Friday, 16 May 2025
Hard News Team

‘ซิกเว่ เบรกเก้’ คัมแบคธุรกิจโทรคมนาคมไทย นั่งแท่น ปธ.บอร์ด กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือซีพี

ซีพี ตั้ง ‘ซิกเว่ เบรกเก้’ นักธุรกิจระดับโลกจากนอร์เวย์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง 'ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือเจริญโภคภัณฑ์'

(9 ม.ค. 2568) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์  เปิดเผยว่า การเข้ามาของ นายซิกเว่ เบรกเก้ ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเครือซีพี  ซึ่งมั่นใจว่าด้วยวิสัยทัศน์และประสบการณ์ของนายซิกเว่ จะสามารถนำพาเครือซีพีก้าวสู่การเป็น Technology Company ชั้นนำระดับโลก ที่พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ สังคม และประเทศชาติในทุกมิติ ทั้งนี้ บทบาทและความรับผิดชอบของนายซิกเว่ในตำแหน่งสำคัญนี้ จะครอบคลุมถึงการดูแลรับผิดชอบธุรกิจที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุน เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีโทรคมนาคม ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจด้านการเงินดิจิทัล เป็นต้น

“ซีพีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศว่า คุณซิกเว่ เบรกเก้ จะเข้ามาเป็นผู้นำคนสำคัญของเรา โดยดูแลรับผิดชอบด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล ผมรู้จักคุณซิกเว่มาหลายปีแล้ว มั่นใจว่าคุณซิกเว่มีประสบการณ์ระดับโลกในด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล” ซีอีโอ เครือซีพี กล่าว

ทั้งนี้ เครือซีพีมีความเชื่อมั่นในประสบการณ์ที่กว้างขวางในวงการเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารระดับโลกของนายซิกเว่ รวมถึงการเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กรใหญ่ด้วยนวัตกรรมและกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นอนาคต โดยตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมานายซิกเว่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบริหารโครงการระดับโลก และการสร้างพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนส่งเสริมความก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลในหลายประเทศ

ด้าน นายซิกเว่ เบรกเก้ กล่าวว่า “เครือซีพีได้สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้นำระดับภูมิภาคด้านการเชื่อมต่อ โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมดิจิทัล และบริการทางการเงินมายาวนานกว่า 20 ปี ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่คุณศุภชัยเชิญให้มาร่วมพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัลในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ AI มีบทบาทสำคัญต่อผู้บริโภค องค์กร และสังคม ผมตั้งตารอที่จะได้กลับมาทำงานในประเทศไทยและร่วมเดินหน้ากับทีมงานของเครือซีพี”

นอกจากนี้ นายซิกเว่ ได้กล่าวย้ำต่อไปว่า “เครือซีพี ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผมเชื่อว่าด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ผนวกกับศักยภาพของบุคลากรในเครือซีพี เราจะสามารถผลักดันประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคได้อย่างแน่นอน”

อนึ่ง นายซิกเว่ เบรกเก้ เคยดำรงตำแหน่งประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทเลนอร์กรุ๊ปเป็นเวลา 9 ปี จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2024 ก่อนหน้านี้ เขาเคยดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารและหัวหน้าภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทคในประเทศไทย และเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของบริษัทต่าง ๆ หลายแห่งในกลุ่มเทเลนอร์ ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกคณะกรรมการของ GSMA ตั้งแต่ปี 2017 ถึงปี 2024 การเข้ามาของนายซิกเว่ในเครือซีพีถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลยุทธ์ของเครือซีพีในการลงทุนด้านโทรคมนาคม และการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมนวัตกรรม และการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทย ที่พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติ

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขยายพื้นที่ บรรเทาทุกข์ มอบไออุ่น แก่ผู้ประสบภัยหนาวในถิ่นทุรกันดารพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และชัยนาท รวมมูลค่ากว่า 8 แสนบาท

(9 ม.ค. 68) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายชุมพล บุญภักดี ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกสาธารณภัย นำทีมสาธารณภัยลงพื้นที่แจกจ่ายผ้าห่มกันหนาว พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคลงพื้นที่แจกจ่ายผ้าห่มกันหนาว พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค  ประกอบด้วย ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช น้ำปลา ให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ ตำบลวังยาว และตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี รวมผ้าห่มกันหนาวพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค รวม 750 ชุด รวมมูลค่าเป็นเงินทั้งสิ้น  412,500  บาท (สี่แสนหนึ่งหมื่นสองพันห้าร้อยบาทถ้วน) โดยมี นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย ผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสุพรรณบุรี และ มูลนิธิร่วมบุญสุพรรณบุรี เป็นผู้ประสานงานและร่วมในพิธี ณ บริเวณวัดวังยาว ตำบลวังยาว และบริเวณโรงเรียนบ้านทุ่งมะกอก ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

