Thursday, 24 April 2025
Hard News Team

ครูแหม่ม เจ้าของโรงเรียนเลิศคณิต สมาทเซ็นเตอร์ กล่าวถึงกรณีที่มีคนออกมาโจมตี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

(22 เม.ย. 68) นางอุไรวรรณ เอกพันธ์ (ครูแหม่ม) เจ้าของโรงเรียนเลิศคณิต สมาทเซ็นเตอร์ จ.สงขลา โพสต์คลิป Tiktok ผ่านบัญชี lertkanitschool99 ถึงกรณีที่มีคนออกมาโจมตีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในระยะหลังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นเห็นด้วยกับเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดคนที่ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างคุณพีระพันธุ์จึงมีคนโจมตีและเกลียดชัง

โดยระบุว่า ทําไมจึงเกลียดชังและโกรธคนดี อย่างท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทั้ง ๆ ที่ท่านก็เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และท่านก็ทําหน้าที่ของท่านอย่างเต็มที่ โดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ แต่พอทำไม่ถูกใจ ก็ถูกมองว่าทำผิดไปหมด

ทั้งที่ตลอดเวลากว่า 50 ปี การแก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานไม่มีใครทําเลย และหากไม่มีคุณพีระพันธุ์ จะมีใครทำ อีกทั้ง ประโยชน์ที่จะได้จากความสําเร็จของการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน จะมีมหาศาลขนาดไหน เพราะคนไทยทุกวันนี้ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่แพงขึ้นทุกวันทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส และค่าน้ำมัน เรียกได้ว่าเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า กระทั่งท่านพีระพันธุ์ ได้เข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ช่วยให้ประชาชนจ่ายน้อยลงไปเยอะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

ครูแหม่ม ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุใดกรณีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จึงถูกหยิบยกมาโจมตีเฉพาะคุณพีระพันธุ์คนเดียวเท่านั้น ทั้งที่ยังมีกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่กลับไม่ถูกโจมตี ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่า คนที่ออกมาโจมตีนั้นกำลังพุ่งเป้าโจมตีและทำให้คนจงเกลียดจงชังคุณพีระพันธุ์ ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงพลังงานคนเดียวเท่านั้น ในส่วนนี้คนที่ออกมาโจมตีนั้นต้องตอบคำถามให้ได้ว่า การกระทำเช่นนั้นหวังผลอะไรกันแน่

เมื่อ ‘เวลา’ กลายเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก่อเกิดเมล็ดพันธุ์แห่งน้ำใจที่มนุษย์จะมอบให้แก่กัน

ในโลกยุคที่ผู้คนต่างเร่งรีบแข่งขันกันกับเวลา 'เวลา' กลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่มักไม่มีใครเหลือให้กันมากนัก แต่ในประเทศเล็ก ๆ กลางเทือกเขาแอลป์อย่างสวิตเซอร์แลนด์ กลับมีแนวคิดหนึ่งที่เปลี่ยนความหมายของคำว่า 'เวลา' ไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ 'ธนาคารเวลา' ครับ 

ธนาคารเวลา ไม่ใช่สถานที่ที่เก็บเงินทอง หรือดอกเบี้ยทางการเงิน แต่เป็นระบบที่ให้ผู้คน "ฝากเวลาแห่งการช่วยเหลือ" เอาไว้ แล้วถอนคืนมาใช้เมื่อถึงวันที่ตนเองต้องการความช่วยเหลือ แนวคิดเรียบง่ายนี้กลับมีพลังมหาศาลครับ เพราะมันทำให้เราเห็นว่า แม้ไม่มีเงินทอง เราก็สามารถดูแลกันและกันได้ด้วยความตั้งใจและการลงมือทำ

เรื่องราวของชายชราคนหนึ่งในเมือง St. Gallen สร้างความประทับใจให้คนทั้งประเทศ หลังเกษียณ เขาใช้เวลาว่างไปช่วยดูแลผู้สูงวัยในชุมชน พาไปหาหมอ ทำอาหารให้ หรือแค่นั่งฟังพวกเขาเล่าเรื่องชีวิตเก่า ๆ เขาบันทึกทุกชั่วโมงแห่งความเมตตานั้นไว้ในระบบธนาคารเวลา  

หลายปีผ่านไป เขาเองก็เริ่มอ่อนแรง เดินไม่ไหวเหมือนเดิม และนั่นคือวันที่ 'เวลา' ที่เขาเคยมอบให้ผู้อื่น กลับมาดูแลเขาในแบบเดียวกัน เด็กหนุ่มสาวในวัย 20 กว่ามาหาเขาทุกเย็น ช่วยทำอาหาร นั่งคุย และพาไปเดินเล่นริมทะเลสาบ แม้จะไม่ใช่ลูกหลานแท้ ๆ แต่เขาก็ได้กล่าวไว้ว่า “หัวใจฉันอบอุ่นกว่าเดิมทุกครั้งที่เขามาเยี่ยม เหมือนฉันไม่เคยแก่เกินไปสำหรับใครเลย”

ธนาคารเวลาไม่เพียงแค่เป็นระบบการแลกเปลี่ยนบริการ แต่เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ของน้ำใจ ความห่วงใย และการไม่ทอดทิ้งกันในสังคม มันทำให้เรารู้ว่า แม้วันหนึ่งเราจะอ่อนแอ แต่สิ่งที่เราเคยหยิบยื่นให้คนอื่น จะย้อนกลับมาดูแลเราในวันที่เราต้องการมากที่สุด

และบางที ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อาจไม่ใช่เงินทอง หรือทรัพย์สมบัติใด ๆ แต่อาจเป็นเพียงสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดอย่าง "หนึ่งชั่วโมงแห่งน้ำใจ" ที่เรามอบให้กันเท่านั้น

หากจะอธิบายระบบการทำงานให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ 'ธนาคารเวลา' (Time Bank) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากครับ แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนบริการโดยใช้ 'เวลา' เป็นสกุลเงินแทนเงินตรา และแนวคิดนี้มีการนำมาใช้จริงในหลายๆพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือการดูแลซึ่งกันและกันในสังคม

หลักการและแนวคิดของธนาคารเวลาในสวิตเซอร์แลนด์นั้นแสนจะเรียบง่ายดังนี้ครับ 

1. การแลกเปลี่ยนบริการด้วยเวลา
ผู้คนจะ 'ฝากเวลา' โดยให้บริการกับผู้อื่น เช่น ดูแลผู้สูงอายุ, ช่วยทำความสะอาดบ้าน, สอนภาษา ฯลฯ และจะได้รับ 'เครดิตเวลา' ที่สามารถนำไปใช้ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในอนาคต

2. ส่งเสริมสังคมแห่งการดูแล
แนวคิดนี้ถูกใช้ในโครงการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้คนวัยเกษียณมีคุณค่าและรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม ขณะเดียวกันยังได้รับการดูแลเมื่อพวกเขาต้องการในภายหลัง

3. ดำเนินการโดยองค์กรหรือภาครัฐ
ในบางเขต เช่น เมือง St. Gallen รัฐบาลท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งระบบธนาคารเวลานี้ โดยใช้ระบบบันทึกชั่วโมงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

4. ไม่มีการวัดมูลค่าตามทักษะ
ทุกคนมีค่าเท่ากันในแง่เวลา นั่นหมายความว่า 1 ชั่วโมงของการทำสวน = 1 ชั่วโมงของการช่วยสอนหนังสือ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปสิ่งที่ธนาคารเวลาได้มอบให้กับผู้คนก็คือ
- สร้างความสัมพันธ์ในชุมชน
- สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
- ลดภาระของรัฐในด้านสวัสดิการ
- ส่งเสริมความเท่าเทียม

ในท้ายที่สุด ธนาคารเวลาอาจไม่ได้เปลี่ยนโลกทั้งใบในชั่วข้ามคืนครับ แต่สิ่งที่มันทำได้คือการเปลี่ยน 'หัวใจของผู้คน' ให้กลับมาเห็นค่าของกันและกันอีกครั้ง มันเตือนเราว่า บางครั้งสิ่งที่คนเราต้องการไม่ใช่เงิน หรือสิ่งของราคาแพง หากแต่เป็น "เวลา" เวลาที่เราตั้งใจมอบให้กันด้วยความเข้าใจและเมตตา และหากสังคมของเรามีพื้นที่แบบนี้มากขึ้น มนุษย์เราอาจจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วว่าผู้คนอาจไม่ต้องการสิ่งใดมากไปกว่า หนึ่งชั่วโมงแห่งความห่วงใย ที่ไม่มีดอกเบี้ยใดๆแต่เต็มไปด้วยความหมายและความเอื้ออาทรที่มนุษย์เรามอบให้กันในวันที่อีกฝ่ายต้องการมากที่สุด 

เท่านี้ก็พอครับ

อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา  ครบรอบ 27 ปี

เมื่อวานนี้ (21 เม.ย.68) พลเรือตรี ปิยะ ปฐมบูรณ์ ผู้อำนวยการอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ เป็นประธานจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ครบรอบ 27 ปี โดยมี อดีตผู้อำนวยการอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชฯ  ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ สมาคมภริยาทหารเรือ หน่วยงานราชการ และ บริษัทเอกชน เข้าร่วมงาน ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ
ท่าเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 

โจมตีจีนคือธุรกิจ แต่ใส่ของจีน!! ชาวเน็ตเหน็บแรงโฆษกสหรัฐฯ ใส่เดรสราคาแพง 'Made in China'

(22 เม.ย. 68) ชาวเน็ตจีนบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Sina Weibo และ Xiaohongshu ได้วิพากษ์วิจารณ์หลังมีการเปิดเผยภาพของโฆษกทำเนียบขาว แคโรไลน์ ลีวิตต์ (Karoline Leavitt) ขณะกำลังแถลงข่าวโดยเธอสวมชุดเดรสสีแดงขอบลูกไม้สีดำ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “ผลิตในประเทศจีน?”

ประเด็นนี้เริ่มเป็นที่สนใจเมื่อจาง จื้อเซิง กงสุลใหญ่ของจีนประจำเมืองเดนปาซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ทวีตข้อความตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชุดดังกล่าว โดยระบุว่า “แม้จะกล่าวหาจีนว่าไม่ยุติธรรมด้านการค้า แต่คนในรัฐบาลกลับยังสวมใส่ผลิตภัณฑ์จากจีนเอง” ซึ่งข้อความนี้จุดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์จีน

ขณะที่ ผู้ใช้โซเชียลจำนวนมากแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ว่า “เป็นเรื่องตลกร้าย” และสะท้อนถึง “ความหน้าไหว้หลังหลอก” ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนมาโดยตลอดในประเด็นสงครามการค้า

ทั้งนี้ ชุดดังกล่าวจะมาจากแบรนด์ Self-Portrait ของอังกฤษ แต่ก็มีรายงานว่าผู้ออกแบบคือ ฮั่น จง (Han Chong) ดีไซเนอร์เชื้อสายจีนจากมาเลเซีย และที่สำคัญคือมีการผลิตในจีน ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตจีนมองว่าเป็น “ความย้อนแย้ง” ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มักวิจารณ์จีนเรื่องการค้า ขณะเดียวกันก็ยังใช้สินค้าจากจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

‘เอกนัฏ’ ซัด สังคมไม่ได้คำตอบอะไรจากการแถลงซินเคอหยวน ชี้รอไปตอบดีเอสไอดีกว่า

จากกรณี บริษัท ซินเคอหยวน สตีล ได้ว่าจ้างทีมทนายจากสำนักงานทนายความเจ้าพระยา แถลงข่าวชี้แจงเหล็กของบริษัทฯ ถูกตรวจสอบตกคุณภาพ หลังจากนั้นไม่นาน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้โพสต์เฟซบุ๊กในชื่อ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (ขิง) แสดงความเห็นหลังจากฟังตัวแทนบริษัท ซินเคอหยวน สตีล แถลงข่าว ว่า...

