Wednesday, 26 March 2025
COLUMNIST

‘วันคนโสด 11.11.‘ มหกรรมขายของออนไลน์แดนมังกร สู่แคมเปญใหญ่ที่ขยายไปเกือบทุกประเทศทั่วโลก

เทศกาล 11.11 หรือเทศกาลวันคนโสด วันที่ 11 พฤศจิกายน (11.11) เริ่มต้นขึ้นที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ในประเทศจีน โดยบริษัทได้พัฒนาจนกลายมาเป็นวันหยุดช้อปปิ้งระดับโลก ซึ่งเทียบได้กับกิจกรรมอย่าง Black Friday และ Cyber Monday ในสหรัฐอเมริกา เทศกาลนี้เริ่มจากกิจกรรมภายในประเทศและขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปี และเทศกาลนี้ยิ่งใหญ่ขนาดไหนเราไปดูกันค่ะ

• ด้านตัวเลขยอดขายที่สูงลิ่ว
ในปี 2023 Alibaba และ JD.com สองยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีนรายงานการเติบโตของยอดขายในวันคนโสด 11.11 แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการก็ตาม เป็นปีที่สองติดต่อกันที่ทั้งสองบริษัทเลือกที่จะไม่เปิดเผยยอดขายในงานนี้ แต่ข้อมูลจาก Syntun ผู้ให้บริการด้านข้อมูลระบุว่า มูลค่าสินค้ารวม (GMV) บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักๆ ในช่วงวันคนโสด 2023 เพิ่มขึ้น 2.08% เป็นประมาณ 1.14 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 156.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

ส่วนในปี 2022 ยอดขายของ Alibaba เองสามารถทำยอดขายไปได้สูงถึง 84.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโตมากเมื่อเทียบกับยอดขายของ Prime Day ของ Amazon ที่ทำยอดขายไปได้เพียง 12.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

• ด้านการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของแบรนด์ต่างประเทศ

ในปี 2023 Alibaba รายงานว่ามีแบรนด์จากทั่วโลกเข้าร่วมในวัน 11.11 กว่า 290,000 แบรนด์ โดยแบรนด์ระดับนานาชาติใหญ่ๆ อย่าง Apple, Nike และ L’Oreal ได้เสนอส่วนลดพิเศษ โดยแบรนด์จากสหรัฐฯ มีการเข้าร่วมสูงมาก โดยคิดเป็นประมาณ 15% ของยอดขายทั้งหมดในช่วง 11.11 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากโครงสร้างพื้นฐานด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกสามารถเข้าถึงสินค้าต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

• ด้านผลกระทบต่อซัพพลายเชนและโลจิสติกส์

ความต้องการสูงสุดในวัน 11.11 กดดันให้ซัพพลายเชนและระบบโลจิสติกส์ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดย Cainiao ซึ่งเป็นฝ่ายโลจิสติกส์ของ Alibaba รายงานการจัดการพัสดุจำนวนมากในช่วงสองสัปดาห์หลังจากวัน 11.11 ในปี 2023 และนำเทคโนโลยีอัตโนมัติและ AI มาใช้เพื่อรับมือกับความต้องการสูงสุดนี้

• ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ในปี 2023 ความสนใจของผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยการสำรวจของ Nielsen พบว่า 43% ของผู้ช้อปปิ้งในช่วงวัน 11.11 เลือกซื้อจากแบรนด์ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

• ด้านการเข้าถึงทั่วโลกและการขยายตัว

แม้ 11.11 เริ่มต้นจากประเทศจีนแต่ได้กลายเป็นที่นิยมทั่วเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แพลตฟอร์ม Lazada รายงานว่ายอดขายเพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับแรงหนุนจากประชากรที่อายุน้อยและการเติบโตของการช้อปปิ้งผ่านมือถือ

ด้านยุโรปเอง การช้อปปิ้งออนไลน์ในวัน 11.11 เติบโตขึ้น 18% ในปี 2023 เมื่อแพลตฟอร์มอย่าง AliExpress และร้านค้าท้องถิ่นเสนอข้อเสนอที่หลากหลาย ทำให้เป็นวันที่สำคัญในปฏิทินการช้อปปิ้งในช่วงเทศกาลนอกสหรัฐอเมริกาค่ะ

เปิดประวัติ ว่าที่ประธานาธิบดี ‘Donald Trump’ ชีวิตส่วนตัว!! ในมุมที่ไม่มีใครเคยรู้

(9 พ.ย. 67) 10 ข้อเท็จจริงที่ใครอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump

1. ชื่อเล่นวัยเด็ก : ในวัยเด็ก โดนัลด์ ทรัมป์ มีชื่อเล่นว่า ‘ดอนนี่; แม้ในปัจจุบันเขาจะไม่ค่อยถูกใครเรียกด้วยชื่อนี้แล้วก็ตาม 

2. ดาวบนฮอลลีวูดวอล์คออฟเฟม : บทบาทของเขาในรายการ The Apprentice และ Celebrity Apprentice ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและทำให้ภาพลักษณ์ของเขาที่ดูเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ จนทำให้ทรัมป์ได้รับดาวบนฮอลลีวูดวอล์คออฟเฟมในปี 2007 จากบทบาทในรายการ แต่ดาวของเขามักถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนั้นแล้วทรัมป์เคยปรากฏตัวในภาพยนตร์และรายการทีวีหลายรายการในฐานะตัวเขาเอง การปรากฏตัวที่มีชื่อเสียงของเขารวมถึง Home Alone 2: Lost in New York, The Fresh Prince of Bel-Air, และ Sex and the City อีกด้วย

3. ทรัมป์และเกียรติยศในวงการมวยปล้ำ : ทรัมป์เคยปรากฏตัวใน WWE (เวิลด์เรสลิงเอนเตอร์เทนเมนต์) และขึ้นสังเวียนใน WrestleMania 23 ในปี 2007 เขา ‘ต่อสู้’ กับวินซ์ แม็กมาฮอน ซีอีโอของ WWE ในศึก ‘Battle of the Billionaires’ ซึ่งตัวแทนของทรัมป์เป็นผู้ชนะ ทำให้เขาโกนหัวแม็กมาฮอน

4. ความชอบในอาหารฟาสต์ฟู้ด : แม้จะมีความมั่งคั่ง แต่ทรัมป์กลับชอบรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น แมคโดนัลด์ เขาเคยบอกว่าเขาไว้ใจในอาหารเหล่านี้ เพราะมาตรฐานความสะอาดและความสม่ำเสมอของแบรนด์

5. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ : ทรัมป์ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์เลยในชีวิต ซึ่งเป็นการให้เกียรติแก่เฟร็ด ทรัมป์ จูเนียร์ พี่ชายที่ต่อสู้กับการติดแอลกอฮอล์ก่อนที่จะเสียชีวิต

6. จบการศึกษาจากวอร์ตัน : ทรัมป์เรียนที่ Wharton School of Finance ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และจบการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยเขาย้ายไปที่นั่นหลังจากเรียนที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮมเป็นเวลา 2 ปี เพราะ Wharton เป็นที่รู้จักในด้านชื่อเสียงที่แข็งแกร่งในหลักสูตรธุรกิจและการเงิน

7. ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมายาวนานที่สุด : ทรัมป์เคยคิดจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ทศวรรษ 1980 หลังจากที่ใช้เวลาหลายสิบปีในการคิดสุดท้ายเขาลงสมัครอย่างเป็นทางการในปี 2016 และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 และทรัมป์เคยเปลี่ยนพรรคการเมืองหลายครั้ง เขาเคยเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เข้าร่วมพรรครีฟอร์มในปี 2000 แต่ถอนตัวออกไป และสุดท้ายเปลี่ยนมาอยู่กับพรรครีพับลิกันจนได้ลงสมัครและชนะการเลือกตั้งในปี 2016

8. ประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการทหารหรือการเมือง : ทรัมป์ทำลายสถิติด้วยการเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านทหารหรือการเมืองมาก่อน โดยพื้นฐานของเขาคือการเป็นนักธุรกิจและสื่อบันเทิง

9. ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสองครั้ง : ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสองครั้ง สภาผู้แทนราษฎรถอดถอนเขาครั้งแรกในปี 2019 และอีกครั้งในปี 2021 ทั้งสองครั้ง แต่วุฒิสภายกฟ้องเขา ทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระ

10. ความฝันในการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล : ทรัมป์เคยพยายามเป็นเจ้าของทีม NFL โดยเขาเคยลงทุนในลีก USFL (ยูไนเต็ดสเตทฟุตบอลลีก) และหวังจะรวมลีกกับ NFL แต่ลีกดังกล่าวล้มเหลวก่อนที่จะเกิดขึ้น

‘พระยาประดิพัทธภูบาล’ ข้าราชการผู้ภักดี พระยายืนชิงช้าคนสุดท้าย ผู้ริเริ่มสารพันในสยาม

"พวกเกล้ากระหม่อมเป็นจีน ได้พระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์จักรีชุบเลี้ยง พระราชทานนามสกุล สุขสบายกันอยู่ในประเทศไทย ก็จะขอตอบแทนพระคุณในครั้งนี้ มันจะฆ่า ก็ไม่เสียดายชีวิต” 

ประโยคสำคัญจาก “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) เมื่อครั้งที่ได้มาขอตามเสด็จฯ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” หลังจากที่พระองค์ทรงได้รับการปล่อยตัวจากคณะราษฎร โดยมีเงื่อนไขว่าพระองค์ต้องเสด็จฯ ออกจากสยาม ซึ่ง ณ ขณะนั้นพระองค์ยังไม่ทรงทราบว่าจะเสด็จฯ ไป ณ ที่ใด พระยาประดิพัทธฯ จึงได้ทูลกับพระองค์ว่า "ขอตามเสด็จฯ  จะขอพาไปอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนัง” โดยกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงตอบว่า "ทางคณะราษฎรประกาศว่า ใครมาติดต่อสนิทสนมกับพวกตระกูลบริพัตร จะถูกจับกุม ไต่สวนปลดออกจากตำแหน่งราชการ เจ้าคุณอย่ามากับฉันเลย” 

พระยาประดิพัทธฯ เป็นข้าราชการอีก ๑ ท่านที่แสดงให้เห็นชัดถึงความจงรักภักดี ไม่มีความเกรงกลัวคณะราษฎร ด้วยการเข้าเยี่ยมทูลกระหม่อมบริพัตรฯ อย่างสม่ำเสมอระหว่างที่พระองค์ถูกจับเป็นองค์ประกันของคณะราษฎร จนเมื่อพระองค์ได้รับการปล่อยตัว ก็ทูลฯ เชิญกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ไปพักอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนังจนได้ โดยพระองค์ไปประทับอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายไปประทับอยู่ที่บันดุง ประเทศอินโดนีเซียในเวลาต่อมา นอกจากเข้าเฝ้าฯ และทูลเชิญเสด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตแล้วนั้น พระยาประดิพัทธฯ ยังเดินทางไปเข้าเฝ้า ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่วัง หลังจากทราบข่าวว่าคณะราษฎรปล่อยตัวออกมา ทั้งยังไปเข้าเฝ้าฯ เจ้านายอีกหลายต่อหลายพระองค์ 

“มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) เป็นบุตรของ “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง และสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร เป็นหลานของ “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ ต้นสกุล ณ ระนอง “พระยาประดิพัทธภูบาล” เกิดที่เกาะปีนัง ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ยังเด็ก จนเมื่อโตขึ้นพอจะสามารถศึกษาต่อ จึงได้กราบถวายบังคมลาไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ โดยท่านเป็นคนไทยคนที่ ๒ ที่ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ ก่อนจะกลับมารับราชการสนองพระเดชพระคุณล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ โดยเริ่มจากเป็นล่ามกิตติมศักดิ์ประจำสถานทูตลอนดอน ก่อนจะกลับมารับราชการในกระทรวงต่างประเทศ ทำหน้าที่สำคัญในฐานะผู้อำนวยการงานเสด็จฯ เยี่ยมเกาะลังกา จากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จฯ ไปยังยุโรปด้วยเป็นพิเศษในที่ “หลวงสุนทรโกษา” ได้ติดตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ในราชการต่างประเทศเกือบทั่วโลก สามารถใช้ภาษาได้หลากหลายทั้ง ภาษาอังกฤษ มลายู และภาษาจีน 

ด้วยความรู้ด้านภาษา ทั้งยังจบเนติบัณฑิตจากอังกฤษ ทำให้เมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ในคดี “พระยอดเมืองขวาง” จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการ เพื่อร่วมว่าความในฐานะทนายแผ่นดิน  

ในรัชสมัยของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๖ “พระยาประดิพัทธฯ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ ปีนัง สหพันธรัฐมลายา ซึ่งท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้ ซ่งท่านก็ได้รับหน้าที่ทั้งยังประสานงานทั่วทิศ ทั้งในส่วนของรัฐต่าง ๆ ทั้งกลันตัน ตรังกานู ที่เคยอยู่ในอาณัติของสยาม นอกจากดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ท่านยังเชื่อมต่อการค้าขาย ก่อให้เกิดเศรษฐกิจอันดีต่อภาคใต้ของสยามเรื่อยมา 

ต่อมาในรัชสมัย ของ“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๗ เมื่อท่านได้กลับมารับราชการในสยาม ท่านได้รับเกียรติให้เป็น “พระยายืนชิงช้า” ในพระราชพิธีตรียัมปวายในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ซึ่งเป็นพระยายืนชิงช้าคนสุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุเพราะรัชกาลที่ ๗ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชประเพณีนี้ เพราะในขณะนั้นสภาพบ้านเมืองประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการจัดพิธีนี้ในแต่ละครั้งก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศจำเป็นต้องประหยัดงบประมาณแผ่นดิน จึงทรงเห็นสมควรให้ยกเลิกพระราชพิธีตรียัมปวาย "โล้ชิงช้า" ตั้งแต่นั้น ตราบจนปัจจุบัน 

นอกจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์แล้ว ชื่อของ “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) ยังปรากฏไปอีกหลายแห่ง สืบเนื่องจากคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำไว้ ซึ่งผมขอยกมาเล่าให้อ่านกันเพลิน ๆ โดยสังเขปดังนี้ 

ถนน “ประดิพัทธ์” ถนนที่มีความยาวประมาณ ๑.๘ กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างถนนพหลโยธินตรงแยกสะพานควายไปยังถนนพระรามที่ ๖ ตรงแยกสะพานแดง เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการขยายกิจการของกรมทหารและกิจการของราชการขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้กรมกองต่าง ๆ ต้องออกมาตั้งที่ทำการในบริเวณทุ่งสะพานควายและใกล้เคียง แต่ถนนที่จะเชื่อมต่อถนนหลักกับถนนหลักนั้นยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากที่ดินบางผืนมีเจ้าของและต้องทำการซื้อเพื่อเวนคืน เมื่อการณ์เป็นดังนี้ “พระยาประดิพัทธฯ” จึงได้มอบที่ดินส่วนตัวเป็นประเดิมเพื่อให้ใช้ตัดถนนเชื่อมต่อดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ ทางการจึงให้เกียรติโดยนำชื่อของท่านมาตั้งเป็นชื่อถนน เดิมถนนเส้นนี้ชื่อ “ถนนพระยาประดิพัทธ์” แต่กาลเวลาทำให้กร่อนไปเหลือแค่ราชทินนามของท่าน (แต่ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ พื้นที่ถนนเส้นนี้กลับกลายเป็นที่รวมกำลังพลของคณะก่อการไปเสียฉิบ) 

นอกจากถนน “ประดิพัทธ์” แล้ว พระยาประดิพัทธฯ ได้มอบที่ดินจำนวน ๒๗ ไร่ ๒ งาน ๘ วา  เป็นโฉนดที่ดินที่ ๕๘๓๖ สาระบาญเล่มที่ ๕๙  น่าที่ ๓๖ ตั้งอยู่ในตำบลคลองเตย  อำเภอพระโขนง  จังหวัดพระประแดงนครเขื่อนขันธ์ ให้เป็นสาธารณประโยชน์ในช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ ๖ ที่ได้ตัดเป็นถนน “สุนทรโกษา” เดิมถนนเส้นนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่าถนน “หลวงสุนทรโกษา” ซึ่งราชทินนามของท่านเมื่อแรกรับราชการ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมศุลกากรในปัจจุบัน 

ที่ดินผืนนี้ในบริเวณใกล้กันยังได้ตัดเป็นทางเชื่อมแยก ที่เรียกกันว่าห้าแยก “ณ ระนอง” และถนน ณ ระนอง ซึ่งมีที่มาจากนามสกุลของท่าน โดยทั้งห้าแยกและถนนนี้อยู่ในพื้นที่คลองเตยเชื่อมต่อระหว่างถนนรัชดาภิเษก ถนนพระรามที่ ๓ ถนนสุนทรโกษา และถนน ณ ระนอง 

ที่สำคัญที่ดินผืนนี้ปัจจุบันนอกจากถนนที่ตัดผ่านและแยกดังกล่าวแล้วยังเป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์” อีกด้วย 

“สวนสนประดิพัทธ์” ชื่อชายหาดแห่งนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับท่านโดยตรง เนื่องจากเป็นชื่อที่มาจาก “พันธุ์ต้นสน” ที่ท่านได้นำเข้ามาปลูกซึ่ง “สนประดิพัทธ์” นี้ เป็นสนใน “วงศ์สนทะเล” อันมีถิ่นกำเนิดในเกาะชวาและหมู่เกาะซุนดาน้อย ประเทศอินโดนีเซีย เหตุที่นำมาปลูกนั้นนอกจากความสวยงามแล้ว “ราก” ของสนพันธุ์นี้ เป็นปมคล้ายกับพืชตระกูลถั่ว ซึ่งช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยการตรึงไนโตรเจนเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว อีกทั้งยังพบว่ามีเส้นใยขนาดเล็กมากมายภายในปม และจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนตํ่าทำให้สามารถปลูกอื่น ๆ แซมได้ โดยมีสนปกคลุมในฐานะพืชยืนต้น ลดการพังทลายของดินและดินถล่ม ไม่แปลกที่ตลอดหาดในอำเภอหัวหินจะมีทิวสนประดิพัทธ์ปลูกตลอดแนวของชายหาด ก็เพื่อป้องกันการพังทลายของดินนั่นเอง

