กรณีศึกษา 'สิงคโปร์' ประเทศที่ทายาททางการเมืองต้องมีคุณสมบัติสุดยอด ผ่านการ 'คัดเลือก-ฝึกฝน-บ่มเพาะ-ขัดเกลา-พิสูจน์ตน' จนไร้ข้อกังขา
เรื่องราวของการสืบทอดอำนาจเกิดขึ้นมานานนับพันปีแล้ว ตั้งแต่มีการกำเนิดก่อเกิดของรัฐชาติ (Nation State) ต่าง ๆ บนโลกใบนี้ เหล่าบรรดาผู้ปกครองในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างก็มีการกำหนด วางตัว ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการสืบทอดอำนาจต่อ ซึ่งมักจะเป็นลูกหลาน พี่น้อง วงศ์วานว่านเครือ หรือผู้ที่สนิทสนมใกล้ชิด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว ผู้ปกครองที่ฉลาด มีความสามารถ และมีคุณธรรม จะพิจารณาถึง ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมของทายาทผู้ที่จะสืบทอดก่อนเป็นเรื่อง แรก ๆ ส่วนเหตุผลอื่น ๆ เป็นเรื่องรองลงไป
ด้วยเพราะการดำรงคงอยู่รอดต่อไปได้ของรัฐชาตินั้น ๆ ผู้ปกครองต้องมี ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปกครองนำพาบ้านเมืองให้สามารถดำรงคงอยู่และมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้
'สิงคโปร์' ประเทศเกาะเล็ก ๆ ซึ่งถือกำเนิดเกิดขึ้นไม่ถึง 60 ปี แต่ความเจริญกลับก้าวข้ามมาเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค ASEAN และเป็น 1 ใน 5 อันดับของประเทศที่เจริญที่สุดในทวีปเอเชีย และเป็นประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกในการจัดอันดับอีกมากมายหลายประเภท ทั้ง ๆ ที่ทรัพยากรที่มากที่สุดของประเทศเกาะแห่งนี้คือ ‘ประชาชนพลเมืองชาวสิงคโปร์’ ราว 3,600,000 คนเท่านั้น
ทั้งนี้ การที่จะขับเคลื่อนผลักดันประเทศเล็ก ๆ อย่างสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งแยกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียเมื่อปี ค.ศ. 1959 และประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1965 จนกลายเป็นประเทศที่มีความทันสมัยก้าวหน้าจนติดอันดับโลกได้นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวต้องมีวิสัยทัศน์ที่เยี่ยมยอด กอปรด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมากล้น มีอุดมการณ์เสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างไม่สามารถหาที่เปรียบได้ และเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพเป็นเลิศ
เริ่มที่ ‘Lee Kuan Yew’ (ลี กวนยู) อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกและรัฐบุรุษของสิงคโปร์ ผู้ที่ทำหน้าที่ ฟูมฟัก ก่อร่าง สร้างประเทศนี้ และดูแลจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต เป็นตัวอย่างที่ยากยิ่งที่จะหานักการเมืองคนอื่นใดในโลกมาเทียบเคียงได้ในทุก ๆ ด้าน ที่สำคัญคือ ยอมและกล้าที่จะก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นมายาวนานถึง 31 ปี (ตั้งแต่สิงคโปร์แยกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย) ด้วยวัย 67 ปีเท่านั้น และส่งมอบตำแหน่งต่อให้กับ ‘Goh Chok Tong’ (โก๊ะ จ๊กตง) อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2
ผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์คนต่อมา อย่าง ‘Goh Chok Tong’ (โก๊ะ จ๊กตง) สำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ ปริญญาโทด้านการพัฒนาเศรษฐกิจจากวิทยาลัย Williams มลรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายแผนงานและโครงการของ Neptune Orient Lines Limited (NOL) บริษัท Container shipping สัญชาติสิงคโปร์ ก่อนที่จะเข้าสู่แวดวงการเมืองโดยเป็นสมาชิกรัฐสภา เขต Marine Parade ในปี ค.ศ. 1978 และอีก 3 ปีต่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี ก่อนเข้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวัย 49 ปี ต่อจาก ‘Lee’ ในปี ค.ศ. 1990
ต่อมาสำหรับ ‘Lee Hsien Loong’ (ลี เซียนลุง) ผู้เป็นบุตรชายของ ‘Lee Kuan Yew’ ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากบิดาตัวจริง ก็ได้ผ่านการ ฝึกฝน บ่มเพาะ ขัดเกลา และพิสูจน์ตัวเอง มาอย่างยาวนาน โดย ‘Lee’ ผู้ลูก สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาคณิตศาสตร์จากวิทยาลัย Trinity มหาวิทยาลัย Cambridge สหราชอาณาจักร โดยทุนของคณะกรรมาธิการภาครัฐ (Public Service Commission) ประกาศนียบัตรชั้นสูง (เทียบเท่าปริญญาโท) สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน
Denis Marrian อาจารย์ผู้สอนของ ลี เซียนลุง อธิบายว่า 'Lee' เป็น 'นักคณิตศาสตร์ที่ฉลาดที่สุดที่เคยมีในวิทยาลัย' และ Béla Bollobás อาจารย์ผู้สอนของเขาอีกคน กล่าวว่า “Lee คงจะเป็นนักคณิตศาสตร์วิจัยระดับโลก แต่พ่อของเขาไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ และให้ Lee กลับสิงคโปร์เพื่อเป็นนายทหารของกองทัพสิงคโปร์”
‘Lee’ ผู้ลูกเข้าเป็นทหารในปี ค.ศ. 1971 ก่อนที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตรระหว่างปี ค.ศ. 1974-1984 เขารับตำแหน่งต่าง ๆ ในกองทัพมากมาย รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการในปฏิบัติการช่วยเหลือในเหตุภัยพิบัติรถกระเช้า Sentosa เมื่อ 29 มกราคม ค.ศ. 1983 ซึ่งเป็นปีที่เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลจัตวา (เทียบเท่ากับพันเอกพิเศษ) ก่อนลาออกจากกองทัพเพื่อเข้าสู่วงการเมืองในปี ค.ศ. 1984
