Saturday, 4 May 2024
กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - เตรียมรับมือมวลน้ำชีเพิ่มระดับสูงขึ้น เข้มป้องกันน้ำท่วม ผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนระบายน้ำวังยาง พร้อมสั่งเฝ้าระวัง รับมวลน้ำจากจ.ชัยภูมิ และขอนแก่น คาดอีก 6 วันถึงพื้นที่!

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ผู้สื่อขาวรายงานว่า จากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งพื้นที่พื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำชี ทำให้พื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งอยู่พื้นที่ท้ายน้ำและมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำชีต้องเฝ้าระวัง และเตรียมรับมวลน้ำที่จะไหลมา

ล่าสุดนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายเอกรัตน์ วิสา นายอำเภออำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนระบายน้ำวังยาง ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย  จ.กาฬสินธุ์ เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับปริมาณน้ำที่จะไหลมา โดยระดับน้ำในลำน้ำชีบริเวณเขื่อนระบายน้ำวังยาง ขณะนี้ประตูระบายน้ำของเขื่อนได้ทำการเปิดบานประตูทั้ง 6 บานในระดับสูงสุด เพื่อระบายน้ำในลำน้ำชี และลดผลกระทบที่จะได้รับจากการที่ลำน้ำชีมีปริมาณสูงขึ้น ซึ่งคาดว่ามวลน้ำจาก จ.ชัยภูมิ จ.ขอนแก่น และจ.มหาสารคาม จะเดินทางมาถึงบริเวณเขื่อนระบายน้ำวังยางในอีกประมาณ 6 วันข้างหน้า ทั้งนี้ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้ในอำเภอที่มีพื้นที่ติดกับลำชีให้แจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังและเตรียมรับมือกับปริมาณน้ำที่จะสูงขึ้น

กาฬสินธุ์ - รับสมัครเลือกตั้ง นายก-สมาชิกอบต. วันแรกคึกคัก!! แชมป์เก่าตบเท้าเข้าสมัคร

บรรยากาศการรับสมัครเลือกตั้งนายก-สมาชิกอบต.71 แห่งใน 18 อำเภอของจังหวัดกาฬสินธุ์สุดคึกคัก  โดยเฉพาะอบต.โคกสมบูรณ์ อำเภอกมลาไสย และอบต.นาไคร้ อำเภอกุฉินารายณ์ สองอดีตนายกแชมป์เก่านำทีมเข้ารับสมัคร  ขณะที่ กกต.กาฬสินธุ์ระบุ บรรยากาศการรับสมัครวันแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T ป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรับสมัครเลือกตั้งนายกอบต.และสมาชิกอบต.วันแรกจำนวน 71 แห่งใน 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะที่อบต.โคกสมบูรณ์ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายสายัน กมลมูล อดีตนายกอบต.โคกสมบูรณ์ แชมป์เก่า นำทีมกลุ่มรักบ้านเกิดโคกสมบูรณ์ เดินทางมาลงทะเบียนก่อนเวลาไล่เลี่ยกับว่าที่ผู้สมัครนายก อบต.โคกสมบูรณ์อีก 2 ราย โดยนายวิโรจน์ สมบัติมล ลงเวลาเป็นคนแรก ตามด้วยนายสุวรรณ ระวิชัย ก่อนที่นายสายัน กมลมูล ลงเวลาเป็นคนสุดท้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องให้ทำการจับสลากหมายเลข ผลปรากฏว่านายวิโรจน์ สมบัติมล ได้หมายเลข 1 นายสุวรรณ ระวิชัย ได้หมายเลข 2 และนายสายัน กมลมูล ได้หมายเลข 3

จากนั้นนายสายัน กมลมูล พร้อมทีมงานว่าที่ผู้สมัครได้นำดอกไม้ธูปเทียบเข้ากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำ อบต.โคกสมบูรณ์ และหลวงปู่บุญธรรม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองประจำตำบลโคกสมบูรณ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเอาฤกษ์เอาชัยวันสมัครเลือกตั้ง พร้อมมั่นใจในผลงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนชาว ต.โคกสมบูรณ์จะไว้วางใจให้โอกาสกลับเข้ามาเป็นนายกอบต.โคกสมบูรณ์อีกครั้ง

