รู้จัก ‘กองทัพแดงญี่ปุ่น’ หนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายสะท้านโลก จากจุดเริ่มต้นหวังโค่นล้มราชวงศ์ญี่ปุ่นสู่ปฏิบัติการป่วนโลกทุกรูปแบบ

ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงอยากจะไม่เชื่อว่า ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันซึ่งผู้คนดูเหมือนว่า รักความสงบและไม่นิยมความรุนแรง แต่ครั้งหนึ่งเคยมีองค์กรก่อการร้ายในระดับสากลที่ชื่อว่า “กองทัพแดงญี่ปุ่น” (Japanese Red Army หรือ 日本赤軍 (Nihon Sekigun)) องค์กรก่อการร้ายแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดย Tsuyoshi Okudaira (ผู้นำระหว่าง 1971–พฤศจิกายน 1987) และ Fusako Shigenobu (ผู้นำระหว่าง พฤศจิกายน 1987–เมษายน 2001) “กองทัพแดงญี่ปุ่น” แยกตัวออกมาจาก “สันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งญี่ปุ่น” 

นอกจากนี้ “กองทัพแดงญี่ปุ่น” ยังเป็นที่รู้จักในนามว่า “กองพลต่อต้านจักรวรรดินิยมสากล (the Anti-Imperialist International Brigade : AIIB)” หรือ “กองพลสงครามศักดิ์สิทธิ์ (the Holy War Brigade)” หรือ “แนวร่วมต่อต้านสงครามประชาธิปไตย (the Anti-War Democratic Front)” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำการโค่นล้มรัฐบาลญี่ปุ่นและโค่นล้มราชวงศ์ญี่ปุ่น รวมทั้งเริ่มการปฏิวัติโลก เครือข่ายของกลุ่มได้แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศในเอเชีย เชื่อกันว่าฐานที่มั่นอยู่ในประเทศเลบานอนตั้งแต่ 1977 และมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Fusako Shigenobu หลังจากเรียนมัธยมปลายเธอเข้าทำงานให้กับบริษัท Kikkoman พร้อมทั้งเรียนหลักสูตรปริญญาตรีภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยเมจิ จนสำเร็จการศึกษาศิลปะศาสตร์บัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมจิ โดยขณะนั้นเองเธอได้เข้าร่วมขบวนการนักศึกษาที่ทำการประท้วงการขึ้นค่าเล่าเรียน และทำให้เธอได้เคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายทั่วไป (Zengakuren) ในทศวรรษ 1960 จนกระทั่งเธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับสูงของ Zengakuren และร่วมก่อตั้งกองทัพแดงญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานจากพรรคคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายใหม่ที่สนับสนุนการปฏิวัติผ่านการก่อการร้าย เธอและพรรคพวกได้จัดตั้งกลุ่มของตัวเองประกาศสงครามกับรัฐบาลญี่ปุ่นในเดือนกันยายน 1969 แต่ตำรวจญี่ปุ่นก็สามารถจับกุมสมาชิกหลายคนได้อย่างรวดเร็วรวมถึง Tsuyoshi Okudaira ผู้ก่อตั้งและผู้นำทางความคิด ซึ่งถูกจำคุกในปี 1970 สมาชิกส่วนที่เหลือได้รวมเข้ากับกลุ่มลัทธิเหมา (the Maoist Revolutionary Left Wing of the Japanese Communist Party) จัดตั้ง United Red Army (連合赤軍 (Rengō Sekigun)) ในเดือนกรกฎาคม 1971 กลุ่มนี้มีชื่อเสียงจากเหตุการณ์ Asama-Sanso ซึ่งเป็นการกวาดล้างจับกุมสมาชิกสิบสองคนในค่ายฝึกลับบนภูเขาฮารุนะ โดยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นหลายร้อยนายทำการปิดล้อมนานถึงหนึ่งสัปดาห์

