Saturday, 4 May 2024
กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – ขอบคุณ ‘มูลนิธิปิดทองหลังพระ’ ชนะความจน ชุมชนมีรายได้สู้ภัยโควิด

มูลนิธิปิดทองหลังพระ ช่วยชาวบ้านหนองบัวน้อย ตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้ที่ดินสาธารณะประจำหมู่บ้านปลูกพืชหลากหลาย จัดระบบสูบน้ำด้วยพลังงานโซล่าเซลล์พร้อมหอถัง ภายใต้โครงการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไกล ตามแนวพระราชดำริ เป็นแหล่งอาหาร สร้างงาน สร้างรายได้ สู้ภัยโควิด-19

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่แปลงเกษตรบ้านหนองบัวน้อย หมู่ 3 ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสมควร ภูแข่งหมอก ผู้ใหญ่บ้านหนองบัวน้อย หมู่ 3 พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านเจ้าของแปลงผักสวนครัว ร่วมกันรดน้ำและกำจัดวัชพืชในแปลงผักสวนครัวของตน ซึ่งมีหลายชนิดหลายรุ่น ทั้งที่เพิ่งเพาะปลูก กำลังเจริญเติบโต และใกล้อายุเก็บเกี่ยว

นายสมควร ภูแข่งหมอก ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า พื้นที่ที่นำชาวบ้านจัดทำเป็นแปลงผักปลูกพืชหลากหลายนี้ คือหนองบัวน้อยซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 42 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่หนองประมาณ 30  ไร่ อีกส่วนเป็นพื้นที่ว่างเปล่าและจัดทำเป็นแปลงปลูกพืชผักของชาวบ้าน โดยได้จัดสรรให้ชาวบ้านที่ร่วมโครงการครัวเรือนละ 6 x 40 เมตร ก่อนหน้านี้เคยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า จึงทำการประชาคมหมู่บ้านเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน หรือผู้ที่ต้องการจะปลูกผักสวนครัวเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ โดยปลูกกินเองในครัวเรือนและขายในชุมชน เน้นความปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ 38 ครัวเรือน ทั้งนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ามาส่งเสริมให้องค์ความรู้กับชาวบ้าน ในโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

นายสมควร กล่าวอีกว่า สำหรับน้ำที่ใช้ในแปลงพืชหลากหลายนั้น ได้น้ำจากหนองน้ำสาธารณะ  ซึ่งเป็นระบบสูบโดยใช้พลังงานไฟฟ้า ค่าไฟเดือนละประมาณ 1,000 บาท ชาวบ้านที่ปลูกผักเฉลี่ยกันออกค่าใช้จ่าย บางครั้งไฟดับหรือไฟไม่พอ ก็เป็นอุปสรรคในการรดผัก ทั้งนี้ ผักที่ปลูกมีทั้งในแปลงดิน และไฮโดรโปรนิกส์ เช่น ผักบุ้ง ผักชี หอม กระเทียม คะน้า พริก มะเขือ ตะไคร้ ขิง ข่า กะเพรา โหระพา สลัด ฟักทอง พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว ฝรั่ง กล้วย และพืชผักตามฤดูกาลต่างๆ มีผลผลิตเก็บกิน ซื้อขายตลอดปี ทั้งขายตามตลาดชุมชน ส่งขายที่โรงพยาบาลยางตลาด และมีพ่อค้าแม่ค้ามารับถึงที่อีกด้วย ทำให้ชาวบ้านมีพืชผักสวนครัวไว้กินเอง และมีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัวไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท

ด้านนางสมบูรณ์ ภูจำปา ผู้ช่วย ผญบ.หนองบัวน้อย หมู่ 3 กล่าวว่า จากการที่มีชาวบ้านมาใช้พื้นที่ดังกล่าวปลูกผักเป็นอาชีพเสริม และเป็นอาหารในครัวเรือนมากขึ้น ถึงแท้น้ำในบ่อหนองบัวน้อยจะเพียงพอตลอดปี แต่ระบบการจ่ายน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าบางครั้งน้ำไม่เพียงพอ ผู้นำชุมชนและสมาชิกผู้ปลูกพืชหลากหลายจึงได้ทำหนังสือขอรับการสนับสนุนระบบสูบน้ำด้วยพลังงานโซล่าเซลล์พร้อมหอถัง จากมูลนิธิปิดทองหลังพระ ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนเมื่อเร็วๆนี้ ภายใต้โครงการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไกล ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งสามารถสำรองน้ำไว้ในถังสูงและมีน้ำใช้ในแปลงพืชผักอย่างเพียงพอ

นางสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่ได้จากการรวมกลุ่มปลูกพืชหลากหลายมาหลายด้าน นอกจากจะเป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพเสริมและรายได้เข้าครัวเรือนแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญแทบจะมีรายจ่าย มีแต่รายได้เข้ามา ซึ่งแต่เดิมในภาวะปกติ มีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักอย่างน้อยวันละ 250-300 บาท แต่ในช่วงนี้ที่ประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลาดชุมชนและแหล่งรับซื้อปิดตัวลง รายได้จากการขายผักลดลงเหลือเพียงวันละ 100 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิปิดทองหลังพระ ที่เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านหนองบัวน้อย มีอาชีพ มีรายได้ บรรเทาความเดือดร้อนในช่วงประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - ส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเสริมเกราะป้องกันให้นักรบชุดขาว ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้มอบอุปกรณ์ป้องกันโควิด ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมี นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้รับมอบ โดยมีนายสนั่น พงศ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้แทนจากทุกหน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ เป็นการจัดหาโดยทางจังหวัด ได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อ “โควิด” จ.กาฬสินธุ์  เพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พบการระบาดครอบคลุมไปทั้ง 18 อำเภอ ที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 8 รายการ ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยชนิด N95  ชุดป้องกันร่างกาย Cover ALL  เสื้อกาวน์ชนิดกั้นน้ำ  ถุงมือยาง ถุงมือไนไตร  แว่นตาครอบแบบใส รวมไปถึงชุดตรวจบริเวณโพรงจมูกและช่องปากในการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ที่จะสามารถให้นักรบชุดขาวมีความปลอดภัย และสามารถตรวจหาป้องกันได้อย่างมีคุณภาพ

ด้าน นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดหาอุปกรณ์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์และตรงความต้องการเป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณผู้ป่วย รวมไปถึงการตรวจหาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว และนับจากนี้ก็จะทำให้ทีมแพทย์ พยาบาล มีอุปกรณ์ป้องกัน เนื่องจากในขณะนี้ยังพบว่ามีพี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เดินทางกลับมาพักรักษาตัวที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ในอนาคตจะมีการผลักดันโรงพยาบาลสนามให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป

สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะนี้ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และที่เดินทางมารักษาตัวมีกว่า 30 รายต่อวัน ทำให้ทีมแพทย์พยาบาล อสม.รวมไปถึงเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยต่างๆ ต้องทำงานกันอย่างหนัก ขณะที่ในกลุ่มนักธุรกิจ พ่อค้า ก็มีการนำน้ำดื่ม อาหารไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ตามสถานที่ต่างๆ เช่นกัน

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันนี้ (15 ก.ค.64) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 59 ราย โดยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 12 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ระหว่างการกักกันตัว 42 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 2  ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก 3 ราย ทำให้มียอดติดเชื้อโควิด-19 ของ จ.กาฬสินธุ์พุ่งสูงถึง 735 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 467 ราย รักษาหายแล้ว 264 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 4 ราย

กาฬสินธุ์ – ภาคประชาชนร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อประนีประนอม ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ลดขั้นตอนการพิจารณาคดีความ โดยไม่ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ ไม่ต้องจ้างทนาย และไม่เสียค่าบริการ

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน บ้านโคกเครือ หมู่ 3 ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดป้ายที่ทำการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยมีพระครูโสภณวินัยวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอยางตลาด (ธ) ประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน นายประหยัด ไม้แพ ยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้บริหารท้องถิ่น คณะทำงานบริหารประจำศูนย์ฯ ประชาชน ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ ทุกคนต่างปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน กล่าวว่า ในภาวะสังคมปัจจุบัน ทั้งการดำเนินชีวิต การจราจร การประกอบอาชีพต่าง ๆ จะเห็นว่าเกิดข้อขัดแย้ง กรณีพิพาท เป็นคดีความ นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้คู่ขัดแย้งหรือคู่กรณี เสียทรัพย์ เสียเวลา จากการว่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งๆที่บางคดีเป็นเรื่องเล็กๆน้อย สามารถยอมความกันได้ แต่กลับต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากตกลงกันไม่ได้