นอกจาก “สนประดิพัทธ์” แล้ว “พระยาประดิพัทธภูบาล” ยังเป็นผู้นำ “ปาล์มน้ำมัน” อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยเข้ามาริเริ่มปลูกขึ้นในที่สถานีทดลองยางคอหงส์ จังหวัดสงขลา และที่สถานีกสิกรรมพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี โดยแรกเริ่มนั้นนำมาปลูกในฐานะพืชประดับเพื่อความสวยงาม จนกระทั่งประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียมีการปลูกปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างได้ผล ทางไทยจึงได้เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง และเห็นว่าทางภาคใต้มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับทางมาเลเซีย ประกอบกับต้นปาล์มน้ำมันที่นำเข้ามาก่อนหน้าเจริญเติบโตดี จึงได้มีการส่งเสริมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างจริงจังในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยเริ่มที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นที่แรก 

มีข้อสังเกตว่าตระกูล “ณ ระนอง” ของท่าน “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) นับเป็นตระกูลนักบุกเบิก ริเริ่ม ตัวจริง โดยเฉพาะการเพื่อต่อยอดด้านเศรษฐกิจ เช่น เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมแร่ดีบุก ตระกูลแรกในประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มนำ “ยางพารา” มาปลูกในสยาม ฯลฯ ด้วยอาจจะเป็นเพราะตระกูลนี้มีความตั้งใจ มีความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้ง จึงทำให้การงานรุ่งเรืองขึ้นได้อย่างเด่นชัดแม่จะเริ่มต้นตระกูลจากการเป็น “กรรมกร” ก่อนจะผันตัวมาเป็นพ่อค้าก็ตาม อีกทั้งยังเป็นตระกูลที่มีความสำนึกในบุญคุณแผ่นดิน มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้มีแต่ความเจริญอยู่ในตระกูลมาอย่างยาวนาน เฉกเช่นกับการแสดงถึงความจงรักภักดีของ “พระยาประดิพัทธภูบาล” ที่ไม่เกรงกลัวภัยใด ๆ จากคณะราษฎร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตนหรือคนในตระกูลก็ตาม ซึ่งตรงนี้สามารถยืนยันได้ด้วยบันทึกของ “พระองค์เจ้าอินทุรัตนาบริพัตร” พระธิดาของทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ในเหตุทูลฯ เชิญเสด็จบ้าน ณ ระนอง ที่ปีนัง โดยทรงนิพนธ์ไว้ว่า

“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” ได้ทรงมีพระดำรัสต่อพระยาประดิพัทธฯ ว่า “เจ้าคุณมากับเรา แต่พวกลูกหลานในตระกูล ณ ระนอง ยังอยู่ในเมืองไทยกัน เขาจะลำบาก ถูกกลั่นแกล้ง” 

“พระยาประดิพัทธภูบาล” ท่านตอบว่า "ใต้ฝ่าพระบาทไม่ต้องเป็นห่วง เกล้ากระหม่อมก่อนจะมานี่ ได้เรียกพวกคนในตระกูล ณ ระนอง มาประชุมบอกแล้วว่าจะตามเสด็จฯ  แล้วถ้าเขาจะมาแกล้งก็ทนรับ เขาจะมาฆ่าก็ยอมตายกัน ตอบแทนผู้มีพระคุณ" 

“พระยาประดิพัทธภูบาล” ถึงแก้อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๙ ด้วยอายุสิริรวม ๙๖ ปี ขอกราบคารวะท่านสักหนึ่งคำรบ นี่ละครับ !!! ข้าราชการผู้ภักดีจากตระกูล ณ ระนอง

รู้จัก ‘Maruti Suzuki’ ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อินเดีย แจ้งเกิดด้วย ‘MARUTI 800’ รถที่คนอยากขับก่อนยอมจ่าย 2 เท่า

MARUTI 800 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลราคาประหยัดแห่งชาติแบบแรกของอินเดีย

ในบรรดารถยนต์รุ่นต่าง ๆ บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะ Ford Model T ของสหรัฐฯ Volkswagen Beetle ของเยอรมัน และ Maruti 800 ของอินเดีย ปัจจัยที่เหมือนกันคือเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลราคาประหยัดรุ่นแรกที่ผลิตภายในประเทศเป็นจำนวนมาก

Sanjay Gandhi และมารดานายกรัฐมนตรี Indira Gandhi

จุดเริ่มต้นของ Maruti ในอินเดียเป็นเรื่องราวที่ไม่เหมือนใครมาจาก Sanjay Gandhi บุตรชายคนเล็กของนายกรัฐมนตรี Indira Gandhi พยายามก่อตั้งธุรกิจรถยนต์ในอินเดีย เขาเสียชีวิตในปี 1980 ด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก Indira แม่ของเขาซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียต้องการทำตามความปรารถนาที่ยังไม่สมหวังของเขาในการมีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลราคาประหยัดที่ผลิตในอินเดีย 

ในปี 1981 Maruti Udyog Ltd. ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยรัฐบาลอินเดีย แม้ว่าจะมีบุคลากรที่มากความสามารถอยู่ในทีมมากมาย แต่พวกเขาก็ไม่มีประสบการณ์ในการจัดตั้งบริษัทผลิตรถยนต์มาก่อน แต่ท้ายที่สุดแล้ว โครงการนี้ก็เกิดขึ้นทันทีด้วยความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี Indira รัฐบาลอินเดียได้ส่งผู้แทนไปพบกับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น Fiat, Peugeot, Volkswagen, Renault, Nissan เป็นต้น แต่กลับถูกปฏิเสธจากบริษัทเหล่านั้นทั้งหมด ด้วยบริษัทเหล่านี้เชื่อว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียไม่น่าที่จะเกิดได้และไม่น่าจะมีอนาคตเลย 

แต่หลังจากนั้น Daihatsu บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นก็ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วน และในเวลาเดียวกัน Osamu Suzuki CEO ของ Suzuki ยังได้ส่งทีมงานไปยังอินเดียเพื่อทำข้อตกลงกับ Maruti อีกด้วย Osamu มองเห็นศักยภาพในอนาคตในตลาดอินเดีย ซึ่ง Indira นายกรัฐมนตรีอินเดียดำรงบทบาทเป็นผู้นำในโครงการนี้ โดยมีการสร้างโรงงานใหม่เอี่ยม ฐานซัพพลายเออร์ และเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย/การจัดจำหน่ายทั้งหมดถูกจัดตั้งขึ้นภายในเวลาเพียง 14 เดือน Maruti และ Suzuki ได้ลงนามในกิจการร่วมค้าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1982 กลายเป็น Maruti Suzuki India Ltd.

วันที่ 14 ธันวาคม 1983 อันเป็นวันครบรอบวันเกิด 37 ปีของ Sanjay นายกรัฐมนตรี Indira ได้มอบกุญแจของ Maruti 800 คันแรกมูลค่า 47,500 รูปีให้กับ Harpal Singh (พนักงานของ Indian Airlines) และ Gulshanbeer Kaur สามี-ภรรยาชาวเดลี ซึ่งกลายมาเป็นเจ้าของ Maruti 800 คันแรกของอินเดีย เป็นครั้งแรกในอินเดียที่ประชาชนทั่วไปสามารถบรรลุความฝันที่จะเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ ความต้องการ Maruti 800 เพิ่มขึ้นอย่างมากจนผู้คนเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มเป็นสองเท่าของราคาเพื่อแซงคิว

Tata Indica รถยนต์ที่ผลิตในประเทศ 100% คันแรกของอินเดีย

ด้วยการที่นายกรัฐมนตรีอินเดียสนองความต้องการของลูกชายที่ล่วงลับของเธอและมิตรภาพของญี่ปุ่น การปฏิวัติรถยนต์ของอินเดียจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการเกิดขึ้นของ Maruti 800 แล้วอีก 15 ปีต่อมา Rata Tata ผู้ล่วงลับจึงได้เปิดตัวรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ 100% คันแรกของอินเดีย นั่นคือ Tata Indica ในปี 1998 เวลาต่อมารัฐบาลอินเดียได้ค่อย ๆ ลดสัดส่วนการถือหุ้นออกจากธุรกิจ Maruti Suzuki โดยแปลงเป็นบริษัทมหาชนในปี 2003 จากนั้นจึงขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดให้กับ Suzuki Motor Corporation ในปี 2007 

ปัจจุบัน Maruti Suzuki กลายเป็นบริษัทในเครือ Suzuki ที่ใหญ่ที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณการผลิตและยอดขาย ณ เดือนกันยายน 2022 บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดชั้นนำ 42% ในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของอินเดีย Maruti Suzuki มีโรงงานผลิตสองแห่งในรัฐ Haryana ( Gurugramและ Manesar ) และมีโรงงานผลิตอีกแห่งหนึ่งในรัฐ Gujarat ซึ่ง Suzuki บริษัทแม่จัดหาวัตถุดิบทั้งหมดให้กับ Maruti Suzuki โรงงานผลิตทั้งหมดมีกำลังการผลิตรวมกัน 2,250,000 คันต่อปี (1.5 ล้านคันจากโรงงานสองแห่งของ Maruti Suzuki และ 750,000 คันจาก Suzuki Motor Gujarat โดยในปี 2024 Maruti Suzuki มีรายได้เพิ่มขึ้น 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรวมส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีพนักงานรวม 40,004 คน

สำหรับบ้านเราแล้ว MARUTI 800 ก็คือรถยนต์นั่ง Suzuki Fronte นั่นเอง

‘แพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิก’ เพิ่มขึ้น 10 เท่าในแต่ละทศวรรษ ขยะส่วนใหญ่กว่า 50% มาจากบนแผ่นดินในอเมริกาเหนือและเอเชีย

(The Great Pacific garbage patch : GPGP) 

The Great Pacific garbage patch หรือที่เรียกว่า วงแหวนขยะในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นแพขยะขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นจุดที่มีกระแสน้ำวนของเศษขยะในทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง พิกัดอยู่ที่ประมาณ 135 ° W ถึง 155 ° W และ 35 ° N ถึง 42 ° N แหล่งรวมพลาสติกและถังขยะลอยน้ำซึ่งมีต้นกำเนิดจาก Pacific Rim รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในเอเชียอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ แบ่งออกเป็นสองพื้นที่คือ "Eastern Garbage Patch" ระหว่างฮาวายและแคลิฟอร์เนีย และ "Western Garbage Patch" ซึ่งทอดตัวไปทางตะวันออก จากญี่ปุ่นไปยังฮาวาย

ขยะในทะเลเป้นอันตรายต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลมาก ซากเต่าในภาพกินขยะทะเลจนตาย

แม้จะเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนทั่วไปเกี่ยวกับแพขยะขนาดใหญ่ที่มีอยู่ว่าเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีขยะลอยอยู่ แต่ความหนาแน่นต่ำมาก (4 อนุภาคต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งสามารถป้องกันการตรวจจับด้วยภาพถ่ายดาวเทียม หรือแม้กระทั่งโดยชาวเรือหรือนักดำน้ำทั่วไป เนื่องจากแพขยะดังกล่าวเป็นบริเวณซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย "พลาสติกขนาดเท่าเล็บมือหรือชิ้นเล็กกว่า" และมีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง โดยมักเป็นอนุภาคขนาดเล็กด้านบนของน้ำที่เรียกว่า "ไมโครพลาสติก" นักวิจัยจากโครงการ The Ocean Cleanup อ้างว่า แพขยะนี้ครอบคลุมพื้นที่ 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร พลาสติกบางส่วนในแพขยะมีอายุมากกว่า 50 ปีและรวมถึงสิ่งของต่างๆ (และเศษชิ้นส่วน) เช่น "ไฟแช็คพลาสติก แปรงสีฟัน ขวดน้ำ ปากกา ขวดนม โทรศัพท์มือถือ ถุงพลาสติก และหมอนรองศีรษะ" เส้นใยขนาดเล็กของเยื่อไม้ที่พบทั่วทั้งไป "เชื่อกันว่า มีต้นกำเนิดมาจากกระดาษชำระหลายพันตันที่ถูกทิ้งลงในมหาสมุทรทุก ๆ วัน"

วงแหวนขยะในมหาสมุทรทั่วโลก 

การวิจัยบ่งชี้ว่า แพขยะกำลังสะสมอย่างรวดเร็ว เชื่อกันว่า แพขยะจะเพิ่มขนาดขึ้น "10 เท่าในแต่ละทศวรรษ" ตั้งแต่ปี 1945 (พ.ศ. 2488) พบเศษพลาสติกลอยน้ำคล้าย ๆ กันในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเรียกว่า กองขยะแอตแลนติกเหนือ แพขยะที่กำลังเติบโตนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ต่อระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตที่มีสายพันธุ์ทางทะเล พื้นที่ของอนุภาคพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอยู่ใน วงแหวน North Pacific ซึ่งเป็นหนึ่งในวงแหวนมหาสมุทรที่สำคัญ 5 แห่ง มีบทความเมื่อ ปี 1988 อธิบายเกี่ยวกับแพขยะซึ่งจัดพิมพ์โดย National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) การอธิบายนี้มาจากการวิจัยของนักวิจัยจากอะแลสกาหลายคนในปี 1988 ซึ่งวัดพลาสติก neustonic (รวบรวมสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วและขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บนหรือใต้พื้นผิวน้ำ) ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ นักวิจัยพบว่า ขยะทะเลสะสมในพื้นที่ที่มีกระแสน้ำในมหาสมุทรค่อนข้างสูง จากการค้นพบในทะเลญี่ปุ่นนักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า สภาวะที่คล้ายคลึงกันนี้จะเกิดขึ้นในส่วนอื่น ๆ ของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งกระแสน้ำที่ไหลผ่านเป็นประโยชน์ต่อการสร้างวงแหวนขยะที่ค่อนข้างเสถียร พวกเขาระบุเฉพาะพิกัด วงแหวนขยะในแปซิฟิกเหนือ

มิถุนายน 2019 Ocean Voyages Institute ซึ่งเป็นองค์กรเดียวกับที่อยู่เบื้องหลังการสำรวจปี 2009, 2010 และ 2012 ได้ดำเนินการทำความสะอาดวงแหวนขยะ และโดยนำอวนโพลีเมอร์และขยะพลาสติกจากการบริโภคกว่า 84,000 ปอนด์ออกจากมหาสมุทร ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2020 สถาบัน Ocean Voyages ได้ดำเนินการสำรวจและทำความสะอาดวงแหวนขยะ ซึ่งนำพลาสติกจากการสำหรับบริโภคและอวนกว่า 170 ตัน (340,000 ปอนด์) ออกจากมหาสมุทร โดยใช้เครื่องติดตามด้วยสัญญาณดาวเทียม GPS ที่ออกแบบเอง ซึ่งติดตั้งในเรือ โอกาสที่สถาบัน Ocean Voyages สามารถติดตามและส่งเรือล้างทำความสะอาดเพื่อกำจัดอวนได้อย่างแม่นยำ เทคโนโลยีติดตามด้วย GPS ถูกรวมเข้ากับภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อเพิ่มความสามารถในการค้นหาขยะพลาสติกและอวนแบบเรียลไทม์ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพในการล้างทำความสะอาดแพขยะด้วย

แหล่งที่มาของขยะพลาสติก ในปี 2015 การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science พยายามค้นหาว่าขยะทั้งหมดนี้มาจากไหน จากข้อมูลของนักวิจัยพบว่าพลาสติกที่ทิ้งแล้วและเศษขยะอื่น ๆ ลอยไปทางตะวันออกจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียจากแหล่งที่มาหลัก 6 แหล่ง ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ศรีลังกา และไทย ในความเป็นจริง Ocean Conservancy รายงานว่า จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ทิ้งพลาสติกในทะเลมากกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งหมดรวมกัน เฉพาะจีนเท่านั้นที่ทิ้งขยะถึง 30% ของขยะมลพิษในมหาสมุทรพลาสติกทั่วโลก ความพยายามในการชะลอการสร้างเศษขยะบนบก และเกิดการสะสมของขยะในทะเลตามมาถูกดำเนินการโดย โครงการการอนุรักษ์ชายฝั่ง วันคุ้มครองโลก และวันทำความสะอาดโลก จากข้อมูลของ National Geographic "ประมาณ 54 % ของเศษขยะใน Great Pacific Garbage Patch มาจากขยะบนแผ่นดินในอเมริกาเหนือและเอเชีย เศษขยะที่เหลืออีก 20 % ใน Great Pacific Garbage Patch มาจากชาวเรือ แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง และเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่ทิ้งปล่อยเศษขยะลงในน้ำโดยตรง เศษขยะส่วนใหญ่ประมาณ 705,000 ตันคืออวนจับปลา"

ในเดือนกันยายน 2019 เมื่อการวิจัยเปิดเผยว่า มลพิษจากพลาสติกในมหาสมุทรจำนวนมากมาจากเรือบรรทุกสินค้าของจีน โฆษกของ Ocean Cleanup กล่าวว่า: "ทุกคนพูดถึงการช่วยมหาสมุทรด้วยการหยุดใช้ถุงพลาสติกขุ่น และบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวเป้นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อขยะในมหาสมุทรนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราพบเสมอไป ขนาด แพขยะ Great Pacific ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น อันเป็นผลมาจากมลพิษทางทะเลซึ่งรวมตัวกันด้วยกระแสน้ำในมหาสมุทร วงแหวนขยะอยู่ในบริเวณที่น้ำค่อนข้างนิ่งกลางมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือล้อมรอบด้วยวงแหวนแปซิฟิกเหนือในละติจูด Horse (ละติจูดม้า หรือ ฮอร์สละติจูด : แถบหรือบริเวณในละติจูดระหว่าง 30° องศาเหนือและ 30° องศาใต้ที่เป็นบริเวณที่มีลมฟ้าอากาศค่อนข้างสงบ) รูปแบบการหมุนของวงแหวนขยะประกอบด้วยวัสดุเหลือใช้จากทั่วแปซิฟิกเหนือโดยผสมผสานกันจากน่านน้ำชายฝั่งนอกอเมริกาเหนือและญี่ปุ่น เมื่อวัสดุถูกกระแสน้ำและกระแสพื้นผิวที่ถูกพัดด้วยลมจะค่อย ๆ พัดย้ายเอาเศษเล็กเศษน้อยไปยังศูนย์กลางทำให้ขยะจับและก่อตัว

