Thursday, 3 April 2025
ECONBIZ

‘ไทยออยล์’ ตอกย้ำความเป็นองค์กรที่น่าร่วมงานด้วย คว้าอันดับ 35 จาก 50 บริษัทน่าร่วมงานที่สุดในไทย

(28 ม.ค. 68) นายณัฐพล มีฤทธิ์ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านบริหารศักยภาพองค์กร และ นางสุชาดา ดีชัยยะ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความเป็นเลิศด้านทรัพยากรบุคคลและองค์กร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นรับรางวัล TOP 50 บริษัทน่าร่วมงานมากที่สุดประจำปี 2024 ที่จัดโดย WorkVenture ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและผู้นำด้านการสร้างแบรนด์นายจ้างให้กับองค์กรชั้นนำในประเทศไทย

ไทยออยล์ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด ด้วยการคว้าอันดับที่ 35 จากการจัดอันดับดังกล่าว การจัดอันดับครั้งนี้มาจากผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนกว่า 12,559 คน ที่มีอายุระหว่าง 21-35 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษาจบใหม่ พนักงานในช่วงเริ่มต้นอาชีพ และกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ทำงาน 

การเป็นหนึ่งใน 50 บริษัทที่น่าร่วมงานด้วยในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยออยล์ในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ด้วยแนวทางการบริหารที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยคำนึงถึงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) 

นายณัฐพล  กล่าวว่า “รางวัลนี้ถือว่าเป็นกำลังใจ และความภาคภูมิใจของพนักงานไทยออยล์ทุกคน เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์ของไทยออยล์ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในทุกวันนี้   ไทยออยล์เป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานที่ให้ความสำคัญมากกับพลังคน  เราพยายามสร้างพลังให้กับคนของเรา เพื่อให้พนักงานของเรามีพลังส่งต่อคุณค่าในตัวให้กับองค์กร  ซึ่งตรงกับปณิธาณของไทยออยล์ที่ว่า “Your Value, Our Priority … เพราะคุณค่าของพนักงานคือคุณค่าของไทยออยล์”

พร้อมย้ำว่า ไทยออยล์เชื่อมั่นในแนวทาง "Happy Employees, Happy Company" โดยมุ่งสร้างความสุขและแรงบันดาลใจให้กับพนักงานทุกระดับ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ไทยออยล์ยังคงเป็นหนึ่งในองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุดในประเทศไทย

‘พลังงาน’ เดินหน้าตั้งทีมดูแลค่าไฟฟ้า ชี้ 2-3 เดือนได้แนวทางลดราคาค่าไฟที่เหมาะสม

ปลัดกระทรวงพลังงาน จับมือผู้บริหารระดับสูง โชว์ผลงานสำคัญ ปี 2567 พร้อมแผนงานด้านพลังงานปี 2568 เน้นมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และเร่งเดินหน้าผลิตพลังงานสะอาด พร้อมระบุกระทรวงพลังงานตั้งทีมพิจารณาแนวทางลดค่าไฟฟ้า คาด 2-3 เดือน จะได้เห็นหลากหลายแนวทาง เพื่อนำมาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาลดค่าไฟฟ้าต่อไป  

เมื่อวานนี้ (27 ม.ค. 68) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารแถลงผลงานกระทรวงพลังงานปี 2567 และแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 ภายใต้หัวข้อ 'New Chapter เปิดศักราชใหม่พลังงานไทย จาก ภาพฉาย สู่ ภาพชัด'

นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยของรัฐบาลว่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาค่าไฟฟ้า ซึ่งจะมีการพิจารณากรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอแนวทางลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ต่อหน่วย ด้วยการทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทางผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ได้รับการสนับสนุนเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง  (FiT)  

โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยพิจารณาและหารือกับผู้ประกอบการมาก่อน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ตรงกัน หลังจากนี้คาดว่าคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจะมีหลากหลายแนวทางออกมาภายใน 2-3 เดือนนี้ จากนี้จะนำไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงเท่าที่จะเป็นไปได้ต่อไป  

สำหรับการดำเนินงานในช่วงปี 2567 เป็นอีกหนึ่งปีที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านราคาพลังงานซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากสถานการณ์สงครามในต่างประเทศที่ยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกผันผวน แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ตอนนี้ผ่อนคลายมากกว่าเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานยังคงออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ผ่านมาตรการการตรึงราคาค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และ NGV รวมทั้งการปรับใช้ราคา Pool Gas การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้ราคาพลังงานภายในประเทศอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อลดภาระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลาย ๆ มาตรการก็เกิดจากการบริหารจัดการและระดมสมองจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัด ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ส่วนในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย ผ่าน 3 เป้าหมายการขับเคลื่อนด้านพลังงาน ประกอบด้วย 1. ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน 2. พลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ และ 3. พลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ที่หลายบริษัทชั้นนำระดับโลกพยายามมุ่งหาพลังงานสะอาด

โดยกุญแจสำคัญในการทำให้แผนการขับเคลื่อนด้านพลังงานมีความชัดเจน จากภาพฉายกลายเป็นภาพชัดให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานได้วางกรอบ 5 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยจะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล 2) บริหารจัดการระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นเพื่อรองรับพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งการพัฒนาระบบสำรองเชื้อเพลิงและการตรวจสอบปริมาณสำรอง การพัฒนาระบบ Smart Grid การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบ SPR และการยกระดับระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตแบบกระจายศูนย์

3) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อเปิดรับการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Data Center ผ่านมาตรการเช่น Direct PPA, UGT และการปรับแผน PDP ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น 4) เตรียมเสนอมาตรการด้านพลังงานสีเขียว ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Roof ผลักดันมาตรการทางภาษี การลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการลดฝุ่น PM2.5 และ 5) สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน การปรับเปลี่ยนเอทานอลมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องบินหรือ SAF การพัฒนาการกักเก็บ CO2

“จากผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2567 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินทุกมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ที่ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้พลังงาน ส่วนในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานจะเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ 'ภาพฉาย กลายเป็น ภาพชัด' ให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงการบริหารจัดการภาคพลังงานของกระทรวงพลังงาน ทั้งการปรับโครงสร้างราคาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ การพัฒนาและปรับแก้กฎหมายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต การทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นนโยบายที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานได้เตรียมดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตด้านพลังงานในหลายๆ ปีที่ผ่านมา และจะปฏิบัติตามแผนในปี 2568 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมุ่งสู่เป้าหมายพลังงานสะอาดต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สนพ. ได้ปฏิบัติภารกิจงานด้านการวางแผนนโยบายพลังงานภายใต้หลักคิด (1) ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) สนพ. ได้จัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า พัฒนา EV Data Platform และส่งเสริมการใช้ EV ในภาคราชการ โดยในเดือน มิ.ย. 2567 สนพ. ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan2024) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำความเห็นที่ได้จากการ Public hearing ไปปรับปรุงเพื่อเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ สนพ. ยังได้เสนอข้อสรุปผลการดำเนินโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลด หรือ Demand response (DR) ปี 2566 และแนวทางพัฒนาแหล่งทรัพยากร DR ในระยะแรกปี 2567 – 2569 เพื่อตอบสนองการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (2) ด้านการดูแลราคาพลังงาน (Economics) สนพ. ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ กำหนดราคา Pool Gas ราคาเดียว (Single Pool) และทบทวนค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ (ค่าผ่านท่อก๊าซ) ซึ่งช่วยให้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ลดลง

