Wednesday, 2 April 2025
COLUMNIST

เอกลักษณ์แห่งรัชสมัย ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ความหมายนัยแห่งองค์พระประมุข

‘ตราพระราชลัญจกร’ คือตราประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อเริ่มต้นรัชกาลในแต่ละรัชกาล เพื่อทรงใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานราชการแผ่นดิน 

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลปรากฏหลักฐานว่ามีใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระราชลัญจกรนี้ประกอบด้วยพระเอกลักษณ์อันเป็นนัยของแต่ละพระองค์ เป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงความเป็นพระประมุขของชาติ พระอิสริยยศ พระบรมเดชานุภาพ โดยผมได้เรียบเรียงมานำเสนอ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ ก.ค. ๒๕๖๗ ไล่เรียงจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังนี้…

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นรูปปทุมอุณาโลมมีลักษณะเป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระปรมาภิไธยว่า ‘ด้วง’ จึงได้ใช้อักขระ ‘อุ’ เป็นมงคลแก่พระปรมาภิไธยอยู่กลางล้อมรอบด้วยกลีบบัว อันเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ ผลิตออกใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๓๒๘ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุตนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘ฉิม’ ตามความหมายของวรรณคดีไทย คือพญาครุฑในเทพนิยาย เทวะกำเนิดเป็นเทพองค์หนึ่งที่ทรงมหิทธานุภาพยิ่งแต่ยอมเป็นเทพพาหนะสำหรับพระนารายณ์ ปกติสถิตอยู่ ณ วิมานฉิมพลี ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาให้ใช้รูปครุฑยุตนาคเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์แทนพระปรมาภิไธย พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ นอกจากนั้นยังปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย ชำระหนี้ เช่นเดียวกับในครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๓

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘ทับ’ หมายความว่า ที่อยู่หรือเรือน ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ แทนพระปรมาภิไธย ทรงใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ และมีปรากฏใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ เช่นเดียวกัน 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี ลายกลางพระราชลัญจกรเป็นรูป ‘พระมหาพิชัยมงกุฎ’ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘มงกุฎ’ ซึ่งเป็นศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้างที่ขอบทั้งสองข้าง มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรมาจากฉายา ที่ทรงผนวชว่า ‘วชิรญาณ’ ส่วนสมุดตำรามาจากเหตุที่ได้ทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ปรากฏในเงินพดด้วงและเงินเหรียญกษาปณ์ นอกจากนี้ยังอัญเชิญพระราชลัญจกรไปสลักหรือปั้นนูนเพื่อประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่พระองค์ทรงสร้างหรือทรงปฏิสังขรณ์ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี กลางพระราชลัญจกรมีพระราชสัญลักษณ์สำคัญคือ ‘พระเกี้ยว’ คือพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธย ‘จุฬาลงกรณ์’ ซึ่งแปลความหมายว่า ‘ศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ’ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้าง ที่ริมขอบทั้งสองข้างมีพานแว่นฟ้าวางพระแว่นสุริยกานต์ ข้างหนึ่งวางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์และสมุดตำรานั้นเป็นการเจริญรอยจำลองพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมเด็จพระชนกนาถ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่ง ‘ไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน’ เช่น ใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ ใช้เป็นตราหน้าหมวกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๖

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี ประกอบด้วย ‘วชิราวุธ’ มีรัศมีเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘วชิราวุธ’ ซึ่งหมายความถึง ‘ศัตราวุธของพระอินทร์’ เรียกว่าพระราชกัญจกรพระวชิระประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวบริวาร ๒ ข้าง ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเครื่องหมายราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ทั้งยังใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ตราวชิรมาลา เหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ทรงให้ใช้ปักบนธงเครื่องหมายประจํากองเสือป่า ปักผ้าทิพย์หน้ามุขเด็จพลับพลาที่ประทับในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งยังเชิญไปประดิษฐานที่หน้าบันโรงเรียนวชิราวุธ อีกด้วย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๗

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรีเรียกว่า ‘พระราชลัญจกรพระแสงศร’ รูปพาดพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรอัคนีวาต พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศร ๓ องค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘ประชาธิปกศักดิเดชน์’ ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์วรรคสุดท้ายที่ว่า ‘เดชน์’ แปลว่า ‘ลูกศร’ ส่วนเบื้องบนมีรูปพระแสงจักรและพระแสงตรีศูลอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มีบังแทรกตั้งอยู่ ๒ ข้าง กับมีลายกนกแทรกอยู่ระหว่างพื้น พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๘ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีลักษณะเป็นรูปกลมโดยมีรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน หมายถึง ‘แผ่นดิน’ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูมและมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี มีแท่นรองรับตั้งฉัตรบริวาร ๒ ข้างเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘อานันทมหิดล’ ซึ่งแปลความหมายว่า ‘เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน’ พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย โดยความยินดีของประชาชนชาวไทย เปรียบประหนึ่งพระองค์เป็น ‘พระโพธิสัตว์’ เสด็จฯ มาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล พระราชลัญจกรนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีลักษณะเป็นรูปกลมรีแนวตั้ง ประกอบด้วยรูป ‘พระที่นั่งอัฐทิศ’ ประกอบด้วยวงจักร ตรงกลางจักรมีอักขระเป็น ‘อุ’ หรือ ‘เลข ๙’ รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่ง อัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยมีวันพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิต ซึ่งแตกต่างจากรัชกาลก่อน ๆ 
.
พระราชลัญจกรนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตรานี้แก่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ พร้อมพระราชทานนาม ‘ราชภัฏ’ แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งหมายถึง ‘คนของพระราชา’ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในเครือ ทั้งยังมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นภาพประธานในตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ในรัชกาลของพระองค์ ได้แก่ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ อีกด้วย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑๐

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑๐ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีลักษณะเป็นรูปกลมรี โดยประกอบด้วย ‘พระวชิระ’ คือ เทพศาสตราของพระอินทร์ นอกจากนี้ยังแปลว่า ‘สายฟ้าและเพชร’ นอกจากนั้นยังมีแบบตามพระราชนิยมในรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ โดยด้านบนของพระวชิระมี ‘พระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นแบบตามพระราชนิยมในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงแทนคำว่า ‘อลงกรณ์’ ซึ่งแปลว่า ‘เครื่องประดับ’ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย ‘มหาวชิราลงกรณ’ เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมด้วยฉัตรบริวารอยู่ทั้ง ๒ ข้าง 

พระราชลัญจกรนอกจากเนื้อหาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้นยังเป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศอีกด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในหมวดพระราชสิริซึ่งประกอบด้วย พระสุพรรณบัตร ดวงพระราชสมภพและ พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ซึ่งจะต้องเชิญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกับเครื่องมงคลอื่น ๆ ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของพระราชลัญจกรประจำรัชกาลต่าง ๆ ในมหาจักรีบรมราชวงศ์

‘ญี่ปุ่น’ แม้เจริญสุดขีด แต่ก็ประสบปัญหา ‘คนไร้บ้าน’ เรื้อรัง หลังพวกเขาพ่ายแพ้ต่อเศรษฐกิจแปรปรวน กลายเป็นคนว่างงาน

ปัญหาคนไร้บ้านนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะบ้านเรา แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในแทบทุก ๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ ‘ญี่ปุ่น’ ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญที่สุดในทวีปเอเชีย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวญี่ปุ่นหลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกทิ้งระเบิดและพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ในช่วงทศวรรษ 1960 จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกกันว่า ‘ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น’ ทำให้จำนวนคนไร้บ้านลดลงอย่างรวดเร็ว แต่กลับมาเพิ่มจำนวนอย่างเห็นได้ชัดในสังคมญี่ปุ่นอีกครั้ง จากการล่มสลายของฟองสบู่ราคาทรัพย์สินของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 และส่งผลให้เกิด ‘ทศวรรษที่หายไป’ จากภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะไร้ที่อยู่อาศัย จำนวนคนไร้บ้านสูงมากจนถึงจุดสูงสุด

ปัญหาคนไร้บ้านในญี่ปุ่นเป็นปัญหาทางสังคมที่มักเกิดขึ้นกับชายวัยกลางคนและผู้สูงอายุเป็นหลัก เชื่อกันว่า ในทศวรรษที่ 1990 อันเป็นผลมาจากการแตกของฟองสบู่ที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ของญี่ปุ่นลดลงเป็นอันมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตาม ‘พระราชบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับการสนับสนุนการพึ่งตนเองของคนไร้บ้าน’ ให้นิยามของคำว่า ‘คนจรจัดหรือคนไร้บ้าน’ หมายถึง ‘ผู้ที่ใช้สวนสาธารณะในเมือง ริมฝั่งแม่น้ำ ถนน สถานีรถไฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา’

ทั้งนี้ ลักษณะเฉพาะบางประการของคนไร้บ้านชาวญี่ปุ่นนั้น มีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางสังคมของสังคมญี่ปุ่น ในอดีตซึ่งฝ่ายชายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวแต่เพียงผู้เดียว บรรดาบริษัทญี่ปุ่นต่างเชื่อกันว่า ชายที่แต่งงานแล้วจะทำงานได้ดีกว่าชายโสดที่ยังไม่ได้แต่งงาน เพราะชายที่แต่งงานแล้วจะรู้สึกว่า มีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่า ดังนั้นไม่เพียงแต่ชายสูงอายุเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับภาวะสูงอายุและไม่สามารถหางานทำได้ แต่ชายโสดที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ก็มีปัญหาในการหางานเช่นกัน ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดจำนวนชายที่ยากจนโดยเฉลี่ย แต่กลับมีความแปรปรวนมากกว่า โดยมีทั้งจำนวนชายที่ร่ำรวยและยากจนเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้มีชายไร้บ้านจำนวนมากกว่าหญิงไร้บ้านในญี่ปุ่น นอกจากนี้แล้ว ครอบครัวญี่ปุ่นมักจะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกที่เป็นหญิงมากกว่าชาย

ในปี 1997 เทศบาลกรุงโตเกียวยอมรับการมีอยู่ของตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้าน และเริ่มรับฟังปัญหาของพวกเขา ในปี 1998 ทางการระบุว่า มีคนไร้บ้านในกรุงโตเกียวเพียงแห่งเดียวประมาณ 3,700 คน แต่กลุ่มที่ช่วยเหลือคนไร้บ้านประเมินไว้ว่า มีคนไร้บ้านราว 5,000 คน ในกรุงโตเกียว และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ในญี่ปุ่นมีการจ้างงานนอกเวลาและการจ้างงานชั่วคราวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีกว่า 20 ล้านตำแหน่งงาน ค่าจ้างนอกเวลาและการจ้างงานชั่วคราวมักจะเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในปี 1986 และ 1999 โดยการเช่าที่พักในญี่ปุ่นมักจะต้องวางเงินมัดจำและค่าเช่าล่วงหน้า 3 เดือน แฟลตแบบหนึ่งห้องนอนในกรุงโตเกียว ค่าเช่ารายเดือนมากกว่า 50,000 เยน (ราว 11,488 บาท) ทำให้ผู้ที่ไม่มีงานประจำเข้าถึงได้ยากมากขึ้น ปัญหาคนไร้บ้านจึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นระบุว่า มีคนไร้บ้านในญี่ปุ่นไม่ถึง 1 หมื่นคน โดยจำนวนคนไร้บ้านมากที่สุดอยู่ในเขตมหานครโตเกียว ราว 2,700 คน รองลงเป็นอันดับสองคือ นครโอซาก้า ราว 2,500 คน และอันดับสามคือจังหวัดคานากาว่า ราว 1,814 คน ในเดือนสิงหาคม 2002 ได้มีการประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับการสนับสนุนการพึ่งตนเองของคนไร้บ้าน’ คนไร้บ้านในญี่ปุ่นจึงเริ่มได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากทางการ รวมทั้งมีการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 และมีการสำรวจอีกครั้งในเดือนเมษายน 2007 ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่ไม่มีรายได้ เงินออม หรือทรัพย์สินเพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานสามารถรับความคุ้มครองเพื่อการดำรงชีพได้ หญิงที่หลบหนีจากความรุนแรงในครอบครัวหรือจากอดีตคู่รักที่ต้องการเริ่มต้นความสัมพันธ์ในอดีตอีกครั้งสามารถรับการสนับสนุนจากสถาบันดูแลสตรี ศูนย์หลบภัย และสถานสงเคราะห์ได้ ในกรณีของผู้เยาว์ มีการจัดรูปแบบความช่วยเหลือ เช่น สถาบันสวัสดิภาพเด็ก 

โดยที่ญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง ในปี 2011 เป็นต้นมา จึงมีการเปิดกิจการร้านไซเบอร์คาเฟ่ (หรือโรงแรมแคปซูล) โดยคนไร้บ้านสามารถเข้าพักได้ ไซเบอร์คาเฟ่ ให้บริการห้องพักซึ่งมีพื้นที่ส่วนตัวเล็ก ๆ และห้องอาบน้ำ พร้อม โทรทัศน์ น้ำอัดลม และอินเทอร์เน็ต ในราคา 1,500 ถึง 2,000 เยน (ราว 344 ถึง 460 บาท) ต่อคืน ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา มีการประเมินกันว่า ในกรุวโตเกียวเพียงเมืองเดียวมีชาวญี่ปุ่นอย่างน้อย 15,000 คน อาศัยอยู่ในร้านไซเบอร์คาเฟ่ ซึ่งมากกว่าจำนวนคนไร้บ้านอย่างเป็นทางการถึง 5 เท่า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นจะมีอัตราการไร้ที่อยู่อย่างเป็นทางการต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ แต่สัดส่วนของคนญี่ปุ่นที่ยากจนในญี่ปุ่นนั้นกลับสูงกว่าในสหรัฐฯ แม้ว่าบางคนจะกลายเป็นคนไร้บ้าน แต่หลายคนในจำนวนนี้รเลือกอาศัยอยู่ในไซเบอร์คาเฟ่ อันเนื่องมาจากแรงกดดันทางสังคม พวกเขาชอบที่จะรักษาเรื่องราวส่วนตัวของตนไว้เป็นความลับ และสิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและประชาชนชาวญี่ปุ่นทั่วไปต่างก็ต้องการให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นไปเช่นนั้นด้วย

การควบรวมของ 'สองบริษัท-มากกว่า' เพื่อสร้างบริษัทใหม่ 'ทรัพย์สิน-หนี้สิน-สิทธิทั้งหมด' จะถูกควบรวมเข้าด้วยกัน

ถ้าใครได้ตามข่าวในแวดวงการลงทุนล่าสุด ก็คงจะเห็นข่าวใหญ่ของปีอย่างกรณีการควบรวมกิจการยักษ์ใหญ่อย่าง GULF ที่ควบรวมเข้ากับ INTUCH และก่อตั้งบริษัทใหม่ (NewCo) ขึ้นมาค่ะ และขณะเดียวกันก็คงจะเริ่มผ่านตากับคำว่า Amalgamation อยู่หลายครั้งด้วย

สำหรับ Amalgamation คือ การควบรวมหรือการผนวกสองบริษัท หรือ มากกว่าเข้าด้วยกัน เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาค่ะ โดยบริษัทที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวนี้จะมีทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิทั้งหมดเเละความรับผิดชอบของบริษัทที่ถูกควบรวมเข้าด้วยกัน 

ส่วนบริษัทที่ถูกควบรวมนั้น จะหมดสภาพการเป็นนิติบุคคลค่ะ อย่างเช่น บริษัท ก. รวมกับบริษัท ข. และมาตั้งเป็นบริษัท ค. (ก.+ข.= ค.) ค่ะ โดย Amalgamation มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ...

1. Amalgamation แบบ Merger: การควบรวมบริษัทแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อสองบริษัทหรือมากกว่า รวมตัวกัน โดยทั้งสองบริษัทที่ถูกผนวกจะหยุดการดำเนินการ และเกิดบริษัทใหม่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งมีการโอนสินทรัพย์ และหนี้สินทั้งหมดไปยังบริษัทใหม่ และ

2. Amalgamation แบบ Purchase: การควบรวมแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทหนึ่ง (บริษัทผู้ซื้อ) ซื้อสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทอื่น (บริษัทผู้ขาย) โดยบริษัทผู้ขายจะหยุดการดำเนินการ และบริษัทผู้ซื้อจะยังคงดำเนินการต่อไป

โดยประโยชน์ของการทำ Amalgamation จะแบ่งได้เป็น...