กุมภาพันธ์ 1917 Fusako Shigenobu และ Tsuyoshi Okudaira พร้อมสมาชิกติดตามประมาณ 40 คน ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่นไปยังประเทศในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี 1970 “กองทัพแดง” ได้ดำเนินการก่อการร้ายครั้งใหญ่หลายครั้ง รวมถึงการจี้เครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์หลายลำ การสังหารหมู่ที่สนามบิน Lod ในกรุงเทลอาวีฟ (1972) อิสราเอล ซึ่งทำให้ “กองทัพแดงญี่ปุ่น” กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มซ้ายติดอาวุธที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 1971 กองทัพแดงญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (The Popular Front for the Liberation of Palestine : PFLP) และ Wadie Haddad ในปี 1972 United Red Army ในญี่ปุ่นก็สลายตัว และกลุ่มของ Shigenobu จึงพึ่งพาอาศัย PFLP ในการจัดหาเงินทุน การฝึกอบรม และอาวุธยุทโธปกรณ์และการบุกยึดสถานทูตในประเทศต่าง ๆ ในปี 1971–72 องค์กรได้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การต่อสู้ภายในกลุ่มกันอย่างรุนแรงจนมีการสังหารชีวิตสมาชิก 14 คนโดยสมาชิกกองทัพแดงด้วยกัน การสังหารเหล่านี้สร้างความตกตะลึงให้กับประชาชนญี่ปุ่น และตามมาด้วยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุจำนวนมาก แม้ว่ากองทัพแดงจะยังมีขนาดเล็ก แต่กิจกรรมก่อการร้ายของกองทัพแดงยังคงดำเนินต่อไปจนถึงช่วงทศวรรษ 1990 ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 สมาชิกหลายคนถูกขับไล่ออกจากจอร์แดนและส่งตัวกลับญี่ปุ่นซึ่งทำให้พวกเขาถูกจับกุมและดำเนินคดี

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ถึง 1980 กองทัพแดงญี่ปุ่นได้ปฏิบัติการโจมตีทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกหลายครั้งได้แก่ :

1. เมื่อ 31 มีนาคม 1971: สมาชิกเก้าคน (รุ่นก่อนกองทัพแดงญี่ปุ่นซึ่งผู้นำเคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนที่พวกเขาจะถูกขับออกไป) ได้จี้เครื่องบิน Boeing 727 JAL 351 ซึ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศญี่ปุ่น บรรทุกผู้โดยสาร 129 คนจากสนามบินนานาชาติโตเกียว ไปยังเกาหลีเหนือ

2. เมื่อ 30 พฤษภาคม 1972: การสังหารหมู่ที่สนามบิน Lod กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล (ปัจจุบันคือสนามบินนานาชาติเบนกูเรียน) ด้วยปืนและระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน อีกประมาณ 80 คนได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในสามของผู้ก่อการร้ายฆ่าตัวตายด้วยระเบิดมือ อีกคนถูกยิงระหว่างการต่อสู้ ผู้ที่รอดชีวิตเพียงคนเดียวคือ Kōzō Okamoto โดยเหยื่อหลายคนเป็นผู้แสวงบุญชาวคริสต์ 

3. กรกฎาคม 1973: สมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นจี้เครื่องบิน JAL 404 เหนือเนเธอร์แลนด์ ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับการปล่อยตัวในลิเบีย แล้วผู้จี้ก็ทำการระเบิดเครื่องบินทิ้ง

4. มกราคม 1974: เหตุการณ์ Laju กองทัพแดงญี่ปุ่นโจมตีโรงงานเชลล์ในสิงคโปร์ และจับตัวประกันห้าคน ในเวลาเดียวกัน PFLP ได้ยึดสถานทูตญี่ปุ่นในคูเวต ตัวประกันถูกแลกเปลี่ยนด้วยค่าไถ่ และสมาชิก PFLP เดินทางไปยังเยเมนใต้ได้อย่างปลอดภัย

5. เมื่อ 13 กันยายน 1974 : สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ถูกบุกโจมตี เอกอัครราชทูตและคนอื่น ๆ อีกสิบคนถูกจับเป็นตัวประกัน และ Joke Remmerswaal ตำรวจหญิงดัตช์ถูกยิงที่ด้านหลังเจาะปอด หลังจากการเจรจาเป็นเวลานานตัวประกันได้รับการปลดปล่อยโดยแลกกับการปล่อยตัวสมาชิกกองทัพแดง (Yatsuka Furuya) ที่ถูกจำคุก เงินสด 300,000 ดอลลาร์ และเครื่องบินเดินทางไปยังเมืองเอเดนทางใต้ของเยเมน เป็นครั้งแรกซึ่งพวกเขาไม่ได้ตอบรับ จากนั้นไปยังซีเรีย แต่ซีเรียไม่ยอมรับการจับตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ และบังคับให้พวกเขาต้องคืนค่าไถ่

6. สิงหาคม 1975: กองทัพแดงญี่ปุ่นจับตัวประกันมากกว่า 50 คนที่อาคาร AIA ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตหลายแห่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ตัวประกันรวมถึงกงสุลสหรัฐฯและอุปทูตสวีเดน โดยสมาชิก 5 คนที่ถูกคุมขังถูกปล่อยตัว และเดินทางไปลิเบีย

7. เมื่อ 11 สิงหาคม 1976: ในนครอิสตันบูล ตุรกี มีผู้เสียชีวิต 4 คนและบาดเจ็บ 20 คน โดย PFLP และสมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นทำการโจมตีสนามบินอตาเติร์ก นครอิสตันบูล

8. กันยายน 1977: กองทัพแดงญี่ปุ่นจี้เครื่องบิน JAL 472 เหนืออินเดีย และบังคับให้ลงจอดที่กรุงธากา บังกลาเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นยอมปล่อยตัวสมาชิกกลุ่ม 6 คนที่ถูกคุมขัง และมีข่าวว่า ต้องจ่ายค่าไถ่อีก 6 ล้านดอลลาร์ด้วย

9. ธันวาคม 1977: ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกคนเดียวของกองทัพแดงญี่ปุ่นได้จี้เครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ 653 ซึ่งมีเอกอัครราชทูตคิวบาประจำญี่ปุ่น Mario Garcia อยู่ด้วย แต่เครื่องบิน Boeing 737 ลำดังกล่าวตกทำให้คนบนเครื่องทั้งหมดเสียชีวิต

10. พฤศจิกายน 1986: Fusako Shigenobu ร่วมมือกับ New People’s Army ซึ่งเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ลักพาตัว Nobuyuki Wakaouji ชาวญี่ปุ่น ผู้จัดการ Mitsui & Co. สาขามะนิลา ในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์

11. พฤษภาคม 1986: กองทัพแดงยิงปืนครกใส่สถานทูตญี่ปุ่นในแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย 

12. มิถุนายน 1987: เกิดการโจมตีด้วยปืนครกแบบเดียวกันกับสถานทูตอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในกรุงโรม อิตาลี 

13. เมษายน 1988: สมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นวางระเบิดสโมสรสันทนาการทหารของสหรัฐฯ (USO) ในเมืองเนเปิลส์ อิตาลี มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

14. ในเดือนเดียวกัน (เมษายน 1988) Yū Kikumura สมาชิกฝ่ายปฏิบัติการ กองทัพแดงญี่ปุ่นถูกจับพร้อมกับวัตถุระเบิดบนทางหลวง New Jersey Turnpike ซึ่งดูเหมือนจะตรงกับการวางระเบิด USO เขาถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาเหล่านี้ และถูกจำคุกในเรือนจำของสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในเดือนเมษายน 2007 เมื่อกลับมาถึงญี่ปุ่นเขาก็ถูกจับกุมทันทีในข้อหาใช้หนังสือเดินทางปลอม