ทั้งนี้ สนพ. ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของไทย และนำเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงาน ได้แก่ การรักษาระดับค่าไฟฟ้าปี 2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง การคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่อเนื่องมามากกว่า 2 ปี และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร สำหรับ (3) ด้านความยั่งยืน (Sustainability) สนพ. มีนโยบายที่คำนึงถึงพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อเสนอแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ไม่เกิน 2,000 MW สำหรับธุรกิจ Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งช่วยส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น

ในปี 2568 สนพ. ยังคงเดินหน้าสานต่อภารกิจที่ทำในปี 2567 ทั้งในส่วนของความมั่นคงด้านพลังงาน และ การดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสมกับประชาชน โดยมีงานสำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ การปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสมทั้งในส่วนของโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และ โครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2569 – 2573 เป็นต้น

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ พพ. ในปี 2567 ได้สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ติดตั้งโซลาร์ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ทุรกันดาร รวม 595 แห่ง 1,588 ระบบ,ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังน้ำกว่า 235 ครัวเรือน, กำกับและส่งเสริมให้มีการลดใช้พลังงานในโรงงานอาคารได้กว่า 7,583 ล้านบาท, ถ่ายทอดความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระดับครัวเรือน ชุมชน กว่า 24,606 คน และพัฒนาหลักสูตรด้านพลังงานเพื่อสร้างบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน

และในปี 2568 นั้น พพ. ยังคงเดินหน้าพลังงานสะอาดให้มากขึ้นและลดใช้พลังงานอย่างเข้มข้น ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงาน อาทิ ด้านความมั่นคง : พัฒนากฎหมายเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาดให้คล่องตัวขึ้น ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ ด้านเศรษฐกิจ : เร่งผลักดันมาตรการทางภาษีส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, ด้านความยั่งยืน : ยกระดับมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน พร้อมเร่งรัดจัดการเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนเพื่อลดปัญหา PM2.5 เป็นต้น

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 2567 โดยภาพรวมได้ดำเนินการปรับปรุงอัตราการสำรองน้ำมันดิบ จาก 5% เป็น 6% ควบคู่กับการศึกษารูปแบบการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ขับเคลื่อนการออกกฎหมายรับแจ้งข้อมูลนำเข้า-ส่งออกน้ำมัน ประสานความร่วมมือกับ กกพ. กฟน. และ กฟภ. ในการกำหนดกรอบระยะเวลาการอนุมัติอนุญาตและมาตรฐานการติดตั้ง Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เหลือ 2 ชนิด คือ ดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน (B7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20

อีกทั้งได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นโลจิสติกส์หลักของประเทศ และได้แก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ให้เอื้อต่อการเก็บสำรองน้ำมันเพื่อใช้สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการแก่ผู้ประกอบการเป็นดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงบัตรประจำตัวสำหรับผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงได้ขับเคลื่อนการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ผ่านการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อาทิ ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รวมถึงน้ำมันเตาชีวภาพกำมะถันต่ำมาก

สำหรับแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 จะมีการนำร่องการเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำมันสำรองผ่าน API Gateway เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และจะขยายการให้บริการระบบอนุมัติอนุญาตแบบออนไลน์ไปยังส่วนภูมิภาค อีกทั้งจะออกมาตรฐานความปลอดภัยของเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของ SAF เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้เชื้อเพลิง

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่าในส่วนของผลการดำเนินงานปี 2567 ที่สำคัญของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคือการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามในประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ เรียบร้อยแล้ว และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้เร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งสามารถกำกับ ดูแล สนับสนุนให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแปลง G1/61 และ G2/61 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามลำดับ

นอกจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังมีการดำเนินงานให้ได้มีการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของแปลง B8/38 ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 4,000 บาร์เรลต่อวัน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการต่อระยะเวลาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ด้วยแล้ว นอกจากการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน CCS เพื่อสนับสนุนนโยบายในการให้ประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยการจัดทำโครงการศึกษากฎระเบียบและโครงการนำร่อง CCS ในแหล่งอาทิตย์ ทะเลอ่าวไทย เพื่อรองรับการดำเนินงานด้าน CCS ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับในปี 2568 กรมฯ มีแผนงานสำคัญคือการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอันดามัน (รอบที่ 26) การเร่งรัดการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในแปลงที่ใกล้สิ้นสุดอายุทั้งในประเทศและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ประกอบกับส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งผลักดันการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี CCS สำหรับโครงการนำร่องพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

EA มั่นใจเพิ่มทุน 7,426 ล้านบาท ฉลุย! หลังผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นการปรับโครงสร้างธุรกิจ

(28 ม.ค. 68) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) หนึ่งในธุรกิจพลังงานทดแทนชั้นนำของประเทศ ประกาศในวันนี้ว่า แผนการพลิกฟื้นธุรกิจได้รับการสนับสนุนอีกครั้งอย่างท่วมท้น จากความสำเร็จของการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงวันที่ 17-23 มกราคม 2568 โดยมีการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย สามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 7,426 ล้านบาท

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า "เงินทุนที่ได้มาใหม่นี้จากผู้ถือหุ้น แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นที่เชื่อว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจที่เราได้ดำเนินการตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ช่วยให้ธุรกิจมีเสถียรภาพ และวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในอนาคต เงินทุนเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อลดหนี้ เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงิน และลงทุนในโครงการต่าง ๆ ต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วสู่ก้าวต่อไปของแผนในการฟื้นตัว"

"เรายินดีและขอบคุณที่ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ถือหุ้น ส่งผลให้การเสนอขายหุ้นสามัญ เพิ่มทุนครั้งนี้ได้รับการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย เงินทุนเหล่านี้จะช่วยลดหนี้ เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงิน และช่วยให้ธุรกิจเราเดินหน้าสู่ก้าวต่อไปในการฟื้นตัว"

EA เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจในภาพรวม คือ EA กำลังมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่สร้างผลกำไรสูง ได้แก่ การผลิตไบโอเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ และการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีกระแสเงินสดเป็นบวก ธุรกิจเหล่านี้รวมกันสร้างรายได้ประมาณ 60% ของรายได้รวมของ EA ในขณะเดียวกัน EA ได้หยุดหรือลดขนาด 2 ธุรกิจที่ขาดทุน ในระหว่างเตรียมการปรับโครงสร้าง ได้แก่ ธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ โดยจะมีการหาพันธมิตรสำหรับแต่ละธุรกิจที่เป็นรายใหญ่ระดับนานาชาติที่จะช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก และช่วยขยายตลาดไปต่างประเทศได้

นายฉัตรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า "เรากำลังเดินหน้าที่จะเริ่มการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษที่โรงงานฉะเชิงเทราในเดือนเมษายน 2568 โดยร่วมมือกับผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศจีนที่ชื่อ Chengli Special Automobile Co., Ltd. (บริษัท เฉิงหลี่ สเปเชียล ออโตโมบิล) เราจะเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ประกอบยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษในจำนวนมาก เช่น รถพยาบาล รถเก็บขยะ และยานพาหนะประเภทพิเศษอื่น ๆ นอกจากนี้ เรากำลังเดินหน้าการเจรจาร่วมทุนกับบริษัทจากประเทศจีนเพื่อเป็นโรงงานแรกขนาดใหญ่ในประเทศไทยในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีกำลังการผลิต 4 กิกะวัตต์"

