มิติพิศวง!! เที่ยวบิน ‘AVIACO 502’ วาร์ปไปไหน 24 นาที ก่อนกลับมาโผล่ ณ จุดเดิม
เครื่องบินโดยสารไอพ่นแบบ Caravelle 10-R แบบเดียวกับเที่ยวบิน AVIACO 502
เที่ยวบิน AVIACO 502 เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่สุดที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การบินของสเปน AVIACO เป็นสายการบินท้องถิ่นของสเปนที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงมาดริด โดยอยู่ในเครือของ IBERIA สายการบินแห่งชาติของสเปน ก่อตั้งเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 1948 และยุติการดำเนินงานเมื่อ 1 กันยายน 1999
ปกติแล้ว เราท่านต่างทราบกันดีว่า เหตุการณ์ทำนองนี้ ที่ส่งผลให้อากาศยานและเรือสูญหายมักเกิดขึ้นในบริเวณสามเหลี่ยม Bermuda พื้นที่สมมติทางตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งมีการอ้างว่าอากาศยานและเรือผิวน้ำจำนวนหนึ่งหายสาบสูญไปโดยหาสาเหตุมิได้ในบริเวณดังกล่าว โดยมักอ้างเหตุผลในการหายสาบสูญว่าเป็นเรื่องของปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติหรือฐานทัพของสิ่งมีชีวิตนอกโลกในพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับกรณีของเที่ยวบิน AVIACO 502 นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนน่านฟ้าของทวีปยุโรป ในวันที่ 31 มกราคม 1978 ผู้โดยสารของเที่ยวบิน 502 ของสายการบิน Aviaco จะเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารไอพ่นแบบ Caravelle 10R จากสนามบิน Manises เมืองบาเลนเซียในแคว้นบาเลนเซียไปยังสนามบิน Sondika ในเมืองบิลเบา แคว้นบาสก์ ซึ่งเป็นเมืองทางตอนเหนือของสเปน ขั้นตอนการขึ้นเครื่อง การโหลดสัมภาระ และการบินขึ้นดำเนินไปโดยไม่มีปัญหาใด ๆ
ในขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่เหนือท้องฟ้าของเมืองยูสกาดี และใกล้ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว กัปตัน Carlos García Bermúdez ได้สังเกตเห็นเมฆดำปกคลุมอยู่เหนือพื้นดินห่างออกไปราว 1 กิโลเมตร จึงตัดสินใจที่จะรักษาระดับความสูงไว้ที่ 12,000 ฟุต และยังไม่ลงจอด ทั้งนี้เนื่องจากหอบังคับการบิน Sondika แจ้งว่า สนามบินกำลังดำเนินการภายใต้สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย จึงไม่อนุญาตให้ AVIACO 502 ลงจอด
เมฆ ‘Lenticular’
โดยหอบังคับการบิน Sondika ได้แจ้งให้ AVIACO 502 เปลี่ยนเส้นทางไปยังสนามบิน Santander ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 กม. เนื่องจากสภาพอากาศที่สนามบินแห่งนั้นยังเปิดและสามารถลงจอดได้ กัปตัน Bermúdez ปฏิบัติตามคำสั่งและกำหนดเส้นทางไปยังสนามบิน Santander ซึ่งการบินจะใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 15 นาที ทุกอย่างเรียบร้อยดี ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน จนกระทั่งนักบินสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติบางอย่างที่ปรากฏขึ้นอย่างกะทันหันต่อหน้าเครื่องบิน เนื่องจากพวกเขามองไม่เห็น จึงบินโดยใช้ IFR ในกลุ่มเมฆ โดยบินภายใต้กฎการบินด้วยเครื่องมืออย่างเคร่งครัด
บริเวณที่มีแนวเทือกเขา กระแสอากาศที่ไหลมาปะทะแนวเทือกเขานี้จะถูกบังคับให้ยกตัวสูงขึ้น แต่เมื่อผ่านแนวเทือกเขาไปแล้ว กระแสอากาศก็จะไหลกระเพื่อมเป็นคลื่น
