"กมธ.ดีอีเอส" เผย ปชช.ถูกดูดเงิน เหตุผูกบัญชีกับร้านค้าไม่แสดงตัวตน ด้าน ธปท. ยัน เยียวยาผู้ผูกบัตรเดบิตครบถ้วนแล้ว ส่วนบัตรเครดิตไม่ต้องชำระเงินที่ถูกหัก แนะ หน่วยงานบูรณาการแก้ปัญหา ให้ความรู้ ป้องกันปชช.ตกเป็นเหยื่อทางเทคโนโลยี

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุมกมธ.สัปดาห์นี้ มีวาระพิจารณาเรื่องกรณีที่ประชาชนร้องเรียนว่าถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร บัญชีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต อย่างผิดปกติเป็นจำนวนมาก โดยมีตัวแทนจาก 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รวมถึงตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ เข้าให้รายละเอียดผ่านระบบซูม ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นตัวแทนธนาคารและสมาคมธนาคารไทยยืนยันว่า ไม่ใช่เกิดจากความล้าหลังของระบบธนาคาร แต่เป็นกรณีที่ประชาชนผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตกับร้านค้า หรือสินค้าที่ไม่แสดงตัวตน ไม่มีระบบยืนยันเพื่อตรวจสอบ หรือระบบ OTP (One Time Password) ซึ่งเป็นรหัสผ่านเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต

น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ธปท.ยืนยันว่าได้ให้การเยียวยาประชาชนที่ถูกดูดเงินจากบัตรเดบิตครบถ้วนแล้ว ส่วนประชาชนที่ถูกหักเงินจากบัตรเครดิตนั้น เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ต้องชำระเงินที่ถูกหัก และจะไม่เสียเครดิตด้วย ทั้งนี้ กมธ.ฝากไปยังหน่วยงานที่ชี้แจงให้หามาตรการลดผลกระทบกับประชาชน โดยกมธ.ไม่ต้องการให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพิ่มเติม เบื้องต้นทางธปท.ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) กระทรวงดีอีเอส กสทช. เพื่อบูรณาการการทำงาน ยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชนและพัฒนาระบบแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นกับบัญชีของประชาชน

“สิ่งสำคัญที่กมธ.ต้องดำเนินการต่อ คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ต่อการรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี เพราะการใช้ชีวิตวิถีใหม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี แต่ประชาชนส่วนหนึ่งยังรู้ไม่เท่าทันกับคนที่ไม่หวังดี ดังนั้น สิ่งที่จะลดผลกระทบได้ดี คือ การให้องค์ความรู้ เพื่อสร้างเกราะให้ประชาชน เบื้องต้นกมธ.คิดว่าจะจัดเวทีเพื่อให้องค์ความรู้กับประชาชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการเช่นเดียวกัน” น.ส.กัลยา กล่าว

น.ส.กัลยา กล่าวด้วยว่า สำหรับช่องทางทางกฎหมายที่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่มีมาตรการคุ้มครองประชาชนและลงโทษผู้กระทำผิด แต่ขณะนี้ยังเลื่อนการบังคับใช้ เบื้องต้นคาดว่าจะนำมาใช้บังคับได้กลางปี 2565 ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับแล้วจะช่วยดูแลประชาชน โดยเฉพาะการลงโทษที่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย