กระทรวงอุตฯ ผนึกกำลัง กระทรวงดีอี – ส.อ.ท. จัดประชุมด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์นานาชาติ

(21 พ.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ISO/IEC JTC 1/SC 7 Software and systems engineering ระดับนานาชาติ ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 8 - 13 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศสาขาวิศวกรรมซอฟท์แวร์และระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลภายในประเทศ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าในการจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศสาขาดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมและลดอุปสรรคทางการค้าแก่ผู้ประกอบการไทย 

“อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการสร้างเม็ดเงินจากเงินตราต่างประเทศ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านดิจิทัล รวมทั้งเร่งผลักดันภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล มีทั้งการส่งเสริมการลงทุนเรื่อง cloud services และ data centers ตลอดจนการลงทุนที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัล ดังนั้น การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงถึงศักยภาพของประเทศในการยกระดับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล และยังเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล ให้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนามาตรฐานดิจิทัลในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย” นายเอกนัฏ กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า  การประชุมดังกล่าวจะมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก ISO เข้าร่วมกว่า 38 ประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ มาเลเซีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อินเดีย และอิสราเอล เป็นต้น โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมในเดือนมิถุนายน สมอ. จะเตรียมการลงนามความร่วมมือ (MoU) กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันดำเนินการยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยสู่ระดับสากล โดยใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และร่วมกันขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ทำให้เกิดการพัฒนามาตรฐานดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมไทยเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล มากกว่า 100 มาตรฐาน ครอบคลุมหลากหลายสาขา เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI)  อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) บล็อกเชน และศูนย์ข้อมูล (Data Centers) และในปีนี้จะมีการออกมาตรฐานในสาขาใหม่อย่างเทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Technology) เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศในระยะยาว สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้ทัดเทียมสากล เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงตลาดโลก และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ และเป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างเท่าเทียม” เลขาธิการ สมอ. กล่าว