‘ดร.กอบศักดิ์’ แนะไทยปรับ 3 ยุทธศาสตร์ ฝ่าวิกฤตศรัทธาหลัง Moody’s ลดแนวโน้มเครดิต
เมื่อวานนี้ (29 เม.ย. 68) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยจาก 'มีเสถียรภาพ' (Stable) เป็น 'เชิงลบ' (Negative) สะท้อนความกังวลว่าเศรษฐกิจและฐานะการคลังของไทยอาจอ่อนแอลงในระยะข้างหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและภาระหนี้ภาครัฐที่สูงขึ้น
ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงออกมาโพสต์เตือนผ่านเฟซบุ๊กว่า การเปลี่ยนมุมมองของมูดีส์ถือเป็นสัญญาณเตือนสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่การลดอันดับเครดิตของไทยในอนาคต หากไม่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหรือจัดการภาระหนี้อย่างจริงจัง
มูดีส์ระบุสาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงที่ศักยภาพการเติบโตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์โลกยังผันผวน โดยเฉพาะนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและห่วงโซ่อุปทานที่ไทยมีบทบาทสำคัญ รวมถึงความเปราะบางของการคลังที่ยังคงมีอยู่ตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19
แม้ Outlook เชิงลบจะยังไม่เท่ากับการลดอันดับเครดิต แต่ถือเป็น “คำเตือนอย่างเป็นทางการ” โดยในอดีตก็เคยเกิดขึ้นช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ก่อนที่มูดีส์จะกลับมาปรับมุมมองเป็นเสถียรภาพอีกครั้งในภายหลัง หากไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรง
มูดีส์ชี้ว่า หากไทยสามารถรักษาการเติบโตของ GDP ได้ในระดับ 3–4% อย่างต่อเนื่อง และลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลงได้ ก็อาจกลับไปสู่มุมมอง 'เสถียรภาพ' ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจยังชะลอตัว หรือการเมืองไร้เสถียรภาพจนกระทบต่อการดำเนินนโยบาย ก็มีโอกาสที่อันดับเครดิตจะถูกลดลงจริง
ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์เสนอแนวทางว่า 1) หลีกเลี่ยงนโยบายหรือพฤติกรรมที่สร้างความกังวลแก่ตลาดและสถาบันจัดอันดับ 2) เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ 3) เร่งสร้างศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน 3–4% ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมใหม่ การพัฒนาคน และปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
ที่มา : กอบศักดิ์ ภูตระกูล