Sunday, 5 May 2024
กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - สสจ.กาฬสินธุ์ มอบรถรับส่งผู้ป่วยโควิด ด้านที่ปรึกษารมว.คมนาคม ส่งตัวแทนสานบุญมอบเครื่องช่วยหายใจ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ปล่อยขบวนรถรับ-ส่งผู้ป่วย 16 คัน เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลใช้ในการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ด้านที่ปรึกษา รมว.คมนาคม ส่งตัวแทนสะพานบุญมอบเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะที่สถานการณ์โรคพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 142 ราย ยอดสะสม 3,381 ราย

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ลานสนามกีฬากลาง จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ นพ.พรพัฒน์ ภูนากลม รองนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ ดร.สม นาสะอ้าน รองนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ นายยุทธพล ภูเลื่อน รองนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกันปล่อยขบวนรถพยาบาลรับ-ส่ง ผู้ป่วย โดยงบเงินกู้โควิด-19 จากรัฐบาล จำนวน 16 คัน เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่ใช้ในการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19

นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า รถรับ-ส่งผู้ป่วย หรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน ทั้ง 16 คันดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข ในงบเงินกู้เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยส่งมอบให้กับโรงพยาบาลกมลาไสย เขาวง คำม่วง ดอนจาน ท่าคันโท นาคู นามน ยางตลาด ร่องคำ สมเด็จ สหัสขันธ์ สามชัย หนองกุงศรี ห้วยผึ้ง ห้วยเม็ก แห่งละ 1 คัน และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จำนวน 2 คัน ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้บริการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 เป็นหลัก  และในอนาคตเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ก็จะให้บริการสำหรับรับส่งผู้ป่วยทั่วไป

นพ.อภิชัยกล่าวอีกว่า สำหรับว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังน่าเป็นห่วง มีจำนวนผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย เนื่องจากยังมีการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง และแจ้งความประสงค์ขอรับการรักษาที่ภูมิลำเนา ดังนั้น รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินเพื่อใช้สำหรับรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด-19 จึงสำคัญและจำเป็น โดยอุปกรณ์ภายใน จะเป็นส่วนประกอบสำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ มีระบบห้องความดันลบ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที

ด้านนายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์ รองประธานสภาองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ หรือเลขาบัส เลขานุการนายก อบจ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวแทนนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนางมัลลิกา แสนภักดี ประธานนักบริหารระดับสูงธรรมศาสตร์เพื่อสังคม (นมธ.) ร่วมเป็นสะพานบุญ ส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ (FHNC) จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 220,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยมีนพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลร่วมรับมอบ

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมอบสนับสนุนค่าน้ำมันจำนวน 10,000 บาท แก่สมาคมเมตตาธรรมทิพยสถานกาฬสินธุ์ เพื่อใช้เป็นค่าน้ำมันในการรับส่งผู้ป่วยกลับมารักษาที่บ้าน และร่วมกับนายประภาส ยงคะวิสัย มอบน้ำยาฆ่าเชื้อ เครื่องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ หน้ากาก น้ำดื่ม และเจลแอลกอฮอล์ ให้กับมูลนิธิใจถึงใจกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ในการปฏิบัติภาคกิจช่วยเหลือสังคมอีกด้วย

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดวันที่ 3 สิงหาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นสูงอีก 142  ราย เป็นผู้ป่วยขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 44 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อจากต่างจังหวัดตรวจพบระหว่างกักตัว 82 ราย ติดเชื้อภายในจังหวัด 16 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,381 ราย กำลังรักษา 1,959 ราย รักษาหายแล้ว 1,407 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – นำจิตอาสาร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชน ทำความดี ด้วยหัวใจ ร่วมกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านโจด หมู่ที่ 10 ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล  ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดกาฬสินธุ์ นำจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์ ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล ของนางอุไลย์ ทบวัน  ซึ่งเป็นไปตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ 'โคก หนอง นา โมเดล'

