิจร่วมศตวรรษนั้น กว่าจะสร้างสินค้า บริการ หรือผลิตผลให้เข้าถึงผู้คนได้จำนวนมากๆ ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองมาอย่างยาวนานทั้งสิ้น

.

  • สายการบินใช้เวลา = 68 ปี
  • รถยนต์ใช้เวลา = 62 ปี
  • โทรศัพท์ใช้เวลา = 50 ปี
  • โทรทัศน์ใช้เวลา = 22 ปี
  • คอมพิวเตอร์ใช้เวลา = 14 ปี
  • มือถือใช้เวลา = 12 ปี
  • อินเตอร์เน็ตใช้เวลา = 7 ปี 
  • Facebook ใช้เวลา = 3 ปี
  • เกม Candy Crush ใช้เวลา = 4 เดือน

.

….แต่ทั้งหมดต้องหมอบกราบให้กับ ‘Pornhub’ กับ ‘Pokemon Go’ ที่ใช้เวลาไป ‘19 วัน’ ในการกวาดผู้ใช้งาน ‘50 ล้านราย’

.

บางอุตสาหกรรมเห็นตัวเลขนี้แล้วคงแอบอิจฉาริษยากันบ้าง อย่างธุรกิจการบิน ที่กว่าจะมีผู้ใช้งานถึงหลัก 50 ล้านคนได้ ก็ต้องใช้เวลากว่า 68 ปี หรือแม้แต่รถคันแรกของ Ford Model T ตอนออกวางจำหน่าย ก็ต้องใช้ระยะเวลากว่า 62 ปี ถึงจะมียอดใช้งานสะสมทั่วโลก 50 ล้านคัน

แต่พอโลกเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ต กลับเริ่มมีสินค้าและบริการบางอย่าง เข้ามากวาดผู้คนไปได้อย่างรวดเร็ว เหมือนที่ยกตัวอย่างไปกับ Pokémon Go และ Pornhub ที่สร้างยอดผู้ติดตาม 50 ล้านคน ในระยะเวลา 19 ซึ่งทั้ง 2 เร็วกว่าการเข้าถึง 50 ล้านคนของรถยนต์ประมาณ 1,190 เท่า และเร็วกว่าอุตสาหกรรมการบินประมาณ13,000 เท่า (ช่างน่าริษยา)

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

จุดร่วมหนึ่งที่สำคัญของ Pornhub และ  Pokémon Go คือ การ ‘เคลียร์’ กับ ‘จริต’ พื้นฐานของคนยุคนี้ได้แบบที่ไม่มีจุดไหนเลยจะไปย้อนแย้งกับ ‘ไลฟ์สไตล์’ ของกลุ่มคนที่ได้สัมผัส 

ทุกคนใช้งานได้ง่าย ใช้งานได้ฟรี (พรีเมี่ยมเติมเงิน) และรู้สึกถึงความผูกพันที่ ‘เติบโต’ ไปแบบไม่รู้จบ ต่างจากธุรกิจดั้งเดิมที่ติดข้อจำกัดที่ว่ามาเกือบทั้งสิ้น

ทีนี้มาดูสูตรโกง ‘Pokémon GO’ กันสักนิด...

จุดกำเนิดในปี 1996 ที่เปิดตัวเป็นวิดีโอเกม Pokémon ครั้งแรกในญี่ปุ่น และมีการพัฒนาต่อมาหลากหลายเวอร์ชั่น พลิกโฉมแบบเฉียบขาดมาเป็น Pokémon Go เมื่อปี 2016 ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัท Niantic Labs ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพใต้ร่มของGoogleที่ก่อตั้งในปี 2010

หลังเปิดตัวเพียง 3 เดือนแรก Pokémon Go ทำรายได้สูงถึง 592 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาเพียงแค่ 19 วันหลังเปิดตัว ด้วยยอดดาวน์โหลดถึง 50 ล้านครั้ง 

ขณะเดียวกัน ก็กวาดรายได้รวมในปี 2016 ไปถึง 832 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท และ 894 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2019 

และถ้านับตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปี 2019 เกมนี้ทำรายได้รวมมากกว่า 3.1พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมเพิ่มจำนวนผู้เล่นได้ถึง 1,000 ล้านคน 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Pokémon Goแจ้งเกิดได้ขนาดนั้น มาจากตัวเกมPokémon Goได้หยิบเอาเทคโนโลยีภาพเสมือนอย่าง AR: Augmented Reality และระบบ Location Base ที่มีการพูดถึงเยอะ แต่ไม่ค่อยมีคนเอาพลิกแพลงเป็นคอนเท้นท์ใหม่ๆ 

