'พล.ต.อ.ธัชชัยฯ' จับมือ UNODC อัปเดตสถานการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงในภูมิภาคอาเซียน พร้อมหารือวิธีการแก้ไขปัญหา
เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.68) พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ฉก.88) และหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 เวลา 19.00 น. ได้รับเชิญไปอภิปรายในงาน Expert Panel on Scam Centers and Cybercrime in the Mekong Region ซึ่งจัดโดย UNODC โดยมีผู้แทนจากสถานทูต ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมรับฟัง ณ Foreign Correspondents Club สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย อาคารมณียา ถ.เพลินจิต แขวงและเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่มักใช้พื้นที่ตามแนวชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานปฏิบัติการ โดยกลยุทธ์หลักที่ประเทศไทยนำมาใช้ มุ่งเน้นไปที่การทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการก่ออาชญากรรมของแก๊งเหล่านี้คือ “ยุทธการระเบิดสะพานโจร” ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. ระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ (ซิม สาย เสา) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อสื่อสารและดำเนินการหลอกลวงผู้เสียหาย
2. บัญชีธนาคารและบัญชีสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) ที่ถูกใช้เป็นช่องทางในการรับโอนเงินที่ได้จากการหลอกลวงและดำเนินการฟอกเงิน
3. กลุ่มมิจฉาชีพ (สแกมเมอร์) ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เป็นผู้ปฏิบัติการหลักในการหลอกลวงผู้เสียหายโดยตรง การตัดทำลายรากฐานเหล่านี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อศักยภาพในการก่ออาชญากรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้การดำเนินการหลอกลวงเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการประสานความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศ เนื่องจากลักษณะของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นองค์กรข้ามชาติ การทลายเครือข่ายและการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานในประเทศที่แก๊งเหล่านี้ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่
ในปีนี้ประเทศไทยได้แสดงบทบาทสำคัญในการร่วมมือและให้ความช่วยเหลือ ในกระบวนการส่งกลับผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดี ประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจุบันได้ดำเนินการส่งกลับชาวต่างชาติแล้ว 7,177 ราย จาก 33 ประเทศ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือไปยังประเทศต้นทางให้ทำการสัมภาษณ์และส่งมอบข้อมูล รวมถึงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้สามารถนำไปขยายผลในการปราบปรามและดำเนินคดีกับองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พล.ต.อ.ธัชชัยฯ ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับประเทศจีน , ญี่ปุ่น และกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สำคัญในการจับกุมกลุ่มขบวนการ ทั้งในระดับหัวหน้าและสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นจำนวนมาก และเชื่อมั่นว่าการประสานงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติอย่างยั่งยืน
ด้าน นายเบเนดิกต์ ฮอฟแมนน์ ผู้แทนภูมิภาค UNODC เปิดเผยว่า UNODC ได้ติดตามและวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวขององค์กรอาชญากรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วและขยายขอบเขตการปฏิบัติงานอย่างมาก ไม่เพียงแต่ขยายวงกว้างการหลอกลวงไปยังผู้เสียหายในหลากหลายภูมิภาคนอกเหนือทวีปเอเชีย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและจิตใจมากขึ้น และขยายพื้นที่ปฏิบัติการไปยังหลายประเทศทั่วโลกเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือองค์กรเหล่านี้ยังแตกแขนงไปก่ออาชญากรรมในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้น เช่น การผลิตและค้ายาเสพติดให้กับเครือข่ายอาชญากรรมในภูมิภาคอื่นๆ
ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ในประเทศไนจีเรีย ซึ่งมีผู้ร่วมขบวนการเป็นชาวจีน , ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยมีกลุ่มอาชญากรชาวจีนซึ่งเดิมตั้งฐานอยู่ในภูมิภาคอาเซียนเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง UNODC ประเมินว่าปัจจุบันมีผู้ถูกหลอกลวงให้เข้าไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วกว่า 56 ประเทศทั่วโลก โดยมีแนวโน้มการขยายเป้าหมายไปยังประเทศที่ประชากรมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้ดี และในระยะหลังเริ่มปรากฏแนวโน้มการรับสมัครสแกมเมอร์ที่จากประเทศเกาหลีซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรที่รายได้สูง
สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ นายฮอฟมันน์ฯ ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนผู้ที่สมัครใจ ที่จะเข้าไปทำงานเป็นสแกมเมอร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ซับซ้อน นอกจากนี้ องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ยังเริ่มนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการหลอกลวงในรูปแบบที่ซับซ้อนและแนบเนียนยิ่งขึ้น เช่น การสร้างภาพและเสียงปลอมแปลง (Deepfake) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของกลุ่มอาชญากรเหล่านี้อย่างน่ากังวล
