Wednesday, 2 July 2025
COLUMNIST

ปืนลูกซอง...อาวุธระยะประชิด ที่ดีที่สุดในการพิฆาตโดรนสังหาร

ในสงครามสมัยใหม่ อากาศยานควบคุมระยะไกลหรือโดรน จัดว่าเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงอานุภาพ ปัจจุบันมีการนำโดรนมาใช้การรบทุกสมรภูมิ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2025 ยูเครนได้ใช้โดรนติดอาวุธโจมตีฐานทัพอากาศรัสเซียเสียหายไป 4 แห่ง ทำให้เครื่องบินรบของรัสเซียเสียหายไปหลายลำ เหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความตระหนักแก่กองทัพของชาติต่าง ๆ ในการคิดค้นออกแบบยุทธวิธีและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรับมือจากการโจมตีของ “โดรนติดอาวุธ” หรือ “โดรนสังหาร”

“โดรนติดอาวุธ” หรือ “โดรนสังหาร”หมายถึง อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ทางทหารที่ออกแบบมาเพื่อการรบ โดยเฉพาะโดรนประเภทนี้สามารถบรรทุกอาวุธ เช่น ขีปนาวุธ ระเบิด หรือแม้แต่อุปกรณ์ระเบิดแสวงเครื่อง (IED) เพื่อโจมตีเป้าหมาย โดยถูกควบคุมจากระยะไกล แต่จะมีระดับการทำงานอัตโนมัติที่มีระบบปฏิบัติการที่มีความแตกต่างกัน

“โดรนสังหาร” มีบทบาทสำคัญในสมรภูมิรบสมัยใหม่ จากการใช้งานโดรนอย่างแพร่หลายในยูเครนสามารถเป็นเครื่องยืนยันได้ และแม้ว่าสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จะมีศักยภาพในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” แต่โดรนสังหารขนาดเล็กจำนวนมากสามารถหลบเลี่ยงแนวป้องกันที่ดีที่สุดได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาในทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านขีดความสามารถของ “โดรนสังหาร”

อุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในขณะนี้คือ “ปืนต่อต้านโดรน (Anti-drone gun)” ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปร่างคล้ายปืนยาวใช้ในการปล่อยสัญญาณรบกวนการทำงานของโดรน โดยเฉพาะ สัญญาณการสื่อสาร และระบบนำทาง ปืนเหล่านี้จะรบกวนความถี่ที่ใช้ในการควบคุมโดรน ทำให้โดรนลงจอด ลอยนิ่ง หรือกลับสู่จุดเริ่มต้น นอกจาก นี้บางรุ่นยังรบกวนสัญญาณ GPS ซึ่งทำให้โดรนทำงานช้าลงอีกด้วย

แต่พัฒนาการของ “โดรนสังหาร” นั้นก้าวไปไกลมากจนกระทั่งประสิทธิภาพในการทำงานของ “ปืนต่อต้านโดรน” ลดลงจนอาจไม่ได้ผลเลย เมื่อมีการนำ สัญญาณการสื่อสาร และระบบนำทาง แบบพิเศษมาใช้ใน “โดรนพิสังหาร” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการทำงานของ “ปืนต่อต้านโดรน” กอปรกับบทเรียนจากสงครามยูเครน-รัสเซียได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับวิธีการที่ “โดรนสังหาร” กำหนดรูปแบบของสนามรบสมัยใหม่ โดยเฉพาะความสามารถของ “โดรนสังหาร” ในการโจมตีหน่วยทหารราบ ยานพาหนะ ตลอดจนยุทโธปกรณ์ ยุทธภัณฑ์ ข้าวของเครื่องใช้ และเสบียงต่าง ๆ ตลอดจนทรัพยากรสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อแนวรบของทั้งสองฝ่าย

“โดรนสังหาร” สามารถซุ่มโจมตีเหนือพื้นที่ปฏิบัติการและโจมตีอย่างแม่นยำ โดยสามารถส่งวัตถุระเบิดพร้อมกับถ่ายทอดข้อมูลสำคัญ หรือ “โดรนสังหาร” สามารถโอบล้อมพื้นที่เพื่อให้กำลังทหารเข้าใกล้เป้าหมายโดยไม่ถูกตรวจพบ กองกำลังทั้งยูเครนและรัสเซียต่างใช้ “โดรนสังหาร” ในการขัดขวางการเคลื่อนไหวของศัตรู ลดขีดความสามารถของยานเกราะ และสร้างอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ ฯลฯ

ดังนั้นจึงมีการหยิบเอาอาวุธที่มีอยู่มาใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ซึ่ง “ปืนลูกซอง” จัดว่าเป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ “โดรนสังหาร” ขนาดเล็ก ทหารของยูเครนได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการต่อต้านภัยคุกคามจาก “โดรนสังหาร” ด้วยปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่งในการขัดขวางการปฏิบัติการของ “โดรนสังหาร” รัสเซีย แม้ว่า “ปืนลูกซอง” อาจไม่ใช่อาวุธหลักในการป้องกัน “โดรนสังหาร” แต่ก็สามารถใช้เพื่อเป็นแนวป้องกันสุดท้ายที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะปืนลูกซองมีความทนทาน สามารถปรับใช้งานได้ง่าย และกลุ่มกระสุนกระจายเป็นวงกว้าง จึงทำให้แม้แต่ทหารที่ได้รับการฝึกฝนมาเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสยิง “โดรนสังหาร” ถูกได้ อย่างไรก็ตาม การฝึกฝนในการใช้ “ปืนลูกซอง” จะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

ประเทศพันธมิตรของยูเครน เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และเบลเยียม ต่างทราบดีถึงบทเรียนของทหารยูเครน และได้เริ่มนำปืนลูกซองมาใช้ในยุทธวิธีในการป้องกัน “โดรนสังหาร” โดยทั้งกองทัพทั้ง 3 ชาติต่างเลือกใช้ปืนลูกซองยี่ห้อเบเนลลี่หลายแบบที่ใช้ทั้งกระสุนลูกซองแบบดั้งเดิมและแบบพิเศษ ในระหว่างการทดสอบภาคสนาม อาวุธเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างมากในการยิง “โดรนสังหาร” ในระยะ 80–120 เมตร ทำให้สามารถนำไปใช้ในการป้องกันกองกำลังในขณะปฏิบัติการได้ กองทัพสหรัฐฯ เองจำเป็นต้องมีการฝึกฝนอย่างเต็มที่ในการใช้ปืนลูกซองเพื่อยิง “โดรนสังหาร” ซึ่งเป็นเป้าหมายทางอากาศในระยะประชิด

“ปืนลูกซอง” จึงเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับ “โดรนสังหาร” ในระยะประชิด แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ อาทิ การยิง “โดรนสังหาร” ที่กำลังบินมาหานั้น ผู้ที่ทำการยิงต้องมีความกล้าหาญเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ว “โดรนสังหาร” เหล่านี้ยังสังเกตได้ยากมากอีกด้วย ถึงแม้ “โดรนสังหาร” แบบ Quadrocopter มักจะส่งเสียงดังตลอดเวลา แต่ในสนามรบซึ่งเป็นสถานที่ที่มีเสียงดังมากและมีความวุ่นวายตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องปกติที่ทหารที่เคยเจอโดรนเหล่านี้เล่าว่า เราจะไม่ทันสังเกตเห็น “โดรนสังหาร” จนกว่ามันจะบินอยู่เหนือเรา ซึ่งมีหลักฐานวิดีโอที่สนับสนุนในเรื่องนี้

ข้อดี:
- ความสะดวกในการใช้งานและความพร้อมใช้งานของปืนลูกซอง: สามารถเรียนรู้และใช้งานได้ค่อนข้างง่าย
- กลุ่มกระสุนครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง: กระสุนปืนลูกซองที่กระจายตัวจะเพิ่มโอกาสในการยิงถูกเป้าหมายขนาดเล็กที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น “โดรนสังหาร” ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในขณะที่บินต่ำหรือลอยตัวนิ่ง
- ความคุ้มค่า: โดยทั่วไป “ปืนลูกซอง” จะราคาไม่แพงไปกว่าเทคโนโลยีต่อต้านโดรนขั้นสูงอย่าง “ปืนต่อต้านโดรน” จึงทำให้ปืนลูกซองเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

ข้อจำกัด:
- ปืนลูกซองมีระยะยิงที่จำกัด ราว 80-100 เมตร และอาจไม่มีประสิทธิภาพในการยิง “โดรนสังหาร” ที่บินในระดับความสูงที่พ้นระยะหรือในระยะไกลมาก

กระสุน:
- กระสุนปืนลูกซองมีมากมายหลายแบบ สามารถเลือกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อต้านโดรนได้ รวมไปถึงกระสุนพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อจับหรือทำลายใบพัดของโดรน เช่น กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ทดสอบกระสุนปืนลูกซองแบบ SkyNet Mi-5 ซึ่งสามารถปล่อยตาข่ายออกกลางอากาศเพื่อให้พันรอบใบพัดของโดรน
ทางเลือกสุดท้าย:
- แม้ “ปืนลูกซอง” จะไม่ใช่อาวุธสำหรับการป้องกันหลัก แต่ “ปืนลูกซอง” ก็สามารถใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อระบบป้องกัน “โดรนสังหาร” อื่น ๆ ไม่สามารถใช้การได้

สำหรับกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการพัฒนาการใช้โดรนสำหรับภารกิจต่าง ๆ แต่การต่อต้านโดรนนั้น กองทัพบกได้พัฒนาปืนเล็กยาว M-16 ประกอบฐานยิง เพื่อใช้ในการต่อต้านโดรน ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการจัดซื้อจัดหา “ปืนต่อต้านโดรน” มาใช้ ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า หน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ควรได้ทำการศึกษาแนวทางในการใช้ “ปืนลูกซอง” ในการต่อต้านโดรนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ ทั้งวิธีการใช้ “ปืนลูกซอง” ในการต่อต้านโดรน โดยเฉพาะการพัฒนากระสุนปืนลูกซองที่เหมาะสมต่อการทำลานโดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและให้ประสิทธิผลมากที่สุด รวมทั้งอุปกรณ์ต่อต้านโดรนอื่น ๆ อาทิ ปืนเล็กกลสำหรับยิงโดรนขนาด .22 ซึ่งราคากระสุนจะถูกกว่ากระสุนขนาดมาตรฐานของกองทัพ และยิงได้ไกลกว่าปืนลูกซอง ฯลฯ โดยผู้เขียนยินดีให้ความรู้และคำแนะนำแก่หน่วยงานทุกหน่วยที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อนำไปใช้ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติต่อไป

ขอบคุณ 2 ทหารกล้า ‘พล.อ.พนา - พล.ท.บุญสิน’ ผู้ยืนหยัดแสดงภาวะผู้นำในวันที่รัฐบาลไร้ท่าที

(11 มิ.ย. 68) ขอบคุณ “พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์” และ “พลโท บุญสิน พาดกลาง”

> พวกเขาอาจไม่พูดมาก แต่การตัดสินใจของเขาทำให้ชาติไทย…ยังยืนอยู่ได้
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องรบ ไม่ใช่แค่เรื่องชายแดน
แต่เป็นเรื่องของ “หัวใจคนที่ยืนอยู่หน้าประเทศ”
และในวิกฤตที่ผ่านมา คนไทยทั้งประเทศควรจดจำชื่อของชายสองคนนี้ไว้ให้มั่น

— พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์
ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
— พลโท บุญสิน พาดกลาง
แม่ทัพภาคที่ 2
---
🕓 บันทึกเหตุการณ์:
ก่อนเกิดเหตุ (ปลาย พ.ค. 68)
– กัมพูชาขุด "คูเลต" ล้ำเข้าพื้นที่พิพาท ส่อเจตนาเชิงรุก
– ฝ่ายการเมืองไทยเงียบ ไม่มีการตอบโต้
– พลโท บุญสิน ตัดสินใจ ตรึงกำลังทันที แม้ไร้คำสั่งทางการเมือง

วันที่ 29 พ.ค. เป็นต้นมา
– กัมพูชาเพิ่มกำลัง ใกล้แนวชายแดน
– รัฐบาลพยายามเจรจา แต่ถูกเมิน
– พลเอก พนา ยืนยันชัดเจน: “ไม่ถอย ไม่ยั่ว ไม่ยอม”
– สั่งตรึงแนวรบเต็มรูปแบบ

ต้นเดือน มิ.ย.
– การเมืองยังนิ่ง แต่ทหาร สั่งปิดด่าน ตัดไฟฟ้า น้ำ และอินเทอร์เน็ต
– การตัดสินใจที่ไม่ใช่แค่กล้า แต่ “เปลี่ยนเกม”

วันที่ 7–9 มิ.ย.
– กัมพูชายอมลดระดับบางจุด
– เปิดเจรจากับ “กองทัพไทย” โดยตรง
– และ “ลบคูเลต” บางส่วน

🎖️ ถ้าชาติปลอดภัย — เพราะมีคนแบบนี้ยืนอยู่
ขอบคุณพลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์
ที่แสดงภาวะผู้นำในวันที่รัฐบาลไร้ท่าที
ขอบคุณพลโท บุญสิน พาดกลาง
ที่ยืนแนวหน้าแบบไม่กลัวความเงียบข้างหลัง
🙏🏼 ประเทศไทยต้องจดจำ

ถอดชุดครุย สวมแจ็คเก็ตไรเดอร์ เทรนด์โลกออนไลน์นักศึกษาจีนจบใหม่ ตลกร้ายที่อาจดูขำแต่น้ำตาตกใน จุดเปลี่ยนขาลงของระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม

“Every joke is a tiny revolution.”

“ทุกมุกตลกคือการปฏิวัติขนาดเล็ก”

— George Orwell (1903–1950)

(10 มิ.ย. 68) เข้าสู่ฤดูรับปริญญาของจีน ซึ่งตรงกับช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ค. ของทุกปี เป็นช่วงที่จะได้เห็นคอนเทนท์รับปริญญาของนักศึกษาจบใหม่มากมายบนสื่อโซเชียล เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ บนโลก การรับปริญญาเป็นเรื่องที่น่ายินดี สำหรับตัวนักศึกษาจบใหม่เอง หรือจากคนรอบตัวที่แห่แสดงความยินดีในรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นเทรนด์บนโลกโซเชียลมากมายที่สะท้อนสังคมในยุคปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่นคลิปไวรัลของนักศึกษาจบใหม่ที่ทำคลิปขอบคุณ ChatGPT ที่ช่วยเขาในการทำการบ้าน ที่ถ้าหากผมเป็นนายจ้างหรือเจ้าของบริษัท ก็คงจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าเด็กยุคนี้ใช้ ChatGPT จนเรียนสามารถเรียนจบได้ ถ้างั้นแทนที่เราจะจ่ายเงินจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ เราจ่ายเงินค่า subscribtion รายเดือนให้ ChatGPT ทำงานให้ไปเลยไม่ดีกว่าหรือ ถูกกว่า เร็วกว่า ฟังก์ชั่นกว่า เพราะหากจ้างเด็กจบใหม่ในยุคนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเขาก็จะใช้ ChatGPT ทำงานให้อยู่ดี

แม้จะเป็นแค่มุกตลก แต่ว่ากันว่ามุกตลกนั้นสะท้อนภาพสังคมในแต่ละยุคสมัยได้เช่นกัน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างตามข้างต้นนี้ สะท้อนภาพเศรษฐกิจสังคมยุคใหม่ และการแทนที่มนุษย์โดย AI

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายเทรนด์คอนเทนท์รับปริญญาบนโลกโซเชียล ทั้งในจีนและทั่วโลก ที่สะท้อนสภาพสังคมและปัญหาที่แก้ได้ยาก ยังมีอีกหลายเทรนด์ที่ยังเป็นไวรัลอย่างต่อเนื่องอีกมากมาย….

“To truly laugh, you must be able to take your pain, and play with it.”

“เพื่อที่จะหัวเราะได้อย่างแท้จริง คุณต้องกล้าเอาความเจ็บปวดของคุณมาเล่นกับมันให้ได้”

— Charlie Chaplin

"毕业快乐!欢迎加入美团。"

“ยินดีด้วยที่เรียนจบ ยินดีต้อนรับสู่เหม่ยถวน (Meituan)”

— หนึ่งในคำโปรยจากวิดีโอสั้นใน Douyin (Tiktok ของจีน) ที่ถูกแชร์นับล้านครั้ง

เนื้อหาในวิดีโอความยาวไม่ถึง 30 วินาที เป็นภาพนักศึกษาจีนหนุ่มคนหนึ่งเดินออกจากพิธีรับปริญญาในชุดครุย เขาหยุดกลางถนน ถอดชุดครุยออก ก่อนจะเผยให้เห็นเสื้อของแพลตฟอร์มส่งอาหาร “Meituan - เหม่ยถวน” อยู่ข้างใน ใส่หมวกกันน็อก หิ้วกระเป๋าส่งของ แล้วหันมายิ้มกล้องพร้อมพูดออกมาว่า “หางานได้แล้ว!”

เทรนด์ดังกล่าวถูกเรียกว่าเทรนด์ “毕业即失业 - เรียนจบแต่ตกงาน” ซึ่งมักปรากฏในรูปแบบของวิดีโอเปลี่ยนชุดครุยเป็นชุดไรเดอร์ พนักงานร้านสะดวกซื้อ หรือแรงงาน Gig economy อื่น ๆ นี่เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงในจีน และจะเป็นกรณีหลักในการวิเคราะห์ของบทความนี้

คลิปเหล่านี้ไม่ได้แค่เป็นไวรัล แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ผู้ชมใช้ในการระบาย เช่นคอมเมนต์ทำนองว่า “ฉันก็จบจากมหาวิทยาลัย 985 (คล้าย ๆ กับ Ivy League ในสหรัฐฯ) เหมือนกัน ตอนนี้ส่งอาหารอยู่” คอนเทนท์ในเทรนด์นี้ค่อนข้างหลากหลาย มีผู้คนนำมาดัดแปลงรูปแบบการตัดต่อ ใส่เพลง และวิธีเล่า และไม่ได้มีแค่อาชีพส่งอาหาร ยังมีอาชีพอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนท์ในเทรนด์ ตัวอย่างเช่นกรณีหนุ่มเรียนจบมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยอันดับที่ 1 ของจีน (จากการจัดอันดับในปี 2024) แต่กลับต้องเป็นคนขายเต้าหู้เหม็น

ซึ่งจริง ๆ เทรนด์การทำคลิปประมาณนี้ก็ฮิตมาถึงที่ไทย ผมเห็นคลิปคนไทยถอดชุดครุยแล้วสวมแจ็กเก็ตแอปสั่งอาหารสีเขียว บ้างก็ขายหมูปิ้ง บ้างก็ใส่ชุดพนักงาน 7-11 แตกต่างกันไป

วิดีโอเหล่านี้ กลายเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เสียงหัวเราะเป็นเกราะป้องกันความเจ็บปวด และเป็นการสะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึกในโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนยุคใหม่ ความตลกกลายเป็นสื่อกลางในการสะท้อนความสิ้นหวัง — หรืออย่างที่นักแสดงตลกชาวอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งอย่าง Charlie Chaplin เคยกล่าวเอาไว้ว่า “To truly laugh, you must be able to take your pain, and play with it. – เพื่อที่จะหัวเราะได้อย่างแท้จริง คุณต้องกล้าเอาความเจ็บปวดของคุณมาเล่นกับมันให้ได้”

หรืออีกหนึ่งเทรนด์ไวรัลที่เรียกว่า “孔乙己文学” (วรรณกรรมข่งอี้จี๋) ซึ่งกลายเป็นคำฮิตในโลกออนไลน์จีนในช่วงปี 2023–2024 โดยพูดถึงตัวละคร “ข่งอี้จี๋” จากเรื่องสั้นของหลู่ซิ่น ซึ่งเป็นชายมีการศึกษา แต่ยากจน ถูกสังคมเย้ยหยัน และไร้ที่ยืน เปรียบเทียบคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา แต่ไม่สามารถหางานที่เหมาะสมได้

โดยเยาวชนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเพราะโครงสร้างสังคมไม่เปิดทางให้พวกเขา และพวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากมองให้เป็นเรื่องตลกและนำมาทำเป็นคอนเทนท์ประชดสังคม

เทรนด์นี้คือการที่เยาวชนนำเอาเรื่องราวชีวิตของตัวเองมาเขียนเล่าในแบบวรรณกรรม โดยดัดแปลงจากเรื่อง “ข่งอี้จี๋” ใช้ภาษาแบบกวี แต่เล่าให้เป็นเรื่องราวของตัวเอง ใช้ตัวเองเป็นตัวละครหลัก บอกเล่าถึงการเรียนอย่างหนักตั้งแต่เด็กจนจบมหาวิทยาลัย แต่ไม่สามารถหางานทำได้ ชีวิตมีอุปสรรคมากมาย ทำได้แค่เกาะพ่อแม่กิน แม้ต้องทนได้ยินคำดูถูกจากป้าข้างบ้าน

บางคนเอามาอัดคลิป ลงเสียง ตัดต่อเป็นเรื่องเป็นราว แต่งเป็นเพลงแร็พแสดงความเข้าอกเข้าใจ “ข่งอี้จี่” กลายเป็นสีสันช่วงวันรับปริญญาในปีที่แล้วไป….

“We were poor, but we didn’t know it. Then I got a degree, and I was broke — now I knew it.”

