Thursday, 25 April 2024
กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ พายุฤดูร้อน หอบลูกเห็บพัดถล่มหลายพื้นที่ เร่งสำรวจช่วยเหลือ

เกิดพายุฤดูร้อนลมหมุนและลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ใน จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะบริเวณจัดงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาดในตัวจังหวัด ความแรงของพายุพัดเต้นท์ ร้านค้าได้รับความเสียหาย โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่หลายอำเภอเกิดฝนตกหนัก และลูกเห็บตก ด้านผู้ว่าฯกาฬสินธุ์สั่งให้ปภ.กาฬสินธุ์ และทุกอำเภอเร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือ

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 21 มีนาคม 2564  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดลมพายุฤดูร้อนพัดผ่านเข้ามาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งความแรงของพายุ นอกจากจะมีลมกระโชกแรงแล้ว ยังเกิดฝนตก และลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาด จ.กาฬสินธุ์ ประจำปี 2564 โดยแรงลมได้พัดเต้นท์ ร้านค้า โต๊ะ เก้าอี้ ล้มระเนระนาด โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต ส่วนสินค้า สิ่งของ ได้รับความเสียหายบางส่วน

สอบถามพ่อค้าซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่าก่อนเกิดเหตุมองเห็นท้องฟ้าสีแดง ก่อนที่จะมีลมหมุนพัดเข้ามา แต่ไม่มีฝนตก ซึ่งความแรงของลมพัดเอาเต้นท์ ร้านค้า โต๊ะ เก้าอี้ ที่อยู่ในงานพังเสียหาย ส่วนพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่กำลังเดินในงานก็พากันวิ่งหลบเข้าที่ปลอดภัย ซึ่งเกิดมาไม่เห็นลมหมุนที่พัดแรงขนาดนี้ 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในห้วงเวลาเดียวกัน นอกจากในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จะเกิดพายุลมพายุแรงแล้ว ยังมีรายงานว่าในพื้นที่หลายอำเภอ เช่น อ.กุฉินารายณ์  อ.ยางตลาด อ.เขาวง อ.กมลาไสย โดยเฉพาะที่อนุบาลโรงเรียนบ้านขมิ้น อ.สมเด็จ ซึ่งหลังคาอาคารเรียนถูกความแรงของพายุพัดและหอบหลังคาปลิวว่อน ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า อิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว โดยเกิดกระแสลมกระโชกแรง ฝนตก และลูกเห็บตกเป็นบริเวณกว้าง โดยที่ อ.เขาวง มีลูกเห็บตกและลมพัดแรง ทั้งนี้จากพายุดังกล่าวทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย ต้นไม้หักโค่น หลายครัวเรือนหลายอำเภอ

โดยล่าสุดนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กำชับให้นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมนายอำเภอทุกอำเภอที่เกิดพายุ ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสำรวจความเสียหาย พร้อมทั้งเข้าให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว


ภาพ/ข่าว : ณัฐพงษ์ ประชากูล กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - รำบวงสรวงฆ้องชัยใหญ่ศักดิ์สิทธิ์อธิษฐานขอความเป็นสิริมงคล

นางรำชาวอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์สวมชุดผ้าพื้นเมืองกว่า 1,500 ชีวิต จัดริ้วขบวนรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และฆ้องชัยมหามงคลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมบูชาหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย และเหรียญเสมารุ่นฉลองครบรอบการก่อตั้งอำเภอ 24 ปี เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมอธิษฐานขอความร่มเย็นเป็นสุขก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ไม่ประสบปัญหาพายุฤดูร้อน และขอให้ประเทศไทยผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19

ที่บริเวณลานฆ้องชัยมหามงคล หน้าที่ว่าการอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ พระครูโอภาสชยานุกูล เจ้าคณะอำเภอฆ้องชัย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายศิวัชฐ์ ระวังกุล นายอำเภอฆ้องชัย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ลานฆ้องชัยมหามงคล โดยมีพระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าวังน้ำเย็น จ.มหาสารคาม พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ข้าราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชน ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก และมีมาตรการคัดกรองและป้องกันโควิด-19 ผู้เข้าร่วมงาน

ทั้งนี้หลังประกอบพิธีบวงสรวง หน้าฆ้องชัยมหามงคล พระเกจิสมณศักดิ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ สวดชยันโตและปะพรมน้ำมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่สถานที่ และผู้เข้าร่วมพิธีแล้ว จากนั้นเหล่านางรำ ซึ่งแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าพื้นเมืองจำนวนกว่า 1,500 ชีวิต จัดริ้วขบวนรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างสวยงาม และพร้อมเพียงกัน