ขณะที่บริเวณอบต.นาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ บรรยากาศการรับสมัครนายกและสมาชิกอบต.คึกคักไม่แพ้กัน โดยเฉพาะนายภิรมณ์ อุทรักษ์ อดีตนายกอบต.นาไคร้ แชมป์เก่า นำทีมว่าที่ผู้สมัครสมาชิกอบต.นาไคร้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิกเก่าสมัยที่ผ่านมา เดินทางเข้ามาสมัครกันตั้งแต่ช่วงเช้า ท่ามกลางบรรดากองเชียร์และประชาชนเดินทางมามอบดอกไม้ให้กำลังใจกันจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีนายบุญพา บุญเสน ซึ่งเป็นอดีตกำนัน พร้อมทีมงานได้เดินทางมาสมัครด้วยเช่นกัน โดยทั้งสองคนได้เดินทางมาลงทะเบียนก่อนเวลา เจ้าหน้าที่จึงต้องให้จับสลากหมายเลขผลปรากฏว่านายบุญพา ได้หมายเลข 1 ส่วนนายภิรมณ์ แชมป์เก่าได้หมายเลข 2

ทั้งนี้นายภิรมณ์ อุทรักษ์ อดีตนายกอบต.นาไคร้ ยังเชื่อมั่นในผลงานตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ และมั่นใจว่าพี่น้องประชาชนชาว ต.นาไคร้จะให้ความไว้วางใจเข้ามาเป็นนายกอบต.นาไคร้เช่นเดิม

กาฬสินธุ์ - กลุ่มแม่บ้านผลิตร่มผ้าขาวม้า ‘ผ้าแพรวางานแฮนด์เมด’ สร้างรายได้เดือนละแสน

กศน.ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน นักเรียน กศน.แปรรูปผ้าขาวม้าเป็น “ร่มผ้าขาวม้า และร่มผ้าแพรวากาฬสินธุ์” ผลิตภัณฑ์ร่มกันฝน กันแดด สุดยอดไอเดียงานแฮนด์เมดขายดี พร้อมพัฒนายกระดับสู่สินค้าพรีเมี่ยม สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ยั่งยืน รายได้เข้ากลุ่มเดือนละ 1 แสนบาท ล่าสุดได้รับรางวัล Onie Brand กศน.จากกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต.แจนแลน อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นางพานธิวา ผิวอุดม ครูผู้ช่วย กศน.อ.กุฉินารายณ์ นางดรุณี โกมาร  ครู กศน.ต.แจนแลน และบุคลากร เจ้าหน้าที่ จัดอบรมกลุ่มแม่บ้าน และสาธิตในการแปรรูปผ้าขาวม้าและผ้าลายแพรวา เป็น “ร่มผ้าขาวม้า และร่มผ้าแพรวากาฬสินธุ์” สำหรับกันแดด กันฝน โดยมีนางเกสร เพิ่มขึ้น ประธานกลุ่มร่มผ้าขาวม้าแจนแลน และสมาชิกกลุ่มทั้งผู้สูงอายุ วัยทำงาน เยาวชน ร่วมเข้ารับการอบรม โดยทุกคนที่เข้าร่วมอบรม ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นางพานธิวา ผิวอุดม ครูผู้ช่วย กศน.อ.กุฉินารายณ์ กล่าวว่า ภารกิจของ กศน.ที่นอกจากจะให้ความรู้ทางวิชาการแก่นักเรียน กศน. ที่ต้องการความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงในชีวิตแล้ว  สิ่งที่ดำเนินการภารกิจควบคู่กัน คือการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพที่หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน อย่างเช่น การอบรมกลุ่มแม่บ้านและนักเรียน กศน.แปรรูปผ้าขาวม้าเป็นร่มกันฝนกันแดด โดยใช้ผ้าขาวม้าที่ทอจากผ้าฝ้าย ผ้าไหม และฝ้ายประดิษฐ์ มาตัดเย็บ ให้เข้ารูปกับร่มสำเร็จรูป ที่ซื้อจากท้องตลาดทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค เป็นผลิตภัณฑ์ร่ม ภายใต้ชื่อ “ร่มผ้าขาวม้า ร่มผ้าแพรวากาฬสินธุ์” โดยดำเนินการมาประมาณ 1 ปี ได้รับการตอบรับดีมาก

นางพานธิวากล่าวอีกว่า จากผลตอบรับทั้งในส่วนของแม่บ้าน นักเรียน กศน.ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ แก้ไขปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะในช่วงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ สำหรับผลิตภัณฑ์ร่มผ้าขาวม้าและร่มผ้าแพรวากาฬสินธุ์ เดิมจำหน่ายในชุมชน ต่อมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงเปิดช่องทางขายออนไลน์ อย่างไรก็ตาม จากการส่งเสริมของ กศน.กุฉินารายณ์และกศน.ต.แจนแลน ที่สร้างงาน สร้างอาชีพดังกล่าว ล่าสุด ผลิตภัณฑ์ร่มผ้าขาวม้าและผ้าแพรวา งานแฮนด์เมดของแม่บ้าน และนักเรียน กศน. ได้รับรางวัล Onie Brand กศน.จากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการการันตีคุณภาพและเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ที่สร้างอาชีพ รายได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยในอนาคตจะมีการพัฒนายกระดับสู่สินค้าพรีเมี่ยมต่อไป

กาฬสินธุ์จัดกิจกรรม “วันพยาบาลแห่งชาติ ประจำปี 2564” ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าต้านโรคโควิด พร้อมมอบโล่รางวัลให้กำลังใจพยาบาลดีเด่น และผู้ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าต้านโรคโควิด

โรงพยาบาลกาฬสินธุ์จัดกิจกรรมน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องใน “วันพยาบาลแห่งชาติ จังหวัดกาฬสินธุ์” ประจำปี 2564 พร้อมมอบโล่รางวัลและช่อดอกไม้ ให้กำลังใจพยาบาลดีเด่น เสริมพลังกาย พลังใจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้ารักษาพยาบาลผู้ป่วยและต่อต้านโรคติดเชื้อโควิด-19

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมเปรื่อง อนุชวานิช ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะ ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า เนื่องในวันพยาบาลแห่งชาติ ประจำปี 2564 โดยมีนายแพทย์ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นางสาวกรรณิการ์ อุดรพิมพ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่พยาบาล และสหสาขาวิชาชีพโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ร่วมพิธี ทั้งนี้ การจัดงานภายใต้มาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19

นางสาวกรรณิการ์ อุดรพิมพ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า และเป็นวันพยาบาลแห่งชาติ  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ซึ่งพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาชีพพยาบาล และได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลและด้านสาธารณสุข กลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จึงได้จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องใน “วันพยาบาลแห่งชาติ จังหวัดกาฬสินธุ์” ประจำปี 2564 ขึ้น

นางสาวกรรณิการ์กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องใน “วันพยาบาลแห่งชาติ จังหวัดกาฬสินธุ์” ประจำปี 2564 นี้ จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า และเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ได้ตระหนักในหน้าที่ มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และก้าวเดินตามเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ท่าน

“โดยกิจกรรมมีพิธีทำบุญตักบาตรและถวายปิ่นโตพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป พิธีอาศิรวาทราชสดุดีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมอบโล่เชิดชูเกียรติ มอบช่อดอกไม้ แก่พยาบาลผู้อุทิศตนเพื่อสร้างคุณประโยชน์แก่วิชาชีพ จำนวน 1 คน พยาบาลดีเด่นประจำปี 2564 จำนวน 20 คน และบุคลากรดีเด่นของกลุ่มงานทันตกรรม จำนวน 3 คน พร้อมออกเยี่ยมให้กำลังใจพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสนามวัคซีนโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า) อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์” นางสาวกรรณิการ์กล่าว

กาฬสินธุ์ - ชาวนาสุดช้ำ!! ขายข้าวเปลือก ก.ก.ละ 5 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป

ชาวนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์สุดช้ำ ราคาตลาดรับซื้อข้าวเปลือกยังตกต่ำ โดยข้าวเปลือกเหนียวเพียงกิโลกรัมละ  5-6 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก แถมค่าจ้างรถเกี่ยวสูงไร่ละ 600-800 บาท ไม่มีเงินชำระหนี้ค่าปุ๋ย ค่าแรง และหนี้ ธกส.อนาคตอาจเลิกปลูกข้าว ปล่อยที่นาทิ้ง พอได้เลี้ยงปลากินประทังชีวิต ด้านผู้จัดกลางตลาดกลางข้าวกาฬสินธุ์เผย ช่วงนี้เป็นราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปรัง ขณะที่ข้าวนาปีจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน แต่คาดว่าราคาลดลงจากปีที่ผ่านมาอีกตันละ 1,000 บาท สาเหตุจากสถานการณ์โควิด-19

จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวและขายผลผลิตข้าว ของชาวนาที่ จ.กาฬสินธุ์ในช่วงนี้ ซึ่งเริ่มเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม โดยเฉพาะพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว เพราะได้รับน้ำอย่างทั่วถึง จึงได้ทำนาต้นปี โดยมีการเพาะปลูกข้าวอายุสั้น หรือคือข้าวเหนียว กข.22 เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง และแบ่งไปจำหน่าย ซึ่งได้อายุเก็บเกี่ยวในช่วงเดียวกับข้าวเจ้าหอมมะลิพันธุ์ กข.15 ที่ชาวนาในพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทำการเพาะปลูก ขณะที่ข้าวนาปีที่ใช้ข้าวพันธุ์ กข.6 จะเริ่มเก็บเกี่ยวกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวต่างนำผลผลิตจำหน่ายตามลานรับซื้อทั่วไป บรรยากาศเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะที่ตลาดกลางข้าวและพืชไร่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ แต่ก็มีเสียงโอดครวญจากชาวนาว่า ราคารับซื้อข้าวเปลือกยังตกต่ำ ซึ่งยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลและนายทุน เพิ่มราคารับซื้อให้ชาวนาด้วย เพราะรายได้จากการขายข้าว โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียว กก.ละ 5 บาทถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป ซึ่งทำให้ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซากทุกปี

นายไพบูลย์ ภูเต้าทอง อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 151 ชาวนาบ้านโนนศิลาอาสน์ หมู่ 9 ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้ตนนำข้าวมะลิ กข. 15 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าข้าวดอ ที่เกี่ยวสดมาขาย ได้ราคา ก.ก.ละ 8.10 บาท หรือตันละ 8,100 บาท ได้เงินหมื่นกว่าบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เป็นต้นทุนการผลิต ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถ ค่าปุ๋ย ค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 600 บาท และค่าขนส่งแล้ว สรุปว่าขาดทุน อยากให้รัฐบาลช่วยปรับราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงกว่านี้ด้วย เพราะหากรับซื้อราคาเท่านี้ ชาวนาไม่วันลืมตาอ้าปากได้แน่ หากรับซื้อที่ราคา ก.ก.ละ 10 บาทขึ้นไป ก็ยังจะมีทุนสู้ต่อไป

ด้านนายบัณฑิต ภูบุตรตะ อายุ อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 391 หมู่ 4 บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเพิ่งนำข้าวเปลือกเหนียว กข. 22 ไปขาย ได้ราคา กก.ละ 5.50 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป หักรายจ่ายแล้วช้ำใจ เพราะไม่เหลือจ่ายค่าปุ๋ยเคมีเลย ไม่มีเงินไปใช้หนี้ ธกส.ถึงแม้ผลผลิตข้าวจะได้ไร่ละ 400 ก.ก. แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีและค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ 800 บาท จึงไม่เหลือติดไม้ติดมือเลย อย่างไรก็ตามก็ยังหวังว่าราคาขายข้าวนาปี หรือข้าวเหนียว กข. 6 ราคาจะสูงขึ้นไม่น้อยกว่า กก.ละ 7-9 บาท ซึ่งก็จะทำให้พอมีกำไรและมีเงินทุนทำนาต่อไป แต่หากราคายังอยู่ที่ ก.ก.ละ 5-6 บาท ชาวนาขาดทุนหนัก หากเป็นอย่างนั้น เห็นทีปีต่อไปตนคงเลิกทำนา จะทิ้งให้นาร้าง ปล่อยน้ำ ปล่อยปลา พอได้เป็นอาหารกินประทังชีวิตไป เพราะหากทำนา ก็คงขาดทุนอีก

 

กาฬสินธุ์ - เริ่มหนาว! ฝึกเข้มกู้ชีพกู้ภัยรับมืออุบัติเหตุ ในช่วงฤดูหนาวและเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่จะถึงนี้

สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพนักปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน EMR 40 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลกร กู้ชีพ กู้ภัย ให้มีมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเป็นการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุในช่วงฤดูหนาวและเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่จะถึงนี้

ที่หอประชุมธรรมาภิบาล เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ดร.สม นาสอ้าน รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดอบรมพัฒนาศักยภาพนักปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน EMR 40 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลกร ทั้งภาครัฐ เอกชน ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือทีมกู้ชีพ กู้ภัย ประจำโรงพยาบาลอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนสมาคมและมูลนิธิ โดยมีนายจารุวัฒน์  บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ นายแพทย์จารุพล ตวงศิริทรัพย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ แพทย์หญิงฐิตาภรณ์ นาสอ้าน นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลกมลาไสย ตัวแทนบริษัท เซนต์เมด จำกัด ( มหาชน )  ทีมวิทยากร โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อสุขภาพจิตและยาเสพติดร่วมงาน ทั้งนี้มีบุคลากรกู้ชีพ กู้ภัย จากเทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และเอกชน จำนวน 55 คน เข้ารับการอบรม

ดร.สม นาสอ้าน  รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่าบุคลากรในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือทีมกู้ชีพ กู้ภัย ถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบสาธารณภัย เช่น อุบัติเหตุ อุบัติภัยต่าง ๆ เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ที่ต้องมีความพร้อมทั้งศักยภาพทางกาย ทางจิตใจ ทักษะความรู้ และอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ เพื่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และนำส่งสถานพยาบาลอย่างถูกวิธี ผู้ประสบเหตุได้รับความปลอดภัยสูงสุด ดังนั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรกลุ่มดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพนักปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน EMR 40 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลกร ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้มีมาตรฐานในการปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัยอย่างถูกต้อง

กาฬสินธุ์ - กู๊ดไอเดีย!! เปิดตัว “ตู้ผู้ว่าฯ ห่วงใยอัจฉริยะ” ผ่าน APP Line เพื่อแจ้งเบาะแสยาเสพติด

จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดยุทธการฟ้าแดดสงยาง ระดมกวาดล้างยาเสพติดจังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2565 พร้อมพัฒนา “ตู้ผู้ว่าฯ ห่วงใจอัจฉริยะ” ผ่าน Line  เข้าถึงง่าย ใช้ง่าย เพื่อรับแจ้งเบาะแสยาเสพติด การเข้ารับการบำบัดยาเสพติด คาดหวังจะช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชน

เมื่อเวลา 05.30 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่บริเวณหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานปล่อยแถวชุดปฏิบัติการ ตามยุทธการฟ้าแดดสงยาง ระดมกวาดล้างยาเสพติดจังหวัดกาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ 2565 เพื่อมุ่งสู่ชุมชนมั่นคง สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชน โดยมีนายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมปล่อยแถว

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การปล่อยแถวชุดปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ พร้อมกันทั้งจังหวัด รวม 86 จุดเป้าหมาย โดยกำหนดดำเนินการทั้งด้านการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาไปพร้อมกัน นอกจากนี้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จ.กาฬสินธุ์ (ศอ.ปส.จ.กส.) ยังได้เปิดปฏิบัติการระดมกวาดล้าง ปิดล้อมตรวจค้น โดยนำเทคโนโลยีการสื่อสาร App Line มาพัฒนาเป็น “ตู้ผู้ว่าฯ ห่วงใยอัจฉริยะ” ในการรับข้อมูลข่าวสารจากประชาชนเกี่ยวกับการแจ้งเบาะแสยาเสพติด ขอเข้ารับการบำบัด และการรายงานต่าง ๆ อีกด้วย

 

กาฬสินธุ์ - เตือนลมหนาวพัดแรง ไฟไหม้ทุ่งนา ค่าฝุ่นละออง 2.5 เพิ่ม!!

สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์หนาวจัด ลมหนาวทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเหตุไฟไหม้ โดยเฉพาะบริเวณทุ่งนาบ่อยครั้ง ขณะที่นายอำเภอยางตลาด เตือนประชาชน เฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัย และไฟไหม้ทุ่งนา ทำค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สูงขึ้น เป็นสาเหตุเกิดมลภาวะเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แนะชาวบ้านเร่งเก็บรักษาฟางหลังเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อป้องกันเหตุและสำรองเป็นอาหารสัตว์ในฤดูแล้ง