“เราเคยยากจนตอนเด็ก ๆ แต่เราไม่รู้ตัว หลังจากนั้นผมก็ได้ใบปริญญา ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าผมมันจน”

—Chris Rock

ในอดีต ใบปริญญาถือเป็น "ตั๋วทอง" สู่อนาคตที่มั่นคง โดยเฉพาะในสังคมจีนที่ให้คุณค่ากับการศึกษาอย่างสูง แต่ในยุคที่มหาวิทยาลัยขยายจำนวนรับนักศึกษาอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “การศึกษาสำหรับทุกคน” แต่ในทางกลับกัน ตลาดแรงงานไม่สามารถดูดซับผู้สำเร็จการศึกษาได้เท่าทัน ทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้าที่ล้นตลาด

จากรายงาน 2023 China College Graduates Employment Competitiveness Report ของ Tencent Research Institute ระบุว่า ในปี 2023 จีนมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวน 11.58 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อัตราการว่างงานในกลุ่มเยาวชนอายุ 16–24 ปีพุ่งสูงถึง 21.3% ในเดือนมิถุนายน 2023 การสำรวจยังพบว่า 64% ของนักศึกษาจีนต้องการทำงานในภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจอาชีพที่ให้ความมั่นคง มากกว่าอาชีพที่ให้ความมั่งคั่งแต่การแข่งขันสูง

ซึ่งหากมองให้สอดคล้องกับยุคสมัยนั้น สองตัวแปรสำคัญที่ควรนำมาตั้งคำถามเพื่อศึกษาปัญหาปัญหานี้ คือเรื่องระบบการศึกษา และกระแสความต้องการของตลาดแรงงาน

ประเด็นคน “จบปริญญา” แต่ทำงาน “รายได้ต่ำ” หรือการที่ผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนมากต้องประกอบอาชีพที่ไม่ได้สอดคล้องกับสาขาที่เรียนมา ไม่ใช่เพราะขาดความสามารถ แต่เพราะตลาดแรงงานมีข้อจำกัดในการรองรับทักษะและความหลากหลายของแรงงานในยุคเปลี่ยนผ่าน ในขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาเองก็ไม่ได้ผลิตบุคคลากรที่ตรงกับความต้องการตลาดเสมอไป

รายงานของ Tencent Research Institute ระบุถึงความคาดหวังของบัณฑิตรุ่นใหม่ว่าบัณฑิตระดับปริญญา บัณฑิตระดับปริญญาตรีคาดหวังเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 10,792 หยวน (ประมาณ 50,000 บาท) ต่อเดือน

ในรายงานยังระบุอีกว่า ความต้องการบัณฑิตระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้น 202.1% และปริญญาโทเพิ่มขึ้น 142.6% ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม ความต้องการสำหรับบัณฑิตระดับอนุปริญญาหรือต่ำกว่าลดลงเกือบ 40%

ส่วนความต้องการบัณฑิตระดับปริญญาตรีในตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นจาก 28.8% ในปี 2021 เป็น 42.9% ในปี 2023 ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มที่ตลาดแรงงานยังคงให้ความสำคัญกับบัณฑิตระดับปริญญาตรี

หากเป็นยุคสมัยก่อน สาขาอย่างเช่น วรรณกรรม ปรัชญา ประวัติศาสตร์ การจัดการ ภาษาศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสาย Social/Humanities ผู้ที่จบสาขาเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นปัญญาชน หารายได้ได้มากกว่าชนชั้นแรงงาน แต่ในปัจจุบัน คนที่เรียนจบจากสายสังคม แม้จะมีความรู้รอบด้าน มีทักษะการสื่อสารที่แข็งแรง แต่ขาดทักษะและความเชี่ยวชาญในการสร้างหรือผลิตสินค้าตลาดใหม่หรือและบริการด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงในปัจจุบัน

เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลในตลาดแรงงานของจีน จะพบว่าสาขาที่มีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่องคือสาย STEAM ได้แก่ Science, Technology, Engineering, Arts และ Mathematics โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science), เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech), วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Automation)

จากรายงานของ Tencent ยังมีการระบุว่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เสนอเงินเดือนระดับเริ่มต้นให้กับนักศึกษาจบใหม่ในสาย Data Science สูงถึง 20,000 หยวนต่อเดือน ในขณะที่สาย Humanities ได้เริ่มต้นเฉลี่ยเพียง 6,000–8,000 หยวน แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีความต้องการสูงในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะที่สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความต้องการลดลง

ผลกระทบของความไม่สมหวังทางวิชาชีพของเหล่าเด็กจบใหม่ กลายเป็นกระแสที่คนรุ่นใหม่เริ่มลดแรงจูงใจในการแสวงหาความก้าวหน้า และเข้าสู่โหมด "躺平" (นอนราบ) หมายถึง การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย หลีกเลี่ยงการแข่งขัน ไม่พยายามไล่ตามมาตรฐานความสำเร็จตามระบบ เช่น ไม่ซื้อบ้าน ไม่แต่งงาน ไม่ทำงานหนัก หรือโหมด "摆烂" (ปล่อยให้พัง) ซึ่งเป็นการยอมแพ้แบบประชดตัวเอง คือแม้รู้ว่าทุกอย่างกำลังแย่ ก็ไม่พยายามจะแก้ไขอีกแล้ว คล้าย ๆ กับการ “ปล่อยวางแบบขมขื่น”

"They say follow your dreams. So I went back to bed."

"เขาบอกให้ทำตามความฝัน… งั้นฉันก็เลยกลับไปนอนต่อ"

— Some viral Internet meme

ในทางทฤษฎี คำถามสำหรับตลาดแรงงานในวันนี้คือ : เป็นเพราะ “เศรษฐกิจไม่ดี” หรือ “เทคโนโลยีแย่งงาน” ที่ทำให้ความต้องการนักศึกษาจบใหม่ในตลาดแรงงานลดลง ?

คำตอบคือ : ทั้งสองอย่างผสมกัน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

แน่นอนว่าปัญหาในภาพรวมเกิดขึ้นจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัว และความล้ำหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถแทนที่แรงงานบางประเภทได้แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ผมกลับมองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างตลาดแรงงานเปลี่ยนเร็วมากในปัจจุบัน เราอาจอาจเลือกเรียนในคณะหรือสาขาที่คิดว่ามีความสำคัญและหาเงินได้ แต่ภายใน 4 ปีที่เรียนนั้น เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ส่งผลต่อตลาด ทำให้คณะหรือสาขาที่เลือกเรียนไปมีความสำคัญน้อยลง ความรู้จากการเรียน 4 ปีที่ผ่านมาอาจไม่สำคัญอีกต่อไป ในจุดนี้ เป็นสิ่งที่ต้องนำไปตั้งคำถามต่อกับระบบการศึกษาที่ผลิตบุคคลากรป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

อีกหนึ่งคำถามสำคัญ : “เรียนจบแล้วหางานไม่ได้” – แล้วการระบบศึกษายังสำคัญอยู่หรือไม่ ?

คำตอบคือ : ยังสำคัญอยู่ แต่ไม่ใช่ในแบบเดิม

กล่าวคือ ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อ “ได้ใบปริญญา” แต่ต้องเรียนเพื่อ “พัฒนาทักษะ + ความสามารถที่ตลาดต้องการ”

แม้ระบบการเรียนเพื่อ “ได้ใบปริญญา” ซึ่งเน้นวิชาการ ท่องจำ และการวัดผลตามระบบ จะเคยตอบโจทย์ในอดีต เพราะด้วยโครงสร้างทางสังคม จำนวนคนเรียนสูงยังไม่มาก คนมีปริญญาจึง “มีค่าหายาก” ในจังหวะที่ เศรษฐกิจขยายตัว สร้างตำแหน่งงานใหม่ ต้องการคนมีความรู้จำนวนมาก

แต่ในปัจจุบัน เกิด “academic inflation” การมีใบปริญญากลายเป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ เขาก็มีกัน ในขณะที่เศรษฐกิจก็ชะลอตัว ตำแหน่งงานลดลง เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่การแข่งขันก็ยังสูง ทำให้ตลาดต้องการคนที่ “ทำได้จริง” ไม่ใช่แค่ “สอบได้ดี”

สิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ใช่ “คุณค่าของความรู้” แต่คือ “วิธีเรียนรู้” และ “สิ่งที่ต้องรู้” ที่จะต้องเน้นภาคปฏิบัติมากขึ้น ที่สำคัญ คือต้องไม่สอนให้เด็กเป็น “เครื่องมือของระบบเดิม”

'ในส่วนนี้ รัฐบาลจีนพยายามใช้นโยบายปฏิรูปการศึกษาด้วยแนวคิด Key Competencies-Based Education Reform และ TVET Reform สนับสนุนให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกงานมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในสนามจริง ทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะข้ามสาย เพื่อรับมือกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงความต้องการทางทักษะอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ให้เด็กมีความสามารถในการแก้ปัญหาใหม่ ๆ พร้อมปรับตัวกับอาชีพที่ยังไม่เคยมีในโลกวันนี้

อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญคือ ประเทศไทยสามารถถอดบทเรียนจากเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง ? เพราะจริง ๆ แล้วทั่วโลก รวมถึงเราเองก็เผชิญกับปัญหาในลักษณะที่คล้ายกัน อาจต่างกันในเชิงบริบท แต่ในเมื่อใจความสำคัญของระบบการศึกษาคือการสร้างบุคคลากรที่มี “ทักษะ” (skill) แล้วทักษะไหนสำคัญที่สุด ระหว่าง “ทักษะแข็ง” (hard skills) ที่เน้นความสามารถเชิงเทคนิค หรือ “ทักษะอ่อน” (soft skills) ที่เน้นความสามารถทางสังคมและการสื่อสาร ?

ส่วนตัวผม ไม่ว่าจะทักษะไหนก็สำคัญทั้งนั้น แต่ในวันนี้ มีอีกหนึ่งทักษะที่ต้องบรรจุเพิ่มเข้าไปใน capacity ของคนรุ่นใหม่ นั่นก็คือ “ทักษะระดับเหนือ” หรือ “ทักษะกรอบใหญ่” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Meta Skills” ซึ่งนอกจากจะเน้นเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเอง ยังต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับความล้มเหลว การรู้จักตัวเอง การรู้จุดแข็ง จุดอ่อน สามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่ ความสามารถและเจตจำนงในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learning) และความเชื่อว่าความสามารถสามารถพัฒนาได้ (Lifelong Learning)

โดยสรุป แม้ว่าวิดีโอแนวไวรัลที่เปลี่ยนจากชุดครุยเป็นเสื้อไรเดอร์จะดูขบขันในแวบแรก แต่มันสะท้อนเสียงเงียบของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ความหวังที่เคยผูกไว้กับการเรียนสูงเริ่มสั่นคลอน กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จีนเองก็จำเป็นต้องปฏิรูปหลักสูตร ส่งเสริมความยืดหยุ่นในการแนะแนวอาชีพ

ที่สำคัญ คือต้องสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคม โดยลดทัศนคติแบบ “มีปริญญา = ประสบความสำเร็จ” และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในสนามจริงที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน

"The only thing that interferes with my learning is my education."

"สิ่งเดียวที่ขัดขวางการเรียนรู้ของฉันคือการศึกษา"

— Albert Einstein

The Restaurant of Mistaken Orders เมื่อการเสิร์ฟอาหารไม่ซ้ำ-จำเมนูไม่ได้ คือ ‘จุดขาย’

ลองนึกดูนะครับ หากคุณเดินเข้าไปในร้านอาหารร้านหนึ่งซึ่งมีพนักงานในร้านเป็นผู้สูงอายุทั้งหมด แล้วสั่งราดหน้า แต่พนักงานกลับเดินกระย่องกระแย่ง ค่อย ๆ เอาข้าวผัดมาวางให้คุณบนโต๊ะแทนที่ราดหน้าที่คุณอยากทาน สั่งชาเย็น แต่ได้โค้กมาแทน สั่งคิดเงิน แต่กลับได้เมนูอาหารมาอีกรอบ (ซึ่งพอคุณสั่งอาหารจานใหม่ไป มันก็จะมาแบบผิดๆอีกนั่นแหละ) หรือพูดง่าย ๆ ว่า อาหารทุกอย่างที่คุณสั่งไปมีโอกาสที่คุณจะได้รับอาหารไม่ตรงตามที่คุณต้องการถึงกว่า 35% คุณจะหงุดหงิดหัวเสีย หรือโกรธพนักงานในร้านรวมไปถึงเจ้าของร้านด้วยหรือไม่ ลูกค้าบางคนอาจถึงขั้นหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเขียนคอมเม้นต์ด่าในหน้าโซเชียลมีเดียของทางร้าน หรือเขียนรีวิวให้คะแนนแย่ ๆ เลยด้วยซ้ำ 

แต่……
ถ้าคุณรู้ว่าพนักงานเสิร์ฟอาหารสูงอายุในร้านทุกคนเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งหมดคุณยังจะหงุดหงิดหัวเสียอยู่รึเปล่า?? 
ร้านอาหารแบบนี้มีอยู่จริงในประเทศญี่ปุ่นครับ 

ใดๆ digest ep.นี้ชวนคุณผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จัก 'Restaurant of Mistaken Orders' ร้านอาหารในญี่ปุ่นที่มีพนักงานเสิร์ฟทั้งหมดไม่เพียงแต่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งชายหญิงแล้ว แต่คุณตาคุณยายทุกท่านที่ทำงานในร้านยังเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมกันทุกคนอีกด้วยครับ 

ร้านอาหาร concept แปลกๆ นี้ก่อตั้งขึ้นโดยคุณ ชิโระ โอกุนิ ผู้กำกับรายการโทรทัศน์ชาวญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนมุมมองการรับรู้และสร้างความเข้าใจของผู้คนทั่วไปที่มีต่อผู้สูงอายุและความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งเป็นสภาวะเสื่อมถอยของสมอง ส่งผลให้ความจำ การเรียนรู้ และทักษะในการสื่อสารลดลง คุณโอกุนิได้เกิดปิ๊งไอเดียนี้มาจากตอนที่เขาได้ไปเยี่ยมบ้านพักคนชรา แล้วได้รับ 'เกี๊ยว' ทั้งที่เขาสั่ง 'เบอร์เกอร์' จากพนักงานที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งในตอนแรกเขาตั้งใจจะเปลี่ยนอาหารที่ได้รับให้ถูกต้องตรงกับที่ตัวเองสั่ง แต่ก็เกิดเปลี่ยนใจเมื่อคิดขึ้นมาได้ว่าแท้จริงแล้วนี่เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น และเขายังรู้สึกนับถือพนักงานเสิร์ฟที่ยังสามารถทำงานได้อยู่ แม้จะมีข้อบกพร่องทางร่างกาย พอคิดได้แบบนั้น คุณโอกุนิจึงรับอาหารจานนั้นไว้และทานจนหมดเพื่อแสดงความเคารพและขอบคุณ จากนั้นเขาจึงได้มีความคิดที่จะเปิดร้านอาหารที่พนักงานเสิร์ฟทั้งหมดเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมขึ้นมา

แต่กว่าร้านอาหารจะเกิดขึ้นและเป็นรูปเป็นร่างไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะจำเป็นต้องมีการวางแผนและขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านร้านอาหาร การออกแบบภายใน การดูแลด้านสวัสดิการสังคม และความร่วมมือขององค์กรต่าง ๆ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม แต่ในที่สุดร้านก็ได้เปิดขึ้นครั้งแรกได้สำเร็จเมื่อปี 2560 ด้วยเงินระดมทุนประมาณ 115,000 ดอลลาร์ ซึ่งไอเดียที่แปลกใหม่ทำให้ใคร ๆ ก็พร้อมจะร่วมลงทุนด้วย และเปิดมาจนถึงปัจจุบัน โดยชูแนวคิดสำคัญเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคทางสมองนี้ และสร้างภาพจำใหม่ว่าผู้ป่วยไม่ได้เศร้า หดหู่แบบที่หลายคนเข้าใจ และอันที่จริงแล้วลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการในร้านนี้ต่างก็อยากจะมาเพื่อรับประสบการณ์ประหลาดใจ และอยากรู้ว่าตนเองจะได้รับเมนูอะไรจากพนักงานเสิร์ฟจนกลายเป็นจุดขายของร้าน มากกว่าการได้มาลองรสชาติอาหารในร้านเสียอีก 

จากการเก็บข้อมูลของร้านพบว่า มีรายการอาหารที่เกิดข้อผิดพลาด ไม่ว่าจะจดเมนูผิด หรือ เสิร์ฟผิดประมาณ 37% แต่เมื่อสำรวจความพึงพอใจของแขกที่มาทานอาหารกลับพบว่าผู้ได้รับบริการถึง 99% รู้สึกพอใจกับมื้ออาหารของพวกเขา แม้ว่าบางครั้งพนักงานจะนั่งพูดคุยกับลูกค้าจนลืมให้บริการ หรือไหว้วานให้ลูกค้าจดเมนูให้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกไม่พอใจ เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอเหตุการณ์อะไรบ้าง จึงเข้าใจข้อจำกัดของพนักงานเป็นอย่างดีจนกลายเป็นความเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  จนในหลาย ๆ ครั้งทำให้เกิดปรากฏการณ์พิเศษที่อบอุ่นหัวใจที่พนักงานในร้านและลูกค้าที่มารับประทานอาหารเกิดการสลับบทบาทกัน กลายเป็นลูกค้าให้ความสำคัญและดูแลเอาใจใส่พนักงานไปเสียแทน สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า นอกจากอาหารที่เป็นบริการสำคัญของร้านแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับลูกค้าถือเป็น 'จุดขาย' ของ Restaurant of Mistaken Orders เพราะจุดประสงค์ของลูกค้าที่มาร้านอาหารแห่งนี้ก็เพื่อสนับสนุนและให้โอกาสเหล่าผู้มีความบกพร่องทางสมอง 

ดังนั้น ผู้ที่มารับประทานอาหารจึงไม่สนใจว่าพวกเขาจะได้รับอาหารตามที่สั่งหรือไม่ ตราบใดที่พวกเขามีโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์และได้รับรู้ถึงความแตกต่างของผู้สูงอายุที่มีอาการความบกพร่องทางสมอง และเมื่อลูกค้าเห็นรอยยิ้มและความร่าเริงของพนักงานที่เป็นโรคสมองเสื่อมซึ่งสร้างพลังงานเชิงบวกให้บรรดาลูกค้าได้รับแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตกลับไป บางคนสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณแห่งความกล้าหาญของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเหล่านี้ที่พยายามยืนหยัดทำงานเพื่อสร้างความรู้สึกมีคุณค่าให้กับตัวเอง บ่อยครั้งที่ลูกค้าก็ตื้นตันใจจนน้ำตาไหล นอกจากนี้ร้านอาหารแห่งนี้ยังเป็น 'พื้นที่ปลอดภัย' ให้ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการชะลอการลุกลามของภาวะสมองเสื่อม 

จากกระแสตอบรับที่มีต่อร้าน แสดงให้เห็นว่า “สายสัมพันธ์ที่สวยงามระหว่างลูกค้าและพนักงานในร้านอาหารแห่งนี้ นับเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็เป็นการพิสูจน์ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์ ความเมตตา และมิตรภาพ สามารถเป็นทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ โดยที่ทั้งผู้ให้บริการและลูกค้า ได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้จิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ได้ถูกเติมเต็ม นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของผู้คนที่มีความแตกต่างกันด้วยความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกันนั่นเองครับ

รัฐกลายเป็น ‘เจ้าบ้าน’ ของอาชญากรรมข้ามชาติ ไทยไม่ควรนิ่งเฉย!! ปัญหาด้านความมั่นคง

(8 มิ.ย. 68) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชื่อของกัมพูชาเริ่มปรากฏขึ้นบ่อยครั้งในฐานะ “แหล่งหลอกลวง” ของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการฟอกเงิน การพนันออนไลน์ และเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ล่าสุด รายงานจาก Humanity Research Consultancy ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า อุตสาหกรรมสีเทาเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่ “พื้นที่อาชญากรรม” หากแต่มีลักษณะของ การได้รับการอุปถัมภ์จากภาครัฐ อย่างเป็นระบบ

โครงสร้างทุนเหล่านี้ฝังรากอยู่ในเมืองชายแดนอย่างปอยเปต สีหนุวิลล์ และอุดรมีชัย โดยมีบุคคลระดับสูงในรัฐบาลกัมพูชาเกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ลูกพี่ลูกน้องของฮุน มาเนต ที่นั่งเป็นบอร์ดบริหารแพลตฟอร์มฟอกเงิน, รัฐมนตรีมหาดไทยที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมทุนกับกาสิโน รวมถึงมหาเศรษฐีสายการเมืองที่มีบทบาทในพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) หลายคน

ความน่ากังวลไม่ใช่แค่ในระดับภายในกัมพูชา แต่ยังขยายผลมาสู่ประเทศไทยโดยตรง เพราะโครงสร้างสีเทาเหล่านี้ พึ่งพาไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทย ใช้แรงงานผ่านชายแดนไทย และในบางกรณี ยังใช้ไทยเป็น “ทางผ่าน” ของกระบวนการฟอกเงินอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจมองปัญหานี้เป็นแค่ “เรื่องอาชญากรรม” แต่ควรถือเป็นปัญหาด้าน ความมั่นคงเชิงโครงสร้าง ที่กำลังบั่นทอนศีลธรรมทางการเมืองของภูมิภาคไปพร้อมกัน

ไทยจึงควรทบทวนบทบาทของตนในฐานะ “ผู้ส่งทรัพยากรให้ทุนเทา” อย่างจริงจัง การตัดไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่เสี่ยงอาจเป็นเพียงมาตรการเบื้องต้น แต่ในภาพรวม ไทยควรใช้สถานะของตนในเวทีระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) หรืออาเซียน ในการยกประเด็นนี้ให้เป็น ภัยต่อความมั่นคงสากล ไม่ต่างจากปัญหาค้ามนุษย์หรือยาเสพติด

หากไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ การเพิกเฉยของรัฐไทยอาจกลายเป็นการร่วมสร้างระบบที่เอื้อให้ทุนสีเทาแปรสภาพเป็นทุนการเมือง และท้ายที่สุด ไม่ว่าด่านจะเปิดหรือปิด ประเทศไทยก็อาจเป็นเพียง “ผู้เฝ้าชายแดนให้ทุนมืด” โดยไม่รู้ตัว

‘การ์ตูนอเมริกัน’ กับ ‘บาทหลวงรัสเซีย’ ความย้อนแย้ง!! ที่สะท้อนอุดมการณ์

(8 มิ.ย. 68) ในยุคโลกาภิวัตน์ที่สื่อและวัฒนธรรมข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็วการ์ตูนอเมริกันเรื่อง The Simpsons กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมป๊อปที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั่วโลกด้วยเนื้อหาที่เสียดสีสังคมการเมืองและความสัมพันธ์ในครอบครัวในมุมมองเสรีนิยมแบบตะวันตกแต่กลับสร้างภาพครอบครัวที่แม้จะมีความผิดพลาดและความขัดแย้งแต่ยังคงรักษาความผูกพันในระดับหนึ่งไว้ได้อย่างเหนียวแน่นอย่างน่าสนใจ อย่างไรก็ตามในความย้อนแย้งที่ดูเหมือนจะขัดแย้งนี้กลับปรากฏว่าในเดือนมกราคม ค.ศ. 2024 บุคคลในวงการศาสนาออร์โธดอกซ์รัสเซียบางท่านออกมายกย่องการ์ตูน The Simpsons ว่าเป็นสื่อที่ส่งเสริม “ค่านิยมดั้งเดิม” (traditional values) และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของครอบครัวและศีลธรรมซึ่งเป็นค่านิยมที่รัฐบาลและศาสนจักรรัสเซียพยายามส่งเสริมในฐานะอุดมการณ์หลักของชาติในช่วงทศวรรษหลังสงครามเย็น ความเห็นนี้สร้างความตื่นตะลึงในหมู่นักวิชาการและผู้สนใจวัฒนธรรมป๊อปเนื่องจาก The Simpsons เป็นที่รู้จักในฐานะการ์ตูนเสียดสีที่มักตั้งคำถามและล้อเลียนระบบการเมือง ศาสนา และสถาบันครอบครัวแบบดั้งเดิมในสังคมอเมริกันอย่างเปิดเผย

ความคิดเห็นดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากตรงข้ามกับภาพลักษณ์ที่สื่อและนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า Russian Orthodox Church มักจะมีท่าทีเข้มงวดและปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตกเสรีนิยมอย่างเด็ดขาด เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของอุดมการณ์อนุรักษนิยมในรัสเซียซึ่งไม่ใช่การปฏิเสธตะวันตกอย่างสิ้นเชิง หากแต่เป็นการคัดเลือกและตีความสื่อจากโลกตะวันตกในแบบที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางวาทกรรมและภูมิรัฐศาสตร์ของตนเอง ปรากฏการณ์นี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของรสนิยมทางวัฒนธรรมเท่านั้นแต่เป็นสัญญาณของกระบวนการทางวาทกรรมที่รัสเซียใช้สื่อสมัยนิยมตะวันตกในรูปแบบที่ “ถูกคัดกรอง” (selective appropriation) เพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์อนุรักษนิยมในประเทศรวมทั้งเป็นกลยุทธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในการตอบโต้แนวคิดเสรีนิยมและลัทธิโลกาภิวัตน์ที่รัสเซียมองว่าเป็นภัยต่ออัตลักษณ์ของตน บทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ความย้อนแย้งของกรณีบาทหลวงรัสเซียที่ชื่นชม The Simpsons ในฐานะสื่อที่สะท้อนค่านิยมดั้งเดิม โดยมองผ่านเลนส์ของวาทกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมตั้งคำถามว่า การตีความเช่นนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัสเซียในการต่อรองกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างไร และสิ่งนี้จะบอกอะไรเราเกี่ยวกับความซับซ้อนของอุดมการณ์อนุรักษนิยมในยุคโลกาภิวัตน์

นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 1989 The Simpsons กลายเป็นการ์ตูนโทรทัศน์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกตะวันตก ด้วยการเสียดสีสังคมอเมริกันในทุกมิติ ทั้งการเมือง ศาสนา ทุนนิยม การศึกษา และครอบครัว ซีรีส์นี้มิใช่แค่ล้อเลียนเพื่อขบขันแต่เป็นภาพแทนของเสรีนิยมอเมริกันที่กล้าตั้งคำถามกับอำนาจและค่านิยมของตนเอง ผ่านตัวละครอย่างโฮเมอร์ ชนชั้นแรงงานไร้วินัยแต่นั่งหัวโต๊ะ และมาร์จที่ติดอยู่ในระบบครอบครัวชายเป็นใหญ่ รวมถึงบาร์ต ลิซ่า และแม็กกี้ซึ่งสะท้อนปัญหาของวัยเยาว์และเสรีนิยมทางความคิดในยุคหลังสงครามเย็น The Simpsons ทำหน้าที่ทั้ง “วิพากษ์” และ “สะท้อน” สังคม มันเปิดพื้นที่ให้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ เช่น เพศ ศาสนา และครอบครัว โดยไม่ต้องสวมบทผู้สั่งสอนหรือเชิดชูชาติ ตัวการ์ตูนนี้จึงกลายเป็นกระจกวัฒนธรรม ตามแนวทาง Cultural Studiesพื้นที่ที่ผู้ชมต่อรองความหมายและตีความได้ด้วยตนเอง

ในบริบทอเมริกัน The Simpsons คือตัวอย่างของสื่อที่กล้าท้าทายอัตลักษณ์ชาติ ในทางกลับกัน สื่อในรัฐเผด็จการมักถูกควบคุมเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของรัฐหรือศาสนา ความกล้าเชิงวิพากษ์เช่นนี้ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ไม่เพียงเป็นสื่อป๊อปคัลเจอร์ทรงพลัง แต่ยังเปิดโอกาสให้ถูก แปลงความหมาย ไปตามบริบทของผู้รับสารในแต่ละประเทศ—เช่นกรณีรัสเซีย ที่หยิบมันมาใช้ในเชิงวาทกรรมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมารัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้หันกลับไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ชาติที่เน้น “ค่านิยมดั้งเดิม” (traditional values) ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดเรื่องครอบครัวแบบชาย-หญิง ความเคารพต่อศาสนา ความมั่นคงของรัฐ และบทบาทชายชาติทหาร โดยค่านิยมเหล่านี้ถูกนำเสนอเป็น “ทางเลือกใหม่” ต่อแนวคิดเสรีนิยมตะวันตกที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายโครงสร้างของสังคมและศีลธรรมผ่านการผลักดันสิทธิความหลากหลายทางเพศ การลดบทบาทศาสนา และการเปิดเสรีทางวัฒนธรรม แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่ถูกผลักดันในระดับนโยบายภายในประเทศผ่านสื่อ การศึกษา และกฎหมาย (เช่น กฎหมายห้ามโฆษณา “ความสัมพันธ์รักร่วมเพศ” กับเยาวชน) แต่ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อแสดงให้เห็นถึง “ความเหนือกว่า” ทางคุณค่าทางจริยธรรมของรัสเซียต่อโลกตะวันตกในยุคหลังสงครามเย็น รัสเซียจึงไม่เพียงแต่ปฏิเสธแนวทางของตะวันตกเท่านั้น แต่ยังพยายามสร้าง “วาทกรรมคู่ขนาน” (counter-discourse) ที่จะช่วงชิงพื้นที่ความหมายในเวทีโลก การผลิตซ้ำและเผยแพร่ค่านิยมดั้งเดิมในรัสเซียจึงไม่ใช่เพียงกระบวนการอนุรักษนิยมแบบล้าหลังหากแต่เป็นยุทธศาสตร์วาทกรรมที่แหลมคม มีเป้าหมายในการประกอบสร้างเอกลักษณ์ของรัสเซียในฐานะ “มหาอำนาจทางจริยธรรม” (moral great power) ที่สามารถยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรีท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมสุดโต่ง ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบโลกที่รัสเซียปรารถนาจะฟื้นฟู ในบริบทนี้ The Simpsons ซึ่งเคยเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมอเมริกันแบบเสียดสี ถูก “บรรจุความหมายใหม่” เมื่อผ่านสายตาของนักบวชรัสเซียที่เลือกมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งในเรื่องนั้น เช่น ความยึดโยงของครอบครัว แล้วนำมาเป็นหลักฐานเชิงวาทกรรมว่าตะวันตกเองก็มี “ร่องรอย” ของค่านิยมดั้งเดิมอยู่ จึงสามารถถูกอ้างถึงเพื่อยืนยันว่าอุดมการณ์แบบรัสเซียไม่ใช่สิ่งล้าหลังหรือแปลกแยก แต่เป็นสิ่งที่ “แม้แต่ตะวันตกเองยังหลงเหลือไว้” ยุทธศาสตร์วาทกรรมเช่นนี้จึงทำให้ The Simpsons กลายเป็นภาพสะท้อนของ “ความย้อนแย้งอันชาญฉลาด” ในการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตก โดยที่รัสเซียไม่จำเป็นต้องสร้างวาทกรรมจากศูนย์ แต่สามารถสกัดความหมายจากสื่อของฝ่ายตรงข้ามมาใช้อย่างมีทักษะ

ภายใต้ยุคปูติน รัสเซียได้พัฒนา “ยุทธศาสตร์ทางวาทกรรม” ที่อิงกับแนวคิด “ค่านิยมดั้งเดิม” (traditional values) โดยมีเป้าหมายหลักในการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ ท้าทายอิทธิพลวาทกรรมเสรีนิยม และสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติที่แยกตัวจากโลกตะวันตก ในแง่นี้ รัสเซียกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ “การต่อสู้ทางอุดมการณ์” ที่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “อำนาจนำ” (hegemony) ของอันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) ซึ่งมองว่ารัฐไม่เพียงใช้กำลังทางการเมืองหรือกองกำลังเพื่อครองอำนาจแต่ยังต้องยึดครอง “ความคิด” และ “ความหมาย” ในจิตสำนึกของประชาชนผ่านการผลิตวาทกรรมทางวัฒนธรรม จากมุมมองนี้ การที่ Russian Orthodox Priest หยิบ The Simpsons มาเป็นเครื่องมือยืนยันค่านิยมดั้งเดิมไม่ใช่การเข้าใจผิดทางวัฒนธรรม หากแต่เป็น “การแปลงความหมาย” อย่างมีเป้าหมาย หรือที่สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) เรียกว่าการใส่รหัสและการถอดรหัส (encoding/decoding) กล่าวคือ ข้อความหนึ่งชุดที่ถูกผลิตจากบริบทวัฒนธรรมหนึ่ง (encoding) สามารถถูก “อ่าน” หรือ “ตีความ” (decoding) ใหม่ในอีกบริบทหนึ่งได้อย่างสิ้นเชิง ในกรณีนี้ The Simpsons ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อวิพากษ์สถาบันครอบครัวในบริบทอเมริกัน กลับถูกอ่านใหม่ในบริบทรัสเซียว่าเป็นเครื่องยืนยันความสำคัญของ “ครอบครัวที่มั่นคง” และ “บทบาทของพ่อในบ้าน” ซึ่งตรงกับโครงสร้างวาทกรรมของรัฐรัสเซียในปัจจุบัน สอดคล้องกับแนวคิดของณอง โบดริยาร์ด (Jean Baudrillard) ที่เรียกกระบวนการนี้ว่า simulation หรือการสร้างภาพจำลองความจริงที่กลืนกินของจริงไปจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือ “ต้นฉบับ” (reality) และอะไรคือ “ภาพแทน” (representation) 

ในบริบทนี้ The Simpsons จึงไม่ใช่เพียงการ์ตูน แต่เป็น “ภาพแทนวัฒนธรรม” ที่เปิดให้ตีความได้หลากหลาย เมื่อบาทหลวงรัสเซียเลือกหยิบเฉพาะด้านที่เอื้อกับวาทกรรมของตน ก็เท่ากับสร้าง “ความจริงจำลอง” ที่ถูกนำไปใช้ในเชิงอุดมการณ์เพื่อเน้นย้ำว่ารัสเซียไม่ได้ปฏิเสธตะวันตกทั้งหมด หากแต่เป็นผู้เลือก “สิ่งที่ดี” จากตะวันตกมาใช้ในการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมอย่างมีชั้นเชิง ดังนั้น การอ้างถึง The Simpsons จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือผิดบริบท แต่เป็นตัวอย่างคลาสสิกของ “การบรรจุความหมายใหม่” เพื่อให้สอดคล้องกับวาทกรรมครอบงำ (hegemonic discourse) ของรัฐรัสเซียที่พยายามจะกำหนดมาตรฐานคุณค่าทางศีลธรรมในระดับโลกโดยอ้างว่าแม้แต่วัฒนธรรมอเมริกันที่เคยถูกวิพากษ์ก็ยังต้องยอมรับรากฐานของ “ความเป็นครอบครัวแบบดั้งเดิม” ซึ่งรัสเซียเชิดชู

กระบวนการที่นักบวชรัสเซียอ้างถึง The Simpsons ในเชิงบวกมิได้เป็นเพียงการชื่นชมสื่อจากตะวันตกในลักษณะ “อุดมคติสากล” หากแต่เป็นตัวอย่างชัดเจนของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การแย่งชิงความหมาย” (appropriation) หรือ “การนำสื่อและความหมายของวัฒนธรรมอื่นมาแปลงใช้” ในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องเคารพเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ผลิต หากแต่ตัดตอน บรรจุใหม่ และวางไว้ในบริบททางอุดมการณ์ที่เอื้อต่อเป้าหมายของตนเอง ในที่นี้ รัสเซีย—ผ่านปากของนักบวชจาก Russian Orthodox Church—ได้ทำหน้าที่ “ตัดต่อวาทกรรม” (discourse reconfiguration) โดยนำเสนอภาพของ The Simpsons ว่าเป็นตัวแทนของค่านิยมแบบดั้งเดิม ทั้งที่ในความเป็นจริงซีรีส์ดังกล่าวมีเนื้อหาที่ตั้งใจวิพากษ์วิถีชีวิตครอบครัวอเมริกันผ่านอารมณ์ขันแบบเสียดสี (satire) และล้อเลียนสถาบันดั้งเดิมอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษ

การกระทำนี้สามารถวิเคราะห์ได้ผ่านแนวคิดของสจ๊วต ฮอลล์ เรื่อง “การถอดรหัสทางวัฒนธรรม” (cultural decoding) ซึ่งเน้นว่า ผู้รับสารไม่ได้เป็นเพียงผู้บริโภคที่ไม่มีปฏิกิริยาหากแต่สามารถตีความใหม่ตามบริบทของตนเองได้ (negotiated หรือ oppositional reading) ในกรณีนี้ The Simpsons ถูก “ถอดรหัส” จากมิติการล้อเลียน มาเป็นมิติของการยืนยันค่านิยม เช่น ความสำคัญของพ่อบ้านในครอบครัว หรือบทบาทของแม่ผู้เสียสละ ซึ่งสามารถนำมาตีความให้สอดรับกับแนวคิดอนุรักษนิยมของรัสเซียได้อย่างแนบเนียน ยิ่งไปกว่านั้น “การแย่งชิงความหมาย” (appropriation) ลักษณะนี้ยังสะท้อนกลยุทธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในเชิงนามธรรม กล่าวคือรัสเซียมิได้เพียงต่อสู้กับตะวันตกด้วยอาวุธหรือเศรษฐกิจแต่ยังเข้าร่วม “สงครามแห่งความหมาย” (war of meaning) โดยอ้างสิทธิ์ในการตีความวัฒนธรรมของอีกฝ่ายเสียเอง ซึ่งทำให้เกิดภาวะ “ย้อนแย้งเชิงยุทธศาสตร์” ที่รัสเซียสามารถโจมตีตะวันตกในขณะที่เลือกใช้ “เครื่องมือ” บางส่วนของตะวันตกมาเสริมพลังของตน หากมองผ่านกรอบของ postmodernism โดยเฉพาะแนวคิดของณอง โบดริยาร์ด การกระทำเช่นนี้คือการเล่นกับ “สัญญะ” (sign) มากกว่าความจริงต้นฉบับ The Simpsons กลายเป็น “ภาพจำลอง” (simulation) ที่ถูกนำไปใช้ในบริบทใหม่โดยไม่ต้องคำนึงถึงความตั้งใจของผู้สร้างเดิม และความจริงต้นฉบับ (original meaning) ก็ถูกกลืนหายไปใน “ภาพแทน” ใหม่ที่สอดคล้องกับวาทกรรมของรัฐรัสเซีย ดังนั้นการ “การแย่งชิงความหมาย” (appropriation) จึงมิใช่เพียงการหยิบสื่อจากอีกวัฒนธรรมหนึ่งมาใช้ในเชิงสร้างสรรค์เท่านั้นหากแต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบสร้างอุดมการณ์ การต่อสู้เพื่อความหมายและการตั้งคำถามต่ออำนาจของ “ผู้ผลิตความรู้” (knowledge producer) ในโลกปัจจุบัน ซึ่งในกรณีนี้รัสเซียกำลังท้าทายอำนาจของตะวันตกด้วยการ “ใช้วัฒนธรรมของตะวันตกเอง” เป็นอาวุธกลับคืน

โลกยุคหลังสงครามเย็นได้เปลี่ยน “สนามรบหลัก” จากสนามการทหารและเศรษฐกิจมาสู่สิ่งที่นักวิชาการวัฒนธรรมเรียกว่า “สนามวัฒนธรรม” (cultural field) ซึ่งไม่ได้ต่อสู้กันด้วยกำลัง แต่ต่อสู้กันด้วย “ความหมาย” และ “การครอบครองพื้นที่ทางจินตนาการ” ในลักษณะที่ Antonio Gramsci เรียกว่าสงครามแห่งตำแหน่ง (war of position)—เป็นการยื้อยุดเพื่อให้ระบบความคิดหนึ่งยึดครองจิตสำนึกของมวลชนให้ได้ในระยะยาว ในบริบทของรัสเซียภายใต้ยุทธศาสตร์การประกอบสร้าง “ค่านิยมดั้งเดิม” ให้เป็นรากฐานอัตลักษณ์รัฐ การเลือกเข้าสู่สงครามวาทกรรมในสนามวัฒนธรรมจึงไม่ใช่เพียงการปกป้องตนเองจากวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น หากแต่เป็นการ “รุกรบเชิงสัญลักษณ์” เพื่อเสนอโลกทัศน์แบบรัสเซียเป็นทางเลือกคู่ขนานต่อกระแสเสรีนิยมตะวันตก โดยรัฐรัสเซียมีพันธมิตรสำคัญอย่าง Russian Orthodox Church และสื่อมวลชนของรัฐที่ทำหน้าที่ผลิตและขยายวาทกรรมเหล่านี้ออกสู่ทั้งประชาชนภายในและนานาชาติ กรณีที่นักบวชรัสเซียยก The Simpsons มาสนับสนุนค่านิยมแบบครอบครัวในอุดมคติจึงเป็นตัวอย่างคลาสสิกของ “สงครามวาทกรรม” ที่กำลังดำเนินอยู่ในสนามวัฒนธรรมโลก กล่าวคือ รัสเซียไม่ได้ปฏิเสธตะวันตกทั้งหมด แต่คัดเลือก “บางองค์ประกอบ” จากวัฒนธรรมตะวันตกที่สามารถ “ทำให้เป็นของตน” (domesticate) และใช้มันเพื่อตอกย้ำว่าแม้แต่สิ่งที่เกิดในโลกเสรีนิยมเอง ยังยืนยันความจำเป็นของโครงสร้างสังคมดั้งเดิม นี่คือการชิงพื้นที่ทางอำนาจของ “ความชอบธรรมทางวัฒนธรรม” (cultural legitimacy) แนวคิดของสจ๊วต ฮอลล์ ว่าด้วย การต่อสู้ทางวาทกรรม (discursive struggle) ช่วยอธิบายได้ว่าการตีความสื่อหนึ่งๆ ไม่ได้ถูกกำหนดตายตัวจากผู้ผลิต แต่เปิดให้ผู้รับสาร (เช่น รัฐ หรือศาสนจักร) เข้าไปเจาะช่องว่างของความหมาย และ “เสนอการอ่านใหม่” (preferred reading) ที่เอื้อต่ออุดมการณ์ของตน ซึ่งในกรณีของรัสเซียคือการปฏิเสธเสรีนิยม ความหลากหลายทางเพศ และแนวคิดครอบครัวแบบใหม่ ขณะเดียวกันก็อ้างสิทธิ์ในการ “ใช้ตะวันตกต่อต้านตะวันตก” ด้วยการหยิบเนื้อหาตะวันตกมาอ่านอย่างย้อนแย้ง กระบวนการนี้ยังสามารถมองผ่านกรอบของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง อำนาจ (power) และ ความรู้ (knowledge) เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐรัสเซียกำลังสร้างระบบความรู้ชุดใหม่ที่ถูกทำให้ดูน่าเชื่อถือ ด้วยการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาจากวัฒนธรรมคู่แข่ง กล่าวคือ ความน่าเชื่อถือของ The Simpsons ในฐานะสื่อกระแสหลักแบบอเมริกัน กลายเป็น “ทรัพย์สินทางวาทกรรม” ที่รัฐรัสเซียสามารถใช้ประกอบสร้างอำนาจเชิงคุณค่าของตนเองภายใต้บริบทโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งของความหมายสื่อวัฒนธรรมจึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “ความบันเทิง” แต่เป็น “อาวุธเชิงสัญลักษณ์” ในสงครามที่ไม่มีปืนหากเต็มไปด้วยการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความจริง (struggle over the truth) และการประกอบสร้าง “ความชอบธรรมทางอารยธรรม” ระหว่างขั้วอำนาจใหม่