ในการศึกษาในปี 2014 นักวิจัยได้สุ่มตัวอย่างจากพิกัด 1,571 แห่งจากมหาสมุทรทั่วโลก และระบุว่า อุปกรณ์จับปลาที่ถูกทิ้งเช่น ทุ่น สายเบ็ด และอวน คิดเป็นมากกว่า 60% ของเศษพลาสติกในทะเล ตามรายงานของ EPA ประจำปี 2011 "แหล่งที่มาหลักของขยะทะเลคือ การกำจัดขยะหรือการจัดการขยะและผลิตภัณฑ์จากการผลิตที่ไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงพลาสติก (เช่นการขนและทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมาย) เศษขยะจากพื้นแผ่นดินตาม ท่าเรือริมแม่น้ำ ท่าเทียบเรือริมทะเล และท่อระบายน้ำ และเศษซากจากพายุต่าง ๆ เศษขยะถูกสร้างขึ้นในทะเลจากเรือประมง แท่นขุดเจาะ และเรือบรรทุกสินค้า" ซึ่งมีมากมายหลายขนาดตั้งแต่ อวนจับปลาที่ถูกทิ้งร้างยาวหลายไมล์ ไปจนถึงเม็ดพลาสติกขนาดเล็กที่ใช้ในเครื่องสำอาง และสารกัดกร่อน น้ำยาทำความสะอาด การศึกษาจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์คาดการณ์ว่า เศษชิ้นส่วน(ที่สมมุติขึ้น)จากชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯจะมุ่งหน้าไปยังเอเชียและกลับมายังสหรัฐฯในหกปี เศษซากจากชายฝั่งตะวันออกของเอเชียจะไปถึงสหรัฐฯในหนึ่งปีหรือน้อยกว่านั้น ในขณะที่ไมโครพลาสติกคิดเป็น 94% ของชิ้นส่วนพลาสติกประมาณ 1.8 ล้านล้านชิ้น แต่มีปริมาณขยะพลาสติกเพียง 8% จาก 79,000 เมตริกตัน ขยะที่เหลือส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมการประมง ผลการศึกษาในปี 2017 สรุปได้ว่า พลาสติกจำนวน 9.1 พันล้านตันที่ผลิตตั้งแต่ปี 1950 เกือบ 7 พันล้านตัน ซึ่งไม่ถูกใช้งานอีกต่อไป ผู้เขียนประเมินว่า  9% ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ 12% ถูกเผา และอีก 5.5 พันล้านตันที่เหลือยังคงอยู่ในมหาสมุทรและบนบก

บ้านเราติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก มากถึง 1 ล้านตันต่อปี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชี้ว่า ขยะในทะเลส่วนใหญ่มาจากแหล่งท่องเที่ยว เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม เป็นต้น ถัดมาคือขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก เป็นต้น ยังไม่รวมขยะอื่น ๆ ที่พบได้ในทะเล เช่น ถุงพลาสติก ฝาน้ำ และเศษบุหรี่ไม่เฉพาะแค่การท่องเที่ยว แต่รวมไปถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นจากบุคคล ครัวเรือน อุตสาหกรรม ขยะเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำต่างๆ จากลำคลอง สู่แม่น้ำ ท้ายที่สุดแล้วก็จะมีขยะส่วนหนึ่งลงสู่ท้องทะเล ปัจจุบันเรามีการลดการใช้ขยะอย่างจริงจัง เช่น การห้ามใช้ถุงพลาสติก หรือ การเพิ่มภาษีของบริษัทผู้ผลิตพลาสติก เป็นต้น แต่ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในการลงทุนเพื่อการจัดการขยะอย่างถูกวิธีนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การลดขยะยังไม่แพร่หลาย เช่น การออกแบบเพื่อใช้บรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุด หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้จริง โดยไม่มีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต แต่ท้ายที่สุดแล้วทางแก้ที่ยั่งยืนของปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ ไปจนถึงการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในระดับบุคคล เช่น มีการจัดการขยะที่ดี การออกแบบที่ใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด หรือแม้แต่การที่สาธารณชนมีความตระหนักในการบริโภค ลดและเลิกใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เพราะการจัดการที่ปลายเหตุหลังจากขยะเกิดขึ้นแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

อัตราการเกิดขยะของบ้านเราอยู่ที่คนละราวหนึ่งกิโลเศษต่อวัน หรือวันละกว่าเจ็ดสิบล้านกิโล หรือ 70,000 ตัน หรือปีละ 25.55ล้านตัน ดังนั้นเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ต่างก็ต้องให้ความร่วมมือกันในการจัดการขยะเช่น คัดแยกขยะ และใช้กระบวนการ 3 R : Reduce Reuse และ Recycle ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายก็ต้องมีวิธี และมาตรการที่เอื้อต่อการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องด้วย จิตสำนึกรับผิดชอบในการจัดการขยะของคนไทยเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง และมีผลอย่างมากที่สุดต่อการจัดการขยะทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้น ต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน ไม่เช่นนั้นแล้ววันหนึ่งคนไทยจะได้เห็นวงแหวนขยะเกิดขึ้นในอ่าวไทย หรือในทะเลอันดามันอย่างแน่นอน

ประหาร 5 ยุวกษัตริย์ เส้นทางครองอำนาจสีโลหิต สู่การเถลิงราชบัลลังก์สมัยกรุงศรีอยุธยา

ถ้าใครได้ชมซีรี่ส์เรื่อง 'แม่หยัว' ในตอนแรก จะปรากฏฉากการประหารยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา และการประหารยุวกษัตริย์ที่เราได้เห็นนั้นไม่ใช่แค่พระองค์เดียว แต่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นรวม 5 ครั้ง ตลอด 200 กว่าปีแห่งความเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยา มีพระองค์ใดบ้าง ? และเหตุแห่งการประหารเกิดขึ้นเพราะอะไร ? ผมเรียบเรียงมาให้อ่านกันดังนี้ครับ 

ยุวกษัตริย์พระองค์แรกแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์คือ 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' หรือ 'สมเด็จพระเจ้าทองลัน'พระราชโอรสใน 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1' หรือ 'ขุนหลวงพะงั่ว' กษัตริย์พระองค์แรกจากวงศ์สุพรรณภูมิและพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นพระมาตุลาของ 'สมเด็จพระราเมศวร' พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาอยู่ราว 1 ปี 'ขุนหลวงพะงั่ว' จึงเสด็จ ฯ มาถึงกรุงศรี ฯ (น่าจะยกกองทัพมาด้วยเพื่อทวงราชบัลลังก์) ด้วยความเกรงในพระราชอำนาจ 'สมเด็จพระราเมศวร' จึงถวายพระราชบัลลังก์ให้กับพระมาตุลาของพระองค์ส่วนพระองค์ก็เสด็จฯ กลับลพบุรี โดย 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1' หรือ 'ขุนหลวงพะงั่ว' ครองบัลลังก์อยู่ 18 ปี ก็สวรรคต บรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญ 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' องค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์สืบต่อในปี พ.ศ 1931 แต่ผ่านไปเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น 'สมเด็จพระราเมศวร' ก็ทรงยกกองกำลังมาจากลพบุรี แล้วเข้ายึดอำนาจอย่างเสร็จสรรพ ตามสิทธิธรรมที่พระราชบัลลังก์นี้ เป็นของพระองค์มาก่อน โดยพระองค์รับสั่งให้กุมตัว 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' ยุวกษัตริย์วัย 15 พรรษา ไปสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา ซึ่งพงศาวดารบันทึกไว้ว่า 

“สมเด็จพระราเมศวรเสด็จฯ ลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้ กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้ ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ” 

ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ที่ทรงตกเป็นเหยื่อแห่งการช่วงชิงราชบัลลังก์ก็คือ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ผู้มีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสใน 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4' หรือ 'สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร' ซึ่งทรงครองราชย์อยู่เพียง 4 ปี ก็สวรรคตด้วยไข้ทรพิษในปี พ.ศ. 2076 และไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ บรรดาขุนนางได้สนับสนุนให้ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ขึ้นครองราชย์ ซึ่งในเหล่าขุนนางทั้งหลายนั้น เชื่อกันว่ามีโต้โผใหญ่ที่อาจจะมีศักดิ์เป็น 'ตา' ของ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' เป็นผู้ผลักดัน เพียงเพราะอยากได้อำนาจผ่านหลาน โดยมองข้าม 'พระไชยราชา' พระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรอันเกิดจากพระสนม ผู้ครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเรื่องราวก็เป็นไปตามคาดเวลาผ่านไปเพียงไม่เกิน 5 เดือน 'พระไชยราชา' ก็ยกทัพมายึดกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับกุมตัว 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดโคกพระยา ซึ่งเป็นฉากที่เราได้เห็นในซีรี่ย์เรื่อง 'แม่หยัว' นั่นเอง จากนั้นพระไชยราชาก็ปราบดาภิเษกเป็น 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' 

แต่ทว่าเหมือนกรรมจะตาม 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' ทัน เพราะยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 3 ที่ต้องเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งการแย่งชิงอำนาจนั้นก็คือ 'สมเด็จพระยอดฟ้า' หรือ 'สมเด็จพระแก้วฟ้า' พระราชโอรสของ 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' กับ แม่อยู่หัว (แม่หยัว) ศรีสุดาจันทร์ นั่นเอง โดย 'สมเด็จพระยอดฟ้า' ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาของพระองค์ในปี พ.ศ. 2089 ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 11 พรรษา ซึ่งอำนาจที่แท้จริงนั้นไม่น่าจะเป็นของพระองค์เพราะในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกว่า 

"นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นสมเด็จพระชนนีช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน การเมืองยามนั้นยังวุ่นวาย พระเฑียรราชา เชื้อพระวงศ์ฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราช น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการประคับประคองราชการแผ่นดินได้ แต่กลับเกรงราชภัย หนีไปผนวชที่วัดราชประดิษฐาน ตำบลท่าทราย ในกรุงศรีอยุธยา ตลอดรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้า.....” 

นั่นก็คืออำนาจทั้งหมดอยู่ที่ 'แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์' ซึ่งพระองค์มีเรื่องลับลมคมนัยอยู่กับ 'ขุนวรวงศา' และเรื่องกำลังแดงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปฏิปักษ์บางกลุ่มก็กำจัดได้ บางกลุ่มก็ยังคงเป็นเสี้ยนหนาม และถ้า 'สมเด็จพระยอดฟ้า' ทรงเติบใหญ่จนคุมไม่ได้การณ์ข้างหน้าก็จะเป็นภัย ทำให้ 'แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์' ออกอุบายดำเนินการรุกฆาตด้วยการเอา 'ขุนวรวงศา' ขึ้นเป็นกษัตริย์ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า

“....จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสปรึกษาด้วยหมู่มุขมนตรีทั้งปวงว่า พระยอดฟ้าโอรสเรายังเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น จะว่าราชการแผ่นดินนั้น เห็นเหลือสติปัญญานัก อนึ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือเล่าก็ยังมิปกติ จะไว้ใจแต่ราชการมิได้ เราคิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน กว่าราชบุตรเราจะจำเริญวัยขึ้น จะเห็นเป็นประการใด ท้าวพระยามุขมนตรีรู้พระอัชฌาสัยก็ทูลว่า ซึ่งตรัสโปรดมานี้ก็ควรอยู่....” 

ซึ่งแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ก็รวบรัดตัดตอนตั้งพระราชพิธีราชาภิเษก ยกขุนวรวงศาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินจากนั้นก็ดำเนินการสำเร็จโทษ 'สมเด็จพระยอดฟ้า' โดยมีบันทึกไว้ว่า

“ครั้นศักราช 891 ปีฉลู เอกศก (พ.ศ.2072) ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ขุนวรวงศาธิราชเจ้าแผ่นดิน คิดกันกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ให้เอาพระยอดฟ้าไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดโคกพระยา แต่พระศรีศิลป์น้องชายพระชนม์ได้เจ็ดพรรษานั้นเลี้ยงไว้ สมเด็จพระยอดฟ้าอยู่ในราชสมบัติปีกับสองเดือน” 

ต่อมาอีกราวเกือบ 100 ปี ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 4 ที่ต้องมีชะตากรรมถูกสำเร็จโทษก็คือ 'สมเด็จพระเชษฐาธิราช' หรือ 'สมเด็จพระบรมราชาที่ 2' พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน 'สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม' ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษาเศษ โดยพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ด้วยการสนับสนุนจาก “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ขุนนางสำคัญตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่าท่านออกญาฯ คือโอรสลับของ 'สมเด็จพระเอกาทศรถ' ซึ่งในกาลต่อมาท่านออกญาฯ ก็ยึดอำนาจขึ้นครองราชย์เป็น 'สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง'

จุดหักเหของ 'สมเด็จพระเชษฐาธิราช' เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงครองราชย์ผ่านไปแล้ว 4 เดือน มารดาของ “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ได้ถึงแก่กรรม จึงมีขุนนางน้อยใหญ่ไปช่วยงานกันมาก ครั้นเมื่อ “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” เสด็จ ฯ ขึ้นว่าราชการจึงทำให้มีขุนนางเข้าเฝ้าฯ เป็นจำนวนน้อย ด้วยความเยาว์หรืออย่างไรก็ไม่ทราบเมื่อมีขุนนางเพ็ดทูลว่า “ออกญากลาโหมคิดกบฏเป็นแน่แท้” พระองค์ก็ทรงเชื่อตามนั้น ก็เลยทรงรับสั่งให้ทหารขึ้นประจำป้อมล้อมวัง พร้อมรับสั่งให้ขุนมหามนตรีไปลวงออกญากลาโหม ว่าพระองค์รับสั่งให้เฝ้า ฯ แต่ฝั่งออกญา ฯ ได้ทราบแผนเสียก่อน จนออกปากว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้ว เราจะทำตามรับสั่ง" ว่าแล้วจึงยกกองกำลัง 3,000 นาย เข้ายึดวังหลวงพร้อมกับไล่ตามจับกุมตัว “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ซึ่งเสด็จฯ หนีไปได้ที่ป่าโมกน้อย ก่อนกุมตัวพระองค์ไปสำเร็จโทษ โดย “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ทรงครองราชย์อยู่ราว 1 ปีเศษ 

ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 5 ซึ่งเป็นพระองค์สุดท้ายคือ “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” ทรงเป็นพระราชโอรสใน “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม” เป็นพระราชอนุชาของ “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมเชษฐาด้วยพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ในปี พ.ศ. 2172 ด้วยพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ก็คงไม่ต่างจากเด็กทั่วไปที่ทรงเล่นสนุกไปตามประสา จนผ่านไปราว 30 กว่าวัน เหล่าขุนนางทั้งหลายต่างอดรนทนไม่ได้ จึงรวมตัวกันพร้อมด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปขอร้อง “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ให้ขึ้นครองราชย์ เพื่อเห็นแก่อาณาประชาราษฎร์และสมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย (ตรงนี้อยากให้อ่านเพลิน ๆ โดยผมแนะนำว่าควรหาเอกสารอื่นประกอบ เนื่องจากมีบางอย่างบ่งชี้ว่าอาจจะเป็นแผนการทางการเมืองของออกญาฯ มีชื่อท่านนั้น) เมื่อเป็นดังนี้ท่านออกญาฯ จึงไม่สามารถปฏิเสธการร้องขอได้ จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” แล้วทรงถอด “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” ออกจากกษัตริย์ แต่ยังคงให้ทรงประทับอยู่ภายในพระราชวังหลวงกับพระนมพี่เลี้ยงก่อนที่ต่อมาจะถูกไล่ออกจากวัง ไปปลูกเรือนเสาไม้ไผ่ 2 ห้อง 2 หลัง อยู่ข้างวัดท่าทราย มีคนรับใช้ตักน้ำหุงข้าวให้ 2 คน เท่านั้น ถึงตรงนี้เดาได้เลยว่า “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” คงทำตัวไม่ถูก และคงจะทรงอึดอัดขัดข้องพระทัยมิใช่น้อย จนถึงปี พ.ศ. 2172 เมื่อ พระองค์เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา จึงทรงเกิดทิฐิมานะขึ้น โดยพระองค์ทรงรวบรวมขุนนางที่ถูกออกจากราชการได้ราว 200 คน เป็นกองกำลังยกเข้าไปในวังเพื่อหมายจะยึดอำนาจคืน แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ โดนทหารของ “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” หรือในขณะนั้นคือ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” จับกุมได้จึงถูกนำตัวไปสำเร็จโทษเฉกเช่นเดียวกับพระบรมเชษฐาของพระองค์ 

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงสังเกตได้ว่าบรรดายุวกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ล้วนแล้วแต่ตกเป็นเหยื่อของการช่วงชิงอำนาจของผู้มากบารมีที่เข้มแข็งที่สุดในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่ายุวกษัตริย์ทั้งหลายแม่จะครองราชย์ตามโบราณราชประเพณี แต่กระนั้นก็คงไม่มีพลังใด ๆ พอที่จะปกป้องตนเอง จึงทำให้ต้องถูกสำเร็จโทษตกไปตามกัน ซึ่งการแย่งชิงอำนาจราชบัลลังก์ของกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ที่เป็นปัจจัยให้ราชธานีแห่งนี้ ค่อย ๆ เสื่อมถอย อ่อนแอ จนถึงกาลล่มสลายในปี พ.ศ. 2310

