Saturday, 4 May 2024
กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – เยียวยาชาวบ้านประสบภัยพายุหัวเดียว ถล่มบ้านพังเสียหาย

ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายบ้านเรือนประชาชน ในเขตตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังได้รับความเสียหายถูกพายุพัดบ้านเรือนเสียหาย 60 หลังคาเรือน พร้อมนำถุงยังชีพ ไข่ไก่ ช่วยเหลือเบื้องต้น และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัยและลดภาระค่าครองชีพช่วงประสบสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่บ้านเว่อ หมู่ 2 และบ้านร่มเย็น หมู่ 15 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้าสำรวจความเสียหายบ้านเรือนชาวบ้าน หลังจากถูกพายุ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าพายุหัวเดียวพัดพังเสียหายหลายสิบหลังคาเรือน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีนายทรงวุฒิ ภูฉายา ผู้ใหญ่บ้านเว่อ หมู่ 2 นางพชรพรรณ วังกะฮาต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร่มเย็น หมู่ 15 นำสำรวจและให้ข้อมูล จากนั้นได้นำถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภค ไข่ไก่ไปมอบให้กับครัวเรือนที่ประสบวาตภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัยและลดภาระค่าครองชีพช่วงประสบสถานการณ์โควิด-19 ที่วัดโพธิ์ชัยบ้านเว่อ-บ้านร่มเย็น

นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชนบ้านเว่อและบ้านร่มเย็นว่าเกิดเหตุวาตภัย พัดบ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ตนในฐานะที่ปรึกษารมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงในสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้อง ซึ่งส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงได้มาให้กำลังใจ พร้อมจัดหาถุงยังชีพ ประกอบด้วยเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และไข่ไก่ นำมามอบให้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ลดภาระด้านค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะลดรายจ่ายด้านค่าครองชีพ ในช่วงประสบสถานการณ์โควิด-19  ในส่วนการช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่นๆ ก็จะได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ท้องที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าให้ความช่วยเหลือในโอกาสต่อไป

ด้านนางพชรพรรณ วังกะฮาต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร่มเย็น หมู่ 15 กล่าวว่า เหตุวาตภัยพัดบ้านเรือนดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งพายุที่เกิดขึ้นนั้นมาในลักษณะของลมพายุหมุน ชาวบ้านเรียกว่าพายุหัวเดียว พัดพุ่งมาในแนวตรง ประมาณ 20 นาที มีฝนและลูกเห็บตกมาด้วย นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงที่สุดในชีวิตที่ประสบมา ซึ่งบ้านเรือนของตนที่เพิ่งสร้างเสร็จ ก็ได้รับความเสียหายด้วย โดยความรุนแรงของลมได้พัดเอาตัวบ้านจนสั่นสะเทือน หลังคาเปิด เสาบ้านหัก สังกะสีปลิวว่อนไปกลางกลางทุ่งนา ประเมินความเสียหายเบื้องต้น 1 แสนบาททีเดียว

ขณะที่นายทรงวุฒิ ภูฉายา ผู้ใหญ่บ้านเว่อ หมู่ 2 กล่าวว่า หลังเกิดเหตุได้ร่วมกับผู้นำชุมชน สำรวจความเสียหาย และขอความช่วยเหลือในการฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการสำรวจนอกจากบ้านเรือนชาวบ้านจะได้รับความเสียหายจำนวน 60 หลังคาเรือนแล้ว ยังพบว่าหลังคาศาลาวัด หลังคาอาคารเรียน ยังได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากอีกด้วย ทั้งนี้ ได้รายงานความเสียหายไปยังเทศบาลตำบลบัวบาน และนายอำเภอยางตลาด เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและเยียวยาในลำดับต่อไป ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณนางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการมอบถุงยังชีพ ไข่ไก่ และให้กำลังใจชาวบ้านในครั้งนี้

กาฬสินธุ์ – น้องโวลต์มอบเงินบริจาค 1.2 ล้าน เข้ากองทุนช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจน

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์รับมอบเงินบริจาคจากน้องโวลต์จำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจนจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนมีความประพฤติดี เรียนเก่ง แต่ฐานะทางบ้านยากจน พร้อมกระจายทุนจำนวน 50,000 บาทต่อคนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด 18 อำเภอ

จากกรณีนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ สอบติดคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคามแต่ฐานะทางบ้านยากจน จึงทำการเปิดรับบริจาค เพื่อเป็นทุนการศึกษาเรียน และมีผู้ใจบุญบริจาครวมเป็น 3.7 ล้านบาท และได้ปิดบัญชี แต่กลับมีกระแสข่าวดราม่าในสื่อออนไลน์และโลกโซเซียลว่า “จนทิพย์” ซึ่งน้องโวลต์ได้ชี้แจงว่าได้ทำงานเก็บเงินตั้งแต่ ม.3 ซื้อมาด้วยตัวเอง เพราะจำเป็นต้องใช้และสิ่งของบางอย่างไม่ได้มีราคาแพง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบก็พบว่ายากจน ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามากำกับดูแลเงินที่ได้รับการบริจาค และมติจัดสรรเป็นเงินในการศึกษาและน้องโวลต์ต้องการที่จะบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อการศึกษาให้กับทางจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเงิน 1.2 ล้านบาทตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมโปงลาง ชั้น 2 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ ดร.เพิ่มพูล พงษ์พวงเพชร ศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นายเทอดเกียรติ ขันธ์พิมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือ น้องโวลต์ ประชุมร่วมกัน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นประธาน มีนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์กล่าวรายงานแจงรายละเอียดสรุปมติจากการประชุมของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลเงินบริจาคจากผู้ใจบุญที่โอนผ่านบัญชีน้องโวลต์

โดยคณะกรรมการมีมติจัดสรรดังนี้ 1. เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาตลอดหลักสูตรการเรียน 6 ปี จำนวน 1.7 ล้านบาท 2. ค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายอันอาจเกิดขึ้นระหว่างการศึกษา จำนวน  8 แสนบาท ซึ่งเพียงพอแล้วกับการเรียน และ 3.มอบให้กับทางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 1.2 ล้านบาท ตามความตั้งใจของน้องโวลต์

จากนั้นนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวแทนรับมอบเงินจำนวน 1.2 ล้านบาทจากน้องโวลต์ พร้อมมอบนโยบายและกล่าวขอบคุณผู้ใจบุญที่บริจาคเงิน และขอบคุณในกุศลเจตนาที่ดีของน้องโวลต์ที่มีความประสงค์มอบเงินจำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทุน เพื่อการศึกษาให้กับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจน ซึ่งทางจังหวัดกาฬสินธุ์ มีนโยบายที่จะจัดต้องกองทุนเพื่อการศึกษามุ่งหวังให้กับนักเรียนที่เรียนดีประพฤติดีแต่ฐานะทางบ้านยากจนให้คลอบคุมทั้ง 18 อำเภอ จำนวนทุนละ 50,000 บาท ต่อคน ต่อปี ตามหลักสูตรที่ผู้ได้รับทุนเข้าเรียนโดยไม่จำกัดสาขาวิชาที่เรียน แต่ต้องมีความประพฤติที่ดี มีผลการศึกษาต่อเทอมที่ดี เพื่อพิจารณามอบทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ต่อไปได้ให้แต่ละอำเภอจัดตั้งกองทุนเป็นการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาอย่างน้อยๆ 18 ทุน ตามความสามารถศักยภาพของแต่ละอำเภอ ผู้ที่ได้รับการพิจารณาทุนการศึกษานั้นต้องเป็นเด็กที่เรียนดี แต่ฐานะทางบ้านยากจนตามสาขานั้นๆตามหลักสูตรที่ได้เข้าเรียนส่งทุนการศึกษาให้ต่อเนื่องตลอดหลักสูตร หลักสูตรละ 50,000 ต่อคน ต่อปี ในแต่ละอำเภอต่างๆสามรถระดมทุน ทำเป็นผ้าป่าสามัคคีเพื่อระดมเข้ากองทุนเพื่อการศึกษา

นายทรงพล กล่าวอีกว่า สำหรับในกรณีของโวลต์ จำนวนเงินที่ได้รับบริจาคเกินกว่าความต้องการนั้น น้องโวลต์ก็มีความประสงค์ที่จะบริจาคเงินจำนวน 1.2 ล้านบาท ให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนการศึกษาให้กระจายไปในแต่ละอำเภอ ขึ้นอยู่กับความพร้อมความสามารถของผู้ได้รับทุนจะเรียนสาขาวิชาใดๆก็แล้วแต่ โดยจะมีคณะกรรมการไปเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกมอบให้กับผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี และจะเตรียมเงินส่วนหนึ่งไว้ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เรียนต่อในสาขาวิชาเฉพาะทางและให้แต่ละอำเภอเป็นผู้ติดตามผลของการศึกษาในรูปของคณะกรรมการต่อไป อย่างไรก็ตามขอขอบคุณคณะกรรมการที่กำกับดูแลในส่วนทุนการศึกษาของน้องโวลต์ทุกท่านที่ทำให้เกิดผลดีอันเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ต่อไป