สรุป กรณีที่นักบวชรัสเซียยก The Simpsons มาเป็นตัวอย่างของสื่อที่ส่งเสริม “ค่านิยมดั้งเดิม” มิใช่เรื่องแปลกแต่สะท้อนยุทธศาสตร์ของรัฐรัสเซียและศาสนจักรในการเข้าสู่สงครามวาทกรรมระดับโลกด้วยการตีความใหม่ (appropriation) สื่ออเมริกันให้ตอบสนองอุดมการณ์ตนเอง กลวิธีนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ สจ๊วต ฮอลล์, อันโตนิโอ กรัมชี และ ณอง โบดริยาร์ดว่าด้วยการยึดครองความหมายเชิงวัฒนธรรม ในบริบทนี้ The Simpsons จึงกลายเป็นสนามต่อสู้ของอุดมการณ์สองขั้วทั้งเสรีนิยมตะวันตกกับอนุรักษนิยมรัสเซียที่ต่างช่วงชิงการนิยาม “ครอบครัว” และ “อารยธรรม” ท่ามกลางยุคที่อำนาจทางวัฒนธรรมกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในเกมภูมิรัฐศาสตร์ร่วมสมัย

ปฏิบัติการเรือดำน้ำสัมพันธมิตรอังกฤษ - อเมริกัน ในน่านน้ำไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ในเวลานี้ เรือดำน้ำของไทยยังเป็นประเด็นที่มีการถกกันอยู่ จึงขอเล่าถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิบัติการของเรือดำน้ำสัมพันธมิตรในน่านน้ำไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นภัยคุกคามจากเรือดำน้ำข้าศึกซึ่งไทยได้ประสบพบเจอในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดยสังเขปดังนี้

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2485 เป็นวันที่ประเทศไทยถูกรุกรานโดยเรือ ดำน้ำเป็นครั้งแรก เรือดำน้ำอเมริกัน ชื่อ เทรชเชอร์ (USS Theresher: SS200) (ลำแรก) ได้วางทุ่นระเบิดแม่เหล็ก Mk. 12 จำนวน 32 ลูก ในบริเวณเกาะล้าน ซึ่งเป็นสนามทุ่นระเบิดที่วางด้วยเรือดำน้ำสนามแรกในสงครามมหาเอเชียบูรพา เรือลำเลียงญี่ปุ่นชื่อ ซิดนีย์มารู (Sydney Maru) บรรทุกข้าวสารที่เกาะสีชังเพื่อเดินทางไปสิงคโปร์ ได้ถูกทุ่นระเบิดสนามนี้ในวันที่ 16 ตุลาคม (วันรุ่งขึ้น) ที่บริเวณท้ายเรือและกลางลำต้องจูงไปเกยตื้นที่เกาะไผ่ กองทัพเรือได้จัด ร.ล.จวง ลำแรกไปกวาดทุ่นระเบิดสนามนี้แต่ไม่ได้ผล ในวันเดียวกับที่เรือดำน้ำเทรชเชอร์วางทุ่นระเบิดที่เกาะล้านนั้น เรือดำน้ำอเมริกัน การ์ (USS Gar : SS-206) ก็วางทุ่นระเบิดแบบเดียวกันอีก 32 ลูก ทางใต้เกาะคราม ร.ล.รัตนโกสินทร์ ได้ถูกทุ่นระเบิดสนามในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 เรือชำรุดแต่แล่นเข้าอ่าวสัตหีบได้

ในระหว่าง พ.ศ. 2487 - 2488 เรือดำน้ำพันธมิตร คือ อังกฤษและอเมริกาได้เข้ามาปฏิบัติคุกคามการเดินเรือในน่านไทย หลายครั้ง โดยเรือดำน้ำอังกฤษปฏิบัติการทางด้านทะเลอันดามันและในอ่าวไทย ส่วนเรือดำน้ำอเมริกาปฏิบัติการในอ่าวไทย ทางด้านฝั่งทะเลอันดามัน อังกฤษได้ใช้เรือดำน้ำแบบ S (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 830 ตัน ความเร็ว 14 นอต มีปืนใหญ่ 3 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 53 ซม. 7 ท่อ) และเรือดำน้ำแบบ T (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 1,300 ตัน ความเร็ว 15.5 นอต มีปืนใหญ่ 4 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 53 ซม. 11 ท่อ) ปฏิบัติการจากฐานทัพที่ทริงโคมาลีในลังกา รายการสำคัญ ๆ ที่ควรกล่าวถึงคือ ได้วางทุ่นระเบิดทั้งชนิดทอดประจำที่และชนิดแม่เหล็กที่บริเวณเกาะตะรุเตา บริเวณนอกฝั่งสตูล บริเวณใกล้เกาะลันตา และนอกแหลมปากพระ ภูเก็ต ได้ยิงและชนเรือสินค้าและเรือใบทั้งของญี่ปุ่นและไทยจมหลายลำ เช่น เรือบันไตมารู โฮเรมารู ซิกิมารู ของญี่ปุ่น เรือกลไฟถ่องโหของไทย เป็นต้น ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2487 ได้ยิงเรือยนต์จูงเรือฉลอมขนย้ายครอบครัวของพันตำรวจตรี ขีด ศิริศักดิ์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพังงา จมที่บริเวณแหลมนาค ห่างฝั่งประมาณ 2 กม. พันตำรวจตรี ขีด ฯ ได้รับบาดเจ็บ ตำรวจตาย 1 คน หายไป 3 คน ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2487 เรือดำน้ำ HMS Trenchant (เรือดำน้ำแบบ T) ของอังกฤษได้บรรทุกตอร์ปิโดคนและมนุษย์กบมาทำลายเรือสินค้าอิตาลีสองลำในอ่าวภูเก็ต เรือสองลำนี้ได้จมตัวเองเมื่อเกิดสงคราม ญี่ปุ่นกำลังกู้ขึ้นเพื่อจะนำไปใช้และถูกมนุษย์กบของอังกฤษเข้าทำลายจนจมอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้านอ่าวไทย อังกฤษใช้เรือดำน้ำแบบ T ซึ่งมีฐานทัพที่เมืองฟรีแมนเติล ในออสเตรเลีย อเมริกาใช้เรือดำน้ำแบบ Balao หรือ Fleet Type (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 1,525 ตัน ความเร็วสูงสุดเหนือน้ำ 20 นอต มีปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโด ขนาด 53 ซม. 10 ท่อ) บริเวณที่เข้ามาปฏิบัติการคือ ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยหน้าอ่าวระยองทางฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ตั้งแต่ใต้ประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนถึงตรังกานู ได้ยิงเรือลำเลียงและเรือใบที่เดินชายฝั่งทั้งของไทยและของญี่ปุ่นจมหลายลำ ส่วนใหญ่ใช้ปืนใหญ่ประจำเรือยิงทำลาย ที่ใช้ตอร์ปิโดก็มีบ้าง อาทิ

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำอเมริกัน USS Sealion II (SS-315) ยิง ร.ล.สมุย (ลำแรก) ด้วยตอร์ปิโดจมที่ฝั่งตรังกานู วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำ 4 ลำโผล่ขึ้นยิงเรือลำเลียงญี่ปุ่น 9 ลำนอกฝั่งอำเภอปะนาเระ ปัตตานี ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องบินคุ้มกัน 3 เครื่อง เรือลำเลียงถูกยิงจมและไฟไหม้ 5 ลำ ตอร์ปิโดของเรือดำน้ำที่ผิดเป้าเกยฝั่งหาดทรายบ้านท่าสูง 1 ลูก วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำ USS Baya เข้าร่วมกับเรือดำน้ำ USS Lagarto ในอ่าวไทย คืนถัดมาเรือดำน้ำ USS Baya เริ่มติดตามขบวนเรือของญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำและเรือคุ้มกัน 2 คน เรือดำน้ำ USS Baya เคลื่อนตัวเข้าสู่ตำแหน่งและทำการโจมตี แต่การโจมตีไม่ประสบผลสำเร็จ เรือคุ้มกันของญี่ปุ่นจึงไล่ตาม แต่ USS Baya หนีไปได้อย่างรวดเร็ว วันรุ่งขึ้น USS Baya นัดพบกับ  USS Lagarto เพื่อวางแผนการโจมตีร่วมขบวนเรือของญี่ปุ่นในอ่าวสยาม แต่ขบวนคุ้มกันระวังตัวแจ จึงไม่สามารถโจมตีได้ เช้าวันรุ่งขึ้น เรือดำน้ำ  USS Lagarto พยายามโจมตีขบวนเรือจากตำแหน่ง 22 ไมล์ทะเล (22 กม.) ห่างจาก USS Baya หลังจากนั้น USS Baya พยายามติดต่อ USS Lagarto แต่ไม่มีการตอบรับ และหลังจากนั้นก็ติดต่อไม่ได้อีกเลย เรือดำน้ำของสหรัฐฯ ลำนี้ได้หายสาบสูญไปนับแต่นั้น

การตรวจสอบบันทึกของญี่ปุ่นหลังสงครามเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดที่ USS Lagarto หายไป สาเหตุที่ว่านั้นก็คือ หนึ่งในสองเรือคุ้มกันของญี่ปุ่น คือเรือฮัตสึตากะ (Hatsutaka) ทำการโจมตีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมทำให้เรือดำน้ำอเมริกันจมอยู่ใต้น้ำลึก 30 ฟาทอม (180 ฟุต หรือ 55 ม.) ที่ 7°55′N 102°00′E หรือบริเวณน่านน้ำของจังหวัดสงขลา ส่วนเรือวางทุ่นระเบิดญี่ปุ่นฮัตสึตากะ ต่อมาถูเรือดำน้ำ USS Hawkbill ของสหรัฐฯ ยิงจมลงเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ในอ่าวไทย บริเวณนอกชายฝั่งมาเลเซีย ในรัฐตรังกานู ซึ่งในเวลานั้นตรังกานูเป็นหนึ่งใน "สี่รัฐมาลัย" คือ รัฐกลันตัน, ตรังกานู, ไทรบุรี และปะลิส ของมาเลเซีย ที่ญี่ปุ่นยกให้ไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ไทยได้มอบสี่รัฐมาลัยคืนให้กับฝ่ายทหารอังกฤษ เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 หรือหลังจากญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้สงครามได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน)

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำยิงเรือไทยนาวา 3 ของบริษัทไทยเดินเรือทะเลจมที่บริเวณหน้าอ่าวชุมพร ร้อยโท กมเลศ จันทร์เรือง นายทหารติดต่อกองพลที่ 6 ที่มากับเรือเสียชีวิต วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำอังกฤษ HMS Tradewind (เรือดำน้ำแบบ T) ยิงเรือยนต์สหประมง 5 และเรือใบที่มาจากตรังกานูจมที่บริเวณเกาะทะลุ บางเบิด มีคนตาย 6 คน และได้จับนายเดช ประกิตตเดช ไปเป็นเชลยร่วมกับนายเพียง แซ่เจียว ซึ่งถูกสะเก็ดกระสุนบาดเจ็บสาหัส ทั้งสองคนถูกคุมขังอยู่ในออสเตรเลียจนสงครามยุติลงจึงถูกส่งกลับประเทศไทย ในวันสุดท้ายของสงครามคือ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำอเมริกาได้ยิงเรือประมงชื่อ “ปวยเอง” จมที่บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะจวง เรือลำนี้เป็นเรือของเอกชนที่กองทัพเรือเกณฑ์เช่ามากวาดทุ่นระเบิดแม่เหล็กและใช้งานอื่น ๆ ด้วย

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 กลุ่มนักดำน้ำส่วนตัวใต้ทะเลลึก นำโดยนักดำน้ำซากเรือชาวอังกฤษ เจมี แม็คคลาวด์ (Jamie MacLeod) ค้นพบซากเรือจมน้ำลึก 70 เมตร ในอ่าวไทย ซากเรือส่วนใหญ่ไม่บุบสลายและตั้งตรงอยู่บนพื้นมหาสมุทร พบรอยแตกขนาดใหญ่ในบริเวณหัวเรือ ซึ่งบ่งบอกว่าเรือดำน้ำลำนี้จมลงเพราะระเบิดน้ำลึก (Depth charge) ซึ่งน่าจะมาจากเรือฮัตสึตากะของญี่ปุ่นเป็นเรือวางทุ่นระเบิดพอดี "ระเบิดน้ำลึก" เป็นอาวุธสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ (ASW) มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายเรือดำน้ำโดยการทิ้งลงไปในน้ำใกล้เคียงและทำให้เกิดการระเบิด ส่งผลให้เป้าหมายได้รับแรงกระแทกแบบไฮดรอลิกที่ทรงพลังและทำลายล้างได้ ประจุความลึกส่วนใหญ่ใช้ประจุระเบิดสูงและสายชนวนที่ตั้งไว้เพื่อทำให้เกิดการระเบิด ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ความลึกเฉพาะ ประจุความลึกสามารถทิ้งได้จากเรือ จากเครื่องบินลาดตระเวน และเฮลิคอปเตอร์

การจมลงของเรือดำน้ำ USS Lagarto แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระเบิดน้ำลึกที่ทิ้งจากเรือรบผิวน้ำ และแสดงว่าเรือผิวน้ำก็มีศักยภาพในการทำลายเรือดำน้ำที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ ในเวลานั้น กองทัพเรือไทยมีอาวุธปราบเรือดำน้ำอย่างเดียวคือ ลูกระเบิดลึกที่ซื้อมาจากญี่ปุ่นก่อนสงคราม และไม่มีเครื่องมือค้นหาเรือดำน้ำ เช่น โซนาร์หรือเครื่องฟังเสียงใต้น้ำเลย การค้นหาเรือดำน้ำใช้การตรวจการณ์ด้วยสายตาอย่างเดียว จึงไม่ได้ผล เพราะส่วนมากเรือดำน้ำจะดำอยู่ใต้น้ำในเวลากลางวัน จะโผล่ขึ้นมายิงทำลายเรืออื่น เมื่อเห็นว่าไม่มีเครื่องบินหรือเรือรบอยู่ใกล้ ๆ เรือดำน้ำของต่างชาติที่เข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรือที่มีระวางขับน้ำเหนือน้ำประมาณ 1,500 ตัน ทั้งสิ้น ดังนั้นที่มีการกล่าวว่า เรือดำน้ำขนาดใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ จึงเป็นคำกล่าวที่ห่างไกลจากข้อเท็จจริงมาก

นายทหารเรือท่านหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จักและนับถือคือ พล.ร.อ.ชัชวาลย์ อัมระปาล อดีต ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ ผู้บัญชาการกองเรือภาคที่ 2 และผู้บังคับการเรือหลวงปิ่นเกล้า ได้เคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งในการฝึกร่วมกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ มีการฝึกซ้อมการปราบเรือดำน้ำ โดยฝ่ายสหรัฐฯ นำเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำใหญ่มากมาร่วมฝึกซ้อมด้วย โดยลอยลำให้หมู่เรือฝึกเห็นกันชนิดจะจะ เลย พอเริ่มการฝึก เรือดำน้ำก็ดำลงใต้น้ำ เพียงไม่กี่อึดใจโซนาร์ของหมู่เรือฝึกก็ไม่สามารถตรวจจับเรือดำน้ำลำนั้นได้อีกเลย ด้วยเทคนิคยุทธวิธีที่ทหารประจำเรือดำน้ำจะทราบและปฏิบัติได้เป็นอย่างดี เรือดำน้ำจึงเป็นอาวุธที่น่ากลัวมากสำหรับเรือผิวน้ำ สำหรับประเทศอาเซียนรอบบ้านเราเกือบทุกประเทศล้วนแต่มีเรือดำน้ำประจำการแล้ว ได้แก่ เวียดนาม 6 ลำ อินโดนีเซีย 4 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ สิงคโปร์ 4 ลำ เมียนมา 2 ลำ โดยอินโดนีเซียยังอยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มอีก 5 ลำ และสิงคโปร์จัดหาเพิ่มอีก 4 ลำ

โดรนยูเครน ทะลวง!! ฐานทัพลึกในแดนรัสเซีย สั่นคลอน!! โครงสร้างกองทัพอากาศ ที่ทรงพลัง

(3 มิ.ย. 68) ในยามที่สงครามยูเครน–รัสเซียดำเนินเข้าสู่ปีที่สาม ท่ามกลางสมรภูมิที่ยืดเยื้อและเส้นแนวรบที่ดูเหมือนหยุดนิ่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กลับเกิดขึ้นไม่ใช่ที่แนวหน้าแต่ลึกเข้าไปในแผ่นดินรัสเซียเอง ปลายเดือนพฤษภาคม 2025 ยูเครนได้เปิดปฏิบัติการลับที่มีชื่อรหัสว่า “Operation Spider’s Web” หรือ “ปฏิบัติการใยแมงมุม” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการโจมตีที่กล้าหาญ ซับซ้อน และมีระยะลึกที่สุดนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้น โดรนกว่า 100 ลำถูกส่งเข้าไปถล่มฐานทัพอากาศหลักของรัสเซียหลายแห่ง ครอบคลุมระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตรจากแนวรบ โดยมีเป้าหมายหลักคือเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแสนยานุภาพนิวเคลียร์และยุทธศาสตร์การป้องปรามของเครมลิน ความสำเร็จของยูเครนในการทำลายเครื่องบินจำนวนมากภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไม่เพียงสั่นคลอนโครงสร้างกองทัพอากาศรัสเซียแต่ยังเผยให้เห็นจุดเปราะบางในระบบป้องกันภัยทางอากาศที่รัสเซียเคยเชื่อว่าทรงพลัง 

ปฏิบัติการ "ใยแมงมุม" ไม่ใช่แค่การโจมตีทางทหารธรรมดา แต่เป็นผลงานการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่มีการเตรียมตัวอย่างละเอียดและซับซ้อนยาวนานกว่า 18 เดือน โดยมีหน่วยข่าวกรองและฝ่ายยุทธศาสตร์ของยูเครนเป็นผู้วางแผนหลัก พร้อมการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีและวาซิล มาลยุกหัวหน้าหน่วยความมั่นคงแห่งชาติ (SBU) การวางแผนนี้ครอบคลุมตั้งแต่การเลือกเป้าหมาย การสำรวจพื้นที่เป้าหมายเชิงลึกไปจนถึงการพัฒนาวิธีการลักลอบนำโดรนเข้าไปยังดินแดนรัสเซียอย่างลับๆ โดยไม่มีการตรวจจับ การเลือกเป้าหมายไม่ได้สุ่มสี่สุ่มห้าแต่เน้นไปที่ฐานทัพอากาศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สูงสุด 

โดยปฏิบัติการ "ใยแมงมุม" มีเป้าหมายหลักในการโจมตีฐานทัพอากาศและศูนย์กลางยุทธศาสตร์ที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของกองทัพอากาศรัสเซีย โดยเฉพาะฐานทัพที่เก็บรักษาเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลรุ่น Tu-95, Tu-160 และเครื่องบินตรวจการณ์ A-50 ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีศักยภาพในการทำลายล้างสูงและมีบทบาทสำคัญในแผนการรุกทางอากาศของรัสเซียต่อยูเครนและพันธมิตรฐานทัพที่ถูกโจมตี ได้แก่

1)    Dyagilevo — หนึ่งในฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญสำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล
2)    Belaya — ฐานทัพที่มีเครื่องบินตรวจการณ์และยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการสนับสนุนปฏิบัติการทางอากาศ
3)    Ivanovo Severny — ฐานทัพที่เชื่อมโยงกับระบบยุทธศาสตร์นิวเคลียร์
4)    Olenya — ฐานทัพที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เหนือคาบสมุทรคารา
5)    Ukrainka — ฐานทัพในแถบตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศ

การเลือกโจมตีฐานทัพเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายเพื่อทำลายเครื่องบินและอาวุธเท่านั้นแต่ยังเพื่อสร้างความเสียหายเชิงจิตวิทยา ทำลายความเชื่อมั่นของกองทัพรัสเซีย และแสดงศักยภาพของยูเครนในการเข้าถึงและโจมตีเป้าหมายที่ลึกและอันตรายที่สุดในดินแดนศัตรู

ตามรายงานจากทางการยูเครนปฏิบัติการนี้ทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดและยุทโธปกรณ์ของรัสเซียได้รับความเสียหายอย่างหนักรวมกว่า 40 ลำ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 34% ของฝูงบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลทั้งหมดของรัสเซียนับเป็นการทำลายขุมกำลังทางอากาศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อศักยภาพทางทหารของรัสเซีย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปฏิบัติการนี้ประสบความสำเร็จคือการใช้โดรนขนาดเล็กแบบ FPV (First-Person View) ที่มีความแม่นยำสูง โดยโดรนเหล่านี้มีระบบกล้องติดตั้งเพื่อให้ผู้ควบคุมสามารถมองเห็นเส้นทางแบบเรียลไทม์และนำทางโดรนเข้าโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ โดยบางรุ่นมีการติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยในการนำทางและหลีกเลี่ยงระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย โดรนเหล่านี้มีต้นทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ต้นทุนเฉลี่ยต่อโดรนอยู่ที่ประมาณเท่ากับ iPhone 16 Pro หนึ่งเครื่องทำให้ยูเครนสามารถผลิตและส่งโดรนออกปฏิบัติการจำนวนมากได้โดยไม่เป็นภาระหนักทางเศรษฐกิจและยังสามารถเปลี่ยนแผนหรือเพิ่มจำนวนโดรนได้อย่างยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพื่อให้โดรนสามารถเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายในรัสเซียได้อย่างลับ ๆ โดรนจำนวนมากถูกลักลอบขนส่งโดยซ่อนอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ไม้บนรถบรรทุกที่ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดภายในรัสเซีย จำนวนโดรนในแต่ละตู้ประมาณ 36 ลำ โดยเมื่อถึงเวลาปฏิบัติการ หลังคาของตู้จะถูกเปิดออกโดยระบบอัตโนมัติให้โดรนทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าและมุ่งหน้าโจมตีเป้าหมายอย่างพร้อมเพรียง การควบคุมโดรนเป็นแบบระยะไกลโดยใช้เครือข่าย Wi-Fi ภายในพื้นที่ลับของรัสเซียเพื่อให้การสั่งการมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการใช้การประสานงานระหว่างโดรนหลายสิบลำพร้อมกันเพื่อโจมตีเป้าหมายในหลายจุดพร้อมกัน สร้างความสับสนและล้มเหลวของระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย การผสมผสานระหว่างการวางแผนยุทธศาสตร์เชิงลึก, เทคโนโลยีโดรน ขนาดเล็กและอัจฉริยะและกลยุทธ์การลำเลียงที่แนบเนียนนี้เองที่ทำให้ Operation Spider’s Web กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในสงครามยูเครน-รัสเซีย และอาจเป็นกรณีศึกษาสำคัญของสงครามยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีราคาไม่แพงแต่มีประสิทธิภาพสูงเปลี่ยนสมดุลความได้เปรียบทางทหารได้อย่างไม่คาดคิด