‘ไทย’ ยังสุ่มเสี่ยงตกเป็นเป้า ‘ก่อการร้ายสากล’ แม้แสดงจุดยืนรักษาความเป็นกลาง สร้างสัมพันธ์ทุกฝ่าย

เหตุการณ์การก่อการร้ายสากลที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

การก่อการร้ายในความหมายกว้าง ๆ คือ การใช้ความรุนแรงต่อผู้ซึ่งไม่ใช่ตำรวจ-ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองหรืออุดมการณ์ คำนี้ใช้ในเรื่องนี้เป็นหลักเพื่ออ้างถึงความรุนแรงโดยเจตนาในยามสงบหรือในบริบทของสงครามต่อประชาชนพลเรือนทั่วไป คำจำกัดความของการก่อการร้ายเน้นย้ำถึงความสุ่มเป้าหมายในการสร้างความหวาดกลัวเพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างที่มากเกินกว่าผลต่อเป้าหมายที่เป็นเหยื่อโดยตรง ด้วยกลวิธีต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง อุดมการณ์ ความเชื่อ ฯลฯ โดยมักใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์เพื่อโน้มน้าวผู้มีอำนาจตัดสินใจ โดยผู้ก่อการร้ายมุ่งเป้าไปที่พื้นที่สาธารณะที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ศูนย์กลางการขนส่ง สนามบิน ศูนย์การค้า แหล่งท่องเที่ยว และสถานบันเทิงยามค่ำคืน เพื่อสร้างความไม่ปลอดภัยในวงกว้าง กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายผ่านการจัดการทางจิตวิทยาและบั่นทอนความเชื่อมั่นในมาตรการรักษาความปลอดภัย

‘การก่อการร้ายสากล’ เป็น การปฏิบัติการ (คุกคามหรือใช้ความรุนแรง) ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มุ่งหวังผลตามเงื่อนไขข้อเรียกร้องทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะปฏิบัติการล่วงล้ำเขตแดนหรือเกี่ยวพันกับชาติอื่น การกระทำนั้นอาจเป็นไปโดยเอกเทศปราศจากการสนับสนุนจากรัฐใด ๆ หรือมีรัฐใดหนึ่งสนับสนุนรู้เห็นก็ได้ เมื่อเกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์ของชาติ พันธกรณีระหว่างประเทศ นโยบายของชาติทั้งด้านการเมือง และการป้องกันประเทศ เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของชาติ

พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัน (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ และ
พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เสนาธิการทหารในขณะนั้น ยอมเป็นตัวประกันออกไปกับผู้ก่อการร้าย

ราชอาณาจักรไทย อันเป็นที่รักยิ่งของพี่น้องประชาชนคนไทย แม้จะพยายามวางตัว ดำรงบทบาทเป็นกลางในเวทีโลกก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ก่อการร้ายสากลได้พ้น สำหรับเหตุการณ์การก่อการร้ายที่นับเป็นการก่อการร้ายสากลที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นคือ เหตุการณ์ยึดสถานทูตอิสราเอลโดยกลุ่ม Black September ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 โดยสมาชิกขบวนการก่อการร้ายปาเลสไตน์ในนามของ The Black September Organization จำนวน 4 คน ได้บุกเข้ายึดสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ถนนหลังสวนกรุงเทพฯ และจับบุคคลที่อยู่ในสถานทูตไว้เป็นตัวประกัน 6 คน โดยยื่นข้อเรียกร้องต่อทางการอิสราเอล  3 ข้อ อาทิ เรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษ 36 คนในเรือนจำ เหตุการณ์สงบลงด้วยการเจรจาของรัฐบาลไทย และเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย และผู้นำทางศาสนาอิสลามของไทย ใช้เวลาเจรจา 19 ชั่วโมง โดยรัฐบาลไทยได้จัดเครื่องบินพิเศษพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่คุ้มกันนำออกไปส่งที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง บุคคลสำคัญที่ยอมเป็นตัวประกันออกไปกับผู้ก่อการร้ายคือ พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัน (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้น และ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เสนาธิการทหารในขณะนั้น ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน ผู้ก่อการได้มอบอาวุธปืนเล็กกลที่ใช้ก่อเหตุเป็นของที่ระลึกแก่จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีกระบอกหนึ่ง และอีกกระบอกมอบให้จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการกองทัพบก ผู้ก่อการปาเลสไตน์ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลอียิปต์ โดยหลังจากที่พวกเขาลงจากเครื่องบิน ผู้ก่อการได้ถูกนำไปขึ้นรถตำรวจโดยไม่ได้ใส่กุญแจมือแต่อย่างได ส่วนสำนักข่าวต่าง ๆในอียิปต์ต่างเรียกพวกเขาเป็นวีรบุรุษ ในด้านของอิสราเอล นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลในขณะนั้น โกลดา เมอีร์ และคณะได้แสดงความชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลไทยอย่างยิ่งสำหรับการจัดการอันระมัดระวังซึ่งทรงประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบอย่างสูง (Active vigilance and supreme responsibility)

เครื่องบินแบบ BAC 1-11 ของฟิลิปปินส์แอร์ไลน์แบบเดียวกับที่ถูกจี้

เหตุการณ์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2519 ผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม 3 คน จากขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติโมโรแห่งมินดาเนา (Moro National Liberation Front of Mindanao) ได้จี้และยึดเอาเครื่องบินโดยสารภายในประเทศที่เมืองคากายัน เดอ โอโร พร้อมด้วยผู้โดยสาร 70 คน ไว้เป็นตัวประกันและตั้งข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ 3 ข้อ ผู้ก่อการร้ายได้บังคับให้กัปตันนำเครื่องบินไปลงที่สนามบินมะนิลา และยินยอมปล่อยผู้โดยสารทั้ง 70 คน ที่ยึดไว้เป็นตัวประกัน ต่อมาการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ตกลงกันไม่ได้ ผู้ก่อการร้ายจึงบังคับเครื่องบินให้บินออกนอกประเทศตามเส้นทางโกตาคิ นะบาลู รัฐซาบาร์ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และมาลงดอนเมืองเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2519 ไทยเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างผู้ก่อการร้ายกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในที่สุดผู้ก่อการร้ายได้นำเครื่องบินต่อเดินทางไปลิเบียเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519          

เครื่องบินแบบ DC-8 ของ Garuda ลำที่ถูกจี้

เหตุการณ์ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2524 ผู้ก่อการร้ายกลุ่มคอมมานโดญิฮาด (Commando Jihad Movement) จำนวน 5 คน ได้ปล้นยึดเครื่องบิน Garuda เที่ยวบิน 206 สายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ขณะบินขึ้นจากสนามบินปาเล็มบังไปยังเมืองเมดาน และเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียปล่อยนักโทษการเมืองอินโดนีเซียที่ถูกคุมขังอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไปส่งยังกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ต่อจากนั้นได้บังคับให้นำเครื่องบินไปจอดแวะเติมน้ำมันและขอเสบียงที่สนามบินปีนัง มาเลเซีย และเดินทางต่อมายังประเทศไทยลงที่สนามบินดอนเมือง ทางฝ่ายไทยและฝ่ายอินโดนีเซียได้เจรจาต่อรองกับผู้ก่อการร้ายจนถึงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2524 จนในที่สุดได้ตกลงใจที่จะใช้กำลังเข้าช่วยเหลือตัวประกัน โดยฝ่ายไทยเป็นผู้คุ้มกันการปฏิบัติการ และฝ่ายอินโดนีเซียใช้หน่วยจู่โจมเข้าช่วยเหลือตัวประกัน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2524 เวลา 02.35 น. ผลการปฏิบัติการคือ ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 1 คน หน่วยจู่โจมอินโดนีเซียเสียชีวิต 1 คน นักบินที่ 1 เสียชีวิต และผู้โดยสาร 43 คนปลอดภัย ปรากฏเป็นข่าวในภายหลังถึงความไม่ชำนาญในปฏิบัติการจู่โจมสลัดอากาศของฝ่ายอินโดนีเซียจึงทำให้มีการเสียชีวิตของผู้ปฏิบัติและตัวประกันเกิดขึ้น  

สภาพความเสียหายของอาคารหลังจากเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2525

เหตุการณ์ครั้งที่ 4 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2525 มีผู้นำกระเป๋าเอกสารซึ่งบรรจุระเบิดชนิด C4 น้ำหนักประมาณ 10 ปอนด์ ไปทิ้งไว้ในสำนักงานบริษัท เอ.อี.นานา จำกัด เลขที่ 27-29 ถนนอนุวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นที่ทำการของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์อิรักประจำกรุงเทพฯ และได้เกิดระเบิดขึ้นเมื่อเวลา 16.27 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแผนกวัตถุระเบิด กองพลาธิการ กรมตำรวจ กำลังพยายามจะนำกระเป๋าดังกล่าวออกจากตัวอาคารเป็นผลให้อาคารบริษัท เอ.อี.นานา จำกัด ซึ่งเป็นตึก 2 ชั้น 2 คูหา พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิต 1 นาย คือ พ.ต.ท.สุรัตน์ สุมานัส หัวหน้าแผนกวัตถุระเบิด เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 4 คน และประชาชนบาดเจ็บ 13 คน ต่อมาในวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ผู้ก่อการร้ายขบวนการปฏิบัติการอิสลามแห่งอิรัก (Iraqi Islamic Action Organization) ได้โทรศัพท์แจ้งไปยังสำนักข่าว AFP ในกรุงปารีส อ้างความรับผิดชอบกรณีระเบิดดังกล่าว เหตุการณ์ครั้งที่ 5 เดือนเมษายน พ.ศ. 2531 สมาชิกขบวนการฮิซบอลเลาะห์ (HIZBALLAH) จำนวน  6-8 คน ยึดเครื่องบินของสายการบินคูเวตจากกรุงเทพฯ ไปลงที่เมืองมาชาต ประเทศอิหร่าน จับผู้โดยสารและลูกเรือ 112 คนเป็นตัวประกัน ซึ่งในจำนวนนั้น 3 คนเป็นเชื้อพระวงศ์ของคูเวต ผู้ก่อการร้ายเรียกร้องให้รัฐบาลคูเวตปล่อยตัวนักโทษชาวมุสลิมนิกายชีอะต์ 17 คน ซึ่งถูกคุมขังในข้อหาขับรถบรรทุกระเบิดพุ่งชนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และวางระเบิดสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในคูเวต 

แท็งก์น้ำภายในบรรจุระเบิดแสวงเครื่องประกอบด้วยระเบิดซีโฟร์ 2 ลูก แอมโมเนียมไนเตรท
พร้อมเชื้อปะทุ

เหตุการณ์ครั้งที่ 6 เดือนมกราคม พ.ศ. 2532 คนร้ายลอบสังหารนายซาเลห์ อัล-มาลิกิ เลขานุการตรีสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงเทพฯ เหตุเกิดที่หน้าบริษัทแห่งหนึ่งย่านถนนสาทรใต้ ต่อมาขบวนการก่อการร้ายกลุ่มเดอะ โซลเยอร์ ออฟ จัสติส (THE SOLDIERS OF JUSTICE : TRUTH) กับกลุ่มอิสลามิกญิฮาด (ISLAMIC JIHAD) อ้างความรับผิดชอบ เหตุการณ์ครั้งที่ 7 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2532 นักศึกษาพม่า 2 คน จี้เครื่องบินของสายการบินพม่าจากเมืองมะริดมาลงที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เข้าเจรจาต่อรอง สุดท้ายคนร้ายได้ยอมมอบตัว เหตุการณ์ครั้งที่ 8 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 นักศึกษาพม่า 2 คน จี้เครื่องบินของสายการบินไทย ซึ่งมีกำหนดเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองย่างกุ้ง จากสนามบินดอนเมืองไปลงที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และเรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ สุดท้ายผู้ก่อการร้ายยอมมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่อินเดีย เหตุการณ์ครั้งที่ 9 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 คนร้ายชาวอิหร่าน ขับรถบรรทุกหกล้อ บรรทุกแท็งก์น้ำ ซึ่งภายในบรรจุระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่ ประกอบด้วยระเบิดซีโฟร์ 2 ลูก และแอมโมเนียมไนเตรท พร้อมเชื้อปะทุอีกจำนวนมาก หวังบุกพุ่งชนสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย หรือสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โชคดีเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์รับจ้างเสียก่อน คนขับกับเพื่อนต้องลงมาเจรจา มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ระดมพรรคพวกมากดดันเรียกร้องค่าเสียหาย คนขับรถบรรทุกขอจ่ายเป็นเงินดอลลาร์อเมริกัน มอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่รับ คนขับกับเพื่อนขอตัวไปแลกเงินไทย แต่แล้วก็เดินหายไปไม่กลับมาอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีสถานที่เกิดเหตุต้องขับรถบรรทุกไปจอดไว้ที่ สน.ลุมพินีไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุมากนัก 

ต่อมาอีกหลายวันมีผู้ประกอบการรถเช่ามาสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีเกี่ยวกับรถบรรทุกหกล้อที่หายไป ก็พบรถคันนั้นพอดี แต่สงสัยว่าแท็งก์น้ำที่บรรทุกอยู่มาจากไหน เจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นไปเปิดแท็งก์น้ำ ปรากฏว่าช็อกเมื่อพบศพคนขับคนไทยที่ขับรถคันนี้อยู่ประจำ และพบส่วนประกอบระเบิดปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรตผสมกับน้ำมันโซลาร์หนักกว่า 1 ตัน มีระเบิดซีโฟร์ขนาด 2 ปอนด์เป็นตัวจุดระเบิด มีสวิตช์กดระเบิดอยู่ในรถ การสอบสวนพบว่าชาวตะวันออกกลางไปเช่ารถคันนี้มาเมื่อหลายวันก่อน เจ้าของขอให้เอาคนขับคนไทยไปด้วย รถคันนี้ไปจอดค้างคืนอยู่ในที่จอดรถห้างเซ็นทรัลชิดลมอยู่คืนหนึ่งก่อนจะขับออกมาเจออุบัติเหตุกิ๊กก๊อกตอนเช้า คาดว่าเป้าหมายของคาร์บอมบ์ครั้งนั้นอยู่ที่สถานทูตอิสราเอลที่ขณะนั้นอยู่ห่างห้างเซ็นทรัลชิดลมไปแยกเดียวเท่านั้น ต่อมาในปี 2538 มีการจับผู้ต้องสงสัยเป็นชาวอิหร่าน 3 คน ปล่อยตัวไป 2 คนในชั้นสอบสวน คงเหลือฟ้องร้องดำเนินคดี 1 คน 

เฮลิคอปเตอร์พร้อมตัวประกันสำคัญคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศ (ขณะนั้น)
ไปส่งนักศึกษาพม่าหัวรุนแรง 5 คน ที่บ้านแม่เพี้ยเล็ก

เหตุการณ์ครั้งที่ 10 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 นักศึกษาพม่าหัวรุนแรง 5 คน บุกยึดสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย จับตัวประกันไว้ 30 คน เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง พร้อมทั้งให้เปิดการเจรจาคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนประชาชน และให้รัฐบาลทหารร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนตั้งรัฐบาลผสม ทางการไทยได้เข้าเจรจา โดยจัดเฮลิคอปเตอร์พร้อมตัวประกันสำคัญคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศ (ขณะนั้น) ไปส่งที่บ้านแม่เพี้ยเล็ก เขตอิทธิพลของกะเหรี่ยง KNU

เหตุการณ์ครั้งที่ 11 เดือนมกราคม พ.ศ. 2543 กองกำลังทหารกะเหรี่ยงกลุ่ม "God’s Army" 10 คน บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี จับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยไว้เป็นตัวประกัน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการปราบปรามชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ทางการไทยได้สนธิกำลังหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสากลเข้าช่วยเหลือตัวประกัน และยึดพื้นที่คืน ปรากฏว่าทหารก็อดอาร์มีเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่เจ้าหน้าที่ไทยบาดเจ็บ 8 นาย

เหตุการณ์ครั้งที่ 12 เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558 เป็นเหตุระเบิดที่เกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 18.55 น. ตามเวลาในประเทศไทย ที่ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และในวันต่อมาได้เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดลงมาจากสะพานตากสิน บริเวณท่าเรือสาทร ทำให้เรือที่จอด

อยู่บริเวณใกล้เคียงถูกสะเก็ดระเบิดเล็กน้อย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ก่อนหน้านี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เกิดระเบิดสองครั้งบริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยามเหนือแยกราชประสงค์ โดยคนร้ายนำระเบิดไปวางไว้บริเวณประตูของจุดบริการด่วนมหานครสำนักงานเขตปทุมวันซึ่งให้บริการด้านทะเบียนราษฎร์ มีผู้บาดเจ็บสามคน โดยเชื่อว่าสาเหตุมาจากการเมือง และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 เกิดเหตุการณ์คาร์บอมที่ชั้นใต้ดินของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล สมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้บาดเจ็บ 10 คน โดยผู้ก่อเหตุที่ถูกออกหมายจับทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกันทั้ง 2 คดี โดยมีผู้ต้องหา 17 คน มีคนไทยร่วมขบวนการ 2 คน คือ วรรณา สวนสันต์ กับ ยงยุทธ พบแก้ว (อ๊อด พยุงวงศ์) และจนถึงตอนนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 2 ราย คือบีลาเติร์ก มูฮัมหมัด และไมไรลี ยูซูฟู (ชาวอุยกูร์) ต่อมา นางวรรณา สวนสันต์ ถูกจับ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เหตุการณ์ร้ายที่กล่าวมา ยังไม่นับรวมการจับกุม "ริดวน อิซามุดดิน" หรือ "ฮัมบาลี" แกนนำกลุ่มก่อการร้ายเจไอ และเป็นตัวการประสานงานคนสำคัญระหว่างกลุ่มเจไอ กับ อัล-ไกดา ซึ่งถูกทางการไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่ซีไอเอสหรัฐควบคุมตัวได้ขณะกบดานอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อปลายปี พ.ศ. 2546 ซึ่งฮัมบาลี ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญที่บงการให้มีการวางระเบิดสถานบันเทิงในเกาะบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 ทางการไทยยังจับกุมนายวิคเตอร์ บูท ชาวรัสเซีย ซึ่งถูกกล่าวหาจากทางการสหรัฐว่า เป็นพ่อค้าอาวุธรายสำคัญ ถูกจับกุมตัวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551 ตามหมายจับของตำรวจสากล ด้วยข้อหาขนส่งอาวุธสงครามให้กับขบวนการค้ายาเสพติดในโคลอมเบีย  ต่อมาศาลอุทธรณ์ไทยมีคำสั่งให้ส่งตัว วิกเตอร์ บูท ไปดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2553 และถูกตัดสินโดยศาลแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก จำคุกเป็นเวลาอย่างน้อย 25 ปี เหตุระเบิดบ้านเช่าของชาวอิหร่านสามคนในกรุงเทพมหานครเมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 หน้าโรงเรียนเกษมพิทยา ตั้งอยู่ระหว่างซอยปรีดีพนมยงค์ 33-35 ถนนปรีดีพนมยงค์ (ถ.สุขุมวิท 71) แขวงคลองตัน เขตวัฒนา กทม. มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย รวมทั้งมือระเบิดที่ได้รับบาดเจ็บจนขาขาด  ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ศาลอาญาตัดสินลงโทษจำเลยชาวอิหร่านในความผิดฐานคดีร่วมกันทำความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดระเบิด ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ พยายามฆ่าผู้อื่น ทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ.2490 ดังกล่าว โดยนายซาอิด โมราดิ จำเลยที่ 1 อายุ 29 ปี ที่อยู่ในสภาพพิการตาขวาบอด ขาซ้ายขาดจากระเบิดของตัวเอง ถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต  และนายมูฮัมหมัด ฮาซาอิ จำเลยที่ 2 อายุ 43 ปี ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 15 ปี

แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้หน่วยงานด้านความมั่นคงจะมีการชี้แจงว่า กลุ่มขบวนการก่อการร้ายไม่ได้มีเป้าหมายที่จะโจมตีประเทศไทยโดยตรง เพียงแต่มีการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน หรือใช้เป็นสถานที่กบดานซ่อนตัวเพื่อก่อนเดินทางไปลงมือปฏิบัติการในประเทศอื่นๆ แต่ทุกเหตุการณ์ไม่ได้ที่เกิดขึ้นชัดเจนว่าประเทศไทยของเราไม่ได้ปลอดภัยจากเหตุการณ์ก่อการร้ายเลย แม้ว่า ประเทศไทยจะไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของการก่อการร้ายสากล แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการก่อการร้ายในประเทศได้ ด้วยการก่อการร้ายในปัจจุบันเป็นในรูปแบบที่ไร้ขอบเขตในการปฏิบัติ มีการกระจายเป็นกลุ่มเล็กๆ และมีอำนาจตัดสินใจปฏิบัติการโดยอิสระมากขึ้น โดยที่ไทยเป็นประเทศเปิดเสรี ทำให้ผู้ก่อการร้ายสากลเคยและสามารถใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางผ่าน แหล่งพักพิงชั่วคราว และแหล่งจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนในการปฏิบัติการ เช่น เอกสารปลอม อาวุธ การอำพรางรูปพรรณและสถานะของบุคคล การรวบรวมข่าวสารและเงินทุน รวมถึงความพยายามในการจัดตั้งเครือข่ายปฏิบัติการ เนื่องจากไทยมีปัจจัยเกื้อกูลหลายประการ เช่น เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การบังคับใช้กฎหมาย และการรักษาความปลอดภัยที่หย่อนยาน ขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

ความเป็นเอกราชของบ้านเมืองเราแลกมาด้วยความชาญฉลาดและเสียสละของบูรพมหากษัตริย์และบรรพชนไทย เราอยู่รอดมาได้ด้วยเราไม่ดันทุรังทำในสิ่งที่เราไม่เห็นโอกาสว่าจะสำเร็จ สิ่งเหล่านี้รักษาไว้ซึ่งความเป็นชาติเอกราชเพียงชาติเดียวที่รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในอดีต และจะหลุดพ้นจากบ่วงทุนนิยมของโลกเสรีอันเป็นเครื่องมือล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจตามลัทธิการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ได้จนตลอด เรื่องที่พึงระวังในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยคือ การตกบ่วงในการเลือกข้างฝักใฝ่เป็นพวกกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลไทยในอดีตเคยกระทำผิดพลาดมาแล้วหลายครั้งหลายหน สำหรับบทบาทท่าทีที่เหมาะสมที่สุดของประเทศไทยคือ การรักษาความเป็นกลางโดยเคร่งครัด การยึดมั่นในข้อตกลงตามสนธิสัญญาต่างๆ ที่ได้ทำไว้กับนานาประเทศ การประณามการใช้ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนการกระทำอันเป็นการก่อให้เกิดการดูหมิ่นและเกลียดชังบนพื้นฐานความเชื่อถือศรัทธาด้านต่างๆ ในความต่างทางเชื้อชาติศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี ด้วยอัธยาศัยไมตรีตลอดจนจารีตประเพณีที่ดีงามของสังคมไทย เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยตลอดจนความมั่นคงของชาติไทยเอาไว้ได้จนทุกวันนี้

ส่องนโยบายเศรษฐกิจ 10 ปธน.สหรัฐฯ ‘ใครปัง – ใครแป้ก’ ก่อนถึงวันเลือกตั้งครั้งใหม่

ย้อนอดีต 10 ประธานาธิบดีสหรัฐ มีนโยบายอะไร และนโยบายพวกนั้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่กันบ้าง

นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะถึงเหตุการณ์สำคัญของสหรัฐอเมริกาและโลกของเราอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐกันแล้วค่ะ ซึ่งการเลือกตั้งนี้จะส่งผลเป็นวงกว้างทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมค่ะ โดยทั้ง 2 ตัวแทนของทั้ง 2 พรรคก็มีการนำเสนอนโยบายที่ต่างกันสุดขั้ว ดังนั้นแล้วไม่ว่าใครที่จะได้ตำแหน่งไป นโยบายของพรรคนั้นก็จะส่งผลกระทบกับทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยเราเองด้วยค่ะ

วันนี้เลยพาย้อนไปดูนโยบายที่ผ่านมาของทั้ง 10 ประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมา ว่ามีนโยบายอะไรที่ถูกนำมาใช้และส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้างค่ะ 

ปี 2021-ปัจจุบัน : โจ ไบเดน (Joe Biden) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบาย 'Build Back Better' ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาด, และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจ

• การเติบโตของ GDP: ในปี 2021 GDP สหรัฐฯ เติบโตประมาณ 5.7% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1984 อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19

ปี 2017-2021 : โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบายภาษีที่ลดอัตราภาษีรายได้ (Tax Cuts and Jobs Act), การปฏิรูปนโยบายการค้า เช่น การปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (USMCA), และนโยบาย 'America First' ที่เน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
• การเติบโตของ GDP: ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 GDP เติบโตประมาณ 2.3% ในปี 2019 แต่หดตัวถึง -3.4% ในปี 2020 เนื่องจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาด

ปี 2009-2017 : บารัก โอบามา (Barack Obama) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกฎหมาย American Recovery and Reinvestment Act มูลค่า 787 พันล้านดอลลาร์, การปฏิรูประบบสุขภาพ (Affordable Care Act), และการควบคุมทางการเงินภายใต้กฎหมาย Dodd-Frank Act
• การเติบโตของ GDP: หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 GDP ฟื้นตัวและมีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 2% ต่อปีในช่วงการดำรงตำแหน่ง

ปี 2001-2009  : จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) 
• นโยบายสำคัญ: การลดภาษีครั้งใหญ่ในปี 2001 และ 2003, นโยบายความมั่นคงหลังเหตุการณ์ 9/11 รวมถึงสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน, และการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008
• การเติบโตของ GDP: มีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 2.1% ต่อปี แต่ช่วงปลายการดำรงตำแหน่ง GDP หดตัวถึง -0.1% ในปี 2008 อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ

ปี 1993-2001 : บิล คลินตัน (Bill Clinton) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบายการคลังที่มุ่งเน้นการลดหนี้สาธารณะ, การปฏิรูปสวัสดิการ (Welfare Reform Act), และการขยายการค้าเสรีผ่าน NAFTA
• การเติบโตของ GDP: GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.8% ต่อปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ปี 1989-1993 : จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช (George H.W. Bush) 
• นโยบายสำคัญ: การตอบสนองต่อสงครามอ่าวเปอร์เซีย, นโยบายภาษีเพิ่มขึ้นในปี 1990 เพื่อควบคุมการขาดดุลการคลัง, และการลงนามใน NAFTA แม้ว่าเนื้อหาจะสำเร็จในยุคคลินตัน
• การเติบโตของ GDP: GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 2.1% ต่อปี แต่ประสบภาวะถดถอยในปี 1990-1991

ปี 1981-1989 : โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) 
• นโยบายสำคัญ: การลดภาษี (Economic Recovery Tax Act of 1981), การลดการควบคุมทางธุรกิจ, และนโยบายการป้องกันประเทศที่เพิ่มงบประมาณให้กับกองทัพ
• การเติบโตของ GDP: GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.5% ต่อปี โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980

ปี 1977-1981 : จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบายพลังงานเพื่อควบคุมปัญหาน้ำมัน, การปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชน และการควบคุมเงินเฟ้อผ่านนโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงท้ายของการบริหาร
• การเติบโตของ GDP: GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.3% ต่อปี แต่ประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูงและวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1979

ปี 1974-1977 : เจอรัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบาย WIN (Whip Inflation Now) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ, การยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมัน, และการลดการใช้จ่ายภาครัฐ
• การเติบโตของ GDP: ในช่วงการบริหาร GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 2.6% ต่อปี แต่ช่วงแรกต้องเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 1974-1975

ปี 1969-1974 : ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) 
• นโยบายสำคัญ: การเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน, การยุติสงครามเวียดนาม, และการใช้นโยบายการควบคุมราคาเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
• การเติบโตของ GDP: GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.1% ต่อปี แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงในช่วงปลายการบริหาร

เปิด!! สนธิสัญญาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ข้อตกลงความร่วมมือของ ‘รัสเซีย - เกาหลีเหนือ’

(20 ต.ค. 67) ข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย

เป็นข่าวสะเทือนวงการการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ยื่นข้อตกลงทางทหารฉบับใหม่กับเกาหลีเหนือเพื่อขอการรับรองต่อรัฐสภารัสเซียโดยผลักดันให้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการต่อข้อตกลงป้องกันร่วมกันที่เขาได้จัดทำกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน เมื่อเดือนมิถุนายน 2024 เมื่อครั้งไปเยือนเกาหลีเหนือปูติน ซึ่งถือเป็นการเยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนเอกสารการให้สัตยาบัน

แม้ว่าข้อตกลงนี้จะเรียกว่า ‘สนธิสัญญาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม’ ( ‘Treaty on Comprehensive Strategic Partnership’) แต่เงื่อนไขของสนธิสัญญานี้ที่ให้ความช่วยเหลือทางทหารซึ่งกันและกันระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือนั้นโดยพื้นฐานแล้วถือเป็นสนธิสัญญาพันธมิตรทางการทหารและการเมือง โดยข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและสถานการณ์โลกในปัจจุบันโดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ข้อตกลงยืนยันว่าทั้งสองประเทศมี ‘ความปรารถนาที่จะปกป้องความยุติธรรมระหว่างประเทศจากความทะเยอทะยานที่จะมีอำนาจเหนือผู้อื่นและความพยายามที่จะกำหนดระเบียบโลกขั้วเดียว’ และ ‘เพื่อสร้างระบบระหว่างประเทศหลายขั้วบนพื้นฐานของความร่วมมือโดยสุจริตของรัฐ การเคารพซึ่งกันและกันในผลประโยชน์ การแก้ไขปัญหาในระดับนานาชาติร่วมกัน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอารยธรรม อำนาจสูงสุดของกฎหมายระหว่างประเทศในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความพยายามร่วมกันเพื่อต่อต้านความท้าทายใดๆ ที่คุกคามการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ’

แม้ว่าสนธิสัญญามีเนื้อหาไม่มากเพียงแค่ 23 มาตราเท่านั้นแต่มีข้อกำหนดที่น่าสนใจประการหนึ่ง โดยระบุว่า ในกรณีที่มีภัยคุกคามจากการโจมตีโดยอำนาจที่สาม ผู้ลงนาม ‘จะตกลงกันเกี่ยวกับมาตรการความร่วมมือตามคำขอของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และรับรองความร่วมมือในการกำจัดภัยคุกคามนั้น’ ส่วนอื่นระบุว่า ‘หากฝ่ายหนึ่งพบว่าตนเองอยู่ในภาวะสงครามอันเนื่องมาจากการโจมตีด้วยอาวุธโดยประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ฝ่ายนั้นทันทีด้วยวิธีการทั้งหมดที่มี’

ซึ่งระบุเอาไว้ในมาตรา 4 ของข้อตกลงระบุว่า หากรัสเซียหรือเกาหลีเหนือถูกโจมตีและเข้าสู่ภาวะสงคราม อีกฝ่ายจะให้ความช่วยเหลือทางทหารและความช่วยเหลืออื่น ๆ โดยใช้ทุกวิถีทางที่มีอยู่ ตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ สนธิสัญญายังกำหนดให้ทั้งสองประเทศ “สร้างกลไกสำหรับกิจกรรมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันประเทศเพื่อประโยชน์ในการป้องกันสงครามและรับรองสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคและระหว่างประเทศ” และโต้ตอบกันเพื่อ “ร่วมกันเผชิญหน้ากับความท้าทายและภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดูแลสุขภาพและห่วงโซ่อุปทาน” รวมถึงการก่อการร้าย อาชญากรรมที่เป็นองค์กร การค้ามนุษย์ และการอพยพที่ผิดกฎหมาย

ในด้านเศรษฐกิจ ข้อตกลงหุ้นส่วนเรียกร้องให้มีการ ‘ขยายและพัฒนาความร่วมมือในด้านการค้า เศรษฐกิจ การลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคนิค” ตั้งแต่ความพยายามในการเร่งความร่วมมือด้านการค้าและเทคโนโลยี และการส่งเสริม “การวิจัยร่วมกันในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสาขาต่างๆ เช่น อวกาศ ชีววิทยา พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่นๆ’

ข้อตกลงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือจัดทำขึ้นเป็นพิเศษและสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือ เพราะสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่อยู่นอกอดีตสหภาพโซเวียตที่รัสเซียได้ร่างข้อตกลงดังกล่าวด้วย (จนถึงขณะนี้มีเพียงเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐสหภาพของรัสเซียและสมาชิกองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO) เท่านั้นที่ได้รับการรับประกันความมั่นคงในลักษณะเดียวกัน) 

ในสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน ข้อตกลงดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญมากระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีภาระผูกพันซึ่งกันและกัน โดยรัสเซียจะมีภาระผูกพันในการปกป้องพันธมิตรใหม่ของตนอย่างเกาหลีเหนือ หากมีการรุกรานเกิดขึ้น และในทางกลับกันเกาหลีเหนือจะมีภาระผูกพันที่จะให้การสนับสนุนเราทุกรูปแบบ รวมถึงการสนับสนุนทางทหาร หากมีการรุกรานรัสเซีย

ข้อตกลงดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศและช่วยลดความเสี่ยงของสงครามบนคาบสมุทรเกาหลี 

ซึ่งปัจจุบันเราเห็นได้จากการใช้ถ้อยคำและการกระทำที่ยั่วยุมากขึ้นของโซล ประกอบกับความพยายามที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการป้องกันของเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ้อมรบร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ซี่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ได้

รัสเซียซึ่งเคยเป็นและยังคงเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางการทหารชั้นนำของโลกและเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ นั่นหมายความว่า หากเกาหลีเหนือถูกโจมตีจากเกาหลีใต้ รัสเซียจะถูกร้องขอให้ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญานี้และเข้ามาช่วยเหลือเกาหลีเหนือต่อต้านเกาหลีใต้ (เพราะสถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้) โซลและพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ จะต้องไม่เพียงแค่จัดการกับเกาหลีเหนือเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเกาหลีเหนือและรัสเซียด้วย 

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สงครามระหว่างเปียงยางและโซลมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเนื่องมาจากการยั่วยุของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้มาอย่างยาวนาน ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือจึงถือเป็น "ก้าวหนึ่งสู่การรักษาเสถียรภาพและการรักษาสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ" เนื่องจากสร้างสมดุลทางทหารซึ่งจะช่วยแก้ไข "ความไม่สมดุลของกองกำลังทหาร" ที่เพิ่มมากขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้และพันธมิตร 

ในสายตาของเกาหลีเหนือสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) กำลังกลายเป็นมหาอำนาจทางทหารที่แข็งแกร่ง สามารถผลิตอาวุธสมัยใหม่ทุกประเภท ตั้งแต่อาวุธขนาดเล็กไปจนถึงเรือดำน้ำและเครื่องบินขับไล่ ปล่อยดาวเทียมตรวจการณ์ของตนเอง แต่สิ่งเดียวที่เกาหลีใต้ไม่มีคืออาวุธนิวเคลียร์ แต่การได้มาซึ่งอาวุธดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องของการตัดสินใจทางการเมืองและอาจใช้เวลาไม่มากนัก ศักยภาพทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือเพียงลำพังไม่อาจแข่งขันกับเพื่อนบ้านที่ติดอาวุธครบครันและเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงพลังที่สุดในโลก ร่วมกับญี่ปุ่นได้ ซึ่งหากเกาหลีเหนือยืนหยัดต่อสู้กับภัยคุกคามเหล่านี้เพียงลำพัง ก็มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการรุกรานของเกาหลีใต้และพันธมิตร

