Friday, 4 April 2025
ประวัติศาสตร์รีวิว

‘CAL FIRE’ ทีมนักสู้ไฟป่าแห่งแคลิฟอร์เนีย เหล่าผู้กล้าผจญเพลิงที่อาสาทำเพื่อส่วนรวม

เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของนครลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 24 ราย (14/1/2568) เผาผลาญบ้านเรือนประชาชนไปแล้วนับหมื่นหลัง และส่งผลทำให้ต้องออกคำสั่งอพยพผู้คนหลายแสนคนออกจากพื้นที่ ด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก มีผืนป่าขนาดใหญ่มากมายโดยเฉพาะในมลรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเกิดไฟไหม้ป่าเป็นประจำทุกปี

โดยภารกิจในการดูแลรักษาผืนป่า การป้องกันและดับไฟป่าในมลรัฐนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ‘กรมป่าไม้และป้องกันอัคคีภัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Forestry and Fire Protection : CAL FIRE)’ เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Natural Resources Agency : CNRA) สหรัฐอเมริกามีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐรวม 31 ล้านเอเคอร์ รวมถึงการบริหารจัดการป่า ทั้งป่าส่วนบุคคลและป่าสาธารณะภายในมลรัฐ

นอกจากนี้ ‘CAL FIRE’ ยังให้บริการฉุกเฉินด้านต่าง ๆ ใน 36 จาก 58 เทศมณฑลของมลรัฐผ่านสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่น ผู้อำนวยการ ‘CAL FIRE’ คนปัจจุบันของกรมคือ Joe Tyler ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2022

นอกจากภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของ ‘CAL FIRE’ คือการต่อสู้และป้องกันไฟป่าบนพื้นที่ป่าของรัฐ 31 ล้านเอเคอร์แล้ว ‘CAL FIRE’ ยังปฏิบัติงานทั้งด้านการดับและป้องกันในพื้นที่ของมลรัฐ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในการตอบสนองต่อภัยพิบัติและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงแผ่นดินไหว การกู้ภัยทางน้ำ และการรั่วไหลของวัสดุอันตราย ‘CAL FIRE’ ยังทำหน้าที่ในการบริหารจัดการป่าสาธิตของมลรัฐ 8 แห่งในเรื่องของการปลูกและตัดไม้ สันทนาการ และการวิจัย ส่วนที่ใหญ่ที่สุดและเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดในการปฏิบัติการของ ‘CAL FIRE’ คือการป้องกันอัคคีภัย โดยเฉพาะไฟป่า การปฏิบัติการแบ่งหน่วยออกเป็น 21 หน่วยปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งตามเขตพื้นที่ของแต่ละเทศมณฑล หน่วยแต่ละหน่วยประกอบด้วยพื้นที่ของเทศมณฑลหนึ่งแห่งขึ้นไป หน่วยปฏิบัติการแบ่งตามภูมิภาคแคลิฟอร์เนียเหนือหรือภูมิภาคแคลิฟอร์เนียใต้

‘CAL FIRE’ ก่อตั้งขึ้นในปี 1885 เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ 12,800 นาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ประจำ 6,100 คน เจ้าหน้าที่ไม่ประจำ (พนักงานจ้างตามฤดูกาล) 2,600 คน ผู้ต้องขัง 3,500 คน สมาชิกกองกำลังอนุรักษ์ อาสาสมัครป้องกันภัยส่วนบุคคล (VIP) 600 คน รวม 12,800 คน พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการปฏิบัติงานมากมาย ด้วยงบประมาณประจำปีที่ได้รับ 4.2 พันล้านเหรียญ (ราว 1.457 แสนล้านบาท) ‘CAL FIRE’ มีศูนย์ฝึกอบรม 2 แห่ง แห่งแรกเป็นสถาบันเดิมคือ ศูนย์ฝึกอบรม CAL FIRE ในเมืองไอโอเน ทางทิศตะวันออกของนครซาคราเมนโต (เมืองหลวงของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย) สถาบันแห่งที่สองตั้งอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรม Ben Clark ในเทศมณฑลริเวอร์ไซด์ทั้งสองศูนย์เป็นที่ตั้งของสถาบันดับเพลิง (Fire Fighter Academy : FFA) เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของ CAL FIRE ทุกคนจะต้องผ่านสถาบันนี้ก่อนที่พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ และยังมีสถาบันฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำ (Company Officer Academy : COA) ในเมืองไอโอเน เจ้าหน้าที่ประจำบรรจุ/เลื่อนตำแหน่งใหม่ทั้งหมดของ ‘CAL FIRE’ (วิศวกร หัวหน้าหน่วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฯลฯ) จะต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันแห่งนี้ ณ ปี 2017 เงินเดือนเฉลี่ยของนักดับเพลิงประจำ (ซึ่งรวมเงินเดือนพื้นฐาน เงินพิเศษ ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการ) เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 148,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,134,120 บาท) เนื่องจากจัดว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมาก

นอกจากนี้ ‘CAL FIRE’ ยังทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์และการพัฒนาพฤตินิสัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Corrections and Rehabilitation : CDCR) ใช้ผู้ต้องขังหลายพันคนในทัณฑสถาน 44 แห่งทั่วมลรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘โครงการทัณฑสถาน/ค่ายดับเพลิง’ เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง และโครงการบำรุงรักษาและอนุรักษ์ต่าง ๆ ภารกิจของโครงการนี้คือ ให้การ “สนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม และภัยพิบัติจากธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้นอื่น ๆ” มีผู้ต้องขังทั้ง ชาย หญิง และเยาวชน มากกว่า 3,000 คนทำงานในโครงการนี้ทุกปี ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครของโครงการฯ อาสาสมัครทุกคนได้รับการฝึกอบรมระดับเริ่มต้นเช่นเดียวกับนักดับเพลิงตามฤดูกาลของ ‘CAL FIRE’ มีนักดับเพลิงที่เป็นผู้ต้องขังราว 3,500 คน ทำให้มีนักดับเพลิงที่เป็นผู้ต้องคุมขังคิดเป็นประมาณ 27% ของศักยภาพในการดับเพลิงทั้งหมดของมลรัฐ

หน่วยปฏิบัติการภายใต้ ‘CAL FIRE’ คือหน่วยงานที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับการดับเพลิงในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยมีขนาดและภูมิประเทศที่มีความแตกต่างกัน อาทิ หน่วยปฏิบัติการ Lassen-Modoc-Plumas ครอบคลุมพื้นที่ชนบท 3 แห่ง และประกอบด้วยสถานีดับเพลิง 8 แห่ง ฐานเฮลิคอปเตอร์ 1 แห่ง ค่ายดับเพลิง 3 แห่ง และศูนย์ฝึกอบรมนักดับเพลิงผู้ต้องขัง ทรัพยากรที่ใช้การดับเพลิงประกอบด้วยรถดับเพลิง 13 คัน เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ รถปราบดิน 3 คัน และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงผู้ต้องขัง 14 คน หน่วยนี้ใช้ศูนย์บัญชาการฉุกเฉินร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐบาลกลาง รวมทั้งกรมป่าไม้แห่งสหรัฐอเมริกา กรมอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานจัดการที่ดิน เป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมระหว่างหน่วยงาน รองรับความร่วมมือ และเอื้อต่อการปฏิบัติงานที่ราบรื่นยิ่งขึ้น พื้นที่นี้มีเขตอำนาจในการปฏิบัติที่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ชนบทขนาดใหญ่ตามแนวเขตแดนมลรัฐเนวาดาและโอเรกอน ส่วย Riverside Operational Unit เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โดยมีสถานีดับเพลิง 95 แห่งและทรัพยากรที่ใช้การดับเพลิงประมาณ 230 รายการ ปฏิบัติการร่วมกับ Riverside County Fire Department ตามสัญญาซึ่งรวมถึงดำเนินการดับเพลิงใน 18 เมืองและ 1 เขตบริการชุมชน สถานีเหล่านี้ 9 แห่งเป็นของมลรัฐ ส่วนที่เหลือเป็นของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง หน่วยนี้ดำเนินการศูนย์บัญชาการฉุกเฉินของตนเองใน Perris พื้นที่ที่ให้บริการรวมถึงเขตเมืองและชานเมืองของ Inland Empire และชุมชนในเขต Palm Springs พื้นที่ดังกล่าวรวมถึงภูเขาที่มีป่าไม้ลุ่มแม่น้ำโคโลราโดทะเลทรายโมฮาวีและทางหลวงระหว่างรัฐหมายเลข 10 เขต Marin (MRN), Kern (KRN), Santa Barbara (SBC), Ventura (VNC), Los Angeles (LAC) และ Orange (ORC) ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘CAL FIRE’ เพื่อจัดเตรียมการป้องกันอัคคีภัยให้กับพื้นที่รับผิดชอบของมลรัฐภายในเขตเทศมณฑลเหล่านั้น แทนที่จะให้ ‘CAL FIRE’ จัดหาการป้องกันอัคคีภัยโดยตรง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “เขตสัญญาเทศมณฑล (Contract counties)”

‘CAL FIRE’ ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหลายระบบในการจัดการการดำเนินงาน อาทิ Altaris CAD ซึ่งเป็นระบบจัดส่งด้วยความช่วยเหลือของคอมพิวเตอร์ผลิตโดย Northrop Grumman ถูกใช้โดยศูนย์บัญชาการฉุกเฉิน (ECC) ของแต่ละหน่วย เพื่อติดตามทรัพยากรและงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทำได้โดยใช้ระบบระบุตำแหน่งยานพาหนะอัตโนมัติ (AVL) ซึ่งระบุตำแหน่งยานพาหนะ การสื่อสารข้อมูล และการจัดส่งผ่านเทอร์มินัลข้อมูลเคลื่อนที่ (MDT) และระบบสลับเครือข่ายหลายเครือข่ายในยานพาหนะมากกว่า 1,200 คันทั่วทั้งรัฐ หน่วยปฏิบัติการแต่ละหน่วยมีระบบแบบ stand alone ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่อยู่และแผนที่โดยละเอียด

ในการดับไฟป่าและภารกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ นั้น ‘CAL FIRE’ มีอากาศยานที่ใช้ในภารกิจรวม 70 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินโปรยน้ำ/สารเคมี 30 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ 16 ลำ และเฮลิคอปเตอร์อีก 24 ลำ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของโครงการบริหารจัดการการบิน (Aviation Management Program) โดยเมื่อมีความจำเป็น ‘CAL FIRE’ จะจัดเช่าอากาศยานเพิ่มเติม เครื่องบินทั้งหมดเป็นของ ‘CAL FIRE’ เอง แต่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการและบำรุงรักษาโดย DynCorp International ซึ่งโครงการฯ นี้เป็นหนึ่งในโครงการปฏิบัติการทางอากาศของหน่วยงานพลเรือน (ที่ไม่ใช่ทางทหาร) ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ประกอบด้วย เครื่องบินบรรทุกน้ำ/สารเคมี Grumman S-2 Tracker (S-2T) ขนาดความจุ 1,200 แกลลอน จำนวน 23 ลำ เครื่องบินบรรทุกน้ำ/สารเคมี Lockheed-Martin C-130H Hercules ขนาดความจุ 4,000 แกลลอน จำนวน 7 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ North American Rockwell OV-10 Bronco จำนวน 14 ลำ และ เฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Super Huey จำนวน 12 ลำ ปัจจุบัน ‘CAL FIRE’ ได้เริ่มปฏิบัติการบินด้วย เฮลิคอปเตอร์ Sikorsky S-70i Firehawk รุ่นใหม่สำหรับการสนับสนุนการดับเพลิงทางอากาศ รวมถึงการทิ้งน้ำ/สารเคมีดับเพลิง และกำลังวางแผนที่จะจัดหาเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ 12 ลำเพื่อทดแทนเฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Super Huey ที่เก่ามากแล้ว

จากฐานปฏิบัติบิน 13 แห่งและฐานบินเฮลิคอปเตอร์ 10 แห่งของ ‘CAL FIRE’ ที่ตั้งอยู่ทั่วมลรัฐ เครื่องบินโปรยน้ำ/สารเคมีจะสามารถเข้าถึงจุดไฟไหม้ส่วนใหญ่ได้ภายในเวลา 20 นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เกิดไฟป่า มีการใช้ทั้งเครื่องบินในการบินดับเพลิง และเฮลิคอปเตอร์ในการส่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง (Helitack) เข้าไปในพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ และโปรยน้ำและสารเคมีหน่วงไฟลงเพื่อดับไฟ เครื่องบินตรวจการณ์จะทำหน้าที่ในการสั่งการ สังเกตการณ์ และทิ้งสารเคมีหน่วงไฟลงบนพื้นที่เกิดไฟไหม้ด้วย ในอดีต ‘CAL FIRE’ เคยทำสัญญากับ 10 Tanker Air Carrier เพื่อเช่าใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ McDonnell Douglas DC-10-10 (Tanker 911) เป็นเวลา 3 ปี โดยมีค่าใช้จ่าย 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ยังมีการเช่าใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ DC-10-30 เพิ่มเติม (Tanker 911 และ Tanker 912) ในปี 2014 Tanker 910 ได้ถูกปลดระวาง และทุกวันนี้ 10 Tanker Air Carrier ยังคงใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศแบบ DC-10-30 ในการปฏิบัติการดับไฟป่าให้ ‘CAL FIRE’

สำหรับบ้านเรา การป้องกันและดับไฟป่าเป็นภารกิจของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะมี 2 หน่วยงานได้แก่ กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์) และกรมป่าไม้ (ป่าชุมชนและป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ) ทั้ง 2 กรมภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานอื่น ๆ จากกระทรวงต่าง ๆ ให้การสนับสนุน อาทิ เหล่าทัพต่าง ๆ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่าถือเป็น ‘หน้าที่’ ของชาวไทยทุกคน เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ล้วนแล้วแต่เป็นสมบัติที่สำคัญของชาติ จึงถือว่าเป็นสมบัติส่วนรวมของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนด้วย

หากมีความสงสัยว่า เหตุใดไฟป่าจึงรุนแรงขึ้น คำตอบอาจทำให้เราต้องประหลาดใจ แม้ว่า วิทยาศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวทวีคูณภัยคุกคามที่เพิ่มความถี่และความรุนแรงของไฟป่า แต่มนุษย์ก็มีส่วนเป็นอย่างมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ไฟป่าเกือบ 85% ในสหรัฐอเมริกาเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และหลายกรณีสามารถป้องกันได้ กิจกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่างก็อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นกัน สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ประวัติการดับเพลิง และปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ไฟไหม้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากเราอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มักเกิดภัยแล้งหรือไฟป่า เราสามารถช่วยป้องกันภัยธรรมชาติได้โดยปฏิบัติตามแนวทางด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัยได้อย่างง่าย ๆ

วิธีการง่าย ๆ ในการป้องกันไฟไหม้ป่า

1. ไม่จุดพลุไฟ ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและแห้งแล้ง มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามาก เชื่อว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในมลรัฐแคลิฟอร์เนียต้นเดือนที่ผ่านมาเกิดจากการจุดพลุไฟ

2. กำจัดวัสดุที่ใช้ในการสูบบุหรี่อย่างระมัดระวัง ทุกครั้งที่สูบบุหรี่ ให้ราดน้ำที่ก้นบุหรี่แล้วใส่ไว้ในภาชนะกันไฟเพื่อทิ้งอย่างปลอดภัยหลังจากแน่ใจว่าได้ดับไปแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้น

3. ดูแลกองไฟที่จุดเองอย่างมีความรับผิดชอบ ก่อนจุดกองไฟหรือกองไฟ ให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมปลอดภัยและไม่มีข้อห้ามจุดไฟในพื้นที่ เมื่อจุดไฟเสร็จแล้ว ให้ดับไฟและรอจนกว่าไฟจะเย็นลงจนสัมผัสได้ก่อนออกจากพื้นที่ตั้งแคมป์ อย่าปล่อยให้กองไฟติดอยู่โดยไม่มีผู้ดูแล

4. ตัดหญ้าก่อนเวลา 10.00 น. หากจำเป็นต้องตัดหญ้า ‘CAL FIRE’ แนะนำให้ทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อุณหภูมิจะถึงจุดสูงสุด แต่หากลมแรงและแห้งเกินไป ให้รอไว้ก่อนจนกว่าจะถึงวันถัดไป ในสภาวะเช่นนี้ ใบมีดโลหะใต้เครื่องตัดหญ้าอาจจุดไฟได้ง่ายหากไปโดนหิน

5. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าท่อไอเสียของรถของคุณอยู่ในระดับที่เหมาะสม ตรวจสอบท่อไอเสียของรถ เลื่อยโซ่ยนต์ เครื่องเป่าใบไม้ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่ามีตัวป้องกันประกายไฟติดตั้งอยู่ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ปล่อยเศษวัสดุที่ติดไฟได้ออกมา และอย่าลืมว่าท่อไอเสียรถยนต์อาจมีอุณหภูมิสูงเกิน 1,000 องศาได้!

6. ขับรถอยู่บนถนนเสมอ แม้การขับรถบนเส้นทางออฟโรดเป็นเรื่องสนุก แต่หากทำในพื้นที่ทุ่งหญ้าหรือพื้นที่ที่มีพุ่มไม้หนาทึบ อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ควรขับบนถนนกรวดและยางมะตอย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการขับรถออฟโรดในพื้นที่เสี่ยงไฟไหม้ คือเมื่อพื้นดินเฉอะแฉะ เปียกฝน

7. คอยสังเกตเทียนอย่างใกล้ชิด เทียนไขอาจดูไม่เป็นอันตราย แต่เป็นสาเหตุหลักของไฟไหม้บ้าน โดยเปลวไฟสามารถลุกไหม้ได้สูงถึง 1,400 องศา! วิธีที่ดีที่สุดคือใส่เทียนไขในภาชนะที่แข็งแรงและไม่สามารถล้มได้ เช่น ขวดโหล และอย่าทิ้งเทียนไขไว้โดยไม่มีผู้ดูแล

8. สร้างและรักษาพื้นที่ป้องกันได้ หากท่านเป็นเจ้าของบ้าน ควรกำจัดต้นไม้ พุ่มไม้ และพืชพรรณต่าง ๆ  ที่ตายแล้วออกไปให้หมดภายในระยะ 100 ฟุตจากโครงสร้างทั้งหมด การทำเช่นนี้จะช่วยชะลอหรือหยุดการลุกลามของไฟป่าในชุมชนของท่าน นอกจากนี้ ยังช่วยปกป้องนักดับเพลิงในกรณีที่ต้องดับไฟรอบ ๆ บ้านของท่านอีกด้วย

9. การจัดภูมิทัศน์เพื่อป้องกันไฟป่า ด้วยปลูกพืชทนไฟ เช่น ลาเวนเดอร์ฝรั่งเศส เซจ และฟูเชียแคลิฟอร์เนีย ว่านหางจระเข้ ร็อคโรส และไอซ์แพลนเน็ต ฯลฯ ไว้ในการจัดสวน และอาจพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการสร้างเขตกัน/ทนไฟ เช่น กำแพงหิน ลานบ้าน ดาดฟ้า ฯลฯ

10. การฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเกิดไฟป่า และสุดท้าย  การสนับสนุนในการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเกิดไฟไหม้ในอดีตถือเป็นวิธีสำคัญในการลดโอกาสหรือความรุนแรงของไฟไหม้ในอนาคต อาทิ โครงการอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพันธุ์ไม้ที่สามารถป้องกัน/ต้านทานไฟป่าได้

‘Casino’ สถานที่เล่นพนันถูกกฎหมายหากเกิดขึ้นจริง ‘ดี’ หรือ ‘ร้าย’ ต่อสังคมไทย สุดท้ายต้องพิจารณาในทุกมิติ

‘Casino’ กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สังคมไทยกำลังพูดถึง หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (ENTERTAINMENT COMPLEX) โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำไปปรับปรุงรายละเอียด ก่อนส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งรัฐบาลได้ยืนยันว่า ‘ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร’ จะมีการอนุญาตให้เปิด ‘Casino’ ด้วย จะทำให้ประเทศเติบโตและมีตัวเลข GDP สูงขึ้นอย่างมาก และจะทำให้เกิดผลดีให้กับประเทศในอนาคต

‘Casino’ เป็นสถานที่สำหรับการพนัน มักสร้างขึ้นใกล้หรือรวมกับโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก เรือสำราญ หรือแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ‘Casino’ หลายแห่งยังเป็นที่รู้จักในสถานะสถานที่จัดงานบันเทิงแสดงสด อาทิ ละคร คอนเสิร์ต และกีฬา ฯลฯ ‘Casino’ แห่งแรกของยุโรปที่แม้จะไม่ได้เรียกว่า ‘Casino’ แต่มีลักษณะตรงตามคำจำกัดความในปัจจุบันคือ ‘Ridotto’ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในปี 1638 โดยมติของที่ประขุมใหญ่แห่งสภาเมืองเวนิสเพื่อควบคุมการพนันในช่วงเทศกาลคาร์นิวัล บ่อนแห่งนี้ถูกปิดตัวลงในปี 1774 เนื่องจากสภาเมืองเวนิสได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กิจการของ ‘Ridotto’ ทำให้ประชาชนพลเมืองชาวเวนิสนั้นต่างพากันยากจนลง

ปัจจุบัน การพนันเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกและมี ‘Casino’ อยู่ในเกือบทุกประเทศ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในการแข่งขัน ‘Casino’ มากที่สุดในโลก ตามข้อมูลของ WorldCasinoDirectory สหรัฐอเมริกามี ‘Casino’ ที่ได้รับอนุญาต 2,147 แห่งและโรงแรม ‘Casino’ 619 แห่งในเมืองการพนัน 920 เมือง ตามข้อมูลของสมาคมการพนันของอเมริกา ตลาดการพนันในสหรัฐอเมริกามีส่วนสนับสนุนต่อเศรษฐกิจเกือบ 261 พันล้านดอลลาร์ต่อปีและรองรับการจ้างงาน 1.8 พันล้านตำแหน่งทั่วประเทศ ตามหลังสหรัฐอเมริกา โรมาเนียเป็นผู้นำในการแข่งขันที่มี ‘Casino’ มากที่สุดในโลก โดยมี ‘Casino’ ทั้งหมด 454 แห่ง ตามมาด้วยสาธารณรัฐเช็ก สเปน และสหราชอาณาจักร โดยมี ‘Casino’ 423, 314 และ 309 แห่ง ตามลำดับ

ศูนย์กลางการพนันสองแห่งของโลกได้แก่ มาเก๊า และลาสเวกัส ‘มาเก๊า’ ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีนเป็นสถานที่เดียวในประเทศจีนที่ ‘Casino’ ถูกกฎหมาย การพนันถูกกฎหมายมาตั้งแต่ทศวรรษ 1850 เมื่อ รัฐบาล โปรตุเกสประกาศให้กิจกรรมในอาณานิคมปกครองตนเองแห่งนี้ถูกกฎหมาย หลังจากการส่งมอบมาเก๊าจากโปรตุเกสให้จีน มาเก๊าและธุรกิจได้เติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2001 เมื่อรัฐบาลยุติการผูกขาดการพนันที่กินเวลานานสี่ทศวรรษของ Stanley Ho มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ด้วยการเข้ามาของ ‘Casino’ ต่างชาติขนาดใหญ่ จากลาสเวกัสและออสเตรเลีย ปัจจุบันมาเก๊าแซงหน้าลาสเวกัสในด้านรายได้จากการพนันในปี 2007 และตั้งแต่นั้นมา มาเก๊าก็เป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะ 'เมืองหลวงแห่งการพนันของโลก' โดยทำรายได้จากการพนันสูงสุด แซงหน้าเมืองการพนันอื่น ๆ ไปอย่างมาก มาเก๊ามี ‘Casino’ 49 แห่ง และโรงแรม ‘Casino’ อีก 58 แห่ง สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่า รายได้ของ ‘Casino’ ในมาเก๊าพุ่งสูงขึ้น 366% เมื่อเทียบเป็นรายปีเป็น 1.93 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม 2023 ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงการพนันเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของมาเก๊าคิดเป็นประมาณ 50% ของเศรษฐกิจ โดยนักท่องเที่ยวเพื่อการพนันส่วนใหญ่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง

ลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา เป็นเมืองที่มี ‘Casino’ มากที่สุดในโลก ข้อมูลจำนวน ‘Casino’ จาก WorldCasinoDirectory ระบุว่า ลาสเวกัสมี ‘Casino’ มากกว่า 170 แห่ง และโรงแรม ‘Casino’ อีกมากกว่า 90 แห่ง ในขณะที่มลรัฐเนวาดาโดยรวมมี ‘Casino’ ที่ได้รับอนุญาต 404 แห่ง และโรงแรม ‘Casino’ รวม 178 แห่งใน 45 เมืองของมลรัฐนี้ ตามรายงานของสมาคมการพนันของอเมริกา มลรัฐเนวาดามีรายได้จากการพนันเชิงพาณิชย์รายเดือน 1.15 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายน 2023 เนวาดาจึงเป็นมลรัฐเดียวที่มีรายได้เกิน 1 พันล้านดอลลาร์ในขณะที่รายได้รายเดือนของมลรัฐอื่น ๆ ทั้งหมดในเดือนเดียวกันน้อยกว่า สำหรับ ลาสเวกัสและมาเก๊าจึงเป็นเพียงสองเมืองการพนัน (Casino city) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ‘Casino’ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรอย่างแน่นอน โดย ‘Casino’ ในลาสเวกัสยุคเริ่มแรกนั้นถูกครอบงำและบงการโดยกลุ่มมาเฟียอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน และ ‘Casino’ ในมาเก๊าถูกครอบงำและบงการโดยกลุ่มสามก๊ก (Macau Triads) ตามรายงานของตำรวจสหรัฐฯ ระบุว่า อาชญากรรมในพื้นที่ที่มี ‘Casino’ มักเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือสามเท่าภายในสามปีหลังจาก ‘Casino’ เปิดทำการ ในรายงานปี 2004 ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ นักวิจัยได้สัมภาษณ์ผู้ที่ถูกจับกุมในลาสเวกัสและเดส์โมนส์ และพบว่าเปอร์เซ็นต์ของนักพนันที่มีปัญหาหรือเป็นโรคในกลุ่มผู้ถูกจับกุมนั้นสูงกว่าประชากรทั่วไปถึงสามถึงห้าเท่า

ท่ามกลางความกังวลของคนในสังคมในเรื่องของ ‘Casino’ ซึ่งจะรวมอยู่ใน “ENTERTAINMENT COMPLEX” นั้น จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทยโดยรวม จึงเป็นปัญหาและประเด็นพิจารณาที่พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะต้อง พินิจ พิจารณา ไตร่ตรอง และใคร่ครวญ เป็นอย่างดีที่สุด ด้วยเพราะความจริงก็คือ ‘การพนัน’ นั้นเป็นข้อหนึ่งใน 'อบายมุข 6' หรือ วิถีชีวิต 6 อย่าง แห่งความโลภ และความหลงที่ทำให้เกิดความเสื่อม ความฉิบหายของชีวิต อันประกอบด้วย
1. ดื่มน้ำเมา (Addiction to intoxicants) คือ พฤติกรรมชอบดื่มสุราเป็นนิจ
2. เที่ยวกลางคืน (Roaming the streets at unseemly hours) คือ พฤติกรรมชอบเที่ยวกลางคืนเป็นนิจ
3. เที่ยวดูการละเล่น (Frequenting shows) คือ พฤติกรรมชอบเที่ยวดูการแสดงหรือการละเล่นเป็นนิจ
4. เล่นพนัน (Indulgence in gambling) คือ พฤติกรรมชอบ เล่นพนันเป็นนิจ
5. คบคนชั่วเป็นมิตร (Association with bad companions) คือ พฤติกรรมชอบคบหาคนพาลเป็นนิจ
6. เกียจคร้านการงาน (Habit of idleness) คือ พฤติกรรมชอบเกียจคร้านในการงานเป็นนิจ

แม้ว่า รัฐบาลและฝ่ายที่สนับสนุนจะได้หยิบยกประโยชน์มากมายจากการให้มี ‘Casino’ ใน ‘ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร’ แต่พิษภัยและโทษของการพนันนั้นมีมากมายได้แก่ การสูญเสียเงินหรือความเสียหายทางการเงินเป็นความเสียหายจากการพนันเป็นอันดับแรก เมื่อนึกถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการพนัน อย่างไรก็ตาม ยังมีอันตรายประเภทอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ที่ เล่นพนัน อันตรายเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อผู้ที่ เล่นพนันมากขึ้น เล่นพนันบ่อยขึ้น หรือมีลักษณะอื่น ๆ ที่ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่ออันตรายจากการพนันมากขึ้น ความเสี่ยงต่ออันตรายต่าง ๆ ในการ เล่นพนัน ได้แก่ :
1. ความเสียหายทางการเงิน การกัดเซาะการเก็บออม นำไปสู่การล้มละลาย
2. ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ การละเลยความสัมพันธ์กับคนสำคัญ ลูก ๆ ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง
3. ความทุกข์ทางอารมณ์หรือจิตใจจากการแยกตัวออกจากสังคมปกติ รู้สึกผิด เหงา และโดดเดี่ยว มีการรับรู้ที่ผิดเพี้ยน และอาจกลายเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
4. ประเด็นด้านสุขภาพ ระดับการดูแลตนเองลดลง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคชนิดนี้อีกด้วย ‘โรคติดการพนัน’ (Pathological Gambling หรือ Gambling Disorder) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการ เล่นพนันที่ซ้ำซากและต่อเนื่อง แม้ว่าการพนันจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายในหลายด้านของชีวิตก็ตาม ซึ่งบุคคลในทุกช่วงวัยอาจประสบปัญหาจากโรคติดการพนัน ผู้ที่ประสบปัญหาจากโรคติดการพนันจะมีปัญหาในการควบคุมจิตใจต่อการเล่นพนัน บุคคล ครอบครัว และสังคม ย่อมได้รับผลกระทบจากโรคติดการพนัน

ผู้ที่มีอาการติดการพนันอาจมีช่วงที่อาการทุเลาลง การพนันอาจดูไม่เป็นปัญหาในช่วงที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น โดยอายุที่น้อยกว่าและเพศชายอาจเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่อาการของโรคติดการพนันอาจเริ่มได้ในทุกช่วงอายุ ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเริ่ม เล่นพนันในช่วงอายุน้อยกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงอาจพัฒนาไปสู่ปัญหาการพนันได้เร็วกว่ามาก บาดแผลทางจิตใจและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม โดยเฉพาะในผู้หญิง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน รายได้ต่ำ การว่างงาน และความยากจนยังเชื่อมโยงกับโรคติดการพนันอีกด้วย ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนที่มีปัญหาติดการพนันได้รับการแสดงให้เห็นว่า มีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของโอกาสในการ เล่นพนัน

การรักษาโรคติดการพนัน บางคนสามารถเลิกเล่นพนันได้ด้วยตนเอง แต่หลายคนต้องการความช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาการพนันของตนเอง มีเพียง 1 ใน 10 คนที่มีอาการติดการพนันเท่านั้นที่เข้ารับการบำบัด การพนันส่งผลต่อผู้คนในรูปแบบต่าง ๆ การพนันสามารถเปลี่ยนส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการได้รับรางวัลหรือความตื่นเต้นได้ การรักษาอาการผิดปกติจากการพนันสามารถช่วยย้อนกลับเส้นทางเหล่านี้ให้กลับมาทำงานตามปกติของสมองก่อนเริ่ม เล่นพนันได้ วิธีการที่แตกต่างกันอาจได้ผลดีกว่าสำหรับคนต่างกลุ่ม การบำบัดหลายประเภทถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการผิดปกติจากการพนัน รวมถึงการบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา การบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ การบำบัดแบบกลุ่ม และการบำบัดครอบครัว

การให้คำปรึกษาสามารถช่วยให้ผู้คนเข้าใจในเรื่องของการเล่นพนัน และได้คิดว่า การเล่นพนันส่งผลต่อพวกเขาและครอบครัวอย่างไร นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้ผู้คนพิจารณาทางเลือกและแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย ปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับรักษาอาการผิดปกติจากการเล่นพนัน ยาบางชนิดอาจช่วยรักษาอาการที่เกิดร่วมกัน เช่น ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล การสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อน ๆ อาจมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวจากโรคติดการพนัน

ผลกระทบของ ‘Casino’ ต่อเมืองและชุมชนนั้น แม้จะมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น บริบทเฉพาะของสถานที่ กฎระเบียบที่ใช้ และวิธีดำเนินงานของ ‘Casino’ ต่อไปนี้คือประเด็นสำคัญบางประการสำหรับทั้งผลดีและผลเสีย :

ประโยชน์ของ ‘Casino’
การเติบโตทางเศรษฐกิจ :
-​การสร้างงาน: ‘Casino’ มักสร้างงานจำนวนมาก ทั้งโดยตรง (เช่น ในอุตสาหกรรมเกม การบริการ) และโดยอ้อม (เช่น ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การบำรุงรักษา และบริการในท้องถิ่น)

-​การท่องเที่ยว: ‘Casino’ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ช่วยส่งเสริมธุรกิจในท้องถิ่น เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้า
-​รายได้จากภาษี: เงินทุนสาธารณะ: ‘Casino’ มีส่วนสนับสนุนรายได้จากภาษีในท้องถิ่นและของรัฐ ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และการดูแลสุขภาพ

การพัฒนาเมือง :
-​การฟื้นฟู: ในบางกรณี ‘Casino’ สามารถนำไปสู่การฟื้นฟูพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและพื้นที่สาธารณะได้รับการปรับปรุง
-​เพิ่มตัวเลือกความบันเทิง: ​‘Casino’ มักเสนอตัวเลือกความบันเทิงต่าง ๆ รวมถึงการแสดง ร้านอาหาร และสถานบันเทิงยามค่ำคืน ซึ่งช่วยเสริมวัฒนธรรมของเมือง

อันตรายจาก ‘Casino’
-​การติดการพนัน: ปัญหาทางสังคม: การเข้าถึงการพนันที่มากขึ้นอาจนำไปสู่อัตราการติดการพนันที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อบุคคลและครอบครัว รวมถึงความล้มละลายทางการเงินและปัญหาสุขภาพจิต

-​อัตราการเกิดอาชญากรรม: อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น: การศึกษาวิจัยบางกรณีชี้ให้เห็นว่า ‘Casino’ อาจนำไปสู่อัตราการเกิดอาชญากรรมที่สูงขึ้น รวมถึงการโจรกรรมและอาชญากรรมรุนแรง ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพนัน
-​การอพยพทางเศรษฐกิจ: ธุรกิจในท้องถิ่น: แม้ว่า ‘Casino’ จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ แต่ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจในท้องถิ่นที่ไม่สามารถแข่งขันกับทรัพยากรและการตลาดของ ‘Casino’ ได้

-​ต้นทุนทางสังคม: ความตึงเครียดในชุมชน: ต้นทุนทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการติดการพนันและปัญหาที่เกี่ยวข้องอาจกดดันทรัพยากรของชุมชน รวมถึงการดูแลสุขภาพและบริการทางสังคม ความไม่เท่าเทียมกัน

-ผลกระทบที่ไม่สมส่วน: ผลกระทบเชิงลบของการพนันมักส่งผลกระทบต่อชุมชนที่มีรายได้น้อยอย่างไม่สมส่วน ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและการแบ่งชั้นทางสังคมมากขึ้น

