ย้อนรอย 48 ปี วิกฤตการณ์ Mayaguez (มายาเกซ/มายาเกวซ) อันเป็นปัจฉิมบทของฐานทัพของสหรัฐฯ ในไทย และปฐมบทแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน

บอง บอง เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

เมื่อการเลือกตั้งในบ้านเราจบลง พรรคการเมืองที่มหาอำนาจชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา วาดหวังที่จะให้เป็นรัฐบาลก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่งและสอง ด้วยหมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับมามีบทบาทและอิทธิพลในภูมิภาคนี้ หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุน บอง บอง เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ จนได้เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และยินยอมเปิดรับการกลับเข้ามาฟิลิปปินส์ของสหรัฐฯ หลังจาก โรดรีโก โรอา ดูแตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์แสดงบทบาทท่าที่แข็งกร้าวกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตลอด 

สนามบินอู่ตะเภา

ด้วยจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯ ที่จะกลับมามีบทบาทและอิทธิพลในภูมิภาคนี้คือ การใช้ประเทศในภูมิภาคนี้เป็นพันธมิตรในการปิดล้อมจีน และสิ่งที่สหรัฐฯ หมายมั่นปั้นมือที่สุดในไทยคือ การกลับเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาอันเป็นสนามบินที่สหรัฐฯ สร้างเอาไว้ในยุคสงครามเย็น โดยเป็นฐานทัพอากาศที่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 ประจำการ และใช้เป็นฐานปฏิบัติการในการทิ้งระเบิดในเวียดนาม ลาว เพราะสนามบินอู่ตะเภามีความพร้อมในการรองรับกองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ที่ครอบคลุมทะเลจีนใต้ (มหาสมุทรแปซิฟิก) และทะเลอันดามัน (มหาสมุทรอินเดีย) ซึ่งจะทำให้ราชอาณาจักรไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน กลับมาอยู่ในวงของความขัดแย้งของสหรัฐฯ และจีนโดยตรง เช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะสงครามอินโดจีนหรือสงครามเวียดนาม อีกครั้งหนึ่ง


สำหรับวิกฤตการณ์ Mayaguez (มายาเกซ/มายาเกวซ) อันเป็นจุดจบของฐานทัพของสหรัฐฯ ในไทย และจุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ขณะที่เรือสินค้า SS Mayaguez บรรทุกอาหาร และเวชภัณฑ์เดินเรือในน่านน้ำสากลจากฮ่องกง ผ่านใกล้ชายฝั่งกัมพูชาเพื่อไปยังท่าเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้ถูกเรือติดอาวุธของรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) ยึดเรือ และจับลูกเรือ 39 คนเป็นตัวประกัน โดยอ้างเรือสินค้า SS Mayaguez ว่ารุกล้ำน่านน้ำกัมพูชา (ในเขตน่านน้ำซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งของประเทศกัมพูชาประมาณ 60 ไมล์) รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวและรวดเร็ว เพราะเห็นเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำสหรัฐฯ จะสามารถแสดงอำนาจและความเด็ดขาดให้ปรากฏแก่ชาวโลก เนื่องจากว่าเพียงแค่เดือนก่อนหน้านั้นทั้งกัมพูชาและเวียดนามใต้ได้พ่ายแพ้แก่กองกำลังคอมมิวนิสต์ ซึ่งสร้างความสั่นคลอนอย่างยิ่งแก่เกียรติภูมิและความภูมิใจแห่งชาติของชาวอเมริกัน


ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ เพื่อชิงเรือ SS Mayaguez คืนเกิดขึ้นโดยนาวิกโยธินอเมริกันจากเกาะโอกินาวาและอ่าวซูบิก ที่ถูกส่งมายังฐานทัพอเมริกันที่อู่ตะเภาในวันที่ 13 พฤษภาคม ได้บุกจู่โจมชิงเรือ SS Mayaguez และลูกเรือคืนในเช้ามืดวันที่ 14 พฤษภาคม โดยมีเครื่องบินรบจากฐานทัพอเมริกันที่อุดรธานีและโคราชออกปฏิบัติการร่วมด้วย และประสบความสำเร็จในเวลาประมาณ 11.00 น. การใช้ดินแดนไทยเพื่อปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย ซึ่งมิได้รับรู้ถึงปฏิบัติการครั้งนี้เลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แจ้งแก่อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยในวันที่ 13 พฤษภาคม แล้วว่า ไทยไม่ยินยอมให้ใช้ดินแดนไทยในทางการทหารใด ๆ เพื่อตอบโต้กัมพูชา แม้ว่า ก่อนการดำเนินภารกิจนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ได้แจ้งแผนการใช้กำลังต่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ที่สหรัฐฯ ติดต่อด้านการทหารเป็นประจำ พลเอกเกรียงศักดิ์ได้ให้อนุญาต โดยมิได้แจ้งแก่รัฐบาลไทย และรัฐบาลไทยซึ่งรับรู้สถานการณ์ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ดำเนินภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ก็ได้แถลงว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการละเมิดอธิปไตยไทย และได้ยื่นบันทึกประท้วงต่ออุปทูตสหรัฐฯ พร้อมทั้งระบุให้ถอนนาวิกโยธินออกทั้งหมดภายใน 24 ชั่วโมง



อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสะเทือนกว้างไกล กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้แสดงปฏิกิริยาประท้วงและประณามสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วและอย่างสอดคล้องกัน ซึ่งขัดแย้งกับบริบทการเมืองไทยขณะนั้น ที่มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรงในสังคม (ไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้) ดังที่บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ระบุว่า “ไม่มีครั้งใดในการเมืองไทยที่คนไทยทั้งชาติจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบต่อรัฐบาลสหรัฐฯรุนแรงเท่าครั้งนี้” การเคลื่อนไหวเริ่มขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านทุกพรรคได้เรียกร้องให้เปิดประชุมสภาวิสามัญ เพราะเห็นว่าเหตุการณ์เป็นภาวะคับขันและเกี่ยวข้องกับเอกราชและอธิปไตยของชาติ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับของไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนความสัมพันธ์ไทย – อเมริกัน เพื่อให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุดมาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จัดการชุมนุมประท้วงสหรัฐฯ ที่สนามหลวงและมีผู้เข้าร่วมหลายพันคน ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ส่งบันทึกประท้วงถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมทั้งเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ กลับ พร้อมทั้งประกาศที่จะทบทวนสัญญาและข้อผูกพันระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีทั้งหมด ส่วนการชุมนุมที่นำโดยศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขีดเส้นตายให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องขอโทษไทยภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ จากรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มายังหน้าสถานทูตสหรัฐฯ อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้เข้าร่วมด้วย เช่น นายธีรยุทธ บุญมี และ นายเสกสรร ประเสริฐกุล เป็นต้น

นพ.เหวง โตจิราการ หนึ่งแกนนำการประท้วงสหรัฐฯ ในขณะนั้น

ในวันที่สามของการชุมนุมประท้วงมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนถึงกว่าหนึ่งหมื่นคน สหภาพกรรมกร 61 แห่งได้ประกาศเข้าร่วมด้วย และขู่จะทำลายธุรกิจของบริษัทที่ชาวอเมริกันเป็นเจ้าของถ้าสหรัฐฯยังไม่ขอโทษไทย นอกจากนี้ ยังมีการชุมนุมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วย ผู้ชุมนุมที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯได้เผาหุ่นประธานาธิบดีฟอร์ดและ ดร.เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีความผิดตามคำพิพากษาของ “ศาลประชาชน” คือ “เป็นฆาตกรเลือดเย็น ฆ่าประชาชนหลายหมื่นคนในอินโดจีนและหลอกลวงประชาชนไทย”


นายธีรยุทธ บุญมี ได้ประกาศด้วยว่าหากประธานาธิบดีฟอร์ดไม่ขอโทษประชาชนไทยเองภายใน 24 ชั่วโมง ก็จะเผาธงชาติอเมริกันซึ่ง “เป็นการทำลายสัญลักษณ์ของจักรวรรดินิยมอเมริกา” การชุมนุมได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมกรูกันเข้าไปแกะตราสถานทูตฯซึ่งเป็นรูปนกอินทรีลงกระทืบและติดรูปอีแร้งแทน ป้ายชื่อสถานทูตถูกทับด้วยป้าย ‘ซ่องโจร’ และขณะที่เหตุการณ์กำลังชุลมุนนั้น ก็มีคนกลุ่มหนึ่งแต่งตัวเป็นชาวเวียดนามกระชากธงชาติอเมริกันลงมาปัสสาวะรดกลางที่ชุมนุม ซี่งในขณะเกิดเหตุการณ์ทั้งหมดนั้น กำลังตำรวจที่ดูแลบริเวณนั้นมิได้เข้าจัดการหรือขัดขวางใด ๆ

 



สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้นำรัฐบาลมาก และต้องการยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด ดังนั้น เมื่ออุปทูตสหรัฐฯ ขอพบเพื่อหารือสถานการณ์ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ขอให้ส่งสารขอโทษไทย ในเช้าวันต่อมาอุปทูตสหรัฐฯ ได้ยื่นบันทึกของอุปทูตต่อพลตรีชาติชาย ซึ่งมีใจความบางตอนว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าใจถึงปัญหาที่ได้สร้างให้แก่รัฐบาลไทย…และขอย้ำว่า มีความเสียใจในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ สหรัฐฯ ยังคงมีนโยบายที่จะเคารพต่ออธิปไตยและเอกราชของไทยเสมอ…และเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก” พลตรีชาติชายกล่าวในเวลาต่อมาว่า พอใจต่อบันทึกนี้ และคำขอโทษจากประธานาธิบดีฟอร์ดก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป และได้ส่งสำเนาบันทึกแก่ผู้นำการชุมนุมที่หน้าสถานทูต กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขอขมาแล้ว” และประกาศก่อนเลิกการชุมนุมว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ส่วนจุดสุดท้ายคือการขับไล่ฐานทัพอเมริกันทั้งหมดออกไป



ปฏิกิริยารุนแรงของนักศึกษาและสาธารณชน ต่อเหตุการณ์มายาเกวซเกิดขึ้นในบริบทการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่มีข้อเรียกร้องจากหลายกลุ่มให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระจากสหรัฐฯ กลุ่มเหล่านี้ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองพลเรือนและนักศึกษา มีทัศนะว่า นโยบายต่างประเทศที่ผูกพันกับสหรัฐฯ อย่างแน่นแฟ้นนั้นถูกกำหนดโดยผู้นำทหารซึ่งมีผลประโยชน์สอดคล้องกับสหรัฐฯ และเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ มากกว่า โดยเฉพาะฐานทัพและทหารอเมริกันในประเทศไทยก็คือ สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันที่ต้องให้หมดไปโดยเร็ว อีกทั้งทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตยและไร้เกียรติภูมิประเทศ นักวิชาการ เช่น ดร.เขียน ธีระวิทย์ กล่าวใน พ.ศ. 2518 ว่า หากฐานทัพอเมริกันยังอยู่ต่อไป “จะสร้างความแตกแยกให้คนในชาติมากขึ้น อาจเกิดการตั้งขบวนการสังหารชาวอเมริกันและทหารอเมริกันในไทย เพราะคนไทยทุกวันนี้มีความเกลียดชังทหารอเมริกัน” ส่วนนักศึกษาฝ่ายซ้ายกลุ่มหนึ่งในเวลานั้นก็ได้ผลิตงานเขียนหรือกล่าวเสมอในที่สาธารณะว่า สหรัฐฯ เป็น ‘จักรวรรดินิยม’ ที่เอาเปรียบประเทศเล็กทั่วไปรวมทั้งไทยด้วย การชุมนุมของนักศึกษาครั้งนี้ดูเหมือนประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลได้ตอบโต้สหรัฐฯ อย่างแข็งกร้าว อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ของรัฐบาลยังเป็นเพราะสาเหตุอื่นด้วย กล่าวคือ ผู้นำพลเรือนกลุ่มหนึ่งก็มีทัศนะว่าจะต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ไทย – อเมริกันที่มีลักษณะ ‘ลูกพี่ – ลูกน้อง’ และเน้นด้านการทหารให้มีลักษณะที่สมดุลมากขึ้น เหตุการณ์ ‘เรือ SS Mayaguez’ จึงเป็นโอกาสที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองแก่สหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีนที่รัฐบาลกำลังพยายามสร้างไมตรีด้วย นอกจากนี้ ก็เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะมีบทบาทในเรื่องความมั่นคงที่ก่อนหน้านั้น ถือเป็นเรื่องของฝ่ายทหารที่รัฐบาลพลเรือนช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม แทบไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ



อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ก็ทำให้รัฐบาลไทยอยู่ในฐานะลำบากเพราะฝ่ายทหารยังคงมีอำนาจในการเมืองไทย และต้องการความช่วยเหลือด้านการทหารจากสหรัฐฯ ต่อไป ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังคงเป็นมหาอำนาจที่ผู้นำไทยทุกกลุ่มให้ความสำคัญมากที่สุด และหากจำเป็นก็ยังคงหวังพึ่งพามากที่สุดด้วย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงต้องยุติเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างรวดเร็วโดยการยอมรับ ‘สารแสดงความเสียใจ’ จากอุปทูตอเมริกันประจำประเทศไทยที่มิใช่ ‘คำขอโทษ’ จากรัฐบาลอเมริกัน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี จึงนำคณะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรก โดยมีโอกาสพบกับผู้นำของจีน ทั้งประธานเหมา เจ๋อตง นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล และ รองนายกรัฐมนตรี เติ้ง เสี่ยวผิง รวมทั้งได้มีพิธีลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน



ในปี พ.ศ. 2518-2519 คนรุ่นใหม่สมัยนั้นเป็นคนไล่ฐานทัพอเมริกันออกไป แต่พอ พ.ศ. 2566 คนรุ่นใหม่สมัยนี้กลับมาสนับสนุนพรรคการเมือง ที่มีแนวโน้มจะให้ฐานทัพอเมริกันกลับมาในประเทศไทยอีก

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ
 


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล