Friday, 19 April 2024
Southern

ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน มาตรการรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ประเทศเมียนมาร์ ในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร

พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก นำคณะผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ประกอบไปด้วย พลเอก พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก , พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ เสนาธิการกองทัพบก ,พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยก 1 ค่ายรัตนรังสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานตามสายงาน ผลการปฏิบัติงานความรับผิดชอบตามแนวชายแดนทั้งทางบกและทางทะเล ที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านฝั่งเมียนมาร์ และประชุมสรุปแผนการเตรียมการปฏิบัติในการรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ เพื่อให้ทุกส่วนได้เตรียมความพร้อม รองรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เมียมาร์ ตามหลักมนุษยธรรมโดยใช้พื้นที่ตามแนวชายแดนเป็นพื้นที่แรกรับ คัดแยก และดูแลจนกว่าสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการผลักดันกลับประเทศตามช่องทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ กรณีมีผู้ได้รับผลกระทบอพยพจากสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมาร์เข้ามายังฝั่งไทย ว่ากองทัพภาคที่ 4 ด้วยความรับผิดชอบของกองกำลังเทพสตรี ได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งทุกพื้นที่ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมา โดยได้มีการจัดเตรียมพื้นที่แรกรับและพื้นที่พักรอชั่วคราวไว้ในพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง ของจังหวัดระนอง และชุมพร พร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ


ภาพ/ข่าว : นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

“นายไพร” ยันศาลชี้ชัด โครงการจัดหาทุนซื้อทองคำ ไม่ใช่เรื่องทุจริต เป็นเรื่องของระเบียน ลั่น ทำไปโดยสุจริตใช้เงินส่วนตัวไปช่วยโครงการหลายล้าน เป็นการปิดทองหลังพระ พร้อมเป็นทน.หาดใหญ่

ที่บ้านพักเขตเทศบาลนครหาด นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้กล่าวเปิดใจกับทีมข่าวสื่อมวลชน ที่มาร่วมทำข่าว ถึงกรณีในเรื่องของการถูกกล่าวหาว่า กระทำการโดยทุจริต เกี่ยวกับโครงการจัดหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระพุทธมงคลมหาราช พระประจำเมืองหาดใหญ่

โดยกล่าวว่า ผมมีความตั้งใจที่จะบูรณะพระพุทธมงคลมหาราช องค์พระยืน เนื่องจากตอนผมเข้าไปองค์พระมันมีรอยรั่ว จึงตั้งใจบูรณะให้ดีขึ้น  เมื่อมีเงินแล้วจึงค่อยปิดทอง จึงคิดจะสร้างหลวงปู่ทวดขึ้นมาเพื่อให้คนเช่า ร่วมทำบุญเป็นการหาเงินสัก 60 - 70 ล้านบาทมาบูรณะ  ดังนั้นก็คือจากมูลนิธิสิรินธร ในพระบาทราชูปถัมภ์ซึ่งรับเป็นเจ้าภาพ  ถ้าจะทำขนาดนี้เทศบาลก็ต้องลงทุนถึงเกือบ 40 ล้านถึงจะพอ เพื่อทำพระขึ้นมาชุดหนึ่ง และเมื่อขายแล้วหักต้นทุน ก็จะเหลือให้กำไรประมาณ 70 ถึง 80 ล้าน โดยเห็นว่าถ้าเอามา 30 - 40 ล้านมันดูเยอะ ก็จึงตกลงเอามาเพียงครึ่งเดียวพอ และอีกครึ่งหนึ่งจะไปหาจากยอดจองพระ จึงได้ทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยผ่านสภา และผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นก็ให้การอนุมัติ และดำเนินการตามระเบียบถูกต้องทุกอย่าง