สังคมไม่ได้อะไรจากคำตอบของซินเคอหยวน?
ตรรกะมันอยู่ตรงไหน?
“ตึกถล่มอาจเพราะสาเหตุอื่น”
- ถ้ามีสาเหตุอื่นด้วย มันก็ไม่ได้แปลว่าเหล็กคุณได้มาตรฐาน

“เคยได้ BOI เคยได้ มอก.”
- ก็ใช่ครับแต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็ถึงถูกถอน BOI ถูกปิดโรงงาน ผลิตของตกมาตรฐาน ตรวจไป 2 ครั้งก็ยังสอบตก

“สถาบันเหล็กไม่มีความสามารถในการตรวจเหล็ก”
- ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริง คือตอนตรวจผ่านรับได้ พอตรวจไม่ผ่านกลับโทษคนตรวจ

ผมไม่เคยแบ่งแยกว่าเป็นคนชาติใด ใครทำผิดกฎหมาย ก็ดำเนินคดีหมด 
เท่าที่ฟังดูแล้ว.. สังคมไม่ได้อะไรจากคำตอบของคุณ 
- เหล็กตกมาตรฐานคุณกระจายไปไหนบ้าง?  
- “ฝุ่น” กากอุตสาหกรรมอันตรายที่มีอยู่เลี่ยงไม่ตอบ 
- กระบวนการควบคุมมาตรฐานก็ไม่ตอบ  

ถ้างั้นผมว่า.. เตรียมไปตอบในคำให้การ DSI เถอะครับ มีอีกหลายคดี ที่ต้องตอบให้ได้

22 เมษายน พ.ศ. 2485 มิตรภาพทางเศรษฐกิจในยามสงคราม วันที่เงินบาทผูกพันกับเงินเยนญี่ปุ่น ข้อตกลงค่าเงินที่เปลี่ยนทิศเศรษฐกิจไทยกลางพายุ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’

​เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงทางการเงินกับจักรวรรดิญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่อง “ข้อตกลงค่าเงินเยน-บาท” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง 

ข้อตกลงนี้มีผลต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างสองประเทศในขณะนั้น และสะท้อนถึงบทบาทของไทยในสงครามโลกครั้งที่สองและพัฒนาการของระบบการเงินระหว่างประเทศของไทยในศตวรรษที่ 20​

สาระสำคัญของข้อตกลง ได้แก่

1. การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเยนกับเงินบาท: กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเยนกับเงินบาทให้คงที่ตามข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ซึ่งเป็นการปรับค่าเงินบาทให้มีมูลค่าน้อยลงจากอัตราเดิมที่ 155.7 เยน ต่อ 100 บาท เป็น 100 เยน ต่อ 100 บาท

2. การใช้เงินเยนเป็นสื่อกลางในบางธุรกรรม: ข้อตกลงนี้อนุญาตให้ใช้เงินเยนเป็นสื่อกลางในบางธุรกรรมในเขตที่ญี่ปุ่นมีอิทธิพลหรือควบคุมอยู่ ซึ่งช่วยให้การค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามเป็นไปได้อย่างสะดวก​

3. การสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการค้าและการขนส่งสินค้า: ช่วยสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ซึ่งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศในขณะนั้น

การผูกเงินบาทกับเงินเยนจึงไม่ใช่เพียงมาตรการทางเทคนิคด้านการเงิน หากแต่สะท้อนถึงการเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยในการปรับตัวเข้ากับโครงสร้างอำนาจใหม่ที่ญี่ปุ่นได้กลายเป็นผู้นำของ “ระเบียบใหม่ในเอเชีย” หรือ Greater East Asia Co-Prosperity Sphere

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลังเกี่ยวกับความเป็นกลางของไทยในสงคราม ตลอดจนสร้างข้อผูกพันที่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินในลักษณะพึ่งพิงคู่ค้าเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงและข้อตกลงดังกล่าวถูกยกเลิก ความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของระบบการเงินไทยในเวทีระหว่างประเทศจึงกลายเป็นวาระสำคัญของภาครัฐในช่วงหลังสงคราม