ในขณะเดียวกันในฝั่งของรัสเซียข้อตกลงดังกล่าวสามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่เกาหลีเหนือในการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และทหารเพื่อทำสงครามกับยูเครนอย่างเปิดเผยและต้องคิดถึงการสนับสนุนจากพันธมิตรของรัสเซีย ซึ่งจะเป็นการสร้างความกังวลใจให้กับยูเครนและพันธมิตรนาโต้ในความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน 

ดังนั้นข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียจึงเป็นข้อตกลงที่เราควรให้ความสำคัญ และจับตามองว่าจะช่วยป้องปรามและลดความขัดแย้งในพื้นที่สำคัญของโลกได้หรือไม่

รู้จัก ‘MI6’ ต้นสังกัด ‘James Bond 007’ หน่วยข่าวกรองอังกฤษ กับภารกิจ ‘ต่อต้านก่อการร้าย’

Secret Intelligence Service หรือ SIS (Military Intelligence, Section 6: MI6) หน่วยข่าวกรองต่างประเทศแห่งรัฐบาลสหราชอาณาจักร

Sir Ian Fleming ผู้แต่ง James Bond 007

แฟน ๆ ของ James Bond 007 คงสงสัยว่า 007 ยอดสายลับของรัฐบาลสหราชอาณาจักร สังกัดหน่วยงานไหนกันแน่ ด้วยตัวผู้แต่ง Sir Ian Fleming เคยรับราชการในหน่วยข่าวกรองทางเรือของกองทัพเรืออังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีประสบการณ์เกี่ยวกับปฏิบัติการด้านการข่าวมากมาย เมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไม่นาน โลกก็เข้าสู่ยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) กับฝ่ายประชาธิปไตย (สหรัฐอเมริกา) และมีการส่งสายลับไปทั่วโลก Sir Fleming ได้แนวคิดจะเขียนเรื่องราวเป็นนวนิยายเกี่ยวกับสายลับอังกฤษ โดยกำหนดให้สายลับผู้นั้นที่มีใบอนุญาตสังหารคนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และใช้รหัสการทำงาน 007 ชื่อว่า James Bond โดยนำชื่อมาจากนักปักษีวิทยาผู้หนึ่งที่เขาชื่นชอบ และต้นสังกัดของ James Bond ก็คือ Secret Intelligence Service (SIS หรือ MI6) หน่วยข่าวกรองต่างประเทศแห่งรัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งขอเรียกหน่วยงานนี้ว่า MI6 ด้วยชื่อนี้เป็นที่รู้จักมากกว่า SIS 

Thames House สำนักงานใหญ่ของ MI5 (Military Intelligence, Section 5)

รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบงานการข่าวหลายหน่วยคือ Security Service หรือที่เรียกว่า MI5 (Military Intelligence, Section 5) เป็นหน่วยงานด้านการต่อต้านข่าวกรองและความมั่นคงภายในประเทศ และเช่นเดียวกับ Government Communications Headquarters ( GCHQ) หน่วยข่าวกรองและความมั่นคงที่รับผิดชอบในการจัดหารวบรวมข่าวกรอง (SIGINT) ให้แก่รัฐบาลและกองทัพของสหราชอาณาจักร, Defense Intelligence (DI) ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรองทางทหาร แตกต่างจากหน่วยข่าวกรองอื่น ๆ ของสหราชอาณาจักร (MI6, GCHQ และ MI5) ด้วยเป็นหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม (MoD) แทนที่จะเป็นองค์กรแบบแยกเดี่ยว มีการผสมผสานระหว่างเจ้าหน้าที่พลเรือนและเจ้าหน้าที่ทหาร และได้รับงบประมาณจากงบประมาณด้านกลาโหมของสหราชอาณาจักร และ Secret Intelligence Service (SIS หรือ MI6)

ทำไม 007 จึงสังกัด MI6 ทั้ง ๆ ที่ชุมชนการข่าวของอังกฤษมีตั้งหลายหน่วย ซ้ำในอดีตหน่วยงานการข่าวของแต่ละเหล่าทัพแยกกัน ไม่ได้รวมกันเป็น DI เช่นทุกวันนี้ ด้วยเพราะ MI6 ได้รับมอบภารกิจในการรวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรอง (จากแหล่งข่าวที่เป็นบุคคลต่าง ๆ ) ในต่างประเทศ (HUMINT) เป็นหลักในการสนับสนุนความมั่นคงแห่งชาติของสหราชอาณาจักร MI6 เป็นหน่วยงานสมาชิกของชุมชนข่าวกรองของอังกฤษ และหัวหน้าหน่วยงานขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักร

MI6 ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1909 โดยเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานราชการลับ (Secret Service Bureau) และส่วนงานต่างประเทศส่วนนี้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และใช้ชื่อปัจจุบันอย่างเป็นทางการประมาณปี ค.ศ.1920 ในชื่อ 'MI6' (หมายถึงหน่วยสืบราชการลับทางทหาร แผนกที่ 6) การมีอยู่ของ MI6 ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจนถึงปี ค.ศ.1994 ในปีนั้นได้มีการนำพระราชบัญญัติบริการข่าวกรองปี ค.ศ.1994 (Intelligence Services Act : ISA) เข้าสู่รัฐสภาเพื่อจัดวางองค์กรให้มีรากฐานตามกฎหมายเป็นครั้งแรก เป็นพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการดำเนินงาน ปัจจุบัน MI6 อยู่ในการกำกับดูแลของคณะตุลาการซึ่งมีอำนาจสืบสวน (Investigatory Powers Tribunal) กับคณะกรรมาธิการข่าวกรองและความมั่นคงแห่งรัฐสภา (Parliamentary Intelligence and Security Committee)

บทบาทที่สำคัญกว่าบทบาทอื่นของ MI6 ตามที่มีระบุไว้ คือ การต่อต้านการก่อการร้าย การต่อต้านการแพร่กระจายของอาวุธร้ายแรง การให้ข่าวกรองเพื่อสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการสนับสนุนเสถียรภาพในต่างประเทศ เพื่อทำลายการก่อการร้ายและอาชญากรรมอื่น ๆ แต่ MI6 ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงานหลักอื่น ๆ คือ Security Service (MI5) และ Government Communications Headquarters (GCHQ) MI6 ทำงานเฉพาะในหน่วยข่าวกรองต่างประเทศ ตามที่พรบ. ISA อนุญาตให้ปฏิบัติการ (เฉพาะกับบุคคลภายนอกเกาะอังกฤษเท่านั้น) การกระทำบางอย่างของ MI6 นับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นประเด็นโต้แย้งสำคัญหลาย ๆ เรื่องเช่น การสมรู้ร่วมคิดและถูกกล่าวหาว่า ทำการทรมาน และลักพาตัวบุคคล

เครื่องเข้าและถอดรหัส Enigma

ผลงานของ MI6 สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประสิทธิภาพของ MI6 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นมีลักษณะผสมผสานกันไป เนื่องจากไม่สามารถสร้างเครือข่ายในเยอรมนีได้ ข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่มาจากข่าวกรองทางการทหารและการค้าที่รวบรวมผ่านเครือข่ายในประเทศที่เป็นกลาง ตลอดจนดินแดนที่ถูกยึดครอง และรัสเซีย ช่วงรอยต่อระหว่างสองสงครามโลก ในช่วงหลังสงคราม และตลอดช่วงทศวรรษที่ 1920 MI6 มุ่งเน้นไปที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิบอลเชวิสของรัสเซีย เช่น ปฏิบัติการเพื่อโค่นล้มรัฐบาลบอลเชวิคในปี ค.ศ.1918 รวมถึงความพยายามในการจารกรรมแบบดั้งเดิมมากขึ้นในช่วงต้นของสหภาพโซเวียต และ MI6 ได้รับการแนะนำจากพันธมิตรชาวโปแลนด์ในด้านเทคนิคและอุปกรณ์เพื่อถอดรหัสด้วยเครื่องเข้าและถอดรหัส Enigma รวมทั้งแผ่น Zygalski และการเข้ารหัส 'Bomba' ของเยอรมัน อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับความต่อเนื่องและความพยายามของอังกฤษในภายหลังในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นักเข้ารหัสชาวอังกฤษสามารถถอดรหัสข้อความจำนวนมากที่เข้ารหัสในเครื่อง Enigma ซึ่ง MI6 รวบรวมได้จากแหล่งข่าวที่มีชื่อรหัสว่า 'Ultra' ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการทำสงครามของฝ่ายพันธมิตร 

อุโมงค์สายลับ Berlin ถือเป็นปฏิบัติการข่าวกรองที่น่าทึ่งที่สุดแห่งหนึ่งของช่วงต้นยุคสงครามเย็น ตั้งแต่ปี 1953 ถึง 1955 CIA ของอเมริกาและ SIS (MI6) ของอังกฤษร่วมมือกันในการวางแผนและสร้างอุโมงค์ลับโดยมีจุดประสงค์เพื่อเข้าถึงการสื่อสารทางทหารของสหภาพโซเวียต

สงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากการถอดรหัสจากรหัสเครื่อง Enigma สำเร็จแล้ว MI6 ยังสามารถปฏิบัติงานระบบ 'Double-cross' ซึ่งเริ่มดำเนินการโดย MI5 เพื่อป้อนข้อมูลข่าวกรองที่ทำให้ฝ่ายเยอรมันเข้าใจผิดอีกด้วย (เช่น กรณีปลอมศพนายทหารนาวิกโยธินอังกฤษพร้อมเอกสารลวง)  ในช่วงต้นปี ค.ศ.1944 MI6 ได้จัดตั้ง ส่วน IX ขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นส่วนต่อต้านโซเวียตตั้งแต่ก่อนสงคราม และข่าวรั่วไปยัง NKVD เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับของอังกฤษทั้งหมดที่ปฏิบัติการในโซเวียตรวมถึงข่าวสารข้อมูลที่ OSS ของสหรัฐอเมริกาแบ่งปันกับอังกฤษเกี่ยวกับโซเวียตด้วย ในยุคสงครามเย็น MI6 พลาดท่าเสียทีบ่อย ๆ ด้วยเรื่องของสายลับสองหน้า และการแปรพักตร์ ทำให้ข้อมูลสำคัญตกไปอยู่ในมือสหภาพโซเวียต และ MI6 มีส่วนในการโค่นนายกรัฐมนตรี Mohammad Mosaddegh ของอิหร่าน ในปี ค.ศ.1953 ส่งผลโดยตรงกับการปฏิวัติอิสลาม และการล่มสลายของรัฐบาล Pahlavi ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของอเมริกากับ Shah และความเป็นปรปักษ์ของสหรัฐอเมริกาต่อสาธารณรัฐอิสลาม และการแทรกแซงที่แสวงหาผลประโยชน์ของอังกฤษ ทำให้ชาวอิหร่านมองตะวันตกในแง่ร้าย และกระตุ้นให้เกิดความคลั่งไคล้ชาตินิยมจากความไม่พอใจจากการแทรกแซงจากต่างชาติ 

MI6 มีความเกี่ยวข้องกับสงครามโซเวียต – อัฟกานิสถานอย่างมาก จนกลายเป็นการปฏิบัติการลับที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดย MI6 สนับสนุนกลุ่มต่อต้านอิสลามซึ่งนำโดย Ahmad Shah Massoud และกลายเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการต่อสู้กับสหภาพโซเวียต โดยเจ้าหน้าที่ MI6 สองนายและครูฝึกทหารถูกส่งไปช่วย Massoud และนักรบของเขา พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียง วิทยุ และข้อมูลลับที่สำคัญเกี่ยวกับแผนการรบของสหภาพโซเวียต MI6 ยังมีส่วนช่วยในการทำลายเฮลิคอปเตอร์ของโซเวียตในอัฟกานิสถานเป็นจำนวนมากด้วย  

หลังจากการโจมตี 11 กันยายน (911) ในวันที่ 28 กันยายนรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษได้อนุมัติการส่งเจ้าหน้าที่ MI6 ไปยังอัฟกานิสถานและภูมิภาคโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับมูจาฮาดีนในทศวรรษที่ 1980 และผู้ที่มีทักษะทางภาษาและความเชี่ยวชาญในระดับภูมิภาค เจ้าหน้าที่ MI6 จำนวนหนึ่งพร้อมด้วยงบประมาณ 7 ล้านดอลลาร์ได้เดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน ซึ่งพวกเขาได้พบกับนายพล Mohammed Fahim แห่งพันธมิตรภาคเหนือ และเริ่มทำงานกับผู้นำอื่น ๆ ในภาคเหนือและภาคใต้เพื่อสร้างพันธมิตรแห่งความมั่นคง สนับสนุนและติดสินบนผู้บัญชาการของกลุ่มตอลิบานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเปลี่ยนข้างหรือผละจากการสู้รบ นอกจากนั้นแล้ว MI6 ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ ในอาหรับนับแต่สงครามในอิรักอีกด้วย

ปัจจุบัน MI6 ตั้งอยู่ที่ SIS Building, 85 Albert Embankment, Vauxhall, Lambeth, London, สหราชอาณาจักร เรื่องราวของ James Bond 007 ล้วนแล้วแต่เป็นจินตนาการกอปรกับประสบการณ์ของผู้แต่ง Sir Ian Fleming ดังนั้น ‘James Bond 007’ และ ‘ใบอนุญาตฆ่าคนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย’ จึงไม่มีอยู่จริง แต่หน่วยงานที่มีอยู่จริงคือ ‘Secret Intelligence Service (SIS หรือ MI6)’ นั่นเอง

‘รามัญประเทศ’ จาก ‘สุธรรมวดี’ สู่ ‘หงสาวดี’ ร่องรอยอาณาจักรสำคัญสู่ชนกลุ่มน้อยแห่งสุวรรณภูมิ

'มอญ' เป็นชนชาติเก่าแก่ ที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่ากินเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล" โดยอาณาจักรเริ่มแรกของมอญ มีตำนานกล่าวว่าเริ่มต้นขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย แถบแคว้นมณีปุระ โดย 'พระเจ้าติสสะ' มีเมืองหลวงชื่อ 'ทูปินะ' 

ต่อมาในราวปี พ.ศ. 241 เกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้น พระโอรสของพระเจ้าติสสะ 2 พระองค์จึงรวบรวมไพร่พลอพยพลงเรือสำเภามาถึงยังบริเวณอ่าวเมาะตะมะซึ่งเป็นที่ราบ ล้อมรอบด้วยภูเขาเกลาสะ ชัยภูมิเหมาะสมแก่การสร้างเมืองและเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันข้าศึกได้ดี จึงลงหลักปักฐานสร้างเมืองใหม่จนรุ่งเรืองด้วยการค้าขาย และมีสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศอินเดียและลังกา ทั้งรับเอาอารยธรรมของอินเดียมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์และศาสนา 

ซึ่งความเจริญนั้นกระจายตัวอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ครอบคลุมเมืองสะเทิม หรือ สุธรรมวดี เมืองเมาะตะมะ และเมืองพะโค หรือหงสาวดี โดยเมืองทั้ง 3 นี้ มีความเจริญก่อตัวเป็นรูปธรรมไล่เลี่ยกับอาณาจักรทวาราวดี ทางฝั่งไทย แต่ทั้ง 3 เมือง ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีนและอินเดียเรียกว่า 'ดินแดนสุวรรณภูมิ' 

ก่อนที่ 'พระเจ้าสีหะราชา' บุตรบุญธรรมของพระราชโอรสในพระเจ้าติสสะ ได้สถาปนาอาณาจักรมอญขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีชื่อว่า 'อาณาจักรสุธรรมวดี' หรือ 'อาณาจักรสะเทิม' จากจารึกกัลยาณี กล่าวว่า มีเมืองหลวงอยู่ ณ ตีนเขาเกลาสะ ทางใต้ของเมืองสะเทิมมีพระเจดีย์ชเวซายัน บรรจุพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 ในกัลป์นี้ รวมถึงองค์ที่พระควัมปตินำมาจากลังกา ซึ่งอาณาจักรแห่งนี้มีความเจริญทั้งในด้านการค้าขาย ด้านการเกษตร ด้านการชลประทาน และด้านศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งทั้งคนมอญและคนพม่าเชื่อว่า พระโสณะ พระอุตตระ ได้นำพระพุทธศาสนามาประกาศที่สุวรรณภูมิ สุวรรณภูมิที่ว่าก็คือ 'สะเทิม' หรือ 'สุธรรมวดี' อันมีพื้นที่ครอบคลุมจากสะเทิมไปจรดอาณาจักรทวาราวดี 

'อาณาจักรสุธรรมวดี' หรือ 'อาณาจักรสะเทิม' ถือได้ว่าเป็น 'รามัญประเทศ' ยุคแรก มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องมาถึง 59 พระองค์ เริ่มจาก 'พระเจ้าสีหะราชา' มาจนล่มสลายในสมัยของ 'พระเจ้ามนูหะ' ราวปี พ.ศ.1600 สืบเนื่องมาจากการรุกราน 'พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1' ของเขมร ได้เข้ายึดครองลพบุรี ก่อให้เกิดการอพยพใหญ่ของมอญทวารวดีเข้าสู่หงสาวดีและสะเทิม จากนั้นพวกเขมรก็เลยคืบเข้ามา จนทำให้ 'พระเจ้ามนูหะ' ต้องไปขอความช่วยเหลือจาก 'พระเจ้าอโนรธา' แห่งอาณาจักรพุกามให้ยกทัพมาช่วยต้านทานกองทัพเขมร แต่ 'พระเจ้าอโนรธา' กลับฉวยโอกาสยึดครองอาณาจักรสะเทิม โดยปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า “พระองค์รับสั่งให้ยกทัพมายังกรุงสะเทิม นำพระไตรปิฎก นักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่างศิลป์ และจับตัวพระเจ้ามนูหะกษัตริย์แห่งกรุงสะเทิมพร้อมด้วยพระมเหสีกลับไปพุกาม เมื่อยึดได้แล้วก็ถือโอกาสขยายอำนาจเข้ามาจนถึงลพบุรี ทั้งนี้ภายหลังพม่ายอมคืนลพบุรีให้เขมร โดยมีข้อแม้ว่าเขมรต้องยอมรับอำนาจเหนือดินแดนที่พม่าตีได้” 

