Saturday, 4 May 2024
กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - สร้างปราสาทรวงข้าว ในงาน "ประเพณีบุญคูณลานสู่ขวัญ" ประจำปี 2565 เพื่อสืบสานตำนานพระแม่โพสพ ระหว่างวันที่ ณ วัดเศวตวันวนาราม อำเภอเมืองกาฬสินธุ์

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยที่ปรึกษารมว.คมนาคม นำส่วนราชการ ประชาชน สืบสานประเพณีบุญคูณลาน เพื่อบูชาพระแม่โพสพ และสู่ขวัญข้าวเพื่อความเป็นสิริมงคล ไฮไลต์อยู่ที่การสร้างปราสาทรวงข้าว ซึ่งชาวบ้านได้ใช้ภูมิปัญญานำรวงข้าวจำนวนมาก มาร้อยเรียงสร้างขึ้นอย่างวิจิตรสวยงาม รายล้อมด้วยการจัดซุ้มปราสาทรวงข้าวบริวารอีกหลายหลัง อีกหนึ่งแลนด์มาร์กส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่หาดูได้ยาก และมีที่เดียวในจังหวัดกาฬสินธุ์

ที่บริเวณวัดเศวตวันวนาราม ต.เหนือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายชาญณ์ บุตรวงค์ ปลัดอาวุโส อ.เมืองกาฬสินธุ์ ส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชน และเยาวชน ร่วมกันจัดงานประเพณีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลานสืบตำนานพระแม่โพสพ ประจำปี 2565  โดยมีนางรำกว่า 300 คน รำบวงสรวงพระแม่โพสพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำหน้าที่ปกปักรักษาผืนนาและรวงข้าวให้อุดมสมบูรณ์ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า บุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลานสืบตำนานพระแม่โพสพ เป็นอีกหนึ่งประเพณีในฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน ที่สืบสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษในช่วงเดือน 3 หลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี โดยมีการถ่ายทอดมารุ่นต่อรุ่น เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีพื้นบ้านดั้งเดิม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่สนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่ง จ.กาฬสินธุ์ มีความโดดเด่นด้านวิถีชีวิตและประเพณีที่ยิ่งใหญ่ตลอดปี  อย่างบุญคูนลานของชาว ต.เหนือ ที่ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยเฉพาะรูปแบบปราสาทรวงข้าวมีการพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งมีรูปแบบเป็นปราสาทรวงข้าวตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีความสวยงามโดดเด่นและยังคงรูปแบบวัฒนธรรมอีสานไว้ จนกระทั่งถูกยกระดับให้เป็นประเพณีและแหล่งท่องเที่ยวของ จ.กาฬสินธุ์ และปฏิทินการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ด้านนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ มีวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญตามฮีต 12 คอง 14 และแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งราชการ ภาคประชาชน ได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสาน ให้อนุชนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่า และร่วมกันรักษาประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป เช่นเดียวกับการจัดงานประเพณีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลาน สืบตำนานพระแม่โพสพในครั้งนี้  เป็นการแสดงถึงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตดั้งเดิม ผ่านรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ ในงาน เช่น การร่วมบริจาคข้าวเปลือก เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ยากไร้ บำรุงพระพุทธศาสนา พัฒนาชุมชน แสดงออกถึงพลังสามัคคี และความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำหน้าที่ปกปักรักษานาข้าว น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ออกผลผลิตข้าวให้บริบูรณ์ ได้รับประทานเพื่อยังชีพและจำหน่ายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

กาฬสินธุ์ - เปิดงานนมัสการพระธาตุพนมจำลองห้วยเม็ก กระตุ้นท่องเที่ยว!!

อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดงานบุญใหญ่นมัสการองค์พระธาตุพนมจำลองห้วยเม็ก โดยมีขบวนฟ้อนนางรำที่สวยงามในชุดการแสดงศรีโคตรบูรณ์ บูชาองค์พระธาตุพนมจำลองห้วยเม็ก พร้อมการแสดงแสง สี เสียง กล่าวขานตำนานพระธาตุพนม งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด

ที่ลานพระธาตุพนมจำลองห้วยเม็ก วัดธรรมพิทักษ์ อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีฉลองสมโภชและเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมจำลองห้วยเม็ก โดยมีนายธวัธชัย  รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์ พระมหามีชัย กิจฺจสาโร ดร. เจ้าคณะอำเภอห้วยเม็ก เจ้าอาวาสวัดธรรมพิทักษ์ นายสุเทพ ชัยวัฒน์ นายอำเภอห้วยเม็ก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนทุกสารทิศร่วมงาน ในงานพิธีมีการกล่าวคำบูชาองค์พระธาตุพนมจำลอง พร้อมด้วยการรำถวายบวงสรวงในชุดการแสดง ศรีโคตรบูรณ์ถวายเป็นพุทธบูชาองค์พระธาตุ และการแสดง แสง สี เสียง เล่าขานตำนานพระธาตุพนม

นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่อำเภอห้วยเม็ก ยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม เพื่อสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี มีการจัดปฏิบัติธรรมบวชชี-พราหมณ์ ประเพณีบุญคูณลาน หรือบุญกุ้มข้าวใหญ่ การจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้า OTOP และสินค้าด้านการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน จัดทำทะเลธุง สำหรับงานนมัสการพระธาตุพนมจำลองห้วยเม็ก โดยกำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 6 - 15 กุมภาพันธ์ 2565

พระธาตุพนมจำลองห้วยเม็ก ตั้งอยู่ที่วัดธรรมพิทักษ์ ในเขตเทศบาลอำเภอห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ การก่อสร้างเริ่มต้นจากการประชุมของคณะสงฆ์ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2520 โดยมีพระเทพโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารในขณะนั้นเป็นประธาน ที่ประชุมได้หารือกันว่าชิ้นส่วนและวัตถุมงคลของพระธาตุพนมองค์เดิมสมควรจะนำไปไว้ในพื้นที่ใด ในที่สุดที่ประชุมคณะสงฆ์ได้ใช้วิธีการเสี่ยงทาย ผลการเสี่ยงทายปรากฏว่า วัดธรรมพิทักษ์ อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับอนุญาตให้นำชิ้นส่วนและวัตถุมงคลของพระธาตุพนมองค์เดิมมาประดิษฐานไว้เพียงแห่งเดียว

กาฬสินธุ์ - ผู้ว่าฯ เปิดงานประเพณีบุญคูณลานและมหกรรมของดี ประจำปี 2565 เพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีและมหกรรมของดีอำเภอฆ้องชัย

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอฆ้องชัย นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์  เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีบุญคูณลานและมหกรรมของดี อำเภอฆ้องชัย ประจำปี 2565  อำเภอฆ้องชัย โดยมีนายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอฆ้องชัย พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงาน หัวหน้าส่วนราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และทุกภาคส่วนของอำเภอฆ้องชัยได้ร่วมกันจัดขึ้น ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์  กล่าวว่าการจัดงานประเพณีบุญคูณลานและมหกรรมของดี อำเภอฆ้องชัย ที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันจัดขึ้นครั้งนี้ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ส่งเสริมให้เกษตรกรนำผลผลิตในพื้นที่มาจำหน่ายในงานและเป็นการสร้างความสามัคคีของชาว อ.ฆ้องชัย

กาฬสินธุ์ - เปิดนิทรรศการบุษบาซ่อนกลิ่น ศิลปินสายเลือดเมืองน้ำดำ โดยจัดให้เยี่ยมชมที่พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (หอศิลป์)

จังหวัดกาฬสินธุ์เปิดนิทรรศการบุษบาซ่อนกลิ่น พร้อมเปิดตัวศิลปินศิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย  ศิลปินสาวชาวกาฬสินธุ์ นำแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมพื้นบ้านและวัฒนธรรมการแต่งกาย มาสร้างสรรค์ด้านศิลปะการวาดภาพ โดยจัดเป็นนิทรรศการให้เยี่ยมชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (หอศิลป์) เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว

ที่พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (หอศิลป์) ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ (หลังเก่า) นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้มอบหมายนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดนิทรรศการบุษบาซ่อนกลิ่น โดยศิลปินศิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย  ทั้งนี้มีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ เลขานุการ นายก อบจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประชาชน นักท่องเที่ยว ร่วมงาน พร้อมเยี่ยมชมผลงานของศิลปิน ที่จัดแสดงภายในหอศิลป์จำนวนกว่า 50 ภาพ

นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ได้เปิดพื้นที่พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (หอศิลป์) เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะสมัยเก่าและศิลปะร่วมสมัย ให้ศิลปินได้จัดแสดงผลงาน ซึ่งการจัดนิทรรศการครั้งนี้ เป็นการจัดแสดงผลงานโดยศิลปินศิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย ศิลปินสาวชาวกาฬสินธุ์ ซึ่งได้นำแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมพื้นบ้านและวัฒนธรรมการแต่งกายอันมีเสน่ห์ของชาวอีสาน มาสร้างสรรค์ด้านศิลปะการวาดภาพและนำมาจัดเป็นนิทรรศการให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้เยี่ยมชมและชื่นชม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 

ด้านนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า…

ต้องขอชื่นชมศิลปินศิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย  ซึ่งเป็นลูกหลานชาวกาฬสินธุ์โดยกำเนิด รวมทั้งองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการขึ้นในครั้งนี้ โดยเฉพาะศิลปินที่ได้สร้างสรรค์ผลงาน ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ออกสู่สาธารณชน ขอเป็นกำลังใจให้มีการพัฒนาฝีมือและผลงาน ให้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในระดับที่สูงขึ้น เหมือนศิลปินระดับอาจารย์หลายท่าน ซึ่งจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวกาฬสินธุ์ต่อไป นอกจากนี้ในการจัดนิทรรศการดังกล่าวยังจะเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (หอศิลป์) ซึ่งจะเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายใน จ.กาฬสินธุ์ และนำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและระดับประเทศในอนาคต

กาฬสินธุ์ - แล้ง - ว่างงาน!! กาฬสินธุ์เดินหน้า จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเติมความรู้ชาวบ้าน ก่อนเพาะปลูกฤดูกาลผลิตใหม่

จังหวัดกาฬสินธุ์ เดินหน้าจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปี 2565 เต็มพื้นที่ 18 อำเภอ เพื่อเติมความรู้เกษตรกรในช่วงหลังเก็บเกี่ยวหน้าแล้งและว่างงาน ให้มีความรู้ทุกด้าน เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลเขาพระนอน (ไร่ภูทองใบ) ของนางจิตตานันท์ ภูทองใบ บ้านโคกแง้ หมู่ที่ 5 ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

นายดนุพงษ์ ภูตรี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระนอน เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ระดับอำเภอ ประจำปี 2565 โดยมีนางสาวอรนุช เกษสัญชัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร อ.ยางตลาด ส่วนราชการในพื้นที่ ผู้บริหารท้องถิ่น เกษตรกรตำบลเขาพระนอน เข้าร่วมกิจกรรม ภายใต้มาตรการป้องกันโคตรวิด-19

ทั้งนี้ งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ดังกล่าว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ในสถานีเรียนรู้หลักและสถานีเรียนรู้ย่อย ภายใต้ 6 กิจกรรม ได้แก่ สถานีที่ 1 บัญชีครัวเรือน สถานีที่ 2 การรวมกลุ่ม สถานีที่ 3 ระบบการให้น้ำพืชการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า สถานีที่ 4 การขยายพันธุ์พืช สถานีที่ 5 เศรษฐกิจพอเพียง การใช้และการผลิตสารชีวภัณฑ์ และสถานีที่ 6 ปรับปรุงบำรุงดิน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นวัตกรรมลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร

นางสาวอรนุช เกษสัญชัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) มีความสำคัญอย่างยิ่งกับพี่น้องเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะได้มีการบอกกล่าวให้พี่น้องเกษตรกร ทั้ง 18 อำเภอ ได้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติก่อนจะมีการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ทำให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ไปประยุกต์ใช้ในไร่นาและสวนของตนเองได้ เช่น การบริหารจัดการเรื่องน้ำ การรวมกลุ่มแปลงใหญ่ การทำบัญชีในครัวเรือน จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์เครือข่ายที่ประสบความสำเร็จ ไปใช้ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้

ด้านนายกฤษ กองอุดม ตัวแทนไร่ภูทองใบ กล่าวว่า ไร่ภูทองใบ เมื่อ 20 ปีก่อนเป็นป่าที่เสื่อมโทรมใช้ประโยชน์ไม่ได้ ตนและครอบครัวจึงได้น้อมนำหลักการพัฒนาตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการปลูกพืช 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในปัจจุบัน สามารถเป็นสถานที่เรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้ เช่น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักอย่างมะม่วง ที่สามารถสร้างอาชีพ และสร้างงาน และเป็นแหล่งรองรับแรงงานหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย

 

ผู้ว่ากาฬสินธุ์ย้ำผู้บริหาร อปท.มุ่งทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุข

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้โอวาทผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งสายงานผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมเน้นย้ำต้องเป็นข้าราชที่มุ่งทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุข เป็นที่พึ่งให้กับประชาชน

วันที่ 1 มีนาคม 2565  เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมโสมพะมิตร ชั้น 4 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์  นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์  พบปะ ให้โอวาท และแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งสายงานผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ พร้อมมอบแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดี บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผวจ.กาฬสินธุ์ เข้าร่วม

‘กาฬสินธุ์’ แหล่งน้ำบาดาล ‘พลิกผืนดินแห้งแล้ง’ เป็น ‘แหล่งอาหาร’ สร้างรายได้ให้เกษตรกร

ชาวบ้านในตำบลนาไคร้ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พลิกผืนดินแห้งแล้งเป็นแหล่งอาหาร นำผลผลิตจำหน่าย สร้างรายได้เข้าครัวเรือนเดือนกว่า 20,000 บาท หลังรัฐบาลจัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 760 ไร่

(2 มี..65) จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชน จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตใช้น้ำชลประทาน พบว่าที่บ้านกุดหว้า ต.นาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีการรวมกลุ่มปลูกพืชผักหลายชนิด ประสบความสำเร็จ หลังรัฐบาลจัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ศรีสุพรรณ โดยเน้นไม่ใช้สารเคมี ได้ผลผลิตบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายในตลาดชุมชน รวมทั้งภายในโรงพยาบาลประจำอำเภอ สร้างรายได้เข้าครัวเรือนเดือนละกว่า 20,000 บาท

นายนารอง อุทรักษ์ อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 501 หมู่ 13 บ้านกุดหว้า ต.นาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ กล่าวว่า ที่ดินทำกินเป็นที่ ส.ปก.จำนวน 23 ไร่ เดิมมีสภาพแห้งแล้ง ปลูกไม้ยูคาลิปตัส ไม่มีรายได้อื่นเสริม ต่อมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งส่วนราชการใน จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้าส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐบาล โดยมีพื้นที่รับบริการน้ำครอบคลุมพื้นที่ 760 ไร่ เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 74 ครัวเรือน

นายนารอง กล่าวว่า พอมีแหล่งน้ำ ตนจึงได้ปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพใหม่ โดยตัดไม้ยูคาจำหน่าย จากนั้นทำการเกษตรกรรมเต็มรูปแบบ โดยปลูกพืชผักสวนครัวและพืชตามฤดูกาลเกือบทุกชนิด เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อมีน้ำก็สามารถทำได้ทุกอย่าง ทั้งนี้ ได้รับองค์ความรู้จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ อบต.นาไคร้ และส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในส่วนของการใช้น้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน การบริหารจัดการในแปลงเกษตร โดยไม่ใช้สารเคมี จนกระทั่งประสบความสำเร็จในวันนี้ ซึ่งเป็นการปลูกเอง เก็บกินเอง และนำผลผลิตจำหน่ายในหมู่บ้าน ตลาดชุมชน และโรงพยาบาลประจำอำเภอทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ปลูกเอง สร้างรายได้เดือนละประมาณ 20,000 บาท ที่สำคัญมีอาชีพ มีรายได้ยั่งยืน สำหรับตนภูมิใจจนน้ำตาไหล ที่สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติที่แห้งแล้ง เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ดังกล่าว ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ชุบชีวิตตนและเพื่อนเกษตรกรด้วยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลดังกล่าว

ด้านนายจุฬา ศรีบุตรตะ ที่ปรึกษาลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ศรีสุพรรณกล่าวว่า เดิมสภาพพื้นที่โซนนี้ในฤดูแล้งจะมีความแห้งแล้ง ไม่มีสามารถทำการเกษตรได้ เพราะอยู่นอกเขตชลประทาน และไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ จึงประสบภัยแล้งซ้ำซาก หลังจากที่รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดโครงการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงลงมา สามารถบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงฤดูแล้งและตลอดปี ภาพที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า น้ำบาดาลสามารถพลิกผืนดินที่แห้งแล้ง เป็นพื้นที่สีเขียวด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ และเป็นแหล่งผลิตอาหารได้ตลอดปี