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวอีกว่า จากสาเหตุดังกล่าว ตนและเครือข่ายยุติธรรมชุมชน จึงได้ร่วมกับส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม จัดตั้งคณะทำงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนถึงชุมชนหรือหมู่บ้านขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ มีหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ ระดับจังหวัดและระดับอำเภอเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านคดีความให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาบางคนอาจเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เสียทรัพย์ เสียเวลา โดยเป้าหมายต่อไปเครือข่ายยุติธรรมภาคประชาชน ยังจะร่วมกันเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ให้ครอบลมทุกตำบลในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 3 แห่ง คือที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยแห่งนี้ รวมทั้ง อ.นามน และ อ.ห้วยเม็ก

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนบ้านโคกเครือที่จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีข้อขัดแย้ง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคู่กรณี ทั้งอุบัติเหตุทางจราจร เรื่องที่ดิน เรื่องมรดก ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ซึ่งไม่ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ หรือว่าจ้างทนายความ ทางศูนย์พร้อมที่จะให้คำปรึกษา หาทางออกที่ดี โดยให้ความคุ้มครองทางสิทธิ เสรีภาพ และไม่เสียค่าใช่จ่ายใด ๆ ซึ่งเมื่อคู่กรณีมารับบริการที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยและสามารถตกลงยอมความกันได้ ก็จะทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ส่งข้อมูลเข้าระบบกระบวนการยุติธรรมทุกสาขา ถือเป็นการยุติข้อร้องเรียนหรือความขัดแย้งกรณีนั้น และจะไม่สามารถฟ้องร้องกันอีก

ทั้งนี้ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้น จึงเป็นทั้งศูนย์สร้างความปรองดองและศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในเชิงรุกถึงหมู่บ้าน ประโยชน์ที่ชุมชนในพื้นที่จะได้รับจากการเข้ามาไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ฯ คือนอกจากจะใกล้บ้านแล้ว ยังเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวน ไม่ต้องจ้างทนายความ โดยเฉพาะเป็นการให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยฟรี ไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - เปิดรพ.สนามแห่งที่ 9 อำเภอหนองกุงศรี รองรับผู้ป่วยโควิด-19 คืนถิ่น หลังพบประชาชนที่ติดเชื้อเดินทางกลับมาขอรับการรักษายังภูมิลำเนาจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนาม จ.กาฬสินธุ์ แห่งที่ 9 อำเภอหนองกุงศรี ซึ่งใช้บริเวณพื้นที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอหนองกุงศรี เพื่อรองรับประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับมาขอรับการรักษายังภูมิลำเนา สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อได้ 50 เตียง และสามารถขยายเพิ่มได้อีก 100 เตียง โดยมีนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พ่อค้า และประชาชนเข้าร่วมและมอบสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค และสิ่งของใช้ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลสนาม

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์พบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนที่ติดเชื้อเดินทางขอกลับมารักษาในภูมิลำเนาจำนวนมาก ทั้งนี้ปัจจุบันอำเภอหนองกุงศรีพบผู้ติดเชื้อหลายสิบรายอยู่ระหว่างการรักษาที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลแม่ข่าย อีกทั้งยังมีผู้ป่วยที่ดูแลที่ศูนย์กักกันตำบลอีกจำนวนหนึ่ง และอยู่ระหว่างขอกลับมารักษาอีกจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องมีการเปิดโรงพยาบาลสนามอำเภอขึ้น เพื่อรองรับประชาชนที่ขอเดินทางกลับมารักษา

โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพที่ 7 ใช้เป็นสถานที่ในการดูแล รักษา และเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยกลุ่มระดับสีเขียวที่มีอาการเล็กน้อยภายในระยะเวลา 14 วัน หรือจนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ป่วยหายจากโรค และหากในระหว่างรักษาผู้ติดเชื้อมีการวิกฤติหรือเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลหลักได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 50 เตียง และสามารถขยายเตียงสูงสุด 100 เตียง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ อป.พร.ชรบ.และบุคลากรทางการแพทย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