ตรงนี้น่าสนใจมากๆ เพราะ Pokémon Go สร้างมาตรฐานการเล่นเกมแบบใหม่ให้เกิดเป็นไลฟ์สไตล์แก่คนที่ไม่ได้เล่นเกม ก็ต้องมาลองเล่น แถมด้วยรูปแบบของเกม มันก็คือการจำลองให้เรามโนว่าตัวเองเป็น ‘ซาโตชิ’ (ตัวเอกของเกม) ให้เข้ามาสู่โลกแห่งนักล่ามอน  

ไม่ว่าจะเป็นการออกเดินทางเก็บรวบรวมตัวโปเกมอน เลี้ยงดู ฝึกฝน พัฒนา ผ่านการสู้กับผู้ฝึกโปเกมอนอื่น ๆ ในเกม จึงไม่แปลกที่ทั้งผู้เล่นใหม่และแฟนเดิมจะถูกดึงเข้าแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ ยังมีจุดน่าสังเกตหนึ่ง คือ ผู้ผลิตน่าจะมองออกว่าการนำ AR มาใช้กับเกมให้คนต้องตระเวนไปทั่วทุกทิศ เพื่อหาโปเกมอนใหม่ๆ เข้ามาไว้ในพอร์ตนั้น...อาจจะสร้าง Talk บางอย่าง ที่แม้จะไม่ใช่ Talk ดี แต่ในเชิงของการตลาดถือว่า ‘เฉียบ’

เพราะถ้าสังเกตุให้ดีในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ Pokémon Goถูกพูดถึงในมุมของต้นเหตุแห่งอุบัติเหตุมากมาย บางประเทศมีผู้เล่นเผลอล่ามอนแล้วตกเขา หรือบางประเทศผู้เล่นออกไปล่ามอนบนเกาะซะเพลินจนน้ำขึ้นและกลับออกมาไม่ได้ก็มี 

ส่วนบางคนที่ไม่ได้เล่นเป็นจริงเป็นจัง แต่ก็พร้อมเสนอตัวว่าเป็นนักล่าตัวแทน (เพราะมันเล่นง่าย) อาสาไปล่ามอนในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ให้ จนเกิดอาชีพ เทรนเนอร์ตัวแทน หรือคนขับรถพาทัวร์จับโปเกมอน เพิ่มมูลค่าเกมเข้าไปอีก

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไม 19 วันของ Pokémon Go จึงโกยคนเข้าคอกได้อย่างรวดเร็ว

.

ข้ามมาที่ Pornhub!!

เว็บไซต์หนังผู้ใหญ่ Pornhub ที่ก่อตัวขึ้นในปี 2007 สามารถฝ่าดงเว็บเสียวที่ฝังเต็มโลกอินเตอร์เน็ต จนขึ้นไปครองเบอร์ 1 เจ้าแห่งความเสียวซ่านในปี 2019 

Pornhub มีค่าเฉลี่ยสถิติคนคลิกราว115 ล้านครั้งต่อวัน โดยคนอเมริกันเป็นแชมป์ในการเข้าชมมากสุด ส่วนไทยก็ติดอันดับ 17 ในการเข้าเว็บนี้ แต่ ๆๆๆ เราเป็นแชมป์ดูคลิปนานสุดในโลกที่ 11.21 นาที (น่าภูมิใจมาก)

สิ่งที่น่าสนใจของ Pornhub ถ้าไม่นับประเด็นร้อนที่รัฐบาลไทยสั่งปิดเว็บเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 คือ... การมาในจังหวะที่ดี และสร้าง ‘การมีส่วนร่วม’ ในแบบที่เว็บโป๊อื่นๆ ไม่ได้ทำ (เอ่อ จริงๆ เว็บอื่นเขาก็เปิดมาให้เรามีส่วนร่วมแหละ ฟั่บ ๆๆ) 

เพราะถ้าฟังคำสัมภาษณ์จาก คอรีย์ ไพรซ์ (Corey Price) รองประธาน Pornhub ที่เคยเล่ากับเว็บไซต์ Benzinga ในปี 2017 จะพบว่า…จุดเปลี่ยนที่ทำให้คนจดจำ Pornhub นอกจากพยายามพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการรับชมใหม่ๆ เช่น การดูแบบ VR (Virtual Reality) แล้วนั้น

