จุฬาฯ เติมหลักสูตร Non-Degree จบได้ใน 6 เดือนรับตลาดแรงงานอนาคตโลก
(9 ม.ค. 68) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับ World Economic Forum เผยรายงาน Future of Jobs 2025 ชี้ให้เห็นว่าอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงานอย่างมหาศาล โดยอาชีพเก่าอาจหายไปถึง 92 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกัน อาชีพใหม่ที่อาศัยทักษะด้าน AI และ Big Data จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับตัว โดยการออกแบบหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะเหนือกว่า AI
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจบริษัทกว่า 1,000 แห่ง ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคนใน 22 อุตสาหกรรม และ 55 ประเทศทั่วโลก โดยมีข้อมูลสำคัญดังนี้ ตำแหน่งงานใหม่ 170 ล้านตำแหน่ง จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, 92 ล้านตำแหน่งงานจะหายไป เนื่องจากระบบอัตโนมัติและการปรับตัวของเศรษฐกิจ, การเติบโตสุทธิของการจ้างงานทั่วโลก จะอยู่ที่ 7% หรือประมาณ 78 ล้านตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม งานบางส่วนที่ถูกดิสรัปไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง แต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นดิจิทัล โดยต้องการแรงงานที่มีทักษะรอบด้านและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจัยสำคัญเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงานในปี 2573 รายงานยังชี้ถึง 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน ได้แก่:
1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงาน
2. สิ่งแวดล้อม การรับมือกับสภาพภูมิอากาศสร้างความต้องการแรงงานด้านพลังงานหมุนเวียน
3. ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
4. การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร เช่น ประชากรสูงอายุในประเทศพัฒนาแล้ว
5. ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศและข้อจำกัดทางการค้า
ขณะที่ 10 ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลกภายในปี 2573 ประกอบด้วย
ทักษะด้าน AI และ Big Data
Analytical thinking ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
Creative thinking ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
Networks and cybersecurity ทักษะด้านเครือข่าย และความปลอดภัยทางข้อมูล
Leadership and social influence มีความเป็นผู้นำ และสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้
Resilience, flexibility and agility ปรับตัวไว ทำงานอย่างยืดหยุ่น และคล่องตัว
Empathy and active listening มีความเห็นอกเห็นใจ และมีทักษะในการรับฟัง
Motivation and self-awareness มีความเข้าใจตนเอง และมีแรงจูงใจในการทำงาน
Talent management ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร
Curiosity and lifelong learning มีความช่างสงสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
ในปี 2573 ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก โดยในไทย ทักษะที่โดดเด่น คือ ทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ในขณะที่ระดับโลกเน้นทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี และทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
กลยุทธ์สำคัญ 4 ประการสำหรับประเทศไทย
1. สร้างการเปลี่ยนแปลง แบบ Holistic Skill Change:ยกเครื่องการ upskill ของบุคลากรในมิติไม่ใช่ทักษะใดทักษะหนึ่งเท่านั้น
2. สร้างองค์กร ให้เป็น Future-Ready Organization: มีระบบการพัฒนาทักษะอนาคตของบุคลากร
3. Human Replacement: งานที่ซ้ำชากควรเลิกใช้คนและทดแทนด้วยระบบ Automation
4. Enhancing Dynamic Work Role: มีการส่งเสริมให้ไม่ยึดติดกับบทบาทการทำงานในแบบเดิมๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งสู่การเป็น The University of AI โดยมีเป้าหมายในการสร้าง คนพันธุ์ใหม่ หรือ ‘Future Human’ ที่ไม่เพียงแค่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) แต่ยังต้องมีทักษะพิเศษอย่าง II (Instinctual Intelligence) หรือ ‘ปัญญาสัญชาตญาณ’ ที่สามารถสร้างสรรค์ความรู้ที่ไม่สามารถประดิษฐ์ขึ้นได้ การเป็น ‘คนพันธุ์ใหม่’ ไม่ใช่แค่การมีสมองที่เฉลียวฉลาด แต่ยังต้องมีหัวใจที่ดีงาม เพื่อใช้พลังของเทคโนโลยีในการสร้างคุณค่าทั้งต่อตนเองและสังคม”
ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการเรียนรู้และพัฒนา AI โดยให้ความสำคัญกับการ Reskill และ Upskill เพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับ "งานแห่งอนาคต" ซึ่งบุคลากรต้องมีทักษะที่หลากหลายและสามารถนำไปใช้ได้จริง
“สิ่งที่สามารถเอาชนะปัญญาประดิษฐ์ได้คือปัญญาสัญชาตญาณ ความเข้าใจโลก และการฝึกฝนจนชำนาญ” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าว
ดร.วิเลิศเน้นย้ำว่า มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนบทบาทจากการสอนปริญญา 2-4 ปี มาเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ใช้เวลาเพียง 6 เดือน และมุ่งเน้นสร้าง “skill incubator” เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยเน้นการสอนที่สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน
“มหาวิทยาลัยต้องสร้างบุคลากรที่ไม่เพียงแค่มีความรู้ แต่ต้องมีความฉลาดที่ไม่ล้าสมัย” ดร.วิเลิศ กล่าวเพิ่มเติม
ดร.วิเลิศระบุว่า ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาที่เน้นปริญญาและใช้เวลา 2-4 ปีไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตอีกต่อไป มหาวิทยาลัยต้องจัดให้มีหลักสูตร Non-degree ที่เน้นการศึกษาระยะสั้น 6 เดือน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยการถ่ายทอดความรู้ผ่านเทคโนโลยี AI และเข้าใจศักยภาพของผู้เรียน การเปลี่ยนสถาบันให้เป็น “skill incubator” จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องมุ่งบ่มเพาะพรสวรรค์และพัฒนาทักษะแห่งอนาคตให้แก่บุคลากร เพื่อให้พวกเขาเข้าใจศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ มหาวิทยาลัยต้องเป็นสถาบันที่ไม่เพียงแต่สอนความรู้ แต่ต้องเน้นการพัฒนาความฉลาดที่สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างยั่งยืน
“วันนี้หากประเทศไทยต้องการคนที่มีทักษะใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากปริญญาตรี แต่อาจนำคนที่จบปริญญาตรีแล้วมาพัฒนาทักษะเพิ่มในเวลา 6 เดือน การศึกษาของมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องนำความรู้เหล่านั้นไปสู่สังคม ทั้งในหลักสูตร Degree และ Non-degree”