ด้านนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ กล่าวว่า ขอขอบพระคุณทุกท่านที่บริจาคเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาในคณะแพทย์ ตนจะใช้เงินที่บริจาคมาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค และตามที่คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดเห็นชอบและทุกการใช้จ่ายจะผ่านคณะกรรมการทั้งหมด และจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อมอบให้ทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งต่อไปยังน้องๆเพื่อนๆที่ประพฤติดีเรียนดี แต่มีฐานะยากจนที่ลำบากเหมือนกับตน ส่งต่อความสุขด้วยการมอบเงินเพื่อเข้ากองทุนเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ตนยืนยันว่าจะตั้งใจเรียนให้จบตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่บริจาคเงินมาและกลับมาพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดกาฬสินธุ์ต่อไป

กาฬสินธุ์ – คิกออฟปูพรหม ฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง หยุดเชื้อเพื่อชาติ

จังหวัดกาฬสินธุ์คิกออฟปูพรมฉีดวัคซีนแอสตริเซเนก้ากลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 วันเดียวพบผู้ป่วย 8 ราย

เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า)  นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์  นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกันเปิดการคิกออฟปูพรมฉีดวัคซีนรอบสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แอสตร้าเซเนก้า สำหรับประชาชน ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง พร้อมตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจกลุ่มแพทย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีน

โดยบรรยากาศในช่วงเช้ามีบรรดาลูกหลานได้พาพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเสี่ยง ที่จองสิทธิฉีดและขึ้นทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ในเดือนมิถุนายน 2564 เดินทางมารับการฉีดวัคซีนกันจำนวนมาก ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ คอยอำนวยความสะดวก ทั้งการตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ วัดความดัน ซักประวัติ ตรวจสุขภาพความพร้อมก่อนการฉีดวัคซีน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในปัจจุบัน ยังคงมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลจึงมีการรณรงค์ให้ประชาชน “ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ” เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอัตราการเสียชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนคนไทย ให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ และทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้

นายทรงพล กล่าวอีกว่า สำหรับ จ.กาฬสินธุ์ มีกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค อยู่ประมาณ 240,000 คน โดยในเขตอำเภอเมือง มีผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 120,000 คน ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการฉีดให้กลุ่มที่ 2 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่จองสิทธิฉีดและขึ้นทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ในเดือนมิถุนายน 2564 ส่วนการลงทะเบียนเพิ่มเติมอื่น ๆ ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ของโรงพยาบาล  และทยอยฉีดตามลำดับการจอง ตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล ซึ่งในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้ จ.กาฬสินธุ์ได้รับจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (Astrazeneca) จำนวน 3600 โดส โดยจัดสรรในเขตพื้นที่อำเภอเมือง 1000 โดส ที่เหลือได้กระจายไปยังอำเภอต่าง ๆ

ด้าน นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับในเขตพื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ได้จัดสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลไว้ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางหลังเก่า อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนได้สะดวกมากขึ้น โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์คอยอำนวยความสะดวกและบริการ ทั้งการตรวจสุขภาพประเมินก่อนฉีด และสังเกตอาการหลังฉีด ซึ่งสามารถรองรับการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้ประมาณวันละ 1,000 คน และในวันนี้ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชาชนสูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ ได้รายงานสถานการณ์โรคในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดวันนี้พบผู้ป่วยเพิ่ม 8 ราย โดยมีผู้ป่วยสะสมรวม 129 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 99 ราย กำลังรักษาอยู่ 26 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่ 8 รายล่าสุด อยู่ในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ 7 ราย และอ.ยางตลาดอีก 1 ราย


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – ฝนตกสะสมท่วมถนน ติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ทำนาข้าวชาวนาช้ำ

อิทธิพลของฝนต้นฤดูที่ตกลงมาต่อเนื่อง 3 วัน ส่งผลให้เกิดการสะสมของปริมาณน้ำตามแหล่งเก็บน้ำ รวมทั้งคลองระบายน้ำในชุมชน และแปลงนาของเกษตรกร โดยเฉพาะเขตตำบลดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์  ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมถนนสายหลักระยะทางยาวกว่า 100 เมตร และนาข้าวที่เพิ่งหว่านจมอยู่ใต้น้ำ ชาวนาต้องหาเครื่องสูบน้ำออกก่อนเน่าเสียหาย

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบ หลังฝนต้นฤดูตกลงมาต่อเนื่อง 3 วัน ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่าถนนสายหลักของ ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด บริเวณหน้า อบต.ดอนสมบูรณ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนยานาง ได้เกิดน้ำท่วมขังเป็นระยะทางยาวกว่า 100 เมตร ลึก 30-50 ซม. รถเล็กบางคันผ่านไม่ได้ ผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่จึงเลี่ยงไปใช้เส้นทางจราจรสายอื่น ขณะที่บริเวณแปลงนาในเขต ต.ดอนสมบูรณ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวนากำลังหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว พบว่าได้เกิดน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง จึงต้องหาเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออก ก่อนที่เมล็ดพันธุ์ข้าวจะเน่าเสียหาย

นายนาคินทร์ ภูจ่าพล ผู้ใหญ่บ้านดอนยานาง ต.ดอนสมบูรณ์กล่าวว่า ฝนที่ตกติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ถึงแม้จะไม่ตกหนัก แต่ก็ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำฝนเกิดการสะสม โดยตามร่างระบายน้ำในชุมชน และตามคูคลองระบายไม่ทัน จึงทำให้เกิดการเอ่อท่วม และท่วมขังดังกล่าว ทั้งนี้ ได้ประกาศเตือนชาวบ้าน ให้ระมัดระวังอันตรายและอุบัติเหตุ จากภาวะน้ำท่วม เช่น อุบัติเหตุ งูพิษ แมลงมีพิษ รวมทั้งห้ามลงไปแช่น้ำ เนื่องจากอาจจะเหยียบตะปู เศษแก้วหรือวัสดุแหลมคม ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคบาดทะยัก และสารเคมีที่เจือปนอยู่ในน้ำ ที่อาจะซึมเข้าสู่ร่างกายได้รับอันตรายได้

กาฬสินธุ์ – เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่ให้กับโรงพยาบาลสหัสขันธ์ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ สู้วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องต่อสู้กับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

ที่วัดพุทธาวาสภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ,ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม และประธานกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) มอบหมายให้พระครูสิริพัฒนนิเทศก์ รองเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ เจ้าอาวาสวัดไตรภูมิ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลสหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ โดยนายแพทย์คมกฤษ วิเศษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสหัสขันธ์ เข้ารับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมด ทั้งนี้ จะนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่สู้กับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่

ในการนี้เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลสหัสขันธ์ จำนวน 6 รายการ  ประกอบด้วย สเปรย์แอลกอฮอล์ 53 ขวด  แอลกอฮอล์สำหรับเติม  24 ขวด เจลแอลกอฮอล์ 18 ขวด ทิชชู่เปียกแอลกอฮอล์ 100 ห่อ ชุด PPE 120 ชุด และหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ให้เต็มกำลัง ซึ่งเมตตานุเคราะห์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ยังจะสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด

สำหรับอำเภอสหัสขันธ์ มี 8 ตำบล 85 หมู่บ้าน ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 แล้ว 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.นิคม ต.สหัสขันธ์ ต.นามะเขือ ต.โนนน้ำเกลี้ยง ต.โนนแหลมทอง และต.โนนศิลา มีผู้ติดเชื้อสะสมที่ 21 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – ผู้ปกครองยังไม่กล้าส่งลูกมาเรียน !! เปิดเทอมวันแรก เข้มมาตรการโควิด-19

บรรยากาศเปิดเทอมวันแรก หลังกระทรวงศึกษาธิการประกาศดีเดย์พร้อมกัน 14 มิถุนายน ทั่วประเทศ หลายโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์  ยังคงเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยตั้งจุดคัดกรอง แบ่งเลขที่คู่-เลขคี่ สลับวันมาเรียน ขณะที่ยังมีผู้ปกครองบางส่วน ยังไม่กล้าส่งบุตรหลานมาโรงเรียน เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ของโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งหลายโรงเรียนยังคงยึดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการตั้งจุดคัดกรอง ให้ครูตรวจวัดอุณหภูมิเด็กนักเรียน และผู้ปกครอง บริเวณทางเข้า พร้อมทั้งให้สวมหน้ากากทุกคน ทั้งนี้หลายโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียนจำนวนมาก ได้แบ่งนักเรียนออกเป็น 2 ชุด โดยแยกเลขที่คี่และเลขที่คู่อย่างละครึ่ง สลับวันกันมาเรียน เพื่อลดความแออัด

ทั้งนี้ ในภาพรวมยังมีผู้ปกครองบางส่วน ที่ยังไม่กล้าส่งบุตรหลานมาเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอนุบาล และเด็กประถม เนื่องจากยังห่วงเรื่องการติดโรคโควิด-19 เพราะยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ และเด็กยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้บรรยากาศเปิดเทอมวันแรกนี้ มีนักเรียนค่อนข้างบางตา ส่วนผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนนั้น หลายคนมีความจำเป็นที่จะต้องส่งมาเรียน แต่ก็ได้มีการป้องกันตนเองเพื่อลดความเสี่ยง โดยห่อข้าว ห่อน้ำเป็นส่วนตัวมาเป็นอาหารกลางวัน ส่วนการเดินทางทั้งรถตู้และรถโดยสารนั้น บางคันยังพบว่ามีการนั่งเบียดกันมาด้วย อย่างไรก็ตาม ในการคัดกรองหลังรถรับส่งนักเรียนและผู้ปกครองมาส่งบุตรหลานนั้น มีคณะครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกเท่านั้น

ด้านนายสมพงษ์ หมายเทียนกลาง อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 61 หมู่ 1 บ้านท่าอุดม ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของการเปิดเทอมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น โดยส่วนตัวยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยนัก เนื่องจากในพื้นที่และจังหวัดต่าง ๆ ยังพบผู้ติดเชื้อเป็นรายวัน ทั้งรายบุคคลและกลุ่มก้อน อย่างไรก็ตาม จากการติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาของทางจังหวัดอย่างเข้มข้นตลอดมา ซึ่งค่อนข้างเป็นที่พอใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้คลี่คลายไปได้ ส่วนที่เป็นกังวลบ้างก็ตรงที่เปิดภาคเรียนให้เด็กมาโรงเรียน เนื่องจากจะเกิดความแออัดและมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโควิด-19

นายสมพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวันนี้ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรก ตนให้หลานขึ้นรถตู้ซึ่งเหมารายเดือนมาโรงเรียน ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจให้หลานนั่งรถตู้มาโรงเรียนดังกล่าว ก็ได้ตรวจสอบประวัติรถตู้คันดังกล่าวแล้วว่าอยู่ในพื้นที่  ไม่ได้เดินทางมาจากจุดเสี่ยง มีอุปกรณ์ป้องกันโควิดอย่างครบถ้วน และเด็กนักเรียนที่นั่งมาในรถไม่แออัด เพราะมีการจำกัดจำนวนผู้โดยสาร ตามมาตรการรักษาระยะห่าง เพื่อความมั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยของทางโรงเรียน ตนจึงเดินทางมาสังเกตการณ์  และอยากสอบถามทางโรงเรียนว่าจะให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากได้เห็นมีการคัดกรองเด็ก และผู้ปกครองอย่างเข้มข้นแล้วก็อุ่นใจ ว่าบุตรหลานและเด็กนักเรียนจะปลอดภัยจากโควิด-19 ในช่วงเปิดเทอมนี้


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล

กาฬสินธุ์ – ผู้ปกครองและกลุ่มประชาชนทั่วไปในจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซเนกาเข็มแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และสร้างความมั่นใจปลอดภัยจากโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 10.30 น.ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) นายแพทย์ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เข้าให้กำลังใจผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ทั้งในส่วนข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พ่อค้า ประชาชน ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกา โดยมีบุคลากร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คอยอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ ทุกคนต่างสวมหน้ากาก 100%  มีการตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายแพทย์ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของการให้บริการฉีดวัคซีนในวันนี้ เป็นในรอบของกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งรวมไปถึงข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พ่อค้า ประชาชน โดยเฉพาะผู้ปกครองนักเรียน ที่เริ่มเปิดภาคเรียน ที่ได้ลงทะเบียนขอจองฉีดวัคซีน ตามช่องทางแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม และลงทะเบียนกับโรงพยาบาล สำหรับการฉีดวัคซีนในรอบวันนี้ ได้ให้บริการฉีดวัคซีนทั้งซิโนแวคสำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป  และแอสตราเซเนกา ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว 7 โรค จำนวน 500 ราย ซึ่งเป็นเข็มแรกของรอบนี้ อย่างไรก็ตาม นอกจากวันนี้ให้บริการฉีดในภาคเช้าและภาคบ่ายแล้ว ในวันพรุ่งนี้ยังจะจัดให้มีการฉีดวัคซีนอีกกลุ่มเป้าหมายจำนวน 600 คน

นายแพทย์ประมวลกล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ และยังรอการรับการฉีดวัคซีน ขอให้ใจเย็น ๆ รอไปสักระยะ หากได้รับการจัดสรรวัคซีนมาอีก ก็จะแจ้งให้มารับบริการฉีดวัคซีนทันที เพราะวัคซีนยังจะมีมาเรื่อยๆ และผู้ที่ลงทะเบียนไว้ก็จะได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกคน ดังนั้น หากได้รับการแจ้งกำหนดนัดหมาย ขอความร่วมมือมาฉีดโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ป้องกันโควิด-19 ทั้งนี้ ขอให้ความมั่นใจว่าหลังจากการฉีดวัคซีนแล้ว ไม่มีผลข้างเคียงหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ปกครองที่บุตรหลานเพิ่งเปิดเทอมใหม่ ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีความกังวลอยู่มาก เนื่องจากประชาชนทั่วไป รวมทั้งบุคลากรครู นักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกันเลย  ทำให้รู้สึกว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงตลอด แม้ว่าจะปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แต่การดำเนินชีวิตก็เต็มไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากมีผู้ป่วยได้รับเชื้อเป็นรายวัน ซึ่งหลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีน จึงรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจมากขึ้น

สำหรับ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมวัคซีนทั้งหมด 45,160 โดส ฉีดให้บุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และผู้ประกอบอาชีพเสี่ยงไปแล้ว 32,785 โด๊ส คิดเป็นร้อยละ 72.59 ของวัคซีนที่ได้รับจัดสรร ส่วนวัคซีนที่เหลืออยู่ระหว่างการนัดหมายและจัดฉีดเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตามประชาชนชาวกาฬสินธุ์ ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในวาระแห่งชาติ "ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" ผ่านอสม./รพ.สต./โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือผ่าน Platform “กาฬสินธุ์พร้อม” และตรวจสอบคิวนัดหมายและประวัติการได้รับวัคซีนผ่าน Application “หมอพร้อม”

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 136 ราย  รักษาหายป่วยแล้วสะสม 109 ราย ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 23 ราย และเสียชีวิตสะสม 4 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – บูรณาการท้องถิ่น ใส่ใจความสะอาดตามค่านิยม 11 ประการ

จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ แขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดกาฬสินธุ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ และแขวงทางหลวงสกลนคร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือรักษาความสะอาดของถนน เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสองข้างทางให้มีความสะอาด สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย สองคล้องกับค่านิยม 11 ประการ “ใส่ใจความสะอาด” ของผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมโสมพะมิตร ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 4 นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือในการรักษาความสะอาดของถนน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ แขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.กาฬสินธุ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ และแขวงทางหลวงสกลนคร โดยมีนายเลิศบุศย์ กองทอง รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายปัญญา ปานแก้ว ท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ นางดวงตา พายุพล ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ พ.จ.ต.สำเนียง  หวังเจริญ ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.กาฬสินธุ์ 151 แห่ง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงอย่างพร้อมเพรียง

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ตนได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการด้วยค่านิยม 11 ประการ ประกอบด้วย

1.ความรู้คู่คุณธรรม

2.ปฏิบัติตามกฎหมาย

3.ใส่ใจความสะอาด

4.มีมารยาทแบบไทย

5.รักษาวินัยจราจร

6.ทรัพยากรต้องรักษา

7.รู้ค่าประชาธิปไตย

8.ครอบครัวปลอดภัย

9.ห่างไกลยาเสพติด

10.ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

11.เคียงคู่จิตอาสา

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 9 เดือนที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เอกชนและทุกภาคส่วน ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารราชการและพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อให้การพัฒนาเดินหน้า นำมาซึ่งความอยู่เย็นเป็นสุข และความอยู่ดีกินดีมาสู่พี่น้องประชาชนชาวกาฬสินธุ์

