Saturday, 4 May 2024
กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – เห็ดเผาะหายากคนแห่เข้าป่า เก็บได้กินปีละครั้ง ราคาพุ่งกิโลกรัมละ 500 บาท

ผลกระทบจากการเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระทั่งบรรยากาศการเก็บเห็ดเผาะในป่าสงวนแห่งชาติดงระแนงที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งพบว่ามีชาวบ้านในพื้นที่และต่างจังหวัด แห่เข้ามาหาเก็บไปเป็นอาหารจำนวนมาก คนเก็บเยอะกว่าเห็ด และกลายเป็นของป่าหายากได้กินปีละครั้ง จึงทำให้ราคาแพงถึง ก.ก.ละ 400-500 บาท

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพของประชาชนทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ค้า และผู้บริโภคทั่วไป ที่ต่างปรับตัวเพื่อเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะในส่วนของการหาอาหารยังชีพ ในสภาวะที่ตลาดในเมือง และตลาดนัดหลายแห่งปิดตัวลง ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงพบว่าตามแหล่งน้ำ ป่าธรรมชาติ มีชาวบ้านออกหาอาหารตามฤดูเป็นจำนวนมาก เช่นที่บริเวณป่าดงระแนงพื้นที่รอยต่อหลายตำบลของ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พบว่ามีชาวบ้านในพื้นที่และต่างจังหวัด แห่เข้ามาหาเก็บไปเป็นอาหารจำนวนมาก โดยเฉพาะเห็ดเผาะ มีคนเก็บเยอะกว่าเห็ด และกลายเป็นของป่าหายาก เพราะมีปีละครั้งจึงทำให้ราคาแพงถึง ก.ก.ละ 400-500 บาท

นายศักดิ์กล ทองขันธ์ อายุ 68 ปี ชาวบ้านตูม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้จะพบว่าประชาชนอกหาอาหารตามธรรมชาติ เช่น ลงจับปลาตามแหล่งน้ำ และเข้าป่าหาแหย่ไข่มดแดง เก็บเห็ด ดอกกระเจียว และผักหวานป่า ซึ่งเป็นอาหารตามฤดูกาล เพื่อนำมาประกบอาหารในครัวเรือน ทดแทนการเข้าไปหาซื้อตามท้องตลาดในเมือง และตลาดนัด ซึ่งเสี่ยงต่อการได้ติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ยังเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือนชดเชยการซื้ออาหารจากร้านค้า และบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนอาหารในช่วงนี้เป็นอย่างดี

ด้านนายนิรันดร์  วันยุทธิ์ อายุ 38 ปี  บ้านเลขที่ 41 หมู่ 2 บ้านดอกเจี้ย ต.น้ำอ้อม อ.กระนวน จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นฤดูฝนซึ่งเห็ดเผาะจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตนและเพื่อนบ้าน ได้เดินทางข้ามจังหวัดมาหาเก็บเห็ดเผาะที่บริเวณป่าดงระแนง ซึ่งเห็ดเพาะของที่นี่ จะมีรสชาติกรอบ หอม นุ่ม มัน อร่อยกว่าเห็ดจากป่าดงต่าง ๆ จึงพบว่ามีชาวบ้านทั้งในพื้นที่และต่างอำเภอ ต่างจังหวัด นำอุปกรณ์สำหรับหาเก็บเห็ดเผาะที่เกิดอยู่ใต้ผิวดิน โดยจับกลุ่มกันเข้ามาหาเป็นจำนวนมาก

นายนิรันดร์กล่าวอีกว่า เห็ดเผาะถือเป็นของป่าหายาก จะเกิดปีละครั้งและระยะสั้น ๆ หรืออย่างนานไม่เกิน 1 เดือนในช่วงเริ่มต้นฤดูฝนเท่านั้น พอเห็ดเผาะเกิดทีจึงมีชาวบ้านเข้ามาหาเก็บไปประกอบอาหาร ซึ่งสามารถปรุงเป็นอาหารได้หลายเมนู เช่น นึ่ง แกง ห่อหมก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งตลาดหลายแห่งปิด และผู้คนไม่กล้าเข้าไปหาซื้ออาหารตามท้องตลาด จึงพบว่าพากันแห่เข้ามาเก็บเห็ดเผาะเป็นจำนวนมาก ทำให้เผาะที่หายากอยู่แล้ว หายากกว่าเดิมอีก ทำให้มีการซื้อขายกันในราคาที่สูงถึง ก.ก.ละ 400 บาท หรือหากนำไปขายต่อราคา ก.ก.ละ 500 บาททีเดียว สำหรับตนจะไม่ขาย เพราะหายาก เมื่อเก็บได้แล้วจะนำไปประกอบอาหาร หรือหากได้มากๆก็จะเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อถนอมไว้กินนาน ๆ

กาฬสินธุ์ – อดีตพยาบาลสาว สร้างอาชีพสู้ภัยโควิด-19 ผันชีวิตทำเกษตรรายได้เดือนละแสน

อดีตพยาบาลสาวชาวอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ลาออกจากงานผันชีวิตมาทำเกษตรผสมผสาน สร้างอาชีพสู้ภัยโควิด-19 ทั้งเลี้ยงไก่ดำ ปลูกผักหวาน ปลูกไผ่ เลี้ยงด้วงขายสร้างรายได้เดือนละแสน

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีอดีตพยาบาลสาวได้ลาออกจากงานกลับมาบ้าน เพื่อมาทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงลงพื้นที่ไปที่บ้านเลขที่ 252 บ้านโนนสำราญ ม.5 ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง  จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นบ้านของ น.ส.ธัญลักษณ์ มหัทธนยศนันท์  อายุ 41 ปี ซึ่งเป็นอดีตพยาบาลที่ลาออกมาทำการเกษตรและเปิดเป็นฟาร์มการเกษตร ชื่อพรเจริญฟาร์ม

โดย น.ส.ธัญลักษณ์ ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ตนทำงานเป็นพยาบาลโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี ซึ่งในระหว่างที่ยังทำงานประจำอยู่ก็ได้ลองลงมือทำการเกษตร โดยการปลูกพืชก่อนเป็นอันดับแรกเช่น ปลูกกล้วย ผักหวาน ปลูกไผ่สายพันธุ์ต่างๆ ไว้ที่สวนของตนเองที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งจะเดินทางกลับมาดูแลสวนทุกๆวันหยุด จาก จ.ชลบุรี-มาที่ อ.เขาวง  จ.กาฬสินธุ์ ทำลักษณะนี้อยู่ประมาณ 2 ปี พบว่า การปลูกพืชอย่างเดียวยังไม่ตอบโจทย์ และรายได้ที่เข้ามายังน้อยมาก ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยศึกษาการเลี้ยงไก่ดำเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้อย่างแน่นอน อีกทั้งหลังจากที่ทำงานมาหลายปีตนเองก็รู้สึกว่าเหนื่อยแล้วกับการทำงานที่ทำอยู่ ประกอบกับเป็นคนที่ชอบเรื่องการเกษตรอยู่แล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากงาน กลับมาทำเกษตรแบบผสมผสานอย่างจริงที่บ้าน

น.ส.ธัญลักษณ์ กล่าวต่อว่า จากนั้นจึงลงมือทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างจริงจัง โดยมีพื้นที่ 6 ไร่ แบ่งทำนา 2 ไร่ สระน้ำเลี้ยงปลา 1 ไร่ ปลูกไผ่ 1 ไร่ ส่วนที่เหลือทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์หลายอย่าง ทั้งเลี้ยงไก่ดำ KU ภูพาน ขายลูกอายุ 21วัน ตัวละ 50 บาท อายุ 1 เดือนขายตัวละ 70 บาท อายุ 2 เดือนขายตัวละ 150บาท  ไก่ดำชำแระขายกิโลกรัมละ180 บาท โดยก็มีลูกค้าประจำทั้งต่างจังหวัดและแถวๆใกล้บ้าน ปลูกผักหวานเก็บยอดขาย กิโลกรัมละ 300 บาท และบางครั้งก็จำหน่ายเมล็ดด้วย ปลูกไผ่กิมซุงตัดหน่อขายโดยการชั่งเป็นกิโลกรัมๆละ50บาท เลี้ยงด้วงสาคูขายปลีก กิโลกรัมละ 250 บาท ราคาส่งกิโลกรัมละ 200 บาท

นอกจากนี้ยังเลี้ยงหนูนาหรือหนูพุกขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งจะขายเป็นชุด โดยหนูอายุ 3-4 เดือนตัวผู้ 1 ตัวและตัวเมีย 2 ตัว จะขายอยู่ที่ราคา 1,000บาท และขายเป็นหนูเนื้อกิโลกรัมละ 200-250บาท และตอนนี้กำลังวางแผนที่จะเลี้ยงหอยเชอรี่กับปลาไหลเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้มีรายได้ให้เข้ามาตลอดทั้งปี

น.ส.ธัญลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการทำเกษตรผสมผสานและเลี้ยงสัตว์ที่ทำอยู่นั้น นอกจากจะเป็นสร้างอาชีพให้กับตนเองมีงานทำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว อาชีพนี้ยังลดความเสี่ยงในการทำงานในสถานที่ที่มีผู้คนแอดอัดด้วย อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวในการสู้ภัยโควิด-19  เฉลี่ยประมาณ 100,000บาท ต่อเดือน ซึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือเก็บเดือนละประมาณ 70,000-80,000 บาท ถือว่าเป็นรายได้ที่มากพอสมควรในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ซึ่งจะเห็นว่าอาชีพการเกษตรนั้นยังมีเสน่ห์ มีอนาคต และสามารถสร้างรายได้แบบยั่งยืน เฉพาะในยุคโควิดระบาด หากเปลี่ยนวิธีคิด อย่างไรก็ตามสำหรับท่านที่ต้องการสอบถาม หรืองต้องการเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์ม ก็สามารถสอบถามได้ทาง Facebook  ไก่ดำ ไก่บ้าน พรเจริญฟาร์ม หรือโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 097-0821444

กาฬสินธุ์ - เขื่อนลำปาวน้ำลด ชาวบ้านนำสัตว์ไปเลี้ยงแทนทุ่งนา เพื่อเพียงพอหน้าแล้ง

ผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง และสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนลำปาวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสภาพที่เคยเป็นท้องน้ำเกิดสันดอน และกลายเป็นแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์บริเวณกว้าง ให้ชาวบ้านต้อนฝูงวัว ควาย เข้าไปเลี้ยง ขณะที่ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ขอความร่วมมือประชาชนในช่วงหยุดการส่งน้ำ ช่วยกันบำรุงรักษาคูคลองละใช้น้ำอย่างประหยัด

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงเริ่มต้นเดือนแรกของฤดูฝน พบว่าเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและยังไม่ตกลงมาตามดูกาล ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนจัด ปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำทั่วไป โดยเฉพาะเขื่อนลำปาวเกิดการระเหยและลดระดับลงอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำไหลลงเขื่อน ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเพียง 455 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23 % จากความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ผลจากระดับน้ำในเขื่อนลำปาวลดลงดังกล่าว ทำให้บริเวณท้ายเขื่อนและริมฝั่ง รวมทั้งส่วนที่เคยเป็นผืนน้ำในฤดูฝน เกิดสันดอนและกลายเป็นทุ่งหญ้า ให้ชาวบ้านต้อนฝูงวัว ควาย ลงไปเลี้ยง บางส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงปลูกพืชเป็นอาชีพเสริมในฤดูแล้งอีกด้วย

ขณะที่นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า ทางโครงการฯ ได้ทำการหยุดส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรรมการบริการจัดการน้ำ และดำเนินการตามปฏิทินปฏิบัติ  เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรม โดยหลังจากหยุดส่งน้ำแล้วก็จะมีการซ่อมแซมคลองส่งน้ำและดูแลขุดลอกตะกอนดิน เพื่อเตรียมความพร้อมของคลองไว้สำหรับการส่งน้ำเพาะปลูกข้าวฤดูฝน ที่จะดำเนินการส่งน้ำในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564

นายฤาชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งนี้ เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคแน่นอน อย่างไรก็ตาม อยากจะขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ได้ร่วมกันใช้อย่างอย่างประหยัด เนื่องจากฝนยังทิ้งช่วง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทั้งนี้ ในส่วนของเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เช่น ชาวนา ชาวประมง เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ที่ใช้น้ำจากคลองสายเล็กหรือคลองไส้ไก่ ในช่วงที่ทางโครงการหยุดส่งน้ำดังกล่าว ก็ให้ช่วยกันซ่อมแซมคูคลอง เพื่อน้ำจะได้ไหลสะดวกในช่วงทำการระบายน้ำในโอกาสต่อไป ในขณะเดียวกันทางโครงการได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบ ออกสำรวจตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะให้ผู้ใช้น้ำได้รับน้ำอย่างทั่วถึง


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – ชาวบ้านพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำพิธีไหว้ผีปู่ตา จุดบั้งไฟไล่โรคร้ายโควิด

ชาวบ้านในตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกันประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์กราบไหว้เลี้ยงผีปู่ตา และบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษ พร้อมจุดบั้งไฟเสี่ยงทายฟ้าฝน เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนถึงฤดูทำนา และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ขอให้ชาวบ้านรอดพ้นจากวิกฤติโรคร้าย โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ให้สูญหายไปจากโลกนี้

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่บริเวณดอนปู่ตาบ้านตูม หมู่ 4 และหมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 4 นายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 19 และนายบรรเจิด สุธรรมมา พ่อขะจ้ำ หรือปราชญ์ชาวบ้าน นำชาวบ้านประกอบพิธีกราบไหว้เลี้ยงผีปู่ตา และบวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษตามประเพณีวิถีชีวิตของคนอีสาน เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนถึงฤดูทำนา และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ชาวบ้านรอดพ้นจากวิกฤติโรคร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคโควิด-19  โดยทุกคนที่เข้าร่วมพิธีต้องสวมหน้ากากอนามัย ขณะที่ อสม. ได้ตั้งจุดคัดกรอง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 4 กล่าวว่า การประกอบพิธีเลี้ยงผีปู่ตา หรือปู่หอเหนือ และบวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รุกขเทวา ที่สถิตอยู่ ณ บริเวณดอนปู่ตาก็เพื่อขอให้ปกปักรักษาสรรพชีวิต และพืชพันธุ์ธัญญาหาร ให้อุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ถือเป็นการสืบสานประเพณีวิถีชีวิตของชาวอีสาน ที่มีการสืบทอดให้อยู่คู่ชุมชนมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งในส่วนของชาวบ้านตูม ก็ได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี โดยชาวบ้านที่มาร่วมพิธี จะนำใบมะพร้าวมาทำเป็นสัญลักษณ์ แทนทรัพย์สินสิ่งของ เช่น บ้านเลขที่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โฉนดที่ดิน โดยเขียนเลขที่บ้าน ทะเบียนรถ เลขที่โฉนด นส 3 ก. มาสักการบูชาที่ศาลปู่ตา จากนั้นวางไว้ในบริเวณพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อให้ผีปู่ตา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองรักษา

ด้านนายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 19 กล่าวว่า พิธีเลี้ยงผีปู่ตา หรือปู่หอเหนือ บวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านตูมร่วมกันจัดขึ้นดังกล่าว ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีก่อนแยกย้ายกันลงมือทำนา ทั้งนี้หลังจากร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวง ด้วยไก่ต้ม เหล้าขาว และเครื่องบวงสรวงต่างๆแล้ว ชาวบ้านก็จะร่วมกันแห่บั้งไฟไปรอบๆศาลปู่ตา 3 รอบ จากนั้นทำการจุดบั้งไฟเสี่ยงทายฟ้าฝน

นายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) กล่าวอีกว่า เนื่องจากในช่วงนี้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอำเภอยางตลาดมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดใน จ.กาฬสินธุ์มาถึง 34 ราย จากจำนวนสะสมทั้งจังหวัด 94 ราย ถึงแม้ผู้ติดเชื้อจะหายดีแล้ว แต่โรคนี้ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ในหลายภูมิภาค และอาจจะแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นในการประกอบพิธีเลี้ยงผีปู่ตาในครั้งนี้ นอกจากชาวบ้านได้ขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายแล้วยังจุดบั้งไฟขับไล่โรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดทำให้มีผู้ได้รับเชื้อเจ็บป่วย  และเสียชีวิตให้หนีหายไป

อย่างไรก็ตามสำหรับจากการจุดบั้งไฟขับไล่โควิด-19 และเสี่ยงทายฟ้าฝนครั้งนี้ พ่อขะจ้ำหรือปราชญ์ชาวบ้านทำนายจากการที่บั้งไฟพุ่งทะยานขึ้นไปบนท้องฟ้าว่า ฝนฟ้าจะดี มีตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ และอาจจะเกิดภาวะอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งชาวบ้านจะได้อธิษฐานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง รวมทั้งขับไล่โรคติดเชื้อโควิด-19 สูญหายไปจากสังคมไทยอีกด้วย

(สัมภาษณ์ นายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่19)

กาฬสินธุ์ – สยบดราม่า “จนทิพย์” น้องโวลต์ เด็กเก่งสอบติดแพทย์ ชี้แจงว่าจนจริง สิ่งของที่มีมาจากการทำงานเก็บเงินซื้อ

เปิดใจ “น้องโวลต์” นักเรียนเก่งสอบติดแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังเจอกระแสดราม่า “จนทิพย์” ระบุสิ่งของเครื่องใช้ที่เห็นทุกอย่างได้มาจากการทำงานตั้งแต่เรียนม.3เก็บเงินซื้อ เพื่อใช้ในการศึกษา พร้อมชี้แจงและขอบคุณผู้ใจบุญ ขณะที่นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ลงพื้นที่ให้กำลังใจ พ่อปลูกผักขายจนจริง พร้อมตั้งคณะกรรมการและที่ปรึกษาดูแลบัญชีเบิกจ่ายค่าเล่าเรียน 

จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวและโลกออนไลน์เผยแพร่เรื่องราวของนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ อายุ 18 ปี นักเรียนโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 9 บ้านหามแห ต.โพนทอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่สอบติดแพทย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ฐานะทางบ้านยากจน พ่อปลูกพืชผักขาย โดยมีการเปิดรับบริจาค กระทั่งนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบมีผู้ใจบุญบริจาครวมจำนวนเงินกว่า 2,700,000 บาท และได้ปิดรับบริจาคไปแล้ว เนื่องจากเพียงพอสำหรับการเรียนแพทย์แล้วนั้น

ทั้งนี้ต่อมาเรื่องดังกล่าวกลับกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากในโลกออน์ไลน์มีการจับโป๊ะภาพจากคลิปวีดีโอต่าง ๆ ของน้องโวลต์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยมีชาวเน็ตจับผิดเห็นไอแพดโปร ซึ่งมีราคากว่า 25,000 บาท นอกจากนี้ยังมีแอปเปิ้ล เพนซิล ขวดน้ำหอมดิออร์ยี่ห้อหรู รถยนต์ อินเตอร์เน็ตไวไฟ การจัดฟัน มีการตั้งข้อสงสัยว่าจนจริงหรือไม่ กระทั่งมีข้อความ “จนทิพย์” เป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ มีการพูดคุยกันมากว่า 2 แสนครั้ง รวมทั้งโลกออนไลน์มีการพูดคุยกันจำนวนมาก

