Tuesday, 23 April 2024
ดีอีเอส

"กมธ.ดีอีเอส" เผย ปชช.ถูกดูดเงิน เหตุผูกบัญชีกับร้านค้าไม่แสดงตัวตน ด้าน ธปท. ยัน เยียวยาผู้ผูกบัตรเดบิตครบถ้วนแล้ว ส่วนบัตรเครดิตไม่ต้องชำระเงินที่ถูกหัก แนะ หน่วยงานบูรณาการแก้ปัญหา ให้ความรู้ ป้องกันปชช.ตกเป็นเหยื่อทางเทคโนโลยี

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุมกมธ.สัปดาห์นี้ มีวาระพิจารณาเรื่องกรณีที่ประชาชนร้องเรียนว่าถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร บัญชีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต อย่างผิดปกติเป็นจำนวนมาก โดยมีตัวแทนจาก 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รวมถึงตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ เข้าให้รายละเอียดผ่านระบบซูม ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นตัวแทนธนาคารและสมาคมธนาคารไทยยืนยันว่า ไม่ใช่เกิดจากความล้าหลังของระบบธนาคาร แต่เป็นกรณีที่ประชาชนผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตกับร้านค้า หรือสินค้าที่ไม่แสดงตัวตน ไม่มีระบบยืนยันเพื่อตรวจสอบ หรือระบบ OTP (One Time Password) ซึ่งเป็นรหัสผ่านเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต

น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ธปท.ยืนยันว่าได้ให้การเยียวยาประชาชนที่ถูกดูดเงินจากบัตรเดบิตครบถ้วนแล้ว ส่วนประชาชนที่ถูกหักเงินจากบัตรเครดิตนั้น เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ต้องชำระเงินที่ถูกหัก และจะไม่เสียเครดิตด้วย ทั้งนี้ กมธ.ฝากไปยังหน่วยงานที่ชี้แจงให้หามาตรการลดผลกระทบกับประชาชน โดยกมธ.ไม่ต้องการให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพิ่มเติม เบื้องต้นทางธปท.ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) กระทรวงดีอีเอส กสทช. เพื่อบูรณาการการทำงาน ยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชนและพัฒนาระบบแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นกับบัญชีของประชาชน

“สิ่งสำคัญที่กมธ.ต้องดำเนินการต่อ คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ต่อการรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี เพราะการใช้ชีวิตวิถีใหม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี แต่ประชาชนส่วนหนึ่งยังรู้ไม่เท่าทันกับคนที่ไม่หวังดี ดังนั้น สิ่งที่จะลดผลกระทบได้ดี คือ การให้องค์ความรู้ เพื่อสร้างเกราะให้ประชาชน เบื้องต้นกมธ.คิดว่าจะจัดเวทีเพื่อให้องค์ความรู้กับประชาชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการเช่นเดียวกัน” น.ส.กัลยา กล่าว

‘ดีอีเอส’ ตั้งทีมเฉพาะกิจ ต้านอาชญากรรมออนไลน์ แก้ปัญหาผู้บริโภคซื้อสินค้า ‘ไม่ตรงปก’

‘ชัยวุฒิ’ เตรียมดึงสภาองค์กรของผู้บริโภค ภาคประชาสังคม ร่วมคณะทำงานศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ หวังแก้ปัญหาผู้บริโภคซื้ออสินค้าไม่ตรงปก

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึง ปัญหาการซื้อสินค้าออนไลน์ ‘ไม่ตรงปก’ ของผู้บริโภค ว่าในเรื่องนี้กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส มีศูนย์ร้องเรียนที่เรียกว่า ‘ศูนย์สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์’ หรือสายด่วน 1212 และมีเพจ Facebook รับร้องเรียนต่าง ๆ ซึ่งเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนก็จะเร่งประสานงานกับผู้ค้าอีคอมเมิร์ซ ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทันที 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้มีการดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้มข้นขึ้น รวมถึงต่อไปจะมีศูนย์ต่อต้านปัญหาออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งจะมีคณะกรรมการเข้ามาดูแล โดยเตรียมดึงองค์กรเอกชนภาคประชาชน สื่อมวลชน รวมทั้งสภาผู้บริโภค หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เข้ามาร่วมในคณะทำงาน เพื่อต่อต้าน อาชญากรรมออนไลน์ทั้งหมด 

