เหตุการณ์การก่อการร้ายสากลที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
การก่อการร้ายในความหมายกว้าง ๆ คือ การใช้ความรุนแรงต่อผู้ซึ่งไม่ใช่ตำรวจ-ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองหรืออุดมการณ์ คำนี้ใช้ในเรื่องนี้เป็นหลักเพื่ออ้างถึงความรุนแรงโดยเจตนาในยามสงบหรือในบริบทของสงครามต่อประชาชนพลเรือนทั่วไป คำจำกัดความของการก่อการร้ายเน้นย้ำถึงความสุ่มเป้าหมายในการสร้างความหวาดกลัวเพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างที่มากเกินกว่าผลต่อเป้าหมายที่เป็นเหยื่อโดยตรง ด้วยกลวิธีต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง อุดมการณ์ ความเชื่อ ฯลฯ โดยมักใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์เพื่อโน้มน้าวผู้มีอำนาจตัดสินใจ โดยผู้ก่อการร้ายมุ่งเป้าไปที่พื้นที่สาธารณะที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ศูนย์กลางการขนส่ง สนามบิน ศูนย์การค้า แหล่งท่องเที่ยว และสถานบันเทิงยามค่ำคืน เพื่อสร้างความไม่ปลอดภัยในวงกว้าง กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายผ่านการจัดการทางจิตวิทยาและบั่นทอนความเชื่อมั่นในมาตรการรักษาความปลอดภัย
‘การก่อการร้ายสากล’ เป็น การปฏิบัติการ (คุกคามหรือใช้ความรุนแรง) ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มุ่งหวังผลตามเงื่อนไขข้อเรียกร้องทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะปฏิบัติการล่วงล้ำเขตแดนหรือเกี่ยวพันกับชาติอื่น การกระทำนั้นอาจเป็นไปโดยเอกเทศปราศจากการสนับสนุนจากรัฐใด ๆ หรือมีรัฐใดหนึ่งสนับสนุนรู้เห็นก็ได้ เมื่อเกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์ของชาติ พันธกรณีระหว่างประเทศ นโยบายของชาติทั้งด้านการเมือง และการป้องกันประเทศ เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของชาติ
พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัน (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ และ
พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เสนาธิการทหารในขณะนั้น ยอมเป็นตัวประกันออกไปกับผู้ก่อการร้าย
ราชอาณาจักรไทย อันเป็นที่รักยิ่งของพี่น้องประชาชนคนไทย แม้จะพยายามวางตัว ดำรงบทบาทเป็นกลางในเวทีโลกก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ก่อการร้ายสากลได้พ้น สำหรับเหตุการณ์การก่อการร้ายที่นับเป็นการก่อการร้ายสากลที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นคือ เหตุการณ์ยึดสถานทูตอิสราเอลโดยกลุ่ม Black September ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 โดยสมาชิกขบวนการก่อการร้ายปาเลสไตน์ในนามของ The Black September Organization จำนวน 4 คน ได้บุกเข้ายึดสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ถนนหลังสวนกรุงเทพฯ และจับบุคคลที่อยู่ในสถานทูตไว้เป็นตัวประกัน 6 คน โดยยื่นข้อเรียกร้องต่อทางการอิสราเอล 3 ข้อ อาทิ เรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษ 36 คนในเรือนจำ เหตุการณ์สงบลงด้วยการเจรจาของรัฐบาลไทย และเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย และผู้นำทางศาสนาอิสลามของไทย ใช้เวลาเจรจา 19 ชั่วโมง โดยรัฐบาลไทยได้จัดเครื่องบินพิเศษพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่คุ้มกันนำออกไปส่งที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง บุคคลสำคัญที่ยอมเป็นตัวประกันออกไปกับผู้ก่อการร้ายคือ พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัน (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้น และ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เสนาธิการทหารในขณะนั้น ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน ผู้ก่อการได้มอบอาวุธปืนเล็กกลที่ใช้ก่อเหตุเป็นของที่ระลึกแก่จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีกระบอกหนึ่ง และอีกกระบอกมอบให้จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการกองทัพบก ผู้ก่อการปาเลสไตน์ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลอียิปต์ โดยหลังจากที่พวกเขาลงจากเครื่องบิน ผู้ก่อการได้ถูกนำไปขึ้นรถตำรวจโดยไม่ได้ใส่กุญแจมือแต่อย่างได ส่วนสำนักข่าวต่าง ๆในอียิปต์ต่างเรียกพวกเขาเป็นวีรบุรุษ ในด้านของอิสราเอล นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลในขณะนั้น โกลดา เมอีร์ และคณะได้แสดงความชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลไทยอย่างยิ่งสำหรับการจัดการอันระมัดระวังซึ่งทรงประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบอย่างสูง (Active vigilance and supreme responsibility)
เครื่องบินแบบ BAC 1-11 ของฟิลิปปินส์แอร์ไลน์แบบเดียวกับที่ถูกจี้
เหตุการณ์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2519 ผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม 3 คน จากขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติโมโรแห่งมินดาเนา (Moro National Liberation Front of Mindanao) ได้จี้และยึดเอาเครื่องบินโดยสารภายในประเทศที่เมืองคากายัน เดอ โอโร พร้อมด้วยผู้โดยสาร 70 คน ไว้เป็นตัวประกันและตั้งข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ 3 ข้อ ผู้ก่อการร้ายได้บังคับให้กัปตันนำเครื่องบินไปลงที่สนามบินมะนิลา และยินยอมปล่อยผู้โดยสารทั้ง 70 คน ที่ยึดไว้เป็นตัวประกัน ต่อมาการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ตกลงกันไม่ได้ ผู้ก่อการร้ายจึงบังคับเครื่องบินให้บินออกนอกประเทศตามเส้นทางโกตาคิ นะบาลู รัฐซาบาร์ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และมาลงดอนเมืองเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2519 ไทยเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างผู้ก่อการร้ายกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในที่สุดผู้ก่อการร้ายได้นำเครื่องบินต่อเดินทางไปลิเบียเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519
เครื่องบินแบบ DC-8 ของ Garuda ลำที่ถูกจี้
เหตุการณ์ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2524 ผู้ก่อการร้ายกลุ่มคอมมานโดญิฮาด (Commando Jihad Movement) จำนวน 5 คน ได้ปล้นยึดเครื่องบิน Garuda เที่ยวบิน 206 สายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ขณะบินขึ้นจากสนามบินปาเล็มบังไปยังเมืองเมดาน และเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียปล่อยนักโทษการเมืองอินโดนีเซียที่ถูกคุมขังอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไปส่งยังกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ต่อจากนั้นได้บังคับให้นำเครื่องบินไปจอดแวะเติมน้ำมันและขอเสบียงที่สนามบินปีนัง มาเลเซีย และเดินทางต่อมายังประเทศไทยลงที่สนามบินดอนเมือง ทางฝ่ายไทยและฝ่ายอินโดนีเซียได้เจรจาต่อรองกับผู้ก่อการร้ายจนถึงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2524 จนในที่สุดได้ตกลงใจที่จะใช้กำลังเข้าช่วยเหลือตัวประกัน โดยฝ่ายไทยเป็นผู้คุ้มกันการปฏิบัติการ และฝ่ายอินโดนีเซียใช้หน่วยจู่โจมเข้าช่วยเหลือตัวประกัน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2524 เวลา 02.35 น. ผลการปฏิบัติการคือ ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 1 คน หน่วยจู่โจมอินโดนีเซียเสียชีวิต 1 คน นักบินที่ 1 เสียชีวิต และผู้โดยสาร 43 คนปลอดภัย ปรากฏเป็นข่าวในภายหลังถึงความไม่ชำนาญในปฏิบัติการจู่โจมสลัดอากาศของฝ่ายอินโดนีเซียจึงทำให้มีการเสียชีวิตของผู้ปฏิบัติและตัวประกันเกิดขึ้น
สภาพความเสียหายของอาคารหลังจากเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2525
เหตุการณ์ครั้งที่ 4 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2525 มีผู้นำกระเป๋าเอกสารซึ่งบรรจุระเบิดชนิด C4 น้ำหนักประมาณ 10 ปอนด์ ไปทิ้งไว้ในสำนักงานบริษัท เอ.อี.นานา จำกัด เลขที่ 27-29 ถนนอนุวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นที่ทำการของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์อิรักประจำกรุงเทพฯ และได้เกิดระเบิดขึ้นเมื่อเวลา 16.27 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแผนกวัตถุระเบิด กองพลาธิการ กรมตำรวจ กำลังพยายามจะนำกระเป๋าดังกล่าวออกจากตัวอาคารเป็นผลให้อาคารบริษัท เอ.อี.นานา จำกัด ซึ่งเป็นตึก 2 ชั้น 2 คูหา พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิต 1 นาย คือ พ.ต.ท.สุรัตน์ สุมานัส หัวหน้าแผนกวัตถุระเบิด เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 4 คน และประชาชนบาดเจ็บ 13 คน ต่อมาในวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ผู้ก่อการร้ายขบวนการปฏิบัติการอิสลามแห่งอิรัก (Iraqi Islamic Action Organization) ได้โทรศัพท์แจ้งไปยังสำนักข่าว AFP ในกรุงปารีส อ้างความรับผิดชอบกรณีระเบิดดังกล่าว เหตุการณ์ครั้งที่ 5 เดือนเมษายน พ.ศ. 2531 สมาชิกขบวนการฮิซบอลเลาะห์ (HIZBALLAH) จำนวน 6-8 คน ยึดเครื่องบินของสายการบินคูเวตจากกรุงเทพฯ ไปลงที่เมืองมาชาต ประเทศอิหร่าน จับผู้โดยสารและลูกเรือ 112 คนเป็นตัวประกัน ซึ่งในจำนวนนั้น 3 คนเป็นเชื้อพระวงศ์ของคูเวต ผู้ก่อการร้ายเรียกร้องให้รัฐบาลคูเวตปล่อยตัวนักโทษชาวมุสลิมนิกายชีอะต์ 17 คน ซึ่งถูกคุมขังในข้อหาขับรถบรรทุกระเบิดพุ่งชนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และวางระเบิดสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในคูเวต
แท็งก์น้ำภายในบรรจุระเบิดแสวงเครื่องประกอบด้วยระเบิดซีโฟร์ 2 ลูก แอมโมเนียมไนเตรท
พร้อมเชื้อปะทุ
เหตุการณ์ครั้งที่ 6 เดือนมกราคม พ.ศ. 2532 คนร้ายลอบสังหารนายซาเลห์ อัล-มาลิกิ เลขานุการตรีสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงเทพฯ เหตุเกิดที่หน้าบริษัทแห่งหนึ่งย่านถนนสาทรใต้ ต่อมาขบวนการก่อการร้ายกลุ่มเดอะ โซลเยอร์ ออฟ จัสติส (THE SOLDIERS OF JUSTICE : TRUTH) กับกลุ่มอิสลามิกญิฮาด (ISLAMIC JIHAD) อ้างความรับผิดชอบ เหตุการณ์ครั้งที่ 7 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2532 นักศึกษาพม่า 2 คน จี้เครื่องบินของสายการบินพม่าจากเมืองมะริดมาลงที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เข้าเจรจาต่อรอง สุดท้ายคนร้ายได้ยอมมอบตัว เหตุการณ์ครั้งที่ 8 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 นักศึกษาพม่า 2 คน จี้เครื่องบินของสายการบินไทย ซึ่งมีกำหนดเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองย่างกุ้ง จากสนามบินดอนเมืองไปลงที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และเรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ สุดท้ายผู้ก่อการร้ายยอมมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่อินเดีย เหตุการณ์ครั้งที่ 9 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 คนร้ายชาวอิหร่าน ขับรถบรรทุกหกล้อ บรรทุกแท็งก์น้ำ ซึ่งภายในบรรจุระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่ ประกอบด้วยระเบิดซีโฟร์ 2 ลูก และแอมโมเนียมไนเตรท พร้อมเชื้อปะทุอีกจำนวนมาก หวังบุกพุ่งชนสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย หรือสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โชคดีเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์รับจ้างเสียก่อน คนขับกับเพื่อนต้องลงมาเจรจา มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ระดมพรรคพวกมากดดันเรียกร้องค่าเสียหาย คนขับรถบรรทุกขอจ่ายเป็นเงินดอลลาร์อเมริกัน มอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่รับ คนขับกับเพื่อนขอตัวไปแลกเงินไทย แต่แล้วก็เดินหายไปไม่กลับมาอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีสถานที่เกิดเหตุต้องขับรถบรรทุกไปจอดไว้ที่ สน.ลุมพินีไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุมากนัก
ต่อมาอีกหลายวันมีผู้ประกอบการรถเช่ามาสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีเกี่ยวกับรถบรรทุกหกล้อที่หายไป ก็พบรถคันนั้นพอดี แต่สงสัยว่าแท็งก์น้ำที่บรรทุกอยู่มาจากไหน เจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นไปเปิดแท็งก์น้ำ ปรากฏว่าช็อกเมื่อพบศพคนขับคนไทยที่ขับรถคันนี้อยู่ประจำ และพบส่วนประกอบระเบิดปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรตผสมกับน้ำมันโซลาร์หนักกว่า 1 ตัน มีระเบิดซีโฟร์ขนาด 2 ปอนด์เป็นตัวจุดระเบิด มีสวิตช์กดระเบิดอยู่ในรถ การสอบสวนพบว่าชาวตะวันออกกลางไปเช่ารถคันนี้มาเมื่อหลายวันก่อน เจ้าของขอให้เอาคนขับคนไทยไปด้วย รถคันนี้ไปจอดค้างคืนอยู่ในที่จอดรถห้างเซ็นทรัลชิดลมอยู่คืนหนึ่งก่อนจะขับออกมาเจออุบัติเหตุกิ๊กก๊อกตอนเช้า คาดว่าเป้าหมายของคาร์บอมบ์ครั้งนั้นอยู่ที่สถานทูตอิสราเอลที่ขณะนั้นอยู่ห่างห้างเซ็นทรัลชิดลมไปแยกเดียวเท่านั้น ต่อมาในปี 2538 มีการจับผู้ต้องสงสัยเป็นชาวอิหร่าน 3 คน ปล่อยตัวไป 2 คนในชั้นสอบสวน คงเหลือฟ้องร้องดำเนินคดี 1 คน
เฮลิคอปเตอร์พร้อมตัวประกันสำคัญคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศ (ขณะนั้น)
ไปส่งนักศึกษาพม่าหัวรุนแรง 5 คน ที่บ้านแม่เพี้ยเล็ก
เหตุการณ์ครั้งที่ 10 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 นักศึกษาพม่าหัวรุนแรง 5 คน บุกยึดสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย จับตัวประกันไว้ 30 คน เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง พร้อมทั้งให้เปิดการเจรจาคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนประชาชน และให้รัฐบาลทหารร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนตั้งรัฐบาลผสม ทางการไทยได้เข้าเจรจา โดยจัดเฮลิคอปเตอร์พร้อมตัวประกันสำคัญคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศ (ขณะนั้น) ไปส่งที่บ้านแม่เพี้ยเล็ก เขตอิทธิพลของกะเหรี่ยง KNU
เหตุการณ์ครั้งที่ 11 เดือนมกราคม พ.ศ. 2543 กองกำลังทหารกะเหรี่ยงกลุ่ม "God’s Army" 10 คน บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี จับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยไว้เป็นตัวประกัน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการปราบปรามชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ทางการไทยได้สนธิกำลังหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสากลเข้าช่วยเหลือตัวประกัน และยึดพื้นที่คืน ปรากฏว่าทหารก็อดอาร์มีเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่เจ้าหน้าที่ไทยบาดเจ็บ 8 นาย