และในวันพรุ่งนี้ (วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2568) มูลนิธิฯ กำหนดลงพื้นที่แจกจ่ายผ้าห่มพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค รวม 750 ชุด ให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ตำบลวังตะเคียน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท เป็นการต่อไป รวมงบประมาณการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และชัยนาท รวม 2 จังหวัดทั้งสิ้น 811,076 บาท (แปดแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันเจ็ดสิบหกบาทถ้วน) 

โครงการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยหนาว เป็นโครงการที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งดำเนินการต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 60 ปี โดยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้กำหนดลงพื้นที่แจกจ่ายผ้าห่มพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบ “ภัยหนาว” ในถิ่นทุรกันดาร ครอบคลุมพื้นที่ ภาคเหนือ  ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้  ครอบคลุม  4 ภาค  43 จังหวัด ผ้าห่มกันหนาวพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภครวม 51,500 ชุด รวมมูลค่ากว่า 34.6 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินและเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านต่าง ๆ ต่อไป

ตลอดระยะเวลากว่า 115 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้ขยายโตรงการบรรเทาทุกข์ในอีกหลาย ๆ ด้าน เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมงานสาธารณกุศลมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต
#แอปพลิเคชัน และ #สายด่วน ป่อเต็กตึ๊ง1418

สนง.เลขาธิการวุฒิสภา ลงนาม MOU ร่วมกับสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม มุ่งส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ

เมื่อวานนี้ (8 ม.ค.68) เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมหมายเลข 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการนำผลงานทางวิชาการและผลงานการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ ระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยนางปัณณิตา สท้านไตรภพ เลขาธิการวุฒิสภา กับสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยพันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ลงนามในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ และมีนายพีระพจน์ รัตนมาลี รองเลขาธิการวุฒิสภา พร้อมด้วยพันตำรวจโท มนตรี บุณยโยธิน รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ลงนามเป็นพยาน โดยมี นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ในฐานะประธานกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา นายสุทนต์ กล้าการขาย สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และผู้บริหารของสำนักงานกิจการยุติธรรม เข้าร่วมในพิธี

ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า วุฒิสภาเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติที่มุ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การที่วุฒิสภาจะได้รับการสนับสนุนผลงานวิชาการ งานวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้ในรูปแบบอื่น ๆ จากสำนักงานกิจการยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นนำที่มีผลงานทางวิชาการและงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในกระบวนการนิติบัญญัติของวุฒิสภา อีกทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเพื่อให้ภารกิจด้านต่าง ๆ ของสมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการเป็นไปด้วยความละเอียด รอบคอบ และอยู่บนพื้นฐานของหลักคิดทางวิชาการมากขึ้น

โอกาสนี้ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ในฐานะประธานกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการดำเนินงานของสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เช่น นิทรรศการการให้ความรู้กฎหมายต่าง ๆ การดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการฐานข้อมูลการบริหารงานยุติธรรม ฐานข้อมูลงานวิจัยในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เปิดผลงาน ‘ดีอี’ ลุยปราบโจรออนไลน์ เดินหน้าปิดกั้นโซเชียลมีเดีย-เพจ-เว็บไซต์ผิดกฎหมาย ‘ไตรมาสแรก’68’ แล้วกว่า 52,691 รายการ เพิ่มมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบเท่าตัว 

(9 ม.ค. 68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ได้เร่งรัดการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ URLs ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อเป็นการตัดวงจรช่องทางการก่ออาชญากรรมที่สำคัญของขบวนการมิจฉาชีพ ทั้งนี้ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 ตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 (ระยะเวลา 3 เดือน) กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ URLs ผิดกฎหมายแล้ว 52,691 รายการ หรือเฉลี่ย 17,564 รายการต่อเดือน เพิ่มขึ้น 0.69 เท่าตัว จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม – ธันวาคม 2566) ที่ปิดกั้น 31,154 รายการ หรือ เฉลี่ย 10,385 รายการต่อเดือน

