Tuesday, 14 May 2024
ดูดเงิน

“โฆษกรัฐบาล” แจง แบงค์ชาติจับมือสมาคมธนาคาร หามาตรการเข้มป้องสวมรอยธุรกรรมการเงิน หลัง “นายก”สั่ง ดูแลปชช.จากการตัดเงินบัตรเครดิต-เดบิต ผิดปกติ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบรายงานความคืบหน้ากรณีมิจฉาชีพสวมรอยทำธุรกรรมการเงิน โดยตัดเงินผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคาร จำนวน 10,700 ใบ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 130 ล้านบาท  โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการยกระดับป้องกันการทำธุรกรรมการเงิน ผ่านช่องทางระบบออนไลน์และบัตรเครคิต รวมทั้งขอให้สถาบันการเงินช่วยดูแลประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งธนาคารรายงานว่า ได้คืนเงินให้ลูกค้าบัตรเดบิตที่ได้รับความเสียหายครบทุกรายแล้ว ส่วนบัตรเครดิตได้เร่งตรวจสอบและยกเลิกรายการ โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็วที่สุดต่อไปด้วย

นายธนกร กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประสานกับสมาคมธนาคารไทย ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนแล้ว ได้แก่ 1.ตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้ครอบคลุมธุรกรรมที่มีจำนวนเงินต่ำและที่มีความถี่สูง 2. ติดตามเฝ้าระวังรายการธุรกรรมจากต่างประเทศเป็นพิเศษ 3.แจ้งเตือนลูกค้าในการทำธุรกรรมทุกรายการตั้งแต่รายการแรก และ4. ประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกันความเสี่ยง เช่น การปรับวงเงินในบัตรให้เหมาะสมกับการใช้จ่าย หลีกเลี่ยงการผูกบัตรกับเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่ไม่น่าไว้ใจ 

นายธนกร กล่าวว่า นอกจากนี้  ธปท. และสมาคมธนาคารไทย จะผลักดันให้ผู้ให้บริการบัตรกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการบังคับใช้การยืนยันตัวตนก่อนทำรายการชำระเงินกับบัตรเดบิตสำหรับทุกร้านค้าออนไลน์ โดยเฉพาะร้านค้าในต่างประเทศ เช่น การใช้เลข OTP ยืนยันตัวตนก่อนร้านค้าทำการตัดบัญชี รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ป้องกันและตรวจจับภัยคุกคามทางการเงินในรูปแบบใหม่ ทั้งนี้นายกฯ เตือนประชาชน ถึงภัยออนไลน์โดยเฉพาะภัยจากธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ เนื่องจาก ปัจจุบันระบบการเงินของไทยมีการก้าวหน้ามาก

"กมธ.ดีอีเอส" เผย ปชช.ถูกดูดเงิน เหตุผูกบัญชีกับร้านค้าไม่แสดงตัวตน ด้าน ธปท. ยัน เยียวยาผู้ผูกบัตรเดบิตครบถ้วนแล้ว ส่วนบัตรเครดิตไม่ต้องชำระเงินที่ถูกหัก แนะ หน่วยงานบูรณาการแก้ปัญหา ให้ความรู้ ป้องกันปชช.ตกเป็นเหยื่อทางเทคโนโลยี

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุมกมธ.สัปดาห์นี้ มีวาระพิจารณาเรื่องกรณีที่ประชาชนร้องเรียนว่าถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร บัญชีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต อย่างผิดปกติเป็นจำนวนมาก โดยมีตัวแทนจาก 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รวมถึงตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ เข้าให้รายละเอียดผ่านระบบซูม ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นตัวแทนธนาคารและสมาคมธนาคารไทยยืนยันว่า ไม่ใช่เกิดจากความล้าหลังของระบบธนาคาร แต่เป็นกรณีที่ประชาชนผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตกับร้านค้า หรือสินค้าที่ไม่แสดงตัวตน ไม่มีระบบยืนยันเพื่อตรวจสอบ หรือระบบ OTP (One Time Password) ซึ่งเป็นรหัสผ่านเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต

น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ธปท.ยืนยันว่าได้ให้การเยียวยาประชาชนที่ถูกดูดเงินจากบัตรเดบิตครบถ้วนแล้ว ส่วนประชาชนที่ถูกหักเงินจากบัตรเครดิตนั้น เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ต้องชำระเงินที่ถูกหัก และจะไม่เสียเครดิตด้วย ทั้งนี้ กมธ.ฝากไปยังหน่วยงานที่ชี้แจงให้หามาตรการลดผลกระทบกับประชาชน โดยกมธ.ไม่ต้องการให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพิ่มเติม เบื้องต้นทางธปท.ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) กระทรวงดีอีเอส กสทช. เพื่อบูรณาการการทำงาน ยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชนและพัฒนาระบบแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นกับบัญชีของประชาชน

“สิ่งสำคัญที่กมธ.ต้องดำเนินการต่อ คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ต่อการรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี เพราะการใช้ชีวิตวิถีใหม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี แต่ประชาชนส่วนหนึ่งยังรู้ไม่เท่าทันกับคนที่ไม่หวังดี ดังนั้น สิ่งที่จะลดผลกระทบได้ดี คือ การให้องค์ความรู้ เพื่อสร้างเกราะให้ประชาชน เบื้องต้นกมธ.คิดว่าจะจัดเวทีเพื่อให้องค์ความรู้กับประชาชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการเช่นเดียวกัน” น.ส.กัลยา กล่าว

ระวัง!!มิจฉาชีพสวมรอย‘ธ.ก.ส.’หลอกโหลดแอป-กดลิงก์ ดูดเงินเกลี้ยง

‘ผู้ช่วยฯสมพงษ์-ศปอส.ตร.’เตือนระวังมิจฉาชีพสวมรอย‘ธ.ก.ส.’หลอกโหลดแอป-กดลิงก์ ดูดเงินเกลี้ยง

9 กุมภาพันธ์ 2566 พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) หัวหน้าอำนวยการด้านประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) , พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สพฐ./หัวหน้าด้านข่าวสารและประชาสัมพันธ์ , พล.ต.ต.อรุษ แสงจันทร์ รอง ผบช.ศปก.ตร./หัวหน้าฝ่ายแถลงข่าวและประสานงานสื่อมวลชน ศปอส.ตร. , พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ฯ ปฏิบัติหน้าที่ ศปอส.ตร. และ พ.ต.อ.ภัคพงศ์ สายอุบล รอง ผบก./รองหัวหน้าฝ่ายแถลงข่าวและประสานงานสื่อมวลชน ร่วมกันเปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. หลอกลวงประชาชน

สำหรับรูปแบบ คือ มิจฉาชีพมักจะอ้างว่าต้องตรวจสอบข้อมูลบัญชีธนาคารและตรวจสอบการชำระภาษี หรือเสนอเงินกู้ผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กหรือแอปพลิเคชันไลน์ หลังจากนั้นมิจฉาชีพส่งลิงก์ให้คลิกและติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมากับมัลแวร์ ผ่านทาง SMS และสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหากเราหลงเชื่อคลิกลิงก์ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพสามารถเข้ามาควบคุมโทรศัพท์ของเราได้ และสามารถดูดเงินออกจากบัญชีได้ เพราะฉะนั้นขอเตือนว่าอย่าคลิกลิงก์หรือโหลดแอปพลิเคชันจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ

ตำรวจไซเบอร์ จับขบวนการหลอกให้ติดตั้งแอพสรรพากรหลอกให้ติดตั้งดูดเงินออกจากบัญชี ความเสียหายร่วม 5 แสนบาท

สืบเนื่องจากการที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้ติดตั้งแอฟสรรพากรแล้วดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร อ้างว่าเป็นกรมสรรพพากรบอกว่าให้คุณยกเลิกโครงการคนละครึ่ง ส่งลิ้งค์ดาวน์โหลดแอป Revenue มาให้แล้วผู้แจ้งดาวน์โหลด หลังจากนั้นเครื่องไม่สามารถใช้การและไม่สามารถปิดเครื่องได้ พอเปิดดูแอพธนาคารพบว่าเงินหายไป จำนวน 499,900 บาท

กระทั่งวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 หลังจากสืบสวนจนทราบตัวผู้กระทำความผิด เจ้าที่ตำรวจ กก.4. บก.สอท.3 บช.สอท. สืบสวนติดตาม นายรัทพล โครตติ อายุ 25 ปี ชาวจังหวัดอุดรธานี จนพบตัว ณ บริเวณไหล่ทางขาเข้าวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี จึงได้นำหมาย ศาลจังหวัดนครราชสีมา ที่ จ.130/2566 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 แจ้งข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน”
ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ,พล.ต.ต.อำนาจ  ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3, พ.ต.อ.คัมภีร์ พรหมสนธิ รอง ผบก.สอท.3,พ.ต.อ.ธีระ เชื้อสุวรรณ ผกก.4 บก.สอท.3 ได้สั่งการให้ พ.ต.ต.ธีรศักดิ์ นราศรี สว.กก.4 บก.สอท.3,

พ.ต.ต.ณัฐพล เสียมไหม สว.กก.4 บก.สอท.3 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม
 

ตำรวจไซเบอร์จับขบวนการแก๊งแอปกรมที่ดินปลอม หลอกสแกนใบหน้าดูดเงินหายกว่า 2 ล้าน

สืบเนื่องจากเมื่อ ต้นเดือน ก.ค.66 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งออนไลน์ว่า มีมิจฉาชีพโทรหาผุู้เสียหายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน อ้างว่าเคยส่งหนังสือเรื่องการขอให้ปักหมุดพิกัดที่ดินที่ผู้เสียหายครอบครองอยู่ โดยส่งหาผู้เสียหาย 2 ครั้งแล้วแต่ผู้เสียหายไม่ติดต่อกลับ มิจฉาชีพจึงแนะนำให้ผู้เสียหายดำเนินการปักหมุดพิกัดที่ดินออนไลน์ อีกทั้งมิจฉาชีพยังสามารถแจ้งข้อมูลที่ดินของผู้เสียหายได้ถูกต้อง ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อ 

ต่อมา มิจฉาชีพให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ที่ปลอมขึ้นมาแล้วให้ผู้เสียหายโหลดแอปกรมที่ดินปลอม จากนั้นได้ให้ผู้เสียหายทำการสแกนใบหน้าหลายครั้ง ระหว่างที่คุยกับมิจฉาชีพและทำตามขั้นตอนที่ปลายสายบอก ผู้เสียหายสังเกตเห็นข้อความแจ้งเตือนเงินออกจากบัญชี ผู้เสียหายตกใจจึงพยายามกดออกจากแอป ดังกล่าวแต่ปรากฎว่าโทรศัพท์มือถือค้าง ไม่สามารถดำเนินการใดใดได้ จึงถอดซิมออกแล้วทุบโทรศัพท์ตนเองทิ้ง สุดท้ายเมื่อมาตรวจสอบบัญชีธนาคาร พบว่าเงินถูกโอนออกไปจากบัญชี จำนวน 4 ครั้ง รวมสูญเงินกว่า 2 ล้านบาท จึงได้ทำการแจ้งความผ่าน www.thaipoliceonline.com

พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ออกสืบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้อง จนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้หลายราย

ต่อมา เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 ลงพื้นที่สืบสวนหาข้อมูลจนทราบว่ามีผู้ต้องหาในขบวนการดังกล่าวหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่ ม.5 ต.ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี จึงนำหมายจับศาลจังหวัดบัวใหญ่เข้าจับกุมตัว น.ส.พึงชญา อายุ 37 ปี ชาวอุดรธานี ในข้อหา “ร่วมกันลักทรัพย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.สอท.3 ดำเนินการต่อไป

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 และ พ.ต.อ.พงศ์นริทร์ เหล่าเขตกิจ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3, ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ภาคภูมิ บุญเจริญพานิช รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ท.เลอศักดิ์ พิเชษฐไพบูลย์ พ.ต.ต.รุ่งเรือง มีสติ และ พ.ต.ต.ธวัช ทุเครือ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม

ตร. “ไม่ยืนยัน” แค่คุย 2 นาที เงินหายจากบัญชี ชี้ยังไม่พบผู้เสียหาย หากมีให้รีบแจ้งความ พร้อมนำโทรศัพท์มาด้วย

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อ กรณี อดีต “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ออกมาเผยแพร่กับสื่อมวลชน ว่ากลุ่มมิจฉาชีพมีเทคโนโลยีใหม่ในการดูดเงินจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย เพียงการหลอกล่อให้ผู้เสียหายคุยโทรศัพท์ด้วย 2 นาทีขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้เสียหายกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ นั้น

จากการตรวจสอบข้อมูลการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ยังไม่พบว่ามีแจ้งความร้องทุกข์ในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด โดยกรณีของการถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารที่พบนั้น มีสาเหตุมาจากการถูกหลอกให้ส่งข้อมูลบัญชีผู้ใช้ รหัสผ่าน และ OTP หรือถูกหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล หรือแอปดูดเงิน เพื่อควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อแล้วถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารผ่านแอปธนาคารในโทรศัพท์จนเงินหมดบัญชี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเรียนมายังพี่น้องประชาชน ว่าอย่าตื่นตระหนกและวิตกกังวลกับกรณีดังกล่าว เพราะจากการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังไม่พบข้อมูลว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพที่มีเทคโนโลยีในลักษณะดังกล่าว ประกอบกับยังไม่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ กรณีถูกดูดเงินจากบัญชีธนาคาร จากการคุยโทรศัพท์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิน 2 นาที ตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจาก การคุยโทรศัพท์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิน 2 นาที โดยไม่ได้มีการกดลิงก์กรอกข้อมูลส่วนบุคคลหรือรหัสผ่าน และไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล แล้วถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร ให้รีบมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเร็ว พร้อมกับนำโทรศัพท์มือถือเครื่องที่ท่านใช้งานมาด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจพิสูจน์ว่าคนร้ายใช้เทคโนโลยีใดในการก่อเหตุ เพื่อหาแนวทางการป้องกันต่อไป

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

‘นาวิน ต้าร์’ เสียท่าให้มิจฉาชีพ ถูกดูดทรัพย์ไป 5 ล้านบาท หลังเผลอ ‘กดลิงก์’ อ่านข่าว ที่ดึงดูดด้วยมุกเนื้อหาเปี่ยมความรู้

(22 ก.พ. 67) ทำเอา ‘นาวิน ต้าร์’ หรือ ดร.นาวิน เยาวพลกุล เซ็งสุดๆ เมื่อต้องมาเจอเองกับตัว ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า “ไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเอง ทั้งที่ก็มีข่าวเรื่องมิจฉาชีพดูดเงินมาตลอด แต่มาเสียท่าเพราะเผลอไปกดลิงก์ในกล่องข้อความ ที่เนื้อหาให้ความรู้ ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ได้คิดอะไร กดลิงก์เข้าไปดู เพราะเห็นว่าเนื้อหาน่าสนใจ สรุปเงินในบัญชีเด้งหายทันที 5 ล้านบาท”

‘นาวิน ต้าร์’ ยังบอกอีกว่า คงได้แค่ทำใจ เพราะคิดว่าคงไม่ได้คืนแน่นอน เสียดายเงินมากๆ ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหายังไงดีสำหรับเรื่องแบบนี้ เจอแค่ครั้งเดียวเข็ดไปเลย

“เลยอยากจะฝากเตือนทุกคนเพราะว่าขนาดเซฟตัวเองก็ยังพลาด ถ้าต้องเสียเงินมากขนาดนี้ เอาไปทำบุญดีกว่า” นาวิน ต้าร์ กล่าว

และล่าสุดวันนี้ ‘นาวิน ต้าร์’ ก็ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Navin Tar ข้อความว่า…

“ขอบคุณภรรยาที่ยังจับมือกันไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มีแต่กำลังใจ ไม่เคยปริปากพูดหรือโทษกัน คนเราล้มได้มันก็ต้องลุกขึ้นได้ ไม่เป็นไรช่างมัน สู้ๆ หาเงินใหม่ ลุยยย!!!”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top