IO ไม่ใช่เครื่องมือไล่ล่าใครแต่ใช้เพื่อความมั่นคง ป้องกันกลุ่มแบ่งแยกชาติแฝงตัวในคราบนักการเมือง

ทำไมกองทัพจึงต้องมี IO: เมื่อพฤติกรรมของนักการเมืองบางคนเปิดช่องให้แนวคิดแบ่งแยกชาติฝังราก

เสียงวิจารณ์ว่ากองทัพไทยใช้งบประมาณในปฏิบัติการข่าวสาร (IO) เพื่อโจมตีนักการเมืองฝ่ายค้านนั้นมีมานาน และยิ่งดังขึ้นเมื่อคุณอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ออกมาแสดงตนว่าเป็น 'เหยื่อ IO' ด้วยวาทกรรมแรงกล้าในทุกเวทีทั้งในและนอกสภา

แต่แทนที่จะหยุดเพียงคำถามว่า “ทำไมทหารต้องทำ IO” เราควรถามกลับว่า “อะไร” คือเหตุผลที่ทำให้บางพรรคการเมืองกลายเป็นเป้าหมายของการเฝ้าระวังทางความมั่นคง

หนึ่งในคำตอบนั้นคือพฤติกรรมของบุคคลในพรรคเดียวกับคุณอมรัตน์ — นั่นคือ รอมฎอน ปันจอ สส.ผู้มีบทบาทชัดเจนในการสนับสนุนงานวิจัยเรื่อง 'สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง' ซึ่งเผยแพร่แนวคิดเอกราชปาตานีอย่างเป็นระบบ

รอมฎอน ปันจอ เคยเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch และมีบทบาทอย่างชัดเจนในการสนับสนุนงานวิจัยเรื่อง “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง” ที่เนื้อหาภายในมีลักษณะส่งเสริมแนวคิดเอกราชปาตานีอย่างเป็นระบบ

เขานำผลสำรวจความคิดเห็นของคนในพื้นที่ 1,000 คนที่ 'ยอมรับว่าต้องการเอกราช' มานำเสนอผ่านสื่อ และเรียกงานวิจัยชิ้นนี้ว่า 'สุดพีค' พร้อมเสนอว่า รัฐไทยควรยุติความพยายามในการทำให้คนปาตานีละทิ้งความฝันเรื่องเอกราช และควร 'เปิดพื้นที่' ให้แนวทางแบ่งแยกดินแดนได้อภิปรายอย่างเปิดเผยในทางการเมือง

สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ผู้ช่วยวิจัยของงานชิ้นนี้ล้วนเป็นสมาชิกของเครือข่าย The Patani และ PerMas ซึ่งเป็นกลุ่มที่รณรงค์เรื่อง สิทธิในการกำหนดใจตนเอง และมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรต่างชาติที่เคยผลักดันการแบ่งแยกดินแดนในอดีต

เมื่อบุคคลที่มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สนับสนุนงานลักษณะนี้ และพรรคการเมืองต้นสังกัดของเขากลับไม่มีท่าทีชี้แจง หรือควบคุมอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่อาจมองว่าเป็นการกระทำส่วนตัว หากแต่เป็น 'การยินยอมโดยพฤตินัย' ของพรรคทั้งพรรค

นี่คือเหตุผลว่าเหตุใดกองทัพ และหน่วยงานความมั่นคงจึงต้องจับตาพรรคการเมืองนี้อย่างใกล้ชิด

IO จึงไม่ใช่เครื่องมือไล่ล่าใคร แต่เป็นเครื่องมือสร้างการรับรู้ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้เห็นอีกด้านหนึ่ง — ด้านที่ซ่อนอยู่หลังงานวิจัย วาทกรรมสิทธิ และการเคลื่อนไหวใต้ดินของขบวนการที่ไม่เคารพอธิปไตย

การมี IO จึงไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกประเทศในโลกต่างมีกลไกเช่นนี้เพื่อป้องกันภัยเงียบ เพียงแต่เขารู้ว่า 'ข้อมูลด้านความมั่นคง' ไม่ใช่สิ่งที่จะเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือปล่อยให้ต่างชาติเข้าถึงอย่างเสรี

การอภิปรายเรื่องความมั่นคงในรัฐสภาเปิด เป็นเรื่องที่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลและฝ่ายการเมืองมีวุฒิภาวะพอที่จะจำกัดการพูดเรื่องความมั่นคงไว้เฉพาะในการประชุมลับของกรรมาธิการหรือหน่วยงานความมั่นคงเท่านั้น

ประเทศไทยเองก็ไม่ต่างกัน หากยังปล่อยให้แนวคิดแบ่งแยกแฝงตัวผ่านช่องทางประชาธิปไตยแบบเสรีไร้ขอบเขต โดยไม่มี IO คอยสกัดกั้นและให้ข้อมูลแก่ประชาชน สังคมไทยก็อาจตื่นรู้ไม่ทัน ก่อนที่โครงสร้างของชาติจะถูกกัดกร่อนไปทีละชั้น


เรื่อง : ปราชญ์ สามสี