‘ม.วลัยลักษณ์’ ใช้ AI พัฒนาสู่การวินิจฉัยโรคตาเข หวังช่วยเด็กแรกเกิดลดความเสี่ยงพิการทางสายตา
อย่างที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทอย่างมาในทุกอุตสาหกรรม และในชีวิตคนเราในทุกวันนี้ล้วนมี AI เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมได้นำ AI มาใช้งานอย่างจริงจัง รวมถึงในด้านสุขภาพและระบบสาธารณสุข โดยทางรัฐบาลไทย มีนโยบายขับเคลื่อนสู่ 'ระบบสุขภาพดิจิทัล' ยกระดับคุณภาพการบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และ AI คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม และหลายฝ่ายมองว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนและยกระดับวงการแพทย์ – ระบบวินิจฉัยโรคอัจฉริยะและผลกระทบต่อสาธารณสุขไทยในอนาคตอันใกล้
สอดคล้องกับแนวนโยบายของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ที่มุ่ง เพื่อพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาเครื่องมืออัตโนมัติเพื่อวินิจฉัยโรคตาเข โดยใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์ กับสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว
สำหรับงานวิจัยการตรวจจับโรคตาเขด้วยปัญญาประดิษฐ์มีศักยภาพพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ ในรูปแบบ Telemedicine เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการวินิจฉัยในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดเทคโนโลยี AI เพื่อใช้ตรวจโรคตาอื่น ๆ เช่น ต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตาเสื่อม ช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดเวลารอคอย เนื่องจากในการคัดกรองในปัจจุบันต้องใช้จักษุแพทย์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากในการเก็บข้อมูลเพื่อทำการวินิจฉัย
โครงการนี้เป็นการต่อยอดจากผลงานวิจัยก่อนหน้าที่นำเทคนิคปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการตรวจจับและประมวลผล ของรองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี เริ่มต้นการวิจัยจากการใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลภาพถ่ายหน้าตัดของท่อนซุงไม้ยางพารา เพื่อตรวจจับและบ่งบอกตำแหน่งของแกนไม้ โดยในช่วงแรกได้เน้นการพัฒนาและปรับปรุงระเบียบวิธีวิจัยการประมวลผลรูปทรงของท่อนซุงไม้ยางพารา ต่อมาได้เปลี่ยนแนวทางการวิจัยมาใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบลึก (Deep Neural Networks) ทำให้สามารถตรวจจับแกนไม้ได้ด้วยความแม่นยำสูงขึ้นและมีความผิดพลาดน้อยลง ผลงานวิจัยในช่วงนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและได้รับการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการระดับนานาชาติหลายแห่ง
หลังจากนั้น ทางรองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ จึงได้นำมาต่อยอดการวิจัย เพื่อใช้ในการประมวลผลภาพตรวจจับตำแหน่งของดวงตาและรูม่านตา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการประยุกต์ใช้ในโครงการวิจัยต่าง ๆ เช่น การตรวจจับโรคตาเขและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นและการติดตามสายตา
โดยรูปแบบการทำงานจะทำการระบุตำแหน่งดวงตาและรูม่านตาเพื่อสร้างเครื่องมืออัตโนมัติให้จักษุแพทย์วินิจฉัยโรคตาเขได้เร็วขึ้น ลดภาระงานลดค่าใช้จ่ายและที่สำคัญระบบนี้ออกแบบให้ใช้งานง่ายเป็นมิตรกับเด็กเพิ่มโอกาสในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยเด็กได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยในด้านเครื่องมือแพทย์อีกด้วย
โครงการนี้มีเป้าหมายพัฒนาเป็น โมเดลธุรกิจแบบไม่หวังผลกำไร (Social Enterprise) โดยจะมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุน อาทิ กรมการแพทย์ เพื่อยกระดับสู่ Telemedicine เต็มรูปแบบ สำหรับให้บริการประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กแรกเกิดซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนประมาณ 200,000 คน หากสามารถคัดกรองเบื้องต้นได้แม้เพียง 4% หรือ 8,000 คน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความพิการทางสายตาได้ในอนาคต