กาฬสินธุ์ – เปิด รพ.สนามสหัสขันธ์ อุปถัมภ์โดยคณะสงฆ์ กว่า 500,000 บาท พร้อมเปิดบริจาคสิ่งของจำเป็นเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19

อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดโรงพยาบาลสนาม 50 เตียงรักษา 30 เตียงพักคอย พร้อมรับคนสหัสขันธ์กลับบ้านปลอดภัย อุปถัมภ์ก่อสร้างปรับปรุงโดยคณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ มูลค่ากว่า 500,000  บาท พร้อมเปิดรับบริจาคสิ่งของจำเป็นเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เล็งปรับ LQ เป็นพื้นที่นอนรอเตียงรักษา 8 ตำบล

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่บริเวณหอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน 904 ,พระอาจารย์ณรงค์ ชยุมงฺคโล เจ้าอาวาสวัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) ,นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์,นายแพทย์คมกฤษ วิเศษ ผอ.รพ.สหัสขันธ์ พร้อมด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทน อปท. 8 แห่ง พื้นที่ อ.สหัสขันธ์ คณะแพทย์ พยาบาล รพ.สหัสขันธ์  ร่วมเปิดโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ เพื่อเตรียมรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีภูมิลำเนาเป็นคน อ.สหัสขันธ์ โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา 22 คน จากจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 62 คน ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

โดยผู้มีจิตศรัทธา ได้นำสิ่งของที่จำเป็นมอบให้กับ รพ.สนาม ทั้งน้ำดื่ม ยาเม็ดฟ้าทะลายโจร พัดลม เครื่องนอน ข้าวสาร อาหารแห้ง และเงินสด โดยโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการอุปถัมภ์โดยพระเทพมงคลวชิรมุณี (หา สุภโร) หรือหลวงปู่ไดโนเสาร์ มอบเงินให้กับคณะกรรมการเป็นเงิน 505,237 บาท นอกจากนี้ พระอาจารย์ณรงค์ ชยมงฺคโล เจ้าอาวาสวัดพุทธนิมิต ยังมอบเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 50,000 บาท รวมถึงผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วสารทิศ ที่โอนเงินผ่านบัญชีสาธารณกุศลอ.สหัสขันธ์ ขณะที่การปรับปรุงพื้นที่ รพ.สนาม รวมถึงการควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด มีพระครูสิริพัฒนนิเทศก์ เจ้าอาวาสวัดพุทธาวาสภูสิงห์ ควบคุมดูแลและนำเครื่องจักรเข้าปฏิบัติการทั้งหมด ส่วนเตียง รพ.สนาม นายอำเภอสหัสขันธ์ ได้ระดมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สร้างเตียงจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ทดแทนในช่วงที่เตียงขาดแคลนและราคาสูง

นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่าโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเมตตาจากคณะสงฆ์ เป็นที่ปรึกษาในการเริ่มต้นของโรงพยาบาลสนาม  โดยใช้หอประชุม อ.สหัสขันธ์ และพื้นที่บริเวณโดยรอบ ติดกับโรงพยาบาลสหัสขันธ์ ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ซึ่งเป็นคนสหัสขันธ์ ไม่น้อยกว่า 50 คน มีศูนย์พักคอยอีก 30 เตียง ที่มอบหมายให้ทางนายแพทย์คมกฤษ วิเศษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสหัสขันธ์  พร้อมทีแพทย์พยาบาล และนายสมบูรณ์ ไชยศรี สาธารณสุขอำเภอสหัสขันธ์ จัดการภายในโรงพยาบาลสนามฯ เบื้องต้นมีคนสหัสขันธ์ยืนยันติดเชื้อแล้วจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 13 จังหวัด แจ้งกลับมารักษากว่า 30 คน ทั้งนี้ได้สั่ง LQ ของ อปท. ทุกแห่ง เตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชม.