ล่าสุดเมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบและให้เข้าเยี่ยมครอบครัวนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ อายุ 18 ปี ที่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 9 บ้านหามแห ต.โพนทอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์อีกครั้ง หลังมีกระแสดราม่า โดยพบครอบครัวน้องโวลต์อาศัยอยู่บ้านพัก ลักษณะเพิงหมาแหงนมุงสังกะสี ปลูกสร้างอยู่กลางสวนท้ายหมู่บ้านเหมือนเดิม โดยน้องโวลต์ พร้อมด้วยนายธนวุฒิ เหล่าบุบผา อายุ 53 ปี พ่อน้องโวลต์ และครอบครัว รอให้ข้อมูล

นางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ อายุ 18 ปี กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอกราบขอบพระคุณผู้ใจบุญที่ช่วยกันบริจาคเงินให้กับตนทุกท่าน ไม่คาดคิดว่าจะมีผู้ใจบุญบริจาคเงินจำนวนมากขนาดนี้ ซึ่งยืนยันว่าตนจะนำไปเป็นทุนการศึกษาในการเรียนแพทย์ เพราะอยากเป็นหมอมารักษาคน และจะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด

นางสาวณัฐวดี กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีมีกระแสดราม่าจนทิพย์ บอกว่าครอบครัวของตนไม่จนจริงนั้น ที่จริงแล้วไม่อยากพูด แต่เมื่อมีกระแสมีก็พร้อมที่จะชี้แจงทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการจัดฟัน ตนทำงานพาดไทม์หลังเลิกเรียนหารายได้พิเศษมาตั้งแต่ ม.3 ซึ่งตอนนั้นฟันมีปัญหาได้ไปพบแพทย์แนะนำให้จัดฟันและรักษาไปด้วยเริ่มทำตอนม.4 ตอนนั้นพอมีเงินเก็บจากการทำงานจึงตัดสินใจรักษา เรื่องที่ 2 ไอแพด ตนทำงานเก็บพาดไทม์เช่นกัน พยายามเก็บหอมรอมริบประมาณ 1 ปีเศษ จึงซื้อมาใช้เพื่อค้นคว้าข้อมูลในการเรียน ส่วนอินเตอร์เน็ตไวไฟก็เป็นของพี่ชายที่ติดตั้งไว้ทำงานมีค่ารายเดือน 600 บาท พี่ชายเป็นคนชำระ

 นางสาวณัฐวดี กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีน้ำหอมนั้นตนซื้อมาในอินเตอร์เน็ตมือสอง ราคา 300 บาท มีน้ำหอมเหลือก้นขวด เอามาตั้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ใช้ ส่วนรถยนต์นั้นไม่ใช้ของครอบตน เป็นรถยนต์ของน้า ซื้อให้ลูกสะใภ้ใช้ ซึ่งหลังเกิดกระแสครั้งนี้ตนก็รู้สึกเสียใจ เพาะสิ่งที่ตนพูดไปนั้นเป็นความจริง ครอบครัวยากจนจริง ๆ ตนต้องทำงานหาเงินเรียนมาตั้งแต่ ม.3 ไม่อยากขอเงินพ่อ แม่อย่างเดียว และอยากให้ครอบครัวดีขึ้น กระทั่งมีความสนใจอยากเรียนแพทย์และอยากเป็นหมอ อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนก็ได้ปิดบัญชีแล้ว และยืนยันว่าจะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด

ด้านนายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า  จากการตรวจสอบล่าสุดสอบครอบครัวนี้ค่อนข้างยากจน พ่อปลูกผักขาย ส่วนแม่ไม่มีอาชีพ ขณะที่น้องโวลต์นั้นก็เป็นเด็กเรียนเก่งขยัน อย่างไรก็ตามล่าสุดพบว่ามีผู้บริจาคเข้ามา รวมจำนวน 3,795,000 บาท ซึ่งขณะนี้ได้ปิดรับจาคและปิดบัญชีแล้ว โดยเบื้องต้นได้ให้น้องไปทำแผนค่าใช้จ่ายเรียนแพทย์ 6 ปีมาว่า มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และจะตั้งเป็นคณะกรรมการและที่ปรึกษาในการเบิกไปใช้จ่าย ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้แยกบัญชีออกมาเป็นทุนไว้เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางต่อไป เพื่อให้เงินบริจาคเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ใจบุญและความตั้งใจของน้องโวลต์

กาฬสินธุ์ – ชาวบ้านก่อเจดีย์ทราย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรพ้นวิกฤตโควิด-19

เจ้าคณะตำบลบัวบาน ร่วมกับคณะสงฆ์ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านตูม ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ สืบสานประเพณีก่อเจดีย์ทราย บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน โดยเซิ้งบั้งไฟเล็กขอฝนจากพญาแถน ผ่านพ้นวิกฤติแล้ง บันดาลฝนตกตามฤดูกาล พร้อมน้อมจิตอธิษฐานขอพรรอดพ้นวิกฤตโรคติดเชื้อโควิด-19 ในเร็ววัน

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่โบราณสถานโนนบ้านเก่า บ้านตูม หมู่ 4 และหมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พระครูโพธิชยานุโยค เจ้าคณะตำบลบัวบาน นางละมุล ภักดีนอก ผญบ.บ้านตูม หมู่ 4 และนายบรรเจิด สุธรรมา พ่อขะจ้ำหรือปราชญ์ชาวบ้าน ร่วมกับผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ประกอบพิธีก่อเจดีย์ทราย บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปู่หอใต้หอเหนือ โดยทำบุญเลี้ยงพระ เซิ้งบั้งไฟ และจุดบั้งไฟเสี่ยงทาย ขอฝนจากพญาแถน  ซึ่งเป็นการสืบสานประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน ก่อนถึงฤดูทำนา พร้อมขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ชาวกาฬสินธุ์และชาวไทยทั่วประเทศผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 โดยเร็ว

นางละมุล  ภักดีนอก ผญบ.บ้านตูม หมู่ 4 กล่าวว่า ในช่วงก่อนฤดูทำนาทุกปี หลังจากวันพืชมงคล ชาวบ้านตูมจะร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เลี้ยงปู่หอใต้หอเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน ที่สถิตอยู่ ณ ดอนตาปู่และโบราณสถานโนนบ้านเก่า โดยมีการก่อเจดีย์ทราย โรยแป้ง ประดับด้วยริ้วธงหลากสี ทั้งนี้ เพื่อบวงสรวงเซ่นไหว้ อธิษฐานขอพร พร้อมทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล ถือเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ให้ลูกหลานร่วมสืบสาน

ด้านนายบรรเจิด สุธรรมา พ่อจะจ้ำหรือปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า พิธีบวงสรวงปู่หอใต้หอเหนือ และบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธ์ โดยก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสักการะดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ตลอดจนพระภูมิเจ้าที่ ตามความเชื่อของชาวบ้าน เป็นวิถีชุมชนที่ปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี โดยมีความเชื่อว่าการก่อเจดีย์ทราย เป็นการเริ่มต้นการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่เจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จตลอดไป ซึ่งเป็นความเชื่อที่ปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล นอกจากนี้ยังมีการเซิ้งบั้งไฟ และจุดบั้งไฟ เพื่อเสี่ยงทายและขอฝนจากพญาแถน ทั้งนี้เพื่อดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เนื่องจากอาชีพหลักขางชาวบ้านคือการทำนาและเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

อย่างไรก็ตาม ในขณะประกอบพิธีก่อเจดีย์ทรายและบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธ์ดังกล่าว ชาวบ้านยังได้น้อมจิตอธิษฐาน ขอพรปู่หอใต้หอเหนือและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปกป้องคุ้มครองภัย ทั้งผู้คนและพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดู ผลผลิตข้าวได้มาก ราคาสูง อาชีพเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาประสบความสำเร็จ และภาวนาให้ชาวกาฬสินธุ์ และชาวไทยทั่วประเทศรอดพ้นจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ในเร็ววันอีกด้วย

กาฬสินธุ์ – คณะสงฆ์มอบสิ่งของช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ตามโครงการจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ มอบสิ่งของให้กับผู้ได้ที่รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามโครงการจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 
วันที่ 18 พ.ค.64 ที่วัดเวฬุวัน ต.นิคม อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์  พระครูสิทธิวราคม ดร. เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ (ธ) ตัวแทนคณะสงฆ์ อ.สหัสขันธ์ พร้อมด้วยสำนักงานวัฒนธรรมจ.กาฬสินธุ์ มอบสิ่งของยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง และไข่ไก่สด ให้กับนายตระกูล หนูนิล นายอำเภอสหัสขันธ์  เพื่อนำไปมอบให้กับครอบครัวผู้ยากไร้ ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งพื้นที่อ.สหัสขันธ์มี 1 หมู่บ้านที่ต้องกักตัวกว่า 29 ครัวเรือน เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบครัว 5 ราย โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกิจกรรมตามโครงการจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ภายใต้การควบคุมตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 D-M-H-T-T-A  โดยจุดแรกที่นำไปมอบคือพื้นที่ ต.โนนแหลมทอง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์


พระครูสิทธิวราดม ดร. เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ (ธ) กล่าวว่า  เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์  ในงบประมาณประจำปี 2564 ภายใต้โครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุฤดูร้อน สามเณร และบวชชีพราหมณ์ ภาคฤดูร้อน เป็นกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้ทำร่วมกันโดยคณะสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย ใน 8 ตำบล มีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่สด นม และสาธารณูปโภคอื่น ๆ  เป็นถุงพระทำจำนวน 100 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน  และเพื่อเป็นรักษาตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดได้จำกัดจำนวนคนที่จะร่วมกิจกรรมไม่เกิน 50 คน มีจุดคัดกรอง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ มีการเว้นระยะห่าง และการบังคับสวมใส่แมสก์ 100% ภายในบริเวณวัด  ซึ่งประชาชนมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี


สำหรับอำเภอสหัสขันธ์ มี 1หมู่บ้าน 29 ครัวเรือน ที่ยังต้องกักตัว แม้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 5 ราย จะรักษาหายและกลับมาอาศัยที่บ้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนรอบข้าง จึงอยู่ในระหว่างการกักตัวต่ออีก 14 วัน นอกจากนี้ยังมีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจากพื้นที่สีแดงเข้ม ที่จะต้องกักตัวอีกกว่า 60 ราย  นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ฐานะยากจน ที่จะต้องให้การดูแลในระยะนี้