สำหรับประเภทของการปิดกั้นในระยะเวลา 3 เดือน ( ตุลาคม – ธันวาคม 2567) มีดังนี้ พนันออนไลน์ จำนวน 14,010 รายการ เพิ่มขึ้น 0.163 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (ตุลาคม – ธันวาคม 2566) ที่มีจำนวน 12,045 รายการ , บิดเบือน/หลอกลวงออนไลน์ จำนวน 22,826 รายการ เพิ่มขึ้น 1.287 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (ตุลาคม – ธันวาคม 2566) ที่มีจำนวน 17,750 รายการ , อื่นๆ จำนวน 15,855 รายการ เพิ่มขึ้น 10.66 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (ตุลาคม – ธันวาคม 2566) ที่มีจำนวน 1,359 รายการ

“จากการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้สถิติการปิดกั้นมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวของปีงบประมาณก่อนหน้า พร้อมกันนี้กระทรวงดีอี ยังได้ติดตามตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายในการระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ภายหลังจากที่แจ้งคำสั่งศาลไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และแพลตฟอร์มทราบแล้วด้วย เพื่อให้การปิดกั้นเว็บไซต์เป็นไปตามคำสั่งศาล โดยหากกรณีที่ยังพบเว็บไซต์บางรายการที่ยังไม่ปิดกั้น / ระงับการเผยแพร่ ถือเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งหากพบการฝ่าฝืนดังกล่าว กระทรวงฯ จะนำผลการตรวจสอบการไม่ระงับ / ไม่ปิดกั้นเว็บไซต์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มด้วยระบบการจัดเก็บทางคอมพิวเตอร์ ไปทำการปรับพินัยฐานไม่ปิด ‘เว็บผิดกฎหมาย’ ต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว

‘อัครเดช’ หนุนตัดคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ออกจากกฎหมาย ชี้หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คงโดนชี้หน้าว่าทำร้ายประเทศไทย

เมื่อวันที่ (8 ม.ค. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ในส่วนของการตัดนิยามคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ออกจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า

คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองเป็นศัพท์ตามที่ได้มีการลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่มีความหมายว่าเป็นคนกลุ่มดั้งเดิม ก่อนที่จะมีกลุ่มใหม่เข้ามายึดครองพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มอินเดียแดงในทวีปอเมริกา

ด้วยความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่โบราณกาล ไม่มีการรุกล้ำดินแดนของใคร เราจึงไม่มีกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ตนขอย้ำว่าบนแผ่นดินนี้ เรามีเผ่าเดียว คือ เผ่าไทย

แต่กลุ่มที่พูดมาทั้งหมดที่มีความหลากหลาย คือ กลุ่มชาติพันธุ์ ที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ เราออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อคุ้มครองความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งรวมถึง สิทธิที่ดินทำกิน สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา และความเป็นคนไทยจะสามารถสำเร็จได้ด้วยกฎหมายฉบับนี้

นอกจากนี้ถ้อยคำดังกล่าวยังมีข้อห่วงใยหลายประการ ที่อาจจะเปิดช่องให้มีการใช้เป็นข้ออ้างในการแบ่งแยกดินแดนของประเทศแห่งนี้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่หากมันเกิดขึ้นในอนาคต คนรุ่นหลังคงชี้นิ้วมาที่รัฐสภาแห่งนี้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เปิดช่องให้มีการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศไทย 

วันนี้ขอให้มีการถอยโดยการตัดคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ออก ประเทศแห่งนี้จะได้รับความมั่นคง จะได้มีความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย บนแผ่นดินที่มีความหลายหลากทางชาติพันธุ์ ทางวัฒนธรรม ทางประเพณี 

ทั้งนี้ การออกกฎหมายโดยคงนิยามดังกล่าว จะยิ่งตอกย้ำความแตกต่างในประเทศไทย รัฐสภาแห่งนี้ควรจะเน้นการออกกฎหมายที่สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในประเทศ ไม่ใช่ตอกย้ำความแตกต่างมากยิ่งขึ้น

“ทุกชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เราล้วนแต่เป็นเผ่าไทย ตนยืนยันว่าตนเคารพทุกสิทธิ ทุกวัฒนธรรม แต่การออกกฎหมายโดยตัดคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองออกจะทำให้ประเทศได้รับความมั่นคงมากยิ่งขึ้น และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของหลากหลายชาติพันธุ์ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น” นายอัครเดช กล่าวในตอนท้าย

