เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ "สานพลังเด็กและเยาวชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่ สร้างรายได้ เสริมคุณค่าและภูมิคุ้มกันทางสังคม" โดยมีนางโชติกา อัครกิจโสภากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร วิทยากร เยาวชนผู้เข้าอบรมฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยและสังคมโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การเกิดภาวะเงินเฟ้อ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด สิ่งต่าง ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและค่านิยมของคนในสังคม ซึ่งตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในปี 2565 กระทรวงวัฒนธรรมได้ปรับภาพลักษณ์เป็น “กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ” ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยการใช้วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อพลิกฟื้นงานศิลปวัฒนธรรมและพลิกโฉมประเทศไทยให้เข้มแข็ง และมั่นคงท่ามกลางความผันผวนของโลก และที่สำคัญในวาระที่ วธ. ครบรอบ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนเข้าถึงศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริม ให้ใช้ศักยภาพเพื่อการสร้างสรรค์ นำวัฒนธรรมมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม มีความสุข มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ดร.ยุพา กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของ วธ. รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและค่านิยมเชิงบวกด้านเศรษฐกิจวัฒนธรรมและชุมชนคุณธรรม เสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อเป็นพลังร่วมของสังคมไทยในการขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน โดยได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์สื่อสารการตลาดและนักจิตวิทยาศาสตร์ มาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและมีการระดมความเห็นของเด็กและเยาวชน เพื่อนำมาเป็นแนวทางและนำมาต่อยอดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่ วธ.จึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสานพลังเด็กและเยาวชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่ สร้างรายได้เสริมคุณค่าและภูมิคุ้มกันทางสังคม ระหว่างวันที่ 6 - 7 สิงหาคม 2565 โดยรูปแบบการอบรมเป็นรูปแบบผสมผสานซึ่งจัดอบรมผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม และการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ชุมชนกุฎีจีน เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเกาะลัดอีแท่น อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ต้นแบบชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