นายทรงพลกล่าวอีกว่าในส่วนของการลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือในการรักษาความสะอาดของถนนดังกล่าวนั้น เนื่องจากถนนทุกสาย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน บางสายอยู่ในความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ หรือแขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ และอยู่ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับถนน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดูแลถนนร่วมกัน ในรูปแบบของการบูรณาการ ทั้งงบประมาณ รวมถึงการการปรับปรุงภูมิทัศน์ และการรักษาความสะอาด

นายทรงพลกล่าวเพิ่มเติม เพื่อให้การดำเนินโครงการถนนสะอาด เกิดการบูรณาการ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู ว่าด้วยความร่วมมือในการรักษาความสะอาดของถนน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ แขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.กาฬสินธุ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ และแขวงทางหลวงสกลนคร ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสองข้างทางให้มีความสะอาด สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย สอดคล้องกับค่านิยม 11 ประการ  ข้อที่ 3 “ใส่ใจความสะอาด” ของผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ดังกล่าว

กาฬสินธุ์ – โควิดพุ่งต่อเนื่อง ขยายเวลาปิดโรงเรียนอีก 14 วัน เตรียมตั้งรพ.สนามเพิ่ม

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาฬสินธุ์มีมติขยายเวลาปิดโรงเรียนและสถานศึกษางดเรียนออนไซต์อีก 14 วัน พร้อมเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มรองรับผู้ป่วย หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อที่กลับจากพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลเพิ่มสูงทุกวัน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ชั้น 2 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ และกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม หลังปัจจุบันพบมีผู้ป่วยติดเชื้อกลับจากพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบยอดผู้ติดเชื้อสูงทุกวัน และล่าสุดวันนี้ (12 กรกฎาคม 2564) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึงจำนวน 40 ราย ส่วนใหญ่กลับจากพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่แพร่ระบาด ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อของ จ.กาฬสินธุ์พุ่งสูงไปอยู่ที่ 548 ราย โดยกำลังรักษาอยู่ 349 ราย หายป่วยแล้ว 195 ราย ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 4 รายเท่าเดิม โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์เข้าร่วมประชุม   

โดยจากสถานการณ์ดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์มีมติขยายเวลางดจัดการเรียนการสอนแบบนั่งเรียน หรือออนไซต์ ปิดโรงเรียนและสถานศึกษาทุกระดับทั้งจังหวัดอีก 14 วัน จากเดิมได้ประกาศปิดมาตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน - 13 กรกฎาคม 2564 โดยเริ่มผลตั้งแต่วันที่ 14-27 กรกฎาคม 2564  โดยให้จัดการเรียนการสอนให้รูปแบบออนไลน์หรือรูปแบบอื่น อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ที่ประชุมยังได้เตรียมพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 120 เตียง โดยเบื้องต้นจะใช้หอประชุมเอนกประสงค์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เพื่อรองรับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังได้ให้แต่ละอำเภอทั้ง 18 อำเภอ จัดเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม หลังจากโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลประจำอำเภอ รวมทั้งโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่งรองรับผู้ป่วยเต็มแล้ว และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกตำบลจำนวน 135 ตำบลจัดเตรียมสถานที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ในขณะนี้ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มโดยแห่งที่ 3 จะเปิดในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จำนวน 120 เตียง โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลนามนและโรงพยาบาลสมเด็จ และในขณะนี้พร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 อำเภอกมลาไสย ที่โรงเรียนกมลาไสย แห่งที่ 5 ที่โรงเรียนโนนสวรรค์ อำเภอกุฉินารายณ์ แห่งที่ 6 หอประชุมอำเภอท่าคันโท แห่งที่ 7 หอประชุมอำเภอยางตลาด แห่งที่ 8 หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ และเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามให้ครบ18 อำเภอ ภายในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ คาดว่าจะมีเตียงในโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งหมดกว่า 1,000 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด -19 จังหวัดกาฬสินธุ์

นายทรงพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการยกระดับการป้องกันโรคโควิด-19 ตามคำสั่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ ฉบับที่ 29 โดยขยายเวลาปิดการเรียนแบบ On-site ออกไปอีก 14 วันเริ่มวันที่ 14 - 27 กรกฎาคม 2564 งดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร การประชุมสัมมนา จัดได้ไม่เกิน 50 คน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด จะต้องรายงานตัวกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นให้รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือ อสม.เพื่อทำการตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยงโรคโควิด-19

กาฬสินธุ์ – พลังบวรร่วมสร้างโรงพยาบาลสนาม รับคนสหัสขันธ์กลับบ้าน

คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ พร้อมผู้มีจิตศรัทธาและภาครัฐ ร่วมมือสร้างโรงพยาบาลสนามขนาด 50 เตียง รอรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมตั้งศูนย์พักคอย ก่อนเข้า LQ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง

ที่หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วยพระครูสิริพัฒนนิเทศ รองเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ เข้าตรวจเยี่ยมจุดปรับปรุงก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ โดยใช้หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ ซึ่งสามารถรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 50 เตียง โดยคณะสงฆ์ และประชาชนได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์  โดยตั้งเป้าจะเริ่มเปิดรับผู้ป่วยที่ติดเชื้ออาการไม่หนักมาก เข้ามารักษาได้วันที่ 19 ก.ค. 2564 

ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากพระเทพมงคลวชิรมุณี หรือหลวงปู่หา สุภโร (หลวงปู่ไดโนเสาร์) วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) พระครูกัลลยา ณ ทิวากร เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ พระครูสิทธิวราคม ดร. วัดเวฬุวัน เจ้าคณะ อ.สหัสขันธ์ (ธ) พระอาจารย์ณรงค์ ชยมงฺคโล วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) พระครูสิริพัฒนนิเทศก์  วัดพุทธาวาสภูสิงห์ และคณะสงฆ์ อ.สหัสขันธ์ ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และภาครัฐ ร่วมระดมทุมก่อสร้าง และมอบของใช้ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์

นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า การตั้งโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ ได้เลือกใช้หอประชุม อ.สหัสขันธ์ ซึ่งผู้นำชุมชนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเข้าใจและรู้ถึงเหตุผล ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สำหรับโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์เกิดขึ้นจากพลัง “บวร” บ้าน/ชุมชน วัด และภาครัฐ โดยเฉพาะการที่ได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์ ที่เห็นชอบให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของ อ.สหัสขันธ์ โดยวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19  ซึ่งเป็นคนสหัสขันธ์ กลับมารักษาที่ภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อลดปัญหาเตียงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 

นอกจากนี้ธารน้ำใจของคนสหัสขันธ์ยังล้นหลาม ได้ระดมทั้งทุนทรัพย์ แรงกาย และนำข้าวของเครื่องใช้สำคัญและจำเป็นในโรงพยาบาลสนามมาสมทบจำนวนมาก อย่างเช่นนายอำนวย พุ่มจำปา เจ้าของร้านถูกซุปเปอร์มาเก็ต ได้นำพัดลม 20 เครื่อง พร้อมน้ำดื่ม 50 แพ็ค / 600 ขวด มอบให้กับนายอำเภอสหัสขันธ์ เพื่อใช้ในโรงพยาบาลสนาม นายพิทักษ์ เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร ร่วมบริจาคพัดลมอีก 10 เครื่อง ขณะที่เครื่องนอน 50 ชุด ร้านแม่ประกายเครื่องนอน ร้านนิโรจน์ค้าผ้า ร้านสุพจน์เครื่องนอน และร้านสุรพลเครื่องนอน ซึ่งเป็นญาติธรรมวัดพุทธาวาสภูสิงห์ ร่วมบริจาคสมทบเข้าโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ ขณะที่การปรับปรุงก่อสร้างโรงพยาบาลสนามมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นมีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว ทั้งพัดลม และเครื่องนอน

สำหรับพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ มียอดผู้ป่วยสะสมแล้ว 40 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 11 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับมาภูมิลำเนาอีกจำนวนมาก ซึ่งต้องรอให้เตรียมพื้นที่รองรับให้เรียบร้อยก่อนจึงจะเริ่มเปิดรับ เพื่อให้คนสหัสขันธ์ได้กลับบ้านเกิด ปลอดภัย 100%


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top