เรื่องนี้ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามร้องเรียนแล้วป.ป.ช.ก็ชี้ว่าผิด ส่งเรื่องให้อัยการและบอกว่าตนดำเนินการโดยทุจริต เพราะไม่จัดประมูล ซึ่งผมก็สู้กันในชั้นศาลว่า เงินอุดหนุนมันไม่ต้องประมูล คนรับเงินอุดหนุนสามารถรับไปได้เลยและทำตามระเบียบของเขา ทั้งเงิน ทั้งของ เป็นของเขาหมด เว้นแต่จะมีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น เพียงแต่ส่งรายละเอียดว่าใช้จ่ายอะไรบ้างเท่านั้นพอ เช่นเดียวกับการอุดหนุนการจัดงานตรุษจีนให้แก่องค์กรต่าง ๆ ก็ไม่ต้องประมูล ซึ่งศาลวิเคราะห์ทุกอย่างแล้วดูรายละเอียด ศาลบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีทุจริต เพราะเงินก็ไม่อยู่ที่นายกไพร พระก็ไม่อยู่ที่นายกไพร เงินก็ส่งให้มูลนิธิสิรินธร ซึ่งก็ทำไปตามนั้นเพียงแต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆเกี่ยวกับบัญชีจองพระนั้น ศาลบอกทำไมไม่ทำตามระเบียบเสีย แล้วขออนุมัติเข้าสภา เลยลงโทษ 157 ซึ่งก็ต้องอุทธรณ์ เงินจองพระ พระก็ยังไม่มีเป็นการจองก่อนล่วงหน้า เงินบัญชีก็ไม่ใช่ของเทศบาลยังไม่ถือว่าเป็นรายได้ของเทศบาล เราจึงประมูลจัดซื้อ จัดจ้างไม่ได้

ดังนั้นต้องชี้แจงและอุทธรณ์เรื่องนี้ไปว่า อย่างนี้มันสุดวิสัย ตรงนี้มันเป็นเพียงเรื่องระหว่างดำเนินการ และต้องหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายอีกหลายเรื่องเช่นค่าจัดทำพระให้เพียงพอต่อการคุ้มค่าและได้กำไรตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ เกี่ยวกับการโฆษณา ค่าพิธีกรรม ค่าแพ็คกิ้งก็ดี และยังมีค่าอื่นๆอีกหลายล้าน  เอามาจากยอดจอง เทศบาลให้มา เพียง 20 ล้านเท่านั้น ยังมีหนี้สินจากการดำเนินโครงการอีกมาก และทำพระได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งยอดจองนี้ที่ศาลบอกว่าทำไมไม่ทำแบบเดียวกันกับเงินก้อนแรกจากเทศบาล เลยลงโทษว่าผมไม่ปฏิบัติตามระเบียบให้ครบถ้วน เพราะตรงนี้ทำไมไม่ทำโครงการขึ้นมาไม่จัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งมันทำไม่ได้ และตรงนี้มันเงินข้างนอกไม่ใช่เงินของเทศบาล จึงต้องชี้แจงไปในชั้นอุทธรณ์ต่อไป  .

เพราะเงินยังอยู่กลางอากาศ เงินนี้เมื่อเคลียร์บัญชีกันเสร็จ เหลือพระเท่าไหร่ เหลือเงินเท่าไหร่ มูลนิธิก็จะส่งให้เทศบาลทั้งหมด พระนี่ก็จะเป็นของเทศบาลคนเดียวโดยไม่มีภาระผูกพันใด ๆ อีก ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ส่งเงินไปได้ 10 กว่าล้าน จาก 20 ล้าน  เท่ากับว่าเทศบาลลงทุนเพียง 5 ล้านบาท และยังมีพระรอจำหน่ายอีกเกือบ 100 ล้าน ดังนั้นจึงไม่เสียหายเลย แต่เขาบอกว่าผิดที่ระเบียบ ผิดที่ขั้นตอนการปฏิบัติซึ่งความจริงแล้วขั้นตอนก็ไม่ผิด ระเบียบก็ไม่ผิด และผมก็ไม่ทุจริต ผมได้ทำอย่างดีที่สุด ซึ่งผมเองก็ช่วยด้วยเงินส่วนตัวไปหลายล้านบาท โดยถือว่าเป็นการร่วมทำบุญเป็นการปิดทองหลังพระโดยไม่เคยบอกใครและไม่เคยไปอวดอ้างความดีอะไรกับใคร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผมผิดทั้ง ๆ ที่ผมกล้าเสียสละขนาดนี้ และผมก็หมดไปหลายล้าน ผมจึงไม่ทุจริตแน่นอน และศาลก็บอกแล้วว่าไม่ทุจริตจึงยกฟ้องในข้อกล่าวหาว่าทุจริต นอกจากในเรื่องของระเบียบ

ที่สำคัญที่สุด เทศบาลก็ไม่ได้เสียหาย ซ้ำยังได้ประโยชน์มาก และอีกประเด็นหนึ่งผมยืนยันได้ว่าไม่ผิดระเบียบแน่นอน ดังนั้นการที่ผมจะลงสมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ครั้งนี้จึงมั่นใจว่า ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกแน่นอน

ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าเทศบาลนครหาดใหญ่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ตนก็จะต้องชี้แจงข้อกฎหมายที่เราไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา และยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นการทุจริต แต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งก็ยืนยันว่าดำเนินการโดยถูกต้อง มีเจตนาที่บริสุทธิ์ เทศบาลไม่เสียหายแต่ยังได้ประโยชน์ และได้กำไรจากโครงการนี้มหาศาล


ภาพ/ข่าว : นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

องคมนตรี เชิญถุงพระราชทาน มอบแก่ราษฎรกลุ่มบ้านปิยะมิตร 1 จ.ยะลา พร้อมกับเยี่ยมและให้กำลังใจ

เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 18 มี.ค.63  นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี  และคณะฯ เดินทางไปยังวัดพุทธาธิวาส ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อนำเครื่องไทยธรรมพระราชทานไปถวายแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป โอกาสนี้ พระสงฆ์สวดมนต์ถวายพระพรชัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียนนักศึกษา ประชาชน เข้าร่วม

วัดพุทธาธิวาส สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2460 เดิมชื่อ “วัดเบตง”  ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขา มีพระธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ซึ่งมีความหมายว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรม ตั้งโดดเด่นมองเห็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์สวยงามมาก โดยในองค์มหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มหาธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฎีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานนาม และเสด็จทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนยอดฉัตรเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2536

นอกจากนั้นยังมีพระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธาน พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วิหารหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และวิหารพระครูพิศิษฐ์อรรถการ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกวัดพุทธาธิวาสเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญตั้งแต่วันที่ 2 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2546

จากนั้น องคมนตรีและคณะเดินทางไปยังบ้านปิยะมิตร 1 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อเชิญถุงพระราชทาน จำนวน 60 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรกลุ่มบ้านปิยะมิตร 1 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน สร้างความปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ในความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรปวงชนชาวไทยเสมอมา

บ้านปิยะมิตร 1 ได้จัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านยุทธศาสตร์แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยได้รับอนุมัติจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2531 ด้วยความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 4 และกรมป่าไม้ ให้เข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเบตง ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเบตง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ 3,250 ไร่ โดยจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ราษฎรครอบครัวละ 1 ไร่ ที่ทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ ส่วนที่เหลือไว้เป็นที่ป่าชุมชุนส่วนรวมของหมู่บ้าน มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี และตั้งชื่อว่า หมู่บ้านปิยะมิตร 1 ปัจจุบันมีจำนวนประชากรรวม 305 คน ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพ อาทิ กลุ่มสมุนไพรปิยะมิตร 1 จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2531

ส่วนใหญ่สมาชิกไม่รู้หนังสือและพูดไทยไม่ได้ อาศัยอยู่ในป่าทำให้มีความรู้เรื่องสมุนไพรเป็นอย่างดี จึงรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นศูนย์รวมการรับซื้อสมุนไพรของสมาชิก และทำสมุนไพรขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ปัจจุบันมีสมาชิก 210 ครัวเรือนและมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังจัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยวอุโมงค์ปิยะมิตร 1 เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ มีอุโมงค์ ที่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย สร้างขึ้นเป็นฐานปฏิบัติการ  ประกอบกับชาวบ้านมีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า จึงระดมทุนจากสมาชิกในชุมชนมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแทน

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มปลูกผักน้ำ เนื่องจากชุมชน ตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำและมีอากาศเย็น มีแหล่งน้ำสะอาดเหมาะกับการปลูกผักน้ำ ชาวบ้านจึงได้ทดลองปลูกซึ่งได้ผลดี ต่อมาในปี 2548 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานทุนทรัพย์ จำนวน 450,000 บาท เพื่อดำเนินการสร้างบ่อปลูกผักน้ำในพื้นที่ใหม่และให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้ราษฎรในชุมชนอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนจวบจนถึงปัจจุบัน

จากนั้น องคมนตรี ได้พบพี่น้องประชาชนและเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่มบ้านปิยะมิตร 1 อาทิ การปลูกผักน้ำ การบริหารจัดการด้านการค้าขาย และการดูแลรักษาป่าในพื้นที่ รวมถึงเยี่ยมชมและศึกษาประวัติศาสตร์ของอุโมงค์ปิยะมิตร


ภาพ/ข่าว : ธานินทร์ โพธิทัพพะ ปื๊ดเบตง

"ศรชล.(MECC)" จัดกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน

วันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น  ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมพรคาบาน่า หมู่ที่ 8 ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร  นาวาเอก กิตติพงษ์ พุ่มสร้าง รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิด - ปิด กิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในเขตจังหวัดชุมพร ได้รับความสนใจจากชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมรับฟังจำนวน 80 คน