ประสบการณ์จากการลงนามในข้อตกลงค่าเงินเยน–บาทในครั้งนั้น กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่หล่อหลอมทิศทางของนโยบายการเงินระหว่างประเทศของไทยในยุคสงคราม และมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจการคลังไทยในเรื่องของ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องของตัวเลข แต่เป็นการวางยุทธศาสตร์ในฐานะประเทศขนาดกลางที่ต้องดำรงอยู่ท่ามกลางแรงดึงจากมหาอำนาจโลก

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเปิดโครงการ  “เสริมสร้างทักษะดนตรี กีฬา ช่วงปิดภาคการศึกษาแก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ”

(21 เม.ย. 68) เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ “เสริมสร้างทักษะดนตรี กีฬา ช่วงปิดภาคการศึกษาแก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ” โดยมี พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล/โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.เศรษฐศักดิ์  ยิ้มเจริญ ผู้บังคับการกองสวัสดิการ (ผบก.สก.) , รอง ผบก.สก. , ข้าราชการตำรวจกองสวัสดิการ และผู้เข้าร่วมโครงการ ร่วมพิธี ณ สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร 

พล.ต.ท.อาชยนฯ กล่าว่า กองสวัสดิการ สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการ "เสริมสร้างทักษะดนตรี กีฬา ช่วงปิดภาคการศึกษาแก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ" ขึ้น ระหว่างวันที่ 21 – 30 เมษายน 2568 เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการตำรวจ และส่งเสริมให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ช่วงปิดภาคการศึกษา ซึ่งโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายการบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 นโยบายข้อที่ 15 สวัสดิการตำรวจ โดยโครงการดังกล่าวจะมีการส่งเสริมทักษะด้านดนตรี 7 ชนิด ประกอบด้วย เปียโน กีตาร์ อูคูเลเล่ ขลุ่ย ขิม ไวโอลิน และขับร้อง ให้แก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ อายุตั้งแต่ 7 - 15 ปี จำนวน 104 คน ณ สโมสรตำรวจ และส่งเสริมทักษะด้านกีฬา 4 ชนิด ประกอบด้วย กรีฑา ฟุตบอล ฟุตซอล และว่ายน้ำ ให้แก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ อายุตั้งแต่ 8 - 15 ปี จำนวน 80 คน ณ สนามกีฬาบุณยะจินดา และสระว่ายน้ำสโมสรตำรวจ

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายหลักในการบริหารราชการคือเรื่องการส่งเสริมสวัสดิการตำรวจ ดูแลข้าราชการตำรวจและครอบครัว ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญ เพื่อลดปัญหาด้านยาเสพติด มีมาตรการดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน โดยใช้กิจกรรมสันทนาการประเภทต่าง ๆ เป็นสื่อในการเข้าถึงเด็กและเยาวชน เพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดภาคการศึกษา ไม่พึ่งพาอบายมุขและยาเสพติด ด้วยการเรียนดนตรี เล่นกีฬา เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะทางด้านร่างกายและจิตใจ ให้มีน้ำใจนักกีฬา และมีระเบียบวินัย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะที่เป็นประโยชน์สำหรับบุตรหลานข้าราชการตำรวจอย่างเต็มที่

จเรตำรวจแห่งชาติประชุม ฉก.88 ร่วมกับ 32 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้เห็นผลชัดเจนภายใน 3 เดือน เน้นใช้มาตรการ "ระเบิดสะพานโจร" อย่างเคร่งครัด

วันนี้ (21 เม.ย. 68) เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ผอ.ฉก.88) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ฉก.88) ครั้งที่ 1/2568 โดยมีผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 , ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล , ผู้บัญชาการสำนักงบประมาณและการเงิน , ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ , ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) พร้อมด้วย นายบุญช่วย หอมยามเย็น ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย/รอง ผอ.ฉก.88 , นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง/รอง ผอ.ฉก.88 , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท./รอง ผอ.ฉก.88 , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว/ผู้ช่วย ผอ.ฉก.88 , ผู้แทนฝ่ายตำรวจทุกหน่วย และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 32 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์

ตามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 83/2568 เรื่อง การจัดตั้งกลไกอำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งตำรวจ ทหาร ภาครัฐ เอกชน ฝ่ายปกครอง โดยตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะกรรมการ ปชด.) มีศูนย์ปฏิบัติเฉพาะกิจ 4 ศูนย์ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ฉก.88) มี พล.ต.อ.ธัชชัยฯ เป็นผู้อำนวยการฯ ทำหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการค้ามนุษย์ ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่แนวชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมาและประเทศกัมพูชา

ในที่ประชุมได้มีการติดตามสถานการณ์ภาพรวมของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการค้ามนุษย์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ตามพื้นที่แนวชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมา และแนวชายแดนที่ติดกับประเทศกัมพูชา และแนวทางการดำเนินการในการป้องกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการค้ามนุษย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยจะไม่ยอมให้กลุ่มคนไทยที่เดินทางไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เมื่อถูกจับกุมแล้วอ้างว่าตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม โดยล่าสุดจากปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะฝั่งกัมพูชามีการกวาดล้าง 2 ครั้ง จับกุมคนไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องส่งกลับประเทศรวมจำนวน 175 คน พบว่าทุกคนไม่ใช่เหยื่อการค้ามนุษย์ แต่เป็นคนที่มีส่วนร่วมกับอาชญากรรมข้ามชาติแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทุกคน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในไทยใน 4 ข้อหาใหญ่

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมทุกหน่วยงานครั้งแรก โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานเข้าร่วมประชุม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเน้นการใช้มาตรการ "ระเบิดสะพานโจร" อย่างเคร่งครัด ได้แก่ 
1. ป้องกันการลักลอบส่งเสา สาย ซิม โดยการตัดสายเคเบิ้ลผิดกฎหมาย ตัดเสาสัญญาณผิดกฎหมาย ปราบปรามซิมผี วิเคราะห์จุดที่ตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์จาก IP address และที่ตั้งทางกายภาพ  
2. ตรวจสอบป้องกันการใช้บัญชีธนาคารและบัญชีคริปโตเคอร์เรนซี โดยตรวจสอบสาขาของธนาคารที่มีการเปิดบัญชีม้าจำนวนมาก การถอนเงินจากธนาคารและตู้กดเงินสดตามแนวชายแดน การลักลอบขนเงินสดข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติและด่านศุลกากร และการวิเคราะห์เส้นทางการเงินจากบัญชีธนาคารและบัญชีคริปโตเคอร์เรนซี
3. ป้องกันการลักลอบเดินทางเข้าออกประเทศไทยของชาวไทยและชาวต่างชาติตามแนวชายแดน เพื่อปิดกันไม่ให้ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อเดินทางไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นภัยความมั่นคงของชาติรูปแบบใหม่ เรียกว่า Cyber War ที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยบูรณาการการปฏิบัติร่วมกันทุกหน่วยงาน เชื่อว่าหากทุกหน่วยงานร่วมมือร่วมใจกันทำจริง และเด็ดขาดพอ จะทำให้การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์เห็นผลสัมฤทธิ์ภายใน 3 เดือน

ยานอวกาศรัสเซีย ‘ซายุซ MS-26’ ลงจอดในคาซัคสถาน นำลูกเรือกลับสู่โลกตามกำหนด หลังทำภารกิจบน ISS กว่า 7 เดือน

(21 เม.ย. 68) ยานอวกาศ ซายุซ MS-26 ของรัสเซียประสบความสำเร็จในการพานักบินอวกาศ 3 นายเดินทางกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย หลังจากปฏิบัติภารกิจในวงโคจรนอกโลกนานกว่า 7 เดือน บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS)

ลูกเรือประกอบด้วยนักบินอวกาศชาวรัสเซีย อเล็กซีย์ ออฟชินิน และ อีวาน วากเนอร์ รวมถึงนักบินอวกาศชาวอเมริกันจากนาซา โดนัลด์ เพ็ตติต ซึ่งการเดินทางกลับของเขาในครั้งนี้ตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70 ของเจ้าตัวอีกด้วย