ตัว Pornhub มาเดินเครื่องแรง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมการเสพหนังโป๊แบบแผ่น มาเป็นออนไลน์พอดี แถมเปิดให้ชมฟรี (แต่ก่อนบางเว็บหาดูฟรียาก) อยากได้ของดีค่อยสมัครพรีเมี่ยม 

ที่สำคัญ คือ Pornhub ใช้เทคนิคสร้าง ‘การมีส่วนร่วม’ จาก ‘คนเสพ’ เป็น ‘คนปัน’ โดยให้อิสระในการเปิดให้ใครๆ ที่อยากอัพโหลดคอนเท้นท์เสียวๆ เข้ามาแชร์ได้หมด

ยิ่งไปกว่านั้นยังได้เปิดให้คนเสพสามารถผันตัวเองมาเป็น ‘นักแสดง’ (UGC: User Generated Content) สร้างเองแสดงเองง่ายๆหรือเรียกให้ยิ่งใหญ่หน่อยได้ว่า ‘Pornhubber’ (คล้ายๆ กับ YouTuber นั่นแหละ)

หลังจากให้คนเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว Pornhub ก็ขอเข้าไปมีส่วนร่วมบ้าง ด้วยการนำระบบ AI เข้ามาศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้งานเพื่อให้คอนเท้นท์เข้าถึงความชอบแต่ละคน ตอบโจทย์รสนิยมส่วนตัวได้เชี่ยๆ

แท็กติคที่ดูเหมือน Simple ของ Pornhub มัน Impact และช่างละเมียดมากๆในยุคนู้น จนกวาด 50 ล้านผู้ใช้งานได้ภายใน 19 วัน

และนั่นก็ทำให้ Pornhub เติบโตจนในปี 2010 ไปต้องตาเจ้าพ่อนักสะสมเว็บโป๊ชาวเยอรมันอย่าง Fabian Thylmann ที่ใช้บริษัท MindGeek ของตนเข้าสู่ขอ Pornhub ไปจาก Matt Keezerด้วยราคาที่ไม่เปิดเผย

Fabian Thylmann มั่นใจว่ารายได้ของ Pornhub จะโกยค่าโฆษณา ขายแบนเนอร์โฆษณาต่าง ๆ รวมทั้งเก็บค่าสมาชิกพรีเมียมรายเดือนได้เป็นกอบเป็นกำ

อย่างที่บอกไปว่า ‘สิ่งประดิษฐ์ที่จับต้องไม่ได้’ สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในยุคนี้ และก็อาจจะไม่จบที่กรณีแบบ Pornhub กับ Pokémon Go เท่านั้น เพราะในยุคที่อินเตอร์เน็ตเชื่อมให้ 7 พันกว่าล้านคนทั่วโลกพบปะกันได้ง่ายๆ ผ่านมือถือ โอกาสเกิดแชมป์เปี้ยนใหม่ๆ เข้ามาท้าชิง ก็เป็นไปได้ตลอดเวลา

ขอแค่สร้างสรรค์สิ่งที่ ‘เคลียร์’ กับ ‘จริต’ พื้นฐานของคนได้คือจบ...

.

ที่มา: 

Visualcapitalist 

ลงทุนแมน 

Ahead Asia

https://blog.capitalogix.com/public/2019/01/pornhub-by-the-numbers.html

Sensor Tower Store Intelligence

 

5 ธุรกิจไทย ‘รายได้’ ทะลุหมื่นล้าน ที่อายุยืนนานกว่า ‘มิกกี้เม้าส์’

วันนี้เมื่อ 92 ปีที่แล้ว ( 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2471) เป็นวันเกิดของมิกกี้เม้าส์ (MICKEY MOUSE) ตัวละครการ์ตูนที่ครองใจเด็ก ๆ ทั่วโลก ด้วยลักษณะของหนูสีดำที่สวมกางเกงเอี๊ยมสีแดง

อย่าเฉาฉุ่ย!! ‘แจ็ค หม่า’ ถูกเชือด!! บทเรียนต้องรู้ หากคิดจะทำธุรกิจในแผ่นดิน ‘จีน’