โดยจิตอาสาพระราชทานได้ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้พระราชทานโครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการทำประโยชน์แก่สังคม ชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวทางจิตอาสาพระราชทานนี้ มาจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี เพื่อเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการเกื้อกูลแบ่ง อันเป็นวัฒนธรรมอันที่ทรงคุณค่าและดีงามของประเทศไทย โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ พ.อ.เรืองพงษ์ วงศรีสุข รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายสัมฤทธิ์ กิตติโชติสุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์เข้าร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้นายทรงพล  ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้รอบแปลงศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบฯ พร้อมทั้งได้ร่วมกันปล่อยปลาตะเพียนจำนวน 30,000 ตัว และเยี่ยมชมแปลงสาธิต โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งมีพื้นที่ 15 ไร่ ได้ทำการปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา พร้อมทั้งเตรียมเพาะปลูกพืชบนคันนา เป็นคันนาทองคำ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และเยี่ยมชมแปลงเพาะต้นกล้าสมุนไพร ประกอบด้วย  ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ ว่านไฟ และพืชผักสวนครัว ทั้งนี้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล บ้านโจด มีประชาชน ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และสอบถามเกี่ยวกับการทำโคก หนอง นา โมเดล อย่างต่อเนื่อง


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – ผุดธนาคารน้ำใต้ดิน เพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์เขาวงพ้นภัยแล้ง ตั้งเป้าได้ผลผลิตมากกว่า 500 ก.ก.ต่อไร่

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเขาวง ข้าวอินทรีย์ GI อันดับหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในการเพิ่มศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุน ส่งเสริมการปลูกข้าวเขาวงและการเกษตรผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าได้ผลผลิตมากกว่า 500 ก.ก.ต่อไร่

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่แปลงนานางอรวรรณ พันธุ์คุ้มเก่า อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.) พร้อมด้วยนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ทสจ. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า การดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ กิจกรรมหลักปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเพื่อการเกษตรและอาหารปลอดภัย กิจกรรมย่อยจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อบาดาลเสริมระบบแหล่งน้ำในไร่นา เพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ข้าวเขาวง โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้อนรับ และรายงานความคืบหน้าผลดำเนินการ

นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในการเพิ่มศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุน ส่งเสริมการปลูกข้าวเขาวงและการเกษตรผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ซึ่งตามข้อมูลสถิติในปี 2557 พบว่า จ.กาฬสินธุ์มีผลิตภัณฑ์ของจังหวัดค่าหัวอยู่ในระดับต่ำ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนแก้ไขปัญหาความยากจนให้ประสบผลสำเร็จ ด้วยการพัฒนาศักยภาพการผลิตการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด

นายอัครพงษ์กล่าวอีกว่า ข้าวเขาวง ซึ่งได้รับมาตรฐาน  GI เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของ จ.กาฬสินธุ์ ประกอบกับทาง จ.กาฬสินธุ์ จัดโครงการกรีนมาร์เก็ต มุ่งเน้นผลผลิตจากภาคเกษตร อาหารปลอดภัย และเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จึงได้เลือกพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกข้าวเขาวงซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ เป็นจุดนำร่องของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดินฯ ดังกล่าว โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.เขาวง อ.นาคู และ อ.กุฉินารายณ์ เข้าร่วมโครงการ 60 ราย 

ด้านนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าโครงการดังกล่าว ได้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวเขาวง ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ของชลประทาน การทำเกษตรกรรมอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทั้งนี้ ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการ ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่เป้าหมาย สำรวจความต้องการของเกษตรกร จากนั้นทำความเข้าใจและลงนามความร่วมมือ  เลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ที่สามารถขุดบ่อกักเก็บน้ำขนาด 1 ไร่ เพื่อรองรับน้ำตามหลักการส่งน้ำจากฟ้าสู่ใต้ดิน และมีพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสาน ซึ่งการดำเนินการได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ เป็นการขุดและวางระบบน้ำให้ฟรี เกษตรกรไม่ต้องจ่ายเงินสมทบแต่อย่างใด

ขณะที่นางอรวรรณ พันธุ์คุ้มเก่า อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า ตนมีพื้นที่ทำนา 13 ไร่ โดยที่ผ่านมาปลูกข้าวเหนียวเขาวง บางปีที่ฝนทิ้งช่วง ประสบภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน ขณะที่ในปีที่ฝนตกต้องตามฤดูกาล ได้ผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 400-500 ก.ก.ต่อไร่ อย่างไรก็ตาม จากการที่สำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ เข้ามาส่งเสริมโครงการดังกล่าว ตนและเพื่อเกษตรกรมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ที่นำโครงการดี ๆ มาถึงเกษตรกร สำหรับตนมั่นใจว่าต่อไปนี้จะไม่ประสบภัยแล้ง เพราะจะมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวตลอดปี และได้ผลผลิตข้าวเขาวงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังจะสามารถกระจายน้ำไปสู่ที่นาของเพื่อนเกษตรและปลูกพืชผสมผสานชนิดอื่นได้ตลอดปีอีกด้วย

กาฬสินธุ์ - มูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีฐานะยากจน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมโสมพะมิตร ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 4 ซึ่งวันนี้มีการประชุมประจำเดือนของส่วนราชการ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นตัวแทนพล.อ.วีรชัย อินทุโศภน ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก มอบทุนการศึกษากับนักเรียนจำนวน 25 ราย ทุนละ 5,000 บาท ตามโครงการมอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีฐานะยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นเกียรติในการร่วมมอบทุนการศึกษา

พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในวงกว้าง ดังนั้นมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก โดยพล.อ.วีรชัย อินทุโศภน ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมด้วยกรรมการมูลนิธิฯ ได้ร่วมกันจัดหาทุนและจัดโครงการมอบทุนการศึกษา สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีฐานะยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

พล.ต.ต.มนตรี กล่าวอีกว่า ในการมอบทุนทางมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก ได้ประสานงานกับนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ และได้ให้นายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคัดเลือกนักเรียน นักศึกษาที่มีความเหมาะสมจำนวน 20 ทุน และทางตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์คัดเลือกเพิ่มอีก 5 ทุน รวมเป็น 25 ทุน ซึ่งมอบทุนละ 5,000 บาท โดยเป็นทุนให้เปล่าไม่มีข้อผูกพัน เพื่อเป็นกำลังใจและส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียน นำไปใช้ในการศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครองในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด้านนายพรมนัส ผลิผล นักชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสามชัย อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เห็นความสำคัญของการศึกษา และตระหนักในความเดือดร้อนของพ่อ แม่ ผู้ปกครองนักเรียน ในช่วงประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี ซึ่งตนจะนำทุนการศึกษาที่ได้รับ ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด และนอกจากนี้ ยังจะปฏิบัติตนและบอกผู้ปกครอง เพื่อนนักเรียน และชุมชน ในการร่วมกันรณรงค์จัดเก็บขยะ มีการคัดแยก ตั้งแต่ในระดับครัวเรือน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ตามแนวทางของมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - 50 ปี ที่รอคอย บ้านคำคารับสัญญาเช่าที่ถูกกฎหมาย ชาวบ้านเฮ! หลังได้รับเอกสารสิทธิเช่าที่จากกรมธนารักษ์ อย่างสมบูรณ์แบบ

ชาวตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  ได้เฮหลังต้องต่อสู้เรียกร้อง ยาวนานกว่า 50 ปี  เพื่อเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย วันนี้ฝันเป็นจริงหลังได้รับเอกสารสิทธิเช่าที่จากกรมธนารักษ์ อย่างสมบูรณ์แบบ

ที่ศาลาประชาคมบ้านคำคา ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นายยุทธนา หยิบการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ โครงการธนารักษ์ประชารัฐ โดยมีนายอุดร สีลาพันธ์ ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์  นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ ร่วมพิธีรับมอบ ท่ามกลางความยินดีของผู้ร่วมกิจกรรม โดยได้มอบให้กับตัวแทน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และด้วยความห่วงใยจากสถานการณ์โควิด-19 ยังได้นำเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยมอบให้แก่ชุมชน กิจกรรมธนารักษ์ประชารัฐ จัดขึ้นภายใต้มาตรการควบคุมสูงสุดป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 50 คน จำกัดเวลาดำเนินกิจกรรมไม่เกิน 30 นาที  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และต้องผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ อสม.

นายยุทธนา หยิบการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ได้มอบเอกสารเช่าที่ราชพัสดุให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กส.584 บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ตำบลโนนศิลา  อำเภอสหัสขันธ์ จำนวน 1,163 ราย และ อำเภอสามชัย 1,475 ราย รวมทั้งหมด  2,638  ราย ตามโครงการธนารักษ์ประชารัฐ  สนองนโยบายภาครัฐที่ต้องการจะลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ดึงเข้าระบบอย่างถูกต้องตามระเบียบทางราชการ ถูกกฎหมาย แม้จะไม่สามารถทำการซื้อขายได้ แต่นำไปเป็นหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ รวมถึงการเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ

นายราชัน คุณาประถม กำนันตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า จากในอดีตได้เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก เป็นกลุ่มคนผิดกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นผู้เสียสละพื้นที่ให้มีการสร้างเขื่อนลำปาว บ้านแตกสาแหรกขาด เพราะตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนลำปาว อำเภอสหัสขันธ์ ได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปที่ตำบลโนนบุรี  เพื่อสร้างอำเภอแห่งใหม่ ขณะที่อำเภอเก่าน้ำจากเขื่อนลำปาว ได้เอ่อท่วมเป็นบริเวณกว้าง ในปี พ.ศ.2510 ถนนถูกตัดขาด ไม่มีถนนเข้าหมู่บ้านก็ต้องระดมเงินทำถนนกันเอง จากวันนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 54 ปี เป็นระยะเวลาได้ต่อสู้ เรียกร้อง จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้หลุดพ้นหมู่บ้านชายขอบ ผิดกฎหมาย ผู้บุกรุก และตัดขาดซึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐ โครงการธนารักษ์ประชารัฐ ได้เข้าถึง และทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเดือดร้อนอีกต่อไป จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐตามระบบ เป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ขอขอบคุณกรมธนารักษ์  และที่สำคัญคือท่านนายกประยุทธ์ฯ ที่ช่วยชาวบ้านให้พ้นทุกข์เสียที


(เสียง กำนันราชัน คุณาประถม)

 

กาฬสินธุ์ – รวมพลังคนจิตอาสา เก็บขยะแหลมโนนวิเศษ ปลูกจิตสำนึกนักท่องเที่ยว พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะคนจิตอาสารวมพลังรณรงค์จัดเก็บขยะบริเวณแหลมโนนวิเศษ และสะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาวแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวกินแล้วอย่าทิ้งขยะ พร้อมมีส่วนร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติรักษาทัศนียภาพ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้

ที่บริเวณแหลมโนนวิเศษ และบริเวณสะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว  ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์ รองประธานสภา อบจ.กาฬสินธุ์  นายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ นายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี พร้อมด้วยประชาชนจิตอาสากลุ่มรสนิยม กู้ภัยกุดหว้าจิตอาสา และประชาชนร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เก็บขยะ พลาสติก เศษวัสดุ ของมีคม เพื่อให้มีความสะอาด ปลอดภัย ซึ่งเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน ในการปลูกจิตสำนึกรักษาความสะอาด สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของ จ.กาฬสินธุ์ ทั้ง 2 แหล่ง โดยเฉพาะบริเวณแหลมโนนวิเศษ ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทะเลมรกตอีสาน และสะพานเทพสุดา ซึ่งสะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเชิงธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมและอีกหลายด้าน ช่วงที่ผ่านมาซึ่งประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวซบเซาไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแนวโน้มสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ประกาศปลดล็อกร้านค้า ร้านอาหาร ให้สามารถนั่งรับประทานได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้พบว่าผู้ประกอบการเริ่มเปิดกิจการค้าขายและต้อนรับลูกค้า โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น แหลมโนนวิเศษ สะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว

นายวิรัช กล่าวอีกว่า หลังจากประกาศดังกล่าวออกมา เพื่อให้บรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และสร้างความตระหนักในการช่วยกันรักษาความสะอาด ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงได้ร่วมกับเทศบาลตำบลโนนบุรี ประชาชน และกู้ภัยจิตอาสา ตัวแทนผู้ประกอบการร้านค้า ร่วมกันจัดกิจกรรมทำความสะอาดบริเวณแหลมโนนวิเศษ ใกล้สะพานเทพสุดา เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึก ร่วมกันรณรงค์รักษาความสะอาด และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ในช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง  โดยมีการจัดเก็บขยะ เศษวัสดุ ของมีคม และขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ที่นำอาหารมานั่งทาน ให้นำถุงใส่อาหาร กล่องโฟม กลับไปด้วย  ทั้งนี้เพื่อช่วยกันรักษาความสะอาดดังกล่าว