ปฏิบัติการใยแมงมุมก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญสามารถวิเคราะห์ได้เป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้

1) ด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร: ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้รัสเซียต้องทบทวนและปรับปรุงระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีช่องโหว่ใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อว่าปลอดภัยจากการโจมตีลึกแบบนี้ การสูญเสียเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลจำนวนมากยังทำให้รัสเซียมีศักยภาพทางยุทธศาสตร์ที่ลดลงอย่างมากโดยเฉพาะในการโจมตีเป้าหมายระยะไกลในยุโรปและเอเชีย
2) ด้านจิตวิทยาและขวัญกำลังใจ: การโจมตีครั้งนี้ส่งผลกระทบหนักต่อขวัญกำลังใจของทหารรัสเซียและผู้นำรัฐบาล เนื่องจากแสดงให้เห็นว่ารัสเซียยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่และถูกโจมตีลึกถึงฐานทัพสำคัญ นอกจากนี้ยังสร้างความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนรัสเซียที่ติดตามข่าวสารสงคราม
3) ด้านการเมืองระหว่างประเทศ: การโจมตีเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญก่อนการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนและรัสเซียในอิสตันบูลเพียงหนึ่งวัน จึงถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงความแข็งแกร่งและความมุ่งมั่นของยูเครนพร้อมบีบให้รัสเซียต้องทบทวนยุทธศาสตร์และแนวทางการเจรจา
4) ด้านบทเรียนสงครามยุคใหม่: ปฏิบัติการนี้ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของสงครามยุคใหม่ ที่เทคโนโลยีโดรนขนาดเล็กและราคาถูก สามารถสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อยุทโธปกรณ์ราคาแพงและระบบป้องกันภัยที่ทันสมัย

ในเบื้องต้นรัสเซียได้สั่งให้หน่วยงานความมั่นคงและกองทัพอากาศเร่งเสริมสร้างและปรับปรุงระบบป้องกันภัยทางอากาศในทุกระดับโดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนระบบเรดาร์ตรวจจับโดรนขนาดเล็กและระบบต่อต้านโดรนแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการติดตั้งระบบยิงสกัดโดรนด้วยเลเซอร์และอาวุธอัตโนมัติเพื่อสร้างเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงนี้ยังรวมถึงการยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบเส้นทางเข้าออกและการควบคุมการจราจรทางอากาศในพื้นที่ใกล้ฐานทัพพร้อมทั้งเพิ่มกำลังพลรักษาความปลอดภัยรอบฐานอย่างเข้มงวด

หลังจากการโจมตีฐานทัพอากาศสำคัญของรัสเซียโดยโดรนยูเครนในปฏิบัติการ "ใยแมงมุม" รัสเซียตอบโต้ด้วยความรุนแรงอย่างรวดเร็วและหนักหน่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีเมืองหลวงเคียฟซึ่งกลายเป็นเป้าหมายหลักของการแก้แค้นในระดับยุทธศาสตร์ กองทัพรัสเซียได้เปิดฉากโจมตีด้วยขีปนาวุธระยะไกลและขีปนาวุธนำวิถีแบบครุยซ์ (Cruise missiles) และโดรนติดระเบิด (loitering drones) จำนวนมากยิงเข้าหาเป้าหมายสำคัญในเมืองหลวงเคียฟ เช่น ระบบไฟฟ้าและพลังงานในเมืองเคียฟทำให้หลายพื้นที่ในเคียฟดับไฟฟ้าหลายชั่วโมงถึงวัน สถานีรถไฟและศูนย์กลางการคมนาคมเพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายกำลังและเสบียง อาคารสำนักงานรัฐบาลและศูนย์สื่อสารเพื่อทำลายการประสานงานและลดประสิทธิภาพของการบริหารจัดการภาวะวิกฤต พื้นที่ที่มีการรวมตัวของประชาชนและพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญเพื่อสร้างความหวาดกลัวและกดดันรัฐบาลยูเครน ผลจากการโจมตีทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากในหมู่ประชาชนพลเรือนรวมถึงการทำลายระบบสาธารณูปโภคที่ทำให้ชีวิตประจำวันของประชาชนในเคียฟเข้าสู่ภาวะวิกฤต การโจมตีนี้มีเป้าหมายชัดเจนในการทำลายขวัญกำลังใจและสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนยูเครนเพื่อบีบให้รัฐบาลยูเครนต้องยอมจำนนในการเจรจาสันติภาพ นอกจากนี้ยังเป็นสัญญาณเตือนถึงความสามารถและความตั้งใจของรัสเซียในการใช้กำลังอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของตนในมุมมองทางการทหารการโจมตีเคียฟอย่างหนักยังเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจและกำลังของยูเครนออกจากแนวรบตะวันออกและภาคใต้ เพื่อเปิดช่องให้กองทัพรัสเซียเสริมกำลังและเคลื่อนพลในพื้นที่อื่น โดยกองทัพรัสเซียได้เร่งส่งกำลังเสริมและยุทโธปกรณ์เข้าพื้นที่แนวหน้าพร้อมประกาศเสริมสร้างความแข็งแกร่งในแนวรบเพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมให้ยูเครนได้เปรียบหรือปล่อยให้สถานการณ์บานปลาย 

ทางการรัสเซียได้ใช้สื่อรัฐในการรายงานและตีความเหตุการณ์ในลักษณะที่ลดทอนความเสียหายและเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งของกองทัพรัสเซีย โดยมีการโจมตียูเครนในแง่ลบว่าเป็นผู้ก่อกวนและพยายามทำลายเสถียรภาพของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการประณามชาติตะวันตกที่สนับสนุนยูเครนว่าเป็นผู้ปลุกปั่นความขัดแย้งและสนับสนุนการก่อการร้ายผ่านเทคโนโลยีโดรน จนเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับชาติพันธมิตรตะวันตกยิ่งตึงเครียดมากขึ้น

บทสรุป
ปฏิบัติการ “ใยแมงมุม” เป็นอีกบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาดและเทคโนโลยีขั้นสูงของกองทัพยูเครนในการใช้โดรนโจมตีฐานทัพอากาศลึกในรัสเซียอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพโดยผ่านการวางแผนอย่างรอบคอบใช้ข้อมูลข่าวกรองขั้นสูงและระบบสื่อสารที่ซับซ้อน ทำให้สามารถทะลวงเข้าไปโจมตีเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่เคยถูกมองว่าปลอดภัย ผลจากปฏิบัติการนี้ได้สร้างความเสียหายทั้งด้านกำลังรบและขวัญกำลังใจของกองทัพรัสเซีย รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้รุนแรงอย่างการโจมตีเคียฟที่หนักหน่วง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของสงครามที่ขยายวงกว้างและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนอกจากนี้ ปฏิบัติการใยแมงมุมยังเผยให้เห็นบทบาทสำคัญของพันธมิตรตะวันตกและประเทศใกล้เคียง เช่น ฟินแลนด์ที่ช่วยสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวกรองและเทคโนโลยี ทำให้ยูเครนมีเครื่องมือและความได้เปรียบในสมรภูมิทางเทคโนโลยี โดยรวมแล้วปฏิบัติการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการโจมตีทางทหารที่มีประสิทธิภาพแต่ยังสะท้อนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำสงครามในยุคใหม่ ที่ผสมผสานเทคโนโลยี การข่าว และกลยุทธ์ระดับสูงเพื่อสร้างความได้เปรียบในสมรภูมิที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

‘รัฐบาลฮุน มาเน็ต’ กำลังอยู่ในภาวะกดดันอย่างสูง ปชช. เริ่มตั้งคำถาม กัมพูชายังเป็นของคนกัมพูชาหรือไม่

(2 มิ.ย. 68) ว่าด้วยเรื่อง การเมืองกัมพูชา ....

ถ้าจะเล่าเรื่องนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ ต้องบอกก่อนว่า ตอนนี้รัฐบาลฮุน มาเน็ตกำลังอยู่ในภาวะกดดันอย่างสูง เพราะถูกจับตามองว่าอาจจะสืบทอดนโยบายของฮุน เซน พ่อของเขา ที่ถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่ามีความใกล้ชิดและพึ่งพาเวียดนามมากเกินไป

1. การใช้แผนที่ของเวียดนามในการกำหนดเขตแดน
หนึ่งในประเด็นที่สร้างแรงกระเพื่อมในกัมพูชาอย่างเงียบเชียบ แต่รุนแรงในความรู้สึกของประชาชน คือการที่รัฐบาลเลือกใช้ “แผนที่ที่เวียดนามจัดทำขึ้น” ในการเจรจากำหนดแนวชายแดนแทนที่จะใช้แผนที่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นหลักฐานมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ
การเปลี่ยนแปลงเชิงเทคนิคนี้ กลับมีผลทางยุทธศาสตร์มหาศาล เพราะแผนที่เวียดนามมีแนวเขตที่ “รุกล้ำเข้ามา” ในฝั่งกัมพูชาหลายจุด โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดทางภาคตะวันออก ได้แก่ รัตนคีรี, มณฑลคีรี, กระแจะ และสตึงเตรง — ซึ่งบังเอิญเป็นพื้นที่เดียวกับที่เกิด “ข่าวลือแรง” เมื่อกลางปี 2024 ว่า รัฐบาลที่นำโดยตระกูลฮุน ได้ “ยกพื้นที่เหล่านี้ให้เวียดนามโดยพฤตินัย”
แม้รัฐบาลจะไม่ได้ประกาศใด ๆ อย่างเป็นทางการ แต่การใช้แผนที่ฝ่ายตรงข้ามในการปักหมุดพรมแดน การปล่อยให้บริษัทเวียดนามเข้ามาถือครองที่ดินจำนวนมาก และการไม่เปิดเผยข้อมูลเจรจาแนวเขตแดน กลับทำให้ข่าวลือนี้ดู “ไม่เกินจริง” ในสายตาประชาชน
ยิ่งไปกว่านั้น รายงานภาคประชาสังคมและ NGO หลายแห่งยังระบุว่า มีหมู่บ้านในเขตชายแดนที่ถูกเวียดนาม “วางหลักเขตทับ” โดยที่ชาวบ้านกัมพูชาไม่สามารถคัดค้านได้ เพราะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเองก็อ้างว่า “เป็นไปตามแผนที่รัฐ” ซึ่งไม่มีใครเคยเห็น

2. สัมปทานที่ดินขนาดใหญ่ให้กับบริษัทเวียดนาม
มีการให้สัมปทานที่ดินในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 40,000 เฮกตาร์แก่บริษัทเวียดนาม เช่น HAGL ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกองทัพเวียดนามโดยตรง พื้นที่เหล่านี้ครอบคลุมป่าไม้ ที่ทำกิน และชุมชนของชนกลุ่มน้อยที่ถูกผลักออกไปจากถิ่นฐานเดิม

3. เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เวียดนามได้ประโยชน์
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน เช่น เขต Bavet-Moc Bai กลายเป็นพื้นที่ที่ทุนจากเวียดนามเข้ามามีบทบาทสูง ทั้งในการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน และการจ้างงาน ซึ่งแรงงานกัมพูชากลับได้ค่าจ้างต่ำ และไม่มีอำนาจการต่อรองในระบบ

4. การตั้งถิ่นฐานของชาวเวียดนามในลุ่มน้ำโตนเลสาบ
พื้นที่รอบโตนเลสาบมีชุมชนชาวเวียดนามเพิ่มมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บางพื้นที่กลายเป็นชุมชนใหญ่โดยไม่มีการกำกับดูแลจากรัฐอย่างชัดเจน เรื่องนี้ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงด้านอัตลักษณ์ของประชาชนกัมพูชาในพื้นที่นั้น

5. การถอนตัวจาก CLV-DTA ยังไม่ลบข้อครหา
แม้รัฐบาลฮุน มาเน็ตจะประกาศถอนตัวจากความตกลงพัฒนาเขตเศรษฐกิจร่วมกับเวียดนามและลาว (CLV-DTA) ในปี 2024 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การทบทวนสัมปทาน การแก้ไขการถือครองที่ดิน หรือการกำหนดโครงสร้างภาษีให้ทุนต่างชาติ

6. คลองฟูนานเตโช: ทางเลือกใหม่หรือกับดักใหม่?
รัฐบาลเสนอสร้างคลองเชื่อมแม่น้ำโขงออกสู่อ่าวไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาท่าเรือเวียดนาม แต่นักวิเคราะห์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้อาจไปเพิ่มภาระหนี้ และขึ้นกับทุนจีนแทน โดยที่โครงสร้างการเจรจากับเวียดนามก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง

สม รังสี: ความเห็นต่อรัฐบาลฮุน เซน และฮุน มาเน็ต

สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านในต่างแดน เคยให้ความเห็นอย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลภายใต้ฮุน เซนได้วางนโยบายที่ทำให้เวียดนามมีอิทธิพลต่อกัมพูชามากเกินไป เขาชี้ว่าการรับรองแผนที่ของเวียดนามคือ “การยอมจำนนทางดินแดน” และการให้สัมปทานที่ดินคือ “การล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่”

ในกรณีของฮุน มาเน็ต สม รังสีแสดงความไม่มั่นใจในความตั้งใจที่จะปฏิรูประบบ เขาระบุว่า การถอนตัวจากข้อตกลง CLV-DTA อาจเป็นแค่ภาพลวงตา เพราะยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมต่อการคืนความเป็นเจ้าของประเทศให้กับประชาชน

สม รังสียังกล่าวว่า “การเปลี่ยนผู้นำแต่ไม่เปลี่ยนแนวทาง คือการคงอำนาจเก่าในรูปแบบใหม่” และ “เวียดนามไม่ต้องใช้ทหาร แต่ใช้ผู้นำของเราเป็นเครื่องมือได้หากเราไม่รู้เท่าทัน”

บทสรุป
นโยบายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับเวียดนามไม่ได้อยู่แค่ในระดับมิตรภาพระหว่างประเทศ แต่มันฝังลึกถึงระดับนโยบาย โครงสร้างเศรษฐกิจ และการถือครองที่ดิน

และแม้รัฐบาลใหม่ภายใต้ฮุน มาเน็ตจะพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ แต่ตราบใดที่ยังไม่ตอบคำถามเหล่านี้อย่างชัดเจน ข้อสงสัยของประชาชนก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม — ว่ากัมพูชายังเป็นของคนกัมพูชาหรือไม่?

ในท่ามกลางความสับสน ความเงียบ และความกลัวที่จะตั้งคำถาม มีเพียงไม่กี่เสียงที่ยังคงยืนหยัดพูดความจริง — สม รังสีคือหนึ่งในนั้น เขาคือผู้ที่รู้ทันเกมของรัฐบาลฮุน เซน และเห็นแนวโน้มล่วงหน้าว่านโยบายบางอย่างกำลังคุกคามอธิปไตยของประเทศอย่างเงียบงัน

แม้เขาจะอยู่ในต่างแดน แม้จะถูกปิดกั้นทางการเมือง แต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้คือเครื่องมือแห่งการตื่นรู้ เพื่อให้ประชาชนกัมพูชารู้ทันอำนาจ และกล้าที่จะตั้งคำถามกับคนที่เคยอ้างว่าทำเพื่อชาติ

ผู้เขียน ‘Why Nations Fail’ มอง!! ผู้นำทหารในการเมือง ยกกรณี ‘เกาหลีใต้’ สร้างชาติได้เข้มแข็ง วางรากฐานมั่นคง

(1 มิ.ย. 68) หลังจากที่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ Why Nation fail. ของ คุณ James A Robinson. ขอสรุปไว้ดังนี้ครับ

ข้าพเจ้ามองว่า " ผู้เขียน Why Nations Fail อาจเลือกเปรียบเทียบไทยกับเกาหลีใต้ เพราะต่างเคยเผชิญการล่าอาณานิคมในช่วงใกล้เคียงกัน ในหัวข้อของการนำทหารออกจากการเมืองนั้น การเปรียบเทียบต้องพิจารณาบริบทภายในที่แตกต่างกัน ไทยถูกทหารบางฝ่ายแทรกแซงตั้งแต่ ปี2475 แม้ในนามประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นจุดด่างดำของประวัติศาสตร์ ขณะที่ทหารไทยเองในยุคสมัยต่อมาก็ทำให้บ้านเมืองเจริญงอกงามได้อย่างไม่มีที่ติ ดูสิแม้แต่ เกาหลีใต้ เริ่มจากผู้นำทหารหลังยุคสงครามแต่ก็สามารถวางรากฐานรัฐเข้มแข็งได้จริง ที่เราควรสนใจจริงๆคือเราจะสร้างระบบยุติธรรมที่จัดการคนโกงได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ ชาติล่มสลาย หรือเปล่า?

‘มันฝรั่ง’ กลายเป็นดัชนีความเปราะบางของรัฐ หายาก ราคาพุ่งสูง สะท้อน!! ความล้มเหลวในความมั่นคงพื้นฐาน ของชีวิตพลเมือง

เวลาที่รัสเซียพยายามแสดงอำนาจผ่านอาวุธและการทูตพลังงาน วิกฤตเล็กๆ อย่าง “มันฝรั่ง” กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังของความเปราะบางเชิงโครงสร้างของรัฐ เมื่ออาหารหลักของประชาชนกลายเป็นของหายาก ราคาพุ่งสูง และผู้บริโภคต้องหันไปหาทางเลือกที่ด้อยคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ปรากฏการณ์นี้มิใช่เพียงปัญหาเกษตรกรรม แต่เป็นการสะท้อนความล้มเหลวของกลไกรัฐในการประกันความมั่นคงพื้นฐานของชีวิตพลเมือง

แม้จะเป็นพืชที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดในยูเรเซียแต่มันฝรั่งกลับกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักของระบบอาหารรัสเซียอย่างแน่นแฟ้นและยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรชนบทที่อาศัยมันฝรั่งเป็นแหล่งแป้งและแคลอรี่หลักที่ราคาย่อมเยา ปรุงง่าย และสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น สิ่งเหล่านี้ทำให้มันฝรั่งมีสถานะพิเศษเหนืออาหารอื่นๆ หลายชนิดในชีวิตของชาวรัสเซีย

มันฝรั่ง « картофель »  มีถิ่นกำเนิดจากเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ โดยชนพื้นเมืองอย่างอินคาเป็นผู้เพาะปลูกมานานนับพันปีก่อนที่นักสำรวจชาวยุโรปจะนำพืชชนิดนี้กลับไปยังยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 มันฝรั่งเข้าสู่จักรวรรดิรัสเซียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมีการบันทึกว่าพระเจ้าปีเตอร์มหาราช (Peter the Great) เป็นผู้นำมันฝรั่งเข้ามาจากเนเธอร์แลนด์และพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรรัสเซียเพาะปลูก แต่การรับเอาพืชชนิดนี้กลับไม่ง่าย เนื่องจากชนบทรัสเซียมีความเชื่อแบบอนุรักษนิยม หลายคนมองมันฝรั่งว่าเป็น “พืชของปีศาจ” เพราะลำต้นอยู่ใต้ดินและไม่เหมือนพืชอื่นๆ ที่เคยรู้จัก จึงเกิดกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวางจนเกิดเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อในภาษารัสเซียว่า «Картофельные бунты»  

ซึ่งแปลตรงตัวว่า "จลาจลมันฝรั่ง" หมายถึงชุดของการลุกฮือของชาวนาในจักรวรรดิรัสเซียในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในช่วง ระหว่างปี 1834–1840s ที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลพยายามบังคับให้ชาวนาปลูกมันฝรั่งซึ่งขัดกับวัฒนธรรมความเชื่อและระบบการผลิตแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น แม้ว่ามันฝรั่งจะได้รับการแนะนำเข้ามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแต่การเพาะปลูกอย่างจริงจังในระดับมวลชนเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระเจ้า ซาร์นิโคลัสที่ 1 (Nicholas I) ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1825–1855 โดยรัฐได้ส่งคำสั่งไปยังเขตต่างๆ ให้ชาวนาเพาะปลูกมันฝรั่งในสัดส่วนที่แน่นอนภายใต้แนวคิดว่าเป็นพืชที่มีผลผลิตสูงและเหมาะกับภูมิอากาศรัสเซีย รวมถึงสามารถช่วยป้องกันความอดอยากแต่สำหรับชาวนาในยุคนั้น โดยเฉพาะกลุ่ม serfs (ไพร่ที่อยู่ภายใต้เจ้าที่ดิน) มันฝรั่งเป็นสิ่งแปลกปลอม มักมองว่าเป็น "พืชปีศาจ" เพราะเจริญเติบโตใต้ดิน ไม่มีลักษณะศักดิ์สิทธิ์เหมือนข้าวสาลีหรือธัญพืชที่เกี่ยวโยงกับศาสนาและพิธีกรรม อีกทั้งยังเชื่อกันว่าอาจก่อโรคภัย 