‘Casino’ จะมีประโยชน์หรือเป็นอันตรายต่อเมืองและชุมชนมากกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผลประโยชน์ที่อาจจะได้รับการจัดการดีเพียงใด และผลกระทบเชิงลบได้รับการบรรเทาลงเพียงใด กฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพ โปรแกรมสนับสนุนชุมชน และโครงการการพนันอย่างรับผิดชอบมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มผลประโยชน์สูงสุด ในขณะที่ต้องลดภัยอันตรายต่าง ๆ ให้เหลือน้อยที่สุด ชุมชนแต่ละแห่งอาจได้รับผลกระทบเหล่านี้แตกต่างกันไป ดังนั้นบริบทในท้องถิ่นจึงมีความสำคัญในการประเมินผลกระทบโดยรวมของ ‘Casino’

ส่วนตัวผู้เขียน ขอน้อมฯ นำ ยึดตามพระราชดำริของล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งปรากฏในพระราชนิพนธ์ ‘ไกลบ้าน’ ด้วยทรงเห็นถึงภัยของการพนัน จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีข้อความดังนี้

“จุฬาลงกรณ์ ปร. VITA NOBEL SAN REMO ถึงกรมดำรง ฉันได้ส่งของที่รลึกมอนติกาโล คือเหรียญร้อยแฟรงก์ที่เขาสำหรับเล่นเบี้ยกัน ๓ เหรียญ หม้อมูตรลงยา ๔ หม้อ ตุ้มหู้ไข่นกการเวก ๑ คู่ มาโดยบุกโปสต ขอให้ส่งให้เจ้าสายได้เรียนตำราเล่นเบี้ยอย่างฝรั่งเข้าใจแล้ว ข้อซึ่งเข้าใจกันว่าเล่นไม่น่าสนุกนั้นไม่จริงเลย สนุกยิ่งกว่าอะไร ๆ หมด ถ้าชาวบางกอกรู้ได้ไปเล่นแล้ว ฉิบหายกันไม่เหลือ ถ้าหากว่าไปถึงเมืองเราเข้าเมื่อไร จะรอช้าแต่สักวันเดียวก็ไม่ควร ต้องห้ามทันที ถ้ารู้ถึงผู้ดีเล่นเบี้ยของเรา น่ากลัวอย่างยิ่ง จะดื่มไม่เงย แต่ฉันเปนคนไม่เล่นเบี้ยเลย ยังนึกรู้สึกสนุก ได้จดหมายเรื่องราวมาที่หญิงน้อย เมื่ออยากทราบก็ให้ขอดูเถิด สยามินทร์”

จมในละอองฝุ่นและหมอกควันพิษ ภาพสะท้อนจากอดีต ด้วยความคิดเอาแต่ได้

ในวันที่ผมนั่งพิมพ์เรื่องจริง เรื่องนี้อยู่ กรุงเทพฯ และหลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทยคงพ้นจากวิกฤติฝุ่น PM2.5 กันไปบ้างแล้วหลังจากเผชิญหน้ากันมาเกือบ 2 สัปดาห์ เนื่องจากอิทธิพลของลมกำลังแรงพัดมาจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือทำให้อุณหภูมิลดลง และฝุ่นพิษถูกพัดไปทางด้านประเทศเมียนมา 

ในประวัติศาสตร์ โลกของเราได้เผชิญปรากฏการณ์จากละอองฝุ่นควันพิษมาแล้วหลายครั้ง โดยฝุ่นและควันพิษเหตุแรก ๆ นั้นเกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น บันทึกของชาวบาบิโลเนียนกว่า 2,500 ปี ระบุว่าพวกเขาเผาน้ำมันแทนไม้ ชาวจีนในช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นชนชาติแรกที่ทำเหมืองถ่านหินและขุดบ่อก๊าซธรรมชาติ แต่ชาติที่ต้องเผชิญมหันตภัยจากฝุ่นพิษอย่างหนักหน่วงที่สุดชาติแรกในโลกคือ สหราชอาณาจักร 

ต้องยอมรับก่อนว่าในฤดูหนาวนั้นสหราชอาณาจักรค่อนข้างสาหัสพอสมควร การเผาเพื่อสร้างความอบอุ่นหรือประโยชน์ในด้านพลังงานอื่น ๆ เป็นสิ่งจำเป็น จนกระทั่งพวกเขาได้มารู้จักถ่านหินซึ่งให้ความร้อนสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น ๆ แต่ใช่ว่าในเบื้องแรกพวกเขาจะไม่ตระหนักถึงหมอกควันที่เกิดจากการเผาถ่านหิน เพราะมีบันทึกว่าในปี ค.ศ. 1272 ได้มีประกาศจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ห้ามเผาถ่านหินเนื่องจากหมอกและควันที่เกิดขึ้นนั้นสร้างมลภาวะให้เกิดขึ้นกับชาวลอนดอน โดยคาดโทษถึงประหารชีวิต แต่นั่นก็ไม่สามารถควบคุมได้จริง เพราะประชาชนจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่น 

จนมาในศตวรรษที่ 19 สหราชอาณาจักร ได้กลายมาเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ของโลก เพราะในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ่านหินคือพลังงานปัจจัยหลักที่อยู่ในเกือบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องจักรไอน้ำ เป็นแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้า อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหาร เครื่องทำความร้อนในบ้าน ผสมกับภาพปกติของกรุงลอนดอนนั้นมักจะถูกหมอกปกคลุมทั่วเมืองเป็นที่คุ้นเคย ยิ่งอากาศหนาวเย็นลงเท่าไหร่ บ้านเรือนต่าง ๆ ก็โหมใช้ถ่านหินมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการนำเอาถ่านหินคุณภาพต่ำมาใช้กันเป็นวงกว้าง ซึ่งถ่านหินเหล่านี้มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในปริมาณสูง และยังมีคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ รวมไปถึงสารพิษต่างๆ เมื่อหมอกผสานกับละอองฝุ่นพิษจึงไม่เป็นที่สนใจหรือระแวดระวัง เพราะมันค่อย ๆ สะสมที่ละเล็กน้อยยังไม่เห็นเป็นภาพใหญ่อย่างชัดเจน อีกทั้งละอองฝุ่นและหมอกควันพิษตามปกติก็จะลอยไปในอากาศ ก่อนจะถูกลมพัดพาไปที่อื่น 

จนมาถึงในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1952 ลอนดอนในเวลานั้นต้องเผชิญกับภาวะความกดอากาศสูง 'anticyclone' ก่อให้เกิดความผกผันของอุณหภูมิ อากาศร้อนถูกดันขึ้นด้านบน แทนที่ด้วยอากาศเย็นที่ควบแน่นไอน้ำเกิดเป็นหมอก ปกคลุมกรุงลอนดอนเหมือนถูกครอบด้วยโดมขนาดใหญ่ ด้านบนก็ไม่มีลมพัด ทำให้อากาศและสารพิษต่างๆ ถูกกดกักไว้ ไม่สามารถลอยตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าด้านบน ทำให้เกิดอนุภาคคงค้างอยู่ในอากาศผสมกับหมอกปกติเกิดเป็นหมอกฝุ่นพิษสีอมเหลืองที่เรียกว่า 'หมอกซุปถั่ว' (Pea-Soupers) ที่สร้างปัญหาทางระบบหายใจให้ผู้คนในลอนดอน อีกทั้งยังเกิดเป็นหมอกปกคลุมจนลดวิสัยทัศน์เหลือเพียงแค่การมองเห็นเพียงไม่กี่เมตร ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 9 ธันวาคม ค.ศ. 1952 เพียงแค่ 5 วัน แต่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 12,000 คน เหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่า 'Great Smog of London' ซึ่งส่งผลกระทบต่อสหราชอาณาจักรมาอีกหลายปี 

'Great Smog of London' เกิดขึ้นในยุคของนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ว่ากันว่าก่อนจะเกิดเหตุ เอกสารรายงานที่เตือนถึงสถานการณ์ไม่ได้ถูกส่งถึงเชอร์ชิล แต่กลับถูกส่งไปยังผู้นำฝ่ายค้านโดยหนึ่งในทีมงานเลขาที่เปหนอนบ่อนไส้ของเชอร์ชิล เพื่อหวังจะใช้โจมตีเขาให้ลงจากตำแหน่ง ขณะนั้นเขาอายุ 78 ปีแล้ว แต่ยังกุมอำนาจการบริหารไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ การเอาสถานการณ์นี้มาใช้ลดแรงสนับสนุนจึงเป็นอาวุธสำคัญ เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีเฒ่าแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกทาง ซึ่งมันก็ได้ผล เพราะนักการเมืองในสภา บุคลากรทางสาธารณสุข ประชาชนบางส่วน เริ่มตั้งคำถามซ้ำเติมด้วยการโจมตีของสื่อ และนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ว่าตัวเขาน่าจะแก่จนทำให้เชื่องช้า เงอะงะ เกินกว่าจะมาแก้ไขสถานการณ์แล้วกระมัง 

แต่มีเรื่องเล่ากันว่าหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปอยู่หลายวัน เจ้าหน้าที่หลายคนของเชอร์ชิลได้หายหน้าไปจากบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ซึ่งเขาได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่หลายคนต้องไปโรงพยาบาลเนื่องจากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ และบางคนได้ประสบอุบัติเหตุจากสภาพวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทีมเลขาของเขาที่ต้องเสียชีวิตลงเพราะอุบัติเหตุ เขาจึงได้เดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง เพื่อไปให้เห็นกับตาว่าเจ้าฝุ่นพิษจากหมอกควันที่เขามองว่าธรรมดานั้นเป็นตัวการก่อให้เกิดมหันตภัยกับผู้คนจริงหรือไม่? 

นับว่าการตัดสินไปโรงพยาบาลของเชอร์ชิลในครั้งนั้นได้ตอบคำถามให้กับเขา เพราะเขาได้ไปพบความโกลาหลของแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการสูดละอองฝุ่นพิษเข้าไป และผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากอุบัติเหตุ การปล้นจี้ ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงร่างของผู้เสียชีวิตที่มีอยู่จำนวนมาก จากภาพที่ประสบต่อหน้า ทำให้เขาตัดสินใจแถลงข่าวในทันที โดยเขาได้สั่งการให้เพิ่มงบประมาณและจำนวนบุคลากรภายในสถานพยาบาล ยุติการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดการปล่อยฝุ่นควันสู่อากาศชั่วคราว ปิดโรงเรียน และหยุดสถานประกอบการในบางส่วนเพื่อให้ลดการสูญเสีย 

อ่านกันเพลิน ๆ เหมือน วินสตัน เชอร์ชิล จะเป็นฮีโร่ ซึ่งในข้อมูลหลายชุดก็ไม่ได้ชี้ชัดว่านายกรัฐมนตรีของอังกฤษท่านนี้รู้หรือไม่รู้ถึงปัญหา ถ้าไม่รู้ก็น่าจะพิจารณาได้จากปัญหาอยู่ตรงหน้า แต่กลับเลือกที่จะเมินเฉยเพราะมองว่าสถานการณ์ไม่ได้รุนแรง ถ้ารู้ซึ่งผมเชื่อว่าคนระดับนี้เขาน่าจะรู้เรื่องของละอองฝุ่นและหมอกควันพิษมาตั้งแต่เริ่ม แต่กำลังดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากไปแก้ไขแล้วแก้ไม่ถูกจุด แก้ไม่ได้ก็อาจจะทำให้เขากลายเป็นเป้าของนักการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งเอาสุขภาพของประชาชนมาเป็นตัวประกัน หรือถ้าสถานการณ์มันคลี่คลายไปก่อนที่เขาจะทำอะไร ก็เท่ากับไปสร้างปัญหากับเรื่องธรรมดาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สรุปคือเมื่อเวลาสุกงอมจนได้ที่เขาก็เลยมาจัดการปัญหา ซึ่งปัญหาที่เขาจัดการคือเรื่องของ 'จิตใจ' ที่จัดการด้วยธรรมชาติไม่ได้ ไม่ใช่ 'ละอองฝุ่นและหมอกควันพิษ' ที่เขาน่าจะรู้แล้วว่า 'ลม' จะมาจัดการให้หายไป 

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมาย Clean Air Act (1956) เพื่อควบคุมการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรมและส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น มีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ถ่านหิน จำกัดการเผาถ่านหินในเขตเมือง ส่งเสริมการให้เกิดการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทางเลือก แต่กระนั้นผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็สั่นคลอนเสถียรภาพด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักรมาอีกหลายปี

ครบรอบ 57 ปี ปฏิบัติการ ‘Blue House raid’ ภารกิจลับเกาหลีเหนือส่งทีมลอบสังหารผู้นำเกาหลีใต้

เหตุการณ์ประกาศกฎอัยการศึก (Martial law) ของ Yoon Suk Yeol ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้สร้างความตกตะลึงให้กับชาวเกาหลีใต้ ทำให้นึกถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของสองเกาหลี นั่นก็คือ ‘Blue House raid’ (หรือที่เรียกในเกาหลีใต้ว่า เหตุการณ์วันที่ 21 มกราคม) เป็นปฏิบัติการบุกทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (Blue House) โดยหน่วยคอมมานโดของเกาหลีเหนือเพื่อสังหาร Park Chung-hee ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น ณ ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือ Blue House ในวันที่ 21 มกราคม 1968 ผลก็คือ หน่วยกล้าตายของกองทัพประชาชนเกาหลี (The Korean People's Army : KPA) ทั้ง 31 นาย ถูกสังหาร จับกุม หรือหลบหนี และตัวประธานาธิบดี Park Chung-hee เองไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด

พลตรี Park Chung-hee (บิดาของ Park Geun-hye ประธานาธิบดีคนที่ 11 ของเกาหลีใต้) ได้ยึดอำนาจรัฐของเกาหลีใต้ด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 1961 และปกครองในฐานะเผด็จการทหารจนถึงการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 3 ของเกาหลีใต้ในปี 1963 Blue House raid เกิดขึ้นในบริบทของความขัดแย้งในเขต DMZ (เขตปลอดทหาร) ของสองเกาหลี (ระหว่าง ปี 1966–69) หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเกาหลีใต้ในปี 1967 ผู้นำเกาหลีเหนือได้สรุปว่า การต่อต้านภายในประเทศของ Park Chung-hee ไม่ได้ถือเป็นการท้าทายต่อการปกครองของเขาอีกต่อไป ในวันที่ 28 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 1967 คณะกรรมการกลางแห่งพรรคแรงงานแห่งเกาหลีได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือในขณะนั้นจึงแจ้งให้คณะทำงาน "เตรียมให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือในการต่อสู้ของพี่น้องชาวเกาหลีใต้ของเรา" ภายในเดือนกรกฎาคมนั้นเอง หน่วยปฏิบัติการพิเศษคือ หน่วย 124 ซึ่งพึ่งจัดตั้งขึ้นได้ไม่นานของกองทัพประชาชนเกาหลี (KPA) ก็ได้รับมอบหมายให้ทำการลอบสังหาร Park Chung-hee ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้

การตัดสินใจครั้งนี้อาจเป็นผลจากข้อเท็จจริงที่ว่าในปี 1967 กำลังทหารของสหรัฐฯเข้าสู่สงครามเวียดนาม ภายใต้สถานการณ์ที่กองทัพสหรัฐฯต้องทุ่มเทกับสงครามในเวียดนามใต้ จึงน่าจะไม่สามารถใช้มาตรการตอบโต้เกาหลีเหนือได้โดยสะดวก ในปี 1965-68 ความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ - เวียดนามเหนือใกล้ชิดมาก และเกาหลีเหนือยังให้ความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจแก่เวียดนามเหนืออีกด้วย การโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงการจู่โจมของหน่วยกล้าตายในฐานะขบวนการกองโจรต่อต้านของเกาหลีใต้ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกองกำลังเวียดกงในเวียดนามใต้

เกาหลีเหนือเตรียมการด้วยการจัดชายหนุ่ม 31 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ KPA ให้สังกัดในหน่วย 124 ซึ่งเป็นหน่วยคอมมานโดปฏิบัติการพิเศษ และได้รับการฝึกฝนเป็นเวลาแรมปี และใช้เวลา 15 วันสุดท้ายในการฝึกซ้อมปฏิบัติการตามวัตถุประสงค์ด้วยการจำลอง Blue House เพื่อการฝึกแบบเต็มรูปแบบ ชายที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนในการแทรกซึมและเทคนิคการขุดเจาะ อาวุธศึกษา การเดินเรือ การปฏิบัติการทางอากาศ การแทรกซึมแบบสะเทินน้ำสะเทินบก การต่อสู้ด้วยมือเปล่า (โดยเน้นการต่อสู้ด้วยมีด) และการปกปิดซ่อนพราง Kim Shin-jo หนึ่งในสองสมาชิกของหน่วย 124 ผู้รอดชีวิตกล่าวว่า "มันทำให้เราไม่กลัว เพราะไม่มีใครคิดจะมองหาศพเราในสุสาน" การฝึกของพวกเขาหนัก เข้มงวด และมักจะอยู่ในสภาพที่โหดร้าย เช่น การวิ่งด้วยความเร็ว 13 กม. / ชม. (8 ไมล์ต่อชั่วโมง) พร้อมกับสัมภาระหนัก 30 กก. (66 ปอนด์) บนพื้นที่ที่ขรุขระ ซึ่งบางครั้งการฝึกดังกล่าวทำให้เกิดการบาดเจ็บตามเท้าและนิ้วเท้า