นายศิวัชฐ์ ระวังกุล นายอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในโอกาสปี 2564 เป็นปีครบรอบ 24 ปีการก่อตั้งอำเภอฆ้องชัย  เพื่อร่วมกันสร้างสัญลักษณ์ในโอกาสครบรอบ 24 ปีดังกล่าว คณะสงฆ์รวมทั้งข้าราชการ ผู้นำชุมชน พ่อค้า ประชาชน จึงมีมติร่วมกันจัดสร้างหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัยองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตัก 9 เมตร สูง 21 เมตร เพื่อเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานบริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภอ โดยกำหนดประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อบอกกล่าวพระภูมิเจ้าที่ รุกขเทวดาทั้งหลาย เพื่อความเป็นสิริมงคลสำหรับการจัดสร้างหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมพิธี ต่างน้อมจิตอธิษฐานขอความร่มเย็นเป็นสุขก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ไม่ให้ประสบปัญหาพายุฤดูร้อน และขอให้ประเทศไทยผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ไปให้ได้

นายศิวัชฐ์ กล่าวอีกว่า ในการจัดสร้างพระพุทธรูปหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัยดังกล่าว เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไป ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาได้มีส่วนร่วม จึงได้มีประชาสัมพันธ์เชิญชวน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการจัดสร้าง โดยสั่งจองหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย ขนาดบูชา 3 ขนาด คือ พระบูชา ขนาด 9 นิ้ว, พระบูชา ขนาด 5 นิ้ว และเหรียญบูชาเหรียญเสมา "รุ่นฉลองครบรอบการก่อตั้งอำเภอ 24 ปี” เนื้อทองเหลือง พร้อมเลี่ยมกรอบและสร้อยไมคอน ทั้งนี้ เพื่อนำรายได้ ดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูปหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย และพัฒนาลานฆ้องชัย ซึ่งมีฆ้องชัยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตรเป็นสัญลักษณ์ ให้เป็นสถานที่แหล่งท่องเที่ยวประจำ อ.ฆ้องชัย ที่จะสามารถดึงดูดความสนใจทั้งจากนักท่องเที่ยวทั่วไป ได้แวะเวียนมาเยี่ยมชมกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนชาวฆ้องชัยได้อย่างยั่งยืน

นายศิวัชฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย กำหนดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 พิธีเททองหล่อและพิธีวางศิลาฤกษ์พระพุทธรูปหลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย พร้อมรับวัตถุมงคลวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 24 ปีก่อตั้งเป็นอำเภอ ทั้งนี้ ผู้มีจิตศรัทธาสนใจร่วมทำบุญ และสั่งจองพระพุทธรูปและเหรนียญบูชา สามารถติดต่อได้ที่ที่ทำการปกครอง อ.ฆ้องชัย 0631870804  ธ.ก.ส.สาขาฆ้องชัย หรือโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนสร้างพระองค์ใหญ่ หลวงปู่เทพศากยมุนีศรีฆ้องชัย และพัฒนาลานฆ้องชัย เลขที่บัญชี 020144546976

ทั้งนี้ ประวัติความเป็นมาของอำเภอฆ้องชัย จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ เมื่อประมาณ 285 ปีมาแล้ว ในวันธรรมสวนะช่วงใกล้สว่างประมาณ ตี 3 หรือ ตี 4 จะมีเสียงฆ้องใหญ่ดังกังวานขึ้นมาจากหนองน้ำกุดฆ้องบึงขยอง แหล่งน้ำสาธารณะประจำ ต.ฆ้องชัยพัฒนา ซึ่งเสียงดังกล่าวคล้ายกับเสียงพระตีฆ้องตีกลอง หรือภาษาอีสานเรียกว่า “ตีกลองดึก” เพื่อเป็นสิริมงคลในการตั้งชื่อกิ่งอำเภอ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2540 จึงได้นำเอานาม “ฆ้องชัย” จากชื่อ ต.ฆ้องชัยพัฒนา มาตั้งเป็นชื่อกิ่งอำเภอฆ้องชัย ก่อนที่จะยกฐานะเป็นอำเภอฆ้องชัยในปี 2550


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – โครงการส่งน้ำ หาดดอกเกดเขื่อนลำปาว พร้อมรับนักท่องเที่ยวสงกรานต์เข้มมาตรการโควิด

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาวกาฬสินธุ์ ระดมทุกภาคส่วนวางมาตรการความปลอดภัย เตรียมรับนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 เมษายน 2564 ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายฤาชัย จำปานิล ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค หัวสำนักงาน ปภ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กรมเจ้าท่า หน่วยกู้ภัยเมตตาธรรมกาฬสินธุ์ ผู้นำชุมชน คณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จ.กาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชุมเพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่จะเดินทางมาเที่ยวยังหาดดอกเกด จุดผันน้ำเขื่อนลำปาว และบริเวณแหลมโนนวิเศษ สะพานเทพสุดา ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์

จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม และร่วมกันวางมาตรการในการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ที่บริเวณหาดดอกเกดเขื่อนลำปาว และวางมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตลอดจนกำชับมาตรการป้องกันการเอารัดเอาเปรียบในการจำหน่ายสินค้าและอาหารให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม

นายฤาชัย จำปานิล ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์  กล่าวว่า สำหรับจุดผันน้ำ หาดดอกเกดเขื่อนลำปาว และบริเวณสะพานเทพสุดา อ.สหัสขันธ์ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่นของ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะหาดดอกเกด ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทะเลอีสาน ซึ่งช่วงเทศกาลมักจะมีประชาชน และนักท่องเที่ยวพาครอบครัวเดินทางมาสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ เล่นน้ำเขื่อนลำปาวคลายร้อนจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวและประชาชนเดินทางมาเที่ยวที่หาดดอกเกดและจุดผันน้ำจำนวนมาก หลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2563 ที่ผ่านมา สถานที่ท่องเที่ยวทั้ง 2 แห่ง ได้ปิดบริการ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนั้นได้แพร่ระบาดในหลายพื้นที่ ซึ่งในปีนี้เบื้องต้นได้เตรียมความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ก็ต้องมีการวางมาตรการป้องกันเรื่องต่าง ๆ ไว้อย่างเข้มงวด

นายฤาชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ ทั้งการจัดระเบียบจราจรป้องกันอุบัติเหตุ การป้องกันอันตรายผู้เล่นน้ำ กำชับให้พ่อค้าแม่ค้าติดป้ายแสดงราคาอาหาร และขอความร่วมมือจำหน่ายในราคาเป็นธรรมไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และยังมีการเพิ่มมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะต้องมีการตั้งจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก และเจลล้างมือ พร้อมทั้งจะมีเจ้าหน้าที่คอยกำชับให้นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล

กาฬสินธุ์ – สั่งปิดสถานบันเทิง พบหัวหน้าการ์ดผับดังปทุมธานี กลับบ้านติดโควิดเพิ่ม

ประชาชนชาวกาฬสินธุ์กลุ่มเสี่ยงนับพันคน แห่เข้าตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 หลังพบเป็นกลุ่มเสี่ยงสัมผัสช่างแต่งหน้าติดเชื้อโควิด-19 ร่วมงานวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์รวมคน 4 ภาค เที่ยวตะวันแดง เดินซื้อของตลาดสด และกลุ่มเสี่ยงร่วมคอนเสิร์ตซองดูฮี พบนักดนตรีติดเชื้อโควิด-19 ในผับดังตากอากาศ ขณะที่ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์เรียกประชุมด่วนติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด หลังพบชายวัย 33 ปี หัวหน้าการ์ด Brothere pub จ.ปทุมธานี เดินทางกลับบ้านอำเภอยางตลาดติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย พร้อมประกาศสั่งปิดสถานบันเทิง 14 วัน และคุมเข้มงานรวมคนจำนวนมาก 

เมื่อเวลา 07.30 น.วันที่ 13 เมษายน 2564 ที่บริเวณศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานเชิงรุกในการตรวจเชื้อผู้สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นชายอาชีพช่างแต่งหน้าวัย 26 ปี มาจาก จ.นครราชสีมา แล้วมาร่วมงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย “เบิกฟ้าบัณฑิตพัฒนศิลป์ สู่แผ่นดินถิ่นอีสาน” ในระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2564 ซึ่งวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์เป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งไทม์ไลน์พบไปเที่ยวผับตะวันแดงกาฬสินธุ์ เดินซื้อของตลาดสดทุ่งนาทอง โดยได้สัมผัสกับประชาชนคนกาฬสินธุ์ส่วนหนึ่งที่ตลาดสดทุ่งนาทอง สถานบันเทิงตะวันแดง และวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์

โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ มารอการตรวจหาเชื้อตั้งแต่เช้า ซึ่งมีทีม แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ที่ทำการปกครอง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ร่วมปฏิบัติภารกิจ คาดว่ากรณีดังกล่าวจะมีผู้มาตรวจตลอดทั้งวันประมาณ 600 คน

ส่วนกรณีงานคอนเสิร์ตซองดูฮี ของผับตากอากาศ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ ที่พบนักดนตรีชาว จ.ขอนแก่น มาร่วมงานแล้วกลับไปตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 นั้น จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่ามีกลุ่มเสี่ยงที่เข้าร่วมคอนเสิร์ตครั้งนี้กระจายใน 8 อำเภอ ประกอบด้วย อ.นามน อ.สมเด็จ อ.ห้วยผึ้ง อ.เขาวง อ.ร่องคำ อ.ฆ้องชัย อ.หนองกุงศรี และ อ.กมลาไสย เบื้องต้นคาดว่ามีจำนวนกว่า 400 คน โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจคัดกรองเชิงรุกพบมีกลุ่มเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วย ซึ่งพบมีอาการไข้ และน้ำมูกเข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรคจำนวน 20 ราย กลุ่มเสี่ยงสูง 34 ราย กลุ่มเสี่ยงต่ำ 82 ราย ซึ่งทั้งหมดยังรอผลตรวจ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการติดตามและตรวจสอบ

จากนั้นเวลา 11.00 น.วันที่ 13 เมษายน 2564 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและวางมาตรการป้องกัน โดยมีนายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะเป็นเลขานุการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์  กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19)  ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงล่าสุดวันที่ 13 เมษายน 2564 พบผู้ติดเชื้อรวม 3 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นหญิงวัย 35 ปี ได้เข้ารักษาตัวหายดีกลับบ้านแล้ว ส่วนผู้ติดเชื้อช่วงเดือนเมษายน 2564 หรือการระบาดระลอก 3 จ.กาฬสินธุ์ มีผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย โดยคนแรกเป็นหญิง อายุ 28 ปี อาศัยอยู่ ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย ผลตรวจยืนยันเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 และผู้ป่วยรายที่ 2 ซึ่งเป็นรายล่าสุด เป็นชายอายุ 33 ปี ทำงานเป็นหัวหน้าการ์ดในสถานบันเทิง Brothere pub จ.ปทุมธานี ได้เดินทางกลับบ้านใน ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งยืนยันผลตรวจ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564  จากโรงพยาบาลการุญเวช จ.ปทุมธานีพบติดเชื้อ โดยทั้ง 2 ราย ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นอกจากนี้ยังมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากผู้ป่วยทั้ง 2 ราย และกลุ่มเสี่ยงสูงกลุ่มอื่นๆเบื้องต้น 3 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการรอผลยืนยัน

นายทรงพล กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อวันนี้ จึงได้มีคำสั่ง จ.กาฬสินธุ์ ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19  ได้แก่ สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการ อาบ อบ นวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เป็นเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 13 -26 เมษายน 2564 หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และกำชับแต่ละอำเภอเข้มงวดในการจัดงานรวมคนจำนวนมาก พร้อมทั้งขอให้ประชาชนใน จ.กาฬสินธุ์ ร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT โดยการเว้นระยะห่าง ใส่แมส ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ ร่วมมือใช้แอปฯไทยชนะ พร้อมกับหลีกเลี่ยงแหล่งชุมชนแออัด เพื่อปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล

กาฬสินธุ์ – ร่วมสืบสานประเพณีเทศกาลสงกรานต์และวันครอบครัว เลี้ยงวิญญาณบรรพบุรุษวิถีภูไท

ชาวภูไทอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมสืบสานประเพณี “เหยา” เลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์ อดีตเจ้าเมืองและวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างความรัก ความสามัคคี ในเทศกาลสงกรานต์และวันครอบครัว มีการละเล่นสาดน้ำเฉพาะกลุ่มของคณะหมอเหยาเพื่อพยากรณ์ฝนฟ้า ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่น โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข อสม.ตั้งจุดคัดกรอง ป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 ที่บริเวณหอทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) เชิงสะพานลำพะยัง ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ นายคงคา ชื่นจิต นายอำเภอเขาวง เป็นประธานพิธีเลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์พระธิเบศร์วงศา (ด้วง) อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์คนที่ 2 และพระธิเบศร์วงศา (กินรี) อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์คนที่ 3 โดยมีนายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 นายนพรัตน์ สายสมบัติ พัฒนาการอำเภอเขาวง นายปุณณรัตน์ วรรณวงศ์ ครูโรงเรียนกุดกว้างสวาสดิ์วิทยา พร้อมด้วยผู้นำชุมชน กลุ่มสตรี เยาวชน แต่งกายด้วยชุดภูไท ซึ่งเป็นชุดแต่งกายพื้นเมือง ตั้งขบวนฟ้อนรำบวงสรวง ด้วยลีลาอ่อนช้อยสวยงาม สื่อถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ภูไท

นายคงคา ชื่นจิต นายอำเภอเขาวง  กล่าวว่า พิธีเลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์พระธิเบศร์วงศา (ด้วง) อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์คนที่ 2 และพระธิเบศร์วงศา (กินรี) อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์คนที่ 3 ดังกล่าว เพื่อน้อมรำลึกและแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ที่ได้ปฏิบัติเป็นประจำทุกปีในเทศกาลสงกรานต์ ที่เริ่มจากวันที่ 13 เม.ย.วันสงกรานต์ วันที่ 14 เม.ย.วันครอบครัว และวันที่ 15 เม.ย.วันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย นอกจากนี้ยังมีการสาธิตพิธี “เหยา” หรือการรักษาคนป่วยตามความเชื่อของชาวผู้ไท ที่สืบทอดจากมายาวนานหลายชั่วอายุ เพื่อให้ลูกหลาน เยาวชน ที่กลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ ได้ร่วมสืบสาน แสดงความกตัญญูกตเวที เสริมสร้างความรัก ความอบอุ่น ในครอบครัวและในชุมชน โดยทุกคนที่ร่วมพิธีปฏิบัติตนตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อ ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัย ตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 

ด้านนายปุณณรัตน์ วรรณวงศ์ ครูโรงเรียนกุดกว้างสวาสดิ์วิทยา อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พิธีเหยาเป็นประเพณีที่เกิดจากความเชื่อของชาวภูไท ซึ่งเป็นพิธีสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วย ที่ชาวภูไทอนุรักษ์และสืบสานมาอย่างเหนียวแน่น โดยหมอเหยาหรือผู้นำในการประกอบพิธีมีทั้งชายและหญิง หากเป็นชายจะเรียกว่าพ่อเมือง หรือหากเป็นหญิงเรียกว่าแม่เมือง ซึ่งพิธีบวงสรวงและเลี้ยงทะหลาในเทศกาลสงกรานต์หรือในวันครอบครัวนี้ มีการจัดเตรียมเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้ พานบายศรี ข้าวสาร  ไข่ไก่ ข้าวต้มมัด กล้วยสุก เหล้าขาว ยาสูบ พร้อมด้วยคณะหมอเหยา ทำการร่ายรำตามจังหวะดนตรีพื้นเมือง เป็นการบำรุงขวัญกำลังใจให้คนป่วยไข้หายเป็นปกติ ถือเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องของภูตผี วิญญาณ บรรพบุรุษ ยึดมั่นในความกตัญญู ที่สืบสานกันมาแบบรุ่นต่อรุ่นอย่างไม่เสื่อมคลาย

