Saturday, 3 May 2025
THE STATES TIMES TEAM

บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตือนภัยไซเบอร์

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น. นาย ปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด นางสาว ศรีรัชต์ ธนะรัชต์ กรรมการบริหารฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ นางสาว รัชดาวรรณ สุลัญชุปกร รองกรรมการบริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจค้าปลีกโมบิลิตี้ และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.อ.สมพงษ์  ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.) พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) พล.ต.ต.กิตติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (รอง ผบช.ภ.1)  พล.ต.ต.ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี (ผบก.ภ.จว.นนทบุรี) และ พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.บช.สอท.) ร่วมเปิดโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และป้องปรามภัยอาชญากรรมออนไลน์  ณ สถานีบริการน้ำมันเชลล์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด มนเทียรรุ่งเรือง (สาขา 6) ถนนกาญจนาภิเษก อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี 

นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “บนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นธุรกิจพลังงานที่ยั่งยืนภายใต้กลยุทธ์ Powering Progress หนึ่งในสี่เสาหลักที่เชลล์ให้ความสำคัญคือ Powering Lives ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนให้ดีขึ้น นอกเหนือจากการจัดหาพลังงานที่เข้าถึงได้และเชื่อถือได้อย่างยั่งยืน  ด้วยเหตุนี้ เชลล์จึงได้เข้าร่วมสนับสนุนแคมเปญ ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ภายใต้หลักการ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น  เพราะในแต่ละวัน มีผู้มารับบริการในสถานีบริการเชลล์ทั่วประเทศถึง 5 แสนคน ทั้งการมาเติมน้ำมัน การใช้บริการธุรกิจเสริมต่างๆ และการใช้บริการห้องน้ำที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ  การร่วมแคมเปญครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความตระหนักถึงภัยไซเบอร์ที่ใกล้ตัวมากขึ้นทุกวัน ยังช่วยให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้ เชลล์จึงยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้สังคมไทยปลอดภัยจากการคุกคามบนโลกไซเบอร์และน่าอยู่ยิ่งขึ้น”  

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ ผบ.ตร. กล่าวเสริมว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำระบบรับแจ้งความ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เปิดดำเนินการรับแจ้งความออนไลน์และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหามาตรการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้จัดทีมวิทยากรของคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และครูไซเบอร์ทั้งครู ก. และครู ข. ออกบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งได้มีการนำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ มาประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์  โดยเริ่มทำแบบทดสอบได้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2566 หากทำแบบทดสอบครบ 40 ข้อแล้ว  จะได้รับ Whoscall Premium Gift Code ฟรี ซึ่งสามารถใช้บริการ Whoscall Premium Feature ได้ฟรี เป็นระยะเวลา 1 ปี หากทำแบบทดสอบได้ถูกต้องตั้งแต่ 35 ข้อ  ขึ้นไป จะมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัล iPhone 14  เดือนละ 20 รางวัล  เป็นเวลา 3 เดือน  รวม 60 รางวัล  และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จับรางวัลผู้โชคดีประจำเดือน กรกฎาคม 2566  จำนวน 20 รางวัล ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้โชคดีสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ช่องทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com ขณะเดียวกันได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในช่องทางออนไลน์ (Online) และออนไซต์ (Onsite) ในช่องทางออนไลน์ (Online) ได้มีการแถลงข่าวประจำสัปดาห์และนำเสนอในช่องทางของสื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ www.เตือนภัยออนไลน์.com และเพจ https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ สำหรับการประชาสัมพันธ์ในช่องทางออนไซต์ (Onsite) นั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ผนึกกำลังเตือนภัยออนไลน์บนรถยนต์โดยสารสาธารณะ โดยได้ร่วมกันติดสติ๊กเกอร์เตือนภัยออนไลน์ 6 รูปแบบกลโกง บนรถยนต์โดยสารสาธารณะ (บขส.) รถยนต์โดยสารประจำทาง (รถเมล์) และรถยนต์รับจ้างสาธารณะ (Taxi) ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนที่โดยสารรถยนต์โดยสารและรถยนต์รับจ้าง ได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ อีกทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์แถลงข่าวเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในหลายวิธี หลายช่องทาง ให้ประชาชนได้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ แต่ปรากฏว่ายังมีประชาชนตกเป็นเหยื่อของคนร้ายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ในช่องทางอื่นเพิ่มเติม สำหรับการประชาสัมพันธ์ในวันนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเชลล์ฯ ติดตั้งสื่อภายในสถานีบริการน้ำมัน  เช่น  ภายในห้องน้ำชาย-หญิง  เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้ถึงข้อมูลและข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลหรือช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวันที่จะมีผู้ใช้บริการเดินทางเข้ามาใช้บริการที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์กว่า 700 แห่งทั่ว
ประเทศ”  

ผบ.ตร. กล่าวเพิ่มเติมว่า “เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ และขอให้แชร์แบบทดสอบไปให้กับญาติหรือผู้เป็นที่รัก เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ทำแบบทดสอบมีความรู้เท่าทันกลโกงของคนร้ายบนโลกออนไลน์ และไม่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งขอประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งความ  แจ้งเบาะแส  และให้คำปรึกษา ได้ที่ www.thaipoliceonline.com หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรผ่านสายด่วน 1441 สำหรับช่องทางประชาสัมพันธ์เตือนภัยออนไลน์  ประชาชนสามารถศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์รูปแบบต่างๆ ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com และ Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดโครงการพัฒนาบุคลิกภาพและคุณภาพชีวิตตำรวจ รุ่นที่ 2 มุ่งพัฒนา เสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานเพื่อรองรับภารกิจดูแลประชาชน

พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล(สกพ.) เปิดเผยว่า วันอังคารที่ 15 ส.ค.66 เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน ในพิธีเปิด “โครงการพัฒนาบุคลิกภาพและคุณภาพชีวิตของข้าราชการตำรวจ (รุ่นที่ 2)” จำนวนทั้งสิ้น 99 นาย มีการจัดอบรมในระหว่างวันที่ 14-19 ส.ค.66 ณ อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

โครงการพัฒนาบุคลิกภาพและคุณภาพชีวิตของข้าราชการตำรวจ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ให้กำลังพลที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน มีแนวคิดในการเสริมสร้างทัศนคติ ปรับปรุงพัฒนาบุคลิกภาพที่ดี โดยการนำธรรมะซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติ โดยได้รับความเมตตาจาก พระอาจารย์เอกชัย สิริญาโณ เจ้าอาวาสวัดใหม่ศรีร่มเย็น ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิทยา การแพทย์สาธารณสุข ในการสร้างแรงบันดาลใจ

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการเป็นไปตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องการให้มีการส่งเสริมจริยธรรม จรรยาบรรณและการพัฒนาคุณธรรมของข้าราชการตำรวจ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างพัฒนาทัศนคติ จิตสำนึกและพฤติกรรมให้เป็นผู้มีวินัย มีเป้าหมายเพื่อให้ข้าราชการตำรวจมีโอกาสในการพัฒนาตน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนการมีจิตสำนึกที่ดี จนนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่พี่น้องประชาชน สมดังเจตนารมณ์ของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานกำลังพลในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้าราชการตำรวจที่ผ่านการอบรมจากโครงการนี้ จะได้นำความรู้ แนวคิด ทัศนคติ ที่ได้รับจากคณะวิทยากร นำไปปรับปรุงพัฒนาตนเองให้เป็นบุคลากรที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม ทั้งในมิติของการปฏิบัติหน้าที่ราชการและการประพฤติปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
 

ผบ.ตร.จัดสรรงบตัดเครื่องแบบให้ตำรวจจราจรทั่วประเทศเกือบ 20,000 คน นับเป็นเครื่องแบบภาคสนามครั้งแรกของสายงานจราจร เกิดความคล่องตัว ปลอดภัย สร้างขวัญกำลังให้ตำรวจจราจร เพื่อดูแลประชาชนบนท้องถนน ดีเดย์พร้อมกัน 15 ก.ย.นี้

วันนี้ (15 ส.ค.66 ) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “ ตามดำริ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ให้ ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศจร.ตร.) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงเครื่องแบบสำหรับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่สายงานจราจร โดยมี พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าคณะทำงาน คณะทำงานได้ร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ กำหนดหลักเกณฑ์รูปแบบเครื่องแบบ และสำรวจความคิดเห็นจากข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ จนได้ข้อสรุปเครื่องแบบจราจรเสนอ ตร. 

ต่อมา ผบ.ตร.ได้อนุมัติเครื่องแบบสนามตำรวจสายงานจราจรเป็นแบบเดียวกับสายงานป้องกันปราบปราม โดยเครื่องหมายใช้ด้ายสีขาวปักบนพื้นสีเดียวกับเครื่องแบบ และติดเครื่องแบบด้วยแถบหนามเตย ให้มีปลอกแขนจราจรสะท้อนแสง เครื่องแบบสามารถใช้ได้ทั้งสายงานป้องกันปราบปรามและงานจราจร หากมีการเปลี่ยนแปลงสายงาน พร้อมขออนุมัติกรมบัญชีกลาง เบิกจ่ายค่าผ้าและค่าตัดชุดเครื่องแบบสนาม รวมทั้งค่าเครื่องหมายตามที่ราชการกำหนด สำหรับข้าราชการตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่งานจราจรทั่วประเทศ จำนวน 19,662 คน แล้วโอนเงินไปให้หน่วยทำการจัดซื้อจัดจ้าง เร่งรัดดำเนินการตัดเครื่องแบบ กำหนดใส่เครื่องแบบฯ ภายใน 15 ก.ย.66  โดยพร้อมเพรียงกัน”      

โฆษก ตร.กล่าวอีกว่า “สายงานจราจรมีความสำคัญที่ต้องปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจร ออกช่วยเหลือประชาชนบนท้องถนน ปฏิบัติตามนโยบาย ตร.ในการกำหนดมาตรการลดและป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่ รวมถึงภารกิจอื่นๆที่ได้รับมอบหมาย 

การมีเครื่องแบบสนามเหมือนกับสายงานป้องกันปราบปราม เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ จะช่วยให้การทำงานเกิดความคล่องแคล่ว คล่องตัว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการมอบเครื่องแบบภาคสนามสายงานจราจร ของ ผบ.ตร.ในครั้งนี้ ถือเป็นชุดภาคสนามครั้งแรกของตำรวจจราจร เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการตำรวจสายงานจราจรอีกด้วย”

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พร้อมคุณแม่สุมิตรา เข้ารับพระราชทานรางวัลงานวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2566


เมื่อวันที่ 13 ส.ค.66 เวลา 17.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย คุณแม่สุมิตรา หักพาล เข้าร่วมงานวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2566 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ แจ้งวัฒนะ พร้อมเข้ารับพระราชทานรางวัลแม่ดีเด่นแห่งชาติ และโล่เกียรติคุณลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่ ประจำปี 2566 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  

พิธีดังกล่าวจัดขึ้นโดยสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีหน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ เข้าร่วมเฉลิมพระเกียรติของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา และเพื่อยกย่อง เทิดทูนพระคุณ และบทบาทของมารดาที่มีต่อสถาบันครอบครัวและสังคม นอกจากนี้ มีการพระราชทานรางวัลแม่ดีเด่นประจำปี 2563 – 2566 รวมกว่า 252 คน พระราชทานโล่เกียรติคุณแก่ลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่ ประจำปี 2566 จำนวน 164 คน, พระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดงานเขียนเทิดพระคุณของแม่ จำนวน 3 คน และพระราชทานโล่เกียรติคุณแก่ผู้มีอุปการคุณ จำนวน 80 คน ซึ่งในวันนี้ คุณแม่สุมิตรา หักพาล มารดาของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระราชทานพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นคุณแม่ดีเด่นประจำปี 2566 และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังได้รับคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่ ประจำปี 2566  อีกด้วย

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566

‘ประชาธิปไตย’ คือ ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ ‘ประชาชนเป็นใหญ่’ ต้องให้ประชาชนได้รับประโยชน์เต็ม อย่างนั้น จึงจะเป็นประชาธิปไตย ไอ้ประชาชนเป็นใหญ่นั้น มันไม่แน่ ประชาชนบ้าบอก็ได้ 
ถ้าประชาชน ‘เห็นแก่ตัว’ แล้ว...ฉิบหายหมด!!!

-พุทธทาสภิกขุ-

เปิดใจ 'พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา' | CONTRIBUTOR EP.27

นายพงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรีปี พ.ศ.2560 ผู้ริเริ่มโครงการบทเพลงเทิดพระเกียรติ "คีตามาลัยเทิดไท้พระพันปี" เปิดใจเล่าถึงที่มา และ เบื้องหลัง กว่าจะเป็น 10 บทเพลงทรงคุณค่า ที่ถ่ายทอดเรื่องราวอันซาบซึ้งประทับใจ และเป็นที่จดจำของปวงชนชาวไทยเกี่ยวกับพระองค์ท่าน

สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา มอบบ้านโครงการปรับปรุงซ่อมแชมบ้าน เฉลิมพระเกียรติฯ ประจำปีงบประมาณ 2566

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ณ บ้านเลขที่ 89/2 ม.2 ต.บางผึ้ง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นาย ขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานมอบบ้านโครงการปรับปรุงซ่อมแชมบ้าน เฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมด้วย นางสาวกมลชญา ประเสริฐสิน นายอำเภอบางปะกง คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี 

ตามที่สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้จัดทำโครงการก่อสร้างบ้าน/ปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน เฉลิมพระเกียรติฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566โดยการก่อสร้างบ้าน ให้แก่นายประจวบ เทศเจริญ ผู้ที่มีฐานะยากจน และเป็นคนดีของสังคม ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ รวมทั้งการพิจารณาจากคณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทราในการลงพื้นที่ตรวจประเมินถึงความเหมาะสม และผ่านกระบวนการพิจารณาหลายขั้นตอนเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างบ้านกาชาด โดยเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทราได้สนับสนุนงบประมาณเป็นค่าวัสดุในการก่อสร้างบ้านกาชาด หลังละ 230,000 บาท ให้แก่ครอบครัวที่มีฐานะยากจนและเป็นคนดีของสังคมในทุกอำเภอ เหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทราได้บูรณาการร่วมกับอำเภอบางปะกง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ประชาชนจิตอาสา จากทุกภาคส่วนร่วมกันจึงสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน

ทั้งนี้ นิคมอุสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ จึงได้ร่วมมอบน้ำดื่ม จำนวน 10 แพ็ค หน้ากาอนามัย จำนวน 500 ชิ้น ข้าวสาร 5 กิโลกรัม จำนวน 5 ถุง ให้แก่นายประจวบ เทศเจริญ ผู้ที่มีฐานะยากจน และเป็นคนดีของสังคม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย พัฒนา ส่งเสริมคุณภาพชีวิต

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ แก็งค์คอลเซ็นเตอร์หลอกให้นักเรียนนักศึกษาถ่ายคลิปตัวเองเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่

สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. / หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย  ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้ มีคดีนักเรียนนักศึกษาถูกคนร้ายหลอกให้เรียกค่าไถ่จากพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคดีจึงขอเตือนภัยพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังดูแลบุตรหลานของตนเอง และขอให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ช่วยกันสอดส่องดูแลนักเรียน นักศึกษา มิให้ตกเป็นเหยื่อ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11   ส.ค.2566  พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./ หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรทางเทคโนโลยี ได้แถลงว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 มีคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) จำนวน 20,000 กว่าเคส ข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 2,000 กว่าเคส ซึ่งเดิมเป็นการโทรศัพท์หลอกบุคคลทั่วไปให้โอนเงิน แต่ช่วงนี้มีเคสที่น่าสนใจ จำนวน 4 เคส ซึ่งทั้ง 4 เคส มีรูปแบบการกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือคนร้ายใช้วิธีการโทรศัพท์หาพ่อแม่แล้วส่งรูปบุตรหลานที่ถูกควบคุมตัวไว้มาให้ โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถติดต่อบุตรหลานได้ จำต้องโอนเงินให้ไป ซึ่งหลังจากโอนเงินแล้ว บุตรหลานก็สามารถติดต่อกลับมาได้ ซึ่งเบื้องต้น พ่อแม่คาดว่า เป็นเรื่องการเรียกค่าไถ่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนลึกๆ พบว่า เป็นคดีที่บุตรหลานถูกแก็งค์คอลเซ็นเตอร์โทรมาข่มขู่บุตรหลานว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และบังคับให้ถ่ายคลิป หรือ ภาพถ่าย ส่งให้กลุ่มคนร้ายนำไปเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่อีกครั้ง โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีบุตรหลานของตนเองหรือเข้าบัญชีม้า แล้วหลบหนีไป

สำหรับแผนประทุษกรรมคดีนี้ กลุ่มคนร้ายได้ใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือระบบ Internet โทรเข้าโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์พื้นฐานของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยสุ่มหรือเลือกกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี โดยคนร้ายได้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วแต่จะอ้างเพื่อข่มขู่ทำให้เหยื่อตกใจกลัวว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีหมายจับต่างๆ และมีความผิดมูลฐานฟอกเงิน โดยทำทีอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ และเสนอให้ความช่วยเหลือ โดยให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า) ที่กลุ่มคนร้ายได้จัดเตรียมไว้และหลอกลวงเงินของผู้เสียหายไป หากนักศึกษาหรือเหยื่อไม่มีเงินกลุ่มคนร้ายก็แนะนำให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อไปย้ายหรือออกจากห้องพักหรือที่พักปัจจุบันที่พักอยู่ใกล้กับสถานศึกษา และคนร้ายให้เหยื่อหรือผู้เสียหายไปเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่ ซื้อเชือกมัด ผ้าเทปกาวจากร้านค้าเพื่อใช้พูดคุยโต้ตอบกับคนร้าย อีกทั้งคนร้ายยังสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อทำทีปิดโทรศัพท์ และสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อใช้ผ้าเทปและเชือกมัดมือมัดเท้าตัวเอง และถ่ายคลิปวีดิโอโดยใช้เครื่องของผู้เสียหายหรือเหยื่อเองเก็บเอาไว้ เพื่อสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัวและส่งคลิปดังกล่าวให้คนร้ายทางแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์ จากนั้นคนร้ายจะส่งคลิปไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่หรือผู้ปกครองของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยการโอนเงินมีอยู่ 2 รูปแบบ 1.พ่อแม่โอนเงินไปให้เหยื่อแล้วเหยื่อโอนเงินต่อไปให้คนร้าย 2. พ่อแม่โอนเงินให้คนร้าย
ข้อสังเกตุ และข้อควรระวัง  
1. คนร้ายอาจจะหาข้อมูลหรือสุ่มคัดเลือกเหยื่อเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งพักอาศัยอยู่ตามหอพักหรือที่พักใกล้สถานศึกษาโดยเหยื่อเป็นบุคคลที่อยู่หอพักหรือที่พักเพียงคนเดียว ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
2. คนร้ายได้วางแผน และมีสคริปต์เพื่อเตรียมการพูดหลอกลวง และใช้ถ้อยคำที่มีประสบการณ์มาก เพื่อข่มขู่และชักจูงให้เหยื่อตกใจกลัว (เช่น โทรมาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีพัสดุตกค้าง แจ้งว่ามีหมายจับ หรือมีคนเอาข้อมูลไปเปิดบัญชีธนาคารแล้วเอาบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน) ขู่ว่าถ้าถูกดำเนินคดีจะไม่ได้เรียนต่อ และคล้อยตามคำสั่งของคนร้าย
3. คนร้ายใช้โทรศัพท์ผ่านระบบ Internet (VOIP : Voice Over Internet Protocol) ซึ่งหมายเลขดังกล่าวจะมีหมายเลขไม่ถึง 10 หลักและมีเครื่องหมาย +697 +698 ซึ่งสังเกตุได้ว่าน่าจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาจากต่างประเทศหรือโทรผ่านระบบ Internet หากผู้เสียหายโทรย้อนกลับไปยังเบอร์ของคนร้าย จะไม่สามารถติดต่อได้ และหมายเลขดังกล่าวอาจจะไม่มีอยู่จริง เป็นการที่คนร้ายสร้างหมายเลขโทรศัพท์หรือปลอมเบอร์ (Fake)
4. คนร้ายได้มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวง โดยผสมผสานระหว่างแผนประทุษกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์กับแผนประทุษกรรมการเรียกค่าไถ่ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษา เพื่อทดแทนปริมาณเหยื่อที่ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเชื่อถือของแผนประทุษกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม
5. คนร้ายเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มนักศึกษา เพราะนักศึกษาพักอยู่คนเดียวห่างจากครอบครัว มีการสั่งซื้อของ มีการหัดเริ่มลงทุนมีการยุ่งเกี่ยวกับการพนัน จึงทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าถึงได้ง่ายและข้อมูลที่ใช้ข่มขู่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นจริง ควรระวังไม่ให้เหยื่อที่อยู่หอพักตามลำพัง ควรจะมีบัดดี้อยู่ด้วย

แนวทางการป้องกัน
สำหรับนักศึกษา
1. สังเกตเบอร์ที่โทรเข้ามาก่อนรับสาย หากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นเบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้าให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์
2. สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับแล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือ ภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่(คนร้ายสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)
3. หากคนร้ายข่มขู่ว่ากระทำผิด และต้องไปแจ้งความหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบสวนปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสารพยานวัตถุ ณ สถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ราชการด้วยตนเอง หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ วางสายทันที แจ้งเบาะแส กับหน่วยงานที่ดูแล เช่น ตำรวจ ธนาคาร ค่ายมือถือ หรือ กสทช.
4. หากคนร้ายให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ  ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ห้ามบอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงห้ามโอนเงินตามคำกล่าวอ้าง
5. โหลดแอปฯ Who’s call ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลข และจะระบุหมายเลขที่ไม่รู้จัก ช่วยให้ทราบว่าใครโทรมาทันที      
​6. หากคนร้ายส่งเอกสารมาข่มขู่  ให้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ออกเอกสารนั้นๆ โดยตรง หรือโทรหาตำรวจท้องที่ เบอร์ 191 หรือเบอร์ 1441 และเบอร์ 081-8663000 หรือเข้าพบพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือปรึกษากับผู้ปกครอง 
​สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง นอกจากต้องรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันตัวสำหรับศึกษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องรู้เพิ่มเติม มีดังนี้

1. หากคนร้ายข่มขู่ให้โอนเงินพร้อมส่งคลิปมาให้ดู  ให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือ โทรสายด่วน  191 ,1441 และเบอร์ 081-8663000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ให้ความช่วยเหลือถูกวิธี
2. ก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็คลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่
ผศ.ดร.ศุภกร ปุญญฤทธิ์ ช่วยราชการสำนักงาน รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับทราบว่ามีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้นักศึกษาจับตัวเองเรียกค่าไถ่จากผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองโอนเงินให้คนร้าย จึงมีความห่วงใยนักศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครอง และได้มอบหมายให้มาร่วมแถลงข่าวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องแผนประทุษกรรมของคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นวิธีกลโกง จุดสังเกต และวิธีป้องกัน เพื่อจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งเตือนนักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบนี้ และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว

พล.ต.อ.สมพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้คนร้ายจะเลือกเหยื่อที่เป็นนักศึกษา ซึ่งอาจจะไม่รู้เท่าทันคนร้าย อีกทั้งเป็นจุดอ่อนไหวของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความรักความห่วงใยบุตร - ธิดาของตนเองเป็นทุนเดิม โดยมีแผนประทุษกรรม ดังนี้ 

1. หลอกให้เหยื่อย้ายหรือเปลี่ยนที่พัก ไปหาเช่าที่พักใหม่ เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองตามหาตัวได้ และหลอกเหยื่อว่ามี
ตำรวจนอกเครื่องแบบสะกดรอยเฝ้าดูอยู่ห้ามออกไปจากห้องเช่าที่พักใหม่
2. หลอกให้เหยื่อ ลบแอปพลิเคชันที่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารออกจากเครื่อง เช่น Line FB Twitter TikTok เป็นต้น
เพื่อไม่ให้เหยื่อติดต่อกับคนอื่น
3. หลอกให้เหยื่อปิดมือถือเบอร์เดิม เพื่อไม่ให้พ่อแม่ติดต่อได้ และหลอกให้เปิดเบอร์ใหม่ใช้ในการติดต่อกับคนร้าย  

รวมถึงให้สแกน QR Code เพื่อใช้และควบคุม Line เหยื่อ ผ่าน Pc-iPad ตลอดเวลา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่อาจตกเป็นเหยื่อกลโกงของแก็งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบนี้ ได้รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงของคนร้ายที่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ  และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com  Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา 12 สิงหาคม 2566

เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 91 พรรษา ด้วยความจงรักภักดีของข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันศุกร์ที่ 11 ส.ค.66 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยคุณสุมนา กิตติประภัสร์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะสมาคมแม่บ้านตำรวจ และข้าราชการตำรวจในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งมีกำหนดการจัดงานพิธี ดังนี้

- เวลา 08.00 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล ณ ห้องสารสิน ชั้น 2  อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- เวลา 08.45 น. พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 92 รูป ณ ห้องศรียานนท์  ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- เวลา 10.15 น. พิธีถวายราชสักการะ พิธีถวายพระพรชัยมงคล และลงนามถวายพระพร ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคล  สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนข้าราชการตำรวจ ลูกจ้างในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 ส.ค.66 ผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์  ระหว่างวันที่ 11-13 ส.ค. 66 https://wellwishes.royaloffice.th/

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสัมมนาขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) รุ่นที่ 4 ณ จังหวัดชลบุรี

วันนี้ (10 ส.ค.66) เวลา 11.45 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดีและการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ.บางละมุง จว.ชลบุรี โดยครั้งนี้เป็นการอบรมรุ่นที่ 4 มีข้าราชการตำรวจฝ่ายสืบสวนและสอบสวนในระดับรองสารวัตรถึงระดับสารวัตร จาก ภ.5 ภ.6 และ สอท. จำนวนกว่า 120 นาย เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 12 ส.ค.66 

การสัมมนาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปกค.) โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม.เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้มีแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และยึดหลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Victim-Centric) การสัมมนาในครั้งนี้จึงจะเป็นคุณประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการอบรม ให้มีความรู้ความเข้าใจและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การอบรมนี้ถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติซึ่งจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิบัติในกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะใช้ในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การสัมมนานี้จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลูกฝังหลักการในการทำงานโดยการยึดหลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง เพิ่มความชำนาญในการประสานงานร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้เป็นการยกระดับมาตรฐานในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศให้อยู่ในระดับสากล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top