เนื่องจากไม่รู้วิธีปรุงอย่างถูกต้อง การบังคับของรัฐโดยไม่มีการอธิบายหรือสร้างความเข้าใจประกอบกับความไม่พอใจในระบบไพร่และภาษีทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงทั่วรัสเซียตอนกลาง โดยเฉพาะในเขตเมือง Vladimir, Kazan, Nizhny Novgorod และ Kostroma เหล่าชาวนาได้รวมตัวกันเผาสำนักงานบริหารของรัฐ ทุบทำลายที่เพาะปลูกมันฝรั่งและปะทะกับเจ้าหน้าที่ การลุกฮือเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเด็นเรื่องพืชผลแต่สะท้อนถึงความรู้สึกรังเกียจรัฐ การต่อต้านอำนาจส่วนกลางและความแปลกแยกทางวัฒนธรรมระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชนพื้นบ้านซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ตลอดประวัติศาสตร์รัสเซียรัฐบาลซาร์ตอบสนองด้วยการใช้ทหารเข้าปราบปรามโดยมีผู้ถูกจับกุมหลายพันคน บางพื้นที่มีการประหารชีวิตผู้นำการจลาจล การลุกฮือถูกระงับในทางกายภาพแต่ทิ้งร่องรอยของความไม่พอใจและตอกย้ำภาพลักษณ์ของรัฐในฐานะผู้บังคับใช้มากกว่าผู้รับฟัง การจลาจลมันฝรั่งยังกลายเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์รัสเซียและตะวันตกใช้อธิบายความล้มเหลวของการปฏิรูปแบบบนลงล่างของรัสเซียในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้านอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปภายใต้แรงผลักดันของรัฐและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ มันฝรั่งก็กลายเป็นพืชสำคัญของเกษตรกรรมรัสเซีย โดยเฉพาะในช่วงสมัยโซเวียตซึ่งเน้นการผลิตอาหารภายในประเทศอย่างเข้มงวด มันฝรั่งไม่เพียงเป็นอาหารหลัก แต่ยังกลายเป็น "ขนมปังลูกที่สอง" «второй хлеб» ในวาทกรรมของโซเวียตสื่อถึงความสำคัญที่ทัดเทียมกับขนมปัง (ข้าวสาลี) ทำให้มันฝรั่งไม่ใช่เพียงอาหารราคาถูกสำหรับชนชั้นแรงงาน หากแต่ยังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของครัวเรือนเกษตรหลายล้านรายทั่วรัสเซีย โดยเฉพาะในรูปแบบ “การเพาะปลูกส่วนตัว” «личное подсобное хозяйство» ซึ่งประชาชนปลูกเองในพื้นที่เล็กๆ รอบบ้าน การปลูกมันฝรั่งจึงมีลักษณะ “กึ่งทางรอด” จากความล้มเหลวของระบบรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในทศวรรษ 1990 มันฝรั่งยังถูกใช้อย่างหลากหลายทั้งปรุงสุกเป็นอาหารประจำวัน ทำวอดก้าแบบพื้นบ้านหรือแม้กระทั่งใช้เป็นสินค้าสำหรับแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจนอกตลาด นอกจากนี้มันฝรั่งยังมีความหมายทางจิตวิญญาณในบางวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น การปลูกมันในวันสำคัญทางศาสนา เพื่อขอพรเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา มันฝรั่งคือพืชแห่งความอยู่รอด ที่พยุงชีวิตชาวรัสเซียในยามสงคราม ฤดูหนาวอันยาวนาน และความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะในช่วงสงครามโลก วิกฤตหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต หรือช่วงคว่ำบาตรหลังปี 2014 มันฝรั่งคือคำตอบของการพึ่งพาตนเอง «автономия» ในระดับครัวเรือน เป็นพืชที่ปลูกง่ายเก็บได้นานและให้พลังงานสูงในราคาต่ำ มันฝรั่งจึงเคยเป็น “สัญลักษณ์ของเสถียรภาพ” ในระบบที่ไม่เสถียร

แต่เมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ. 2024–2025 บทบาทของมันฝรั่งได้กลับหัวกลับหาง—จากสัญลักษณ์ของความมั่นคง กลายเป็นตัวชี้วัดความไม่มั่นคงเชิงโครงสร้างของรัฐรัสเซีย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ปกครอง และภูมิรัฐศาสตร์ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรรัสเซียระบุว่าผลผลิตมันฝรั่งในประเทศลดลงเหลือ 6.8 ล้านตันในปี 2024 จากระดับ 8.6 ล้านตันในปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นการหดตัวราว 21% ภายในเวลาเพียง 12 เดือน นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเกษตรกรรมแต่คือคำถามถึงสมรรถภาพของรัฐในการจัดการภัยพิบัติ ทั้งภัยแล้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร การหดตัวของผลผลิตยังบีบให้รัฐบาลต้องหันไปพึ่งการนำเข้ามันฝรั่งจากประเทศต่างๆ เช่น จีน ปากีสถาน อิหร่าน และอียิปต์ นี่คือสภาวะที่ไม่ควรเกิดขึ้นในรัฐขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่เพาะปลูกกว้างขวางเช่นรัสเซีย โดยเฉพาะเมื่อรัฐนั้นเคยใช้วาทกรรม "เศรษฐกิจแห่งการทดแทนการนำเข้า" «импортозамещение» เป็นหนึ่งในเสาหลักของยุทธศาสตร์ความมั่นคง ราคาเฉลี่ยของมันฝรั่งในตลาดภายในรัสเซียพุ่งทะลุ 60 รูเบิลต่อกิโลกรัมในบางพื้นที่ ตัวเลขที่ถือว่าสูงผิดปกติสำหรับอาหารพื้นฐานที่เคยถูกมองว่า "ไม่มีวันแพง" เมื่อพืชที่เคยเป็นหลักประกันของความอิ่มท้องกลายเป็นของแพงที่คนยากจนเอื้อมไม่ถึง มันย่อมกระทบความชอบธรรมของรัฐในการดูแลปากท้องประชาชนซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญของระบอบอำนาจนิยม

การที่รัฐต้องหันไปนำเข้ามันฝรั่งในระดับมหภาคทำให้เกิดความพึ่งพาต่อเส้นทางการค้าและพันธมิตรจากโลกนอก ซึ่งหลายประเทศที่ส่งออกให้รัสเซียในเวลานี้ (เช่น อิหร่านและอียิปต์) ก็เผชิญความไม่มั่นคงภายในเช่นกัน รัสเซียจึงเผชิญกับสภาวะ “อ่อนไหวซ้อน” (double vulnerability) ทั้งจากภายในและภายนอก นอกจากนี้ยังสะท้อนความล้มเหลวในการรักษา "อธิปไตยทางอาหาร" «продовольственный суверенитет» ซึ่งเคยเป็นวาทกรรมหลักของรัฐรัสเซียในการต่อต้านโลกาภิวัตน์เชิงตะวันตกหลังสงครามในยูเครนปี ค.ศ. 2022 การที่รัฐต้องพึ่งพาพืชผลจากประเทศอื่นแม้กระทั่งมันฝรั่งเองจึงกลายเป็นจุดอ่อนในเชิงภาพลักษณ์และยุทธศาสตร์

ในห้วงเวลาที่รัสเซียเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกการที่พืชธรรมดาอย่างมันฝรั่งกลายเป็นประเด็นระดับชาติ ไม่ใช่เพราะมันฝรั่งมีความพิเศษทางชีววิทยา แต่เพราะมันสะท้อนจุดเปราะบางของรัฐในหลายมิติพร้อมกัน มันฝรั่งคือ สัญลักษณ์ของชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่—กลุ่มประชาชนที่รัฐพยายามเรียกหาให้เสียสละเพื่อชาติในยามสงคราม แต่นโยบายของรัฐกลับไม่สามารถประกันความมั่นคงของสิ่งพื้นฐานที่สุดให้พวกเขาได้ มันฝรั่งจึงกลายเป็นภาพแทนของคำถามที่ว่า “รัฐยังฟังเสียงของประชาชนอยู่หรือไม่?” การขาดแคลนมันฝรั่งในประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกกว้างใหญ่ที่สุดในโลกบ่งชี้ถึงความล้มเหลวเชิงโครงสร้างในการบริหารจัดการทรัพยากรพื้นฐาน ทั้งในเชิงเกษตรกรรม เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง การที่ประชาชนต้องเผชิญกับราคาที่สูงขึ้นหรือการนำเข้าในวงกว้างยิ่งสะท้อนภาวะไร้อธิปไตยทางอาหารที่ขัดกับวาทกรรมรัฐที่ย้ำถึงการพึ่งพาตนเองและความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิใหม่ มันฝรั่งจึงไม่ใช่เพียงพืชผลอีกต่อไป—แต่กลายเป็นดัชนีของความเปราะบาง เครื่องวัดความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐ และกระจกสะท้อนความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างในสังคมรัสเซียยุคสงคราม เมื่อประชาชนต้องตั้งคำถามว่า “แม้แต่มันฝรั่งเรายังไม่มีพอแล้วรัฐจะนำพาเราไปสู่ชัยชนะในสมรภูมิใดได้?” นั่นคือสัญญาณว่า วิกฤตไม่ได้อยู่แค่ในแปลงเกษตร หากแต่ลุกลามเข้าสู่ความชอบธรรมของรัฐเองอย่างเลี่ยงไม่ได้

บทสรุป วิกฤตมันฝรั่งในรัสเซียปี 2024–2025 ไม่ใช่เพียงปัญหาด้านอาหารแต่เป็น “สัญญาณเตือน” ถึงความเปราะบางเชิงโครงสร้างของรัฐอำนาจนิยมที่กำลังเผชิญสงครามยืดเยื้อ เศรษฐกิจหดตัวและสังคมที่เริ่มตั้งคำถามกับความสามารถของรัฐในการดูแลปากท้องประชาชน อาหารพื้นฐานอย่างมันฝรั่งซึ่งครั้งหนึ่งเคยหล่อเลี้ยงประชาชนในภาวะสงคราม ความอดอยากและการล่มสลาย แต่ตอนนี้กลับเผยให้เห็นถึงขีดจำกัดของอำนาจรัฐในทางที่ธรรมดาที่สุดแต่ลึกซึ้งที่สุด เมื่อรัฐไม่สามารถควบคุมราคาหรือจัดการกับการขาดแคลนอาหารพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความชอบธรรมของระบอบการปกครองย่อมถูกตั้งคำถาม แม้รัฐจะมีขีปนาวุธหรือวาทกรรมภูมิรัฐศาสตร์อันยิ่งใหญ่เพียงใดแต่หากประชาชนยังต้องแย่งกันซื้อมันฝรั่งในราคาที่สูงผิดปกติ ชัยชนะในสนามรบก็อาจกลายเป็นเพียงภาพลวงตา มันฝรั่งจึงไม่ใช่เพียงพืชผลทางเกษตรอีกต่อไปหากแต่คือบททดสอบทางการเมืองที่รัฐรัสเซียจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคที่เสถียรภาพของรัฐถูกวัดจากอาหารในจานของประชาชนไม่แพ้จำนวนรถถังในขบวนสวนสนาม

‘ฮุน เซน’ สร้างเรื่อง!! เพื่อปกป้องภาพลักษณ์ ชายแดนไม่ใช่จุดจบ แต่มันคือ ‘จุดเริ่มต้น’

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 ข่าวใหญ่ที่คนทั้งสองฝั่งชายแดนต้องจับตา คือเหตุการณ์ 'ปะทะชายแดนช่องบก' ระหว่างทหารไทย-กัมพูชา เสียงปืนดังไม่ถึงสิบนาที แต่ 'เสียงการเมือง' ดังไกลเกินค่าย และหนึ่งในเสียงที่ดังกว่าคนอื่น ก็คือ 'สมเด็จฮุน เซน' ถึงแม้จะไม่ใช่นายกรัฐมนตรีแล้ว แต่เขาก็ยังโผล่หน้ากล้อง พูดชัดๆ ว่า “ตรงนี้เป็นดินแดนของเรา! ฉันเคยนั่งอยู่ตรงนี้ในปี 2009 แล้วจะไม่ใช่ของเรายังไง?”

ใครฟังก็รู้สึกว่า ฮุน เซนดูโกรธ ดูจริงจัง เหมือนกำลังจะทวงแผ่นดินคืน แต่พอเรามองให้ลึกลงไป…
สิ่งที่เขาทำ อาจไม่ใช่แค่ 'การปกป้องชายแดน' แต่มันคือ 'การปกป้องภาพลักษณ์ของตัวเองและครอบครัว' จากบางอย่างที่ใหญ่กว่านั้น...

ในประเทศกัมพูชา มีเรื่องหนึ่งที่พูดกันมานานแล้วแต่ยังไม่เคยเคลียร์ คือความใกล้ชิดของฮุน เซนกับ 'เวียดนาม' ย้อนกลับไปปี 1979 ฮุน เซนคือคนที่เวียดนาม 'เลือก' มาตั้งรัฐบาลหลังโค่นเขมรแดง นับแต่นั้นมา เขาก็มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฮานอย
บางคนบอกว่า 'เวียดนามช่วยเรา' แต่บางคนกลับมองว่า 'เวียดนามครอบงำเรา'
และนั่นแหละ คือจุดอ่อนที่ฮุน เซนหนีไม่พ้น 

เพราะเมื่อเวลาผ่านไป คนรุ่นใหม่ในกัมพูชาก็เริ่มตั้งคำถาม
ทำไมเรายังยอมเวียดนามอยู่?
ทำไมรัฐบาลถึงลงนามแนวเขตที่อาจเสียเปรียบ?
ทำไมนักลงทุนเวียดนามได้สิทธิพิเศษเยอะกว่า?
คำถามพวกนี้แรงขึ้นทุกวัน
โดยเฉพาะในโซเชียลของกลุ่มเยาวชน นักศึกษา และ NGO

แล้วฮุน เซนตอบยังไง?
แทนที่จะตอบตรงๆ…
เขาหันหน้าไปยัง 'ชายแดน' แล้วพูดว่า
> “ไทยกำลังจะมายึดแผ่นดินเรา!”
จบเลยครับ
คนหันไปสนใจเรื่องภายนอก แทนที่จะตั้งคำถามกับเวียดนาม
เหมือนเวลามีคนถามเรื่องที่เราไม่อยากตอบ เราก็ชี้ไปทางอื่นแล้วพูดว่า
> “ดูนั่นสิ ไฟไหม้!”

พูดง่ายๆ คือ...
ฮุน เซนไม่ได้กลัวไทยรุกล้ำดินแดน
แต่เขากลัว 'คนในประเทศ' จะรุกล้ำความชอบธรรมของตระกูลตัวเอง

จบตอน
เหตุการณ์ที่ชายแดน คือหมากเบี่ยงประเด็น
คำพูดแข็งกร้าว คือกำแพงป้องกันศัตรูที่มองไม่เห็น
และในขณะที่โลกกำลังมองว่าไทย-กัมพูชาจะปะทะกันไหม?
ฮุน เซนกำลังชนะอยู่เงียบๆ บนกระดานภายในบ้านของเขาเอง

รู้จัก 'Surströmming' ปลาร้าสวีเดน หนึ่งในอาหารที่มีกลิ่นแรงที่สุดในโลก!!

ทุก ๆ ประเทศบนโลกใบนี้ ต่างก็มีการถนอมอาหารด้วยการหมักดองตามวัฒนธรรมของตัวเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นจากพืชผัก อาทิ ผักกาดดองของจีน กิมจิของเกาหลี ผลไม้ดองของหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งรวมทั้งเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ แม้กระทั่งปลา เช่น ปลาเค็ม ปลาแห้ง ปลาร้า ฯลฯ ของบ้านเรา ในประเทศยุโรปเหนืออย่างสวีเดนก็มีการหมักดองปลาเพื่อเป็นการถนอมอาหารเช่นกัน

Surströmming (ซูร์สตรอมมิง) ซึ่งภาษาสวีเดนแปลว่า 'ปลาเฮอริงรสเปรี้ยว' ทำจากปลาเฮอริงทะเลบอลติกหมักเกลือเล็กน้อย Surströmming เป็นอาหารสวีเดนดั้งเดิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยปลาเฮอริงชนิดนี้แตกต่างไปจากปลาเฮอริงที่ผ่านการทอดหรือดอง ปลาเฮอริงทะเลบอลติกซึ่งในภาษาสวีเดนเรียกว่า Strömming จะมีขนาดเล็กกว่าปลาเฮอริงแอตแลนติกที่พบในทะเลเหนือ ตามธรรมเนียมแล้ว Strömming จะหมายถึงปลาเฮอริงที่จับได้ในน้ำกร่อยของทะเลบอลติกทางตอนเหนือของช่องแคบคาลมาร์ ปลาเฮอริงที่ใช้ในการทำ Surströmming จะถูกจับก่อนฤดูวางไข่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม

ในระหว่างการผลิต Surströmming จะใช้เกลือในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเฮอริงดิบเน่าเสียในขณะที่ยังหมักไม่ได้ที่ โดยกระบวนการหมักใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนซึ่งจะทำให้ปลามีกลิ่นแรงเฉพาะตัวและรสเปรี้ยวเล็กน้อย กระป๋อง Surströmming ที่เปิดใหม่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกจัดว่ามีกลิ่นเหม็นที่สุดชนิดหนึ่งของโลก กลิ่นจะเหม็นแรงยิ่งว่าอาหารหมักประเภทปลา เช่น ฮองเงอโฮเอของเกาหลี คูซายะของญี่ปุ่น หรือฮาคาร์ลของไอซ์แลนด์ ด้วยกลิ่นที่เหม็นอย่างรุนแรงทำให้ Surströmming กลายเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่บรรดานักชิมต้องได้ลิ้มลอง

ในช่วงปลายทศวรรษปี 1940 ผู้ผลิต Surströmming ในสวีเดนได้ล็อบบี้ให้มีพระราชกฤษฎีกา Förordning เพื่อป้องกันไม่ให้ขายปลาหมักไม่สมบูรณ์ พระราชกฤษฎีกาที่ออกนั้นห้ามขายผลผลิตของปีปัจจุบันในสวีเดนก่อนวันพฤหัสบดีที่สามของเดือนสิงหาคม แม้ว่าปัจจุบันพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม แต่ผู้ค้าปลีก Surströmming ยังคงกำหนดวัน "เปิดตัว" ของปลาที่จับได้ในปีนั้นตามที่เคยมีการกำหนดไว้ Surströmming ต่างจาก Anchovy (แอนโชวี่) ซึ่งทำปลาทะเลขนาดเล็กจำพวกปลากะตัก มักจะถูกนำมาหมักเค็มแล้วแช่ในน้ำมันมะกอกเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารต่าง ๆ Anchovy มีรสชาติเค็มจัดและกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ปลาหมักเป็นอาหารหลักดั้งเดิมของยุโรป การค้นพบทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการหมักปลามีอายุ 9,200 ปี และมีต้นกำเนิดมาจากทางใต้ของสวีเดนในปัจจุบัน ตัวอย่างล่าสุดได้แก่ การุม ซึ่งเป็นน้ำปลาหมักที่ทำโดยชาวกรีกและโรมันโบราณ และซอสวูสเตอร์เชอร์ ซึ่งมีปลาหมักผสมอยู่ด้วย การถนอมปลาโดยการหมักในน้ำเกลือเจือจางอาจพัฒนาขึ้นเมื่อการหมักยังมีราคาแพงจากต้นทุนของเกลือ แต่ในยุคปัจจุบัน ปลาจะถูกหมักในน้ำเกลือเข้มข้นก่อนเพื่อดึงเลือดออกมา จากนั้นหมักในน้ำเกลือเจือจางในถังก่อนจะบรรจุลงกระป๋อง

ขั้นตอนการบรรจุกระป๋องซึ่งนำมาใช้ในศตวรรษที่ 19 ทำให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในร้านค้าและเก็บไว้ในบ้านได้ ในขณะที่ก่อนหน้านี้ ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการจัดเก็บในถังไม้ขนาดใหญ่และถังขนาดเล็กขนาด 1 ลิตร การบรรจุกระป๋องยังทำให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางตอนใต้ของสวีเดนได้อีกด้วย โดยการหมักเกิดขึ้นผ่านการสลายตัวเองและเริ่มต้นจากเอนไซม์กรดแลกติกในกระดูกสันหลังของปลา ร่วมกับแบคทีเรีย กรดที่มีกลิ่นฉุนจะก่อตัวขึ้น เช่น กรดโพรพิโอนิก กรดบิวทิริก และกรดอะซิติก นอกจากนี้ยังมีการเกิดไฮโดรเจนซัลไฟด์ โดยเกลือจะเพิ่มแรงดันออสโมซิสของน้ำเกลือเหนือโซนที่แบคทีเรียที่ทำให้เกิดการเน่าสามารถเจริญเติบโตได้ และป้องกันการสลายตัวของโปรตีนเป็นโอลิโกเปปไทด์และกรดอะมิโนในทางกลับกัน สภาวะออสโมซิสทำให้แบคทีเรียฮาลาเนอโรเบียม เช่น H. praevalens เจริญเติบโตและย่อยสลายไกลโคเจนของปลาเป็นกรดอินทรีย์ ทำให้มีรสเปรี้ยว (เป็นกรด) ซึ่งจะถูกกระตุ้นหากสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ และความเข้มข้นของน้ำเกลือเหมาะสม อุณหภูมิต่ำในสวีเดนตอนเหนือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลต่อลักษณะของผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนสุดท้าย

Surströmming แต่ละกระป๋องด้านบนจะโป่งออกอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากก๊าซที่หมักหมมอยู่ภายในปลาเฮอริ่งจะถูกจับในเดือนเมษายนและพฤษภาคม เมื่อพวกมันอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดและกำลังจะวางไข่ โดยที่ตัวยังไม่อ้วนโต ปลาจะถูกนำไปแช่ในน้ำเกลือเข้มข้นประมาณ 20 ชั่วโมงเพื่อดึงเลือดออกมา หลังจากนั้นจึงนำหัวและไส้ออก แล้วจึงนำปลาไปแช่ในน้ำเกลือที่เจือจางลง ถังจะถูกวางไว้ในห้องควบคุมอุณหภูมิที่อุณหภูมิ 15–20 °C (59–68 °F) การบรรจุกระป๋องจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมและต่อเนื่องไปอีก 5 สัปดาห์ ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจะถูกจัดส่งไปยังผู้ค้าส่งก่อนกำหนดเวลาเปิดฤดูกาลจำหน่ายราว 10 วัน

