Saturday, 4 May 2024
ประวัติศาสตร์รีวิว

สตรีผู้ทรงอิทธิพล!! รู้จัก ‘Valentina Matviyenko’ หญิงเหล็กแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย สตรีผู้ได้รับฉายา ‘สตรี...ผู้เป็นมือขวาของประธานาธิบดีปูติน’

หากเอ่ยถึงประเทศรัสเซีย ทุกคนต้องนึกถึงหน้าตาของประธานาธิบดีปูตินเป็นแน่ เพราะชายผู้นี้ถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลของโลกใบนี้ แต่รู้หรือไม่ว่ามีผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนสนิทของประธานาธิบดีปูตินและมีอิทธิพลมากๆ ในรัฐเซีย ถ้าอยากรู้ว่าเธอเป็นใคร…ตามอ่านมาได้เลย

สาเหตุที่ทำให้ Valentina Matviyenko เป็นหญิงเหล็ก...สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เพราะเธอเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี Vladimir Putin มายาวนานมาก จึงเป็นสตรีที่ประธานาธิบดีปูตินไว้วางใจมากที่สุด โดยเธอดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาสมาพันธรัฐแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซีย และบรรดาสื่อตะวันตกได้ให้ฉายาเธอว่า ‘สตรี...ผู้เป็นมือขวาของประธานาธิบดี Putin’

Sergey Matviyenko บุตรชายคนเดียวของ Valentina Matviyenko

Valentina Matviyenko เกิดเมื่อ 7 เมษายน ค.ศ. 1949 เกิดที่เมือง Shepetivka เขต Khmelnytskyi ของ ยูเครนตะวันตก สหภาพโซเวียต (ปัจจุบันอยู่ในประเทศ Ukraine) Valentina สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเคมีและเภสัชแห่งเลนินกราด ในปี ค.ศ. 1972 ที่ซึ่งเธอได้พบกับสามีของเธอ Vladimir Vasilyevich Matviyenko พวกเขาแต่งงาน และมี Sergey บุตรชายคนเดียวในปี ค.ศ. 1973 

Valentina Matviyenko เริ่มงานทางการเมืองของเธอในช่วงทศวรรษ 1980 ในนครเลนินกราด (ปัจจุบันคือ นคร Saint Petersburg) โดยดำรงตำแหน่งบริหารหลายตำแหน่งของ Komsomol (องค์กรเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต) จนถึงปี ค.ศ. 1984 เธอกลายเป็นเลขาธิการคนแรกของพรรคคอมมิวนิสต์เขต  Krasnogvardeysky ของนครแห่งนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 ถึง 1986 

Valentina Matviyenko กับ Guido de Marco อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ Malta

ในปี ค.ศ. 1990 เธอได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครรัฐทูตรัสเซียประจำมอลตา (ค.ศ. 1991-1995) และกรีซ (ค.ศ. 1997-1998) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ถึง 2003 เธอเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านสวัสดิการ และดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนประธานาธิบดีสำหรับเขตสหพันธรัฐทางตะวันตกเฉียงเหนือ ในปี ค.ศ. 2003 ด้วยความที่เธอเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับประธานาธิบดี Vladimir Putin ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ทำให้เธอได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าการนคร Saint Petersburg อันเป็นบ้านเกิดของประธานาธิบดีปูติน

Valentina Matviyenko ขณะเป็นผู้ว่าการหญิงคนแรกของนคร Saint Petersburg กับ Jacques Chirac อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ Gerhard Schroeder อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในพิธีเฉลิมฉลองครบ ๓๐๐ ปีของนคร Saint Petersburg เมื่อปี ค.ศ. 2003

Valentina กลายเป็นผู้ว่าการหญิงคนแรกของนคร Saint Petersburg ตั้งแต่เธอเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ว่าการ เงินภาษีจำนวนมากถูกโอนจากงบประมาณของรัฐบาลกลางไปยังงบประมาณท้องถิ่น และทำให้เศรษฐกิจของนคร Saint Petersburg เฟื่องฟู ทำให้เกิดการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนทั้งมาตรฐานการครองชีพในนคร Saint Petersburg ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้เธอยังสามารถทำให้ระดับรายได้เฉลี่ยของประชากรใกล้เคียงกับประชากรในกรุง Moscow และเหนือกว่าเมืองสำคัญอื่น ๆ ของสหพันธรัฐรัสเซีย

เขื่อน Saint Petersburg ซึ่งสร้างแล้วเสร็จในยุคที่ Valentina Matviyenko ผู้ว่าการฯ 
โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันอุทกภัยซ้ำซากของนคร Saint Petersburg