‘กาฬสินธุ์’ ยุติธรรม!! เร่งช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมในคดีอาญา

คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา 6 ราย จำนวนกว่า 290,000 บาท พร้อมมอบนโยบายจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนให้ทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดค่าใช้จ่าย และสร้างความสุขความสมานฉันท์ ป้องกันปัญหาความขัดแย้งด้านคดีความอย่างได้ผล

ที่ห้องประชุมผาเสวย ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ครั้งที่ 2/2565 โดยมีนายดาระใน ยี่ภู่ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายประหยัด ไม้แพ ยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาดังกล่าว สำนักงานยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับคณะอนุกรรมการ ได้พิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา โดยมีสำนวนเข้าพิจารณา 15 เรื่อง/ราย ผู้เสียหาย 15 ราย โดยผลการพิจารณางดจ่าย 3 ราย ยกคำขอ 6 ราย และจ่ายค่าตอบแทน 6 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 1 ราย ทุพพลภาพ 1 ราย ถูกทำร้ายร่างกาย 3 ราย และฆาตกรรม 1 ราย รวมเป็นเงิน 294,474 บาท

กาฬสินธุ์-ตรวจเข้มสถานบริการป้องกันการค้ามนุษย์-ยึดหลักมาตรการป้องกันโควิด

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดของคนต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเข้มสถานบริการ ร้านคาราโอเกะ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดของคนต่างด้าว  พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการยึดหลักมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด หลังยังพบการแพร่ระบาดในพื้นที่มีผู้ป่วยรายวันเฉลี่ย 300-400 ราย 

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงกลางคืนที่ผ่านมา นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ มอบหมายให้นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ พ.อ.สุรศักดิ์  สำราญบำรุง รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายดาระใน ยี่ภู ปลัด จ.กาฬสินธุ์  นายเริงวิทย์  ถนอมแสง นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นายประสงค์ จันทร์กระจ่าง ป้องกัน จ.กาฬสินธุ์ นำชุดปฏิบัติการฝ่ายปกครอง บูรณาการร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.กาฬสินธุ์ ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ทหาร เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.กาฬสินธุ์ จัดหางาน จ.กาฬสินธุ์ แรงงาน จ.กาฬสินธุ์ ออกตรวจสถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ร้านคาราโอเกะ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดของคนต่างด้าว และการฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หลังยังพบการแพร่ระบาดในพื้นที่ มีผู้ป่วยรายวันเฉลี่ย 300-400 ราย

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีการเปิดด่านพรมแดนทางบก ในจังหวัดพื้นที่ชายแดน อาจจะทำให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการลักลอบการค้ามนุษย์

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำผิด การค้าประเวณี การค้ามนุษย์ การจ้างแรงงานของคนต่างด้าวในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์โดยผิดกฎหมาย นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเข้มสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ร้านคาราโอเกะ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดของคนต่างด้าว และป้องกันการฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง จุดคัดกรอง การห้ามนั่งดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน เนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ  

เชิดชูเกียรติ ‘อาสาสมัครคุมประพฤติ’ รับพระราชทานเครื่องราช

กาฬสินธุ์ - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และส่วนราชการสังกัดกระทรวงยุติธรรมในจังหวัดกาฬสินธุ์ เชิดชูเกียรติและแสดงความยินดีกับอาสาสมัครคุมประพฤติ ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ และเป็นต้นแบบของบุคคลที่ทำความดีเพื่อสังคม ด้วยความอดทนและเสียสละ

(4 มี..65) ที่ห้องประชุมอาคารเรียนรวมและปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นายฤกษ์ชัย คทวณิชกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมสมัยประจำปี 2565 อาสาสมัครคุมประพฤติกระทรวงยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ สังกัดกระบวนการยุติธรรม และอาสาสมัครคุมประพฤติ ร่วมงาน พร้อมแสดงความยินดีกับอาสาสมัครคุมประพฤติ ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จำนวน 3 คน

นายฤกษ์ชัย คทวณิชกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า อาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เป็นบุคคลที่เสียสละ และมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาผู้กระทำผิดในชุมชน ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนภารกิจของกรมคมประพฤติ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรมในชุมชน และสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยจากผู้กระทำผิด ในระบบการควบคุมความประพฤติอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะช่วยให้ผู้กระทำความผิด สามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างเป็นปกติสุข และไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top