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 18 อำเภอ พบว่าอุณหภูมิยังคงต่ำ มีลมหนาวกระโชกแรงตลอดวัน ส่งผลกระทบต่อสุขของประชาชน ในกลุ่มเด็ก คนชราและผู้ที่มีโรคประจำตัว ขณะเดียวกันยังพบว่า เกิดเหตุไฟไหม้ทุ่งนาบ่อยครั้ง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสุขภาพอนามัยประชาชน รวมทั้งหมอกควันที่เกิดจากการเผาไหม้ ยังบดบังทัศนวิสัยในการใช้รถใช้ถนน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ด้านนายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฤดูหนาวที่สภาพอากาศแห้งแล้งและมีลมแรง เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดอัคคีภัยได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณทุ่งนา ซึ่งมีฟางแห้งเป็นเชื้อไฟอย่างดี จึงมักจะเกิดเหตุไฟไหม้ทุ่งนาเป็นประจำ ประกอบกับมีลมพัดแรง จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ลามทุ่งอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ทางอำเภอได้แจ้งเตือนไปยังกำนัน ใหญ่บ้าน ประชาชน ร่วมกันเฝ้าระมัดระวังเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ และเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งกระทบต่อสุขภาพอนามัยประชาชน ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สูงขึ้นอีกด้วย

นายสันติกล่าวอีกว่า ในส่วนของประชาชนที่ประกอบอาชีพทำนา หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ควรที่จะรีบจัดการจัดเก็บฟางไว้ในที่ปลอดภัยให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ และเก็บไว้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงในฤดูแล้ง นอกจากนี้ ผลดีของการเก็บฟางแห้งหรืออัดก้อน ยังได้ประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่น จำหน่ายก้อนละ 25 บาท หรือนำไปประดับอาคาร สถานที่ เป็นจุดเช็คอินที่สวยงาม หรือไม่อย่างนั้นก็รีบทำการไถกลบ เพื่อให้เกิดการย่อยสลายเป็นปุ๋ยชีวภาพ ที่จะช่วยบำรุงดิน ลดต้นทุนใช้ปุ๋ยเคมี ในการทำนาครั้งต่อไปได้เป็นอย่างดี

กาฬสินธุ์ - สองสามีภรรยาเกษตรกร ต้นแบบเลี้ยงโคขุน - ทอผ้าขาย สร้างรายได้ตลอดปี!!

สองสามีภรรยาเกษตรกรต้นแบบชาวอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทิ้งอาชีพทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง หันมาทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ เลี้ยงง่าย รายได้ดี และสบายกว่าทำการเกษตรที่ต้นทุนสูงราคาขายผลผลิตไม่แน่นอน ทั้งยังมีเวลาว่างรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านทอผ้าไหมแท้เป็นสไบแพรลายตาคู่  ซึ่งเป็นลายประจำตำบล จำหน่ายสร้างรายได้ตลอดปี

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชน ที่มีพื้นที่ทำกินนอกเขตใช้น้ำชลประทานในช่วงฤดูแล้ง หลังเก็บเกี่ยวผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลังเสร็จสิ้น ซึ่งพบว่าส่วนมากว่างงาน เนื่องจากขาดแหล่งน้ำทำการเพาะปลูกพืชประจำฤดู เป็นสาเหตุของการอพยพแรงงานออกนอกพื้นที่ ปล่อยผู้สูงอายุอยู่เฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน และทำอาชีพเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ พอมีรายได้และอาหารจุนเจือครอบครัว

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง มีครอบครัว 2 สามีภรรยา ชาวบ้านโพนสวาง หมู่ 4 ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้หันหลังให้กับอาชีพการเกษตร ทั้งทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง โดยได้เปลี่ยนอาชีพใหม่ คือการทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ ทั้งบรามันห์ ชาโรเลส์และแองกัส ใช้เวลาเพียง 3 ปีประสบความสำเร็จ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ระดับอำเภอ ทั้งยังมีเวลาว่างปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหมจำหน่าย สร้างรายได้ตลอดปี โดยในแต่ละวันจะมี “นายฮ้อย” และผู้ประกอบการค้าขายโค รวมทั้งมีคณะศึกษาดูงานจากต่างถิ่น แวะเวียนมาติดต่อและสอบถามอย่างต่อเนื่อง

นายประเสริฐ นครชัย อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 4 บ้านโพนสวาง กล่าวว่า เดิมครอบครัวตนทำนา 9 ไร่ ปลูกอ้อย 10 ไร่ และปลูกมันสำปะหลัง 10 ไร่ ระยะหลังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากปุ๋ยแพง ค่าแรงสูง บางปีฝนทิ้งช่วง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มทุน ทำมากี่ปี ๆ ก็ย่ำอยู่กับที่ เมื่อปี 2561 จึงคิดหาทางออกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความชอบของตนเอง คือการเลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากเนื้อโคเป็นที่นิยมของผู้บริโภคตลอดปี และราคาซื้อขายเริ่มขยับสูงขึ้น เริ่มแรกตัดสินใจหาซื้อแม่โคลูกผสม สายพันธุ์บราห์มันที่กำลังตั้งท้องมา 5 ตัว เพื่อประหยัดเวลาในการเลี้ยงและเห็นผลผลิตเร็ว