นาวาโท กรภัทร ศรีพิพัฒน์ กล่าว่า ด้วยศูนย์อำนวยการอำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร กำหนดจัดกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร บรรยายถึงแนวทางการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ศรชล 2562 จากวิทยากร ศณชล จังหวัดชุมพร ได้รับรู้ถึงเรื่อง กฎ ระเบียบเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรณีการประกอบอาชีพการประมงพื้นบ้าน จากวิทยากร ทช.  วิทยากรสำนักงานประมงจังหวัดชุมพร และวิทยากรจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ศูนย์อำนวยการอำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมพรคาบาน่า และจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน รวมถึงการปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ต่อไป

นาวาเอก กิตติพงษ์ พุ่มสร้าง เปิดเผยว่า ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเข้าร่วมกิจกรรม สร้างการตระหนักรู้ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านด้วยศูนย์อำนวยการอำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร กำหนดจัดกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร  และจะได้นำไปประกอบการใช้ชีวิตในการทำประมงพื้นบ้านอย่างถูกต้องต่อไป


ภาพ/ข่าว : ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

ศาลฎีกากระบี่พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต “บังฟัต” พร้อมอีก 8 คน ก่อเหตุวางแผนและฆ่า อดีตผู้ใหญ่บัติ เสียชีวิตพร้อมสมาชิกในครอบครัวรวม 8 ศพ

เมื่อปีพ.ศ.2560 ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตพอใจในคำตัดสิน  ขณะที่ผลพวงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องสูญเสียบ้านที่อยู่อาศัย 

จากคดี นายซูริก์ฟัต หรือบังฟัต บ้านนบวงศ์สกุล อายุ 41 ปี พร้อมกับพวกรวม 8 คน ร่วมกันก่อเหตุสังหารโหดนายวรยุทธ หรือผู้ใหญ่บัติ สังหลัง อายุ 46 ปี อดีต ผญบ.หมู่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ พร้อมครอบครัวและญาติ ๆ รวม 8 ศพ เหตุเกิดที่บ้านเลขที่ 14/3 หมู่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก เมื่อวันที่ 9 ต่อเนื่องวันที่ 10 มี.ค.60  คดีดังกล่าวสร้างความสะเทือนขวัญแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก  

หลังเกิดเหตุได้ 5 วัน ทางจนท.ตำรวจได้ ติดตามจับกุมตัว ผู้ก่อเหตุได้ทั้ง 8 คน  ประกอบด้วย นายซูริก์ฟัต บ้านนบวงศ์กุล หรือ บังฟัต อายุ 41 ปี  นายคมสรรค์ เวียงนนท์ (ม่อน) อายุ 36 ปี นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ (เลาะห์) อายุ 30 ปี.นายอรุณ ทองคำ (กี้ร์) อายุ 29 ปี นายประจักษ์ บุญทอย (จักร์) อายุ 36 ปี.นายธนชัย จำนอง (โกบ) อายุ 41 ปี  นายธวัฒชัย บุญคง (ชัย) อายุ 37 ปีและ น.ส.ชลิดา สังข์โชติ อายุ 41 ปี ภรรยานายชูริก์ฟัต

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค.62  ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-7 โดยศาลให้ความเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 7 คน เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น ชดใช้ค่าเสียหายให้กับญาติผู้เสียชีวิตทุกคนทนายจำเลยจึงได้ยื่นฏีกา  ส่วนจำเลยที่ 8 คือ น.ส.ชลิดา สังข์โชติ ภรรยานายชูริก์ฟัต ถูกตัดสินจำคุก 12 เดือน  และได้รับโทษครบกำหนดไปก่อนหน้านี้แล้ว

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 18 มี.ค.64  ที่ ห้องพิจารณาคดี ที่ 8  ศาลจังหวัดกระบี่ ได้อ่านคำพิพากษาศาลฏีกา ผ่าน Video Conference จากศาลจังหวัดกระบี่  ไปยังจำเลย 7 คน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช  โดยในวันนี้ทางญาติผู้เสียชีวิต  ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดกระบี่ด้วย แต่ศาลไม่ได้อนุญาตให้เข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดี โดยศาลได้นัดแยกให้มาฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 24 เมษายนนี้  จึงต้องรอติดตามผล ด้านนอกอาคารศาลจังหวัดกระบี่ ซึ่งผลการพิจารณาคดี ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์  ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง7 คน  สร้างความพึงพอใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต

หลังทราบผลพิพากษา ของศาลฏีกา นางอาส้า บุตรเติบ  แม่ยายของ ผู้ใหญ่บัติ  กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับคำพิพากษา  ขอบคุณศาลที่ให้ความยุติธรรมต่อครอบครัว เนื่องจากตลอดเกือบ 4 ปี ที่ผ่านมาทางครอบครัว ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างหนักทั้งจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปทั้งหมดถึง 8 คน และยังต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เกิดจากการที่บังฟัต นำบ้านหลังที่เกิดเหตุและบ้านของพ่อตา ไปจำนองไว้กับธนาคาร จนกระทั่งทำให้บ้านทั้งสองหลังซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของครอบครัวถูกธนาคารยึด  ทำให้คนในครอบต่างวิตกกังวลว่าจะไม่มีที่อาศัย  จึงอยากวอนขอความช่วยเหลือ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายเกรียงศักดิ์  สารภี นายความ ของนายซริก์ฟัต และพวก กล่าวว่า หลังศาลฏีกามีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต จำเลยทั้ง 7 คน  ก็ได้ปรึกษากับทางญาติจำเลย เพื่อหาทางยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษฯ ภายในเวลาระยะ 60 วัน หลังจากนี้


ภาพ/ข่าว : ณัฏฐพงษ์  ศรีปล้อง รายงาน

เกษตรกระบี่ พาไปชมการผลิตกาแฟขี้ชะมดและการจัดการสวนกาแฟอย่างมืออาชีพ ในงาน Field Day 2564 ที่อำเภอลำทับ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายธนากร ชูจิตต์ นายอำเภอลำทับ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2564 มีนายอนุชา ยาอีด เกษตรจังหวัดกระบี่ พบปะพี่น้องเกษตรกรที่มาร่วมงาน และนางสาวจันทร์ฉาย เพ็ญเขตวิทย์ เกษตรอำเภอลำทับ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศูนย์เครือข่าย) หมู่ที่ 3 ตำบลดินแดง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่

นายธนากร ชูจิตต์ นายอำเภอลำทับ กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดความตระหนักในการทำการเกษตร ซึ่งต้องมีการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการผลิตทางการเกษตร นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตและเชื่อมโยงตลาด มีการพัฒนาให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นแหล่งเรียนรู้ของอำเภอ ดังนั้น การเริ่มต้นปีการเพาะปลูกใหม่ ถ้าเกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสม ในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้ในไร่นาและสวนของตนเองได้ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ หากมีการขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกษตรกรได้เข้าถึงและนำไปใช้ ก็จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสังคมก็จะมีแต่ความสุข

นางสาวจันทร์ฉาย เพ็ญเขตวิทย์ เกษตรอำเภอลำทับ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการการเกษตรเพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2564 ในวันนี้ สืบเนื่องมาจากภาคการเกษตรของไทยได้เข้าสู่ฤดูการผลิตใหม่แล้ว  ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี  เป็นวันเริ่มต้นปีเพาะปลูก  ดังนั้นเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมีการใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยมีองค์ประกอบของศูนย์ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบ แปลงเรียนรู้  หลักสูตรการเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ 

อำเภอลำทับได้คัดเลือกพื้นที่ของนายพิศิษฎ์  เป็ดทอง หมู่ที่ 3 ตำบลดินแดง เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเครือข่าย กลุ่มผลิตกาแฟขี้ชะมด มีเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องกาแฟ รวมถึงการทำการเกษตรโดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ มีดังนี้

1.) เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่

2.) หน่วยงานต่าง ๆ มีการให้บริการด้านการเกษตรตามภารกิจเพื่อสนับสนุนเกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่

3.) เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีอยู่ในพื้นที่

กิจกรรมภายในงาน จัดให้มีสถานีเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละสถานี จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์/เป้าหมายของการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ   โดยมีจำนวน 5 สถานีเรียนรู้ ดังนี้

      สถานีที่ 1 บริการด้านวิชาการ

      สถานีที่ 2 การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตกาแฟ

      สถานีที่ 3 การจัดการและตกแต่งสวนกาแฟ

      สถานีที่ 4 การปลูกไม้เศรษฐกิจในสวนกาแฟ

      สถานีที่ 5 การเลี้ยงชะมด

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงองค์ความรู้  กิจกรรมทางการเกษตร และการให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่ม/สถาบันเกษตรกร ภาคเอกชน  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในการถ่ายทอดความรู้