ก่อนที่จะมีการพัฒนาวิธีการบรรจุกระป๋องสมัยใหม่ Surströmming จะถูกขายในถังไม้เพื่อบริโภคทันที เนื่องจากแม้แต่ถังขนาดเล็กก็อาจรั่วได้ การหมักดำเนินต่อไปในกระป๋อง ทำให้กระป๋องพองออกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นสัญญาณของเชื้อโบทูลิซึมหรืออาหารเป็นพิษอื่น ๆ ในอาหารกระป๋องที่ไม่ได้ผ่านการหมัก แบคทีเรียฮาลาเนอโรเบียมเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการสุกในกระป๋อง แบคทีเรียเหล่านี้ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์และสารประกอบหลายชนิดที่ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัว ได้แก่ กลิ่นฉุน (กรดโพรพิโอนิก) ไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) เนยหืน (กรดบิวทิริก) และกลิ่นน้ำส้มสายชู (กรดอะซิติก) เนื่องมาจากก๊าซเหล่านี้ ในปี 2014 ระหว่างที่เกิดไฟไหม้ที่โกดังสินค้าในสวีเดน Surströmming หนึ่งพันกระป๋อเกิดระเบิดขึ้นภายในระยะเวลาหกชั่วโมง

Surströmming มีขายในร้านขายของชำทั่วประเทศสวีเดน ตามรายงานจากสถิติ Surströmming Academy ในปี 2009 ระบุว่า มีผู้คนราว 2 ล้านคนที่ทาน Surströmming ทุกปี การส่งออก Surströmming ของสวีเดนคิดเป็นเพียง 0.2% ของ Surströmming ที่ผลิตได้ทั้งหมด แม้ผู้คนมากมายไม่ชอบ Surströmming แต่ก็เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสวีเดนตอนเหนือมากกว่าในส่วนอื่นๆ ของประเทศ ในปี 2023 ซึ่งเป็นช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปริมาณปลาเฮอร์ริ่งบอลติกและปลาเฮอร์ริ่งอื่นๆ ที่ชาวประมงสวีเดนจับได้ลดลงอย่างมาก การประมงปลาเฮอร์ริ่งบอลติกถูกใช้ไม่ยั่งยืนมาตั้งแต่ยุคกลาง และการทำประมงมากเกินไปทำให้ประชากรปลาใกล้จะล่มสลาย ด้วยจำนวนการจับที่ต่ำเช่นนี้ ผู้ค้าปลีกจึงสามารถขายหมดสต็อกทั้งหมดภายในไม่กี่นาทีหลังจากการเปิดตัว Surströmming ประจำปี

Surströmming กับมันฝรั่งและหัวหอมบนขนมปังแบนสไตล์สวีเดนที่ทาเนย เสิร์ฟพร้อมนมหนึ่งแก้ว ชาวสวีเดนมักจะรับประทาน Surströmming หลังจากวันพฤหัสบดีที่สามของเดือนสิงหาคม ซึ่งเรียกว่า "วัน Surströmming" จนถึงต้นเดือนกันยายน เนื่องจากมีกลิ่นแรง จึงมักรับประทานกลางแจ้ง กระป๋องที่มีแรงดันมักจะถูกเปิดกลางแจ้งและห่างจากโต๊ะอาหาร โดยมักจะเจาะกระป๋องในขณะที่แช่อยู่ในถังน้ำ หรือหลังจากเคาะและเอียงกระป๋องขึ้น 45 องศา เพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซที่พุ่งออกมาจากน้ำเกลือรั่วออกมา Surströmming มีทั้งแบบไม่ได้ควักไส้และเอาเฉพาะหัวออก โดยปลาจะถูกควักไส้ก่อนรับประทาน และบางครั้งกระดูกสันหลังและบางครั้งก็ลอกหนังออก ไข่ปลาจะถูกรับประทานพร้อมกับปลา

เนื่องจาก Surströmming ทำมาจากปลาเฮอริ่งที่มาจากทะเลบอลติก ปัจจุบันจึงมีไดออกซินและ PCB ในปริมาณที่สูงกว่าที่สหภาพยุโรปอนุญาต สวีเดนได้รับข้อยกเว้นสำหรับกฎเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2002 ถึงปี 2011 จากนั้นจึงยื่นขอต่ออายุข้อยกเว้น ผู้ผลิตกล่าวว่าหากใบสมัครถูกปฏิเสธ พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ใช้ปลาเฮอริงที่มีความยาวไม่เกิน 17 เซนติเมตร (6.7 นิ้ว) เท่านั้น เนื่องจากปลาเฮอริงมีปริมาณน้อยกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อความพร้อมจำหน่ายของปลาเฮอริง หลังจากที่ Surströmming ได้รับการยอมรับว่าเป็นอาหารที่มีกลิ่นแรงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ในปี 1981 เจ้าของบ้านชาวเยอรมันได้ขับไล่ผู้เช่าออกไปโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าหลังจากที่ผู้เช่าได้ราดน้ำเกลือ Surströmming ลงในช่องบันไดของอาคารอพาร์ตเมนต์ เมื่อเจ้าของบ้านถูกนำตัวขึ้นศาล ศาลได้ตัดสินว่าการยุติสัญญาเป็นเหตุเป็นผลหลังจากที่ฝ่ายเจ้าของบ้านได้แสดงหลักฐานโดยเปิดกระป๋องในห้องพิจารณาคดี ศาลได้สรุปว่าศาลได้ "โน้มน้าวตัวเองว่ากลิ่นปลาที่น่ารังเกียจนั้นเหม็นเกินกว่าที่ผู้เช่าร่วมในอาคารจะสามารถทนได้"

ในเดือนเมษายน 2006 สายการบินหลักหลายแห่ง (เช่น แอร์ฟรานซ์ บริติชแอร์เวย์ ฟินน์แอร์ และเคแอลเอ็ม) ห้ามนำ Surströmming ขึ้นเครื่องบิน โดยอ้างว่าปลากระป๋องอัดแรงดันอาจระเบิดได้ ต่อมาการขายปลาชนิดนี้ก็ถูกยกเลิกที่สนามบินสตอกโฮล์มอาร์ลันดา ผู้ที่เป็นผู้ผลิตปลาชนิดนี้กล่าวว่าการตัดสินใจของสายการบินนี้ "ขาดความรู้ด้านวัฒนธรรม" โดยอ้างว่าเป็น "ปลากระป๋องระเบิดได้เป็นเพียงตำนาน" เท่านั้น วันที่ 4 มิถุนายน 2005 พิพิธภัณฑ์ Surströmming แห่งแรกของโลกได้เปิดทำการในเมืองสเคปส์มาเลน ห่างจากเมืองเอิร์นเคิลด์สวิกซึ่งเป็นเมืองที่ปลายสุดทางเหนือของไฮโคสต์ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 20 กม. (12 ไมล์) ชื่อของพิพิธภัณฑ์คือ "ฟิสเควิสเทต" (แปลว่า 'ค่ายปลา')

ภูมิรัฐศาสตร์แห่งความกลัวในอดีต คือเหตุผล ทำไมรัสเซียต้องการเขตกันชน

“Russia is never as strong as she looks; Russia is never as weak as she looks.” เป็นประโยคคลาสสิกของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลรัฐบุรุษและอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษที่สะท้อนความซับซ้อนของรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง โดยเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลพยายามบอกว่าภาพลักษณ์ของรัสเซียในสายตาชาวโลกนั้นมักจะ “หลอกตา” เสมอ ภายนอกรัสเซียอาจดูเข้มแข็ง แข็งกร้าวและทรงอิทธิพล แต่เมื่อเข้าไปดูภายในอาจพบกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคมและโครงสร้างการเมือง ในทางกลับกันรัสเซียอาจดูอ่อนแอหรือไร้อำนาจในบางช่วงเวลาแต่กลับฟื้นคืนมาได้อย่างรวดเร็วและใช้อำนาจในแบบที่คาดไม่ถึง ประโยคนี้จึงบ่งบอกว่าการทำความเข้าใจรัสเซียในฐานะรัฐและคู่แข่งในเวทีโลกจำเป็นต้องมองลึกไปกว่าภาพลักษณ์ภายนอก เพราะความแข็งแกร่งและความอ่อนแอของรัสเซียอยู่ในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงและซับซ้อน สะท้อนถึงความเป็นรัฐที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ความหวาดระแวงเชิงโครงสร้างและยุทธศาสตร์ที่สร้างสมดุลระหว่างความกลัวและความทะเยอทะยาน

ในสายตาของรัสเซีย “พรมแดน” ไม่ได้เป็นเพียงเส้นแบ่งทางกายภาพระหว่างรัฐหากแต่เป็นแนวปะทะระหว่างอำนาจ ประวัติศาสตร์และความทรงจำเชิงอารยธรรม การที่พรมแดนรัสเซีย–ยูเครนเคยเป็น “พรมแดนภายใน” ของจักรวรรดิโซเวียตยิ่งทำให้การเปลี่ยนสถานะจาก “พรมแดนระหว่างรัฐ” กลายเป็นบาดแผลเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่รัสเซียไม่อาจยอมรับโดยง่าย ความขัดแย้งในยูเครนจึงไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หรือผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้นแต่เป็นผลสะสมของความตึงเครียดระหว่างแนวคิด “ยูเรเซีย” ของรัสเซียกับการขยายตัวของโลกตะวันตกผ่านนาโต้และอียู การที่ยูเครนเริ่มโน้มเอียงไปทางตะวันตกหลังปี ค.ศ. 2014 ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อ “สนามอิทธิพลเชิงประวัติศาสตร์” ของรัสเซียและอาจนำไปสู่การปรากฏตัวของกองกำลังนาโต้ใกล้พรมแดนตะวันตกของตน พรมแดนยูเครนจึงกลายเป็นพื้นที่ “ไม่เคยนิ่ง” ทั้งทางกายภาพ (ด้วยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ยึดครอง เช่น ไครเมีย ดอนบาส ฯลฯ) และทางความหมาย (จากพรมแดนแห่งมิตรภาพในอดีตสู่พรมแดนของภัยคุกคามในปัจจุบัน) สิ่งนี้สะท้อนแนวโน้มในประวัติศาสตร์ของรัสเซียที่มักมอง “พรมแดนมั่นคง” ว่าหมายถึง “พรมแดนที่ไกลออกไปจากศัตรู” ไม่ใช่เพียงการป้องกันแต่คือการขยายอิทธิพลไปให้พ้นจากเขตเสี่ยงภัย ในความหมายนี้ เขตกันชน (buffer zone) ที่รัสเซียต้องการจึงไม่ใช่เพียงยุทธวิธีเชิงทหารแต่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การนิยามตนเองในโลกหลังสงครามเย็น

ในภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียความกลัวไม่ได้เป็นเพียงอารมณ์เชิงปัจเจกหากแต่เป็น “โครงสร้างทางความคิด” (structural fear) ที่ฝังลึกอยู่ในจิตสำนึกของรัฐ มันคือมรดกของประวัติศาสตร์ การล่มสลายของจักรวรรดิและการถูกรุมล้อมจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง ความกลัวในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์เฉพาะหน้าแต่มาจากประสบการณ์ที่สะสมและกลายเป็นแนวคิดหลักในการกำหนดนโยบายความมั่นคงของประเทศ นับตั้งแต่ยุคจักรวรรดิรัสเซียรัฐแห่งนี้เผชิญกับภัยจากรอบทิศ ทั้งจากโปแลนด์ ลิทัวเนียในยุคต้น จากฝรั่งเศสในยุคนโปเลียน จากเยอรมนีในสองสงครามโลกและจากสหรัฐและนาโต้ในโลกยุคหลังสงครามเย็น ผลลัพธ์ก็คือแนวโน้มที่จะมองภัยคุกคามเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างและเชื่อว่าการรักษาความมั่นคงต้องไม่พึ่งเพียงการป้องกันแต่ต้อง “สร้างระยะห่าง” ระหว่างศัตรูกับใจกลางอำนาจของตน ความกลัวเชิงโครงสร้างนี้ยังสะท้อนอยู่ในโลกทัศน์ของชนชั้นนำรัสเซียทั้งในคำพูดของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินที่วิจารณ์นาโต้ว่า “หลอกลวง” รัสเซียหลังการล่มสลายของโซเวียตไปจนถึงแนวคิดของนักคิดสายยูเรเซียน เช่น อเล็กซานเดอร์ ดูกิน และเซอร์เกย์ คารากานอฟที่เชื่อว่าโลกตะวันตกมุ่งทำลายรัสเซียจากภายใน ทั้งในเชิงวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิรัฐศาสตร์ “ความกลัวเชิงโครงสร้าง” นี้จึงไม่ใช่เพียงความวิตกจริตหากคือกลไกแห่งรัฐที่ขับเคลื่อนนโยบาย ตั้งแต่การสร้างเขตกันชน การยึดไครเมีย การควบคุมพื้นที่ดอนบาส ไปจนถึงการพยายามทำลายอิทธิพลตะวันตกในยูเครน รัสเซียมองโลกผ่านแว่นแห่งความระแวดระวัง และเชื่อว่าหากไม่รุกก่อนก็จะตกเป็นฝ่ายถูกรุกรานในที่สุด

เขตกันชน (buffer zone) ไม่ได้เป็นเพียงแค่เส้นขีดกันระหว่างกองกำลังแต่คือหมากตัวสำคัญในกระดานภูมิรัฐศาสตร์ที่รัสเซียกำลังจัดวางอย่างแยบยล มันคือ “พื้นที่หมอก” ที่ผสานอำนาจการทหารกับอิทธิพลทางการเมืองให้กลายเป็นอาวุธเชิงพื้นที่ที่ทรงพลัง ในมิติทางยุทธศาสตร์เขตกันชนทำหน้าที่เป็น “แนวสกัดภัยคุกคาม” จากอาวุธปืนใหญ่และโดรนของยูเครนที่โจมตีลึกเข้ามาในดินแดนรัสเซีย การสร้างแนวกันชนลึกเข้าไปในภูมิภาคซูมีหรือคาร์คิฟไม่ใช่เพียงเพื่อ “หยุดกระสุน” แต่เพื่อ “ขยับแนวสมรภูมิ” ให้ห่างจากหัวใจของรัสเซียทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และจิตวิทยา แต่ในมิติการเมืองเขตกันชนคือเครื่องมือท้าทายอธิปไตยของยูเครนอย่างแยบคาย มันไม่ได้ถูกเรียกว่า “เขตยึดครอง” แต่กลับถูกบรรจุไว้ในกรอบของ “ความมั่นคง” และ “การป้องกันตัวเอง” หากรัสเซียสามารถครอบครองพื้นที่เหล่านี้โดยไม่จำเป็นต้องยึดอย่างเป็นทางการ แต่สามารถควบคุมอิทธิพลและสกัดไม่ให้รัฐบาลยูเครนเข้าไปบริหารได้ มันคือชัยชนะทางการเมืองที่ไม่ต้องใช้คำว่า “ชัยชนะทางทหาร” นี่คือยุทธวิธีของ “ภูมิรัฐศาสตร์เชิงรุก” (offensive geopolitics) ที่รัสเซียใช้เขตกันชนเป็นอาวุธแบบอสมมาตร ไม่ต่างจากการใช้ “พื้นที่เทา” (grey zone) ที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นสงครามหรือสันติภาพ เป็นอาณาเขตหรือพื้นที่เป้าหมายของจิตวิทยาการครอบงำ และในเมื่อพื้นที่กันชนสามารถลดแรงกดดันจาก NATO และเปลี่ยนทิศทางของสมรภูมิ มันจึงไม่ใช่แค่ “ระยะห่าง” ทางภูมิศาสตร์แต่คือ “สนามต่อรอง” ทางการเมืองระหว่างมหาอำนาจ

เขตกันชนไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพียงเพื่อกันกระสุนแต่มันถูกสร้างขึ้นเพื่อกันอำนาจฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ข้ามเส้น "การควบคุม"ภายใต้สายตาของเครมลินเส้นพรมแดนคือภาพลวงตาหากมันไม่อาจควบคุมได้ด้วยกำลังทหารหรือจิตวิทยา เขตกันชนจึงกลายเป็น “อาณาบริเวณของความเหนือกว่า” มากกว่าแค่ “อาณาบริเวณของความปลอดภัย” ที่นี่คือ “สนามทดสอบความกล้าของยูเครน” และ “เขตปิดล้อมที่บอกกับ NATO ว่า “ถ้ากล้าก็เข้ามา” รัสเซียไม่ได้เพียงแค่ต้องการ “ยืดแนวกันชนออกไป 100 กิโลเมตร” อย่างที่พันเอกอนาโตลี มัตวีชุก (Anatoliy Matviychuk) พันเอกเกษียณอายุและอดีตทหารผ่านศึกของยูเครนเสนอ แต่ต้องการแผ่บารมีลึกเข้าไปในดินแดนศัตรูโดยไม่จำเป็นต้องปักธงยึดครองเพราะอำนาจที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องประกาศตัวมันเพียงแค่การ “แผ่เงา” ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่า “เรากำลังมองอยู่ และเราพร้อมจะบดขยี้ หากคุณเดินพลาด” เขตกันชนในสายตารัสเซียคือการปลูกฝัง “ความกลัวเชิงโครงสร้าง” (structural fear) ลงบนพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ มันคือการขีดเส้นให้ยูเครนรู้ว่าพื้นที่ของคุณอาจยังเป็นของคุณในทางกฎหมายแต่ในทางยุทธศาสตร์ มันเป็น “ของเรา” นี่คือภูมิรัฐศาสตร์เชิงบีบคั้น (coercive geopolitics) ที่เล่นกับ “ระยะห่าง” แต่สร้างผลกระทบเชิง “การครอบงำ” คือการประกาศอย่างเงียบๆ ว่า “รัฐชาติที่ล้อมรัสเซียไว้จะไม่มีวันปลอดภัยหากไม่เลือกอยู่ใต้เงารัสเซีย” ในเชิงทฤษฎีเขตกันชนในบริบทนี้จึงไม่ใช่แค่ ‘defensive depth’ แบบคลาสสิกของ Mackinder หรือแนวคิด Heartland แบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่คือการนำหลักการของ “ภูมิรัฐศาสตร์จิตวิทยา” มาผสานกับทฤษฎีอำนาจเชิงพื้นที่แบบใหม่ที่อเล็กซานเดอร์ ดูกินเรียกว่า “จุดกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์” (geopolitical pressure points) และเยฟเกนี พรีมาคอฟเรียกว่า “บัฟเฟอร์เชิงกลยุทธ์เพื่อเสถียรภาพหลายขั้ว” (strategic buffers for multipolar stability) กล่าวคือเขตกันชนไม่ใช่ “พื้นที่กันภัย” หากแต่เป็น “พื้นที่ขู่เข็ญ” ที่บอกว่ารัสเซียยังมีเขี้ยวเล็บ ไม่ใช่แค่ในสมรภูมิหากแต่ในทุกลมหายใจของภูมิรัฐศาสตร์

พันเอกอนาโตลี มัตวีชุกพันเอกเกษียณอายุและอดีตทหารผ่านศึกของยูเครนได้วิเคราะห์เหตุผลที่รัสเซียต้องการเขตกันชนเอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1) ป้องกันภัยคุกคามจากอาวุธระยะไกลของ NATO
นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น การขยายตัวของ NATO เข้ามาใกล้พรมแดนรัสเซียไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่อง “ภูมิรัฐศาสตร์ทั่วไป” หากแต่เป็นการกดทับความมั่นคงแห่งชาติอย่างรุนแรง รัสเซียมองเห็นภัยคุกคามที่แฝงตัวอยู่ในรูปแบบของ “อาวุธระยะไกล” เช่น ขีปนาวุธนำวิถี ระบบป้องกันภัยทางอากาศขั้นสูงและโดรนรบที่สามารถยิงเข้าโจมตีลึกถึงใจกลางรัสเซียได้โดยไม่ต้องส่งทหารเข้ามา พื้นที่ชายแดนกับยูเครนจึงกลายเป็น “แนวหน้าแห่งภัยคุกคาม” ที่รัสเซียต้องปกป้องด้วย “แนวกันชนเชิงยุทธศาสตร์” การมีเขตกันชนที่กว้างขวางกว่าเดิม ไม่ใช่แค่การเพิ่มระยะห่างทางกายภาพจากเป้าหมายที่สำคัญ แต่เป็นการสร้าง “เขตปลอดภัยเชิงยุทธวิธี” ที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการโจมตีแบบสายฟ้าแลบ (blitzkrieg) จากอาวุธของ NATO รัสเซียเข้าใจดีว่า อาวุธระยะไกลของ NATO ไม่ใช่แค่ปืนใหญ่ธรรมดาแต่คือ “เครื่องมือทางการเมืองที่มีพลังทำลายสูง” ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสมดุลภูมิรัฐศาสตร์ในพริบตา ดังนั้นการสร้างและรักษาเขตกันชนจึงเป็นการลงทุนเพื่อรักษาความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์อย่างถึงที่สุดการขยายแนวกันชนลึกเข้าไปในดินแดนยูเครนจึงไม่ได้เป็นเรื่องแค่ “สงครามพื้นที่” แต่เป็น “สงครามระยะยาวเพื่อการอยู่รอดของรัฐ” รัสเซียไม่อาจยอมรับได้ว่าศัตรูจะนำขีปนาวุธหรือโดรนขั้นสูงมายิงใส่เมืองใหญ่ของตนโดยตรง มันคือ “เส้นตาย” ของความมั่นคงที่ไม่อาจยอมถอย ด้วยเหตุนี้เขตกันชนจึงไม่ใช่แค่พรมแดนที่ขีดเส้นไว้บนแผนที่แต่คือ “เกราะกำบัง” ที่รัสเซียต้องใช้เพื่อป้องกัน “มิติใหม่ของสงคราม” ที่ NATO พยายามสร้างขึ้นในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลและยุทธศาสตร์อาวุธไฮเทค พันเอกนาโตลี มัตวีชุก อธิบายว่าการสร้างเขตกันชนลึก 100 กิโลเมตรนั้นมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการโจมตีจากอาวุธปืนใหญ่ระยะไกลที่ NATO จัดหาให้ยูเครน ซึ่งสามารถยิงได้ไกลถึง 70 กิโลเมตร การเพิ่มระยะอีก 30 กิโลเมตรเป็นเขตปลอดภัยจะช่วยปกป้องเมืองสำคัญของรัสเซีย เช่น เบลโกรอด คูร์สค์ เบรียนสค์ ไครเมีย ซาโปริชเซีย เคอร์ซอน และดอนบาส