ชื่นชม ‘อิน - เอม ทองแตง’ เยาวชนดีเด่นประจำปี 68 สองพี่น้องหัวใจอนุรักษ์ ผู้ก่อตั้ง ‘Below the Tides’

ชื่นชม น้องอิน-น้องเอม อริณชย์ - อริสา ทองแตง สองเยาวชนคนเก่ง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์ ผู้ก่อตั้ง Below the Tides รับรางวัลเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2568

เมื่อวันที่ (8 ม.ค. 68) สองเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2568 นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์ ที่มีผลงานด้านสิ่งแวดล้อม และได้รับรางวัลมากมายทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ น้องอิน อริณชย์ ทองแตง อายุ 17 ปี น้องเอม อริสา ทองแตง อายุ 15 ปี จากโรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury ผู้ก่อตั้ง Below the Tides เข้ารับรางวัลพร้อมรับฟังโอวาทจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ มอบโอวาท เด็กและเยาวชนดีเด่น และนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ขอให้ทุกคนภาคภูมิใจ มีสติ และรู้คุณค่าในตัวเอง รัฐบาลพร้อมสนับสนุนด้านการศึกษา และอาชีพ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบโอวาทให้กับเด็กและเยาวชนดีเด่น , เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติที่มีผลงานโดดเด่น จำนวน 1,292 คน จากทั่วประเทศ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2568 โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมเด็ก และเยาวชน ทุกคนที่ได้รางวัลในสาขาต่าง ๆ ขอให้ทุกคนมีความภูมิใจในตัวเอง ถ้าทุกคนรวมกลุ่มกันคิดในเรื่องที่ดี ทำในเรื่องที่ดี จะเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติอย่างแน่นอน และอยากให้รู้ว่าทุกคนมีคุณค่ากับประเทศชาติ เมื่อโตขึ้นไปจะเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิด สิ่งที่ไม่ได้วางแผนไว้ ดังนั้น ขอให้ทุกคนมีความยืดหยุ่นในตัวเอง และพร้อมที่จะปรับตัวอยู่เสมอ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่วนตนเองที่มาอยู่ตรงนี้ก็ผ่านการเป็นเยาวชนมาแล้ว และเมื่อรู้คุณค่าของตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งที่สุด สวยที่สุด รวยที่สุด และอย่าลืมขอบคุณตัวเอง ซึ่งการที่ย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่ามีคุณค่า จะโตขึ้นไปด้วยใจที่แข็งแรง ไม่มีใครเข้ามาเปลี่ยนความคิดตรงนี้ได้ ทำให้รู้สึกด้อยค่า หรือไม่มีค่า จึงอยากให้ทุกคนมีต้นทุนตรงนี้ไว้ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง 

ขณะเดียวกัน สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีสติ เพราะเป็นกฎในการดำเนินชีวิตที่ถ้ามีสติก็จะเข้าใจปัญหานั้น และรับมือได้ดี ขอให้เติบโตขึ้นไปอย่างมีสติ รู้คุณค่าของตัวเอง และพร้อมที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป มั่นใจว่า ทุกคนเป็นความภาคภูมิใจให้กับครอบครัว ขอให้นำความภาคภูมิใจนี้ไปต่อยอดขึ้นไปอีกในชีวิต พร้อมย้ำว่า รัฐบาลจะสนับสนุนทุกคนในเรื่องของการศึกษา การประกอบอาชีพ หรือหางานทำใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนอย่างรอบด้าน และปีใหม่นี้ขอให้ประสบความสำเร็จ อะไรที่ตั้งใจไว้ก็ขอให้สำเร็จ ขอให้มีความภาคภูมิใจในตนเองในทุกวัน ขณะที่ เด็กและเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกรางวัลดีเด่นด้านกีฬา และนันทนาการ และด้านวิชาการ กล่าวว่า รู้สึกปลาบปลื้มดีใจ ภาคภูมิใจ ที่ได้รับรางวัล เพราะก่อนหน้านี้จะต้องพยายามฝึกฝนอย่างหนัก ลงแข่งในหลายสนาม เพื่อที่จะให้ผลการแข่งขันนั้นประสบผลสำเร็จ และอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่อยากเล่นกีฬา อยากทำความดี ให้มีความกล้า มีความพยายาม และทำให้เต็มที่