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีเกษตรกรในพื้นที่อำเภอลำทับ และพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานไม่น้อยกว่า 120 คน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง  โดยยึดหลักพอเพียง ความพอดีกับศักยภาพของตนเอง บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งมีความเอื้ออาทรต่อคนอื่นๆ ในสังคมเป็นประการสำคัญ


ภาพ/ข่าว : มโนธรรม ใจหาญ  รายงาน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำหรับภาคใต้

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ประจำปี 2563  สำหรับภาคใต้

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงานการจัดพิธี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมเป็นเกียรติ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ ๖๐ ปี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้  จำนวน 2,367 ราย ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆจัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในสถานที่ที่เหมาะสม

สำหรับภาคใต้ มีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย จำนวน 150 ราย ประกอบด้วย ราชบัณฑิตและกรรมการ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และบุคลากรในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกอบด้วย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) จำนวน 4 ราย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) จำนวน 28 ราย 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) จำนวน 21 ราย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) จำนวน 97 ราย

โดยมีผู้เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

สถานีตำรวจภูธรเมืองกระบี่ ส่งมอบประติมากรรมสึนามิ “กอดฉันให้แน่น” ผลงานของหลุยส์ บูร์ชัวร์ ศิลปินชื่อก้องโลก

ประติมากรรมสึนามิ “กอดฉันให้แน่น”  ผลงานของหลุยส์ บูร์ชัวร์ ศิลปินชื่อก้องโลก สถานีตำรวจภูธรเมืองกระบี่ ส่งมอบให้อุทยานหมู่เกาะพีพี  หลังเก็บรักษาไว้นานกว่า10 ปี  ขณะที่อุทยานหารือกับจังหวัดเตรียมจัดหาสถานที่ติดตั้งที่ปลอดภัย  เผยมีมูลค่ากว่า 100ล้าน

วันที่ 19 มี.ค.2564 ที่สถานีตำรวจภูธร เมืองกระบี่   พ.ต.อ.ณรงค์  ลักษณะวิมล  ผกก.สภ.เมืองกระบี่  ได้ทำการส่งมอบ ประติมากรรมสึนามิ   “กอดฉันให้แน่น” ( Hold me close ) จำนวน 2 ชิ้น  ให้แก่นายประยูร  พงศ์พันธ์  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี  จ.กระบี่  เพื่อนำไปเก็บรักษาในที่ปลอดภัย ก่อนที่จะนำไปติดตั้งในสถานที่ใหม่  โดยมีนายสมภพ   บัวสกุล  สรรพากรพื้นที่อำเภอเมืองกระบี่  เป็นพยานในการรับมอบ  

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี  กล่าวว่า ประติมากรรมสึนามิ กอดฉันให้แน่น ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ สภ.เมืองกระบี่ มาประมาณ 10 ปี  ปัจจุบันอาคารสภ.เมืองกระบี่ มีสภาพเก่าจะต้องมีการรื้อถอน เพื่อก่อสร้างใหม่ทำให้ไม่มีที่เก็บ  ทางสภ.เมืองกระบี่ จึงได้แจ้งให้หน.อุทยานฯหมู่เกาะพีพี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเก็บรักษาประติมากรรมสึนามิ มารับไปเก็บรักษาดูแล  ซึ่งได้เดิมทีทางนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผวจ.ได้ประสานสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่นำเก็บรักษาในเซฟ แต่ตู้มีขนาดเล็กไม่สามารถเก็บประติมากรรมฯได้ ทางอุทยานฯจึงต้องมารับไปเก็บรักษาเอง ทั้งนี้ประติมากรรม กอดฉันให้แน่น  ที่ชิ้นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า มีเพียง1 เดียวในโลก มีมูลค่าไม่ต่ำกว่ากว่า 100 ล้านบาท

สำหรับประติมากรรมสึนามิ กอดฉันให้แน่น  เป็นผลงานของ “หลุยส์ บูร์ชัวส์” (Louise Bourgeois) ประติมากรหญิงชื่อดังระดับโลกเชื้อสายฝรั่งเศส ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 31 พ.ค.2553 ด้วยวัย 98 ปี  ได้สร้างขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ สึนามิ ถล่มชายฝั่งอันดามัน เมื่อปลายปี 2547  และถูกนำไปติดตั้งไว้ที่บริเวณสวนสน หาดนพรัตน์ธารา ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-.หมู่เกาะพีพี  เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวหลังได้รำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิ

ต่อมามีผู้พบเห็น ประติมากรรมทั้งสองชิ้น ถูกนำแสดงอยู่ที่ชั้น 9 หอศิลป์ กรุงเทพฯ ในนิทรรศการสันติภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน - 22 สิงหาคม 2553 โดยกระทรวงวัฒนธรรม  ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงควาไม่เหมาะสม  ชาวจังหวัดกระบี่เรียกร้องให้นำกลับมาไว้ที่เดิม  ก่อนที่นำไปจัดเก็บไว้ที่ สภ.เมืองกระบี่ หลังศิลปินเจ้าของผลงานเสียชีวิต ส่งผลให้ผลงานศิลปะของเธอที่มีคุณค่า หายาก และเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก....