เหตุการณ์ครั้งที่ 12 เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558 เป็นเหตุระเบิดที่เกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 18.55 น. ตามเวลาในประเทศไทย ที่ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และในวันต่อมาได้เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดลงมาจากสะพานตากสิน บริเวณท่าเรือสาทร ทำให้เรือที่จอด
อยู่บริเวณใกล้เคียงถูกสะเก็ดระเบิดเล็กน้อย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ก่อนหน้านี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เกิดระเบิดสองครั้งบริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยามเหนือแยกราชประสงค์ โดยคนร้ายนำระเบิดไปวางไว้บริเวณประตูของจุดบริการด่วนมหานครสำนักงานเขตปทุมวันซึ่งให้บริการด้านทะเบียนราษฎร์ มีผู้บาดเจ็บสามคน โดยเชื่อว่าสาเหตุมาจากการเมือง และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 เกิดเหตุการณ์คาร์บอมที่ชั้นใต้ดินของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล สมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้บาดเจ็บ 10 คน โดยผู้ก่อเหตุที่ถูกออกหมายจับทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกันทั้ง 2 คดี โดยมีผู้ต้องหา 17 คน มีคนไทยร่วมขบวนการ 2 คน คือ วรรณา สวนสันต์ กับ ยงยุทธ พบแก้ว (อ๊อด พยุงวงศ์) และจนถึงตอนนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 2 ราย คือบีลาเติร์ก มูฮัมหมัด และไมไรลี ยูซูฟู (ชาวอุยกูร์) ต่อมา นางวรรณา สวนสันต์ ถูกจับ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
เหตุการณ์ร้ายที่กล่าวมา ยังไม่นับรวมการจับกุม "ริดวน อิซามุดดิน" หรือ "ฮัมบาลี" แกนนำกลุ่มก่อการร้ายเจไอ และเป็นตัวการประสานงานคนสำคัญระหว่างกลุ่มเจไอ กับ อัล-ไกดา ซึ่งถูกทางการไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่ซีไอเอสหรัฐควบคุมตัวได้ขณะกบดานอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อปลายปี พ.ศ. 2546 ซึ่งฮัมบาลี ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญที่บงการให้มีการวางระเบิดสถานบันเทิงในเกาะบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 ทางการไทยยังจับกุมนายวิคเตอร์ บูท ชาวรัสเซีย ซึ่งถูกกล่าวหาจากทางการสหรัฐว่า เป็นพ่อค้าอาวุธรายสำคัญ ถูกจับกุมตัวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551 ตามหมายจับของตำรวจสากล ด้วยข้อหาขนส่งอาวุธสงครามให้กับขบวนการค้ายาเสพติดในโคลอมเบีย ต่อมาศาลอุทธรณ์ไทยมีคำสั่งให้ส่งตัว วิกเตอร์ บูท ไปดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2553 และถูกตัดสินโดยศาลแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก จำคุกเป็นเวลาอย่างน้อย 25 ปี เหตุระเบิดบ้านเช่าของชาวอิหร่านสามคนในกรุงเทพมหานครเมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 หน้าโรงเรียนเกษมพิทยา ตั้งอยู่ระหว่างซอยปรีดีพนมยงค์ 33-35 ถนนปรีดีพนมยงค์ (ถ.