จากการเปิดเผยล่าสุดของ EA กระแสเงินสดจากการดำเนินงานในเก้าเดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 5,610 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากติดลบ 1,726 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าปีก่อนหน้านี้เกือบสามเท่า

‘เอกนัฏ’ ขอบคุณไร่อ้อย-โรงน้ำตาล รับอ้อยสดเข้าหีบ ทุบสถิติ! อ้อยเผาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ลดเผาป่ากว่า 1.7 ล้านไร่

ทุบสถิติ! อ้อยเผาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ดันอ้อยสดแตะ 90% ‘เอกนัฏ’ ขอบคุณชาวไร่อ้อย-โรงน้ำตาล คืน ‘อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM2.5’ ให้คนไทย

(28 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาเข้าหีบ ตามแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) ของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 โดยจากสถิติการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูการผลิต 2567/2568 ของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 26 มกราคม 2568 พบว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้ความร่วมมือตัดและรับอ้อยเผาเข้าหีบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ลดลงใกล้แตะ 10% ดันอ้อยสดพุ่ง 90% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด โดยปริมาณการตัดและรับอ้อยสดเข้าหีบสะสมของโรงงานน้ำตาลตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดหีบอ้อยเพิ่มสูงขึ้นถึง 83% จากฤดูกาลผลิตที่แล้วที่ 67% ลดการเผาอ้อยลงได้กว่า 17 ล้านตัน

นายเอกนัฏกล่าวว่า เทียบเท่าลดการเผาป่าลงได้กว่า 1.7 ล้านไร่ หรือลดการปลดปล่อย PM2.5 ลงได้กว่า 4,250 ตัน เมื่อเทียบกับฤดูการผลิต 2566/2567 ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไล่เรียงลงมาถึงภาคกลางมีค่าคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลง ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น

นายเอกนัฏกล่าวเพิ่มเติมว่า หากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศทั้ง 58 โรงงานให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการรักษามาตรฐานลดการตัดและรับอ้อยเผาลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะเป็นเป็นส่วนหนึ่งในการไม่ซ้ำเติมให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงขึ้น และมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ

“กระทรวงอุตสาหกรรมขอขอบคุณไปยังผู้บริหารโรงงานน้ำตาลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 90% ที่ให้ความร่วมมือไม่รับซื้ออ้อยเผาและไม่เผาอ้อย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ ขอบคุณ และขอความร่วมมือในการรักษามาตรฐานลดการรับอ้อยเผาลงอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูหีบอ้อยนี้ เพื่อช่วยกันคืน ‘อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM2.5’ ให้กับสังคมไทย และเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดรับกับกติกาสากล สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล” นายเอกนัฏฯ กล่าวทิ้งท้าย

นายกฯ คิกออฟ กดปุ่มโอนเงินหมื่น เฟส 2 กลุ่ม 60 + เติมเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นายกฯ คิกออฟ กดปุ่มโอนเงินหมื่น เฟส 2กลุ่ม 60 + กว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ เติมเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ย้ำกรณีโอนไม่ผ่านหรือติดขัดในวันนี้รัฐบาลจะโอนซ้ำอีก3รอบ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 28 มีนาคม และ28เมษายน จากนั้นจะนำข้อมูลมาพิจารณา

(27 ม.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน (Kick Off) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผู้สูงอายุ พร้อมกล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้เน้นย้ำและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในเฟสแรกมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ จำนวน 14 ล้านคน โดยได้มอบเงิน จำนวน 10,000 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากมาย มีการจับจ่ายซื้อของทำให้เศรษฐกิจกระตุ้นขึ้น และบางครอบครัวได้นำเงินมารวมกันเพื่อต่อยอดทำธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และวันนี้เป็นเฟสที่สองของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะจ่ายเงิน 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนให้ผู้สูงอายุจำนวนกว่า 3,000,000 คน ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นจำนวนประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท  โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีกับประชาชน และหวังให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเงินจำนวนนี้ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ แบ่งเบาภาระได้หลาย ๆ อย่าง และนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อไป 

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กดยืนยันการโอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดตัวโครงการฯ อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง และสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภา

ภายหลังกดปุ่มโอนเงิน นายกรัฐมนตรีรับฟังความรู้สึกจากตัวแทนกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุต่างขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญ ไม่ทอดทิ้งกลุ่มผู้สูงอายุ มอบโอกาสให้ผู้สูงอายุมีเงิน 10,000 บาท เพื่อนำเงินที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และครอบครัว

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยผ่านระบบ Video Conference กับป้าจันทร์ อายุ 79 ปี อาชีพแม่ค้าขายไข่สด โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวทักทายป้าจันทร์ว่า วันนี้หน้าตาสดใส ทางด้านป้าจันทร์กล่าวว่า หน้าตาสดใสเพราะดีใจที่ได้รับเงิน 10,000 จากรัฐบาล พร้อมกับกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ดำเนินโครงการที่ดีเป็นประโยชน์ โดยจะนำเงินที่ได้รับไปซื้อไข่มาขายต่อ และเงินอีกส่วนหนึ่งจะนำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน พร้อมกับกล่าวให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ขอให้มีกำลังใจที่ดีในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวให้กำลังใจป้าจันทร์ ขอให้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพ และมีสุขภาพที่แข็งแรง

สำหรับเงินสนับสนุน เฟส 2 นี้ หากดำเนินการโอนแล้วติดขัดเรื่องใด ๆ จากจำนวนผู้ลงทะเบียน รัฐบาลจะ โอนซ้ำอีก 3 ครั้งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 28 มีนาคม และ 28 เมษายน ปีนี้และหากพ้นกำหนด 3 ครั้ง ก็จะ ตรวจสอบว่าเหลืออยู่จำนวนเท่าไร เพื่อนำมากำหนดวิธีสำหรับผู้ไม่มี สมาร์ตโฟนต่อไป

กระทรวงอุตฯ ดันกองทุนประชารัฐยกระดับเอสเอ็มอี ยก บ.ไรซ์แฟคทอรี่ ต้นแบบธุรกิจที่ปรับตัว ส่งข้าวฮางงอกอินทรีย์ทั่วโลก

(27 ม.ค. 68) กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 2,500 ล้านบาท ยกระดับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมาช่วยผู้ประกอบการไปแล้ว 13,661 ราย ด้วยวงเงินกว่า 25,649.25 ล้านบาท พร้อมเผย ต้นแบบความสำเร็จ บ.ไรซ์แฟคทอรี่ นำเงินกองทุนฯ ปรับปรุงคุณภาพการผลิต เจาะตลาดข้าวฮางงอกอินทรีย์ไปทั่วโลก  

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากแนวนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรม เชิงพื้นที่ และสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านเงินลงทุนเพื่อการปรับปรุงกิจการอย่างเพียงพอ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงให้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ มีเป้าหมายเพื่อให้เอสเอ็มอีปรับตัว ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในปัจจุบัน และอนาคต  รวมทั้งยกระดับการบริหารธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ตลอดจนการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการใช้กองทุนฯ ไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 