'เฉาฉุ่ย' เป็นคำจีนแต้จิ๋ว แปลตรงตัวว่าปากเหม็น ใช้ในความหมายว่าปากเสีย พูดอะไรไม่เป็นมงคล ซึ่งมักจะเป็นกิริยาที่ผู้ใหญ่เอาไว้ตำหนิเด็กหรือผู้โอ้อวด

สัปดาห์กว่า ๆ ที่ผ่านมา ความเฉาฉุ่ย ที่ออกมาจากปากมหาเศรษฐีแห่งโลกค้าปลีกออนไลน์อย่าง แจ็คหม่า ทำให้เขาต้องเจ็บตัวหนัก และเป็นบทเรียนที่คงต้องจำไปจนตาย

หลังจากบริษัทลูกของเขาที่ชื่อว่า ANT Group ต้องถูกระงับการเข้าตลาดหุ้นในเซี่ยงและฮ่องกงแบบกะทันหัน...เกิดอะไรขึ้นกับแจ็คหม่า?

แจ็คหม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba ได้มีการบริษัทลูกที่ชื่อ ANT Group ซึ่งเป็นบริษัทการเงินแบบดิจิทัลที่ปล่อยเงินกู้ผ่านออนไลน์ สามารถกู้ได้ทุกประเภท ในวงเงินที่จำกัดหรือไม่ตามนโยบายของ ANT

การเข้ามาของ ANT ในจีน ทำให้ผู้คนใช้บริการเยอะมาก เพราะแค่เปิดแอปพลิเคชัน ใส่ข้อมูล บัตรประชาชน รายได้ บริษัทที่ทำงาน แล้วขอกู้ เท่านี้ระบบก็พร้อมจะอนุมัติเงินให้ได้ทันที

เพราะการที่ ANT ทำแบบนั้นได้ มาจากการใช้ระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคำนวณความเป็นไปได้ของผู้กู้ว่าควรให้มากน้อยแค่ไหน ถ้าประเมินข้อมูลแล้ว ผ่านเกณฑ์ประมาณ 70% ก็ให้กู้ได้ทันทีเลย

ตรงนี้ทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคารทำธุรกรรม ยื่นกู้ หาหลักฐาน และประเมินจากบุคคลให้เสียเวลา จนกลายเป็นความสะดวกสบายที่ทำให้บริษัทนี้เติบโตใหญ่มาก

และความนิยมนี้ ก็เริ่มทำให้ระบบการเงินการธนาคารในจีนต่างหวาดกลัว เพราะอย่างที่ทราบกันดี คือ ธนาคารส่วนใหญ่ในจีนนั้น ล้วนเป็นของรัฐบาลจีนทั้งสิ้น

เมื่อ ANT ได้เข้ามาพลิกโฉมวงการการเงินในจีน จนเป็นที่มั่นใจแล้วว่าไปรอด แจ็คหม่า ก็ตัดสินใจที่จะนำ ANT เข้าตลาดหลักทรัพย์ในตลาดเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง (เพื่อเสนอขายหุ้นใหม่ให้ประชาชนหรือ IPO)

ตัวเลขที่น่าตกใจของ ANT ที่คาดว่าจะได้หลังปล่อยขาย IPO คาดว่าจะเป็นการทุบสถิติ IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าถึง 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.12 ล้านล้านบาท ยิ่งใหญ่มากกว่าครั้งที่บริษัท ‘อารัมโก’ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของประเทศซาอุดีอาระเบีย เคยเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ทาดาวัล ด้วย IPO มูลค่ารวม 25,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แล้วถ้าหาก ANT ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ จะยิ่งดันให้ทรัพย์สินส่วนตัวของ แจ็คหม่า ที่มีอยู่แล้วมากมาย เพิ่มขึ้นไปอีกทันทีอีกถึง 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ดูเหมือนเส้นทางที่ดูราบรื่นของแจ็คผู้เคยล้มยักษ์ จะไม่สวยหรู!!