ทั้งนี้ พิธีเหยาเกิดจากเคยมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวมาก่อน รักษาตามกรรมวิธีทางการแพทย์ไม่หาย  จึงหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งชุมชนชาวผู้ไทเชื่อว่าสถิตอยู่ ณ หอทะหลา หรือมเหศักดิ์หลักเมือง ชาวผู้ไทแต่ละเผ่าจะมีกรรมวิธีเหยาที่คล้ายคลึงกัน แต่มีจุดหมายเดียวกันคือบอกกล่าว ขอขมา และร่ายรำช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย พิธีเหยาจึงเป็นการติดต่อสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังเป็นการทำนายหรือดูลางบอกเหตุในบางกรณีได้ เช่น  พยากรณ์อากาศ  ทำนายโชคชะตา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการประกอบพิธีเลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์พระธิเบศร์วงศา พร้อมร่วมพิธีเหลา เพื่อแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณบรรพบุรุษ สืบสานวัฒนธรรมประเพณี และปลูกจิตสำนึกลูกหลาน ที่มาเยี่ยมบ้านและก่อนเดินทางกลับไปทำงานหลังสงกรานต์ ได้รักบ้านเกิด ได้ร่วมกันขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสริมสิริมงคลในเทศกาลสงกรานต์ด้วยความสุข และเดินทางปลอดภัย ทั้งนี้ หลังสาธิตพิธีเหยาในวันครอบครัว ยังมีการทำนายฝนฟ้า โดยแม่เมืองเป็นผู้นำคณะหมอเหยา ร่ายรำรอบโอ่งบรรจุน้ำหน้าปะรำพิธี และร่วมเล่นสาดน้ำคลายร้อนอย่างชุ่มฉ่ำ ซึ่งพยากรณ์ว่าฝนฟ้าปีนี้จะดี มีฝนตกต้องตามฤดูกาล


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – ปลูกแล้วกัญชาต้นแรก ถูกกฎหมาย ขอขอบคุณพรรคภูมิใจไทย ผลักดันสร้างโอกาสและรายได้ให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 ที่วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่  อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานปลูกกัญชาถูกกฎหมายต้นแรก ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ มีนายพงศกร กรโสภา ผอ.รพ.สต.บ้านหนองแวงใต้, นางทศพร กรโสภา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.หนองแวงใต้, น.ส.สุภาพร คำยุธา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ พร้อมด้วยนายนิมิตร รอดภัย นายสถาพร ฉายประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และนายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม นายกสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ และหัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนบน ร่วมเป็นสักขีพยาน

การปลูกกัญชาต้นแรกนี้ วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจาก องค์การอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ส่งเมล็ดกัญชาให้กลุ่มทำการเพาะปลูก ที่ผ่านมาได้มีการอนุบาลเมล็ดพันธุ์จนเติบโตและมีความแข็งแรง จนสามารถนำไปปลูกภายในโรงเรือนตามมาตรการคุมเข้มของทาง อย. โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ และ รพ.สต.บ้านหนองแวงใต้ กำกับดูแล

นายนิมิตร รอดภัย ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ ตำแหน่งนักวิชาการของวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่าการปลูกกัญชาให้มีคุณภาพตรงตามคุณภาพมาตรฐานของ อย. นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นการปลูกภายในโรงเรือนระบบปิด การปลูกจึงต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็นการนำเมล็ดที่ได้รับมาจากทาง อย. มาเพาะจนมั่นใจว่าสามารถนำลงดินปลูก

“ในการปลูกนั้นเป็นลักษณะโรงเรือน เพื่อป้องกันศัตรูพืช มีการกางมุ้งและรดน้ำตามระยะเวลา ที่คาดว่าต้นกัญชาจะเติบโตได้นั้นจะมีระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน เพื่อให้มั่นใจในมาตรฐานก็ยังมีการจัดเวรยามดูแล ผ่านระบบน้ำ และกล้องวงจรปิดเพื่อป้องกันบุคคลภายนอกด้วย”

นายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การปลูกกัญชาเท่าที่ดูจากวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ มองดูแล้วไม่ง่าย การเพาะปลูกต้องมีความเชี่ยวชาญ เพราะสิ่งสำคัญเมื่อต้นโตแล้วก็ยังต้องมาดูว่าเป็นต้นตัวผู้หรือตัวเมีย จะมีช่อดอกหรือไม่ ซึ่งหากเกษตรกรสนใจก็ต้องศึกษาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน และควรจะไปปรึกษาหาความรู้จากทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งทางจังหวัดก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ และให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นกัน

ด้าน น.ส.สุภาพร คำยุธา ประธานวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า การได้ปลูกกัญชาถูกต้องตามกฎหมาย ต้องขอบคุณพรรคภูมิใจไทย ที่ได้ผลักดันให้สามารถปลูกกัญชาได้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่เป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพราะกัญชาถือว่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีมูลค่าในตัวและทางวิสาหกิจชุมชนฯ ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายในทุกขั้นตอน และในอนาคตในส่วนของ ลำต้น ใบ และราก เมื่อต้นกัญชาพร้อมที่จะตัดจำหน่าย ในส่วนผู้ที่สนใจจะนำไปแปรรูปต่อนั้น ก็สามารถติดต่อมาได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – ชาวนาสุดช้ำ โควิด-19 ชีวิตลำบาก ราคาข้าวนาปรังตกต่ำวอนรัฐช่วย

ชาวนาในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์สุดช้ำ ระบุทุกวันนี้ใช้ชีวิตด้วยความลำบาก เนื่องจากระมัดระวัง การได้รับเชื้อโควิด-19 หนำซ้ำนำข้าวเปลือกนาปรังไปขาย หวังนำเงินได้ไปใช้หนี้ ธกส. จ่ายค่าปุ๋ย และทำบุญช่วงเทศกาลสงกรานต์ กลับได้ราคาต่ำ ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก วอนรัฐบาลช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง ของชาวนาในพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว เขต ต.นาเชือก และ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเริ่มเก็บเกี่ยวกันแล้ว  รวมทั้งสภาพความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตของประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการคุมเข้มความปลอดภัยอย่างเข้มข้น ตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อ เนื่องจากพบว่ามีการแพร่ระบาดในวงกว้างในช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

นายปี วรรณศรี อายุ 69 ปี ชาวนาบ้านนาเชือก ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ของตนและชาวนาปีนี้ มีความหวังที่จะนำรายได้จากการขายข้าว มาใช้หนี้ ธกส. ชำระค่าปุ๋ยเคมี ทำบุญในเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กลับต้องรู้สึกท้อแท้ แทบสิ้นหวัง เนื่องจากราคารับซื้อข้าวยังตกต่ำ ซึ่งเป็นการตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ขายข้าวนาปีเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยแหล่งรับซื้อให้ราคาเพียง ก.ก.ละ 7.40.-7.50 บาทเท่านั้น ทำให้ชาวนาประสบปัญหาขายข้าวขาดทุนซ้ำซาก

นายปี กล่าวอีกว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ แทนที่ตนและชาวนารวมทั้งประชาชนทั่วไปจะดีใจ ได้ทำบุญและท่องเที่ยวสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทยอย่างมีความสุข กลับต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและเต็มไปด้วยความลำบาก เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่าเคร่งครัด ซึ่งก็พอที่จะปรับตัวได้ เพื่อตนและคนในครอบครัว รวมทั้งทุกคนในชุมชนจะมีความปลอดภัย ไม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ที่ทำใจไม่ได้คือราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปรังที่ยังตกต่ำ ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนดังกล่าว

นายปี กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นทุนการผลิตของชาวนาในปัจจุบันยังสูงมาก ทั้งค่ารถไถ ค่าแรง ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าน้ำมันสูบน้ำ ถึงขั้นตอนเก็บเกี่ยวก็ยังมีค่ารถเกี่ยว ค่าขนส่ง รวมแล้วต้นทุนการผลิตข้าวสูงกว่าไร่ละกว่า 2,000 บาท ขณะที่ผลผลิตข้าวได้ไม่เกินไร่ละ 3,500 ก.ก. ขายข้าวเปลือก ก.ก.ละ 7.40-7.50 บาท ได้เงินประมาณ 2,500-2,600 บาทเท่านั้น ก็แทบจะไม่เหลืออะไร จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือชาวนา โดยปรับราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงขึ้น หรือให้ดีที่สุดคือมีโครงการประกันราคาข้าวเปลือก รวมทั้งช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวด้วย เพราะขณะนี้ชาวนาเดือดร้อนมาก

กาฬสินธุ์ - ช็อคคลัสเตอร์ผับตากอากาศนศ.ติดโควิดเพิ่ม 1 ราย ไม่รอผลไทม์ไลน์ทั่วเมือง

จังหวัดกาฬสินธุ์พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย เป็นนักศึกษาสาววิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์วัย 18 ปี ชาวตำบลกลางหมื่น อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พบเป็นคลัสเตอร์คอนเสิร์ต “ซองดูฮี” สถานบันเทิงตากอากาศ และเข้าตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงแต่ไม่รอผลและไม่กักตัว ตรวจสอบไทม์ไลน์พื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยงซื้อของทั่วเมือง ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อของจังหวัดกาฬสินธุ์รวม 16 ราย พร้อมออกประกาศคุมเข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 17 เมษายน 2564 นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามสถานการณ์และปรับแผนวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย เป็นคลัสเตอร์จากคอนเสิร์ต “ซองดูฮี”สถานบันเทิงตากอากาศ ทำให้ จ.กาฬสินธุ์ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 16 ราย โดยรายล่าสุดนั้นอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเที่ยวสถานบันเทิงและได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อ แต่ระหว่างรอผลการตรวจกลับพบว่าไม่ได้กักตัวเอง และได้เดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในตัวเมืองกาฬสินธุ์หลายแห่ง

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย เป็นรายที่ 16 ล่าสุดนั้น เป็นนักศึกษาหญิงของวิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์ อายุ 18 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ใน ต.กลางหมื่น อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์  ประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อจากคอนเสิร์ตซองดูฮีสถานบันเทิงตากอากาศ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เริ่มมีอาการป่วย 13 เมษายน 2564 ด้วยอาการไอ ปวดศีรษะ หายใจเหนื่อย

นายทรงพล กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีผู้ป่วยรายที่ 16 หรือประชาชนทั่วไปที่รู้ตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและเข้ารับการตรวจคัดกรอง ซึ่งระหว่างการรอผลตรวจนั้น อยากฝากเตือนจะต้องปฏิบัติตัวรับผิดชอบต่อสังคมด้วย โดยการกักตัว สังเกตอาการตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ไม่ออกไปในสถานที่ต่างๆหรือพบปะผู้คนจำนวนมาก ที่จะทำให้บุคคลอื่นเสี่ยงติดเชื้อไปด้วย ซึ่งต่อไปหากพบว่ามีกรณีบุคคลอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงและเข้าตรวจเชื้อแล้ว อยู่ระหว่างการรอผลตรวจ แต่ไม่ยอมกักตัวเอง และยังเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆอีกทางเจ้าหน้าที่อาจจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตามจากการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าสาธารณสุข พบไทม์ไลน์ผู้ป่วยรายที่ 16 นักศึกษาอายุ 18 ปี โดยมีพื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยงดังนี้ วันที่ 10 เมษายน 2564 ช่วงเวลา 14.00-14.15 น.ตลาดสดเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ (หน้าสภ.เมืองกาฬสินธุ์) ช่วงเวลา 23.00-24.00 น.ร้านตากอากาศ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์, วันที่ 12 เมษายน 2564 ช่วงเวลา 11.40-11.50 น.ร้านนุชไก่สด ตลาดเกษตร อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ช่วงเวลา 12.00-12.05 น.ร้านอี้เหวินชาปั่น ตลาดเกษตร ช่วงเวลา 12.34-12.50 ร้าน KFC สาขากาฬสินธุ์พลาซ่า ช่วงเวลา 13.30-13.40 น.ร้านก๋วยเตี๋ยวแก่งนาขาม ต.นาจารย์ อ.เมืองกาฬสินธุ์, วันที่ 14 เมษายน 2564 ช่วงเวลา 16.10-16.20 น.ร้านห้องเย็นโอเล่ ต.โพนทอง อ.เมืองกาฬสินธุ์, วันที่ 15 เมษายน 2564 ช่วงเวลา 13.00-13.30 น.ร้านโกเหลียงก๋วยเตี๋ยว (วงเวียนน้ำพุ) อ.เมืองกาฬสินธุ์

ซึ่งหากประชาชนท่านใดมีประวัติเดินทางเข้าไปในพื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยงตามที่ได้แจ้งนี้ ให้รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านและแจ้งประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยง หรือติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 043-019760 ต่อ 107 (กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์)

นายทรงพล กล่าวอีกว่า ล่าสุด จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 24 การห้ามดำเนินการหรือจัดกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค เช่น การปิดสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 เป็นต้นไป โดยให้ยกเลิกคำสั่งฉบับที่ 23 ที่เดิมกำหนด ไว้ 13-26 เมษายน นอกจากนี้ ยังห้าม การใช้อาคาร หรือสถานที่ของโรงเรียน และสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก งานประชุม งานสัมมนา ที่มีจำนวนประชาชนเข้าร่วมงานเกินกว่า 50 คน ขอให้เลื่อนไปก่อนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ งานบวช งานแต่ง ทำได้ตามประเพณีแต่ต้องไม่มีการจัดแสดงกิจกรรมหรือมหรสพ ส่วนการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม สามารถทำได้จนถึงเวลา 23.00 น โดยงดจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการห้ามบริโภคในร้าน


ภาพ/ข่าว ณับพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - “อ.ยักษ์ แม่โจ้” ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาระดับประเทศ เยี่ยมและแนะนำวิธีปลูกกัญชาแก่วิสาหกิจชุมชนฯ ผู้ปลูกกัญชาถูกกฎหมาย

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 ที่วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ จ.กาฬสินธุ์ ดร.อานนท์ สุทน ผอ.ศูนย์สาธิตแม่โจ้เกษตรศิลป์ จังหวัดกำแพงเพชร, นางพรรณี ดวงจันทร์ทิพย์ เจ้าพนักงานส่งเสริมสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมอาคารปลูกกัญชาถูกกฎหมายของวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ โดย มี น.ส.สุภาพร คำยุธา ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ นายนิมิตร รอดภัย ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนฯ และนักวิชาการ ของวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่พร้อมสมาชิก ให้การต้อนรับ

ดร.อานนท์ สุทน ผอ.ศูนย์สาธิตแม่โจ้เกษตรศิลป์ จ.กำแพงเพชร ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกกัญชาระดับประเทศได้ให้คำแนะนำ และแลกเปลี่ยนแนวทางการปลูกกัญชากับ นายนิมิตร รอดภัย ที่ปรึกษา-นักวิชาการของวิสาหกิจชุมชนฯ ที่จำเป็นต้องมีการเตรียมดินพร้อมกับการดูแลต้นและบำรุงรากให้มีความแข็งแรง ก่อนที่ลำต้นจะเติบโตมากขึ้น

ดร.อานนท์ กล่าวว่า ต้นกัญชาที่ปลูกแห่งนี้เป็นพันธุ์หางกระรอก ซึ่งตามแผนงานการปลูกจะมีอายุประมาณ 3 เดือนที่ต้องพร้อมต่อการเก็บเกี่ยว ดังนั้นในการดูแลรวมไปถึงการให้ปุ๋ย จำเป็นต้องมีระบบและเป็นเวลา จนกว่าที่ลำต้นจะเติบโตในช่วง 1 เดือนแรก

“ผมไม่ต้องการให้เกษตรกรผู้รับอนุญาตถูกต้อง จะต้องมาเสียเวลาในการดูแล เพราะต้นกัญชาสามารถที่จะทำให้เจริญเติบโตได้ สิ่งสำคัญขณะนี้ผู้ได้รับใบอนุญาตถูกต้องสามารถปลูกได้เพียง 50 ต้นที่ถือว่าน้อยมาก แต่หากสามารถดูแลและทำให้มีใบกัญชาได้มากขึ้นกว่าเดิม ก็จะทำให้เกษตรกรวิสาหกิจผู้ปลูกกัญชามีรายได้ในจุดนี้ และในอนาคตกระบวนการแลกเปลี่ยนก็จะเกิดขึ้นอยู่ตลอด ขอให้วิสาหกิจฯ มีความมั่นใจและพัฒนาตามที่แนะนำ”

สำหรับวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับอนุญาตถูกต้อง เป็นหนึ่งในสามแห่งของจังหวัดกาฬสินธุ์  รับใบอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และได้ทำการปลูกลงดินเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 ที่คาดว่าผลผลิตจะสามารถออกสู่ตลาดได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้า


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – ฝนตกไม่ทั่วฟ้า อากาศร้อน ภัยแล้ง ทำน้ำเขื่อนลำปาวเหลือน้อย ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์ยังร้อนแล้ง ถึงแม้จะมีฝนหลงฤดูตกลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ทั่วถึง พืช สวน พืชไร่ เริ่มแห้งเฉาเหี่ยวตาย อาหารสัตว์เริ่มขาดแคลน ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ สั่งการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ให้ท้องถิ่นเร่งสำรวจความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวเหลือเพียง 24%

วันที่ 20 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศและการประกอบอาชีพของประชาชน ชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงฤดูแล้ง ที่สภาพอากาศร้อนจัด และแห้งแล้ง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน  โดยเฉพาะพืชสวนพืชไร่ เริ่มเหี่ยวเฉาและแห้งตาย อาหารสัตว์เริ่มขาดแคลน เนื่องจากถูกเปลวแดดแผดเผาและขาดน้ำหล่อเลี้ยง ทั้งนี้ มีผลสืบเนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน ถึงแม้ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีฝนหลงฤดูตกมาบ้าง แต่ก็ไม่ทั่วถึง จึงส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชสวน พืชไร่ อาหารสัตว์ ขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง

นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กาฬสินธุ์กล่าวว่า จากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงฝนทั้งช่วงนี้ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้แสดงความเป็นห่วงต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ที่ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอาศัยน้ำฝนเป็นปัจจัยหลักในการหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นเรื่องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ ปภ.จ.กาฬสินธุ์ จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาภัยแล้งขึ้น โดยประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสำรวจภัยแล้งในพื้นที่

นายธนทรกล่าวอีกว่า การสำรวจผลกระทบภัยแล้งดังกล่าว นอกจากจะสำรวจความต้องการน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อจัดหาน้ำสะอาดแจกจ่ายให้เพียงพอแล้ว ยังให้สำรวจแหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งน้ำดิบบนดินเพื่อการผลิตประปา และน้ำใต้ดิน รวมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น ระยะยาว ทั้งโดยการสูบน้ำจากแหล่งที่อยู่ใกล้กันเข้ามาเติม ในบ่อใกล้ชุมชน นอกจากนี้ยังจะมีในส่วนของการล้างบ่อบาดาล เพื่อให้ระบบการสูบน้ำ แจกจ่ายน้ำมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตน้ำที่สะอาด ปลอดภัย แก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ปริมาณน้ำเขื่อนลำปาว ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคเหลือเพียง 479 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 24% จากความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อจะก้าวข้ามสถานการณ์ภัยแล้งนี้


ภาพ/ข่าว  นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กาฬสินธุ์

ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top