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า เมื่อแม่โคทั้ง 5 ตัวออกลูกมา ก็ได้จำนวนโคในคอกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ตัว ก็เลี้ยงมาเรื่อยๆ มีโอกาสก็หาซื้อแม่โคที่กำลังตั้งท้องเพิ่มเข้ามา จำนวนโคก็ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็กลายเป็นฟาร์มโคย่อมๆขึ้นมาเพียงเวลาไม่นาน ทั้งนี้เมื่อลูกโคโตขึ้นได้ขนาดและน้ำหนักพอขาย ก็จะขายเพศผู้ออกไป เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อโคเพศเมียเข้ามา เพิ่ม โดยจะเลี้ยงและรักษาโคตัวเมียเพื่อขยายพันธุ์ในฟาร์ม ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค นอกจากจะเลี้ยงหรือขุนโคสายพันธุ์บรามันห์แล้ว ยังนำสายพันธุ์ชาโรเลส์ และแองกัส ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไปมาเลี้ยงด้วย

“การเลี้ยงโคขุนของตนทำง่าย ๆ โดยขังอยู่ในคอกและอยู่ในบริเวณจำกัด ไม่ได้ปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง อาหารมีทั้งหญ้าสด ฟาง และอาหารเสริม ซึ่งมีกินพอเพียงตลอดปี เนื่องจากเปลี่ยนพื้นที่ทำนา 9 ไร่ เป็นนาหญ้า 8 ไร่ ขุดบ่อกักเก็บน้ำ 1 ไร่ เพื่อหล่อเลี้ยงนาหญ้า ขณะที่พื้นที่ที่เคยปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง รวม 20 ไร่ ให้เพื่อนบ้านเช่าทำกิน จึงมีเวลาดูแลโคขุนในฟาร์มอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้ลงนามความร่วมมือกับผู้ประกอบการรับซื้อโคขุน โดยขายทั้งตัวราคาซื้อขายทุกสายพันธุ์ราคาเดียวกัน คือกิโลกรัมละ 100 บาท โดยโคอายุ 2 ปี น้ำหนักตัวละประมาณ 400-500 กิโลกรัมเริ่มจำหน่าย ซึ่งจะได้ราคาตัวละ 40,000-50,000 บาท” นายประเสริฐกล่าว

ด้านนางเกสร ฆารไสย อายุ 52 ปี ภรรยานายประเสริฐ กล่าวว่า หลังจากเปลี่ยนอาชีพจากการทำเกษตรมาเลี้ยงโคอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมองเห็นอนาคตการเลี้ยงโคขุนจะมีอนาคตดีกว่าทำนา ปลุกอ้อยและมันสำปะหลัง จึงได้ร่วมกับเพื่อนบ้านที่ต้องการเลี้ยงโค ไปขอคำปรึกษากับทางปศุสัตว์ อ.สหัสขันธ์ และ ธ.ก.ส.สาขาสหัสขันธ์ จากนั้นเข้าร่วมโครงการสร้างอาชีพ เพื่อขอสินเชื่อเป็นทุนจัดซื้อแม่โคมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุน จำหน่ายหมุนเวียนเรื่อยมา ทำให้มีรายได้ใช้หนี้และจัดซื้อแม่โคเพิ่มเข้ามา ปัจจุบันมีโคในฟาร์ม 40 ตัว

นางเกสรกล่าวต่อว่า การเลี้ยงโคขุนเลี้ยงง่าย ไม่ต้องปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง ไม่ยากลำบาก ไม่เหนื่อย เหมือนทำการเกษตร เพียงแต่ไปตัดหญ้าที่นาหญ้า และซื้อฟางข้าวอัดก้อนมาตุนไว้ให้โคกิน ถึงเวลาก็ให้อาหารเสริมเท่านั้น จึงมีเวลาว่างเยอะ ทำให้มีโอกาสที่จะทำอาชีพอื่นเสริมมากขึ้น ซึ่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านเราทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายอยู่แล้ว เพียงแต่หาเวลาทำไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น หลังจากเลิกทำนา เลิกปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง จึงมีเวลาที่จะสานต่ออาชีพทอผ้าอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ โดยการสนับสนุนของทางอำเภอสหัสขันธ์ และพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้รวมกลุ่มแม่บ้านตั้งกลุ่มปลูกหม่อนไหมเหลืองบ้านโพนสวาง มีสมาชิกกลุ่ม 16 คน กิจกรรมกลุ่มมีปลูกหม่อน เลี้ยงไหม รวมทั้งทุกกระบวนการทั้งสาวไหม เข็นไหม ทอผ้า ตัดเย็บและแปรรูป