1) Economies of Scale โดยการควบควมกิจการจะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เนื่องจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น 

2) Increased Market Shares โดยบริษัทใหม่นี้จะมีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น อีกทั้งถ้าแต่ละบริษัทมีความชำนาญที่แตกต่างกันออกไปก็อาจจะเกิดการประสานงานหรือที่เราเรียกว่า Synergy ทำให้การทำธุรกิจโตแบบก้าวกระโดดได้ 

และ 3) เกิด Diversification เพราะการควบรวมนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถกระจายความเสี่ยงโดยการขยายสินค้าหรือบริการไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้ค่ะ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีนะคะ เพราะการควบรวมกิจการ ก็ย่อมหมายถึงบางตำแหน่งงานที่มีความทับซ้อนกันต้องหายไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานในตำแหน่งนั้น ๆ และการกำกับดูแลของภาครัฐที่เข้ามามีส่วน ก็อาจจะมากขึ้นตามขนาดของบริษัทที่ใหญ่ขึ้นด้วยค่ะ เช่น อาจจะมีการนำเอากฎหมายการทางค้ามาใช้เพื่อป้องกันการผูกขาด และอาจจะไปกระทบการทำธุรกิจของบริษัทได้ค่ะ 

นอกจากกรณีของ GULF กับ INTUCH แล้ว ในอดีตที่ผ่านมาก็มีหลายบริษัทที่ทำ Amalgamation ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2006 ที่ Walt Disney ควบรวมเข้ากับ Pixar Animation Studios ซึ่งการควบรวมนี้ทำให้ Disney สามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันได้มากขึ้น 

หรือจะเป็นการทำ Amalgamation ครั้งที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่บริษัทโทรคมนาคมจากสหราชอาณาจักรอย่าง Vodafone ที่ควบรวมกับบริษัทโทรคมนาคมในเยอรมนีอย่าง Mannesmann ในปี 2000 ซึ่งการควบรวมนี้มีมูลค่าสูงถึง 183 พันล้านดอลลาร์เเละทำให้ Vodafone กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกค่ะ 

หรือจะเป็นตอนที่สองบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Exxon เเละบริษัท Mobil ควบรวมเข้าด้วยกันในปี 1999 ซึ่งทำให้บริษัท Exxonmobil กลายเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น

ส่วนก่อนหน้านี้ ในไทยเองก็จะเป็นกรณีที่บริษัทโทรคมนาคมอย่าง TRUE ควบรวมกิจการเข้ากับ DTAC ค่ะ

ยลโฉมกระบวนพยุหยาตราและเรือพระที่นั่งประจำรัชกาล ลำใดสร้างขึ้นเมื่อไร ลำที่เท่าใด ลำใดปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว

ในช่วงนี้เราคงได้ชมภาพการอัญเชิญเรือพระที่นั่งลงน้ำเพื่อเตรียมการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ที่กำหนดการจัดให้มีขึ้นในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้ ซึ่งทุก ๆ ท่านคงจะได้รู้จักเรือพระที่นั่งสำคัญ อย่าง เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ กันอยู่แล้ว แล้วท่านทราบหรือไม่ว่าเรือพระที่นั่งลำใดสร้างขึ้นในรัชกาลใดและเป็นลำที่เท่าไหร่ และเรือพระที่นั่งลำใดที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว 

ส่วนตัวผมได้เคยเป็นผู้จัดการแข่งขัน ‘เรือยาวขุด’ ประเพณีชิงถ้วยพระราชทานเมื่อหลายปีก่อน ซึ่ง ‘เรือขุด’ คือเรือยาวที่นำเอาต้นไม้ทั้งต้นมาขุด และผ่านกรรมวิธีเฉพาะแบบโบราณจนได้เรือยาวที่พร้อมลงน้ำในสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นเรือชนิดใด ถ้าเป็นเรือที่ใช้เพื่อการสำคัญก็ล้วนแล้วแต่ใช้วิธีการสร้างแบบนี้ ซึ่ง ‘เรือขุด’ ที่ถือได้ว่างดงามและสำคัญที่สุดก็คือ ‘เรือพระที่นั่ง’ ในกระบวนเรือพระราชพิธี ซึ่งในครั้งนั้นผมได้รวมรวมเนื้อหาเพื่อนำเสนอในนิทรรศการ ‘มหกรรมเรือยาวขุดประเพณี’ ซึ่ง ‘เรือพระที่นั่ง’ ลำต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเรือขุดโบราณที่ถือได้ว่าเป็นมรดกสำคัญของชาติ ในครั้งนี้ผมจึงขอนำเอาเรื่องของเรือพระที่นั่งและกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคของแต่ละรัชกาล ที่เรียบเรียงในครั้งนั้นมานำเสนอให้ทุกท่านได้ติดตามกัน ดังนี้...

รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครหลวงจากกรุงธนบุรี มาฝั่งกรุงเทพมหานคร บริเวณทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามที่บันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์เป็นกระบวนหลวงซึ่งเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างโบราณในการอัญเชิญพระแก้วมรกตแห่ข้ามฟากมาประดิษฐานเหนือบุษบกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗ ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งที่โปรดให้สร้างเพิ่มขึ้นใหม่ คือ เรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรดิ เรือพระที่นั่งสวัสดิชิงชัย เรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบกพิศาล เรือพระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์ เรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องศรี เรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ เรือพระที่นั่งมณีจักรพรรดิ เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ทั้งยังซ่อมแซมเรือพระที่นั่งลำอื่น ๆ พร้อมด้วยเรือประกอบกระบวนอื่น ๆ เพื่อให้กระบวนเป็นไปอย่างพร้อมสมบูรณ์ 

รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเรือในกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค อย่างยิ่งใหญ่ในการเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐิน ปรากฏหลักฐานว่าทรงสร้างเรือพระที่นั่งเพียงลำเดียว แล้วพระราชทานนามว่า ‘เรือพระที่นั่งประจำทวีป’ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่สำคัญก็คือการอัญเชิญ ‘พระแก้วขาว’ หรือ ‘พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย’ พระแก้วประจำรัชกาลที่ ๒ จากวัดเขียน นนทบุรี เข้ามาประดิษฐานบนพระแท่นทอง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงใช้ ‘เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย’ เป็นเรือพระที่นั่งประจำพระองค์ เรือลำนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อทดแทนเรือพระราชพิธีลำเดิมที่ถูกทำลายไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จัดเป็นเรือประเภทเรือพระที่นั่งเอกชัย หรือเรือชัย ‘เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย’ เป็นชื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชทาน เป็นเฉพาะของพระองค์ โดยแรกเริ่มนั้นใช้เป็นเรือพระที่นั่งนำเสด็จฯ ก่อนเรือพระที่นั่งทรง ซึ่งน่าจะเป็น ‘เรือพระที่นั่งชัยสุวรรณหงส์’ ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ใน ‘ลิลิตกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง’ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก่อนที่จะเปลี่ยนเรือพระที่นั่งตามที่ ‘ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค’ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้บันทึกไว้ว่า เรือพระที่นั่งทรงของพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีพระราชทานผ้าพระกฐินทางชลมารค ได้ทรงเปลี่ยนเป็น ‘เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย’ โดยเรือลำนี้เป็นเรือที่มิได้มีการสร้างใหม่หรือซ่อมแซมให้กลับมาใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคแต่อย่างใด ปัจจุบันยังเรือพระที่นั่งลำนี้ยังเก็บรักษาทั้งลำสภาพชำรุดไว้ที่โรงเก็บเรือแผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็กกรมการขนส่งทางเรือ กองทัพเรือ 

รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันศุกร์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จฯ เลียบพระนครทางชลมารค ในวันพุธที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามตำรา โดยพระองค์เป็นพระองค์ที่ ๒ ที่เสด็จฯ ตามกระบวนนี้ โดยเรือพระที่นั่งสำคัญในรัชสมัยของพรองค์ก็คือ ‘เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย’ ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งชลพิมานชัย ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวว่า ‘เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย’ เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จเลียบพระนครทางชลมารคหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ต่อภายหลังพระองค์จึงได้ทรงเปลี่ยนมาใช้ ‘เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช’ เป็นเรือพระที่นั่งทรงแทน ‘เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย’ ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่ง ๑ ใน ๒ ลำที่มิได้มีการสร้างขึ้นใหม่หรือซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้เป็นเรือพระที่นั่งแต่อย่างใด ปัจจุบันสามารถไปชมโขนของเรือพระที่นั่งลำนี้ได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการจัดกระบวนพยุหยาตราเลียบพระนครทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๖ ดังปรากฏหลักฐานใน ‘จดหมายเหตุบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๕ ครั้งหลังพุทธศักราช ๒๔๑๖’ แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกระบวนเรือมากนัก พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์’ ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งลำนี้ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี ในลำดับชั้นรอง เดิมนั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการลำลอง แต่ต่อมาได้นำเข้าสู่กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคโดยเรียกว่า ‘เรือพระที่นั่งรอง’ ซึ่ง ‘เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์’ เป็นเรือพระที่นั่งลำเดียวที่สร้างเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ ๕ เพราะนอกจาก ‘ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์’ ในช่วงปลายรัชกาลยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์’ ทดแทน ‘เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์’ ลำเดิมที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แต่มิทันเสร็จก็ทรงสวรรคตเสียก่อน 

รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากท่าราชวรดิฐไปยังวัดอรุณราชวรารามโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ โดยปรากฏอยู่ใน ‘จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ซึ่ง ‘เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์’ นั้นแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์คือปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ พอดี ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช’ แทนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แต่มาเริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งกระบวนเรือได้ใช้ ‘เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช’ รัชกาลที่ ๖ มาจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ 

รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จประปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงวางหลักเกณฑ์การจัดระเบียบกระบวนเรือสำหรับเสด็จฯ ทางชลมารคขึ้นใหม่ดังนี้...

กระบวนพยุหยาตราใหญ่ เดิมใช้ว่า ‘กระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่’ ใช้ในโอกาสพระราชทานพระกฐิน หรือในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค จัดเป็น ๔ สาย มีเรือนำกระบวนเป็นเรือพิฆาต เรือดั้ง เรือรูป สัตว์ เรือเอกไชย ๒๑ คู่ เรือพระที่นั่ง ๓ องค์ และเรือตามกระบวน ๔ คู่ รวม ๔๙ ลำ

กระบวนพยุหยาตราน้อย เดิมใช้ว่า ‘กระบวนพยุหยาตราอย่างน้อย’ โดยปรกติจัดในการพระราชทานพระกฐินทางชลมารค จัดเป็น ๒ สาย มีเรือนำกระบวน ๑๖ คู่ เรือพระที่นั่ง ๒ องค์ และเรือตามกระบวน ๔ คู่ รวม ๔๓ ลำ 

กระบวนราบใหญ่ทางชลมารค ๔) กระบวนราบน้อยทางชลมารค และ ๕) กระบวนราบย่อทางชลมารค

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ถือเป็นระเบียบปฏิบัติได้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมา โดยพระองค์เสด็จฯ เลียบพระนครทางด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (เป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่) ครั้งแรก เนื่องใน ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ โดยเสด็จฯ จากท่าราชวรดิฐด้วย ‘เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์’ ไปยังวัดอรุณราชวราราม เมื่อเรือพระที่นั่งเทียบท่าวัดอรุณฯ มีเรืออเนกชาติภุชงค์ทอดบัลลังก์กัญญาเป็นเรือพลับพลา จากนั้นเสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระประธานในพระอุโบสถ ถวายผ้าทรงสะพัก ทรงสักการะพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ก่อนจะเสด็จฯ คืนพระบรมมหาราชวัง โดยเสด็จฯ ลงประทับในเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ด้วยกระบวนหยุหยาตราทางชลมารคเช่นเดิม อันเป็นการเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยสมบูรณ์ ส่วนครั้งที่ ๒ นั้น เสด็จฯ ด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕๐ ปี เมื่อ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ 

รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มิได้มีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มิได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งอู่เรือพระที่นั่งปากคลองบางกอกน้อยเดิมถูกลูกระเบิดถล่มจนเรือเสียหายไปหลายลำ ในช่วงนี้จึงเน้นหนักในการซ่อมแซมเรือและป้องกันมิให้เรือพระที่นั่งถูกทำลายเสียหาย หลังจากนั้นได้มีการโอนเรือพระราชพิธี ๓๖ ลำ ให้กรมศิลปากรดูแล และนำไปเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธีปากคลองบางกอกน้อยซึ่งห่างออกมาจากที่เดิม และส่วนที่เหลืออีกราว ๓๒ ลำ เป็นพวกเรือตำรวจ เรือดั้ง เรือแซง กองทัพเรือเก็บรักษาไว้ดังเดิม 

รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลังจากพระราชพิธีในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕๐ ปี ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกเลยจนมาถึงรัชกาลที่ ๙ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษขึ้น พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมานานถึง ๕๐ ปี 

ซึ่งครั้งเรียกว่า ‘กระบวนพุทธพยุหยาตรา’ ซึ่งจัดรูปกระบวนเรือคล้ายรูปกระบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบเนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบางส่วน หลังจากนั้นก็ได้มีพระราชพิธีเสด็จฯ ด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งที่สำคัญและเป็นที่น่าจดจำ ก็คือการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) เพื่อเฉลิมฉลองในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ซึ่งทรงครองราชย์นานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีต เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ในครั้งนี้ได้มีเรือพระพระที่นั่งลำใหม่ คือ ‘เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙’ 

ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย โดยได้นำโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ มาเป็นแม่แบบ ในรัชกาลที่ ๙ นี้ มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๕ จำนวน ๑๕ ครั้ง และจัดกระบวนเรือพระราชพิธี จำนวน ๒ ครั้ง สำหรับกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชกาลที่ ๙ ส่วนใหญ่จะเป็นการเสด็จฯ ไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ส่วนการจัดกระบวนเรือพระราชพิธี ๒ ครั้ง ได้แก่ การจัดกระบวนเรือพระราชพิธี เนื่องในการประชุมเอเปก ๒๐๐๓ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และอีกครั้งคือการจัดกระบวนเรือในโอกาสที่ สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และ ผู้แทนพระประมุขต่างประเทศ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยการจัดกระบวนเรือพระราชพิธี ๒ ครั้งนี้เป็นเพียงการสาธิตการแห่กระบวนเรือซึ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จฯ ในกระบวนเรือด้วย

รัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นพิธีเบื้องปลาย ขึ้นในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ (เลื่อนจาก ๒๔ ตุลาคม ปีเดียวกันเนื่องจากกระแสนำของแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นการจัดรูปกระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี พระราชวังดุสิต ไปยังท่าราชวรดิฐ พระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วยเรือพระราชพิธีจํานวน ๕๒ ลํา กําลังพลฝีพาย จํานวน ๒,๒๐๐ นาย แบ่งออกเป็น ๕ ริ้ว ๓ สาย ดังนี้...

ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง ๔ ลำมีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พร้อมด้วยประกอบอื่น ๆ 

ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น เรือเสือทยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาตเรือรูปสัตว์ ๘ ลำ มีเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชัก 

ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ ๑๔ ลำ 

เรือพระราชพิธีทุกลําขุดขึ้นจากไม้ มีอายุยาวนาน โดยเฉพาะเรือพระที่นั่ง ทั้ง ๓ ลํา คือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ ๕ มีอายุกว่า ๑๐๒ ปี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลที่ ๕ แล้วเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ ๖ มีอายุ ๑๐๘ ปี เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างในรัชกาลที่ ๖ มีอายุ ๙๕ ปี ส่วนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีอายุ ๒๓ ปี ส่วนเรืออื่น ๆ ในขบวน โดยเฉพาะเรือรูปสัตว์แต่ละลํา มีอายุการสร้างนับร้อยปี เรือทุกลำที่ประกอบกันในริ้วกระบวนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติไทยที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ที่สำคัญคือ ‘เรือขุด’ จากภูมิปัญญาแห่งอุษาคเนย์ที่มีค่าประเมินมิได้ 

เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้ โดยมีเรือในกระบวนเรือพระราชพิธีจำนวน ๕๒ ลำ จัดเป็น ๕ ริ้ว ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีขบวนพยุหยาตราทางชลมารคลำดับที่สองในรัชสมัย

‘Secret Service’ ผู้พิทักษ์ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา  ความอุ่นใจของ 'อดีตปธน.' ที่จะได้รับการอารักขาไปตลอดชีวิต

The United States Secret Service (USSS or Secret Service) เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลางภายใต้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (The Department of Homeland Security) ซึ่งมีภารกิจในการสอบสวนทางอาญาและปกป้องผู้นำของสหรัฐฯ และครอบครัว ตลอดจนประมุขแห่งรัฐหรือผู้นำรัฐบาลที่มาเยือนสหรัฐฯ 

ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2408 จนถึงปี พ.ศ. 2546 Secret Service เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลัง (The Department of the Treasury) สืบเนื่องจากหน่วยงานก่อตั้งเพื่อต่อสู้กับการปลอมแปลงเงินสหรัฐฯ ที่แพร่หลายในขณะนั้น (พ.ศ. 2408 หรือค.ศ. 1865)

The United States Secret Service จัดตั้งตามความเห็นชอบของรัฐสภาแห่งสหรัฐฯ เพื่อปฏิบัติภารกิจในด้านความมั่นคงแห่งชาติที่แตกต่างกันสองภารกิจ ได้แก่ 1. การปกป้องผู้นำของประเทศ และ 2. การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา 

ในระยะแรก ๆ มีหน้าที่สอบสวนกรณีเกี่ยวกับเงินปลอม หรืออาชญากรรมอื่น ๆ จากรายงานการหมุนเวียนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในสมัยนั้น ปรากฏว่า ปริมาณเงินที่หมุนเวียนหนึ่งในสามเป็นเงินปลอม 

ด้าย Abraham Lincoln ประธานาธิบดีในขณะนั้นได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นเพื่อศึกษาและให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา The United States Secret Service จึงถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2408 ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อปราบปรามเงินดอลลาร์ปลอม

โดย William P. Wood หัวหน้าหน่วยคนแรก ได้ทำการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งต่อ Hugh McCulloch รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เข้ารับตำแหน่งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในฐานะ ‘Secret Service Division’ ของกระทรวงการคลัง โดยมีภารกิจหลักในการปราบปรามการปลอมแปลงเงินดอลลาร์ปลอม

แต่ต่อมาหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกลอบสังหารขณะอยู่ในตำแหน่งไปแล้ว 3 คน คือ  Abraham Lincoln (14 เมษายน พ.ศ. 2408 หรือค.ศ. 1865) , James A. Garfield (2 กรกฎาคม พ.ศ. 2424 หรือค.ศ. 1881) และ William McKinley (6 กันยายน พ.ศ. 2444 หรือค.ศ. 1901) และคนที่ 4 คือ John F. Kennedy (22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 หรือค.ศ. 1963)
หลังจากการลอบสังหารประธานาธิบดี William McKinley ในปี พ.ศ. 2444 รัฐสภาแห่งสหรัฐฯ จึงได้มอบภารกิจในการปกป้องประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ให้กับ The United States Secret Service รับผิดชอบจนทุกวันนี้

ปัจจุบันภารกิจของ The United States Secret Service ประกอบด้วย… 

1. ภารกิจในการคุ้มกันอารักขา Secret Service ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ของสหรัฐอเมริกา ว่าที่ประธานาธิบดี ว่าที่รองประธานาธิบดี ที่ได้รับเลือกของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนครอบครัวใกล้ชิดของพวกเขา อดีตประธานาธิบดี คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 16 ปี ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนสำคัญและคู่สมรส และการเยี่ยมเยือนของประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลต่างประเทศ 

ตามธรรมเนียมแล้ว ยังให้การคุ้มครองแก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ตามคำสั่งของประธานาธิบดี (โดยปกติคือ หัวหน้าเสนาธิการประจำประธานาธิบดี และที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น) ตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ต้องไม่ปฏิเสธการคุ้มกันนี้  

นอกจากนี้ Secret Service ยังต้องดูแลรักษาความปลอดภัยทางกายภาพสำหรับทำเนียบขาว อาคารกระทรวงการคลังที่อยู่ใกล้เคียง บ้านพักรองประธานาธิบดี บ้านพักส่วนตัวหลักของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี และอดีตประธานาธิบดี รวมถึงเจ้าหน้าที่การทูตต่างประเทศทั้งหมดในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีภารกิจสนับสนุนการคุ้มกันอารักขา อาทิ การปฏิบัติการเพื่อประสานงานกำลังคนและการขนส่งกับการบังคับใช้กฎหมายของรัฐและท้องถิ่น ความก้าวหน้าในการป้องกันเพื่อดำเนินการประเมินสถานที่สำหรับผู้ได้รับการคุ้มกันอารักขา Secret Service เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการวางแผน การประสานงาน และการดำเนินการด้านความปลอดภัยสำหรับกิจกรรมที่กำหนดให้เป็นเหตุการณ์ความมั่นคงพิเศษแห่งชาติ (NSSE) ตามภารกิจของหน่วยในการป้องกันเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดขึ้น หน่วยงานอาศัยการทำงานล่วงหน้าอย่างพิถีพิถันและการประเมินภัยคุกคามที่พัฒนาโดยแผนกข่าวกรอง เพื่อระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ซึ่งได้รับการคุ้มกันอารักขา

