เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้ ผมเลยจะขอเรียบเรียงเรื่องราวดี ๆ ในแต่ละบทความให้ครบ ๑๐ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติในหลวงของเรา โดยในครั้งนี้จะเริ่มต้นด้วยพระแก้วคู่บ้านคู่เมืองแห่งสยามประเทศ ๑๐ องค์
จากพระแก้วเมืองอุบลราชธานี มาถึงกรุงเทพมหานครที่เราทราบกันดีว่าพระพุทธรูปองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ ซึ่งถ้าเราเจาะลึกลงไปเพิ่มเติม โดยเฉพาะชื่อเต็มของกรุงเทพฯ คือ ‘กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’
คำว่า ‘อมรรัตนโกสินทร์’ หมายถึง เมืองที่ประดิษฐาน ‘พระแก้วมรกต’ และอีก ๑ คำคือ คำว่า ‘ภพนพรัตน์’ อันหมายถึง พื้นดินที่ฝังอัญมณี ทั้งเก้าเอาไว้ ‘นพรัตน์’ หรือ อัญมณีทั้งเก้า ประกอบไปด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย และไพฑูรย์
แต่ครั้งนี้ผมคงเล่าได้ไม่ครบแก้วทั้ง ๙ ประการนะครับ แต่จะขอยกเอาพระแก้วสำคัญมาให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักเพิ่มเติมมากกว่า ๙ คือจะเล่าถึง ๑๐ องค์ โดยหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะมีโอกาสได้ไปสักการะองค์พระท่าน เพื่อเป็นสิริมงคลของแต่ละท่านนะครับ โดยผมขอเริ่มจากองค์พระที่มีพระวรกายเป็นสีเขียวก่อนนะครับ
พระแก้วดอนเต้า
องค์ที่ ๑ ‘พระแก้วดอนเต้า’ หรือ ‘พระเจ้าแก้วมรกต’ ประดิษฐาน ณ กุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบ สลักจากหินหยกสีเขียวซึ่งเชื่อว่าเป็นหินหยกชนิดเดียวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตามศิลปะแบบเชียงแสนตอนปลาย ไม่มีพระเกตุมาลาเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป โดยที่บริเวณฐานพระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้าจะทำด้วยทองคำหนัก ๑๙ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง มีชฎาทองคำเป็นเครื่องสวมเศียร และมีเครื่องทรง ทำเป็นสร้อยสังวาล ซึ่งเป็นเนื้อทองคำรวมน้ำหนักถึง ๗ บาท ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระแก้วดอนเต้านี้สร้างขึ้นจากแก้วของพญานาคแห่งแม่น้ำวังกะนะทีซึ่งนางสุชาดามาถวายพระมหาเถระแห่งวัดดอนเต้า สลักด้วยฝีมือพระอินทร์จำแลง
พระนาคสวาดิเรือนแก้ว
องค์ที่ ๒ ‘พระนาคสวาดิเรือนแก้ว’ ประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สลักจากหยกสีเขียว ศิลปะราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ได้นำพระพุทธรูปศิลาเขียวองค์นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งคำว่า ‘นาคสวาดิ หรือ นาคสวาท’ มาจากสีเขียวขององค์พระ ด้วยความเชื่อที่ว่าสีเขียวนั้นเกิดจากเลือดของนาคเมื่อครั้งถูกครุฑจับฉีกเนื้อ นาคกระอักเลือดออกมาเป็นหินสีเขียว เรียกว่า ‘นาคสวาท’ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของวิเศษ
รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริว่าการที่ทรงได้ พระแก้วนาคสวาดิองค์นี้ในปีที่ ๓ ที่ทรงครองราชย์ นับเป็นบารมีเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมชนกนาถรัชกาลที่ ๒ ทรงได้พระแก้วผลึกในปีที่ ๓ ของรัชกาลเช่นกัน ภายหลังพระองค์ทรงสร้างเรือนแก้วทองคำลงยาราชาวดีถวายพระพุทธรูปศิลาเขียว และทรงถวายพระนามว่า ‘พระนาคสวาดิเรือนแก้ว’ เป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร
องค์ที่ ๓ ‘พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร’ หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า ‘พระแก้วมรกตน้อย’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานไม้จำหลัก ปิดทอง บัลลังก์ประดับพระปรมาภิไธย ‘วปร’ ใต้ฐานพระจารึกคำว่า ‘FABERGE 1914’ โดยพระแก้วองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระดำรัสสั่งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะทรงเสด็จฯ เยือนรัสเซีย ให้ทรงหาซื้อแก้วมรกตก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่จะพึงหาได้ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หาช่างฝีมือทำหุ่นพระพุทธรูปขึ้นตามแบบที่พระองค์ได้ทรงมอบให้
ซึ่งผู้ที่รับแกะสลักพระพุทธรูปสำคัญนี้คือช่างจาก ‘ห้างฟาแบร์เช่’ ซึ่งเป็นห้างเครื่องทองและอัญมณีประจำราชสำนักรัสเซีย ดำเนินกิจการโดย นายปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช่ (FABERGE) ซึ่งเป็นชื่อที่สลักอยู่ใต้ฐานองค์พระนั่นเอง
พระแก้วมรกตน้อยมาถึงสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองและทำพิธีพุทธาภิเษกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ปีเดียวกัน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนสักการบูชาเป็นเวลา ๓ วัน แล้วจึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง พระแก้วมรกตน้อยเป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล
องค์ที่ ๔ ‘พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล’ หรือชื่อสามัญคือ ‘พระหยกเชียงราย’ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะแบบเชียงแสน แกะสลักจากหินหยก มีเครื่องทรงแบบเชียงแสนทำจากอัญมณีและทองคำ ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย พระแก้วองค์นี้สร้างขึ้นในวโรกาสที่ ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา นำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย จัดสร้างพระแก้วองค์นี้ขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
โดยหินหยกที่นำมาแกะสลักนั้น เป็นหินหยกจากประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนานกู จงจูลู นครปักกิ่ง ประเทศจีน อัญเชิญมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน
ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปองคนี้ว่า ‘พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล’ มีความหมายว่า ‘พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา’ และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามว่า ‘พระหยกเชียงราย’ ต่อมาคณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้อัญเชิญองค์พระไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ในปีเดียวกัน
จะเห็นว่าเมืองไทยของเรามีพระแก้วที่พระวรกายเป็นสีเขียวหลายองค์ ในลำดับต่อไปก็มาถึงพระแก้วที่มีพระวรกายเป็นเฉดขาวทั้งที่ใสดุจแก้ว องค์พระแก้วที่มีไหมทองเป็นลายในองค์พระและองค์ที่ขาวเย็นเพราะสลักจากศิลาขาว ดังนี้ครับ
พระเสตังคมณี
องค์ที่ ๕ ‘พระเสตังคมณี’ หรือ ‘พระแก้วขาว’ ประดิษฐานภายในพระวิหาร วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ สลักจากแก้วสีขาวใส ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างละโว้ ‘เสตังคมณี’ มาจากคำว่า ‘เสต’ แปลว่า ขาว กับคำว่า ‘มณี’ แปลว่า แก้ว คือ ‘พระแก้วขาว’ อย่างตรงตัว องค์พระใสสะอาด พระเศียรหุ้มด้วยทองคำ ประทับนั่งบนแท่นไม้จันทน์หุ้มแผ่นทองคำ ใต้ฐานจารึกว่า “เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ พระเจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระราชบิดาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พร้อมด้วยเจ้าแม่ทิพยเกสรและราชบุตร ราชธิดาสร้างถวายแด่พระเสตังคมณี”
ตามตำนานเล่าว่า องค์พระแก้วขาวนั้นเมื่อแรกสร้างนั้น พระอรหันตเจ้าไปขอ ‘แก้วบุษยรัตน์’ มาจาก ‘จันเทวบุตร’ หาช่างสร้างพระไม่ได้ จนพระอินทร์ต้องมีโองการสั่งพระวิษณุกรรมมาเนรมิตสร้างจนเป็นองค์พระอันงดงามและประดิษฐานที่ละโว้เป็นแห่งแรก
ต่อมาพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้จะมาครองหริภุญไชย จึงได้ทูลฯ ขอพระแก้วขาวมาประดิษฐานที่เมืองหริภุญไชยเพื่อเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์และสถิตอยู่ ณ หริภุญไชยเป็นเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่พญามังราย ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ยกทัพมาเอาชนะหริภุญไชย โดยมีพระราชศรัทธาพระแก้วขาวเป็นอย่างมาก จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานไว้ ณ ที่ประทับส่วนพระองค์
ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ.๑๘๓๙ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชฐานของพระองค์กระทั่งพระองค์สวรรคตพระแก้วขาวก็ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ ณ วัดเชียงมั่นในเมืองเชียงใหม่ตลอดมากว่า ๗๐๐ ปี
พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย
องค์ที่ ๖ ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’ หรือ ‘พระแก้วผลึก’ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ปางสมาธิ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงเรื่องเล่าว่า มีผู้นำไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาวัดส้มป่อย นครจำปาศักดิ์ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลายมีพราน ๒ คน ไปพบ แล้วเชื่อว่าเป็นเทวรูปที่ให้คุณ จึงได้อัญเชิญองค์พระมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน แต่ระหว่างที่อัญเชิญองค์พระมานั้นพระกรรณเบื้องขวาไปกระทบคันหน้าไม้บิ่นไปเล็กน้อย ในสมัย ‘เจ้าไชยกุมาร’ ครองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองประเทศราชของไทย ได้ทราบข่าวเรื่อง ๒ พรานมีพระพุทธรูปแก้วผลึกใส พุทธลักษณะงดงาม จึงได้นำมารักษาไว้ที่นครจำปาศักดิ์ จนมาถึงสมัย ‘เจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศา’ เจ้านครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ ได้ย้ายนครจำปาศักดิ์มาตั้งทางอีกฝั่งของแม่น้ำโขง
จนในปี ๒๓๕๔ พระองค์ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จึงโปรดฯ ให้ข้าหลวงไปปลงพระศพ ข้าหลวงได้ไปเห็นองค์พระแก้วผลึก ว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวงดงาม ไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อน จึงได้มีใบบอกนำความกราบบังคมทูลฯ ถวายพระแก้วผลึก แล้วจึงอัญเชิญมายังกรุงเทพฯ โดยมีงานสมโภชมาตลอดทาง เมื่อถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมช่างจัดหาเนื้อแก้วผลึกเหมือนองค์พระ เจียระไนแก้วติดปลายพระกรรณขวาที่แตกชำรุดให้สมบูรณ์ และขัดชำระองค์พระให้เป็นเงางามเสมอกัน รับสั่งให้ทำเครื่องทรงอย่างงดงาม แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุราลัยพิมาน ทรงสักการะบูชาวันละสองเวลา เช้า-ค่ำ ไม่มีขาด
ว่ากันว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ หลังจากเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเบญจาตั้งบุษบกสูงเพื่อประดิษฐานแก้วมรกตเป็นการถาวรแล้วเสร็จ ครั้นเมื่อมีงานพระราชพิธีใหญ่ต่าง ๆ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วผลึกตั้งเป็นประธานในพิธีแทนมาจนตลอดรัชสมัยของพระองค์
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำเครื่องประดับองค์พระและฐานพระพุทธรูปใหม่ พร้อมทั้งฉัตรกลางและซ้าย ขวา แล้วตั้งการฉลองสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และถวายพระนามพระแก้วผลึกนี้ว่า ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’
พระแก้วน้ำค้าง
องค์ที่ ๗ ‘พระแก้วน้ำค้าง’ ประดิษฐานอยู่ ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น สลักจากแก้วหินเขี้ยวหนุมาน หรือ ‘แก้วขาวน้ำบุษย์’ ลักษณะ ‘ใส’ ไม่มีมลทิน บางตำราเรียกองค์ท่านว่า ‘พระแก้วขาวบุษย์น้ำค้าง’ คำว่า ‘แก้ว’ ในที่นี้หมายถึง ‘หินกึ่งมีค่า’ หรือ ‘อัญมณี’ ไม่ใช่แก้วที่เกิดจากการหลอมทรายอย่างที่เรียกว่า ‘แก้วประสาน’ ส่วนบนขององค์พระช่วงพระเกศาทำจากทองคำครอบพระเศียรไว้ ฐานทองคำลงยาราชาวดี เชื่อกันว่าแก้วน้ำค้างจะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ผู้ครอบครองและมีคุณวิเศษด้านปกป้องเภทภัยต่าง ๆ
พระพุทธบุษยรัตน์น้อย
องค์ที่ ๘ ‘พระพุทธบุษยรัตน์น้อย’ ประดิษฐานอยู่ที่ หอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปแบบแก้วผลึกใส ศิลปะแบบล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ‘นายเพิ่ม’ ไพร่หลวงรักษาพระองค์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ โดยนำองค์พระมาจากพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า "...เนื้อแก้วบริสุทธิ์ดี ลักษณะและส่วนสัดส่วนงามกว่า พระแก้วขนาดเดียวกันบรรดามี..."
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ กับพระรจนารังสรรค์ แก้พระพักตร์ให้งามขึ้นกว่าเดิมพร้อมทำฉัตรกับฐาน ก่อนจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานบนพระแท่นมณฑล ในพระราชพิธีตรุษในเดือนมีนาคม โดยทรงพระราชนิพนธ์ว่า "...ในการพระราชพิธีใหญ่ ๆ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนออกมา ตั้งเป็นประธานในพระราชพิธีแทนพระแก้วมรกต ส่วนพระสำหรับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระนาคสวาดิเรือนแก้ว ซึ่งได้มาแต่เมืองเวียงจันทน์ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้พระแก้วเชียงแสนเป็นพระของเดิม พระในแผ่นดินปัจจุบันนี้ใช้พระพุทธบุษยรัตนน้อย..."
โดย ‘พระพุทธบุษยรัตน์น้อย’ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงถือว่าเป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระองค์
พระพุทธสุวรรณโกศัยมัยมณี
องค์ที่ ๙ ‘พระพุทธสุวรรณโกสัยมัยมณี’ หรือ ‘พระแก้วไหมทอง’ ประดิษฐาน ณ วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม จ.กำแพงเพชร เป็นพระปางสมาธิที่แกะสลักจากหินไหมทองจากพม่า โดยพบหินไหมทองนี้ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นพระที่แกะสลักจากหินไหมทององค์เดียวของไทย มีเส้นทองเดินทั่วองค์ ทรงเครื่องประดับตามแบบ ‘พระเสตังคมณี’ วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศิลปะล้านนาผสมรัตนโกสินทร์ เมื่อแสงไฟกระทบองค์พระ จะเห็นเส้นไหมทองละเอียดเต็มองค์ ตามปกติทางวัดจะไม่ได้เปิดให้เข้าสักการะหรือเข้าชม จะอัญเชิญออกมาเฉพาะเทศกาลสำคัญ เช่น วันสงกรานต์
พระพุทธเทววิลาส
องค์ที่ ๑๐ ‘พระพุทธเทววิลาส’ หรือ ‘หลวงพ่อขาว’ ประดิษฐาน ณ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพธิดารามขึ้นใน พ.ศ.๒๓๗๙ คำว่า ‘เทพธิดา’ หมายถึง ‘กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ’ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓
‘พระพุทธเทววิลาส’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ศิลปะเชียงแสนสุโขทัย จำหลักจากศิลายวงสีขาวบริสุทธิ์ประดิษฐานอยู่บนเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย ปิดทองประดับกระจกเกรียบ อัญเชิญองค์พระมาจากพระบรมมหาราชวัง
ทั้งนี้ไม่ปรากฏประวัติการสร้างหรือที่มา เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกับพระแก้วมรกต เดิมเรียกกันแต่เพียงว่า ‘หลวงพ่อขาว’ จนในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระกฐิน จึงได้ทรงเฉลิมพระนามว่า ‘พระพุทธเทววิลาส’ ตามพระนามของ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ’ ในหนังสือราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๒๕๒๒
บทความในครั้งนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ถ้าท่านผู้อ่านสนใจในเรื่องของพระแก้วอันมงคลของไทย คงจะไม่พลาดไปสักการะองค์พระแก้วที่ผมได้เรียบเรียงมาเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้ กันนะครับ