ด้านนายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  ในพื้นที่ตำบลโนนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง เช่น แหลมโนนวิเศษ สะพานเทพสุดา พิพิธภัณฑ์สิรินธร วัดสักวันภูกุ้มข้าว จุดชมวิวภูสิงห์ วัดพุทธนิมิตภูค่าว เป็นต้น ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าว สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมตลอดปี

นายบุญมีกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเตรียมการรับนักท่องเที่ยว ในช่วงนี้และต่อเนื่องถึงอนาคต หลังสถานการณ์โควิด-19 ก็จะได้ตระเตรียมความพร้อมในหลายๆด้าน เช่น การจัดการเก็บขยะที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล การจัดระเบียบร้านค้า ร้านอาหาร รวมทั้งการรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการมีวินัย ใส่ใจความสะอาด ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว และประชาชน เพื่อการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแหล่งท่องเที่ยว เพื่อที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว และกลับมาท่องเที่ยวอีก

กาฬสินธุ์ – ส่งเสบียงช่วยหมู่บ้านล็อกดาวน์ คลัสเตอร์งานวันเกิดติดเชื้อโควิด 29 ราย

“วิรัช พิมพะนิตย์” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ นำถุงยังชีพปันน้ำใจสู้ภัยโควิดมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ที่บ้านเหล่าสูง ตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ หลังพบคลัสเตอร์งานวันเกิด มีผู้ติดเชื้อในหมู่บ้าน 29 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 13 ครัวเรือน และต้องสั่งล็อกดาวน์ทั้งหมู่บ้าน

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 5 กันยายน 2564 ที่บริเวณจุดคัดกรองทางเข้าบ้านเหล่าสูง ม.4 ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์  นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์  รองประธานสภา อบจ.กาฬสินธุ์  นายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะ นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภค บริโภค ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19 ซึ่งมีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ปลากระป๋อง น้ำดื่ม และหน้ากากอนามัย จำนวน 200 ชุด ไปมอบให้กับประชาชนบ้านเหล่าสูง ม. 4 ต.ห้วยโพธิ์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 หลังพบคลัสเตอร์หญิงสาวรายหนึ่งที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีการจัดงานวันเกิด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านจำนวน 29 ราย และมีกลุ่มเสี่ยงสูงอีก 13 ครัวเรือน ทำให้ผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปิดหมู่บ้าน ตั้งจุดคัดกรอง 250 หลังคาเรือน ห้ามเข้า-ออกโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันและหยุดยั้งการแพร่ระบาด โดยมีนายสุนทร เจริญพันธ์ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยโพธิ์ นายจันทร์ ดอนประชุม ประธาน อสม.ตำบลห้วยโพธิ์ นายอำนวย ศรีแพงมล ผู้ใหญ่บ้านเหล่าสูง พร้อมด้วย อสม.ร่วมรับมอบ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้เป็นการเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่บ้านเหล่าสูง ซึ่งมีอยู่กว่า 250 หลังคาเรือน กว่า 800 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากต้องปิดหมู่บ้าน พร้อมให้กำลังใจผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าประจำจุดคัดกรอง ทั้งนี้อยากฝากถึงทุกคนให้ช่วยกัน อย่าได้รังเกียจกันและกัน เพราะไม่มีใครอยากติดเชื้อ และอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนจะต้องร่วมแรง ร่วมใจกัน ต่อสู้โรคโควิด-19 และให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกันให้ได้

นายจันทร์ ดอนประชุม ประธาน อสม.ตำบลห้วยโพธิ์ กล่าวว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บ้านเหล่าสูง ต.ห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มีกลุ่มคลัสเตอร์โควิด-19 การจัดงานวันเกิด ทำให้พบผู้ป่วยยืนยันจำนวน 29 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรวมจำนวน 13 ครัวเรือน ทำให้ทางผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านประชุมร่วมกันและมีมติปิดหมู่บ้าน พร้อมทั้งตั้งด่านคัดกรองการเข้า-ออก โดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันและหยุดการแพร่เชื้อไปยังพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตามสำหรับการปิดหมู่บ้านนั้น ประชาชนทั้ง 250 หลังคาเรือน กว่า 800 คน ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำงานเชิงรุก ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นบ้างแล้ว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้ง 13 ครัวเรือนก็ได้กักตัวสังเกตอาการ 14 วัน