2. ภารกิจสืบสวนสอบสวน Secret Service ยังมีภารกิจในการปกป้องระบบการชำระเงินและการเงินของสหรัฐอเมริกาจากอาชญากรรมทางการเงินและทางไซเบอร์ที่หลากหลาย การตรวจสอบทางการเงินรวมถึงการปลอมแปลงสกุลเงินของสหรัฐฯ การฉ้อโกงธนาคารและสถาบันการเงิน การฉ้อโกงทางไปรษณีย์ การฉ้อโกงทางโทรศัพท์ การดำเนินการด้านการเงินที่ผิดกฎหมาย และการสมคบคิดที่สำคัญเกี่ยวกับการเงิน การสืบสวนทางไซเบอร์รวมถึงอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต การบุกรุกเครือข่าย การโจรกรรมข้อมูลประจำตัว การฉ้อโกงอุปกรณ์การเข้าถึง การฉ้อโกงบัตรเครดิต และอาชญากรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญา 

Secret Service เป็นสมาชิกของกองกำลังเฉพาะกิจก่อการร้ายร่วมของ FBI (JTTF) ซึ่งสืบสวนและต่อสู้กับการก่อการร้ายทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ นอกจากนี้ Secret Service ยังสืบสวนหาเด็กที่หายตัวไปและถูกทารุณ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ National Center for Missing & Exploited Children (NCMEC)

ความรับผิดชอบเบื้องต้นตามภารกิจสืบสวนของ Secret Service คือ การสืบสวนการปลอมแปลงสกุลเงินของสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งภายหลังสงครามกลางเมืองอเมริกา หน่วยงานดังกล่าวต่อมาจึงกลายเป็นหน่วยข่าวกรองในประเทศแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา 

ภารกิจเดิมของหน่วยงานหลายอย่างถูกถ่ายโอนไปยังหน่วยงานที่จัดตั้งในภายหลังต่อมา เช่น สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI), สำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA), สำนักงานปราบปรามยาเสพติด (DEA), สำนักงาน แอลกอฮอล์, ยาสูบ, อาวุธปืน และวัตถุระเบิด (ATF) และหน่วยสืบสวนคดีอาญาของกรมสรรพากร (IRS-CI)

3. ภารกิจอื่น ๆ Secret Service รวมความรับผิดชอบทั้งสองเป็นสองวัตถุประสงค์ที่ไม่ซ้ำกันภารกิจหลักสองประการในการปกป้องและการสืบสวนประสานกับภารกิจอื่น โดยให้ประโยชน์ที่สำคัญแก่เจ้าหน้าที่พิเศษในระหว่างการทำงาน ทักษะที่พัฒนาขึ้นในระหว่างการสืบสวนซึ่งยังใช้ในหน้าที่ปกป้องเจ้าหน้าที่พิเศษแต่ไม่จำกัดเพียงแต่…

- ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างสำนักงานภาคสนามและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในแต่ละท้องถิ่นระหว่างการสืบสวนสอบสวน ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับภารกิจการคุ้มกันอารักขาและประสานงานเพื่อการคุ้มกันอารักขา

- ทักษะในการปฏิบัติการทางยุทธวิธี (เช่น การสอดส่อง การจับกุม และตรวจค้น) และทักษะการเขียนของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (เช่น คำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร หลังรายงานการดำเนินการ และแผนปฏิบัติการ) ถูกนำไปใช้กับทั้งหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนและภารกิจการคุ้มกันอารักขา

- ความชำนาญในการวิเคราะห์เทคนิคการเขียนด้วยลายมือ หรือลายเซ็น และการปลอมแปลง จดหมายที่เขียนด้วยลายมือ และภัยคุกคามจากบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสงสัย เพื่อใช้ในการตรวจสอบสำหรับภารกิจการคุ้มกันอารักขา

- ความเชี่ยวชาญในการสืบสวนอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และการเงิน ถูกนำมาใช้ในการสืบสวนสำหรับภารกิจการคุ้มกันอารักขา และภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นกับผู้นำของประเทศ

โดยงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิเศษของ Secret Service มีการแข่งขันที่สูงมาก ๆ ในปี พ.ศ. 2554 มีผู้สมัครในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิเศษ ผ่านการคัดเลือกของ Secret Service น้อยกว่า 1% จากจำนวนผู้สมัคร 15,600 คน 

ผู้สมัครเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษของ Secret Service จะต้องเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา มีใบขับขี่ มีสุขภาพและสภาพร่างกายที่ดีเยี่ยม สายตาผิดปกติไม่เกิน 20/100 และจะต้องมีระหว่างอายุ 21-37 ในขณะนั้น เว้นแต่ทหารผ่านศึกที่มีสิทธิ์ยื่นสมัครเมื่ออายุเกิน 37 ปี ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติที่ได้รับการตรวจสอบ TS/SCI (ข้อมูลที่มีความลับสุดยอด / ข้อมูลที่ละเอียดอ่อน) และได้รับการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด รวมกับการสัมภาษณ์เชิงลึก การคัดกรองสารเสพติด และการวินิจฉัยทางการแพทย์

ผู้ที่ผ่านเข้าการคัดเลือกจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พิเศษของ Secret Service สองหลักสูตร รวมประมาณ 31 สัปดาห์ 
หลักสูตรแรก โครงการฝึกอบรมผู้สืบสวนคดีอาญา (CITP) ดำเนินการที่ศูนย์ฝึกอบรมการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FLETC) ของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 13 สัปดาห์ 

หลักสูตรที่สอง หลักสูตรการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พิเศษ (SATC) ดำเนินการที่สถาบัน The United States Secret Service ศูนย์ฝึกอบรม James J. Rowley (JJRTC) นอกกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในเมืองลอเรล มลรัฐแมรี่แลนด์ ใช้เวลาประมาณ 18 สัปดาห์

เส้นทางอาชีพเจ้าหน้าที่พิเศษของ Secret Service ขึ้นอยู่กับผลงานและการเลื่อนตำแหน่งที่จะส่งผลต่อการมอบหมายงานในแต่ละภารกิจ เริ่มต้นด้วยหกถึงแปดปีแรกจะได้รับมอบหมายให้ประจำสำนักงานภาคสนาม ซึ่งจะได้รับคำแนะนำให้ระบุตำแหน่งและพื้นที่ของสำนักงานที่ต้องการในระหว่างขั้นตอนการสมัคร และเมื่อได้รับข้อเสนองานในขั้นสุดท้ายแล้ว มักจะมีสำนักงานหลายแห่งให้เลือก หลังจากมีประสบการณ์ในสำนักงานภาคสนามแล้ว เจ้าหน้าที่พิเศษมักจะถูกย้ายไปยังงานเฉพาะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเป็นเวลาสามถึงห้าปี 

หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มกันอารักขา เจ้าหน้าที่พิเศษหลายคนก็กลับไปประจำที่สำนักงานภาคสนามตลอดเวลาอายุที่เหลือจนเกษียณ หรือเลือกรับมอบหมายงานจากสำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 

ในระหว่างการทำงาน เจ้าหน้าที่ยังมีโอกาสได้ทำงานตามสาขาของหน่วยงานในต่างประเทศอีกด้วย โดยปกติแล้วจะต้องมีการฝึกอบรมภาษาต่างประเทศเพื่อให้แน่ใจว่ามีความสามารถทางภาษาเมื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศ

เจ้าหน้าที่พิเศษของ Secret Service ได้รับเงินจัดสรรสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement Availability Pay : LEAP) ซึ่งเป็นค่าล่วงเวลาแบบพิเศษซึ่งให้โบนัสเพิ่มเติม 25% แก่พวกเขานอกเหนือจากเงินเดือน 

เนื่องจากเจ้าหน้าที่พิเศษของ Secret Service ต้องทำงานโดยเฉลี่ย 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับปกติทั่วไป 40 ชั่วโมง เงินเดือนรายปีจะอยู่ที่ $73,666 จนถึง $176,300 เนื่องจากลักษณะงานและลักษณะเฉพาะของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลาง (เช่น FBI, DEA, ATF, ICE) เจ้าหน้าที่พิเศษของ Secret Service จึงมีสิทธิ์ได้รับค่าล่วงเวลาตามกำหนด (นอกเหนือจาก LEAP) เป็นประจำ และได้รับค่าจ้างสูงสุดตามกฎหมาย $203,700 ต่อปี 

ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษที่ Secret Service รับภารกิจคุ้มกันอารักขา มีเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติภารกิจคุ้มกันอารักขาประธานาธิบดี คือ Leslie W. Coffelt ซึ่งปฏิบัติภารกิจคุ้มกันอารักขา ประธานาธิบดี Harry S. Truman 

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 หรือค.ศ.1950 เกิดเหตุชาย 2 คนพยายามบุกเข้าไปทำร้ายประธานาธิบดี Truman แต่ Leslie มาเจอก่อนจึงเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้น กระสุนจากผู้ร้ายพุ่งทะลุร่างของ Leslie ถึง 3 นัด แต่ Leslie ก็ยังกัดฟันยิงตอบโต้ โดนคนร้ายเสียชีวิตไป 1 ศพ ส่วนอีกรายบาดเจ็บ และถูกจับ แต่โชคร้ายที่ Leslie ไม่รอด จนถึงปัจจุบันเขาเป็นจึงเจ้าหน้าที่ Secret Service รายแรกและรายเดียวที่เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่

เจ้าหน้าที่ Secret Service อีกรายที่ถือว่า รอดอย่างฉิวเฉียด คือ เจ้าหน้าที่พิเศษ Tim McCarthy ผู้ได้ชื่อว่าเป็น วีรบุรุษของสหรัฐอเมริกา และถูกจดจำในฐานะคนที่รับกระสุนแทนประธานาธิบดี Ronald Reagan ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2524 หรือค.ศ.1981 ขณะนั้นประธานาธิบดี Reagan เพิ่งจะรับตำแหน่งผู้นำประเทศได้เพียง 2 เดือน ถูก John Hinckley Jr. หนุ่มสติไม่สมประกอบบุกยิงด้วยปืนพกขนาด .22 ไป 6 นัด ระหว่างชุลมุนนั้น เจ้าหน้าที่พิเศษ Tim ได้กระโดดเข้าไปเพื่อบังกระสุนให้ประธานาธิบดี ซึ่งตอนนั้นถูกกระสุนเข้าไปแล้ว 1 นัด ทำให้เจ้าหน้าที่พิเศษ Tim ถูกกระสุนอีก 1 นัด เข้าที่อกขวา แต่โชคดีที่ทั้งประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่พิเศษ Tim แม้จะได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ปลอดภัยในเวลาต่อมา

เจ้าหน้าที่ Secret Service อีกนายหนึ่งที่ชาวอเมริกันรู้จักกันดี คือ เจ้าหน้าที่พิเศษ Clinton J. Hill ผู้ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์สังหารประธานาธิบดีที่โด่งดังที่สุดในโลก John F. Kennedy ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ในวัย 90 ปี ในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 หรือค.ศ.1963 เมื่อกระสุนซึ่งในขณะนั้นยังไม่รู้ว่ามาจากทิศทางไหน พุ่งเข้าใส่ร่างประธานาธิบดี Kennedy เจ้าหน้าที่พิเศษ Hill รีบปีนขึ้นไปบนรถของประธานาธิบดี Kennedy เพื่ออารักขาผู้นำและภรรยาที่กำลังตื่นตระหนก แล้วคุ้มกันทั้งคู่ไปจนถึงโรงพยาบาล แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถรักษาชีวิตของประธานาธิบดี Kennedy ไว้ได้

เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ เมื่อมีเรื่องดีย่อมมีเรื่องไม่มี หน่วยงาน The United States Secret Service ก็หนีไม่พ้นเช่นกัน เรื่องอื้อฉาวล่าสุดของเจ้าหน้าที่พิเศษของ Secret Service มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ว่า สมาชิก 2 นายของ Secret Service ของสหรัฐฯ ถูกส่งกลับบ้านก่อนการเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียของประธานาธิบดี Jo Biden ซึ่งพวกเขาควรจะปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการเยือนประเทศเกาหลีใต้ของประธานาธิบดี Biden แต่กลับต้องถูกส่งตัวกลับบ้านด้วยข้อกล่าวหาว่า ‘เมาแล้วอาละวาด’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องอื้อฉาวครั้งแรก 

ในปี พ.ศ. 2555 หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า สมาชิกของ Secret Service ของสหรัฐฯ ถูกส่งกลับบ้านจากการเดินทางไปเยือนประเทศโคลอมเบียของประธานาธิบดี Barack Obama เนื่องจากประพฤติตัวไม่เหมาะสม ดื่มสุราจนมึนเมาแล้วอาละวาด รวมถึงการใช้บริการโสเภณี 

ในปี พ.ศ. 2557 สมาชิก 3 นายของ Secret Service ของสหรัฐฯ ถูกส่งกลับจากเนเธอร์แลนด์ หลังจากพบว่า หนึ่งในนั้นเมาจนหมดสติในกรุงอัมสเตอร์ดัม

ปัจจุบัน The United States Secret Service มีเจ้าหน้าที่ราว 7,000 นาย ปฏิบัติภารกิจด้านการคุ้มกันอารักขาอยู่ราว ๆ 3,000 นาย เจ้าหน้าที่พิเศษของ Secret Service ได้รับการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีและทันสมัยที่สุดสำหรับใช้งาน

งบประมาณของ The United States Secret Service อยู่ที่มากกว่า ๒.๒๓ พันล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 76,220 ล้านบาท) แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่รับประกันได้ว่า ชีวิตของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาจะปลอดภัยไร้กังวล เพราะอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอบนโลกที่สุดแสนร้อนระอุใบนี้

***หมายเหตุ : หน่วยอารักขาส่วนตัวตลอดชีพ

แรกเริ่มเดิมทีหน่วยรักษาความปลอดภัยแก่อดีตประธานาธิบดี หรือ Secret Service จะมีระยะเวลาแค่ 10 ปี ทว่าในปี 2013 ประธานาธิบดีโอบาม่าแก้กฎหมายส่วนนี้ใหม่เป็นได้รับสวัสดิการหน่วยอารักขาส่วนตัวตลอดชีพ หน่วย Secret Service จะทำหน้าที่ครอบคลุมหลายอย่าง อาทิ สอดส่องความเรียบร้อย ดูแลความปลอดภัย ไปจนถึงเปิด-ปิด ประตูรถ หรือขับรถให้อดีตประธานาธิบดี

นอกจากนี้ หน่วยรักษาความปลอดภัยจำเป็นต้องขับรถให้อดีตผู้นำ เนื่องจากกฎหมายด้านความปลอดภัยระบุไว้ชัดเจนว่า ประธานาธิบดีและอดีตประธานาธิบดีไม่สามารถขับรถบนท้องถนนได้ แต่ถึงอย่างนั้นกฎหมายยังพอเปิดช่องว่างให้กับอดีตผู้นำที่ชื่นชอบการขับขี่ สำนักข่าวต่างประเทศเคยตีข่าวว่าอดีตประธานาธิบดีคนที่ 40 โรนัลด์ เรแกน และ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 43 จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ใช้เวลาหลังเกษียณขับรถเล่นอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองอยู่บ่อย ๆ

วังวน!! Trade War สงครามการค้าที่ไม่มีใครชนะ ศึกวัดพลังที่ลุกลามไปทั่วโลกจาก 2 บิ๊กมหาอำนาจ

'สงครามการค้า' เป็นความขัดแย้งหรือการต่อสู้กันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องการที่จะคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศของตัวเอง ตอบโต้การกระทำที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้า รวมไปถึงความต้องการที่จะกีดกันทางการค้า โดยการกีดกันนี้มักจะใช้มาตรการทางภาษี (Tariff), การจำกัดปริมาณการนำเข้า (Quota) เป็นเครื่องมือ ซึ่งถ้าในกรณีที่รุนแรงก็อาจจะนำไปสู่สงครามการลดการค้าระหว่างประเทศได้ค่ะ

ตัวอย่างของสงครามทางการค้าที่โด่งดังมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ทั้งสองประเทศนับเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกทั้ง 2 ประเทศ โดยสงครามการค้าเกิดขึ้นมาในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018 ค่ะ 

ตอนนั้นสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าถึง 6 แสนล้านเหรียญ โดยขาดดุลหลักๆ ให้กับประเทศจีนค่ะ ทรัมป์เลยต้องการที่จะลดการขาดดุลทางการค้ารวมถึงต้องการจำกัดการถ่ายโอนเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไปที่บริษัทจีน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่เขาเคยได้หาเสียงไว้ นั่นคือ 'Make America Great Again' แถมในตอนนั้นเองสหรัฐฯ ยังกังวลถึงนโยบายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่อยากให้ประเทศจีนกลายเป็นฐานการผลิตโลกภายใต้นโยบาย 'Made in China 2025' และนโยบาย 'อี่ไต้อี่ลู่' หรือ 'One Belt, One Road' ที่เป็นนโยบายการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมที่จะเชื่อมโยงทวีปเอเชีย, ยุโรปและแอฟริกาเข้าด้วยกันค่ะ 

โดยสหรัฐฯ เริ่มต้นเก็บภาษีการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน และจีนก็โต้กลับด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าถึง 3 พันล้านดอลลาร์ และสหรัฐฯ ก็ตอบโต้กลับด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนกว่า 800 รายการเป็นมูลค่าสูงถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และจีนเองก็ต่างตอบโต้กันอย่างดุเดือดค่ะ

การตอบโต้ของทั้งสองประเทศดำเนินไปอย่างเข้มข้นและรุนแรง จนมาผ่อนคลายชั่วคราวในช่วงปี 2020 และพอเข้าปีที่ 2022 รูปแบบ Trade War ก็ได้เปลี่ยนไปจากเดิมคือ กลายเป็นสงครามการค้าที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวกลางหรือที่เราเรียกว่า Tech War แทน สงครามการค้า 

Tech War ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ห้ามส่งออกชิป Nvidia ไปยังจีน เพื่อให้จีนเข้าไม่ถึงชิปที่ทันสมัย และยังไม่รวมถึงการประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่ารวมกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ โดยในรอบนี้จะมีการขึ้นภาษีทั้งในรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ด้วยค่ะ 