2) ประสบการณ์จากสงครามในอัฟกานิสถาน

สงครามอัฟกานิสถานไม่ได้เป็นเพียง “บาดแผลทางทหาร” แต่เป็นบทเรียนเลือดและเหล็กที่ฝังลึกในจิตวิญญาณของรัสเซีย (ก่อนหน้านั้นคือสหภาพโซเวียต) มันคือการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของสงครามที่ไม่อาจชนะด้วยกำลังทหารล้วน ๆ และเป็นการตอกย้ำว่า “การปกป้องพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์” ต้องมากกว่าการบุกเข้าไปครอบครอง ในสนามรบอัฟกานิสถานรัสเซียได้เรียนรู้ว่าการบุกทะลวงเข้าลึกในดินแดนที่เป็นเขตกันชนของศัตรู โดยไม่มีการสนับสนุนทางภูมิรัฐศาสตร์และประชากรในพื้นที่จะนำมาซึ่งการขัดแย้งที่ยาวนานและเจ็บปวดไม่มีที่สิ้นสุดเหมือน “สงครามในเขาวงกต” ที่จะกัดกร่อนความเข้มแข็งทางทหารและจิตใจของชาติ บทเรียนนี้ทำให้รัสเซียมีความระแวดระวังมากขึ้นกับการขยายเขตกันชนในยูเครน ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะหลีกเลี่ยงการปะทะแต่หมายถึงการพยายามสร้างเขตกันชนที่มี “ความลึกทางยุทธศาสตร์” และ “ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์” ที่มากกว่าแค่การใช้กำลังทางทหารอย่างเดียว สงครามในอัฟกานิสถานสอนให้รัสเซียรู้ว่า“การครอบครองดินแดนโดยไม่มีการสนับสนุนเชิงโครงสร้างและการยอมรับจากประชากรในพื้นที่เป็นเหมือนการแบกรับหายนะที่ยิ่งใหญ่กว่า” ดังนั้นเขตกันชนที่รัสเซียพยายามสร้างขึ้นจึงเป็นมากกว่าพรมแดน มันคือ “แนวป้องกันที่ผสานทั้งกำลังทหาร การเมือง และภูมิปัญญาทางภูมิรัฐศาสตร์” เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักสงครามลัทธิในดินแดนที่ไม่เป็นมิตรและสร้างภูมิคุ้มกันที่ทำให้ศัตรูไม่สามารถล้ำเส้นเข้ามาง่ายๆประสบการณ์จากอัฟกานิสถานจึงไม่ใช่แค่บทเรียนทางประวัติศาสตร์ แต่คือ “เครื่องเตือนใจ” ที่ทำให้รัสเซียมองเขตกันชนในยูเครนด้วยสายตาที่ลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าเดิมนั่นคือเหตุผลว่าทำไม “เขตกันชน” จึงต้องมีทั้งความยืดหยุ่นทางยุทธศาสตร์ และความเข้มแข็งทางการเมืองควบคู่กันไปอย่างไม่อาจแยกจากกัน โดยเขาเปรียบเทียบแนวคิดนี้กับยุทธศาสตร์ที่สหภาพโซเวียตเคยใช้ในอัฟกานิสถานโดยการสร้างเขตกันชนเพื่อป้องกันการโจมตีจากกลุ่มมูจาฮีดีนซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันในการสร้างระยะห่างจากภัยคุกคาม

3) ควบคุมพื้นที่ชายแดนที่สำคัญ
ในเกมภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย เขตกันชนไม่ได้เป็นแค่แนวรบธรรมดา แต่คือ “เส้นแบ่งชี้ชะตา” ระหว่างความมั่นคงและการถูกล้อมกรอบพื้นที่ชายแดนอย่าง ซูมี เชอร์นีฮิฟ ดนีโปรเปตรอฟสค์ และคาร์คิฟ กลายเป็น “ป้อมปราการยุทธศาสตร์” ที่รัสเซียยอมลงทุนทุกอย่างเพื่อควบคุมและยึดครอง เหตุผลหนึ่งที่รัสเซียมุ่งเน้นพื้นที่เหล่านี้คือการป้องกัน “การโจมตีจากยูเครน” ที่อาจมุ่งเป้าไปยังเมืองและฐานทัพสำคัญในดินแดนรัสเซียเอง การควบคุมพื้นที่ชายแดนที่กว้างขวางและลึกช่วยให้รัสเซียสามารถตั้ง “แนวป้องกันเชิงลึก” (defense in depth) ซึ่งไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงจากการโจมตีสายฟ้าแลบแต่ยังเปิดโอกาสให้รัสเซียสามารถตอบโต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เขตกันชนยังทำหน้าที่เป็น “ด่านตรวจสอบ” ในการสอดแนมและเก็บข้อมูลการครอบครองพื้นที่ชายแดนสำคัญช่วยให้รัสเซียสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกองกำลังยูเครนและพันธมิตร NATO ได้อย่างใกล้ชิด นี่คือ “ตาข่ายทางข่าวกรอง” ที่ทำให้รัสเซียไม่ถูกจับได้โดยฝ่ายตรงข้าม ในมุมมองภูมิรัฐศาสตร์การควบคุมพื้นที่ชายแดนสำคัญยังเป็นการยึด “ทางหลวงยุทธศาสตร์” ที่เชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ เมืองดนีโปรเปตรอฟสค์และคาร์คิฟเป็นศูนย์กลางการขนส่งและอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและกำลังทหาร ดังนั้นการยึดครองพื้นที่เหล่านี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “ป้อมปราการทางทหาร” แต่เป็นการ “ตัดวงจรชีวิต” ของศัตรูในมิติเศรษฐกิจและการสนับสนุนทางการทหารด้วย สรุปง่าย ๆ “การควบคุมพื้นที่ชายแดนสำคัญเหล่านี้คือการสร้าง ‘เกราะป้องกัน’ ที่ลึกและแน่นหนาเป็นทั้งด่านหน้าและฐานทัพที่รัสเซียใช้ค้ำยันความมั่นคงและอำนาจในภูมิภาค”

4) จำกัดอำนาจของรัฐบาลเคียฟในพื้นที่
เขตกันชนที่รัสเซียต้องการสร้างขึ้นไม่ได้เป็นเพียงเส้นแบ่งทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเดียวแต่ยังเป็น “เครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์” เพื่อสกัดกั้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลเคียฟโดยตรง ตามบทวิเคราะห์ของพันเอกอนาโตลี มัตวีชุกพื้นที่เหล่านี้จะถูกแยกออกจากการควบคุมโดยรัฐบาลยูเครนอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าในทางปฏิบัติประชาชนยูเครนจะยังคงอาศัยและดำรงชีวิต เช่น การทำเกษตรกรรมหรือกิจกรรมประจำวันอื่น ๆ ความสำคัญอยู่ที่ “อำนาจรัฐ” โดยรัสเซียมุ่งมั่นที่จะตัดขาดความชอบธรรมและการบริหารของเคียฟในเขตนี้ นั่นหมายความว่ารัฐบาลยูเครนจะไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ หรือหน่วยงานความมั่นคงเข้าไปบริหารจัดการหรือควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ผลที่ตามมาคือการล้างบทบาทของเคียฟในพื้นที่ชายแดนที่รัสเซียตั้งใจจะทำให้กลายเป็น “เขตที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของยูเครน” นี่ไม่ใช่แค่เกมการเมืองธรรมดาแต่เป็น “การตัดวงจรการบริหารและอำนาจ” ของรัฐศัตรู การจำกัดอำนาจเคียฟทำให้ยูเครนสูญเสียการเข้าถึงทรัพยากรและการบริหารจัดการพื้นฐานในพื้นที่สำคัญซึ่งสะท้อนถึงการ “ทำลายความเป็นรัฐ” ในภูมิภาคที่เป็นขอบเขตของความขัดแย้ง แนวทางนี้ยังทำให้รัสเซียสามารถ “ควบคุมทางอ้อม” ผ่านกลุ่มหรือหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัสเซียในพื้นที่นั้นซึ่งจะช่วยเสริมสร้างอิทธิพลทางการเมืองและความมั่นคงในระยะยาว พร้อมกับบั่นทอนความเป็นเอกภาพของรัฐยูเครน โดยสรุปการจำกัดอำนาจรัฐบาลเคียฟในเขตกันชนคือ “ดาบสองคม” ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ช่วยรัสเซียสร้างการครอบครองอย่างยั่งยืนและเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองของยูเครนอย่างลึกซึ้ง โดยที่ยูเครนเองแทบจะไม่สามารถตอบโต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5) ลดความสามารถในการโจมตีของยูเครน
การผลักดันกองทัพยูเครนให้ออกห่างจากชายแดนรัสเซียอย่างน้อย 100 กิโลเมตร ไม่ใช่แค่การ “ถอยร่นเชิงพื้นที่” แต่เป็นการ “ตัดขาดขีดความสามารถทางยุทธศาสตร์” ที่สำคัญของยูเครนอย่างเด็ดขาดโดยเฉพาะในแง่ของการใช้ปืนใหญ่และอาวุธยิงระยะกลางที่ต้องอาศัยระยะยิงใกล้เพื่อทำลายเป้าหมายอย่างแม่นยำและต่อเนื่อง เมื่อกองกำลังยูเครนถูกบีบให้ถอยห่างออกไป การใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มพื้นที่ชายแดนรัสเซียจะลดลงอย่างมาก การสูญเสีย “ระยะยิงที่ได้เปรียบ” ทำให้รัสเซียมีเวลามากขึ้นในการเตรียมป้องกันและตอบโต้ อีกทั้งยังลดโอกาสที่ยูเครนจะทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ฐานทัพ เส้นทางขนส่ง หรือหมู่บ้านชายแดน แม้ยูเครนจะยังพึ่งพาโดรนสอดแนมและขีปนาวุธระยะไกลเพื่อโจมตีได้ แต่ขีดจำกัดเหล่านี้ยังห่างไกลจากการแทนที่ “การโจมตีระยะใกล้ที่ต่อเนื่องและแม่นยำ” ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์สงครามที่ต้องอาศัยการยิงปืนใหญ่มหาศาลเพื่อเบิกทางหรือกดดันแนวรบฝ่ายตรงข้าม การขยายเขตกันชนจึงเหมือน “การสร้างเขตปลอดภัยเชิงยุทธศาสตร์” ที่ทำให้รัสเซียได้เปรียบอย่างชัดเจนทั้งในแง่การเสริมความมั่นคงและการลดโอกาสการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สรุปได้ว่าการผลักดันยูเครนออกไป 100 กิโลเมตร คือการ “ตัดขาทางยุทธศาสตร์” ของยูเครน ลดความสามารถในการทำลายและบั่นทอนความมั่นคงชายแดนรัสเซียอย่างมีประสิทธิผล

6) ปฏิกิริยาต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากยูเครน
ในวงการการเมืองและสงคราม การประกาศเขตกันชนตามแนวชายแดนรัสเซีย-ยูเครนย่อมก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ร้อนแรง โดยเฉพาะจากฝ่ายยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีและรัฐบาลเคียฟคงไม่รั้งรอที่จะตำหนิการดำเนินการนี้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและเป็นรูปแบบใหม่ของการ “ยึดครอง” ซึ่งแน่นอนว่าเสียงเหล่านี้สะท้อนถึงความสิ้นหวังและความขัดแย้งที่ขยายตัวลุกลาม อย่างไรก็ดีพันเอกอนาโตลี มัตวีชุกชี้ชัดว่ารัสเซียจะไม่หวั่นไหวหรือเปลี่ยนแปลงจุดยืนแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง เพราะในสายตาของผู้นำมอสโก “ความปลอดภัยของประชาชนรัสเซีย” อยู่เหนือทุกสิ่ง การสร้างเขตกันชนจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การกระทำทางยุทธศาสตร์แต่เป็นพันธกิจที่ไม่อาจถอยหลังได้ เพื่อปกป้อง “ประชากรชาติ” จากภัยคุกคามที่พวกเขาเห็นว่ามีอยู่จริงและใกล้ตัว นี่คือความขัดแย้งของมุมมองที่ลึกซึ้ง ยูเครนมองเป็นการรุกราน ในขณะที่รัสเซียมองเป็น “มาตรการป้องกันสูงสุด” ซึ่งจุดยืนนี้สะท้อนถึงความดื้อรั้นและการไม่ยอมถอยของรัสเซียในสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากยูเครนแม้จะสร้างแรงกดดันทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนทิศทางหรือยุทธศาสตร์ของรัสเซียเพราะสำหรับรัสเซียแล้ว เขตกันชนคือ “เส้นชีวิต” ของความมั่นคงรัฐชาติที่ไม่อาจประนีประนอม

บทสรุป การที่รัสเซียเรียกร้อง “เขตกันชน” ตลอดแนวชายแดนกับยูเครนไม่ใช่เพียงการวางกำลังเพื่อป้องกันการโจมตี แต่เป็นการส่งสัญญาณเชิงยุทธศาสตร์ว่า รัสเซียกำลังวาด "เส้นแดง" ใหม่ในภูมิรัฐศาสตร์ยูเรเชียภายใต้กรอบคิดแบบ “ความกลัวเชิงโครงสร้าง” (structural fear) รัสเซียมองว่าโลกภายนอกโดยเฉพาะ NATO และรัฐบาลเคียฟคือภัยคุกคามที่พร้อมบั่นทอนอธิปไตยและความมั่นคงของรัฐรัสเซียทุกเมื่อ เขตกันชนจึงกลายเป็น “พื้นที่กันกระสุนเชิงอารมณ์” และ “สนามสู้รบทางความคิด” ที่สะท้อนทั้งปมประวัติศาสตร์ ความระแวดระวังและความพยายามควบคุมปริมณฑลความมั่นคงด้วยเงื่อนไขของตนเอง ในมิติเชิงยุทธศาสตร์การผลักดันยูเครนให้ถอยออกจากแนวชายแดนอย่างน้อย 100 กิโลเมตรเท่ากับเป็นการตัดขาดอาวุธหลักของยูเครนอย่างปืนใหญ่และการสอดแนม

ในขณะเดียวกัน เขตกันชนยังทำหน้าที่เป็น “เกราะ” ที่ลดทอนอำนาจการปกครองของรัฐบาลเคียฟในดินแดนของตนเอง กลายเป็น “พื้นที่สีเทา” ที่อยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงทางอำนาจของรัสเซีย และแม้ยูเครนจะกล่าวหาว่านี่คือการ “ยึดครองในคราบความมั่นคง”แต่นักวิเคราะห์สายทหารอย่างพันเอกอนาโตลีย มัตวีชุกยืนยันว่า รัสเซียจะไม่ถอยจากจุดยืนนี้ เพราะนี่คือเรื่องของ “การอยู่รอดของชาติ” ในภาพรวม เขตกันชนไม่ใช่เพียง "แถบพื้นที่ว่าง" ระหว่างสองรัฐแต่เป็น “เส้นแบ่งแห่งความกลัว” ที่ถูกขีดด้วยเลือด ความเชื่อ และการคำนวณทางอำนาจ มันคือตัวแทนของรัสเซียในฐานะรัฐที่ยังไม่ไว้วางใจโลกและยังไม่เลิกล้มภารกิจในการออกแบบระเบียบระหว่างประเทศใหม่ตามแนวคิดของตน

บทเหยื่อปลอมบนชายแดน : เกมเดิมของฮุน เซน กับการปะทะ 10 นาทีเพื่อเช็คเคลมดินแดน

ในโลกของความขัดแย้งระหว่างรัฐ การยิงปะทะกันเพียงไม่กี่นาทีก็อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของอธิปไตยได้ — โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดในพื้นที่ที่ยังไม่มีเส้นแบ่งเขตที่ชัดเจน และยิ่งอันตรายมากขึ้น หากฝ่ายหนึ่งพยายามเปลี่ยน 'กระสุน' ให้กลายเป็น 'เครื่องมือทางกฎหมาย' บนเวทีโลก

เหตุปะทะที่ 'ช่องบก' จ.อุบลราชธานี ระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาในช่วงเช้าวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาที ตั้งแต่เวลา 05.45 น. ถึง 05.55 น. แต่สิ่งที่ตามมาหลังเสียงปืนเงียบลงกลับไม่เงียบตามไปด้วย เพราะทันทีที่เกิดเหตุการณ์ กองทัพบกไทยชี้แจงชัดเจนว่า เหตุปะทะเริ่มจากการที่ทหารกัมพูชาเข้ามาวางกำลังในเขต 'พื้นที่ทับซ้อน' ซึ่งยังไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าของที่แน่ชัด ฝ่ายไทยจึงส่งชุดประสานงานเข้าไปเจรจาตามแนวปฏิบัติปกติ แต่กลับถูกเข้าใจผิดและถูกยิงใส่ก่อน ฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตนเอง ก่อนที่ผู้บัญชาการทั้งสองฝ่ายจะโทรศัพท์และตกลงหยุดยิงในเวลาเพียงไม่ถึงสิบนาที

ในชั่วโมงแรก ฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างแถลงตรงกันว่า “ไม่มีผู้เสียชีวิต” ท่าทีดูเหมือนจะคลี่คลาย แต่ในเวลาไม่นาน ฝ่ายกัมพูชากลับคำ และระบุว่ามีทหารของตนเสียชีวิต 1 นาย และในเวลาต่อมา สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกฯ กัมพูชา ก็ออกแถลงการณ์ประณามไทย พร้อมทั้งเปรียบเหตุการณ์นี้กับการรุกรานในช่วงปี 2008–2011 ซึ่งเคยนำไปสู่การฟ้องร้องในศาลโลกกรณีวัดพระวิหาร โดยกล่าวชัดว่าจะใช้ “ทหาร การทูต และกฎหมาย” ในการต่อสู้เพื่ออธิปไตย

ถ้าอ่านให้ลึก นี่ไม่ใช่เพียงแค่แถลงการณ์ตามพิธีการ แต่เป็น 'หมากชุดใหม่' ที่มีเป้าหมายชัดเจนมากกว่าแค่สร้างกระแสในประเทศ ฮุน เซนกำลังพยายาม 'เช็คเคลม' พื้นที่ทับซ้อนบริเวณช่องบก ซึ่งเป็นจุดที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์มายาวนาน แต่ยังไม่มีข้อยุติทางการทูตและยังไม่ได้ตีเส้นแบ่งบนแผนที่อย่างเป็นทางการ ซึ่งในทางระหว่างประเทศนั้น การ “ครอบครองที่ดินโดยพฤติกรรม” เช่น การส่งทหาร การตั้งฐาน หรือแม้แต่การมี “เหตุปะทะที่ฝ่ายตนถูกกระทำ” ล้วนสามารถถูกใช้เป็น “พฤติการณ์ประกอบ” ในการอ้างสิทธิ์ในชั้นศาลได้

นี่คือเหตุผลว่าทำไมกัมพูชาจึงต้องกลับคำมาอ้างว่ามีผู้เสียชีวิต และทำไมฮุน เซนจึงต้องรีบโยงเรื่องนี้กลับไปยังคำวินิจฉัยของศาลโลกในอดีต เพราะในสายตาของเขา การปะทะครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของความเข้าใจผิดชั่วคราว แต่คือการ 'สร้างพยานหลักฐาน' เพื่อใช้ในกระบวนการพิพาทเขตแดนในระดับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจุดปะทะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการปักปันเขตแดนถาวร

แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่ประเทศไทยต้องตระหนักก็คือ ไม่ว่าใครจะเล่นเกมอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ 'การรู้ทัน' และ 'การบันทึกข้อเท็จจริงอย่างเป็นระบบ' เพราะเราไม่สามารถห้ามฝ่ายตรงข้ามจากการกล่าวหาได้ แต่เราสามารถป้องกันผลลัพธ์ของคำกล่าวหานั้นได้ หากเรามีข้อมูลที่ชัดเจนและหลักฐานที่เพียงพอ

เหตุปะทะครั้งนี้อาจกินเวลาแค่ 10 นาที แต่สำหรับเวทีศาลโลก มันอาจถูกขยายความให้ยาวเป็นปี สิ่งที่ไทยต้องทำตอนนี้ไม่ใช่การโต้แย้งด้วยถ้อยคำ แต่คือการรวบรวมทุกวินาทีของความจริง ตั้งแต่การเคลื่อนกำลัง จุดปะทะ รูปแบบการตอบโต้ ไปจนถึงการเจรจาหลังเหตุการณ์ เพื่อให้โลกเห็นว่า ไทยไม่ได้รุกราน ไม่ได้เริ่มก่อน และไม่ได้ตั้งใจให้เรื่องนี้ขยายตัว

เรารู้ว่าเราทำอะไร ที่ไหน และทำเพื่ออะไร นี่ไม่ใช่การหลบหลีกความรับผิดชอบ แต่คือการยืนยันในความสุจริตของการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบของความสงบ และการรู้ทันเกมเดิมที่อีกฝ่ายพยายามเล่นซ้ำ — เพียงเปลี่ยนเวทีจากพระวิหาร มาเป็นช่องบกเท่านั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top