ผลงานในการพัฒนานคร Saint Petersburg ของเธอทำให้นครแห่งนี้มีความโดดเด่นเพิ่มมากขึ้น โดยมีการย้ายศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐรัสเซียจากกรุง Moscow ในปี ค.ศ. 2008 เธอได้ทำการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากทั้งในด้านที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างถนนวงแหวน Saint Petersburg ซึ่งรวมถึง สะพานใหญ่ Obukhovsky (สะพานข้ามแม่น้ำ Neva เพียงแห่งเดียวในนครแห่งนี้) สร้างเขื่อน Saint Petersburg จนแล้วเสร็จ โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันอุทกภัยซ้ำซากของนคร Saint Petersburg 

เธอเปิดใช้เส้นทางรถไฟใต้ดินสาย 5 ของรถไฟใต้ดินของนคร Saint Petersburg และเริ่มต้นการถมที่ดินในบริเวณ Neva Bay สำหรับสร้างโครงการพัฒนาริมน้ำแห่งใหม่ของนครแห่งนี้ โดยเป็นโครงการพัฒนาริมน้ำที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งมีท่าเรือโดยสารของ St. Petersburg อยู่ด้วย

สถานีรถไฟใต้ดิน Obvodny ของรถไฟใต้ดินสาย Frunzensko–Primorskaya ของนคร Saint Petersburg

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายแห่งถูกดึงดูดไปยังนคร Saint Petersburg และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึง Toyota, General Motors, Nissan, Hyundai Motor, Suzuki, Magna International, Scania และ MAN SE (ทั้งหมดมีโรงงานอยู่ในเขตอุตสาหกรรม Shushary) ส่งผลให้นคร Saint Petersburg กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญของสหพันธรัฐรัสเซีย 

การพัฒนาที่สำคัญของ Valentina ในฐานะของผู้ว่าการนคร Saint Petersburg อีกด้านหนึ่งคือ การท่องเที่ยว ภายในปี ค.ศ. 2010 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนคร Saint Petersburg เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าและสูงถึง 5.2 ล้านคน ซึ่งทำให้นคร Saint Petersburg อยู่ในกลุ่มศูนย์กลางการท่องเที่ยวห้าอันดับแรกของยุโรป

Valentina Matviyenko ประธานสภาสมาพันธรัฐแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซีย กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2011 ไม่นานหลังจากสร้างเขื่อน Saint Petersburg และถนนวงแหวน Saint Petersburg แล้วเสร็จ Valentina Matviyenko ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการนคร Saint Petersburg โดย Georgy Poltavchenko ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการตำแหน่งผู้ว่าการนคร Saint Petersburg แทนเธอ 

เธอได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี Dmitry Medvedev ให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานสภาสมาพันธรัฐแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซีย (วุฒิสภาของสหพันธรัฐรัสเซีย) โดยที่ Sergey Mironov ประธานคนก่อนของสภาสมาพันธรัฐแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซียถูกถอดถอนในเดือนพฤษภาคม Valentina ในฐานะสมาชิกของพรรค United Russia Party ของประธานาธิบดีปูติน ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 2011 เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาสมาพันธรัฐแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซีย ด้วยคะแนนเสียง 140 เสียง โดยงดออกเสียงหนึ่งครั้ง และไม่มีเสียงคัดค้าน โดยเป็นประธานที่ได้รับคะแนนจากการเลือกตั้งสูงสุดเป็นอันดับสามของประเทศ

Valentina Matviyenko ประธานสภาสมาพันธรัฐแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย
รับเครื่องอิสริยาภรณ์จากประธานาธิบดี Vladimir Putin แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

เนื่องจากบทบาทของเธอในการลงประชามติเกี่ยวกับสถานะของดินแดนไครเมีย Valentina จึงกลายเป็นหนึ่งในบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่ถูกคว่ำบาตรจากประธานาธิบดี Barak Obama แห่งสหรัฐอเมริกา มาตรการคว่ำบาตรอายัดทรัพย์สินของเธอในสหรัฐอเมริกา และห้ามไม่ให้เธอเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา 

ย้อนรอย 48 ปี วิกฤตการณ์ Mayaguez (มายาเกซ/มายาเกวซ) อันเป็นปัจฉิมบทของฐานทัพของสหรัฐฯ ในไทย และปฐมบทแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน

บอง บอง เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

เมื่อการเลือกตั้งในบ้านเราจบลง พรรคการเมืองที่มหาอำนาจชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา วาดหวังที่จะให้เป็นรัฐบาลก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่งและสอง ด้วยหมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับมามีบทบาทและอิทธิพลในภูมิภาคนี้ หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุน บอง บอง เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ จนได้เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และยินยอมเปิดรับการกลับเข้ามาฟิลิปปินส์ของสหรัฐฯ หลังจาก โรดรีโก โรอา ดูแตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์แสดงบทบาทท่าที่แข็งกร้าวกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตลอด 