แต่นอนว่า สงครามการค้าที่รุนแรงและยื้อเยื้อนี้ ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก รวมทั้งลามไปยังประเทศอื่น ๆ อย่างเช่นประเทศแถบยุโรปที่เริ่มหันมาเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ EV จากจีน หลังจากที่พวกเขาเองก็ประสบปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ทำให้จีนเองต้องตอบโต้ด้วยการเริ่มตรวจสอบการทุ่มตลาดเนื้อหมูจาก EU กลับ

ส่วนในไทยเองแม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกอาจจะอ่อนแอลงไป แต่ไทยก็อาจจะได้ประโยชน์ในเรื่องสงครามการค้าจากการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และการส่งออกสินค้าไปทั้งสหรัฐฯ และจีนได้มากขึ้นในบางสินค้าอย่าง เช่น การส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐฯ ค่ะ 

‘อุดรธานี’ (ว่าที่) เมืองแห่งสองมรดกโลก หลัง ‘ภูพระบาท’ มีลุ้น!! ปลายกรกฎาคมนี้

แหล่งมรดกโลกเป็นสถานที่สำคัญและพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศที่บริหารงานโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ว่ามีความสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ สถานที่เหล่านี้ได้รับการตัดสินว่ามี ‘มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติทั่วโลกที่ถือว่ามีคุณค่าโดดเด่นต่อมนุษยชาติ’ โดย UNESCO จะเป็นผู้พิจารณาในการกำหนดแหล่งมรดกโลก (World Heritage Sites) ที่มีคุณค่าสากลอันโดดเด่นใน 2 ด้าน คือ (1) มรดกทางวัฒนธรรม และ (2) มรดกทางธรรมชาติ ซึ่งแหล่งมรดกโลกดังกล่าวเหล่านั้นได้รับการเสนอชื่อโดยประเทศผู้ลงนามในอนุสัญญามรดกโลกของยูเนสโก ปี 1975 (พ.ศ. 2518)

โดย ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ประกอบด้วยอนุสรณ์สถาน เช่น งานสถาปัตยกรรม ประติมากรรมขนาดใหญ่ หรือจารึก กลุ่มอาคาร และสถานที่ รวมถึงแหล่งโบราณคดี ส่วน ‘มรดกทางธรรมชาติ’ ประกอบด้วยการก่อตัวทางกายภาพและชีวภาพ การก่อตัวทางธรณีวิทยาและทางกายภาพ ซึ่งรวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชที่ถูกคุกคาม และแหล่งธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญจากมุมมองของวิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ หรือความงามตามธรรมชาติ ให้คำจำกัดความว่าเป็นธรรมชาติ มรดก ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน 1987 (พ.ศ. 2530)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 (พ.ศ. 2566) ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกอยู่ในรายการบัญชีทะเบียนแหล่งมรดกโลกอยู่ของ UNESCO อยู่ 7 แห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 4 แห่ง และอีก 3 แห่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยแหล่งมรดกโลกของไทย 3 แห่งแรก ถูกประกาศในปี 1991  (พ.ศ. 2534) ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เมืองประวัติศาสตร์อยุธยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ปี 1992 (พ.ศ. 2535) ต่อมา แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ปี 2005 (พ.ศ. 2548) กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ปี 2021 (พ.ศ. 2564) กลุ่มป่าแก่งกระจาน และแหล่งมรดกโลกของไทยที่ได้การประกาศขึ้นทะเบียนล่าสุดคือ เมืองโบราณศรีเทพเมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้องในปี 2023  (พ.ศ. 2566)

ทั้งนี้ ที่ตั้งแหล่งมรดกโลกในประเทศไทยตามรูปประกอบ ‘จุดสีทอง’ บ่งบอกถึงแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และ ‘จุดสีเขียว’ เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ หมายเลข 1-5 ที่ตั้งเขตป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ : 1. เขาใหญ่, 2. ทับลาน, 3. ปางสีดา, 4. ตาพระยา, 5. ดงใหญ่ และหมายเลข 6-9 แสดงถึงที่ตั้งของป่าแก่งกระจาน 6. เฉลิมพระเกียรติไทยประจัน, 7. แม่น้ำภาชี, 8. แก่งกระจาน และ  9. กุยบุรี

 

นอกเหนือจากแหล่งที่ถูกประกาศขึ้นทะเบียนไว้ในรายการแหล่งมรดกโลกแล้ว ประเทศสมาชิกยังสามารถเสนอรายชื่อสถานที่เบื้องต้น (Tentative list) ที่อาจพิจารณาเสนอชื่อเป็นแหล่งมรดกโลกได้ การเสนอชื่อเข้าชิงรายชื่อมรดกโลกจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อสถานที่นั้นเคยอยู่ในรายการเบื้องต้นเท่านั้น ณ ปี 2024  (พ.ศ. 2567) ไทยยังมีสถานที่อีก 7 แห่งอยู่ในรายการเบื้องต้นของแหล่งมรดกโลกได้แก่ (1) อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (2) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช (3) อนุสรณ์สถานแหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา (4) พระธาตุพนม และสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง (5) กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด (6) แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน และ (7) สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา

หากนอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว ถ้าพูดถึง ‘จังหวัดอุดรธานี’ แหล่งมรดกโลกแห่งแรกคือ ‘แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง’ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง (ในเขตเทศบาลตำบลบ้านเชียง) อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี 1992 (พ.ศ. 2535) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ มลรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลกว่า “เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว”

นอกจากนี้ ‘จังหวัดอุดรธานี’ ยังมี ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า ‘ป่าเขือน้ำ’ บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กม.

โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้างตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี โดยพื้นที่ภูพระบาทนับเป็นแหล่งสีมาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางธรณีวิทยาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา ในฐานะของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่ประกอบพิธีกรรม

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 ปี 2024 (พ.ศ. 2567) ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย ระหว่างวันที่ 21 - 30 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ ได้รับการบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในครั้งนี้ด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก โดยเมื่อ 1 เมษายน 2003 (พ.ศ. 2547) UNESCO ได้ขึ้น ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ เป็นสถานที่ที่ได้รับขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมไว้แล้ว

แต่กระนั้น ปี 2016 (พ.ศ. 2559) สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (ICOMOS) ได้แจ้งให้ทางการไทยทราบเกี่ยวกับการเสนอ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของทางการไทย โดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมของเสมาหินกับพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ศักยภาพที่โดดเด่นของอุทยานฯ รวมทั้งหากเป็นไปได้ เสนอให้พิจารณาเกณฑ์และขอบเขตการขึ้นทะเบียนอุทยานฯ ตามที่ทางการไทยเสนอ โดยมีข้อมติเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้เปลี่ยนชื่อแหล่งเป็น ‘Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period’ หรือ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ รวมทั้งขอให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ภายหลังจากการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกด้วยคุณค่าความโดดเด่นของการที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี

ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจที่ราชอาณาจักรไทยของเราจะได้มีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความเก่าแก่และมีอยู่ของอารยธรรมของมนุษยชาติที่เกิดในอนุภูมิภาคนี้ ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีที่จะมีเรื่องที่ดีงามและน่าภาคภูมิใจเกิดขึ้นในจังหวัดนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจาก ‘แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมไปแล้วเมื่อ 35 ปีก่อน และขอเรียนฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีและคนไทยทุกคนว่า “การเป็น ‘แหล่งมรดกโลก’ นั้น แม้จะเป็นความยากลำบากและต้องทุ่มเททรัพยากรอย่างมากมายแล้ว แต่ภารกิจที่ยากยิ่งกว่าและต้องเผชิญต่อไปไม่สิ้นสุดคือ การรักษาไว้ซึ่งความเป็น ‘แหล่งมรดกโลก’ ให้ดำรงคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป” 

เปิดเรื่องราว ‘ทหารเด็ก’ เครื่องมือจักรกลสงคราม ของพวกไร้จิตสำนึก ‘บังคับ-หลอกใช้’ ให้กระทำความผิด ไม่คำนึงผลที่จะตามมาในอนาคต

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากการใช้นักรบวัยฉกรรจ์กระทั่งวัยชราแล้ว ยังมีพวกชั่วช้าสามานย์บังคับใช้เด็กให้มาเป็นนักรบอีกด้วย วันนี้จึงขอนำเรื่องของการใช้เด็กเป็นทหารมาเล่าให้ฟัง…

การนำเด็กมากระทำความผิดเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานมาก แม้แต่ในบ้านเรามีการบังคับเด็กให้เป็นขอทาน หลอกล่อเด็กให้กระทำความผิดต่าง ๆ ปล้น ชิง วิ่งราว ล้วงกระเป๋า ขายของ กระทั่งขนและขายยาเสพติด ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ ฯลฯ โดยไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม หรือลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนไป ผลกระทบด้านจิตใจ ตลอดจนการถูกดำเนินคดี ซึ่งเด็ก ๆ และครอบครัวต้องเผชิญชะตากรรมที่ถูกล่อลวงให้กระทำความผิดตามลำพัง และโดดเดี่ยว ผู้ที่หลอกลวงและอยู่เบื้องหลังจึงเป็นพวกที่เลวและชั่วช้ามาก ๆ เช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

การบังคับเด็กมาเป็นทหารก็เฉกเช่นเดียวกัน ทหารเด็กนับเอาเด็กในกองกำลังติดอาวุธที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา 

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child : CRC) ห้ามการใช้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าร่วมในปัญหาซึ่งมีความขัดแย้งกันและมีการใช้กำลังอาวุธ นอกจากนั้นการใช้เด็กต่ำกว่า 15 ปีเป็นทหารถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามอีกด้วย โดยประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ต่างเห็นด้วยกับการห้ามใช้ทหารเด็กทั้งที่อยู่ในกองกำลังฝ่ายรัฐบาล หรือของกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ 

น้อยคนในโลกนี้ที่จะทราบว่า นักรบที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีความเหี้ยมโหดที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งเป็น ‘ทหารเด็ก’ ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 7-18 ปี หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกนับแสนคน ทั้งนี้เพราะ ‘ทหารเด็ก’ หรือ ‘นักฆ่ารุ่นเยาว์’ เหล่านี้ ได้รับการวิเคราะห์จากโลกตะวันตกแล้วว่า เป็นนักฆ่าที่สามารถสังหารผู้คนได้เพียงเพราะต้องการฆ่า หรือเพียงเพราะได้รับคำสั่งให้ฆ่า เป็นการฆ่าด้วยจิตใต้สำนึก ไม่ใช่การฆ่าด้วยอุดมการณ์ เป็นการฆ่าที่ปราศจากความยั้งคิดใด ๆ ทั้งสิ้น อันเนื่องมาจากความด้อยประสบการณ์ ความไร้เดียงสา และการขาดความรู้ที่เพียงพอ ‘ทหารเด็ก’ บางคนเริ่มสังหารผู้คนตั้งแต่ยังไม่สามารถจำอายุของตนได้เลย 

ทั้งนี้ ‘Mike Wessells’ นิตยสาร The Atomic Scientists ของสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ถึงการใช้ ‘ทหารเด็ก’ เป็นเครื่องมือ ‘จักรกลสงคราม’ ในการทำสงครามกลางเมืองของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในทวีปแอฟริกา เช่น ประเทศเซียร่า ลีโอน, ชาด, บุรุนดี, โซมาเลีย, เอธิโอเปีย เป็นต้น และในทวีปเอเชีย เช่น พม่า, จีน ในอเมริกากลาง เช่น ชิลี, เอล ซัลวาดอร์, ปารากวัย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งในยุโรป เช่น เซอร์เบีย และบอสเนีย เป็นต้น

โดย Wessells ระบุว่า เหล่านักรบรุ่นเยาว์เหล่านี้บางคนก้าวเข้าสู่สงครามตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ทั้ง ๆ ที่ในช่วงอายุดังกล่าวควรเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาควรได้รับโอกาสทางการ ‘ศึกษา’ มากกว่าได้รับโอกาสในการ ‘เข่นฆ่าประหัตประหาร’ สงครามที่เหล่านักรบรุ่นเยาว์เข้าไปมีส่วนด้วย มักเป็นสงครามที่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และเป็นสงครามกลางเมืองที่มีรูปแบบของการรบแบบกองโจรเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่สงครามตามแบบแผนที่มีแนวรบแน่นอนตายตัวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

เด็ก ๆ เหล่านี้เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยในครัวสนาม เป็นยามรักษาการณ์ เป็นหน่วยสอดแนม เป็นสายลับในการรวบรวมข่าวสาร แล้วได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นกลุ่มที่คอยก่อการจลาจล ด้วยการขว้างปาก้อนหิน เผาอาคารสถานที่ ลักลอบส่งอาวุธให้กับกลุ่มทหารของตน จนถึงขั้นสุดท้ายของการพัฒนาคือ เข้าสวมเครื่องแบบ จับอาวุธสงคราม มีการฝึกฝนการใช้อาวุธประจำกายและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ

โดย UNICEF ได้มีการเปิดเผยว่า กองทัพฝ่ายรัฐบาลที่เกณฑ์ทหารเด็กแบบใช้กำลังบังคับ อาทิ เอล ซัลวาดอร์ เอธิโอเปีย กัวเตมาลา และพม่า ส่วนกลุ่มติดอาวุธอื่นที่บังคับเด็กมาเป็นทหาร เช่น แองโกลา โมซัมบิก ศรีลังกา และซูดาน ส่วนที่พบว่าส่วนใหญ่เด็กสมัครใจมาเอง ได้แก่ ไลบีเรีย 

นอกจากนั้น องค์การนิรโทษกรรมสากล ยังระบุด้วยว่า ทหารเด็กส่วนใหญ่ถูกฆ่า หากรอดชีวิตก็มีที่พิการ เป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศอื่น ๆ มีบาดแผลในด้านจิตใจติดตัวไปจนตลอดชีวิต

การเคลื่อนไหวเพื่อยุติการใช้ทหารเด็ก การใช้ทหารเด็กเป็นเรื่องปกติตลอดประวัติศาสตร์ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมามีการปฏิบัติตามคำวิจารณ์ที่มีข้อมูล และความพยายามร่วมกันเพื่อยุติปัญหานี้ ความคืบหน้าเป็นไปอย่างเชื่องช้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีกองกำลังติดอาวุธจำนวนมากต้องพึ่งพาเด็ก ๆ เพื่อเติมเต็มจำนวนทหารของพวกเขา และส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลนั้นยากที่จะตรวจสอบและจัดการ

ช่วงทศวรรษ 1970-1980 มีความพยายามระหว่างประเทศในการจำกัดการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ ในความขัดแย้งด้วยอาวุธเริ่มต้นจากพิธีสารเพิ่มเติมของอนุสัญญาเจนีวาปี 1949 ซึ่งรับรองในปี 1977 (มาตรา 77.2) พิธีสารใหม่ห้ามการเกณฑ์ทหารจากเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี แต่ยังคงอนุญาตให้กองกำลังของรัฐและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐรับสมัครเด็กตั้งแต่อายุ 15 ปี และใช้ในการทำสงคราม มีความพยายามในระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับการต่ออายุอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) เมื่อองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ต่าง ๆ รณรงค์ให้สนธิสัญญาฉบับใหม่ว่าด้วยการจัดหาเด็กผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง ในบางประเทศซึ่งมีกองกำลังด้วยอาศัยการเกณฑ์ทหารที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ต่อต้านเรื่องนี้ ดังนั้นข้อความสนธิสัญญาฉบับสุดท้ายของปี 1989 จึงสะท้อนให้เห็นเพียงมาตรฐานทางกฎหมายที่มีอยู่เท่านั้น : การห้ามไม่ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้ามีส่วนร่วมในการรบโดยตรงในสงคราม 

ในช่วงทศวรรษ 1990 องค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ได้จัดตั้งแนวร่วมเพื่อหยุดการใช้ทหารเด็ก (ปัจจุบันคือ Child Soldiers International) เพื่อทำงานร่วมกับรัฐบาลที่เข้าใจและเห็นด้วยในการรณรงค์เพื่อทำสนธิสัญญาฉบับใหม่สำหรับแก้ไขข้อบกพร่องที่พบเห็นใน CRC หลังจากการรณรงค์ทั่วโลกเป็นเวลาหกปีสนธิสัญญาดังกล่าวก็ได้รับการรับรองในปี 2000 เป็นพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการมีส่วนร่วมของเด็กในความขัดแย้ง (OPAC) สนธิสัญญาห้ามการเกณฑ์เด็ก ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการเกณฑ์ทหารต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และห้ามใช้การเกณฑ์เด็กเข้าร่วมในการสู้รบ สนธิสัญญาดังกล่าวยังห้ามไม่ให้กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐจัดหาบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ที่ร่วมเจรจากับ OPAC จะสนับสนุนการห้ามคัดเลือกเด็กเพื่อเป็นทหาร แต่บางประเทศนำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหราชอาณาจักรคัดค้านเรื่องนี้ ด้วยเหตุนี้สนธิสัญญาจึงไม่ห้ามการจัดหาเด็กอายุ 16 หรือ 17 ปี แม้ว่าจะอนุญาตให้ชาติต่าง ๆ ผูกมัดตัวเองกับมาตรฐานที่สูงกว่าที่กำหนดในกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ยุค 2000 - ปัจจุบัน ‘Red Hand Day’ ซึ่งเป็นวันต่อต้านการใช้ทหารเด็กสากล มีเครื่องหมายแสดงรอยมือสีแดง

หลังจากการรับรองพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการมีส่วนร่วมของเด็กในความขัดแย้ง การรณรงค์เพื่อการให้สัตยาบันทั่วโลกได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ในปี 2018 OPAC ได้รับการรับรองสัตยาบันโดย 167 ประเทศ การรณรงค์ดังกล่าวยังสนับสนุนให้หลาย ๆ ประเทศไม่รับสมัครเด็กเป็นทหารเลย ในปี 2001 มี 83 ประเทศเกณฑ์ทหารเฉพาะผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) เท่านั้น ภายในปี 2016 จำนวนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 126 ประเทศซึ่งเป็น 71% ของประเทศที่มีกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐประมาณ 60 กลุ่มได้ทำข้อตกลงเพื่อหยุดยั้ง หรือลดขนาดการใช้ประโยชน์จากเด็ก ซึ่งมักจะดำเนินการโดย UN หรือองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น Geneva Call

Child Soldiers International รายงานว่าความสำเร็จของสนธิสัญญา OPAC บวกกับการลดลงทีละน้อยในการเกณฑ์เด็กโดยกองกำลังของรัฐบาล ทำให้เด็กในกองกำลังทางทหารทั่วโลกลดลง ในปี 2018 การเกณฑ์และการใช้ทหารเด็กยังคงมีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ISIS และ Boko Haram ตลอดจนกลุ่มติดอาวุธที่ยังคงต่อสู้อยู่ ซึ่งใช้นักรบเด็กอย่างมากมาย นอกจากนี้สามประเทศที่มีประชากรมากที่สุด ได้แก่ จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ยังอนุญาตให้กองกำลังติดอาวุธเกณฑ์เด็กอายุ 16 หรือ 17 ปี เช่นเดียวกับห้าประเทศในกลุ่ม G-7 : แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักรและ สหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันมีถึง 195 ประเทศในโลกที่ลงนามร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งมีการประกาศใช้ในปี 1989 และมีผลบังคับใช้เมื่อปี 1990 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกตั้งแต่ปี 1992 และยังเข้าเป็นภาคีสมาชิกพิธีสารต่อท้ายอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอีก 3 ฉบับ คือ พิธีสารเลือกรับฯ เรื่องการขายเด็ก การค้าประเวณี และสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the sale of children, child prostitution and child pornography) พิธีสารเลือกรับฯ เรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the involvement of children in armed conflict) ซึ่ง 2 ฉบับดังกล่าว ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อปี 2006 และฉบับที่ 3 เป็นพิธีสารเลือกรับฯ เรื่องกระบวนการติดต่อร้องเรียน (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on a communications procedure) ไทยเข้าเป็นภาคีเป็นประเทศแรกในโลกเมื่อ 25 กันยายน 2012

หลักการสำคัญของสิทธิเด็กที่ต้องเข้าใจก่อน คือ สิทธิของเด็ก ไม่ใช่เรื่องที่รัฐหรือใครให้กับเด็ก แต่เป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด โดยไม่มีผู้ใดสามารถไปตัดทอน หรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็ก หรือละเมิดสิทธิของเด็กได้ และการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก ต้องคำนึงถึงสิทธิเด็ก และยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก อนุสัญญานี้ยังกำหนดสิทธิเด็กขั้นพื้นฐานไว้ 4 ด้าน ดังนี้

1. สิทธิในชีวิตและการอยู่รอด : สิทธิมีชีวิตและความต้องการขั้นพื้นฐานที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน และมีความปลอดภัย

2. สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง : ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การล่วงละเมิด การละเลย การนำไปขาย การใช้แรงงานเด็ก การเลือกปฏิบัติ และการแสวงประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบอื่น ๆ 

3. สิทธิในการพัฒนา : สิ่งที่เด็กต้องการเพื่อจะไปถึงศักยภาพอย่างสมบูรณ์ การพัฒนาทางด้านจิตใจ สิทธิที่จะได้เล่นและพักผ่อน และอื่น ๆ 

4. สิทธิในการมีส่วนร่วม : เปิดโอกาสให้เด็กมีสิทธิแสดงความคิดเห็น แสดงออก มีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อตนเอง

หลังจากได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกในปี 1992 บ้านเราโดยกระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการในตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก การรับสมัครบุคคลเพื่อบรรจุเป็นหน่วยรบมีการกำหนดชัดเจนโดยจำกัดอายุขั้นต่ำในการสมัครเข้าโรงเรียนทหาร โดยให้มีความสัมพันธ์ในเรื่องของอายุถูกต้องเมื่อจบการฝึกฝนอบรม และประจำการด้วยอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ส่วนการเกณฑ์ทหารกำหนดที่ 21 ปีตลอดมาตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับนักศึกษาวิชาทหารจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นกำลังสำรองเมื่ออายุครบ 18 ปีเช่นกัน บ้านเราจึงไม่มีปัญหาในเรื่องของทหารเด็ก เว้นแต่ในคราวที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในหลาย ๆ จุด โดยสมรภูมิที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมพร มียุวชนทหารจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมกับทหารและตำรวจในการรบกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองอย่างกล้าหาญ และได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ (เอเชียบูรพา) อย่างสมเกียรติ

การบังคับหรือล่อลวงเด็กให้กระทำผิดนั้น เป็นเรื่องที่เหี้ยมโหดและชั่วช้าสามานย์ยิ่ง มีแต่คนที่อุบาทว์ชาติชั่วเลวทรามจริง ๆ เท่านั้นถึงทำได้ เพราะเด็ก ๆ ทั้งไร้เดียงสา ขาดความเข้าใจ จึงไม่มีวุฒิภาวะพอ เมื่อถูกหลอกลวงด้วยคำพูด ถ้อยคำ โฆษณาชวนเชื่อ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงหลงเชื่อ แต่เมื่อได้กระทำการจนกลายเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว จึงต้องรับโทษตามกฎหมายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่นเดียวกับการเกณฑ์และบังคับใช้ทหารเด็ก ซึ่งสมควรต้องประนามหยามเหยียดคนเหล่านี้อย่างเต็มที่จนถึงที่สุด

๑๐ พระแก้วแห่งสยามประเทศ บารมีคู่บ้าน สิริมงคลคู่เมือง

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้ ผมเลยจะขอเรียบเรียงเรื่องราวดี ๆ ในแต่ละบทความให้ครบ ๑๐ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติในหลวงของเรา โดยในครั้งนี้จะเริ่มต้นด้วยพระแก้วคู่บ้านคู่เมืองแห่งสยามประเทศ ๑๐ องค์ 

จากพระแก้วเมืองอุบลราชธานี มาถึงกรุงเทพมหานครที่เราทราบกันดีว่าพระพุทธรูปองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ ซึ่งถ้าเราเจาะลึกลงไปเพิ่มเติม โดยเฉพาะชื่อเต็มของกรุงเทพฯ คือ ‘กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ 

คำว่า ‘อมรรัตนโกสินทร์’ หมายถึง เมืองที่ประดิษฐาน ‘พระแก้วมรกต’ และอีก ๑ คำคือ คำว่า ‘ภพนพรัตน์’ อันหมายถึง พื้นดินที่ฝังอัญมณี ทั้งเก้าเอาไว้ ‘นพรัตน์’ หรือ อัญมณีทั้งเก้า ประกอบไปด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ 

แต่ครั้งนี้ผมคงเล่าได้ไม่ครบแก้วทั้ง ๙ ประการนะครับ แต่จะขอยกเอาพระแก้วสำคัญมาให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักเพิ่มเติมมากกว่า ๙ คือจะเล่าถึง ๑๐ องค์ โดยหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะมีโอกาสได้ไปสักการะองค์พระท่าน เพื่อเป็นสิริมงคลของแต่ละท่านนะครับ โดยผมขอเริ่มจากองค์พระที่มีพระวรกายเป็นสีเขียวก่อนนะครับ 

พระแก้วดอนเต้า

องค์ที่ ๑ ‘พระแก้วดอนเต้า’ หรือ ‘พระเจ้าแก้วมรกต’ ประดิษฐาน ณ กุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบ สลักจากหินหยกสีเขียวซึ่งเชื่อว่าเป็นหินหยกชนิดเดียวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตามศิลปะแบบเชียงแสนตอนปลาย ไม่มีพระเกตุมาลาเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป โดยที่บริเวณฐานพระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้าจะทำด้วยทองคำหนัก ๑๙ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง มีชฎาทองคำเป็นเครื่องสวมเศียร และมีเครื่องทรง ทำเป็นสร้อยสังวาล ซึ่งเป็นเนื้อทองคำรวมน้ำหนักถึง ๗ บาท ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระแก้วดอนเต้านี้สร้างขึ้นจากแก้วของพญานาคแห่งแม่น้ำวังกะนะทีซึ่งนางสุชาดามาถวายพระมหาเถระแห่งวัดดอนเต้า สลักด้วยฝีมือพระอินทร์จำแลง 

พระนาคสวาดิเรือนแก้ว

องค์ที่ ๒ ‘พระนาคสวาดิเรือนแก้ว’ ประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สลักจากหยกสีเขียว ศิลปะราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ได้นำพระพุทธรูปศิลาเขียวองค์นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งคำว่า ‘นาคสวาดิ หรือ นาคสวาท’ มาจากสีเขียวขององค์พระ ด้วยความเชื่อที่ว่าสีเขียวนั้นเกิดจากเลือดของนาคเมื่อครั้งถูกครุฑจับฉีกเนื้อ นาคกระอักเลือดออกมาเป็นหินสีเขียว เรียกว่า ‘นาคสวาท’ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของวิเศษ 

รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริว่าการที่ทรงได้ พระแก้วนาคสวาดิองค์นี้ในปีที่ ๓ ที่ทรงครองราชย์ นับเป็นบารมีเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมชนกนาถรัชกาลที่ ๒ ทรงได้พระแก้วผลึกในปีที่ ๓ ของรัชกาลเช่นกัน ภายหลังพระองค์ทรงสร้างเรือนแก้วทองคำลงยาราชาวดีถวายพระพุทธรูปศิลาเขียว และทรงถวายพระนามว่า ‘พระนาคสวาดิเรือนแก้ว’ เป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร

องค์ที่ ๓ ‘พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร’ หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า ‘พระแก้วมรกตน้อย’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานไม้จำหลัก ปิดทอง บัลลังก์ประดับพระปรมาภิไธย ‘วปร’ ใต้ฐานพระจารึกคำว่า ‘FABERGE 1914’ โดยพระแก้วองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระดำรัสสั่งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะทรงเสด็จฯ เยือนรัสเซีย ให้ทรงหาซื้อแก้วมรกตก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่จะพึงหาได้ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หาช่างฝีมือทำหุ่นพระพุทธรูปขึ้นตามแบบที่พระองค์ได้ทรงมอบให้  

ซึ่งผู้ที่รับแกะสลักพระพุทธรูปสำคัญนี้คือช่างจาก ‘ห้างฟาแบร์เช่’ ซึ่งเป็นห้างเครื่องทองและอัญมณีประจำราชสำนักรัสเซีย ดำเนินกิจการโดย นายปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช่  (FABERGE) ซึ่งเป็นชื่อที่สลักอยู่ใต้ฐานองค์พระนั่นเอง 

พระแก้วมรกตน้อยมาถึงสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองและทำพิธีพุทธาภิเษกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ปีเดียวกัน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนสักการบูชาเป็นเวลา ๓ วัน แล้วจึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง พระแก้วมรกตน้อยเป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 

พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล

องค์ที่ ๔ ‘พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล’ หรือชื่อสามัญคือ ‘พระหยกเชียงราย’ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะแบบเชียงแสน แกะสลักจากหินหยก มีเครื่องทรงแบบเชียงแสนทำจากอัญมณีและทองคำ ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย พระแก้วองค์นี้สร้างขึ้นในวโรกาสที่ ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา นำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย จัดสร้างพระแก้วองค์นี้ขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 

โดยหินหยกที่นำมาแกะสลักนั้น เป็นหินหยกจากประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนานกู จงจูลู นครปักกิ่ง ประเทศจีน อัญเชิญมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน 

ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปองคนี้ว่า ‘พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล’ มีความหมายว่า ‘พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา’ และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามว่า ‘พระหยกเชียงราย’ ต่อมาคณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้อัญเชิญองค์พระไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ในปีเดียวกัน

จะเห็นว่าเมืองไทยของเรามีพระแก้วที่พระวรกายเป็นสีเขียวหลายองค์ ในลำดับต่อไปก็มาถึงพระแก้วที่มีพระวรกายเป็นเฉดขาวทั้งที่ใสดุจแก้ว องค์พระแก้วที่มีไหมทองเป็นลายในองค์พระและองค์ที่ขาวเย็นเพราะสลักจากศิลาขาว ดังนี้ครับ 

พระเสตังคมณี

องค์ที่ ๕ ‘พระเสตังคมณี’ หรือ ‘พระแก้วขาว’ ประดิษฐานภายในพระวิหาร วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ สลักจากแก้วสีขาวใส ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างละโว้ ‘เสตังคมณี’ มาจากคำว่า ‘เสต’ แปลว่า ขาว กับคำว่า ‘มณี’ แปลว่า แก้ว คือ ‘พระแก้วขาว’ อย่างตรงตัว องค์พระใสสะอาด พระเศียรหุ้มด้วยทองคำ ประทับนั่งบนแท่นไม้จันทน์หุ้มแผ่นทองคำ ใต้ฐานจารึกว่า “เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ พระเจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระราชบิดาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พร้อมด้วยเจ้าแม่ทิพยเกสรและราชบุตร ราชธิดาสร้างถวายแด่พระเสตังคมณี” 

ตามตำนานเล่าว่า องค์พระแก้วขาวนั้นเมื่อแรกสร้างนั้น พระอรหันตเจ้าไปขอ ‘แก้วบุษยรัตน์’ มาจาก ‘จันเทวบุตร’ หาช่างสร้างพระไม่ได้ จนพระอินทร์ต้องมีโองการสั่งพระวิษณุกรรมมาเนรมิตสร้างจนเป็นองค์พระอันงดงามและประดิษฐานที่ละโว้เป็นแห่งแรก 

ต่อมาพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้จะมาครองหริภุญไชย จึงได้ทูลฯ ขอพระแก้วขาวมาประดิษฐานที่เมืองหริภุญไชยเพื่อเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์และสถิตอยู่ ณ หริภุญไชยเป็นเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่พญามังราย ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ยกทัพมาเอาชนะหริภุญไชย โดยมีพระราชศรัทธาพระแก้วขาวเป็นอย่างมาก จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานไว้ ณ ที่ประทับส่วนพระองค์ 

ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ.๑๘๓๙ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชฐานของพระองค์กระทั่งพระองค์สวรรคตพระแก้วขาวก็ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ ณ วัดเชียงมั่นในเมืองเชียงใหม่ตลอดมากว่า ๗๐๐ ปี 

พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย

องค์ที่ ๖ ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’ หรือ ‘พระแก้วผลึก’ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ปางสมาธิ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงเรื่องเล่าว่า มีผู้นำไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาวัดส้มป่อย นครจำปาศักดิ์ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง 

ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลายมีพราน ๒ คน ไปพบ แล้วเชื่อว่าเป็นเทวรูปที่ให้คุณ จึงได้อัญเชิญองค์พระมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน แต่ระหว่างที่อัญเชิญองค์พระมานั้นพระกรรณเบื้องขวาไปกระทบคันหน้าไม้บิ่นไปเล็กน้อย ในสมัย ‘เจ้าไชยกุมาร’ ครองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองประเทศราชของไทย ได้ทราบข่าวเรื่อง ๒ พรานมีพระพุทธรูปแก้วผลึกใส พุทธลักษณะงดงาม จึงได้นำมารักษาไว้ที่นครจำปาศักดิ์ จนมาถึงสมัย ‘เจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศา’ เจ้านครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ ได้ย้ายนครจำปาศักดิ์มาตั้งทางอีกฝั่งของแม่น้ำโขง 

จนในปี ๒๓๕๔ พระองค์ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จึงโปรดฯ ให้ข้าหลวงไปปลงพระศพ ข้าหลวงได้ไปเห็นองค์พระแก้วผลึก ว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวงดงาม ไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อน จึงได้มีใบบอกนำความกราบบังคมทูลฯ ถวายพระแก้วผลึก แล้วจึงอัญเชิญมายังกรุงเทพฯ โดยมีงานสมโภชมาตลอดทาง เมื่อถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมช่างจัดหาเนื้อแก้วผลึกเหมือนองค์พระ เจียระไนแก้วติดปลายพระกรรณขวาที่แตกชำรุดให้สมบูรณ์ และขัดชำระองค์พระให้เป็นเงางามเสมอกัน รับสั่งให้ทำเครื่องทรงอย่างงดงาม แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุราลัยพิมาน ทรงสักการะบูชาวันละสองเวลา เช้า-ค่ำ ไม่มีขาด

ว่ากันว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ หลังจากเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเบญจาตั้งบุษบกสูงเพื่อประดิษฐานแก้วมรกตเป็นการถาวรแล้วเสร็จ ครั้นเมื่อมีงานพระราชพิธีใหญ่ต่าง ๆ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วผลึกตั้งเป็นประธานในพิธีแทนมาจนตลอดรัชสมัยของพระองค์ 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำเครื่องประดับองค์พระและฐานพระพุทธรูปใหม่ พร้อมทั้งฉัตรกลางและซ้าย ขวา แล้วตั้งการฉลองสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และถวายพระนามพระแก้วผลึกนี้ว่า ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’

พระแก้วน้ำค้าง

องค์ที่ ๗ ‘พระแก้วน้ำค้าง’ ประดิษฐานอยู่ ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น สลักจากแก้วหินเขี้ยวหนุมาน หรือ ‘แก้วขาวน้ำบุษย์’ ลักษณะ ‘ใส’ ไม่มีมลทิน บางตำราเรียกองค์ท่านว่า ‘พระแก้วขาวบุษย์น้ำค้าง’ คำว่า ‘แก้ว’ ในที่นี้หมายถึง ‘หินกึ่งมีค่า’ หรือ ‘อัญมณี’ ไม่ใช่แก้วที่เกิดจากการหลอมทรายอย่างที่เรียกว่า ‘แก้วประสาน’ ส่วนบนขององค์พระช่วงพระเกศาทำจากทองคำครอบพระเศียรไว้ ฐานทองคำลงยาราชาวดี เชื่อกันว่าแก้วน้ำค้างจะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ผู้ครอบครองและมีคุณวิเศษด้านปกป้องเภทภัยต่าง ๆ

พระพุทธบุษยรัตน์น้อย

องค์ที่ ๘ ‘พระพุทธบุษยรัตน์น้อย’ ประดิษฐานอยู่ที่ หอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปแบบแก้วผลึกใส ศิลปะแบบล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ‘นายเพิ่ม’ ไพร่หลวงรักษาพระองค์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ โดยนำองค์พระมาจากพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า "...เนื้อแก้วบริสุทธิ์ดี ลักษณะและส่วนสัดส่วนงามกว่า พระแก้วขนาดเดียวกันบรรดามี..."

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ กับพระรจนารังสรรค์ แก้พระพักตร์ให้งามขึ้นกว่าเดิมพร้อมทำฉัตรกับฐาน ก่อนจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานบนพระแท่นมณฑล ในพระราชพิธีตรุษในเดือนมีนาคม โดยทรงพระราชนิพนธ์ว่า  "...ในการพระราชพิธีใหญ่ ๆ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนออกมา ตั้งเป็นประธานในพระราชพิธีแทนพระแก้วมรกต ส่วนพระสำหรับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระนาคสวาดิเรือนแก้ว ซึ่งได้มาแต่เมืองเวียงจันทน์ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้พระแก้วเชียงแสนเป็นพระของเดิม พระในแผ่นดินปัจจุบันนี้ใช้พระพุทธบุษยรัตนน้อย..." 