องค์การนาซาระบุผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X (อดีต Twitter) ว่า “นักบินอวกาศโดนัลด์ เพ็ตติต กลับสู่โลกในวันเกิดของเขาเอง อายุครบ 70 ปี ในวันเดียวกับที่เขาใช้ร่มชูชีพเหินฟ้ากลับบ้าน”

สำหรับภารกิจครั้งนี้เน้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในสภาวะไร้น้ำหนักและเทคโนโลยีสำหรับการอยู่อาศัยระยะยาวนอกโลก โดยทั้งสามคนได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นทันทีที่ลงจอด และอยู่ในสภาพร่างกายแข็งแรงดี

ด้านองค์การอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) รายงานว่า ยานซายุซ MS-26 ได้แยกตัวออกจากสถานีอวกาศในช่วงเช้าของวันที่ 19 เมษายน 2568 ก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และลงจอดอย่างปลอดภัยในเขตคาซัคสถานตามกำหนดการในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินที่เข้าดำเนินการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ

การเดินทางกลับสู่โลกในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการปิดฉากภารกิจสำคัญบนอวกาศ แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้ในยามที่โลกเผชิญความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ ภารกิจของ ซายุซ MS-26 เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของความสามารถทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของรัสเซีย ซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญในโครงการสำรวจอวกาศระดับนานาชาติ

‘วิว กุลวุฒิ’ ทะยานขึ้นมือ 2 โลก หลังสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์แบดฯ เอเชีย พร้อมตั้งเป้าภารกิจใหม่ซิวแชมป์ ‘ออลอิงแลนด์’

(21 เม.ย. 68) สหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) ประกาศอันดับโลกล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีข่าวดีสำหรับวงการแบดมินตันไทยเมื่อ ‘วิว’ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันชายเดี่ยวเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก 2024 สร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยอีกครั้ง ด้วยการคว้าแชมป์ แบดมินตัน “เอเชีย แชมเปียนชิพส์ 2025” ที่เมืองหนิงโป ประเทศจีน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568

การคว้าแชมป์ในครั้งนี้ทำให้ วิว กุลวุฒิ กลายเป็นนักแบดมินตันชายเดี่ยวคนแรกจากประเทศไทยที่สามารถคว้าแชมป์เอเชียได้สำเร็จ สร้างความภาคภูมิใจและความสุขให้กับคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ขยับอันดับโลกขึ้นมาถึง 3 อันดับ จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ขึ้นมาเป็นมือ 2 ของโลกในประเภทชายเดี่ยว ซึ่งถือเป็นอันดับโลกที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา โดยก่อนหน้านี้ ‘วิว’ เคยทำได้สูงสุดที่อันดับ 3 ของโลก

“เป้าหมายต่อไปของผมคือการคว้าแชมป์ออลอิงแลนด์ให้ได้ ผมเคยได้แชมป์โลกและเหรียญเงินโอลิมปิกมาแล้ว แต่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จที่ออลอิงแลนด์เลย หวังว่าปีหน้าผมจะทำได้ดีขึ้นครับ” สุดยอดนักตบลูกขนไก่ไทยวัย 23 ปีกล่าว

สำหรับ 5 อันดับ นักแบดมินตันมือวางระดับโลก ประเภทชายเดี่ยว ประกอบด้วย

1. ฉือ หยู่ฉี (Shi Yuqi)  อายุ 29 ปี / จีน / 99,435 คะแนน

2. กุลวุฒิ วิทิตศานต์ (Kunlavut Vitidsarn) อายุ 23 ปี / ไทย / 89,138 คะแนน

3. อันเดรส แอนทอนเซ่น (Anders Antonsen) อายุ 27 ปี / เดนมาร์ก / 87,693 คะแนน

4. วิคเตอร์ แอ็กเซลเซ่น (Viktor Axelsen) อายุ 31 ปี / เดนมาร์ก / 87,610 คะแนน

5. หลี่ ซือเฟิง (Li Shifeng) อายุ 25 ปี / จีน / 81,656 คะแนน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top