ภาพ/ข่าว : ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง

เริ่มแล้ว "งานกระบี่นาคาเฟส" สัมผัสสายลมเสียงเพลงอิ่มอร่อยอาหารซีฟู๊ดหาดคลองม่วง บรรยากาศคึกคัก คาดเงินสะพัด 10 ล้าน

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 19.30 นาฬิกา นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ร่วมเปิดการจัดงานกระบี่นาคาเฟส 2021 ครั้งที่ 7 ชวนชม เชียร์ ชิม ช๊อป ชิว กับบรรยากาศชายทะเล ภายใต้วิถีนิวนอมอลและมาตรฐานเอสเฮชเอ

โดยสร้างความสุขในบรรยากาศทะเล เสียงดนตรี หาดทราย สายลม ชมทะเล ฟังเสียงคลื่น รื่นเริงเสียงดนตรี ชิวๆรายล้อมรอบกายด้วยอ้อมกอดแห่งขุนเขาและทะเลอันดามัน วันที่ 19 – 21 มีนาคม 2564 เวลา 17.00 – 24.00 นาฬิกา ที่ชายหาดคลองม่วง ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับจังหวัดกระบี่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองทะเล ตลอดจนภาคีเครือข่ายธุรกิจการท่องเที่ยวจัดขึ้น

งานดังกล่าว เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจังหวัดกระบี่ ที่ได้พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงดนตรีผสมผสานกับความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจ มีประสบการณ์ใหม่ที่เหมาะกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน เพื่อเป็นการกระตุ้นการเดินทางและเพิ่มการใช้จ่าย ในการสร้างงานสร้างรายได้สู่จังหวัดกระบี่  และช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 คลี่คลายลง

ให้ชาวกระบี่และนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสสายลมเสียงเพลงแห่งท้องทะเล ฟังบทเพราะๆสนุกสนานกับบรรยากาศยามเย็นพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า และค่ำคืนแห่งดวงดาวเคล้าคลอไปกับเสียงเกลียวคลื่น พร้อมอิ่มอหร่อยกับสุดยอดเมนูซีฟู๊ดอาหารจากโรงแรมระดับ 4 – 5 ดาวที่มาร่วมออกบูธ  ทั้งบูธสินค้าโอท๊อป และอาหารพื้นบ้านจากทะเล สด ๆ รวมถึงสินค้าชุมชนที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกระบี่ ที่ปลอดโฟมช่วยลดปริมาณขยะ รักษาสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษทางอากาศ

ส่วนกิจกรรมภาคกลางวัน การเล่นกีฬาทางน้ำเพ็ตเดิ้ลบอร์ด การสอนวิธีเล่นเซิฟบอร์ด  การออกร้านของผู้ประกอบการโรงแรมและร้านค้าชุมชน ส่วนภาคกลางคืนพบกับมินิคอนเสิร์ตและสุดยอดศิลปินนักร้องคุณภาพตลอดทั้ง 3 คืน เช่นวงดนตรีจากวงฉ่อย วงดิอันดามัน ดีเจสเตย์โกล การแสดงกระบองไฟ มินิคอนเสิร์ตป๊อป ปองกูล อะตอม ชนะกันต์ อินดิโก้ วัชราวลี ลิปตา เบน ชลาทิศและมาเรียมบีไฟว์  ส้ม มารี เดอะทอย และมินิคอนเสิร์ตบอยพีชเมคเกอร์

ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดกระบี่ คาดว่ามีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงาน 3 วัน 20,000 คน เป็นนักท่องเที่ยวไทย 15,000 คน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 500 คน สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท....