โดย ‘พระพุทธบุษยรัตน์น้อย’ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงถือว่าเป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระองค์

พระพุทธสุวรรณโกศัยมัยมณี

องค์ที่ ๙ ‘พระพุทธสุวรรณโกสัยมัยมณี’ หรือ ‘พระแก้วไหมทอง’ ประดิษฐาน ณ วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม จ.กำแพงเพชร เป็นพระปางสมาธิที่แกะสลักจากหินไหมทองจากพม่า โดยพบหินไหมทองนี้ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นพระที่แกะสลักจากหินไหมทององค์เดียวของไทย มีเส้นทองเดินทั่วองค์ ทรงเครื่องประดับตามแบบ ‘พระเสตังคมณี’ วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศิลปะล้านนาผสมรัตนโกสินทร์ เมื่อแสงไฟกระทบองค์พระ จะเห็นเส้นไหมทองละเอียดเต็มองค์ ตามปกติทางวัดจะไม่ได้เปิดให้เข้าสักการะหรือเข้าชม จะอัญเชิญออกมาเฉพาะเทศกาลสำคัญ เช่น วันสงกรานต์

พระพุทธเทววิลาส

องค์ที่ ๑๐ ‘พระพุทธเทววิลาส’ หรือ ‘หลวงพ่อขาว’ ประดิษฐาน ณ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพธิดารามขึ้นใน พ.ศ.๒๓๗๙ คำว่า ‘เทพธิดา’ หมายถึง ‘กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ’ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ 

‘พระพุทธเทววิลาส’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ศิลปะเชียงแสนสุโขทัย จำหลักจากศิลายวงสีขาวบริสุทธิ์ประดิษฐานอยู่บนเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย ปิดทองประดับกระจกเกรียบ อัญเชิญองค์พระมาจากพระบรมมหาราชวัง 

ทั้งนี้ไม่ปรากฏประวัติการสร้างหรือที่มา เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกับพระแก้วมรกต เดิมเรียกกันแต่เพียงว่า ‘หลวงพ่อขาว’ จนในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระกฐิน จึงได้ทรงเฉลิมพระนามว่า ‘พระพุทธเทววิลาส’ ตามพระนามของ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ’ ในหนังสือราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๒๕๒๒ 

บทความในครั้งนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ถ้าท่านผู้อ่านสนใจในเรื่องของพระแก้วอันมงคลของไทย คงจะไม่พลาดไปสักการะองค์พระแก้วที่ผมได้เรียบเรียงมาเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้ กันนะครับ

รู้จัก Forced Sell การถูกบังคับขายโดยบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงหุ้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

ช่วงนี้เป็นหนึ่งในช่วงที่ลงทุนยากมากในตลาดหุ้นไทยค่ะ แถมหุ้นหลายตัวยังลงไปทำราคาต่ำสุดในวันทั้งหุ้นไซส์ใหญ่ กลางเล็ก ก็โดนกันหมดค่ะ 

พอเราไปตามอ่านข่าวเราก็มักจะเห็นคำว่าหุ้นถูก Forced Sell อยู่หลายครั้ง ทั้งจากการที่เจ้าของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นำหุ้นตัวเองไปใช้เพื่อวางหลักประกันใน 'บัญชี Margin' รวมไปถึงมีการถูกบังคับขายในบัญชีนักลงทุนทั่วไป 

วันนี้เลยจะพาไปรู้จักค่ะว่า ‘Forced Sell’ คืออะไร? และส่งผลต่อราคาหุ้นตัวนั้น ๆ อย่างไรบ้างค่ะ

‘Forced Sell’ พูดง่าย ๆ ก็คือการถูก ‘บังคับขาย’ โดยบริษัทหลักทรัพย์จะทำการขายหลักทรัพย์ของลูกค้าโดยไม่ได้รับความยินยอม เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ที่ลูกค้าค้างชำระ หรือเพื่อรักษาระดับความเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ในสถานการณ์ปกติเจ้าของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สามารถเอาหุ้นของตัวเองมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อกู้เงินบางส่วนกับทางบริษัทหลักทรัพย์ได้ โดยเงินที่กู้ได้บริษัทสามารถเอาไปใช้เพื่อซื้อหลักทรัพย์อื่น, เอาไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทตัวเอง, จองซื้อหุ้น IPO หรือกู้เพื่อเอาเงินไปใช้ในการทำธุรกิจได้ค่ะ เพราะในบางครั้งการกู้วิธีนี้ง่ายและสะดวกกว่าการกู้ธนาคาร ส่วนนักลงทุนทั่วไปก็มักจะเอาหลักทรัพย์ในบัญชีมาวางเป็นหลักประกันเพื่อกู้เงินไปซื้อหลักทรัพย์อื่น ๆ ค่ะ

ซึ่งเราจะเรียกบัญชีประเภทนี้ว่า บัญชี Margin โดยการกู้ผ่านบัญชี Margin นี้ นักลงทุนต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับบริษัทหลักทรัพย์เป็นค่าตอบแทนค่ะ และบริษัทหลักทรัพย์ก็จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกค้ารายนั้นค่ะ

แต่ถ้าหากมูลค่าหลักประกันลดลง จนไม่เพียงพอต่อการค้ำประกันเงินกู้ บริษัทหลักทรัพย์จะส่ง Margin Call เพื่อให้เจ้าของบัญชีการดำเนินการบางอย่าง โดยอาจจะทำการเติมเงินเข้ามา หรือขายหลักทรัพย์บางส่วนออกเพื่อลดวงเงินกู้ และทำให้มูลค่าหลักประกันกลับไปอยู่ในระดับที่กำหนด และความเสี่ยงก็กลับไปอยู่ในเกณฑ์ค่ะ 

แต่ถ้าเจ้าของบัญชีไม่ดำเนินอะไรภายในระยะเวลาที่กำหนด บริษัทหลักทรัพย์ก็มีสิทธิ์ที่จะบังคับขายหลักทรัพย์ในพอทของเจ้าของบัญชีออกมาเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เจ้าของบัญชีขาดทุนอย่างหนักค่ะ เพราะการขายจะเป็นการขายที่ ณ ราคาในขณะนั้นเลย ซึ่งอาจจะต่ำกว่าราคาที่เจ้าของบัญชีอยากขาย และถ้าเป็นการขายเพื่อปิดสถานะด้วยหุ้นจำนวนมากก็จะยิ่งส่งผลให้ราคาหุ้นตัวนี้ตกลงอย่างรวดเร็ว แถมยังทำให้เจ้าของบัญชีถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลงด้วยค่ะ

หลักเกณฑ์นี้ ก็ถูกนำมาใช้กับฝั่งที่คนขาย Short หุ้น (การทำกำไรในหุ้นขาลง) ด้วยเช่นกันค่ะ ถ้าลูกค้าทำการขาย Short หุ้นไว้ แล้วหุ้นตัวนั้นกลับวิ่งขึ้นสวนทางไปจากที่นักลงทุนคาดไว้ จนมูลค่าพอลดลงไปจนถึงระดับนึง ทางบริษัทหลักทรัพย์ก็สามารถทำการ Margin Call ในหุ้นตัวนั้น ๆ เพื่อให้ลูกค้าทำการเติมเงินหรือปิดสถานะบางส่วน และถ้าลูกค้าไม่ทำอะไรเลย ก็อาจจะโดน Forced Sell ได้เช่นเดียวกันค่ะ 

นอกจากนี้ถ้าการซื้อขายเป็นการซื้อขายที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือ การกระทำที่ผิดกฎหมายก็อาจจะส่งผลให้ถูก Forced Sell ได้เช่นกันค่ะ

'ฤกษ์อารี นานา' นักเรียนไทย ผู้ที่ทำให้พวกฝรั่งเหยียดเอเชียทึ่ง!!

ถือเป็นอีกมุมมองที่พอจะทำให้เห็นถึงความเจริญของ ‘ประเทศไทย’ ในสายตาต่างชาติได้มากขึ้น ภายหลังจาก ‘แมน’ ฤกษ์อารี นานา ทายาทของ ‘นายไกรฤกษ์ นานา’ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของประเทศไทย ได้บอกกล่าวภาพรวมของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ที่ครั้งหนึ่งเจ้าตัวได้เห็นความเจริญของประเทศแห่งนี้จากการไปเรียนต่ออยู่หลายปี ผ่านช่องยูทูบ ‘UTN Today’ ในช่วงหนึ่งของเนื้อหาคลิปที่ชื่อว่า ‘เรียนต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย 'ซ้ำชั้น 2 รอบ' แต่ใจสู้ | UTN World กับ แมน นานา EP.1’ โดยเจ้าตัวเผยคำสั้น ๆ เมืองไทย ‘ศิวิไลซ์’ แล้วจริง ๆ 

คุณแมน เล่าให้ฟังว่า ตนอยู่ฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 15 ถึง 25 โดยช่วงอายุประมาณ 13 ปี คุณแม่ของคุณแมนได้ส่งไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส โดยมีญาติอยู่ที่นั่น แต่ด้วยความที่ไปคนเดียว ก็จะมีความรู้สึกที่เหงาอยู่บ้าง และการไปอยู่ที่นั่น เรื่องภาษาก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะเขาจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเลย ตนจึงต้องเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสแบบจริงจัง 

“ตอนนั้นผมไปแบบนักเรียนไทยธรรมดา ๆ ไปอยู่หออยู่ ซึ่งหอก็เป็นหอชายล้วน และโดยสภาพแวดล้อมก็บังคับให้เราต้องตั้งใจเรียนอย่างหนัก โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส เพราะถ้าไม่ได้ภาษาที่นั่นก็แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากคนที่นั่นเขาไม่ใช้ภาษาอังกฤษ มันเป็นการปรับตัวที่ยากพอสมควร...

“อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะเป็นคนไทยคนเดียวในโรงเรียนที่ได้ไปอยู่ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่เป็นคาทอลิก แต่ผมก็เป็นคนที่ค่อนข้างเปิดรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ สังคมใหม่ ๆ ชอบทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ จะเรียกว่าเป็นคน Extrovert ก็ได้ เพราะพื้นฐานเดิมของผมเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรม จึงเข้ากับสังคมได้ง่าย แต่แน่นอนว่าถ้าหากใครที่เป็นคนเก็บตัวประมาณหนึ่ง (Introvert) หรือไม่กล้าแสดงออก ก็อาจจะอยู่ในกรอบเซฟโซน” 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นคนเรียนรู้เร็ว ทั้งเรื่องภาษา (พื้นฐานภาษาอังกฤษดีตั้งแต่อยู่เมืองไทย) และด้านวิชาการต่าง ๆ ทำให้คุณแมน ค่อนข้างจะได้รับการยอมรับจากครูและเพื่อนร่วมชั้นอย่างมาก สวนทางกับมุมมองของคนที่นั่นที่มักจะมองว่าคนเอเชียไม่เก่ง เพราะมาจากประเทศที่ล้าหลัง

“เอาจริง ๆ แล้วสมัยที่ผมไปเรียนช่วงนั้น ผมมองว่าระบบการศึกษาที่ฝรั่งเศส ก็มีความคล้ายคลึงกับในไทย คือ เน้นท่องจำ เน้นทฤษฎีซะส่วนใหญ่ ซึ่งผมก็โอเคกับมันเพราะว่าผมก็ค่อนข้างชอบทฤษฎีอยู่แล้ว แต่จะต่างกันตรงเด็กส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายในการคะแนนที่แข่งกับตัวเองอย่างมาก เช่น ต้องทำคะแนนให้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ต้องทำคะแนนให้ได้ดีกว่าเพื่อน ต้องทำคะแนนให้ได้ดีในระดับโรงเรียน และถึงขั้นต้องทำคะแนนให้ได้ดีกว่าเด็กโรงเรียนอื่นด้วย โดยที่ฝรั่งเศสเขาจะวัดคะแนนเป็นเต็ม 20 คะแนน แต่ถ้าเมืองไทยจะเป็นเกรด 1-2-3-4 ซึ่งถ้าอยู่ที่ฝรั่งเศสคะแนนเต็ม 20 หากทำได้สัก 15 ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว แล้วมันมีช่วงหนึ่งที่ผมไปสอบวิชาเศรษฐศาสตร์ (เทียบระดับพอ ๆ กับ ม.6 ของไทย) ผมทำคะแนนได้ 19 คุณครูกับเพื่อน ๆ ก็ตกใจอย่างมาก”

ทั้งนี้ คุณแมน มองว่า การที่คนที่นั่นรู้สึกตกใจในสิ่งที่คนเอเชีย ซึ่งเป็นคนไทย คนที่พวกเขาคิดว่ามาจากประเทศด้อยพัฒนาทำได้จากคะแนนที่สูงเช่นนั้น ส่วนสำคัญเพราะ หากการพัฒนาของประเทศไทย จะเป็นการพัฒนาทุก ๆ เรื่องไปตามการพัฒนาของประเทศ ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงความสามารถด้านการศึกษา แต่กลับกันกับฝรั่งเศสหรืออาจจะหมายรวมถึงยุโรปด้วยนั้น จะยังคงความเป็นอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง

ตรงนี้หมายถึงอะไร? ก็หมายถึงพวกเขายังชื่นชมในประวัติศาสตร์ของประเทศตน ทวีปตน ที่เคยยิ่งใหญ่ล้ำหน้าใครในโลก เรียนรู้เร็ว เจริญเร็ว แต่วันนี้พวกเขาเริ่มหยุดเจริญแล้ว และความเจริญที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ล้วนมาจากบุญเก่า สังเกตได้ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ยังอยู่ได้เพราะชื่อเสียงด้านการศึกษา ทำให้มีนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนมากมายในลอนดอน ซึ่งหากถ้าไม่มีนักเรียนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนเอเชียด้วยแล้ว ก็นึกภาพอนาคตของประเทศนี้ไม่ออกเช่นกัน เพราะนักเรียนที่ไปเรียนต่อ ล้วนแล้วแต่ไปสร้างรายได้ให้กับประเทศของเขาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าเรียนต่อ ค่าเช่าบ้าน ค่าร้านอาหาร ค่า Shopping และอื่น ๆ … ความขลังของบุญเก่ายังมีผลอยู่

เฉกเช่นเดียวกันกับความขลังในเรื่องของแบรนด์เนม เช่น ฝรั่งเศส กับ Hermès หรือ Louis Vuitton ที่ผู้คนยังพร้อมที่จ่ายให้ประวัติศาสตร์ที่มีความขลังนี้ และทุกวันนี้ประเทศที่ว่ามา ก็ยังใช้บุญเก่านี้ทำมาหากินได้อยู่ไปเรื่อย ๆ 

คุณแมน เผยต่อว่า จากมูลเหตุเหล่านี้ จึงทำให้ประเทศในยุโรป (ฝรั่งเศส) ยังกระหยิ่มยิ้มย่อง และทำให้เขามองว่าเอเชียอย่างเรา ยังไงก็ยังล้าหลัง

“เวลาเขามองประเทศไทยวันนี้ เขายังรู้สึกว่าเหมือนมองเมืองไทยในยุคเลย 20 ปีที่แล้วไปอีกไกล คนไทยขี่ช้างอยู่ คนไทยขี่เกวียนอยู่ จนกระทั่งวันที่เพื่อนของผมที่เป็นคนฝรั่งเศสได้มาไทย ก็ตกใจกันอย่างมาก เพราะเมืองไทยมีการใช้จ่ายผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด ใช้จ่ายกันตั้งแต่ร้านค้าใหญ่ ๆ ไปจนถึงร้านค้าเล็ก ๆ เมืองไทยมีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ที่ไม่มีความสกปรก ไม่มีขอทาน รถไฟฟ้าไม่มีกลิ่นฉี่ ดูดีมาก แต่ในปารีสกลับมีหนู มีคนปัสสาวะเรี่ยราด มีขอทาน แล้วก็มีคนเล่นยาด้วยในรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งคนฝรั่งเศสคนไหนที่ได้มาเปิดหูเปิดตาในไทยตอนนี้ พูดได้แค่คำเดียวว่า ‘ศิวิไลซ์’ มาก ๆ...

“ไม่เพียงเท่านี้ เขายังมองอีกว่า บ้านเราอารยะ มีมารยาทสูง เอาแค่ในรถไฟฟ้าของไทย ผู้คนจะมีมารยาทในการใช้งาน ไม่โวยวาย ไม่คุยเสียงดัง เข้า-ออก ตามคิวอย่างเป็นระเบียบ และยังเอื้อเฟื้อต่อเด็ก, สตรีมีครรภ์ และ คนชรา ได้นั่งก่อน กลับกันในรถไฟฟ้าที่ยุโรป เช่น ในฝรั่งเศส ใครจะโทรศัพท์หาใคร จะตะโกนยังไงก็ได้ เพราะเขามองว่ามันก็เป็นสิทธิ์ของเขา หนักข้อคือจะกินข้าวเลอะเทอะยังไงก็ได้ ซึ่งตรงนี้ในมุมมองคนฝรั่งเศสที่ได้มาไทย เขายอมรับเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญแล้ว” 

“และนั่น จึงไม่ใช่แปลกเลย ที่วันนี้เราจะเห็นฝรั่งเขาพร้อมใจกันทำคลิปเรื่องดี ๆ ของไทยในแง่มุมต่าง ๆ ไปนำเสนอให้คนประเทศเขาได้เห็นถึงความเจริญในเมืองไทยมากขึ้น” คุณแมน ทิ้งท้าย 

อย่างไรก็ตาม สามารถติดตามบทสัมภาษณ์เวอร์ชันเต็มได้ที่ >> https://youtu.be/Jy0PmsZ1xK0?si=SIhOj4b39yOhh8Pn 
 

‘Picostim’ ก้าวสำคัญแห่งความสำเร็จในการรักษา ‘โรคลมบ้าหมู’ ด้วยเครื่องกระตุ้นประสาทขนาดจิ๋ว ชาร์จไฟผ่านหูฟังไร้สาย


‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ (Epilepsy) เกิดจากเซลล์สมองที่ทำงานเชื่อมโยงกันเหมือนวงจรไฟฟ้าและปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกติพร้อมกันอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้ระบบประสาทเกิดความผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมตนเองหรือเกิดอาการชักซ้ำ ๆ โดยอาการแสดงที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นกับว่าเป็นส่วนใดของสมองที่ได้รับการกระตุ้น และอาการจะเกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลาไม่นาน มักเกิดขึ้นทันทีและหยุดเอง แต่ส่วนใหญ่อาการมักเกิดขึ้นซ้ำเรื่อย ๆ ถือเป็นโรคทางระบบประสาทซึ่งพบได้ 70 คนจาก 1,000 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมาก แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต โดยพบได้ในทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะในเด็กเล็ก 4 - 6 ขวบ หรือกระทั่งผู้สูงอายุที่มีอาการของสมองเสื่อม