ผู้แทนภูมิภาค UNODC กล่าวว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้มีความซับซ้อนและมีขนาดใหญ่มาก ส่งผลให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งในการปราบปรามและดำเนินคดี อีกทั้งความพยายามในการกวาดล้างของรัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในแต่ละประเทศ ยังนำไปสู่การปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการกระทำความผิด การฟอกเงิน และการสรรหาแสกมเมอร์ ซึ่งอาจทำให้การปราบปรามยากลำบากยิ่งขึ้น
ด้าน นายจอห์น วอยชิค นักวิเคราะห์ประจำภูมิภาคของ UNODC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิวัฒนาการของอาชญากรรม กล่าวถึงการปรากฏตัวของกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่ทำหน้าที่ในการฟอกเงินโดยเฉพาะ ซึ่งเปรียบเสมือน "สถาบันการเงินเถื่อน" ที่ให้บริการทางการเงินแก่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในภูมิภาคอาเซียน แต่ปัจจุบันได้ขยายขอบเขตการให้บริการไปยังภาคส่วนอาชญากรรมอื่นๆ เช่น การค้ายาเสพติด, กลุ่มแฮกเกอร์, กลุ่มค้าสื่อลามกอนาจารเด็ก และกลุ่มการค้ามนุษย์ ในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเครือข่ายอาชญากรรมที่เชื่อมโยงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
นายวอยชิค ยังได้กล่าวถึงกรณีของ HuiOne Guarantee ซึ่งเป็นตลาดมืดออนไลน์ที่ซื้อขายสินค้าและบริการผิดกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรสำหรับการจัดตั้งและบริหารแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการขายข้อมูลส่วนบุคคล, ซอฟต์แวร์ และระบบที่ใช้ในการหลอกลวง นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการถูกอายัดทรัพย์สินและหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย ยังมีการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตนเองชื่อ HuiOne Blockchain และ USDH เพื่อใช้เป็นช่องทางในการชำระเงินภายในแพลตฟอร์มอีกด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะการฟอกเงินในรูปแบบบริการ (Laundering as a Service) และอาชญากรรมในรูปแบบบริการ (Crime as a Service) นั้น เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้เหล่าอาชญากรสามารถกระทำความผิดได้ง่ายขึ้น ในวงกว้างมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ นายฮอฟแมนน์ กล่าวเสริมย้ำถึงความรุนแรงของปัญหาว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วในแง่ของเงินทุน, โอกาสในการทำงานที่ล่อลวง, การเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการก่ออาชญากรรม และการพัฒนาระบบเครือข่ายที่เข้มแข็งมากขึ้น เป็นสิ่งที่ภูมิภาคอาเซียนไม่เคยเผชิญมาก่อน รัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจึงจำเป็นต้องมีแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถติดตามและจัดการกับอาชญากรเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที และปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามที่ซับซ้อนและขยายวงกว้างนี้
ด้าน นางสาวเจนนิเฟอร์ โซห์ หัวหน้าฝ่ายการสืบสวนคดีอาชญากรรมไซเบอร์ บริษัท Group-IB ซึ่งประกอบธุรกิจด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เปิดเผยถึงกลโกง ภัยคุกคามไซเบอร์รูปแบบใหม่: "Android Malware Scam" ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่น่าจับตามอง และมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการก่ออาชญากรรมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยกลโกงดังกล่าวเริ่มต้นจากการหลอกลวงให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมลงบนโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยแอปพลิเคชันปลอมเหล่านี้อาจเลียนแบบแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ผู้เสียหายคุ้นเคย เมื่อผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว อาชญากรไซเบอร์จะสามารถเข้าควบคุมโทรศัพท์มือถือจากระยะไกล และทำการดูดข้อมูลสำคัญที่อยู่ในเครื่องของผู้เสียหายได้ สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ ภายในแอปพลิเคชันปลอมเหล่านี้ อาจมีการหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งภาพวิดีโอใบหน้าของตนเอง โดยอ้างเหตุผลต่างๆ ซึ่งอาชญากรไซเบอร์จะนำภาพวิดีโอดังกล่าวไปใช้ในการ bypass ระบบสแกนใบหน้า (facial recognition) ของแอปพลิเคชันธนาคาร
ทางด้าน Group-IB พบว่า อาชญากรไซเบอร์ใช้วิธีการ Camera Injection Tool ในการนำภาพวิดีโอใบหน้าที่ถ่ายไว้ล่วงหน้าของเจ้าของบัญชีธนาคาร อัปโหลดเข้าสู่ระบบการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าของธนาคาร ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย และทำการโจรกรรมเงินได้อย่างง่ายดาย ภัยคุกคามนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของอาชญากรไซเบอร์ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อโจมตีระบบความปลอดภัยทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือโดยตรง ผู้ใช้งานจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงและเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือมากยิ่งขึ้น