“ส่วนลำดับขั้นตอนของโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ โดยนายแพทย์คมกฤษ วิเศษ ผอ.รพ.สหัสขันธ์ และเป็นผอ.รพ.สนามฯ เมื่อผู้ป่วยมีความประสงค์จะเข้ามารักษา เบื้องต้นต้องเข้ารับการตรวจและยืนยันผลก่อน จากนั้นจะนำผู้ป่วยที่มีผลยืนยันเข้ารับการรักษาตามลำดับ ทั้งการตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด เมื่อเข้าโรงพยาบาลสนามจะต้องเปลี่ยนชุดในชุดคนไข้ของ รพ.สนามที่เตรียมไว้ ซึ่งภายในโรงพยาบาลสนามจะมีกล้องวงจรปิดกระจายอยู่ทุกมุมกว่า 18 ตัว รอบนอกมีกำลังเจ้าหน้าที่ อส. ชรบ. อปพร. จากทุกตำบล มาอยู่เฝ้าเวรยามแบ่งกำลังวันละ 3 ผลัด มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรสหัสขันธ์ เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยอีกชั้น ทั้งนี้ยังมี 8 อปท. ให้ความร่วมมือในการเตรียม LQ บุคลากร งบประมาณ เป็นความสามัคคีในพื้นที่เพื่อเอาชนะไวรัสโควิด-19 สร้างความปลอดภัยใน อ.สหัสขันธ์อย่างเข้มแข็ง” นายอำเภอสหัสขันธ์กล่าว


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - ปิดโรงเรียนไม่มีกำหนด ยอดติดเชื้อโควิดยังนิวไฮวันเดียวพุ่ง 157 ราย

กาฬสินธุ์ยกระดับคุมเข้มมาตรการโควิด-19 หลังปรับเป็นพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปิดโรงเรียน-งดเรียนออนไซด์ไม่มีกำหนด ร้านอาหารนั่งได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม งดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการรวมกลุ่มสังสรรค์ ขณะที่สถานการณ์ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อนิวไฮวันเดียว 157 ราย ทุบสถิติสูงสุด ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมพุ่ง 1,315 ราย ขณะที่หน่วยกู้ภัยเมตตาธรรม ทยอยส่งผู้ป่วยพาคนอีสานกลับภูมิลำเนา

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงต่อเนื่องรายวัน โดยล่าสุดวันนี้ (21 ก.ค.64) พบผู้ติดเชื้อนิวไฮ เป็นผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 157 ราย ทุบสถิติสูงสุด โดยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 40 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ระหว่างการกักกันตัว 83 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 27 ราย และตรวจพบจากระบบเฝ้าระวังอื่น ๆ อีก 7 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุถึง 1,315  ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 6 ราย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ล่าสุดคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธาน และทางจังหวัดได้ออกประกาศคำสั่งมาตรการยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังปรับเป็นพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยให้ปิดการเรียนการสอนแบบ on-site รวมไปถึงศูนย์เด็กเล็ก จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. งดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนามกีฬา ยิม สถานที่ออกกำลังกายเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ จำกัดจำนวนผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะไม่เกินร้อยละ 50 และผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ 13 จังหวัดเสี่ยง ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

นอกจากนี้มติที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการขยายเตียงในโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน จ.กาฬสินธุ์มีโรงพยาบาลสนามรวม 19 แห่ง รองรับผู้ป่วยจำนวน 1,159 เตียง และในโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก และแสดงอาการ อีก 433 เตียง รวมทั้งหมด 1,592 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมากที่เดินทางกลับมารักษายังภูมิลำเนา พร้อมวางแผนจัดตั้งศูนย์โควิดชุมชนหรือ Community Isolation โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ เน้นผู้ป่วยสีเขียวและให้มีบุคลากรจาก รพ. สต. อสม. เข้ามาดูแล

ขณะที่หน่วยกู้ภัยเมตตาธรรมกาฬสินธุ์ ได้ทยอยส่งตัวผู้ป่วยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และหลายจังหวัดในภาคอีสานตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และบริเวณกักกันตัวตามภูมิลำเนา หลังจัดขบวนคาราวานตู้พยาบาล 8 คัน และเช่ารถบัสอีก 1 คัน รับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลบุษราคัม จ.นนทบุรี และพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งจังหวัดปริมณฑล “พาคนอีสานกลับบ้านเฮา” ฟรีกว่า 100 คน


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – หมอใหญ่ระบุ ‘ฟ้าทะลายโจร’ ระงับความรุนแรงเชื้อโควิดได้ผล

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เผยยืนยันผลการวิจัยจากโรงพยาบาลสมุทรปราการและเรือนจำ ขณะที่โรงพยาบาลสนามฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์นำมาใช้กับคนไข้ได้ผล ทั้งนี้ การใช้ต้องอยู่ในการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของหมอ ด้านสถานการณ์ล่าสุดพบผู้ป่วยเพิ่ม และเตรียมขยายเตียงรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่โรงพยาบาลสนามยางตลาดและโรงพยาบาลสนามสมเด็จ 

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์  หลังทาง ศบค.ประกาศให้พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เป็นกลุ่มจังหวัดสีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยวันนี้ยังพบว่ามีประชาชนจากพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดพื้นที่เสี่ยง เดินทางกลับมาภูมิลำเนาจำนวนมาก ทำยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นรายวัน ล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่ 131 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัดขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 19 ราย ผู้ติดเชื้อที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 92 ราย ผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน 9 ราย และตรวจพบจากระบบเฝ้าระวังอื่นๆ 11 ราย

นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พบรายวัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ติดเชื้อจากต่างจังหวัด ส่วนที่พบพื้นในพื้นที่ถือว่าเป็นคลัสเตอร์ขนาดเล็ก เช่น สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทำการเปิดโรงพยาบาลสนามทั้ง 18 อำเภอแล้ว ยังมีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นทุกวัน ถึงแม้ปัจจุบันโรงพยาบาลสนามจะสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยเพียงพอ แต่เพื่อรองรับสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังมีแนวโน้มสูงอยู่ ทางโรงพยาบาลสนามยางตลาดและโรงพยาบาลสนามสมเด็จ ก็จะได้ขยายเตียงเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถรองรับและเพียงพอ และได้รับการบริหารทางระบบสาธารณสุขอย่างดีที่สุด

นายแพทย์อภิชัยกล่าวอีกว่า สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไปนั้น จากสถิติผู้เสียชีวิตจากการได้รับเชื้อโควิด-19 ดังกล่าว เป็นในกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้น ในการจัดสรรฉีดวัคซีนที่ จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงที่สถานการณ์ของโรครุนแรงอยู่ จึงจะจัดสรรให้บุคลากรกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัวและหญิงมีครรภ์ หรือกลุ่ม 608 เสียก่อน จึงจะกระจายไปยังกลุ่มอื่นๆตามลำดับต่อไป

นายแพทย์อภิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการบำบัดรักษาอาการผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 นั้น ตามที่มีการกล่าวถึงการนำสมุนไพรทางเลือก เช่น กระชาย และฟ้าทะลายโจร มาใช้ในการบำบัดรักษาอาการนั้น ยืนยันผลวิจัยที่ใช้ในโรงพยาบาลสมุทรปราการและเรือนจำ พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในขณะที่โรงพยาบาลฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ก็ได้นำมาใช้เช่นกัน โดยพบว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ อย่างไรก็ตามการใช้ต้องอยู่ในการกำดับดูแลอย่างใกล้ชิดของหมอรักษาไข้ ทั้งนี้ วิธีที่ป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้ผลที่สุดคือการรักษามาตรการ D-M-H-T-T-A เช่น รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่เข้าไปในสถานที่แออัดและพื้นที่เสี่ยง

กาฬสินธุ์ - อบจ.กาฬสินธุ์ทุ่ม 20 ล้าน ซื้อวัคซีน ‘โมเดอร์นา’ ฉีด ช่วยประชาชน 5 กลุ่ม เปราะบาง

อบจ.กาฬสินธุ์จัดเต็มทุ่ม 20 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีน “โมเดอร์นา” จากสภากาชาดไทย ฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน 5 กลุ่มเป้าหมายฟรี พร้อมเตรียมงบอีก 10 ล้านบาทสนับสนุนโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักกันตัว

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมชั้น 5 องค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายกอบจ.กาฬสินธุ์ นายวรากรณ์ ภูอาภรณ์ ประธานสภาอบจ.กาฬสินธุ์ นายนพกุล ปัญญาแก้ว รองปลัด อบจ.กาฬสินธุ์ นายมานพ เวฬุวณารักษ์ รองปลัด อบจ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ร่วมกันแถลงแผนการจัดซื้อวัคซีน “โมเดอร์นา” จากสภากาชาดไทย เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลของรัฐทั้ง 18 อำเภอ ดำเนินการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่าง ๆ 5 กลุ่มเป้าหมายฟรี  เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน และให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิต พร้อมแถลงการจัดเตรียมงบอีก 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม สถานที่กักกันตัว และศูนย์พักคอยต่าง ๆในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด และพบผู้ป่วยจำนวนมาก หลังก่อนหน้านี้ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 4 ล้านบาทในการสร้างโรงพยาบาลสนามไปแล้ว 2 แห่ง

นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายกอบจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดได้แพร่ระบาดในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทั้งจังหวัด ประกอบกับปัจจุบันจำนวนวัคซีนที่ได้รับจัดสรร ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งทาง อบจ.กาฬสินธุ์ มีความห่วงใยในชีวิตของพี่น้องประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน ลดการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงของโรค จึงได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 20 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีน โมเดอร์น่า (Moderna) จากสภากาชาดไทย โดยผ่านความเห็นชอบของสภา เพื่อกระจายฉีดวัคซีนไปยังโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลของรัฐทั้ง 18 อำเภอ ฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่าง ๆจำนวน 5 กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ฟรี   ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความปลอดภัยในชีวิต ให้กับประชาชนชาวกาฬสินธุ์

โดย 5 กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดประกอบด้วยกลุ่มที่ 1 คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีมีครรภ์ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน, กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19  มาก่อน, กลุ่มที่ 3 บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ในถิ่นทุรกันดาร, กลุ่มที่ 4 ผู้ที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล หรือครูอาจารย์ผู้ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน และกลุ่มที่ 5 บุคลากรที่ออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ตามโครงการฉีดวัคซีนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค โควิด -19 มาก่อน ซึ่งบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้าตามเกณฑ์ใน 5 กลุ่มดังกล่าว ที่มีความประสงค์จะรับการฉีดวัคซีนจากอบจ.กาฬสินธุ์ สามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนผ่านแอป “วัคซีน อบจ.กาฬสินธุ์” สำหรับรายละเอียดและขั้นตอนการลงทะเบียน จะได้ประชาสัมพันธ์ให้ได้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง และสำหรับการสั่งจองผ่านสภากาชาดไทยจะได้รับวัคซีนมาในช่วงเดือนตุลาคม 2564 นี้

นายชานุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา อบจ.กาฬสินธุ์ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 4 ล้านบาท ในการสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 โรงพยาบาลฆ้องชัย และโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ด้านหลังศูนย์ราชการจังหวัด และขณะนี้ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้อีกจำนวน 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม สถานที่กักกันตัว และศูนย์พักคอยจุดต่างๆในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดและพบผู้ป่วยจำนวนมากอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – หวั่นโควิด ทำบุญวันพระใหญ่บางตา สวดรัตนสูตรคุ้มภัยป้องกันโควิด-19

พุทธศาสนิกชนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ หวั่นโควิด-19 ระบาดหนักในช่วงวิกฤต เข้าวัดทำบุญบางตา แต่ยังร่วมกันสืบสานประเพณีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันอาสาฬหบูชา สวดภาวนาพุทธมนต์รัตนสูตร เพื่อเสริมสร้างกำลังใจคุ้มภัย ป้องกันในสถานการณ์โรคติดเชื้อโรคโควิดระบาดหนัก

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ที่ศาลาพระพุทธสุจิตตสุวรรณรังษี วัดประชานิยม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ พระเทพสารเมธี เจ้าอาวาสวัดประชานิยม เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) พร้อมด้วยทายกทายิกาวัดประชานิยมนำพุทธศาสนิกชนทำบุญตักบาตร สวดมนต์ฟังธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ในปีนี้ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้พุทธศาสนิกชนเข้าวัดทำบุญในวันอาสาฬหบูชาบางตากว่าภาวะปกติมาก 

อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวพุทธที่ไม่หวั่นไหวที่กับโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการจรรโลงพระพุทธศาสนา และยึดมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อในเส้นทางการความดี  ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษต่อยอดทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ก่อนที่จะเข้าบริเวณด้านในศาลาหน้าประตูทางเข้า ยังได้ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไวรัสโรคติดเชื้อโควิด-19 เว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัย พร้อมกับทำตามมาตรการการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