สาเหตุที่ทำให้เกิด ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ นอกเหนือจากความผิดปกติของสมองแล้วสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักได้ อาทิ กรรมพันธุ์ที่มักมีอาการชักร่วมด้วย การติดเชื้อทางสมอง การเกิดสภาวะสมองขาดออกซิเจน การได้รับอุบัติเหตุกระทบกระเทือนจนทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง ภาวะสมองพิการแต่กำเนิดซึ่งเกิดตั้งแต่เมื่อทารกยังอยู่ในครรภ์ เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งที่กระจายจากอวัยวะอื่น ๆ มาสู่สมอง หลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบอุดตันเฉียบพลัน โรคไต การรับยาเกินขนาด การติดเชื้อในสมอง เช่น ไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย การติดเชื้อโปรโตซัว หรือพยาธิในสมอง รวมไปถึงผู้ที่ป่วยด้วยอาการพิษสุราเรื้อรัง กระทั่งไม่ทราบสาเหตุด้วยเมื่อทำการตรวจแล้วแต่กลับไม่พบร่องรอยของโรคในสมอง


อาการของ ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ มีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าในสมองผิดปกติตรงส่วนใดของสมองและมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน บางอาการสังเกตได้ยากว่ามีอาการชักอยู่ โดยอาการชักมี 2 ลักษณะ ดังนี้

อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว จากการส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าจากส่วนลึกของสมองผิดปกติกระจายไปทั่วสมอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการชักเกร็ง กระตุก หมดสติทันทีทันใด กล้ามเนื้อลำตัวและแขนขาเกร็ง หยุดหายใจชั่วขณะ หน้าเขียว กัดลิ้น ปัสสาวะราด และหลับไป เมื่อตื่นรู้ตัวจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เพลีย ปวดศีรษะ บางรายยังไม่ทันตื่นก็เกิดอาการชักซ้ำ
อาการชักเฉพาะที่ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติอาจรบกวนสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกาย อาการชักที่เกิดจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติบนผิวสมอง เช่น อาการกระตุกใบหน้า มุมปาก แขนหรือขา มีอาการชานอกจากนี้อาจมีอาการ เห็นแสงสว่างหรือเห็นเป็นรูปร่าง เห็นภาพหลอน คลื่นไส้ ปวดท้อง ความรู้สึกเหมือนฝัน หูแว่ว หรือใจสั่น ใจหวิว หรือบางครั้งมีอาการเหม่อและนิ่ง เรียกแล้วไม่รู้สึกตัว พร้อมกับอาการเคี้ยวปาก มีการใช้มือคลำไปมาโดยไม่มีสาเหตุที่ต้องคลำ


อันตรายของ ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ หากผู้ป่วยแสดงอาการอยู่บ่อยๆ และไม่ได้รับการรักษา กระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองจะทำให้เกิดการหลั่งสารออกมาแล้วทำลายเซลล์สมอง นาน ๆ เข้าอาจทำให้เนื้อสมองตาย จนทำให้ความจำมีปัญหา หากทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ขับรถหรือว่ายน้ำ ก็จะเป็นอันตราย และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นผู้ป่วย ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ จึงไม่ควรที่จะขับรถหรือทำกิจกรรมหนัก ๆ 


แนวทางในการรักษา ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ซึ่งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการรักษาแพทย์จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ป่วย ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ป่วยจากสาเหตุใด เพื่อทำการรักษาได้ถูกต้อง ด้วยการ...

การใช้ยากันชัก เพื่อช่วยกดสมองส่วนที่มีการปล่อยคลื่นลมชักออกมา ทำให้ไม่ชัก โดยปัจจุบันมียากันชักหลากหลายชนิด ซึ่งการเลือกใช้ยากันชัก แพทย์ก็จะเลือกตามความเหมาะสมของชนิดการชัก และผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
การใช้อาหารสูตรพิเศษ แบบคีโตเจนิค ไดเอท (Ketogenic Diet) คือ อาหารที่มีสัดส่วนของไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ และโปรตีนที่เพียงพอเหมาะสม
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ในกรณีที่พบเนื้องอกในสมองหรือหลอดเลือดผิดปกติ หรืออาการชักที่ควบคุมไม่ได้ด้วยยากันชัก และตรวจเพิ่มเติมพบว่ามีจุดกำเนิดชัก ที่สามารถผ่าตัดออกได้

และขณะนี้ โลกกำลังก้าวสู่ความสำเร็จในรักษา ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ด้วยความร่วมมือ 4 ฝ่าย ระหว่างโรงพยาบาล Great Ormond Street, โรงพยาบาล King's College, UC London และ U of Oxford ช่วยกันทำให้ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้เกิดขึ้น ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘Picostim’ ซึ่งเป็นเครื่องกระตุ้นประสาทที่มีขนาดเล็กมาก ผลิตโดยบริษัท Amber Therapeutics แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งจะถูกใส่เข้าไปในช่องว่างของกะโหลกศีรษะของผู้ป่วยในบริเวณที่เนื้อกระดูกของกะโหลกนั้นได้ถูกผ่าตัดเอาออกแล้ว โดย ‘Picostim’ เป็นอุปกรณ์รักษา ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ เครื่องแรกของโลกถูกติดตั้งในกะโหลกศีรษะของ Oran Knowlson เด็กชายชาวอังกฤษ ผู้ป่วย ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ขั้นรุนแรง เพื่อควบคุมอาการชัก


‘Picostim’ เครื่องกระตุ้นประสาททำหน้าที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าลึกเข้าไปในสมองของผู้ป่วย สามารถลดอาการลมชักในเวลากลางวันของ Oran Knowlson ได้ถึง 80% โดย Justine มารดาของเขาเล่าว่า เขามีความสุขมากขึ้น และมี ‘คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก’ การผ่าตัดใส่ ‘Picostim’ นี้ ได้ดำเนินการครั้เป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2023 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองที่โรงพยาบาล Great Ormond Street ในกรุงลอนดอน เมื่อ Oran Knowlson ขณะที่รับการผ่าตัดอายุ 12 ปี เขามีอาการ Lennox-Gastaut syndrome ซึ่งเป็นโรคลมบ้าหมูที่ดื้อต่อการรักษา เขาเริ่มมีอาการเมื่ออายุได้ 3 ขวบ ตั้งแต่นั้นมา Oran มีอาการชักหลายครั้งในแต่ละวันตั้งแต่ 24 ครั้งไปจนถึงหลายร้อยครั้ง


(Oran (ขวา) อยู่กับมารดา น้องชาย และน้องสาว)

ทั้งนี้ Justine มารดาของเขาเล่าว่า ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดนั้น ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ของ Oran Knowlson ได้พรากเอาชีวิตวัยเด็กของเขาไปจนหมด เขามีอาการชักหลายอย่าง รวมถึงการที่เขาล้มลงกับพื้นแล้วมีอาการสั่นอย่างรุนแรงจนหมดสติ เธอกล่าวว่าบางครั้งเขาจะหยุดหายใจและต้องใช้ยาฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตเขา Oran Knowlson ยังเป็นโรคออทิสติกและสมาธิสั้น แต่มารดาของ Oran กล่าวว่า  ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ของเขาคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุด “เด็กอายุ 3 ขวบที่สดใส แต่ภายในไม่กี่เดือนต่อมาเขาเริ่มมีอาการชัก แล้วก็ทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนสูญเสียทักษะต่าง ๆ ไปมากมาย” ทั้งนี้ Oran Knowlson เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CADET ซึ่งเป็นชุดการทดลองที่ประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของการกระตุ้นสมองส่วนลึกสำหรับ ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ขั้นรุนแรง ทั้งนี้ ‘Picostim’ ผลิตโดยบริษัท Amber Therapeutics ในสหราชอาณาจักร


อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการชักจาก ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ เกิดขึ้นจากการกระตุ้นของกิจกรรมทางไฟฟ้าในสมองที่มีความผิดปกติ เครื่องกระตุ้น ‘Picostim’ ซึ่งปล่อยกระแสพัลส์ (Pulse คือสัญญาณทางไฟฟ้าที่มีรูปร่างหรือลักษณะเป็นคลื่นรูปสี่เหลี่ยม (Square wave) ที่) คงที่เพื่อป้องกันหรือรบกวนสัญญาณที่ผิดปกติ ก่อนการผ่าตัด Justine บอกว่า เธอต้องการให้ Oran Knowlson ค้นพบตัวเองอีกครั้งท่ามกลางปัญหาจากอาการชัก และเธอก็อยากได้ลูกชายของเธอกลับมามีชีวิตเช่นเด็กปกติทั่วไป การผ่าตัดติดตั้ง ‘Picostim’ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2023 ทีมงานนำโดย นายแพทย์ Martin Tisdall ศัลยแพทย์ที่ปรึกษาระบบประสาทเด็กได้ทำการสอดขั้วไฟฟ้าสองอันเข้าไปในสมองของ Oran จนกระทั่งไปถึงฐานซึ่งเป็นสถานีถ่ายทอดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเส้นประสาท โดยระยะขอบของความผิดพลาดสำหรับตำแหน่งเป้าหมายต้องน้อยกว่าหนึ่งมิลลิเมตร ปลายสายเชื่อมต่อกับเครื่องกระตุ้นประสาทซึ่งเป็นอุปกรณ์สี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 3.5 ซม. และหนา 0.6 ซม. วางอยู่ในช่องว่างของกะโหลกศีรษะของ Oran ซึ่งเป็นบริเวณที่เนื้อกระดูกส่วนนั้นได้ถูกนำเอาออกแล้ว จากนั้นจึงยึด ‘Picostim’ เครื่องกระตุ้นประสาทให้เข้าที่กับกะโหลกศีรษะ


(Oran Knowlson สามารถชาร์จอุปกรณ์ได้ทุกวันผ่านหูฟังไร้สาย 
ขณะเดียวกันก็ยังทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้ เช่น ดูทีวี)

แต่ก่อนการใช้เครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกสำหรับ ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ในเด็ก ด้วยการวางเครื่องกระตุ้นประสาทไว้ที่บริเวณหน้าอก มีสายไฟวิ่งไปถึงสมอง นพ. Martin Tisdall กล่าวว่า “การศึกษานี้หวังว่าจะช่วยให้เราระบุได้ว่าการกระตุ้นสมองส่วนลึกเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคลมบ้าหมูชนิดรุนแรงนี้หรือไม่ และยังพิจารณาถึงอุปกรณ์ประเภทใหม่ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในเด็กด้วย เพราะ ‘Picostim’ เครื่องกระตุ้นประสาทอยู่ในกะโหลกศีรษะเลย ไม่ใช่บริเวณหน้าอกเช่นที่ใช้กันอยู่ เราหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้” รวมถึงการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังการผ่าตัดและจากอุปกรณ์ซึ่งอาจทำงานล้มเหลว Oran Knowlson มีเวลา 1 เดือนในการฟื้นตัวจากการผ่าตัด ก่อนที่จะเปิดเครื่องกระตุ้นประสาท และเมื่อเปิดเครื่องแล้วเขาจะไม่รู้สึกผิดปกติเลย และสามารถชาร์จอุปกรณ์ได้ทุกวันผ่านหูฟังไร้สาย ขณะเดียวกันก็ยังทำกิจกรรมที่เขาชื่นชอบได้ เช่น ดูทีวี 


หลังจาก Oran Knowlson และครอบครัวของเขารับการผ่าตัดเป็นเวลา 7 เดือน Justine บอกว่า  ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ของ Oran ดีขึ้นมาก เขามีอาการตื่นตัวมากขึ้น ทั้งยังไม่มีอาการชักระหว่างวัน แต่ยังคงมีอาการชักในตอนกลางคืนอยู่ ซึ่งสั้นและรุนแรงน้อยลง โดยมารดาของเขากล่าวว่า “ฉันจะพาเขาให้ค่อย ๆ กลับมาเป็นเด็กปกติได้อย่างแน่นอน”


(นพ. Martin Tisdall ศัลยแพทย์ที่ปรึกษาระบบประสาทเด็ก โรงพยาบาล Great Ormond Street)

ด้าน นพ. Martin Tisdall กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ Oran Knowlson และครอบครัวของเขาได้เห็นประโยชน์มหาศาลจากการรักษานี้ และช่วยให้อาการลมชักและคุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างมาก” ตอนนี้ Oran Knowlson กำลังเรียนขี่ม้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขาชอบ แม้ว่าจะมีพยาบาลถือออกซิเจนอยู่ในมือ และครูคนหนึ่งของเขาคอยอยู่ใกล้ ๆ เสมอ ซึ่งเผื่อแม้จะยังไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลย


(‘Picostim’ เครื่องกระตุ้นประสาทผลิตโดย Amber Therapeutics)

ในการทดลองนี้ เด็ก ๆ อีก 3 คนที่มีอาการ Lennox-Gastaut จะได้รับการติดตั้งเครื่องกระตุ้นประสาทสมองส่วนลึก ปัจจุบัน Oran Knowlson ได้รับการกระตุ้นทางไฟฟ้าจากอุปกรณ์ของเขาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตทางทีมงานมีแผนที่จะทำให้เครื่องกระตุ้นระบบประสาทตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมองแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันอาการชักที่กำลังจะเกิดขึ้น 


มารดาของ Oran Knowlson กล่าวว่า เธอรู้สึกตื่นเต้นมากที่สุดกับการทดลองในระยะต่อไป “ทีมงานของโรงพยาบาล Great Ormond Street ให้ความหวังกับเราอีกครั้ง…ทำให้อนาคตในตอนนี้ดูสดใสยิ่งขึ้น” โดยครอบครัวรู้ว่า แม้การรักษาของเขาในขณะนี้อาจไม่ใช่วิธีรักษาที่ทำให้หายขาด แต่พวกเขายังมองโลกในแง่ดีที่ว่า Oran Knowlson จะสามารถหลุดพ้นจากเงามืดที่เกิดจาก ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ของเขาได้ต่อไปในอนาคต เครื่องกระตุ้นประสาท ‘Picostim’ ซึ่งผลิตโดย Amber Therapeutics ยังสามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย ดังนั้น ‘Picostim’ เครื่องกระตุ้นประสาทจึงเป็นสุดยอดความหวังของผู้ป่วย ‘โรคลมบ้าหมู’ หรือ ‘โรคลมชัก’ ซึ่งเมื่อได้รับการผ่าตัดติดตั้ง ‘Picostim’ แล้ว ในที่สุดอาการป่วยของพวกเขาจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน

วิเคราะห์ 6 กลยุทธ์การออกจากตลาด ที่เจ้าของกิจการมักใช้ในกิจการและตลาดหุ้น

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘Exit Strategy’ แต่นัยจริง ๆ ของมันคืออะไร?

‘Exit Strategy’ หรือ กลยุทธ์การออกจากตลาด คือ แผนการรับมือของนักลงทุนและเจ้าของธุรกิจที่วางไว้ล่วงหน้า เพื่อขายหุ้นออกจากพอร์ตการลงทุนหรือเปลี่ยนแปลงสัดส่วนความเป็นเจ้าของธุรกิจในสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ รวมทั้งในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่คิด และยังเป็นหนึ่งในวิธีบริหารความเสี่ยงของผู้ถือหุ้นและเจ้าของด้วยค่ะ 

โดยการลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของนี้ ก็จะส่งต่อความเป็นเจ้าของนั้นให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่นหรือกิจการอื่น ๆ ค่ะ ซึ่งการ Exit นี้มีได้ทั้งแบบสมัครใจและไม่สมัครใจค่ะ 

อย่างเช่น ถ้าเจ้าของมองว่า มีคนที่มีความสามารถบริหารงานได้ดีกว่าตัวเองก็อาจจะถูกทำให้ Exit เพื่อให้คนนั้นเข้ามาบริหารแทนค่ะ 

การ Exit นี้เกิดได้ทั้งกับธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมไปถึง Startup และการร่วมทุนในหลายรูปแบบค่ะ

โดยวิธีการ Exit มีด้วยกันทั้งหมด 6 วิธีค่ะ 

วิธีแรก คือ IPO หรือ วิธีการเสนอขายหุ้นให้กับบุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรกค่ะ จริงอยู่ที่ IPO เป็นการระดมทุนให้กับบริษัท แต่ในมุมตรงกันข้าม มันก็คือการลดสัดส่วนเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเดิมลงด้วยเช่นกัน ยิ่งบางธุรกิจที่มีนักลงทุนรายใหญ่ถือหุ้นเดิมอยู่ เมื่อทำ IPO เข้ามาแล้ว นักลงทุนรายใหญ่หรือ Angle Investors ก็อาจจะนำเงินที่ได้จากการ IPO ไปลงทุนในธุรกิจอื่นแทนค่ะ 

วิธีที่สอง คือการขายกิจการ ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับกิจการที่มีผลประกอบการไม่ค่อยดีค่ะ การขายกิจการตัวเองออกไปอาจจะช่วยลดความเสียหายและลดความเครียดที่เกิดกับเจ้าของกิจการนั้นได้ค่ะ หรือในทางตรงกันข้ามกับบริษัทที่ธุรกิจดี การขายกิจการหรือขายหุ้นออกไปก็จะเป็นการรักษาผลกำไรที่ตัวเองต้องการได้ค่ะ วิธีนี้จะขายแบ่งเฉพาะตัวธุรกิจเอง หรือขายธุรกิจรวมกับผู้บริหารและพนักงานเดิมก็ได้ค่ะ 

วิธีที่สามคือ M&A หรือ Mergers and Acquisitions หรือเราเรียกวิธีนี้ว่าการควบรวมกิจการ โดย Mergers ซึ่งเป็นวิธีที่กิจการตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไปมาควบรวมกันค่ะ อย่างเช่น ตอนที่ธนาคารทหารไทยควบรวมกับธนาคารธนชาต และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต ส่วน Acquisitions คือการขายกิจการของตัวเองให้กับบริษัทอื่น โดยจะขายผ่านทรัพย์สินหรือหุ้นก็ได้ค่ะ อย่างเช่นตอนที่ Facebook เข้าไปซื้อกิจการของ Instagram ค่ะ 

วิธีที่สี่ คือ วิธีการเสนอขายหุ้นให้กับคนในวงจำกัด หรือ Private Placements (PP) วิธีนี้ไม่ยุ่งยากเท่า IPO เพราะไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจาก กลต. แถมขั้นตอนการดำเนินการก็ยุ่งยากน้อยกว่าด้วยค่ะ โดยวิธีนี้เจ้าของเดิมที่ถือหุ้นอยู่จะลดสัดส่วนตัวเองลงไปให้กับผู้ถือหุ้นเดิมรายอื่นค่ะ 

วิธีที่ห้า คือ การสืบทอดกิจการครอบครัวค่ะ วิธีนี้จะเป็นการถ่ายโอนธุรกิจหรือสัดส่วนความเป็นเจ้าของให้กับทายาท และ...