ภาพ/ข่าว : ณัฏฐพงษ์  ศรีปล้อง

เจ้าหน้าที่คุมเข้มจังหวัดชายแดนใต้ วันแรกของการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอบใหม่ครั้งที่ 63

หน่วยกำลังในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพิ่มการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่เหตุการณ์เผายางรถยนต์และลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ จนมาถึงเหตุการณ์ปล้นรถยนต์ ในพื้นที่ จ.ยะลา และเหตุการณ์คนร้ายยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารพรานเสียชีวิตที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และเมื่อวันที่ 19 มี.ค.นี้ ตรงกับวันสุดท้ายของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 62 และในวันนี้ 20 มี.ค.จะเป็นวันแรกของต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอบใหม่ครั้งที่ 63 ซึ่งมีการบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 19 มิ.ย.64 ซึ่งทำให้กลุ่มคนร้ายในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ถูกจำกัดเสรี

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.64  ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยกำลังภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่เหตุการณ์เผายางรถยนต์และลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ จนมาถึงเหตุการณ์ปล้นรถยนต์ ในพื้นที่ จ.ยะลา และเหตุการณ์คนร้ายยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารพรานเสียชีวิตที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ตรงกับวันสุดท้ายของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 62 และในวันนี้ 20 มี.ค.จะเป็นวันแรกของต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอบใหม่ครั้งที่ 63

ซึ่งมีการบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 19 มิ.ย.64 ทำให้กลุ่มคนร้ายถูกจำกัดเสรี   ขณะที่มีรายงานว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุพยายามที่จะสร้างสถานการณ์เพื่อเบี่ยงเบนเจ้าหน้าที่เพื่อเปิดช่องให้กลุ่มวางระเบิดนำระเบิดที่จัดเตรีมมาเพื่อทำการวางคาร์บอมบ์ในย่านเศรษฐกิจในพื้นที่เมืองเศรษฐกิจ 3จังหวัดชายแดนใต้ โดยทำการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็ก (ไปป์บอมบ์) ภายในร้านสะดวกซื้อ และตู้เอทีเอ็มเพื่อทำการสร้างสถานการณ์ ขณะที่การรักษาความปลอดภัยในเขตเมือง

เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงโดยเฉพาะในวันแรกของต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอบใหม่ครั้งที่ 63 ซึ่งมีการบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 19 มิ.ย.64  ซึ่ง พ.ต.อ.เอกชัย พราหมณกุล ผกก.สภ.เบตง บอกว่าได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจต่าง ๆ เฝ้าระวังรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ต้องสงสัยอย่างเข้มงวด รวมถึงขอกำลังทหารและอาสาสมัครรักษาดินแดนเพิ่มเติมเข้ามาดูแล นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยตามสถานที่ราชการและแหล่งชุมชนเพื่อป้องกันความรุนแรงอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือจากประชาชนคอยเป็นหูเป็นตาด้วย

ขณะที่เมื่อเวลา 20.00 น. ที่ผ่านมา  รับแจ้งว่า มีปล้นทรัพย์ บริเวณบ้านเลขที่ 108 ม.9 บ.บุดี ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา จ.ยะลา โดยมีกลุ่มคนร้าย 7 - 8 คน ปิดบังใบหน้า บุกเข้าไปภายในบ้าน และปล้นเอารถยนต์กระบะ โตโยต้า แคปสีบรอน ทะเบียน บจ 3793 ยะลา โดยคนร้าย ใช้รถยนต์ฮอนด้า CRV เป็นพาหนะในการก่อเหตุ แล้วหลบหนีไปทาง แยกปารามีแต อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ต่อมาได้รับแจ้งจาก ร.อ.วิถีชัย อ่อนสนิท ผบ.ร้อย ทพ.4113  ได้ตรวจพบรถยนต์กระบะวีโก้ หมายเลขทะเบียน 3793  ยะลา ซึ่งถูกปล้นไปโดยคนร้ายได้นำมาจอดทิ้งไว้ในพื้นที่ ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง/คุณชานนท์ บ้าน ปะกาสาแม ม.1  ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการเข้าตรวจสอบ

นอกจากนี้ยังมีรถยนต์เฝ้าระวัง อีกจำนวน 5 คันที่กลุ่มคนร้ายได้ปล้นไป และมีรถจักรยานยนต์เฝ้าระวังพิเศษ อีก จำนวน 41 คัน ซึ่งรถจักยานยนต์บางส่วนเจ้าหน้าที่สามารถตามตรวจยึดคืนได้บ้างส่วน ซึ่งเจ้าหน้าที่เกรงว่าจักรยายนต์และรถยนต์ กลุ่มคนร้ายจะนำไปเพื่อเตรียมก่อเหตุระเบิดที่ได้ล็อตเป้าหมายเอาไว้แล้ว


ภาพ/ข่าว : ธานินทร์  โพธิทัพพะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top