ปฏิบัติการโจมตี เริ่มขึ้นด้วยการแทรกซึม วันที่ 16 มกราคม 1968 หน่วย 124 ได้ออกจากค่ายทหารที่ตั้งของหน่วย 124 ที่เมือง Yonsan ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 1968 เวลา 23.00 น. พวกเขาลักลอบเข้าไปในเขตปลอดทหารโดยตัดผ่านรั้วลวดหนามของกองพลทหารราบที่ 2 กองทัพบกสหรัฐฯ พอถึงเวลาตี 2 ของวันรุ่งขึ้นพวกเขาจึงได้ตั้งแคมป์ที่ Morae-dong และ Seokpo-ri ในวันที่ 19 มกราคมเวลา 5.00 น. หลังจากข้ามแม่น้ำ Imjin แล้วก็ตั้งแคมป์พักบนภูเขา Simbong เวลา 14.00 น. มีพี่น้อง Woo สี่คนจาก Beopwon-ri พากันมาตัดฟืนและเดินเข้ามาในที่ตั้งของหน่วย 124 หลังจากการถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าจะฆ่าพี่น้องสี่คนหรือไม่ ที่สุดจึงตกลงใจที่จะทำการอบรมปลูกฝังลัทธิคอมมิวนิสต์ให้แก้พี่น้องสี่คนนี้ และปล่อยตัวทั้งสี่ไปพร้อมคำเตือนอย่างหนักแน่นว่า ห้ามแจ้งตำรวจ อย่างไรก็ตามพี่น้องสี่คนเมื่อถูกปล่อยตัวก็ได้แจ้งการปรากฏตัวของหน่วย 124 ทันทีที่สถานีตำรวจ Changhyeon ในเมือง Beopwon-ri หลังจากหน่วย 124 ได้รื้อที่พักและเพิ่มความเร็วฝีเท้าเป็นมากกว่า 10 กม. / ชม. โดยแบกยุทโธปกรณ์คนละ 30 กก. ข้ามภูเขา Nogo และมาถึงภูเขา Bibong ในวันที่ 20 มกราคม เวลา 07.00 น. ทหาร 3 กองพันจากกองพลทหารราบที่ 25 ของเกาหลีใต้เริ่มค้นหาผู้แทรกซึมบนภูเขา Nogo แต่หน่วย 124 ได้ออกจากพื้นที่ไปแล้ว เมื่อหน่วย 124 เข้าสู่กรุงโซลในคืนวันที่ 20 มกราคมจึงได้แบ่งเป็นหน่วยย่อยเล็ก ๆ ชุดละ 2 - 3 นาย และมารวมกลุ่มกันใหม่ที่วัด Seungga-sa ที่ซึ่งพวกเขาได้เตรียมการขั้นสุดท้ายสำหรับการโจมตี

ในขณะเดียวกันกองบัญชาการสูงสุดของเกาหลีใต้ได้เพิ่มกำลังทหารจากกองทหารพลราบที่ 30 และกองพลทหารพลร่มในการค้นหา และตำรวจเกาหลีใต้ก็เริ่มค้นหาตามเขต Hongje-dong, เขต Jeongreung และภูเขา Bukak ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้นำมาใช้ทั่วกรุงโซล หัวหน้าหน่วย 124 จึงตระหนักว่า แผนเดิมของพวกเขามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จน้อยมาก จึงได้มีการปรับแผนใหม่ ด้วยการเปลี่ยนมาสวมเครื่องแบบกองทัพบกเกาหลีใต้ (ROKA) ของกองพลทหารราบที่ 26 พร้อมด้วยเครื่องอิสริยาภรณ์ประจำหน่วยซึ่งพวกเขานำมาด้วยอย่างถูกต้อง พวกเขาจัดกำลังและเตรียมที่จะเดินขบวนในช่วงสุดท้ายไปยัง Blue House โดยสวมรอยเป็นทหารเกาหลีใต้ที่กลับมาจากการลาดตระเวนต่อต้านการแทรกซึม เมื่อหน่วย 124 เดินเท้าไปตามถนน Segeomjeong ใกล้กับเขต Jahamun มุ่งหน้าไปยัง Blue House ระหว่างทางได้ผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และที่ตั้งทางทหารของ ROKA หลายหน่วย

เวลา 22.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 1968 หน่วย 124 ได้เข้าใกล้จุดตรวจ Segeomjeong – Jahamun ห่างจาก Blue House เพียงไม่ถึง 100 เมตร ก็ถูกสารวัตร Jongro Choi Gyushik หัวหน้าตำรวจซึ่งเดินเข้ามายังจุดที่หน่วย 124 กำลังเดินเท้าอยู่ และเริ่มตั้งคำถามกับพวกเขา คำตอบของสมาชิกหน่วย 124 ทำให้สารวัตร Choi Gyushik สงสัยจึงชักปืนพกออกมา แต่ถูกสมาชิกของหน่วย 124 ยิงก่อน จากนั้นก็เริ่มทำการยิงและขว้างระเบิดใส่จุดตรวจ หลังจากยิงต่อสู้กันหลายนาที หน่วย 124 ก็ได้สลายตัวแยกย้ายกันไป โดยบางส่วนมุ่งหน้าไปที่ภูเขา Inwang ภูเขา Bibong และ ภูเขา Uijeongbu สารวัตร Choi Gyushik และ Jung Jong-su รองสารวัตรเสียชีวิตระหว่างการยิงปะทะ สมาชิกหน่วย 124 นายหนึ่งถูกจับแต่พยายามฆ่าตัวตาย กว่าจะผ่านคืนนี้ไปมีชาวเกาหลีใต้ 92 คนต้องกลายเป็นผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุปะทะ ในจำนวนนี้มีพลเรือนราว 24 คนที่ติดอยู่บนรถบัสท่ามกลางห่ากระสุน วันที่ 22 มกราคม 1968 ทหารจากกองพลที่ 6 กองทัพบกเกาหลีใต้ได้เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่เพื่อจับกุม/สังหารสมาชิกของหน่วย 124 โดยทหารจากกรมทหารที่ 92 กองพลทหารราบที่ 30 จับกุม Kim Shin-jo ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในบ้านของชาวบ้านใกล้ภูเขา Inwang ทหารจากกองพันที่ 30 กองบัญชาการป้องกันเมืองหลวงได้สังหารหน่วยคอมมานโดอีก 4 นายในเขต Buam-dong และบนภูเขา Bukak

วันที่ 23 มกราคม 1968 ทหารจากกองพันทหารช่างสังกัดกองพลทหารราบที่ 26 ได้สังหารคอมมานโด 124 นายหนึ่งบนภูเขา Dobong และวันที่ 24 มกราคม 1968 ทหารจากกองพลทหารราบที่ 26 และทหารกองพลที่ 1 ได้สังหารหน่วยคอมมานโด 124 อีก 12 นายใกล้เมือง Seongu-ri วันที่ 25 มกราคมหน่วยคอมมานโด 3 นายถูกสังหารใกล้เมือง Songchu วันที่ 29 มกราคม หน่วยคอมมานโดอีก 6 นายถูกสังหารใกล้ภูเขา Papyeong ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในระหว่างการพยายามลอบสังหารครั้งนี้ประกอบด้วย ฝ่ายเกาหลีใต้มีผู้เสียชีวิต 26 คน และบาดเจ็บ 66 คน (พลเรือน 24 คน) ทหารอเมริกัน 4 นายถูกสังหารจากความพยายามที่จะสกัดกั้นผู้แทรกซึมที่พยายามหลบหนีด้วยการข้ามเขตปลอดทหาร สมาชิก 31 นายของหน่วย 124 ถูกสังหารไป 29 นาย Kim Shin-jo ถูกจับ ส่วนอีกคน Pak Jae-gyong สามารถหลบหนีกลับเกาหลีเหนือได้ ศพของสมาชิกหน่วย 124 ที่เสียชีวิตถูกฝังในสุสานทหารเกาหลีเหนือและจีนในเกาหลีใต้

วันที่ 22 มกราคม 1968 กองบัญชาการสหประชาชาติ (UNC) ประจำเกาหลีใต้ ได้ขอให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการสงบศึกทางทหาร (MAC) เพื่อหารือเกี่ยวกับการโจมตีครั้งนี้ UNC ขอให้มีการประชุมในวันที่ 23 มกราคม แต่เกาหลีเหนือขอให้เลื่อนออกไปอีกหนึ่งวัน และในวันเดียวกันนั้นเอง เกาหลีเหนือก็ได้ยึดเรือ USS Pueblo (AGER-2) ของกองทัพเรือสหรัฐฯเอาไว้ ดังนั้นการประชุม MAC ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคมจึงไม่เพียงเป็นการพูดคุยหารือกับเรื่องของการโจมตี Blue House เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจับกุมเรือ USS Pueblo โดยเกาหลีเหนืออีกด้วย การยึดเรือ USS Pueblo ทำให้สหรัฐฯและนานาชาติต้องหันความสนใจจาก Blue House raid ไปในระดับหนึ่ง อีกทั้ง Blue House raid เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่การรบที่ Khe Sanh เริ่มต้นขึ้นในเวียดนามใต้ และวันที่ 31 มกราคมเกิดการโจมตีที่เรียกว่า ‘การรุกใหญ่ตรุษญวน (Tet Offensive)’ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วเวียดนามใต้ ทำให้การสนับสนุนของสหรัฐฯเกาหลีใต้ในการตอบโต้เกาหลีเหนือจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ในกรุงไซ่ง่อนกองกำลังเวียดกงได้พยายามลอบสังหาร NguyễnVệnThiệu ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ที่ Independence Palace (ทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้) แต่ถูกตีโต้กลับอย่างรวดเร็ว 

ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่า ความคล้ายคลึงกันของการโจมตีทั้งสองจุด โดยหน่วยคอมมานโดในจำนวนใกล้เคียงกัน (31 นายในกรุงโซลและ 34 นายในกรุงไซง่อนตามลำดับ) ได้อนุมานว่า ผู้นำเกาหลีเหนือมีความเข้าใจในการปฏิบัติการทางทหารของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ดังนั้นจึงอาจมีความเกี่ยวข้องและต้องการใช้ประโยชน์จากผลการรบในสงครามเวียดนามด้วย ประธานาธิบดี Johnson มองว่าการยึด USS Pueblo และกำหนดเวลาของ ‘การรุกใหญ่ตรุษญวน’ น่าจะมีการประสานงานกันเพื่อเบี่ยงเบนทรัพยากรของสหรัฐฯไปจากเวียดนามใต้ และเป็นการบีบบังคับให้เกาหลีใต้ถอนทหารบกสองกองพลและทหารนาวิกโยธินอีกหนึ่งกรมออกจากเวียดนามใต้ นายพล Charles H. Bonesteel III ผบ. กองกำลังสหรัฐฯประจำเกาหลีใต้ในขณะนั้น กลับเห็นต่างจากประธานาธิบดี Johnson ด้วยว่า เขามองไม่เห็นความเกี่ยวข้องดังกล่าว เขามองว่า Blue House raid ได้รับการวางแผนไว้ในระดับลับสูงสุดในเกาหลีเหนือ ในขณะที่การยึด USS Pueblo ดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ ด้วยเพราะเป็นจังหวะที่เกาหลีเหนือได้โอกาสจึงฉวยเอาไว้ได้พอดี

เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการ Blue House raid รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดตั้งหน่วย 684 โดยใช้กำลังจากบรรดานักโทษฉกรรจ์ เพื่อที่จะลอบสังหาร Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือ โดยแลกกับอิสรภาพ อย่างไรก็ตามหลังจากการปรับปรุงความสัมพันธ์ภายในของสองเกาหลี ซึ่งเริ่มหันมาพูดคุยกันด้วยสันติวิธีมากขึ้น ภารกิจการลอบสังหารของหน่วยนี้ก็ถูกยกเลิก และในปี 1971 และพยายามกำจัดหน่วยนี้ทิ้ง เพื่อให้ภารกิจเป็นความลับ จึงทำให้สมาชิกของหน่วย 684 ส่วนใหญ่ถูกสังหาร ในเดือนพฤษภาคม ปี 1972 Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือได้แสดงความเสียใจต่อ Lee Hu-rak หัวหน้าสำนักงานข่าวกรองกลางเกาหลี (KCIA) ระหว่างการประชุมร่วมกันในกรุงเปียงยาง โดยอ้างว่า “Blue House raid เป็นปฏิบัติการที่ถูกวางแผนโดยฝ่ายซ้ายสุดโต่งและไม่ได้สะท้อนถึงเจตนาของเขาหรือของพรรคเลย” หลังจากประธานาธิบดี Park Chung-hee รอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารอื่น ๆ อีกหลายครั้ง และ Yuk Young-soo ภรรยาผู้เป็นมารดาของ Park Geun-hye ประธานาธิบดีคนที่ 11 ของเกาหลีใต้ก็เสียชีวิตจากความพยายามในการลอบสังหารเขาเมื่อ 15 สิงหาคม 1974 ในที่สุดประธานาธิบดี Park Chung-hee ก็ถูก Kim Jae-gyu ผู้อำนวยการ KCIA ยิงเสียชีวิตในปี 1979 ด้วยสาเหตุที่ยังไม่ชัดเจนจนทุกวันนี้ว่า นี่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเองหรือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำรัฐประหารโดยหน่วยข่าวกรองหรือไม่

Kim Shin-jo หนึ่งในสองผู้รอดชีวิตสมาชิกของหน่วย 124 ซึ่งเป็นสมาชิกคนเดียวของหน่วยฯที่ถูกทางการเกาหลีใต้จับไว้ได้ ถูกทางการเกาหลีใต้สอบปากคำเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว และหลังจากที่เขาได้กลายเป็นพลเมืองของเกาหลีใต้ในปี 1970 พ่อแม่ของเขาก็ถูกประหารชีวิต และทางการเกาหลีเหนือได้ทำการกวาดล้างจับกุมญาติพี่น้องของเขาทั้งหมด ต่อมา Kim Shin-jo ได้กลายเป็นศิษยาภิบาลของโบสถ์ Sungrak Sambong ในจังหวัด Gyeonggi-do เขาแต่งงาน มีบุตรสองคน และยังคงใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ในเกาหลีใต้จนทุกวันนี้

‘สารตะกั่ว’ คร่าชีวิตมนุษย์มหาศาลมากกว่าสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งรวมกัน

30 ปีก่อน น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เรือยนต์ และเครื่องบิน ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของ ‘สารตะกั่ว’ ซึ่งเป็นสารเคมีประเภทโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของการคร่าชีวิตมนุษย์ที่เกิดขึ้นด้วยความไม่รู้จนกลายเป็นความสมัครใจของประชาชนพลโลกทั้งหลาย การที่รถยนต์ซึ่งใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในซึ่งทำงานด้วยการระเบิดหรือเผาไหม้ส่วนผสมของเชื้อเพลิง โดยทั่วไปคือน้ำมันเชื้อเพลิงกับอากาศที่เกิดขึ้นภายในเครื่องยนต์ แล้วเกิด Oxidizing กระทั่งมีการขยายตัวจนแตกตัวภายในห้องเผาไหม้ ทำให้แรงระเบิดจากการเผาไหม้จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน ซึ่งเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในได้พลังงานจากการระเบิดดังกล่าวมาใช้ขับเคลื่อนตัวรถยนต์ แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1920 เมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์เฟื่องฟู รถยนต์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอนาคตแห่งความก้าวหน้าและความเป็นอิสระ แต่เครื่องยนต์ในยุคนั้นกลับมีปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นก็คือเครื่องยนต์มักจะเดินสะดุดจนมีอาการน็อคบ่อย ๆ เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงทำให้เครื่องยนต์สึกหร่อเร็วขึ้น ประหยัดน้ำมันน้อยลง และทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกรำคาญ

ในปี 1921 Thomas Midgley Jr. นักเคมีของบริษัท General Motors ค้นพบว่า การเติม ‘สารตะกั่ว’ (Tetraethyl Lead) ลงในน้ำมันเบนซินสามารถช่วยในเรื่องของการลดการสึกหรอ โดยเฉพาะบริเวณบ่าวาล์ว ช่วยเพิ่มออกเทน และที่สำคัญคือ เป็น 'สารป้องกันการน็อค' ช่วยลดปัญหาการชิงจุดระเบิดหรือ Knocking GM ทำให้แก้ไขปัญหาเครื่องยนต์น็อคได้ ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานราบรื่นขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์โดยเฉพาะสมรรถนะของเครื่องยนต์ ความก้าวหน้าครั้งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นการปฏิวัติวงการรถยนต์ในขณะนั้นเลยทีเดียว แต่สารตะกั่วกลับกลายเป็นมลพิษโดยเฉพาะกับเด็ก ๆ การใช้สารตะกั่วในน้ำมันเบนซินทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นอย่างมาก ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากน้ำมันเบนซินผสม ‘สารตะกั่ว’ เนื่องจากไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ความกังวลเหล่านี้จึงลดลงไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปี 1969 มีการศึกษาทางคลินิกครั้งแรกซึ่งแสดงให้เห็นว่า สารตะกั่วมีผลกระทบทางลบต่อมนุษย์อย่างมาก จากนั้น หลักฐานที่เกี่ยวกับขอบเขตของการได้รับพิษจาก ‘สารตะกั่ว’ และความเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพทางปัญญาที่ไม่ดีในเด็กก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาพิษจากสารตะกั่วในเด็กได้สรุปไว้ว่า “แนวคิดในการเติมสารตะกั่วลงในน้ำมันเบนซินใช้เวลาเพียง 2 ปี แต่ต้องใช้เวลาถึง 60 ปีในการเลิกเติมสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน” 

เพื่อตอบสนองต่อปัญหานี้ ในช่วงทศวรรษปี 1970 หลายประเทศจึงเริ่มเลิกใช้น้ำมันเบนซินผสมตะกั่ว ตัวอย่างเช่น สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกแนวปฏิบัติเพื่อลดปริมาณตะกั่วในปี 1983 แต่กว่าที่ญี่ปุ่นจะได้เป็นประเทศแรกที่ห้ามใช้สารตะกั่วทั้งหมดก็ต้องรอจนถึงปี 1986 ซึ่งเป็นเวลาหกทศวรรษหลังจากที่ได้มีการเติมสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน และในปี 2021 สามทศวรรษครึ่งต่อมา แอลจีเรียได้กลายเป็นประเทศสุดท้ายที่ห้ามใช้สารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน ดังนั้น ปัจจุบันทุกประเทศบนโลกใบนี้ได้เลิกใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วหมดแล้ว ตลอดระยะเวลาการใช้น้ำมันเบนซินที่เติม ‘สารตะกั่ว’ แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เลือกที่จะเพิกเฉยทั้ง ๆ ที่สารตะกั่วเป็นสารพิษต่อระบบประสาทตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การใช้น้ำมันเบนซินผสมสารตะกั่วอย่างแพร่หลายส่งผลให้มีการปล่อยไอตะกั่วจำนวนมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ เด็ก ๆ เป็นกลุ่มที่เปราะบางเป็นพิเศษ โดยเด็ก ๆ หลายล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากความบกพร่องทางสติปัญญา ความล่าช้าในการพัฒนา และปัญหาด้านพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส ‘สารตะกั่ว’ คนหลายชั่วอายุคนได้สูดดมควันพิษจากสารตะกั่วเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาการตกค้างของมลพิษจากสารตะกั่วเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังยาวนาน ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรได้เลิกการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ที่เติม ‘สารตะกั่ว’ อันเป็นแหล่งที่มาหลักของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมช่วงศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ปี 1999 แล้ว แต่การค้นพบในบทความวิจัย ‘Strong evidence for the continued contribution of lead deposited during the 20th century to the atmospheric environment in London of today‘ พบว่า แม้ผ่านมาแล้วเกินกว่า 20 ปี ยังคงมีอนุภาคของสารตะกั่วในอดีตหลงเหลืออยู่ในอากาศของมหานครลอนดอนจนถึงปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยได้ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซินชนิดที่มีสารตะกั่วทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1996 (พ.ศ. 2539) เป็นต้นมา 

แม้ว่าจะมีการยกเลิกการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ที่เติมสารตะกั่วแล้วก็ตาม แต่ยังโลกก็ยังคงเผชิญพิษภัยจาก ‘สารตะกั่ว’ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ทุกปี จะมีผู้เสียชีวิตจากพิษของ ‘สารตะกั่ว’ ประมาณ 1 ล้านคน และล้มป่วยอีกหลายล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก การสัมผัสกับตะกั่วแม้ในระดับต่ำจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตลอดชีวิต รวมทั้งโรคโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง พิษต่อภูมิคุ้มกัน และความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ผลกระทบต่อระบบประสาทและพฤติกรรมจากตะกั่วอาจไม่สามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า ควรระบุแหล่งที่มาของการสัมผัสตะกั่ว และดำเนินการเพื่อลดและยุติการสัมผัสสำหรับบุคคลที่มีระดับตะกั่วในเลือดมากกว่า 5ug/dl ไม่มีระดับการสัมผัสสารตะกั่วที่ปลอดภัยจึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของเด็ก องค์การยูนิเซฟประมาณการว่า เด็ก 1 ใน 3 คน หรือประมาณ 800 ล้านคนทั่วโลก มีระดับสารตะกั่วในเลือดอยู่ที่ 5 µg/dl ขึ้นไป และจำเป็นต้องดำเนินการทั่วโลกทันทีเพื่อแก้ไขปัญหานี้ 

สารตะกั่วเป็นพิษต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายหลายระบบ รวมถึงระบบประสาทส่วนกลางและสมอง ระบบสืบพันธุ์ ไต ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบเลือด และระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ความพิการทางสติปัญญาที่ไม่ทราบสาเหตุร้อยละ 30 โรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 4.6 และโรคไตเรื้อรังร้อยละ 3 เกิดจากการรับสารตะกั่วเข้าไปในร่างกาย โดยมีแหล่งรับสารตะกั่วจำนวนมากในสถานประกอบการอุตสาหกรรม เช่น การทำเหมืองและการหลอมโลหะ การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด ระบบประปา และกระสุนปืน และในสถานที่ที่อาจทำให้เด็กและวัยรุ่นได้รับสารตะกั่วได้โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ การสัมผัสสารตะกั่วยังสามารถเกิดขึ้นได้ในสถานที่ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม เช่น สีตะกั่วที่พบได้ใน บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล และสนามเด็กเล่น เด็ก ๆ อาจกลืนเอาเศษและฝุ่นจากของเล่นหรือพื้นผิวที่เคลือบตะกั่ว หรือสัมผัสสารตะกั่วผ่านเซรามิกเคลือบตะกั่ว ยาแผนโบราณและเครื่องสำอางบางชนิด แหล่งการสัมผัสสารตะกั่วที่สำคัญ ได้แก่ การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากการรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรดและจากการทำเหมืองและหลอมตะกั่วที่ควบคุมได้ไม่ดี การใช้สารรักษาแบบดั้งเดิมที่มี ‘สารตะกั่ว’ เคลือบเซรามิกที่มีสารตะกั่วที่ใช้ในภาชนะบรรจุอาหาร ท่อน้ำที่มีสารตะกั่วและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มีสารตะกั่วในระบบจ่ายน้ำ และสีที่มี ‘สารตะกั่ว’ องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า สารตะกั่วเป็นสารเคมี 1 ใน 10 ชนิดที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพสาธารณะ ซึ่งประเทศสมาชิกจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของคนงาน เด็ก และสตรีวัยเจริญพันธุ์ และได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ห้ามใช้สีที่มี ‘สารตะกั่ว’ ให้มีการระบุและกำจัดแหล่งที่มาของสารตะกั่วทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารตะกั่วในทางที่ผิด และป้องกันการรับพิษจาก ‘สารตะกั่ว’ 

สำหรับประเทศไทย มีการดำเนินงานการเฝ้าระวังสารตะกั่วอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ภาคกลางดำเนินงานในกลุ่มเด็กพื้นที่คลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มอาชีพหล่อพระพุทธรูป จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่จังหวัดระยอง ดำเนินงานในศูนย์เด็กเล็ก พื้นที่ภาคเหนือ การปนเปื้อนตะกั่วจากหม้อแบตเตอรี่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกลุ่มประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำรางน้ำฝน หรือพื้นที่ภาคใต้ในกลุ่มเด็กเล็กที่ผู้ปกครองประกอบอาชีพมาดอวน เป็นต้น โดยมีการเก็บตะกั่วบนพื้นผิวในบ้าน เจาะเลือดเด็กเพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลักษณะการดำเนินงานเป็นการดำเนินงานเชิงรุก ซึ่งสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยบริการสุขภาพภายใต้กระทรวงสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ได้เข้าไปดำเนินการ ทำให้พบว่า มีเด็กในวัย 0-5 ปีราว 29% สัมผัสปัจจัยเสี่ยง ‘สารตะกั่ว’ โดยส่วนใหญ่การสัมผัสจากแหล่งภายนอกบ้าน

ปัจจัยหลักในการรับสัมผัสสารตะกั่วของเด็ก ๆ ในสิ่งแวดล้อมเกิดจากการที่นำอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับตะกั่วเข้ามาใกล้ตัวเด็ก ๆ การที่ทำงานของผู้ใกล้ชิดเด็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตะกั่วโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการรับสัมผัสตะกั่ว เช่น การไม่เปลี่ยนชุดทำงาน อาบน้ำเมื่อเลิกงาน การเก็บสิ่งของที่ปนเปื้อนตะกั่วในที่พักอาศัย และอีกปัจจัยสำคัญ คือ พฤติกรรมของเด็กที่เสี่ยงต่อการรับสัมผัสตะกั่ว เช่น การชอบดูดนิ้ว จับสิ่งของเข้าปาก ไม่ล้างมือ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ดังนั้นจึงต้องมีการให้ความรู้ในการป้องกันและลดการรับสัมผัสตะกั่วเข้าสู่ร่างกายสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ปกครอง ครู/ครูพี่เลี้ยง และการจัดอบรมหลักสูตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และการลดการรับสัมผัสตะกั่วของเด็ก ๆ ในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กเล็ก เน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อจัดการไม่ให้ตะกั่วที่อยู่รอบตัวเข้าสู่ร่างกายของเด็ก ๆ ได้อีกต่อไป

เปิดเส้นทางมรณะ ‘Dunki Route’ ชาวอินเดียนับหมื่น แห่ลอบเข้าอเมริกา-ยุโรป เสี่ยงตายเพื่อฝัน

ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ณ เดือนพฤษภาคม 2024 จำนวนชาวอินเดียโพ้นทะเลทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 35.42 ล้านคน คิดเป็น 2.53% ของจำนวนพลเมืองอินเดียทั้งประเทศราว 1,400ล้านคน โดย 10 ประเทศที่มีชาวอินเดียอาศัยอยู่มากที่สุดไล่เรียงจากมากไปหาน้อยได้แก่ สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับฯ มาเลเซีย แคนาดา ซาอุดิอาระเบีย เมียนมา สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ ศรีลังกา และคูเวต ซึ่งเป็นการนับรวมทั้งผู้ที่ยังคงถือสัญชาติอินเดียและผู้ที่มีเชื้อชาติอินเดียแต่ไม่ได้ถือสัญชาติอินเดียแล้ว

ตัวเลขดังกล่าว น่าจะไม่ได้นับรวมชาวอินเดียที่ลักลอบเข้าประเทศเหล่านี้อย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก ซึ่งชาวอินเดียเหล่านั้นได้ลักลอบเข้าประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกด้วยเส้นทางที่เรียกว่า 'Dunki route' แปลได้ว่า 'ทางลาเดิน' คำนี้มีที่มาจากสำนวนภาษาปัญจาบ 'Dunki' นอกจากแปลว่า 'ลา' แล้วยังแปลว่า “กระโดดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง” เป็นชื่อเรียกเส้นทางที่ที่เด็ก ๆ หนุ่มสาว จากแคว้น Punjab, Haryana และ Gujarat เป็นเส้นทางผิดกฎหมายที่ผู้คนจำนวนมากใช้เพื่อข้ามพรมแดนออกจากอินเดียไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นเส้นทางที่อันตรายด้วยมีความเสี่ยงมากมาย เนื่องจากต้องอดอาหารหลายวัน เดินผ่านป่า ข้ามแม่น้ำและทะเล เพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่ เส้นทางผิดกฎหมายเหล่านี้ แม้จะว่า มักจะมีภัยคุกคามและจุดจบที่ไม่พึงปรารถนา แต่ก็เป็นที่นิยมในหมู่เยาวชนที่ต้องการชีวิตที่ดีขึ้นและไล่ตามความฝันแบบอเมริกัน (American dream)

ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ ผู้ย้ายถิ่นฐานจากอินเดียประมาณ 42,000 คนข้ามพรมแดนทางใต้โดยผิดกฎหมายระหว่างเดือนตุลาคม 2022 ถึงกันยายน 2023 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 เป็นต้นมาชาวอินเดียประมาณ 97,000 คนพยายามเข้าสู่สหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมายและถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้ง ๆ ที่เส้นทางไปสู่ประเทศต่าง ๆ อย่างผิดกฎหมายนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่เพียงแต่ในแง่ของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายทางการเงินด้วย การเดินทางด้วยลาไปยังสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายระหว่าง 150,000-400,000 รูปี (58,500-156,000) และอาจสูงถึง 700,000 รูปี (273,000) และยิ่งใช้เงินมากเท่าไหร่การเดินทางก็ยิ่งสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 150,000 รูปีสำหรับโปรตุเกส 250,000 รูปีสำหรับเยอรมนี และ 450,000 รูปีสำหรับสหรัฐอเมริกา

ขั้นตอนแรกของ 'Dunki route' ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากอินเดียไปยังประเทศในละตินอเมริกา เช่น เอกวาดอร์ โบลิเวีย กายอานา บราซิล และเวเนซุเอลา เหตุผลที่เลือกประเทศในละตินอเมริกาเป็นเส้นทางผ่านก็คือการที่ชาวอินเดียจะเข้าประเทศเหล่านี้ได้ง่ายกว่า ประเทศเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้วีซ่าเมื่อเดินทางมาถึง (Visa on arrival) แก่ชาวอินเดียเท่านั้น แต่ผู้ที่ต้องใช้วีซ่าก่อนเดินทางมาถึงก็สามารถขอวีซ่าท่องเที่ยวในอินเดียได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ นายหน้าที่จัดการการอพยพที่ผิดกฎหมายยังอาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้ซึ่งมี 'ความเชื่อมโยง' กับการค้ามนุษย์ที่ผิดกฎหมาย

เส้นทางอื่น ๆ ในบางกรณี นายหน้าจะจัดเตรียมวีซ่าตรงไปจากดูไบยังเม็กซิโก แต่การเข้าเมืองโดยตรงในเม็กซิโกถือเป็นอันตราย เนื่องจากมีโอกาสที่จะถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ดังนั้น นายหน้าส่วนใหญ่จึงส่งลูกค้าไปยังประเทศในละตินอเมริกาแล้วจึงพาพวกเขาไปที่โคลอมเบีย หลังจากมาถึงโคลอมเบีย ผู้อพยพจะเดินทางเข้าสู่ปานามา ซึ่งเส้นทางต้องข้ามช่องเขาดาริเอน ซึ่งเป็นป่าอันตรายระหว่างสองประเทศ ความเสี่ยง ได้แก่ ขาดน้ำสะอาด สัตว์ป่า และกลุ่มอาชญากร ซึ่งอาจนำไปสู่การปล้นและกระทั่งข่มขืน ในหนึ่งในกรณีที่ถูกรายงานระบุว่า ชาวอินเดียกลุ่มหนึ่งจาก Haryana ถูกขโมยเงิน โทรศัพท์ และแม้กระทั่งเสื้อผ้าและรองเท้า ขณะข้ามป่า พวกเขาต้องเดินเท้าเปล่าท่ามกลางความหนาวเย็นและหิมะ ใช้เวลาเดินทางแปดถึงสิบวัน และหากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นหรือผู้อพยพเสียชีวิต ก็ไม่มีทางที่จะส่งศพกลับบ้านได้

มีเส้นทางอื่นที่ปลอดภัยกว่าจากโคลอมเบีย ซึ่งผู้อพยพจะหลีกเลี่ยงป่าอันตรายในปานามา เส้นทางเริ่มต้นจากซานอันเดรส ซึ่งเรือประมงที่มีผู้อพยพผิดกฎหมายจะมุ่งหน้าไปยังฟิชเชอร์แมนส์เคย์ ซึ่งอยู่ห่างจากซานอันเดรสประมาณ 150 กิโลเมตร จากนั้นจึงเปลี่ยนเรืออีกลำเพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังเม็กซิโก จากปานามา ผู้อพยพจะมุ่งหน้าไปยังเม็กซิโกเพื่อเข้าสู่ชายแดนสหรัฐฯ และกัวเตมาลาเป็นศูนย์กลางการประสานงานที่สำคัญในเส้นทางนี้ เม็กซิโกเป็นเส้นทางที่สำคัญในการเดินทาง เนื่องจากต้องหลบซ่อนจากหน่วยงานพิทักษ์ชายแดน พรมแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโกที่ยาว 3,140 กิโลเมตรที่กั้นระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโกออกจากกันมีรั้วกั้น ซึ่งผู้อพยพจะต้องกระโดดข้ามไป และผู้อพยพอื่น ๆ อีกจำนวนมากต้องข้ามแม่น้ำริโอแกรนด์ที่อันตราย อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพจำนวนมากถูกจับกุมหลังจากข้ามแม่น้ำริโอแกรนด์ แทนที่จะข้ามรั้วหรือเข้ามาทางทะเล

เส้นทางผ่านยุโรป ผู้อพยพจำนวนมากยังเลือกยุโรปแทนที่จะผ่านประเทศในละตินอเมริกา ถึงแม้ว่าการเดินทางผ่านยุโรปไปยังเม็กซิโกจะง่ายกว่า แต่เส้นทางนี้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยทางการของประเทศต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เริ่มจากการบินจากนิวเดลีไปยังฮังการี ซึ่งพวกเขาจะถูกกักขังในห้องเล็ก ๆ เป็นเวลา 10 วัน และได้รับอาหารเพียงขนมปังและน้ำเล็กน้อยพอประทังชีวิต จากฮังการี พวกเขาบินไปฝรั่งเศส จากนั้นไปเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งเขาถูกขังไว้ในห้องเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากบินอีกเที่ยวและนั่งรถบัสเป็นเวลานาน และถูกพาขึ้นรถกระบะพาพวกเขาไปใกล้ชายแดนสหรัฐฯ และข้ามไปยังมลรัฐแคลิฟอร์เนียในที่สุด หากถูกจับกุมจะถูกนำตัวไปที่ศูนย์ซึ่งจะพบกับผู้ลักลอบเข้าเมืองมากมายหลายชาติที่เคยเดินทางในลักษณะเดียวกัน ผู้อพยพลักลอบเข้าเมืองชาวอินเดียส่วนใหญ่ประมาณ 80% เป็นหนุ่มสาวที่โสด และเข้ามาทางชายแดนเม็กซิโกใกล้รัฐแอริโซนาหลังจากขึ้นเครื่องบินที่ผ่านประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าสำหรับพลเมืองอินเดีย รายงานในปี 2022 ของสถาบันนโยบายการย้ายถิ่นฐานของสหรัฐฯ (MPI) ได้ระบุว่า “การข่มเหงทางศาสนาและการเมืองต่อผู้ที่ไม่ใช่ชาวฮินดูที่เพิ่มมากขึ้นในอินเดีย” และ “การขาดการบังคับใช้กฎหมายในประเทศ โอกาสทางเศรษฐกิจ" ยังผลักดันชาวอินเดียเดินทางไปสู่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมายและเส้นทางที่อันตราย แต่การใช้ 'Dunki route' ถือเป็นวิธีการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่นิยมมากที่สุดของผู้ลักลอบเข้าเมืองหนุ่มสาวชาวอินเดีย

‘Sino-Indian War’ สงครามระหว่างจีนและอินเดีย ปัญหาข้อพิพาทพรมแดนที่ยืดเยื้อนานกว่า 6 ทศวรรษ

ปี 1962 เกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างจีนและอินเดียขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เป็นการยกระดับข้อพิพาทกรณีพรมแดนระหว่างจีน-อินเดีย การสู้รบเกิดขึ้นตามแนวชายแดนของอินเดียกับจีนบริเวณชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทางตะวันออกของภูฏาน และในอักไซชินทางตะวันตกของเนปาล