1. สร้างโอกาส ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีผ่านกลไกกองทุนฯ โดยการพัฒนาโครงการสินเชื่อที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย และให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ 2. พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับลูกค้ากองทุนเอสเอ็มอีฯ โดยการยกระดับจากเอสเอ็มอีขนาดเล็กสู่ขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาเพื่อป้องกัน ตลอดจนฟื้นฟูลูกหนี้กองทุนฯ ที่มีความเสี่ยง 3. พัฒนาเครือข่ายกองทุนในพื้นที่ โดยบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4. เสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรในการบริหารงานกองทุนเอสเอ็มอี 

สำหรับการดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ผ่านมานั้น ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก มีผู้ที่ขอสินเชื่อแล้วประมาณ 13,661 ราย วงเงิน 25,649.25 ล้านบาท ซึ่งภายใน ปี 2568 ได้วางแผนที่จะเร่งปล่อยสินเชื่อให้ได้อีก 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนมีการดำเนินการโครงการส่งเสริมเพื่อยกระดับผู้ประกอบการและขีดความสามารถ ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับผู้ประกอบการได้ไม่น้อยกว่า 200 ราย เพิ่มมูลค่าธุรกิจได้กว่า 383 ล้านบาท  โดยหนึ่งในกิจการที่กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้เข้าไปมีส่วนในการยกระดับจนประสบความสำเร็จ คือ บริษัท ไรซ์แฟคทอรี่ จำกัด จังหวัดนครพนม โดย นางสาวชบา ศรีสุโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไรซ์แฟคทอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯทำธุรกิจแปรรูปข้าวตั้งแต่ปี 2559 โดยเน้นในด้านการผลิตข้าวฮางงอกอินทรีย์ ซึ่งมีสารกาบา (GABA) มากกว่าข้าวกล้อง 30 เท่า มีประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยรักษาระบบประสาทส่วนกลาง รักษาสมดุลในสมอง ป้องกันความจำเสื่อม กระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ช่วยการเจริญเติบโต ชะลอความชรา ป้องกันการสะสมของไขมัน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด กระตุ้นการขับถ่าย และป้องกันมะเร็งลำไส้ จึงเหมาะสำหรับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ 

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มบุกเบิกตลาดส่งออกมีผู้ซื้อชาวสิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งมีความเข้มงวดในด้านคุณภาพ และในด้านสิ่งเจือปนสูงมาก ทำให้บริษัทฯ ต้องเร่งปรับปรุงระบบการผลิต โดยได้ยื่นขอสินเชื่อของโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับการอนุมัติสินเชื่อ มาซื้อเครื่องจักรคัดแยกสิ่งเจือปน และปรับปรุงโรงงาน ทำให้สินค้าของบริษัทฯ มีคุณภาพสูงขึ้นจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานของต่างประเทศ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ในปัจจุบันข้าวฮางงอกอินทรีย์มีสัดส่วนส่งออกสูงถึงร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 เป็นตลาดภายในประเทศ  

“กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้ช่วยชุบชีวิตและเป็นที่พึ่งให้กับบริษัทฯได้มาก เพราะให้ข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีกว่าสถาบันการเงินทั่วไป โดยมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 % เป็นส่วนช่วยให้เอสเอ็มอีมีกำลังในการต่อสู้มากขึ้น และผ่อนจ่ายหนี้หมดได้ไว สามารถต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว” นางสาวชบา กล่าว 

และในปัจจุบันกระแสความต้องการสินค้าที่เสริมสร้างสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ข้าวฮางงอกได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจากลูกค้าชาวจีน ในช่วงต้นปี บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มกว่า 4.5 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการเพิ่มกำลังการผลิต เพราะความต้องการของตลาดมีสูงมาก ดังนั้น จึงมีแผนที่จะขอกู้ในโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน 12 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเครื่องจักร และขยายโรงงาน รวมทั้งการจัดทำศูนย์การเรียนรู้ด้านการทำข้าวฮางด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกลุ่มเกษตรกร และสถาบันการศึกษาเข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ เพราะติดขัดในเรื่องสถานที่ ห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งเงินทุนที่เข้ามาใหม่นี้ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิต แต่ยังช่วยบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรและเยาวชนอีกด้วย 

“ปัจจุบันบริษัทฯ ผลิตข้าวฮางงอกอินทรีย์ 5 หมื่นแพคต่อเดือน ขณะที่ลูกค้าจีนเพียง 1 ราย ต้องการสินค้า 1 – 3 แสนแพคต่อเดือน นอกจากนี้ยังต้องการข้าวฮางงอกเหนียวดำ 200 ตันต่อปี และยังมีลูกค้าต่างชาติทยอยติดต่อเข้ามาเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขยายเครื่องจักรและโรงงาน เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด” นางสาวชบา กล่าว

ส่วนในอนาคต บริษัทฯ มีแผนในการต่อยอดไปสู่การผลิตข้าวฮางงอกพร้อมรับประทาน ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อผลิตข้าวฮางงอกพร้อมทานดังกล่าว สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวาน จากการประเมินเบื้องต้นจะต้องใช้งบลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 7 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ เพื่อพิจารณาขยายการลงทุนต่อไปในอนาคต

รถไฟฟ้าฟรี ลดฝุ่น PM 2.5 ดัน!! ผู้ใช้ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เพิ่ม 34% หลัง ‘คมนาคม’ ออกมาตรการ ส่งเสริมการเดินทาง ด้วยระบบราง

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค. 68) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เผยถึงปริมาณผู้โดยสารที่หันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสีแดง ซึ่งในวันนี้ถือเป็นวันแรกภายหลังจากกระทรวงคมนาคมได้ออกมาตรการงดจัดเก็บค่าโดยสารการเดินทางในโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางราง ระหว่างวันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภายใต้มาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ พบว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มมากขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงในช่วงวันและเวลาเดียวกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงรวม จำนวน 11,949 คน แบ่งออกเป็นสายเหนือ 11,300 คน สายตะวันตก 959 คน  (ข้อมูลในช่วงเวลา 05.00-13.00 น. )

สำหรับรถไฟฟ้าในสายต่างๆ ทั้งสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเหลือง สายสีชมพูและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงนั้นได้ร่วมให้บริการประชาชนฟรี ตามมาตรการของกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบรางนี้  ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณะของรัฐได้ง่ายถึง และสามารถเดินทางถึงปลายทางด้วยระบบรถไฟฟ้าที่มีความปลอดภัย สะอาด ตรงเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ ประหยัดเวลาในการเดินทาง ลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ และเพิ่มมูลค่าความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นส่วนสนับสนุนการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการใช้พลังงานน้ำมัน ส่งเสริมให้คุณภาพอากาศในพื้นที่ตามแนวสายทางและข้างเคียงให้ดีขึ้น โดยจะช่วยลดภาวะมลพิษ และบรรเทาปัญหาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ในอนาคต

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (1) : ความเป็นมาของกิจการพลังงานไฟฟ้า รู้จัก!! หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘ค่าไฟฟ้า’

(26 ม.ค. 68) การดำรงชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน นอกจากปัจจัย 4 อันได้แก่  อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคแล้ว ยังมีปัจจัยที่กลายเป็นจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นมาอีกหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ในสภาวะที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 เครื่องฟอกอากาศก็กลายเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็น เครื่องซักผ้า เตารีด หม้อหุงข้าว ปั้มน้ำ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า

ดังนั้น วิถีชีวิตของชาวโลกรวมถึงคนไทยในทุกวันนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว ต้องพึ่งพาอาศัยใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น เมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าจึงมี ‘ค่าไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่งต้องจ่ายตามมาเป็นประจำทุกเดือน แม้ว่า ‘ค่าไฟฟ้า’ จะเป็นรายจ่ายประจำทุกเดือน จะมากหรือน้อยก็เป็นไปตามปริมาณไฟฟ้าที่มีการใช้ แต่พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจถึงความเป็นมาและความเป็นไปของกิจการพลังงานไฟฟ้า อันประกอบด้วยหลายหน่วยงานมากองค์กร ซึ่งมีบทบาทหน้าที่และภารกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงเรื่องราวรายละเอียดต่าง ๆ ของ ‘ค่าไฟฟ้า’ จึงขอนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่าน The States Times ได้เข้าใจพอสังเขป 

ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2427 โดยไฟฟ้าดวงแรกส่องสว่างภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ต่อมา พ.ศ. 2441 มีก่อตั้งบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด โรงไฟฟ้าเอกชนแห่งแรกของไทย โดยโอนกิจการมาจากบริษัทบางกอก อิเลกตริกไลท์ ชิกดีแคท เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนกลายเป็น 3 หน่วยงานหลักที่บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยคือ (1)การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ (2)การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีหน้าที่ในการจัดหาและจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่ กฟน. จะรับผิดชอบในพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ และ กฟภ. จะดูแลในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจาก 3 จังหวัดนี้ โดย (3)การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมีหน้าที่ผลิตและจัดซื้อพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งต่อให้กับ กฟน. กฟภ. รวมถึงจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมี ‘โครงสร้างกิจการไฟฟ้า’ ในรูปแบบ ‘Enhanced Single Buyer Model (ESB)’ คือ “การที่รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ จุดแข็งของระบบโครงสร้างนี้คือ ทำให้รัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการได้อย่างเด็ดขาด 100% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา” ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปัจจุบัน กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ส่งไฟฟ้า และเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ได้แก่ IPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 MW) และ SPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 MW) รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ

ในขณะที่ กฟน. และ กฟภ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 10MW) โดย กฟผ.จะจำหน่ายไฟฟ้าผ่านระบบส่งไฟฟ้า (Transmission) ให้แก่ กฟน. และ กฟภ. เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภายในพื้นที่รับผิดชอบของ กฟน. หรือ กฟภ. นอกจากนี้ กฟผ. ยังจำหน่ายไฟฟ้าบางส่วนโดยตรงให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่บางรายที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator : SO) ทำหน้าที่ในการควบคุม บริหารและกำกับดูแลการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ทั้งของ กฟผ. IPP SPP และโรงไฟฟ้าที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ทำให้ระบบพลังงานมีความสมดุล มั่นคง มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ ตามความในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดย กฟผ. เป็นผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลในขณะนั้นให้การส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เพื่อจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังจะเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ SPP ซึ่งใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น สนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศและช่วยพัฒนาตลาดทุน

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลมีนโยบายลดภาระการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า โดยมีมติ ครม.เห็นชอบเรื่องแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. กำหนดขั้นตอนและแนวทางให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าประเทศไทย ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบของ IPP และจะต้องขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. และให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งใช้พลังงานนอกรูปแบบ เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย โดย กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้มติเห็นชอบของ ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)’ มาจนถึงปัจจุบัน

โดย ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ’ มีอำนาจหน้าที่ในการ (1) เสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี (2) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ (3) ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ และ (4) ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ

โดยมี ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน โดยมีมีอำนาจหน้าที่ใน “การอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ การกำหนดมาตรฐานการ ให้บริการพลังงาน และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกอบการให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือ เพื่อหาสถานที่ตั้ง ระบบโครงข่ายพลังงานการใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือเพื่อหาสถานที่ตั้ง ระบบโครงข่ายพลังงาน และการพิจารณาข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการพลังงาน” และทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนด “อัตราค่าไฟฟ้า”

‘อ.ไชยันต์’ เผยเหตุผล ทำไมหลายประเทศในโลก ถึงไม่ยอมให้การพนันถูกกฎหมาย ชี้!! เล่นแล้วติด ควบคุมไม่ได้ ต้องขายข้าวของ เพื่อหาเงิน มาเล่นการพนัน

เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 68) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า …

“ทำไมหลายประเทศในโลกถึงไม่ยอมให้การพนันถูกกฎหมาย ?” การพนันเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้น เมื่อเล่นแล้ว มักจะติด

ขณะเดียวกัน การพนันก็ยังเป็นวิธีการหลีกหนีจากความเป็นจริงและความเครียดของชีวิต คนจำนวนไม่น้อยจึงชอบ

ในขณะเดียวกัน บางประเทศก็มีการพนันเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี อย่างไรก็ตาม การพนันอาจควบคุมไม่ได้

สิ่งที่เคยเป็นกิจกรรมทางสังคมได้กลายเป็นสิ่งเสพติด นำมาซึ่งนิสัยใหม่ที่เป็นอันตราย
ในประเทศที่รัฐบาลและประชาชนเข้าใจถึงด้านลบของการพนัน และตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของผู้คนในประเทศ จึงไม่สามารถทนดูสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และนี่จึงเป็นเหตุผลที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามกิจกรรมการพนัน

เพราะถ้าการพนันถูกกฎหมายแล้ว ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นตามมา ได้แก่

ปัญหาทางสังคม: การพนันจะถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อคนๆ หนึ่งติดการพนัน พวกเขาจะเสี่ยงต่ออันตรายต่างๆ เช่น:
-ก่อหนี้
-ลดการใช้จ่ายสำหรับสิ่งจำเป็น เช่น อาหาร ฯลฯ
-ลดการทำงานหรือเรียนหนังสือ
-ขายข้าวของเพื่อหาเงินมาเล่นการพนัน
-ผู้ติดการพนันยังมีความเสี่ยงที่จะติดสุราและสารเสพติด ซึ่งส่งผลให้มีอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น และอาจส่งผลให้ชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยง

ดังนั้น เพื่อปกป้องประชาชนจากความเสียหายเหล่านี้ รัฐบาลและประชาชนที่เล็งเห็นผลเสียทางสังคมนี้ จึงได้ทำให้การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ยังมีปัญหาในมิติอื่นๆ อีก ซึ่งผมจะนำมาเสนอในตอนต่อไปนะครับ

รวมทั้ง จะโต้แย้งเหตุผลข้ออ้างที่ว่า เมื่อรัฐนำเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นบนดินแล้ว จะได้เก็บภาษีไปใช้ในสวัสดิการต่างๆเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่

กองทุนดีอี BDE ลงพื้นที่อุบล สร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์ โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชน แบบมีส่วนร่วม

เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 68) นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) พร้อมด้วยนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม BDE ตลอดจนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สดช. ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ สำนักงานเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ร่วมให้การต้อนรับ

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา สำนักงานคณะกรรมการ ดีอี กล่าวว่า การลงพื้นที่มาเยี่ยมชม โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 ของเทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สืบเนื่องจาก โครงการต่าง ๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนดีอี ล้วนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนจำนวนมาก แต่ยังขาดการสร้างการรับรู้และการเข้าถึงของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่อยู่ไม่น้อย โดยการลงพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนดีอี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลพิบูลมังสาหาร อันเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

“ผมขอชื่นชมในความมุ่งมั่นและความสำเร็จของ โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 ของเทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ความเชี่ยวชาญ ความคิด สร้างสรรค์ของหน่วยงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ครั้งนี้จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับรู้ และสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ได้มากยิ่งขึ้น”

สำหรับโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อบูรณาการ
การบริหารจัดการท้องถิ่นผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบ 'Application Phibun' โดยมีฟังก์ชันการทำงาน 5 ระบบ ประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ระบบฝึกอบรมพัฒนามืออาชีพ ระบบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ระบบบริการสาธารณสุขชุมชน และระบบพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal Life) ของประชาชนในยุคสังคมดิจิทัล

ทั้งนี้ เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ได้รับทุนงบประมาณ 36 ล้านบาท จากกองทุนดีอี ดำเนินโครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่น ชุมชนแบบมีส่วนร่วม สร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 เพื่อการยกระดับระบบบริหารจัดการท้องถิ่นและสร้างความยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งบูรณาการการบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยระบบนี้จะขับเคลื่อนผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบของแอปพลิเคชัน(ApplicationPhibun) ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงานหลัก 5 ระบบ ได้แก่ 1.  ระบบบริหารจัดการเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร (E - management) 2. ระบบฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ (E - Service)  3. ระบบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ (E - market) 4.ระบบบริการสาธารณสุขชุมชน (E - Sata) และ 5. ระบบพัฒนาชุมชน (E - Community)

โดยผลชี้วัดของโครงการดังกล่าว ส่งผลให้เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารบริหารจัดการระบบงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเทศบาลแหล่งข้อมูลของท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชน และผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลนำไปใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทันสมัย ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารและพัฒนาของผู้นำท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการช่วยประเมินระยะเวลา และประเมินผลการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้เกิดความคุ้มค่าในการทำโครงการใหม่ ๆ

ของหน่วยงานได้มากขึ้น ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และอำนวยความสะดวกต่อการให้บริการประชาชน เป็นองค์กรต้นแบบให้กับหลาย ๆ หน่วยงานในการสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถนำไปใช้ในชุมชนอย่างยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการเสริมสร้าง การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และวิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal Life) มากขึ้น

‘วิชัย ทองแตง’ บรรยายพิเศษ ผลักดัน!! นวัตกรรมงานวิจัย เน้น!! ต่อยอดเศรษฐกิจให้เกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 68) คุณวิชัย ทองแตง  The Godfather Of  Startup ร่วมบรรยายพิเศษกับ สวก. ในกิจกรรม ‘ปั้นงานวิจัย ให้โตไวเชิงพาณิชย์’ 

โดยมี ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร พร้อมด้วย นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร คณะอนุกรรมการการพัฒนาธุรกิจและการลงทุน และคณะผู้บริหารจาก ARDA เข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ ห้องประชุม 904 อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง ARDA กับ บริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TV Direct เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ARDA ที่ต้องการการส่งเสริม การเชื่อมโยง และการเข้าถึงคู่ค้าที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการขยายตลาดที่มีผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและสามารถเชื่อมโยงได้ทุกมิติของการตลาด โดยได้รับโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ไปกับ TV Direct 

กิจกรรมในงานประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘ปั้นงานวิจัย ให้โตไวเชิงพาณิชย์’ โดยได้รับเกียรติจาก คุณวิชัย ทองแตง ประธานมูลนิธิหนึ่งน้ำใจ และการบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘LOCAL TO GLOBAL’ จากหิ้งสู่ห้าง โดย คุณวรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงศ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยน ‘แนวคิดทางธุรกิจ ประสบการณ์ตรงจากกูรูเชิงลึกการตลาด’ และ ‘การนำเสนอผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ARDA กับ TV Direct’ จำนวน 28 บริษัท อาทิ เครื่องดื่มข้าวสินเหล็ก ตรา วีไลท์ นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เผา ตรา แคซเซียส ผลิตภัณฑ์สำหรับลดการหลุดร่วงของเส้นผม ตรา หยดสังข์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูนา ตรา crabhouse ระบบฟาร์มปลูกผักปลอดภัยด้วยระบบ LED ของบริษัท ซีวิค อะโกรเทค จำกัด เป็นต้น

การจัดกิจกรรมนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ARDA ในการร่วมผลักดันนวัตกรรมงานวิจัยจาก ARDA สู่การต่อยอดใช้ประโยชน์เพื่อสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นับเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้กับประเทศไทยเกิดเป็นผลกระทบที่ดีให้กับกลไกตลอดห่วงโซ่ของการวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำนักข่าวอิศรา ผ่าธุรกิจ ท่ามกลางความไม่สงบ!! 437 ล้าน ‘อนุศาสน์ สุวรรณมงคล’ อดีตสว.ปัตตานี เจ้าของโรงแรมดัง อสังหาฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

(25 ม.ค. 68) สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า นักธุรกิจจากปัตตานีหนึ่งเดียวที่ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เจ้าของโรงแรม ซี เอส ปัตตานี ซึ่งเพิ่งเกิดคาร์บอมบ์ด้านหลังโรงแรมเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2555 ล่าสุดกลุ่มคนร้ายบุกเผารถยนต์ใหม่ป้ายแดงวอด 15 คันในบริษัท ปัตตานี ฮอนด้า คาร์ส จำกัด เหตุเกิดเมื่อ 22 สิงหาคม 2555

แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนรับตำแหน่งมีพี่น้อง 4 คน ชื่อ นายสุเชฎฐ์ สุวรรณมงคล นางทิพย์วดี สุวรรณมงคล นายอนุพาสน์ สุวรรณมงคล และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล

ไม่มีคู่สมรส มีทรัพย์สิน 437.1 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุน 303.7 ล้านบาท ที่ดิน 52 แปลง มูลค่า 35.2 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 54.3 ล้านบาท เงินฝาก 27.3 ล้านบาท รถยนต์ 5 คัน 11 ล้านบาท ประกันชีวิต 3.3 ล้านบาท นาฬิกา 15 เรือน  2 ล้านบาท หนี้สิน 19.1 ล้านบาท

เป็นเจ้าของธุรกิจ 6 บริษัทได้แก่

1. บริษัท ปัตตานี ฮอนด้า คาร์ส จำกัด ดีลเลอร์ ดีลเลอร์รถยนต์ฮอนด้า ที่.อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จดทะเบียนวันที่ 7 ธันวาคม 2538 ทุน 10 ล้านบาท  นายอนุศาสน์ถือหุ้น 59,896 หุ้น มูลค่า 5,989,600 บาท นาย นพดล อรรจนโรจน์ 40,000 หุ้น ปี 2553 รายได้ 549,566,623 บาท  กำไรสุทธิ 2,672,783 บาท ปี 2554 รายได้ 380,513,313  บาท กำไรสุทธิ 2,704,262 บาท สินทรัพย์ 70,780,754 บาท หนี้สิน 67,194,603 บาท