ยุคที่สองของ 'รามัญประเทศ' คือยุค 'ราชวงศ์เมาะตะมะ-หงสาวดี' หรือ 'ยุคอาณาจักรหงสาวดี' เมื่ออาณาจักรพุกามอ่อนแอลงจากการรุกรานของมองโกล พระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) ได้ทรงกอบกู้เอกราชมอญจากพุกามและสถาปนา 'อาณาจักรหงสาวดี' มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมาะตะมะ อีกทั้งยังมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง เพราะพระองค์มีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหง แห่งสุโขทัยซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมากในเวลานั้น 

ต่อมาในสมัย 'พญาอู่' ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี มาจนถึงยุคราชบุตรของพระองค์คือ 'พระเจ้าราชาธิราช' พงสาวดีในยุคของพระองค์ประสบภาวะสงครามเกือบตลอดรัชสมัย โดยเฉพาะกับ 'อาณาจักรอังวะ' ในสมัยของ 'พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง' แต่พระเจ้าราชาธิราชทรงใช้พระราโชบายยุยงให้อังวะกับรัฐต่าง ๆ แตกกัน จึงสามารถป้องกันอาณาจักรไว้ได้ โดยในสมัยของ 'พระเจ้าราชาธิราช' นั้น แม้จะมีสงครามเกือบตลอดเวลา แต่อาณาจักรหงสาวดีก็เป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอลจากแม่น้ำอิรวดี ไปจรดทางตะวันออกที่แม่น้ำสาละวิน 

อาณาจักรมอญยุคนี้มาเจริญสูงสุดในสมัยของ 'พระนางเชงสอบู' ต่อด้วยสมัย 'พระเจ้าธรรมเจดีย์' เนื่องจากในระยะนั้นพม่าตกอยู่ในภาวะสงครามภายใน ทำการสู้รบกันเอง มอญจึงมีโอกาสในการทะนุบำรุงประเทศอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือ กิจการในพุทธศาสนา ได้แก่ การบูรณะองค์พระเจดีย์ชเวดากอง การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 และเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ใหญ่โต มีเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่งในหลายลุ่มน้ำ เช่น เมาะตะมะ สะโตง พะโค พะสิม 

มอญในยุคหงสาวดีต้องสิ้นสุดลงในสมัยของ 'พระเจ้าสการะวุตพี' เพราะถูกพม่าแห่ง 'ราชวงศ์ตองอู' นำโดย 'พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้' และขุนศึกคู่พระทัยอย่าง 'บุเรงนอง' บุกประชิดถึง 3 ครั้ง จนขาดกำลังในการต้านทาน อีกทั้งพันธมิตรอย่าง 'สอพินยา' เจ้าเมืองเมาะตะมะ ที่เป็นพี่เขยของ 'พระเจ้าสการะวุตพี' ก็แข็งเมืองไม่นำกำลังมาช่วย (ก่อนที่ 'สอพินยา' จะโดนกองทัพตองอูสังหารในเวลาต่อมา)  หงสาวดีจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าใน พ.ศ. 2082 โดยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้รวมมอญกับพม่าเข้าเป็นชาติเดียวกัน ด้วยการรับอารยธรรมต่าง ๆ ของมอญมาใช้ในราชสำนักพม่า ให้ชาวมอญเข้ารับราชการในตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ ของกองทัพ รวมทั้งย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงหงสาวดี 

ยุคที่สาม 'ยุคอาณาจักรหงสาวดีใหม่' หลังจากสมัยของ 'พระเจ้าบุเรงนอง' แห่งราชวงศ์ตองอู ชาวมอญไม่สามารถทนการกดขี่ข่มเหงจากพม่าได้อีก จึงได้เกิดกบฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายราชวงศ์ตองอู ขณะที่พม่าต้องทำสงครามทั้งกับจีนฮ่อและไทย มอญได้ถือโอกาสรวบรวมกำลังพลก่อการโดยมีผู้นำคือ 'สมิงทอพุทธิเกษ' (หรือพุทธิกิตติ) กู้เอกราชคืนมาจากพม่าพร้อมประกาศอิสรภาพในปีพ.ศ. 2283 ก่อนจะยกทัพไปตีเมืองอังวะเพื่อทำลายล้างอาณาจักรพม่าที่อังวะซึ่งกำลังอ่อนแอให้สิ้นซากแต่ทำไม่สำเร็จแต่ก็ได้ยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของพม่าไว้ได้ทั้งหมด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2290 'พญาทะละ' ได้ยึดอำนาจสมิงทอพุทธิเกษ พร้อมทั้งได้ขยายอาณาเขตของหงสาวดีออกไปอย่างกว้างขวาง สามารถยึดพม่าตอนบนได้ใน พ.ศ. 2294 บุกเข้ายึดอังวะได้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2294 เชื้อพระวงศ์อังวะถูกจับไปพะโค ซึ่งดูเหมือนว่ามอญกำลังจะรวมพม่าเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมอญได้สำเร็จ แต่ความประมาทอย่างหนึ่งที่กลายเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของหงสาวดี อันเป็นปัจจัยทำให้พม่าสามารถพลิกฟื้นและตีกลับได้ก็คือการรีบยกทัพกลับพะโคหลังจากได้ชัยชนะ โดยทิ้งกองทัพไว้เพียงสามกองทัพเพื่อต้านการลุกฮือของพม่า 

จากความผิดพลาดที่กล่าวมา ทำให้หัวหน้าหมู่บ้านชเวโบ (หรือมุกโชโบ) ชื่อ 'อองไชยะ' กล้าที่จะนำสมัครพรรคพวกเข้าตีกองทหารมอญที่ 'พญาทะละ' ทิ้งไว้จนแตกยับเยิน และแม้พญาทะละจะส่งกองทัพมอญไปสู้อีกกี่ครั้งก็ถูกต้านทานและได้รับความเสียหายกลับมาทุกครั้ง อีกทั้งทัพพม่าก็ได้ขยายตัวขึ้นเป็นกองทัพขนาดใหญ่และเข้มแข็ง เข้ารุกคืบ ยึดพื้นที่ตอนเหนือคืนไว้ได้เป็นส่วนมาก จากนั้น 'อองไชยะ' จึงได้สถาปนาราชวงศ์พม่าขึ้นใหม่คือ 'ราชวงศ์โก้นบอง' (คองบอง) พร้อมกับสถาปนาตนเองเป็น 'พระเจ้าอลองพญา' เพื่อนำพม่าต่อสู้กับมอญ 

เมื่อตีเท่าไหร่ก็ไม่แตก ทางทัพมอญจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีป้องกันเขตแดน โดยพยายามยึดพื้นที่ทางใต้เพื่อแสดงความเป็น 'รามัญประเทศ' ไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งยังออกกฎต่าง ๆ เพื่อให้ไม่มีความเป็นพม่าอยู่ในพื้นที่ ทั้งประหารเจ้านายพม่าข้างอังวะ และเชื้อพระวงศ์ตองอูจนหมดสิ้น ทั้งยังบังคับให้พม่าทางใต้แต่งกายให้เป็นมอญทั้งหมด 

แต่เพียงแค่การป้องกันคงไม่เป็นผล เพราะในปี พ.ศ. 2295 พระเจ้าอลองพญา นอกจากจะยึดพม่าตอนบนไว้ได้ทั้งหมดแล้ว ยังรุกคืบมาลงมายังพม่าทางใต้เรื่อย ๆ จนถึง ปี พ.ศ. 2300 อาณาจักรมอญก็ได้ปิดฉากลง โดยมี 'พญาทะละ' เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญ เพราะมอญต้องพ่ายแพ้อังวะอย่างราบคาบ จนคนมอญต้องอพยพหนีตายไปทั่วสารทิศ ในการณ์นี้ 'พระเจ้าอลองพญา' ได้แสดงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะเหนือมอญ โดยการเปลี่ยนชื่อ 'เมืองพะโค' จาก 'พะโค' ไปเป็น 'ย่างกุ้ง' ซึ่งแปลว่า 'สิ้นสุดสงคราม' ทำให้ 'รามัญประเทศ' ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวมอญกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า โดยไม่มีโอกาสฟื้นตัวได้อีกจนกระทั่งปัจจุบัน 

เจาะตลาด ‘ซอส-เครื่องปรุงรส’ ธุรกิจที่สร้างผลกำไรมหาศาลทั่วโลก คาด!! ในปี 2029 จะมีมูลค่าสูงถึง 226.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

(15 ต.ค. 67) รู้กันไหมว่าในปี 2024 มูลค่าตลาดซอส เครื่องปรุงรส และน้ำสลัดทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 171.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตถึง 226.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2029 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 5.74% ความต้องการซอสและเครื่องปรุงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความนิยมในการบริโภคอาหารชาติพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น เช่น อาหารไทย เม็กซิกัน และตะวันออกกลาง นอกจากนี้ การขยายตัวของการบริโภคซอสสำเร็จรูปในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรปก็มีส่วนช่วยขับเคลื่อนตลาดนี้ด้วย

โดยในไทยเองตลาดซอสและเครื่องปรุงในประเทศไทยคาดว่าจะมีมูลค่า 2.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 5.17% ระหว่างปี 2024-2029 สินค้าหลักที่มีการบริโภคมากในตลาดไทยได้แก่ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ และซอสถั่วเหลือง การเติบโตของตลาดยังได้รับแรงผลักดันจากการเพิ่มขึ้นของประชากรในเมืองและความนิยมในอาหารชาติพันธุ์ รวมถึงการส่งออกซอสไทยไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ซอสพริกและน้ำปลาด้วย ไปดูกันว่า 3 บริษัทที่ผลิตซอสยักษ์ใหญ่ของโลก และอีก 3 บริษัทของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีบริษัทอะไรกันบ้าง นี่คือรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทที่ผลิตซอสที่คุณถามถึง รวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ชื่อบริษัท ตลาดหุ้นที่จดทะเบียนมูลค่าทางการตลาด (พันล้านเหรียญ)    จุดเด่น McCormick & Company NYSE 22.15 

- Frank’s RedHot ซอสพริกยอดนิยมที่ใช้ในการทำปีกไก่ Buffalo และอาหารเม็กซิกัน 
-French’s ซอส Worcestershire และ Buffalo Sauce                                                                                        Kraft Heinz Company NASDAQ 42.58 - Heinz Ketchup
- Heinz BBQ Sauces
- Heinz Mayonnaise
Campbell Soup Company NYSE 14.21 - Prego: ซอสพาสต้าชั้นนำ มีหลากหลายรสชาติ ตั้งแต่ซอสมะเขือเทศแบบดั้งเดิมไปจนถึงซอส Alfredo
- Pace: แบรนด์ซัลซ่าชั้นนำที่มีซอสเม็กซิกันและดิปส์ที่มีรสชาติเข้มข้น

ส่วนอีก 3 บริษัทผลิตซอสที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย

1.บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) (XO) บริษัทนี้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารและซอสสำเร็จรูป ส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ของ XO รวมถึงซอสต่างๆ เช่น ซอสพริก น้ำจิ้มไก่ ซอสมะเขือเทศ และผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ โดยปัจจุบัน XO มีมูลค่าทางการตลาด อยู่ที่ 10.2 พันล้านบาท
2.บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (OISHI)
โออิชิเป็นผู้นำด้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์ซอส เช่น ซอสเทอริยากิ และ ซอสถั่วเหลือง ที่ใช้ในร้านอาหารญี่ปุ่นและครัวเรือน โดยปัจจุบัน OISHI มีมูลค่าทางการตลาดราวๆ 20.08 พันล้านบาท โดยรวมในส่วนของการขายเครื่องดื่มด้วยค่ะ
3.บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) (SAUCE)
ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหาร ภายใต้เครื่องหมายการค้า ภูเขาทอง ประกอบด้วยซอสปรุงรส ซอสพริก น้ำส้มสายชูกลั่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริกผสมมะเขือเทศ ซอสหอยนางรม ซีอิ๊วขาว ซอสผง ซีอิ๊วผง ซอสพริก ตราศรีราชาพานิช และซีอิ๊วญี่ปุ่น ตรา คินซัน นอกจากนี้ยังผลิตตามเครื่องหมายการค้าของลูกค้าด้วย โดยมูลค่ทางการตลาดตอนนี้อยู่ที่ราวๆ 14.31 พันล้านบาท

เปิดประวัติ ‘แชร์ลูกโซ่’ มีมาแล้ว กว่าร้อยปี เริ่มต้นที่ ‘อเมริกา’ ขายฝัน!! ‘รวยเร็ว-รวยง่าย’ แต่สุดท้าย ไม่เหลืออะไรเลย

(14 ต.ค. 67) ในช่วงนี้มีข่าวการใช้การตลาดหลายรูปแบบในการหลอกเงินประชาชน ทำให้มีหลายคนนึกโยงเข้ากับเรื่องราวของแชร์ลูกโซ่ ซึ่งแชร์ลูกโซ่เป็นรูปแบบหนึ่งของการฉ้อโกงทางการเงินที่มีลักษณะการชักชวนผู้ลงทุนรายใหม่เพื่อให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจหรือแผนการลงทุนที่สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูง โดยเงินที่ได้จากผู้ลงทุนรายใหม่จะถูกนำมาใช้เป็นเงินปันผลให้กับผู้ลงทุนรายก่อนหน้า ซึ่งมักจะถูกทำให้เชื่อว่าเป็นกำไรจากการดำเนินธุรกิจจริง ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นกลับไม่มีธุรกิจหรือแผนการลงทุนจริงเกิดขึ้น
โดยลักษณะการทำงานของแชร์ลูกโซ่จะเริ่มต้นโดย

1.ผู้ก่อตั้งแชร์ลูกโซ่มักจะเริ่มต้นโดยเสนอแผนการลงทุนหรือธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูงกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ เช่น หุ้น ทองคำ หรือสินค้า
2.การชักชวนสมาชิกใหม่ โดยผู้ที่ลงทุนก่อนหน้านี้จะได้รับเงินปันผลหรือผลตอบแทนจากเงินที่มาจากผู้เข้าร่วมใหม่ ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนจริง
3.การขยายไลน์ธุรกิจ ผู้ลงทุนจะถูกกระตุ้นให้ชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนเพื่อเพิ่มผลกำไร ซึ่งเป็นรูปแบบการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
และ 
4.เมื่อไม่มีผู้ลงทุนรายใหม่เข้าร่วมแล้ว ระบบแชร์ลูกโซ่จะล่มสลาย และผู้ที่ลงทุนในช่วงท้ายจะไม่สามารถถอนเงินหรือได้รับผลตอบแทนใด ๆ เนื่องจากไม่มีเงินจากผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามา

แชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1920 โดยชาร์ลส์ ปอนซี (Charles Ponzi) เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งชาร์ลส์ใช้วิธีการหลอกลวงผู้ลงทุน โดยอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจแลกเปลี่ยนไปรษณีย์ระหว่างประเทศที่สามารถทำกำไรได้สูง ผลตอบแทนที่จ่ายให้กับผู้ลงทุนก่อนหน้านั้นมาจากเงินของผู้ลงทุนรายใหม่ ไม่ใช่จากผลกำไรที่เกิดขึ้นจริง การหลอกลวงของชาร์ลส์ ดำเนินไปได้เพราะผู้ลงทุนเริ่มแรกได้รับผลตอบแทนสูงจนสามารถชักชวนคนอื่นให้เข้ามาลงทุนต่อได้ แต่ในที่สุดระบบก็ล่มสลายเมื่อไม่มีผู้ลงทุนใหม่เข้ามาแล้ว
และถ้าเราจำกันได้ ในไทยเองมีเคสของแชร์ลูกโซ่ที่ดังและสร้างมูลค่าความเสียหายให้กับคนไทยจำนวนมาก และนี่คือ 3 อันดับแชร์ลูกโซ่ครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่สร้างความเสียหายสูงสุด

1.ยูฟัน (UFUN) (2558)
-มูลค่าความเสียหาย: ประมาณ 38,000 ล้านบาท
-รายละเอียด: ยูฟันเป็นแชร์ลูกโซ่ข้ามชาติที่หลอกลวงประชาชนโดยอ้างว่าเป็นแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ที่ใช้เหรียญ ‘ยูโทเคน’ (UToken) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลปลอม ผู้เสียหายจำนวนมากสูญเสียเงินลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้เป็นหนึ่งในแชร์ลูกโซ่ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
2. แชร์แม่ชม้อย (2527)
-มูลค่าความเสียหาย: ประมาณ 4,043 ล้านบาท
-รายละเอียด: เป็นคดีแชร์ลูกโซ่ที่เริ่มต้นจากการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจที่อ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูง ผู้เสียหายหลายหมื่นรายสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลในคดีนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีแรก ๆ ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในสังคมไทย
3. Forex-3D (2562)
-มูลค่าความเสียหาย: ประมาณ 2,489 ล้านบาท
-รายละเอียด: Forex-3D เป็นคดีแชร์ลูกโซ่ที่ใช้ชื่อเสียงของคนดังในการชักชวนให้ผู้คนลงทุนในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยสัญญาว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงถึง 60-80% สุดท้ายพบว่าเป็นการหลอกลวงที่ไม่มีการเทรดจริง

ไม่ว่าการลงทุนอะไรก็ตาม ผลตอบแทนที่มากจนเกินไปมักไม่มีอยู่จริง ดังนั้นก่อนจะลงทุนอะไรก็ตามเราเองก็ควรศึกษาการลงทุนนั้นอย่างละเอียด และตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุน

บันทึกเรื่องราวตราตรึงจิตตราบนิจนิรันดร์ แม้ถ่ายทอดได้เพียงเศษเสี้ยว ‘พระราชกรณียกิจ’

ในหลวงในดวงใจ เรื่องราวประทับของนักเล่าเรื่องแห่ง THE STATES TIMES 

วันที่ 13 ตุลาคม 2567 วันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ 'วันนวมินทรมหาราช' เวียนมาบรรจบเป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี นักเล่าเรื่องราวอย่างผมก็ยังอยากจะเล่าเรื่องราวของพัฒนากรผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเรื่องราวของพระองค์ท่านช่างมีมากมายเสียเหลือเกิน ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทยช่างโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์อย่างพระองค์ท่าน 

ผมเองไม่ได้มีความเก่งกาจอะไรในการจะมานั่งเล่าเรื่องราว หรือมานั่งเขียนบทความอะไร แต่ด้วยโอกาสจาก THE STATES TIMES ที่อยากให้มาถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากการที่เป็นคนชอบอ่านและเป็นคนชอบทำ ทำให้มีเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะช่วงที่จัดรายการ “ตามรอยพระบาทยาตรา”มีเรื่องราวจำนวนมากที่ได้นำมาเล่า ซึ่งในบทความนี้ผมขอยกเรื่องเล่าประทับใจมาให้คุณได้อ่านกันเพลิน ๆ ดังนี้ 

เริ่มต้นการเล่าเรื่องของผม บอกเลยผมไม่มีความมั่นใจมากมายอะไรนัก และคิดอยู่หลายวันว่าจะเล่าเรื่องราวอะไรดี จนตัดสินใจได้ว่าจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวด้วยการยกเพลงพระราชนิพนธ์ “แผ่นดินของเรา” มานำเสนอ เพราะผมเองเป็นนักดนตรี และทำมาหากินเกี่ยวกับดนตรีมาตั้งแต่เริ่มมีหน้าที่การงาน และเชื่อว่าความมหัศจรรย์ของบทเพลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาเพียง 10 นาที พระราชนิพนธ์เพลง ๆ นี้ เพลงที่แรกมีเพียงไม่กี่ห้อง แต่เมื่อเติมเต็มกลับกลายเป็นเพลงที่สร้างให้จิตใจของเรามีสำนึกในการรักบ้าน รักเมือง ซึ่งการนำเรื่องของบทเพลงนี้เป็นปฐม จะช่วยทำให้ผมเล่าเรื่องราวได้ดี ซึ่งการเล่าเรื่องเพลงพระราชนิพนธ์ในครั้งแรก ทำให้ผมมีความมั่นใจที่มากขึ้น ทั้งยังเล่าเรื่องราวของพระองค์ต่อไปได้อีกหลายตอน 

มาถึงเรื่องของป่า ที่ผมยกมาเล่าก็เป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กที่ได้ไปสัมผัสป่าในภาคเหนือจากการไปทำฝายแม้ว ได้เห็นป่าที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ หนาแน่น จนได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท่านหนึ่งว่า ป่าที่คุณเห็นคือป่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ปลูกเสริม เนื่องจากพระองค์ทรงทอดพระเนตรเมื่อทรงพระราชดำเนินผ่านทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทรงเห็นว่าเขาตรงบริเวณนั้นหัวโล้น ทั้งยังแห้งแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงครู่เดียวเท่านั้นที่พระองค์ทรงบินผ่าน ทรงจำได้และทรงมีพระราชดำริให้ร่วมมือกันของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ปลูกต้นไม้สายพันธุ์เดียวกับป่าในพื้นที่เสริมและปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของมันในการฟื้นฟูตนเอง โดยหลังจากปลูกเสริมพื้นที่บริเวณนั้น พร้อมกับปล่อยให้ป่าได้ฟื้นฟูสุดท้ายจากป่าบนภูเขาหัวโล้นก็กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้ง อีกทั้งพระองค์ท่านยังทรงสำทับด้วยประโยคสำคัญว่า 
“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” ซึ่งปัจจุบันนี้หลายคนคงหลงลืมไปแล้ว จนเกิดเหตุการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ 

เรื่องถัดมาที่ผมยกมาเล่าก็คือเรื่องของ 'น้ำ' จากพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ว่า 'น้ำคือชีวิต หากไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้' เป็นภาคต่อจากเรื่องของป่า จากแนวพระราชดำริว่าการทำลายป่าในพื้นที่ต้นน้ำจำนวนมากเป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง ก่อให้เกิดภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เมื่อมีป่า จึงก่อให้เกิดน้ำ และการจัดการน้ำคือโอกาสในการมีกิน มีใช้ ของประชาชน ผมก็ยกเรื่องราวในการไปโครงการหลวงและศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ การไปพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา และการไปทำฝายแม้วในอีกหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตอนแรกผมไม่เชื่อว่าฝายเล็ก ๆ จะสร้างผลอะไรให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ หรือทางน้ำอะไรได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกเพียง 1 ปีให้หลัง ก็ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงของหน้าดิน ทางน้ำ ต้นไม้ จนต้องมาเล่าให้กับชาว THE STATES TIMES ฟัง ว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่เราได้มีส่วนร่วม ตามแนวพระราชดำริมันสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับป่าได้จริง และเมื่อเราได้รู้จักการชะลอน้ำจนเกิดป่า เมื่อถึงหน้าแล้งเราก็ยังมีน้ำ เมื่อเข้าหน้าฝนเราก็จะไม่เจอน้ำหลาก นี่คือสิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างประโยชน์มหาศาล 

เรื่อง 'นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด' เป็นหัวข้อที่ผมยกขึ้นมาหลังจากได้เห็นภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งบันทึกอยู่ใน ‘สมุดภาพโครงการตามพระราชดำริ’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ก็เลยไปลองหาข้อมูลต่อ โดยเฉพาะความสนใจเรื่องของ ‘ที่ดินทำกิน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนไทย อันมีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และเป็นเรื่องหลักที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทย โดยนับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2507 จากโครงการเริ่มต้น 10,000 ไร่ ในจ.เพชรบุรีไปสู่ที่ดินทำกินหลายแสนไร่ทั่วประเทศ เกี่ยวเนื่องพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องที่ดินนี้ ผมขอยกบทความของท่านอดีตประธานองคมนตรี ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เรื่อง ‘พระบารมีคุ้มเกล้าฯ’ ในหนังสือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี’ โดยมีใจความบางส่วนบางตอนที่เล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’ ความว่า...

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกลในอนาคตว่า ยิ่งนานวันชาวไร่ชาวนาจะยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน เพราะความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดินต้องยอมสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุน และกลายมาเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินในที่สุด จึงมีพระราชดำริที่จะปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อช่วยราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างเริ่มจาก ‘โครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง’ 

เรื่องต่อไปที่ผมประทับใจและอยากยกขึ้นมาอีก 1 เรื่องก็คือเรื่องของ 'ต้นกาแฟ' 2 – 3 ต้น โดยเรื่องราวนี้เกิดขึ้นหลังจากก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวงในปี 2512 ด้วยพระราชปณิธานของพระองค์ที่จะช่วย 'ชาวไทยภูเขา' ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ในปี 2517 พระองค์ได้เสด็จ ฯ หมู่บ้านหนองหล่ม ในพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แล้วผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นคือ 'ปู่พะโย่' ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย เมล็ดกาแฟที่ได้พันธุ์มาจาก UN จำนวน 1 กิโลกรัม ซึ่งมาจากต้นกาแฟ 2 – 3 ต้น พระองค์ทรงสนใจว่าต้นกาแฟที่ว่าอยู่ตรงไหน จึงได้เสด็จ ฯ ด้วยรถยนต์พระที่นั่ง ต่อด้วยการทรงม้าที่เพื่อไปทอดพระเนตรต้นกาแฟที่ปลูกไว้เหนือหมู่บ้าน พระองค์ทอดพระเนตรแล้วก็ได้ตรัสว่า "จะกลับมาช่วยอีกครั้ง" จนมาปี 2518 พระองค์ทรงกลับไปที่หมู่บ้านแห่งนี้พร้อมเมล็ดพันธุ์กาแฟ 'อาราบิก้า' เพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาได้ปลูก จนเป็นที่มาของ 'กาแฟโครงการหลวง' จากดอยสูง กาแฟพันธุ์ดีที่ส่งขายไปสู่มูลนิธิโครงการหลวงและบริษัทกาแฟชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ 

เรื่องราวที่ผมยกขึ้นมานี้ เป็นเรื่องราวแห่งความประทับใจที่ผมเล่าไปพร้อมรอยยิ้มและน้ำตา ในช่องทางของ THE STATES TIMES ซึ่งเรื่องที่เล่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของโครงการต่าง ๆ หลายพันโครงการ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์ 

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

มิติพิศวง!! เที่ยวบิน ‘AVIACO 502’ วาร์ปไปไหน 24 นาที ก่อนกลับมาโผล่ ณ จุดเดิม

เครื่องบินโดยสารไอพ่นแบบ Caravelle 10-R แบบเดียวกับเที่ยวบิน AVIACO 502

เที่ยวบิน AVIACO 502 เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่สุดที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การบินของสเปน AVIACO เป็นสายการบินท้องถิ่นของสเปนที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงมาดริด โดยอยู่ในเครือของ IBERIA สายการบินแห่งชาติของสเปน ก่อตั้งเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 1948 และยุติการดำเนินงานเมื่อ 1 กันยายน 1999

ปกติแล้ว เราท่านต่างทราบกันดีว่า เหตุการณ์ทำนองนี้ ที่ส่งผลให้อากาศยานและเรือสูญหายมักเกิดขึ้นในบริเวณสามเหลี่ยม Bermuda พื้นที่สมมติทางตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งมีการอ้างว่าอากาศยานและเรือผิวน้ำจำนวนหนึ่งหายสาบสูญไปโดยหาสาเหตุมิได้ในบริเวณดังกล่าว โดยมักอ้างเหตุผลในการหายสาบสูญว่าเป็นเรื่องของปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติหรือฐานทัพของสิ่งมีชีวิตนอกโลกในพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับกรณีของเที่ยวบิน AVIACO 502 นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนน่านฟ้าของทวีปยุโรป ในวันที่ 31 มกราคม 1978 ผู้โดยสารของเที่ยวบิน 502 ของสายการบิน Aviaco จะเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารไอพ่นแบบ Caravelle 10R จากสนามบิน Manises เมืองบาเลนเซียในแคว้นบาเลนเซียไปยังสนามบิน Sondika ในเมืองบิลเบา แคว้นบาสก์ ซึ่งเป็นเมืองทางตอนเหนือของสเปน ขั้นตอนการขึ้นเครื่อง การโหลดสัมภาระ และการบินขึ้นดำเนินไปโดยไม่มีปัญหาใด ๆ 

ในขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่เหนือท้องฟ้าของเมืองยูสกาดี และใกล้ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว กัปตัน Carlos García Bermúdez ได้สังเกตเห็นเมฆดำปกคลุมอยู่เหนือพื้นดินห่างออกไปราว 1 กิโลเมตร จึงตัดสินใจที่จะรักษาระดับความสูงไว้ที่ 12,000 ฟุต และยังไม่ลงจอด ทั้งนี้เนื่องจากหอบังคับการบิน Sondika แจ้งว่า สนามบินกำลังดำเนินการภายใต้สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย จึงไม่อนุญาตให้ AVIACO 502 ลงจอด 

เมฆ ‘Lenticular’

โดยหอบังคับการบิน Sondika ได้แจ้งให้ AVIACO 502 เปลี่ยนเส้นทางไปยังสนามบิน Santander ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 กม. เนื่องจากสภาพอากาศที่สนามบินแห่งนั้นยังเปิดและสามารถลงจอดได้ กัปตัน Bermúdez ปฏิบัติตามคำสั่งและกำหนดเส้นทางไปยังสนามบิน Santander ซึ่งการบินจะใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 15 นาที ทุกอย่างเรียบร้อยดี ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน จนกระทั่งนักบินสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติบางอย่างที่ปรากฏขึ้นอย่างกะทันหันต่อหน้าเครื่องบิน เนื่องจากพวกเขามองไม่เห็น จึงบินโดยใช้ IFR ในกลุ่มเมฆ โดยบินภายใต้กฎการบินด้วยเครื่องมืออย่างเคร่งครัด 

บริเวณที่มีแนวเทือกเขา กระแสอากาศที่ไหลมาปะทะแนวเทือกเขานี้จะถูกบังคับให้ยกตัวสูงขึ้น แต่เมื่อผ่านแนวเทือกเขาไปแล้ว กระแสอากาศก็จะไหลกระเพื่อมเป็นคลื่น

นักบินสังเกตเห็นว่าชั้นเมฆหนาแน่นขนาดใหญ่ก่อตัวขึ้นรอบ ๆ เครื่องบิน ชั้นเมฆดังกล่าวมีลักษณะที่เรียกว่า ‘เมฆจานบิน (Lenticular) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับสภาวะปั่นป่วนของอากาศ เมฆก้อนนี้หนาแน่นและสว่างมากจนทำให้กัปตันและนักบินที่สองต้องใส่แว่นกันแดดเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ตามปกติ พวกเขาบินไต่ระดับ 33,000 ฟุตเพื่อข้ามชั้นเมฆหนาดังกล่าว เมื่อบินห่างออกจากสนามบิน Sondika ราว 22 ไมล์ทะเล ภายในไม่กี่วินาที อุปกรณ์การบินและเครื่องมือสื่อสารของเครื่องบินก็ขัดข้อง ความถี่ทั้งหมดที่ใช้ติดต่อกับพื้นดินสูญหายไปโดยสิ้นเชิง และความพยายามของนักบินในการติดต่อกับหอบังคับการบินอีกครั้งก็ไร้ผล ขอบฟ้าเทียมของเครื่องบินซึ่งเป็นเครื่องมือที่นักบินใช้ดูว่าเครื่องบินกำลังบินตรงและอยู่ในระดับใด แสดงให้เห็นว่าเครื่องบินกำลังบินคว่ำหรือกลับหัว และทิศทางการบินนั้นตรงกันข้ามกับเส้นทางที่ควรบินไปยังสนามบิน Santander โดยสิ้นเชิง เพราะบินมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวได้ระบุอย่างถูกต้องก่อนที่เครื่องบินจะเข้าสู่กลุ่มเมฆ 

ในขณะเดียวกัน นักบินก็ยืนยันว่าเครื่องบินไม่ได้บินไปข้างหน้า เนื่องจากมาตรวัดระยะทางทะเลของเครื่องบินระบุว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งผ่านไปแล้วระหว่าง 6 ถึง 7 นาที เครื่องบินไม่ได้บินไปข้างหน้า เนื่องจากมาตรวัดได้ระบุตำแหน่งของเครื่องบินในตำแหน่งเดียวกับที่เครื่องบินบินผ่านกลุ่มเมฆ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ดูเหมือนว่าแทนที่จะบินไปข้างหน้า แต่กลับบินถอยหลัง เครื่องมืออื่น ๆ เช่น เข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์หรือเข็มทิศแบบดั้งเดิม มีอาการผิดปกติโดยสิ้นเชิง เนื่องจากหมุนไม่หยุดเป็นเวลา 7 นาที ทั้งยังหนุนถอยหลัง ราวกับว่าเครื่องบินเริ่มบินถอยหลัง

สถานการณ์นี้ถือเป็นวิกฤตสำหรับกัปตันเบอร์มูเดซ ผู้มีชั่วโมงบินมากกว่า 11,500 ชั่วโมง และตลอดอาชีพการงานของเขาไม่เคยพบประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน เขาสิ้นหวังเมื่อเห็นว่าเครื่องบินหายไปโดยสิ้นเชิง โดยไม่รู้ว่าทิศทางหรือตำแหน่งอยู่ตรงไหน และที่เลวร้ายที่สุดคือ ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงเกิดขึ้น ในที่สุดเครื่องบินก็ออกจากกลุ่มเมฆ และทุกอย่างก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง และอุปกรณ์การบินต่าง ๆ ก็เริ่มทำงานเป็นปกติ ทุกอย่างยกเว้นตัวบ่งชี้ระยะทางการบิน ซึ่งน่าแปลกที่ระยะทางที่เดินทางยังคงเท่าเดิมกับตอนที่เข้าสู่กลุ่มเมฆ ตามตัวบ่งชี้ ในช่วงเวลาประมาณ 7 นาทีนั้น เครื่องบินไม่ได้เคลื่อนที่เลย ราวกับลอยนิ่งอยู่ในอากาศโดยไม่เคลื่อนที่เลยแม้แต่เมตรเดียว

เครื่องบินโดยสารไอพ่นแบบ Caravelle 10-R แบบเดียวกับเที่ยวบิน AVIACO 502 
ติดคำว่า IBERIA ซึ่งเป็นบริษัทแม่ไว้บนเครื่องยนต์

AVIACO 502 ก็ลงจอดที่สนามบิน Santander ในเวลาต่อมาโดยไม่มีปัญหาใด ๆ และเมื่อลงจอดบนพื้นดินแล้ว กัปตันก็รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเที่ยวบินอย่างเป็นทางการ แต่ความประหลาดใจไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการบินของเครื่องบินกับหอควบคุม เจ้าหน้าที่ประจำหอควบคุมการบิน Santander และนักบินต่างก็ตกตะลึงเมื่อพบว่าหอควบคุมการบิน Santander สูญเสียการติดต่อกับเครื่องบินเป็นเวลา 24 นาที ไม่ใช่ 7 นาที ตามที่นาฬิกาบนเครื่องบินบันทึกไว้ ทุกคนบนเที่ยวบิน AVIACO 502 สูญเสียเวลาไป 17 นาทีอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ จนทุกวันนี้เอกสารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ยังคงไม่ได้ปิด แต่ยังคงไม่มีข้อสรุป แม้จะมีการสืบสวนสอบสวนทางเทคนิคหลายครั้งหลายหน และขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั่วโลกมากมายแล้วก็ตาม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top