นั่นก็เพราะก่อนหน้าวันที่ ANT จะเริ่ม IPO แค่ 48 ชั่วโมง แจ็คหม่า ถูกเรียกเข้าไปพบในห้องประชุมลับของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการผู้ควบคุมกฎระเบียบเรื่องการเงินของจีน

หลังจาก แจ็คหม่า ออกมาจากห้องประชุม ทาง ANT, ตลาดหลักทรัพย์ทั้งเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง ประกาศให้ยุติ ANT เข้าสู่ตลาดทันที เหตุผลโดยภาพที่ปรากฎลงบนหน้าสื่อ คือ ANT ทำผิดระเบียบหลายข้อ และต้องกลับไปแก้ไขใหม่

...แต่มีการวิเคราะห์ว่า ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่ทำให้ ANT อดเข้าตลาดหลักทรัพย์ มาจากความเฉาฉุ่ยของ แจ็คหม่า เอง

เฉาฉุ่ยยังไง เขาไปปากหมาตอนไหน?

ถ้าใครที่ติดตาม แจ็คหม่า จะรู้ดีว่าเขาเป็นคนชอบพูด ชอบขึ้นเวที และวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนั้นเรื่องนี้ เพื่อทำให้ตัวเองเป็นพระเอกในเวทีโลก และว่ากันว่า...คนจีนที่เป็นข้าราชการ เคยพูดถึงเขาว่าเป็นคนโคตร ‘ปากเสีย’ ชนวนเหตุเรื่องความปากหมาของแจ็คหม่า ถูกขุดคุ้ยขึ้นมา โดยในช่วงที่ ANT กำลังรุ่งโรจน์ เขามักจะชอบวิพากษ์วิจารณ์ธนาคารกลางและผู้คุมกฎการธนาคารจีนในทางลบ

.

เขามักจะชอบตำหนิตามหน้าสื่อและเวทีสาธารณะว่า...

- จีนไม่มีระบบบริหารความเสี่ยงด้านการเงินที่ทันสมัย

- คนในระบบสถาบันการเงินจีนนั้มีความคิด ‘ล้าสมัย’ ไม่ทันยุคดิจิทัล

- รัฐเอาแต่การควบคุมด้วยมาตรการที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภค

- ANT ควรถูกปฏิบัติในฐานะของบริษัทเทคโนโลยี แทนที่จะเป็นบริษัทการเงินที่ถูกคุมอย่างเข้มงวด

- คิดแบบเดิมเลยไม่เกิดการพัฒนานวัตกรรมเท่าที่ควร เช่น FinTech หรือ นวัตกรรมด้านการเงิน

- และควรทิ้งแนวคิดแบบ ‘โรงรับจำนำ’ ไปเสียที

.

ความวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ กลายเป็นกระแสร้อนแรงในโลกการเงิน และโลกออนไลน์ของจีน เขาถูกตำหนิว่าชอบพูดให้ตัวเองดูดี ดูเท่ห์ ชอบใช้คำคมให้ตัวเองดูเก่งกาจ

แต่ดูเหมือนความปากพล่อยของแจ็คหม่าครั้งนี้ จะไม่ได้จบแค่การถูกตำหนิ เพราะเขากำลังเจอบทเรียนที่เจ็บปวด แบบที่ต้องเสียทั้ง ‘เงิน’ และ ‘โอกาส’ ภายในพริบตา

เพราะหลังการประกาศระงับ ANT เข้าตลาดหลักทรัพย์ในนาทีสุดท้าย ได้ทำให้หุ้นของ Alibaba ในตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงไป 10% คิดเป็นเงินเท่ากับ 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็เหนาะๆ ที่ 2.3 ล้านล้านบาท เรียกว่าเงินเก่าก็หาย เงินใหม่ที่จะได้ก็อด!!

ฉะนั้นหากจะบอกว่าเรื่องนี้ ‘พัง’ เพราะปากของ แจ็ค หม่า จึงไม่ผิดนัก เพราะอย่าลืมว่า เดิมทีอิทธิพลจากธุรกิจของ ANT ก็เริ่มสร้างความไม่สบายใจต่อกลุ่มผู้นำเหล่าพรรคคอมมิวนิสต์ ที่กำลังจะเป็นบ่อนทำลายอำนาจสถาบันการเงินรัฐ แถม ANT ยังไม่มีคู่แข่งในจีน และยังไม่ได้ขึ้นกับผู้คุมกฎการเงินของจีนเลยด้วย ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลจีน ก็ไม่ได้ไปกีดกัน

เพราะจีนมีความตั้งใจที่จะปล่อยให้ธุรกิจจีนไปเติบโตที่ไหน หรือร่ำรวยเพียงใดก็ได้ แต่ขอแค่อย่างเดียว คือ ภาคธุรกิจไม่ควรก้าวเข้ามา ‘เล่นการเมือง’ ซึ่งการตำหนิธนาคารจีนและผู้คุมกฎของแจ็คหม่า ถือเป็นการเล่นการเมืองแบบหนึ่งที่ถูกจับไต๋ได้ชัด

นี่คือการสั่งสอนจากรัฐบาลจีน และช่วยอธิบายบทบาทของรัฐบาลจีนที่มีต่อวงการธุรกิจที่อยู่ใต้ผืนแผ่นดินจีนได้ดีทีเดียว...