สุขุมวิท 71) แขวงคลองตัน เขตวัฒนา กทม. มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย รวมทั้งมือระเบิดที่ได้รับบาดเจ็บจนขาขาด ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ศาลอาญาตัดสินลงโทษจำเลยชาวอิหร่านในความผิดฐานคดีร่วมกันทำความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดระเบิด ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ พยายามฆ่าผู้อื่น ทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ.2490 ดังกล่าว โดยนายซาอิด โมราดิ จำเลยที่ 1 อายุ 29 ปี ที่อยู่ในสภาพพิการตาขวาบอด ขาซ้ายขาดจากระเบิดของตัวเอง ถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และนายมูฮัมหมัด ฮาซาอิ จำเลยที่ 2 อายุ 43 ปี ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 15 ปี
แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้หน่วยงานด้านความมั่นคงจะมีการชี้แจงว่า กลุ่มขบวนการก่อการร้ายไม่ได้มีเป้าหมายที่จะโจมตีประเทศไทยโดยตรง เพียงแต่มีการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน หรือใช้เป็นสถานที่กบดานซ่อนตัวเพื่อก่อนเดินทางไปลงมือปฏิบัติการในประเทศอื่นๆ แต่ทุกเหตุการณ์ไม่ได้ที่เกิดขึ้นชัดเจนว่าประเทศไทยของเราไม่ได้ปลอดภัยจากเหตุการณ์ก่อการร้ายเลย แม้ว่า ประเทศไทยจะไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของการก่อการร้ายสากล แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการก่อการร้ายในประเทศได้ ด้วยการก่อการร้ายในปัจจุบันเป็นในรูปแบบที่ไร้ขอบเขตในการปฏิบัติ มีการกระจายเป็นกลุ่มเล็กๆ และมีอำนาจตัดสินใจปฏิบัติการโดยอิสระมากขึ้น โดยที่ไทยเป็นประเทศเปิดเสรี ทำให้ผู้ก่อการร้ายสากลเคยและสามารถใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางผ่าน แหล่งพักพิงชั่วคราว และแหล่งจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนในการปฏิบัติการ เช่น เอกสารปลอม อาวุธ การอำพรางรูปพรรณและสถานะของบุคคล การรวบรวมข่าวสารและเงินทุน รวมถึงความพยายามในการจัดตั้งเครือข่ายปฏิบัติการ เนื่องจากไทยมีปัจจัยเกื้อกูลหลายประการ เช่น เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การบังคับใช้กฎหมาย และการรักษาความปลอดภัยที่หย่อนยาน ขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
ความเป็นเอกราชของบ้านเมืองเราแลกมาด้วยความชาญฉลาดและเสียสละของบูรพมหากษัตริย์และบรรพชนไทย เราอยู่รอดมาได้ด้วยเราไม่ดันทุรังทำในสิ่งที่เราไม่เห็นโอกาสว่าจะสำเร็จ สิ่งเหล่านี้รักษาไว้ซึ่งความเป็นชาติเอกราชเพียงชาติเดียวที่รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในอดีต และจะหลุดพ้นจากบ่วงทุนนิยมของโลกเสรีอันเป็นเครื่องมือล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจตามลัทธิการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ได้จนตลอด เรื่องที่พึงระวังในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยคือ การตกบ่วงในการเลือกข้างฝักใฝ่เป็นพวกกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลไทยในอดีตเคยกระทำผิดพลาดมาแล้วหลายครั้งหลายหน สำหรับบทบาทท่าทีที่เหมาะสมที่สุดของประเทศไทยคือ การรักษาความเป็นกลางโดยเคร่งครัด การยึดมั่นในข้อตกลงตามสนธิสัญญาต่างๆ ที่ได้ทำไว้กับนานาประเทศ การประณามการใช้ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนการกระทำอันเป็นการก่อให้เกิดการดูหมิ่นและเกลียดชังบนพื้นฐานความเชื่อถือศรัทธาด้านต่างๆ ในความต่างทางเชื้อชาติศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี ด้วยอัธยาศัยไมตรีตลอดจนจารีตประเพณีที่ดีงามของสังคมไทย เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยตลอดจนความมั่นคงของชาติไทยเอาไว้ได้จนทุกวันนี้