พระเทพสารเมธี เจ้าอาวาสวัดประชานิยม เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) กล่าวว่าวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมธรรมเทศนา หรือการประกาศพระศาสนาในวันแรกหลังจากทรงตรัสรู้ พระธรรมเทศนานี้เรียกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หมายถึงพระสูตรที่กล่าวถึงการหมุนกงล้อแห่งธรรม พูดถึงการเวียนว่ายตายเกิด การดับทุกข์ การทำให้พ้นจากทุกข์ การประกอบความดีตามหลัก มรรค 8 ทาง แสดงหลักของการไม่ยึดมั่น แต่ให้ดำเนินในมัชฌิมาปฏิปทาหรือเส้นทางสายกลาง ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ทรงแสดงให้กับเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายาวัน เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน  ทำให้พระโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม เข้าใจในหลักคำสอน ขอบวชในพระศาสนา ทำให้พระรัตนตรัยสมบูรณ์ มีพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา พระธรรมทำสอนนำไปปฏิบัติ และพระสงฆ์นำพระธรรมไปปฏิบัติ และประกาศคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ หลังจากทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ยังได้ร่วมกันสวดภาวนาพุทธมนต์รตนสูตร เพื่อเสริมสร้างกำลังใจคุ้มภัย ป้องกันในสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิดที่กำลังระบาดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดวันนี้ พบผู้ติดเชื้อ 200 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยัน 1,779 ราย กำลังรักษา 1,240 ราย หายป่วยแล้ว 533 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 6 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - โควิดดับอีก 3 ป่วยเพิ่ม 202 ราย เร่งตั้งรพ.สนามชุมชนตำบล รองรับผู้ป่วย

สถานการณ์โรคโควิด-19ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย และพบผู้ป่วยรายใหม่ 202 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสม 2,613 ราย ขณะที่ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ สั่งเตรียมพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบลทุกตำบลรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ขอเดินทางกลับมารักษาที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 202 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุถึง 2,613 ราย กำลังรักษาอยู่ 1,578 ราย รักษาหายแล้ว 1,021 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รายแรกเป็นเพศชาย อายุ 48 ปี ชาว อ.กุฉินารายณ์ รายที่ 2 เพศชาย อายุ 53 ปี ชาว อ.หนองกุงศรี และรายที่ 3 เพศเพศหญิง อายุ 37 ปี ชาว อ.สมเด็จ โดยทั้ง 3 ราย มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากโควิด-19 และระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเจ้าหน้าที่และญาติได้ทำพิธีฌาปนกิจตามประเพณีแบบเรียบง่าย และตามมาตรการขั้นตอน ทั้งนี้ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 14 ราย

ขณะที่นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงลงพื้นที่ดูแลความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบล (Community Isolation) หลังจากมีนโยบายให้ทุกตำบลในจังหวัดจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะเดินทางกลับมายังภูมิลำเนาเพิ่มมากขึ้น ภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งนายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

โดยจุดแรกที่บริเวณสมอทอง รีสอร์ท เทศบาลตำบลภูดิน อ.เมืองกาฬสินธุ์  ที่ได้ปรับสถานที่จากจุดพักคอยเป็นโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบล โดยเป็นการให้บริการสาธารณาสุขแก่ผู้ป่วยโควิด-19  ที่มีอาการไม่หนัก หรืออยู่ในระดับสีเขียว และสำหรับผู้ป่วยที่รอการพักฟื้นเพื่อเฝ้าดูอาการ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ดูแล ซึ่งจะมีการตรวจเช็คอาการผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ เบื้องต้นสามารถรับผู้ป่วยได้เตียง 10 เตียง และอยู่ระหว่างการจัดสถานที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับให้แต่ละตำบลจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบลในทุกตำบล อย่างน้อยให้ได้ตำบลละ 20-30 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจจะมีเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่อำเภอนามน จ.กาฬสินธุ์ได้มีการยกระดับจากศูนย์พักคอย เป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 100 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย โควิด-19 โดยนางสาวอ้อมอารีย์  ยี่วาศรี นายอำเภอนามนได้ให้ทุกตำบลเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบล ให้ได้ประมาณ 20-50 เตียง ซึ่ง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก ทั้งภาคเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top