.

ที่มา: sondhitalk

https://www.youtube.com/watch?v=TK--_LgqmNA

หยุดพฤติกรรม ‘Silo’ เพราะเรื่องของ ‘กู’ อาจทำให้ Me too ‘So Slow’

หลังจากคุณ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์รวมธุรกิจการค้าออนไลน์ในไทย ภายใต้นโยบาย ‘คนละครึ่ง’ และรวมถึงยอดขาย ‘11.11’ ที่ผ่านมา

ผลปรากฏที่เด่นชัดมาก ๆ คือ คนไทยค่อนข้างพร้อมกับการใช้จ่ายแบบสังคมไร้เงินสดพอสมควร

สังเกตุจากโครงการคนละครึ่งที่พอมีการเปิดให้ลงทะเบียนรอบ 2 ก็ลงกันสิทธิ์อย่างรวดเร็ว มียอดการใช้จ่ายผ่านแอพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ไปแล้วถึง 13,764 ล้านบาท กระจายสู่ร้านหาบเร่แผงลอยได้กว่า 650,000 ร้าน

ที่น่าสนใจในุมมของคุณกรณ์ คือ ตอนนี้รัฐได้ทำให้คนกว่า 12 ล้านคนยอมรับและคุ้นเคยกับการใช้ Cashless (ไร้เงินสด) มากขึ้น และเช่นเดียวกันผู้ค้ากว่า 6.5 แสนรายก็เข้ามาอยู่ในระบบดิจิทัลไปเรียบร้อย (และลุงตู่ก็คงยิ้มแป้น)

แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ทำไมประเทศไทย ไม่พัฒนาระบบ e-Commerce Platform ของตัวเองแบบเป็นจริงเป็นจังสักที

ทั้ง ๆ ที่ยอดการใช้จ่ายในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปี ตัวภาครัฐก็มีข้อมูล ‘Big Data’ มากมายมาตุนไว้ อุปสรรคคืออะไร? ทำไมเรายังไม่ไปถึงจุดนั้น?

ลองจินตนาการต่อไปว่าในอนาคต หากรัฐเปิดโอกาสให้คนไทยเสนอขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภคตามฐานข้อมูลที่รัฐมี

รวมถึงรัฐคอยช่วยสนับสนุนด้วยโปรโมชั่นต่าง ๆ และบริการส่งของผ่านไปรษณีย์ไทย...นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ e-Commerce Platform ของไทยที่เรารอคอยก็ได้

คำตอบหนึ่งที่ได้จากบทสรุปนี้คืออะไร

ปัญหาใหญ่ที่เด็กอมมือก็ยังรู้ คือ รัฐไทยยังทำงานกันแบบ ‘Silo’ หรือต่างคนต่างทำ อย่างกรณีโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ตัวข้อมูลอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่ผู้ที่มีพันธกิจสร้าง e-Commerce Platform คือ กระทรวงดิจิทัล และกระทรวงพาณิชย์

ผลคือการทำงานแบบตัวใครตัวมัน และทำให้เกิดปัญหา ‘คอขวด’ เวลาต้องคิดโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่ล่าช้า

ว่าแต่ ‘Silo’ ที่คุณกรณ์พูดถึงนี้คืออะไร?

Silo มาจาก Siloed Organization หรือ Siloed Company มีความหมายตรงตัว คือ แผนกต่าง ๆ ในองค์กรเดียวกัน ไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือองค์ความรู้ระหว่างกัน

โดยสัญญาณที่บ่งชี้ว่า Silo กำลังเข้ามาครอบงำการทำงานไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือรัฐบาลในตอนนี้ คือ...

1.) ภาครัฐไม่สามารถใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางการสื่อสารเพื่อแบ่งแยกกำลังซื้อจริงของประชาชน กับกำลังซื้อแฝง ยกตัวอย่างเช่น ทีมการตลาดหรือทีมบริหารไม่คิดจะดูแลคนที่ซื้อของไปแล้ว ราวกับคนที่ยังไม่ได้ซื้อของ เพราะฝ่ายเซลล์กับฝ่ายการตลาดไม่คุยกัน สุดท้ายก็ทำลายประสบการณ์ของลูกค้า

2.) ความแปลกหน้าในองค์กร สัญญาณเตือนภัย คือ หากไม่รู้จักคนหรืองานจากนอกทีม ซึ่งไม่ได้หมายถึงให้ต้องรู้จักแบบละเอียด จะไม่มีวันเข้าใจปัญหาของแต่ละฝ่ายได้เลย ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นบริษัทเล็ก ๆ ก็ควรรู้จักชื่อของทุกคน แต่ถ้าเป็นองค์กรใหญ่อย่างน้อยก็ควรจะรู้ชื่อและช่องทางติดต่อระดับบริหารแต่ละแผนก เพื่อให้เกิดการทำงานแบบประสานมือได้ง่ายขึ้น

3.) ภาวะ ‘เรา’ กับ ‘เขา’ ระหว่างแผนก จะทำให้เกิดภาวะการแข่งขันเชิงเห็นแก่ตัว เพราะไม่มีการแชร์ข้อมูลและขาดความร่วมมือร่วมใจ เหตุกลัวว่าอีกทีมจะได้หน้า แต่สุดท้ายจะแพ้ฝ่าย

4.) พนักงานที่ถูกเพิกเฉย หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม และถูกปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่น อาจจะไม่มีความสุข รู้สึกไม่มีประโยชน์ และเสี่ยงต่อการแชร์หรือปั่นหัวสิ่งที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ

5.) การทำงานซ้ำซ้อน เพราะไม่มีการสื่อสารกัน ไม่มีทางที่จะรู้ว่าสิ่งที่เราทำไป ได้ทำซ้ำกับคนอื่นหรือแผนกอื่นหรือไม่ ธุรกิจที่ขาดความร่วมมือจะมีคนและทีมงานที่ทำงานในโครงการที่คล้ายกัน ซึ่งนำไปสู่ความไร้ประสิทธิผลและสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานไปอย่างน่าเสียดาย

ฉะนั้นไม่ว่าจะรัฐหรือองค์กรไหนควรสร้าง Sharing is caring และ Knowledge is power ด้วยการร่างระบบการทำงานที่ทุกคน ‘ควรรู้ในสิ่งที่ควรรู้’ และต้อง ‘ไม่ต่างคนต่างรู้’ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งของการ Move on

การทำงานของรัฐในมุมของคุณกรณ์ จึงเหมือน Silo ที่หากปล่อยไปเรื่อย ๆ ไอ้สิ่งดี ๆ ที่จะคิดสร้างสรรค์หรือทำต่อในอนาคต (ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่มาก) จะยิ่งไกลฝั่งออกไปๆ เลยล่ะลุงตู่!!…

.

อ้างอิง: เฟซบุ๊ค กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij / ETDA Thailand

8 ปีที่รอคอย!! ไทยเข้า ‘ตี้’ RCEP หุ้นส่วนเศรษฐกิจ 15 ชาติสะเทือนโลก

ประเทศไทยปิดดีล RCEP เรียบร้อย หลังการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่ยาวนานกว่า 8 ปี จบลงโดยมี 15 ชาติพันธมิตรเข้าร่วม หากนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 ก็เรียกว่าผ่านมาเนิ่นนานร่วม 8 ปี ของการเจรจา RCEP!!

RCEP คืออะไร?

RCEP มีชื่อย่อมาจาก Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป้าหมายของการก่อตั้ง RECP ก็เหมือน ๆ กับการตั้ง EU ในยุโรปนั่นแหละ เพราะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ การค้า และให้แก่ทุกประเทศที่เข้าร่วม

โดยอยู่ภายใต้ระบบการค้าเสรีที่ใช้กฎระเบียบเดียวกันของผู้มีส่วนใน RCEP (ภาคี) ที่มีทั้งหมด 15 ประเทศ แบ่งเป็รนชาติอาเซียน (รวมไทย) 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ การรวมตัว RCEP จะทำให้เกิดภาพอะไรขึ้น?

- ประชากรในประเทศสมาชิก RCEP จะครอบคลุมคนถึง 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก

- คาดจะเกิดมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 326 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

- และสร้างตัวเลข GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือ 30% ของ GDP โลก

.

จะเรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาครอบนี้ กลายเป็นเรื่องใหญ่ของโลกเลยก็ได้ เพราะ RCEP จะเหมือนกับ 1 ประเทศใหญ่ที่คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 1 ใน 3 ของโลกกันเลยทีเดียว เมื่อทั่วโลกเห็นภาพแบบนี้ จะมีใครไม่อยากมาลงทุน พอมาลงทุน เม็ดเงินก็ไหลเวียนในระบบประเทศสมาชิก เกิดตลาดงานใหม่ โครงการใหม่ ๆ เกิดการสะพัดทางเม็ดเงินเศรษฐกิจแบบต่อเนื่อง สรุปประเทศรวย ประชาชนก็สบาย

ฉะนั้นทุกประเทศที่อยู่ในการเจรจา RCEP ต่างพยายามให้ข้อตกลงนี้ลุล่วง

แล้วก็เป็นข่าวดีมาก ๆ โดยเฉพาะกับไทย เพราะร่วมปิดดีลนี้ได้แล้ว!! โดยรัฐบาลไทยที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมประชุม RCEP รอบนี้ และมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ลงนาม RCEP กันทางออนไลน์ไปเป็นทีเรียบร้อย

จากนั้นคาดว่า เมื่อแต่ละประเทศให้สัตยาบัน ก็น่าจะเริ่มเปิดเสรี RCEP ทางการค้าและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ.2564

ผลบวกที่ 15 ชาติ RCEP รอคอย?

- RCEP นั้นจะทำให้ประเทศสมาชิกสามารถซื้อขายสินค้าและบริการได้อย่างเสรี ‘ไร้กำแพงภาษี’ ใน 15 ประเทศ RCEP

- RCEP ในส่วนของอาเซียน อาจจะได้อานิสงค์จากประเทศจีน ที่ถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ได้สำเร็จ

- การลงนามในข้อตกลง RCEP จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเชื่อมเศรษฐกิจอาเซียนเข้าสู่เศรษฐกิจโลกได้ง่ายยิ่งขึ้น

.

ทั้งนี้ RCEP ได้ถูกยกให้เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศสมาชิกประกอบไปด้วยอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่อินเดียได้ถอนตัวออกไปก่อนหน้านี้ จึงเหลือแค่ 15 ประเทศ เพราะอินเดียกลัวปัญหาสินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้าประเทศ

แม้จะขาดตลาดใหญ่อย่างอินเดีย แต่ก็เชื่อว่าประเทศสมาชิกใน RCEP ที่ว่ามาก็ยังสร้างระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้อยู่ดี

ความลุล่วงของ RCEP ในช่วงเวลานี้ จึงนับเป็นข่าวดีอย่างมากของเศรษฐกิจไทย!!

เพราะในจังหวะที่ทั่วโลกยังเจอปัญหาโควิด-19 แต่ไทยเราสามารถรับมือได้ จะเป็นแต้มต่อที่ผสมกับแรงหนุนใหม่ที่มี 15 ชาติ RCEP ผลักให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้ไวกว่าเดิม...

โตโยต้าว่างี้ ‘Tesla’ จะว่างายดี

โตโยต้าว่างี้ ‘Tesla’ จะว่างายดี

.

ที่มาภาพ: https://www.nationthailand.com/auto/30397491?utm_source=category&utm_medium=internal_referral

ทัวร์นอกบุกไทย...เท่าไรละ?

สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัวกลับมาบ้างแล้ว หลังจากรัฐบาลออกมาตรการผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยได้มากขึ้น  

แล้วตอนนี้จำนวนคนที่เข้ามามีมากน้อยแค่ไหน?

 

ปีนี้ 'อาลีบาบา' โกยไปเท่าไหร่!?

ยังเฉียบเหมือนเดิม หลังจาก Alibaba รักษาฟอร์มยอดขายของวันเทศกาล 11.11.2020 ได้อย่างคงเส้นคงวา โดยปีนี้กวาดยอดขายตั้งแต่ช่วงนาฬิกาเริ่มหมุนไปถึง 1.71 ล้านล้านบาท มากกว่าปีก่อนที่ทำไว้ 1.16 ล้านล้านบาท

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top