ขณะที่ผู้แทนเด็กและเยาวชน ได้มอบของขวัญที่ระลึกให้กับนายกรัฐมนตรี เช่น สร้อยคอลูกปัดโนรา ภาพวาด ภาพถ่าย การ์ดอวยพร ตุ๊กตาลาบูบู้ที่สวมชุดแบรนด์เนม พร้อมข้อความว่า “น้ำอุ่นรักนายก” ขนมและผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรี ได้เดินทักทายเด็กและเยาวชน และร่วมเซลฟี่ รวมถึงได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกที่บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นกันเอง

ทั้งนี้ น้องอิน-น้องเอม อริณชย์ - อริสา ทองแตง สองเยาวชนคนเก่ง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์ ผู้ก่อตั้ง Below the Tides กล่าวว่า มีความยินดีและภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้รับรางวัลเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2568 พร้อมยืนยันจะมุ่งมั่นเดินหน้าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการทำสาธารณประโยชน์ในมิติต่างๆ ต่อไป

รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ร่วมกิจกรรม 'รักษ์ทะเลไทย' ตามแนวพระดำริ 

เมื่อวันที่ (7 ม.ค.68) เวลา 08.00 น. มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จัดกิจกรรม 'รักษ์ทะเลไทย ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา'  เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 38 พรรษา ณ หาดเตยงาม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี 

ในการนี้ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ให้การสนับสนุนรถยนต์พยาบาล จำนวน 1 คัน พร้อมแพทย์ พยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ รวมถึงสนับสนุนออกหน่วยรับบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติฯ 

ทั้งนี้ น.อ.พัลลภ สุภากรณ์ รอง ผอ.รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พร้อมด้วย น.อ.หญิง สุชวี แสงรัตนกุล หน.กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ ให้การต้อนรับ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมหน่วยรับบริจาคโลหิต ในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย

จุฬาเปิดตัว 'ChulaGENIE' คู่แข่งแชทจีพีที ตั้งเป้าปีนี้เปิดให้คนทั่วไปใช้งาน

(9 ม.ค.68) ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมโดยร่วมมือกับ World Economic Forum (WEF) นำเสนอรายงาน The Future of Jobs 2025 เพื่อเสนอแนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะและอาชีพในช่วงปี 2568–2573  

นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ด้วยการร่วมมือกับ Google Cloud สร้างแพลตฟอร์มเจนเนอเรทีฟเอไอ (Generative AI) ภายใต้ชื่อ ChulaGENIE ที่มีความสามารถคล้ายกับ ChatGPT โดยมุ่งสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา  

ดร.วิเลิศ อธิบายว่า ChulaGENIE มีความพิเศษแตกต่างจากแพลตฟอร์ม AI อื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้ตอบคำถามเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้คำแนะนำเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ปัจจุบันการใช้งานยังจำกัดเฉพาะบุคลากรและนักศึกษาภายในจุฬาฯ แต่ในอีก 2–3 เดือนข้างหน้า มีแผนจะขยายกลุ่มผู้ใช้งานให้กว้างขึ้น โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการยืนยันตัวตนผู้ใช้เป็นหลัก  

ในระยะยาว มหาวิทยาลัยมีแผนขยายการใช้งาน ChulaGENIE สู่ประชาชนทั่วไป พร้อมวางเป้าหมายเปิดให้บริการในรูปแบบสาธารณะภายในปี 2568 โดยมุ่งเน้นการต่อยอดแพลตฟอร์มเพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืน  

“ประเทศไทยไม่ควรหยุดอยู่เพียงการใช้งาน AI แต่ควรก้าวสู่การเป็นเจ้าของและผู้พัฒนาเทคโนโลยีเอง เพื่อสร้างความยั่งยืนรอบด้านและรองรับเทรนด์โลกในอนาคต” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ เติมหลักสูตร Non-Degree จบได้ใน 6 เดือนรับตลาดแรงงานอนาคตโลก

(9 ม.ค. 68) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับ World Economic Forum เผยรายงาน Future of Jobs 2025 ชี้ให้เห็นว่าอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงานอย่างมหาศาล โดยอาชีพเก่าอาจหายไปถึง 92 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกัน อาชีพใหม่ที่อาศัยทักษะด้าน AI และ Big Data จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับตัว โดยการออกแบบหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะเหนือกว่า AI  

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจบริษัทกว่า 1,000 แห่ง ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคนใน 22 อุตสาหกรรม และ 55 ประเทศทั่วโลก โดยมีข้อมูลสำคัญดังนี้  ตำแหน่งงานใหม่ 170 ล้านตำแหน่ง จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม,  92 ล้านตำแหน่งงานจะหายไป เนื่องจากระบบอัตโนมัติและการปรับตัวของเศรษฐกิจ, การเติบโตสุทธิของการจ้างงานทั่วโลก จะอยู่ที่ 7% หรือประมาณ 78 ล้านตำแหน่ง  

อย่างไรก็ตาม งานบางส่วนที่ถูกดิสรัปไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง แต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นดิจิทัล โดยต้องการแรงงานที่มีทักษะรอบด้านและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ  

ปัจจัยสำคัญเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงานในปี 2573  รายงานยังชี้ถึง 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน ได้แก่:  
1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงาน  
2. สิ่งแวดล้อม การรับมือกับสภาพภูมิอากาศสร้างความต้องการแรงงานด้านพลังงานหมุนเวียน  
3. ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ  
4. การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร เช่น ประชากรสูงอายุในประเทศพัฒนาแล้ว  
5. ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศและข้อจำกัดทางการค้า  

ขณะที่ 10 ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลกภายในปี  2573 ประกอบด้วย

ทักษะด้าน AI และ Big Data
Analytical thinking ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
Creative thinking ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
Networks and cybersecurity ทักษะด้านเครือข่าย และความปลอดภัยทางข้อมูล
Leadership and social influence มีความเป็นผู้นำ และสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้
Resilience, flexibility and agility ปรับตัวไว ทำงานอย่างยืดหยุ่น และคล่องตัว
Empathy and active listening มีความเห็นอกเห็นใจ และมีทักษะในการรับฟัง
Motivation and self-awareness มีความเข้าใจตนเอง และมีแรงจูงใจในการทำงาน
Talent management ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร
Curiosity and lifelong learning มีความช่างสงสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต

ในปี 2573 ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก โดยในไทย ทักษะที่โดดเด่น คือ ทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ในขณะที่ระดับโลกเน้นทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี และทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์

กลยุทธ์สำคัญ 4 ประการสำหรับประเทศไทย

1. สร้างการเปลี่ยนแปลง แบบ Holistic Skill Change:ยกเครื่องการ upskill ของบุคลากรในมิติไม่ใช่ทักษะใดทักษะหนึ่งเท่านั้น
2. สร้างองค์กร ให้เป็น Future-Ready Organization: มีระบบการพัฒนาทักษะอนาคตของบุคลากร
3. Human Replacement: งานที่ซ้ำชากควรเลิกใช้คนและทดแทนด้วยระบบ Automation 
4. Enhancing Dynamic Work Role: มีการส่งเสริมให้ไม่ยึดติดกับบทบาทการทำงานในแบบเดิมๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งสู่การเป็น The University of AI โดยมีเป้าหมายในการสร้าง คนพันธุ์ใหม่ หรือ ‘Future Human’ ที่ไม่เพียงแค่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) แต่ยังต้องมีทักษะพิเศษอย่าง II (Instinctual Intelligence) หรือ ‘ปัญญาสัญชาตญาณ’ ที่สามารถสร้างสรรค์ความรู้ที่ไม่สามารถประดิษฐ์ขึ้นได้ การเป็น ‘คนพันธุ์ใหม่’ ไม่ใช่แค่การมีสมองที่เฉลียวฉลาด แต่ยังต้องมีหัวใจที่ดีงาม เพื่อใช้พลังของเทคโนโลยีในการสร้างคุณค่าทั้งต่อตนเองและสังคม”

ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการเรียนรู้และพัฒนา AI โดยให้ความสำคัญกับการ Reskill และ Upskill เพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับ "งานแห่งอนาคต" ซึ่งบุคลากรต้องมีทักษะที่หลากหลายและสามารถนำไปใช้ได้จริง

“สิ่งที่สามารถเอาชนะปัญญาประดิษฐ์ได้คือปัญญาสัญชาตญาณ ความเข้าใจโลก และการฝึกฝนจนชำนาญ” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าว

ดร.วิเลิศเน้นย้ำว่า มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนบทบาทจากการสอนปริญญา 2-4 ปี มาเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ใช้เวลาเพียง 6 เดือน และมุ่งเน้นสร้าง “skill incubator” เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยเน้นการสอนที่สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน

“มหาวิทยาลัยต้องสร้างบุคลากรที่ไม่เพียงแค่มีความรู้ แต่ต้องมีความฉลาดที่ไม่ล้าสมัย” ดร.วิเลิศ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.วิเลิศระบุว่า ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาที่เน้นปริญญาและใช้เวลา 2-4 ปีไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตอีกต่อไป มหาวิทยาลัยต้องจัดให้มีหลักสูตร Non-degree ที่เน้นการศึกษาระยะสั้น 6 เดือน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยการถ่ายทอดความรู้ผ่านเทคโนโลยี AI และเข้าใจศักยภาพของผู้เรียน การเปลี่ยนสถาบันให้เป็น “skill incubator” จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องมุ่งบ่มเพาะพรสวรรค์และพัฒนาทักษะแห่งอนาคตให้แก่บุคลากร เพื่อให้พวกเขาเข้าใจศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ มหาวิทยาลัยต้องเป็นสถาบันที่ไม่เพียงแต่สอนความรู้ แต่ต้องเน้นการพัฒนาความฉลาดที่สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างยั่งยืน

“วันนี้หากประเทศไทยต้องการคนที่มีทักษะใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากปริญญาตรี แต่อาจนำคนที่จบปริญญาตรีแล้วมาพัฒนาทักษะเพิ่มในเวลา 6 เดือน การศึกษาของมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องนำความรู้เหล่านั้นไปสู่สังคม ทั้งในหลักสูตร Degree และ Non-degree”

ดาราฮอลลีวูดหนีตายบ้านถูกเผาวอด งานประกาศผู้เข้าชิงออสการ์ถูกเลื่อน

(9 ม.ค.68) ดาราฮอลลีวูดหลายคนต้องอพยพหนีไฟป่าที่กำลังโหมไหม้รุนแรงรอบเมืองลอสแอนเจลิส ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่กว่า 12,000 เอเคอร์ในย่านแปซิฟิกพาลิเซดส์ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองชายหาดซานตาโมนิกากับมาลิบู ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าดาราและคนดังหลายคน

ตามรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ไฟป่าครั้งนี้ได้เผาผลาญบ้านของปารีส ฮิลตัน และทำให้เธอออกมาโพสต์ข้อความในอินสตาแกรมว่า “การที่ต้องมานั่งดูข่าวและเห็นบ้านของเราถูกไฟเผาในมาลิบู เป็นสิ่งที่ไม่มีใครควรต้องเจอ” พร้อมส่งกำลังใจให้กับทุกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าครั้งนี้

ไฟป่าครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อวงการบันเทิงในฮอลลีวูด โดยงานประกาศรางวัล Critics Choice Awards ที่จะมีขึ้นในสุดสัปดาห์นี้ถูกเลื่อนออกไป 2 สัปดาห์ และการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ก็ถูกเลื่อนออกไป 2 วันเช่นกัน

ไฟป่าครั้งนี้เกิดจากกระแสลมแรงและแห้ง รวมถึงถนนหนทางที่คับแคบ ทำให้การอพยพเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยมีรายงานว่า เจมี ลี เคอร์ติส นักแสดงรางวัลออสการ์ได้โพสต์ข้อความในอินสตาแกรมว่าเธอปลอดภัยดี แต่ชุมชนของเธออาจถูกไฟไหม้

แปซิฟิกพาลิเซดส์เป็นพื้นที่ที่มีราคาบ้านเฉลี่ยสูงถึง 4.5 ล้านดอลลาร์ และเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เกตตีวิลลา นอกจากนี้ยังมีไฟป่าในหลายจุดรอบเมือง ทำให้การถ่ายทำภาพยนตร์ในบางพื้นที่ถูกยกเลิก รวมถึงรายการโทรทัศน์หลายรายการที่ต้องหยุดถ่ายทำ

มาร์ก แฮมิลล์ นักแสดงจาก 'สตาร์วอร์' ได้โพสต์ว่าเหตุการณ์ไฟป่าครั้งนี้เป็น 'เลวร้ายที่สุด' นับตั้งแต่ปี 2536 และเขาได้อพยพออกจากบ้านในมาลิบูเมื่อเย็นวันอังคาร (7 ม.ค.) พร้อมกับภรรยาและสุนัข ขณะเดินทางบนทางหลวงเลียบชายฝั่งแปซิฟิก พบไฟไหม้เล็กน้อยทั้งสองข้างทาง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top