สำหรับ ‘Lee Hsien Loong’ เป็นสมาชิกรัฐสภาสมัยแรกในเขต Teck Ghee ในปี ค.ศ. 1986 เขาได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ. 1987 เขาได้เข้าเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีเต็มรูปแบบในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ ‘Goh Chok Tong’ ในปี ค.ศ. 1990 แล้วรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของสาธารณรัฐสิงคโปร์เมื่อ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2004 และก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นมา 19 ปีเศษในวัย 72 ปี แล้วส่งมอบตำแหน่งต่อให้กับ ‘Lawrence Wong’ นายกรัฐมนตรีคนที่สี่ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ วัย 52 ปี เมื่อ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2024
ต่อกันที่ นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ‘Lawrence Wong’ (ลอว์เรนซ์ หว่อง) สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Wisconsin วิทยาเขต Madison สหรัฐอเมริกา โดยทุนของคณะกรรมาธิการภาครัฐ (Public Service Commission) เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี ‘Lee Hsien Loong’ ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัย Michigan มลรัฐ Michigan สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard University มลรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา
‘Lawrence Wong’ เริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยเข้าทำงานในกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ย้ายมาอยู่กระทรวงการคลัง เป็นเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี ‘Lee Hsien Loong’ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2005 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 เขาดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสำนักงานตลาดพลังงาน และขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2009 และลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2011 เพื่อเข้าสู่วงการเมือง
ในปี ค.ศ. 2011 ‘Wong’ เป็นสมาชิกรัฐสภาสมัยแรกในเขต West Coast และรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปีเดียวกัน ต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชน พร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศ
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2015 ‘Wong’ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาประเทศ พร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2020 ‘Wong’ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ 14 เมษายน ค.ศ. 2022 เขาเข้ารับตำแหน่งแทนรองนายกรัฐมนตรี ‘Heng Swee Keat’
‘Lawrence Wong’ ได้เข้าพิธีสาบานตนอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของประเทศ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ‘Lee Hsien Loong’ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เกิดหลังสิงคโปร์ได้ประกาศเอกราชในปี 1965
โดยสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีของ ‘Wong’ มีความว่า “นี่คือคำสัญญาของผมที่มีต่อชาวสิงคโปร์ทุกคน ผมจะรับใช้พวกคุณด้วยหัวใจทั้งหมด ผมจะไม่ยอมรับสภาพเดิม ผมจะแสวงหาวิธีที่ดีกว่าเสมอเพื่อทำให้วันพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้” และเขายังกล่าวอีกว่า ภารกิจของเขาในฐานะนายกรัฐมนตรีคือ “การฝ่าฟันอุปสรรคและรักษาปาฏิหาริย์ที่เรียกว่า ‘สิงคโปร์’ นี้ไว้ต่อไป”
โดยสรุปแล้ว การที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศเกาะเล็ก ๆ ซึ่งถือกำเนิดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1965 ยังไม่ครบ 60 ปี สามารถสร้างความเจริญเติบโต จนมาเป็นประเทศอันดับหนึ่งของภูมิภาค ASEAN จึงไม่ได้มีการสืบทอดทายาททางการเมืองอย่างไร้ทิศทาง โดยไม่มีการเตรียมการหรือเตรียมพร้อม ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของ ‘ประชาชนพลเมืองชาวสิงคโปร์กว่า 3,600,000 คน ซึ่งสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งที่เลือกนักการเมืองคุณภาพเข้ามาบริหารสิงคโปร์ได้อย่างแท้จริง
ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ คงต้องมีสักวันหนึ่งที่พี่น้องประชาชนคนไทยจะได้ตระหนักรู้และเลือกนักการเมืองที่ถึงพร้อม ทั้งคุณภาพ และคุณสมบัติ มีวิสัยทัศน์ที่เยี่ยมยอด มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างล้นเหลือ เป็นคนดีมีศีลธรรม มีอุดมการณ์เสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหมดทั้งมวล
ที่สำคัญ ต้องไม่มีแนวคิดบ่อนทำลายเซาะกร่อนความมั่นคงของชาติ ยึดมั่นใน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักของชาติ เช่นนี้แล้วประเทศชาติจึงจะเดินหน้าไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างผาสุกและยั่งยืนตลอดไป...
เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล