นับเป็นอีกผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลที่จะช่วยคนจนที่ทำผิดกฎหมายหลายล้านคน หลังจากกฎหมายปรับเป็นพินัยได้ผ่านวาระ 3 ของรัฐสภาแบบสดๆ ร้อนๆ

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.65 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘ปรับเป็นพินัย-กม.โบว์แดง ช่วยคนจนหลายล้าน ปล่อยคนถูกกักขังฯหลายหมื่น’ มีเนื้อหาว่า... 

ความเป็นจริง 16 ประการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … ที่ผ่านรัฐสภาวาระ 3 เมื่อ 2 สิงหาคม 2565

1. เป็นร่างกฎหมายปฏิรูปที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากเหตุที่มีกฎหมายกำหนดโทษทางอาญามากเกินไป

2. สาระคือการเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาสถานเดียวในกฎหมาย 204 ฉบับแยกเป็น 3 บัญชี ให้เป็น ‘โทษปรับทางพินัย’ ที่ไม่ใช่โทษทางอาญา

3. จะไม่มีการกักขังแทนค่าปรับในกฎหมาย 204 ฉบับนั้นอีกต่อไป

4. คิดค่าปรับตามฐานะทางเศรษฐกิจและภววิสัยของการทำผิด

5. ถ้าผู้ทำผิดยากจน ศาลจะกำหนดค่าปรับให้ต่ำลงมากกว่าฐานที่กำหนดไว้ในกฎหมายก็ได้ หรืองดเว้นก็ได้ รวมทั้งจะให้ทำงานเพื่อสาธารณะทดแทนก็ได้

6. ลบทะเบียนประวัติอาชญากรรมในความผิดตามกฎหมาย 204 ฉบับนั้นทั้งหมดภายใน 1 ปี

7. จะไม่มีการบันทึกทะเบียนประวัติอาชญากรรมในความผิดตามกฎหมาย 204 ฉบับนั้นอึกต่อไป

8. กำหนดขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาใหม่สำหรับความผิดทางพินัย แตกต่างจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รักษาการตามกฎหมายทั้ง 204 ฉบับนั้นมีอำนาจสั่งปรับทางพินัยได้เลย

9. เมื่อเป็นการปฏิรูปใหญ่ และเป็นการกำหนดขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาใหม่ตาม 8 จึงต้องมีการเตรียมการสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเป็นระบบ จึงกำหนดให้กฎหมายมีผลใช้บังคับหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 240 วัน และให้การเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาในกฎหมาย 204 ฉบับนั้นมีผลภายใน 365 วัน หรือเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศกำหนด

10. เป็นก้าวแรกของการนำระบบการคิดค่าปรับตามรายได้หรือระบบ day fine ที่ใช้ในกลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นประเทศแรก ๆ เมื่อปีค.ศ. 1921 มาใช้

11. หลักการสำคัญของระบบ day fine คือไม่ระบุค่าปรับเป็นจำนวนเงินตายตัว แต่ระบุเป็นจำนวนวัน ตามระดับความรุนแรงของฐานความผิด โดยแต่ละวันก็แปรเป็นจำนวนเงินไม่เท่ากัน เพราะจะคิดเป็นเงินตามรายได้ของผู้กระทำความผิดในแต่ละคดีต่อ 1 วันโดยอิงจากฐานการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลประจำปี ตามสูตรคำนวณง่ายๆ ‘ค่าปรับ = จำนวนวัน x รายได้สุทธิต่อวันของผู้กระทำความผิด’ นอกจากนี้ยังมีระบบการหักค่าใช้จ่ายที่บุคคลผู้กระทำความผิดต้องดูแลรับผิดชอบบุคคลอื่น เพื่อมิให้บุคคลอื่นต้องมาเดือดร้อนไปด้วย

12. เหตุที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ไปไกลถึงขั้นเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาสำหรับความผิดต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาเป็นระบบ Day Fine ทั้งหมด แม้เดิมจะเคยมีแนวคิดว่าสมควรเปลี่ยนโทษประเภท ‘ลหุโทษ’ ในประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นโทษปรับที่ไม่ใช่โทษปรับทางอาญา แต่หลังจากหารือกันอย่างรอบด้านแล้วก็ตัดสินใจว่ายังไม่ควรทำในทันที เพราะด้านหนึ่งความผิดลหุโทษแม้ว่าจะเป็นโทษเบาหรือโทษไม่ร้ายแรงก็จริง แต่จะพิจารณาว่าเป็นความผิดประเภทไม่ร้ายแรงทั้งหมดไม่ได้ เห็นได้ว่าความผิดลหุโทษจำนวนหนึ่งมีโทษจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับรวมอยู่ด้วย แม้จะไม่เกิน 1 เดือนก็ตาม

13. หากแก้ไขเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาในประมวลกฎหมายอาญาจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญาทั้งระบบ สมควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา โดยให้เป็นหน้าทีของคณะกรรมการเฉพาะที่มีอยู่แล้ว ไม่ควรไปแยกออกมาเป็นกฎหมายพิเศษ

14. ก้าวแรกของการนำระบบใหม่มาใช้ ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากจุดเล็กๆ ก่อน ให้สังคมเริ่มเรียนรู้และเข้าใจก่อน เหมือนอย่างประเทศในยุโรปอื่นอาทิเยอรมนีหรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่นำระบบ Day Fine ของสแกนดิเนเวียมาปรับใช้ ก็เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อนทั้งสิ้น

15.เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในรัฐสภาเพื่อทำให้เนื้อหาออกมาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

16.ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ร่วมผลักดันร่างกฎหมายฉบับบี้มาแต่ต้นกล่าวว่า การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้เป็น ‘เวยยาวัจมัย’ เป็นการทำบุญช่วยคนจนที่ถูกปรับหลายล้านคน ช่วยปล่อยคนที่ถูกกักขังแทนค่าปรับอีกหลายหมื่นคน ท่านขออนุโมทนาบุญนี้กับทุกท่านที่มีส่วนร่วมผลักดันให้ร่างกฎหมายเสร็จสมบูรณ์เมื่อค่ำคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2565
และนี่คือความเป็นจริง 16 ประการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ….

ที่มา: https://www.thaipost.net/x-cite-news/192900/