สนามบินอู่ตะเภา

ด้วยจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯ ที่จะกลับมามีบทบาทและอิทธิพลในภูมิภาคนี้คือ การใช้ประเทศในภูมิภาคนี้เป็นพันธมิตรในการปิดล้อมจีน และสิ่งที่สหรัฐฯ หมายมั่นปั้นมือที่สุดในไทยคือ การกลับเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาอันเป็นสนามบินที่สหรัฐฯ สร้างเอาไว้ในยุคสงครามเย็น โดยเป็นฐานทัพอากาศที่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 ประจำการ และใช้เป็นฐานปฏิบัติการในการทิ้งระเบิดในเวียดนาม ลาว เพราะสนามบินอู่ตะเภามีความพร้อมในการรองรับกองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ที่ครอบคลุมทะเลจีนใต้ (มหาสมุทรแปซิฟิก) และทะเลอันดามัน (มหาสมุทรอินเดีย) ซึ่งจะทำให้ราชอาณาจักรไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน กลับมาอยู่ในวงของความขัดแย้งของสหรัฐฯ และจีนโดยตรง เช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะสงครามอินโดจีนหรือสงครามเวียดนาม อีกครั้งหนึ่ง


สำหรับวิกฤตการณ์ Mayaguez (มายาเกซ/มายาเกวซ) อันเป็นจุดจบของฐานทัพของสหรัฐฯ ในไทย และจุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ขณะที่เรือสินค้า SS Mayaguez บรรทุกอาหาร และเวชภัณฑ์เดินเรือในน่านน้ำสากลจากฮ่องกง ผ่านใกล้ชายฝั่งกัมพูชาเพื่อไปยังท่าเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้ถูกเรือติดอาวุธของรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) ยึดเรือ และจับลูกเรือ 39 คนเป็นตัวประกัน โดยอ้างเรือสินค้า SS Mayaguez ว่ารุกล้ำน่านน้ำกัมพูชา (ในเขตน่านน้ำซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งของประเทศกัมพูชาประมาณ 60 ไมล์) รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวและรวดเร็ว เพราะเห็นเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำสหรัฐฯ จะสามารถแสดงอำนาจและความเด็ดขาดให้ปรากฏแก่ชาวโลก เนื่องจากว่าเพียงแค่เดือนก่อนหน้านั้นทั้งกัมพูชาและเวียดนามใต้ได้พ่ายแพ้แก่กองกำลังคอมมิวนิสต์ ซึ่งสร้างความสั่นคลอนอย่างยิ่งแก่เกียรติภูมิและความภูมิใจแห่งชาติของชาวอเมริกัน


ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ เพื่อชิงเรือ SS Mayaguez คืนเกิดขึ้นโดยนาวิกโยธินอเมริกันจากเกาะโอกินาวาและอ่าวซูบิก ที่ถูกส่งมายังฐานทัพอเมริกันที่อู่ตะเภาในวันที่ 13 พฤษภาคม ได้บุกจู่โจมชิงเรือ SS Mayaguez และลูกเรือคืนในเช้ามืดวันที่ 14 พฤษภาคม โดยมีเครื่องบินรบจากฐานทัพอเมริกันที่อุดรธานีและโคราชออกปฏิบัติการร่วมด้วย และประสบความสำเร็จในเวลาประมาณ 11.00 น. การใช้ดินแดนไทยเพื่อปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย ซึ่งมิได้รับรู้ถึงปฏิบัติการครั้งนี้เลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แจ้งแก่อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยในวันที่ 13 พฤษภาคม แล้วว่า ไทยไม่ยินยอมให้ใช้ดินแดนไทยในทางการทหารใด ๆ เพื่อตอบโต้กัมพูชา แม้ว่า ก่อนการดำเนินภารกิจนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ได้แจ้งแผนการใช้กำลังต่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ที่สหรัฐฯ ติดต่อด้านการทหารเป็นประจำ พลเอกเกรียงศักดิ์ได้ให้อนุญาต โดยมิได้แจ้งแก่รัฐบาลไทย และรัฐบาลไทยซึ่งรับรู้สถานการณ์ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ดำเนินภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ก็ได้แถลงว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการละเมิดอธิปไตยไทย และได้ยื่นบันทึกประท้วงต่ออุปทูตสหรัฐฯ พร้อมทั้งระบุให้ถอนนาวิกโยธินออกทั้งหมดภายใน 24 ชั่วโมง



อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสะเทือนกว้างไกล กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้แสดงปฏิกิริยาประท้วงและประณามสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วและอย่างสอดคล้องกัน ซึ่งขัดแย้งกับบริบทการเมืองไทยขณะนั้น ที่มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรงในสังคม (ไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้) ดังที่บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ระบุว่า “ไม่มีครั้งใดในการเมืองไทยที่คนไทยทั้งชาติจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบต่อรัฐบาลสหรัฐฯรุนแรงเท่าครั้งนี้” การเคลื่อนไหวเริ่มขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านทุกพรรคได้เรียกร้องให้เปิดประชุมสภาวิสามัญ เพราะเห็นว่าเหตุการณ์เป็นภาวะคับขันและเกี่ยวข้องกับเอกราชและอธิปไตยของชาติ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับของไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนความสัมพันธ์ไทย – อเมริกัน เพื่อให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุดมาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จัดการชุมนุมประท้วงสหรัฐฯ ที่สนามหลวงและมีผู้เข้าร่วมหลายพันคน ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ส่งบันทึกประท้วงถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมทั้งเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ กลับ พร้อมทั้งประกาศที่จะทบทวนสัญญาและข้อผูกพันระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีทั้งหมด ส่วนการชุมนุมที่นำโดยศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขีดเส้นตายให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องขอโทษไทยภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ จากรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มายังหน้าสถานทูตสหรัฐฯ อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้เข้าร่วมด้วย เช่น นายธีรยุทธ บุญมี และ นายเสกสรร ประเสริฐกุล เป็นต้น