นักบินสังเกตเห็นว่าชั้นเมฆหนาแน่นขนาดใหญ่ก่อตัวขึ้นรอบ ๆ เครื่องบิน ชั้นเมฆดังกล่าวมีลักษณะที่เรียกว่า ‘เมฆจานบิน (Lenticular) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับสภาวะปั่นป่วนของอากาศ เมฆก้อนนี้หนาแน่นและสว่างมากจนทำให้กัปตันและนักบินที่สองต้องใส่แว่นกันแดดเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ตามปกติ พวกเขาบินไต่ระดับ 33,000 ฟุตเพื่อข้ามชั้นเมฆหนาดังกล่าว เมื่อบินห่างออกจากสนามบิน Sondika ราว 22 ไมล์ทะเล ภายในไม่กี่วินาที อุปกรณ์การบินและเครื่องมือสื่อสารของเครื่องบินก็ขัดข้อง ความถี่ทั้งหมดที่ใช้ติดต่อกับพื้นดินสูญหายไปโดยสิ้นเชิง และความพยายามของนักบินในการติดต่อกับหอบังคับการบินอีกครั้งก็ไร้ผล ขอบฟ้าเทียมของเครื่องบินซึ่งเป็นเครื่องมือที่นักบินใช้ดูว่าเครื่องบินกำลังบินตรงและอยู่ในระดับใด แสดงให้เห็นว่าเครื่องบินกำลังบินคว่ำหรือกลับหัว และทิศทางการบินนั้นตรงกันข้ามกับเส้นทางที่ควรบินไปยังสนามบิน Santander โดยสิ้นเชิง เพราะบินมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวได้ระบุอย่างถูกต้องก่อนที่เครื่องบินจะเข้าสู่กลุ่มเมฆ
ในขณะเดียวกัน นักบินก็ยืนยันว่าเครื่องบินไม่ได้บินไปข้างหน้า เนื่องจากมาตรวัดระยะทางทะเลของเครื่องบินระบุว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งผ่านไปแล้วระหว่าง 6 ถึง 7 นาที เครื่องบินไม่ได้บินไปข้างหน้า เนื่องจากมาตรวัดได้ระบุตำแหน่งของเครื่องบินในตำแหน่งเดียวกับที่เครื่องบินบินผ่านกลุ่มเมฆ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ดูเหมือนว่าแทนที่จะบินไปข้างหน้า แต่กลับบินถอยหลัง เครื่องมืออื่น ๆ เช่น เข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์หรือเข็มทิศแบบดั้งเดิม มีอาการผิดปกติโดยสิ้นเชิง เนื่องจากหมุนไม่หยุดเป็นเวลา 7 นาที ทั้งยังหนุนถอยหลัง ราวกับว่าเครื่องบินเริ่มบินถอยหลัง
สถานการณ์นี้ถือเป็นวิกฤตสำหรับกัปตันเบอร์มูเดซ ผู้มีชั่วโมงบินมากกว่า 11,500 ชั่วโมง และตลอดอาชีพการงานของเขาไม่เคยพบประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน เขาสิ้นหวังเมื่อเห็นว่าเครื่องบินหายไปโดยสิ้นเชิง โดยไม่รู้ว่าทิศทางหรือตำแหน่งอยู่ตรงไหน และที่เลวร้ายที่สุดคือ ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงเกิดขึ้น ในที่สุดเครื่องบินก็ออกจากกลุ่มเมฆ และทุกอย่างก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง และอุปกรณ์การบินต่าง ๆ ก็เริ่มทำงานเป็นปกติ ทุกอย่างยกเว้นตัวบ่งชี้ระยะทางการบิน ซึ่งน่าแปลกที่ระยะทางที่เดินทางยังคงเท่าเดิมกับตอนที่เข้าสู่กลุ่มเมฆ ตามตัวบ่งชี้ ในช่วงเวลาประมาณ 7 นาทีนั้น เครื่องบินไม่ได้เคลื่อนที่เลย ราวกับลอยนิ่งอยู่ในอากาศโดยไม่เคลื่อนที่เลยแม้แต่เมตรเดียว
เครื่องบินโดยสารไอพ่นแบบ Caravelle 10-R แบบเดียวกับเที่ยวบิน AVIACO 502
ติดคำว่า IBERIA ซึ่งเป็นบริษัทแม่ไว้บนเครื่องยนต์
AVIACO 502 ก็ลงจอดที่สนามบิน Santander ในเวลาต่อมาโดยไม่มีปัญหาใด ๆ และเมื่อลงจอดบนพื้นดินแล้ว กัปตันก็รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเที่ยวบินอย่างเป็นทางการ แต่ความประหลาดใจไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการบินของเครื่องบินกับหอควบคุม เจ้าหน้าที่ประจำหอควบคุมการบิน Santander และนักบินต่างก็ตกตะลึงเมื่อพบว่าหอควบคุมการบิน Santander สูญเสียการติดต่อกับเครื่องบินเป็นเวลา 24 นาที ไม่ใช่ 7 นาที ตามที่นาฬิกาบนเครื่องบินบันทึกไว้ ทุกคนบนเที่ยวบิน AVIACO 502 สูญเสียเวลาไป 17 นาทีอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ จนทุกวันนี้เอกสารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ยังคงไม่ได้ปิด แต่ยังคงไม่มีข้อสรุป แม้จะมีการสืบสวนสอบสวนทางเทคนิคหลายครั้งหลายหน และขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั่วโลกมากมายแล้วก็ตาม
เรื่อง : ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล