‘พระสังฆราช (ศรี)’ สมเด็จพระสังฆราช 2 กรุง ผู้ยึดมั่นในความสัตย์แห่งบรรพชิต เพื่อมุ่งสู่อเสขภูมิอันแท้จริง

ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ มีพระภิกษุนามว่า “พระอาจารย์ศรี” แห่งวัดพนัญเชิง ได้หนีภัยสงครามไปพำนักอยู่ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๒ “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เสด็จฯ ไปตีเอาเมืองนครศรีธรรมราช ได้พบพระอาจารย์ท่านนี้ นัยว่าเนื่องจากพระอาจารย์ศรีเป็นผู้แตกฉานในบาลี รู้แจ้งแทงตลอดในพระธรรมคำสอนทั้งหลายเป็นที่ยอมรับ จึงได้นิมนต์ท่านให้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นวัดสำคัญคู่กรุงธนบุรี ก่อนจะทรงสถาปนาเป็นพระอาจารย์ท่านขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี

แต่ทว่าสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) นั้น ทรงได้พบเคราะห์กรรมใหญ่หลวงใน พ.ศ. ๒๓๒๔ ช่วงปลายกรุงธนบุรี ตามบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์เหตุครั้งนั้นเกิดขึ้นจากพระราชปุจฉาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง 

เรื่องนี้นับมาจากครั้งเสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้ราวปี พ.ศ. ๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเริ่มต้นเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถวัดบางยี่เรือใต้ โดยทรงทำบุญแล้วตั้งพระสัตยาธิษฐาน มีบันทึกไว้พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาดังนี้

“เดชะผลทานบูชานี้ ขอจงยังพระลักขณะพระปีติทั้งห้าจงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าแล้วอย่าได้อันตรธาน และพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดนั้น ขอจงบังเกิดภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไป อนึ่ง ขอจงเป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเษกสมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า” ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีเหตุแห่งปาฏิหาริย์อย่างต่อเนื่องจนพระองค์เชื่อว่าพระองค์ทรงบรรลุโสดาบัน !!! และนั่นคือปัจจัยหนึ่งแห่งเหตุวุ่นวายในปลายรัชกาล

จากพงศาวดารกรุงธนบุรี บันทึกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงคร่ำเคร่งทำกรรมฐาน จนเข้าใจว่าทรงบรรลุเป็นพระอริยบุคคล จึงทรงมีปุจฉาถามพระผู้ใหญ่หลายๆ รูปว่า พระสงฆ์จะไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันได้หรือไม่ ? 

มีพระผู้ใหญ่สองรูปคือ พระรัตนมุนี (แก้ว) กับพระวันรัตน์ (ทองอยู่) ถวายพระพรว่า พระสงฆ์ไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบัน “ได้” จึงทำให้ทรงโปรดพระสงฆ์สองรูปนี้มาก ส่วนพระผู้ใหญ่ ๓ รูปที่ถวายพระพรว่า “ไม่ได้” ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)  พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (พระเชตุพนฯ) ประกอบเหตุตามหลักในพระพุทธศาสนาความว่า

“ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร”

จากข้อวิสัชชนาดังกล่าวทำให้ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พร้อมๆ กับพระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม ถูกถอดมาเป็นพระอนุจร แล้วนำไปเฆี่ยน และให้ไปใช้แรงงาน ณ วัดหงส์รัตนาราม โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพระโพธิวงษ์ (ชื่น) วัดหงส์รัตนารามขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแทน

ขออธิบายเรื่อง พระโสดาบันเพศคฤหัสถ์ ทำไม ? จึงยังต้องไหว้พระภิกษุสามเณรปุถุชนซึ่งเป็นเพศบรรพชิต โดยผมขอยกเหตุผลมาจากมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ได้ทรงมีปุจฉาถามพระนาคเสนเมื่อปุถุชนบรรลุโสดาบัน เหตุใดบรรพชิตจึงไม่ไหว้ปุถุชนผู้นั้นทั้ง ๆ ที่ได้บรรลุแล้วซึ่งโลกุตรธรรม ?  โดยพระนาคเสนได้วิสัชชนาเรื่องนี้ไว้ว่า 

