นิวส์วีค นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันพุธ (1 ก.ย.) ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวกลายพันธุ์ ‘มิว’ ซึ่งพวกนักวิทยาศาสตร์บางส่วนกังวลว่าอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันของวัคซีน ถูกตรวจพบในรัฐต่าง ๆ เกือบทั่วสหรัฐฯ แต่ยังมีสัดส่วนเล็กน้อยมากไม่ถึง 1% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในอเมริกา
เมื่อวันจันทร์ (30 ส.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งประกาศให้ตัวกลายพันธุ์ ‘มิว’ เป็น ‘สายพันธุ์ที่ต้องได้รับความสนใจ (variant of interest)’ ทำให้มันกลายเป็นตัวกลายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 5 ที่อยู่ในบัญชีดังกล่าว
พวกเจ้าหน้าที่มีความกังวล ด้วยที่สายพันธุ์นี้มีบ่อเกิดจากการกลายพันธุ์ บ่งชี้ว่ามันอาจสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และแม้ยังพบเคสผู้ติดเชื้อค่อนข้างน้อย แต่องค์การอนามยโลกระบุในรายงานฉบับหนึ่งว่าเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์มิว กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในโคลอมเบีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของมัน และในเอกวาดอร์
เกือบทุกรัฐของสหรัฐฯ ยกเว้นเนบราสกา เวอร์มอนต์และเซาท์ดาโคตา ต่างรายงานพบเคสผู้ติดเชื้อตัวหลายพันธุ์มิวแล้ว ตามข้อมูลของ Outbreak.info ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแบบ open source จากสถาบันสถาบันวิจัยสคริปปส์ โดยมันมีอัตราความชุกสูงสุดในอะแลสกา คิดเป็นราว 4% ของเกือบ ๆ 4,000 ตัวอย่าง
มีอยู่ 15 รัฐ ประกอบด้วย นิวแฮมป์เชียร์ เวสต์เวอร์จิเนีย เซาท์แคโรไลนา เทนเนสซี เคนทักกี แอละแบมา มิสซิสซิปปี ลุยเซียนา อาร์คันซอ มิสซูรี ไอโอวา นอร์ทดาโคตา มอนแทนาและโอคลาโฮมา พบผู้ติดเชื้อราว ๆ 10 เคสหรือต่ำกว่านั้น
24 รัฐ พบผู้ติดเชื้อระหว่าง 11 เคสถึง 50 เคส ส่วน 4 รัฐ ประกอบด้วย นิวยอร์ก นิวเจอร์ซี เท็กซัสและวอชิงตัน พบผู้ติดเชื้อสูงสุดไม่เกิน 100 เคส ขณะที่ฟลอริดาเป็นรัฐเดียวที่พบผู้ติดเชื้อราว ๆ 100 ถึง 200 เคส และแคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐที่พบผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์มิวมากที่สุด 289 เคส
นับตั้งแต่ตรวจพบตัวกลายพันธุ์มิวในเดือนมกราคม องค์การอนามัยโลกเน้นว่ามีรายงานเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์นี้ประปรายเล็ก ๆ น้อย ๆ ทว่าด้วยคุณสมบัติการกลายพันธุ์ของมัน ก่อข้อสันนิษฐานว่ามันอาจสามารถแพร่เชื้อสู่คนที่มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยธรรมชาติหรือคนที่ฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว ซึ่งในกรณีจำเป็นต้องมีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าว
นอกจากนี้แล้วยังมีความเป็นไปได้ว่าวิธีรักษาด้วย Monoclonal Antibodies (แอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาว) ซึ่งได้ผลดีในบรรดาคนไข้ก่อนหน้านี้ อาจไม่ได้ผลกับตัวกลายพันธุ์มิวเช่นกัน
คาดหมายกันไว้อยู่แล้วว่าตัวกลายพันธุ์ต่าง ๆ นานาของ SARS-CoV-2 จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นวิวัฒนาการโดยธรรมชาติของไวรัสตัวหนึ่ง ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกกำลังจับตามองตัวกลายพันธุ์อื่น ๆ อีก 4 ตัว ในฐานะ ‘สายพันธุ์ที่น่ากังวล’ ประกอบด้วยอัลฟา เบตา แกมมาและเดลตา ซึ่งทั้งหมดมีทั้งแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย ก่อการติดเชื้ออาการรุนแรงกว่าเดิม หรือลดประสิทธิภาาพของมาตรการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ ในนั้นรวมถึงวัคซีนและการรักษา
เดลตา ซึ่งถูกจัดให้เป็นตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวลในเดือนพฤษภาคม กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐฯ และกำลังโหมกระพือการแพร่ระบาดระลอกใหญ่ในกลุ่มคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน
นอกเหนือจากตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวลทั้ง 4 ตัวแล้ว องค์การอนามยโลกกำลังจับตาตัวกลายพันธุ์อื่น ๆ อีก 5 ตัว ในฐานะ ‘สายพันธุ์ที่ต้องได้รับความสนใจ’ ประกอบไปด้วย อีตา ไอโอตา แคปปา แลมบ์ดาและ มิว สืบเนื่องจากทั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่อาจทำให้พวกมันแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าหรือเป็นอันตรายกับมนุษย์ และพบว่าพวกมันก่อให้เกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดต่าง ๆ นานาในหลายประเทศ
แม้ว่าวัคซีนไม่ได้มีประสิทธิภาพ 100% แต่วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติใช้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และกันไม่ให้ผู้คนล้มป่วยอาการหนักหากมีผลตรวจเป็นบวก อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความกังวลว่าหากไวรัสยังคงแพร่ระบาดอย่างไม่ลดละ อาจถือกำเนิดตัวกลายพันธุ์ใหม่ตัวหนึ่ง ๆ ที่สามารถต้านทานภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้
(ที่มา:นิวส์วีค)
https://mgronline.com/around/detail/9640000087122