วิธีสุดท้ายคือ ล้มละลาย ซึ่งวิธีนี้เจ้าของกิจการจะถูกฟ้องเพื่อยึดทรัพย์สินและถูกบังคับให้ออกจากธุรกิจนั้นไปโดยปริยายค่ะ

ถอดรหัสชีวิตที่ไม่สวยหรูของ ‘Elon Musk’  ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกประจำเดือนมิถุนายน 2567 

ในทุก ๆ วัน สื่ออย่าง Forbes จะมีการอัปเดตการจัดอันดับคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ซึ่งถ้าเข้าไปดูในหน้าเว็บไซต์จะเห็นการจัดอันดับความมั่งคั่งของบรรดามหาเศรษฐีทั่วโลกแบบ Real-Time รวมถึงเห็นตัวเลขความมั่งคั่งสุทธิของคน ๆ นั้นได้

และเดือนมิถุนายน 2567 นี้ ก็ได้มีการจัดอันดับเช่นเดียวกัน โดยคนที่รวยที่สุดของเดือนนี้ คือ Elon Musk ซึ่งเขามีทรัพย์สินอยู่ที่ราว ๆ 213 Billion Dollars (สองแสน-หนึ่งหมื่น-สามพันล้านเหรียญ) 

เงินจำนวนนี้เยอะขนาดไหน? ถ้าเทียบกับเครื่องบินลำใหญ่อย่าง Boeing 777 จำนวน 1 ลำที่มีราคา 300 ล้านเหรียญดอลลาร์แล้ว เงิน 213 Billion ก็จะทำให้ Elon เป็นเจ้าของเครื่องบินได้มากถึง 710 ลำค่ะ 

แล้วเขาเป็นใครทำไมถึงร่ำรวยเป็นที่ 1 ของโลก สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักเขา เดี๋ยววันนี้จะพาไปรู้จักคน ๆ นี้กันค่ะ

Elon Musk เป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของบริษัท SpaceX, Tesla, Inc., Neuralink, และ The Boring Company และถ้าเราจำกันได้เขาคือคนที่เอา Mini Submarine แคปซูลเคลื่อนย้ายมนุษย์ใต้น้ำเหมือนเรือดำน้ำขนาดเล็ก มาใช้ในการช่วยชีวิตของเด็ก ๆ ทีมนักฟุตบอล 13 หมูป่าที่ติดถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งตัวเขาก็ได้เดินทางมาถึงหน้าถ้ำจริง ๆ ด้วย แม้ว่าสุดท้ายเรือดำน้ำนั้นจะไม่ได้ถูกเอามาใช้ก็ตาม

Elon Musk เกิดที่เมือง Pretoria (พรีทอเรีย) ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในแอฟริกาใต้ ก่อนจะย้ายมายังแคนาดา และมาศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ด้วยความที่เขามีพ่อเป็นวิศวกร ส่วนเเม่เป็นนักโภชนาการ เขาเริ่มเรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และเขียนโค้ดขายวิดีโอเกมได้ในราคา 500 เหรียญ ตั้งแต่เขาอายุได้ 12 ปีเท่านั้น เขายังชอบอ่านหนังสือพวกนิยายวิทยาศาสตร์และสารานุกรม บางวันอ่านนานถึงวันละ 10 ชั่วโมง เพราะในวัยเด็กเขามักจะถูกเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนรังแก จนครั้งหนึ่งเขาถูกทำร้ายจนสลบ นั่นทำให้เขาเองชอบใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือเเทน 

โดยเขาได้ก่อตั้งบริษัทแรกขึ้นกับน้องชายในชื่อ Zip2 เป็นธุรกิจฐานข้อมูลและจัดหาข้อมูลให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังเจ้าต่าง ๆ อย่างนิวยอร์กไทมส์ เป็นต้น (นึกถึงวันที่โลกยังไม่มี Google และต้องหาข้อมูล หาเบอร์คนต่าง ๆ จากสมุดหน้าหลือง) บริษัทประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนได้ขายบริษัทออกไปให้กับบริษัท Compaq ตอนเขาอายุ 28 ปี ด้วยมูลค่าถึง 307 ล้านดอลลาร์ หลังจากเขาปั้นบริษัทแห่งนี้มาได้แค่ 4 ปีเท่านั้น 

จากนั้นก็มีการก่อตั้งธนาคารออนไลน์ ที่ชื่อว่า X.com ก่อนจะถูกควบรวมเข้ากับบริษัทคอนฟินิตี ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อว่า Paypal มันประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล เขาได้รับคำเสนอซื้ออีกครั้งจาก Ebay และเขาตัดสินใจขายมัน นั่นทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีพันล้านในวัยเพียง 31 ปี

พอในปี 2002 เขาก็ได้เปิดบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศ เขาฝันว่าวันหนึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในอวกาศจะเป็นเทคโลโลยีที่ราคาไม่แพงและเป็นอะไรที่สามารถเข้าถึงได้ พอปี 2004 เขาเป็นผู้ลงทุนในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเทสลามอเตอร์ส เขาเป็นทั้งประธานและสถาปนิกผลิตภัณฑ์ 

ในปี 2006 เขาช่วยสร้างโซลาร์ซิตีซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่ต่อมาถูกซื้อโดยเทสลา และกลายเป็นเทสลาเอนเนอร์ยี 

ในปี ค.ศ. 2015 เขาได้ร่วมก่อตั้งบริษัทโอเพนเอไอ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร 

ในปี 2016 เขาได้ร่วมก่อตั้งนิวรัลลิงก์ที่พัฒนาส่วนติดต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ ที่เคยทำการทดลองในลิงที่ถูกฝังชิปในสมองให้มีความสามารถในการเล่นเกมได้ และเดอะบอริงคอมพานี ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างอุโมงค์ ทำไฮเปอร์ลูป โดยมีเเนวคิดในการส่งมนุษย์เดินทางผ่านท่อความเร็วสูงจากแรงลม ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงเราจะเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ได้ในเวลาเพียงเเค่ 20 นาทีค่ะ เเละในปี ค.ศ. 2022 มัสก์ซื้อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ ด้วยมูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันที่จริงชีวิตของ Elon ก็ไม่ได้มีแค่ด้านสวยหรูนะคะ เพราะเขาก็เคยถูกปฏิเสธเข้าทำงานจากบริษัท Netscape ซึ่งเป็นบริษัทคิดค้นเว็บเบราว์เซอร์ World Wide Web (WWW) ด้วยเหตุผลว่าเขาไม่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน และนั่นก็เป็นการจุดประกายให้เขาก่อตั้งบริษัทตัวเองค่ะ

โดยรวมแล้วชีวิตเขาก็ไม่ได้ราบรื่นมาตลอด พ่อแม่หย่าร้างกัน แถมยังมีช่วงที่เขาขาดสภาพคล่องจนต้องหาแหล่งเงินทุนมาช่วยธุรกิจเขา / เขาเคยไปขอให้ Apple เข้ามาซื้อกิจการแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ / ถูกหักหลัง / ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บริหาร / ลูกชายคนแรกเสียชีวิตหลังคลอดได้ 10 เดือน / ถูกฟ้องหย่า 

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยความที่เขาเป็นคนไม่ยอมแพ้ มุ่งมั่น และมีความพยายามที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และไม่เคยย่อท้อ ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคอะไร อย่างเช่นการทดลองจรวด แม้จะโดนดูถูก เยาะเย้ย แต่เขาเองไม่เคยใส่ใจ ต่อให้การทดลองจะล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทุก ๆ ครั้งเขาจะกลับมาและทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม

และนั่นจึงทำให้เขาเป็น 'มหาเศรษฐีอันดับหนึ่ง' ของโลกค่ะ 

ที่สำคัญตอนนี้พวกเราคนไทยเอง ก็สามารถซื้อหุ้นของ Elon Musk ผ่านทางโบรกเกอร์ที่มีบริการซื้อหุ้นต่างประเทศได้ด้วยนะคะ

‘Peace Corps’ หน่วยงานสันติภาพของ ‘สหรัฐอเมริกา’ ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ผ่านอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกัน

กว่า 60 ปีมาแล้ว ในยุคที่สงครามเย็นยังคงคุกรุ่นและรุนแรง นอกจากการเสริมสร้างและพัฒนากำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรแล้ว โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานภาคพลเรือนเพื่อการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยสหภาพโซเวียตขนานกันไปด้วย หน่วยงานพลเรือนหนึ่งซึ่งมีบทบาทในภารกิจนี้ และยังดำรงคงอยู่จนทุกวันนี้ก็คือ ‘Peace Corps’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘หน่วยงานสันติภาพ’ แต่โดยทั่วไปแล้วมักนิยมเรียกชื่อหน่วยงานด้วยชื่อภาษาอังกฤษทับศัพท์

(ประธานาธิบดี John F. Kennedy กับเหล่าอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เมื่อ 28 สิงหาคม 1961) 

ทั้งนี้ ‘Peace Corps’ เป็นหน่วยงานและโครงการอิสระของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จัดหา ฝึกอบรม และจัดส่งอาสาสมัครเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 1961 ตามคำสั่งผู้บริหาร 10924 (Executive order (10924)) ของประธานาธิบดี John F. Kennedy และได้รับฉันทานุมัติจากสภาคองเกรสในเดือนกันยายน 1962 โดยรัฐบัญญัติ ‘Peace Corps’ 

(‘Sargent Shriver’ ผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ กับประธานาธิบดี Kennedy)

โดยผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ คือ ‘Sargent Shriver’ ผู้เป็นน้องเขยของประธานาธิบดี John F. Kennedy เอง โดย ‘Shriver’ เขาเป็นสามีของ ‘Eunice Kennedy Shriver’ จึงเป็นบิดาของ ‘Maria Shriver’ อดีตภรรยาของ ‘Arnold Schwarzenegger’ พระเอกคนเหล็ก อดีตผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

(‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ผู้เสนอแนวคิด ‘Peace Corps’)

แนวคิดของ ‘Peace Corps’ เกิดจากในปี 1950 ‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ได้นำเสนอในบทความเรื่อง ‘ข้อเสนอสำหรับการปฏิบัติการเชิงรุกด้วยสันติภาพโดยรวม’ ว่า สหรัฐฯ ควรจัดตั้งหน่วยงานอาสาสมัครเพื่อส่งเยาวชนอเมริกันไปทั่วโลกเพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรม และโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา โดยสุนทรพจน์ของ ‘Reuther’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ระบุว่า...

“ผมพูดมานานแล้วว่าผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่ได้รับการฝึกฝนให้ร่วมกับคนหนุ่มสาวอื่น ๆ ในโลกจะถูกส่งไปต่างประเทศมากขึ้นด้วย ตำราเรียน อุปกรณ์สำหรับการพัฒนาต่าง ๆ และชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้คนช่วยเหลือให้สามารถพึ่งตนเองด้วยเครื่องมือแห่งสันติภาพ แทนที่คนอเมริกันหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่งที่จะต้องถูกส่งไปพร้อมกับอาวุธสงคราม”

ในเดือนสิงหาคม 1960 หลังการประชุมแห่งชาติของพรรคเดโมแครตประจำปี ‘Walter Reuther’ ได้ไปพบกับ John F. Kennedy ที่เพื่อหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งของเคนเนดีและการจัดบุคลากรของฝ่ายบริหารในอนาคต ซึ่ง Kennedy ได้ให้คำมั่นที่จะสร้างหน่วยงานของฝ่ายบริหารที่จะกลายเป็นหน่วยสันติภาพ โดย Kennedy ได้ประกาศแนวคิดสำหรับองค์กรดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1960 ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการรณรงค์ในช่วงดึกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในเมืองแอนอาร์เบอร์บนบันไดของอาคาร Michigan Union ต่อมาเขาได้ขนานนามองค์กรนี้ว่า ‘Peace Corps’ 

วันที่ 1 มีนาคม 1961 ประธานาธิบดี Kennedy ลงนามคำสั่งบริหารที่ 10924 เพื่อเริ่มการก่อตั้งองค์กร ‘Peace Corps’ อย่างเป็นทางการ ด้วยความกังวลเกี่ยวกับกระแสความรู้สึกแห่งการต่อต้านสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้นในโลกที่สาม ประธานาธิบดี Kennedy มองว่า ‘Peace Corps’ เป็นวิธีการตอบโต้มุมมองแบบเหมารวมต่อกรณี ‘Ugly American’ (อเมริกันที่น่าชัง) และ ‘Yankee imperialism’ (ลัทธิจักรวรรดินิยมแยงกี้ ‘แยงกื้’ เป็นคำแสลงที่ใช้เรียกชาวอเมริกัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียหลังจากได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม

จนกระทั่งประมาณปี 1967 ผู้สมัครเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะต้องผ่านการทดสอบวัดระดับ ‘ความถนัดทั่วไป’ (ความรู้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับอาสาสมัคร ‘Peace Corps’) และความถนัดทางภาษา โดยวันที่ 28 สิงหาคม 1961 อาสาสมัครกลุ่มแรกได้ออกเดินทางไปยังกานาและแทนกันยิกา (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแทนซาเนีย) โครงการนี้ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 22 กันยายน 1961 และภายในระยะเวลา 2 ปี มีอาสาสมัครมากกว่า 7,300 คน ทำงานใน 44 ประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 คนในเดือนมิถุนายน 1966 ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์กรแห่งนี้

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่มีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เข้ามาปฏิบัติงานอาสาสมัคร ตั้งแต่ปี 1962 มีอาสาสมัครมากกว่า 5,600 คนปฏิบัติงานในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ มากมาย ตั้งแต่การศึกษา การพัฒนาชนบท สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนี้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังทำงาน 2 โครงการหลักคือ การศึกษา และการพัฒนาเยาวชน การดำเนินการตามภารกิจของ Peace Corps สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างชาวไทยและชาวอเมริกันที่ทำงานร่วมกันในด้านมิตรภาพและการพัฒนา

โครงการการศึกษาในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา โดยจะร่วมสอนกับครูชาวไทยในห้องเรียน ช่วยแนะนำแนวทางและกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่มีความหลากหลาย และช่วยเหลือนักเรียนฝึกหัดการใช้ภาษาอังกฤษกับอาสาสมัครเจ้าของภาษา พื้นที่ปฏิบัติงานของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทตามจังหวัดต่าง ๆ ยกเว้นกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลหรือมีทรัพยากรน้อยกว่าโรงเรียนอื่น ๆ โครงการนี้สนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ และมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ครูในโรงเรียนประถมศึกษาของไทยได้ปรับปรุงและประยุกต์ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในห้องเรียนภาษาอังกฤษและวิชาอื่น ๆ และเพื่อออกแบบบทเรียนและสื่อที่สร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนหลักสูตรบูรณาการ นอกจากนี้แล้ว อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันมากมายในด้านการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ในโครงการเชิงสร้างสรรค์ของโรงเรียนขนาดเล็ก

โครงการเยาวชนเพื่อการพัฒนา (The Youth in Development : YinD) อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดึงดูดเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เตรียมพร้อมสำหรับบทบาทผู้ใหญ่ของพวกเขา โครงการ YinD นี้สอดคล้องกับมุมมองของรัฐบาลไทยที่เห็นว่าเยาวชนเป็นทรัพยากรที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง และมีส่วนร่วม นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยให้เยาวชนได้รับรู้และพัฒนาทรัพยากรของตนอย่างเต็มที่ทั้งภายในและภายนอก นำไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จ เยาวชนหมายถึงผู้ที่มีอายุ 9-15 ปีสำหรับโครงการนี้ และได้รับความเห็นชอบจากพันธมิตรภาครัฐ อาสาสมัครทำงานในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ซึ่งเยาวชนเข้าถึงทรัพยากรของเมืองใหญ่ได้น้อย ดังนั้น งานส่วนใหญ่ของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ในโครงการ YinD คือการช่วยให้เยาวชนเปิดใจและพัฒนาทักษะที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางอาชีพและชีวิตสำหรับเยาวชนเหล่านั้น โดยปัจจุบันมีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จำนวน 43 คนยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย

สำหรับเป้าหมายอย่างเป็นทางการของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ คือการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โดยการจัดหาชาวอเมริกันหนุ่มสาว ที่มีทักษะในสาขาต่าง ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ การเป็นผู้ประกอบการ การเสริมสร้างศักยภาพของสตรี และการพัฒนาชุมชน อาสาสมัครคือพลเมืองชาวอเมริกันซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งได้รับการมอบหมายให้ทำโครงการเฉพาะในบางประเทศตามคุณสมบัติและประสบการณ์ของอาสาสมัครเหล่านั้น หลังจากการฝึกอบรมทางเทคนิคเป็นเวลา 3 เดือน สมาชิกอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะรับความคาดหวังให้ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 2 ปี หลังจากนั้นพวกเขาอาจขอขยายเวลาอาสาสมัครได้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้รับคำแนะนำให้เคารพประเพณีท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เรียนรู้ภาษาในพื้นที่ปฏิบัติงาน และปรับตัวใช้ชีวิตในสภาพที่ของประเทศที่ปฏิบัติงานได้

ในปีแรก ‘Peace Corps’ มีอาสาสมัคร 900 คนใน 16 ประเทศ และขึ้นถึงจุดมากที่สุดในปี 1966 ด้วยจำนวนอาสาสมัคร 15,556 คนใน 52 ประเทศ หลังจากการลดงบประมาณในปี 1989 จำนวนอาสาสมัครลดลงเหลือ 5,100 คน แม้ว่าเงินงบประมาณจะเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาและนำไปสู่การเติบโตอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 ภายในวันครบรอบ 50 ปี ในปี 2001 มีอาสาสมัครมากกว่า 8,500 คนทำงานใน 77 ประเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้งอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกันมากกว่า 240,000 คนได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ และทำงานใน 142 ประเทศ

(Carol Spahn ผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน)

Carol Spahn ผู้เคยเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ปฏิบัติงานในประเทศโรมาเนียระหว่างปี 1994 ถึง 1996 เป็นผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน และ ‘Peace Corps’ ได้รับงบประมาณปีละ 410.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,114.61 ล้านบาท) น่าเสียดายที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘Peace Corps’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงและให้ประสิทธิผลอย่างมากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ด้วยยังคงยึดติดกับ ‘นโยบายเรือปืน’ (Gunboat Policy) อยู่จนทุกวันนี้ หากสหรัฐฯ ใช้งบประมาณสำหรับกิจการ ‘Peace Corps’ เพียง 10% ของงบประมาณทางทหาร มั่นใจว่า  แน่นอนที่สุด จะมีประเทศต่าง ๆ และประชาชนพลโลกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ด้วยความเต็มใจและด้วยความจริงใจมากขึ้นอย่างมากมาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top