 

กาฬสินธุ์จัดกิจกรรมวันดินโลกพิชิตดินเค็มเติมเต็มผลผลิตสร้างชีวิตเกษตร

จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดงานวันดินโลก ปี 2564 ในรูปแบบนิทรรศการกิจกรรมเสริมสร้างครามรู้ ภายใต้แนวคิด “พิชิตดินเค็ม  เติมเต็มผลผลิต สร้างชีวิตเกษตร” เพื่อรำลึกและสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ที่สถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ มอบหมายนายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “วันดินโลก” (World Soil Day) ปี 2564 โดยมีนายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด นายอรรถวุฒิ กรุงแสนเมือง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หมอดินอาสา ร่วมงาน กิจกรรมมีการนิทรรศการกิจกรรมเสริมสร้างครามรู้ ภายใต้แนวคิด พิชิตดินเค็ม  เติมเต็มผลผลิต สร้างชีวิตเกษตร 

นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงดำรงมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม และทรงยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

อีกทั้งทรงพระวิริยอุตสาหะปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ ทรงทุ่มเทพระวรกาย เพื่อประชาชนให้ได้รับความร่มเย็น นำความผาสุกมาสู่ประเทศโดยถ้วนหน้า บนหลักของการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เป็นที่มาของการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” เป็นพระองค์แรกของโลก โดยสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ 

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้มีมติรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก (World Soil Day) เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของดินทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก กระทรวงมหาดไทย จึงได้อนุมัติโครงการ การจัดกิจกรรม “วันดินโลก” (World Soil Day) ปี 2564 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อถวายสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรและประชาชน

ด้านนายอรรถวุฒิ กรุงแสนเมือง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าการจัดงานวันดินโลก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกถึงความตระหนักในบทบาทอันสำคัญยิ่งของทรัพยากรดินที่มีต่อสิ่งมีชีวิต และร่วมกันดูแลรักษาเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นวาระในการสื่อความสำคัญของทรัพยากรดินให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง โดยงานวันดินโลกปี 2564 กำหนดหัวข้อหลัก พิชิตดินเค็ม เติมเต็มผลผลิต สร้างชีวิตเกษตรกร เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับดิน และการจัดการกับความเค็มของดิน ผลกระทบของดินเค็มที่มีต่อผลผลิตทางการเกษตร วิธีการจัดการดินเค็มอย่างครบวงจร มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงดินเค็มในเชิงรุก ป้องกันและแก้ไขปัญหาของดินที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอาหาร

นายอรรถวุฒิกล่าวอีกว่า งานวันดินโลก 2564 สถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้จัดแสดงนิทรรศการ ตามหัวข้อหลักคือ “พิชิตดินเค็ม เติมเต็มผลผลิต สร้างชีวิตเกษตรกร” เพื่อแสดงทรัพยากรดินของ จ.กาฬสินธุ์ การพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการโดยประยุกต์ใช้เมืองเพียโมเดล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินและหน่วยงานภาคีมาใช้ในการจัดการดินเค็ม มีการจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงาน เปิดตัวพืชดาวรุ่งที่เจริญเติบโตได้ในดินเค็ม “รากสามสิบ” ตลาดขายสินค้าผลิตผลของเกษตรกร หมอดิน เครือข่ายของกรมพัฒนาที่ดิน
“ทั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกัน 2 ประการ ประการแรกเพื่อน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติคุณในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานแห่งพระบรมราชนกนาถ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน รวมทั้งการพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง และประการที่ 2 เพื่อร่วมใจกันปกปักรักษาดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของประเทศ ให้เป็นมรดกของลูกหลาน ภายใต้แนวคิด “ดินดี” คุณภาพชีวิตที่ดี” นายอรรถวุฒิกล่าว

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top