“เพศบรรพชิตอันเป็นสมณะนั้นประกอบด้วยคุณสมบัติภายใน ๒๐ ประการคือ ๑.) เสฏฐภูมิสโย เป็นผู้ตั้งอยู่ในภูมิอันประเสริฐ ประกอบด้วยกรุณา และความสัตย์เป็นต้น ๒.) อคฺโคนิยโม คือ นิยมในกิจอันประเสริฐ ๓.) จาโร มีความประพฤติชอบ ๔.) วิหาโร มีวิหารธรรมและอิริยาบถอันสมควร ๕.) สญฺญโม สำรวมอินทรีย์ ๖.) สํวโร สำรวมในปาฏิโมกข์สังวรศีล ๗.) ขนฺติ ความอดทน ๘.) โสรจฺจํ ความเป็นผู้สงบเสงี่ยม ๙.) เอกันตาภิรติ ยินดีในธรรมเป็นอันแท้ ๑๐.) เอกันตจริยา ประพฤติธรรมเที่ยงแท้ ๑๑.) ปฏิสลฺลินี มีปกติเข้าที่หลีกเร้น ๑๒.) หิริ มีความละอายบาป ๑๓.) โอตฺตปฺป มีความเกลียดกลัวบาป ๑๔.) วิริยํ มีความเพียร ๑๕.) อปฺปมาโท มีความไม่ประมาท ๑๖.) อุทฺเทโส บอกกล่าวเล่าเรียนบาลี ๑๗.) ปริปุจฺฉา เล่าเรียนบอกกล่าวอรรถกถา ๑๘.)สีลาภิรติ ความยินดีในคุณธรรมมีศีล ๑๙.) นิราลยตา ความไม่มีความอาลัย และ ๒๐.) สิกขาปทปาริปูรี เป็นผู้บำเพ็ญสิกขาบทให้เต็มบริบูรณ์ ซึ่งในสุดท้ายนี้ยังประกอบด้วยเครื่องหมายภายนอกของผู้เป็นสมณะ ได้แก่ ภณฺทาภาโร เป็นผู้ทรงผ้ากาสาวพัตร และมุณฺฑภาโว เป็นผู้มีศีรษะโล้น” 

โดยพระนาคเสนอธิบายเพิ่มเติมว่าสมณะประกอบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เต็มบริบูรณ์แล้ว ไม่ขาดตกบกพร่อง กำลังดำเนินไปเพื่ออเสขภูมิ เพื่อพระอรหัตผล ภิกษุเหล่านั้นอยู่ ในฐานะเสมอด้วยพระอรหันต์ขีณาสพ แต่อุบาสกผู้โสดาบันไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายมีสิทธิฟังพระปาฏิโมกข์ แต่อุบาสกผู้เป็นโสดาบันไม่มีสิทธิ ภิกษุมีสิทธิเป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร ทำให้พระศาสนาเจริญมั่นคง แต่อุบาสกผู้เป็นโสดาบันไม่มีสิทธิเช่นนั้น ภิกษุมีสิทธิและหน้าที่ในการรักษาสิกขาบทน้อยใหญ่ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แต่อุบาสกผู้เป็นโสดาบันไม่มีอำนาจหน้าที่เช่นนั้น... พระนาคเสนได้ยกตัวอย่างประกอบเพิ่มเติมว่า “เหมือนเจ้าชายผู้ได้ศึกษา ศิลปวิทยายุทธจากปุโรหิตาจารย์ประจำราชสกุล ต่อมาแม้เมื่อเจ้าชายนั้นได้รับ พระบรมราชาภิเษกเป็นพระราชาแล้ว ก็ยังคงเคารพปุโรหิตนั้นในฐานะเป็นอาจารย์อยู่อย่างเดิม” 

เพราะฉะนั้น การไหว้ จึงไหว้ด้วยความเหมาะสม ไม่ได้ไหว้ ไปเจาะจงที่ตัวบุคคล เป็นสำคัญ แต่ไหว้ในความประเสริฐของเพศบรรพชิตเป็นสำคัญ จบคำอธิบายไว้ตรงนี้ แล้วกลับมาเรื่องของ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) กันต่อ 

เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดยศสมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์รัตนาราม ลงเป็น พระธรรมธีรราชมหามุนี โดยทรงมีพระปรารภว่า "มีความรู้มาก เสียดายแต่ว่ามีสันดานสอพลอ" ทรงมีดำรัสว่า 

“สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ ซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีตั้งขึ้นใหม่นั้นก็เป็นพวกอาสัตย์สอพลอพลอยว่าตาม นายแก้ว นายทอง อยู่ไปมิได้เป็นต้นเหตุ แต่รู้พระไตรปิฎกมาก เสียดายอยู่ อย่าให้สึกเลย และที่พระวันรัตนั้นว่างอยู่หาตัวมิได้ จึงโปรดตั้งให้เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี (ชื่น) ว่าที่พระวันรัต ซึ่งรองจากสมเด็จพระสังฆราช” 

รับสั่งให้ พระรัตนมุนี (แก้ว) สึกจากพระ แต่ยังทรงเมตตาให้เข้ารับราชการเป็น “พระอาลักษณ์” เป็นผู้ขนานพระนามพระองค์เจ้าต่างกรม  ส่วนพระวันรัต (ทองอยู่) ให้สึกจากพระ แล้วโปรดเกล้า ฯให้ไปเป็น “หลวงอนุชิตพิทักษ์” อยู่ในกรมมหาดไทย 

ส่วนพระราชาคณะทั้งปวงนั้น ที่เออออไปด้วยกลัวพระราชอาชญาจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ทรงพระกรุณาให้ยกโทษเสียทั้งสิ้น แต่ที่พระธรรมโคดมนั้นต้องกับพระสัพพัญญูเจ้า จึงดำรัสให้แปลงนามเสียใหม่ โปรดให้พระเทพกวีเลื่อนขึ้นเป็นที่พระธรรมอุดม ให้พระธรรมโฆษาวัดปากน้ำ เป็นพระเทพกวี ให้มหานากเปรียญเอก วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) เป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ให้มหาเรืองข้าหลวงเดิมวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) เป็นพระเทพมุนี ให้มหาเกสรเปรียญโทวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) เป็นพระญาณสิทธิ์ ฯลฯ

จากนั้นก็โปรดสถาปนาพระอาจารย์ศรี วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ขึ้นดำรงสมณศักดิ์ที่ "สมเด็จพระสังฆราช" พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรมนั้น ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้คืนสมณศักดิ์ และตำแหน่งดังเดิม พร้อมให้กลับไปครองวัดเก่าที่เคยสถิต 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงมีพระดำรัสสรรเสริญว่า “พระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ นี้มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา แม้มีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีภายหน้า จะให้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ ว่าอย่างไรแล้ว พระราชาคณะอื่นๆ จะว่าอย่างอื่นไป ก็คงจะเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ ซึ่งจะเชื่อถ้อยฟังความตามพระราชาคณะอื่นๆ ที่เป็นพวกมากนั้นหามิได้” 

ทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) และวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) เข้ามารับบิณฑบาตในพระราชวังทั้ง ๒ พระอาราม ให้ผลัดเวรกันวัดละ ๗ วัน เป็นนิจกาล ให้รื้อตำหนักทองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นไปปลูกเป็นกุฎีถวายสมเด็จ ฯ พระสังฆราช (ศรี) 

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) หลังจากได้ครองสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หนที่ ๒ ก็เป็นกำลังสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในช่วงสร้างกรุง พระองค์มีกรณียกิจสำคัญในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ.๒๓๓๑ และเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒ ของสยามประเทศ สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ทำการสังคายนาที่วัดนิพพานาราม แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๔ กอง ดังนี้ สมเด็จฯ เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส และพระธรรมไตรโลก (ชื่น) เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก โดยสังคายนาที่วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุฯ) ใช้เวลา ๕ เดือน จึงแล้วเสร็จ

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงดำรงทรงดำรงตำแหน่งหนที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ จนกระทั่งประชวรถึงสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๖ เดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๓๗ รวมระยะเวลา ๑๒ ปี


เรื่อง : สถาพร บุญนาจเสวี