2. บริษัท นราธิวาส ฮอนด้าคาร์ส จำกัด ดีลเลอร์ ฮฮนด้าที่ อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส จดทะเบียนวันที่ วันที่ 26 มีนาคม 2539 ทุน 10 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 37/17 หมู่ที่ 2 ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสนายอนุศาสน์ถือหุ้น 59,896 หุ้น มูลค่า 5,989,600 บาท นาย นพดล อรรจนโรจน์ 40,000 หุ้น ปี 2553 รายได้ 266,994,255 บาท ขาดทุนสุทธิ 659,752 บาท ปี 2554 รายได้ 225,458,954 บาท กำไรสุทธิ 182,709 บาท สินทรัพย์ 43,429,638 บาท หนี้สิน 34,285,628 บาท

3. หจก.เซาเทิร์น อิควิปเม้นท์ แอนด์ แมชีนเนอรี่ มูลค่า 2.5 ล้านบาท จดทะเบียนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 ทุน 5 ล้านบาท ที่ตั้ง 23 ถนนหนองจิก ตำบลสะบารัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ปี 2554 รายได้ 2,411,111 บาท  ขาดทุนสุทธิ 863,182 บาท สินทรัพย์ 2,062,029 บาท หนี้สิน 23,536,118 บาท

4. บริษัท ปัตตานีสปอร์ตคลับ จำกัด จัดสรรที่ดิน ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียนวันที่ 18 ตุลาคม 2536 ทุน 315.3 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่  99/9 หมู่ที่ 4 ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี นายอนุศาสน์ ถือหุ้น 2,570,000 หุ้น มูลค่า 257 ล้านบาท หรือ 81.5% ปี 2554 รายได้ 2,530,551บาท ขาดทุนสุทธิ 598,876บาท สินทรัพย์ 247,833,656 บาท หนี้สิน 266,044,583 บาท

5. บริษัท ศรีวัฒนมงคล จำกัด ประกอบธุรกิจโรงแรม จดทะเบียนวันที่ 11 มีนาคม 2545 ทุน 30 ล้านบาท  ที่ตั้งเลขที่99/9 หมู่ที่ 4 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายอนุศาสน์ถือหุ้น 180,000 หุ้น มูลค่า 18 ล้านบาท หรือ 60%  ปี 2554 รายได้ 60,883,163 บาท ขาดทุนสุทธิ 13,840,375 บาท สินทรัพย์ 105,852,677 บาท หนี้สิน 147,186,338 บาท

6.บริษัท ซี .เอส. พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง จำกัด ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งวันที่ 15 เมษายน 2537 ทุน 252,114,200 บาท ที่ตั้งเลขที่ 10 ถนนพิพิธ ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี นายอนุศาสน์ถือหุ้น  92,490 หุ้น มูลค่า 9,249,000 บาท ปี 2553 รายได้ 7,282,776 บาท กำไรสุทธิ 6,051,244 บาท  ปี 2554 รายได้ 5,920,697 บาท กำไรสุทธิ 4,749,777 บาท สินทรัพย์ 172,381,237 หนี้สิน 60,308,850 บาท

น่าสังเกตว่า บริษัท ปัตตานี ฮอนด้า คาร์ส จำกัด บริษัท นราธิวาส ฮอนด้าคาร์ส จำกัด และ บริษัท ซี .เอส. พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง จำกัด ผลประกอบการยังพอมีกำไรบ้าง

นอกจากนี้ถือหุ้น บริษัท ปัตตานีเจริญเทรดดิ้ง (1972) จำกัด 23 หุ้น มูลค่า 230 บาท ขายรถยนต์ ศูนย์บริการ ก่อตั้งวันที่ 15 มิถุนายน 2525 ทุน 520,100 บาท, บริษัท อีซูซุ นครมอเตอร์เซลล์ (1991) จำกัด 500 หุ้น , บริษัท อีซูซุหาดใหญ่ จำกัด 7 หุ้น มูลค่า 70 บาท ,บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ 12,049 หุ้น มูลค่า 12,049 บาท และกองทุน 2 รายการ

ที่ดินของนายอนุศาสน์อยู่ใน อ.หาดใหญ่ และ อ.นาทวี จ.สงขลา 13 แปลง ,เขตบึ่งกุ่ม กรุงเทพฯ 2 แปลง ,อ.เมือง จ.พัทลุง 2 แปลง ที่เหลืออีก 35 แปลง อยู่ใน จ.ปัตตานี รวมเนื้อที่ 55 ไร่

มีบ้านและอาคารพาณิชย์ทั้งหมด 22 แห่ง อยู่ในจ.ปัตตานี 17 แห่ง ได้แก่ เลขที่ 17/1-8 ถนนมายอ ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 80 ,82  ถนนยะรัง ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 146/10-11 ถนนนาเกลือ ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 18/1-5 ถนนหน้าวัง ต.จะบังติกอ อ.เมือง ,เลขที่  11,11/1 ถนนมะกรูด  ซอย 11 ต.สะบางรัง อ.เมือง , เลขที่ 64-78  ถนนนาเกลือ ต.อาเนาะรู อ.เมือง, เลขที่ 249-251 ถนนปัตตานีภิรมย์ อ.เมือง  ,เลขที่ 14-16 ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 161-165 ถนนปัตตานีภิรมย์  อ.เมือง ,เลขที่ 177 ถนนปัตตานีภิรมย์ อ.เมือง , เลขที่ 9 ถนนมะกรูด ซอย 9 ต.สะบางรัง ,เลขที่ 1 , เลขที่ 1/1-2 ถนนปากน้ำซอย 1 อ.เมือง ,ถนนนาเกลือ ต.บานา อ.เมือง , เลขที่ 4-6 ถนนยะรัง ซอย1 ต.จะบังติกอ อ.เมือง และเลขที่ 99/10-11 ถนนหนองจิก ต.รูสะมิแล อ.เมือง ,  จ.พัทลุง 1 หลังเลขที่ 35 ถนนตำนานนิเวศน์ ต.ตำนาน อ.เมือง ,กรุงเทพฯ 3 หลัง เลขที่ 48/190 ,48/191 หมู่ 10 ซอยนวมินทร์ 143 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม ,เลขที่ 138/9 ชั้น 4 อาคารเลขที่ 138 บ้านกาญจนาคม สามเสนใน เขตดุสิน (บางซื่อ) และบ้านในสหรัฐ 1 หลัง เลขที่ 503,555 PIERCE STREET ALBANY CA 94760 ราคา 7.8 ล้านบาท

ทั้ง 6 บริษัทคือฐานธุรกิจของนายอนุศาสน์ที่ยังคงปักหลักท่ามกลางวิกฤตความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปี

PEA แจงขายไฟฟ้าให้เมียนมาทำถูกขั้นตอน ลั่น งดจ่ายไฟฟ้าทันทีหากพบกระทำความผิดจริง

(24 ม.ค.68) PEA ชี้แจงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศใกล้เคียง ทำถูกขั้นตอนตามความร่วมมือไทย-เมียนมา พร้อมงดจ่ายไฟฟ้าแนวตะเข็บชายแดน หากพบกระทำความผิดจริง