นพ.เหวง โตจิราการ หนึ่งแกนนำการประท้วงสหรัฐฯ ในขณะนั้น

ในวันที่สามของการชุมนุมประท้วงมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนถึงกว่าหนึ่งหมื่นคน สหภาพกรรมกร 61 แห่งได้ประกาศเข้าร่วมด้วย และขู่จะทำลายธุรกิจของบริษัทที่ชาวอเมริกันเป็นเจ้าของถ้าสหรัฐฯยังไม่ขอโทษไทย นอกจากนี้ ยังมีการชุมนุมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วย ผู้ชุมนุมที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯได้เผาหุ่นประธานาธิบดีฟอร์ดและ ดร.เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีความผิดตามคำพิพากษาของ “ศาลประชาชน” คือ “เป็นฆาตกรเลือดเย็น ฆ่าประชาชนหลายหมื่นคนในอินโดจีนและหลอกลวงประชาชนไทย”


นายธีรยุทธ บุญมี ได้ประกาศด้วยว่าหากประธานาธิบดีฟอร์ดไม่ขอโทษประชาชนไทยเองภายใน 24 ชั่วโมง ก็จะเผาธงชาติอเมริกันซึ่ง “เป็นการทำลายสัญลักษณ์ของจักรวรรดินิยมอเมริกา” การชุมนุมได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมกรูกันเข้าไปแกะตราสถานทูตฯซึ่งเป็นรูปนกอินทรีลงกระทืบและติดรูปอีแร้งแทน ป้ายชื่อสถานทูตถูกทับด้วยป้าย ‘ซ่องโจร’ และขณะที่เหตุการณ์กำลังชุลมุนนั้น ก็มีคนกลุ่มหนึ่งแต่งตัวเป็นชาวเวียดนามกระชากธงชาติอเมริกันลงมาปัสสาวะรดกลางที่ชุมนุม ซี่งในขณะเกิดเหตุการณ์ทั้งหมดนั้น กำลังตำรวจที่ดูแลบริเวณนั้นมิได้เข้าจัดการหรือขัดขวางใด ๆ

 



สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้นำรัฐบาลมาก และต้องการยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด ดังนั้น เมื่ออุปทูตสหรัฐฯ ขอพบเพื่อหารือสถานการณ์ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ขอให้ส่งสารขอโทษไทย ในเช้าวันต่อมาอุปทูตสหรัฐฯ ได้ยื่นบันทึกของอุปทูตต่อพลตรีชาติชาย ซึ่งมีใจความบางตอนว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าใจถึงปัญหาที่ได้สร้างให้แก่รัฐบาลไทย…และขอย้ำว่า มีความเสียใจในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ สหรัฐฯ ยังคงมีนโยบายที่จะเคารพต่ออธิปไตยและเอกราชของไทยเสมอ…และเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก” พลตรีชาติชายกล่าวในเวลาต่อมาว่า พอใจต่อบันทึกนี้ และคำขอโทษจากประธานาธิบดีฟอร์ดก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป และได้ส่งสำเนาบันทึกแก่ผู้นำการชุมนุมที่หน้าสถานทูต กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขอขมาแล้ว” และประกาศก่อนเลิกการชุมนุมว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ส่วนจุดสุดท้ายคือการขับไล่ฐานทัพอเมริกันทั้งหมดออกไป



ปฏิกิริยารุนแรงของนักศึกษาและสาธารณชน ต่อเหตุการณ์มายาเกวซเกิดขึ้นในบริบทการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่มีข้อเรียกร้องจากหลายกลุ่มให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระจากสหรัฐฯ กลุ่มเหล่านี้ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองพลเรือนและนักศึกษา มีทัศนะว่า นโยบายต่างประเทศที่ผูกพันกับสหรัฐฯ อย่างแน่นแฟ้นนั้นถูกกำหนดโดยผู้นำทหารซึ่งมีผลประโยชน์สอดคล้องกับสหรัฐฯ และเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ มากกว่า โดยเฉพาะฐานทัพและทหารอเมริกันในประเทศไทยก็คือ สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันที่ต้องให้หมดไปโดยเร็ว อีกทั้งทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตยและไร้เกียรติภูมิประเทศ นักวิชาการ เช่น ดร.เขียน ธีระวิทย์ กล่าวใน พ.ศ. 2518 ว่า หากฐานทัพอเมริกันยังอยู่ต่อไป “จะสร้างความแตกแยกให้คนในชาติมากขึ้น อาจเกิดการตั้งขบวนการสังหารชาวอเมริกันและทหารอเมริกันในไทย เพราะคนไทยทุกวันนี้มีความเกลียดชังทหารอเมริกัน” ส่วนนักศึกษาฝ่ายซ้ายกลุ่มหนึ่งในเวลานั้นก็ได้ผลิตงานเขียนหรือกล่าวเสมอในที่สาธารณะว่า สหรัฐฯ เป็น ‘จักรวรรดินิยม’ ที่เอาเปรียบประเทศเล็กทั่วไปรวมทั้งไทยด้วย การชุมนุมของนักศึกษาครั้งนี้ดูเหมือนประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลได้ตอบโต้สหรัฐฯ อย่างแข็งกร้าว อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ของรัฐบาลยังเป็นเพราะสาเหตุอื่นด้วย กล่าวคือ ผู้นำพลเรือนกลุ่มหนึ่งก็มีทัศนะว่าจะต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ไทย – อเมริกันที่มีลักษณะ ‘ลูกพี่ – ลูกน้อง’ และเน้นด้านการทหารให้มีลักษณะที่สมดุลมากขึ้น เหตุการณ์ ‘เรือ SS Mayaguez’ จึงเป็นโอกาสที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองแก่สหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีนที่รัฐบาลกำลังพยายามสร้างไมตรีด้วย นอกจากนี้ ก็เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะมีบทบาทในเรื่องความมั่นคงที่ก่อนหน้านั้น ถือเป็นเรื่องของฝ่ายทหารที่รัฐบาลพลเรือนช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม แทบไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ



อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ก็ทำให้รัฐบาลไทยอยู่ในฐานะลำบากเพราะฝ่ายทหารยังคงมีอำนาจในการเมืองไทย และต้องการความช่วยเหลือด้านการทหารจากสหรัฐฯ ต่อไป ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังคงเป็นมหาอำนาจที่ผู้นำไทยทุกกลุ่มให้ความสำคัญมากที่สุด และหากจำเป็นก็ยังคงหวังพึ่งพามากที่สุดด้วย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงต้องยุติเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างรวดเร็วโดยการยอมรับ ‘สารแสดงความเสียใจ’ จากอุปทูตอเมริกันประจำประเทศไทยที่มิใช่ ‘คำขอโทษ’ จากรัฐบาลอเมริกัน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี จึงนำคณะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรก โดยมีโอกาสพบกับผู้นำของจีน ทั้งประธานเหมา เจ๋อตง นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล และ รองนายกรัฐมนตรี เติ้ง เสี่ยวผิง รวมทั้งได้มีพิธีลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน



ในปี พ.ศ. 2518-2519 คนรุ่นใหม่สมัยนั้นเป็นคนไล่ฐานทัพอเมริกันออกไป แต่พอ พ.ศ. 2566 คนรุ่นใหม่สมัยนี้กลับมาสนับสนุนพรรคการเมือง ที่มีแนวโน้มจะให้ฐานทัพอเมริกันกลับมาในประเทศไทยอีก

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ
 

‘ROTC’ หลักสูตรกองกำลังทหารสำรองแห่งกองทัพสหรัฐฯ เส้นทางสู่การติดยศนายทหาร เพื่อเป็นองครักษ์พิทักษ์ชาติ

Reserve Officers' Training Corps : ROTC 
กองกำลังการฝึกนายทหารสำรองแห่งกองทัพสหรัฐฯ


เดิมทีสหรัฐอเมริกาก็มีการเกณฑ์ทหาร และได้ยกเลิกไปนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ภายหลังทหารถอนตัวจากสงครามเวียดนาม ปัจจุบันกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯ มาโดยความสมัครใจทั้งหมด แน่นอนที่สุดคือ การรับสมัครบุคคลเพื่อเป็นทหารโดยสมัครใจ จะต้องเพิ่มงบประมาณด้านกำลังพลอย่างมากมาย เพื่อจูงใจให้มีคนมาสมัครเป็นทหาร สำหรับ Reserve Officers’ Training Corps หรือ ‘ROTC’ แปลเป็นไทยคือ ‘กองกำลังการฝึกนายทหารสำรองแห่งกองทัพสหรัฐฯ’ ROTC เป็นระบบการรับสมัครนายทหารชั้นสัญญาบัตรอีกรูปแบบหนึ่ง ROTC เป็นกลุ่มของโปรแกรมการฝึกอบรมผู้ที่จบจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย เพื่อฝึกอบรมเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรของกองทัพสหรัฐฯ


หลาย ๆ คนเข้าใจว่า ROTC เป็นนักศึกษาวิชาทหารที่เรียนรักษาดินแดน (รด.) แบบบ้านเรา แต่ไม่ใช่ครับ แนวคิดของ ROTC ในสหรัฐอเมริกาถูกจัดทำขึ้นโดย Alden Partridge ผู้เป็นนักเขียน สมาชิกสภามลรัฐ Vermont นักกฎหมาย นักสำรวจจัดทำแผนที่ และผู้บัญชาการโรงเรียนนายทหารสหรัฐฯ แห่งแรกที่ West Point มลรัฐ New York เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเน้นการฝึกด้วยออกกำลังกาย ตลอดจนเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดของทหารประชาชน (Citizen Soldier) และจัดตั้งสถาบันการศึกษาทางทหารของเอกชนทั่วประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัย Norwich

ROTC เริ่มจาก รัฐบัญญัติ Morrill ปี ค.ศ.1862 กำหนดให้วุฒิสภาและผู้แทนราษฎรแต่ละคน มอบที่ดินของรัฐบาลกลางจำนวน 30,000 เอเคอร์ เพื่อเป็นที่ดินสำหรับการเกษตรกรรมและสร้างสถาบันการศึกษา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถือกันว่า เป็นกฎหมายที่วางรากฐานด้านการศึกษาขั้นสูงให้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการให้ที่ดินเพื่อจัดตั้งวิทยาลัย ซึ่งข้อกำหนดส่วนหนึ่งของรัฐบาลสำหรับโรงเรียนเหล่านี้คือ ต้องมีหลักสูตรทางการทหารเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรประจำด้วย ซึ่งต่อมากลายเป็นที่รู้จักในฐานะ ROTC 

มหาวิทยาลัยที่ ROTC เริ่มตั้งขึ้นคือ Norwich University ใน Northfield มลรัฐ Vermont ก่อตั้งขึ้นในปี 1819 โดยอดีตอาจารย์ผู้สอนในวิทยาลัยการทหาร West Point ร้อยเอก Alden ผู้เป็นเจ้าของแนวความคิดของ ‘ทหารพลเมือง’ โดยชายแต่ละคนจะได้รับการฝึกฝนให้ทำหน้าที่ในฐานะทหารเมื่อชาติต้องการ แต่สามารถปฏิบัติหน้าที่เช่นพลเรือนทั่วไปในยามสงบ ซึ่งในที่สุดความคิดนี้ก็นำไปสู่การจัดตั้งกองหนุนของแต่ละเหล่าทัพ (Reserve Force) และกองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) ด้วยการฝึกอบรมในที่ตั้งของกองกำลังพิทักษ์ชาติในท้องถิ่นนั้น


กำเนิดอีกทางหนึ่งของ ROTC สมัยใหม่ มาจาก ‘Plattsburg Idea’ ในปี ค.ศ.1915 พลตรี Leonard Wood ได้จัดตั้งหน่วยฝึกทหารพลเมือง ซึ่งการฝึกตอนแรกจะแยกความเป็นทหารออกจากการเป็นพลเรือนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีความพยายามในการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม และมีการบรรจุนายทหารที่มีทักษะทางทหาร หลังจากการฝึกทหารในช่วงฤดูร้อน ชายอเมริกันกว่า 5,000 นาย มาถึงเมือง Plattsburgh ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1917 เพื่อเป็นกองทหารอาสากลุ่มแรก ปลายปี ค.ศ.1917 มีชายอเมริกันมากกว่า 17,000 นาย ได้รับการฝึกช่วงก่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สหรัฐอเมริกามีกองกำลังเตรียมพร้อม รวมถึงหนึ่งในผู้ที่สำเร็จการศึกษาจาก Plattsburgh รุ่นแรกสุดคือ Theodore Roosevelt Jr. (บุตรชายคนโตของ Theodore Roosevelt ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐฯ)


กระทั่งทศวรรษ 1960 มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ หลายแห่งจำเป็นต้องใช้ ROTC ภาคบังคับสำหรับนักศึกษาชายทุกคน อย่างไรก็ตาม จากการประท้วงต่อต้านบทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม ROTC ภาคบังคับจึงถูกยกเลิกไป คงไว้แต่โปรแกรมอาสาสมัคร ในบางแห่ง ROTC ถูกยกเลิกจากมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง

ศตวรรษที่ 21 การถกในรัฐสภาอเมริกันเน้นไปยัง ‘กฎหมายไม่ถามไม่บอก (Don't Ask, Don't Tell)’ ซึ่งลงนามในกฎหมายโดยประธานาธิบดี Bill Clinton ในปี ค.ศ.1993 และบังคับใช้จนถึงปี ค.ศ.2011 ซึ่งห้ามพวกรักร่วมเพศเข้าร่วมในกองทัพสหรัฐฯ จากการเปิดเผยถึงรสนิยมทางเพศ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกปลดประจำการ วิทยาลัยบางแห่งเชื่อว่า คำสั่งทางกฎหมายนี้จะกำหนดให้พวกเขายกเว้นหรือแก้ไขนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความพยายามร่วมกันกำลังทำอยู่ที่มหาวิทยาลัยไอวี่ลีกที่เคยยกเลิก ROTC (รวมทั้ง ม.Columbia) เพื่อให้ ROTC กลับคืนสู่มหาวิทยาลัย โปรแกรม Harvard ROTC ได้รับการดำเนินการใหม่ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.2011 หลังจากมีการยกเลิกกฎหมาย Don't Ask, Don't Tell ปี ค.ศ. 2010