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์
 

กาฬสินธุ์ – ประกาศเขตโรคระบาดทั้งจังหวัด พบสัตว์ป่วยโรค ‘ลัมปีสกิน’ หลายอำเภอ

จังหวัดกาฬสินธุ์ประกาศเป็นพื้นที่เขตโรคระบาด พร้อมห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ หลังพบโคและกระบือป่วยโรคลัมปีสกินหลายอำเภอ ขณะที่ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่สำรวจและให้การช่วยเหลือเกษตรกร
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564  ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านทุ่งกระเดา หมู่ที่ 5 ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ หลังจากได้รับแจ้งว่ามีโคและกระบือของเกษตรกรป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สำหรับประเทศไทย และเป็นกาแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกในหมู่บ้าน เบื้องต้นได้พบกับนางสมพร ปาวรี อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่1/1 หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง  จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เลี้ยงโคและได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน


โดยนางสมพร กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาเริ่มมีการระบาดของโรคลัมปี สกินในหมู่บ้านข้างเคียง และได้มีการระบาดมายังหมู่บ้านของตน แต่ก็ไม่คาดคิดว่าโรคลัมปี สกิน จะติดต่อมายังวัวของตนเองได้เร็วขนาดนี้  โดยปกติแล้วตัวเองเลี้ยงวัวอยู่ 5 ตัว ปัจจุบันวัวติดโรคลัมปี สกินแล้ว 2 ตัว ซึ่งเป็นแม่ลูกกัน และเป็นโรคลัมปี สกิน มาประมาณ 2-3วันแล้ว หลังจากที่รู้ว่าวัวทั้ง 2 แม่ลูกติดโรคระบาด ก็ได้ทำการแยกออกจากฝูงนำไปเลี้ยงไว้ที่อื่นก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการติดไปยังวัวที่เหลือ


นางสมพร กล่าวอีกว่า สำหรับอาการของโรคลัมปี สกินนั้น จะมีตุ่มขึ้นตามตัวของวัว แต่เบื้องต้นมีไม่มาก แต่มีอาการซึม ไม่กินนม ไม่กินหญ้า หรือแม้แต่น้ำก็ไม่กิน อีกทั้งยังมีน้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ตัวเองเกิดความวิตกกังวลว่าวัวที่ตัวเองเลี้ยงนั้นจะเสียชีวิตเหมือนกับวัวของคนอื่นที่เคยเป็นข่าว ทั้งนี้เบื้องต้นได้แจ้งไปยังปศุสัตว์อำเภอเขาวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดูแล เพื่อทำการรักษาแล้ว แต่ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์แจ้งว่ายังไม่มีวัคซีนหรือยาที่สามารถรักษาได้โดยตรง ได้แต่เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยมาให้คำแนะนำหรือช่วยแก้ไขบรรเทาปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย เพราะเท่าที่ทราบตอนนี้พื้นที่อำเภอเขาวงได้มีการระบาดของโรคลัมปี สกินในหลายตำบลแล้วเช่น ตำบลกุดปลาค้าว ตำบลคุ้มเก่า  ตำบลสระพัง หรือแม้กระทั่งในอำเภอติดกันอย่างอำเภอนาคู และอำเภอกุฉินารายณ์ก็มีสัตว์ป่วยเป็นโรคนี้จำนวนมาก จึงอยากให้ช่วยนำไปพิจารณาเป็นปัญหาเร่งด่วนด้วย


ขณะที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้ลงนามในประกาศจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เรื่องกำหนดเขตโรคระบาด ชนิดโรคลัมปีสกิน ในสัตว์ชนิดโค กระบือ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ด้วย จ.กาฬสินธุ์พบว่ามีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดในสัตว์(ชนิด) โคเนื้อป่วยด้วยโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดไปยังจังหวัดอื่นๆได้ จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด


ดังนั้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์จึงออกประกาศไว้ดังนี้ 1.ให้ท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปีสกินในสัตว์ชนิดโค กระบือ 2.ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ ชนิดโค กระบือ หรือซากสัตว์ดังกล่าวเข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตว์แพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ


อย่างไรก็ตามล่าสุดทางนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ยังได้สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์ และอำเภอทั้ง 18 อำเภอ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจ ให้ความรู้ และให้การช่วยเหลือเกษตรกรในการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วนแล้ว

กาฬสินธุ์ – ส่งทีมนักรบชุดขาว เสริมทัพโรงพยาบาลบุษราคัมกรุงเทพมหานคร สู้ภัยโควิด

โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ส่งทีมนักรบชุดขาวบุคลากรแพทย์ พยาบาล เข้าเสริมทัพสนับสนุนการปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร สู้ภัยโควิด-19 ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย  รวมมีผู้ป่วยสะสม 100 ราย หายป่วยกลับบ้านแล้ว 68 ราย
เมื่อเวลา 07.30 น.วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ที่บริเวณหน้าอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินหลังเก่า โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ร่วมกันส่งทีมแพทย์ พยาบาล  นักรบชุดขาวโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร สู้ภัยโควิด-19


ทั้งนี้ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ ได้เข้ากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และร่วมมอบช่อดอกไม้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ให้กับทีมแพทย์ พยาบาล  นักรบชุดขาวโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ นำโดยมีนายแพทย์ณัฐพล  สัตย์ซื่อ นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เป็นหัวหน้าทีม ในครั้งนี้


นายแพทย์ณัฐพล  สัตย์ซื่อ กล่าวว่า ทีมบุคลากรที่เดินทางไปสนับสนุนการปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร ช่วยภัยโควิด-19 ครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 คน โดยมีทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทุกคนต่างเต็มใจและพร้อมที่จะเดินทางไปสนับสนุน การทำงาน เพื่อร่วมคลี่คลายสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้มีสถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว โดยยืนยันว่าจะนำความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาและประสบการณ์ที่ได้ทำงานที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ไปร่วมกับทุกหน่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร อย่างเต็มความสามารถต่อไป


ด้านนพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า บุคลากรของโรงพยาบาล รวมทั้งชาวกาฬสินธุ์จะเป็นกำลังใจ และขอให้ทุกคนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ได้มีกำลังใจ ซึ่งการที่เราเข้ามาอยู่ในหน่วยงานสาธารณสุข เราจะต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ขอให้กำลังใจผู้ที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความเสียสละ ขอให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ทุกคนทั่วประเทศ เราจะสู้ไปพร้อมกันและเราจะชนะไปพร้อมกัน ทีมกาฬสินธุ์ทุกคนมีขวัญกำลังใจ และมีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างเต็มที่


ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์รายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย  โดยผู้ป่วยเดิม 99 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 100 ราย หายป่วยวันนี้ 2 ราย หายป่วยสะสม 68 ราย ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 31 ราย และ เสียชีวิต 1 ราย โดยทางจังหวัดยังคงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกท่านได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ให้กักตัวในที่พำนัก 14 วัน หรือตามระยะเวลาพำนักที่น้อยกว่า และให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ (ผอ.รพ.สต./กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) หรือ อสม.

กาฬสินธุ์ - รณรงค์อสม.สร้างความเข้าใจชาวบ้าน เร่งฉีดวัคซีนบุคลากรด่านหน้า

“วันเพ็ญ เศรษฐรักษา” ที่ปรึกษารมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินสายนำ อสม.เคาะประตูบ้านรณรงค์ให้ความรู้และเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอยางตลาดเร่งฉีดวัคซีนบุคลากรปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่หอประชุมเทศบาลตำบลโคกศรี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์  นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประจักษ์ ภูแลขำ นายกเทศมนตรีตำบลโคกศรี นายสุวิทย์ ภูมิ่งศรี นายกเทศมนตรีตำบลอุ่มเม่า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอยางตลาด ลงพื้นที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับอสม.และร่วมกันเดินเคาะประตูบ้านประชาชนใน ต.โคกศรี ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และประชาชนทั่วไป เพื่อรณรงค์เชิญชวนประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ พร้อมระดมแรงศรัทธาจากหลายภาคส่วนจัดผ้าป่ารับมอบประกันภัยโควิดให้กับอสม.ในพื้นที่ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน

จากนั้นนางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด นายประสิทธิชัย กัลยาสนธิ สาธารณสุขอำเภอยางตลาด เข้าเยี่ยมการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ รพ.สต.เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 250 คน พร้อมมอบอาหาร และน้ำดื่มให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีน ที่หอประชุม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับ อสม.มาอย่างต่อเนื่องหลายตำบลใน อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย และอ.ร่องคำ พบว่า อสม.และประชาชนมีความเข้าใจในประโยชน์ของการฉีดวัคซีน รับทราบถึงความปลอดภัย มีความตื่นตัวต้องการที่จะลงทะเบียนฉีดวัคซีนมากขึ้น หลายคนพร้อมที่จะฉีด เพื่อป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19ให้กับตนเอง ซึ่งตนเองพร้อมคณะ รวมทั้งอสม.จะยังคงลงพื้นที่เคาะประตูบ้านรณรงค์กับประชาชนให้ครบทุกตำบลและหมู่บ้านต่อไป เพื่อให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนมากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ด้านนายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า และมีส่วนสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ อ.ยางตลาด จำนวน 250 คน โดยการฉีดวัคซีนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ขอเชิญชวนประชาชนทุกครัวเรือน ร่วมลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อตัวเรา ชุมชนของเรา และประเทศไทยให้รอดพ้นจากสถานการณ์โควิด-19ในครั้งนี้

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ (20 พ.ค. 64) ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย  รวมมีผู้ป่วยสะสม 102 ราย หายป่วยสะสม 68 ราย ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 33 ราย และเสียชีวิต 1 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top