การแบ่งแยกอินเดีย-ปากีสถาน (1947) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่สงครามเย็นได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องพรมแดนในอนุทวีปอินเดีย เป็นจุดที่พรมแดนของ 3 ประเทศคือ อินเดีย ปากีสถาน และจีน มาบรรจบกัน หลังจากปราบปรามทิเบตในปี 1950 อินเดียได้ให้การสนับสนุนและที่พักพิงแก่ ‘ดาไลลามะ’ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ซึ่งเป็นผู้นำการต่อต้านการยึดครองทิเบตของจีน จีนก็เริ่มมีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนกับอินเดียในหลายจุด และกับอีกหลาย ๆ ประเทศในเทือกเขาหิมาลัยได้แก่ เนปาล ภูฏาน และรัฐสิกขิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘อักไซชิน’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคแคชเมียร์ บริเวณเหนือสุดของอนุทวีปอินเดียในเอเชียกลางใต้ ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของแคชเมียร์-อินเดีย เป็นพื้นที่ที่ถูกละเลยมานานของอนุทวีปอินเดียเนื่องจากความห่างไกลและโดดเดี่ยว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปเมื่อจีนพยายามเชื่อมต่อทิเบตกับซินเจียงด้วยสร้างเส้นทางลาดตระเวนทางหารผ่านภูมิภาคนี้ อินเดียคัดค้านการเข้ามาของจีนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเขตการปกครองของจีนในแคชเมียร์ถูกอ้างสิทธิ์โดยอินเดียว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ภูมิภาคลาดักห์’ ที่อยู่ภายใต้การบริหารของอินเดีย

หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ และเกิดการแบ่งแยกประเทศ ปากีสถานกลายเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของอินเดีย เนื่องจากกองทัพอินเดียมีการแบ่งแยกตามเชื้อชาติ และมีนโยบายไม่รับนายทหารที่มีเชื้อชาติเดียวกันในหน่วยทหารเดียวกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างนายทหารและทหารชั้นผู้น้อยขึ้นไปทั่ว โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างนายทหารกับทหารชั้นผู้น้อยนั้นต้องพัฒนาขึ้นด้วยเวลาเพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย การร่วมสู้รบด้วยกันโดยไม่มีสายสัมพันธ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

สงครามเย็นที่เริ่มต้นด้วยการปิดล้อมเบอร์ลินทำให้พันธมิตรอังกฤษ-อเมริกันต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งน้ำมัน พันธมิตรหลายฝ่ายตั้งแต่ตุรกีไปจนถึงปากีสถานต่างก็พยายามปกป้องตนเองจากลัทธิคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจของประเทศเหล่านั้นพยายามรักษาความเป็นเจ้าของแหล่งน้ำมันโดยตรง อินเดียตระหนักดีถึงธรรมชาติของการแสวงหาอาณานิคมยุคใหม่ของชาติตะวันตกเหล่านี้ และไม่ต้องการเสียอำนาจอธิปไตย จึงได้กำหนดนโยบายต่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ปากีสถานได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่จากสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อินเดียต้องทนใช้อาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นเก่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ของชาติตะวันตก นั่นหมายความว่า อินเดียต้องลงทุนกำลังคนมากขึ้นเพื่อปกป้องแคชเมียร์และปัญจาบจากปากีสถาน

อินเดียต้องทำสงครามกับปากีสถานกรณีแคชเมียร์ในปี 1948 จึงไม่มีกำลังรบเหลือมากพอที่จะสู้รบกับจีน ซึ่งจนถึงปี 1950 อินเดียเองยังไม่มีแม้แต่การคาดคะเนภัยคุกคามจากจีน กองทัพอังกฤษเดิมประจำการบริเวนชายแดนจีน-ทิเบต แต่หลังจากอินเดียได้รับเอกราชภารกิจดังกล่าวก็ตกเป็นหน้าที่ของกองทัพอินเดีย อินเดียรู้ดีว่า ชายแดนอินเดีย-จีนนั้นยากที่จะป้องกันได้ เพราะการสร้างระบบส่งกำลังบำรุงและป้อมค่ายเป็นไปได้ยาก ‘เส้นแม็กมาฮอน’ เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างทิเบตและอัสสัมของอินเดีย (ในขณะที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) ซึ่งการเจรจาระหว่างทิเบตและสหราชอาณาจักรเมื่อสิ้นสุดการประชุมชิมลา (ตุลาคม 1913–กรกฎาคม 1914) และตั้งชื่อตามเซอร์เฮนรี แม็กมาฮอน ผู้เจรจาคนสำคัญของอังกฤษ เส้นเขตแดนนี้ทอดยาวจากชายแดนด้านตะวันออกของภูฏานไปตามสันเขาหิมาลัยจนถึงโค้งแม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งแม่น้ำสายนี้ไหลออกจากเส้นทางทิเบตสู่หุบเขาอัสสัม ผู้แทนของรัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้เข้าร่วมการประชุมที่เมืองชิมลาด้วย แต่ปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงหลักเกี่ยวกับสถานะและเขตแดนของทิเบต ด้วยเหตุผลว่า ทิเบตอยู่ภายใต้การปกครองของจีนและไม่มีอำนาจที่จะทำสนธิสัญญา จีนยังคงยืนหยัดในจุดยืนนี้มาจนถึงปัจจุบัน และยังอ้างว่าดินแดนของจีนขยายลงไปทางใต้จนถึงเชิงเขาหิมาลัย 

หลังจากการปะทะระหว่างจีน-อินเดียบริเวณชายแดนหลายครั้งในช่วงปี 1959 ถึง 1962 ที่สุดกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ข้าม ‘เส้นแม็กมาฮอน’ เข้าโจมตีอินเดียในปี 1962 กองทัพอินเดียต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบในสภาพออกซิเจนไม่เพียงพอ ในขณะนั้นกองทัพอินเดียเองก็ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงพอที่จะต้านทานกองทัพจีน หลังจากจีนได้ทำการปราบปรามการลุกฮือของชาวทิเบตในเขตปกครองตนเองทิเบต กองทัพจีนได้ข้ามพรมแดนโจมตีอินเดียจนกลายเป็นกรณีพิพาทที่รุนแรง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1962 ทำให้กองกำลังอินเดียพ่ายแพ้อย่างราบคาบ โดยมีทหารเสียชีวิตหรือถูกจับกุมกว่า 7,000 นาย และพื้นที่ลุ่มในรัฐอัสสัมก็เปิดโล่งให้ผู้รุกรานเข้ายึดครอง กองกำลังของจีนสามารถยึดครองดินแดนอินเดียทางใต้ของ ‘เส้นแม็กมาฮอน’ 

ปัจจัยสำคัญสองประการที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับกองทหารอินเดียในที่สุด ได้แก่ ท่าทีของอินเดียเกี่ยวกับพรมแดนที่เป็นข้อพิพาทและความพยายามของอินเดียในการบ่อนทำลายการยึดครองทิเบตของจีน ซึ่งจีนมองว่า "มีความจำเป็นต้องลงโทษและยุติความพยายามของอินเดียที่จะบ่อนทำลายการควบคุมทิเบตของจีน ซึ่งเป็นความพยายามของอินเดียที่จีนมองว่ามี วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูสถานะเดิมก่อนปี 1949 ของทิเบต" อีกประการหนึ่งคือ "มีความจำเป็นต้องลงโทษและยุติการรุกรานของอินเดียต่อดินแดนของจีนตามแนวชายแดน" 

ผู้นำจีนเลือกช่วงที่ ‘วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา’ กำลังลุกลามในการโจมตีอินเดีย โดยคาดว่า วิกฤตการณ์ในคิวบาจะยืดเยื้อต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ หันเหความสนใจจากการแทรกแซงในอินเดียได้ แต่สหรัฐฯ สามารถแก้ปัญหาคิวบาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้วอชิงตันสามารถตอบสนองต่อคำร้องขอความช่วยเหลือจาก ‘ชวาหระลาล เนห์รู’ นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ ขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ กำลังเดินทาง จีนได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน และหลังจากนั้นไม่นานจีนก็ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ยึดครองจากอินเดียได้ ปัจจุบัน จีนยังคงควบคุมพื้นที่ประมาณ 14,700 ตารางไมล์ (38,000 ตารางกิโลเมตร) ใน ‘อักไซชิน’ และพื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างสองประเทศอยู่จนทุกวันนี้

ภายหลังจาก ‘สงครามระหว่างจีนและอินเดีย’ ในปี 1962 แล้วมีกรณีพิพาทและการปะทะระหว่างกำลังทหารจีนและอินเดียต่อเนื่องเรื่อยมาอีกหลายครั้ง อาทิ
- ปี 1967 การรบที่ Nathu La และ Cho La เป็นการปะทะกันหลายครั้งระหว่างจีนและอินเดียบนพรมแดนของอาณาจักรสิกขิมในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐในอารักขาของอินเดีย การปะทะ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 11 กันยายน เมื่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของอินเดียที่ Nathu La และกินเวลานานจนถึงวันที่ 15 กันยายน ต่อมาในเดือนตุลาคมมีการปะทะกันอีกครั้งเกิดขึ้นที่ Cho La และสิ้นสุดลงในวันเดียวกัน
- ปี 1975 วันที่ 20 ตุลาคม ทหารอินเดีย 4 นายถูกสังหารที่ตูลุงลาในรัฐอรุณาจัลประเทศ ตามแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลอินเดีย กองลาดตระเวนของ Assam Rifles ซึ่งประกอบด้วยนายทหารชั้นประทวน (NCO) 1 นาย และพลทหารอีก 4 นาย ถูกซุ่มโจมตีโดยทหารจีนประมาณ 40 นาย ในพื้นที่ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของอินเดีย และมีการลาดตระเวนเป็นประจำมาหลายปีโดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น สมาชิกหน่วยลาดตระเวน 4 นายได้รับการระบุในตอนแรกว่าสูญหาย ก่อนที่จะได้รับการยืนยันผ่านช่องทางการทูตว่า พวกเขาถูกทหารจีนสังหาร ศพของพวกเขาถูกส่งคืนในภายหลัง รัฐบาลอินเดียได้ประท้วงรัฐบาลจีนอย่างรุนแรง
- ปี 1987 การปะทะกันระหว่างจีนและอินเดียที่หุบเขา Sumdorong Chu ซึ่งอยู่ติดกับเขต Tawang รัฐอรุณาจัลประเทศ และเขต Cona ทิเบต การเผชิญหน้าทางทหารเริ่มต้นขึ้นเมื่อจีนเคลื่อนกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปยัง Wangdung ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าทางตอนใต้ของ Sumdorong Chu ซึ่งอินเดียอ้างว่าเป็นดินแดนของตน กำลังทหารอินเดียยืนหยัดต้านทานอยู่บนสันเขา Longro La ที่อยู่ใกล้เคียง และทั้งสองฝ่ายได้เคลื่อนกำลังทหารจำนวนมากไปยังชายแดน วิกฤตการณ์คลี่คลายลงหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียเยือนปักกิ่งในเดือนพฤษภาคม 1987 การเผชิญหน้าดังกล่าวก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดความตึงเครียดมากขึ้น ในเวลาต่อมาอินเดียและจีนได้จัดทำข้อตกลงเพื่อจัดการกับความตึงเครียดที่ชายแดนในอนาคต
- ปี 2017 ความขัดแย้งทางทหารที่ Doklam ในเดือนมิถุนายนเกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียและจีนในดินแดนพิพาท Doklamใกล้กับช่องเขา Doka La วันที่ 16 มิถุนายน จีนได้นำอุปกรณ์สร้างถนนขนาดใหญ่มาที่ Doklam และเริ่มสร้างถนนในพื้นที่พิพาท โดยก่อนหน้านี้ จีนได้สร้างถนนลูกรังที่สิ้นสุดที่ Doka La ซึ่งเป็นที่ที่กองทหารอินเดียประจำการอยู่

- ปี 2020 เดือนมิถุนายน กำลังทหารอินเดียและจีนปะทะกันในหุบเขา Galwan ซึ่งรายงานว่าส่งผลให้ทหารทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บและเสียชีวิตฝ่ายละหลายสิบนาย (โดยตัวเลขจากข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ได้ใกล้เคียงและตรงกันเลย)
- ปี 2022 เดือนธันวาคม กองทัพอินเดียกล่าวว่าเกิดการปะทะกันระหว่างกำลังทหารอินเดียและจีนในเขตทาวังของรัฐอรุณาจัลประเทศ แต่การปะทะครั้งนี้ ทหารของทั้งสองฝ่ายเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ (อินเดีย 34 นาย และจีน 40 นาย) ไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีผู้เสียชีวิต และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานการปะทะกันระหว่างทหารจีนและทหารอินเดียอีก 

ความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียยังคงยืดเยื้อและสงบจบลงไม่ได้โดยง่าย หากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันในเรื่องความชัดเจนของเส้นเขตแดน อันเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งอินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อันที่จริงแล้วหากสามารถเจรจาตกลงทำสนธิสัญญาเห็นชอบรับรองเส้นเขตแดนร่วมกันได้แล้ว ประเทศทั้งสองในปัจจุบันต่างก็มีศักยภาพในการจัดทำแนวรั้วกั้น และพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างกันได้ทั้งทางรถยนต์และรถไฟได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองทั้งหางการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่อนุภูมิภาคนี้ต่อไป

รู้จัก ‘Susi Pudjiastuti’ รัฐมนตรีหญิงแกร่งแห่งอินโดนีเซีย จากนักธุรกิจส่งออกอาหารทะเล สู่มือพิฆาตเรือประมง (ต่างชาติ)

ข่าวในรอบสัปดาห์นี้ที่น่าหงุดหงิดโมโหของประชาชนคนไทยเป็นที่สุดก็คือ ข่าวที่เรือประมงเวียดนามที่รุกล้ำมาลักลอบจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย แล้วบังอาจขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ซ้ำร้ายยังนำเรือพุ่งชนเรือหลวงเทพาเรือรบของกองทัพเรือไทยจนได้รับความเสียหายอีกด้วย ในขณะที่ไม่นานมานี้ ทหารเรือเมียนมาได้มีการใช้อาวุธกับเรือประมงไทยจนมีลูกเรือประมง 1 คนเสียชีวิต และถูกจับกุมอีก 4 คน ซึ่งยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจนทุกวันนี้

เพราะความใจดีจนเกินไปของทางการไทยจนทำให้เรือประมงเวียดนาม ซึ่งหลายปีมานี้ย่ามใจลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยอยู่เป็นประจำ และยังทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย โดยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในท้องทะเลไทยเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ อาทิ การปิดอ่าวไม่จับปลาในฤดูวางไข่ การใช้อุปกรณ์จับปลาที่ไม่เป็นการทำลายระบบนิเวศ ฯลฯ ในอดีต เมื่อ 4-50 ปีก่อนนั้น เรือประมงไทยมักจะฝ่ายล้ำน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นประจำจนเป็นข่าวปรากฏแทบทุกวัน แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นเรือประมงเวียดนามที่ลักลอบรุกล้ำเข้ามาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ชวนให้นึกถึงเรื่องราวของ ‘Susi Pudjiastuti’ หรือ ที่ชาวอินโดนีเซีย เรียกเธอว่า ‘ซูซี่’ รัฐมนตรีหญิงซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงกิจการทางทะเลและประมงอินโดนีเซีย ผู้เป็นมือพิฆาตเรือประมง (ต่างชาติ) ประวัติของเธอผู้นี้ไม่ธรรมดาเลย เธอเกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 1965 ที่เมือง Pangandaran จังหวัดชวาตะวันตกเป็นลูกสาวของฮัจจีอาหมัด คาร์ลัน และฮัจจาห์ซูวูห์ ลาสมินาห์ เธอเป็นชาวชวาแต่ครอบครัวของเธอเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานในเมือง Pangandaran เป็นรุ่นที่ 5 ธุรกิจของครอบครัวของเธอส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และการทำฟาร์มปศุสัตว์

หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว Susi ได้ไปเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่ SMA Negeri 1 Yogyakarta แต่เรียนไม่จบเพราะถูกไล่ออกด้วยเธอได้ไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนการงดออกเสียง (Vote No) เพื่อประท้วงการครอบงำของพรรคกอลการ์ที่ทำให้อินโดนีเซียมีรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งในขณะนั้นเป็นขบวนการที่ถูกห้ามภายใต้ระเบียบใหม่ของประธานาธิบดี Suharto เธอเป็นรัฐมนตรีอินโดนีเซียคนแรกที่ไม่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่หลังจากที่เธอได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว เธอได้ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย และสำเร็จการศึกษาอย่างเป็นทางการในปี 2018

ในปี 1983 Susi ได้เริ่มต้นอาชีพในฐานะผู้ประกอบการ โดยเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารทะเลที่ Fish Auction Facility (TPI) ในเมือง Pangandaran จากการเป็นตัวแทนจำหน่าย เธอได้พัฒนาเป็นโรงงานแปรรูปอาหารทะเลในปี 1996 โดยใช้ชื่อว่า PT ASI Pudjiastuti Marine Product ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกุ้งมังกรคุณภาพส่งออกที่บรรจุหีบห่อในชื่อ 'Susi Brand' PT ASI Pudjiastuti Marine Product ซึ่งขยายตัวเติบโตมากขึ้นและเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและอเมริกาเหนือ

เมื่อความต้องการอาหารทะเลสดของ PT ASI Pudjiastuti Marine Product เพิ่มมากขึ้นทำให้การขนส่งทางอากาศด้วยความรวดเร็วกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ ในปี 2004 Susi ได้ซื้อเครื่องบินแบบ Cessna 208 Caravan และก่อตั้ง PT ASI Pudjiastuti Aviation โดยได้รับสัญญาณเรียกขานเป็น ‘Susi Air’ และใช้ในการขนส่งอาหารทะเลสดทั่วอินโดนีเซียไปยังกรุงจาการ์ตา รวมถึงไปยังต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น

ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับอาเจะห์และชายฝั่งตะวันตกของสุมาตรา สายการบิน Susi Air ซึ่งในขณะนั้นมีเครื่องบิน Cessna Grand Caravan เพียง 2 ลำเท่านั้นเป็นหนึ่งในสายการบินแรกที่เข้าไปช่วยเหลือ และทำการแจกจ่ายอาหารและสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติในพื้นที่ห่างไกล ในช่วงเวลาดังกล่าวสายการบิน Susi Air มักได้รับการเช่าเหมาลำไปอาเจะห์โดย NGO เพื่อปฏิบัติภารกิจบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม รายได้จากภารกิจของ NGO ในอาเจะห์ทำให้สายการบิน Susi Air สามารถจัดหาเครื่องบินลำใหม่ และขยายฝูงบินไปยังเส้นทางในปาปัวและกาลีมันตันได้ ปัจจุบันสายการบิน Susi Air เป็นผู้ใช้เครื่องบิน Cessna Grand Caravan รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2014 โดยประธานาธิบดี Joko Widodo ในคณะรัฐมนตรีชุดปี 2014–2019 ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง Susi ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของ PT ASI Pudjiastuti Marine Product และ PT ASI Pudjiastuti Aviation เธอเข้ารับช่วงต่อในกระทรวงที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุบเลิก เพราะปัญหาเรือประมงต่างชาติรุกล้ำน่านน้ำอินโดนีเซียที่อยู่รอบเกาะ 17,500 เกาะเป็นประจำ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้ประมาณการว่าการทำประมงผิดกฎหมายทำให้อินโดนีเซียสูญเสียรายได้กว่า 101 ล้านล้านรูเปียะห์ (7.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง Susi ได้สั่งให้เร่งกวาดล้างจับกุม ยึด และทำลายเรือประมงต่างชาติทิ้งไปหลายร้อยลำ จนทำให้เรือประมงต่างชาตินับหมื่นลำที่แสวงหาประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียต้องรีบออกจากน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017 ปริมาณผลผลิตด้านการประมงของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า และในเดือนเมษายน 2018 เธอสั่งสกัดและยึดเรือประมงผิดกฎหมาย Andrey Dolgov ซึ่งเป็นเรือประมงระยะทำการไกล ในช่วงทศวรรษ 2000 และ 2010 เรือลำนี้ซึ่งมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการประมงผิดกฎหมายในวงกว้าง โดยเป็นหนึ่งในเรือที่ Interpol ต้องการมากที่สุด และในที่สุดเรือ Andrey Dolgov ก็ถูก กองทัพเรืออินโดนีเซียยึดและควบคุมในเดือนเมษายน 2018 และในปี 2019 รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งใจที่จะปรับปรุงเรือลำนี้ให้เป็นหนึ่งในเรือปฏิบัติการของกองเรือบังคับใช้กฎหมายด้านการประมงของอินโดนีเซีย

เมื่อ 16 กันยายน 2016 กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ได้มอบรางวัล Leaders for a Living Planet Award ให้กับ Susi เพื่อเป็นการยกย่องความพยายามของเธอในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมงจากการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคการประมงของอินโดนีเซีย และการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียอย่างเข้มงวด จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution พบว่า นโยบายต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายที่เข้มงวดของ Susi ส่งผลให้ “ปริมาณการจับปลาโดยรวมลดลงอย่างน้อย 25% [อาจ] ทำให้ปริมาณการจับปลาอย่างถูกกฎหมายของชาวประมงอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง 14% และมีกำไรเพิ่มขึ้น 12%” 

ฝากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบภารกิจด้านนี้ทั้งกลาโหม ต่างประเทศ และเกษตรฯ ได้นำผลงานของ ‘Susi Pudjiastuti’ มาเป็นแนวทางในการทำงาน ทั้งนี้จะเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและฝีไม้ลายมือในการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของชาติอย่างเต็มที่เพื่อที่ประชาชนคนไทยจะได้เห็นผลงานด้วยความชื่นชมต่อไป

‘Overtourism’ นักท่องเที่ยวล้นเมืองส่อวิกฤต เหตุทำลายวิถีชีวิตคนท้องถิ่น - แย่งชิงทรัพยากร

(8 มี.ค. 68) แม้ว่า การท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์ที่ปกป้องสถานที่ที่น่าทึ่งที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวได้รับการจัดการที่ไม่ดี การเติบโตที่ไม่ได้รับการควบคุมอาจครอบงำจุดหมายปลายทาง และส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนในท้องถิ่น และประสบการณ์ของผู้เยี่ยมชม ปัญหานี้ซึ่งเรียกว่าการท่องเที่ยวมากเกินไป เป็นความท้าทายเร่งด่วนสำหรับจุดหมายปลายทางยอดนิยมหลายแห่งของโลก

ภาวะนักท่องเที่ยว (Over tourism) ล้นเมืองเกิดขึ้นเมื่อมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเกินไปหลั่งไหลไปยังเมืองจุดหมายปลายทาง จนเกินความสามารถในการจัดการอย่างยั่งยืนของเมืองซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง และนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบ เช่น นักท่องเที่ยวแออัด สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โครงสร้างพื้นฐานตึงเครียด คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยลดลง และทำให้ประสบการณ์ดี ๆ ของผู้มาเยือนลดลง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปนั้นมีอยู่เท่าไร คำตอบนั้นไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากแต่ละสถานที่มีเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของจุดหมายปลายทางนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ  เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมของทรัพยากรธรรมชาติ ความสามารถในการฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อม พื้นที่ทางกายภาพ และการรับรู้ของชุมชน จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อผลกระทบเชิงลบของการท่องเที่ยวมีมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการมีกลยุทธ์การจัดการที่ดีกว่า

การวางแผนเชิงกลยุทธ์และการจัดการเชิงรุกเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันปริมาณนักท่องเที่ยวมากจนเกินไป จุดหมายปลายทางที่ยั่งยืนต้องสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการจัดการทรัพยากร การอนุรักษ์ ความเพลิดเพลินของนักท่องเที่ยว และความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัย ผ่านการศึกษาขีดความสามารถในการ รองรับ และการสำรวจผู้อยู่อาศัยเราช่วยให้จุดหมายปลายทางต่างๆ ติดตามผลกระทบของการท่องเที่ยวและทำความเข้าใจถึงผลที่ตามมาของการเติบโต เพื่อแจ้งนโยบายและริเริ่มต่าง ๆ ปัญหานักท่องเที่ยวมากจนเกินไปได้รับความสนใจทั่วโลกในปี 2016 เมื่อ Skift เผยแพร่บทความเรื่อง “การสำรวจอันตรายที่กำลังจะมาถึงของการท่องเที่ยวมากเกินไป” ซึ่งกล่าวถึงอันตรายจากการท่องเที่ยวมากเกินไปในจุดหมายปลายทางยอดนิยม ในช่วงหลายปีต่อมา คำว่า "การท่องเที่ยวมากเกินไป" ปรากฏอยู่ในพาดหัวข่าวสื่อต่างๆ มากมายทั่วโลก เนื่องจากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วและทวีคูณ โดยเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าระหว่างปี 2000 ถึง 2019  ความจำเป็นในการจัดการการเติบโตนี้อย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นจึงไม่สามารถละเลยได้

ในขณะที่ดูเหมือนว่า ปริมาณนักท่องเที่ยวกำลังจะเกินการควบคุม อุตสาหกรรมนี้กลับต้องประสบกับภาวะตกต่ำที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอันเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมนี้เป็นโอกาสในการคิดทบทวนรูปแบบการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อจำกัดในการเดินทางถูกยกเลิก ผู้คนต่างก็อยากออกไปข้างนอก และการท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ภายในสิ้นปี 2024 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนจนเกินระดับก่อนเกิดโรคระบาด น่าเสียดายที่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวมากจนเกินไปได้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการจำนวนผู้เยี่ยมชมและปกป้องความสมบูรณ์ของจุดหมายปลายทางยอดนิยม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาในจุดหมายปลายทางยอดนิยมเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย เซเชลส์ และกรีก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในช่วงทศวรรษก่อนเกิด COVID-19 จุดหมายปลายทางยอดนิยมบางแห่ง เช่น สาธารณรัฐโดมินิกัน มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแซงหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนเกิด COVID-19 ไปแล้ว 

ผลกระทบเชิงลบจากปริมาณนักท่องเที่ยวมากจนเกินไป

- ความแออัดและความแออัดยัดเยียดอย่างรุนแรง จนส่งผลให้ประสบการณ์ที่ดีของนักท่องเที่ยวและผู้อยู่อาศัยลดน้อยลง ถนนหนทางอาจติดขัด นักท่องเที่ยวต้องยืนรอคิวยาวเพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะถ่ายภาพสถานที่ที่มีชื่อเสียงโดยไม่มีนักท่องเที่ยวเป็นฉากหลัง
- การชำรุดเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานและสถานที่ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมจึงชำรุดเสื่อมโทรมเร็วขึ้น การใช้ถนน เส้นทาง และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะอย่างต่อเนื่องอาจทำให้สถานที่เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วหากไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามปกติ
- ความไม่พอใจของชุมชน แม้ว่าความแออัดและความเสียหายทางกายภาพอาจเป็นอาการที่เห็นได้ชัดที่สุดของการท่องเที่ยวมากเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ผลกระทบเชิงลบเพียงอย่างเดียว การท่องเที่ยวมีศักยภาพอย่างมากในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การเติบโตที่ไม่ได้รับการควบคุมอาจส่งผลในทางตรงกันข้าม การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวอาจทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ยากต่อการหาที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง และทำให้ผู้อยู่อาศัยต้องอพยพ แม้จะมีรายได้จำนวนมากจากการท่องเที่ยว แต่คนในท้องถิ่นหลายคนรู้สึกว่าถูกละเลยจากเศรษฐกิจนักท่องเที่ยวที่กำลังเฟื่องฟู ทำให้ต้องทำงานที่มีค่าจ้างต่ำในขณะที่กำไรส่วนใหญ่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนภายนอกและบริษัทขนาดใหญ่ ความแตกต่างนี้ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองในหมู่ผู้อยู่อาศัย และเพิ่มความตึงเครียดทางสังคมเนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าการท่องเที่ยวทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาแย่ลง พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงได้หากไม่เคารพประเพณีท้องถิ่น ทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือรบกวนวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น 

- การแย่งชิงทรัพยากร เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ความต้องการน้ำ การจัดการขยะ และพลังงานอาจสูงเกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาขาดแคลน ราคาที่สูงขึ้น และความต้องการที่แข่งขันกันสูง ซึ่งทำให้ชุมชนท้องถิ่นไม่พอใจมากขึ้น 
- ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ เมื่อจุดหมายปลายทางได้รับความนิยมมากขึ้น ระบบนิเวศทางธรรมชาติก็ถูกปรับเปลี่ยนให้รองรับรีสอร์ท ท่าจอดเรือ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอาจทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า เช่น ป่าชายเลนและ ชายหาดที่วางไข่ ของเต่าทะเลได้ หากไม่ได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม หากไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียและบำบัดน้ำที่เหมาะสม รวมถึงการผลิตพลังงานอย่างยั่งยืน การพัฒนาเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อดำเนินการแล้ว 

การขาดการวางแผนและกฎระเบียบที่เหมาะสมอาจทำให้จุดหมายปลายทางต่างๆ ต้อนรับนักท่องเที่ยวมากเกินกว่าที่จะรองรับได้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบที่เป็นปัญหาดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น ระบบการจัดการขยะที่ล้นเกิน ถนนที่ติดขัด และคนในท้องถิ่นไม่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว เพื่อต่อสู้กับปัญหาการท่องเที่ยวล้นเกิน จุดหมายปลายทางต่างๆ จะต้องดำเนินการตามแผนการจัดการการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมซึ่งสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ของผู้เยี่ยมชม และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน จุดหมายปลายทางที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมหลายแห่งกำลังดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวและบรรเทาผลกระทบจากภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง มาตรการที่ใช้ทั่วโลกเพื่อรับมือกับปัญหาการท่องเที่ยวมากเกินไป
การถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการท่องเที่ยวมากเกินไปกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากนักท่องเที่ยวแห่ไปยังเมืองยอดนิยมเกินขีดความสามารถของตน

เมืองเวนิสของอิตาลี ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม 5 ยูโรสำหรับนักท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2024 เป็นต้นไป แม้ว่าค่าธรรมเนียมจะเรียกเก็บเฉพาะ 29 วันที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นที่สุดระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2024 แต่รัฐบาลอิตาลีอาจขึ้นค่าธรรมเนียมเป็น 10 ยูโร ในการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้า กรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ได้ประกาศเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2024 ว่ามีแผนจะเริ่มลดจำนวนเรือที่สามารถแวะจอดที่ท่าเรือหลักในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการท่องเที่ยวจำนวนมากที่เกิดจากเรือสำราญ เทศบาลกรุงอัมสเตอร์ดัมได้ประกาศไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนว่า ได้ตัดสินใจห้ามการก่อสร้างอาคารโรงแรมใหม่ในเมืองเพื่อจำกัดจำนวนการพักค้างคืนต่อปีให้อยู่ที่ 20 ล้านการเข้าพัก เมืองนี้รองรับการพักค้างคืน 20,665,000 ครั้งในปี 2023 ในทำนองเดียวกัน แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของสเปนอย่างนครบาร์เซโลนาได้ประกาศเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2024 ว่าตั้งใจจะห้ามการเช่าระยะสั้นสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งหมด เนื่องจากต้องการควบคุมต้นทุนที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้น และมอบทางเลือกที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงให้กับคนในท้องถิ่นอีกครั้ง นครบาร์เซโลนาวางแผนที่จะหยุดออกใบอนุญาตการเช่าระยะสั้นใหม่ โดยอพาร์ตเมนต์วันหยุดทั้งหมด 10,101 แห่งที่ลงทะเบียนกับเมืองในปัจจุบันจะถูกสั่งห้ามภายในเดือนพฤศจิกายน 2028 ปัจจุบัน อุทยานแห่งชาติในสหรัฐอเมริกากำหนดให้ผู้เยี่ยมชมต้องทำการจองเข้าชมล่วงหน้าเพื่อควบคุมจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละวัน และป้องกันไม่ให้มีผู้คนหนาแน่นเกินไป ในกรณีส่วนใหญ่ จำเป็นต้องทำการจองเฉพาะในช่วงฤดูท่องเที่ยวสูงสุดเท่านั้น ในปี 2024 อุทยานแห่งชาติโยเซมิตีได้นำนโยบายการจองมาใช้อีกครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกยกเลิกเนื่องจากการคัดค้านจากธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในพื้นที่

ในเอเชีย ประเทศไทยตัดสินใจถอนแผนที่ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งอย่างมากในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว 300 บาท (ประมาณ 8.2 ดอลลาร์สหรัฐ) จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศทางอากาศ โดยรัฐบาลไทยได้ชี้แจงในเบื้องต้นว่า จุดประสงค์ของค่าธรรมเนียมดังกล่าวก็เพื่อช่วยให้แน่ใจว่า จะทำให้ได้นักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวถูกยกเลิกไปหลังจากได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาปรับขึ้นภาษีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศจาก 1,000 เยน (7 ดอลลาร์สหรัฐ) ในปัจจุบันเป็น 3,000 หรือ 5,000 เยน (20 ดอลลาร์สหรัฐ/35 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวมากเกินไป อีกทั้งมีการพูดคุยหารือกันมากมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่พักในแหล่งท่องเที่ยว และเทศบาลบางแห่งกำลังหารือถึงการนำระบบการคิดราคาแบบ 2 ระดับมาใช้ 

ซึ่งจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในอัตราที่สูงขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ ปราสาทฮิเมจิซึ่งเป็นมรดกโลกของยูเนสโกในเมืองฮิเมจิ จังหวัดเฮียวโงะ ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก เมื่อนายกเทศมนตรีเมืองฮิเมจิเสนอแผนนำระบบการคิดราคาแบบ 2 ระดับมาใช้สำหรับผู้เยี่ยมชมปราสาท ในระหว่างการประชุมนานาชาติที่จัดขึ้นในเมือง ภายใต้ระบบที่เสนอนี้ ค่าธรรมเนียมเข้าชมจะขึ้นจาก 1,000 เยน (ประมาณ 6 เหรียญสหรัฐ) เป็นประมาณ 30 เหรียญสหรัฐสำหรับผู้เยี่ยมชมจากนอกเมือง ในขณะที่พลเมืองฮิเมจิจะลดลงเล็กน้อยเป็น 5 เหรียญสหรัฐ แม้จะมีข้อโต้แย้ง แต่การเรียกเก็บเงินจากชาวต่างชาติมากกว่าผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกในส่วนอื่น ๆ ของโลก 

ตัวอย่างเช่น ที่ทัชมาฮาลของอินเดียและนครวัดของกัมพูชา นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องจ่ายค่าเข้าชมในราคาที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวมากจนเกินไปสามารถสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระดับเดียวกับคนไทยเท่านั้นที่สามารถอดทนกับคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ เช่นปัญหาที่ยากจนเกือบจะเกินแก้ไข ดังเช่นกรณี ‘ปาย’ ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาต้องเริ่มศึกษาข้อเท็จจริงและสรุปเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันซึ่งจะดีกว่าการรอเพื่อปล่อยให้สถานการณ์คลี่คลายไปเองเช่นทุกวันนี้

รู้จัก ‘กองทัพแดงญี่ปุ่น’ หนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายสะท้านโลก จากจุดเริ่มต้นหวังโค่นล้มราชวงศ์ญี่ปุ่นสู่ปฏิบัติการป่วนโลกทุกรูปแบบ

ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงอยากจะไม่เชื่อว่า ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันซึ่งผู้คนดูเหมือนว่า รักความสงบและไม่นิยมความรุนแรง แต่ครั้งหนึ่งเคยมีองค์กรก่อการร้ายในระดับสากลที่ชื่อว่า “กองทัพแดงญี่ปุ่น” (Japanese Red Army หรือ 日本赤軍 (Nihon Sekigun)) องค์กรก่อการร้ายแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดย Tsuyoshi Okudaira (ผู้นำระหว่าง 1971–พฤศจิกายน 1987) และ Fusako Shigenobu (ผู้นำระหว่าง พฤศจิกายน 1987–เมษายน 2001) “กองทัพแดงญี่ปุ่น” แยกตัวออกมาจาก “สันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งญี่ปุ่น” 