‘ชัยวุฒิ’ ชี้ MOU ป้องโกง จุดเปลี่ยนซื้อขายออนไลน์ ยกระดับมาตรฐาน ทำลายล้างสินค้าไม่ตรงปก

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในการเป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ว่า…

ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ระหว่างองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ และหน่วยงานรัฐที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค

ในวันนี้ กระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม มีพันธกิจที่จะเสนอแผนและนโยบายระดับชาติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย โดยหนึ่งในหน่วยงานสังกัดของเรา คือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (Electronic Transactions Development Agency : ETDA) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ มีภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลก โดย ETDA จะมีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ... 

1.) กำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสังคมดิจิทัล 

2.) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 

และ 3.) ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการและเชื่อมโยง

'ดีอีเอส' งัดไม้แข็งคุมออนไลน์ พร้อมมอบอำนาจถึงระดับตำรวจภูธร

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อหารือแนวทางดำเนินการในคดีสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับคดีตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกลวง ฉ้อโกง และธุรกิจผิดกฎหมายทางออนไลน์ ว่า ทุกหน่วยงานเห็นตรงกันว่า จะกระจายอำนาจรับผิดชอบเกี่ยวกับการสอบสวนคดีด้านนี้ไปยังสถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปแจ้งความได้เพื่อทำให้เกิดความรวดเร็วในการสอบสวน รวมทั้งลดจำนวนคดีสะสมที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ด้วย

ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าว ถือว่าอยู่ในอำนาจของ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีอำนาจตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาลงนามมอบอำนาจนี้ให้กับตำรวจ บช.สอท. อย่างไรก็ตามในช่วงต่อจากนี้จะมอบอำนาจให้ถึงระดับตำรวจภูธร เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่การซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซที่ขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้จำนวนคดีด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ดีอีเอส เผยศาลสั่งปิด 50 ยูอาร์แอล ประเดิมปีเสือ หลังพบกระทบความมั่นคง

6 มกราคม 2565 น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากแนวโน้มปัญหาการโพสต์ข้อความเท็จที่ยังมีการแพร่กระจายบนช่องทางโซเชียลต่างๆ จำนวนมาก สร้างความตื่นตระหนก ความสับสนให้กับประชาชน และกระทบต่อความมั่นคงของชาติ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เร่งติดตามปัญหาเชิงรุก มีการมอนิเตอร์สถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศทุกวัน

ทั้งนี้ สถานการณ์ข่าวปลอมและการดำเนินการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 64 - 2 ม.ค. 65 พบว่า มีการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 19 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 11 ยูอาร์แอล ยูทูบ 6 ยูอาร์แอล และทวิตเตอร์ 2 ยูอาร์แอล

'กระทรวงดิจิทัลฯ' กร้าว!! ดำเนินการอย่างเข้มงวด 'สื่อลามก-ยาเสพติด-ความรุนแรง' บนโลกออนไลน์

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ รับข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความห่วงใยต่อเด็กและเยาวชน กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่าในขณะนี้มีการจำหน่ายสื่อลามกอนาจารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์มาโดยตลอด และได้ดำเนินมาตรการในการป้องกันด้วยการสร้างการตระหนักรู้ในการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ ชี้ให้เห็นถึงอันตรายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและวิธีการในการรับมือแต่ละสถานการณ์ 

รวมทั้งจัดให้มีหน่วยงานรับแจ้งเบาะแสและให้คำปรึกษาเมื่อประชาชนพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนโลกออนไลน์ ควบคู่ไปกับเข้มงวดในการปราบปรามด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ภายใต้หลักสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อบนโลกออนไลน์

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เตือนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ระวังโดนลูกค้าใช้สลิปบัญชีธนาคารปลอมหลอก แนะให้เช็คยอดโอนให้ชัวร์ก่อนส่งสินค้า