ภายใต้กฎหมายปัจจุบันมีโปรแกรม ROTC 3 ประเภท ซึ่งแต่ละโปรแกรมมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ได้แก่


- โปรแกรมแรก คือ โปรแกรมที่วิทยาลัยการทหารระดับสูง (Senior Military Colleges : SMCs) 6 แห่งหรือที่เรียกว่า วิทยาลัยการทหาร ได้แก่ (1) Norwich University, Northfield, Vermont (2) Texas A&M University, College Station, Texas (3) The Citadel, The Military College of South Carolina, also known as The Citadel, in Charleston, South Carolina (4) Virginia Military Institute, in Lexington, Virginia (5) Virginia Tech, in Blacksburg, Virginia และ University of North Georgia, Dahlonega, Georgia สถาบันเหล่านี้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี (อย่างน้อยที่สุด) และจัดให้นักเรียนทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นนักเรียนนายทหารภายใต้ระเบียบวินัยทางทหาร ผู้ที่เข้าร่วมในโปรแกรมนักเรียนต้องเข้าร่วมการศึกษา ROTC อย่างน้อย 2 ปี


- โปรแกรมที่ 2 คือ ‘วิทยาลัย/มหาวิทยาลัยพลเรือน’ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทัพบก วิทยาลัย/มหาวิทยาลัยเหล่านี้ เป็นวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีหรือสูงกว่าปริญญาตรี และไม่ได้สอนหลักสูตรทางทหาร


- ประเภทที่ 3 คือ หลักสูตรที่วิทยาลัยทหารชั้นผู้น้อย (Programs at military Junior Colleges (MJC)) เหล่านี้ เป็นโรงเรียนทหารที่ให้การศึกษาระดับมัธยมศึกษา/อนุปริญญา (โดยทั่วไปคือ AS หรือ AA) โรงเรียนเหล่านี้ไม่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี แต่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดอื่น ๆ ของวิทยาลัยการทหาร (หากเข้าร่วมในโครงการอบรม Early Commissioning Program : ECP ก่อน) และนักเรียนนายทหารจะต้องผ่านมาตรฐานทางทหารเช่นเดียวกับโรงเรียนอื่น ๆ (หากลงทะเบียนใน ECP) ตามที่คำสั่งระบุไว้ว่า นักเรียนนายทหารจะเข้าเป็นนายทหารยศร้อยตรีในกองทัพบก/กองกำลังพิทักษ์ชาติเมื่อเรียนจบ เมื่อทำสัญญาแล้ว ร้อยตรีเหล่านี้จะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันอื่น (ตามที่นายทหารแต่ละคนได้เลือก) ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยของตน เมื่อได้รับปริญญาตรี ร้อยตรี (ECP) สามารถรับการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องในยศร้อยโท มีเพียงกองทัพเท่านั้นที่เสนอโปรแกรมการบรรจุล่วงหน้า ในช่วงสงคราม MJC มีบทบาทสำคัญในการสร้างนายทหารให้กับกองทัพบก ในช่วงสงครามเวียดนาม ความต้องการนายทหารสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ไม่ได้มีผลบังคับใช้ ดังนั้น เมื่อมีบรรจุนายทหารก็สามารถตรงไปทำหน้าที่ในตำแหน่งที่รับผิดชอบได้เลย


เมื่อเข้าร่วมในโครงการ ROTC ที่เลือกได้จากมหาวิทยาลัยมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ มี เหตุผลหลัก 2 ประการที่ทำให้ ROTC เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ คือ (1) มีโอกาสได้รับทุนการศึกษาและ (2) ผู้สำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เข้าร่วมกองทัพในตำแหน่งนายทหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับยศ ‘ร้อยตรี’ มีโปรแกรมแยกต่างหาก สำหรับกองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ และหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน สำหรับ Coast Guard ไม่มีโปรแกรม ROTC นักศึกษา ROTC จะได้รับผลประโยชน์ทางการเงิน โดยมีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนใน ROTC หากได้รับการคัดเลือก สามารถได้รับการสนับสนุนทางการเงินไม่เกิน 4 ปีสำหรับ ค่าเล่าเรียน, ห้องพัก, ค่าอาหาร และค่าหนังสือ มีทุนการศึกษามากมายผ่านทางการฝึกทหาร แต่ ROTC ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะได้รับการศึกษาผ่านทางการทหาร หากเคยทำหน้าที่ในกองทัพแล้ว คุณสามารถเรียนต่อระดับวิทยาลัยในฐานะทหารผ่านศึกได้


ประเภทของ ROTC : กองทัพบก ด้วยวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกว่า 1,100 แห่ง ที่ร่วมโปรแกรม ROTC กองทัพบก มีสาขาวิชาและวิทยาเขตที่หลากหลายเป็นตัวเลือก ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายให้เป็นร้อยตรี จากเว็บไซต์กองทัพบกสหรัฐฯ จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลา 8 ปี หากได้รับทุนการศึกษา หากไม่ได้รับทุนการศึกษาจะต้องเป็นนายทหารกำลังสำรองที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 5 ปีหรือ 3 ปี


กองทัพเรือ จากเว็บ NROTC ของกองทัพเรือสหรัฐฯ มีสถาบันการศึกษา 75 แห่งทั่วประเทศที่เป็นหน่วยร่วม NROTC มี 3 เส้นทางอาชีพ พยาบาลทหาร และเรือตรีสังกัดกองทัพเรือ ร้อยตรีสังกัดนาวิกโยธิน กองทัพเรือ และหน่วยบัญชานาวิกโยธินต้องใช้ทุน 8 ปีหลังจากสำเร็จการศึกษาจากการเรียนตามโครงการ ROTC วิทยาลัย/มหาวิทยาลัย 4่ ปี


กองทัพอากาศ จากเว็บ AFROTC วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกว่า 1,100 แห่งร่วมโครงการ ROTC กองทัพอากาศ หลังจากจบการศึกษาแล้วผู้เข้ารับการฝึกจะได้รับยศเป็น เรืออากาศตรี ส่วนใหญ่ต้องทำหน้าที่เพื่อใช้ทุน เป็นเวลา 4 ปีในกองทัพอากาศสหรัฐฯ บางสาขาต้องการความมุ่งมั่นที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นนักบินจะต้องทำหน้าที่ใช้ทุนเป็นเวลา 10 ปี


ทางเลือกในอาชีพ คุณสมบัติสำหรับนักศึกษา ROTC ผู้สมัครจะต้องเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา มีส่วนสูงและน้ำหนักตามมาตรฐานเฉพาะเจาะจง และอยู่ในช่วงอายุตามที่กำหนด การเข้าร่วมโครงการ ROTC ของวิทยาลัยตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกของวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย ถือเป็นเส้นทางที่จะก้าวไปสู่การเป็นนายทหารที่บรรจุแต่งตั้งในกองทัพสหรัฐฯ ตามเหล่าทัพที่เลือกสมัคร มีโอกาสในการทำงานในสาขาต่าง ๆ หลังจากสำเร็จการศึกษาหลังจากที่ภาระหน้าที่ทางทหารเสร็จสิ้นแล้ว สามารถเลือกที่จะเป็นนายทหารต่อ หรือเปลี่ยนอาชีพไปอยู่ในภาคเอกชนพลเรือน


อาจสรุปได้ว่า นายทหารหลักของกองทัพสหรัฐฯ มาจากโรงเรียนนายทหารของเหล่าทัพต่าง ๆ และจากโปรแกรม ROTC จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งโปรแกรม ROTC สามารถผลิตนายทหารเป็นกำลังสำรองให้เหล่าทัพต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อไล่เรียงดูนายทหารยศพลเอก (4 ดาว) ของกองทัพบกสหรัฐฯ ปรากฏว่า มาจากโครงการ ROTC ที่รู้จักมากที่สุดท่านหนึ่ง คือ พลเอก Colin Powell อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ อดีตประธานคณะเสนาธิการร่วม กองทัพสหรัฐฯ เป็นผู้จบปริญญาตรี ด้านธรณีวิทยา จาก City College of New York (CCNY) ก็เป็นนายทหารตามโครงการ ROTC 

สำหรับบ้านเราหากเรียนรักษาดินแดน 3 ปี ได้ยศเป็นสิบเอก แล้วจะได้รับการปลดเป็นทหารกองหนุนไม่ต้องเกณฑ์ทหาร หากเรียน 5 ปี ได้รับยศว่าที่ร้อยตรี แล้วปลดเป็นทหารกองหนุนเช่นกัน สิทธิพิเศษไม่มี ยกเว้นศูนย์การบินทหารบกจะรับสมัครศิษย์การบินจากนายทหารชั้นสัญญาบัตร สังกัดกองทัพบก และผู้ที่จบทั้งปริญญาตรี และ รด.ปี 5 ปัจจุบันการรับสมัครนายทหารจากพลเรือนของกองทัพไทย แยกสมัครตามแต่ความต้องการตามความรู้ความสามารถตามที่เหล่าทัพต่าง ๆ โดยไม่มีการนำผลการเรียนวิชาทหารมาพิจารณาแต่อย่างใด หากเหล่าทัพต่าง ๆ รับสมัครนายทหารจากบุคคลพลเรือนทั่วไป โดยนำผลการเรียนวิชาทหารมาพิจารณา น่าจะทำให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา สนใจเรียนวิชาทหารมากขึ้น และจะเรียนต่อจนจบชั้นปีที่ 5 มากขึ้น จะได้บุคลากรที่มีพื้นฐานทางทหาร มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นทหารมากขึ้น และเหล่าทัพต่าง ๆ ก็จะได้นายทหารจากพลเรือนที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top