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษฺ  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – หมอใหญ่เตือน! เปิบเนื้อหมูดิบ เสี่ยงป่วยโรคหูดับเสียชีวิต แนะผู้บริโภคต้องไม่ประมาท โดยเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่เชื่อถือได้

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์เตือนบริโภคเนื้อหมูดิบเสี่ยงได้รับเชื้อและป่วยโรคหูดับเสียชีวิต หลังพบโรคหูดับในภาคเหนือ แต่ยังไม่พบในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ แนะผู้บริโภคต้องไม่ประมาท โดยเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และในกลุ่มผู้นิยมบริโภคเนื้อสุกรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยผู้บริโภคเนื้อสุกรหลายรายมีความกังวล ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดเหมือนโรคลัมปี สกิน ในโค หรือโรคเพิร์ส ในสุกรในพื้นที่หรือไม่ หลังพบมีการแพร่ระบาดของโรคหูดับ ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และพบว่ามีผู้ป่วยหลายรายได้รับเชื้อ มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งทางด้านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ยืนยันยังไม่พบในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเตือนบริโภคเนื้อหมูดิบเสี่ยงได้รับเชื้อและป่วยโรคหูดับเสียชีวิต และควรนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัย

นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากกรณีการเกิดโรคหูดับในบางจังหวัดเขตภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ซึ่งมีทั้งผู้ได้รับเชื้อและเสียชีวิต สาเหตุเกิดจากการบริโภคเนื้อสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ทั้งนี้ อาจจะมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมการบริโภคเนื้อสุกรดิบ จึงเป็นความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อดังกล่าว ทั้งนี้ โรคหูดับหรือ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนได้ 2 ทาง คือการบริโภคเนื้อสุกร เครื่องในสุกร หรือเลือด ที่ไม่ผ่านการทำให้สุก เช่น ลาบ ลู่ ปิ้งย่างที่ไม่สุก นอกจากนี้ยังเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสโรค หรือสุกรที่เป็นโรค

นายแพทย์อภิชัย กล่าวอีกว่า เชื้อดังกล่าว ที่ปกติจะอยู่ในสุกรเกือบทุกตัว โดยฝังอยู่ในต่อมทอนซิลของสุกร แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ เครียด หรือป่วย โรคจะไปกดภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียตัวนี้จะเพิ่มจำนวน และทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้สุกรป่วยและตายได้ เมื่อนำเนื้อสุกรที่ตายด้วยโรคดังกล่าวมาบริโภคโดยไม่ผ่านการปรุงสุก จึงทำให้เชื่อเข้าสู่ร่างกายและเจ็บป่วย ในรายที่อาการรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้

“อาการของผู้ป่วยโรคหูดับ หลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายภายใน 3 วันจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึก เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลาม จึงทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนกระทั่งหูหนวก ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ผู้ป่วยจะเสียการได้ยิน และอาจชีวิตในเวลาต่อมา” นายแพทย์อภิชัยกล่าว

นายแพทย์อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนี้ไม่มีประวัติพบผู้ป่วยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ อาจจะมีผลมีจากชาว จ.กาฬสินธุ์ ไม่นิยมบริโภคเนื้อสุกรดิบ อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทและไม่เกิดความกังวลในการบริโภคเนื้อสุกร จึงขอประชาสัมพันธ์ไปถึงผู้บริโภค เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัยก็จะไม่เสี่ยงกับการได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อพยาธิ โรคท้องร่วง และป่วยโรคหูดับเสียชีวิตดังกล่าว

กาฬสินธุ์ – มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งมอบหน้ากากอนามัย 144,000 ชิ้น ให้กับประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 13 กันยายน 2564  ที่ห้องเจ้าเมือง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 2 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ประจำ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของพระราชทานหน้ากากอนามัยให้กับนายอำเภอทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อนำไปส่งมอบต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดส่งสิ่งของพระราชทานหน้ากากอนามัย เพื่อให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์  จำนวน 2,880 กล่อง  กล่องละ 50 ชิ้น รวมเป็นจำนวน 144,000 ชิ้น โดยมีนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมพิธี     

ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ  หัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบรมราชูปถัมภก" แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงห่วงใยทุกข์ยากของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ และเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชน สามารถผ่านความทุกข์ยากเดือดร้อนในเบื้องต้นไปได้

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดวันนี้ 13 กันยายน 2564 พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 41 ราย เป็นผู้ติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 5 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 22 ราย ติดเชื้อภายในจังหวัด 14 ราย และหายป่วย 21 ราย โดยมียอดผู้ป่วยสะสมรวม 7,278 ราย รักษาหายแล้ว 6,516 ราย กำลังรักษาอยู่ 715 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – เทศบาลร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน อสม. ลงขันสร้างบ้าน มอบบ้านผู้หายป่วยโควิด-19

เทศบาลตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน อสม. ร่วมบริจาคเงินสด สิ่งของ วัสดุอุปกรณ์ สำหรับสร้างบ้านให้ครอบครัวผู้หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 และฐานะยากจน ซึ่งรักษาหายดีแล้ว ไม่มีที่อยู่อาศัย ก่อนนำเครื่องอุปโภค บริโภค มอบให้เป็นทุนเริ่มต้นชีวิตใหม่ บรรยากาศเป็นไปด้วยความปลาบปลื้มปิติ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่บ้านเลขที่ 37 หมู่ 8 บ้านนากุงใต้ ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด เป็นประธานพิธีมอบบ้านให้กับผู้ยากไร้ โดยมีนายดนุพงษ์  ภูตรี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระนอน นายวัฒนา  แสนตรี กำนันตำบลเขาพระนอน พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน อสม. ร่วมพิธี  ทุกคนที่ร่วมพิธีต่างปฏิบัติป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งคัด ทั้งจำกัดจำนวนคน ตรวจวัดอุณหภูมิ รักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย 100% 

นายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่เทศบาลตำบลเขาพระนอน ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน อสม.ได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างที่พักอาศัยให้กับครัวเรือนผู้ยากไร้ โดยเฉพาะครอบครัวผู้หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น เป็นการช่วยเหลือแบ่งปัน เอื้ออาทรให้แก่กันและกัน ตามแนวทางโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดล คนกาฬสินธุ์ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ของผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน โดยสร้างบ้านได้อยู่อาศัย และสร้างขวัญกำลังใจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ยากไร้ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ด้านนายวัฒนา แสนตรี กำนันตำบลเขาพระนอน กล่าวว่า บ้านที่ทำพิธีมอบในวันนี้เป็นครอบครัวของนายถวัลย์ สมคะเน อายุ 60 ปี และสมาชิกในครอบครัวรวม 6 คน เดิมไปทำงานในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงและติดเชื้อโควิด-19 จึงขอเดินทางกลับรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามสวนธรรมโชติปัญญาราม เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 จนกระทั่งหายดี แต่ครอบครัวนายถวัลย์ ไม่มีที่อยู่อาศัย จึงได้ประสานกับเทศบาลตำบลเขาพระนอน และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านใน ต.เขาพระนอน หาแนวทางช่วยเหลือครอบครัวนี้

ขณะที่นายนายดนุพงษ์  ภูตรี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระนอนกล่าวว่า ทั้งนี้ ได้ร่วมกับพระครูปริยัติธรรมนุโยค เจ้าอาวาสวัดวารีราษฎร์หนองกุง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพุทธรักษา พร้อมชาวบ้าน อสม.มีมติร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคเงินก่อสร้างบ้านให้ครอบครัวนายถวัลย์ ซึ่งใช้พื้นที่ของญาตินายถวัลย์ โดยเป็นบ้านชั้นเดียว พร้อมติดตั้งระบบสาธารณูปโภคทั้งระปา ไฟฟ้า รวมยอดบริจาค 35,000 บาท เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 กำหนดทำพิธีมอบบ้านในวันนี้

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top