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า  จากกรณีที่มีข่าวการแจ้งเตือนพ่อค้าแม่ค้าระวังภัยออนไลน์จากลูกค้าใช้สลิปบัญชีธนาคารปลอมแจ้งว่าชำระเงินแล้ว หลอกให้ส่งของโดยไม่ได้โอนเงินจริง และพบมีคนทำโปรแกรมสร้างสลิปปลอมมาขาย โดยสามารถกรอกชื่อผู้รับ ผู้โอนเป็นใครก็ได้ ตัวเลขเท่าใด โอนวันไหน เวลาไหน แล้ว สร้างภาพสลิปออกมา จึงขอแจ้งเตือนให้พ่อค้า แม่ค้า ระมัดระวัง ควรสังเกตสลิปก่อนที่จะส่งของให้ลูกค้า ตรวจสอบยอดเงินโอนในมือถือก่อนว่ามียอดเงินเข้ามาแล้วจริงๆ ก่อนส่งมอบสินค้า  

ทั้งนี้ โดยทั่วไป การทำธุรกรรมโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร ในแต่ละครั้งธนาคารจะมีการบันทึกสลิปการทำธุรกรรมที่มีระบุรายละเอียดในการโอนเงิน คือ  ชื่อผู้รับ/ผู้ส่ง ,วัน เดือน ปี เวลา ที่ทำรายการ ,จำนวนเงิน ,QR Code เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ ในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาดหรือมีปัญหาในการทำธุรกรรม 

“ในกรณีสลิปปลอมมิจฉาชีพอาจจะใช้ช่องโหว่ของภาพสลิปมาดัดแปลง ทำซ้ำ เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า ที่ไม่ได้ทันสังเกต เห็นภาพสลิปโอนเงินปลอม ที่มิจฉาชีพแสดงหรือส่งไลน์ไปเป็นหลักฐานให้กับร้านค้าต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมปลอมสลิป เพราะสามารถใช้แอป แต่งรูปภาพบนสมาร์ทโฟนทำได้เลย”

ดีอีเอส เผยปชช.แจ้งความคดีออนไลน์แตะ 6 หมื่นเรื่อง พบคดีหลอกลวงด้านการเงินมาเป็นอันดับ 1

ดีอีเอส เปิดตัวเลขเหยื่อไซเบอร์ ใช้บริการแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง ในระยะเวลา 4 เดือนหลังเปิดตัวเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com อายัดเงินไปแล้วกว่า 121 ล้านบาท พบคดีหลอกลวงด้านการเงินมาเป็นอันดับ 1

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส)  กล่าวว่าจากแนวโน้มปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นผ่านโทรศัพท์มือถือและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนในยุคดิจิทัล ดังนั้นกระทรวงดีอีเอส และหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงได้เร่งยกระดับบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา เพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพื่อเข้าถึงการช่วยเหลือ และติดตามผู้กระทำผิดกฎหมายมาดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยจากข้อมูลของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com สรุปสถิติการใช้บริการของประชาชนในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา(ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. - 31 ก.ค.2565 พบว่า มีผู้เสียหายแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง โดยสามารถดำเนินการอายัดบัญชีได้แล้วกว่า 121 ล้านบาท 

ในส่วนของคดีออนไลน์ พบมากที่สุดคือ คดีหลอกลวงด้านการเงิน 31,047 เรื่อง โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ หลอกให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน และหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ จำนวนคดีลำดับรอง ๆ ลงมา ได้แก่ หลอกลวงจำหน่ายสินค้า 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ 462 เรื่อง ข่าวปลอม 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ 136 เรื่อง

ระบบรับแจ้งความออนไลน์ เป็นช่องทางที่ช่วยให้ประชาชนสามารถแจ้งความได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยสามารถแจ้งความทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com โดยลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน กรอกข้อมูลทางคดี ตามขั้นตอนจนเสร็จ ผู้แจ้งจะได้รับ “เลขรับแจ้งความออนไลน์ หรือ Case ID” จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่การรับแจ้ง (Admin) ติดต่อกลับโดยจากสถิติปัจจุบันสามารถโทรหาผู้แจ้งได้ทั้งหมดภายใน 3 ชั่วโมง

'ดีอีเอส' เตือนอย่าเชื่อ 'คลิป-เสียง-รูปปลอม' สร้างเรื่องเสมือนจริง หลอกลวงประชาชน

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเทคโนโลยีปลอมเสียง ปลอมแชต ปลอมคลิป (Deepfake, Social Maker และ Fake voice) ซึ่งเป็นการปลอมแปลงข้อมูล การตัดต่อภาพ ตัดต่อข้อความ ตกแต่งเสียงพูด หรือแม้แต่การตัดต่อวิดีโอคลิปให้เหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งประชาชนควรรู้ เพื่อให้เข้าใจ รู้เท่าทัน และป้องกันการถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ หรือพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และทรัพย์สินของผู้อื่น

“จากเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพนำมาใช้ในการแชตปลอม โพสต์ปลอม ผ่าน 'Social Maker' ที่สร้างโพสต์ปลอม, ข้อความปลอม, ความคิดเห็นปลอม และสร้างโปรไฟล์ปลอม ใน 3 แพลตฟอร์ม ในโซเชียลมีเดีย คือ Facebook, Instagram และ Twitter รวมถึงโปรแกรมแชต Messenger, Message ต่าง ๆ สร้างความเข้าใจผิดและหลอกลวง เป็นภัยสังคมอยู่ในขณะนี้” นางสาวนพวรรณกล่าว

โดยการปลอมภาพคลิปด้วย Deepfake สร้างภาพความคมชัดสูง และท่าทางที่เสมือนจริงมากขึ้น การแปลงเสียง Voice changer / Jokesphone  ปลอมเสียงได้ง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เปลี่ยนน้ำเสียง เช่น ชายเป็นหญิง หญิงเป็นชาย ผู้ใหญ่เป็นเด็ก ซึ่งการแชตปลอม, โพสต์ปลอม, ปลอมภาพคลิป, การเลียนเสียงและแปลงเสียง ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้เป็นเครื่องมือในการแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์บางอย่าง หลอกลวงให้โอนเงิน ดังนั้นขอให้ประชาชนควรตรวจสอบข้อมูลทุกครั้งก่อนที่จะเชื่อ หรือแชร์ต่อ เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งที่คุณเห็นเป็นเรื่องจริง

‘ชัยวุฒิ’ เตือน ระวัง มิจฉาชีพ TikTok ย้ำ อย่าเชื่อชวนลงทุนผลตอบแทนสูงเกินจริง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงปัญหามิจฉาชีพส่งข้อความ SMS ชวนทำงานผ่านแอปพลิเคชัน ติ๊กต๊อก (TikTok) ว่า ฝากเตือนพี่น้องประชาชนช่วงนี้มีมิจฉาชีพใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึง SMS ต่าง ๆ เข้ามาหลอกลวงพี่น้องประชาชน ล่าสุดมิจฉาชีพใช้ผ่านช่องทาง TikTok เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าไปลงทุน อ้างว่ามีผลตอบแทนสูงเกินจริง สุดท้ายก็หลอกลวงนำเงินประชาชนไป จึงอยากเตือนให้ระมัดระวัง ผู้ที่มาหลอกลวงมักเป็นคนที่เราไม่รู้จัก การจะลงทุนผ่านโซเชียลมีเดียควรตรวจสอบว่าบุคคลนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ถ้าอ้างถึงหน่วยงานหรือองค์กรต้องตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานหรือองค์กรนั้น ถ้าท่านเอาเงินไปให้กับคนที่ท่านไม่รู้จักผ่านโซเชียลมีเดียโอกาสได้คืนน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงยิ่งถ้ามีผลตอบแทนที่สูงเกินจริงหลายเท่าตัว ขณะเดียวกันก็เตือนประชาชน ให้ระวังการสเเกนผ่านมือถือ ควรตรวจสอบให้ถูกต้อง ศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนกรอกข้อมูล 

ทั้งนี้ ใครที่มีปัญหาการถูกหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชัน TikTok หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ สามารถร้องเรียนมาได้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านสายด่วน 1212 เราจะพยายามแก้ปัญหาให้ทุกท่านให้ดีที่สุดนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top