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ชี้แจงว่า ปัจจุบันจ่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 5 จุด ในพื้นที่

1. บ้านเจดีย์สามองค์ - เมืองพญาตองซู รัฐมอญ
2. บ้านเหมืองแดง - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
3. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
4. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
5. บ้านห้วยม่วง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

ในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้ง PEA ดำเนินการระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด - บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สำหรับอีก 1 จุด ปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน - เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ PEA ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้า ทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว

PEA มิได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว โดยดำเนินการประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในไทยและเมียนมาอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อมิให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพ นำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการของไทยไปใช้ในการกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย ป้องกันมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ก่อให้เกิดความไม่สงบและอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การพิจารณางดจ่ายกระแสไฟฟ้าของ PEA จะไม่กระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ใช้บริการระบบสื่อสารทั่วไปภายในประเทศ

กกพ. เตรียมส่งหนังสือถึงภาครัฐภายใน ม.ค. 2568 นี้ หวังให้ทบทวนโครงการ Adder กดค่าไฟฟ้าลงได้ 17 สต./หน่วย

(24 ม.ค.68) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยืนยัน จะส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีพลังงานและ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือน ม.ค. 2568 นี้ เสนอให้ทบทวนเงื่อนไขสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP ที่ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) เหตุกลุ่มนี้คุ้มทุนและได้ค่าตอบแทนนานพอสมควรแล้ว ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง แต่รัฐยังสนับสนุนในอัตราสูง ส่งผลกระทบค่าไฟฟ้าโดยรวม ชี้หากปรับเงื่อนไขได้ จะช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชนลงได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย หรือประหยัดได้ 33,150 ล้านบาท

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือน ม.ค. 2568 นี้ เพื่อเสนอทางเลือกให้ภาครัฐทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไข การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าทั้งในรูปแบบ 'การให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)' และ 'การสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT)' ของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุนสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟฟ้าสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย

“นโยบายเกี่ยวกับการลดค่าไฟฟ้านั้น ทาง กกพ. เห็นว่าควรหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใครเสียเปรียบใคร แต่เวลานี้ต้องหยิบเรื่องทั้งหมดขึ้นมามอง กกพ. เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่พยายามนำเสนอมุมมองเพื่อให้ภาครัฐได้คิดทบทวนในเรื่องนี้ แต่เรื่องการตัดสินใจและนำไปสู่การปฏิบัติ เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่ต้องหารือให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

อย่างไรก็ตามหากมีการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเกิดขึ้น มองว่าควรเจรจากันบนความเข้าใจที่ตรงกันและเห็นถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เห็นถึงผลประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากการเจรจาสามารถตกลงกันได้ถือเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศ ไม่ได้เป็นการไปทำลายบรรยากาศความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่ทำกับภาครัฐแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายจะลดค่าไฟฟ้าของประเทศลงให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย เมื่อ 7 ม.ค. 2568 ส่งผลให้ กกพ. ในฐานะผู้กำกับดูแลราคาพลังงาน ได้ตรวจสอบต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะสามารถลดลงได้ และพบว่า มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าแบบให้ Adder และ FiT ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าประชาชนอยู่ 17 สตางค์ต่อหน่วย

โดย เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 กกพ.ได้ออกมาแถลงรายละเอียดว่า หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผลคือ

1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้

2. การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 ไว้ที่หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2568 ได้ระบุถึงค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรี หรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้ ก็จะลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันที 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.89 บาท

จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ ก็จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ถึง 33,150 ล้านบาท

‘เอกนัฏ‘ ลุยต่อแบบสุดซอย สั่งปิดกิจการ 3 บริษัท พร้อมฟัน 5 ข้อหาหนัก ลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์

'เอกนัฏ' เมินถูกตั้งค่าหัว สั่งขยายผลจับกุม-ขยายผล รง.กำจัดกากอุตฯเถื่อน อ.พนมสารคาม ฐานร่วมกันเคลื่อนย้ายทำลายของกลาง ลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ฟัน 5 ข้อหาหนัก พร้อมสั่งระงับกิจการรวม 3 บริษัทที่ตั้งในพื้นที่เดียวกัน 

(24 ม.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ทีมตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา (สอจ.ฉะเชิงเทรา) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมกันขยายผลดำเนินคดีกับ บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ฐานลักลอบเคลื่อนย้ายและทำลายของกลางที่ถูกยึดอายัดจาก บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด จ.ปราจีนบุรี ที่ถูกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. และ สอจ.ปราจีนบุรี แกะรอยจากรถบรรทุกที่ออกจาก บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด เมื่อวันที่ 5 ม.ค.68 ที่มีการนำของกลางที่ถูกยึดอายัดไปยัง บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยไม่ได้รับอนุญาต 

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ กรมศุลกากร ตรวจพบการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ที่ บริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้นำเข้า และเมื่อขยายผลก็พบว่า บริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ของบริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ด้วย ซึ่งปรากฏว่า บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด แบ่งพื้นที่ให้ บริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด เช่าเพื่อตั้งโรงาน โดยไม่ได้ขออนุญาตและแจ้ง สอจ.ฉะเชิงเทรา ทราบ 

“เมื่อเข้าตรวจค้น บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ตามมาตรการสุดซอย เบื้องต้นพบการกระทำผิดใน 5 ข้อหา ตั้งแต่ 1.ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต, 2.ตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต, 3.ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต, 4.ฝ่าฝืนกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย และประกาศกระทรวงเกี่ยวกับสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และ 5.เคลื่อนย้ายหรือทำลายของกลางที่ถูกยึดอายัดไว้ในคดี” นายเอกนัฏ ระบุ 

นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มีพฤติกรรมกระทำผิดร้ายแรงหลายข้อหา รวมทั้งฝ่าฝืนคำสั่ง มาตรา 37 ตามพระราชบัญญัติโรงงาน (พ.ร.บ.โรงงาน) ที่ สอจ.ฉะเชิงเทรา สั่งให้ระงับการประกอบกิจการไว้ก่อนหน้านี้ จึงได้ยกระดับออกคำสั่งตามมาตรา 39 และแจ้งความดำเนินคดี รวมถึงข้อหารับซื้อของโจร โดยสามารถจับกุมผู้กระทำผิดสัญชาติจีนได้ 2 ราย รายหนึ่งเป็นผู้ดูแลบริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนอีกรายเป็นในส่วนของบริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด 

“สอจ.ฉะเชิงเทรา ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน ระงับการประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดของบริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด รวมไปถึง บริษัท ตงไท้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งสิ้น 21 ฉบับ“ รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

รายงานข่าวแจ้งว่า นายเอกนัฏ เพิ่งเปิดเผยในระหว่างการตอบกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ม.ค.68 ว่า จากนโยบายตรวจจับ และดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะการจัดการปัญหากากอุตสาหกรรม ตลอดจนการลักลอบนำเข้าและผลิตสินค้าด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทำให้ถูกตั้งค่าหัว 300 ล้านบาท เพื่อให้เปลี่ยนตัว รมว.อุตสาหกรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top