นอกจากนี้ “กองทัพแดงญี่ปุ่น” ยังเป็นที่รู้จักในนามว่า “กองพลต่อต้านจักรวรรดินิยมสากล (the Anti-Imperialist International Brigade : AIIB)” หรือ “กองพลสงครามศักดิ์สิทธิ์ (the Holy War Brigade)” หรือ “แนวร่วมต่อต้านสงครามประชาธิปไตย (the Anti-War Democratic Front)” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำการโค่นล้มรัฐบาลญี่ปุ่นและโค่นล้มราชวงศ์ญี่ปุ่น รวมทั้งเริ่มการปฏิวัติโลก เครือข่ายของกลุ่มได้แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศในเอเชีย เชื่อกันว่าฐานที่มั่นอยู่ในประเทศเลบานอนตั้งแต่ 1977 และมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Fusako Shigenobu หลังจากเรียนมัธยมปลายเธอเข้าทำงานให้กับบริษัท Kikkoman พร้อมทั้งเรียนหลักสูตรปริญญาตรีภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยเมจิ จนสำเร็จการศึกษาศิลปะศาสตร์บัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมจิ โดยขณะนั้นเองเธอได้เข้าร่วมขบวนการนักศึกษาที่ทำการประท้วงการขึ้นค่าเล่าเรียน และทำให้เธอได้เคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายทั่วไป (Zengakuren) ในทศวรรษ 1960 จนกระทั่งเธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับสูงของ Zengakuren และร่วมก่อตั้งกองทัพแดงญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานจากพรรคคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายใหม่ที่สนับสนุนการปฏิวัติผ่านการก่อการร้าย เธอและพรรคพวกได้จัดตั้งกลุ่มของตัวเองประกาศสงครามกับรัฐบาลญี่ปุ่นในเดือนกันยายน 1969 แต่ตำรวจญี่ปุ่นก็สามารถจับกุมสมาชิกหลายคนได้อย่างรวดเร็วรวมถึง Tsuyoshi Okudaira ผู้ก่อตั้งและผู้นำทางความคิด ซึ่งถูกจำคุกในปี 1970 สมาชิกส่วนที่เหลือได้รวมเข้ากับกลุ่มลัทธิเหมา (the Maoist Revolutionary Left Wing of the Japanese Communist Party) จัดตั้ง United Red Army (連合赤軍 (Rengō Sekigun)) ในเดือนกรกฎาคม 1971 กลุ่มนี้มีชื่อเสียงจากเหตุการณ์ Asama-Sanso ซึ่งเป็นการกวาดล้างจับกุมสมาชิกสิบสองคนในค่ายฝึกลับบนภูเขาฮารุนะ โดยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นหลายร้อยนายทำการปิดล้อมนานถึงหนึ่งสัปดาห์

กุมภาพันธ์ 1917 Fusako Shigenobu และ Tsuyoshi Okudaira พร้อมสมาชิกติดตามประมาณ 40 คน ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่นไปยังประเทศในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี 1970 “กองทัพแดง” ได้ดำเนินการก่อการร้ายครั้งใหญ่หลายครั้ง รวมถึงการจี้เครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์หลายลำ การสังหารหมู่ที่สนามบิน Lod ในกรุงเทลอาวีฟ (1972) อิสราเอล ซึ่งทำให้ “กองทัพแดงญี่ปุ่น” กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มซ้ายติดอาวุธที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 1971 กองทัพแดงญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (The Popular Front for the Liberation of Palestine : PFLP) และ Wadie Haddad ในปี 1972 United Red Army ในญี่ปุ่นก็สลายตัว และกลุ่มของ Shigenobu จึงพึ่งพาอาศัย PFLP ในการจัดหาเงินทุน การฝึกอบรม และอาวุธยุทโธปกรณ์และการบุกยึดสถานทูตในประเทศต่าง ๆ ในปี 1971–72 องค์กรได้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การต่อสู้ภายในกลุ่มกันอย่างรุนแรงจนมีการสังหารชีวิตสมาชิก 14 คนโดยสมาชิกกองทัพแดงด้วยกัน การสังหารเหล่านี้สร้างความตกตะลึงให้กับประชาชนญี่ปุ่น และตามมาด้วยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุจำนวนมาก แม้ว่ากองทัพแดงจะยังมีขนาดเล็ก แต่กิจกรรมก่อการร้ายของกองทัพแดงยังคงดำเนินต่อไปจนถึงช่วงทศวรรษ 1990 ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 สมาชิกหลายคนถูกขับไล่ออกจากจอร์แดนและส่งตัวกลับญี่ปุ่นซึ่งทำให้พวกเขาถูกจับกุมและดำเนินคดี

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ถึง 1980 กองทัพแดงญี่ปุ่นได้ปฏิบัติการโจมตีทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกหลายครั้งได้แก่ :

1. เมื่อ 31 มีนาคม 1971: สมาชิกเก้าคน (รุ่นก่อนกองทัพแดงญี่ปุ่นซึ่งผู้นำเคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนที่พวกเขาจะถูกขับออกไป) ได้จี้เครื่องบิน Boeing 727 JAL 351 ซึ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศญี่ปุ่น บรรทุกผู้โดยสาร 129 คนจากสนามบินนานาชาติโตเกียว ไปยังเกาหลีเหนือ

2. เมื่อ 30 พฤษภาคม 1972: การสังหารหมู่ที่สนามบิน Lod กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล (ปัจจุบันคือสนามบินนานาชาติเบนกูเรียน) ด้วยปืนและระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน อีกประมาณ 80 คนได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในสามของผู้ก่อการร้ายฆ่าตัวตายด้วยระเบิดมือ อีกคนถูกยิงระหว่างการต่อสู้ ผู้ที่รอดชีวิตเพียงคนเดียวคือ Kōzō Okamoto โดยเหยื่อหลายคนเป็นผู้แสวงบุญชาวคริสต์ 

3. กรกฎาคม 1973: สมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นจี้เครื่องบิน JAL 404 เหนือเนเธอร์แลนด์ ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับการปล่อยตัวในลิเบีย แล้วผู้จี้ก็ทำการระเบิดเครื่องบินทิ้ง

4. มกราคม 1974: เหตุการณ์ Laju กองทัพแดงญี่ปุ่นโจมตีโรงงานเชลล์ในสิงคโปร์ และจับตัวประกันห้าคน ในเวลาเดียวกัน PFLP ได้ยึดสถานทูตญี่ปุ่นในคูเวต ตัวประกันถูกแลกเปลี่ยนด้วยค่าไถ่ และสมาชิก PFLP เดินทางไปยังเยเมนใต้ได้อย่างปลอดภัย

5. เมื่อ 13 กันยายน 1974 : สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ถูกบุกโจมตี เอกอัครราชทูตและคนอื่น ๆ อีกสิบคนถูกจับเป็นตัวประกัน และ Joke Remmerswaal ตำรวจหญิงดัตช์ถูกยิงที่ด้านหลังเจาะปอด หลังจากการเจรจาเป็นเวลานานตัวประกันได้รับการปลดปล่อยโดยแลกกับการปล่อยตัวสมาชิกกองทัพแดง (Yatsuka Furuya) ที่ถูกจำคุก เงินสด 300,000 ดอลลาร์ และเครื่องบินเดินทางไปยังเมืองเอเดนทางใต้ของเยเมน เป็นครั้งแรกซึ่งพวกเขาไม่ได้ตอบรับ จากนั้นไปยังซีเรีย แต่ซีเรียไม่ยอมรับการจับตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ และบังคับให้พวกเขาต้องคืนค่าไถ่

6. สิงหาคม 1975: กองทัพแดงญี่ปุ่นจับตัวประกันมากกว่า 50 คนที่อาคาร AIA ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตหลายแห่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ตัวประกันรวมถึงกงสุลสหรัฐฯและอุปทูตสวีเดน โดยสมาชิก 5 คนที่ถูกคุมขังถูกปล่อยตัว และเดินทางไปลิเบีย

7. เมื่อ 11 สิงหาคม 1976: ในนครอิสตันบูล ตุรกี มีผู้เสียชีวิต 4 คนและบาดเจ็บ 20 คน โดย PFLP และสมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นทำการโจมตีสนามบินอตาเติร์ก นครอิสตันบูล

8. กันยายน 1977: กองทัพแดงญี่ปุ่นจี้เครื่องบิน JAL 472 เหนืออินเดีย และบังคับให้ลงจอดที่กรุงธากา บังกลาเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นยอมปล่อยตัวสมาชิกกลุ่ม 6 คนที่ถูกคุมขัง และมีข่าวว่า ต้องจ่ายค่าไถ่อีก 6 ล้านดอลลาร์ด้วย

9. ธันวาคม 1977: ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกคนเดียวของกองทัพแดงญี่ปุ่นได้จี้เครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ 653 ซึ่งมีเอกอัครราชทูตคิวบาประจำญี่ปุ่น Mario Garcia อยู่ด้วย แต่เครื่องบิน Boeing 737 ลำดังกล่าวตกทำให้คนบนเครื่องทั้งหมดเสียชีวิต

10. พฤศจิกายน 1986: Fusako Shigenobu ร่วมมือกับ New People’s Army ซึ่งเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ลักพาตัว Nobuyuki Wakaouji ชาวญี่ปุ่น ผู้จัดการ Mitsui & Co. สาขามะนิลา ในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์

11. พฤษภาคม 1986: กองทัพแดงยิงปืนครกใส่สถานทูตญี่ปุ่นในแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย 

12. มิถุนายน 1987: เกิดการโจมตีด้วยปืนครกแบบเดียวกันกับสถานทูตอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในกรุงโรม อิตาลี 

13. เมษายน 1988: สมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นวางระเบิดสโมสรสันทนาการทหารของสหรัฐฯ (USO) ในเมืองเนเปิลส์ อิตาลี มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

14. ในเดือนเดียวกัน (เมษายน 1988) Yū Kikumura สมาชิกฝ่ายปฏิบัติการ กองทัพแดงญี่ปุ่นถูกจับพร้อมกับวัตถุระเบิดบนทางหลวง New Jersey Turnpike ซึ่งดูเหมือนจะตรงกับการวางระเบิด USO เขาถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาเหล่านี้ และถูกจำคุกในเรือนจำของสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในเดือนเมษายน 2007 เมื่อกลับมาถึงญี่ปุ่นเขาก็ถูกจับกุมทันทีในข้อหาใช้หนังสือเดินทางปลอม

Fusako Shigenobu มีบุตรสาวหนึ่งคน ซึ่งเกิดในปี 1973 ที่กรุงเบรุต เลบานอน ปัจจุบันเป็นนักข่าวชื่อว่า Mei Shigenobu เธอเคลื่อนไหวในตะวันออกกลางมากว่า 30 ปี การเคลื่อนไหวของเธอเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อความเป็นปึกแผ่นของการปฏิวัติระหว่างประเทศ โดยมีแนวคิดว่า ขบวนการปฏิวัติควรร่วมมือกัน และนำไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมระดับโลกในที่สุด จุดหมายปลายทางของเธอคือ เลบานอน และเป้าหมายของเธอคือ สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ เดิมเธอเข้าร่วมแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PFLP) ในฐานะอาสาสมัคร แต่ในที่สุดกองทัพแดงญี่ปุ่นก็กลายเป็นกลุ่มอิสระ เธอกล่าวในหนังสือหลายเล่มของเธอว่า "เป้าหมายของภารกิจคือการรวมกลุ่มพันธมิตรในการปฏิวัติระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมของโลก" Shigenobu ถูกระบุว่า เป็นบุคคลที่ต้องการตัวโดย INTERPOL ในปี 1974 หลังจากการจับตัวประกันที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเนเธอร์แลนด์เชื่อว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้อง

ตามเอกสารของ Shigenobu ที่ยึดได้เมื่อเธอถูกจับ และหนังสือพิมพ์รายงานข่าวเรื่องนี้ว่า เธอเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายโดยใช้หนังสือเดินทางปลอม ซึ่งเธอได้มาโดยผิดกฎหมายด้วยการแอบอ้างตัวเองเป็นบุคคลอื่น Shigenobu เดินทางเข้าและออกจากสาธารณรัฐประชาชนจีนซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง 16 ครั้งจากสนามบินนานาชาติคันไซตั้งแต่ธันวาคม 1997 ถึงกันยายน 2000 ตั้งแต่ปี 1990 เธอได้ก่อตั้ง "พรรคปฏิวัติประชาชน" เพื่อจุดประสงค์ที่จะ "การปฏิวัติด้วยกองกำลังติดอาวุธ" ในญี่ปุ่น โดยมีองค์กรบังหน้าคือ "ศตวรรษที่ 21 แห่งความหวัง" ซึ่งรับผิดชอบงานด้านกิจกรรมสาธารณะ ว่ากันว่าเธอใช้องค์กรนี้เป็นหลักในการวางแผนร่วมมือกับพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น หลังจากนั้นเธอก็ซ่อนตัวอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งใน Nishinari Ward โอซาก้า อยู่ช่วงหนึ่ง ในปี 2000 สำนักงานรักษาความมั่นคงสาธารณะ ส่วนที่ 3 โอซาก้า ซึ่งกำลังทำการตรวจสอบผู้สนับสนุนกองทัพแดงญี่ปุ่น และได้เริ่มสอบสวนบุคคลที่ติดต่อกับผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายกับ Shigenobu โดยเธอมีปานบนใบหน้าแต่ซ่อนไว้ด้วยการแต่งหน้า อย่างไรก็ตามรอยนิ้วมือของเธอก็ถูกเก็บรวบรวมจากถ้วยกาแฟที่ผู้หญิงคล้ายกับ Shigenobu ใช้ อีกทั้งวิธีการสูบบุหรี่ของหญิงผู้ต้องสงสัยก็คล้ายกับ Shigenobu และเธอมักไปดื่มในสถานที่แห่งหนึ่งเป็นประจำ เมื่อสำนักงานรักษาความมั่นคงสาธารณะฯ พบว่า ลายนิ้วมือที่เก็บมาได้ตรงกับลายนิ้วมือของ Shigenobu เป็นเวลา 26 ปีหลังจากการจี้จับตัวประกันที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก ปี 1974 Shigenobu ก็ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2000 ในเมืองทาคาสึกิ นครโอซาก้า ซึ่งเธอซ่อนตัวอยู่ เธอถูกส่งตัวจากโอซาก้าไปยังกรมตำรวจนครบาลในกรุงโตเกียว และถูกควบคุมในห้องส่วนตัวของ "รถด่วนสีเขียว" Tokaido Shinkansen เพื่อป้องกันการหลบหนี ชาวญี่ปุ่นต่างตื่นตกใจเมื่อเห็นหญิงวัยกลางคนที่ถูกใส่กุญแจมือลงจากรถไฟที่มาถึงกรุงโตเกียว เมื่อ Shigenobu เห็นบรรดากล้องที่รอทำข่าวอยู่เธอก็ชูนิ้วโป้งขึ้น และตะโกนใส่ผู้สื่อข่าวว่า "ฉันจะสู้ต่อไป!"

เธอถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2006 และได้รับคำพิพากษาขั้นสุดท้ายจากศาลสูงสุดของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2010 ด้วยเงื่อนไขเดียวกัน การฟ้องร้องเธอในสามข้อหาคือ (1)การใช้หนังสือเดินทางปลอม (2)ช่วยเหลือสมาชิกกองทัพแดงคนอื่น ๆ ในการทำหนังสือเดินทางปลอม และ(3)พยายามฆ่าคนตายโดยมีการวางแผนและสั่งการ กักขังและจับตัวประกันในปี 1974 ที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ Shigenobu สารภาพผิดในสองข้อหาแรก แต่ถูกตัดสินว่า ไม่มีความผิดในข้อหาที่เชื่อมโยงเธอกับการจับตัวประกันสถานทูตใน 1974 ในบรรดาพยานของเธอที่ปรากฏตัวในศาลสำหรับการสู้คดีคือ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการจี้เครื่องบิน TWA Flight 840 ในปี 1969 และปัจจุบันเป็นสมาชิกของสภาแห่งชาติปาเลสไตน์ ในคำพิพากษาสุดท้ายของเธอ ผู้พิพากษาระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า เธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดสถานทูตด้วยอาวุธ ซึ่งส่งผลให้ตำรวจสองนายได้รับบาดเจ็บ หรือข้อหาพยายามฆ่า แต่ตัดสินว่า เธอสมคบคิดกับสมาชิกกลุ่มของเธอเพื่อกักขังและจับตัวประกันในสถานทูต เธอถูกตัดสินลงโทษด้วยการจำคุกเป็นเวลา 20 ปี อย่างไรก็ตามเนื่องจากการรวมการคุมขังสามปีระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 810 วันในเรือนจำ จึงเหลือเวลา 17 ปี 

ในเดือนเมษายน ปี 2001 Shigenobu ได้ออกแถลงการณ์จากที่คุมขัง โดยประกาศว่า กองทัพแดงญี่ปุ่นได้ยุติบทบาทลงแล้ว และการต่อสู้ต่อไปควรกระทำด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย Shigenobu ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2022 สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้แถลงต่อสาธารณะว่า มีกลุ่มสืบทอดเจตนารมย์ของกองทัพแดงญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นในปี 2001 ในชื่อว่า “ขบวนการเรนไต (ムーブメント連帯 (Mūbumento Rentai)) “กองทัพแดงญี่ปุ่น” เคยถูกระบุโดนรัฐบาลสหรัฐฯว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในบัญชีกลุ่ม/องค์กรก่อการร้ายเมื่อ 8 ตุลาคม 1997 และถูกถอดจากรายชื่อเมื่อ 8 ตุลาคม 2001 โดยครั้งหนึ่งกองทัพแดงญี่ปุ่นถูกระบุว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายนิยมคอมมิวนิสต์ติดอาวุธที่มีความศักยภาพในการก่อการร้ายสูงที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกเลยทีเดียว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top