Fusako Shigenobu มีบุตรสาวหนึ่งคน ซึ่งเกิดในปี 1973 ที่กรุงเบรุต เลบานอน ปัจจุบันเป็นนักข่าวชื่อว่า Mei Shigenobu เธอเคลื่อนไหวในตะวันออกกลางมากว่า 30 ปี การเคลื่อนไหวของเธอเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อความเป็นปึกแผ่นของการปฏิวัติระหว่างประเทศ โดยมีแนวคิดว่า ขบวนการปฏิวัติควรร่วมมือกัน และนำไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมระดับโลกในที่สุด จุดหมายปลายทางของเธอคือ เลบานอน และเป้าหมายของเธอคือ สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ เดิมเธอเข้าร่วมแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PFLP) ในฐานะอาสาสมัคร แต่ในที่สุดกองทัพแดงญี่ปุ่นก็กลายเป็นกลุ่มอิสระ เธอกล่าวในหนังสือหลายเล่มของเธอว่า "เป้าหมายของภารกิจคือการรวมกลุ่มพันธมิตรในการปฏิวัติระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมของโลก" Shigenobu ถูกระบุว่า เป็นบุคคลที่ต้องการตัวโดย INTERPOL ในปี 1974 หลังจากการจับตัวประกันที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเนเธอร์แลนด์เชื่อว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้อง

ตามเอกสารของ Shigenobu ที่ยึดได้เมื่อเธอถูกจับ และหนังสือพิมพ์รายงานข่าวเรื่องนี้ว่า เธอเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายโดยใช้หนังสือเดินทางปลอม ซึ่งเธอได้มาโดยผิดกฎหมายด้วยการแอบอ้างตัวเองเป็นบุคคลอื่น Shigenobu เดินทางเข้าและออกจากสาธารณรัฐประชาชนจีนซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง 16 ครั้งจากสนามบินนานาชาติคันไซตั้งแต่ธันวาคม 1997 ถึงกันยายน 2000 ตั้งแต่ปี 1990 เธอได้ก่อตั้ง "พรรคปฏิวัติประชาชน" เพื่อจุดประสงค์ที่จะ "การปฏิวัติด้วยกองกำลังติดอาวุธ" ในญี่ปุ่น โดยมีองค์กรบังหน้าคือ "ศตวรรษที่ 21 แห่งความหวัง" ซึ่งรับผิดชอบงานด้านกิจกรรมสาธารณะ ว่ากันว่าเธอใช้องค์กรนี้เป็นหลักในการวางแผนร่วมมือกับพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น หลังจากนั้นเธอก็ซ่อนตัวอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งใน Nishinari Ward โอซาก้า อยู่ช่วงหนึ่ง ในปี 2000 สำนักงานรักษาความมั่นคงสาธารณะ ส่วนที่ 3 โอซาก้า ซึ่งกำลังทำการตรวจสอบผู้สนับสนุนกองทัพแดงญี่ปุ่น และได้เริ่มสอบสวนบุคคลที่ติดต่อกับผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายกับ Shigenobu โดยเธอมีปานบนใบหน้าแต่ซ่อนไว้ด้วยการแต่งหน้า อย่างไรก็ตามรอยนิ้วมือของเธอก็ถูกเก็บรวบรวมจากถ้วยกาแฟที่ผู้หญิงคล้ายกับ Shigenobu ใช้ อีกทั้งวิธีการสูบบุหรี่ของหญิงผู้ต้องสงสัยก็คล้ายกับ Shigenobu และเธอมักไปดื่มในสถานที่แห่งหนึ่งเป็นประจำ เมื่อสำนักงานรักษาความมั่นคงสาธารณะฯ พบว่า ลายนิ้วมือที่เก็บมาได้ตรงกับลายนิ้วมือของ Shigenobu เป็นเวลา 26 ปีหลังจากการจี้จับตัวประกันที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก ปี 1974 Shigenobu ก็ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2000 ในเมืองทาคาสึกิ นครโอซาก้า ซึ่งเธอซ่อนตัวอยู่ เธอถูกส่งตัวจากโอซาก้าไปยังกรมตำรวจนครบาลในกรุงโตเกียว และถูกควบคุมในห้องส่วนตัวของ "รถด่วนสีเขียว" Tokaido Shinkansen เพื่อป้องกันการหลบหนี ชาวญี่ปุ่นต่างตื่นตกใจเมื่อเห็นหญิงวัยกลางคนที่ถูกใส่กุญแจมือลงจากรถไฟที่มาถึงกรุงโตเกียว เมื่อ Shigenobu เห็นบรรดากล้องที่รอทำข่าวอยู่เธอก็ชูนิ้วโป้งขึ้น และตะโกนใส่ผู้สื่อข่าวว่า "ฉันจะสู้ต่อไป!"

เธอถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2006 และได้รับคำพิพากษาขั้นสุดท้ายจากศาลสูงสุดของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2010 ด้วยเงื่อนไขเดียวกัน การฟ้องร้องเธอในสามข้อหาคือ (1)การใช้หนังสือเดินทางปลอม (2)ช่วยเหลือสมาชิกกองทัพแดงคนอื่น ๆ ในการทำหนังสือเดินทางปลอม และ(3)พยายามฆ่าคนตายโดยมีการวางแผนและสั่งการ กักขังและจับตัวประกันในปี 1974 ที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ Shigenobu สารภาพผิดในสองข้อหาแรก แต่ถูกตัดสินว่า ไม่มีความผิดในข้อหาที่เชื่อมโยงเธอกับการจับตัวประกันสถานทูตใน 1974 ในบรรดาพยานของเธอที่ปรากฏตัวในศาลสำหรับการสู้คดีคือ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการจี้เครื่องบิน TWA Flight 840 ในปี 1969 และปัจจุบันเป็นสมาชิกของสภาแห่งชาติปาเลสไตน์ ในคำพิพากษาสุดท้ายของเธอ ผู้พิพากษาระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า เธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดสถานทูตด้วยอาวุธ ซึ่งส่งผลให้ตำรวจสองนายได้รับบาดเจ็บ หรือข้อหาพยายามฆ่า แต่ตัดสินว่า เธอสมคบคิดกับสมาชิกกลุ่มของเธอเพื่อกักขังและจับตัวประกันในสถานทูต เธอถูกตัดสินลงโทษด้วยการจำคุกเป็นเวลา 20 ปี อย่างไรก็ตามเนื่องจากการรวมการคุมขังสามปีระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 810 วันในเรือนจำ จึงเหลือเวลา 17 ปี 

ในเดือนเมษายน ปี 2001 Shigenobu ได้ออกแถลงการณ์จากที่คุมขัง โดยประกาศว่า กองทัพแดงญี่ปุ่นได้ยุติบทบาทลงแล้ว และการต่อสู้ต่อไปควรกระทำด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย Shigenobu ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2022 สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้แถลงต่อสาธารณะว่า มีกลุ่มสืบทอดเจตนารมย์ของกองทัพแดงญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นในปี 2001 ในชื่อว่า “ขบวนการเรนไต (ムーブメント連帯 (Mūbumento Rentai)) “กองทัพแดงญี่ปุ่น” เคยถูกระบุโดนรัฐบาลสหรัฐฯว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในบัญชีกลุ่ม/องค์กรก่อการร้ายเมื่อ 8 ตุลาคม 1997 และถูกถอดจากรายชื่อเมื่อ 8 ตุลาคม 2001 โดยครั้งหนึ่งกองทัพแดงญี่ปุ่นถูกระบุว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายนิยมคอมมิวนิสต์ติดอาวุธที่มีความศักยภาพในการก่อการร้ายสูงที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกเลยทีเดียว


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล